Skip to content
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
  • Creative Learning
    Creative learningLife Long LearningEveryone can be an EducatorUnique Teacher
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Transformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent Brain
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
Myth/Life/Crisis
17 July 2020

Swan Lake 2: ข้อมูลที่จิตสำนึกไม่รับทราบ แต่หาทางไปปรากฏในความฝันและการเสพติด

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Swan Lake ตอนที่2 พาไปสำรวจข้อมูลที่จิตสำนึกของเราไม่รับทราบ แต่หาทางไปปรากฏในความฝันและการเสพติดสารบางอย่าง โดยมีตัวอย่าง ‘ความฝัน’ ที่เชื่อมโยงไปยังความสัมพันธ์กับคนอื่นและคุณลักษณะภายในตัวตนเองที่เราหลงลืมไป ส่วน ‘อาการเสพติด’ เชื่อมโยงกับความทรงจำแห่งความสัมพันธ์อันเป็นขุมพลังชีวิตที่แท้จริง
  • เช่น คนไข้ฝันถึงดาบแล้วพบว่าเกี่ยวข้องกับพ่อและนิสัยของพ่อในตัวเอง ส่วนฮันนาฮ์เสพติดการดื่มไวน์ และพบว่าแท้จริงแล้วเธอเชื่อมโยงไวน์กับการที่แม่กลับบ้านมาอยู่ด้วยกัน

“การปลอบโยนเพียงอย่างเดียวเมื่อผมขึ้นไปข้างบนในยามค่ำคืนก็คือ แม่จะเข้ามาและหอมผมเมื่อผมอยู่บนเตียงแล้ว ทว่าการส่งเข้านอนนี้ก็เป็นเวลาอันสั้นเหลือเกิน…” – คำเล่าของมาร์เซล จาก Swann’s Way เขียนโดยมาร์เซล พรูสต์

บทก่อน (อ่านตอนที่ 1 ได้ที่นี่) เราได้เรียนรู้ถึงเงามืด (Shadow) ผ่านเรื่อง Swan Lake ซึ่งได้นิยามเพื่อให้ง่ายต่อการประยุกต์ใช้ไว้ว่า เงามืดเป็นลักษณะที่เราปฏิเสธหรือไม่ตระหนักรู้ในตัวเอง หรือเป็นลักษณะที่ยังดิบอยู่ซึ่งอาจเป็นลักษณะทางบวกก็ได้ เราได้เรียนรู้แล้วว่าเงามืดดังกล่าวอาจหาทางปรากฏในความสัมพันธ์อันแสลงใจ กระนั้น การตระหนักรู้เงามืดในจิตใจในที่นี้ ไม่ใช่การดำดิ่งสู่ด้านมืดกระทั่งเพลิดเพลินในการเบียดเบียนผู้อื่นและตัวเอง แต่เป็นเพียงความตระหนักถึงสิ่งต่างๆ ในจิตใจอย่างทั่วถ้วนขึ้น เราจึงมีอิสรภาพทางใจมากขึ้น

บทนี้จะขยายไปสำรวจข้อมูลที่จิตสำนึกของเราไม่รับทราบ ซึ่งหาทางปรากฏขึ้นในความฝันและการเสพติดสารบางอย่าง โดยความฝันนั้นเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์กับคนอื่นและคุณลักษณะภายในตัวเองที่เราหลงลืมไป ส่วนอาการเสพติดที่จะกล่าว ก็เชื่อมโยงไปอีกทอดกับความทรงจำแห่งความสัมพันธ์อันเป็นขุมพลังชีวิตที่แท้จริง ซึ่งเราจะเห็นกระบวนการที่ละเอียดขึ้นของการพาไปตระหนักรู้ข้อมูลที่หลงลืมไป และปลดล็อคจิตใจให้ค่อยๆ ขยับเข้าใกล้ความบริบูรณ์กว่าเดิม

ในโลกอดีต ความฝันมีความสำคัญทั้งในการกำหนดนโยบายของบ้านเมืองในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน การรักษาเยียวยาความเจ็บป่วยและความอนาทรร้อนใจ จนถึงปัจจุบัน ความฝันก็ยังมีบทบทสำคัญในศาสนาและความเชื่อต่างๆ อย่างในพุทธสายทิเบตนั้น เห็นว่าจิตที่ฝันของผู้ที่หลับไปแล้วตื่นขึ้นใหม่คล้ายกับจิตของผู้ที่ไม่ตื่นขึ้นอีกหากแต่เดินทางเข้าสภาวะ “ระหว่าง” การตายสู่การเกิดใหม่ หรือ บาร์โด 

หนังสือ The Ultimate Illustrated Guide to Dreams, Signs & Symbols ระบุว่าการตระหนักรู้ว่าเรากำลังฝันในขณะฝันอยู่ สำคัญต่อการเตรียมจิตสู่ความตาย นอกจากนี้ชาวพุทธสายทิเบตในบางสำนักก็มีการใช้ความฝันเป็นส่วนหนึ่งของอุบายการปฏิบัติเพื่อความรู้แจ้ง

จิตวิทยาสายยุง (Carl Gustav Jung) และที่ได้รับอิทธิพลจากยุงมีหลายแนวคิดเกี่ยวกับความฝัน หนึ่งในนั้นคือความฝันช่วยสร้างสมดุล อีกทั้งเราสามารถใช้ความฝันเยียวยา ยกระดับจิตใจสู่บุคลิกภาพที่ไพศาลกว่าเดิม และอิสรภาพทางใจที่มากกว่าเดิมได้ ดังกรณีศึกษาจากกระบวนการทำงานกับความฝันของ คาร์ล ยุง จิตแพทย์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งกรณีศึกษาของดร. Elaine N. Aron นักจิตวิทยาวิจัยในอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลจากคาร์ล ยุง ทั้งสองกรณีเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์กับคนอื่นซึ่งสะท้อนกลับมายังลักษณะภายในตนเองที่หลงลืมไป

ตัวอย่างที่หนึ่ง หญิงสาวคนหนึ่งตั้งใจมาบอกเล่าความฝันเกี่ยวกับดาบให้คาร์ล ยุง ฟัง ซึ่งภายหลังเธอสืบย้อนไปที่ความสัมพันธ์กับพ่อ รวมทั้งคุณลักษณะของเธอเองที่ได้ถูกกลบฝังไว้อีกด้วย เธอฝันว่ามีคนนำดาบโบราณประดับประดาอย่างวิจิตรตระการตา ซึ่งถูกขุดขึ้นจากหลุมศพมาให้ เมื่อได้รับคำถามว่าเธอเชื่อมโยงดาบเล่มนั้นกับอะไร เธอพลันนึกถึงกริชของคุณพ่อ เธอโยงใยลวดลายบนดาบไปถึงบรรพบุรุษเคลติกของครอบครัว อีกทั้งสำหรับเธอนั้น ดาบยังพ้องกับบุคลิกภาพที่มุ่งมั่นทว่าวู่วามของพ่อด้วย 

บทสนทนาของเธอและยุงค่อยๆ ขยายให้เห็นบรรยากาศของความฝันและรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ในฝัน และค่อยๆ ปล่อยให้ความหมายอันหลากหลายในบริบทของหญิงสาวเองนั้นคลี่เผยออกมาในความรับรู้ กระทั่งเธอพบด้วยว่านิสัยของพ่อเธอซึ่งดาบได้สะท้อนออกมานั้น ก็เป็นบุคลิกลักษณะบางอย่างในตัวลูกของพ่อคนนี้ ที่เธอลืมเลือนไปแสนนานนั่นเอง แล้วเธอก็ปลดล็อคสู่บุคลิกภาพที่ไพศาลกว่าเดิม

ตัวอย่างที่สอง เป็นเรื่องราวของผู้เข้ารับการปรึกษาของ ดร. Elaine N. Aron ผู้มีชุดความฝันที่เชื่อมโยงกับปัญหาความสัมพันธ์กับเจ้านาย ทว่าได้คลี่คลายไปสู่ความตระหนักรู้ลักษณะต่างๆ ของตัวเธอเองที่เคยจมหายไปจากความรับรู้ แต่เดิมผู้หญิงคนนี้ยึดติดอย่างสูงกับการที่ไม่อยากเป็นคน ‘ฉลาดแกมโกง’ อีกทั้งยังกดความนึกคิดไม่ให้ตนเองรับรู้ลักษณะที่เธอเห็นเป็นแง่ลบในตัวคนอื่นด้วย เธอรู้สึกว่าหัวหน้างานมีบางอย่างชอบกลแต่ก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก ทว่าในที่สุดเธอพบข้อเท็จจริงว่าหัวหน้าเขียนบันทึกที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวเธอ 

เมื่อได้รับความเห็นว่าเธอควรจะเป็นการเมืองในที่ทำงานมากกว่านี้หน่อย เธอก็รู้สึกว่าต้องทำสิ่งที่ ‘แปดเปื้อน’ แต่หลังจากนั้นเธอก็เริ่มมีชุดความฝันที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นความฝันที่สำแดงเงามืดของ ‘ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง’ ให้ปรากฏขึ้น อารัมภบทด้วยการฝันเห็นแพะที่ถูกปิดล้อม ซึ่งก็คือความสำนึกรู้แบบเดิมของเธอมีความคับแคบจำกัด ทว่าจากนั้นเธอก็ฝันเห็นนักสู้ตัวน้อยข้างถนนที่มีความอึด และปิดด้วยการฝันเห็นนักธุรกิจหญิงผู้ผ่านโลกมามาก 

เมื่อเธอนำความฝันเหล่านี้ยกขึ้นพูดคุย เธอก็รู้จักลักษณะต่างๆ เหล่านี้ในตัวเองชัดขึ้น เช่น เธอมีความเป็น “นักสู้” เธอ “มีประสบการณ์” มากขึ้น เธอตระหนักรู้ในที่สุดว่าว่าก่อนหน้านี้เธอก็เคยสงสัยวาระซ่อนเร้นของคนอื่นเหมือนกัน เธอเริ่มกล้าตรวจสอบและพบว่าตัวเองเชื่อใจคนได้มากขึ้น เธอปลดล็อคจากการเสพติดการเป็น ‘คนดี’ และคลายความอึดอัดดับข้อง อีกทั้งมีชีวิตที่ไหลลื่นขึ้น

นอกจากการใช้ความฝันในการปลดล็อคตัวเองแล้ว การสังเกตอาการเสพติดอะไรบางอย่างของตัวเองก็เป็นเครื่องมือในการตระหนักรู้ข้อมูลที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจเบื้องลึก ซึ่งนำไปสู่การปลดล็อคตัวเองได้เช่นเดียวกัน ดั่งเช่นเรื่องราวของฮานนาฮ์ ที่สามารถปลดล็อคจากการนิยมเสพไวน์แดง เพราะเธอตื่นรู้ในที่สุดว่าไวน์แดงเพียงชดเชยแม่และพลังใจที่หายไป

ฮานนาฮ์ชอบดื่มไวน์แดงและดื่มทุกครั้งที่มีโอกาส กระนั้น เธอไม่เคยรู้เลยว่า ไวน์ เชื่อมโยงกับอะไรที่ลึกกว่านั้นมาก กระทั่งวันหนึ่งมีคนถามเธอว่า “ชอบดื่มไวน์แดงที่ไหน กับใครที่สุด?” ซึ่งฟังดูเป็นคำถามแสนธรรมดาสามัญ ทว่ากลับเป็นวินาทีแห่งการปิ๊งแวบสว่างไสวจนน้ำตาซึม

เธอไม่เคยตระหนักเลยว่าเธอชอบดื่มไวน์ “ที่บ้าน” มากกว่าสถานที่ใด และดื่ม “กับแม่” มากกว่าใครคนอื่น ยิ่งไปกว่านั้น เธอระลึกถึงวัยเด็กที่ว่าวันไหนได้ดื่มไวน์ แปลว่าวันนั้นแม่กลับมาบ้านแล้ว มวลหมอกแห่งภาพความทรงจำต่างๆ ผุดขึ้นให้เธอ “เห็นอีกครั้ง” ว่าในวัยเด็ก แม่ของฮันนาฮ์ทำงานที่ต้องเดินทางเสมอและจะไม่อยู่บ้านครั้งละเป็นเวลานาน 

แม้ว่าครั้งหนึ่งตอนอายุประมาณ 4 ขวบ เธอจะเคยร้องไห้กอดขาแม่ด้วยความอาลัยอาวรณ์อยู่หน้าประตูบ้านชั่วขณะที่แม่ก้าวขาออกไป แต่จากนั้นมา เด็กตัวน้อยคนนั้นก็เข้าใจและเต็มใจรับผิดชอบกิจวัตรต่างๆ ตามที่แม่บันทึกไว้ให้ไปตามลำพัง นอกจากนั้น ทุกครั้งเมื่อแม่กลับบ้าน แม่มักจะมาพร้อมกับไวน์แดงซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่แม่ชื่นชอบที่สุด เมื่อฮานนาฮ์โตขึ้น แม่ก็ยังชวนเธอดื่มเช่นนั้นอีกเสมอมาเมื่อแม่พักผ่อนอยู่บ้านว่างๆ และเมื่อแม่ต้องการเฉลิมฉลองความสำเร็จต่างๆ ของฮันนาฮ์

เธอจึงเชื่อมโยงอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า ไวน์แดง คือ การได้อยู่กับแม่ อีกทั้งเป็นความชื่นชมจากแม่ด้วย เวลาแห่งการดื่มคือเวลาแห่งการคืนสู่เหย้าอันแวดล้อมด้วยความผ่อนคลายและยินดี หลักจากนั้นไม่นาน ฮานนาฮ์ก็ไม่ดื่มไวน์พร่ำเพรื่ออีกเลย แท้จริงแล้วฮันนาฮ์ไม่ได้ติดใจแอลกอฮอล์ ความทรงจำที่ถูกฝังกลบอยู่ในอดีตซึ่งเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มต่างหากที่เป็นแหล่งพลังชีวิตซึ่งเธอโหยหา เฉกเช่นที่เมื่อเจ้าชายซิกฟรีดตระหนักรู้ว่าโอดีลไม่ใช่โอเด็ต เขาก็เริ่มเข้าสู่หนทางที่จะหลุดจากพันธนาการลวง

ทุกเรื่องที่กล่าวมาล้วนแสดงให้เห็นว่า หากเราสามารถมองทะลุความฝันและการเสพติด เราจะได้สัมผัสกับขุมพลังบางอย่างซึ่งซ่อนอยู่ในจิตใจ

ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะกล้าเผชิญหน้ากับมันหรือไม่เท่านั้น

อ้างอิง
การบรรยายหัวข้อ “จิตในความฝันและความตาย” โดย รศ.ดร.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ชั่วขณะสุดท้ายแห่งชีวิต เขียนโดย ทะไลลามะ โดยมีเจฟฟรี ฮ็อปกินส์ เป็นบรรณาธิการและผู้ถอดความเป็นภาษาอังกฤษ และแปลเป็นภาษาไทยโดย ธารา รินศานต์ โดยมีพจนา จันทรสันติ เป็นบรรณาธิการ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
Introducing Buddha โดย Jane Hope
Jung A very short Introduction โดย Anthony Stevens
Swann’s Way (เป็นหนังสือเล่มแรกของนวนิยาย In Search of Lost Time) โดย Marcel Proust นักเขียนชาวฝรั่งเศส แปลภาษาอังกฤษโดย C.K. Scott Moncrieff & Terence Kilmartin
The Highly Sensitive Person: How to Thrive When the World Overwhelms You โดย Elaine N. Aron
The Ultimate Illustrated Guide to Dreams, Signs & Symbols โดย Mark O’Connell, Raje Airey และ Richard Craze
Tibetan Yogas of Dream and Sleep โดย Tenzin Wangyal Rinpoche

Tags:

จิตวิทยาMyth Life Crisisจิตใต้สำนึก

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    ฟังเสียงผีแมรี่และหลากหลายบุคลิกลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายใน

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    Swan Lake 1: เงามืดในตัวเองที่เราไม่ยอมรับรู้ ซึ่งไปปรากฏในการเสพติดความสัมพันธ์

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Life classroom
    Perfume น้ำหอมมนุษย์: ความสัมพันธ์กับตัวเองและผู้อื่น ที่เรียนรู้มาจากผู้เลี้ยงดู

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Life classroom
    เติบโตก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง ผ่านตำนาน

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel