Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long Learning
  • Family
    Dear ParentsEarly childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily Psychology
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
How to get along with teenagerAdolescent Brain
2 March 2023

รู้ใจวัยรุ่น…ผ่านตัวตน สมอง และฮอร์โมน

เรื่อง ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • วัยรุ่นไม่ใช่เด็ก แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่เช่นกัน เพราะสมองของวัยรุ่นกับสมองของผู้ใหญ่มีลักษณะเฉพาะตัวและวิธีการทำงานที่แตกต่างกันมาก
  • การเปลี่ยนแปลงของสมอง เป็นเบื้องหลังทำให้เกิดนิสัยต่างๆ ในแบบวัยรุ่น ทั้งความพลุ่งพล่าน การสะเทือนใจได้ง่าย การตัดสินใจและเปลี่ยนใจอย่างรวดเร็ว
  • วัยรุ่นเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เพราะสมองของพวกเขาพร้อมที่จะเชื่อมโยงความรู้ใหม่ๆ เข้ากับประสบการณ์ที่มีอยู่เดิม เพื่อสรุปเป็นโลกทัศน์และมุมมองส่วนตัวที่มีต่อโลก

ในทำนองเดียวกับที่เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก วัยรุ่นทุกคนก็ไม่ใช่เด็ก (พวกเขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเด็ก!) แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่เช่นกัน

สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนรู้กันดีก็คือ เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นนั้น นอกจากจะไม่ค่อยอยากทำตัวสนิทสนมกับพ่อแม่ดังเดิมแล้ว (เพราะกลัวเพื่อนล้อ) บางครั้งยังพบการแสดงออกที่ดูจะหุนหันพลันแล่น ไม่ค่อยมีเหตุมีผล และชอบทำอะไรแผลงๆ เสี่ยงๆ เป็นว่าเล่น 

เรื่องพวกนี้สะท้อนความจริงที่ว่า วัยรุ่นแตกต่างจากผู้ใหญ่ในเรื่องอุปนิสัยใจคอ วิธีมองและคิดแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ผลลัพธ์ทั้งหมดนั้นมีรากฐานจากความแตกต่างทางสรีรวิทยา พูดแบบสรุปสั้นๆ ก็คือ สมองของวัยรุ่นกับสมองของผู้ใหญ่มีลักษณะเฉพาะตัวและวิธีการทำงานที่แตกต่างกันมาก 

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของปริมาณฮอร์โมนที่ท่วมท้นได้ง่ายๆ อีกด้วย 

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบสมองของวัยรุ่นก็พบว่า มีบริเวณจำเพาะที่เรียกว่า อะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งใช้ตอบสนองแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว และควบคุมอารมณ์กลัวและก้าวร้าวด้วย สมองส่วนนี้พัฒนาขึ้นมามากกว่าตอนเป็นเด็กเล็ก [1] 

จึงไม่น่าแปลกใจที่วัยรุ่นจะมีนิสัย ‘ห้าวๆ’ อยู่สักหน่อย

สมองอีกส่วนหนึ่งที่กำลังเติบโตมากในวัยรุ่นคือ ส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกอีกเช่นกัน [2] วัยรุ่นจึง ‘อิน’ กับอารมณ์ต่างๆ เช่น อารมณ์ตื่นเต้นหรืออารมณ์เศร้าได้ง่ายและมาก ภาพยืนให้น้ำจากฝักบัวราดหัวหรือเดินร้องไห้ตากฝนในตอนอกหัก จึงเป็นเรื่องเข้ากันได้สุดๆ กับอารมณ์เช่นนั้น 

เวลาอ่านนิยายหรือมังงะ ก็จะอินได้ง่ายและมากสุดๆ และอาจจะฝังใจจำ จนเป็นความประทับใจไปตลอดชีวิตได้เลยทีเดียว 

หนังสือที่อ่าน ภาพยนตร์ที่ดู เพลงที่ฟัง วีรกรรมที่ทำ จึงล้วนตราตรึงอยู่ในใจจนยากลืมเลือน   

ในขณะเดียวกัน เมื่อตรวจสอบเปลือกสมองส่วนหน้าที่ชื่อ ฟรอนทัลคอร์เทกซ์ (frontal cortex) ซึ่งใช้วิเคราะห์หาเหตุผลและชั่งน้ำหนักการกระทำต่างๆ ก็กลับพบว่า ยังมีพัฒนาการไม่ดีเท่า แต่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตครั้งใหญ่ ซึ่งจะสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว

นอกจากนี้ยังพบอีกด้วยว่า สมองวัยรุ่นยังอยู่ในช่วงที่สร้าง ‘สายใย’ ระหว่างเซลล์สมองอย่างมากมาย ซึ่งจะเป็นการสร้างเส้นทางการเชื่อมโยงที่ใช้กันไปตลอดจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว หรือแม้กระทั่งใช้ไปตลอดชีวิต มีการสร้างสารที่เป็นเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทชื่อ ไมอีลิน (myelin) ซึ่งช่วยทำให้การส่งกระแสประสาทในสมองทำได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม  

สมองอีกส่วนหนึ่งที่ทำงานได้ดีมากๆ ในช่วงวัยรุ่นก็คือ ‘สมองส่วนให้รางวัล’

เมื่อพวกเขาเสี่ยงทำอะไรสักอย่าง (ตั้งแต่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ แข่งมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงชกต่อยกัน ฯลฯ) แล้วชนะ จึงเกิดอาการ ‘ฟิน’ อย่างรุนแรง หลั่งสารที่ชื่อ โดพามีน (dopamine) ออกมาอย่างท่วมท้น และง่ายที่จะเสพติดนิสัยเสี่ยงๆ ทั้งหลายต่อไป หรืออาจทำให้ต้องการทำมากขึ้น จึงทำอะไรที่เสี่ยงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ด้วย   

อย่าว่าแต่เรื่องเสี่ยงกับชีวิตเลย แค่ขอสาวออกเดต หรือเห็นภาพวับๆ แวมๆ นิดหน่อย ก็ทำให้ขนลุกขนชันไปทั้งตัวได้แล้ว! 

ทั้งหมดที่ว่ามาคือ การเปลี่ยนแปลงของสมองที่เป็นเบื้องหลังทำให้เกิดนิสัยต่างๆ ในแบบวัยรุ่นคือ มีความพลุ่งพล่าน มีอารมณ์ร่วมและสะเทือนใจได้ง่าย ตัดสินใจรวดเร็วและเปลี่ยนใจได้ว่องไวมาก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจคิดอะไรไม่ค่อยรอบคอบนัก เผลอทำอะไรผิดพลาดได้ง่ายดายไม่น่าเชื่อ แต่ก็ทุ่มเทไม่กลัวความเสี่ยงผิดพลาดหรือล้มเหลว 

ทั้งหมดนั้นเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของวัยรุ่น

จุดอ่อน เช่น อาจผลีผลาม ไม่ชั่งใจ คิดในเชิงเหตุผลให้มากพอก่อนทำอไรสักอย่าง หรือเอะอะอะไร ก็จะลุย จะ ‘บวก’ กันท่าเดียว ไม่คิดถึงผลอื่นๆ ที่จะตามมา แต่ข้อดีคือ มีพลังเยอะ ปลุกเร้าด้วยเรื่องราวที่สะเทือนอารมณ์ให้ร่วมไม้ร่วมมือสร้างสรรค์สิ่งยิ่งใหญ่ด้วยกันได้ง่าย 

พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทตรงนี้ได้ โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของวัยรุ่น (ที่ตัวเองก็เคยผ่านมา แต่อาจลืมไปแล้ว) ตามที่เล่ามานี้ และทำตัวเป็นผู้ให้คำแนะนำ สอนแบบอ้อมๆ (วัยรุ่นไม่ชอบการสอนแบบตรงๆ หรือบ่นแบบคนมีอายุ) ผ่านเรื่องเล่าหรืออุทาหรณ์ในรูปแบบต่างๆ และเสนอทางออกที่วัยรุ่นอาจไม่ทันนึกถึง 

รวมไปถึงการทำตัวเป็นแบบอย่างให้ดูว่าที่ถูกที่ควร ต้องทำอย่างไรกันแน่ 

สำหรับเรื่องเสี่ยงๆ ที่วัยรุ่นชอบ ก็อาจต้องใจเย็น หนักแน่น และค่อยๆ ให้ข้อมูล ผลดีผลเสีย ที่สำคัญคือ อย่าทำให้วัยรุ่น ‘หัวร้อน’ หรือ ‘ของขึ้น’ ไปเสียก่อน เพราะในทางจิตวิทยา รู้กันเป็นอย่างดีว่า อารมณ์ที่คุกรุ่นทำให้สมองส่วนเหตุผลทำงานได้แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด 

เรื่องที่ผู้ใหญ่อาจมองดูว่าเล็กน้อย เช่น การคบเพื่อนใหม่ในโรงเรียนใหม่ ก็อาจถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ชวนให้เครียดได้แล้วสำหรับวัยรุ่นสักคน กำลังใจและคำแนะนำดีๆ จึงมีประโยชน์กับพวกเขาและเธอเป็นอย่างมาก 

สำหรับตัววัยรุ่นเอง สิ่งที่จำเป็นต้องรู้และตระหนักไว้ตลอดเวลาก็คือ ความกดดันจากกลุ่มเพื่อนถือว่ามีน้ำหนักมากต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จนเป็นวัยที่การตัดสินใจต่างๆ อยู่ภายใต้อิทธิพลของเพื่อนฝูงมากกว่าทั้งวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ [3] 

ความกดดันในเรื่องนี้อาจมากจนกระทั่งความล้มเหลวในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม หรือการถูกบูลลี่หรือทำร้ายจากกลุ่ม ทั้งทางร่างกายและวาจา อาจทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตายได้เลยทีเดียว  

การตัดสินใจทำหรือไม่ทำเรื่องสำคัญมากๆ ของวัยรุ่น จึงควรถอยห่างออกมาจากวงเพื่อนฝูง เพื่อใช้เวลาตั้งสติตั้งสักนิดและใช้เวลาให้มากขึ้นอีกหน่อย 

วิธีการนี้จึงช่วยได้มากจริงๆ  

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งทั้งกับตัววัยรุ่นเองและผู้ปกครองก็คือ การตระหนักว่าวัยรุ่นแต่ละคนมีความเป็นตัวตนสูง ไม่มีใครเหมือนคนอื่นไปเสียทั้งหมด การเปรียบเทียบกับวัยรุ่นคนอื่นในชั้น หรือแม้แต่พี่น้องในครอบครัว หรือญาติในตระกูล หรือคนแถวบ้านที่รุ่นราวคราวเดียวกัน จึงเป็นเรื่องต้องห้ามและไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ วัยรุ่นคือวัยที่ขวนขวายหาคำตอบให้ตัวเองว่า ตัวเองเป็นใครกันแน่? จะทำยังไงกับตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงจะดีที่สุด? 

วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่ลองผิดลองถูกและสำรวจเรื่องต่างๆ รอบตัวผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการร่วมกลุ่มกับเพื่อนทำสิ่งต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งก็แหกกฎสังคม เพราะทำให้ตื่นเต้นสนุกสนานกว่าทำตามกฎ สมองของคนวัยนี้จึงเหมือนได้รับการกระตุ้นให้คิดสร้างสรรค์และทำเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างความทรงจำใหม่ๆ 

วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่พวกเขาคิดว่าสำคัญกับชีวิตตัวเอง 

สมองของพวกเขาพร้อมที่จะเชื่อมโยงความรู้ใหม่ๆ เข้ากับประสบการณ์ที่มีอยู่เดิม เพื่อสรุปเป็นโลกทัศน์และมุมมองส่วนตัวที่มีต่อโลก เรื่องนี้เองที่ผลักดันให้พวกเขาไปสำรวจจนสุดขอบความเป็นไปได้ของชีวิต ไม่ว่าเรื่องดีเรื่องร้าย 

แต่เรื่องที่สำคัญไม่ควรลืมคือ การเติบโตของสมองในช่วงวัยนี้ ทำให้วัยรุ่นเรียนรู้อะไรได้เยอะอย่างกระตือรือร้นอีกต่างหาก และจะมีโอกาสที่จะได้ใช้ความรู้บางอย่างในจำนวนนี้ไปตลอดชีวิต  

สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ควรจะทำจึงได้แก่ การกังวลเรื่องความเสี่ยงหรือความห้าวของพวกเขาให้น้อยลง เพราะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่ควรโฟกัสไปที่การเป็น ‘ที่ปรึกษา’ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ท่าทีที่เหมาะสม และช่วงจังหวะที่เหมาะสม 

หากทำดังนี้ได้ คำแนะนำดีๆ ก็จะได้รับการตอบสนอง และวัยรุ่นก็จะค่อยๆ เรียนรู้จากความผิดพลาดอย่างรอบคอบมากขึ้น และมีความเสี่ยงในทางไม่ดีลดน้อยลงเอง

       

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.aacap.org/AACAP/Families_and_Youth/Facts_for_Families/FFF-Guide/The-Teen-Brain-Behavior-Problem-Solving-and-Decision-Making-095.aspx

[2] https://parentandteen.com/how-teens-make-decisions/

[3] Simon Ciranka et al. Front. Psychol., 29 August 2019, Volume 10–2019.  doi.org/10.3389/fpsyg.2019.01915

Tags:

ฮอร์โมนพัฒนาการพ่อแม่วัยรุ่นสมองผู้ใหญ่

Author:

illustrator

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • How to enjoy life
    สอนให้เด็กรู้ว่าอารมณ์ไม่ใช่ผู้ร้าย เรียนรู้และเข้าใจตัวเองผ่านดนตรี: กฤษดา หุ่นเจริญ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • Character building
    คาแรกเตอร์สำคัญ 24 ข้อ: เป้าหมายการศึกษาสากลและคุณภาพชีวิตคนรุ่นใหม่

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ บัว คำดี

  • Character building
    สุภาวดี หาญเมธี: สันดานดี สร้างได้ ด้วย CHARACTER BUILDING

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

  • How to get along with teenagerAdolescent Brain
    รักที่จะรัก: เมื่อลูกๆ มีความรัก พ่อแม่จะทำอย่างไรดี?

    เรื่อง The Potential

  • Early childhoodMovie
    THE FLORIDA PROJECT: ดินแดนมหัศจรรย์จะเป็นที่ไหนในโลกก็ได้

    เรื่อง

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel