‘ศิลปะ’ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยดึงอะไรหลายๆ อย่างในจิตใจของคนขึ้นมา แต่แก่นแท้ที่อยากจะสื่อสารคือ การทำให้ผู้คนรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และคลี่คลายปมภายในใจ เพื่อทำให้มีความสุขในรูปแบบของตัวเอง ชวนปลดล็อกความรู้สึกภายในกับ ครูชัย-ศักดิ์ชัย ศรีวัฒนาปิติกุล กระบวนกรผู้ใช้ศิลปะมาเป็นเครื่องมือบำบัดจิตใจ และนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือ ‘คืนดีกับใจ’ เป้าหมายในการทำกิจกรรมของครูชัยคือ อยากให้ได้ลองใช้ ‘ศิลปะในการดําเนินชีวิต’ ซึ่งมี 3 อย่างที่ชวนทํา คือ ‘การฟัง’ ลองฟังเสียงข้างในตัวเองว่าเรารู้สึกอะไร และต้องฝึกฟังเสียงคนอื่นด้วย ‘การเคารพ’ วันนี้ลองไม่เปรียบเทียบกับคนอื่นดู และ ‘อยู่กับปัจจุบัน’
“สิ่งที่ทำมาทำให้ตัวเรารู้สึกว่า นี่แหละคือคุณค่าของการที่เราได้เกิดมา เรารู้แล้วว่าหลังจากนี้เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อทําอะไร”
นี่คือความในใจและความมุ่งมั่นของ ครูชัย-ศักดิ์ชัย ศรีวัฒนาปิติกุล กระบวนกรผู้ใช้ศิลปะมาเป็นเครื่องมือบำบัดจิตใจ และนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือ ‘คืนดีกับใจ’
หากเท้าความไปในอดีต ครูชัยคือเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่สนใจศิลปะมากกว่าการเรียนในห้องมาตั้งแต่สมัยประถม ทำให้ถูกมองว่าเป็น ‘เด็กดื้อ’ เพราะไม่ยอมตั้งใจเรียนเหมือนเด็กคนอื่น ความรู้สึกแปลกแยกนี้จึงทำให้ครูชัยกลายเป็นเด็กที่ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง และปลีกตัวมาใช้เวลากับงานศิลปะและงานประดิษฐ์
ด้วยการสนับสนุนจากพ่อแม่ที่ให้อิสระในการเรียน ทำให้ครูชัยเลือกเข้าเรียนในคณะศึกษาศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งหลังเรียนจบก็ได้ไปทำงานเป็นครูสอนศิลปะและมีโอกาสได้ทำงานกับกลุ่มด็กพิเศษ เช่น เด็กแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม ดาวน์ซินโดรม ออทิสติก สมาธิสั้น เพราะรู้สึกว่าเด็กพิเศษนี้เชื่อมโยงบางอย่างกับตนเองและได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างที่พิเศษ
“ตัวเราเองค่อนข้างที่จะขาดเรื่องความสัมพันธ์กับคนในวัยเด็ก เพราะมักจะรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น พอได้มาทำงานแบบนี้เลยเหมือนเป็นการซ่อมสร้างเด็กน้อยภายในตัว และทำให้ความรู้สึกว้าเหว่ภายในใจค่อยๆ หายไป”
ในเวลาต่อมาครูชัยได้มีโอกาสคลุกคลีกับวงการศิลปะเชิงบำบัดมากขึ้น ประกอบกับพอลองใช้กระบวนการต่างๆ กับตัวเองแล้วรู้สึกเติมเต็มบางอย่างภายในใจ สุดท้ายจึงผันตัวมาเป็นกระบวนกรอย่างเต็มตัว
“เราไม่ได้มองว่าศิลปะเป็นเรื่องของการวาดภาพเพียงอย่างเดียว หลายคนอาจเข้าใจว่าศิลปะคือการวาดภาพหรือการปั้น แต่ในมุมมองของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวล้วนเป็นศิลปะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การประดิษฐ์ข้าวของ หรืออะไรก็แล้วแต่”
ในมุมมองของครูชัย ‘ศิลปะ’ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยดึงอะไรหลายๆ อย่างในจิตใจของคนขึ้นมา แต่แก่นแท้ที่อยากจะสื่อสารคือ การทำให้ผู้คนรู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และคลี่คลายปมภายในใจ เพื่อทำให้มีความสุขในรูปแบบของตัวเอง
“เราแค่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการทําให้เขารู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และคลี่คลาย ไม่ใช่คนหาทางออกให้เขา
เราเป็นเพียงผู้รับฟัง สะท้อนบางอย่าง สะท้อนความรู้สึก แล้วก็ชวนหามุมมองใหม่ๆ เพราะสุดท้ายเขาต้องลงมือทําด้วยตัวเอง”
อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ครูใช้กระบวนการทางศิลปะทำงานกับเด็กๆ
คือพอเราทำงานที่เน้นกระบวนการและทักษะทางศิลปะมาสิบกว่าปี เลยค่อยๆ ขยับตัวเอง ซึ่งเราก็มีโอกาสได้ทำงานที่ BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) ตอนนั้นมีโปรเจ็กต์หนึ่งที่ทำงานกับเด็กถูกกระทำชำเรา ซึ่งเราก็สร้างสรรค์กิจกรรมศิลปะที่มีโจทย์ว่า จะทำยังไงที่จะสามารถเข้าถึงคนกลุ่มนั้นได้โดยไม่ใช่การวาดภาพปกติ ก็เลยใช้กระบวนการต่างๆ เช่น การเล่านิทาน
หลังจากทำงานไปก็รู้สึกว่าเรื่องราวบางอย่างที่ผ่านตัวเขานั้น ตัวเราก็เป็นผู้ร่วมเส้นทางนั้นมาก่อนเหมือนกัน เพราะคนที่เคยผ่านเส้นทางนี้มาก่อน ย่อมจะเข้าใจคนที่กำลังเดินอยู่บนเส้นทางคล้ายๆ กัน ก็จะเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร และค่อยๆ เติมสิ่งเหล่านั้นเข้าไปในกิจกรรมที่เป็นศิลปะปกติ จนมันค่อยๆ กลายเป็นศิลปะบำบัดมากขึ้น
และมีโอกาสค่อยๆ เข้าสู่วงการนี้หลังจากที่ไปทำงานที่ธนาคารทหารไทย เพราะช่วงนั้นมีกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน สุดท้ายก็จับพลัดจับผลูมาเป็น Director ของโครงการไฟ-ฟ้า ซึ่งเป็นศูนย์เยาวชนให้กับเด็กๆ ชุมชนแออัด เราก็มานั่งคิดว่าจะเอาองค์ความรู้ศิลปะที่เรียนครูมาจับกับการทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง เพราะอาสาสมัครหลายคนก็มองว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ยาก เข้าถึงไม่ได้ เลยพยายามย่อยให้เขาเข้าถึงง่ายและนำเครื่องมือไปทำงานกับเด็กๆ
จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้ลองไปเจอกับ ‘อาใหญ่-วิศิษฐ์ วังวิญญู’ ซึ่งเป็นคนที่สร้างชุมชนที่เชียงราย และเป็นคนแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องจิตตปัญญาศึกษา เราก็ได้ไปเข้าคอร์สกระบวนกร ทำให้ได้รู้ว่ามีอีกอาชีพหนึ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนกร’ เป็นนักจัดกระบวนการต่างๆ ให้เกิดขึ้น โดยที่จะใส่ใจกับผู้ที่ร่วมกิจกรรมต่างๆ ของเราด้วย และมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขหรือเติมอะไรบางอย่างให้กับผู้ที่เข้าร่วม
เราได้เรียนรู้ว่ามีทักษะอะไรแบบนี้ด้วย เลยเริ่มสนใจ และสิ่งที่เรียนมันไปสัมผัสใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับคนในครอบครัวและเพื่อน มันเข้าไปแตะ Inner Child ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เรียนมาลึกซึ้งกว่าที่คิดเยอะมากๆ
ก็เอามาทำงานกับตัวเองก่อนในช่วงแรก และนำความรู้ที่ได้ไปอบรมกับเจ้าหน้าที่บ้าง เอาไปทำงานกับเด็กๆ บ้าง ทำให้เริ่มเห็นผลบางอย่างเกิดขึ้น เพราะเมื่อก่อนเราจะทำหน้าที่เหมือนที่ปรึกษา แต่กระบวนกรพวกนี้จะคล้ายๆ กับเป็นโค้ช มากกว่า
มันเป็นเหมือนพื้นที่ที่ปล่อยให้เขาระบายออกมาและรับฟังเขา จริงๆ มันมีสิ่งที่เรียกว่า Deep Listening คือการฟังอย่างลึกซึ้ง เราแค่ช่วยนั่งฟังเขา แค่ฟังอย่างเดียวจริงๆ
กระบวนการนี้มันช่วยให้เขาได้ฟังเสียงข้างในตัวเอง แล้วบางทีเขาก็เข้าใจของเขาเองโดยไม่รู้สึกว่าถูกตัดสิน สามารถระบายมันออกมาได้ สามารถอยู่กับคนสักคนหนึ่งโดยที่ไม่ต้องกลัว ถูกเคารพอย่างเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง
ในเวลาต่อมาก็ได้รู้จักกับครูคนหนึ่ง คือ ครูอังคณา มาศรังสรรค์ ครูณาก็ได้ชวนเราไปทํางานอาสาสมัคร เราก็เริ่มแตะเข้าไปในงาน หลังจากนั้นเราก็เริ่มกระบวนการในการเรียนรู้เรื่องศิลปะบําบัดจริงๆ ผ่านครูที่มาจากทั้งต่างประเทศและในไทย ก็รู้สึกว่า มันว้าวกว่าที่เราคิดเสียอีก
จริงๆ ‘ศิลปะ’ มีเรื่องของจิตใต้สํานึก หรืออะไรอีกเยอะที่เป็นเชิงจิตวิทยากับการวาดภาพ หรือการตีความหมายของภาพ แต่เราไม่ได้ฟันธงบอกเขาว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะเป็นเครื่องมือในการบอกว่าภาพนี้มันสะท้อนว่าตอนเด็กๆ เขาเจออะไรมาบ้าง หรือตอนนี้เขาอาจจะรู้สึกและมีความคิดอะไรที่รบกวนจิตใจอยู่บ้าง ที่ตัวเขาเองอาจจะไม่ทันได้สังเกตเห็นหรือรู้ตัว
มองว่าศิลปะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยในการพูดคุย ทำให้เขาเปิดประเด็นมากขึ้น และชวนสะท้อนความรู้สึกตัวเอง เราก็จะช่วยคอนเฟิร์มว่า เขารู้สึกอย่างนี้จริงๆ ใช่ไหม
มีช่วงหนึ่งครูณาชวนเราไปทํางานที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน หรือที่เราเรียกว่า ‘คุกเด็ก’ ก็ได้มีโอกาสมาทํางานกับเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ซึ่งที่เราทำจะเป็นเรื่องของจิตใจ แต่ว่าเด็กๆ กลุ่มนี้เขาจะอยู่ไม่ค่อยนิ่ง เพราะฉะนั้นการที่จะมานั่งทําอะไรสงบๆ ก็เป็นไปได้ยาก กิจกรรมต่างๆ ที่เราคิดขึ้นมาก็ต้องทําให้สนุก ซึ่งศิลปะนี่แหละเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้าถึงเด็กเหล่านี้ได้ง่ายมาก
สุดท้ายเราก็ค้นพบทางออกของตัวเองโดยการได้ไปเรียนกับครู Gil Alon ชาวอิสราเอล ซึ่งถือว่าเป็นครูคนหนึ่งที่สําคัญมากๆ ที่เปลี่ยนชีวิตเราเลย กิจกรรมของครูเป็นกิจกรรมเจ็ดวันที่เน้นการเคลื่อนไหว มีโจทย์ให้ทําอะไรก็ทําตามนั้น ก็รู้สึกว่ามันไปปลดแอกกรอบและค้นพบอิสระบางอย่างในใจเรา
ก็เกิดความคิดว่า เราจะทํายังไงให้คนที่เราจะไปสัมผัสชีวิตของเขาในอนาคต ได้พบสิ่งที่เราเรียนรู้จากเจอครูกิล เพราะพอเราเจอสิ่งนี้ก็รู้สึกว่ามันทําให้เราอิ่มเอิบในใจ มันช่วยคลี่คลายความสัมพันธ์ข้างในตัวเราเกือบหมดเลย
พอตัดสินใจอยากทํางานบนเส้นทางนี้ ก็เลยขออนุญาตหัวหน้าออกจากธนาคาร เพราะอยากทํางานที่ลึกลงไปกว่านี้ พอออกมาเลยได้มาทํางานกับเด็กๆ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในเครือข่ายพุทธิกา และได้พูดคุยกัน ดูแลใจกัน
แล้วก็มีอีกเรื่องที่เราสนใจคือเรื่อง ‘ความตาย’ เพราะรอบๆ ตัวเรา ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครเสียชีวิตเลย เลยกังวลล่วงหน้าเรื่องแม่กับการเสียชีวิต เลยคิดว่าถ้าเราไปทํางานอาสาสมัคร หรืออาสาข้างเตียง เราน่าจะได้เรียนรู้ความตายผ่านผู้คนเหล่านี้ ก็เลยมีโอกาสไปทํางานเครือข่ายพุทธิกากับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย คนเหล่านี้ก็เป็นครูให้เรา ทำให้เริ่มรู้สึกว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราได้มาทํางานจริงๆ
แล้วใช้กระบวนการแบบไหนในการดูแลจิตใจบ้าง
สิ่งที่เราถนัดอย่างหนึ่งคือการใช้ภาพในการทํางาน โดยใช้ภาพในการเล่าเรื่อง ทุกวันนี้ก็ทําภาพ การ์ด เราก็เอามาใช้ให้คนทำกิจกรรมลองดู คือเรามักจะมีเครื่องมือเป็นสื่อกลาง เพราะบางทีการให้เขาเล่าถึงตัวเองมันยาก เลยมองหาของอะไรที่แทนความรู้สึกเขาตอนนี้ได้
นอกเหนือจากการเล่านิทาน และการใช้ภาพตามที่กล่าวมาแล้ว การเขียนจดหมายก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่เราเรียกว่า Narrative Therapy คือการเขียนเล่าเรื่อง หรือ Music Therapy (ดนตรีบำบัด) ที่จะให้ความสําคัญผ่านเสียงดนตรี ผ่านจังหวะการพูด ซึ่งก็เป็นศิลปะการพูด หรือการฟังก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกัน กระบวนการรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ก็ใช้ศิลปะทั้งหมด
ซึ่งหลังจากที่ได้เจอครูกิลก็รู้สึกว่าอยากทําเวิร์กช็อป แรกๆ เราก็เอาเวิร์กช็อปของครูกิลมาทำส่วนหนึ่ง ส่วนในคอร์สแรกก็ดัดแปลงใส่ความเป็นสีน้ําเข้าไป เรียกว่ากิจกรรม ‘ฉันกับสีน้ํา ด้วยความเข้าใจ’ พอเริ่มทําเวิร์กช็อปก็มีคนมาเรียนและติดตามเราเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป เขาก็ค้นพบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเขามากมาย และกิจกรรมนี้ยังช่วย feedback ตัวเขาในตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วย
สิ่งที่ทำมาทำให้ตัวเรารู้สึกว่า นี่แหละคือคุณค่าของการที่เราได้เกิดมา เรารู้แล้วว่าหลังจากนี้เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อทําอะไร ซึ่งตอนนั้นเราอายุประมาณ 42 ก็คิดว่าเวลาที่เหลือคือกําไรของชีวิตเราแล้วแหละ แต่เราก็ยังทํางานเพื่อคนอื่น ไปทํางานอาสาสมัครข้างเตียง ไปทํางานกับเด็กที่ศูนย์ฝึก หรือใครมีปัญหาที่ไหนเราก็ไปให้คำปรึกษาเหมือนเดิม
เป้าหมายปลายทางที่อยากให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับคืออะไร
เรามักจะพูดกับคนที่เข้าร่วมเสมอว่าอยากให้เขาได้ลองใช้ ‘ศิลปะในการดําเนินชีวิต’ หรือ Art of Living ซึ่งมี 3 อย่างที่ชวนทํา
อย่างแรกคือ ‘การฟัง ’ อยากชวนว่า ในวันนี้ที่เราอยู่ด้วยกัน ลองฟังเสียงข้างในตัวเองว่าเรารู้สึกอะไร มีเรื่องราวอะไรที่อยากเล่าแล้วมันจะมีความสุขขึ้นมาในใจ ได้เปิดพื้นที่อนุญาตตัวเองให้ได้เล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้คู่หรือคนที่สบายใจจะเล่าหรือยัง รวมถึงเขาต้องรู้จักฟังเพื่อนที่อยู่รอบข้างด้วย
เพราะว่าทักษะที่เกิดขึ้นในคอร์สจะถูกนำไปใช้กับคนในครอบครัวของเขา เราบอกเสมอว่า ต้องฝึกฟังเสียงคนอื่นด้วย ฟังแบบลึกซึ้ง ไม่ต้องตั้งคําถาม และอย่าเพิ่งตัดสิน ให้อยู่กับเขาในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ต้องมีโจทย์ ไม่ต้องมีปัญหาอะไร แค่อยู่ด้วยกันในฐานะมนุษย์
สองคือ ‘การเคารพ’ วันนี้ที่อยู่ด้วยกัน ลองเคารพตัวเอง ไม่ต้องมีกรอบการตัดสินตัวเองและคนอื่น โดยเฉพาะงานศิลปะมันจะมีเรื่องที่เราตัดสินว่าสวยหรือไม่สวย วันนี้ลองไม่เปรียบเทียบกับคนอื่นดู ลองอยู่กับสิ่งที่เป็นแบบของเรา แล้วเรารู้สึกยังไงกับตัวเอง โดยไม่ต้องเอาความสวยงามหรือทฤษฎีทางศิลปะมาเกี่ยวข้อง
และสุดท้ายคือ ‘อยู่กับปัจจุบัน’ เพราะจริงๆ เราค้นพบว่าจิตวิทยาทั้งหมดมันก็คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนนี่แหละ หมายถึงการกลับไปอยู่ปัจจุบัน สังเกตความเป็นไปของตัวเรา ดูว่าอะไรปรากฏขึ้น แล้วเรารับมือกับมันยังไง
แต่เราไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักศิลปะบําบัด’ นะ จะเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักศิลปะเพื่อการตระหนักรู้’ เพราะว่าคําว่า ‘บําบัด’ นั้นต้องไปเรียนเป็นวิชาชีพ ซึ่งต้องมีความระมัดระวังในจรรยาวิชาชีพของเขา
เราแค่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการทําให้เขารู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง และคลี่คลาย ไม่ใช่คนหาทางออกให้เขา จะพูดเสมอว่าศูนย์กลางการดูแลตัวเองหรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ อยู่ที่เขา
เราเป็นเพียงผู้รับฟัง แล้วก็สะท้อนบางอย่าง สะท้อนความรู้สึกกับเขา แล้วก็ชวนเขาหามุมมองใหม่ๆ เพราะสุดท้ายเขาต้องลงมือทําด้วยตัวเอง ว่าเขาจะไปเปลี่ยนมุมมองนั้นหรือเขาจะลงมือทําบางสิ่งที่ต่างไปจากเดิมไหม
พอเราทํางานด้านจิตใจเราก็จะรู้แหละว่ามนุษย์ทุกคนมีฐานเดียวกันเลยก็คือ เราต้องการความรัก ความไว้วางใจ ความเชื่อใจ การยอมรับ และความปลอดภัย
เราค้นพบว่าลึกๆ ทุกคนมีศักยภาพที่จะมีความสุขและความทุกข์พอๆ กัน เลย แต่ตอนเกิดมา ทั้งครอบครัว สังคม และเหตุการณ์ต่างๆ มันค่อยๆ หล่อหลอมเรา
ซึ่งเราชอบคําๆ หนึ่งในหนังสือที่เคยอ่านมาก เลยเอามันมาดัดแปลงในความเข้าใจของตัวเอง และเขียนลงในหนังสือ ‘คืนดีกับใจ’ ของเรา …เขาบอกว่า
จริงๆ คนเราเกิดมาเราเป็นรูปทรงอิสระ แต่แล้ววันหนึ่ง กรอบสังคมค่อยๆ บีบเรา ให้กลายเป็นเหมือนกับสังคม เราก็จะกลายเป็นสี่เหลี่ยมตามที่สังคมสอน แต่ถ้าเราไม่ยอมเราแข็งขืน เราก็จะเอาตัวเองไปกระแทกกับกรอบ ต่อสู้จนในที่สุดจะกลายเป็นทรงกลมที่ตรงข้ามกับกรอบสี่เหลี่ยม
มันคือสิ่งสําคัญที่รู้สึกว่าพอเติบโตมา ศักยภาพพวกนี้มันจะหายไป ถ้าเราปล่อยให้สิ่งต่างๆ มาทําร้ายเรา
หนังสือ ‘คืนดีกับใจ’ ได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ชีวิตของครูชัย?
‘คืนดีกับใจ’ เป็นหนังสือที่เราเอาสิ่งที่เรียนรู้จากการทําเวิร์กช็อปทั้งหมดมาย่อย ให้เป็นฉบับที่ผู้อ่านสามารถทําได้ด้วยตัวเองผ่านหนังสือ เพราะฉะนั้นหนังสือก็เลยจะออกแบบเป็นแบบฝึกหัด น่าจะประมาณ 25 แบบฝึก ค่อยๆ ไต่ระดับ จากการค่อยๆ สํารวจตัวเอง ฟังตัวเองไปเรื่อยๆ จนถึงการทําสิ่งของให้คนอื่น ซึ่งจะเป็นงาน D.I.Y
เป็นแบบฝึกหัดที่ชวนให้เข้าใจตัวเอง เราถึงใช้คําว่า ‘คืนดีกับใจ’ เพื่อเราจะเข้าใจตัวเองและคนอื่น เพราะเราจะไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้ หากไม่เข้าใจตัวเองเสียก่อน
และเราก็ต้องเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนหนึ่งลงไปในหนังสือ เพราะเราเป็นคนที่เดินผ่านเส้นทางนั้นมาแล้วด้วยตัวเอง เคยมีความทุกข์ เป็นคนที่เคยรู้สึกว่าไม่เข้าใจตัวเองมาก่อนและมีปัญหามาก่อน แล้วเราคลี่คลายมันได้ยังไง
แล้วก็จะมีเคสอีก 3 เคสที่เราเคยดูแล ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่เขามาเข้าคอร์สกับเราในหนังสือเล่มนี้ด้วย
มีทริคอะไรที่อยากฝากถึงคนที่ยังหาความสุขในชีวิตไม่เจอไหม
สิ่งที่อยากชวนทํา ง่ายที่สุดเลยก็คือให้เราลอง ‘ลดการใช้สื่อ’ ลดการอ่านข่าวที่แย่ๆ บางทีเราอาจจะไม่ต้องไปรู้คอนเทนต์มันก็ได้นะ แค่รับรู้ว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น เพื่อเป็นบทเรียนให้ไม่ประมาท ลองกลับมาอยู่กับตัวเอง ให้เวลาตัวเองดู เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้เวลากับตัวเอง
ที่เห็นคือผู้ใหญ่มักจะมีปัญหาเรื่องการเบิร์นเอาท์ เพราะเราทํางานเพื่อคนอื่นตั้งเยอะ เพื่อครอบครัว เพื่องาน แต่สุดท้ายเราไม่ได้อุทิศตัวเองเพื่อตัวเองเลย ทำให้รู้สึกว่าตัวเองทุกข์ ไม่มีความสุข เพราะที่สุดแล้วเราเอาใจเราไปอยู่กับคนอื่น
สิ่งที่อยากฝากต่อคือ ‘กลับมาอยู่กับหัวใจของเราให้เยอะๆ’ คอยสังเกตดูว่าเรารู้สึกอะไร อย่าเพิ่งตัดสินตัวเอง เหมือนกับที่บอกในศิลปะในการดําเนินชีวิตเลย อย่าเพิ่งตัดสินเอง ถ้ามีอารมณ์โกรธ ก็ลองอยู่กับความโกรธนั้นดู แต่ให้ระมัดระวังว่า ถ้าเราจะตอบโต้กับคนอื่น ลองคิดกลับกันว่าสุดท้ายเราตอบโต้แล้วเราได้อะไร มันตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองหรือเปล่า แล้วถ้าไม่ตอบความต้องการ เราควรทำยังไงให้ความต้องการนั้นมันเกิดขึ้นได้ แล้วลองหาทางเลือกอื่นๆ
สุดท้ายคือ ‘ลองช้าลง’ ให้เราลองให้เวลาตัวเองหลังจากตื่นขึ้นมา ไม่ต้องรีบมากนัก เปิดเพลงฟัง ให้มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง หรือนั่งภาวนาอยู่กับตัวเองตอนเย็นๆ ไม่ต้องเชิงศาสนาก็ได้เลย แต่ว่าให้นั่งอยู่กับตัวเอง เช็กอินเช็กเอาท์ตัวเองก่อนนอนว่าเราเป็นยังไง ให้เวลากับความสงบ อยู่กับความรู้สึกของตัวเรา
จากประสบการณ์การเวิร์กช็อปที่ผ่านมา ผู้ที่เข้าร่วมจะพบว่า แค่อยู่กับตัวเองนิ่งๆ โดยที่ตัดงาน ตัดทุกอย่างรอบตัว ก็เหมือนได้พักผ่อนแล้ว เขารู้สึกอิ่ม รู้สึกว่าเป็นอะไรที่รู้สึกดี ได้ผ่อนคลาย
สุดท้ายครูชัยมีคำแนะนำอะไรที่จะช่วยให้มีความสุขกับการใช้ชีวิตได้มากขึ้น
แต่ละคนก็ต่างกันไป แต่อย่างหนึ่งที่จะช่วยคือ ‘การอยู่กับตัวเอง’ ให้ได้มากขึ้น เพราะมันคือฐานของการชาร์จแบตตัวเอง แต่ว่าการอยู่ตัวเองอาจทำให้เราจมอยู่กับความคิด การทําบางสิ่งอย่าง เช่น ลองทําอาหารกินเอง รดน้ําต้นไม้ เดินเล่น หรือออกเดินทางท่องเที่ยว อ่านหนังสือก็ได้ ลองวางสื่อโซเชียลดู กลับมาทําอะไรเพื่อตัวเราเอง แต่ก็ให้แบ่งเวลาออกไปเจอผู้คนบ้าง อย่าอยู่กับตัวเองจนหมกมุ่นมากไป อันนี้ก็เป็นคำแนะนำสําหรับคนที่เป็น Introvert นะครับ
สําหรับคนที่เป็น Extrovert ที่ชอบเข้าสังคม ก็ลองไปหาสังคมใหม่ๆ ดู เราอาจจะมีสังคมเดิมๆ แล้ว ลองให้โอกาสตัวเองไปเจอผู้คนใหม่ เพราะว่าการอยู่ในสังคมเดิมมันก็คือวัฏจักรเดิม แต่การที่เรามีสังคมใหม่ กลุ่มใหม่ จะทําให้เราเติบโตและเรียนรู้ในเรื่องราวใหม่ ทําให้เราได้เปิดอีกโอกาสหนึ่งที่จะได้เจอความหลายหลาย
มันไม่ได้ผิดที่จะอยู่ในวงจรเดิม แต่ถ้าเราอยากมีอะไรใหม่เพื่อเติมพลังให้ชีวิต ก็ต้องหาวงจรใหม่ หรือไปเจอคนใหม่ๆ ดู เราจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม และสุดท้ายถ้าเราอยู่ข้างนอกเยอะ ก็แบ่งเวลากลับมาอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น เพราะบางทีการอยู่กับตัวเองก็ดีนะ
และ 3 สิ่งที่หากเราสามารถก้าวข้ามได้จะช่วยสอนเราให้เติบโตเยอะเลย คือ ‘การแข่งขัน ’ เพราะเราอยู่กับการแข่งขันเปรียบเทียบเป็นนิสัยและตลอดเวลา ก็ให้ลองเปลี่ยนการแข่งขันนั้นดู บอกตัวเองว่าเราดีพอแล้ว บอกว่าเราพอใจกับตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร แต่เราดีในฉบับของเรา
อีกอย่างหนึ่งคือ ‘ความกลัว’ ลองออกจากความกลัวเดิมๆ ที่เราเคยมีบทเรียน มีประสบการณ์บาดแผลในชีวิต ให้บอกตัวเองว่า วันนี้เราไม่ใช่เด็กคนนั้นอีกต่อไปแล้ว เราเป็นผู้ใหญ่ที่โตแล้ว เวลาที่เจออะไรที่ทำให้กลัว ให้ลองวางใจกับมันดู ค่อยๆ ไปด้วยความระมัดระวัง สุดท้ายก็จะพบว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเลย เป็นแค่เหตุการณ์ครั้งเดียวในชีวิตของเราเอง แต่คนส่วนใหญ่มักจะฝังหัว และกลัวสิ่งนั้นไปตลอดชีวิต
สุดท้ายคือ ‘เงื่อนไขในชีวิต ’ เพราะสังคมจะสอนให้เรามีเงื่อนไขเยอะแยะไปหมด อันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ดี เราไม่มีเวลาออกกําลังกายหรอก งานยุ่ง ไม่มีเวลาทําแน่นอน จริงๆ สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขที่เราวางไว้เอง กลายเป็นกับดักชีวิตของเราต่างหาก ที่ทําให้เราทําอะไรไม่ได้
จริงๆ เราคือผู้เล่น ลองเลือกด้วยตัวเองดูว่า จะออกจากความกลัวนั้นได้ยังไง จะดีพอแล้วกับตัวเองได้ยังไง ไม่ต้องมีเราในทุกๆ ที่ก็ได้ มีแค่เราตรงนี้ มีเวลาอยู่กับตัวเองก็พอ ไม่ต้องไปออกงานสังคมทุกงาน ไม่ต้องมีทุกอย่างบนโลกก็ได้
แค่เรามีเราก็พอแล้ว คําว่า ‘พอ’ น่าจะช่วยให้ค้นพบความสุขบางอย่างก็ได้