- Elemental เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดของ Disney และ Pixar โดยได้ Peter Sohn (จาก The Good Dinosaur) นั่งแท่นผู้กำกับ
- สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าความโรแมนติกของคู่พระนางคือการที่นางเอกต้องแบกรับความฝันของพ่อโดยคิดว่าสิ่งนี้คือความกตัญญูที่ต้องตอบแทน
ตอนเด็กๆ สิ่งที่ผมรู้สึกมีความสุขที่สุดคือเวลาที่พ่อแม่ชมผม และสิ่งที่เสียใจที่สุดคือการทำให้พ่อแม่ผิดหวัง
พ่อมักสอนผมว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตคือ ‘ความกตัญญู’ ดังนั้นไม่ว่าพ่อแม่บอกให้ทำอะไร ต่อให้ขัดใจแค่ไหนผมก็ต้องทำ “ใช่ มึงอาจจะไม่ถูกใจ แต่กูกับแม่มึงหวังดีกับมึงเสมอ”
ด้วยความที่บ้านของผมเป็นบ้านกึ่งโรงงานทอผ้า ประกอบกับพ่อของผมใช้วิธีเลี้ยงผมเหมือนกับที่ปู่เลี้ยงพ่อ คือการให้ลูกเข้าไปทำงานในโรงงานตั้งแต่เด็ก ถ้าถามผมแน่นอนว่าผมไม่ชอบสักนิดที่ต้องมาทำงานในที่ร้อนๆ ฝุ่นเยอะๆ แถมจะคุยกันทีก็ต้องตะโกนคุยแข่งกับเสียงเครื่องจักร แต่เมื่อเห็นสีหน้าที่พึงพอใจของพ่อ หรือการที่พ่อเอาผมไปอวดกับคนอื่นว่าผมขยันเหมือนพ่อสมัยเด็กๆ ผมจึงพยายามลืมความเหนื่อยล้าและความอึดอัดทั้งหลายที่ตัวเองต้องเผชิญเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้พ่อผิดหวังหรือใช้คำพูดประเภท ‘เลี้ยงเสียข้าวสุก’ เพื่อประชดประชันผม
ถึงอย่างนั้นผมก็ทำงานตามที่พ่อสั่งจนตัวเองเข้ามหาวิทยาลัย แต่แล้วพ่อกลับปิดโรงงานหลังประสบปัญหาขาดทุนทำให้ความฝันที่พ่อวาดไว้เกี่ยวกับผมและการสืบทอดกิจการโรงงานหายวับไปในพริบตา ทว่าแทนที่จะเสียดายว่าตัวเองจะไม่ได้เป็นเถ้าแก่โรงงานให้สมกับที่อดทนมาหลายปี ผมกลับรู้สึกโล่งใจอย่างประหลาดที่ไม่ต้องแบกรับความฝันของพ่ออีกต่อไป
แม้จะไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่พล็อตที่ว่าลูกคนหนึ่งอยากทำให้พ่อภูมิใจด้วยการอาสารับช่วงต่อในธุรกิจครอบครัวโดยไม่ถามใจตัวเองในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดของดิสนีย์เรื่อง Elemental ก็เพียงพอที่จะทำให้ผมนึกถึงตัวเองในตอนนั้น
Elemental บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เอมเบอร์’ (Ember) สาวธาตุไฟจอมหัวร้อนที่อาศัยอยู่ในเมืองธาตุมหานครและอยากจะช่วยพ่อรับช่วงต่อธุรกิจร้านโชว์ห่วยของครอบครัว แต่ด้วยอุบัติเหตุน้ำประปารั่วทำให้เธอก็ได้พบกับ ‘เวด’ (Wade) หนุ่มธาตุน้ำผู้ร่าเริง ที่เข้ามาในชีวิตและเปลี่ยนทัศนคติของเธอไปตลอดกาล
เอมเบอร์เป็นลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของ ‘เบอร์นีย์’(Bernie) ชาวธาตุไฟที่ตัดสินใจอพยพถิ่นฐานจากบ้านเกิดเมืองนอนมาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าเดิมในเมืองธาตุมหานคร แต่ด้วยความเป็นคนต่างด้าวทำให้เขาไม่ค่อยเป็นที่ต้อนรับจนต้องอาศัยอยู่บริเวณชานเมือง อย่างไรก็ตามด้วยความเป็นคนขยันขันแข็งทำให้เบอร์นีย์สามารถทำร้านโชว์ห่วยจนประสบความสำเร็จและหวังให้ลูกสาวรับช่วงต่อในอนาคต
ประเด็นแรกที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังคือตลกร้ายของเอมเบอร์ที่เข้าใจตัวเองผิดมาตลอดว่าอยากเป็นเจ้าของร้านโชว์ห่วย เพราะในภาพยนตร์เธอมักหัวร้อนกับลูกค้าที่บ้างพูดมาก บ้างเอาแต่ใจ หรือไม่ก็กินขนมก่อนจ่ายเงิน เอมเบอร์จึงมักระบายอารมณ์ออกมาจนข้าวของในร้านเสียหายเป็นประจำ ทำให้พ่อไม่กล้ายกร้านให้กับเธอ
“ฉันคงจะทำไม่สำเร็จ พ่อควรจะเกษียณหลายปีแล้วแต่เขาคิดว่าฉันยังไม่พร้อม คุณนึกไม่ออกหรอกว่าพ่อทำงานหนักแค่ไหน หรือต้องทนกับอะไรบ้าง ต้องทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง เราจะตอบแทนความเสียสละขนาดนั้นได้ไง รู้สึกเป็นภาระหนักอึ้ง ฉันพูดอย่างงี้ได้ไง ฉันมันลูกที่ไม่เอาไหน” เอมเบอร์กล่าวกับเวด
ผมมองว่าคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่านางเอกของเรื่องเป็นลูกที่รักพ่อมากและอยากจะตอบแทนความทุ่มเทของพ่อด้วยการรับช่วงต่อทางธุรกิจเพื่อให้พ่อได้พักผ่อน ซึ่งตอนดูฉากนี้ผมเองก็ได้หวนคิดว่าตัวเองในตอนเด็กก็รู้สึกไม่ต่างกับเอมเบอร์ที่ทั้งอยากทำให้พ่อภูมิใจจนลืมถามตัวเองว่าลึกๆ แล้วเราชอบอะไร เพราะความฝันของพ่อกับความฝันของเราอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
ประเด็นถัดมาคือความฝันหรือแพสชันของเราอาจมีอยู่ในชีวิตประจำวันเพียงแต่เราอาจต้องรอใครสักคนมาทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสิ่งนั้นให้กับเรา เหมือนกับตอนที่เอมเบอร์ไปดินเนอร์กับครอบครัวของเวดและช่วยหลอมเหยือกน้ำที่แตกกระจายให้กลับมามีสีสันสวยงามกว่าเก่าจนทุกคนต่างทึ่งในความสามารถ โดยเฉพาะแม่ของเวดที่ประทับใจฝีมือการหลอมแก้วของเอมเบอร์สุดๆ
“เรื่องพรสวรรค์ของหนู ฉันพูดจริงนะ ฉันมีเพื่อนที่ทำบริษัทผลิตแก้วที่ดีที่สุดในโลก ระหว่างกินข้าวฉันแอบโทรไปหาเขาและเล่าเรื่องหนูให้ฟัง เขาหาเด็กฝึกงานพอดี งานนี้อาจจะเป็นโอกาสที่ดีก็ได้ มันอยู่นอกเมืองก็จริง แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่วิเศษ อนาคตหนูสดใสมาก ดูสิฉันมีงานออริจินัลของเอมเบอร์ด้วย” แม่ของเวดกล่าว
ส่วนประเด็นสุดท้ายคือเรื่องการเปิดใจคุยกับคนที่เรารัก เมื่อเอมเบอร์รู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์ด้านการรังสรรค์แก้ว เธอก็เกิดอยากไปฝึกงานกับบริษัทแก้ว แต่พอนึกถึงพ่อ เธอก็ล้มเลิกความฝันของตัวเองและคิดไปว่านี่คือวิธีการตอบแทนพระคุณของพ่อที่ดีที่สุด
“ฉันว่าจริงๆ ฉันไม่ได้ชอบหรือว่าอยากทำร้าน เก็ตนะ นั่นแหละที่ความหัวร้อนพยายามจะบอกฉัน ฉันติดกับ แล้วที่บ้ามากคือตอนที่ฉันยังเด็กฉันเคยขอพรให้สักวันฉันเก่งจนทำงานแทนพ่อได้ เพราะฝันของพ่อคือร้านนี้ แต่ฉันไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าฉันอยากทำอะไรกันแน่…เพราะวิธีเดียวที่จะตอบแทนความเสียสละขนาดนั้นคือยอมเสียสละชีวิตของเราไปด้วย”
ทว่าดิสนีย์ก็คือดิสนีย์ พวกเขาพยายามหาทางออกให้เธอด้วยการสร้างสถานการณ์ให้สองพ่อลูกได้คุยกัน ทำให้พ่อรู้ว่าเอมเบอร์รักเขามากถึงขั้นยอมปฏิเสธความต้องการของตัวเองเพื่อสานต่อความฝันของเขา เขาจึงบอกลูกสาวไปว่าแท้จริงแล้วความฝันของเขาไม่ใช่ร้านแห่งนี้แต่เป็นการที่เห็นเอมเบอร์มีความสุข ซึ่งหลังจากดูฉากเรียกน้ำตาฉากนี้ผมรู้สึกว่าภาพยนตร์กำลังชวนให้ผู้ชมคิดตามว่า ‘การคิดแทนคนอื่น’ โดยเฉพาะคนที่เรารักไม่ได้ให้ผลดีเสมอไป เพราะหลายครั้งสิ่งที่ดีที่สุดที่เราคิด อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้รับ ดังนั้นการสื่อสารและเปิดใจพูดถึงความรู้สึกที่แท้จริงจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยประคับประคองความสัมพันธ์ของคนสองคนได้มากกว่าการคิดไปเองฝ่ายเดียว
เราจะได้ไม่สร้างแผลใจให้กันในนามของความหวังดี