- โจทย์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ ภายใต้แนวคิดโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP นอกจากครูจะมีบทบาทสำคัญแล้ว ผอ.ต้องเห็นคุณค่าในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย
- วิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการฯ ที่จะนำโรงเรียนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพัฒนาศักยภาพนักเรียน ที่ไม่ใช่แค่รู้วิชา แต่มี VASK ที่จะพัฒนาสมรรถนะรอบด้าน
- พาไปดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนไปสู่โรงเรียนพัฒนาตนเองของพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ อย่าง ‘โรงเรียนบ้านโพนครก’ ที่ใช้เครื่องมือ DE ในการกำหนดเป้าหมายคุณภาพผู้เรียน ออกแบบการเรียนรู้ และมีกระบวนการประเมินผล ในกลุ่มสาระสุขศึกษาฯ
การหลุดออกจากระบบการศึกษาในเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง มีแนวโน้มสูงขึ้น
ภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss)
การจัดการสอนของครูยังไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่
คุณภาพของโรงเรียนในประเทศไทยยังมีความแตกต่างกัน
นี่คือสถานการณ์ปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ถูกสะท้อนออกมาในเวทีต่างๆ รวมถึงในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 ‘กลไกพัฒนาการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ สู่งานมหกรรมการศึกษาไทย’ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566
“ที่ผ่านมาการศึกษาไทยมุ่งไปที่ Knowledge (ความรู้) กันมาก พอเราขยับมาดูที่ Skill (ทักษะ) ของเด็กเป็นอย่างไร ก็จะมีให้เด็กฝึกอาชีพในโรงเรียน มี Skill อาชีพ หรืออนาคตต้องการโปรแกรมเมอร์ ก็อัดคอมพิวเตอร์ใส่ไปให้เด็ก แต่พอมาช่วงนี้ DE มูลนิธิสยามกัมมาจลชวนมองต้นทุนในท้องถิ่น ทรัพยากรในพื้นที่ Skill ที่เด็กควรจะมี ควรจะเป็น หรือที่เขาอยู่รอดได้ มองใกล้ๆ ซึ่งในพื้นที่สุรินทร์ทรัพยากรมีเยอะ แต่ขาดการคุยกัน ขาดการจัดการ ครูไม่รู้ เพราะว่าครูมาจากถิ่นอื่นก็มี กสศ.คิดว่าเราน่าจะหนุนในเรื่องนี้ แล้วก็เรื่อง Attitude (เจตคติ) ไล่ตั้งแต่ผอ.โรงเรียนมาเลย ความเชื่อว่าทำได้ มีแรงบันดาลใจ แล้วส่งต่อให้เพื่อนครู มันจะไหลไปถึงตัวครู ตัวเด็ก และไปถึงผู้ปกครอง”
ทั้งนี้ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนมองต่อถึงโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ทั้งระบบ ภายใต้แนวคิดโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program) หรือ TSQP ว่านอกจากครูจะมีบทบาทสำคัญแล้ว ผอ.ต้องเห็นคุณค่าในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย
“การที่เราพยายามจะวัดว่า เด็กเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี ตัวเองเป็น หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เฉพาะเด็กนะ แต่ครูด้วย สิ่งที่ครูทำได้เห็นคุณค่า รวมถึง ผอ.เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองทำหรือเปล่า”
ผอ.ปรับ โรงเรียนขยับไปหนึ่งสเต็ป
ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมากๆ ไม่เพียงหน้าที่ด้านการบริหารจัดการ ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำทางวิชาการและผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพัฒนาคุณภาพห้องเรียนและสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้ดีขึ้น ซึ่งแต่ละท่านอาจมีวิธีการบริหารที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าหมุดหมายปลายทางเดียวกันคือ การพัฒนาศักยภาพนักเรียน ที่ไม่ใช่แค่รู้วิชา แต่มี VASK (V = values – ค่านิยม, A = attitude – เจตคติ, S = skills -ทักษะ, K = knowledge -ความรู้) ที่จะพัฒนาสมรรถนะด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ซึ่งจะต้องมีทีมงานที่เข้มแข็งอย่างครู และเครือข่ายที่ร่วมด้วยช่วยกันหนุนเสริม แต่อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนสำคัญ แน่นอนว่าต้องมาจากวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการฯ
ดร.สุเทพ แปลงทับ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา มองว่า ในการพัฒนาโรงเรียน ยกระดับห้องเรียน สิ่งแรกที่ต้องปรับคือ การปรับ Mindset ไม่มองความรู้เป็นสิ่งหยุดนิ่ง มีการเติมเต็มองค์ความรู้ใหม่ในด้านการศึกษาเสมอ โดยเริ่มต้นที่ตัวผู้อำนวยการโรงเรียนก่อนเป็นอันดับแรก
“แม้ว่าเราจะมีครูที่เก่งๆ อยู่ในโรงเรียน แต่ถ้าผอ.ไม่เห็นความสำคัญหรือไม่เอาด้วย ก็ไปต่อยาก สิ่งแรกเลยก็คือ ผอ.จะต้องปรับตัวในเรื่องขององค์ความรู้ใหม่ๆ เช่น active learning PLC หรือ DE ก็ตาม ถ้าผอ.ไม่เก็ต ไม่ทำความเข้าใจ ก็จะทำตามวัฒนธรรมคนอื่น
ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีอะไรที่จะต้องตระหนัก สร้างความเข้าใจกับคณะครู ทำอย่างไรก็ได้ให้มีความรู้เท่าทันกระแสของวงการศึกษา สังคมการศึกษาที่เกิดขึ้น”
นอกจากเรื่ององค์ความรู้ที่ผู้อำนวยการจะต้องเติมเต็มแล้ว ดร.สุเทพ มองว่าอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง
“ผอ.อาจมองว่าตัวเองต้องขยับขยายไปสู่โรงเรียนใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่อยากให้มองตรงนั้น อยากจะให้มองว่า อยู่โรงเรียนขนาดเล็ก 40-60 คน ก็เพื่อพัฒนาการศึกษา อยากให้มองในมุมคุณค่าของการทำงาน คุณภาพของงานที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อผอ.มองเห็นก็จะปรับตัวจะไม่อ้างเหตุอื่นใดเลยว่า โรงเรียนเราเล็ก เราทำไม่ได้
นอกจากผอ.จะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองแล้ว ทีมงานก็สำคัญนะครับ เช่น ถ้าเราอยากให้คุณครูเขาส่งผลงานเข้าประกวด แต่เราไม่สร้างแรงบันดาลใจ หรือกระตือรือร้น หรือจุดโฟกัสให้ ก็คงยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องให้ใจนำ ให้พลังกับครูซึ่งเป็นทีมงานของโรงเรียน”
ที่สำคัญในการทำงานร่วมกันคือ ความยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับตารางการทำงานเดิมของโรงเรียน และนี่ก็คือในส่วนของการปรับตัวของโรงเรียนบ้านตะเคียนกูยวิทยา
“การที่มีกสศ.เข้ามามาสนับสนุน มันทำให้เราไม่ติดอยู่ในอ่าง คือมีองค์คณะหนึ่งมาช่วยชี้แนะเปิดทาง อย่างเช่น PLC หรือแม้กระทั่งกิจกรรมอื่นๆ มันเหมือนกับว่าหลังจากที่เราจบมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ได้โดดเดี่ยว จะมีคนคอยเป็นห่วงเรา คอยชี้แนะ ตรงนี้อยากให้ทุกท่านเปิดใจในการที่จะร่วมกิจกรรมกับทางกสศ. แล้วก็อย่ามองเป็นภาระนะครับ เพราะสิ่งที่ได้รับนี้ เป็นสิ่งที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์กับหน่วยงาน ให้มองตรงจุดนี้แล้วเราก็จะก้าวไปด้วยกัน”
DE กำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โรงเรียนบ้านโพนครก
จุดหมายปลายทางของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือที่เราเรียกกันว่า TSQP นั้น ก็คือการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น คุณครูได้เกิดการพัฒนาตนเอง และโรงเรียนบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ เพื่อลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา ลดภาวะการเรียนรู้ถดถอย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และดูแลช่วยเหลือและพัฒนาต่อเนื่องตามศักยภาพของเด็กและเยาวชน
โดยบุคคลที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการจะผลักดันให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้นั้น อย่างที่ ดร.สุเทพ บอกไว้เมื่อตอนต้นว่า ผู้อำนวยการคือคีย์แมนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะมีครูเก่งแค่ไหน แต่ถ้าผู้อำนวยการไม่เห็นความสำคัญ การพัฒนาก็เป็นไปได้ยาก
และหนึ่งในตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนไปสู่โรงเรียนพัฒนาตนเองของพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ โรงเรียนบ้านโพนครก โดย ดร.ศุภณัฐ อินทร์งาม ผู้อำนวยการที่ได้ใช้เครื่องมือ DE กำหนดเป้าหมายคุณภาพผู้เรียนสู่การกำหนดตัวชี้วัดและนำสู่ห้องเรียน
สำหรับ DE (Developmental Evaluation) หรือ การประเมินเชิงพัฒนา เป็นการประเมินโดยให้ Stakeholders หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งในที่นี้คือ คุณครู นักเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน ชุมชน และศึกษานิเทศก์เขต เข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหา เพื่อนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น โดย ดร.ศุภณัฐ ยกตัวอย่างการใช้เครื่องมือ DE ในกลุ่มสาระสุขศึกษาและพละศึกษา
“ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนจะต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจน เมื่อมีเป้าหมายแล้ว จะต้องกำหนดจุดเน้น เมื่อกำหนดจุดเน้นแล้วต้องหากลยุทธ์ เมื่อหากลยุทธ์เสร็จแล้วตัวที่จะบอกได้คือผลลัพธ์ ผลลัพธ์ต้องตอบโจทย์ กระบวนการที่เราใช้คือ DE”
ขั้นตอนการดำเนินงานของ DE จะมีด้วยกัน 3 ขั้นตอน คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยดร.ศุภณัฐ เล่าถึงแผนการดำเนินงานที่โรงเรียนวางไว้ดังนี้
เริ่มจาก DE ต้นน้ำ โรงเรียนโพนครกใช้ชื่อว่า ‘วิเคราะห์ปัจจุบัน สร้างฝันอนาคต’ โดยขั้นต้นเป็นการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาในบริบทของโรงเรียน จากนั้นมาสู่การตั้ง KPI หรือการกำหนดเป้าหมาย และออกแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย และที่สำคัญต้องมีกระบวนการประเมิน
“วิเคราะห์สภาพปัจจุบัน เราใช้เทคนิคภูเขาน้ำแข็งในการวิเคราะห์ ซึ่งจะมีจุดสำคัญอยู่ 4 ประเด็น คือ สิ่งที่เราเห็นคืออะไร พฤติกรรมหรือแบบแผนปฏิบัติเป็นอย่างไร โครงสร้างแล้วก็ค่านิยมเป็นอย่างไร เมื่อวิเคราะห์แล้วก็เข้าสู่จุดที่สำคัญ ก็คือการกำหนดประเด็นเร่งด่วน ( Red Zone) ซึ่งเรากำหนดไว้ 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง ผู้เรียนหรือว่าผลลัพธ์, สอง ครู,สาม ผู้บริหาร”
จากนั้นกำหนดเป้าหมาย โดยแบ่งเป็นเป้าหมายของผู้เรียน ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และชุมชน
“สิ่งที่เรากำหนดผู้เรียนคือ ทำงานเป็นเป็นทีม มีความสุขในการเรียน สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ เป้าหมายครูคือ จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยประยุกต์ขั้นตอนการสอนของ OECD ผู้บริหารผู้อำนวยการส่งเสริมการจัด PLC เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ Active Learning และสร้างเครือข่ายช่วยเหลือครู สุดท้ายชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริม ให้ความรู้ร่วมมือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้”
การออกแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้น ดร.ศุภณัฐยกตัวอย่าง โครงการแข่งขันกีฬาสีภายในโรงเรียน
“การจัดกิจกรรมกีฬาสีนี้เป้าหมายคือให้นักเรียนได้ความรู้ เข้าใจ นำไปใช้แล้วก็เรียนรู้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นครูทำยังไง ผอ.ทำยังไง อย่างแรกเราต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อนว่าเราจะทำอะไร มีการวางแผนร่วมกัน ลงมือปฏิบัติ และมาร่วมกัน PLC อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายเราก็สะท้อนผล อันนี้คือกระบวนการบริหารจัดการภายในโรงเรียน”
“ส่วนกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน อันดับแรกให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแบ่งสี สองจัดตั้งคณะกรรมการคือนักเรียนเอง ครูเป็นเพียงที่ปรึกษา นักเรียนแบ่งหน้าที่กันเอง โดยให้ปฏิบัติตามแผนที่วางร่วมกัน ซึ่งตรงนี้จุดนี้ที่จะได้ก็คือเรื่องของภาวะผู้นำ ทำอย่างไรหัวหน้าสี หัวหน้ากลุ่มจะสามารถจัดประชุม เเล้วก็สร้างข้อสรุปได้ว่าเราจะทำอย่างไร เช่น การเตรียมอุปกรณ์ เวลาแบ่งจัดทีมซ้อม การวางแผนทุกอย่างเป็นหน้าที่ของผู้เรียน ครูทำหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุน แนะนำ เป็นโค้ชให้”
ต่อมาในขั้นกลางน้ำเป็นกระบวนการติดตามการดำเนินงาน เพื่อที่ว่าขาดเหลืออะไร และจะหนุนเสริมอย่างไร และสุดท้ายในขั้นปลายน้ำ คือการตรวจสอบผลลัพธ์ เพื่อไปสู่เป้าหมาย
“ในการตรวจสอบผลการเปลี่ยนแปลง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงว่ามีอะไรบ้าง ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน คือนักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ สามารถทำงานเป็นทีมได้ และมีความสุขกับการเรียน ในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองก็เห็นได้ชัดเจน
การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ เด็กมีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือทำ หากพูดถึงความสามารถทางด้านกีฬา นักเรียนสามารถที่จะจัดการแข่งขันได้ จัดวิธีการแบ่งสายแบ่งทีม และตัดสินได้ ในเรื่องของครู ครูสามารถสอนแบบ Active Learning ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์เชิงสมรรถนะ และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ PLC อย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการนิเทศติดตาม ผู้อำนวยการเป็นผู้นำในการ PLC มีความถี่ในการนิเทศชั้นเรียนมากขึ้น และส่งเสริมสนับสนุนให้ครูพัฒนาตนเอง จากกิจกรรม PLC Online”
ทั้งหมดนี้คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนบ้านโพนครก หลังจากได้นำเครื่องมือต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ TSQP มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพของระบบบริหารจัดการและการเรียนการสอนที่มีคุณภาพในชั้นเรียน