- พ่อครับ..รักผมได้ไหม? (Like Father Like Son) เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นแนวดรามาของ Hirokazu Kore-Eda ผู้กำกับชื่อดังที่คว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2013
- เนื้อหาหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการชวนให้ผู้ชมคิดไปพร้อมๆ กับตัวละครว่าหากลูกที่เลี้ยงดูมาอย่างดีแท้จริงแล้วคือลูกของคนอื่นที่ถูกสลับตัวตั้งแต่แรกเกิด เราจะยังรักลูกที่เลี้ยงมาได้เหมือนเดิมไหม จริงหรือไม่ที่ว่า…’เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ’
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน]
สมัยมัธยมต้น ผมมักชวนเพื่อนแถวบ้านไปตีแบตที่คอร์ททุกวันเสาร์ จำได้ว่าตอนนั้นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับผมที่สุดคือลูกชายของเพื่อนสนิทลุง
นอกจากความสนุกสนานและมิตรภาพ สิ่งที่ผมสงสัยแต่ไม่กล้าถามเพื่อนสักครั้งคือทำไมเขาถึงหน้าตาไม่เหมือนพ่อแม่ตัวเองสักนิด กระทั่งตอนมัธยมปลาย ผมได้รับข่าวว่าเขาถูกโรงเรียนไล่ออกโทษฐานที่แอบเล่นไพ่ช่วงพักกลางวัน
“…ผมเคยเตือนมันตั้งแต่ตอนจะเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงแล้ว ก็เชื้อมันมาอย่างนั้น จะทำเรื่องพรรค์นี้ก็ไม่แปลก” ลุงกล่าวกับป้าในห้องรับแขก แม้ผมจะบังเอิญผ่านมาได้ยินสั้นๆ แต่นั่นก็พอจะตอบความสงสัยของผมในย่อหน้าก่อน
ทว่าความสงสัยของผมหลังจากนั้นยังไม่สิ้นสุด อาจเพราะประโยคที่ได้ยินวันนั้นมีการพูดถึง ‘เชื้อ’ ซึ่งคล้ายคลึงกับฉากสั้นๆ ในภาพยนตร์ พ่อครับ..รักผมได้ไหม? (Like Father Like Son) ที่ ‘เรียวตะ’ ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมลูกชายตัวน้อยถึงดูไม่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังเหมือนกับเขา กระทั่งวันหนึ่งเขาได้ทราบความจริงจากโรงพยาบาลว่าตนถูกสลับตัวลูกชายเมื่อห้าปีที่แล้ว และประโยคที่เขาโพล่งออกมากับภรรยาหลังทราบผลตรวจ DNA คือคำว่า “เพราะอย่างนี้นี่เอง”
ก่อนจะทราบว่า ‘เคตะ’ ลูกที่เลี้ยงมาห้าปีไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของตัวเอง เรียวตะเป็นภาพตัวอย่างของชนชั้นกลางที่ขยันทำงานทั้งวันทั้งคืนจนมีฐานะร่ำรวย แต่กลับน่าเสียดายที่เงินทองนั้นต้องแลกมากับเวลาส่วนตัวที่หายไป โดยเฉพาะเวลากับลูกที่เหลือเพียงแค่หลังอาหารค่ำ
อย่างไรก็ตาม เรียวตะตั้งความหวังไว้สูงว่าเคตะจะมีนิสัยที่มุ่งมั่นอยากเอาชนะเหมือนเขา ทว่าเคตะกลับดูตรงกันข้ามและทำอะไรก็ไม่ค่อยสำเร็จ
ชีวิตของเรียวตะกับครอบครัวดำเนินต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งโรงพยาบาลได้แจ้งเขากับภรรยาว่า ‘เคตะ’ ไม่ใช่ลูกแท้ๆ แถมยังเป็นลูกของคนอื่นที่ถูกนางพยาบาลขี้อิจฉาจับสลับตัวกันเมื่อห้าปีก่อน พร้อมกับเชิญสองครอบครัวให้พาลูกมาเจอกัน ซึ่งครอบครัวฝั่งนั้นมีฐานะยากจนแถมยังดูไร้มารยาท ทำให้เรียวตะเริ่มมีความคิดว่าที่เคตะมีนิสัยไม่เหมือนเขาเป็นเพราะเคตะมีเลือดไม่เอาไหนของครอบครัวนั้นอยู่ในตัว
เท่านั้นไม่พอ เรียวตะยังนำเรื่องการพบเจอของสองครอบครัวไปพูดคุยกับพ่อ ซึ่งคำพูดของพ่อก็ทำให้ผมไม่แปลกใจสักนิดที่เรียวตะจะมีอคติเช่นนี้
“ฟังนะมันอยู่ในสายเลือด ทั้งคนทั้งม้านั่นแหละ สายเลือดสำคัญที่สุด ลูกบ้านโน้นจะหน้าตาเหมือนแกมากขึ้นทุกวัน แล้วเคตะก็จะหน้าเหมือนพ่อของเด็กคนนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน รีบๆ แลกตัวคืนมาซะ แล้วไม่ต้องไปเจอครอบครัวนั้นอีก” พ่อของเรียวตะกล่าว
ผมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรียวตะและพ่อของเขา เพราะผมเชื่อว่าแม้สายเลือดจะมีผลต่อรูปร่างหน้าตา แต่นิสัยใจคอของเด็กมักจะมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เช่นเดียยวกับเคตะที่เป็นเด็กเชื่อฟังและอยู่ในกรอบเหมือนเรียวตะ ส่วน ‘เรียวเซ’ ลูกแท้ๆ ของเรียวตะกลับดูทะลึ่งตึงตังเหมือนสองสามีภรรยาฝั่งนั้น
ขณะเดียวกันผมยังชื่นชอบความคิดของแม่เลี้ยงที่พยายามหาจังหวะเข้าไปคุยกับเรียวตะแบบสองต่อสองว่าเธอรู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำพูดของสามี
“ถึงพ่อเขาจะพูดยังไงก็ตาม แต่คนเราพออยู่ด้วยกันไป ถึงจะไม่เกี่ยวพันกันทางสายเลือด แต่ก็จะค่อยๆ รักกัน หน้าตาก็จะค่อยๆ เหมือนกันไปเองด้วย เหมือนคู่สามีภรรยาไงล่ะ พ่อแม่กับลูกก็คงเหมือนกัน ตอนที่เลี้ยงลูกสองคนมา แม่ก็คิดแบบนี้แหละ”
นอกจากคำพูดของแม่เลี้ยง ประโยคที่ผมชอบที่สุดในเรื่องคือตอนที่แม่ยายของเรียวตะกล่าวถึงความเป็นพ่อเป็นแม่เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“สมัยสงครามมีเด็กกำพร้าที่ต้องเอาไปให้คนอื่นเลี้ยงเยอะเลย เขาถึงว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูน่ะสำคัญกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดไงล่ะ”
อย่างไรก็ตาม เรียวตะยังคงยึดมั่นกับความคิดที่ว่าเลือดข้นกว่าน้ำ สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจขอเปลี่ยนลูกแท้ๆ คืน เพราะเขาไม่มั่นใจว่าจะสามารถรักเคตะที่ไม่ใช่ลูกในไส้ได้เหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า ทำเอาภรรยาของเรียวตะใจสลายเพราะในใจของเธอเคตะก็คือลูกของเธออยู่ดี
“เหตุผลเดียวที่คุณยังกังวลนักหนาว่าลูกจะเหมือนคุณหรือไม่เหมือน ก็เพราะคุณไม่รู้สึกผูกพันกับเขาเลยต่างหาก”
เช่นเดียวกันผมมองว่าหากไม่นับเรื่องสายเลือด การที่เรียวตะจะเลือกเปลี่ยนลูกง่ายๆ นั้นเป็นเพราะตัวของเขามัวแต่ทำงานจนไม่มีเวลามาผูกพันกับเคตะมากนัก และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพ่อแท้ๆ ของเคตะบอกเรียวตะว่าในช่วงเวลาหกเดือนมานี้เขายังอยู่กับเคตะมากกว่าที่เรียวตะอยู่กับลูกด้วยซ้ำ โดยผมขอยกตัวอย่างบทสนทนาสั้นๆ ของคุณพ่อทั้งสอง
“งานบางอย่างผมให้คนอื่นทำแทนไม่ได้” เรียวตะ บอก
“แต่นายก็ให้คนอื่นมาเป็นพ่อของลูกแทนนายไม่ได้เหมือนกัน” ยูได แย้ง
ส่วนฉากที่ตราตรึงที่สุดสำหรับแฟนภาพยนตร์หลายคน อาจเป็นฉากหลังจากที่เรียวตะแลกลูกคืน แล้วมานั่งหลั่งน้ำตาที่เห็นเคตะแอบถ่ายรูปเขาขณะนั่งทำงานหรือนอนแบบหมดสภาพเอาไว้ แต่สำหรับผมกลับเป็นฉากก่อนแลกตัวลูกที่เคตะทำดอกกุหลาบวันพ่อมาสองดอก โดยเคตะอธิบายว่าดอกหนึ่งจะให้เรียวตะ ส่วนอีกดอกจะเอาไปให้ยูได เพราะพ่อฝั่งนั้นช่วยเขาซ่อมหุ่นยนต์ตัวโปรด
ผมเข้าใจความรู้สึกของเคตะในฉากนี้มากๆ เพราะผมเองก็เคยมีความรู้สึกผูกพันกับพี่เลี้ยงมากกว่าแม่ที่ทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลามาเล่นกับผม
ซึ่งน่าจะเป็นธรรมชาติของเด็กที่ย่อมรู้สึกผูกพันและรักคนที่เลี้ยงดูเอาใจใส่ตัวเอง ต่างกับผู้ใหญ่อย่างเรียวตะที่ถูกค่านิยมของสังคมหล่อหลอมความคิดให้ไขว้เขวไปจากความรู้สึกที่แท้จริง
ดังนั้น แม้จะไม่ได้เป็นพ่อคน แต่ผมเชื่อว่าต่อให้ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน หากเราทุ่มเทเวลา ความรัก และความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอและมากพอ ในที่สุดมันจะเกิดสายใยบางอย่างที่ผูกพันและยากจะตัดขาดเกี่ยวโยงไว้ระหว่างสองชีวิตที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าการมีสายเลือดเดียวกันแต่ไม่มีความผูกพันเป็นไหนๆ