- Ted Lasso คือชื่อของโค้ชอเมริกันฟุตบอล ผู้มองโลกในแง่บวก สดใสและเฮฮา เป็นซีรีส์เกี่ยวกับฟุตบอลฟีลกู้ดและเล่าเรื่องราวที่มากกว่าฟุตบอล ที่แม้จะไม่ใช่คนชอบดูกีฬาก็ดูได้อย่างไม่รู้สึกอึดอัด
- การเลี้ยงลูกก็คล้ายๆ กับการโค้ชใครซักคน จึงน่าอึดอัดใจที่พ่อแม่บางคนใช้อำนาจของการเป็นผู้ปกครองมากำหนดชีวิตลูก แทนที่จะเป็นแค่เป็นเพียงไลฟ์โค้ชคนหนึ่ง
- หน้าที่การโค้ชของพ่อแม่มันจบลงไปตั้งแต่ลูกก้าวเข้าสนามแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำต่อจากนั้นคงไม่ใช่การลงไปแข่งในสนามกับลูก หรือสั่งห้ามให้ลูกทำอะไร พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกตัดสินใจในเกมชีวิตของเขาเอง
Month: July 2022
- ทำไมผู้คนที่สร้างความเดือดร้อนไม่เป็นไปตามจารีตสังคมจึงมียอดผู้ติดตามบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น พฤติกรรมติดตามคนที่เกลียดนี้มีชื่อเรียกว่า hate-following
- พฤติกรรม hate-following นั้นอาจเกิดจากความไม่พอใจในการใช้ชีวิตของตนเองได้อีกด้วย โดยพฤติกรรมนี้มักเกิดจากความอิจฉาริษยา และมักแสดงออกในรูปแบบการแสวงหาความชอบธรรม
- การแสดงความเกลียดชังต่อผู้คนบนโลกออนไลน์ ไม่เพียงแค่ต้องการแก้เบื่อ สร้างความมั่นใจ มนุษย์เรายังต้องการหาความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยการแสดงตัวว่าเป็น ‘คนดี’ ด้วย
พฤติกรรม hate-following เป็นงานอดิเรกสมัยใหม่ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวของการนินทาและเทคโนโลยี
การติดตามผู้คนที่เราชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน ดารา นักร้อง นักเขียน และอีกมากมายนั้นเป็นเรื่องที่เราเข้าใจและยอมรับกันได้ เพราะเราชื่นชอบ เราจึงติดตาม แต่ในทางกลับกัน ผู้คนที่สร้างความเดือดร้อนไม่เป็นไปตามจารีตสังคมเองก็มียอดผู้ติดตามบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อาจมากกว่าคนที่เราชื่นชอบด้วยหากมีความผิดแผกมาก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
Pam Rutledge นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้ง Media Psychology Research Center กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์เราทุกคนถูกกำหนดด้วยพฤติกรรมหรือสัญชาตญาณให้มีความสนใจกับสิ่งที่คนรอบตัวเป็น การติดตามสังคมหรือการเปรียบเทียบทางสังคม ถือเป็นเรื่องปกติ” แต่การหมกมุ่นอยู่กับชีวิตของคนอื่นกลายเป็นอุปสรรคต่อการมีความสุขกับชีวิตของตัวเองไม่ถือเป็นเรื่องปกติ อาจถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวนพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลอีกครั้งว่าทำไมเราถึงใช้ไปกับสิ่งที่บั่นทอนจิตใจเราหรือผู้อื่นด้วย
ความเบื่อหน่ายและความไม่พอใจในชีวิต
ชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน อาจไม่สนุกสนาน ซ้ำซาก และจำเจ ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เราเกิดความรู้สึกเบื่อและต้องการหาอะไรมาสร้างความบันเทิง สร้างสีสันเล็กๆ น้อยๆ ให้กับชีวิต อาจดูเหมือนขัดกับสัญชาตญาณ แต่ Rutledge สนับสนุนประเด็นความคิดนี้ เธอกล่าวว่าการดูสิ่งที่เรารู้ว่าจะทำให้เราไม่พอใจในโลกออนไลน์นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะขจัดความเบื่อหน่าย
นอกจากความเบื่อหน่ายแล้ว พฤติกรรม hate-following นั้นอาจเกิดจากความไม่พอใจในการใช้ชีวิตของตนเองได้อีกด้วย โดยพฤติกรรมนี้มักเกิดจากความอิจฉาริษยา และมักแสดงออกในรูปแบบการแสวงหาความชอบธรรม เรารู้ว่าข้อดีอย่างหนึ่งเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียคือการเชื่อมต่อกับคนที่เราห่วงใย ทำให้เรารู้สึกได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่จากข้อมูลของนักจิตวิทยา Erin Vogel พบว่าโซเชียลมีเดียยังสามารถลวงให้เรารู้สึกเหมือนมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับคนที่เราติดตาม แม้ว่าไม่เคยพบพวกเขามาก่อนได้เช่นเดียวกัน
Vogel เชื่อว่าโซเชียลมีเดียเอื้อให้การเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่นเป็นเรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบเหล่านี้อาจเป็นอันตรายได้
เรามักจะสนใจคนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเราอยากรู้ว่าเขาไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน เราก็สร้างความมั่นใจให้ตัวเองเป็นระยะๆ ด้วยการเข้าไปสอดส่องคนที่แย่กว่าเราผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
Rutledge เสริมว่าเมื่อการเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเหล่านี้ออกมาแล้วดีสำหรับเรา ทำให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น เราก็ยิ่งรู้สึกสนุกกับเรื่องราวของคนที่ถูกเปรียบและรู้สึกเหนือกว่ามากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ การแสดงความเกลียดชังต่อผู้คนบนโลกออนไลน์ยังเป็นอีกพฤติกรรมใน hate-following ที่ผู้คนในยุคปัจจุบันมักจะทำกัน ไม่เพียงแค่ต้องการแก้เบื่อ สร้างความมั่นใจ มนุษย์เรายังต้องการหาความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยการแสดงตัวว่าเป็น ‘คนดี’ ด้วย
ในชีวิตจริงเราอาจเป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้มีผลอะไรกับโลกใบนี้มากนัก แต่ในโลกออนไลน์ เราสามารถเป็นใครก็ได้ที่เราต้องการ นี่คือเหตุผลที่พฤติกรรม hate-following นั้นน่าดึงดูดมาก
โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้คนธรรมดาได้แบ่งปันความคิด ได้ปลดปล่อยแนวความคิดด้านลบที่ทำไม่ได้ในชีวิตจริง พูด พ่น หรือแสดงความเห็นที่รุนแรงก้าวร้าว ไม่เหมาะสมได้ตามต้องการ โดยไม่กังวลว่าใครจะคิดอย่างไร และไม่ต้องออกแรงเพื่อปกป้องตัวเอง เพราะบนโลกออนไลน์เราอาจเป็นผู้มีอำนาจที่มีผู้ติดตามมาก และจะไม่มีใครตามหาตัวตนจริงๆ ของเราเจอ หรือสามารถยุติการมีส่วนร่วมได้ง่ายๆ ด้วยการปิดแอป
เราจึงมักใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ไปกับการติดตามและไตร่ตรองถึงคุณสมบัติที่เราไม่ชอบในคนอื่น (แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว คุณสมบัติเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวตนในโลกออนไลน์ของพวกเขา) เรากำหนดมาตรฐานสำหรับตัวเราเองและดำเนินชีวิตตามนั้น
“การมองดูคนที่เราไม่ชอบ หรือไม่เคารพและพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างนั้น ช่วยให้เราสามารถเสริมเอกลักษณ์และเพิ่มคุณค่าของเราเองได้”
Rutledge กล่าว “ถ้ามองใครแล้วรู้สึกว่าเกลียดคนนี้จริงๆ เพราะคนนี้เผยตัวตนในแบบที่เราไม่ชอบ หรือคนนี้หยาบคาย ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจโดยคิดว่าฉันไม่ได้เป็นแบบนั้นได้ด้วยเช่นกัน”
เมื่อไรที่ควรกด Unfollow
สถิติเผยให้เห็นว่าพวกเราส่วนใหญ่ hate-following เพื่อความบันเทิง รองศาสตราจารย์ Peggy Kern จากศูนย์จิตวิทยาเชิงบวกแห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นชี้ว่าเราอาจเสพติดพฤติกรรมนี้ได้ โดยกล่าวว่า “แม้ว่าเราจะได้รับการตอบสนองทางอารมณ์เชิงลบ แต่เราก็ยังจะทำมันต่อไป”
แม้ว่า hate-following จะดึงดูดใจให้เราต้องคอยไปสอดส่องศัตรู รู้จักกับคนที่ไม่ชอบ แต่ Vogel เตือนว่าอย่าปฏิบัติกับโซเชียลมีเดียเหมือนเป็นช่องทางตรงเข้าสู่ชีวิตของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่คุณไม่รู้จักเลย เช่น คนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่คุณเกลียด เราอาจลืมไปว่าบุคคลสาธารณะที่แบ่งปันชีวิตของพวกเขาซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวตนในโลกออนไลน์เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด
Rutledge กล่าวว่าผู้คนต้องซาบซึ้งในความแตกต่างระหว่างอารมณ์เชิงบวกและเชิงลบให้มากขึ้น ตราบใดที่ยังรู้สึกดีกับมันและได้มุมมองจากสิ่งเหล่านี้ในด้านความบันเทิง (โดยไม่ทำร้ายน้ำใจผู้อื่น) ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกก้าวร้าว และเริ่มมีปัญหาด้านการควบคุมจิตใจและอารมณ์ เธอแนะนำว่าให้ลองดูต้นสายปลายเหตุ แล้วลองหากิจกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น
Vogel เห็นด้วยว่าการสอบถามตนเองเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินว่าเราจำเป็นหยุดพฤติกรรม hate-following ไหม เราควรถามตัวเองว่าได้อะไรจากการ hate-following ตามผู้อื่นในโซเชียล มันช่วยต่อสู้หรือเติมเต็มความไม่มั่นคงของตัวเองหรือไม่
หากโพสต์ต่างๆ ของคนที่ติดตามทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจในตนเองด้วยการตัดสินคนอื่นว่า “อย่างน้อยฉันก็ไม่เหมือนคนนั้น” ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่สร้างสรรค์ในการติดตามคนที่เราไม่ชอบ และหาก hate-following กำลังรบกวนความสนุกออนไลน์ หรือทำให้ต้องใช้พื้นที่สมองมากเกินไป ก็ถึงเวลาที่จะกดปุ่มเลิกติดตาม ยุติพฤติกรรมที่ไม่ดีนี้
“ในตอนแรกอาจรู้สึกแปลกที่ไม่เห็นโพสต์ของพวกเขา” Vogel กล่าว “แต่คุณอาจพบว่าคุณสนุกกับเวลาของคุณบนโซเชียลมีเดียมากขึ้นเมื่อคุณติดตามเฉพาะคนที่เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของคุณ”
พฤติกรรม hate-following ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเรามีคุณค่ามากขึ้น สิ่งที่เราทำบนโลกออนไลน์ไม่ได้มีผลออะไรกับชีวิตจริง
ในช่วงหนึ่ง เราอาจหลงทางและมองหาพื้นที่ที่จะทำให้เรามีตัวตนมีคุณค่า โดยไม่รู้เลยว่าการเข้าไปสอดส่องชีวิตของผู้อื่นเพื่อมาเปรียบเทียบกับตัวเอง หรือเพื่อหาความชอบธรรมจะทำให้คนเหล่านั้นได้รับบาดแผลทางจิตใจอย่างไร การตามกระแสสังคมที่ขาดการพิจารณาไตร่ตรองไม่ได้ทำให้โลกนี้ดีขึ้น เราควรเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของเราให้ดี ไม่เอาคุณค่าของตัวเองไปแขวนอยู่กับคนอื่น โดยเฉพาะคนไม่ดีหรือคนที่เราไม่ชอบ เอาใจใส่ตัวเองให้ดี รักษาหัวใจของตนเองให้แข็งแรงแล้วโลกใบนี้จะน่าอยู่ขึ้นเอง
อ้างอิง
The Curious Psychology of Hate-Following People Online
- พ่อแม่ไม่ใช่ ‘ผู้ปกครอง’ แต่ควรเป็น ‘ผู้ประคอง’ ให้ทั้งลูกและตัวเองด้วย เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก เช่น โกรธจนถึงขั้นขว้างปาข้าวของ ตีน้องหรือตีเพื่อนโดยอาจไม่ได้ตั้งใจแต่ทำไปเพราะอารมณ์โกรธ หรือในช่วงวัยหนึ่งที่เขาอยากรู้อยากลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ สถานการณ์เช่นนี้สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการประคองอารมณ์ตัวเอง ประคองอารมณ์ลูก
- “ปลอบก่อน สอนที่หลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย” เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับลูกที่ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร หรือครูหม่อม อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ในเด็ก วัยรุ่น พ่อแม่ อยากชวนให้ทำความเข้าใจและไขรหัสการสื่อสารที่สำคัญในครอบครัว เพื่อจะได้นำไปใช้ในการเลี้ยงลูก
วินัยเชิงบวกจะเป็นการรักษาตัวตนของลูกเอาไว้ ตีความพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมา แต่ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน และไม่คิดแทนแล้วจบด้วยประโยคคลาสสิคที่ว่า “แม่อาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่จะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชีวิตของเขาเอง
หากเราเห็นว่าลูกกำลังโกรธอยู่ แล้วตีเพื่อน เราจะเข้าไปพูดกับลูกว่าอย่างไร?
ตัวอย่างสถานการณ์ที่อยากชวนคุณพ่อคุณแม่ลองทบทวนดูว่าเมื่อครั้งที่เจอสถานการณ์เช่นนี้ หรือลองจินตนาการว่าถ้ากำลังเจอสถานการณ์นี้อยู่ ปฏิกิริยาแรกที่เราเองจะตอบสนองต่อลูกเป็นแบบไหน โดยมีตัวเลือกให้ 4 ข้อ ดังนี้
1. ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ
2. ตีเพื่อนทำไม
3. เกิดอะไรขึ้น เราทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะ
4. อื่นๆ
ทั้ง 4 ตัวเลือกนี้จะทำให้เราเห็นถึงจุดตัดระหว่างวินัยเชิงบวกกับวินัยเชิงลบ เริ่มที่ตัวเลือกข้อแรก “ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ”
“ถ้าเราเป็นลูก เราโกรธแล้วเราก็ตีเพื่อน พ่อแม่ก็เดินมาบอกว่า ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ เรา(พ่อแม่) เป็นพวกของเพื่อนลูก แม่บอกว่าเพื่อนเจ็บ…แล้วความโกรธของหนูละ กลายเป็นว่าพ่อแม่มองข้ามความรู้สึก มองข้ามตัวตนของลูกไป ลูกก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่พึ่งไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้สร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้ลูกเลย”
ตัวเลือกต่อมา “ตีเพื่อนทำไม” คำตอบนี้พ่อแม่เข้ายังคงเป็นพวกของเพื่อนลูกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคำถามหลังจากที่ลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทั้งสองข้อนี้ เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เป็นคำถามเชิงตำหนิมากกว่า
ส่วนข้อที่สาม “เกิดอะไรขึ้น เราไม่ทำร้ายผู้อื่นนะ” ฟังดูเหมือนว่าเป็นการถามถึงเหตุการณ์และสอนไปในตัว แต่พ่อกับแม่ก็ยังคงเป็นพวกของเพื่อนอยู่ดี เพราะฉะนั้นคำตอบทั้งสามข้อนี้เป็นวินัยเชิงลบ เนื่องจากทำร้ายทั้งความรู้สึกลูก และทำร้ายตัวตนของลูก ด้วยมองข้ามอารมณ์ลูกไปโดยอาจตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
แล้วควรจะทำอย่างไรดี? เทคนิค ‘ปลอบก่อน สอนทีหลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย’ ที่ครูหม่อมพูดถึงนั้นทำอย่างไร?
ในทุกๆ สถานการณ์จะมีสองเหตุการณ์เกิดขึ้นเสมอ นั่นคือ ‘อารมณ์’ และ ‘พฤติกรรม’ ของลูก ซึ่งพฤติกรรมอาจเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ได้ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแน่นอนว่าเราจะต้องสอน กรณีนี้ลูกโกรธคืออารมณ์ของลูก และลูกตีเพื่อน แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่วินัยเชิงบวกบอกว่า ขอให้ปลอบก่อน แล้วค่อยสอนทีหลัง
กุญแจสำคัญที่จะทำให้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกประสบความสำเร็จในข้อนี้ก็คือ (.) จุดฟูลสต็อป (full stop) หรือมหัพภาค หรือเครื่องหมายจุด หมายถึงการจบประโยค เช่นในกรณีนี้
“แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน. อึบแล้วจุดฟูลสต็อปเอาไว้ บางครั้งเรานำไปใช้เราอาจจะเผลอ แล้วก็ติดชินวิธีการเดิม เช่น แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน แต่! หนูจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะลูก ด้วยน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยอารมณ์คล้ายจะตำหนิลูกโดยไม่รู้ตัวนี้ ทำให้พ่อแม่เผลอทำร้ายความรู้สึกลูก ดังนั้นตั้งแต่คำว่าแต่หนูจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะลูก ขอให้กลืนมันลงไปก่อน เพราะว่าเดี๋ยวเราไปปลอบทีหลัง”
“ไม่ใช่แค่อารมณ์ของลูกอย่างเดียวที่ค่อยๆ ลง แล้วค่อยๆ สอน แต่เป็นอารมรณ์ของพ่อแม่ด้วย ก่อนสอนลูก เทคอารมณ์ลูก เทคอารมณ์ตัวเอง หากว่าเราพร้อมที่จะสอนไปที่หลักการสอนเลย เมื่อเย็นทั้งคู่แล้วค่อยสอน”
สำหรับวิธีการสอนนั้น ‘การตั้งเป้าหมายในการสอน’ และ ‘การตั้งคำถาม’ คือทริคเล็กๆ ที่ใช้ได้จริง โดยการตั้งเป้าหมายในการสอน อย่างกรณีที่ลูกโกรธแล้วตีเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งเป้าหมายว่า อยากจะสอนลูกเรื่องอะไร ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง เมื่อโกรธแล้วเราจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร และเมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้ว จึงนำไปสู่การตั้งคำถามกับลูก เช่น คราวหน้าถ้าหนูโกรธ แทนที่จะตีเพื่อนหนูว่าหนูจะทำอย่างไรได้บ้าง? หากถามเช่นนี้เขาจะได้คิดทบทวนถึงการกระทำนั้นด้วยตัวเอง
“คำถามเหล่านี้นอกจากลูกจะได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา ได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดของตัวเองเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่ทางออกอย่างไรแล้ว ลูกยังเรียนรู้ด้วยว่าเขาเป็นคนที่พ่อแม่ยังเชื่อมั่น เชื่อใจ และก็ยังเห็นความสามารถของเราอยู่ พ่อแม่ก็เลยถามเรา นี่ก็คือไขรหัสว่าทำไมเราต้องปลอบก่อน สอนทีหลัง”
อ่านบทความฉบับเต็ม https://thepotential.org/family/positive-discipline-2/
- บทความนี้อ้างอิงเนื้อหาจากสารคดีชุด Losers ตอน The Miscast Champion ที่เผยแพร่ทาง Netflix ในปี 2019 เป็นเรื่องราวของอดีตแชมป์มวยรุ่นเฮฟวี่เวท WBO ไมเคิล เบนท์ ที่ถูกพ่อบังคับให้เป็นนักมวยตั้งแต่เด็ก
- แม้จะไม่ชอบชกมวย แต่ไมเคิลกลับทำมันได้อย่างยอดเยี่ยม กระทั่งวันหนึ่งเขาตัดสินใจท้าทายตัวเองด้วยการขึ้นชกมวยสากลอาชีพ และแย่งเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทมาครองได้สำเร็จ
- ทว่าในไฟท์ถัดมา ไมเคิลช็อกโลกอีกครั้งด้วยการเป็นฝ่ายถูกหมัดน็อกจนสมองบวมจนไม่สามารถลงแข่งได้อีก แต่นั่นกลับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาค้นพบสิ่งที่ตามหามาตลอดชีวิต
ถ้าพูดถึงชื่อนักมวยอาชีพระดับแชมเปี้ยน แน่นอนว่าหลายคนต้องนึกถึงซูการ์ เรย์ โรบินสัน, มูฮาหมัด อาลี, ร็อกกี้ มาร์เซียโน, ไมค์ ไทสัน รวมถึงยอดมวยสายเลือดเอเชียอย่าง แมนนี ปาเกียว
แต่วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องแชมเปี้ยนที่หลายคนอาจไม่รู้จัก เพราะเขามีช่วงเวลาที่สั้นมากในอาชีพนักมวย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สมองของเขาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนักจนคณะแพทย์สั่งห้ามขึ้นสังเวียนกำปั้นตลอดชีวิตแชมเปี้ยนรุ่นเฮฟวี่เวท 1 สมัย ไมเคิล เบนท์ คือคนๆ นั้น ซึ่งความน่าสนใจของเขาคือชีวิตนอกสังเวียนตั้งแต่วัยเด็กที่ถูกพ่อบงการชีวิต รวมถึงการค้นพบความชอบที่แท้จริงหลังรีไทร์จากอาชีพนักมวย มาดูกันว่าไมเคิลจะเอาชนะชีวิตนอกสังเวียนและคว้าแชมป์ในโลกแห่งความจริงได้อีกครั้งหรือไม่
เด็กชายผู้ถูกยัดเยียดความฝัน
“พ่อของผมเป็นแฟนตัวยงของมูฮาหมัด อาลี และความทรงจำแรกของผมในวัยเด็ก คือการดูคนสองคนชกมวยกันในทีวี และมันน่ากลัวมาก คือพ่อผมเป็นพวกหัวโบราณน่ะครับ ทั้งโหดและเงียบ พ่อสั่งให้ผมศึกษานักมวยพวกนี้ไว้เยอะๆ เพราะพ่ออยากให้ผมเป็น มูฮาหมัด อาลี คนต่อไป”
ตั้งแต่จำความได้ ไมเคิล เบนท์ เด็กชายชาวอเมริกันที่มีต้นตระกูลมาจากประเทศจาเมกา ถูกพ่อของเขาป้อนโปรแกรมใส่สมองว่าโตขึ้นต้องเป็นนักมวย ลูกต้องเป็นมูฮาหมัด อาลีให้ได้
พออายุได้ประมาณ 10 ขวบ ไมเคิลก็ถูกพ่อพาไปฝึกต่อยมวยครั้งแรกที่โรงยิมแห่งหนึ่งเป็นเวลาต่อเนื่องนานกว่า 9 เดือน โดยไมเคิลเปิดใจว่าเขาไม่ชอบที่ถูกโค้ชหรือเพื่อนๆ ชกเข้าบริเวณศีรษะ แต่พ่อกลับไม่ฟังเขาสักนิด แถมยังบังคับให้เขาฝึกต่อไปเรื่อยๆ ราวกับหุ่นยนต์
“มันเหมือนพ่ออยากให้ผมเป็นนักมวย เพียงเพราะท่านอยากจะสัมผัสประสบการณ์นี้ผ่านตัวผม”
แน่นอนว่าหลายคนอาจเริ่มรู้สึกสงสารไมเคิล แต่ผมเชื่อบางส่วนก็อาจจะเห็นว่าพ่อทำถูกแล้ว เพราะเด็กๆ หรือนักกีฬาระดับโลกหลายคนก็ต้องถูกเคี่ยวกรำมาอย่างหนักทั้งนั้น
เพียงแต่ความเครียดของไมเคิลสะสมมากจนถึงขั้นโดดเรียนและหาทางผ่อนคลายตัวเองจากความจริงที่ต้องซ้อมมวย ชกคนอื่น และถูกซัดเข้าที่หัว คืนหนึ่งไมเคิลเลยตัดสินใจนั่งรอพ่อกลับบ้าน ก่อนตัดสินใจเปิดอกกับพ่อเรื่องอนาคตของตัวเอง
“…ผมกังวลที่ต้องบอกพ่อ คืนนั้นพ่อนั่งบนโซฟาหลังกลับจากที่ทำงาน ผมบอกพ่อว่า ‘พ่อครับ ผมไม่อยากชกมวยอีกแล้ว’ พ่อผุดลุกขึ้น เดินไปที่เสาอากาศทีวี หักมันออกมา และฟาดผมอย่างรุนแรงไม่ปรานี เรียกได้ว่าเป็นการลงโทษที่ทารุณผมมากๆ”
เมื่อวัยเด็กเป็นวัยที่ชีวิตไม่มีทางให้เลือกมากนัก เพราะต้องพึ่งพ่อแม่ ไมเคิลจึงจำใจก้มหน้าก้มตาฝึกชกมวย โดยไม่ปริปากกับพ่ออีกเลย
“พ่อไม่เคยสอนผม พ่อแค่ควบคุมผม มันต่างกันนะ มวยไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นการเอาชีวิตรอดที่ดิบและเถื่อน”
นักมวยผู้เปลี่ยนความพ่ายแพ้เป็นบทพิสูจน์
“สมัยที่ผมเป็นนักมวยและต้องขึ้นชกในไฟท์สำคัญ ไม่ว่าจะในฐานะมวยสมัครเล่นหรือมวยอาชีพ ผมมักจะขอให้เมืองทั้งเมืองไฟดับหรือไม่ก็ถูกทอร์นาโดถล่มให้รู้แล้วรู้รอด เพราะผมไม่อยากขึ้นชก”
ไมเคิลเติบโตขึ้นและทิ้งชีวิตวัยรุ่นไปกับการฝึกซ้อม – แข่งขัน –ฝึกซ้อม – แข่งขันไปเรื่อยๆ จนมารู้ตัวอีกที เขาก็กลายเป็นสตาร์ในวงการมวยของสหรัฐฯ เพราะนอกจากจะคว้ารางวัลถุงมือทองคำได้ถึง 4 สมัย (NEW YORK GOLDEN GLOVES CHAMPIONS) ด้วยสถิติชนะ 148 ครั้ง แพ้ 8 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 19 เขายังได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนว่าเป็นหนึ่งในนักมวยสมัครเล่นที่เก่งกาจที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
เมื่อมนุษย์เริ่มประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าการค้นหาความสำเร็จขั้นที่สูงกว่าย่อมเป็นเรื่องที่ท้าทายและชวนให้ลิ้มลอง แต่สำหรับไมเคิลในวัยแสนคึกคัก เขากลับตัดสินใจผลักดันตัวเองสู่การชกมวยอาชีพเพียงเพราะอยากหลบลี้หนีหน้าจากผู้ชายที่เขาเรียกว่าพ่อ
“ผมไม่เคยอยากชกอาชีพเลย เหตุผลที่ผมต้องไปก็เพื่อย้ายออกจากบ้านของพ่อ อีกอย่างผมคิดว่าผมเป็นดาวดังแล้ว…”
แต่ไมเคิลก็ยังอ่อนประสบการณ์เกินไปสำหรับมวยอาชีพ เพราะเขาถูกน็อกลงไปนอนกับพื้นตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดตัวในฐานะนักมวยอาชีพ หลังบุ่มบ่ามดันคู่ต่อสู่เข้ามุมเพื่อรัวหมัดถลุง ก่อนถูกสวนกลับจนหมดท่าต่อหน้าประชาชี
“สิ่งที่น่าอับอายที่สุดสำหรับนักมวยคือการโดนน็อกต่อหน้าผู้คน พ่อผมโผล่มาตอนนั้น พ่อโกรธมากและพูดขึ้นว่า ‘ลูกฉันแพ้ได้ยังไง’ ผมนี่แบบ…พ่อครับ พ่อไม่ได้เป็นคนโดนน็อกสักหน่อยจะโมโหอะไรขนาดนี้”
การพ่ายแพ้ในการเปิดตัวไม่ได้ส่งผลอะไรกับร่างกายเขามากนัก แต่กลับสร้างบาดแผลในจิตใจ ทั้งจากพ่อ รวมไปถึงผู้คนรอบข้างที่พากันซุบซิบเรื่องที่อดีตแชมป์ระดับประเทศหลายสมัยถูกน็อกตั้งแต่ยกแรก
พอจิตใจบอบช้ำไม่เป็นท่าจากลมปากของผู้คน แทนที่จะซุ่มซ้อมให้หนักขึ้น ไมเคิลกลับเยียวยาตัวเองแบบผิดๆ ด้วยการผลาญเงินไปกับสุรานารี ทำให้เขากลายเป็นไอ้ขี้แพ้โดยสมบูรณ์
“วันหนึ่งผมอยู่คนเดียวในอพาร์ทเม้นท์ของน้องชาย ผมพบว่าในห้องนั้นมีปืน ผมเลยหยิบมันออกมา อ้าปากและจ่อปืนเข้าไป แต่สุดท้ายแล้วผมกลับทำไม่ได้”
ตอนนั้นเอง ไมเคิลเริ่มทบทวนอดีตที่ผิดพลาดและหันหลังให้กับการกระทำที่ซ้ำเติมตัวเอง จนในที่สุดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทอย่าง อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ (ผู้เคยดวลกำปั้นกับไมเคิลสมัยชกมวยสมัครเล่น) ได้ติดต่อขอให้ไมเคิลมาเป็นคู่ซ้อมของเขา ซึ่งไมเคิลก็คว้าโอกาสนั้นและตั้งใจเป็นคู่ซ้อมให้เพื่อนเก่าอย่างดีที่สุด
“วันหนึ่งขณะฝึกซ้อมกับอีแวนเดอร์ โค้ชฝึกสอนได้เดินมาหาผมและบอกว่า ‘ที่รักผมดูไม่ออกเลยว่าใครกันแน่ที่เป็นแชมเปี้ยน’ ดังนั้นผมก็รู้แล้วว่าผมมีบางอย่างที่ต้องออกไปพิสูจน์”
แชมป์โลกผู้ไม่เคยมีความสุขกับชัยชนะ
ไมเคิลรีบติดต่อหาผู้จัดการมวยคนหนึ่งถึงความทุกข์ใจและการอยากหวนคืนสังเวียนของเขา โชคดีที่ผู้จัดการมวยได้ตอบรับการช่วยเหลือนี้ พร้อมหาไฟท์ให้เขาได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง
ชัยชนะต่อเนื่อง 10 ไฟท์ติด คือคำขอบคุณไร้เสียงที่ไมเคิลตอบแทนผู้จัดการมวยของเขา และชื่อเสียงของ ไมเคิล เบนท์ ก็ดังจนไปเข้าหูของแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทในเวลานั้นอย่าง ‘ทอมมี่ มอร์ริสัน’ (ผู้ได้ฉายาว่าเป็นไมค์ ไทสัน เวอร์ชั่นผิวขาว) จนนำไปสู่การแมทช์ที่โลกตะลึง
เดิมที ทอมมี่คิดว่าการชกกับไมเคิลน่าจะผ่านไปอย่างสบายๆ เหมือนกับการอุ่นเครื่อง เพราะเขาตกลงขึ้นชกกับ เลนนอกซ์ ลูอิส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งยอดมวยในยุคนั้นไปแล้ว
ทอมมี่เปิดเกมด้วยการไล่ชกไมเคิล แต่กลับถูกไมเคิลปล่อยหมัดผสมสวนกลับจนล้มไปถึงสองครั้ง ก่อนที่ไมเคิลจะเผด็จศึกได้ในการส่งทอมมี่ร่วงกับพื้นในครั้งที่สาม น็อกเอาต์แชมป์โลกจอมโหดและนำตัวเองเถลิงบังลังก์แชมป์รุ่นเฮฟวี่เวทคนใหม่
“ถ้ามีโอกาสเลิกชกมวยหลังเจอทอมมี่ มอร์ริสัน ผมจะทำ เพราะผมก็ไม่ได้อยากเป็นนักมวยอาชีพมาตั้งแต่แรก”
แต่คำว่า ‘แชมป์โลก’ ก็มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนกว่าที่ไมเคิลจะคาดคิด เพราะมันมาพร้อมกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ และเมื่อเป็นเช่นนั้น แชมป์โลกก็ต้องออกชกเพื่อผู้จัด เพื่อรายการ และเพื่อปกป้องเข็มขัด ซึ่งนั่นทำให้เขามีคิวป้องกันแชมป์ครั้งแรกกับนักมวยที่ชื่อ ‘เฮอร์บี ไฮด์’
“ผมไม่รู้สึกมีไฟเหมือนตอนชกกับทอมมี่ มอร์ริสัน ผมรู้อยู่แก่ใจว่าผมไม่เหมาะกับแชมป์รุ่นเฮฟวี่เวท”
ไฟท์นั้น ไมเคิลไม่เพียงออกหมัดเหมือนคนไร้เรี่ยวแรง ในช่วงยกที่ 7 เขายังถูกเฮอร์บีปล่อยหมัดทรงพลังใส่จนน็อกกลางอากาศ โดยไม่รู้ว่าผลกระทบจากหมัดของผู้ท้าชิงได้ส่งผลกระทบไปยังสมองของเขา
“พลังหมัดของเฮอร์บี ไฮด์ เทียบเท่ากับการที่คุณถือมีดและเสียบมันเข้าไปในปลั๊กไฟโดยไม่ปล่อยมือ …ผมเซ หน้าคว่ำ และตู้ม ผมล้มลงกระเด้งขึ้น โดยไม่รู้ว่ามีอันตรายแฝงอยู่ในครั้งนี้”
ไมเคิลถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลหลังพ่ายแพ้ เขาสลบไสลไปกว่า 4 วันจากอาการสมองบวม โดยภายหลังคณะแพทย์บอกเขาและผู้จัดการว่าหากศีรษะของเขาได้รับการกระทบกระเทือนอีกครั้ง เขาจะต้องนอนนิ่งเป็นผักไปตลอดชีวิต
“หลังจากที่พ่อดูผมขึ้นชกป้องกันแชมป์และทราบข่าวว่าผมมีอาการโคม่า พ่อกลับพูดว่า ‘ดี ให้ลิ่มเลือดอุดตันมันตายไปเลย’ ”
“…แต่ปฏิกิริยาแรกของผม (หลังรู้ตัวว่าไม่อาจขึ้นชกได้อีก) กลับรู้สึกโล่งอก คือผมมักจะมีความคิดขัดแย้งในหัวตลอดว่าทำไมผมถึงชกมวยตั้งแต่แรก”
คงไม่ผิดที่ใครหลายคนในตอนนั้นมองว่าอนาคตของไมเคิล เบนท์ อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทได้จบสิ้นลงแล้ว เพราะในสังคมอเมริกัน ผู้ที่ก้าวมาเป็นนักมวยส่วนมากล้วนมีพื้นเพหรือฐานะที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้นักมวยหลายคนไม่มีความรู้ที่จะวางแผนรองรับความเสี่ยงในอนาคต หลายคนพอเลิกชกมวยก็ปล่อยให้ชีวิตตกต่ำและกลายเป็นไอ้ขี้เมาหรือไม่ก็จบลงที่คุกที่ตาราง
แต่ใครจะไปรู้ว่าความพ่ายแพ้ที่ใครหลายคนมอง กลับเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะทำให้ไมเคิลลุกขึ้นใหม่อย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้ง เพราะครั้งนี้เขาจะเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง
#แขวนนวมสู่เส้นทางชีวิตที่เลือกเอง
ไมเคิลใช้เวลากว่า 2 ปีค้นหาตัวเอง ก่อนพบว่าตัวเองชอบการเขียน จึงไปสมัครเรียนเพื่อพัฒนาทักษะด้านนี้ ต่อมาเขาบังเอิญได้พบกับเบิร์ต ชูการ์ นักข่าวมวยระดับตำนานของช่อง HBO ซึ่งชวนให้เขาลองเขียนบทความเกี่ยวกับผลกระทบทางอารมณ์ของการโดนน็อกและการน็อกคนอื่น
โดยในบทความดังกล่าว ไมเคิลได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการชก โดยเฉพาะการถูกเฮอร์บี ไฮด์น็อกลงในยกที่ 7 ว่าหลังจากนั้นความทรงจำบางส่วนของไฟท์ดังกล่าวได้เลือนหายไปจากสมอง ซึ่งนักประสาทวิทยาและนักจิตวิทยาหลายคนบอกตรงกันว่า จิตใต้สำนึกของไมเคิลมีแนวโน้มที่จะระงับภาพเหตุการณ์ความรุนแรงและสะเทือนขวัญนี้ ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนชก รวมถึงวินาทีที่เขาล้มลงอย่างแน่นิ่งบนเวที
และบทความนี้เองก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนในวงการบันเทิงหลายคนเริ่มสนใจในตัวไมเคิล เบนท์ โดยเฉพาะทีมคัดตัวนักแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Ali (อาลี กำปั้นท้าชนโลก : นำโดยวิลล์ สมิธ) ที่ได้มาทาบทามให้ไมเคิลมาช่วยรับบทเป็นซอนนี ลิสตัน นักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทในตำนาน
“การไปแอลเอเปลี่ยนชีวิตผมไปโดยสิ้นเชิง ผมรู้สึกสบายใจกว่าที่ได้อยู่ในบริษัทของเหล่าคนสร้างสรรค์ ผมเริ่มฝึกสอนนักแสดงให้ชกมวย
ผมบอกได้เลยว่านักมวยเป็นคนที่โกหกเก่งที่สุดในโลก เพราะพวกเขาปฏิเสธความเจ็บปวด แต่หน้าที่ของนักแสดงนั้นคือการเค้นความเจ็บปวดนั้นออกมา”
นอกจากการร่วมงานกับวิลล์ สมิธ แล้ว ไมเคิลยังได้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ มากมาย ต่อยอดไปถึงการเป็นผู้กำกับละครบรอดเวย์เรื่อง KID SHAMROCK
“การถูกเฮอร์บี ไฮด์ น็อกเอาต์คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิตผม มันเจ็บปวด แต่ถ้าผมไม่ถูกน็อกในวันนั้น ผมก็คงยังรับบทไอ้หนุ่มนักมวยและสวมหน้ากากนั้นอยู่ ผมชอบที่ไมลส์ เดวิส (นักดนตรีแจ๊สชื่อดัง) บอกว่า ‘บางครั้งก็ต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้ที่จะเล่นเป็นตัวเอง’ ดังนั้นผมถึงมักตั้งคำถามว่าตัวผมเองเป็นใคร ซึ่งมันก็โอเคนะครับ”
จากเด็กชายที่ถูกพ่อบังคับให้ชกมวยสู่แชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทผู้ที่ไม่เคยมีความสุขกับชีวิต แต่แล้วการพ่ายแพ้ในวันหนึ่งกลับสร้างความรู้สึกโล่งอกที่รู้ว่าตัวเองจะได้หลุดพ้นจากวงโคจรแห่งกำปั้น เพื่อออกตามหาสิ่งที่ตัวเองหลงใหลและประสบความสำเร็จกับเส้นทางที่ตัวเองเลือก
เรื่องราวของไมเคิล เบนท์ จึงถือเป็นบทเรียนและตัวอย่างชีวิตที่น่ายกย่องในการรับมือกับความพ่ายแพ้ และใช้มันเป็นจุดเปลี่ยนในการทวงคืนชีวิตและความฝันของตัวเอง
…………………….
(ภาพประกอบเนื้อหาในบทความจาก http://michaelbentt.com/new-documentary/)
- โรงเรียนในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ ‘ภาษาไทย’ เป็นภาษาหลักในชีวิตประจำวัน มักประสบปัญหาในการสื่อสารซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ซึ่งหลังจากเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็น Online หรือ On-hand ก็ยิ่งทำให้พบปัญหานักเรียนมีความถดถอยในการเรียนรู้ภาษาไทยมากเป็นพิเศษ
- โรงเรียนบ้านแม่ตะละ ก็เป็นโรงเรียนหนึ่งที่นักเรียนทั้งหมดเป็น ‘กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง’ และใช้ภาษาถิ่นเป็นหลักในการสื่อสาร ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้ถดถอยในวิชาภาษาไทยเช่นเดียวกัน
- The Potential นำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้ ‘Learning Box’ หรือ นวัตกรรมกล่องบัตรคำ ของ ครูชุติมา พะคะ ครูสอนวิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านแม่ตะละ ที่ช่วยให้เด็กสามารถฟื้นฟูการเรียนรู้ของตัวเอง
ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) นับเป็นปัญหาสำคัญในวงการศึกษาไทย ซึ่งมีปัจจัยซ้ำเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดขึ้นกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่มีปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารและพื้นฐานทางเศรษฐกิจของครอบครัว
เป็นที่ทราบกันดีกว่า โรงเรียนในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ ‘ภาษาไทย’ เป็นภาษาหลักในชีวิตประจำวัน มักประสบปัญหาในการสื่อสารซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ซึ่งหลังจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจาก On-site มาเป็น Online หรือ On-hand ก็ยิ่งทำให้พบปัญหานักเรียนมีความถดถอยในการเรียนรู้ภาษาไทยมากเป็นพิเศษ
เช่นที่ โรงเรียนบ้านแม่ตะละ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่าร้อยกิโลเมตร นักเรียนทั้งหมดที่นี่เป็น ‘กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง’ ใช้ภาษาถิ่นเป็นหลักในการสื่อสาร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ทำให้เกิดปัญหาการการเรียนรู้ถดถอยในวิชาภาษาไทย แต่คุณครูที่นี่ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหานวัตกรรมเพื่อช่วยให้เด็กสามารถฟื้นฟูการเรียนรู้ของตัวเองให้ได้มากที่สุด
The Potential นำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนรู้โดยใช้ ‘Learning Box’ หรือ นวัตกรรมกล่องบัตรคำ ของ ครูชุติมา พะคะ ครูสอนวิชาภาษาไทย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านแม่ตะละ ต.แม่แดด อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่
โดยถอดความจากเวที Online PLC ครั้งที่ 8 โครงการครูเพื่อศิษย์ ปี 2
ภาษาไทย บันไดขั้นแรกของการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์
โรงเรียนบ้านแม่ตะละ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 6 ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 130 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองราว 2.30 – 3 ชั่วโมง
ครูชุติมาและครูโรงเรียนบ้านแม่ตะละ เห็นถึงความสำคัญของ ‘ภาษาไทย’ โดยมองว่าเป็นภาษาที่สำคัญมากสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่นี้ล้วนเข้าถึงสื่อหรือติดต่อราชการต่างๆ เป็นภาษาไทย จึงควรจะต้องมีพื้นฐานที่ดี เพื่อต่อยอดในการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษา รวมถึงการประกอบอาชีพในอนาคต
“ที่นี่ทั้งโรงเรียนใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร เพราะฉะนั้นเรื่องการเรียนการอ่านภาษาไทยก็จะอ่อนกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในเมือง สิ่งที่เน้นที่สุดจึงเป็นการเรียนภาษาไทยค่ะ เพราะเราอยากจะให้การใช้ภาษาไทยของเด็กดีขึ้น”
ข้อดีของการที่ครูชุติมาเป็นครูกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ไม่มีปัญหากำแพงภาษา เพราะคำไหนในภาษาไทยที่นักเรียนอาจจะไม่เข้าใจความหมาย หรือว่าอ่านแล้วไม่รู้คำแปล ครูก็สามารถอธิบายเป็นภาษาในท้องถิ่นให้นักเรียนเข้าใจได้ทันที
แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนจากปกติมาเป็นรูปแบบ On-hand ให้นักเรียนกลับไปทำใบงานที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามประเมินการอ่านการเขียน ปรากฏว่านักเรียนถดถอยในการเรียนรู้วิชาภาษาไทย เพราะไม่สามารถทำใบงานด้วยตัวเองได้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการอ่านภาษาไทยของนักเรียน โดยเลือกระดับชั้นศึกษาปีที่ 2 เป็นระดับชั้นนำร่องเนื่องจากมีความถดถอยทางการเรียนรู้ ในช่วงชั้นที่ 1 และเพื่อที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการสอบ NT ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
“ปัญหาที่พบคือ ครูไม่สามารถที่จะเข้าไปเยี่ยมเด็กได้ครบทุกคน เพราะผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรต้องไปทำงานที่ไร่ที่สวน บางทีเขาก็พาเด็กไปช่วยงานที่ไร่ที่สวนด้วย แล้วทีนี้พอครูไปเยี่ยมบ้านก็อาจจะทำให้ไม่เจอ ปัญหาอีกข้อหนึ่งคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลาช่วยสอนเด็กที่บ้านทำให้การพัฒนาการอ่านเขียนอาจจะล่าช้าหรือว่าถดถอยลงไปบ้าง” ครูชุติมา กล่าว
Learning Box บัตรคำบัญชีคำศัพท์ ปรับเจตคติสู่การเรียนรู้
เมื่อมองเห็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของเด็กๆ คณะครูโรงเรียนแม่ตะละได้ร่วมกันพูดคุยผ่านวง PLC เพื่อหาวิธีพัฒนาการเรียนรู้ภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้ข้อสรุปเป็นนวัตกรรม Learning Box ‘บัตรคำบัญชีคำศัพท์พื้นฐานของชั้นประถมศึกษาปีที่ 2’ ซึ่งทดลองใช้ในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา กับนักเรียนทั้งสิ้น 29 คน
หลังจากนั้นเมื่อโรงเรียนเปิดเรียน on-site ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จึงได้นำ Learning Box นี้มาให้นักเรียนใช้อีกครั้ง โดยครูจะลิสต์ทุกคำในระดับประถมศึกษาปีที่ 2 มารวมกันทำเป็นบัตรคำ แล้วจัดทำแบบประเมินต่างๆ เช่น แบบประเมินก่อนอ่าน หลังอ่าน การอ่านรายบุคคล และแบบประเมินการอ่านจากผู้ปกครอง เป็นต้น
“เป้าหมายข้อแรกคือ เพื่อให้นักเรียนรู้จักอ่านสะกดคำและอ่านคำพื้นฐานที่เหมาะสมกับระดับชั้นของตนเองได้ ข้อสองคือต้องการให้นักเรียนอ่านออกเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์และตัวสะกด เพื่อพัฒนาการอ่านของตนเองได้อย่างถูกต้อง ข้อสามคือ ต้องการให้นักเรียนอธิบายคำ ความหมายของคำในภาษาไทยและในกิจกรรมได้ และมี Attitude คือ ต้องการให้นักเรียนมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ มีความมุ่งมั่นในการทำงานที่เป็นระบบ ที่สำคัญคือต้องการให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อวิชาภาษาไทยค่ะ” ครูชุติมา บอกถึงความตั้งใจ
ขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้ผ่าน Learning Box บัตรคำบัญชีคำศัพท์
ชั่วโมงแรกของขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
1. ให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน
2. ครูนำนักเรียนสนทนาเกี่ยวกับการอ่านคำในภาษาไทย
ขั้นสอน
1. ทบทวนหลักการอ่านสะกดคำในภาษาไทย โดยนักเรียนบอกพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกด
2. ครูอธิบายการอ่านสะกดคำ ในบัตรคำ ให้นักเรียนเข้าใจ โดยครูอ่านเป็นตัวอย่างให้นักเรียนฟันละให้นักเรียนอ่านตาม
3. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ครูมอบกล่อง Learning Box จำนวน 4 กล่อง ให้แต่ละกลุ่มโดยมีตัวแทนกลุ่ม 1 คนออกมาหยิบบัตรคำ ออกมาให้เพื่อนในกลุ่มร่วมกันอ่านแบบสะกดคำพร้อมกัน
4. นักเรียนแต่ละกลุ่มเข้าใจวิธีการอ่านสะกดคำ อ่านเป็นคำ สลับกันอ่านจนครบทุกบัตรคำ โดยในบัตรจะแยกสีสำหรับ สระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านของนักเรียน
ขั้นสรุป
1. ครูนำตัวอย่างบัตรคำออกมาทีละบัตรคำ แล้วให้นักเรียนทั้งห้องร่วมกันอ่านสะกดคำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง
2. ให้นักเรียนร่วมแสดงความคิดเห็นจากการฝึกอ่านบัตรคำ
3. นักเรียนคัดเลือกคำ ในบัตรคำคนละ 10 คำ เพื่อนำไปคัดลงในสมุดและฝึกอ่าน
โรงเรียนจะจัดกิจกรรมบัตรคำ Learning Box วันละ 1 ชั่วโมง เป็นรายวิชาภาษาไทยเพิ่มเติม โดยใช้ระยะเวลาทั้งหมด 2 เดือน ตอนที่เปิดเรียนแบบ On-site โดยที่ครูจะเปิดอิสระให้นักเรียนได้แบ่งหน้าที่กันในกลุ่ม เลือกตัวแทนกันเอง แล้ววนสลับกันมาถือบัตรคำให้เพื่อนอ่านออกเสียงภาษาไทยจนครบทุกคน
ชั่วโมงที่ 2 ของขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
ครูและนักเรียนร่วมสนทนาทบทวน ถามตอบ ยกตัวอย่างคำในภาษาไทยบางคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด เนื่องจากหากเป็นคำที่ไม่ตรงมาตราตัวสะกด เด็กจะอ่านไม่ค่อยได้
ขั้นสอน
1. ทบทวนหลักการอ่านสะกดคำในภาษาไทย คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด
2. นักเรียนจับคู่กัน (คนอ่านเก่งคู่คนอ่านไม่เก่ง) และเลือกบัตรคำคนละ 20 คำ เพื่อนำมาสลับกันอ่านให้กันฟัง แบบเพื่อนช่วยเพื่อน
3. นักเรียนนำบัตรที่นักเรียนเลือกเองมาอ่านให้ครูฟังทีละคน (ถ้าไม่ครบคน ก็จะต่อด้วยเวลานอกหลังเลิกเรียน)
4. ครูประเมินการอ่านของนักเรียนทีละคน โดยใช้แบบประเมิน
ขั้นสรุป
1. นักเรียนร่วมกันเลือกอ่านคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา ในกล่อง Learning Box ร่วมกันสรุปความรู้ที่ได้
2. ให้นักเรียนเลือกบัตร 10 คำจากในกล่อง Learning Box กลับไปอ่านที่บ้านให้ผู้ปกครองฟัง และมีแบบประเมินให้นักเรียนเอาไปให้ผู้ปกครองประเมินที่บ้าน
ครูชุติมาเล่าว่า ที่ผ่านมายังคงพบปัญหาการที่เด็กบางคนไม่กล้าอ่านออกเสียง หรือตามเพื่อนได้ช้า ซึ่งในกรณีนี้ครูใช้วิธีการให้นักเรียนที่อ่านเก่งจับคู่บัดดี้กับนักเรียนที่ยังอ่านไม่เก่ง เพื่อที่จะช่วยให้นักเรียนตามเพื่อนทัน และเพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่มของนักเรียน ซึ่งจากการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริงจากการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยวิธี Learning Box สรุปผลได้ว่านักเรียนสามารถอำนคำบัญชีคำพื้นฐานได้ถูกต้องมากขึ้น
และจากการสังเกตพฤติกรรมที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน ครูชุติมาพบว่า นักเรียนสามารถฝึกสะกดคำได้ถูกต้องตามสีในบัตร สามารถจำรูปสระ ตัวสะกดได้มากขึ้น ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารมากขึ้น กล้าอ่านออกเสียงคำมากขึ้น และให้ความร่วมมือกับการจัดกิจกรรมกลุ่มมากขึ้น
‘บ้าน’ กองหนุนสำคัญเสริมการเรียนรู้ที่ ‘โรงเรียน’
นอกจากการเรียนรู้ที่โรงเรียนแล้ว การมีส่วนร่วมของครอบครัวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนแม่ตะละเอง ก็ได้อาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครองเช่นเดียวกัน
“จากที่ได้ทำกิจกรรมมา ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็ให้ความร่วมมือช่วยประเมินการอ่านของบุตรหลานเป็นอย่างดี มีการประเมินเด็กตามสภาพความเป็นจริงสะท้อนกลับมาให้ครู แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองอาจจะไม่มีเวลา เพราะต้องไปทำงานการเกษตรของเขา แต่ในปีการศึกษานี้ก็คาดการณ์กันว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นค่ะ
แต่เนื่องจากว่าครูเองก็เป็นคนท้องถิ่น ก็จะมีความคุ้นเคยและรู้กันเองอยู่แล้วว่าเด็กคนนี้ผู้ปกครองคือใคร อยู่บ้านหลังไหน ตอนเย็นเราก็พยายามไปเยี่ยมหรือโทรหาผู้ปกครอง ว่า “มีการบ้านนะ ให้เด็กอ่านแล้วให้ผู้ปกครองช่วยประเมินหน่อยนะคะ” เพราะส่วนใหญ่เสาร์อาทิตย์ครูก็ไม่ไปไหนเพราะเป็นคนที่นี่ ก็จะได้เจอผู้ปกครองบ้าง เราอาศัยความเป็นครูในพื้นที่และเสริมแรงให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมค่ะ”
จากการจัดกิจกรรมโดยใช้บัตรคำ ครูชุติมาเล่าว่าในช่วงที่โควิดระบาดและต้องปิดโรงเรียนในระยะหนึ่ง ครูก็อนุญาตให้เด็กๆ นำบัตรคำกลับไปฝึกอ่านที่บ้านได้
“เราให้นักเรียนเลือกเองจากคำในบัญชี Learning Box ค่ะ ว่าจะเลือกคำไหน อาจจะเป็นคำง่ายๆ ที่นักเรียนเคยอ่านเองได้แล้ว ก็ให้เอาไปอ่านให้ผู้ปกครองฟังที่บ้าน พออีกวันก็ให้นักเรียนนำมาคืน สลับกันไป คำไหนที่นักเรียนอ่านได้แล้วก็ให้สอนเพื่อน ก็จะทำให้เด็กอ่านได้มากขึ้น
เมื่อเด็กๆ สามารถอ่านและพูดภาษาไทยได้ชัดมากขึ้นกว่าเดิม เขาก็จะตื่นเต้น เพราะเด็กที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่กล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าถาม พอครูบอกว่านักเรียนกล้าพูดและอ่านคำได้ถูกต้องมากขึ้น เด็กเขาก็จะดีใจกัน และพอเราบอกเด็กว่าปีนี้ยังมีกิจกรรมนี้อยู่นะ เด็กก็ตื่นเต้นและดีใจเหมือนกันค่ะ”
สำหรับปีการศึกษา 2565 นี้ โรงเรียนบ้านแม่ตะละยังคงจัดกิจกรรม Learning Box ปลดล็อกการอ่าน-เขียนภาษาไทย ไปสู่ระดับชั้นอื่นๆ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วย
- ‘อเล็กซี อีวาโนวิช’ ตั้งคำถามว่า ‘เงินในตัวมันเองคืออะไรสำหรับเธอ’ เพราะเขารู้สึกว่า‘โพลีนา’ หญิงสาวที่เขาสานสัมพันธ์ด้วยนั้น ปฏิบัติกับเขาราวกับทาสที่ไร้ความสำคัญ จึงรู้สึกว่าถ้ามีเงิน เขาจะกลายเป็น ‘คน’ ผู้มีศักดิ์ศรีเสมอกับหญิงสาวและไม่ใช่ผู้ต่ำต้อยกว่าในสายตาเธออีกต่อไป
- เงินมีความสามารถเล่นแร่แปรธาตุกลายเป็นสิ่งต่างๆ ในโลกซึ่งหมุนไปด้วยเงินที่แม้จะเปลี่ยนโฉมไปเรื่อยๆ ไม่แปลกที่เราจะเผลอให้คุณค่าตัวเองผ่านมูลค่าเงินที่หาได้
- ความรู้สึกไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ และรู้สึกผิดในเรื่องต่างๆ สามารถนำพาให้เกิดความรู้สึกว่าต้องทำงานให้คนอื่นฟรีหรือไม่สมควรได้รับเงินตอบแทนจำนวนที่ รู้สึกว่า ‘มากไป’ ทั้งที่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลเป็นความขาดแคลนในการดำรงชีวิตประจำวัน
1.
อเล็กซี อีวาโนวิช เป็นสุภาพบุรุษผู้มีการศึกษาแต่ขาดทุนรอน เขาได้รับการจ้างจากนายพลรัสเซียให้มาเป็นครูประจำครอบครัวซึ่งมีสาวสวยอย่าง โพลีนา อเล็กซานดรอฟนา อาศัยอยู่ด้วย อเล็กซีและโพลีนาสานสัมพันธ์กัน แต่อเล็กซีรู้สึกว่าเธอปฏิบัติกับเขาราวกับทาสที่ไร้ความสำคัญ
อยู่มาวันหนึ่ง สาวที่อเล็กซีลุ่มหลงต้องการให้เขาเล่นพนันหาเงินแทนเธอ เขาจึงตั้งคำถามว่า “เงินในตัวมันเองคืออะไรสำหรับเธอ” มันย่อมต้องมีจุดหมายบางอย่าง เพราะเขาเองรู้สึกว่าถ้ามีเงิน เขาจะกลายเป็น ‘คน’ ผู้มีศักดิ์ศรีเสมอกับหญิงสาวและไม่ใช่ ‘ทาส’ ผู้ต่ำต้อยกว่าในสายตาเธออีกต่อไป
เมื่อเขาได้เงินมหาศาลจากการชนะพนัน ไม่เพียงแต่เขาจะได้รับความเบิกบานล้ำลึกในความสำเร็จ เขายังกลายเป็นคนสำคัญที่ได้รับการจับจ้อง เขาได้เห่อเหิมและได้เสพอำนาจจากความสามารถโยนเงินเป็นฟ่อนๆ ไปให้ผู้คนอื่นโดยไม่ต้องกระเหม็ดกระแหม่
สำหรับอเล็กซีนั้น เงินเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งอื่น เช่น ความรู้สึกชนะ อำนาจ ความเคารพอย่างมนุษย์คนหนึ่ง ฯลฯ
น่าคิดต่อว่าโลกภายในของเราเองเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเงินอย่างไรบ้าง? นอกจากนี้ เรามีวิถีการรับเงินค่าตอบแทนการทำงาน ฯลฯ อย่างไร?
บางคนก็มีปัญหากับการรับเงินเหมือนกันนะ
2.
ยูวัล ฮารารี (Yuval Noah Harari) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเซเปียนส์อันโด่งดัง กล่าวได้น่าสนใจว่าเงินเป็นเรื่องทางจิต ซึ่งเกี่ยวกับการ ‘สร้างความเป็นจริงระหว่างกัน อันดำรงอยู่เพียงในจินตนาการร่วมของผู้คนเท่านั้น’ เงินอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ คนต่างศาสนามีพระเจ้าคนละองค์ก็เชื่อเงินร่วมกันได้เพราะ ‘ในขณะที่ศาสนาขอให้เราเชื่ออะไรบางอย่าง เงินเพียงขอให้เราเชื่อว่า คนอื่นเชื่อในอะไรบางอย่าง‘ ‘ทุกคนต้องการเงิน เพราะคนอื่นก็ต้องการเงิน’ (อ้างอิง Money โดย Yuval Noah Harari)
เงินมีความสามารถเล่นแร่แปรธาตุกลายเป็นสิ่งต่างๆ ในโลกซึ่งหมุนไปด้วยเงินที่แม้จะเปลี่ยนโฉมไปเรื่อยๆ ไม่แปลกที่เราจะเผลอให้คุณค่าตัวเองผ่านมูลค่าเงินที่หาได้(แม้มูลค่าจะเป็นคนละอย่างกับคุณค่า) แต่หากเราตั้งสมการว่าเรามีคุณค่ามากเมื่อหาเงินได้มาก เมื่อไหร่ที่เราหาเงินไม่ได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ มันก็อาจจะกระทบค่าภายในของเราขึ้นมา
อุปสรรครับเงินต่างๆ
อย่างไรก็ตาม มันก็มีคนที่เริ่มต้นจากจุดที่ไม่ให้ค่าตัวเองมากพอ
ความรู้สึกไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ และรู้สึกผิดในเรื่องต่างๆ สามารถนำพาให้เกิดความรู้สึกว่าต้องทำงานให้คนอื่นฟรีหรือไม่สมควรได้รับเงินตอบแทนจำนวนที่ รู้สึกว่า ‘มากไป’ ทั้งที่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างยิ่ง และสิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลเป็นความขาดแคลนในการดำรงชีวิตประจำวัน
เขาอาจเติบโตมากับการถูกเฆี่ยนตีด้วยมาตรฐานสูงมาก เมื่อใดที่ทำงานและสิ่งต่างๆ ไม่ได้ตามมาตรฐานเลิศลอยที่วางไว้ ก็ไม่ค่อยอยากรับค่าตอบแทนมากนัก หรือมีปูมหลังที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามีลำดับขั้นทางสังคมต่ำกว่าคนอื่น เช่น มีร่างกายไม่แข็งแรง ถูกทำให้เป็นชายขอบในทางใด ฯลฯ ซึ่งบ้างก็เสริมการด้อยค่าตัวเองและกระทบกับจำนวนเงินที่อนุญาตให้ตัวเองได้รับสำหรับหยาดเหงื่อแรงงานที่เสียไปให้คนอื่น หรือเขาเชื่อมโยงเงินกับเหตุการณ์เจ็บปวดบางประการ หรือใช้การไม่รับเงินเป็นการลงโทษตัวเอง
หรือเขามีความเชื่อทางศาสนาหรืออุดมการณ์บางลักษณะหรือมีกลไกการปกป้องตัวเองที่ยกย่องให้ความยากจนเป็นความสูงส่ง หรือเชื่อว่าการไม่ยอมรับเงินตอบแทนเป็นความดีงาม หรือเชื่อไปเองว่าคนรวยต้องเป็นคนไม่ดี
หรืออีกกรณี เขารู้สึกผิดกับอภิสิทธิ์บางอย่าง และการไม่อนุญาตให้ตัวเองได้เงินและอื่นๆ มากไปก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำ ‘ตัวเล็ก’
ทุกกรณีที่กล่าวมารวมถึงที่ไม่อาจกล่าวไว้หมดในที่นี้ เมื่อเกิดความตระหนักรู้ ก็เปิดประตูสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าต้องการจะเปลี่ยน
3.
+ เปิดรับ
เวลาเราอยากให้อะไรคนอื่น แล้วเขาไม่รับ รู้สึกติดขัดอยู่ภายในไหม?
ถ้ามีคนอยากให้เงินและสิ่งอื่นๆ ตอบแทนที่เราทำงานให้หรือเพื่อเหตุใดก็ตาม แต่เราไม่พร้อมรับ สิ่งเหล่านั้นก็พร้อมจะไหลไปที่อื่น ส่วนการพร้อมรับเงินอย่างเบิกบาน ขอบคุณและรู้ตัวก็เปิดทางให้ความอุดมสมบูรณ์ไหลมาเทมาได้ และให้โอกาสคนที่อยากให้ได้เติมเต็มความรู้สึกด้วย
มันอาจมีสุขภาวะกว่าการที่ เราทำงานและทำอะไรๆ ให้คนอื่นไปฟรีๆ จนเหือดแห้ง และเมื่อเจอใครสักคนที่เราเอาอะไรจากเขามาฟรีๆ ได้ ก็เอาจากคนนั้นๆ มาให้ตัวเองอย่างตะกละโดยเราอาจ ‘ไม่รู้ตัว’ และโดยที่จริงๆ แล้วคนอื่นเขาก็ไม่ได้อยากให้เราฟรีขนาดนั้น หรือมันน่าจะยั่งยืนกว่าการที่เราส่งต่อวิธีการปล้นตัวเองไปปล้นคนในครอบครัวหรือทีมงานที่ต้องทำงานฟรีเพราะเรา อย่างเกินสมควร โดยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของ ‘คนดี’ มีน้ำใจหรือไม่? (ไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรมีน้ำใจ แค่ถามว่าเกินควรจนกลายเป็นการปล้นตัวเองและคนใกล้ชิดหรือไม่ บางคนเขาไม่ได้มีรายได้จากงานประจำหรือบำนาญ ฯลฯ นะ)
ไม่ได้มีคำตอบตายตัว คนแต่ละกลุ่มย่อมมีวิถีต่างกัน แค่ตั้งคำถามเท่านั้น
4.
ถ้าสังเกตชีวิตประจำวัน ก็พอจะเห็นได้ว่าความสามารถที่จะให้เงินตอบแทนคนอื่นที่มาทำงานให้เราโดยให้ได้อย่างสมเนื้องานอันมีคุณภาพของเขา มักต้องเริ่มจากการที่เราอนุญาติให้ตัวเองรับเงินตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อที่เราได้ทำงานอย่างทุ่มเทและมีคุณภาพ โดยไม่เอาเปรียบตนเองก่อน
ยิ่งถ้าคนอื่นเขาพอใจอยากให้เราอยู่แล้ว ก็รับไว้เถิด
อ้างอิง
นักพนัน (Gambler) โดย ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ แปลโดย ร.จันเสน
Money โดย ยูวัล (Yuval Noah Harari)
- เด็กทุกคนเกิดจากยีนของพ่อและแม่ผสมกัน ดังนั้นร่างกายของเด็กจึงมีส่วนที่คล้ายกับทั้งพ่อและแม่ คำถามที่น่าสงสัยต่อมาคือ แล้วสิ่งอื่นภายในอย่าง ‘นิสัย’ หรือ ‘บุคลิก’ ล่ะ ลูกนั้นจะได้รับมาจากพ่อแม่ทางยีนไหม
- ในทางจิตวิทยานิสัยจะใกล้เคียงกับความเคยชิน ที่เราเรียกว่า ‘ติดเป็นนิสัย’ ส่วนบุคลิกภาพไม่ได้เกิดจากแค่ความเคยชินหรือการทำซ้ำๆ เท่านั้น ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การเรียนรู้ตั้งแต่สมัยเด็ก บางอย่างครอบคลุมไปถึงการรับรู้ตั้งแต่ตอนยังแบเบาะไม่รู้ความด้วยซ้ำ
- แม้บุคลิกจะส่งผลส่วนหนึ่งจากสายเลือดจริง แต่การเลี้ยงดู การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็สำคัญในการหล่อหลอมให้เด็กมีบุคลิกแบบนั้นด้วย
ร่างกายของเด็กก็เหมือนผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของทั้งพ่อและแม่ เป็นเรื่องที่รู้กันมานานเสียก่อนจะมีวิทยาศาสตร์เสียอีกว่า ลูกนั้นสืบทอดลักษณะต่างๆ มาจากพ่อแม่ จนกระทั่งความรู้เรื่องพันธุกรรมทำให้เรารู้ว่าในเซลล์ของมนุษย์นั้นมีส่วนที่เรียกว่า ‘ยีน’ อยู่ ยีนเป็นเหมือนแหล่งเก็บข้อมูลที่บรรจุ ‘พิมพ์เขียว’ ที่บอกว่าจะสร้างร่างกายของเราทุกส่วนตั้งแต่หัวจรดเท้า สีผิว สีผม หน้าตา ส่วนสูง รวมถึงอวัยวะภายในทุกส่วนได้อย่างไร เด็กทุกคนเกิดจากยีนของพ่อและแม่ผสมกัน ดังนั้นร่างกายของเด็กจึงมีส่วนที่คล้ายกับทั้งพ่อและแม่
เมื่อร่างกายได้จากพ่อแม่มาเต็มๆ คำถามที่น่าสงสัยต่อมาคือ แล้วสิ่งอื่นภายในอย่าง ‘นิสัย’ หรือ ‘บุคลิก’ ล่ะ ลูกนั้นจะได้รับมาจากพ่อแม่ทางยีนไหม
หากคุณเคยดูละครไทยหลังข่าวหรือซีรีส์เกาหลีที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการ ‘สลับลูก’ แล้ว คุณมักจะพบเนื้อเรื่องคล้ายๆ กันคือ ลูกที่มีพ่อแม่แท้ๆ เป็นคนดี ถึงจะไปอยู่แบบลำบากยากแค้น พ่อแม่ปลอมก็ไม่รัก แต่เด็กคนนั้นกลับโตขึ้นมามีนิสัยดี ผิดกับลูกของพ่อแม่ที่เป็นตัวอิจฉา ต่อให้ไปอยู่กับพ่อแม่ปลอมที่นิสัยดี รักแสนจะรัก แต่กลับโตมานิสัยไม่ดี แล้วในความเป็นจริงนิสัยกับบุคลิกภาพนั้นมันส่งต่อทาง ‘สายเลือด’ ได้หรือเปล่า บทความนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ
ก่อนที่เราจะเข้าสู้เรื่องหลัก ผมอยากพูดถึงคำว่า ‘นิสัย’ และ ‘บุคลิกภาพ’ ก่อน คำนี้จริงๆ หากใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะให้ความรู้สึกไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก แต่ในทางจิตวิทยาแล้วสองคำนี้มีส่วนที่แตกต่างกัน นิสัยนั้นจะใกล้เคียงกับความเคยชิน หรือการทำสิ่งใดนานๆ ซ้ำๆ จนทำสิ่งนั้นต่อไปที่เราเรียกว่า ‘ติดเป็นนิสัย’ นิสัยจะมุ่งเน้นถึงการกระทำเสียที่เห็นภายนอก และนิสัยอาจจะพอเปลี่ยนได้หากฝืนทำสิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้นิสัยมักจะเน้นถึงการกระทำย่อยๆ เป็นอย่างๆ ไป เช่น ชินกับการนอนดึก ชอบพูดเสียงดัง ต้องหยิบมือถือมาดูทุกครั้งตอนว่าง
ส่วนคำว่าบุคลิกภาพนั้นเป็นแนวโน้มความแตกต่างในด้านใหญ่ๆ ในการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ นอกจากจะหมายถึงการกระทำที่มองเห็นแล้วยังรวมถึงการตอบสนองอื่นๆ ที่มองภายนอกไม่เห็น เช่น ความคิดและทัศนคติต่อสิ่งที่เกิดขึ้น บุคลิกภาพไม่ได้เกิดจากแค่ความเคยชินหรือการทำซ้ำๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การเรียนรู้ตั้งแต่สมัยเด็ก บางอย่างครอบคลุมไปถึงการรับรู้ตั้งแต่ตอนยังแบเบาะไม่รู้ความด้วยซ้ำ
บุคลิกยังเกิดจากกลไกทางความคิด และความแตกต่างของสมองและระบบประสาท และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนแตกต่างกัน โดยบุคลิกภาพนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างคงทน เปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้นหากเราจะพูดถึงสิ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของคนคนหนึ่งเวลาเราพูดคำว่า ‘นิสัย’ แต่ในความเป็นจริงหลายครั้งเราหมายถึง ‘บุคลิกภาพ’ มากกว่าหากจะใช้คำให้ตรงกับแวดวงวิชาการ
หากยังไม่เห็นภาพ ผมอยากให้ลองอ่านบทความก่อน ๆ เราพูดถึงบุคลิกภาพกันไปหลายอย่างครับ เช่น การมองโลกในแง่ดี-ร้าย (อ่านเพิ่มเติมที่ link บทความ: มองโลกแบบไหนถึงเรียกว่าในแง่ร้าย: https://thepotential.org/life/personality-of-pessimism/) รูปแบบความผูกพัน (อ่านเพิ่มเติมที่ link บทความ: เหมือนดูเย็นชา แต่ใช่ว่าไม่รัก: https://thepotential.org/life/relationship-attachment-theory/) อินโทรเวิร์ต/เอ็กซ์โทรเวิร์ต (อ่านเพิ่มเติมที่ link บทความ: อินโทรเวิร์ต: อยู่เงียบๆ แต่ไม่เงียบเหงา: https://thepotential.org/life/introvert-personality/)
กลับมาเข้าเรื่องหลักของเรากันครับ คำถามที่บุคลิกภาพนั้นสืบทอดมาทางสายเลือดไหม เป็นหัวข้อที่นักจิตวิทยาสนใจกันมานานมากแล้วครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมมากๆ ความเชื่อที่ว่าบุคลิกของคนส่งต่อทางสายเลือดนั้นเป็นที่นิยมในหลายสังคมทีเดียว นักจิตวิทยาจึงพยายามพิสูจน์ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บจากคนจำนวนมาก และได้คำตอบว่ามีโอกาสมากพอสมควรที่ลูกจะสืบทอดบุคลิกภาพจากพ่อแม่ เนื่องจากบุคลิกภาพนั้นมีหลากหลายด้านหลากหลายมิติ นักวิจัยจึงมุ่งเน้นศึกษาบุคลิกภาพ 5 ด้านหรือ Big 5 ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่ถือว่าเป็นด้านใหญ่ๆ ของมนุษย์ที่ค่อนข้างครอบคลุมหลายเรื่องๆ และเป็นการแบ่งมิติของบุคลิกภาพที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย โดย 5 ด้านที่ว่าประกอบด้วยด้านต่อไปนี้ครับ
1. Surgency หรือ การเปิดตัวสู่สิ่งเร้า อาจจะฟังชื่อแล้วไม่คุ้น แต่เราจะคุ้นตรงชื่อย่อย โดยคนที่มีด้านนี้สูงเรียกว่า เอ็กซ์โทรเวิร์ต (extrovert) คนที่มีบุคลิกรูปแบบนี้จะชอบเข้าสังคม อยากรู้จักคนใหม่ๆ ชอบความคึกคัก ส่วนคนที่มีด้านนี้ต่ำสูงเรียกว่าอินโทรเวิร์ต (introvert) คนที่มีบุคลิกรูปแบบนี้จะชอบอยู่กับตัวเอง ไม่ชอบเจอคนแปลกหน้า ไม่ชอบความอึกทึก
2. Neuroticism หรือ Emotional stability หรือ ความมั่นคงทางอารมณ์ คนที่มีด้านนี้สูง จะควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้น้อย เครียดง่าย ประหม่าง่าย วิตกกังวลง่าย ส่วนคนที่มีต่ำก็จะตรงกันข้ามกัน
3. Openness to experience หรือ การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ คนที่มีด้านนี้สูงจะชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆ มีความเป็นศิลปิน มีจินตนาการกว้างไกล ส่วนคนที่มีด้านนี้ต่ำจะตรงกันข้ามกัน
4. Agreeableness หรือ การชอบความกลมเกลียว คนที่มีด้านนี้สูงจะเป็นมิตรเน้นถึงความปรองดอง ไม่ชอบเถียง ไม่ชอบค้าน เน้นความร่วมมือ ไม่ชอบการแข่งขัน ส่วนคนที่มีด้านนี้ต่ำจะตรงกันข้ามกัน
5. Conscientiousness หรือ การมีจิตสำนึกในหน้าที่ คนที่มีด้านนี้สูงจะชอบความเป็นระเบียบ ทำอะไรเน้นความละเอียดถี่ถ้วน เน้นการตรงต่อเวลา ส่วนคนที่มีด้านนี้ต่ำจะตรงกันข้ามกัน
งานวิจัยหลากหลายงานพบว่า Big 5 มีความสามารถในการถ่ายทอดทางยีนถึง 30-50% ซึ่งก็ถือว่าสูงเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ผลจากยีนของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพห้าด้านนี้ก็มักจะไม่เกินครึ่ง ถ้าถามว่าอีกครึ่งหนึ่งคืออะไร คำตอบก็คือจากสิ่งแวดล้อมนั่นเองครับ
สิ่งแวดล้อมนั้นครอบคลุมทุกอย่างรอบตัวเด็ก ตั้งแต่การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สังคมรอบตัว การศึกษา การอบรมสั่งสอน ฯลฯ ดังนั้นจะสังเกตว่าบุคลิกภาพหลัก 5 ด้านของคนเรานั้นได้รับผลจากสิ่งแวดล้อมเยอะถึง 50-70 % เลยทีเดียว
บุคลิกภาพในด้านอื่นๆ ปลีกย่อยลงมาก็มีการสืบทอดทางยีนเช่นกันครับ เช่น การต่อต้านสังคม (antisocial) ความก้าวร้าว หรือแม้แต่รูปแบบความผูกพัน ซึ่งผลออกมานั้นจะใกล้เคียงกันกับ Big 5 คือผลของยีนจะมากน้อยไปตามงานวิจัย แต่โดยรวมแล้วจะไม่ถึงครึ่ง และอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญกว่า
ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่เราได้มานั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่ามันเป็นตัวเลขทางสถิติ ไม่ใช่ตัวเลขที่บ่งบอกว่าในแต่ละคนนั้นบุคลิกภาพมาจากยีนกี่ส่วน เช่น ผมบอกว่าบุคลิกภาพด้านเอ็กซ์โทรเวิร์ต/อินโทรเวิร์ต ถ่ายทอดด้วยยีน 40% หมายถึงว่าในการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมากแล้วและนำมาวิเคราะห์ทางสถิติ อาจจะทำด้วยการศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพระหว่างแฝดเหมือน (คนที่ยีนเหมือนกัน) แฝดคล้ายและพี่น้อง (แชร์ยีนบางส่วน) ลูกเลี้ยงกับลูกในสายเลือด (แชร์แต่สิ่งแวดล้อมไม่แชร์ยีน) ลูกที่แยกกันอยู่คนละบ้าน (แชร์ยีนไม่แชร์สิ่งแวดล้อม) จะพบว่ามีโอกาสที่ยีนถ่ายทอดไปได้ราว 40% ของการวิเคราะห์ข้อมูลคนจำนวนมาก แต่กับแต่ละคนนั้นนักวิจัยระบุออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ครับ
บุคลิกภาพของคนแต่ละคนนั้นเป็นผลสำเร็จที่เกิดจากทั้งยีนและสิ่งแวดล้อมหลอมรวมเป็นบุคคลนั้นเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นเราจะมาบอกว่า “ฉันเป็นคนอินโทรเวิร์ตเพราะยีน 40% เพราะสิ่งแวดล้อม 60%” ไม่ได้ ตำราที่ผมศึกษาเรื่องนี้ (ในรายการอ้างอิง) เปรียบเทียบได้ดีครับว่า เราไม่ควรถามว่าอาหารอร่อยเพราะเครื่องปรุงไหนกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะอาหารมันเป็นรสชาติที่รวมกันของหลายๆ อย่าง จะมาบอกว่ารสอร่อยจากเนื้อกี่เปอร์เซ็นต์ ผักกี่เปอร์เซ็นต์ พริกไทยกี่เปอร์เซ็นต์แบบนี้ไม่ได้ รู้แต่ว่ารวมออกมาแล้วอร่อยหรือไม่อร่อย
ยีนกับสิ่งแวดล้อมนั้นยังเป็นเรื่องที่ตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด ในหลายๆ ครั้งยีนนั้นมี ‘ปฏิสัมพันธ์’ กับสิ่งแวดล้อม หรือหมายถึง ถ้ามีแต่ยีนก็ไม่เกิดบุคลิกภาพแบบนั้น ต้องมีทั้งยีนทั้งสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น คนที่บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (antisocial) หากมีด้านนี้สูงจะชอบทำร้ายคน ไม่สนใจความรู้สึกและสวัสดิภาพของคนอื่นๆ บุคลิกภาพแบบนี้นอกจากจะส่งต่อทางยีนในส่วนหนึ่งแล้ว แต่ถึงจะมียีนบุคลิกต่อต้านสังคมจะไม่ปรากฏหรือปรากฏน้อยมากถ้าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อในการหล่อหลอมเป็นบุคลิกแบบนั้น โดยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ เช่น ถูกทารุณกรรม หรือครอบครัวนิยมใช้ความรุนแรง ในทางกลับกันคนที่ไม่มียีน แม้จะเจอกับประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็ก หากไม่มียีนก็จะมีโอกาสน้อยกว่ามาก หรือก็คือต้องมีทั้งยีนและสิ่งแวดล้อมพร้อมกัน บุคลิกภาพนั้นถึงจะเกิด จะมีแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ยีนและและสิ่งแวดล้อมนั้นเวลาทำงานหล่อหลอมบุคลิกภาพ ทั้งคู่จะทำงานพร้อมกันเป็นกลไกซับซ้อน เช่น ยีนมีผลต่อบุคลิกภาพของพ่อแม่ และส่งผลให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกในแบบที่เหมาะกับบุคลิกภาพของพ่อแม่เอง ก็เลยทำให้ลูกมีบุคลิกภาพแบบเดียวกับตัวเอง แถมลูกเองก็ได้ยีนจากพ่อแม่มาด้วย ยิ่งทำให้เด็กได้ยีนทั้งสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ ยีนของลูกเองก็ส่งผลปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกเหมือนกัน ยีนที่แตกต่างกันของเด็กทำให้เด็กแสดงออกว่าชอบไม่ชอบอะไรแตกต่างกัน ทำให้คนเลี้ยงตอบสนองต่างกัน แถมเด็กยังอาจจะแสวงหาสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับตัวเองที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับยีนด้วย
ดังนั้นการส่งต่อบุคลิกภาพทางยีน มันไม่ใช่แค่ว่ามียีนเหมือนพ่อแม่เลยมีบุคลิกภาพเหมือนพ่อแม่ แต่เพราะว่ายีนด้านในมันมีผลกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กที่หล่อหลอมให้เด็กมีบุคลิกแบบนั้นไปด้วย
แต่สรุปแล้วเราก็ตอบคำถามที่บอกคุยกันไปตอนต้นได้ว่า บุคลิกนั้นส่งผลส่วนหนึ่งจากสายเลือดจริง แต่การเลี้ยงดู การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ นั้นก็สำคัญอย่างมาก ดังนั้นลูกเลี้ยงที่ไม่ได้สืบทอดทางสายเลือดก็อาจจะมีบุคลิกเหมือนพ่อแม่บุญธรรมก็ได้ หรือลูกแท้ๆ แต่หากเลี้ยงโดยสิ่งแวดล้อมไม่สอดคล้องกับยีน ก็อาจจะมีบุคลิกอาจจะแตกต่างจากพ่อแม่แท้ๆ ก็ได้
คนเราเลือกยีนของตัวเองไม่ได้ครับ เราเกิดมาก็มียีนแบบนี้แล้ว ลูกก็ต้องได้ยีนมาจากเราเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราอย่าไปคิดมากเลยว่าลูกจะถ่ายทอดบุคลิกอะไรจากเราทางสายเลือดไหม แต่ควรไปมุ่งใส่ใจที่สิ่งแวดล้อมที่เราสร้างได้จัดการได้ดีกว่าครับ ข้อยกเว้นที่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องยีนก่อนมีลูกมีแค่เรื่องของยีนที่อาจจะส่งต่อโรคหรือความผิดปกติทางพันธุกรรม หากตนเองหรือคนในครอบครัวอาจมียีนหรือแสดงอาการเหล่านี้อยู่ ถ้าต้องการมีลูกก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจว่าเสี่ยงแค่ไหนหากจะมีลูก
นอกจากนี้บุคลิกภาพนั้นเป็นสิ่งที่เหมือนภาพกว้างๆ แต่การที่คนเราจะทำสิ่งใด คิดอย่างไร ยังมีกลไกย่อยๆ ภายในอีกจำนวนมาก เช่น ทัศนคติหรือแนวคิดต่อสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ เช่น การใช้ยาเสพติดเพื่อแก้ปัญหา การเคารพสิทธิมนุษยชน การรู้จักผิดชอบชั่วดี งานวิจัยพบว่าถึงทางสถิติจะพบว่าทัศนคติจะถ่ายทอดทางสายเลือดได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่อธิบายได้ว่าเพราะอะไร และเทียบแล้วสิ่งแวดล้อมการอบรมเลี้ยงดูส่งผลต่อเรื่องพวกนี้มากกว่าเยอะ เช่นเดียวกับเรื่องของนิสัยต่างๆ ที่เกิดจากความเคยชิน ตรงนี้ล้วนแต่เป็นเป็นผลของการฝึกฝนและการเลี้ยงดูเยอะกว่าเรื่องของยีน
และสิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ เด็กแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไม่มากก็น้อย ต่อให้เลี้ยงมาเหมือนกัน และยีนเหมือนกันอย่างฝาแฝดแท้ๆ แต่เด็กแต่ละคนก็จะค่อยๆ ต่างกันไปเมื่อโตขึ้นอยู่ดี เด็กไม่ใช่สินค้าประกอบจากโรงงานที่จะควบคุมให้โตมาเป็นได้ดั่งใจทุกอย่างเป๊ะๆ ส่วนหนี่งเหมือนสุภาษิต ‘สองคนยลตามช่อง’ คือ แม้ชีวิตจะประสบพบเจอสิ่งเดียวกัน แต่คนแต่ละคนจะตีความสิ่งนั้นต่างกันไป และสิ่งเหล่านั้นจะสร้างสรรค์บุคลิกภาพของแต่ละคนให้แตกต่างกันด้วย
ดังนั้นพ่อแม่ทุกท่านก็อาจจะต้องเข้าใจและยอมรับธรรมชาติในส่วนนี้ไว้บ้าง ขอให้เลี้ยงให้เขาได้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้และเติบโตตามสมควร หากสุดท้ายเขาจะแตกต่างไปจนนิสัยไม่เหมือนเราเลย หรือผิดไปจากความคาดหวังของเรามากก็คงสุดแล้วแต่ตัวเขาด้วยล่ะครับ
สุดท้าย หากใครเป็นพ่อแม่บุญธรรม บางคนรับเด็กมาเลี้ยงโดยไม่รู้ด้วยว่าพ่อแม่ผู้มอบยีนให้เด็กคือใคร ก็ขอให้วางใจได้ว่าเรายังไม่พบบุคลิกภาพใดที่ถ่ายทอดทางสายเลือดแน่ๆ เกิดมาต้องเป็นแบบนั้นแน่นอน ที่ว่าพ่อแม่เป็นโจรลูกก็ต้องเป็นโจรแน่ๆ เหมือนในหนังนั้นไม่เป็นความจริงแน่นอน
การเลี้ยงดู การใส่ใจดูแล การเรียนรู้ สำคัญกับตัวเด็กเสมอ เด็กจะเป็นอย่างไรสำคัญคือเลี้ยงดูอย่างไร ไม่ใช่ลูกใคร สอดคล้องกับค่านิยมสมัยใหม่ของสังคมว่าการจะเป็นพ่อแม่ ไม่ได้เป็นเพราะให้แค่กำเนิดทางกาย หรือเป็นเพราะแค่มอบยีนให้ แต่เป็นพ่อแม่ได้เพราะการเลี้ยงเด็กคนนั้นจนเติบใหญ่ต่างหากจริงไหมครับ
รายการอ้างอิง
Bouchard Jr, T. J., & McGue, M. (2003). Genetic and environmental influences on human psychological differences. Journal of neurobiology, 54(1), 4-45.
Jang, K. L., Livesley, W. J., & Vemon, P. A. (1996). Heritability of the big five personality dimensions and their facets: A twin study. Journal of personality, 64(3), 577-592.
Larsen, R. J., & Buss, D. M. (2008). Personality psychology: Domains of knowledge about human nature. New York: McGraw-Hill.
Nagel, M., Jansen, P. R., Stringer, S., Watanabe, K., De Leeuw, C. A., Bryois, J., … & Posthuma, D. (2018). Meta-analysis of genome-wide association studies for neuroticism in 449,484 individuals identifies novel genetic loci and pathways. Nature genetics, 50(7), 920-927.
Røysamb, E., Nes, R. B., Czajkowski, N. O., & Vassend, O. (2018). Genetics, personality and wellbeing. A twin study of traits, facets and life satisfaction. Scientific Reports, 8(1), 1-13.Vukasović, T., & Bratko, D. (2015). Heritability of personality: A meta-analysis of behavior genetic studies. Psychological bulletin, 141(4), 769.
- แผลลึกหัวใจสลาย หรือ Never Let Me Go ผลงานเขียนของ คาสึโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro) นักประพันธ์ชาวอังกฤษเชื้อสายญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2017 แปลเป็นภาษาไทยโดย นารีรัตน์ ชุนหชา ซึ่งนิตยสารไทม์ ยกให้หนังสือเล่มนี้ เป็นนิยายที่ดีที่สุดในปี 2005 และจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดในรอบสิบปี
- แม้ว่าจะถูกจัดในหมวดนิยายวิทยาศาสตร์ไซไฟ (sci-fi) และแนวโลกดิสโทเปีย (dystopia) แต่แก่นสำคัญของเรื่องนี้คือ ความทรงจำและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ซึ่งคาสึโอะ อิชิงุโระ ให้ความสำคัญและสอดแทรกในหนังสือทุกเล่มของเขา
- ‘แผลลึก หัวใจสลาย’ บอกกับเราว่า ไม่ว่าชีวิตจะสั้นเพียงแค่พริบตาของดวงดาวหรือยืนยาวจนชั่วนิรันดร์ จงใช้มันให้ดีที่สุด หัวเราะให้ดังที่สุด เปล่งเสียงร้องให้กึกก้องที่สุด และรักให้ท่วมท้นจนล้นหัวใจออกมา
ถ้าให้สรุปเรื่องราวทั้งหมดของหนังสือ แผลลึกหัวใจสลาย ภายในบรรทัดเดียว ก็คงสรุปได้ว่า “นี่คือนิยายรักรวดร้าวในช่วงชีวิตที่แสนสั้นของมนุษย์โคลน”
แต่ถ้าจะให้สาธยายยาวกว่านั้น ขยับเข้ามาเลยครับ ผมจะเล่าให้คุณฟัง
แผลลึกหัวใจสลาย หรือ Never Let Me Go ผลงานเขียนของ คาสึโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro) นักประพันธ์ชาวอังกฤษเชื้อสายญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี 2017 ขณะที่ฉบับภาษาไทยแปลโดย นารีรัตน์ ชุนหชา โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์ พับลิชชิ่ง
หนังสือเล่มนี้ ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ว่า เป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่สร้างสรรค์ที่สุดในยุคปัจจุบัน ขณะที่นิตยสารไทม์ ยกให้หนังสือเล่มนี้ เป็นนิยายที่ดีที่สุดในปี 2005 ซึ่งหนังสือตีพิมพ์ครั้งแรก รวมทั้งยังจัดให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดในรอบสิบปีเลยทีเดียว
ส่วนตัวผม ขอยกให้หนังสือฉบับภาษาไทย เป็นหนึ่งในหนังสือที่หน้าปกสวยที่สุดอีกตำแหน่งหนึ่งครับ (เครดิตการออกแบบปกโดย เฉลิมพันธ์ ปัญจมาพิรมย์ ผู้ออกแบบปกหนังสือสวยๆ หลายเล่มในไทยครับ)
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ หรือรางวัลเกียรติยศที่มอบให้ คือ กระแสตอบรับจากนักอ่านจากทั่วโลก ซึ่งหลายๆ คนยกให้เป็นหนึ่งในหนังสือโปรดตลอดกาล บางคนบอกว่า นี่คือนิยายรักที่งดงามที่สุด แต่บางคนก็บอกว่า นี่คือนิยายรักที่สุดแสนรันทดที่สุด ขณะที่บางคนก็บอกว่า นี่คือวรรณกรรมที่สื่อถึงความล่มสลายของชีวิต แต่กลับแฝงด้วยความงดงามของชีวิตในคราวเดียวกัน
แม้ว่าจะถูกจัดในหมวดนิยายวิทยาศาสตร์ไซไฟ (sci-fi) และนิยายแนวโลกดิสโทเปีย (dystopia) หรือนิยายที่มีฉากหลังเป็นโลกที่เสื่อมสลาย แต่แก่นสำคัญของเรื่องนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่คาสึโอะ อิชิงุโระ ให้ความสำคัญและสอดแทรกในหนังสือทุกเล่มของเขา นั่นก็คือ ความทรงจำและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
และในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ความทรงจำและความสัมพันธ์ (ทั้งความรักและมิตรภาพ) ระหว่างแคธี เอช, รูธ และทอมมี
วัยเยาว์อันร้าวราน
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ แบ่งออกเป็น 3 ภาค ซึ่งทั้งหมดเป็นการบอกเล่าของแคธี โดยเธอแนะนำตัวกับเราว่า
“ฉันชื่อแคธี เอช. อายุสามสิบเอ็ดปี ฉันทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลมากกว่าสิบเอ็ดปีแล้ว”
‘ผู้ดูแล’ คือ อะไร ผมนึกสงสัยในใจตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก แต่อย่าห่วงเลยครับ หนังสือของอิชิงุโระมักจะเป็นแบบนี้แหละ ไม่สนใจที่จะต้องอธิบายที่มาที่ใด ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องพยายามใช้เหตุผลตีความใดๆ ปล่อยให้ความรู้สึกเป็นเข็มทิศนำทางเราท่องไปในจักรวาลแห่งจินตนาการก็พอ
พออ่านไปอีกสักหน่อย จะเจอศัพท์เฉพาะแบบนี้อีก เช่น คำว่า ‘ผู้บริจาค’ และตามด้วยชื่อเฉพาะสำคัญอย่าง ‘เฮลแชม’
จากนั้น แคธีก็พาเราย้อนความทรงจำไปถึงวัยเด็ก และทำให้เราได้รู้ว่า ‘เฮลแชม’ คือ โรงเรียนพิเศษที่เธอและผองเพื่อนเคยใช้ชีวิตอยู่ ที่นั่น เป็นโรงเรียนประจำที่เด็กๆ ได้รับการ ‘เลี้ยงดู’ และ ‘อบรมสั่งสอน’ ตั้งแต่เด็ก ภายใต้สภาพแวดล้อมที่งดงามตามแบบฉบับชนบทของอังกฤษ ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ห้อมล้อมด้วยคุณครูผู้เข้มงวดแต่โอบอ้อมอารี และแพทย์-พยาบาลผู้ใส่ใจดูแลสุขภาพเด็กๆ อย่างยิ่งยวด
ภาพชีวิตเด็กๆ ในโรงเรียนประจำ ที่สอดแทรกด้วยเรื่องราวมิตรภาพและวัยเยาว์อันแสนไร้เดียงสา ทำให้ผู้อ่านอาจคิดว่า นี่คงเป็นนิยายในหมวดหมู่การก้าวผ่านวัย (coming of age) อีกเรื่องหนึ่ง จนกระทั่งเราได้อ่านถึงตอนที่เด็กสองคนคุยกันถึงเรื่องชีวิตในอนาคต ที่เด็กคนหนึ่งใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง เพื่อนก็แนะนำว่า ให้ไปอเมริกา ก่อนที่ครูลูซี ซึ่งบังเอิญมาได้ยิน จะพูดโดยสะกดกลั้นอารมณ์บางอย่างไม่อยู่ว่า
“ไม่มีใครจะได้ไปอเมริกา ไม่มีใครจะได้เป็นดาราหนัง.. ชีวิตของพวกเธอถูกกำหนดไว้ให้แล้ว พวกเธอจะโตเป็นผู้ใหญ่ จากนั้น… พวกเธอจะเริ่มต้นบริจาคอวัยวะสำคัญของพวกเธอ นั่นคือสิ่งที่พวกเธอถูกสร้างมาให้เป็น… ทั้งหมดนั้น ถูกลิขิตไว้แล้ว”
จากจุดนั้น ปริศนาดำมืดที่อยู่ในใจผู้อ่านจึงเริ่มคลี่คลาย นี่คือเรื่องราวของ ‘มนุษย์โคลน’ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแค่อวัยวะสำรอง หรือชิ้นส่วนอะไหล่ให้กับผู้ป่วยโรคร้ายแรง เฮลแชมถือเป็นโรงเรียนบุกเบิกแห่งแรก ที่ใส่ใจในสวัสดิภาพของ ‘อวัยวะสำรอง’ เด็กๆ ทุกคนที่ถูกสร้างมา จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับการอบรมวิชาความรู้ รวมถึงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะและบทกวี เพื่อให้พวกเขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ก่อนจะจบชีวิตอันแสนสั้น ซึ่งในเรื่องนี้ใช้ศัพท์คำว่า ‘สิ้นสุด’
อันที่จริงแล้ว เด็กๆ ทุกคนในเฮลแชม ต่างได้รับการบอกอย่างอ้อมๆ ถึงอนาคตของตัวเอง ทว่าไม่เคยมีใครใส่ใจกับมันอย่างจริงจัง จนกระทั่งครูลูซี ผู้ทนความสงสารในชะตากรรมของเด็กๆ ไม่ไหว จนต้องออกมาตอกย้ำเรื่องนี้อย่างชัดเจน- ตรงไปตรงมา เพื่อกระชากเด็กๆ ให้ตื่นจากความฝันอันคลุมเครือ
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไมเด็กๆ ถึงต้องยอมรับชะตากรรมของตัวเอง ทำไมไม่คิดหนีไป หรือบางคนอาจคิดว่า ถ้าโลกในนิยายเล่มนี้ มีเทคโนโลยีถึงสร้างมนุษย์โคลนได้ แล้วทำไมไม่สร้างแค่อวัยวะโคลน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นอะไหล่
ใช่ครับ ทุกข้อสงสัยล้วนมีตรรกะเหตุผลที่ควรสงสัย แต่อย่าลืมว่า นิยายของอิชิงุโระ ไม่ได้ต้องการนำเสนอความสมจริงในทางวิทยาศาสตร์ หากแต่ต้องการค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่อาจจะสำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือ ชีวิตเรา มีไว้เพื่ออะไร
อิชิงุโระ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าคุณรู้ว่าความตายกำลังจะมาเยือนในไม่ช้า จะมีอะไรให้คุณยึดมั่นถือมั่นอีก หรือจะมีอะไรที่คุณอยากแก้ไขให้มันถูกต้องก่อนจะจากไป อะไรคือสิ่งที่คุณรู้สึกในหัวใจว่า ฉันต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ ก่อนจะเดินจากโลกนี้ไป”
รักสามเส้า ของเราสามคน
คำถามของอิชิคุโระ คือ สิ่งที่อยู่ในใจแคธี จนถึงวันที่เธอจบจากเฮลแชม และก้าวเข้าสู่สถานที่ที่เรียกว่า ‘กระท่อม’ ซึ่งเป็นเหมือนบ้านพักชั่วคราวของมนุษย์อะไหล่ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการบริจาคอวัยวะ
เรื่องราวใน ‘แผลลึก หัวใจสลาย’ พาเราเข้าสู่ภาคที่ 2 ของเรื่อง โดยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ (ทั้งฉันท์เพื่อนและฉันท์เพศ) ของแคธี, รูธ และทอมมี
หลังจากจบจากโรงเรียนเฮลแชม ทั้งสามคนได้เข้าไปใช้ชีวิตใน ‘กระท่อม’ พร้อมกับมนุษย์โคลนวัยรุ่นอีกหลายคน ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่มาคู่กับช่วงชีวิตวัยรุ่น นอกจากการค้นหาตัวตนแล้ว ก็คือ การไขว่คว้าหาความสัมพันธ์
รูธ เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของแคธี ตั้งแต่วัยเด็ก แต่มิตรภาพของทั้งสองไม่ได้เรียบง่ายเลย ตรงกันข้าม เป็นความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน และแฝงด้วยการแข่งขันกันในที อาจเพราะรูธมีนิสัยต้องการเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ลึกๆ แล้ว เธออิจฉาแคธี ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างแคธีกับทอมมี
รูธ มีความฝัน เชื่อมั่นในวันพรุ่งนี้ แต่สุดท้าย เธอจึงยอมรับความจริงว่า มนุษย์โคลนไม่อาจมีความฝัน คนอย่างพวกเธอไม่มีวันพรุ่งนี้หรอก
รูธรักทอมมี รูธรักแคธี แต่เธอก็อิจฉาแคธี
ทอมมี เป็นเพื่อนชายที่สนิทที่สุดของแคธี เป็นคนซื่อๆ ตรงไปตรงมา อารมณ์ร้อน โผงผาง แต่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ เขามักถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะเขามีแคธีเป็นที่พักพิงใจในยามขับขันเสมอ
ทอมมี ไม่เชื่อในความฝัน เขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำในวันนี้มากกว่า แต่สุดท้าย เขาจึงได้รู้ว่า สิ่งที่ทุ่มเททำลงไป ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของมนุษย์โคลนได้เลย
ทอมมีรักรูธ และแอบรักแคธี ตั้งแต่วัยเด็ก แต่เขาไม่เคยเอ่ยปากบอก
แคธี เป็นคนเงียบขรึมและช่างคิด เธอมักคิดอะไรแตกต่างจากคนอื่นตั้งแต่เด็ก แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็เป็นที่รักและที่พักพิงให้กับเพื่อนเสมอ โดยเฉพาะทอมมี ซึ่งถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งในช่วงวัยเด็ก
แคธี ไม่เชื่อในความฝัน เธอรู้ว่าวันพรุ่งนี้ไม่มีจริง สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเธอไว้ คือ ความทรงจำของวันวาน
แคธีรักรูธ บางครั้งเธอก็หมั่นไส้รูธ แต่ที่แน่ๆ เธอรักทอมมี
รักสามเส้า เป็นเรื่องที่รวดร้าวอยู่แล้ว และยิ่งร้าวรานขึ้นอีกหลายเท่าสำหรับมนุษย์โคลน ที่รู้ชะตากรรมตัวเองดีว่า ความรักที่มีนั้น ไม่มีวันที่จะมีอนาคตร่วมกันได้เลย ไม่มีวันที่เขาและเธอ จะได้ทำหน้าที่พ่อบ้านแม่บ้านในวันข้างหน้า ไม่มีวันที่เขาและเธอจะมี ‘ลูก’ ด้วยกัน (เพราะเทคโนโลยีพันธุกรรมที่ทำให้เป็นหมัน) และแน่นอน ไม่มีวันที่เขาและเธอจะได้แก่เฒ่าไปด้วยกัน
ในเรื่องของความรัก ไม่มีใครอยากเป็นอะไหล่สำรองให้ใครหรอก สุดท้าย แคธีเลือกเดินออกมาจากความสัมพันธ์สามเส้า เธอเสียสละทอมมีให้กับรูธ ในช่วงเวลาที่ทอมมีกำลังจะตัดสินใจเลือกคนใดคนหนึ่ง และในเวลาเดียวกัน แคธี ตัดสินใจเลือกเป็น ‘ผู้ดูแล’ ซึ่งทำให้เธอก้าวเดินออกจากกระท่อมได้ก่อนคนอื่น
แคธี เลือกที่จะไม่เป็น ‘คนรัก’ ในช่วงเวลานั้น เพื่อที่เธอจะได้เป็น ‘ที่พักพิงใจ’ ให้กับคนที่เธอรัก ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ซึ่งก็อีกแค่ไม่นานหรอก
อาจไม่มี ‘พรุ่งนี้’ แต่ขอแค่มี ‘เมื่อวาน’
เมื่อก้าวพ้นช่วงวัยรุ่นแล้ว ชะตากรรมของเหล่ามนุษย์โคลนในหนังสือ มีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ 1 เป็นผู้บริจาค ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริจาคจะ ‘สิ้นสุด’ หรือถึงแก่ความตาย หลังจากการบริจาคอวัยวะสำคัญไปได้แค่สองครั้ง 2 เป็นผู้ดูแล ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้บริจาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาด้านจิตใจ จนถึงวัน ‘สิ้นสุด’ อายุขัยของผู้บริจาค โดยการทำหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ผู้ดูแลสามารถเลื่อนเวลาการ ‘สิ้นสุด’ ของตัวเองออกไปได้อีกหลายปี (ในหน้าแรกๆ แคธีเล่าว่า เธอเป็นผู้ดูแลที่มีผลงานดี จึงสามารถทำหน้าที่นี้ได้ยาวนานจนถึง 12 ปี)
แต่การที่แคธีเลือกเป็นผู้ดูแล ไม่ใช่เพราะเธอต้องการชะลอความตายออกไป ตรงกันข้าม หน้าที่ที่เธอแบกรับนั้น อาจจะทุกข์ทรมานยิ่งกว่าการเผชิญความตายด้วยซ้ำ เพราะผู้ดูแลต้องคอยเยียวยาจิตใจอันบอบช้ำของผู้บริจาค พร้อมๆ กับการเห็นผู้บริจาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่เธอรู้จัก ค่อยๆ ล้มตายไปต่อหน้า
แคธีเลือกเป็นผู้ดูแล เพราะนอกจากจะได้เป็น ‘ที่พักพิงใจ’ คอยช่วยเหลือเพื่อนๆ ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ตัวเธอเองก็ยังได้ทบทวนความทรงจำที่มีร่วมกับผู้บริจาค โดยในภาคที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงบทสรุปของเรื่อง แคธีได้ทำหน้าที่ผู้ดูแลรูธและทอมมี จนถึงช่วงเวลาสิ้นสุดของพวกเขา
ช่วงเวลาที่เธอและเขา และเธออีกคน ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแม้เพียงสั้นๆ นอกจากจะช่วยปลุกความทรงจำอันอ่อนหวานที่ทั้งสามคนเคยมีร่วมกัน ยังเป็นการคลี่คลายปมความขัดแย้งในใจ และสร้างความทรงจำที่ดีครั้งสุดท้าย ให้กับทั้งแคธี, รูธ และทอมมี อีกด้วย
“ความทรงจำที่มีค่ามากที่สุดของฉัน ฉันไม่เคยเห็นมันจางหายไปเลย ฉันสูญเสียรูธ จากนั้นก็สูญเสียทอมมี แต่ฉันไม่เคยสูญเสียความทรงจำถึงพวกเขา”
สำหรับคนที่ไม่มีความหวังถึงอนาคต ก็คงมีแต่ความทรงจำเท่านั้น ที่เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตให้คงอยู่ต่อไปได้
สำหรับคนที่ไม่มี ‘วันพรุ่งนี้’ ก็คงมีแต่ ‘เมื่อวาน’ เท่านั้น ที่ช่วยให้ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้ใน ‘วันนี้’
‘แผลลึก หัวใจสลาย’ บอกกับเราว่า ไม่ว่าชีวิตจะสั้นเพียงแค่พริบตาของดวงดาว หรือยืนยาวจนชั่วนิรันดร์ จงใช้มันให้ดีที่สุด หัวเราะให้ดังที่สุด เปล่งเสียงร้องให้กึกก้องที่สุด และรักให้ท่วมท้นจนล้นหัวใจออกมา
ต่อให้ชีวิตนี้จะแสนสั้น ก็ขอให้รักนั้นยืนยาว