Skip to content
ความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงาน
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long Learning
  • Family
    Dear ParentsEarly childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily Psychology
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงาน
Myth/Life/Crisis
13 January 2022

หลวิชัย : เพื่อนผู้พึ่งพาได้ ในขณะที่ยังมีเส้นอาณาเขตระหว่างตัวเองและผู้อื่นชัดเจน (1)

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ภัทรารัตน์ หยิบ หลวิชัย – คาวี มาเขียนในประเด็นความสัมพันธ์ ‘เพื่อน’ อย่างหลวิชัยที่มีคุณสมบัติ คือ มีเส้นกั้นอาณาเขต (boundary) ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นที่ชัดเจน โดยในขณะเดียวกันก็เป็นที่พึ่งให้คาวีได้อย่างที่สุด
  • ความสัมพันธ์ของหลวิชัยและคาวีแสดงให้เห็นแล้วว่าเราสามารถมีมิตรภาพอันเกื้อกูลกันกับผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็ยังมีเส้นอาณาเขตระหว่างตัวเองและผู้อื่นที่ชัดเจนไปพร้อมๆ กันได้
  • ฤาษีผู้เป็นคล้ายบิดาบุญธรรมไม่ได้รู้สึกว่าเมื่อตนได้ชุบชีวิตหลวิชัยคาวีให้เป็นคน ทั้งยังถ่ายทอดวิชาอาคมให้แล้วจะต้องเป็นเจ้าเข้าเจ้าของชีวิต แต่กลับสนับสนุนให้ทั้งสองออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง 

1.

ลูกเสือตัวหนึ่งถูกแม่เสือที่ออกไปหากินทิ้งไว้ในถ้ำ ลูกเสือน้อยผู้หิวโหยสาหัสออกมาเจอแม่วัวลูกติดที่ปากถ้ำจึงขอดื่มนม ซึ่งในตอนแรกแม่วัวก็เกรงว่าจะแว้งมาทำอันตรายเพราะโดยทั่วไปนั้นเสือไม่เป็นมิตรกับวัว แต่ลูกวัวก็วิงวอนให้แม่วัวช่วยลูกเสือด้วยเพราะเป็นเรื่องขัดกับมโนธรรม หากว่าสามารถที่จะช่วยแต่กลับจะทิ้งลูกเสือให้หิวตาย

แม่วัวฟังเหตุผลแล้วจึงให้นมลูกเสือที่หิวโซ ฝั่งลูกเสือก็รู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งและรักวัวทั้งสองประหนึ่งเป็นสมาชิกครอบครัว ลูกเสือเห็นว่าถิ่นที่อยู่ของตนมีความอุดมสมบูรณ์จึงชวนสองวัวมาอยู่ด้วยเพื่อสนองคุณ

เมื่อแม่เสือกลับมายังถ้ำลูกเสือจึงบอกเล่าความตั้งใจที่จะชักชวนลูกวัวและแม่วัวซึ่งมีคุณต่อตนมาอยู่ด้วยกันให้แม่เสือทราบ แม่เสือเห็นแก่ลูกจึงทำทีให้สัญญาว่าหากสองวัวมาอยู่ด้วยก็จะไม่ทำร้าย ทว่าอยู่มาวันหนึ่งแม่เสือกลับกินแม่วัวไป เมื่อลูกเสือและลูกวัวทราบจึงวางแผนทำเป็นหิวนมแม่เสือแล้วกลับรุมทำร้ายนางจนตาย

จากนั้นสองเด็กกำพร้าก็พากันออกผจญภัยไปในป่าไพรกระทั่งไปเจอฤาษี ซึ่งได้เสกเสือและวัวให้กลายเป็นคนโดยชื่อว่า หลวิชัย และ คาวี ตามลำดับ สองกุมารเรียนสรรพวิชากับฤาษีจนโตและอยากอยู่ปรนนิบัติแทนคุณฤาษี แต่ท่านเห็นว่าผู้มีวิชาความรู้น่าจะออกไปครองเมืองก็จะช่วยผู้คนได้มาก เมื่อทั้งสองเห็นด้วย ฤาษีก็ทำพิธีถอดดวงใจของทั้งสองลงพระขรรค์เพื่อไม่ให้ใครฆ่าได้แต่หากใคร “ได้ขรรค์บวร นี้ใส่ไฟอน จึ่งจักพินาศวายชนม์” กล่าวคือถ้าผู้ใดนำขรรค์ไปเผาไฟ เจ้าของหัวใจที่ถูกถอดลงไว้ในขรรค์ก็มีอันถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น ทั้งคู่ยังต้องรักษาขรรค์ไว้ยิ่งชีพมิให้ผู้ปองร้ายได้ไปเป็นอันขาด

สองหนุ่มรับความแล้วลาฤาษีแล้วออกท่องโลกกว้าง เมื่อมาถึงทางแยก หลวิชัยก็ปรารภว่าให้แยกกันไปคนละทิศ แล้วอีก 3 เดือนค่อยกลับมาเจอกันที่เดิมนี้ (เนื้อเรื่องตรงนี้นิทานเรื่องคาวีว่า เมื่อทั้งสองไปถึงจันทรบุรีซึ่งมียักษ์กินคนอาละวาด คาวีก็ฆ่ายักษ์ตายแต่ได้ยกบำเหน็จความชอบให้พี่กระทั่งหลวิชัยได้รับแต่งตั้งจากเจ้าเมืองให้เป็นอุปราช ส่วนคาวีก็ปรารถนาจะเดินทางไปหาเมืองมาครองให้สมพรฤาษีด้วย ซึ่งแม้หลวิชัยไม่อยากพรากจากน้องแต่ก็ยอมให้น้องไป) 

คาวีเดินทางไปเจอกลองในพระราชวังแห่งเมืองซึ่งร้างไร้ผู้คนแห่งหนึ่ง ในกลองนั้นมีหญิงงามผู้มีกลิ่นเส้นผมหอมกำจายอยู่ เธอคือ จันท์สุดา ธิดาของเจ้าเมืองจันทรนคร นางเล่าให้เขาฟังว่าชาวเมืองรวมถึงบิดามารดาของนางถูกนกอินทรีย์กินเข้าไปแล้ว เขาจึงใช้ควันไฟล่อนกมาสังหารเสีย คาวีสมรสกับนางจันท์สุดาและครองจันทรนครนับแต่นั้น

อย่างไรก็ตาม ครั้นนางจันท์สุดาลงอาบน้ำ นางได้ใส่เส้นผมที่ร่วงลงในผอบซึ่งได้ลอยตามน้ำไปถึง ท้าวสันนุราช ผู้ครองกรุงพันธวิสัย ชายเฒ่าต้องการตัวสาวเจ้าของเส้นผมอันหอมรัญจวนนี้จึงได้ประกาศออกไป ฝั่ง ยายทัศประสาท ซึ่งเป็นข้าเก่าของพระธิดาก็รุดไปบอกท่านท้าวจนได้เงินทองมามากมาย และด้วยความโลภจึงวางแผนขอกลับไปอยู่รับใช้นางจันท์สุดา และใช้โอกาสนั้นยุแยงว่าคาวีไม่ไว้ใจพระนางเพราะเห็นเขาเหน็บขรรค์ติดตัวตลอด

นางจันท์สุดาถูกปั่นสำเร็จจึงไปค่อนขอดคาวี และได้รู้ความลับว่าหัวใจของคาวีอยู่ในพระขรรค์และหากเผามันเสียคาวีก็จะต้องเป็นอันมอดม้วย จันท์สุดารีบแจ้นนำความลับนี้ไปแก้ตัวกับยายทัศประสาท ยายจึงใช้อุบายล่อหลอกทั้งสองจนได้ขรรค์คาวีไปเผาไฟ เมื่อคาวีล้มพับสิ้นสติ ยายเจ้าเล่ห์ก็จัดแจงให้ทหารเข้ารวบตัวจันท์สุดาไปถวายท้าวสันนุราช ซึ่งจันท์สุดาก็มิได้รับรักแต่อย่างใด

ฝั่งหลวิชัยนั้น เมื่อครบกำหนดเวลา 3 เดือนก็กลับไปเจอคาวีตรงที่จากกันแต่รอทั้งวันก็ไม่พบ เขาจึงสืบเสาะหากระทั่งได้เจอกับคาวีที่นอนนิ่งอยู่ใกล้กองเพลิงที่โลมเลียพระขรรค์อยู่ เขาจึงช่วยเอาขรรค์ออกจากไฟเสียเพื่อให้คาวีฟื้นขึ้นและบอกเล่าเรื่องร้อนใจให้ทราบ

ในระหว่างนั้นเองหลวิชัยได้ข่าวว่าท้าวสันนุราชอยากจะกลับไปเป็นหนุ่มและประกาศหามุนีพราหมณ์ชุบรูปให้งามพึงใจ เขาจึงปลอมตัวเป็นฤาษีไปหาพระองค์แล้วทำทีว่าทำพิธีชุบตัวช่วยได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องขุดหลุมสุมเพลิงไว้และกั้นม่านเจ็ดชั้นในระหว่างพิธี แล้วหลวิชัยก็ให้ท้าวสันนุราชกระโดดเข้ากองไฟ คนเฒ่าใคร่ได้สาวเชื่อตามจึงสิ้นอายุขัย จากนั้นหลวิชัยก็สลับตัวคาวีออกมาแทน คาวี (ที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นท้าวสันนุราชในเวอร์ชั่นหนุ่ม)จึงได้สมรสกับจันท์สุดาอีกครั้ง

เมื่อหลวิชัยเห็นคาวีได้ครองเมืองทั้งสองโดยอยู่ดีมีสุขแล้ว ก็ลาเพื่อเดินทางไปตามทางของตนต่อไป

2.

หลวิชัยกับคาวีมีมิตรภาพลึกซึ้งในลักษณะที่แม้ ‘มีใช่ชาติมิใช่เชื้อ แต่มีความเอื้อเฟื้อ’ เหมือนอย่างเลือดเนื้อของตัวเอง หลังจากที่ลูกวัว (คาวี) เคยชักแม่น้ำร้องขอให้แม่ช่วยชีวิตลูกเสือ (หลวิชัย) หลวิชัยก็กลายเหมือนพี่และเพื่อน ‘ที่พึ่งพาได้’ ของคาวีมาตลอดเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะดำเนินชีวิตอยู่ในระบบศีลธรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่ขอละเว้นการมองอย่างตัดสิน และขอมองการกระทำต่างๆ ตามนิทานในเชิงอุปมาอุปไมย ว่าเป็นภาพสะท้อนกระบวนการทางจิต ซึ่งคงจะได้วิเคราะห์รายละเอียดจากมุมมองทางจิตวิทยาสายคาร์ล ยุง (Jungian Psychology) ต่อไป ส่วนในที่นี้ จะเน้นคุณสมบัติของหลวิชัยที่ 1) มีเส้นกั้นอาณาเขต (boundary) ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นที่ชัดเจน โดยในขณะเดียวกันก็ 2) เป็นที่พึ่งให้คาวีได้อย่างที่สุด อันจะเห็นได้จากพฤติการณ์ต่างๆ ดังนี้

ความพึ่งพาได้ ของหลวิชัยเห็นได้จาก

  • การเลือกเข้าข้างคาวี และไม่ยอมรับพฤติกรรมที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้องของแม่แท้ๆ ซึ่งในระหว่างบรรทัดก็สะท้อนอีกด้วยว่าหลวิชัยให้ความสำคัญกับการรักษาสัตย์สัญญาและการแทนคุณ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของหลวิชัยกับคาวีจึงมีทั้งการรับและให้ต่างตอบแทน อันเป็นการเกื้อกูลกันทั้งสองทาง

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลวิชัยยังเป็นเสือ เขาขีดเส้นกับแม่ว่าอะไรที่เขารับไม่ได้แบบสัตว์ ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นย่อมจะต้องมีวิธีกั้นอาณาเขตที่ไม่ใช่มาตุฆาต ซึ่งในทางพุทธนับเป็นกรรมหนักฝ่ายอกุศล อีกทั้งเป็นการกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด จึงขอเน้นย้ำสาระสำคัญของการอ่านนิทานว่าเป็นการเข้าไปเชื่อมโยงกับกระบวนการของจิตไร้สำนึก (unconscious) ผ่านสัญลักษณ์ มากกว่าที่จะเอาสารตามตัวอักษรตรงๆ

  • การไปตามนัด หลวิชัยไปพบคาวีตามเวลาที่นัดกันไว้และรอคอยคาวีอยู่ทั้งวัน หนำซ้ำแม้ไม่พบตัวก็ยังพยายามเสาะหาจนเจอคาวีที่กำลังมีภัย ซึ่งจะเป็นคนละรูปแบบกับเพื่อนที่นัดแล้วก็มักเทคุณหรือนัดแล้วเปลี่ยนแผนไปมาอยู่ตลอดกระทั่งคุณรู้สึกว่าเขาไม่เคารพเวลาของคุณ
  • การพร้อมเอาตัวเข้าช่วยเหลือและยินดีในความสำเร็จและสุขภาวะของมิตร เมื่อหลวิชัยเห็นคาวีนอนสิ้นสติอยู่ก็รีบช่วย อีกทั้งเมื่อรู้ว่าคาวีโดนแย่งแฟนไป ก็คิดหาวิธีการช่วยและเอาตัวลงไปเสี่ยงเพื่อคาวีจนกรณีถึงที่สุดเมื่อได้เห็นเขาปลอดภัยและมีความสุขเจริญ ซึ่งจะต่างโดยสิ้นเชิงจากความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการพึ่งพาอีกฝ่ายหนึ่งแต่ถ่ายเดียวโดยไม่ต้องการจะช่วยเหลืออะไรตอบในยามยากเลยแม้สักเล็กน้อยเลย

การมีอาณาเขตที่ชัดเจน ของหลวิชัยเห็นได้จาก 

นอกจากจะชัดเจนว่าโอเคหรือไม่โอเคกับพฤติกรรมอะไรของคนอื่นแม้แต่กับแม่แล้ว หลวิชัยเปิดพื้นที่ให้ทั้งตัวเองและคนอื่นได้มีชีวิตในแบบของตัวเองด้วย เขาไม่แสดงออกแบบครอบครอง โดยหลวิชัยบอกให้คาวีแยกเดินทางไปคนละทิศเมื่อถึงทางแยก นอกจากนี้ เมื่อช่วยคาวีให้พ้นภัยและสุขสบายดีในอาณาจักรที่คาวีได้ครองแล้ว หลวิชัยก็แยกไปตามทางของตัวเอง

เป็นไปได้มากว่าการที่หลวิชัยชัดเจนกับขอบเขตของตัวเองนั้นทำให้เขาเคารพอาณาเขตของคาวีได้ง่าย และทำให้ไม่เกิดการพึ่งพากันจนเป็นพิษ ซึ่งเราจะเห็นรูปแบบคล้ายกันนี้จากฤาษีผู้เป็นคล้ายบิดาบุญธรรม ที่ไม่ได้รู้สึกว่าเมื่อตนได้ชุบชีวิตหลวิชัยคาวีให้เป็นคนทั้งยังถ่ายทอดวิชาอาคมให้แล้วจะต้องเป็นเจ้าเข้าเจ้าของชีวิตและกักตัวพวกเขาไว้อยู่รับใช้ตัวเอง แต่กลับสนับสนุนให้ทั้งสองออกไปใช้ชีวิตและเติบโตเป็นเจ้าอาณาจักรของชีวิตตัวเอง  

3.

สำรวจความสัมพันธ์ของเราเอง

ลองกลับมาสำรวจความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนๆ บ้างว่าเรามีหรือเป็นเพื่อนแบบหลวิชัยให้ใครบ้างหรือไม่?

แต่ไม่ว่าความสัมพันธ์ของเราจะเป็นเช่นไร ความสัมพันธ์ของหลวิชัยและคาวีก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เราสามารถมีมิตรภาพอันเกื้อกูลกันกับผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง โดยในขณะเดียวกันก็ยังมีเส้นอาณาเขตระหว่างตัวเองและผู้อื่นที่ชัดเจนไปพร้อมๆ กันได้ด้วย

อ้างอิง
หมายเหตุ เนื้อเรื่องของหลวิชัยคาวีมีความหลากหลาย ในที่นี้ได้ผสานเนื้อหาจากสามแหล่งคือ จาก “นิทานเรื่องคาวี” ใน บทละครนอก โดย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พิมพ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ สำนักพิมพ์กรมศิลปากร; “คู่พระใหญ่พระน้อยในนาฏกรรมไทย” โดย ไพโรจน์ ทองคำสุก ใน วารสารราชบัณฑิตยสภา ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑ ม.ค.-มี.ค. ๒๕๕๙ และ เสือโคคำฉันท์ ต้นฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร จากห้องสมุดดิจิตอลวชิรญาณ  
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๑), (๔) มาตรา ๘๓, มาตรา ๗๓ ฯลฯ“กรรม ในฐานะหลักธรรมที่เนื่องอยู่ในปฏิจจสมุปบาท” ใน พุทธรรม ฉบับปรับขยาย โดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) พิมพ์ปี ๒๕๕๕ โดยสำนักพิมพ์ผลิธัมม์ และ พุทธธรรมออนไลน์ โดยเว็ปไซต์วัดญาณเวศกวัน

Tags:

แบบแผนทางความสัมพันธ์Myth Life Crisisตำนานเพื่อน

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    มูซาชิ : ที่มองคนอื่นนั้นก็เพียงเงาสะท้อนของเราเอง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    หลวิชัย : ความสัมพันธ์ที่เคารพอาณาเขตของตัวเอง (2)

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    หลายครั้งเราไม่อาจพูดสิ่งที่คิดว่าจริงแม้กับตัวเอง แต่หากสื่อสารกับคนอื่นแล้วบังเอิญไปกระทบคุณค่ากันและกัน ก็เป็นโอกาสสำหรับการเติบโต

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    แดรกคิวล่า : เรียนรู้จากผีดิบ และอาการป่วยไข้ที่รุกล้ำอาณาเขตของเรา

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel