- เด็กทุกคนเกิดจากยีนของพ่อและแม่ผสมกัน ดังนั้นร่างกายของเด็กจึงมีส่วนที่คล้ายกับทั้งพ่อและแม่ คำถามที่น่าสงสัยต่อมาคือ แล้วสิ่งอื่นภายในอย่าง ‘นิสัย’ หรือ ‘บุคลิก’ ล่ะ ลูกนั้นจะได้รับมาจากพ่อแม่ทางยีนไหม
- ในทางจิตวิทยานิสัยจะใกล้เคียงกับความเคยชิน ที่เราเรียกว่า ‘ติดเป็นนิสัย’ ส่วนบุคลิกภาพไม่ได้เกิดจากแค่ความเคยชินหรือการทำซ้ำๆ เท่านั้น ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การเรียนรู้ตั้งแต่สมัยเด็ก บางอย่างครอบคลุมไปถึงการรับรู้ตั้งแต่ตอนยังแบเบาะไม่รู้ความด้วยซ้ำ
- แม้บุคลิกจะส่งผลส่วนหนึ่งจากสายเลือดจริง แต่การเลี้ยงดู การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ก็สำคัญในการหล่อหลอมให้เด็กมีบุคลิกแบบนั้นด้วย
ร่างกายของเด็กก็เหมือนผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของทั้งพ่อและแม่ เป็นเรื่องที่รู้กันมานานเสียก่อนจะมีวิทยาศาสตร์เสียอีกว่า ลูกนั้นสืบทอดลักษณะต่างๆ มาจากพ่อแม่ จนกระทั่งความรู้เรื่องพันธุกรรมทำให้เรารู้ว่าในเซลล์ของมนุษย์นั้นมีส่วนที่เรียกว่า ‘ยีน’ อยู่ ยีนเป็นเหมือนแหล่งเก็บข้อมูลที่บรรจุ ‘พิมพ์เขียว’ ที่บอกว่าจะสร้างร่างกายของเราทุกส่วนตั้งแต่หัวจรดเท้า สีผิว สีผม หน้าตา ส่วนสูง รวมถึงอวัยวะภายในทุกส่วนได้อย่างไร เด็กทุกคนเกิดจากยีนของพ่อและแม่ผสมกัน ดังนั้นร่างกายของเด็กจึงมีส่วนที่คล้ายกับทั้งพ่อและแม่
เมื่อร่างกายได้จากพ่อแม่มาเต็มๆ คำถามที่น่าสงสัยต่อมาคือ แล้วสิ่งอื่นภายในอย่าง ‘นิสัย’ หรือ ‘บุคลิก’ ล่ะ ลูกนั้นจะได้รับมาจากพ่อแม่ทางยีนไหม
หากคุณเคยดูละครไทยหลังข่าวหรือซีรีส์เกาหลีที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการ ‘สลับลูก’ แล้ว คุณมักจะพบเนื้อเรื่องคล้ายๆ กันคือ ลูกที่มีพ่อแม่แท้ๆ เป็นคนดี ถึงจะไปอยู่แบบลำบากยากแค้น พ่อแม่ปลอมก็ไม่รัก แต่เด็กคนนั้นกลับโตขึ้นมามีนิสัยดี ผิดกับลูกของพ่อแม่ที่เป็นตัวอิจฉา ต่อให้ไปอยู่กับพ่อแม่ปลอมที่นิสัยดี รักแสนจะรัก แต่กลับโตมานิสัยไม่ดี แล้วในความเป็นจริงนิสัยกับบุคลิกภาพนั้นมันส่งต่อทาง ‘สายเลือด’ ได้หรือเปล่า บทความนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ
ก่อนที่เราจะเข้าสู้เรื่องหลัก ผมอยากพูดถึงคำว่า ‘นิสัย’ และ ‘บุคลิกภาพ’ ก่อน คำนี้จริงๆ หากใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะให้ความรู้สึกไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก แต่ในทางจิตวิทยาแล้วสองคำนี้มีส่วนที่แตกต่างกัน นิสัยนั้นจะใกล้เคียงกับความเคยชิน หรือการทำสิ่งใดนานๆ ซ้ำๆ จนทำสิ่งนั้นต่อไปที่เราเรียกว่า ‘ติดเป็นนิสัย’ นิสัยจะมุ่งเน้นถึงการกระทำเสียที่เห็นภายนอก และนิสัยอาจจะพอเปลี่ยนได้หากฝืนทำสิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้นิสัยมักจะเน้นถึงการกระทำย่อยๆ เป็นอย่างๆ ไป เช่น ชินกับการนอนดึก ชอบพูดเสียงดัง ต้องหยิบมือถือมาดูทุกครั้งตอนว่าง
ส่วนคำว่าบุคลิกภาพนั้นเป็นแนวโน้มความแตกต่างในด้านใหญ่ๆ ในการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ นอกจากจะหมายถึงการกระทำที่มองเห็นแล้วยังรวมถึงการตอบสนองอื่นๆ ที่มองภายนอกไม่เห็น เช่น ความคิดและทัศนคติต่อสิ่งที่เกิดขึ้น บุคลิกภาพไม่ได้เกิดจากแค่ความเคยชินหรือการทำซ้ำๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การเรียนรู้ตั้งแต่สมัยเด็ก บางอย่างครอบคลุมไปถึงการรับรู้ตั้งแต่ตอนยังแบเบาะไม่รู้ความด้วยซ้ำ
บุคลิกยังเกิดจากกลไกทางความคิด และความแตกต่างของสมองและระบบประสาท และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนแตกต่างกัน โดยบุคลิกภาพนั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างคงทน เปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้นหากเราจะพูดถึงสิ่งที่เป็นลักษณะสำคัญของคนคนหนึ่งเวลาเราพูดคำว่า ‘นิสัย’ แต่ในความเป็นจริงหลายครั้งเราหมายถึง ‘บุคลิกภาพ’ มากกว่าหากจะใช้คำให้ตรงกับแวดวงวิชาการ
หากยังไม่เห็นภาพ ผมอยากให้ลองอ่านบทความก่อน ๆ เราพูดถึงบุคลิกภาพกันไปหลายอย่างครับ เช่น การมองโลกในแง่ดี-ร้าย (อ่านเพิ่มเติมที่ link บทความ: มองโลกแบบไหนถึงเรียกว่าในแง่ร้าย: https://thepotential.org/life/personality-of-pessimism/) รูปแบบความผูกพัน (อ่านเพิ่มเติมที่ link บทความ: เหมือนดูเย็นชา แต่ใช่ว่าไม่รัก: https://thepotential.org/life/relationship-attachment-theory/) อินโทรเวิร์ต/เอ็กซ์โทรเวิร์ต (อ่านเพิ่มเติมที่ link บทความ: อินโทรเวิร์ต: อยู่เงียบๆ แต่ไม่เงียบเหงา: https://thepotential.org/life/introvert-personality/)
กลับมาเข้าเรื่องหลักของเรากันครับ คำถามที่บุคลิกภาพนั้นสืบทอดมาทางสายเลือดไหม เป็นหัวข้อที่นักจิตวิทยาสนใจกันมานานมากแล้วครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมมากๆ ความเชื่อที่ว่าบุคลิกของคนส่งต่อทางสายเลือดนั้นเป็นที่นิยมในหลายสังคมทีเดียว นักจิตวิทยาจึงพยายามพิสูจน์ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บจากคนจำนวนมาก และได้คำตอบว่ามีโอกาสมากพอสมควรที่ลูกจะสืบทอดบุคลิกภาพจากพ่อแม่ เนื่องจากบุคลิกภาพนั้นมีหลากหลายด้านหลากหลายมิติ นักวิจัยจึงมุ่งเน้นศึกษาบุคลิกภาพ 5 ด้านหรือ Big 5 ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่ถือว่าเป็นด้านใหญ่ๆ ของมนุษย์ที่ค่อนข้างครอบคลุมหลายเรื่องๆ และเป็นการแบ่งมิติของบุคลิกภาพที่ได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย โดย 5 ด้านที่ว่าประกอบด้วยด้านต่อไปนี้ครับ
1. Surgency หรือ การเปิดตัวสู่สิ่งเร้า อาจจะฟังชื่อแล้วไม่คุ้น แต่เราจะคุ้นตรงชื่อย่อย โดยคนที่มีด้านนี้สูงเรียกว่า เอ็กซ์โทรเวิร์ต (extrovert) คนที่มีบุคลิกรูปแบบนี้จะชอบเข้าสังคม อยากรู้จักคนใหม่ๆ ชอบความคึกคัก ส่วนคนที่มีด้านนี้ต่ำสูงเรียกว่าอินโทรเวิร์ต (introvert) คนที่มีบุคลิกรูปแบบนี้จะชอบอยู่กับตัวเอง ไม่ชอบเจอคนแปลกหน้า ไม่ชอบความอึกทึก
2. Neuroticism หรือ Emotional stability หรือ ความมั่นคงทางอารมณ์ คนที่มีด้านนี้สูง จะควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้น้อย เครียดง่าย ประหม่าง่าย วิตกกังวลง่าย ส่วนคนที่มีต่ำก็จะตรงกันข้ามกัน
3. Openness to experience หรือ การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ คนที่มีด้านนี้สูงจะชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆ มีความเป็นศิลปิน มีจินตนาการกว้างไกล ส่วนคนที่มีด้านนี้ต่ำจะตรงกันข้ามกัน
4. Agreeableness หรือ การชอบความกลมเกลียว คนที่มีด้านนี้สูงจะเป็นมิตรเน้นถึงความปรองดอง ไม่ชอบเถียง ไม่ชอบค้าน เน้นความร่วมมือ ไม่ชอบการแข่งขัน ส่วนคนที่มีด้านนี้ต่ำจะตรงกันข้ามกัน
5. Conscientiousness หรือ การมีจิตสำนึกในหน้าที่ คนที่มีด้านนี้สูงจะชอบความเป็นระเบียบ ทำอะไรเน้นความละเอียดถี่ถ้วน เน้นการตรงต่อเวลา ส่วนคนที่มีด้านนี้ต่ำจะตรงกันข้ามกัน
งานวิจัยหลากหลายงานพบว่า Big 5 มีความสามารถในการถ่ายทอดทางยีนถึง 30-50% ซึ่งก็ถือว่าสูงเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ผลจากยีนของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพห้าด้านนี้ก็มักจะไม่เกินครึ่ง ถ้าถามว่าอีกครึ่งหนึ่งคืออะไร คำตอบก็คือจากสิ่งแวดล้อมนั่นเองครับ
สิ่งแวดล้อมนั้นครอบคลุมทุกอย่างรอบตัวเด็ก ตั้งแต่การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สังคมรอบตัว การศึกษา การอบรมสั่งสอน ฯลฯ ดังนั้นจะสังเกตว่าบุคลิกภาพหลัก 5 ด้านของคนเรานั้นได้รับผลจากสิ่งแวดล้อมเยอะถึง 50-70 % เลยทีเดียว
บุคลิกภาพในด้านอื่นๆ ปลีกย่อยลงมาก็มีการสืบทอดทางยีนเช่นกันครับ เช่น การต่อต้านสังคม (antisocial) ความก้าวร้าว หรือแม้แต่รูปแบบความผูกพัน ซึ่งผลออกมานั้นจะใกล้เคียงกันกับ Big 5 คือผลของยีนจะมากน้อยไปตามงานวิจัย แต่โดยรวมแล้วจะไม่ถึงครึ่ง และอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญกว่า
ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่เราได้มานั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่ามันเป็นตัวเลขทางสถิติ ไม่ใช่ตัวเลขที่บ่งบอกว่าในแต่ละคนนั้นบุคลิกภาพมาจากยีนกี่ส่วน เช่น ผมบอกว่าบุคลิกภาพด้านเอ็กซ์โทรเวิร์ต/อินโทรเวิร์ต ถ่ายทอดด้วยยีน 40% หมายถึงว่าในการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมากแล้วและนำมาวิเคราะห์ทางสถิติ อาจจะทำด้วยการศึกษาเปรียบเทียบบุคลิกภาพระหว่างแฝดเหมือน (คนที่ยีนเหมือนกัน) แฝดคล้ายและพี่น้อง (แชร์ยีนบางส่วน) ลูกเลี้ยงกับลูกในสายเลือด (แชร์แต่สิ่งแวดล้อมไม่แชร์ยีน) ลูกที่แยกกันอยู่คนละบ้าน (แชร์ยีนไม่แชร์สิ่งแวดล้อม) จะพบว่ามีโอกาสที่ยีนถ่ายทอดไปได้ราว 40% ของการวิเคราะห์ข้อมูลคนจำนวนมาก แต่กับแต่ละคนนั้นนักวิจัยระบุออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ครับ
บุคลิกภาพของคนแต่ละคนนั้นเป็นผลสำเร็จที่เกิดจากทั้งยีนและสิ่งแวดล้อมหลอมรวมเป็นบุคคลนั้นเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นเราจะมาบอกว่า “ฉันเป็นคนอินโทรเวิร์ตเพราะยีน 40% เพราะสิ่งแวดล้อม 60%” ไม่ได้ ตำราที่ผมศึกษาเรื่องนี้ (ในรายการอ้างอิง) เปรียบเทียบได้ดีครับว่า เราไม่ควรถามว่าอาหารอร่อยเพราะเครื่องปรุงไหนกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะอาหารมันเป็นรสชาติที่รวมกันของหลายๆ อย่าง จะมาบอกว่ารสอร่อยจากเนื้อกี่เปอร์เซ็นต์ ผักกี่เปอร์เซ็นต์ พริกไทยกี่เปอร์เซ็นต์แบบนี้ไม่ได้ รู้แต่ว่ารวมออกมาแล้วอร่อยหรือไม่อร่อย
ยีนกับสิ่งแวดล้อมนั้นยังเป็นเรื่องที่ตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด ในหลายๆ ครั้งยีนนั้นมี ‘ปฏิสัมพันธ์’ กับสิ่งแวดล้อม หรือหมายถึง ถ้ามีแต่ยีนก็ไม่เกิดบุคลิกภาพแบบนั้น ต้องมีทั้งยีนทั้งสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างเช่น คนที่บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (antisocial) หากมีด้านนี้สูงจะชอบทำร้ายคน ไม่สนใจความรู้สึกและสวัสดิภาพของคนอื่นๆ บุคลิกภาพแบบนี้นอกจากจะส่งต่อทางยีนในส่วนหนึ่งแล้ว แต่ถึงจะมียีนบุคลิกต่อต้านสังคมจะไม่ปรากฏหรือปรากฏน้อยมากถ้าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อในการหล่อหลอมเป็นบุคลิกแบบนั้น โดยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ เช่น ถูกทารุณกรรม หรือครอบครัวนิยมใช้ความรุนแรง ในทางกลับกันคนที่ไม่มียีน แม้จะเจอกับประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็ก หากไม่มียีนก็จะมีโอกาสน้อยกว่ามาก หรือก็คือต้องมีทั้งยีนและสิ่งแวดล้อมพร้อมกัน บุคลิกภาพนั้นถึงจะเกิด จะมีแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ยีนและและสิ่งแวดล้อมนั้นเวลาทำงานหล่อหลอมบุคลิกภาพ ทั้งคู่จะทำงานพร้อมกันเป็นกลไกซับซ้อน เช่น ยีนมีผลต่อบุคลิกภาพของพ่อแม่ และส่งผลให้พ่อแม่เลี้ยงดูลูกในแบบที่เหมาะกับบุคลิกภาพของพ่อแม่เอง ก็เลยทำให้ลูกมีบุคลิกภาพแบบเดียวกับตัวเอง แถมลูกเองก็ได้ยีนจากพ่อแม่มาด้วย ยิ่งทำให้เด็กได้ยีนทั้งสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ ยีนของลูกเองก็ส่งผลปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกเหมือนกัน ยีนที่แตกต่างกันของเด็กทำให้เด็กแสดงออกว่าชอบไม่ชอบอะไรแตกต่างกัน ทำให้คนเลี้ยงตอบสนองต่างกัน แถมเด็กยังอาจจะแสวงหาสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับตัวเองที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับยีนด้วย
ดังนั้นการส่งต่อบุคลิกภาพทางยีน มันไม่ใช่แค่ว่ามียีนเหมือนพ่อแม่เลยมีบุคลิกภาพเหมือนพ่อแม่ แต่เพราะว่ายีนด้านในมันมีผลกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กที่หล่อหลอมให้เด็กมีบุคลิกแบบนั้นไปด้วย
แต่สรุปแล้วเราก็ตอบคำถามที่บอกคุยกันไปตอนต้นได้ว่า บุคลิกนั้นส่งผลส่วนหนึ่งจากสายเลือดจริง แต่การเลี้ยงดู การเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ นั้นก็สำคัญอย่างมาก ดังนั้นลูกเลี้ยงที่ไม่ได้สืบทอดทางสายเลือดก็อาจจะมีบุคลิกเหมือนพ่อแม่บุญธรรมก็ได้ หรือลูกแท้ๆ แต่หากเลี้ยงโดยสิ่งแวดล้อมไม่สอดคล้องกับยีน ก็อาจจะมีบุคลิกอาจจะแตกต่างจากพ่อแม่แท้ๆ ก็ได้
คนเราเลือกยีนของตัวเองไม่ได้ครับ เราเกิดมาก็มียีนแบบนี้แล้ว ลูกก็ต้องได้ยีนมาจากเราเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราอย่าไปคิดมากเลยว่าลูกจะถ่ายทอดบุคลิกอะไรจากเราทางสายเลือดไหม แต่ควรไปมุ่งใส่ใจที่สิ่งแวดล้อมที่เราสร้างได้จัดการได้ดีกว่าครับ ข้อยกเว้นที่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องยีนก่อนมีลูกมีแค่เรื่องของยีนที่อาจจะส่งต่อโรคหรือความผิดปกติทางพันธุกรรม หากตนเองหรือคนในครอบครัวอาจมียีนหรือแสดงอาการเหล่านี้อยู่ ถ้าต้องการมีลูกก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจว่าเสี่ยงแค่ไหนหากจะมีลูก
นอกจากนี้บุคลิกภาพนั้นเป็นสิ่งที่เหมือนภาพกว้างๆ แต่การที่คนเราจะทำสิ่งใด คิดอย่างไร ยังมีกลไกย่อยๆ ภายในอีกจำนวนมาก เช่น ทัศนคติหรือแนวคิดต่อสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ เช่น การใช้ยาเสพติดเพื่อแก้ปัญหา การเคารพสิทธิมนุษยชน การรู้จักผิดชอบชั่วดี งานวิจัยพบว่าถึงทางสถิติจะพบว่าทัศนคติจะถ่ายทอดทางสายเลือดได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่อธิบายได้ว่าเพราะอะไร และเทียบแล้วสิ่งแวดล้อมการอบรมเลี้ยงดูส่งผลต่อเรื่องพวกนี้มากกว่าเยอะ เช่นเดียวกับเรื่องของนิสัยต่างๆ ที่เกิดจากความเคยชิน ตรงนี้ล้วนแต่เป็นเป็นผลของการฝึกฝนและการเลี้ยงดูเยอะกว่าเรื่องของยีน
และสิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ เด็กแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไม่มากก็น้อย ต่อให้เลี้ยงมาเหมือนกัน และยีนเหมือนกันอย่างฝาแฝดแท้ๆ แต่เด็กแต่ละคนก็จะค่อยๆ ต่างกันไปเมื่อโตขึ้นอยู่ดี เด็กไม่ใช่สินค้าประกอบจากโรงงานที่จะควบคุมให้โตมาเป็นได้ดั่งใจทุกอย่างเป๊ะๆ ส่วนหนี่งเหมือนสุภาษิต ‘สองคนยลตามช่อง’ คือ แม้ชีวิตจะประสบพบเจอสิ่งเดียวกัน แต่คนแต่ละคนจะตีความสิ่งนั้นต่างกันไป และสิ่งเหล่านั้นจะสร้างสรรค์บุคลิกภาพของแต่ละคนให้แตกต่างกันด้วย
ดังนั้นพ่อแม่ทุกท่านก็อาจจะต้องเข้าใจและยอมรับธรรมชาติในส่วนนี้ไว้บ้าง ขอให้เลี้ยงให้เขาได้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้และเติบโตตามสมควร หากสุดท้ายเขาจะแตกต่างไปจนนิสัยไม่เหมือนเราเลย หรือผิดไปจากความคาดหวังของเรามากก็คงสุดแล้วแต่ตัวเขาด้วยล่ะครับ
สุดท้าย หากใครเป็นพ่อแม่บุญธรรม บางคนรับเด็กมาเลี้ยงโดยไม่รู้ด้วยว่าพ่อแม่ผู้มอบยีนให้เด็กคือใคร ก็ขอให้วางใจได้ว่าเรายังไม่พบบุคลิกภาพใดที่ถ่ายทอดทางสายเลือดแน่ๆ เกิดมาต้องเป็นแบบนั้นแน่นอน ที่ว่าพ่อแม่เป็นโจรลูกก็ต้องเป็นโจรแน่ๆ เหมือนในหนังนั้นไม่เป็นความจริงแน่นอน
การเลี้ยงดู การใส่ใจดูแล การเรียนรู้ สำคัญกับตัวเด็กเสมอ เด็กจะเป็นอย่างไรสำคัญคือเลี้ยงดูอย่างไร ไม่ใช่ลูกใคร สอดคล้องกับค่านิยมสมัยใหม่ของสังคมว่าการจะเป็นพ่อแม่ ไม่ได้เป็นเพราะให้แค่กำเนิดทางกาย หรือเป็นเพราะแค่มอบยีนให้ แต่เป็นพ่อแม่ได้เพราะการเลี้ยงเด็กคนนั้นจนเติบใหญ่ต่างหากจริงไหมครับ
รายการอ้างอิง
Bouchard Jr, T. J., & McGue, M. (2003). Genetic and environmental influences on human psychological differences. Journal of neurobiology, 54(1), 4-45.
Jang, K. L., Livesley, W. J., & Vemon, P. A. (1996). Heritability of the big five personality dimensions and their facets: A twin study. Journal of personality, 64(3), 577-592.
Larsen, R. J., & Buss, D. M. (2008). Personality psychology: Domains of knowledge about human nature. New York: McGraw-Hill.
Nagel, M., Jansen, P. R., Stringer, S., Watanabe, K., De Leeuw, C. A., Bryois, J., … & Posthuma, D. (2018). Meta-analysis of genome-wide association studies for neuroticism in 449,484 individuals identifies novel genetic loci and pathways. Nature genetics, 50(7), 920-927.
Røysamb, E., Nes, R. B., Czajkowski, N. O., & Vassend, O. (2018). Genetics, personality and wellbeing. A twin study of traits, facets and life satisfaction. Scientific Reports, 8(1), 1-13.Vukasović, T., & Bratko, D. (2015). Heritability of personality: A meta-analysis of behavior genetic studies. Psychological bulletin, 141(4), 769.