- ในวัยเด็กผมเคยอธิษฐานอยู่เป็นประจำว่าขอให้ได้เป็นผู้ชาย เมื่อโตมาผมจึงรู้เป็นความใฝ่ฝันของเด็กชายอีกหลายคนที่เกิดมาในร่างกายของเด็กหญิง เด็กชายข้ามเพศเหล่านี้ล้วนรับรู้ต่อความแตกต่างของเพศหญิงและเพศชายได้ไวที่สุด เพราะพวกเขารู้ตั้งแต่เริ่มจำความได้กันแล้วว่า จุดยืนของตัวเองว่าอยู่ในกลุ่ม “สีฟ้า” ไม่ใช่ “สีชมพู” ตามที่ผู้ใหญ่เลือกให้
- 1 ใน 6 ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เคยพยายามฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปีที่ไม่ได้รับการยอมรับและถูกเลือกปฏิบัติจากคนในครอบครัว เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงสุด และ ร้อยละ 47.5 ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยถูกเลือกปฏิบัติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากคนในครอบครัว โดยรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือการถูกบอกกล่าวให้ “ระมัดระวังเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก หรือวิธีการพูดและการวางตัว”
- หากวันหนึ่งลูกหลานของคุณกระทำอัตวินิบาตกรรมสำเร็จเพราะทนความยากของการใช้ชีวิตจากเสียงของพวกคุณไม่ไหว คุณคงเข้าใจความทุกข์เหล่านี้ ความทุกข์จากการที่ไม่สามารถเป็นตัวเองได้ และไม่สามารถดูแลและแสดงออกความรักแก่คนที่รักสุดหัวใจได้
“When I was a boy they used to call me she.
When I was a boy they told me how I was supposed to be.”
คือประโยคแรกของเนื้อเพลง Boy โดยนักร้องและนักแต่งเพลงชาวเยอรมณี Tom Henrik (ขออนุญาตชวนผู้อ่านให้ลองเปิดเพลงนี้ไปพร้อมๆ กับการอ่านบทความ) ซึ่งเป็นเสียงความรู้สึกของผู้ชายข้ามเพศหลายๆ คนที่ฝังอยู่ในใจมาตั้งแต่เด็ก เล่าถึงชีวิตของเขาที่ภายในเป็นผู้ชาย แต่สิ่งที่คนภายนอกรับรู้และมองเห็นคือเด็กผู้หญิงทโมนคนหนึ่ง
June – Rainbow Pride Month
เดือนแห่งการรำลึกถึงเหตุการณ์ Stonewall Riots ณ มหานครนิวยอร์ก ปี 1969 ที่ตำรวจเข้าจับกุมลูกค้าของคลับเกย์ในข้อหา ‘แต่งกายไม่เหมาะสมตามเพศ’ จัดมาตั้งแต่ปี 1979 จนถึงปัจจุบัน ยังคงเป็นเสียงที่สะท้อนว่าความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศและการแสดงออกยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับของคนมากนัก พวกเราจึงต้องเรียกร้อง รณรงค์ สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจให้แก่คนในสังคมมากขึ้น
ผู้เขียนเองก็ทำงานรณรงค์ด้านความหลากหลายทางเพศ เพราะเพศกำเนิด (Sex Assigned at Birth) เป็นผู้หญิง แต่อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ไปทางผู้ชาย คำศัพท์ที่ใช้เรียกทุกวันนี้คือ ทรานส์แมน หรือผู้ชายข้ามเพศ (Transgender Male)
ผมเคยร่วมแสดงละครแทรกสดในเทศกาลละครกรุงเทพ 2019 เรื่อง เห็นฉัน ไม่เห็นฉัน Now You See Me, Now You Don’t ซึ่งเป็นละครที่เปิดให้ผู้ชมขึ้นมามีบทบาทในการแสดง เพื่อสานเสวนาถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ของตัวละครผู้ถูกกดขี่จะเลือกทำเพื่อเปลี่ยนแปลงตอนจบ ผมร่วมจัดเวิร์คช็อป เหนี่ยวนำการเรียนรู้ที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นความแตกต่างของชายหญิงและการกดทับสิทธิเสียงเพศหลากหลายในตัวเองและสังคม รวมถึงการทำให้เรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องที่พูดได้ทั่วไป มองเซ็กส์ผ่านศิลปะและการเป็นพลังงานเดียวกับการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ สักชิ้น
สิ่งที่ทำให้ผมต้องขวนขวายหาที่ทางเพื่อแสดงจุดยืนของตัวตนผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ก็เพียงเพราะว่าต้องการการยอมรับและเข้าใจความเป็นตัวผมก็เท่านั้น เพราะว่าในวัยรุ่นผมไม่สามารถได้รับสิ่งเหล่านี้จากคนในครอบครัว ช่วงวัยรุ่นที่ต้องเติบโตตามกรอบของเด็กผู้หญิงมีเสียงที่ดังในหัวของผมแต่ไม่สามารถพูดออกไปได้ร้องบอกว่า “อยากให้พ่อแม่เข้าใจทุกอย่างแต่กลัวเหลือเกินว่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก” และ “ถ้าพ่อแม่เข้าใจแต่จะสามารถยอมรับและรักเราอย่างที่เราเป็นได้อยู่หรือเปล่า”
ตราบใดที่ความทุกข์จากความไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับยังมีอยู่ในสังคม ผมก็ยังคงต้องประกาศเสียงของตัวเองที่อยากพูดมานานแต่ถูกกดทับไว้ ส่งเสียงของเด็กชายที่ไม่มีใครได้ยิน และแทนเสียงเด็กหญิงอีกนับล้านที่ดังไม่เท่ากัน
รายงานผลการสำรวจเพื่อสอบถามประสบการณ์การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย UNDP 2019 พบว่าเกือบ 1 ใน 6 ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยพยายามฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปีที่ไม่ได้รับการยอมรับและถูกเลือกปฏิบัติจากคนในครอบครัว เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงสุด และ ร้อยละ 47.5 ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยถูกเลือกปฏิบัติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากคนในครอบครัว โดยรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือการถูกบอกกล่าวให้ “ระมัดระวังเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก หรือวิธีการพูดและการวางตัว”
เพราะเหตุใดเราถึงยังคงส่งเสริมค่านิยมความเชื่อเช่นนี้และส่งต่อไปให้ลูกหลานที่รักของเรา หากวันหนึ่งลูกหลานของคุณกระทำอัตวินิบาตกรรมสำเร็จเพราะทนความยากของการใช้ชีวิตจากเสียงของพวกคุณไม่ไหว คุณคงเข้าใจความทุกข์เหล่านี้ ความทุกข์จากการที่ไม่สามารถเป็นตัวเองได้ และไม่สามารถดูแลและแสดงออกความรักแก่คนที่รักสุดหัวใจได้
“I wore dresses for my birthdays and flowers in my hair.
I had a dozen baby dolls for which I did not care.”
การเลี้ยงดูที่แตกต่างของเด็กหญิงเด็กชาย
ในวัยเด็กผมเคยอธิษฐานอยู่เป็นประจำว่าขอให้ได้เป็นผู้ชาย เมื่อโตมาผมจึงรู้เป็นความใฝ่ฝันของเด็กชายอีกหลายคนที่เกิดมาในร่างกายของเด็กหญิง เด็กชายข้ามเพศเหล่านี้ล้วนรับรู้ต่อความแตกต่างของเพศหญิงและเพศชายได้ไวที่สุด เพราะพวกเขารู้ตั้งแต่เริ่มจำความได้กันแล้วว่า จุดยืนของตัวเองว่าอยู่ในกลุ่ม “สีฟ้า” ไม่ใช่ “สีชมพู” ตามที่ผู้ใหญ่เลือกให้
ผมจำได้ว่าตอนอายุสองขวบเคยนั่งเศร้าที่เนิร์สเซอรี่เพราะต้องใส่ชุดกระโปรงสวยแต่กลับไม่ชอบใจสักนิด น่าเสียดายที่เสียงนั้นดังไม่มากพอให้ผู้ใหญ่รับรู้ เสียงนั้นจึงต้องถูกเก็บซ่อนไว้ ไม่ให้ใครรู้ในคราบของ เด็กดี เด็กน่ารัก เพราะเมื่อใดที่เสียงนั้นออกมาอีกก็จะกลายเป็น “ไม่น่ารัก” “ผิดปกติ ฝืนธรรมชาติ” “ไม่มีใครเขาทำกันอย่างนี้” “ทำไมถึงแต่งตัวอย่างนี้” “ต้องพูดหางเสียงถึงจะสุภาพ เรียบร้อย” ลองจินตนาการตามดูว่าหากคุณต้องเติบโตมาแล้วเจอคำพูดเหล่านี้เรื่อยๆ จะมีความยอมรับนับถือตัวเองมากได้หรือเปล่า
คำพูดเหล่านี้เริ่มมีตั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคม ซึ่งสั่งสอนหล่อหลอมให้เด็กหญิง “ไม่ควรนั่งถ่างขา” “ต้องใส่กระโปรงและคอยระหว่างไม่ให้กางเกงในโผล่” “เลือดประจำเดือนเป็นของต่ำ เลือดที่เสียเป็นของสกปรก” “ต้องตากผ้าต่ำกว่าเสื้อผ้าของผู้ชายในบ้าน” “ต้องรักนวลสงวนตัว” “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” “ห้ามไปไหนยามดึกดื่นคนเดียว” “ระวัง แต่งตัวให้มิดชิด” “ต้องสวย ผอม ดูดี ถึงจะมีคนรัก” “ถ้าพูดเรื่องเซ็กส์ก็คือผู้หญิงแรด ใจง่าย” “อีวันทองสองใจ”
ต่างจากเด็กชายซึ่งมักถูกเสียงสังคมหล่อหลอมให้ “ต้องเป็นผู้นำ กล้าหาญ” “ลูกผู้ชายต้องไม่แสดงความอ่อนแอให้ออก” “ห้ามแสดงความรู้สึกอ่อนไหว เดี๋ยวเป็นตุ๊ด” “ลูกผู้ชายไม่ร้องไห้” “ใส่กระโปรงไม่ได้” “ต้องมีเหตุผล” “ต้องดูแลคนในบ้านเมื่อโตขึ้น จะเป็นเสาหลักของบ้าน” “บวชแล้วพ่อแม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์” “เป็นสุภาพบุรุษ ให้เกียรติผู้หญิง” “หาประสบการณ์เต็มที่ อย่าไปทำใครท้องก็พอ” “กากว่ะ ไม่มีผู้หญิงคนไหนเอา” “เกาะเมียกิน อีแมงดา” “ขุนแผนมีเมียห้าคน”
“The years went by, I lost my way. It mattered more what others say.
And my reflection’s haunting me with every breaking day.”
หากยังนึกไม่ออกว่าการเลี้ยงเด็กผู้ชายและผู้หญิงจะไปต่างกันขนาดนั้นได้อย่างไร ลองนึกถึงนิทานต่างๆ ที่เด็กชายหญิงได้รับฟังในช่วงวัยของพวกเขา นิทานพื้นบ้าน นิทานอีสป หรือการ์ตูนดิสนีย์ต่างๆ ผู้ใหญ่เราคงไม่เล่านิทานทำนองที่ว่า “ชายหนุ่มเกิดในครอบครัวยากจนอาศัยอยู่กับพ่อเลี้ยงใจร้ายและพี่ชายใจดำสองคน แต่ด้วยความเป็นคนจิตใจดีและอดทนจึงเป็นที่ต้องใจของเจ้าหญิงรัชทายาทแห่งอาณาจักร และลงเอยด้วยการครองรักกันอย่างมีความสุขตลอดไป” หากผู้ใหญ่เราไม่อยากเล่านิทานทำนองนี้ให้ลูกชายฟัง เหตุใดจึงสามารถเลือกเล่าให้ลูกสาวฟังมาหลายสิบปี หรืออาจถึงหลายร้อยปีได้
โลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนในเกมที่ออกแบบมาให้ผู้ชาย (ที่ตรงตามกรอบมาตรฐาน) เป็นผู้ชนะเสมอ สังเกตได้จากผู้นำศาสนา ผู้บริหารประเทศ ผู้นำองค์กรส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย หากเป็นผู้หญิงก็ต้องเป็นคนที่ทุ่มเทพยายามอย่างมากยิ่งกว่าความพยายามของผู้ชายเพื่อที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สิ่งใดที่ท้าทายขนบประเพณีเดิมจะถูกจับจ้องและถูกสั่งเก็บซ่อนต่อไป โดยการถูกตีตราว่า “วิปริตผิดเพศ” “บาปกรรมเก่า” “อย่าให้ใครรู้เรื่องนี้นะ”
สิ่งที่ถูกกดทับและปกปิดไว้ไม่ยอมพูดถึงมันมีมากเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนว่าคุณค่าดีงามที่ถูกละเลยและมองข้ามก็มีมากเท่านั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังมีเกมจะเปลี่ยนกติกาให้ทุกเพศเป็นผู้ชนะได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ หรือแม้การไม่นิยามเพศใดๆ เลยก็ตาม ขอให้เสียงที่หลากหลายของเด็กและผู้ใหญ่เราได้เป็นผู้ชนะร่วมกันในเกมความเข้าใจและการเคารพยอมรับกระดานนี้
ขอให้เด็กน้อยไม่ต้องอึดอัดกับความคาดหวังเรื่องเพศของใคร ไม่ต้องมีการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปเพียงเพราะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย เพราะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเจ้าตัวเองว่า ภายในใจของเขาปรารถนาจะเป็นสิ่งใด จนกว่าเสียงของผู้ใหญ่จะเงียบลง และเปิดพื้นที่ให้เสียงของเด็กน้อยได้เปิดเผยออกมา ผมเองมีความสุขมากขึ้น เรียกได้ว่ามากที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ เมื่อได้รับฟังทั้งเสียงเด็กหญิงและเด็กชายในตัวเอง ผมเลือกที่จะยอมรับและโอบกอดตัวเองอย่างที่เป็นจากข้างใน
“Until I start to fight again; fight for the man I could have been
I’m picking up my dreams again, this time I won’t give in.”