Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: February 2025

เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา
Book
28 February 2025

เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • ‘เพื่อนคนเก่ง’ (My Brilliant Friend) เป็นนิยายที่เขียนโดย เอเลนา แฟร์รานเต นักเขียนชาวอิตาลี เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมิตรภาพที่ซับซ้อนของเด็กหญิงสองคน ‘เอเลนา’ และ ‘ลิลา’
  • หนังสือเล่าผ่านมุมมองของ ‘เอเลนา ’ ซึ่งมองว่าลิลาเป็นทั้งเพื่อนสนิทและคู่แข่ง โดยเล่าถึงชีวิตและการเติบโตของเด็กหญิงทั้งสอง ท่ามกลางสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่กดดันรวมทั้งความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยทั้งความรัก และความอิจฉาริษยา
  • นิยายเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือสอนศีลธรรมที่มาพร้อมคำเทศนาว่า จงทำดีแล้วจะได้ดี หรือ จงขยันหมั่นศึกษาเพื่อนำพาชีวิตสู่ความสำเร็จ หากเป็นเหมือนบันทึกชีวิตของคนสองคน ที่เลือกเดินบนเส้นทางที่ต่างกัน เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันที่เรียกว่า ความสำเร็จ

เมื่อพูดถึงมิตรภาพ หรือความสัมพันธ์ฉันเพื่อน หลายคนอาจเข้าใจว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ตรงไปตรงมา เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน หากเทียบกับความสัมพันธ์ฉันท์คู่รัก ที่มีความยุ่งยากในทางอารมณ์มากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางครั้งความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนก็อาจมีความสลับซับซ้อนและยากต่อการทำความเข้าใจได้เช่นกัน

สำหรับใครบางคน อาจเคยมีเพื่อนสนิทที่รู้ใจกัน มีรสนิยม หรือกระทั่งทัศนคติหลายอย่างเหมือนๆกัน รักกันมาก แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีความรู้สึกอิจฉาอยู่ในใจ หรือจนกระทั่งไม่อยากให้เพื่อนได้ดิบได้ดีเกินหน้าเกินตาตัวเอง

ถ้าเพื่อนต้องลงแข่งขันประชันกับคนอื่น เราจะเชียร์เพื่อนสุดใจขาดดิ้น ไม่อยากให้เพื่อนแพ้ใคร แต่หากเพื่อนต้องลงแข่งกับเรา ก็ขอให้ผลออกมาเสมอเป็นดีที่สุด

มิตรภาพที่มีทั้งความรักและความอิจฉาผสมปนเปกันนี้ คือ หนึ่งในธีมหลักของนิยายที่มีชื่อว่า ‘เพื่อนคนเก่ง’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า My Brilliant Friend ซึ่งถอดความหมายตรงๆ เหมือนชื่อในภาษาอิตาลี ที่เป็นต้นฉบับว่า L’amica gemiale 

ผมเพิ่งเคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ เมื่อ The New York Times เปิดเผยรายชื่อ 100 อันดับ หนังสือที่ดีที่สุดในศตวรรษที้ 21 โดยใช้คณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักเขียน นักวิจารณ์ นักวิชาการในสาขาวรรณกรรม และตัวแทนจากสายอาชีพอื่น รวมกว่า 500 คน ร่วมกันคัดเลือก ซึ่งหนังสือที่ได้รับการโหวตให้อยู่ที่อันดับ 1 ก็คือ หนังสือเรื่อง ‘เพื่อนคนเก่ง’ ผลงานของ เอเลนา แฟร์รานเต (Elena Ferrante) นักเขียนร่วมสมัยชาวอิตาลี

นอกจากการโหวตโดยคณะกรรมการแล้ว หนังสือเล่มนี้ ยังติดอันดับ 100 หนังสือยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษ จากอีกหลายสถาบัน รวมถึงการจัดอ้นดับที่ได้จากการโหวตโดยนักอ่านล้วนๆ

แน่นอน  ความดีงามของหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง หาได้ขึ้นอยู่กับการจัดอันดับ ไม่ว่าจะโดยสถาบันใดก็ตาม หากแต่ขึ้นอยู่กับคนที่หยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาอ่าน และพบว่าหนังสือได้สื่อสารกับเขาหรือเธอโดยตรง ได้พูดคุย ได้ตั้งคำถาม ทำให้เกิดการขบคิด หรือกระทั่งค้นพบความหมายบางสิ่งบางอย่าง

และหนังสือเรื่อง ‘เพื่อนคนเก่ง’ ทำให้ผม (เชื่อว่าทุกคนที่ได้อ่านก็น่าจะ) ได้ฉุกคิดถึงอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้หญิง ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ความแตกต่างของภาษา (ภาษากลางและภาษาท้องถิ่น) ที่สะท้อนถึงความแตกต่างทางชนชั้น ปัญหาเศรษฐกิจ ที่กลายเป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตของคนในชุมชน และมิตรภาพอันแสนซับซ้อน ที่มีทั้งความรัก ความห่วงใย ความหวัง และความอิจฉาริษยา ผสมปนเปกัน

เซ็ตติ้งของเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นในย่านชานเมืองเนเปิลส์ (หรือที่ในภาษาอิตาลีเรียกว่า นาโปลี) ในยุคทศวรรษ 1950 เต็มไปด้วยตัวละครมากมายจนคนอ่านต้องเปิดดูหน้าดัชนีรายชื่อตัวละคร เพื่อจะได้รู้ว่าใครมาจากครอบครัวไหน มีบทบาทและความสัมพันธ์กันอย่างไร

แต่ตัวละครที่สำคัญที่สุดของเรื่อง มีอยู่ 2 คน คือ เอเลนา เกรโค หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า เลนุชชา หรือไม่ก็ เลนู ซึ่งในบทความนี้ ผมขอเรียกว่า ‘เอเลนา’ และ รัฟฟาแอลลา เชรุลโล ซึ่งเพื่อนๆ เรียกว่า ลีนา ยกเว้นแต่เอเลนา ที่เรียกเธอว่า ลิลา ซึ่งผมก็จะเรียกเธอว่า ‘ลิลา’ ตามคำเรียกของเอเลนา

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เป็นการบรรยายผ่านปากของเอเลนา ทำให้เราได้รับรู้และเข้าใจความคิด ความรู้สึก และมองโลกด้วยสายตาของเธอเป็นหลัก ขณะที่ลิลา กลายเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยความลับ ความคลุมเครือ จนบางครั้งก็ยากจะเข้าใจได้ว่า เธอกำลังคิดอะไรอยู่

เอเลนาและลิลา รู้จักกันตั้งแต่ชั้นประถม เอเลนา เป็นเด็กเรียนเก่ง และเป็นคนโปรดของครูโอลิเวียโร ขณะที่ลิลา ได้ชื่อว่า เด็กที่ร้ายที่สุดในห้อง ร้ายโดยไม่ต้องทำลับหลังครูเหมือนเด็กคนอื่น เธอเอากระดาษซับหมึกจนชุ่มแล้วขว้างใส่เพื่อนทุกคน เธอเป็นเด็กผู้หญิงคนเดียวที่หยิบก้อนหินขว้างใส่เด็กผู้ชาย เพื่อเอาคืนที่ถูกพวกนั้นขว้างก้อนหินใส่ก่อน ขณะที่เด็กผู้หญิงคนอื่นได้แต่ร้องกรี๊ดและวิ่งหนีไป

หลังจากนั้น ทุกคนก็ได้รู้ว่า นอกจากจะเป็นเด็กผู้หญิงที่ร้ายกาจแล้ว ลิลายังเป็นเด็กฉลาดอีกด้วย เธอเรียนเก่งไม่แพ้เอเลนา อาจจะเก่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะหลายๆ อย่างที่เธอรู้ มาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ลิลาสามารถอ่านหนังสือออกตั้งแต่อายุเพียงสามขวบ ยังไม่ทันเข้าโรงเรียน ซึ่งต่อมาในช่วงกลางๆ เรื่อง เธอยังแสดงความเก่งของเธอออกมาให้เห็น ด้วยการเรียนรู้ภาษาละตินและกรีกด้วยตัวเอง จากการยืมหนังสือในห้องสมุดมาอ่านเอง

ความเก่งกาจและความร้ายกาจ ยิ่งทำให้ทุกคนเกลียดลิลา ในความรู้สึกของเด็กทุกคน ลิลาเก่งเกินไป จนไม่มีใครก้าวตามทัน หากจะมีใครสักคนที่อาจเข้าใกล้เธอได้ ก็คือ เอเลนา

เอเลนาและลิลา เป็นเหมือนขั้วที่ตรงข้ามกัน คนหนึ่งคือเด็กดีเป็นที่รักของทุกคน อีกคนหนึ่งคือเด็กร้ายกาจที่ไม่มีใครอยากคบด้วย ทว่าความแตกต่างอย่างสุดขั้ว ค่อยๆ ดึงดูดทั้งคู่เข้าหากัน โดยเฉพาะเอเลนา เธอค่อยๆ เลียนแบบหลายสิ่งหลายอย่างจากลิลาโดยไม่รู้ตัว ทั้งวิธีการเล่น วิธีการพูดจา หรืออาจจะรวมไปถึงความคิดอ่านหลายๆ อย่าง

ในเวลาไม่นาน เอเลนาและลิลาก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ทั้งคู่รักกันมากที่สุดเท่าที่เพื่อนจะรักกันได้ โดยเฉพาะเอเลนา ซึ่งเหมือนกับจะยึดเอาลิลาเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะในเรื่องความกล้าหาญและความมั่นใจในตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน ในใจเอเลนาก็มีความรู้สึกอิจฉาลิลามาโดยตลอด ทำให้ลิลาเป็นทั้งต้นแบบและคู่แข่งสำหรับเธอ แต่เป็นคู่แข่งที่เอเลนาได้แต่ทำใจยอมรับว่า คงไม่มีวันเอาชนะได้

แม้ว่าเอเลนาจะเป็นเด็กเรียนดี แต่เธอต้องใช้ความพยายามทุ่มเทอย่างเต็มที่กว่าจะไปถึงตรงนั้น ตรงข้ามกับลิลา ซึ่งไม่เคยสนใจเรียน ไม่เคยตั้งอกตั้งใจฟังครู แต่เธอกลับทำคะแนนได้สูงกว่าทุกคน ราวกับว่าเธอเกิดมาเพื่อเป็นคนเก่งอยู่แล้ว

“ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงทุ่มเทพลังเด็กทั้งหมดของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่งในชั้น ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เพื่อไม่ให้ร่วงไปอยู่ที่สาม ที่สี่ หรือที่โหล่ ฉันมุ่งมั่นตั้งใจเรียน และทำเรื่องยากๆ อีกหลายเรื่องที่ฉันไม่ได้สนใจเลย เพียงเพื่อจะตามเด็กผู้หญิงที่ร้ายกาจและเจิดจรัสคนนั้นให้ทัน”

มิตรภาพที่มีทั้งความรักและความอิจฉา ปรากฎให้เห็นอยู่ในหลายๆ ตอนของหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่นของเอเลนาและลิลา ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้ เป็นสิ่งที่พบได้ในชีวิตจริง และที่สำคัญ ความอิจฉาที่เกิดขึ้น มักเป็นสาเหตุที่ทำให้มิตรภาพนั้นต้องจืดจาง หรืออาจถึงขั้นจบลงได้

ในทางวิชาการ สาเหตุที่ทำให้ใครคนหนึ่งเกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาเพื่อนรักของตัวเอง มาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ

หนึ่ง การแข่งขัน ทั้งทางด้านการเรียน ความสำเร็จ และความรัก แน่นอน การแข่งขันย่อมนำไปสู่การเปรียบเทียบว่า ฝ่ายหนึ่งดีกว่า เก่งกว่า น่าชื่นชมมากกว่า

เอเลนาและลิลา ถูกจับมาประชันขันแข่งหลายต่อหลายครั้ง ทั้งโดยตั้งใจ (การจัดแข่งวัดผลระหว่างเด็กต่างชั้น) และไม่ได้ตั้งใจ (การได้รับคำชมจากครูโอลิเวียโร) และนั่นอาจเป็นเหตุผลทำให้เอเลนา เกิดความรู้สึกว่า ลิลา คือคู่แข่งของเธอ ทั้งในเรื่องการเรียนและเรื่องส่วนตัว

สอง การเปลี่ยนแปลงของสถานะ ไม่ว่าจะเป็นการมีแฟน ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนสถานะจากเด็กไปสู่วัยรุ่น หรือการได้งาน ที่แสดงถึงสถานะของผู้ใหญ่ ที่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการเปรียบเทียบและนำไปสู่ความรู้สึกอิจฉาได้เช่นกัน

ในช่วงกลางๆ ของเรื่อง เอเลนา ที่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายตามหลังลิลามาโดยตลอด เริ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า เมื่อตอนที่เธอเริ่มมีประจำเดือน มีหน้าอก เริ่มเข้าสู่วัยสาว ขณะที่ลิลายังเป็นเด็กผอมแห้ง และไม่เคยมีเด็กผู้ชายคนไหนเอ่ยปากขอเป็นแฟนด้วยเลย

สาม ความไม่มั่นใจในตัวเอง หรือการเห็นคุณค่าของตัวเองในระดับต่ำ (low self-esteem) ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉามากขึ้น เมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับเพื่อนที่เก่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นการถูกนำไปเปรียบเทียบโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ

เอเลนา เป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะเธอรู้สึกว่าครอบครัวของเธอเอง โดยเฉพาะแม่มีรูปลักษณ์ที่ไม่สวยงาม (แม่ของเธอเป็นคนพิการขาเสียข้างหนึ่ง) อีกทั้งยังเป็นคนที่มักจะทำอะไรเปิ่นๆ เชยๆ ทำให้เธอเกิดความอับอาย เมื่อถึงวันที่ผู้ปกครองต้องไปพบเจอครูที่โรงเรียน

แม้ว่าเอเลนาจะได้ความรักจากพ่อและน้องๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกภูมิใจตัวเอง เหมือนเวลาที่ได้รับคำชมจากครู และเพื่อนๆ ที่โรงเรียน

“ฉันรู้สึกว่าโรงเรียนสวยงามกว่าบ้านหลายเท่า เป็นสถานที่ซึ่งฉันรู้สึกปลอดภัยมากกว่าที่ไหนๆ ในชุมชน… ฉันชอบที่ครูชอบฉัน ชอบที่ทุกคนชอบฉัน… ที่บ้าน ฉันเป็นส่วนเกินในชีวิตแม่ ฉันไม่น่ารักสำหรับแม่ แม่เองก็ไม่น่ารักสำหรับฉัน”

สถานะคนโปรดของครูโอลิเวียโร ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเอเลนา เริ่มสั่นคลอน เมื่อครูพบว่า จริงๆ แล้ว ลิลาเป็นเด็กฉลาดกว่าทุกคนในห้อง แต่พอจบชั้นประถม สถานการณ์กลับเปลี่ยนไป เอเลนากลับมาเป็นคนโปรดของครูอีกครั้ง เพราะครอบครัวของเธอตัดสินใจส่งเธอเรียนต่อชั้นมัธยม ภายใต้การผลักดันและโน้มน้าวโดยครูโอลิเวียโร ขณะที่ทางบ้านของลิลา ไม่ยอมให้เธอได้เรียนต่อ เพราะต้องการให้เธอทำงานช่วยครอบครัว ซึ่งนั่นทำให้ลิลาตกจากสถานะคนโปรดของครูในทันที

ครูโอลิเวียโร เคยถามเอเลนาว่า รู้มั้ยว่าไพร่คืออะไร ก่อนจะพูดต่อว่า ไพร่คือสิ่งที่น่ารังเกียจมาก

“ถ้าใครอยากเป็นไพร่อยู่ต่อไป เขา ลูกๆ ของเขา และลูกของลูกเขา ก็ไม่มีค่าอะไรเลย” ครูโอลิเวียโร ตั้งใจพูดกระทบลิลา เพราะในความคิดของครู การศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยให้เด็กๆ ในครอบครัวคนยากจน หลุดพ้นจากวังวนชีวิตของชนชั้นล่างได้

คำพูดของครูโอลิเวียโร อาจจะรุนแรงและหยาบคาย แต่สารที่อยู่ในคำพูดนั้น คื ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ การศึกษาคือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่ง ถีบตัวขึ้นจากฐานะที่ยากจนข้นแค้นได้

ถึงอย่างนั้น การศึกษาก็ไม่ใช่หนทางเดียวที่พาให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จในการยกระดับสถานะของตัวเอง ความฉลาดของลิลาทำให้เธอรู้ว่า ในการจะหลุดพ้นจากความยากจน (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความฝันของเด็กๆทุกคนในเรื่อง) ไม่จำเป็นต้องอาศัยการเรียนต่อเสมอไป แต่ยังมีหนทางอื่นอีกหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ ทั้งโดยสุจริตและทุจริต หรือแม้กระทั่งการแต่งงานกับคนรวยๆ สักคน

เรื่องราวของเอเลนาและลิลาในช่วงวัยรุ่น เป็นเหมือนเส้นทางสองเส้นที่ขนานกัน แต่ก็มุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน เอเลนาค่อยๆ ค้นพบตัวเองว่า เธอสามารถประสบความสำเร็จ เป็นเด็กที่เรียนเก่งที่สุดได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีลิลาเป็นต้นแบบหรือเป็นคู่แข่ง ขณะที่ลิลาเองก็ค้นพบตัวเองว่า ถึงเธอจะยังเป็นคนใจร้ายเหมือนตอนวัยเด็ก แต่ด้วยความสวย และเสน่ห์ในตัว ทำให้เธอเป็นคนใจร้ายๆ ที่มีคนหมายปองได้เช่นกัน

แน่นอนว่า นิยายเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือสอนศีลธรรมที่มาพร้อมคำเทศนาว่า จงทำดีแล้วจะได้ดี หรือ จงขยันหมั่นศึกษาเพื่อนำพาชีวิตสู่ความสำเร็จ หากเป็นเหมือนบันทึกชีวิตของคนสองคน ที่เลือกเดินบนเส้นทางที่ต่างกัน เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันที่เรียกว่า ‘ความสำเร็จ’ และถึงแม้จะเป็นเส้นทางที่ต่างกัน แต่ก็มีสิ่งที่ดึงให้เส้นทางทั้งสองกลับมาบรรจบกันเป็นระยะๆ

สิ่งนั้นก็คือ มิตรภาพของเอเลนาและลิลา มิตรภาพที่อาจจะไม่ได้รักกันหวานชื่นตลอดเวลา หากแต่มีทั้งความรักและความอิจฉาปะปนกัน แต่ถึงกระนั้น ก็เป็นมิตรภาพที่แสนมั่นคงและยืนยาว

Tags:

ความสัมพันธ์เพื่อนมิตรภาพการแข่งขันเพื่อนคนเก่งหนังสือ

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Book
    เพื่อนยาก: ความผูกพัน ความฝัน ความรับผิดชอบและการจากลาชั่วนิรันด์ในนาม ‘มิตรภาพ’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ความโดดเดี่ยวของจำนวนเฉพาะ: เมื่อโจทย์ของชีวิต ซับซ้อนกว่าปัญหาคณิตศาสตร์

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • lonely-cover (1)
    Book
    คุณไม่จำเป็นต้องสูญเสียความเป็นตัวเองเพื่อใคร: ถึงฉันจะโดดเดี่ยว แต่ก็ยังอยากอยู่คนเดียวอยู่ดี

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    Normal People: จะรวยหรือจน…ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    อ่านอะไรดีช่วงสิ้นปี ปีที่สุดปังและเปลี่ยนผ่าน ของขวัญจากคอลัมนิสต์ The Potential2020

    เรื่อง The Potential

‘ห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง’ พื้นที่แห่งความรักที่โอบรับทุกความแตกต่าง การเรียนรู้เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของเด็กพิเศษ
Creative learning
26 February 2025

‘ห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง’ พื้นที่แห่งความรักที่โอบรับทุกความแตกต่าง การเรียนรู้เพื่อปลดปล่อยศักยภาพของเด็กพิเศษ

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างคือห้องเรียนที่จัดการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนชั้นป.1 ถึง ม.3 ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง จังหวัดขอนแก่น
  • จุดเด่นของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างคือการจัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดของนักเรียนเป็นรายบุคคล ควบคู่ไปกับการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมทักษะด้านการปรับตัว อยู่รอด และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความหมาย
  • “การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องช่วยกันทั้งหมดค่ะ ยิ่งครู คุณหมอ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องทำงานหนักด้วยกันพอสมควร ที่ครอบครัวขอบฟ้ากว้าง เราจะเดินไปด้วยกัน มีอะไรเราก็จะจูงมือกันเพื่อไปให้ถึงปลายทางคือการที่เด็กของเราพัฒนาขึ้นและอยู่รอดได้ในสังคม”

ว่ากันว่า ‘การศึกษาคือกุญแจสำคัญในการพัฒนามนุษย์’ แต่ในโลกใบเล็กอย่างโรงเรียน ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะกับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ พวกเขามักเป็นตัวละคร(ไม่)ลับที่ถูกมองข้าม น่าเศร้าไปกว่านั้นคือครูและเพื่อนยังตีตราว่าเป็นภาระของห้องเรียน ส่งผลให้เด็กๆ เหล่านี้ต้องดิ้นรนกับระบบการศึกษาที่ไม่สนับสนุนและพยายามเข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง  

แต่ท่ามกลางข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ยังมีครูจำนวนหนึ่งที่มองเห็นศักยภาพของเด็กเหล่านี้ และเลือกที่จะเป็นผู้สร้างโอกาส แทนการเป็นผู้ปิดกั้นและทำลายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นทางเลือกที่ง่ายดายกว่ามาก 

The Potential ชวน ‘ครูมล’ สุมลทา หลอดสว่าง หัวหน้าสายชั้นขอบฟ้ากว้าง และ ‘ครูวิช’ ทวิช ตรีสูน ครูชำนาญการ โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง จังหวัดขอนแก่น มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวของ ‘ห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง’ พื้นที่การเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อโอบรับความแตกต่างหลากหลายและเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ถึงแนวคิดและแนวทางการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับโลกภายนอก พร้อมดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีศักดิ์ศรี

‘ครูวิช’ ทวิช ตรีสูน และ ‘ครูมล’ สุมลทา หลอดสว่าง

ก่อนอื่นอยากให้คุณครูเล่าถึงที่มาของห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง

ครูมล: เดิมทีก่อนจะมาเป็นห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง เรามีห้องม.3/8 ซึ่งเป็นห้องของเด็กปกติที่ติด 0 ติด ร.  ซึ่งทาง ผอ.สายชล สิงห์สุวรรณ (ผู้อำนวยการโรงเรียนขณะนั้น และผู้ริเริ่มห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิขอบฟ้ากว้าง) มองว่าจะต้องหาที่ทางให้เด็กกลุ่มนี้มารวมกันเพื่อจัดกิจกรรมหรือช่วยให้เด็กเขาได้จบตามเกณฑ์ เลยจัดเป็นห้อง 3/8 

ทีนี้พอนานไปก็มีเด็กที่มีปัญหาการเรียนซึ่งส่วนมากจะเป็นเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ เลยเปลี่ยนเป็นห้องที่จัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เช่น เด็กที่มีภาวะ LD (ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ที่มีปัญหาอ่านเขียนหรือคิดคำนวณ) ออทิสติก สมาธิสั้น ฯลฯ ก็เลยมาเป็นโครงการกิจกรรมห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง ซึ่งเราจะมีเด็กตั้งแต่ป.1 ไปจนถึงม.3  เพื่อที่จะดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้เขาได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนอื่น 

การจัดการเรียนการสอนสำหรับห้องเรียนแบบคละชั้นที่มีตั้งแต่ ป.1 ถึงม.3 คุณครูทำอย่างไรครับ

ครูมล: เฉพาะเวลาทำกิจกรรมค่ะ แต่เวลาเรียนวิชาการเราจะจับแยก คือเด็กประถมอยู่ห้องหนึ่ง มัธยมก็จะอยู่อีกห้องหนึ่ง แต่ถ้าผู้ปกครองอยากจะให้ขึ้นไปเรียนกับห้องปกติ เราก็สามารถที่จะนำเด็กขึ้นไปเรียนได้ ซึ่งส่วนมากเด็กที่ลงมาแล้วก็ไม่อยากกลับขึ้นไป เพราะว่าเด็กของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างไม่ได้รับจากข้างนอกอย่างเดียว แต่คัดจากห้องเรียนปกติในโรงเรียนด้วย บางคนพอเขาเข้ามาเรียนแล้วเรียนไม่ได้ เขาก็จะมาเรียนที่นี่

ครูวิช: ในการคัดเลือกเด็ก เราจะทำงานเป็นเครือข่าย มีครู หมอ พ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งเด็กที่มาอยู่ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างจะต้องผ่านการประเมินและวินิจฉัยจากคุณหมอมาก่อนว่าเป็นเด็กกลุ่มประเภทไหน ออกมาเป็นใบรับรองคนพิการเรียบร้อยจึงจะเข้ามาอยู่ พอเข้ามาอยู่ในห้องเรียนขอบฟ้ากว้างก็จะมีการประเมินคัดแยกอีกครั้งหนึ่ง ว่าเด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการประมาณไหน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาในระบบของโรงเรียนเรา และง่ายต่อการจัดการเรียนการสอน 

ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างทำมากี่ปีแล้ว ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง 

ครูมล: ปีนี้น่าจะ 14 ปีแล้วนะคะ เราเริ่มต้นกิจกรรมโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2553 ผลตอบรับดีมากค่ะ เพราะโรงเรียนอื่นในสังกัดเทศบาลนครขอนแก่นก็จะส่งเด็กๆ มาที่นี่ด้วย คือเราจะให้สิทธิเด็กที่อยู่เทศบาลก่อนถึงจะรับเด็กที่มาจากนอกเขต อย่างปีนี้เด็กๆ มี 39 คน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วครูเรามีแค่ 5 คน ถามว่าพอไหม มันก็ไม่พอ คือเราอยากจะรับมากกว่านี้ แต่ด้วยจำนวนครูและสถานที่ทำให้เรารับได้แค่นี้ 

ทางโรงเรียนได้รับการซัปพอร์ตจากหน่วยงานต่างๆ บ้างไหมครับ

ครูมล : ต้นสังกัดคือเทศบาลนครขอนแก่นจะสนับสนุนการจัดกิจกรรมให้กับห้องเรียนขอบฟ้ากว้างปีละ 300,000 บาท เราก็เอามาจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ อย่างเช่น กิจกรรมศิลปะบำบัด ซึ่งเด็กของเราเขาต้องอาศัยเรื่องศิลปะในการบำบัดจิตใจของเขา เขาจะนิ่งถ้าได้อยู่กับงานศิลปะ แล้วก็มีกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการ กิจกรรมอบรมทักษะอาชีพ ตรงนี้เราจะมีวิทยากรมาให้ เช่น ทำอาหาร ทำขนม หรือทำอะไรที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคต หรือจะเป็นกิจกรรมชีวิตในธรรมชาติที่พาเด็กๆ ออกไปเรียนรู้การใช้ชีวิตข้างนอกโรงเรียนค่ะ

ครูที่มาสอนเด็กๆ กลุ่มนี้ต้องมีคุณสมบัติหรือผ่านเกณฑ์การคัดเลือกอย่างไร

ครูมล: อย่างครูกับครูรุ้งที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2553 ตอนนั้นเราต้องผ่านการอบรมจากหลายๆ ที่ จิตตปัญญา มอนเตสเซอรี หรือสถานที่อบรมต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ก็เลยได้มาอยู่ตรงนี้ แต่หลังจากนั้นส่วนมากต้องเป็นครูที่จบการศึกษาด้านนี้โดยตรง

ครูวิช: ที่สำคัญคือครูจะต้องมีความรักความเอาใจใส่เด็ก เราจะอยู่กับเด็กทั้งวันจนส่งถึงมือผู้ปกครองเลย 

อะไรคือความแตกต่างในการออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรมสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

ครูวิช: เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความแตกต่างจากเด็กปกติ มีเอกลักษณ์ มีความน่ารัก ถ้ามี 10 คน ก็จะมี 10 แบบ แล้วความสามารถพิเศษของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน พอเป็นแบบนี้ศักยภาพก็ต่างกันครับ ดังนั้นเราจะมีการจัดการแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลให้กับเขา เป็นหลักสูตรเฉพาะบุคคลซึ่งเราก็มีการวางแผนก่อนที่เด็กจะเริ่มเรียนในแต่ละปีการศึกษา โดยในการประชุมผู้ปกครองเราจะวางแผนร่วมกันว่าปีนี้จะพัฒนาเขาในเรื่องไหนบ้างตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน ส่วนกิจกรรมก็จะมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ งานประดิษฐ์ งานอาชีพ หรือวิชาการครับ ซึ่งเราจะหาพื้นที่ให้เด็กๆ กลุ่มนี้ได้พัฒนา โดยดึงเครือข่าย เช่น มูลนิธิขอบฟ้ากว้าง ผู้ปกครอง หรือภาคีเครือข่ายในจังหวัดขอนแก่นเข้ามาช่วยจัดกิจกรรม 

ครูมล: อย่างครูมลเคยสอนกลุ่มเด็กปกติซึ่งจะไม่เหมือนกัน เด็กปกติสอน 1 ชั่วโมงแล้วก็ไปทำงานอื่นต่อ ไม่ได้คลุกคลีอะไรขนาดนั้น แต่อันนี้เราอยู่กับเด็กทั้งวัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือความอดทนของครูที่อยู่กับเด็กกลุ่มนี้ก็จะมีมากขึ้น เพราะเรายอมรับว่าเขาเป็นแบบนี้แหละ เรามีหน้าที่คอยเติม จะไม่ไปเร่งหรือคาดหวังอะไรมาก 

อย่างผู้ปกครองบางคนอาจมีความคาดหวังว่ามาอยู่ที่นี่แต่ละวันจะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้ค่ะ เราต้องเข้าใจว่าเขาเป็นแบบนี้ เราต้องค่อยเป็นค่อยไป การยอมรับถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ครูวิช: แล้วเด็กแต่ละวันก็จะไม่เหมือนกันอีก ทั้งในเรื่องอารมณ์และพฤติกรรม วันนี้อาจจะสงบ แต่พรุ่งนี้ก็อาจจะส่งเสียงทั้งวัน บางคนเล่นกับครูบ้าง ตีครูบ้างในลักษณะเล่นแต่เล่นแรงไปหน่อย ที่สำคัญเนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีหลายประเภท มันเลยเป็นความท้าทายให้กับคุณครูเพราะว่าต้องมีการรับมือตลอด บางทีวางแผนมาแบบนี้ แต่เวลาจัดกิจกรรมอาจต้องยืดหยุ่นเป็นอีกแบบ

ครูมล: แต่มันก็ไม่มีบทเรียนสำเร็จรูปสำหรับเรานะคะ ทุกวันเราต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หมายถึงว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาก็สอนครู เด็กก็เป็นครูให้กับครูด้วย ให้เราได้ปรับได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

เป้าหมายของการจัดกิจกรรมหรือพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้คืออะไรครับ

ครูมล: เป้าหมายที่เราวางไว้กับผู้ปกครองคือการที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ค่ะ เพราะบางคนยังไม่สามารถเข้าห้องน้ำเองได้ กินข้าวเองได้ และมีเรื่องอื่นๆ คือ ทักษะชีวิต ทักษะในการอยู่รอด อยู่ร่วมและอยู่อย่างมีความหมาย อันนี้สำคัญ 

อยู่รอดก็คือต้องเอาชีวิตรอด ถ้าเกิดว่าไม่มีใครดูแลเขา เขาต้องสามารถดูแลตัวเองได้ อย่างเราจะพาเด็กออกไปเข้าค่ายคือฝึกให้เขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น

ครูวิช: ในส่วนของวิชาการนั้น หลักๆ ที่ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างจะเน้นคือพื้นฐานทางด้านภาษาไทยและคณิตศาสตร์ครับ เพื่อเป็นทักษะพื้นฐานที่จะต่อยอดในระดับสูงต่อไป ภาษาไทยต้องอ่านออกเขียนได้ คณิตศาสตร์ต้องรู้จักตัวเลขและการบวกลบเลข แล้วพอแต่ละคนมีศักยภาพต่างกัน ถ้าเราเห็นแววว่าคนนี้สามารถเรียนต่อได้ เราก็จะส่งเสริมตรงจุดที่เขามีความพร้อมอยู่แล้ว 

ตอนนี้เด็กในห้องเรียนขอบฟ้ากว้างส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษด้านไหน

ครูวิช: จะเป็นกลุ่มสมาธิสั้น เพราะว่าจอสี่เหลี่ยมครับ เหมือนพอเด็กเกิดมาปุ๊บ เขาเจอเลยครับ ผู้ปกครองก็จะเอาแต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตยื่นให้ มันมีความเข้าใจผิดว่าเด็กจะนิ่งและอยู่ได้นาน ผู้ปกครองเองก็จะได้ไปทำงานอื่น คือให้ดูได้ครับแต่ไม่ดูนาน แต่ผู้ปกครองยุคปัจจุบันนี้ให้ลูกดูนานๆ เลยครับ

พอเด็กมีความหลากหลาย บางคนเรียนรู้เร็ว บางคนเรียนรู้ช้า ครูมีเทคนิคอย่างไรที่จะพาพวกเขาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ครูวิช: สมมติว่าเราจัดกิจกรรมในห้องเรียน แล้วมีเด็กที่ไม่นิ่ง วิ่งไปวิ่งมา คุณครูจะพยายามหาพื้นที่ให้เขาไม่มารบกวนคนอื่นให้เสียสมาธิ โดยการพาเด็กแยกออกไปปรับพฤติกรรม ผ่านการหากิจกรรมเพื่อดึงดูดให้เขาสนใจและมีสมาธิขึ้น คือละลายพฤติกรรมที่เขามี ลดแรงกระตุ้นภายในเขาก่อน แล้วพอเขานิ่งขึ้นค่อยมาส่งเข้ากิจกรรมในห้องเรียนที่จัดให้คราวนั้น อันนี้สำคัญครับ เขาต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้ได้ อนาคตเขาต้องออกสู่สังคมที่กว้างขึ้น ดังนั้นสังคมในระบบที่โรงเรียนจัดให้จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และปรับเรื่องอารมณ์และพฤติกรรม ให้เขามีความพร้อม 

และสำคัญที่สุดคือเราจะพยายามดึงผู้ปกครองเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนในเรื่องพฤติกรรมของเด็กในแต่ละวัน เพื่อเชื่อมโยงจากโรงเรียนสู่บ้าน การพัฒนาก็จะยั่งยืนและต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อเด็กๆ

 ‘ครูวิช’ ทวิช ตรีสูน

คุณครูมีแนวทางในการปรับพฤติกรรมเด็กอย่างไร ในส่วนของการให้รางวัลและการลงโทษมีอะไรที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษหรือไม่

ครูมล: เรื่องการให้รางวัลและการลงโทษมีผลนะคะ ถามว่าเราจัดการยังไงเวลาที่เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม บางคนทำร้ายครู ทำร้ายเพื่อน เราก็จะจับแยกออกมาแล้วบอกเลยว่าทำแบบนี้ไม่ได้ ต่อด้วยการพูดคุยกับผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองจะรับส่งลูกที่ห้องตลอด เราเลยได้คุยแลกเปลี่ยนกันว่าจะปรับพฤติกรรมยังไง บางทีก็ขอให้ไปปรึกษากับคุณหมอหน่อยว่าเราจะหาวิธีการช่วยเหลือเด็กๆ ยังไง เพื่อเป็นแนวทางในการปรับพฤติกรรมของเด็กๆ ได้เร็วค่ะ

ผู้ปกครองแต่ละคนคงมีความคาดหวังต่างกัน คุณครูมีวิธีอย่างไรในการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง

ครูมล: เรามีห้องเรียนพ่อแม่ ซึ่งจะคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในเรื่องการดูแลเด็ก เพราะผู้ปกครองบางคน เอาจริงๆ นะคะ ต้องเยียวยามากกว่าเด็กอีกค่ะ แต่เราก็เข้าใจว่าเขามีความคับข้องใจ ดังนั้นเวลาไปค่ายหรือประชุมผู้ปกครอง เราก็เลยทำงานกับผู้ปกครองหนักมาก เราจะคุยกับผู้ปกครองตลอด ต้องให้เขาเข้าใจยอมรับในตัวลูก อีกเรื่องคือเราจะมีเวลาให้ผู้ปกครองมาเจอกัน พอหัวอกเดียวกันคุยกันเข้าใจ ก็เลยเป็นการเยียวยาไปในตัว เขาจะเห็นว่าลูกคนนั้นเป็นแบบนั้นแต่ยังอยู่ได้เลย

ครูวิช: เรื่องนี้อาจใช้เวลานาน ผู้ปกครองบางคนดื้อรั้น แต่เราจะพยายามเชื่อมโยงให้กับครอบครัวอื่นที่เขาประสบผลสำเร็จแล้ว เพื่อเป็นแนวทางต้นแบบให้กับเขา ที่สำคัญคือ ให้พึ่งคุณหมอด้วยครับ ไม่ใช่มาโรงเรียนอย่างเดียวแล้วจะหาย เพราะเด็กที่นี่ส่วนมากต้องทานยา ต้องไปหาคุณหมอตามนัดถึงจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน 

ที่โรงเรียนนี้เด็กของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างได้รับการปฏิบัติอย่างไรบ้าง เขาอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ ได้ดีไหมครับ 

ครูมล: จุดเด่นของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างคือ เราจะพาลูกๆ ของเราไปร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น แม้แต่เวลาไปโรงอาหาร ไปซื้อของ เขาก็จะรู้ว่าการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต้องทำยังไง เขาต้องต่อแถวไหม แล้วก็มีบัดดี้ มีพี่ๆ ดูแลน้องไป มันก็เป็นภาพที่น่ารัก

ก่อนหน้านี้ เด็กปกติช่วงแรกเขาจะยังไม่ยอมรับนะ มีบางคนบอกว่าเด็กปัญญาอ่อน ซึ่งพอเราทำตรงนี้ไปเรื่อยๆ หลังๆ มานี้ พี่ๆ เขาเข้ามาช่วยคุณครูด้วยซ้ำ ถ้าเห็นน้องไปทำอะไรที่ไหน จะวิ่งมาบอกว่าคุณครูคะ เด็กห้องขอบฟ้ากว้างอยู่ตรงนั้นตรงนี้ บางคนช่วยตามน้องมาให้ บางคนซื้อขนมมาฝากน้องๆ อันนี้เป็นจุดแข็งที่เราอยู่ร่วมกับคนอื่น เป็นการสร้างสังคมการอยู่ร่วมเลยค่ะ  

ระหว่างการให้เด็กกลุ่มนี้เรียนในห้องเรียนร่วมกับเด็กปกติ กับเรียนแยกอย่างนี้แต่ยังอยู่ในโรงเรียนทั่วไป คุณครูว่ารูปแบบไหนจะดีกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากกว่ากัน

ครูมล: สำหรับครูคิดว่าอยู่แบบนี้ค่ะ เพราะเด็กหลายคนเขาบอบช้ำมาจากห้องเรียนปกติ พออยู่ห้องปกติโดนบูลลี่ว่าปัญญาอ่อน โดนล้อเลียนว่าเรียนไม่เก่ง และโดนทำร้ายมา มันเป็นภาพฝังใจที่ทำให้เขาไม่อยากกลับขึ้นไปเรียนห้องปกติแล้ว อยากอยู่ตรงนี้ค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับบางคนการเรียนตรงนี้ส่งเสริมให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนที่เขาอยู่ห้องปกติอาจเป็นเด็กหลังห้องไม่มีบทบาท แต่พอมาอยู่ตรงนี้เขาก็จะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเด็ก LD ที่บกพร่องทางการเรียนรู้ แต่อย่างอื่นเขาไม่เป็นอะไร เราก็จะส่งเสริมให้เขาเป็นผู้นำได้ เขาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองส่งเสริมความมั่นใจให้กับเขามากขึ้น คิดว่าถ้าอยู่แบบนี้พัฒนาการของเด็กๆ น่าจะดี

‘ครูมล’ สุมลทา หลอดสว่าง

ผลลัพธ์หลังจากเด็กๆ เข้ามาเรียนที่ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างเป็นอย่างไรบ้าง

ครูวิช: บางคนกินข้าวไม่เป็น เข้าห้องน้ำเองไม่ได้ พอมาตรงนี้สักพักเขาก็ทำได้ คุณครูก็ดีใจภูมิใจที่ได้เห็นพัฒนาการของเด็ก ส่วนที่จบไปแล้วบางคนเขามีผู้ปกครองที่มีพื้นฐานอาชีพอยู่ เขาก็สามารถต่อยอดในส่วนนั้นและประกอบอาชีพได้เลย

ครูมล: ส่วนเด็กที่เขาอยากเรียนต่อ ห้องเรียนขอบฟ้ากว้างจะส่งต่อไปที่ปัญญาภิวัฒน์ อาชีวะเทคนิคเกษตร บางคนตอนนี้ทำงานร้านสะดวกซื้อเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ บางคนไปเป็นเชฟ แต่ถ้าคนไหนที่ไม่สามารถเรียนต่อในระดับอื่นๆ ได้ เราก็มีเครือข่ายกศน. แล้วก็มีไปฝึกอาชีพ มีมูลนิธิต่างๆ ที่เขามีอาชีพให้กับเด็กๆ ด้วยค่ะ

พอเห็นเด็กๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น ความรู้สึกของครูเป็นอย่างไรครับ

ครูมล: ภูมิใจค่ะ ถ้าเด็กเราประสบความสำเร็จ มันก็เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงใจเรา พอเห็นแล้วมันทำให้เรามีพลังที่จะดูแลลูกๆ ต่อไป เพราะบางทีเราอยู่ตรงนี้มันท้อ แต่พอเรามีเด็กๆ ที่น่ารัก มีผู้ปกครองที่คอยซัปพอร์ตทางด้านจิตใจ ก็เลยเป็นพลังให้เราได้สู้ต่อ

ครูวิช: ภูมิใจที่เวลาศิษย์เก่ากลับมาเยี่ยมพร้อมความสำเร็จ แล้วก็มาเป็นแบบอย่างแชร์ประสบการณ์ให้กับน้องๆ น้องๆ พอเห็นเขาก็อยากเป็นเหมือนพี่

จากประสบการณ์ในการทำห้องเรียนขอบฟ้ากว้าง คุณครูมีคำแนะนำอะไรฝากไปถึงครูที่ต้องดูแลนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

ครูวิช: ขอแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า เราต้องยอมรับในตัวเด็ก ในความแตกต่างของเขา เขามีความสามารถมีศักยภาพอยู่แล้ว ขอแค่เวลาและให้โอกาส แล้วก็มีพื้นที่ที่ช่วยให้เขาเป็นที่ยอมรับและสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้เรื่องการศึกษา อยากขอโอกาสให้กับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ เรื่องสังคม หรือเรื่องอาชีพ เพราะว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและเตรียมความพร้อม แต่ถ้าเมื่อใดมีพื้นที่และโอกาสให้กับเขา ผมเชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถสร้างสรรค์ความสดใสน่ารัก สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข และสามารถประกอบอาชีพหรือแสดงศักยภาพที่เขามีให้สังคมได้รับรู้ 

อยากขอให้ทุกท่านให้ความรักความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ แล้วก็ให้กำลังใจกับเด็กกลุ่มนี้ครับ

จากที่ครูมลเคยเป็นครูสอนเด็กปกติมาก่อน พอมาทำงานกับเด็กกลุ่มนี้แล้ว หัวใจความเป็นครูมันบอกอะไรกับเราบ้าง

ครูมล: เมื่อก่อนเราก็จะสอนเด็กปกติ จบคาบไปแล้วก็สบายอยู่นะคะ สอนวันหนึ่งอย่างมากก็ 4 ถึง 5 ชั่วโมง แต่พอมาอยู่ตรงนี้คือเราได้อยู่กับเด็กทั้งวัน แล้วก็ต้องดูแลเขาทุกสิ่งทุกอย่างเลยนะคะ มันมีอะไรหลายอย่างข้างในที่อยากจะบอกเล่าว่าการเป็นครูมันจะต้องมีใจ ต้องมาด้วยใจที่สุดเลยนะคะ เพราะความรู้ทุกอย่างนั้น ทุกคนสามารถที่จะมีได้อยู่แล้ว แต่ความเมตตาในใจของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะทำให้เราอยู่กับเขาได้ ต้องมีความเมตตาให้เขา มันจึงเกิดความรักความอบอุ่น เกิดความชุ่มชื่นหัวใจที่จะดูแลเขา เท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถดูแลลูกๆ ของเราได้

สำหรับห้องนี้นะคะ เด็ก 39 คน ก็มีความแตกต่าง 39 แบบ ผู้ปกครองก็ไม่ได้เหมือนกัน ในความแตกต่างตรงนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้ในส่วนของเราไปด้วย ได้เรียนรู้ได้พยายามที่จะทำให้ทุกๆ วันเป็นวันที่อยู่ร่วมกันของขอบฟ้า 

คือเราจะใช้คำว่า ‘ครอบครัวของฟ้ากว้าง’ วิถีของเราคือการดูแลเอาใจใส่กันแบบครอบครัว 

ชื่อของห้องเรียนขอบฟ้ากว้างถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายแบบไหน

ครูวิช: หมายถึงความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุด

ครูมล: ไม่มีที่สิ้นสุด ขอบฟ้ากว้างคือขอบฟ้าที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่มีกำแพงกีดกันข้อจำกัดด้านความแตกต่าง ทุกคนจะมารวมกันอยู่ตรงนี้ เป็นครอบครัวแห่งความสุข นอกจากครู ผู้ปกครองเขาก็ดูแลกัน เขาจะไม่รักเฉพาะลูกของเขา เขาจะรักลูกๆ ทุกคนเช่นกัน

นึกถึงประโยคที่บอกว่า เลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน คุณครูมีมุมมองอย่างไรครับ

ครูมล: การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องช่วยกันทั้งหมดค่ะ ครู คุณหมอ พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องทำงานหนักด้วยกันพอสมควร ที่ครอบครัวขอบฟ้ากว้าง เราจะเดินไปด้วยกัน มีอะไรเราก็จะจูงมือกันเพื่อไปให้ถึงปลายทางคือการที่ลูกของเราพัฒนาขึ้นและอยู่รอดได้ในสังคม

Tags:

เด็กพิเศษความเอาใจใส่การปรับตัวการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่นห้องเรียนขอบฟ้ากว้างโรงเรียนเทศบาลวัดกลางแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลครูทักษะชีวิต

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Movie
    Freedom Writers: ครูผู้ชวนเด็กๆ ขีดเขียนชีวิตในแบบของตัวเอง ด้วยความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิมีชีวิตที่ดี

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • heart&how
    Social Issues
    Heart & How สร้างพื้นที่ปลอดภัย กู้ ‘ใจ’ วัยเรียน 

    เรื่อง The Potential

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 6. คุณค่าของปฏิสัมพันธ์

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    ย่อยของยาก ซอยเป้าหมายให้ง่าย ครูช่วยได้ด้วย SCAFFOLDING

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

  • 21st Century skills
    คำถามสำคัญกว่า ควรมีการบ้านหรือไม่ คือ มีการบ้านไปเพื่ออะไร

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

A Real Pain: ความเจ็บปวดที่แท้จริงคือสิ่งที่ที่กดไว้จนบาดลึกอยู่ในใจ
Movie
21 February 2025

A Real Pain: ความเจ็บปวดที่แท้จริงคือสิ่งที่ที่กดไว้จนบาดลึกอยู่ในใจ

เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • A Real Pain เป็นภาพยนตร์ดรามาสัญชาติอเมริกัน บอกเล่าเรื่องราวของลูกพี่ลูกน้องที่เคยสนิทกันอย่าง เดวิด กับ เบนจี้ ที่กลับมาใช้ชีวิตด้วยกันสั้นๆ อีกครั้งผ่านการไปทัวร์ท่องเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโปแลนด์
  • ภาพยนตร์นำผู้ชมเข้าไปสำรวจจิตใจของเดวิดและเบนจี้ที่ต่างมีปมความเจ็บปวดในอดีต รวมถึงวิธีการจัดการความเจ็บปวดในมุมที่ต่างกัน ผ่านสถานที่และประวัติศาสตร์ซึ่งกระตุ้นความรู้สึกที่ซ่อนในใจให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนบท กำกับ และนำแสดงโดย เจสซี ไอเซนเบิร์ก ได้เข้าชิง 2 รางวัลออสการ์ปี 2025 ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (คีแรน คัลกิ้น ผู้รับบท เบนจี้)

เราต่างเคยผ่านความเจ็บปวด อาจกำลังเจ็บปวด หรือหวาดกลัวความเจ็บปวดที่จะต้องเผชิญในสักวันหนึ่ง…

แม้จะรับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของความรู้สึกเช่นนั้น แต่หลายครั้งเรากลับไม่สามารถเห็นอกเห็นใจคนอื่น เพราะเผลอไปกะเกณฑ์เปรียบเทียบน้ำหนักความเจ็บปวดด้วยอคติ ทั้งอคติเข้าข้างตัวเอง อคติทางชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรม 

เช่นเดียวกับ สองหนุ่มลูกพี่ลูกน้องในภาพยนตร์ A Real Pain ที่ต่างซ่อนความเจ็บปวดภายใต้บุคลิกภาพอันแตกต่าง โดยมีฉากหลังเป็นความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่บรรพบุรุษชาวยิวต้องเผชิญ

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]

A Real Pain เป็นผลงานของ เจสซี ไอเซนเบิร์ก ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักแสดงเขียนบทและกำกับ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เดวิด’ (รับบทโดย ไอเซนเบิร์ก) พนักงานขายโฆษณาออนไลน์ที่เคร่งครัด เขาใช้ชีวิตกับภรรยาและลูกสาวในสหรัฐอเมริกา ส่วน ‘เบนจี้’ (รับบทโดย เคียแรน คัลกิน) ดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีงานทำและไม่มีครอบครัว ทั้งสองเคยใช้ชีวิตในวัยเด็กด้วยกัน และได้กลับมาเจอกันอีกครั้งหลังจากคุณยายผู้เป็นที่รักเสียชีวิต เพื่อร่วมทัวร์สถานที่ประวัติศาสตร์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในโปแลนด์ โดยมีบ้านเก่าของคุณยายเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้าย

เช่นเดียวกับผู้คนที่เราได้พบเจอในชีวิตจริง ฉากแรกๆ คือการทำความรู้จักทั้งเดวิดและเบนจี้ ที่ชวนให้ผมคิดไปว่าเบนจี้น่าจะเป็นคนสบายๆ มีอารมณ์ขันและชอบความท้าทาย ส่วนเดวิดค่อนข้างเคร่งเครียด ขี้กังวลและจริงจังกับชีวิต ซึ่งผมเดาไว้ล่วงหน้าว่า A Real Pain น่าจะค่อยๆ เผยความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังชีวิตที่มีพร้อมทั้งการงานและครอบครัวของ ‘เดวิด’

แต่หลังจากการเดินทางย้อนประวัติศาสตร์บาดแผลของชาวยิวผ่านไปได้สักพัก ภาพยนตร์กลับเปิดเผยให้เห็นบาดแผลที่ซ่อนอยู่ภายใต้บุคลิกที่เต็มไปด้วยสีสันของ ‘เบนจี้’

เช่นในฉากที่ลูกทัวร์ได้นั่งรถไฟชั้นหนึ่งหลังเดินทางไปเยี่ยมชมค่ายกักกัน ซึ่งที่นั่นพวกเขาได้ย้อนภาพความโหดร้ายผ่านการชมสถานที่รมแก๊สบรรพบุรุษชาวยิว

เบนจี้แสดงความเจ็บปวดและตะโกนใส่คนอื่นๆ ว่า “เพื่อน เราเป็นชาวยิวบนรถไฟในโปแลนด์ ลองคิดดูสิ … ไม่มีใครเห็นความตลกร้ายที่นี่บ้างเหรอ? เช่น การกินอาหารหรูๆ แล้วนั่งตรงนี้ ในขณะที่ 80 ปีก่อน เราถูกต้อนไปอยู่หลังสัตว์นรกเหล่านี้เหมือนวัวเลย”

ฉากนี้เองที่ผมรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดและพังทลายที่ซ่อนอยู่ในท่าทีไม่สนโลกของเบนจี้ และมันทำให้ความหมายของ A Real Pain ในความเข้าใจของผม คือ สิ่งที่อยู่ลึกลงไปในใจ หาใช่เรื่องราวอื่นใดที่รับรู้จากภายนอก

ไม่มีใครปฏิเสธความโหดร้ายของการเหยียดเชื้อชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เป็นความจริงหรือไม่ว่า เราสามารถวางเรื่องราวเหล่านั้นได้ไม่ยาก ตราบใดที่ยังมีชีวิตปัจจุบันให้จับจ้องและพอจะยึดเหนี่ยวไว้ได้ แต่หากเรื่องราวนั้นเป็นเสมือนลิ่มที่ตอกย้ำความรู้สึกลึกๆ ของการไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่มีคุณค่า หรือที่เรียกว่า ‘Underdog’ อย่างที่เบนจี้กำลังเผชิญอยู่ ยิ่งเขาพยายามที่จะคืนฟอร์มของการเป็นดาวเด่นในวัยเด็ก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าเดวิด ญาติและเพื่อนที่ชื่นชมเขามาตลอด มันก็ยิ่งทำให้อารมณ์พลุ่งพล่านที่กดเก็บไว้ระเบิดออกมา 

ทว่าภาพยนตร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเผยให้เห็นความอ่อนแอและเจ็บปวดของเบนจี้ แต่ยังชวนเราร่วมเดินทางไปสัมผัสความเจ็บช้ำในใจของผู้ร่วมทริปแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่อยู่ในใจของเดวิด ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเป็น Underdog เช่นกัน

ในฉากบนโต๊ะอาหารเขาพรั่งพรูความรู้สึก หลังจากเป็นแค่คนที่เฝ้ามองและเป็นลูกไล่ให้เบนจี้มาตลอด 

“ฉันรักเขา ฉันเกลียดเขา ฉันอยากฆ่าเขา ฉันอยากเป็นเขา 

และพวกคุณทุกคนจะเดินจากไปโดยคิดว่าได้พบกับคนที่น่าทึ่งคนนี้ แต่ฉันรู้บางอย่างเกี่ยวกับเขา และมันทำให้ฉันแทบคลั่งเพราะฉันรู้ว่าช่วงหกเดือนที่ผ่านมาในชีวิตของเขาเป็นอย่างไร..” 

นอกจากบทยาวเหยียดที่เดวิดพูดจะเปิดเผยสิ่งที่เบนจี้ต้องเผชิญถึงขั้นที่เขาพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว ผมเห็น A Real Pain ในถ้อยคำ สีหน้าและแววตาของเดวิด เพราะในวัยเด็กเขาเคยต้องใช้ชีวิตภายใต้เงาของเบนจี้ แต่วันนี้คนที่น่าอิจฉากลับกำลังพังทลายโดยที่เขาแทบจะไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย เพราะเดวิดเองก็ต้องกัดฟันพาตัวเองไม่ให้จมดิ่งไปกับความรู้สึกทุกข์ทนไม่น้อยไปกว่ากัน

 “ใช่ ฉันเจ็บปวด ใครจะไม่เจ็บปวดล่ะ? แต่ฉันกินยารักษาอาการย้ำคิดย้ำทำของฉัน แล้วฉันก็วิ่งออกกำลังกายและทำสมาธิ จากนั้นฉันก็ไปทำงานและก้าวต่อไป เพราะฉันรู้ว่าอาการของฉันไม่ได้ร้ายแรงอะไร ฉันจึงไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องทำให้ทุกคนต้องแบกรับภาระนี้”

ดูเหมือนว่าความรู้สึกนี้จะสะท้อนออกมาจากไอเซนเบิร์กในฐานะผู้เขียนบทด้วย เพราะเขาก็รู้สึกวิตกกังวลแบบเดียวกันนี้มาตลอดชีวิต เขายอมรับว่าตนเองเป็น ‘เด็กเศร้า’ ที่รู้สึกอึดอัดที่โรงเรียนและหันไปหาการแสดง และนั่นทำให้ภาพยตร์เรื่องนี้มีเรื่องราวมากมายที่พูดถึงการจัดการกับความโศกเศร้าที่ถูกกดขี่และความเจ็บปวดที่ยังไม่คลี่คลาย

“ผมพยายามแสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดการกับความเจ็บปวดทั้งสองแบบ และผมไม่รู้จริงๆ ว่าแบบไหนดีต่อสุขภาพที่สุด ไม่มีแบบใดดีต่อสุขภาพเลย เพราะความเจ็บปวดนั้นจัดการได้ยาก ดังนั้นจึงไม่มีวิธีที่สมบูรณ์แบบในการรับมือกับมัน

แต่ผมชอบความอ่อนน้อมถ่อมตนของตัวละคร ซึ่งทำให้รู้สึกว่าไม่อยากจมอยู่กับความวิตกกังวลของตัวเองตลอดเวลา ซึ่งมันไม่ได้ช่วยใครเลย” ไอเซนเบิร์ก กล่าวกับ Deadline.com

สำหรับผม A Real Pain ไม่ได้แค่พาเราไปสัมผัสความเจ็บปวดทั้งในสถานที่และในหัวใจของตัวละครหลัก หรือแม้แต่ในความรู้สึกนึกคิดของไอเซนเบิร์กที่เป็นทั้งคนเขียนบท นักแสดงและผู้กำกับ แต่ยังชวนเรามองผ่านเปลือกของผู้คนที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะสวยงามหรือแข็งกระด้าง เพื่อเข้าอกเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่ต่างก็มีความเปราะบางเจ็บปวดซุกอยู่ในมุมใดมุมหนึ่ง 

และมากกว่านั้นคือการกลับไปสำรวจ A Real Pain ในใจตัวเอง …ไม่ใช่เพื่อผลักไส ปฏิเสธ แต่เพื่อโอบกอดและยอมรับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เราสามารถเรียนรู้เพื่อที่จะรักและเห็นคุณค่าในตัวเองได้

Tags:

ภาพยนตร์

Author:

illustrator

อัฒภาค

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Movie
    The Unbreakable Boy: เพราะชีวิตคือสิ่งล้ำค่า ไม่ว่ามันจะแตกต่าง หรือแตกสลาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Modern love Tokyo (2022): แม่ต้องปล่อยวางหลายเรื่อง แต่วันหนึ่งลูกจะภูมิใจในเราเองแหละ

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Monster: เรื่องโกหกที่เริ่มต้นจากความกลัวเพราะไม่อยากเป็นตัวประหลาด

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Lady Bird : ด้วยรักและเอาชนะ ระหว่างมนุษย์ลูกผู้อยากโผบินกับมนุษย์แม่ขี้โมโห

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear ParentsMovie
    Soul: การตามหาแพชชัน ความฝัน และบอกว่าไม่มีใครอยากกลายเป็นคนที่ Lost soul

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

‘It takes a village to raise a child.’ เพราะมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ให้ ‘พ่อแม่’ เลี้ยงลูกเพียงลำพัง
Family Psychology
19 February 2025

‘It takes a village to raise a child.’ เพราะมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ให้ ‘พ่อแม่’ เลี้ยงลูกเพียงลำพัง

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • หนึ่งในสาเหตุที่พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมีความเครียดมากขึ้นเกิดมาจากมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางของ ‘ครอบครัวขนาดเล็ก’
  • การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ แต่สังคมก็มักคาดหวังให้การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของแค่ ‘พ่อ’ กับ ‘แม่’ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ในยุคนี้ต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกด้วยถึงจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ทำให้ลูกอาจขาดการดูแลเอาใส่ใจอย่างเหมาะสม
  • เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เพราะพ่อแม่ดูแลดี แต่เพราะมีครู เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และชุมชนที่ช่วยกันดูแล ให้คำแนะนำ และเป็นแบบอย่างที่ดี

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ครอบครัว’ ภาพในอุดมคติของใครหลายคนมักนึกถึงพ่อแม่ลูก หากย้อนไปในอดีต ครอบครัวไม่ได้หมายถึงแค่พ่อแม่ลูก แต่รวมไปถึงปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ญาติพี่น้องด้วย มโนทัศน์ของครอบครัวที่เปลี่ยนไปเป็นผลมาจากครอบครัวในปัจจุบันมีขนาดที่เล็กลง 

ในสังคมสมัยใหม่ แนวคิดของ ‘ครอบครัวเดี่ยว’ ที่มีเพียงพ่อแม่ลูกเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาญาติพี่น้อง อย่างไรก็ตาม กลับมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเครียดสูงและมีความสุขน้อยกว่าพ่อแม่ที่ไม่มีลูก 

Nichola Raihani ศาสตราจารย์ด้านวิวัฒนาการและพฤติกรรมที่ University College London ระบุว่า หนึ่งในสาเหตุที่พ่อแม่ในยุคปัจจุบันมีความเครียดมากขึ้นเกิดมาจากมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางของ ‘ครอบครัวขนาดเล็ก’

ย้อนไปในอดีตยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มเครือญาติที่ประกอบไปด้วยคนหลายรุ่นและหลายครอบครัว การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ที่กระจายกันไป ไม่ใช่แค่พ่อแม่ แต่รวมถึงญาติพี่น้องและคนในกลุ่มเดียวกัน โดยในสัตว์จะเรียกพฤติกรรมเช่นนี้ว่า ‘Cooperative Breeding’ หรือ ‘การเลี้ยงลูกแบบร่วมมือกัน’ กล่าวคือ เด็กคนหนึ่งได้รับการเลี้ยงดูจากคนมากกว่า 2 คน

แม้ว่าสัตว์ที่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับมนุษย์ เช่น ลิงไร้หาง (Ape) จะสามารถเลี้ยงลูกได้ด้วยตัวเอง แต่มนุษย์มีแนวโน้มที่จะอาศัยการช่วยเหลือจากกลุ่มเครือญาติมากกว่า เนื่องจากเส้นทางวิวัฒนาการของมนุษย์แตกต่างจากลิงชนิดอื่น 

ลิงชนิดอื่นวิวัฒน์มาในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ท่ามกลางป่าไม้ แต่มนุษย์วิวัฒน์มาในสภาพแวดล้อมแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ทำให้ขาดแคลนอาหารและทรัพยากร อีกทั้งยังมีภยันตรายมากกว่าการอาศัยอยู่ในป่า ดังนั้นการที่มนุษย์จะอยู่รอดจึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน อยู่กันเป็นกลุ่ม ทำงานร่วมมือกัน ไม่เว้นแม้แต่การเลี้ยงลูก

การอยู่อย่างโดดเดี่ยวในสภาพแวดล้อมเช่นนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่ความตาย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่มนุษย์มีการพัฒนา ‘ความเหงา’ ขึ้นมาเพื่อผลักดันให้ตัวเองไปเข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ

ครอบครัวขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า ‘ครอบครัวเดี่ยว’ เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับกระบวนการวิวัฒนาการที่ต้องใช้เวลาหลายล้านปี

การทำงานในอุตสาหกรรมทำให้แรงงานมีรายได้ที่แน่นอน ไม่เหมือนกับการทำเกษตรที่จะมีรายได้เข้ามาเป็นช่วงๆ ทำให้พ่อสามารถหาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียวได้ โดยปล่อยให้แม่อยู่บ้านคอยดูแลลูก เมื่อเวลาผ่านไป แนวปฏิบัตินี้ทำให้ภาระการเลี้ยงลูกตกอยู่ที่แม่เพียงฝ่ายเดียว เกิดความกดดันสูงและนำไปสู่ความเครียด

แม้ว่าในปัจจุบันบทบาททางเพศเหล่านี้จะไม่ได้เข้มข้นเหมือนแต่ก่อน กล่าวคือ การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ แต่สังคมก็มักคาดหวังให้การเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของแค่ ‘พ่อ’ กับ ‘แม่’ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ในยุคนี้ต้องทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกด้วยถึงจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ทำให้ลูกอาจขาดการดูแลเอาใส่ใจอย่างเหมาะสม

จากมุมมองทางวิวัฒนาการ เราควรทำความเข้าใจว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกแบบร่วมมือกัน พ่อแม่จึงไม่ควรรู้สึกผิดเมื่อต้องส่งลูกไปเนอสเซอรี่ จ้างพี่เลี้ยง หรือให้ญาติช่วยเลี้ยง 

ศาสตราจารย์ Raihani กล่าวว่า ในสังคมที่ยังไม่ได้ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรม คุณยายหรือคุณย่า (Grandmother) มีส่วนช่วยให้เด็กมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งสมเหตุสมผลในเชิงวิวัฒนาการ การที่ผู้หญิงมีวัยหมดประจำเดือนก็เพราะจะได้ช่วยเลี้ยงลูกรุ่นต่อไปได้ แทนที่จะมีลูกของตัวเอง ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้มีลูกมากเกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่

แม้เส้นทางวิวัฒนาการชี้ว่ามนุษย์มีแนวโน้มเหมาะกับ ‘ครอบครัวขยาย’ แต่เราต้องไม่ลืมว่าบางครอบครัวอาจไม่ได้เหมาะกับรูปแบบนี้เสมอไป การเลี้ยงลูกผ่านครอบครัวขยายจะมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อทุกคนให้ความร่วมมือและสมาชิกทุกคนต่างก็เข้าใจซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวในปัจจุบันก็มีหลากหลายรูปแบบ คำว่า ‘ครอบครัวเดี่ยว’ และ ‘ครอบครัวขยาย’ เป็นการแบ่งประเภทครอบครัวตามโครงสร้างแบบผิวเผินเท่านั้น ครอบครัวในความเป็นจริงมีความซับซ้อน และแปรผันไปตามสภาพสังคม เช่น ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวคู่รักเพศเดียวกัน ครอบครัวที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ฯลฯ

ไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวรูปแบบไหน เราต้องไม่ลืมว่าสังคมรอบข้างก็มีส่วนสำคัญ ในภาษาอังกฤษมีสำนวนที่ว่า It takes a village to raise a child. แปลว่า ‘การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ 

เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่เพราะพ่อแม่ดูแลดี แต่เพราะมีครู เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง และชุมชนที่ช่วยกันดูแล ให้คำแนะนำ และเป็นแบบอย่างที่ดี

ดังนั้น รูปแบบของครอบครัวจึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อเด็ก การที่เด็กสักคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกในครอบครัวและคนในชุมชนด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. (2562). นิยามและประเภทครอบครัว.

เมริษา ยอดมณฑป. (2020). ด้วยรัก ภาระ และบาดแผล จากการเติบโตในครอบครัวใหญ่ที่ต้องทำตามความต้องการของสมาชิกหลายคน.

รุอร พรหมประสิทธิ์. (2024). “เลี้ยงเด็ก 1 คนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” วลีนี้มีที่มาอย่างไร และเพราะอะไรแค่เพียงการเลี้ยงเด็กสักคน เราทุกคนจึงมีส่วนสำคัญ.

Janis Dickinson, & Walter Koenig. (2018). Social interactions involving cooperative breeding and eusociality. In, animal social behaviour.

National Geographic Thailand. (2019). วิวัฒนาการของมนุษย์ (Human Evolution) โฮโมเซเปียนส์ การคัดเลือกโดยธรรมชาติ.

Nichola Raihani. (2022). The real reason modern parenting is so hard | Nichola Raihani | TEDxManchester.

Tags:

การเลี้ยงลูกแบบร่วมมือกัน (Cooperative Breeding)ครอบครัวขยายพ่อแม่รูปแบบการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ (Parenting Styles)ความคาดหวังการเลี้ยงดู

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.5 ‘ตัวตนภายในที่แข็งแรง ภายนอกจึงไม่เปราะบาง’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • dragon-parents-nologo
    Family Psychology
    ‘Dragon Parents’ พ่อแม่ผู้ยอมรับอนาคตที่ไม่แน่นอน ด้วยการอยู่กับปัจจุบัน และรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Healing the trauma
    ความสัมพันธ์ที่ทำร้ายทารุณ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Book
    พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ ปล่อยวางความคาดหวังแล้วหันมา ‘ใจดีกับตัวเอง’ 

    เรื่อง อัฒภาค

  • Dear Parents
    แค่ผมเรียนไม่เก่ง(เท่าที่คาดหวัง)…พ่อกับแม่เลยไม่ภูมิใจใช่ไหม

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

แค่ยอมรับสภาพ หรือเพราะภาวะความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ ‘Learned helplessness’
How to enjoy life
10 February 2025

แค่ยอมรับสภาพ หรือเพราะภาวะความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ ‘Learned helplessness’

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การต้องพบเจอกับ ‘ตัวกระตุ้นที่เลวร้าย’ ซ้ำๆ อย่างยาวนานทำให้เราหยุดที่จะเรียนรู้ (ว่าควบคุมสถานการณ์ได้) พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เจ็บปวดบ่อยๆ เข้า เราก็จะชาชินและทนยอมรับสภาพโดยไม่สู้อะไร ทั้งๆ ที่ร่างกายเราสร้างจิตใจที่พร้อมต่อสู้มาให้ เราเลิกเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ยอมแพ้และยอมรับความแตกสลายกายใจ
  • คนจำนวนไม่น้อยอาจมี ‘ภาวะความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (Learned helplessness)’ และอันที่จริงแล้วความรู้เรื่องนี้อาจช่วยปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนของคนไทยก็เป็นได้ 
  • ในการเรียนการสอน ครูอาจต้องระวังการลงโทษเด็ก เพราะหากเจ็บจากการลงโทษเสมอจนถอดใจ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ ‘การควบคุม’ ตัวเองภายใต้ความกดดันของสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญในอนาคต และไม่สามารถหล่อเลี้ยง ‘ความหวัง’ ในปัจจุบันไว้ได้ 

คุณเคยพบคนที่แม้ไม่พอใจกับเงินเดือนหรือสวัสดิการ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เปลี่ยนงานเสียทีบ้างไหมครับ? แล้วเคยเจอไหมครับ คนที่ไม่พอใจในคู่ของตัวเอง แต่ก็ยังทนอยู่เป็น ‘คู่กรรม’ อยู่อย่างนั้น ไม่ยอมเลิกราให้จบไป? หรือคนที่ยอมให้คนอื่นเอารัดเอาเปรียบหรือฉ้อโกง แต่กลับไม่กล้าทำอะไรเลย ไม่ร้องหาความยุติธรรมเลย?

แต่ละคน เรื่องราวแต่ละเรื่อง อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง แต่ไม่แน่ว่าคนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยอาจมี ‘ภาวะความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (Learned helplessness)’ และอันที่จริงแล้วความรู้เรื่องนี้อาจช่วยปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนในห้องเรียนของคนไทยก็เป็นได้ 

ภาวะที่ว่านี้มีลักษณะอย่างไรกันแน่? 

หากอยากเข้าใจเรื่องนี้ เราอาจต้องย้อนกลับไปไกลหน่อยที่ยุคทศวรรษ 1890 ในยุคนั้นมีการทดลองที่มีชื่อเสียงมากของนักประสาทวิทยาและสรีรวิทยาชาวรัสเซียชื่อ อีวาน ปัฟลอฟ (ค.ศ. 1849–1936) เป็นการทดลองที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์หรือสรีรวิทยาใน ค.ศ. 1904 [1]

หลายคนอาจจะยังจำการทดลองในสุนัขที่โด่งดังของเขาได้ เขาพบว่าหากสั่นกระดิ่งทุกครั้งที่ให้อาหารสุนัข มันจะเกิดความทรงจำเชื่อมโยงอาหารกับเสียงกระดิ่งเข้าด้วยกัน และในภายหลังแม้จะไม่มีอาหาร แต่หากสั่นกระดิ่งเมื่อใด สุนัขก็จะน้ำลายไหลเพราะคิดว่ากำลังจะได้กินอาหาร  

เมื่อถึงทศวรรษ 1960 ก็มีนักศึกษาปริญญาเอกสองคนในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียคือ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) และสตีเวน ไมเออร์ (Steven Maier) ค้นพบพฤติกรรมแปลกประหลาดของสุนัขอีกเช่นกัน ขณะที่พวกเขาทดลองเกี่ยวกับเรื่องความกลัวและอาการซึมเศร้าในสัตว์ [2]

ในการทดลองเขาแบ่งสุนัขออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะไม่โดนไฟฟ้าช็อต (เป็นกลุ่มควบคุมในการทดลองนี้) กลุ่มที่สองจะโดนไฟฟ้าช็อต แต่หากมันกดคานบังคับที่จัดไว้ให้ การช็อตก็จะหยุดลง และกลุ่มที่สามจะโดนช็อต แต่ไม่มีคานบังคับไว้ให้ จากนั้นก็ย้ายสุนัขทั้ง 3 กลุ่มไปยังกรงที่มีที่กั้นไว้ตรงกลาง แต่ก็เตี้ยพอจะกระโดดข้ามได้ 

ในการทดลองที่สองนี้ไฟฟ้าจะช็อตแค่เพียงข้างเดียวของกรงที่ใส่สุนัขไว้

พูดอีกอย่างคือ สุนัขแต่ละตัวสามารถกระโดดจากฟากหนึ่งของกรงที่มีกระแสไฟฟ้าช็อต ไปยังอีกฟากหนึ่งที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าช็อตได้ 

พวกเขาพบว่าจากที่คาดว่าสุนัขทั้งสามกลุ่มจะพยายามกระโดดหนีไฟช็อตไปอีกฝั่งของกรง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น สุนัขกลุ่มแรกที่ไม่เคยโดนช็อตมาก่อนเลยและกลุ่มที่สองที่เคยกดคานบังคับให้หยุดการช็อตลง พยายามกระโดดข้ามไปอยู่อีกฟากของกรงในทันทีที่เริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าเบาๆ เพื่อช็อต 

แต่สุนัขกลุ่มที่สามที่เคยโดนช็อตและทำอะไรไม่ได้เลยในการทดลองก่อนหน้ากลับนอนนิ่ง อดทนให้ไฟช็อตไปจนเสร็จสิ้น โดยไม่แสดงความกระตือรือร้นใดๆ ที่จะหนีจากไฟช็อตอีกต่อไป แม้ว่าจะทำได้ง่ายๆ เหมือนกับสุนัขอีกสองกลุ่มก็ตาม 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? 

นักวิจัยทั้งคู่อธิบายว่าสุนัขกลุ่มที่สามนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการทดลองแรกก็แสดงอาการของความกระวนกระวายใจและซึมเศร้า เพราะไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ และเมื่อเริ่มการทดลองที่สองก็แสดงความสิ้นหวังให้เห็น จึงตั้งชื่อเรียกอาการดังกล่าวว่าเป็น ‘ภาวะความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้’ ดังกล่าวไปข้างต้น เนื่องจากเป็นภาวะที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้ฝังอยู่ในพันธุกรรมของพวกมัน (ดังเห็นได้จากสุนัขกลุ่มที่หนึ่งและสองที่แสดงพฤติกรรมแตกต่างออกไป) 

อย่างไรก็ตาม การทดลองทางประสาทวิทยาในอีกหลายปีให้หลัง ทำให้ศาสตราจารย์ไมเออร์สรุปอีกแบบหนี่งว่า แทนที่จะสุนัขกลุ่มสามจะเรียนรู้เรื่อง ‘การสิ้นหวัง’ อันที่จริงแล้วกลับตรงกันข้ามเลยคือ พวกมันสูญเสียความสามารถในการควบคุม ‘การเรียนรู้จะไม่สิ้นหวัง’ ต่างหาก 

ในขณะที่ศาสตราจารย์เซลิกแมนที่ทดลองเพิ่มเติมในเรื่องนี้เช่นกัน ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นอีกคำหนึ่งคือ ‘การมองโลกในแง่ดีเพื่อเรียนรู้ (learned optimism)’ และประยุกต์หาวิธีการเพื่อท้าทายและเอาชนะภาวะความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้นี้ในมนุษย์ [3]

ค.ศ. 2026 ศาสตราจารย์ไมเออร์และเซลิกแมน มาร่วมมือกันเขียนบทปริทัศน์หรือรีวิว (review) เพื่อดูว่าหลังผ่านเวลาไปครึ่งศตวรรษ เรามีความรู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวบ้าง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างทีเดียว [4]

เรื่องแรกคือวงการวิจัยเรียนรู้กลไกทางชีววิทยาของภาวะดังกล่าวละเอียดขึ้นมาก เรารู้ว่าการไม่ตอบสนองต่อปัจจัยภายนอก (สุนัขกลุ่มสามนอนให้ช็อตไฟไม่กระโดดหนี) นั้น “ไม่ได้มาจากการเรียนรู้” 

แต่อันที่จริงแล้วเกิดจากการกระตุ้นวงจรสำเร็จรูปที่ติดมากับพันธุกรรมจนทำให้ปิดกั้นความสามารถในการเรียนรู้ที่จะบังคับควบคุมตัวเองต่างหาก! 

มนุษย์เองก็เช่นเดียวกับสัตว์อื่นที่เมื่อเจอกับเหตุการณ์แย่ๆ ที่ไม่พึงปรารถนาเป็นเวลานาน และไม่อาจควบคุมอะไรได้เลย ก็จะเฉยชาไม่ตอบสนองต่อเหตุการณ์เดียวกันนั้นอีกต่อไป แม้ว่าจะเกิดผลเสียกับตัวเองก็ตาม จึงมองดูราวกับว่าเกิดความ ‘สิ้นหวัง’ หลังจากต้องพบกับสภาวะดังกล่าวเป็นเวลานาน จนเกิดการเรียนรู้จดจำ เกิดความเครียด ความกระวนกระวายใจ และความซึมเศร้าอย่างไม่หยุดหย่อน

เรื่องต่อไปที่พบคือ อาการทั้งหมดที่เห็นนี้อธิบายได้ผ่านสรีรวิทยา โดยกลไกการควบคุมการหลั่งหรือไม่หลั่งฮอร์โมนบางอย่าง เช่น เซโรโทนิน ควบคู่กับการทำงานของสมองบางบริเวณอย่างจำเพาะเจาะจง (เช่น ส่วนที่ชื่อว่า dorsal raphe nucleus และ medial prefrontal cortex) 

ดังนั้นตามธรรมชาติแล้ว สัตว์ต่างๆ รวมทั้งมนุษย์สามารถเรียนรู้จะควบคุมเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาได้ เป็นระบบที่ติดตั้งมาตั้งแต่เกิดตามพันธุกรรม แต่การต้องพบเจอกับ ‘ตัวกระตุ้นที่เลวร้าย’ ซ้ำๆ อย่างยาวนานทำให้เราหยุดที่จะเรียนรู้ (ว่าควบคุมสถานการณ์ได้) 

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เจ็บปวดบ่อยๆ เข้า เราก็จะชาชินและทนยอมรับสภาพโดยไม่สู้อะไร ทั้งๆ ที่ร่างกายเราสร้างจิตใจที่พร้อมต่อสู้มาให้ เราเลิกเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ยอมแพ้และยอมรับความแตกสลายกายใจ  

การแก้ไขปัญหาจึงอาจทำได้ผ่านทางร่างกาย (การควบคุมระดับฮอร์โมนและการกระตุ้นสมองอย่างจำเพาะ) หรือทางจิตใจ (การฝึกฝนความคิดให้ไม่สิ้นหวัง) 

เรื่องนี้นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างในระบบการศึกษาของไทยและจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดความสิ้นหวังกับเยาวชนของเรา?  

ในระบบการเรียนการสอน นักเรียนนักศึกษาที่ตอบคำถามไม่ได้ แล้วโดนลงโทษอยู่เสมอๆ จะเป็นเช่นไร? ครูอาจารย์อาจต้องระวังในเรื่องนี้ เพราะเด็กก็เหมือนอยู่ในกรงที่หนีไปไหนไม่ได้ หากเจ็บจากการลงโทษเสมอจนถอดใจ ก็จะไม่สามารถเรียนรู้ ‘การควบคุม’ ตัวเองภายใต้ความกดดันของสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญในอนาคต และไม่สามารถหล่อเลี้ยง ‘ความหวัง’ ในปัจจุบันไว้ได้  

การใช้วิธีให้รางวัล เช่น การชมเชยกับเด็กทุกคน โดยไม่นำเด็กแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน แต่ให้ดูพัฒนาการของเด็กคนนั้นเองว่าดีขึ้นเพียงใดจากก่อนหน้า จึงเป็นเรื่องดีและเหมาะสมกว่า 

แต่ที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงมากกว่าในระบบการศึกษาคือ ระบบการเมืองที่ทำให้ประชาชนคนไทยทั่วไปคิดว่า เราไม่อาจทำอะไรได้ เราไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญๆ ได้เลยต่างหาก!     

เอกสารอ้างอิง

[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Ivan_Pavlov เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 ก.พ. 2025

[2] Seligman, M. E., & Maier, S. F. (1967). Failure to escape traumatic shock. Journal of Experimental Psychology, 74(1), 1–9. https://doi.org/10.1037/h0024514

[3] https://www.medicalnewstoday.com/articles/325355#in-children เข้าถึงข้อมูลวันที่ 4 ก.พ. 2025

[4] Steven F Maier, & Martin E P Seligman (2016) Learned Helplessness at Fifty: Insights from Neuroscience. Psychol Rev. 2016 Jul;123(4):349–367. doi: 10.1037/rev0000033 

Tags:

การมองโลกในแง่ดีLearned helplessnessภาวะสิ้นหวังการเรียนรู้

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Book
    วันนั้นฉันเจอเพนกวิน: อย่าปิดกั้นจินตนาการของเด็กด้วยคำว่า ‘เพ้อฝัน’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Movie
    Skip and loafer: วิธีมองโลกแบบ ‘มิทสึมิจัง’ ใจดีกับตัวเองและคนอื่น

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Character building
    โลกโกลาหล (BANI World) Ep4 Incomprehensible: คลายความไม่เข้าใจ ด้วยความโปร่งใสและสัญชาตญาณ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhoodFamily Psychology
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.9 บาดแผลของการทำผิดพลาดแล้วถูกประจานให้อับอาย

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • ห้องเรียน ‘บาริสต้าน้อย’ โรงเรียนสินแร่สยาม : ทักษะและการเรียนรู้ที่เด็กๆ ร่วมกันออกแบบ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

ชีวิตในมุมอับของคำว่า ‘ครอบครัว’: แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา
Movie
7 February 2025

ชีวิตในมุมอับของคำว่า ‘ครอบครัว’: แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา เป็นภาพยนตร์แนว Coming Of Age จากค่าย GDH บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแฟลตตำรวจแห่งหนึ่ง โดยมี แอน เด็กสาวที่พ่อเสียชีวิตในหน้าที่ และ เจน เด็กสาวที่ได้ชื่อว่ามีพ่อแม่ร่ำรวยที่สุดในแฟลต เป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง
  • แม้ตัวอย่างภาพยนตร์อาจทำให้มองว่าแฟลตเกิร์ลเป็นหนังในแนวยูริ (Girls’ Love) แต่ลึกลงไปแฟลตเกิร์ลยังมีประเด็นที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน หรือปัญหาความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย จิรัศยา วงษ์สุทิน (ซีรีส์ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ) โดยแฟลตที่ปรากฏในภาพยนตร์คือสถานที่จริงที่เธอเคยอยู่อาศัยกับครอบครัวในฐานะลูกตำรวจ 

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]

“แม่ให้แอนเกิดมาทำไม”

ประโยคที่ ‘แอน’ เด็กสาวชั้นมัธยมปลายพูดกับแม่อย่างเหลืออดใน แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา ภาพยนตร์จากค่าย GDH ทำให้คำพูดเสียดสีทำนองที่ว่า “มีแม่เมื่อพร้อม” ดังแทรกขึ้นมาในหัวผม 

ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแฟลตตำรวจแห่งหนึ่ง โดยมีสองสาวเพื่อนสนิทอย่าง ‘แอน’ เด็กสาวที่พ่อเสียชีวิตในหน้าที่ และ ‘เจน’ เด็กสาวที่ได้ชื่อว่ามีพ่อแม่ร่ำรวยที่สุดในแฟลต เป็นตัวละครหลักที่สลับกันดำเนินเรื่อง  

สารภาพว่าจากการชมตัวอย่างภาพยนตร์ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าแฟลตเกิร์ลอาจเป็นหนังยูริ (Girls’ Love) ที่เน้นขายคู่จิ้นฟินจิกหมอน แต่พอได้ติดตามเรื่องราวของสองสาวไปเรื่อยๆ ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คิด เพราะบทภาพยนตร์ได้ซ่อนประเด็นคำถามที่น่าสนใจไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาการเงิน หรือปัญหาความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่พบได้ในสังคม ซึ่งชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามและสะท้อนคิดกับประสบการณ์ส่วนตัว โดยไม่จำเป็นต้องมีคำตอบที่เหมือนกัน 

ในมุมของผม สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด คือการที่แฟลตเกิร์ลเป็นตัวแทนหมู่บ้านในการฉีกมายาคติครอบครัวอบอุ่นที่ว่า “พ่อกับแม่คือคนที่รักและหวังดีกับลูกมากที่สุด” หรือ “บ้านคือพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้พักพิงใจ” ซึ่งผมขอออกตัวก่อนว่าพ่อแม่ที่รักและหวังดีกับลูกนั้นมีอยู่จริง แต่โชคไม่ดีที่ลูกหลายคนอาจไม่มีวาสนาพอที่จะได้เจอพ่อแม่แบบนั้น

แอนเองก็เช่นกัน แม้เธอจะเป็นคนที่ขยันทำงานช่วยแม่หาเงินและดูแลน้องอีกสามคน รวมถึงฝึกภาษาอังกฤษจนเก่ง ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งตัวเองจะได้ทำงานเป็นแอร์โฮสเตสอย่างที่ฝันไว้ แต่เมื่อแอนมีแม่ที่ไม่ยอมทำงาน วันๆ เอาแต่ไปเล่นการพนัน แถมยังติดหนี้คนนั้นคนนี้ไปทั่ว อย่าว่าแต่ทำตามความฝันเลย แค่ใช้ชีวิตวัยรุ่นแบบเด็กมัธยมปลายทั่วไป ก็ยังเป็นไปไม่ได้

แอนต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่และพี่ใหญ่ตลอดเวลา ซึ่งผมเทียบเคียงกับข้อมูลที่เคยอ่านแล้วคิดว่าเธออาจประสบกับภาวะ Parentified Child หรือ ‘ภาวะที่เด็กต้องขาดการดูแลสนับสนุนจากพ่อแม่และต้องกลายเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร’ นอกจากนี้เธอยังค่อนข้างโดดเดี่ยวและกดเก็บความเครียดไว้ภายใต้ท่าทีเรียบเฉยที่ดูเหมือน ‘ไหวอยู่’ เพราะดูจากสถานการณ์ของแอนแล้ว แทบจะมองไม่เห็นทางเลือกหรือทางออกที่จะพาชีวิตไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้น ได้ทำตามฝัน หรืออย่างน้อยก็ปลดภาระที่แบกรับเอาไว้จากแม่…ผู้ที่ไม่ได้ทำอะไรให้เธอเลย นอกจากให้กำเนิด 

ยิ่งกว่านั้น แม่มักจะเหยียบย่ำความฝันที่แอนอยากเป็นแอร์โฮสเตส พร้อมกับปั่นหัวแอนว่าที่ครอบครัวเราต้องอยู่อย่างลำบากเป็นเพราะต้องเลี้ยงดูลูกที่ไม่เคยช่วยเหลืออะไรเลย ดังนั้นแอนก็ไม่ควรเป็นคนเห็นแก่ตัวที่ทิ้งครอบครัว ก่อนจะกดดันให้แอนใช้สิทธิในการเป็นตำรวจ (แทนพ่อที่เสียชีวิตในหน้าที่) เพื่อมาช่วยแม่ใช้หนี้ที่เอาเป็นเล่นพนันและขยายสิทธิในการอาศัยอยู่ภายในแฟลตแห่งนี้ต่อไป 

“กูหมดปัญญาละ จะเป็นตำรวจ หรือจะไปอยู่ข้างถนนกันให้หมด มึงก็คิดดูละกัน” แม่ของแอนกล่าว

ดังนั้น เมื่อแอนสวนกลับด้วยความสิ้นหวังว่า “แล้วที่ผ่านมาแอนไม่ช่วยแม่ตรงไหนวะ…แม่ให้แอนเกิดมาทำไม” ผมจึงรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องตลกร้ายเหมือนอย่างที่เกริ่นในย่อหน้าแรกว่า แอนคือตัวอย่างของลูกที่มีแม่เมื่อไม่พร้อม เป็นเด็กโชคร้ายที่มีผู้ให้กำเนิดเป็นความท็อกซิกในชีวิต …แม่ที่ไม่สามารถสนับสนุนทั้งในเรื่องของเงินทองและความรู้สึก 

ในตอนท้ายของภาพยนตร์ ผมชอบที่ผู้กำกับจงใจทำให้แฟลตเกิร์ลไม่มีฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง หรือแบดเอนดิ้ง โดยเฉพาะกับตัวละครของแอนที่หายตัวไปทิ้งไว้แต่ความคลุมเครือซึ่งเปิดให้เราจินตนาการถึงฉากต่อไปของเด็กผู้หญิงที่เติบโตมากับแม่ผู้ปัดความรับผิดชอบทุกอย่าง เติบโตมาในสังคมแฟลตที่ไม่ได้โอบอุ้มเด็กที่แหลกสลายจากความเป็นครอบครัว ว่าเป็นไปได้มากแค่ไหนที่เด็กแบบนี้จะมีอนาคตที่ดี หรือจะสร้างครอบครัวที่ดีต่อไปในอนาคต 

แต่สำหรับผม ผมอยากชวนทุกคนให้หันกลับไปตั้งคำถามกับตัวละครอย่างแม่ของแอนมากกว่า เพราะสุดท้ายแม่ก็ยังเป็นผีพนันสุดขี้เกียจที่ใช้ชีวิตเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือโยนภาระหน้าที่ในการรับจ้างรีดผ้าและหาเงินมาจุนเจือครอบครัวของแอนไปใส่มือของน้องคนรอง ซึ่งในที่สุดวงจรอุบาทว์แบบเดียวกันก็จะหมุนต่อไปด้วยความท็อกซิกของผู้เป็นแม่

ไม่ว่าในภาพยนตร์หรือชีวิตจริง เวลาที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งทำเรื่องผิดพลาดในชีวิต หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ดี คำถามแรกๆ ที่ควรจะนึกถึงก็คือ เธอหรือเขาถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน?

Tags:

ภาพยนตร์ความสัมพันธ์ครอบครัวLGBTQA+แฟลตเกิร์ลGDH

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Movie
    Ghostlight: การสูญเสียจะตามหลอกหลอนจนกว่าจะถึงเวลาเผชิญหน้ากับมัน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Monster: เรื่องโกหกที่เริ่มต้นจากความกลัวเพราะไม่อยากเป็นตัวประหลาด

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Love, Simon: หากแม้คนทั้งโลกจะใจร้าย ขอแค่พ่อแม่รักและเข้าใจก็พอ

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Yes Day: ขอให้มีสักวันที่แม่จะไว้ใจและให้พื้นที่อิสระพอที่เราจะใช้ชีวิตในแบบของตนเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Lady Bird : ด้วยรักและเอาชนะ ระหว่างมนุษย์ลูกผู้อยากโผบินกับมนุษย์แม่ขี้โมโห

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

เปลี่ยนที่ทำงานเป็นพื้นที่ฮีลใจ ‘โศรยา ทองดี’ ฮีลเลอร์แห่งโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์
Life classroomHow to enjoy life
6 February 2025

เปลี่ยนที่ทำงานเป็นพื้นที่ฮีลใจ ‘โศรยา ทองดี’ ฮีลเลอร์แห่งโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์

เรื่อง The Potential

  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตส่วนตัวมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน บทบาทของนักจิตวิทยาองค์กร นอกจากจะให้คำปรึกษาและจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงาน ยังครอบคลุมไปถึงปัญหาชีวิตและครอบครัวของพนักงานด้วย
  • หลักการของจิตวิทยาขององค์กรเป็นเรื่องของการเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น สื่อสารอย่างไรเพื่อให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ดีลกับเพื่อนร่วมงานอย่างไรภายใต้กรอบที่ทุกคนรับฟังกันโดยไม่ใช้อารมณ์
  • ถ้าสถานที่ทำงานเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ พื้นที่แห่งความปลอดภัย พื้นที่ที่ทำให้คนทำงานสามารถมีความสุขในทุกๆ วัน สังคมนั้นย่อมเป็นสังคมที่มีความสุขตามไปด้วย

ในโลกของการทำงาน หลายคนอาจมองว่าต้องแยกขาดจากเรื่องส่วนตัวรวมถึงครอบครัว แต่ในความเป็นจริง คนทำงานหรือพนักงานทุกคนล้วนมีผู้คนที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ซึ่งภาระผูกพันของแต่ละคนอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในแง่ของแรงสนับสนุนและปัจจัยฉุดรั้ง ดังนั้นการขีดเส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวจึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป

โบว์เบเกอรี่เฮาส์ (Bow Bakery House) โดยสองผู้บริหาร ‘คุณโบว์-รุจา และ คุณดำ-วิสิทธิ์ สดแสงเทียน’ เป็นตัวอย่างของสถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว Family-Friendly Workplace ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการเพื่อให้พนักงานสามารถดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจของตนเองรวมไปถึงครอบครัวได้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าหากพนักงานมีสุขภาวะที่ดี มีชีวิตการทำงานที่ลงตัวกับการดูแลครอบครัว ย่อมทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานได้อย่างเต็มที่ 

หนึ่งในแนวทางการดูแลพนักงานที่น่าสนใจของที่นี่ก็คือ การจัดให้มีนักจิตวิทยาองค์กรคอยให้คำปรึกษา รวมไปถึงออกแบบกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในครอบครัวของตนเองและในการทำงาน

‘คุณเหมียว’ โศรยา ทองดี เล่าถึงบทบาทการเป็นนักจิตวิทยาองค์กรของตนเองที่โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ ว่านอกจากการให้คำปรึกษาและจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงาน เธอยังมีภารกิจในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความสุขและความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ทั้งในกลุ่มพนักงานด้วยกันเอง และระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร

สิ่งแรกที่คุณเหมียวริเริ่มในฐานะนักจิตวิทยาองค์กร คือการสร้าง ‘ห้องเก็บความรัก’ ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่แห่งความไว้วางใจที่ทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นพนักงานระดับปฏิบัติงาน หัวหน้าฝ่าย หรือแม้แต่ผู้บริหาร ต่างสามารถแวะเข้ามาพูดคุยเปิดใจ ระบายความรู้สึก และขอรับคำปรึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน 

“ห้องเก็บความรัก ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีหน้ากาก ทุกคนสามารถระบายปัญหาได้อย่างอิสระ โดยที่เราจะเริ่มต้นตั้งแต่ว่าแต่ละคนมีความเครียดอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง มาทำงานมีความสุขไหม หรือผลกระทบอะไรที่ทำให้เขาทำงานแล้วประสิทธิภาพน้อยลง 

เหมียวจะใช้วิธีหนึ่งก็คือการเปิดใจ รับฟังแล้วก็เข้าใจวัฒนธรรมของแต่ละคน โดยเหมียวจะไม่ใช้ศัพท์ยากๆ ไม่เข้าไปแทรกแซงในระบบการทำงานของเขา หรือแก้ปัญหาให้โดยตรง แต่จะช่วยให้เขารู้สึกผ่อนคลายและเปิดใจพูดคุยถึงสิ่งที่เป็นปัญหาในชีวิตหรือการทำงาน”

แม้ว่าการเข้าพบนักจิตวิทยาในสังคมไทยดูจะเป็นเรื่องที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ยังมีหลายคนที่มองว่าเป็นเรื่องน่าอายและกลัวคนอื่นจะมองไม่ดี คุณเหมียวจึงปรับตัวและลองเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับตัวบุคคลเพื่อให้ห้องเก็บความรักของเธอเข้าถึงพนักงานทุกคนได้ง่ายขึ้น 

“เหมียวมีเครื่องมือเยอะแยะมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Sound Healing ในการบำบัด หรือแม้กระทั่งการดูดวง ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสและพูดคุยกับเราง่ายๆ เลย 

คือคนไทยนะคะ พอบอกว่าให้ไปหานักจิตวิทยา เขาจะมีกำแพงละ ฉันไม่ได้เป็นอะไร ฉันไม่ได้ป่วยนะ ฉันไม่ได้บ้า ฉันไม่ได้เป็นอะไรสักหน่อย เฮ้ย! มันเป็นเรื่องส่วนตัวทำไมต้องมา คือคนจะมี Bias (อคติ) ก่อนว่านักจิตวิทยาจะวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคอะไรหรือเปล่า จะจ่ายยาให้ฉันหรือเปล่า จะส่งฉันไปโรงพยาบาลอีกหรือเปล่า แต่ถ้าบอกว่าดูดวงปั๊บมาเลย การเงิน การงาน ปัญหาความรัก สุขภาพ เขาจะถามทันที ไม่ต่อรองสักคำ แถมยังจ่ายเงินได้ ถูกต้องไหมคะ 

จริงๆ แล้วนักจิตวิทยาในเมืองไทย Culture อาจจะมาจากหมอดูเลยก็ได้ ถ้าหมอดูมีเซนส์ของจิตวิทยานิดนึง จะรู้ว่าสามารถใช้เรื่องพวกนี้ ในการเข้าถึงสภาวะจิตใจของคน แล้วก็ให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดี

เหมียวให้คำปรึกษาหลายเรื่องเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการเงิน เรื่องครอบครัว Social Toxic หรือจะเป็นแบบ Toxic People, Toxic Emotions เราก็รับฟังและให้คำปรึกษาได้ทั้งหมด แต่จะไม่ไปล้วงลูกถึงขนาดแก้ไขปมลึก เหมียวจะประเมินว่าเขามีระดับปัญหาตรงจุดไหน ถ้าเป็นปัญหาระดับเคมีในสมอง เราก็จะทำการส่งต่อไปยังจิตแพทย์ให้เขากินยา แต่ระหว่างนั้นเราจะคอยพูดคุยให้เขารู้สึกผ่อนคลายสบายอารมณ์ก่อน”

นอกเหนือจากการเป็นผู้ฟังที่ดีและมอบเครื่องมือที่เหมาะสมให้กับผู้รับคำปรึกษานำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว คุณเหมียวยังเน้นเรื่องความเมตตาต่อกันในองค์กร เธอมองว่าสิ่งนี้จะช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชีวิตการทำงาน

“สำหรับเหมียว หลักการของจิตวิทยาขององค์กรนั้นเป็นเรื่องของการเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เริ่มจากตัวเองที่จะสื่อสารให้เราเข้าใจผู้อื่น สื่อสารยังไงเพื่อให้งานมันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ดีลกับเพื่อนร่วมงานยังไงภายใต้กรอบที่ทุกคนรับฟังกันโดยไม่ใช้อารมณ์ เพราะหนึ่งวันคนเรามาทำงานก็ 7-8 ชั่วโมงแล้ว มันเป็นโลกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เยอะพอสมควร 

เพราะฉะนั้นถ้าใครมาทำงานแล้วเขาสามารถเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจปัญหา เข้าใจสภาวะอารมณ์ตัวเอง แล้วเขาสามารถสร้างพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ สร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัย สร้างพื้นที่ที่ทำให้เขามีความสุขในทุกๆ วัน สังคมนั้นมันจะแฮปปี้มากๆ เลย

จริงๆ ปัญหาบางเรื่องอย่างปัญหาครอบครัวมันก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ถ้ามองในมุมของนักจิตวิทยา เราแค่ให้คำปรึกษาหรือเครื่องมือไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็แล้วแต่บุคคลคนนั้นว่าเขาจะนำไปใช้ยังไง แต่สิ่งสำคัญที่เหมียวเน้นย้ำคือเรื่องความเมตตา ให้เรามีความเมตตาต่อกัน รับฟังกัน ไม่ปิดกั้นกันไม่ว่าจะเป็นอารมณ์บวกหรือลบ แล้วก็ดีลกับอารมณ์นั้นได้ 

ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเรื่องของใครของมัน สมมติเพื่อนร่วมงานของเราทะเลาะกับสามี หรือลูกมีปัญหา เขาก็จะแบกอารมณ์ที่เป็นก้อนขมุกขมัวนั้นมาทำงาน นั่งทำงานอยู่เงียบๆ คนเดียวในมุมมืด ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไม่ทักทายคนข้างๆ ถามว่าเรายังจะทำงานอย่างมีความสุขไหม แต่ถ้าเราหันหน้าไปมองเพื่อนเรา บางทีไม่ต้องพูดอะไร แค่เข้าไปกอด ไปจับไหล่ให้กำลังใจ แล้วถามนิดนึงว่า “กินข้าวหรือยัง” นี่ก็คือความเมตตาแล้วค่ะ ซึ่งในโลกของเรา พื้นฐานเรื่อง Empathy สมควรที่จะถูกผลักดันและปลูกฝังค่ะ”

เมื่อถามถึงแนวทางการออกแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงาน คุณเหมียวยกตัวอย่าง คอร์สจิตวิทยาสี ที่ช่วยให้พนักงานรู้จักลักษณะนิสัยของตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น

“เป็นหลักสูตรของ Birkman Test ค่ะ นักจิตวิทยาชื่อคุณเบิร์กแมนได้คิดค้นวิธีการจำแนกมนุษย์ออกเป็น 4 สี แต่ละสีจะมีจุดเด่นจุดด้อยจุดบอดต่างกัน ซึ่งในทีมหรือองค์กรมักจะมีคนอยู่ 4 ประเภท แบบสีแดงเป็นคนลงทุนเป็นผู้นำ สีน้ำเงินเป็นนักสร้างสรรค์ นักนวัตกรรม สามารถทำงานรูทีนเก่ง สีเหลืองเป็นคนที่มีความละเอียดรอบคอบสามารถเป็นนักบัญชีได้ หรือแบบสีเขียวจะเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่สามารถรวมใจคนได้ ซึ่งถ้าทุกสีก้าวข้ามจุดบอดของตัวเอง เข้าใจในจุดด้อยของแต่ละสีที่ต่างกัน และสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม เหมียวว่าอันนี้คือประสิทธิภาพที่จะนำองค์กรไปได้อย่างสร้างสรรค์ที่สุด”

นอกเหนือจากความเข้าใจในความแตกต่างด้านลักษณะนิสัยแล้ว คุณเหมียวยังชวนทุกคนมองลึกลงไปในความเป็นมนุษย์ที่เราต่างมีเหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มสีไหนก็ตาม 

“ไม่มีใครสุขหรือทุกข์ตลอด ทุกคนต่างมีมุม God Mode และ Evil Mode ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะไม่มองว่าคนอื่น Toxic เลย เพราะเราเข้าใจมนุษย์ เราเข้าใจคนอื่นเหมือนที่เราเข้าใจตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจผู้อื่นได้ แล้วไม่ตัดสินเขา เราต้องเข้าใจตัวเองและต้องไม่ตัดสินตัวเองก่อน 

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราจะปรับตัวเองยังไงให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น เพราะตัวเราเองก็มีมุมที่ Toxic เหมือนกัน เพื่อนร่วมงานเราก็เช่นกัน แล้วทำไมเราไม่หันด้านที่เป็น God Mode ใส่กันใช่ไหมคะ”

แม้กิจกรรมในลักษณะนี้จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้ แต่ต้องยอมรับว่าหากไม่มีการสนับสนุนจากผู้บริหารองค์กร ย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้ทั้งชั่วโมงการทำงานและค่าใช้จ่าย ซึ่งคุณเหมียวบอกว่าที่โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์นอกจากผู้บริหารจะสนับสนุนในทุกด้านแล้ว ยังร่วมปฏิบัติกับพนักงานด้วย

“เรามีกิจกรรม Sound Bath เป็น Crystal Bowl สำหรับคนที่แพนิกให้เขารู้สึกดีขึ้น แล้วที่นี่ก็มีศูนย์ภาวนา มีกระท่อมแห่งการฝึกสติทั้งหมด 3 หลัง ทั้งหมดสร้างจากแรงจูงใจของ CEO คือคุณโบว์กับคุณดำ เพื่อให้พนักงานทุกคนมีพื้นที่ที่สามารถมาฝึกสติด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องลางาน คือวันไหนที่พนักงานมาทำงานแล้วรู้สึกมีปัญหาต่างๆ ก็สามารถมาฝึกสติในบริษัทได้เลย โดยที่ CEO จะนับเป็นเวลางานให้ด้วย พอเขาได้มาเดินจงกรม สวดมนต์ ฝึกภาวนาทั้งวัน เขาก็สงบขึ้น เรียนรู้กับสภาวะอารมณ์ของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น แล้วก็กลับไปทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้เห็นผลชัดเจนเลยค่ะ

ศูนย์ภาวนานี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับพนักงาน และไม่ใช่แค่พนักงานอย่างเดียวนะคะ ครอบครัวของพนักงานก็สามารถเข้ามาใช้สถานที่ตรงนี้ได้ หรือแม้กระทั่งเข้ารับบริการให้คำปรึกษาค่ะ เพราะเหมียวให้คำปรึกษาแฟนของพนักงาน พ่อแม่ของพนักงาน ลูกของพนักงานด้วยถ้าใครอยากเข้ามารับบริการก็ติดต่อลงคิวได้ เหมียวจะให้คำปรึกษา 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่งค่ะ ซึ่งทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะเหมียวเองก็ถือเป็นพนักงานคนหนึ่ง เพียงแต่อยู่ในส่วนของศูนย์ภาวนาค่ะ”

คุณเหมียวทิ้งท้ายว่า นักจิตวิทยาองค์กรในมุมของเธออาจเปรียบได้กับการเป็น Healer หรือผู้ส่งต่อพลังงานบวก เพราะเธอมองว่าถึงที่สุดหน้าที่ของเธอไม่ใช่แค่การเยียวยาปัญหาของแต่ละคน แต่ยังช่วยให้คนเหล่านั้นสามารถส่งต่อพลังบวกแก่ผู้อื่นต่อไป

“เหมียวชอบคำว่านักปรึกษาเยียวยาอารมณ์มาก และชอบให้ตัวเองเป็น Healer เพราะเวลาเราส่งต่อพลังงานที่เยียวยาผู้คน เมื่อคนๆ นั้นเยียวยาตัวเองได้แล้ว เขาก็สามารถเยียวยาเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างของเขาได้ด้วย มันเริ่มจากหนึ่งแล้วก็ส่งต่อออกไป จนเกิดเป็นองค์กรขึ้นมาเหมียวว่าอันนี้มันน่ารัก และอยากให้ทุกองค์กรเปิดกว้างให้นักจิตวิทยาเข้าไปช่วยทำงานในองค์กรมากขึ้น เพราะตอนเราเป็นเด็ก เรายังมีครูแนะแนวประจำโรงเรียนเพื่อช่วยให้เรารับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ ดังนั้นจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มันคือการดูแลและพัฒนาชีวิตของเราให้ดีขึ้น อยากให้ทุกคนสนับสนุนแล้วก็เข้าใจในเรื่องจิตวิทยามากขึ้นค่ะ”

Tags:

สุขภาพจิตจิตวิทยาการทำงานนักจิตวิทยาองค์กรโบว์เบเกอรี่เฮาส์

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Book
    วิชาสำคัญที่คุณควรรู้ก่อนที่ชีวิตจะสอนคุณ: สุขภาพจิตก็ไม่ต่างจากสุขภาพกาย…ไม่มีใครมีภูมิคุ้มกันมาตั้งแต่เกิด 

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Healing the trauma
    จิตวิทยาของการกราดยิง (mass shooting): บาดแผลทางใจและการรับมือกับเหตุการณ์เลวร้าย

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    มองโลกแบบไหนถึงเรียกว่าในแง่ร้าย

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    ‘คนเดียวที่จะทำให้เรามีความสุขได้ คือ ตัวเรา’ 5 สถานการณ์ที่ทำให้เราไม่เชื่อในเรื่องความสุขอีกต่อไป และวิธีดึงความสุขกลับมาที่ตัวเรา

    เรื่อง The Potential

  • Character building
    ระบุที่มาของความสุขและทุกข์ด้วยหลัก PERMA และจงวาดวงกลมความทุกข์ให้เต็มกระดาษเอสี่!

    เรื่อง เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

‘Dragon Parents’ พ่อแม่ผู้ยอมรับอนาคตที่ไม่แน่นอน ด้วยการอยู่กับปัจจุบัน และรักอย่างไม่มีเงื่อนไข
Family Psychology
3 February 2025

‘Dragon Parents’ พ่อแม่ผู้ยอมรับอนาคตที่ไม่แน่นอน ด้วยการอยู่กับปัจจุบัน และรักอย่างไม่มีเงื่อนไข

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • พ่อแม่มักถูกคาดหวังให้เป็น ‘ยอดมนุษย์’ ต้องเลี้ยงลูกออกมาให้เป็นเด็กที่เก่งและดีกว่าคนอื่น อย่าให้เขาได้ประสบกับความลำบากที่ตัวเองได้เคยพบเจอ แต่ทุกคนกลับละเลยความจริงที่ว่า ‘ลูกของเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป’
  • จะเป็นอย่างไรหากอนาคตของลูกเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อเขาเผชิญกับโรคร้ายแรงที่อาจทำให้ชีวิตสั้นลง คำตอบอาจอยู่ในแนวคิดของ ‘Dragon Parents’ ที่ช่วยให้พ่อแม่เข้าใจและผ่านพ้นเรื่องเหล่านี้ไปได้
  • แนวคิด Dragon Parents ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า บางครั้งพ่อแม่ก็คิดถึงภาพในอนาคตมากเกินไป จนละเลยความสำคัญในปัจจุบัน จริงอยู่ที่พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้กับลูก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรละเลยการสร้างความทรงจำที่ดีในปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงการดูแลเด็กแล้ว หลายคนย่อมนึกถึงการวางแผนเพื่อมอบอนาคตที่สดใสให้กับเขา พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจินตนาการถึงอนาคตในวันที่ลูกของตนเติบโตขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร เช่น เขาจะเรียนอะไร มีเพื่อนแบบไหน จะทำงานอะไร 

แต่จะเป็นอย่างไรหากอนาคตของลูกเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เมื่อเขาเผชิญกับโรคร้ายแรงที่อาจทำให้ชีวิตสั้นลง คำตอบอาจอยู่ในแนวคิดของ ‘Dragon Parents’ ที่ช่วยให้พ่อแม่เข้าใจและผ่านพ้นเรื่องเหล่านี้ไปได้

คำว่า Dragon Parents เกิดขึ้นโดย Emily Rapp ศาสตราจารย์ด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่ Santa Fe University of Art and Design จากเรื่องราวชีวิตของตน ในเวลานั้น Emily เป็นแม่ที่มีลูกชายคนแรกชื่อ Ronan

ขณะที่ Ronan อายุ 9 เดือน เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค Tay-Sachs ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมหายาก โดยมีโอกาสเกิดในทารกเพียง 1 ใน 5 ล้าน โรคนี้ทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างปกติ ส่งผลร้ายแรงต่อพัฒนาการของร่างกาย

Emily ทราบดีว่าแต่ละวันที่ผ่านไป ลูกของตนมีแต่จะยิ่งเข้าสู่ภาวะเจ้าชายนิทรา โรคนี้ไม่มีทางรักษาและเขาเองก็คงไม่มีโอกาสได้ฉลองวันเกิดครบ 4 ขวบ

เธอกล่าวว่า “พ่อแม่ทุกคนต่างต้องการให้ลูกของตนประสบความสำเร็จและเป็นคนสำคัญ พวกเราพาลูกไปสมัครเรียนดนตรี หรือพาไปเรียนว่ายน้ำด้วยกัน เพราะหวังว่าเขาจะแสดงความสามารถอันน่าทึ่งออกมา ซึ่งจะทำให้เขาโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ และโดดเด่นกว่าพวกเราเองในฐานะพ่อแม่ที่มีความภูมิใจอยู่เต็มอก”

อนาคตเหล่านั้นไม่มีอีกแล้ว

การเลี้ยงลูกโดยทั่วไปมักฉายภาพถึงอนาคตที่ลูกประสบความสำเร็จและมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเส้นทางที่นำสู่อนาคตเหล่านั้นอยู่ในแนวคิดของ ‘Tiger Parents’ การเลี้ยงลูกที่พ่อแม่เข้มงวดดุจ ‘เสือ’ เพื่อเคี่ยวเข็ญศักยภาพของเขาออกมาให้ยอดเยี่ยมในทุกด้าน

พ่อแม่ในลักษณะนี้มุ่งไปที่เป้าหมายเพื่ออนาคต การเรียนหนัก ทำงานหนัก ก็เพื่อความสำเร็จของลูกเองในภายภาคหน้า

Emily ก็เคยเป็นพ่อแม่เช่นนั้น พ่อแม่ที่มองหาเส้นทางที่ดีที่สุดสำหรับลูก ตอนที่เธอตั้งครรภ์ เธอลิสต์กิจกรรมมากมายที่จะให้ลูกทำเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ แต่ในตอนนี้ Ronan คงไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมเหล่านั้น และตัวเธอเองก็คงจะเป็นพ่อแม่แบบนั้นไม่ได้แล้ว

“ไม่ว่าเราจะทำอะไรเพื่อ Ronan…เขาก็จะต้องตาย”

พ่อแม่มักถูกคาดหวังให้เป็น ‘ยอดมนุษย์’ ต้องเลี้ยงลูกออกมาให้เป็นเด็กที่เก่งและดีกว่าคนอื่น อย่าให้เขาได้ประสบกับความลำบากที่ตัวเองได้เคยพบเจอ แต่ทุกคนกลับละเลยความจริงที่ว่า ‘ลูกของเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป’

การกล่าวว่า ‘ลูกของเราจะต้องตาย’ อาจดูหดหู่และสิ้นหวัง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมมิใช่หรือ ทุกสิ่งย่อมเดินไปสู่ความเสื่อม ไม่ว่าพ่อแม่จะเลี้ยงลูกอย่างไร ลูกจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่สักวันหนึ่งลูกของเราก็ต้องตาย ไม่เว้นแม้แต่ตัวพ่อแม่ ดังนั้นเราทุกคนจึงอยู่ในสภาวะที่ไม่ต่างกัน

Emily ตัดสินใจละทิ้งอนาคตเหล่านั้น ละทิ้งจินตนาการที่จะได้เห็น Ronan ทำคะแนนสอบดีๆ และถือใบปริญญาจากฮาร์วาร์ด เธอจะไม่รอให้ Ronan ทำให้เธอภูมิใจ เธอจะไม่คาดหวังผลตอบแทนในอนาคตจากการลงทุนของเธอ

สิ่งที่เธอทำได้คือ อยู่กับ ‘ปัจจุบันขณะ’ ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรเธอก็จะรัก บอกรักโดยไม่สนใจว่าเขาจะได้ยินหรือไม่ 

“เราจะไม่ส่งลูกของเราไปสู่อนาคตที่สดใส แต่เราจะได้เห็นเขาในหลุมศพตั้งแต่วัยเยาว์ เราจะเตรียมตัวที่จะสูญเสียเขาไป และหลังจากนั้นอาจเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปหลังจากการสูญเสีย สิ่งนี้ต้องการความดุร้ายแบบใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ สัตว์ชนิดใหม่ เราเป็นพ่อแม่มังกร ดุร้าย ซื่อสัตย์ และรักอย่างสุดหัวใจ”

เธอกล่าวว่า ‘มังกร’ หรือ ‘Dragon’ ในภาษาอังกฤษมาจากภาษากรีกที่แปลว่า ‘การมองเห็นอย่างชัดแจ้ง’ เธอเข้าใจแล้วว่าการอยู่กับปัจจุบันและการสร้างความทรงจำอันมีค่าร่วมกันสำคัญที่สุด

เธอรู้ดีว่าสถานการณ์เช่นนี้ย่อมโศกเศร้า เธอรู้สึกผิดที่ทำอะไรเพื่อแก้ไขโรคนี้ไม่ได้เลย แต่เมื่อความรู้สึกผิดนี้เข้ามา เธอก็จะรู้สึกผิดที่ปล่อยให้เสียเวลาไปสูญเปล่า ดังนั้นเธอจึงควรยินดีที่ลูกยังมีชีวิตอยู่ และจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง

เมื่อมองย้อนกลับไปที่เรื่องราวของ Emily และแนวคิด Dragon Parents ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า บางครั้งพ่อแม่ก็คิดถึงภาพในอนาคตมากเกินไป จนละเลยความสำคัญในปัจจุบัน 

จริงอยู่ที่พ่อแม่ควรเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้กับลูก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรละเลยการสร้างความทรงจำที่ดีในปัจจุบัน

สิ่งที่สำคัญที่สุดอาจไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังจากลูกในอนาคต แต่คือความสุขและความรักในทุกช่วงเวลาที่ได้ใช้ร่วมกัน

อ้างอิง

Emily Rapp. (2011). Notes From a Dragon Mom.

Sarah Manguso. (2013). Requiem.

Stephen Murphy-Shigematsu. (2014). Learning Mindful Parenting From Dragon Moms.

Yuko Munakata. (2019). Why Most Parenting Advice is Wrong | Yuko Munakata | TEDxCU.

Tags:

พ่อแม่ความคาดหวังความสุขการสูญเสียความรักที่ไร้เงื่อนไข (unconditional love)Dragon Parents

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Online Parenting Theory-nologo (2)
    Family Psychology
    สารพัดทฤษฎีเลี้ยงลูกออนไลน์ พ่อแม่ควรทำอย่างไรท่ามกลางข้อมูลที่ท่วมท้น

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Extended family-no logo
    Family Psychology
    ‘It takes a village to raise a child.’ เพราะมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ให้ ‘พ่อแม่’ เลี้ยงลูกเพียงลำพัง

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    เลี้ยงลูกทั้งเหนื่อยทั้งหนัก ขอพักไปเล่นมือถือได้ไหม

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Family Psychology
    ก้าวข้ามมายาคติ ‘ครอบครัวอบอุ่นแสนดี’ แห่งยุคโซเชียล:  หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา

    เรื่อง ลลิตา ไวสินิทธ์ธรรม

  • Family Psychology
    ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (พ่อแม่ก็เช่นกัน)

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

‘ห้องเรียนระบบสอง’ การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตามโจทย์ชีวิตจริง:  นวัตกรรมการศึกษาแก้ปัญหาเด็ก Drop Out โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ
Social Issues
3 February 2025

‘ห้องเรียนระบบสอง’ การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตามโจทย์ชีวิตจริง:  นวัตกรรมการศึกษาแก้ปัญหาเด็ก Drop Out โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ

เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • การศึกษาคือใบเบิกทางของความสำเร็จ และเป็นใบเบิกทางที่ใหญ่พอสมควรสำหรับอนาคตเด็ก ทั้งเรื่องของวุฒิการศึกษา ความรู้ ทักษะต่างๆ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีที่มาและพื้นฐานที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเด็กแบบรายบุคคล 
  • ปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัว ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเรียนในระบบปกติได้ กับเด็กอีกกลุ่มที่ไม่อยากเรียนในระบบ เนื่องจากหลักสูตรไม่ตอบโจทย์ เบื่อหน่ายการเรียนในห้องเรียน อยากลงมือทำงานจริงมากกว่า ‘ห้องเรียนระบบสอง’ จึงเข้ามาแก้ปัญหาเด็กที่หลุด-เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาทั้งสองกลุ่มนี้
  • ห้องเรียนระบบสองนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างในระบบกับตามอัธยาศัย คือ เด็กเลือกที่จะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ โดยยังอยู่ในระบบของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น

“ผมอาจจะเรียนไม่เก่ง แต่การทำงานเก่งครับ …ผมชอบลงมือ มากกว่ามานั่งเขียน คือชอบลงมือปฏิบัติมากกว่านั่งเรียนทฤษฎี”

เอิร์ท-ธนภัทร ธรรมแสง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากห้องเรียนระบบสอง โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย บอกกับ The Potential เมื่อถามถึงการเรียนรู้ที่คิดว่าตอบโจทย์ชีวิตตัวเองที่สุด ณ ตอนนี้

เนื่องด้วยข้อจำกัดในชีวิตทำให้เอิร์ทไม่สามารถเลือกเรียนในระบบปกติ หรือที่โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ เรียกว่า ‘ห้องเรียนระบบหนึ่ง’ ได้ เช่นเดียวกับเด็กส่วนใหญ่ในห้องเรียนระบบสองที่ครอบครัวมักมีปัญหาทางการเงิน จำเป็นต้องออกมาหางานทำ เพื่อเลี้ยงปากท้อง จึงทำให้มาเรียนบ้าง ขาดเรียนบ้าง จนในที่สุดก็หลุดจากระบบการศึกษา และอีกส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของตัวนักเรียนเองที่ไม่ชอบการเรียนในห้องเรียน และค่อนข้างเรียนรู้ช้า จึงขาดเรียนบ่อย ปัญหาที่ตามมาคือ ผลการเรียนต่ำ ติด 0 ร มส. เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกเช่นกัน 

ทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีโอกาสทางการศึกษาไปพร้อมๆ กับสร้างรายได้ และสร้างมายด์เซ็ตให้เด็กเห็นความสำคัญของการศึกษา เห็นคุณค่าของโอกาสทางการศึกษา เรียนรู้อย่างมีความสุข นี่จึงเป็นโจทย์หลักที่โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ พยายามหาวิธีการแก้ปัญหาเด็กที่เสี่ยงหลุด-หลุดออกจากระบบการศึกษาได้กลับเข้ามาเรียนจนจบตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นใบเบิกทางสำหรับการทำงานในอนาคต จึงเกิดเป็น ‘ห้องเรียนระบบสอง’ ขึ้น

ห้องเรียนระบบสอง คืออะไร?

“เด็กควรมีสิทธิได้เลือก และมีโอกาสในชีวิต ได้เรียนได้ทำงาน เป็นการศึกษาแบบยืดหยุ่น”

ผอ. พิเศษ ถาแหล่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม กล่าวในเวที ‘กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ออกแบบเส้นทางการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นไร้รอยต่อ’ เพื่อสร้างการรับรู้และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในพื้นที่ตำบลห้วยซ้อ จังหวัดเชียงราย

“ภาพจำของการจัดการศึกษาในระบบ คือ เด็กนักเรียนจะต้องมาโรงเรียน 8 โมง และเลิกเรียน 4 โมงเย็น มีการนั่งเรียนในห้อง มีการสอบที่ครูเป็นคนออกข้อสอบ แล้วก็บอกว่าเด็กได้เกรดอะไร ได้เกรด 4 คือนักเรียนที่เก่งมาก เกรด 0 คือเด็กคนนี้ไม่ค่อยเก่งนัก หรือไม่เก่งเลย ก็จะเป็นภาพในระบบการศึกษาที่ห้วยซ้อวัดความสามารถของเด็ก จนได้มาเจอกับสถานการณ์โควิด เนื่องจากตอนนั้นเราก็ไม่สามารถให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนได้ เด็กจึงเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบง่ายขึ้น และเป็นความตั้งใจที่ผมเองมองว่า สำหรับเด็กที่เขาไม่สามารถเรียนในระบบได้ เนื่องจากปัญหาทางการเงิน ปัญหาครอบครัว เขาจะยังคงได้เรียนอยู่

สถานการณ์โควิดทำให้รู้ว่าห้วยซ้อมีเด็กกลุ่มนี้เกิดขึ้น ด้วยเจตนาตั้งต้นไว้แล้วว่าให้เขาได้เรียนจบม.3 เพื่อเป็นใบเบิกทางในการทำอาชีพ ครูก็พยายามที่จะหาแนวทาง พยายามโน้มน้าวเด็กว่าเธอต้องเรียนให้จบนะ เราเกือบจะถึงเส้นชัยแล้ว เพราะฉะนั้นต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่าวุฒิการศึกษา”

จากแนวคิดดังกล่าวจึงเกิดเป็น ‘ห้องเรียนระบบสอง’ นวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ โดยทางโครงการก่อการครู โครงการห้องเรียนข้ามขอบ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาเป็นลมใต้ปีกคอยซัพพอร์ตให้ห้องเรียนระบบสองมีคุณค่าและเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น 

“เด็กควรจะมีสิทธิได้เลือกและมีโอกาสในชีวิต มีพื้นที่ในการเรียนรู้ควบคู่กับการดำเนินชีวิตของเขาด้วย ทำให้การศึกษายืดหยุ่นขึ้น 

ผมอยากให้ภาพจำนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา อยากให้ครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน เห็นภาพการศึกษาเหล่านี้ควบคู่กันไป เปลี่ยนภาพจำเดิมเพิ่มภาพจำใหม่ เรื่องของการจัดการศึกษาให้ลูกหลานเรา สร้างรากฐานแก่ชีวิตของเด็ก ครอบครัว ชุมชน”

ผอ.พิเศษ กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาคือใบเบิกทางของความสำเร็จ และเป็นใบเบิกทางที่ใหญ่พอสมควรสำหรับอนาคตเด็ก ทั้งเรื่องของวุฒิการศึกษา ทั้งเรื่องของความรู้ ทักษะต่างๆ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีที่มาและพื้นฐานที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเด็กแบบรายบุคคล 

“บางคนมีข้อจำกัดของชีวิต ไม่ใช่เขาไม่อยากเรียน แต่สิ่งที่พวกเราผู้ใหญ่มองบนพื้นฐานพฤติกรรม การแสดงออกหลายๆ อย่าง มองกันเพียงว่าใต้ลึกลงไปมีเงื่อนงำและความจำเป็นที่เขาไม่สามารถบอกได้อีกเยอะ”

ออกแบบการเรียนรู้ บูรณาการผ่าน 7 On

เพราะไม่อยากทิ้งเด็กคนไหนไว้กลางทางสักคนเดียว ผอ.และครู โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงพยายามจับมือเด็กๆ กลุ่มที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เดินไปพร้อมๆ กัน บนเส้นทางที่เด็กมีสิทธิเลือกเอง

ครูกิ๊ก-พรรณภา ชิมโพธิ์ครัง ครูชำนาญการพิเศษ สอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ซึ่งเป็นทีมหลักที่คอยประสานและทำงานในห้องเรียนระบบสอง กล่าวว่า ในการจัดการเรียนการสอนหลักๆ มีด้วยกัน 2 ระบบ คือการศึกษาในระบบและการศึกษาแบบตามอัธยาศัย หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ‘กศน.’ ซึ่งห้องเรียนระบบสองนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างในระบบกับตามอัธยาศัย คือ เด็กเลือกที่จะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ โดยยังอยู่ในระบบของการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

สำหรับการออกแบบการเรียนรู้และประเมินผล ครูกิ๊กอธิบายว่า ปัจจุบันอิงตามการจัดการเรียนรู้ที่ทำกันในช่วงโควิด โดยจะมีทั้งหมด 7 On ด้วยกัน คือ On-site, Online, On Home, On demand, On hand และ On Community 

เริ่มจาก On-site นัดพบปะนักเรียนเทอมละ 3 ครั้ง เพื่อทำกิจกรรม โดยกิจกรรมจะเป็นลักษณะบูรณาการ ครูจะกำหนดหัวข้อว่า ต้องการให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร และอาจพาไปเรียนรู้นอกสถานที่ เช่น ศูนย์ฝึกอาชีพ เป็นต้น

“ในส่วนของ Online เราจะจัดให้เรียนทุกๆ เย็นวันพุธ เวลา 18.00 น.สำหรับเด็กๆ ที่อยากเรียนกับครูโดยการนั่งเรียนอยู่ที่บ้าน ส่วน On Home นั้นเราจะมีบันทึกประจำวันให้กับเด็กๆ เพราะเขาต้องอยู่บ้านและทำงานตามอาชีพของเขา เราก็จะให้เขาบันทึกร่องรอยประสบการณ์ของเขาว่าทำอะไร ได้รับประสบการณ์อะไรบ้างและพบปัญหาอะไร รวมถึงให้เก็บร่องรอยด้วยการบันทึกภาพถ่ายและวิดีโอ ซึ่งพอท้ายเทอมเขาจะต้องเอาสิ่งเหล่านี้มานำเสนอกับครู 

ส่วน On demand เราจะมีการอัปโหลดคลิปวิดีโอการเรียนการสอนทุกวิชาของครูทุกคนไว้ที่หน้าเว็บไซต์ของโรงเรียน นักเรียนก็จะต้องเข้าไปเรียนตามความสนใจของตัวเอง โดยนักเรียนจำเป็นต้องเรียนให้ครบทุกวิชา และ On Hand คือเราจะให้งานเด็กไปทำ 

สุดท้าย On Community คือเด็กจะต้องมีส่วนร่วมในชุมชน ถ้าในชุมชนมีงานต่างๆ เช่น งานวัด งานศพ งานประชุมประจำเดือน นักเรียนก็ต้องไปเข้าร่วมมาและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เพื่อที่ในปลายภาคเรียนครูจะสามารถประเมินผลจากงานและร่องรอยต่างๆ ที่นักเรียนส่งมาได้ ซึ่งตอนประเมินผลก็มีทั้งให้เด็กทำเป็นคลิปวิดีโอมาส่ง และสัมภาษณ์เขา เพราะเด็กบางคนอาจไม่ถนัดการทำวิดีโอ จึงพยายามใช้วิธีการที่หลากหลาย”

ผลลัพธ์ที่มากกว่าเกรดเฉลี่ย คือทักษะที่ติดตัวเด็ก

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของเด็กหลังจากที่เข้ามาเรียนในห้องเรียนระบบสองของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ครูกิ๊กมองว่าเด็กๆ มีทักษะชีวิตและความรับผิดชอบที่มากขึ้น มีทักษะในการแก้ปัญหา

“เราจะเห็นว่าเด็กระบบสองบางคนเขาโตขึ้น มีทักษะชีวิต รับผิดชอบมากขึ้น และโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จากแต่ก่อนเขาอาจจะไม่มีตัวตนในห้องเรียน เอาแต่เล่นเกมหรือนอน พอเขามาอยู่ระบบสองเขาก็โตขึ้นเยอะจากประสบการณ์การไปทำงานหรืออยู่ข้างนอก ทำให้ทักษะชีวิต ความคิดเปลี่ยนไปเยอะ”

แม้การเรียนรู้ลักษะนี้จะยืดหยุ่นและให้อิสระเด็ก แต่ถึงอย่างนั้นครูกิ๊กมองว่า ห้องเรียนระบบสองนี้ยังมีข้อเสียที่เห็นได้ชัดอยู่ นั่นคือเรื่องของการวัดประเมินตามตัวชี้วัด 

“ข้อเสียครูมองว่าการจัดการศึกษาก็อาจจะไม่เต็มที่ตามตัวชี้วัด ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่หลายๆ ภาคส่วนต้องช่วยกันหาแนวทางว่าระบบสองจะมีคุณภาพได้อย่างไรหากไม่ได้เรียนหรืออยู่ในห้องเรียน แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งคือเด็กเขาก็จะมีทักษะจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในขณะที่เด็กระบบปกติต้องอาศัยครูคอยป้อนให้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันดีไหม มันก็ต้องมีการพัฒนาต่อไป เราต้องหาวิธีการที่ทำให้เด็กได้รับความรู้มากที่สุด

ตอนนี้เราทำงานร่วมกับโครงการห้องเรียนข้ามขอบ ทำให้เราได้รับความรู้และกระบวนการในการวัดและประเมินผลมากขึ้น สิ่งที่เป็นความท้าทายและสิ่งที่จะทำต่อไปคือการพัฒนาการวัดและประเมินผล และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งก็จะต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเราทำแบบเดิมเด็กก็จะเบื่อ เราเลยต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ” 

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ครูเองก็ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปพร้อมกับเด็กด้วย 

“รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปเยอะค่ะ คือแต่ก่อนเราจะยึดเกณฑ์เป๊ะๆ ว่าเท่านี้ๆ ถึงผ่าน การประเมินการวัดผลของเราจะเป็นเกณฑ์เดียว เครื่องมือตัวเดียว แต่พอมาคลุกคลีกับห้องเรียนระบบสอง เราเห็นสภาพเด็กๆ เราก็มีมุมมองที่เปลี่ยนไปเพราะเด็กมีความหลากหลาย จึงต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น กับเด็กระบบหนึ่งเอง เราก็ได้เรียนรู้จากตรงนี้และนำไปปรับใช้ คือเรามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ฟิกซ์กับแค่เครื่องมือเดียว แต่ใช้หลายๆ เครื่องมือมากขึ้น เพราะเด็กในห้องก็เหมือนเด็กในระบบสองค่ะ คือเด็กมีความแตกต่างหลากหลาย จะใช้เกณฑ์เดียวไม่ได้”

“เราอาจจะไม่ต้องใช้โมเดลห้องเรียนระบบสองก็ได้นะคะ เพราะแต่ละโรงเรียนอาจจะมีตัวแปรที่ต่างกัน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือเราจะทำยังไงให้นักเรียนไม่หลุดออกจากระบบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงเรียน และสามารถออกแบบได้เอง” ครูกิ๊ก ทิ้งท้าย

Tags:

โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯห้องเรียนระบบสองทักษะชีวิตนวัตกรรมการศึกษาทักษะอาชีพเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาการศึกษาที่ยืดหยุ่นflexible learning

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Social Issues
    Tambon Zero Dropout เราจะไม่ทิ้ง ‘เด็กนอกระบบ’ ไว้ข้างหลัง: หมอตุ้ย-สันติพงษ์ ศิลปสมบูรณ์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Kru Lisa
    Social Issues
    “การเป็นครูแปลว่าต้องดูแลเด็กตั้งแต่จิตใจ” ครูลีซ่า-นูริทรา แปแนะ ครูนางฟ้าที่ใช้การสื่อสารเชิงบวก รับฟังและอยู่เคียงข้าง

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • heart&how
    Social Issues
    Heart & How สร้างพื้นที่ปลอดภัย กู้ ‘ใจ’ วัยเรียน 

    เรื่อง The Potential

  • เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ สานฝันสร้างโอกาสให้เด็กก้าวพลาดได้เริ่มต้นใหม่

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Adolescent Brain
    เอาชนะอัลกอริทึม (1) : Me, We และ Why ติดทักษะการจัดการตัวเอง เตรียมพร้อมเด็กสำหรับโลกที่เปลี่ยนไป

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel