- อ่าวท่าชนะ เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหอยสารพัดชนิด โดยเฉพาะ “หอยขาว” ซึ่งนับเป็นหอยเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวประมงและเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีวิตตามธรรมชาติของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งการลดจำนวนลงของหอยขาวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ เช่น อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น มลพิษทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อการแพร่ขยายพันธุ์
- ความมุ่งมั่นและตั้งใจในการสำรวจและเก็บข้อมูลหอยขาวของกลุ่มนักเรียนวัยมัธยมปลายที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มเยาวชนหอยขาวพาเพลิน’ เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้มีการจัดการ การดูแลรักษา และสร้างข้อตกลงเพื่อการเก็บหอยขาวภายในหมู่บ้านขยายไปถึงระดับตำบล ด้วยการกำหนดขนาด ให้เก็บได้เฉพาะหอยขาวขนาดใหญ่ เพื่อให้หอยขนาดเล็กมีเวลาเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ สร้างอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่ชาวประมงในอนาคต
ภาพ : เพจเยาวชน Active Citizen Suratthani
หันมาใช้ถุงผ้า ไม่ใช้หลอด งดใช้ถุงพลาสติก และอีกหลายแคมเปญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง ให้ผู้คนปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและมีส่วนร่วมกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจไม่คิดด้วยซ้ำว่าตัวเองทำได้แต่เมื่อต้องทำ ต้องปรับ เพราะมีกฎระเบียบกำหนดหรือเพราะข้อบังคับใดๆ ก็ตาม แล้วได้ลงมือทำ จึงค่อยๆ ปรับตัว เกิดความเคยชิน และทำให้ดีขึ้นได้
คนเมืองอาจไม่เห็นการถูกรุกรานของธรรมชาติซึ่งๆ หน้าเหมือนผู้คนที่อยู่กับป่า เขา หรือทะเล แต่ก็ไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือความหนาแน่นของมลภาวะที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จนทำให้ต้องเผชิญกับปัญหา PM 2.5
แต่อีกด้านหนึ่งยิ่งเราอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดสมดุลในระบบนิเวศน์ชัดเจนขึ้น เหมือนอย่างที่ แบงค์ – จักรกฤษณ์ วัจนะพันธุ์, เมย์ – พรพิมล เพ็ชรรอด, หยาด – สุพรรณษา เช้าวังเย็น และ โอ๊ต – อนุวัฒน์ แก้วทอง ตัวแทนเยาวชน “กลุ่มหอยขาวพาเพลิน” จากอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เห็นกับตาตัวเองจนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างกับ “อ่าวท่าชนะ” ในชุมชนของพวกเขา
อ่าวท่าชนะเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวบ้านดอนมีความยาวตลอดทั้งชายฝั่งประมาณ 30 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลวัง ตำบลท่าชนะ และตำบลคันธุลี อ่าวแห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหอยสารพัดชนิด เช่น หอยขาว หอยไฟไหม้ หอยราก หอยสับเค็ด และหอยแมลงภู่ แบงค์ บอกว่า “หอยขาว” ถือเป็นหอยเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวประมงและเป็นอาหารเพื่อการดำรงชีวิตตามธรรมชาติของผู้คนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าหอยขาวและทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่อำเภอท่าชนะลดจำนวนลงอย่างมาก เนื่องจากการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าริมคลอง ป่าชายเลน การใช้เครื่องมือผิดประเภทในการจับสัตว์น้ำ หรือแม้แต่ปัญหาขยะมูลฝอย อีกทั้งยังไม่มีการส่งเสริมการเลี้ยงหอยขาวอย่างแพร่หลายในกลุ่มชาวบ้าน มีเพียงการเพาะเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์โดยกรมประมงเสียเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณหอยขาวจึงยิ่งลดลงอย่างน่าใจหาย เรื่องน่าเศร้า คือ บางหาดแทบหาหอยขาวไม่ได้อีกแล้ว
“เมื่อก่อนหอยขาวมีเยอะขนาดที่พอให้คนจากบ้านอื่นซึ่งไม่ได้อยู่ติดทะเลเข้ามาเก็บมาคราดหอยได้ด้วย แต่ตอนนี้หอยขาวกลายเป็นสัตว์น้ำหายากแม้กระทั่งคนในชุมชนเองยังแทบหาไม่ได้” แบงค์ กล่าว
แบงค์ บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับหอยขาว คือ หอยที่จับได้มีขนาดเล็กลงและมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหอยขาวในชุมชนตนเอง ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ของหอยขาว รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ของผู้คน ชุมชน ทัศนคติ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้ โครงการการศึกษาเบื้องต้นการจัดการหอยขาวอย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวท่าชนะของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต่อการนำมาวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหา และเป็นความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ คนในชุมชน และชาวประมงที่ใกล้ชิดกับทรัพยากรทางทะเลมากที่สุด
วันนี้กลุ่มเยาวชนหอยขาวพาเพลินจะพาพวกเราไปเรียนรู้เรื่องราวของหอยขาวอ่าวท่าชนะ พวกเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง ได้ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลย!!
นักวิทย์รุ่นเยาว์แห่งอ่าวท่าชนะ
เก็บตัวอย่างหอยขาวโดยวัดขนาดความยาว ความกว้าง และความหนาด้วยเวอร์เนียคาลิปเปอร์ (Vernier Caliper) และชั่งน้ำหนักตัวอย่างหอยที่เก็บได้ในทุกๆ เดือน
ประมาณการณ์อายุของหอยขาวที่เก็บได้ สอบถามวิธีการเก็บหอยขาวจากชาวประมงในท้องถิ่น ศึกษาระบบนิเวศน์ของหอยขาว การแพร่กระจายและความหนาแน่นของหอยขาวในแต่ละจุด
สุ่มนับตัวอย่างหอยขาวจากแต่ละจุด (สถานี) ทุกเดือน เพื่อนำจำนวนที่นับได้มาคิดเป็นจำนวนหอยต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยใช้วิธีการวางแปลง
เก็บข้อมูลคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของน้ำทะเล เช่น สภาพดิน และอุณหภูมิ
เก็บตัวอย่างน้ำทะเลเพื่อวิเคราะห์ค่าออกซิเจนที่ละลายในน้ำ และส่องกล้องจุลทรรศน์ดูชนิดของแพลงค์ตอนในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่พวกเขาลงมือทำ!!
“ต้องทำขนาดนี้เลยเหรอ” เป็นสิ่งที่ผู้ฟังอย่างเราคิดอยู่ในใจ แต่ไม่กล้าเอ่ยออกมา เพราะจากน้ำเสียงที่เล่า แววตาที่เห็น พวกเขาดูตื่นเต้นและสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่มากโข
แบงค์เล่าว่าแรงผลักดันในการทำโครงการครั้งนี้มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน อย่างแรกมาจากประสบการณ์ทำโครงการของรุ่นพี่ปีก่อนที่ศึกษาเรื่องเปลือกหอยขาว แล้วนำเปลือกหอยขาวมาทำเป็นแผ่นรองนวดเท้า กระทั่งพบว่าเปลือกหอยขาวหายากมาก สืบค้นไปมาจนรู้ว่าเพราะจำนวนหอยขาวลดน้อยลง และเรื่องที่สองเป็นผลกระทบที่ตามมาเมื่อจำนวนหอยขาวลดลงชาวประมงก็ขาดรายได้
“เดิมทีไม่ได้มีข้อตกลงหรือมีการวางแนวทางของชุมชนว่าต้องเก็บเฉพาะหอยตัวใหญ่ที่โตเต็มวัยเท่านั้น เพื่อให้หอยขนาดเล็กได้เจริญเติบโต มันทำให้เรามีแรงบันดาลใจอยากอนุรักษ์หอยขาว ด้วยการศึกษาระบบนิเวศวิทยาและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหอยขาว ในอนาคตถ้าชาวประมงได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงหอยขาวที่ถูกต้อง และหอยขาวมีปริมาณมากขึ้นก็จะสร้างรายได้ให้กับพวกเขาต่อไป” แบงค์ อธิบาย
โครงการการศึกษาเบื้องต้นการจัดการหอยขาวอย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวท่าชนะของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งนี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับวิชาชีววิทยาในห้องเรียนของพวกเขา โดยมี ครูปรียา วิบูลย์พันธ์ ครูประจำรายวิชาเป็นที่ปรึกษาโครงการ แกนนำเยาวชนเป็นกลุ่มเพื่อนที่เรียนอยู่ห้องเดียวกันในโรงเรียนท่าชนะซึ่งถือเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ สำหรับกลุ่มเยาวชนการศึกษาเรื่องหอยขาวเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะขั้นตอนการทำโครงการที่เชื่อมโยงกับวิชาชีววิทยา โดยเฉพาะกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ที่เกี่ยวกับโครงสร้างของหอย รวมถึงวิชาเคมี
พวกเขาเล่าเป็นลำดับขั้นตอนอย่างคล่องแคล่วว่า การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการหอยขาวแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ หนึ่ง การศึกษาด้านสังคมศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูลความรู้ ทัศนคติ วิธีการจับและการจัดการหอยขาวในพื้นที่ การใช้ประโยชน์จากหอยขาวของชาวประมง รวมถึงปริมาณหอยที่จับในรอบ 1 ปีเฉลี่ยจากปริมาณหอยที่จับได้ในแต่ละวัน เพื่อคำนวณผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
ส่วน สอง การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมบริเวณแหล่งที่อยู่ของหอยขาว ชนิดแพลงค์ตอนซึ่งเป็นแหล่งอาหารของหอยรวมถึงสัตว์ทะเล และการแพร่กระจายของประชากรหอยขาว พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ในโลกของพืชและสัตว์ทะเล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศของหอยขาวที่ไม่สามารถจำแนกจากลักษณะภายนอกได้ ต้องผ่าดูโครงสร้างภายในเท่านั้น รวมถึงชนิดของแพลงค์ตอนในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน บางชนิดอยู่ที่น้ำตื้น บางชนิดอยู่ที่น้ำลึก
“เรื่องการจำแนกเพศ แม้แต่ชาวบ้านเองยังแยกด้วยตาเปล่าไม่ได้ พวกเราบันทึกข้อมูลลักษณะภายนอกของหอยขาวก่อนว่าด้านไหนเป็นด้านบน ด้านหน้า ส่วนไหนเป็นท้อง แล้วผ่าเพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์ดูโครงสร้างภายใน ซึ่งภายในก็มีรูปลักษณะเหมือนกันอีก ต่างกันตรงที่เซลล์อสุจิและเซลล์ไข่ หอยขาวตัวเมียจะมีโครงสร้างภายในเป็นลักษณะกลม มีฟองอากาศอยู่ตรงกลาง ส่วนตัวผู้มีลักษณะคล้ายพื้นดินที่แตกระแหง”โอ๊ต อธิบาย
หอยขาวเป็นหอยสองฝาเปลือกหนา มีรูปทรงคล้ายรูปไข่ เปลือกมีลายละเอียดสีเหลืองบนพื้นขาวหรืออาจมีสีขาวล้วน ผิวเปลือกเป็นมันเงาสวยงาม ข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า หอยขาวโตเต็มที่มีขนาดประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร พบอาศัยตามชายฝั่งทะเลบริเวณที่เป็นทรายละเอียดปนโคลนในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ฝังตัวอยู่ใต้พื้นทรายลึกประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร พวกเขาเก็บตัวอย่างน้ำทะเล แพลงค์ตอนและหอยขาว จาก 4 สถานีหลัก ได้แก่ หาดปากกิว ตำบลวัง หาดดอนทะเล หาดคันธุลี ตำบลคันธุลี และหาดนางลอย อำเภอท่าชนะ เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของหอยขาว โดยแต่ละสถานีทำการเก็บตัวอย่างทั้งหมด 3 แนวสำรวจ (Line Transect Method) รวมแล้วได้ทั้งหมด 12 สถานี แบงค์ บอกว่า พวกเขาวางแผนเก็บตัวอย่างข้อมูลหอยขาว 4 ครั้งต่อปีตามช่วงฤดูกาลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเมษายน 2563 ในช่วงเวลาที่น้ำลงต่ำสุดเพื่อความสะดวกในการเก็บตัวอย่าง
“หอยขาวเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนผืนทรายที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ได้ การลดจำนวนลงของนหอยขาวเป็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ เช่น อุณหภูมิน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น แหล่งอาหารในน้ำมีน้อยลงเพราะมลพิษทางน้ำ และหอยขาวต้องการสารอาหารจากน้ำทะเลด้วย เมื่อระบบนิเวศน์ขาดความสมดุลก็ส่งผลกระทบต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของหอยขาว หาดนางลอยเป็นหาดที่เก็บหาหอยได้น้อยที่สุด เพราะเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว สภาพแวดล้อมละแวกนี้เลยได้รับผลกระทบจากผู้คนมากที่สุด” โอ๊ตและเมย์ช่วยกันอธิบายข้อมูลจากการสืบค้น
นอกจากนี้ยังใช้แบบสัมภาษณ์ร่วมกับการสังเกตสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทำงานร่วมกับชาวประมงที่จับหอยขาวเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม รวมทั้งผู้นำชุมชน เรียกว่า “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบประชาชนมีส่วนร่วม”
หลังจากได้ข้อมูลทางสังคมศาสตร์และข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์มาแล้ว พวกเขานำข้อมูลทั้งสองส่วนมากลั่นกรองและวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อสรุปเป็นชุดข้อมูลสำหรับนำมาเผยแพร่
“ยกตัวอย่างหาดปากกิว พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่หวงห้าม พวกเราต้องโทรขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านก่อน เพื่อเข้าไปในพื้นที่และติดต่อสัมภาษณ์ ถามข้อมูลเกี่ยวเก็บปริมาณหอยขาวที่เก็บได้ในอดีตเทียบกับปัจจุบัน ช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลงที่สามารถเข้าไปเก็บหอย ซึ่งผู้ใหญ่บ้านก็ให้ความสำคัญและห่วงใยในสถานการณ์หอยขาวที่เป็นอยู่ เลยได้ปรึกษาต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนหันมาสนใจอนุรักษ์หอยขาว เช่น การประชาสัมพันธ์ข้อมูลในเวทีประชาคมหมู่บ้าน แล้วมีการบังคับใช้ระเบียบชุมชนอย่างเข้มข้นมากขึ้น
เรื่องการห้ามลักลอบเก็บหอยในบนที่หาดปากกิวเป็นระเบียบที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีคนตรวจตรา พอมีโครงการของพวกเราเข้าไป ก็ทำให้มีการใช้ระเบียบเข้มข้นขึ้น และเพิ่มเติมให้มีการปิดหาดเป็นช่วงๆ เพื่อเว้นระยะการจับหอย
มีการวางข้อตกลงเรื่องการเก็บหอยขาวในพื้นที่ด้วยการกำหนดขนาด ให้เก็บได้เฉพาะหอยขาวขนาดใหญ่ เพื่อให้หอยขนาดเล็กมีเวลาเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ เราได้ทำสมุดเล่มเล็กให้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับหอยขาว แหล่งที่อยู่และแหล่งอาหาร รวมถึงวิดีโอเพื่อนำเสนอให้เห็นภาพผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันและอนาคต สื่อตรงนี้เราเคยใช้นำเสนอเพื่อนๆ นักเรียนในงานของโรงเรียนด้วย” แบงค์ กล่าว
“การให้ข้อมูลที่ถูกต้องสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ชาวบ้าน รวมถึงคนภายนอกทำผิดพลาดไป โดยเฉพาะการเก็บหอยโดยไม่คัดแยกขนาด เราแสดงข้อมูลที่เปรียบเทียบให้ชาวบ้านเห็นว่าในช่วงปี ระยะไหนมีหอยเยอะ ระยะไหนเก็บหอยได้น้อย แล้วแนะนำให้มีการเว้นช่วงเก็บหอย ข้อมูลที่นำเสนอช่วยสร้างจิตสำนึก และทำให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าทำไมควรคราดหอยตามฤดูกาลและทำไมต้องเลือกเก็บเฉพาะหอยที่โตแล้ว เพื่อไม่ไปเบียดเบียนวัฏจักรของหอย หรือแม้แต่นักเรียนในโรงเรียนที่ไม่ได้ร่วมทำโครงการ หลายคนมาบอกว่าเขาไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน พอได้รู้เขาก็รู้สึกเหมือนกันว่าต้องช่วยกันดูแลรักษาระบบนิเวศน์ให้ดีขึ้น แล้วความรู้ที่ได้รับเขาสามารถนำไปบอกต่อคนในครอบครัวได้ ขยายกลุ่มนักอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนให้มีฐานใหญ่” เมย์ กล่าวเสริม
พลังเยาวชนกับแรงขับเคลื่อนภายในตัวเองและสังคม
ข้อมูลจากการทำโครงการ รวมถึงการรวมตัวกันทำโครงการอย่างแข็งขันของกลุ่มเยาวชน เป็นแรงกระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาสนใจและฉุกคิดถึงการหายตัวไปของหอยขาว ขยายไปถึงสัตว์น้ำชนิดอื่นในพื้นที่ รวมถึงปัญหาสภาพแวดล้อมในภาพรวม
“เวลาเข้าไปหาผู้ใหญ่เราไปด้วยความตั้งใจ เอาข้อมูลไปบอกอย่างเป็นกันเอง ชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกคนเห็นอยู่แล้วว่าหอยขาวหายากขึ้น จนเกิดการตั้งคำถามของคนในพื้นที่อ่าวท่าชนะว่าจะทำอย่างไรถึงช่วยอนุรักษ์และทำให้ปริมาณหอยขาวกลับมาเยอะเหมือนเดิม แล้วร่วมมือกันปฏิบัติตามระเบียบชุมชนที่วางไว้ บางคนยังบอกเราด้วยซ้ำไปว่าถ้าเขาทำอย่างนี้มาตั้งแต่แรก หอยขาวอาจยังมีจำนวนมากจนไม่เกิดโครงการนี้ก็ได้ ในระยะยาวอยากฟื้นฟูให้ธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์ อยากให้คนภายนอกที่เข้ามาออกไปแล้วพูดว่า ที่นี่มีธรรมชาติที่สวยงาม ของกินครบ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา เพราะระบบนิเวศน์ดี และอยากเห็นคนในชุมชนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งอย่างนี้ต่อไป” เมย์ กล่าว
นอกจากการขับเคลื่อนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนแล้ว โครงการยังสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่กลุ่มเยาวชนด้วย
“ก่อนมาทำโครงการผมแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับหอยขาวเลยทั้งที่บ้านติดทะเล ส่วนตัวชอบวิชาวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว พอได้มาเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบนี้เลยรู้สึกสนุก ได้ฝึกการคิดการวางแผน ก่อนนี้หลายคนมุ่งเรื่องเรียนเป็นหลักไม่ค่อยสนใจทำกิจกรรม แต่พอได้มาทำโครงการได้หาหอยทะเล ได้เรียนรู้เรื่องอนุรักษ์หอยขาว ได้เที่ยวเล่นน้ำทะเล พวกเราก็มีความสุขกับการทำกิจกรรม การทำงานร่วมกันทำให้ได้ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม ความสามัคคี การเข้าใจซึ่งกันและกันในกลุ่ม และการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แล้วก็เกิดสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นกับตัวเอง สมัยก่อนไปเที่ยวปิคนิกตามหาด ถ้าไม่มีถังขยะผมอาจทิ้งไว้ใต้ต้นไม้ แต่ตอนนี้ผมเก็บขยะมาทิ้งที่บ้าน โครงการทำให้ใส่ใจกับเรื่องรอบตัว ได้นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ผมรู้สึกตื้นตันใจที่โครงการของเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้” แบงค์ กล่าว
แม้แกนนำเยาวชนได้จบการศึกษาจากโรงเรียนท่าชนะแล้ว ความมุ่งมั่นและตั้งใจในการสำรวจและเก็บข้อมูลหอยขาวของกลุ่มนักเรียนวัยมัธยมปลายกลุ่มหนึ่ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้มีการจัดการ การดูแลรักษา และการสร้างข้อตกลงเพื่อการเก็บหอยขาวภายในหมู่บ้านขยายไปถึงระดับตำบล มีการริเริ่มการอนุรักษ์แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติที่เชื่อมไปยังสัตว์ทะเลชนิดอื่น เช่น ปูม้า เป็นต้น ช่วยให้หอยขาวและสัตว์ทะเลห่างไกลจากการเป็นแค่ตำนาน แต่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลต่อยอดเพื่อการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงหอยขาว ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณหอยขาว สร้างอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่ชาวประมงในอนาคต
“พวกเราคิดว่าอยากจัดตั้งชุมนุมอนุบาลหอยขาว เพื่อเพาะพันธุ์และอนุรักษ์หอยขาวในธรรมชาติ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป สิ่งที่พวกเราทำได้ตอนนี้ คือ การใช้สื่อวิดีโอ สมุดเล่มเล็กและโปสเตอร์สื่อสารข้อมูลให้คนได้รับรู้ ระยะหลังพวกเราได้เห็นหอยขาวที่เก็บมาตัวใหญ่ขึ้น ระบบนิเวศน์ทั้ง 4 หาดดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องขยะที่เห็นน้อยลงไปมาก พวกเรามีความเชื่อมั่นและมีความหวังว่าโครงการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้” แบงค์ กล่าวทิ้งท้าย