- เพียงพบบรรจบฝัน การ์ตูน LGBTQ+ จากญี่ปุ่น ที่พูดถึงแง่มุมการค้นหาตนเอง และการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของตัวละครที่เป็น LGBTQ+ ในบริบทสังคมเอเชียน
- สังคมญี่ปุ่นนั้นเข้มงวดเรื่องการรักษาภาพลักษณ์มากๆ และในเมืองเล็กๆ เรื่องเป็น ‘ขี้ปากชาวบ้าน’ นั้นแพร่ไปไวมาก ทาสุกุ ก็ต้องเครียดกับการกลัวถูกล้อว่าเป็นเกย์ แต่ในวันต่อมาเขากลับรอดจากวิกฤตด้วยการแก้ตัวเรื่องดูคลิป และพูดแสดงความรังเกียจเพื่อเน้นย้ำว่าเขาไม่ใช่เกย์ เพื่อนในห้องก็ไม่ได้คิดเป็นสาระอะไร แม้แต่เพื่อนสนิทที่เป็นห่วงเขา ที่แสดงความโล่งใจอย่างเห็นได้ชัดหลังทาสุกุโกหกไปว่าไม่ได้เป็นเกย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขายิ่งรู้สึกกดดันกับการชอบผู้ชายของตนเอง
- เพียงพบบรรจบฝันนั้นไม่ได้เสนอทางออกตายตัวในปัญหาของตัวละคร เพราะปัญหาของแต่ละคนก็ย่อมมีส่วนที่แตกต่างกันออกไป คงไม่มีสูตรสำเร็จของ LGBTQ+ คนใด หรือของสังคมไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าทุกสังคมนำมาใช้ร่วมกันได้คือ การปรับมุมมองในการมอง LGBTQ+ เสียใหม่ การเป็น LGBTQ+ ไม่ได้เป็นเรื่องแค่ว่า ฉันชอบผู้ชายหรือผู้หญิง หรือฉันอยากเป็นเพศที่ไม่ตรงกับร่างกายฉัน แต่มันคือ ‘ฉันเป็นคนแบบไหน’ การไม่ยอมรับ การไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ ก็เหมือนการไม่ยอมรับหรือไม่เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของบุคคลนั้น
บทความต่อไปนี้ มีการเปิดเผยเนื้อหาในการ์ตูน
หากถามว่าละคร นิยาย และการ์ตูนแนวไหนที่กำลังฮิตสุด ๆ ในตอนนี้ คำตอบหนึ่งคงเป็นแนว ‘วาย’ หรือชายรักชาย หรือหากดูข่าวก็จะพบว่าหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่แค่ชายหรือหญิง หรือที่ฝรั่งเรียกย่อๆ ว่า LGBTQ+ ซึ่งรวมถึงเลสเบียน เกย์ ไบ บุคคลข้ามเพศ (transsexual) และเพศอื่นๆ หลายประเทศก็เริ่มมีการยินยอมให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีข่าวการจัดเทศกาล Pride กันอย่างใหญ่โต (เทศกาลเฉลิมฉลองของชาว LGBTQ+ นิยมจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน)
บางคนอาจจะรู้สึกว่าทำไมเรื่องความหลากหลายทางเพศถึงเป็นเรื่องใหญ่เหลือเกิน ทำไมถึงต้องสนใจเรื่องนี้ด้วย และทำไมต้องเรียกร้องอะไรกันนัก จะชายรักชายหรือหญิงรักหญิง หรือจะแบบไหนมันก็เป็นแค่เรื่องของรสนิยมว่ารักคนเพศไหน ไม่เห็นจำเป็นต้องออกมาป่าวประกาศกันเลย แต่ที่จริงแล้ว ความหลากหลายทางเพศมันเป็นเรื่องใหญ่กว่าแค่เรื่องความรัก และวันนี้เราจะมาพบกับแง่มุมชีวิตซึ่งคนที่ไม่ได้สนิทกับบุคคลที่เป็น LGBTQ+ อาจจะไม่เคยรับรู้มาก่อนผ่านการ์ตูนที่ชื่อว่า เพียงพบบรรจบฝัน
การ์ตูนที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ มีเยอะครับ แต่การ์ตูนส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องราวความรักของคู่รักเพศเดียวกันเป็นหลัก ตั้งแต่รักใสๆ รักโรแมนติก ไปจนถึงรักบนเตียงแบบร้อนแรง แต่เพียงพบบรรจบฝันไม่ใช่การ์ตูนแนวดังกล่าว แม้จะเป็นการ์ตูนที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แต่การ์ตูนเรื่องนี้จะพูดถึงแง่มุมการค้นหาตนเอง และการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของตัวละครที่เป็น LGBTQ+ มากกว่า ผมประทับใจในเนื้อเรื่อง วิธีการนำเสนอปมของเรื่องราว และความลึกในแง่รายละเอียดการแสดงอารมณ์ความรู้สึก ผมเลยคิดว่าการ์ตูนเล่มนี้แหละที่น่าจะเป็นสื่อที่ดีในการทำให้สังคมทำความรู้จักและเข้าใจความหลากหลายทางเพศมากขึ้นได้
เพียงพบบรรจบฝันเป็นเรื่องราวของตัวละครในชิมานามิ เมืองเล็กๆ ที่มีทั้งภูเขาและทะเล เรื่องเปิดมาที่ ‘ทาสุกุ’ ตัวละครเครียดจนอยากตายเพราะวันนี้โดนเพื่อนจับได้ว่าเขาดูคลิปเกย์ในมือถือ หลังเลิกเรียนเขาเดินไปอย่างไร้เป้าหมายและคิดว่าโลกนี้คงจบสิ้นแล้ว แต่ตอนที่เขามองไปที่หน้าผาและคิดว่าควรจะกระโดดไปเลยดีไหม เขาก็ไปเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ๆ ก็กระโดดจากบ้านติดหน้าผาแถวนั้น เขาตกใจจนลืมตัวและรีบวิ่งไปที่บ้านหลังดังกล่าวเพื่อเรียกให้คนไปช่วย แต่กลับพบว่าผู้หญิงคนนั้นกลับอยู่ในบ้าน และไม่ได้บาดเจ็บอะไรเลย ทาสุกุเลยได้รู้จักกับหญิงแปลกๆ คนนั้น ซึ่งคนอื่นๆ ในบ้านนั้นเรียกเธอซึ่งเป็นเจ้าของบ้านว่า ‘คุณนิรนาม’ และได้มาพบกับ ‘ห้องนั่งเล่น’ หรือบ้านของคุณนิรนามซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมกิจกรรมอาสาสมัคร และบังเอิญที่สมาชิกในกลุ่มนั้นมีคนที่เป็น LGBTQ+ อยู่หลายคน
ทาคุสุได้พบกับคู่หญิงรักหญิงที่ดูรักกันดีมีความสุข หนุ่มรูปหล่อซึ่งที่จริงเป็นผู้ชายข้ามเพศ และเด็กชายที่แต่งตัวเป็นผู้หญิง แม้ว่าห้องนั่งเล่นไม่ใช่ที่รับปรึกษาปัญหาชีวิตโดยกิจกรรมหลักที่ทำก็คือบูรณะบ้านร้างเก่าๆ แต่ทาสุกุก็เหมือนได้ที่พักพิงใหม่ เพราะที่นี่น่าจะยอมรับเรื่องที่เขาชอบเพศเดียวกันได้ การได้พูดคุย ได้รู้เรื่องราวชีวิตของ LGBTQ+ คนอื่นๆ เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ทาสุกุเริ่มสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ รวมถึงจิตใจของตัวเองอย่างตั้งใจเป็นครั้งแรก
ประเด็นแรกที่การ์ตูนเรื่องนี้สื่อถึงพร้อมเปิดเรื่อง คือ แรงกดดันจากสังคม สังคมญี่ปุ่นนั้นเข้มงวดเรื่องการรักษาภาพลักษณ์มากๆ และในเมืองเล็กๆ เรื่องเป็น ‘ขี้ปากชาวบ้าน’ นั้นแพร่ไปไวมากครับ แต่ผมคิดว่าผู้อ่านคนไทยน่าจะจินตนาการความกดดันที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เพราะหากไม่ใช่คนที่เปิดตัวแล้วเจอเหตุการณ์เดียวกันกับทาสุกุก็ต้องเครียดแน่ๆ กับการถูกล้อว่าเป็นเกย์ หรืออื่นๆ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในวันต่อมาถึงทาสุกุจะพบว่าเขารอดจากวิกฤตมาได้ด้วยการแก้ตัวเรื่องคลิป และพูดแสดงความรังเกียจออกไปเพื่อเน้นย้ำว่าเขาไม่ใช่เกย์ ซึ่งเพื่อนในห้องก็ไม่ได้คิดเป็นสาระอะไร แต่ความรู้สึกกดดันนั้นกลับไม่หายไป คำพูดของเพื่อนในห้องเรียนเมื่อวานนี้ที่ทั้งล้อเลียนและรังเกียจ แม้แต่เพื่อนสนิทที่เป็นห่วงเขา ที่แสดงความโล่งใจอย่างเห็นได้ชัดหลังทาสุกุโกหกไปว่าไม่ได้เป็นเกย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขายิ่งรู้สึกกดดันกับการชอบผู้ชายของตนเอง
คำพูดไม่ดีและการแสดงการไม่ยอมรับ LGBTQ+ นั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในแทบจะทุกสังคม เพียงแต่มันจะเป็นการตั้งใจหรือเปล่าและรุนแรงแค่ไหนก็เท่านั้น คงมีหลายคนที่เป็นเหมือนทาสุกุที่ไม่ได้บอกใคร แต่พออยู่ในวงสนทนาก็ต้องกัดฟันฟังคำพูดของคนรอบตัวพูดไม่ดีต่อการเป็น LGBTQ+ แต่ก็แสดงอะไรออกไม่ได้
การห้ามไม่ให้พูดไม่ดีใส่คนอื่นอาจจะเป็นมารยาทปกติ และที่จริงในเนื้อเรื่องก็แทบไม่มีใครเลยที่พูดไม่ดีกับทาสุกุด้วยเจตนาร้าย และการพูดดูถูกหลายๆ ครั้งก็เป็นเพียงแค่มุกขำขันของเด็กวัยรุ่น แต่แรงกดดันที่หนักหนาและรับมือยากที่สุดนั้นมาจากตัวบุคคลที่เป็น LGBTQ+ เอง มันคือความรู้สึกผิดบาป ความรู้สึกแย่กับตนเองที่เป็น ‘สิ่งที่คนทั่วไปรังเกียจ’ และบุคคลที่ย้ำความรังเกียจนั้นมากที่สุดคือตัวเขาเอง การที่คำว่า ‘เกย์’ มันกลายเป็นสิ่งที่ใช้ล้อเลียน สิ่งที่แทนถึงความน่ารังเกียจ สิ่งที่ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นแค่คำพูดว่า “นายเป็นเกย์หรือ” มันจึงสร้างความเจ็บปวดแตกต่างจากการบอกอย่าง “นายเป็นผู้ชายหรือ” ประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ เพราะสังคมมักจะเน้นแต่เรื่องอย่าพูดไม่ดี อย่าล้อเลียน อย่าต่อว่าหยาบคาย แต่ลืมนึกถึงเรื่องทัศนคติของคน เรื่องค่านิยมในสังคมที่ฝังแน่น
ตราบใดที่ค่านิยมว่าความหลากหลายทางเพศ คือ สิ่งที่ผิดปกติ ความกดดันทางสังคมนั้นมันก็จะยังอยู่ในใจของบุคคล LGBTQ+ ร่ำไป แม้จะไม่ได้พูดออกมาก็ตาม
เพียงพบบรรจบฝันยังมีแง่มุมที่น่าสนใจเรื่องการ ‘เปิดตัว’ ต่อสังคมหรือครอบครัวว่าตนเองเป็น LGBTQ+ ฮารุและซากิ คู่หญิงรักหญิงนั้นแม้จะแสดงออกต่อคนนอกชัดเจนว่าตนเองเป็นคู่รัก แต่กลับพบปัญหาเรื่องการยอมรับของครอบครัว ฮารุต้องผิดใจกับครอบครัวเพราะเรื่องนี้จนห่างเหินกันไป ส่วนซากิไม่กล้าแม้แต่จะบอกครอบครัวด้วยซ้ำ แม้ทั้งคู่จะดูมีความสุขแต่ก็ต้องทุกข์ใจกับความสัมพันธ์ลึกๆ เพราะต้องคบกันโดยไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดและให้ความสำคัญที่สุด คำถามที่อาจเกิดในใจหลายๆ คนคือ จำเป็นด้วยหรือที่ต้องให้คนในครอบครัวเรารู้เรื่องนี้ ยิ่งกับบางคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันกับพ่อแม่ และนานๆ เจอกันที การไม่บอกอาจจะเป็นหนทางที่ไม่ต้องผิดใจกับครอบครัวหรือไม่ จำเป็นด้วยหรือที่ต้องบอกคนอื่นว่าฉันเป็น LGBTQ+
ทำไมการเปิดตัวนั้นถึงสำคัญกับหลายๆ คน ธรรมชาติของกลไกทางความคิดของมนุษย์อาจเป็นคำตอบได้ครับ มนุษย์เรานั้นชอบแบ่งสิ่งต่างๆ เป็นประเภท เป็นกลุ่ม เวลาเจอหน้าใครเรามักจะคิดถึงเขาในฐานะกลุ่มประกอบ เช่น คนนี้เป็นหมอ (อาชีพ) วัยกลางคน (อายุ) บ้านรวย (ฐานะ) และการแบ่งกลุ่มนั้นคือวิธีหนึ่งในการทำให้เราคาดการณ์ว่าใครจะมีลักษณะปลีกย่อยอะไรตามมา เช่น ถ้าเขาเป็นหมอ เขาน่าจะฉลาดและรักสะอาด แม้ว่ามันอาจจะไม่แม่นยำไปเสียทีเดียว แต่มันก็เป็นการแบ่งเบาภาระในการจดจำว่าใครเป็นอย่างไร ชอบอะไร และประเภทของคนแบบหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการตีความของมนุษย์คือ ‘เขาเป็นเพศอะไร’ เราถูกสั่งสอนและหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กถึงความแตกต่างระหว่างหญิงและชาย เรามักจะคิดว่าผู้ชายชอบเล่นกีฬา ผู้หญิงชอบอ่านนิยายรัก ผู้ชายชอบแข่งขัน ผู้หญิงเน้นประนีประนอม ผู้ชายไม่ชอบงานฝีมือของน่ารัก ผู้หญิงไม่ชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไก สิ่งเหล่านี้จิตวิทยาเรียกว่า สเตริโอไทป์ (stereotype)
และทุกครั้งเวลาเราพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว เรามักจะนำสเตริโอไทป์ในหัวมาคิดว่าอีกฝ่ายน่าจะเป็นแบบนั้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมันก็มักจะถูกกับคนส่วนใหญ่ แต่มันก็มักจะผิดไปบ้าง เพราะคนเราก็มีรสนิยมแตกต่างกันไปบ้าง
แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากอีกฝ่ายไม่ใช่ทั้ง ชาย และ หญิง และเราไม่รู้เรื่องนั้น การที่เราสื่อสารโดยใช้สเตริโอไทป์ที่ไม่ตรงกับฝ่ายนั้นบ่อยเข้าๆ อย่างเจอเพื่อนผู้หญิงที่เป็นเลสเบียนก็ถามร่ำไปว่าเมื่อไหร่จะหาสามีเสียที แต่งงานช้าเดี๋ยวมีลูกยาก เจอเพื่อนผู้ชายที่เป็นเกย์ก็ชวนเขาเหล่สาวๆ ชวนไปดูพริตตี้ที่งานมอเตอร์โชว์ จริงอยู่ที่เราพูดแบบนั้นเพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็น LGBTQ+ และไม่ได้มีเจตนาทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดใจ แต่บุคคลกลุ่มนี้หลายคนต้องเจอกับการสื่อสารที่เข้าใจผิดแบบนี้ซ้ำๆ ในทั้งชีวิต ตราบใดที่เขายังไม่เปิดตัวคนรอบตัวก็จะคาดหวังแต่สิ่งที่ไม่ใช่ตัวเขาเลยแม้แต่น้อย และอาจจะเลวร้ายไปกว่านั้นตอนเจอคนรอบตัววิจารณ์การเป็น LGBTQ+ ในแง่ลบให้เขาฟัง แบบนั้นยิ่งน่าอึดอัด น่าโกรธ และน่าเศร้า นี่คือเหตุผลที่ทำไมการเปิดตัวกับคนรอบตัวถึงสำคัญกับบางคน แต่ถึงแบบนั้นโลกความจริงก็ไม่ได้ง่ายดาย เพราะต่อให้เปิดตัวแล้ว คนรอบตัวก็ไม่ได้ยอมรับได้กับสิ่งที่เขาเป็น กลายเป็นต้องผิดใจกัน โกรธเกลียดกันไปเลย การเปิดตัวเลยเป็นเรื่องที่หลายๆ คนเลือกที่จำไม่ทำดีกว่า ยอมอึดอัดใจต่อไป เพื่อแลกกับความสัมพันธ์ที่ดี
อีกแง่มุมที่น่าสนใจที่เพียงพบบรรจบฝันเสนอมา คือ ปัญหาของคนที่พยายามทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ สังคมปัจจุบันมีคนยอมรับเรื่องนี้มากขึ้นทุกวัน ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีครับ แต่บางครั้งด้วยการต้องการแสดงออกว่า ‘ฉันรับได้สุดๆ เลยว่าเธอเป็น LGBTQ+’ ก็เลยจะแสดงออกเต็มที่ว่าตนรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นเพศอะไร ซึ่งมันจะมาพร้อมกับการยัดเยียดว่าคนกลุ่มนี้ต้องเป็นหรือชอบอะไร เจอเพื่อนที่เป็นเกย์ก็ชวนคุยแต่กับเรื่องเครื่องสำอาง เรื่องข่าวเม้าท์นางงาม เห็นผู้ชายหน้าตาดีเดินผ่านทีไรก็ถามตลอดว่าแบบนี้ชอบใช่ไหมล่ะ หรือแปลกใจเวลาเจอเพื่อนที่เป็นทอมใส่กระโปรง หรือทำไมไม่ตัดผมสั้น ไม่ต้องฝืนทำตัวเป็นผู้หญิงก็ได้นะ ประเด็นคือมันก็เหมือนสเตริโอไทป์เรื่องเพศชายหรือหญิงซึ่งลักษณะที่คาดหวังบางครั้งเป็นแค่ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องกับทุกคน
ผู้ชายที่ชอบผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงาม ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องอยากมีร่างกายเหมือนผู้ชาย
นอกจากนี้ LGBTQ+ นั้นก็เหมือนชายหรือหญิงที่แต่ละคนมีความชอบแตกต่างกันไปครับ จะมาเหมาว่าเป็นเกย์แล้วร้อง I will survive ได้ทุกคน หรือชอบเที่ยวกลางคืน ชอบวันไนท์แสตนด์ ก็ไม่เสมอไป บางครั้งด้วยการเป็น LGBTQ+ ทำให้คนรอบตัวเน้นแต่การใช้สเตริโอไทป์จนเกินเหตุ และแทนที่จะเป็นการแสดงความเข้าใจ กลับกลายเป็นการยัดเยียดในสิ่งที่ตนเองคาดหวังว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้แทน ประเด็นนี้เพียงพบบรรจบฝันนำเสนอผ่านทั้งตัวละครที่ชื่อ มิโซระ ที่เป็น ‘cross-dress’ หรือชอบแต่งตัวเป็นเพศตรงข้าม ซึ่งโดนยัดเยียดความเป็นผู้หญิงให้ แม้ผู้ที่ยัดเยียดปรารถนาดี ต้องการแสดงความเข้าอกเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้คิดเลยว่ามิโซระเองอยากเป็นผู้หญิงหรือแค่อยากแต่งตัวเหมือนผู้หญิง
นอกจากนี้ความหวังดีที่อยู่ในรูปของความสงสารก็เป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในเพียงพบบรรจบฝันพูดถึง อุซึมิ ผู้เกิดมาเป็นผู้หญิงแต่มีจิตใจเป็นผู้ชาย เธอจึงตัดสินใจแปลงเพศ หรือที่เราเรียกว่า บุคคลข้ามเพศ อุซึมิ ได้มาเจอกับเพื่อนเก่าสมัยเรียน ซึ่งเธอเหมือนจะมาดีเพราะแสดงออกอย่างเต็มที่ว่าไม่รังเกียจ แถมพยายามให้กำลังใจและคอยสนับสนุนมาก แต่มากจนเกินเหตุ ถึงขั้นที่พยายามดึงให้คนนั้นคนนี้รอบตัวมาเข้าใจการเป็น LGBTQ+ ของอุซึมิ แต่สุดท้ายเจตนาดีกลับให้ผลเสีย เพราะมันแสดงถึงความรู้สึกว่าการเป็น LGBTQ+ เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจ น่าสงสารจากการโดนรังเกียจ เป็นเพศที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งกลายเป็นความรู้สึกไม่ดีกับพวกเขา ที่ไม่ได้ต้องการความรู้สึกเห็นใจหรือสงสารกับสิ่งที่เขาเป็น
เพียงพบบรรจบฝันนั้นไม่ได้เสนอทางออกตายตัวในปัญหาของตัวละคร เพราะปัญหาของแต่ละคนก็ย่อมมีส่วนที่แตกต่างกันออกไป คงไม่มีสูตรสำเร็จของ LGBTQ+ คนใด หรือของสังคมไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าทุกสังคมนำมาใช้ร่วมกันได้คือ การปรับมุมมองในการมอง LGBTQ+ เสียใหม่ การเป็น LGBTQ+ ไม่ได้เป็นเรื่องแค่ว่า ฉันชอบผู้ชายหรือผู้หญิง หรือฉันอยากเป็นเพศที่ไม่ตรงกับร่างกายฉัน แต่มันคือ ‘ฉันเป็นคนแบบไหน’ การไม่ยอมรับ การไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศ ก็เหมือนการไม่ยอมรับหรือไม่เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของบุคคลนั้น
อย่างไรก็ตามการยอมรับไม่ได้หมายถึงการยัดเยียดว่าแล้ว เกย์ เลสเบียน ไบ หรือเพศอื่นๆ ต้องชอบอะไร มีบุคลิกแบบไหน ชอบแต่งตัวแบบไหน แต่คือการมองเหมือนบุคคลนั้นเป็นคนคนหนึ่งที่ไม่ได้แตกต่างจากตอนเรามองผู้ชายหรือผู้หญิงคนอื่นๆ ในสังคม อย่าให้ความสนใจบุคคลนั้นนั้นในฐานะ LGBTQ+ จนละเลยความเป็นตัวตนของแต่ละคน เพราะแม้แต่ชายจริงหญิงแท้ก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกคน หลายๆ คนก็อาจจะมีความชอบ นิสัย บุคลิก ที่ไม่ตรงกับคนส่วนใหญ่ LGBTQ+ ก็เช่นกัน ควรรับรู้เขาว่าที่เขาแตกต่างไม่ใช่เพราะเขาเป็น LGBTQ+ แต่เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนแตกต่างกัน และทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกว่าตนเองอยากเป็นอะไร ชอบอะไร ได้ตามแต่ใจเท่าที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร
นอกจากนี้ความเห็นใจและความสงสารไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะหลายๆ คนอยากภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็น LGBTQ+ ไม่ได้เรียกร้องว่าต้องมีอภิสิทธิ์ และไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนเข้าใจความชอบส่วนตัวของพวกเขา แต่แค่ต้องการอยู่ในสังคมได้ในแบบคนทั่วไป จริงอยู่ที่การแก้ไขค่านิยมทางสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และคงต้องใช้เวลาอีกสักพักในการที่จะทำให้คนตัดความรู้สึกว่า LGBTQ+ นั้น ผิดปกติ แปลก หรือด้อยกว่า แต่จุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างบุคคลที่สำคัญกับผู้นั้นอย่างคนในครอบครัวและเพื่อนสนิท หากพวกเขาเข้าใจและยอมรับตัวตน แค่นั้นก็ถือว่าเป็นฐานที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่ทำให้เขาภูมิใจในการเป็นตัวของตัวเองของเขาแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งในเพียงพบบรรจบฝันที่นำไปใช้ได้ไม่ใช่แค่กับ LGBTQ+ แต่กับทุกคนที่กำลังพบกับปัญหาชีวิต คือ การรับฟัง บทพูดติดปากของ ‘คุณนิรนาม’ ที่จะได้เห็นหลายต่อหลายครั้งคือ “เธอจะเล่าอะไรก็ได้ ฉันจะไม่ถาม” แม้อาจจะเป็นคำพูดที่เหมือนไม่ใส่ใจ แต่จริงๆ แล้วคนแทบจะทุกคนเวลาเจอปัญหา แท้จริงแล้วไม่ได้ต้องการการชี้แนะ แต่ต้องการบุคคลที่คอยรับฟังในทุกเรื่องไม่ว่าตนจะคิดอะไรอยู่ แล้วพอได้พูดให้ใครได้ฟังแล้ว หลายครั้งความคิดจะตกตะกอนเป็นคำตอบที่ต้องการเอง ดังเช่นที่ตัวละครหลายๆ คนต่างรู้สึกดีที่ได้พูดกับคุณนิรนาม ถึงแม้ว่าเธอจะไม่เคยให้ทางออกใดๆ แต่ก็รับฟังอย่างเต็มใจ และไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น โชคดีที่ต้นเรื่องของเพียงพบบรรจบฝัน ทาสุกุ ได้เจอกับคุณนิรนาม และห้องนั่งเล่น ซึ่งทั้งทำให้เขาเข้าใจตนเอง รวมถึงมีอิทธิพลในการปรับความคิดของคนรอบตัวเขาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แต่ในโลกความเป็นจริง มี LGBTQ+ อีกจำนวนมากที่ยังกดดันหรือสับสน และคงจะดีไม่น้อยหากมีคนใกล้ตัวเขาอย่างน้อยอีกสักคนที่ยอมรับพวกเขาได้ในแบบที่เขาเป็น
หนังสือที่รีวิว: หนังสือการ์ตูน “เพียงพบบรรจบฝัน” (4 เล่นจบ) โดย ยูกิ คามาทานิ สำนักพิมพ์: สำนักพิมพ์โชงะคูคัง แปลและจัดพิมพ์ในไทยโดย สำนักพิมพ์เซน |