Skip to content
พัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถาม
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    อ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear ParentsEarly childhoodHow to get along with teenager
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Myth/Life/CrisisLife classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy life
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
พัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถาม

Month: January 2024

ครบรอบ 20 ปี หนังสือ ‘ไชลด์เซ็นเตอร์ สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย’ กับคำถามที่ว่า การศึกษายังคงเป็นเพียงเรื่องฉาบฉวย?
Book
29 January 2024

ครบรอบ 20 ปี หนังสือ ‘ไชลด์เซ็นเตอร์ สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย’ กับคำถามที่ว่า การศึกษายังคงเป็นเพียงเรื่องฉาบฉวย?

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการตั้งคำถาม สืบเสาะและคลี่ให้เห็นถึงรากฐานความคิดของคำว่า ‘เด็กเป็นศูนย์กลาง’ หรือ ‘ผู้เรียนเป็นสำคัญ’ ที่ถือเป็นคำยอดฮิตในแวดวงการศึกษาของไทยในเวลานั้น 
  • เขาชวนให้ผู้อ่านมองเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธีการสอนใดก็ตาม เราควรยอมรับแต่โดยดีว่าการสอนไม่เป็นกลาง เพราะแต่ละวิธีการก็ล้วนวางอยู่บนคุณค่าและวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งทั้งสิ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ‘สืบค้นเชิงวิพากษ์’ เพื่อทำความเข้าใจถึงรากฐานและคุณค่าของมันให้ชัดเจนเสียก่อน

เป็นเวลาครบรอบ 20 ปีพอดี ที่หนังสือ ‘ไชลด์เซ็นเตอร์ สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย’ เริ่มวางจำหน่ายในปี 2547 ผู้เขียนคือ คุณพิพัฒน์ พสุธารชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ Illuminations Editions ผมเจอหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญในร้านหนังสืออิสระแห่งหนึ่งราว 3-4 ปีก่อน ซื้อมาแต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้อ่านสักทีแต่หลังจากที่ผมได้เขียนบทความ “ข้อสังเกตในยุคอะไรอะไรก็ active learning” จึงมีโอกาสได้ย้อนกลับไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่าที่มาที่ไปของแนวคิด Active Learning นี้ เริ่มปรากฏชัดเป็นนโยบายราว 2 ปีหลังการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้มีบางคนตั้งข้อสังเกตได้ว่า AL ที่ดูใหม่ในปัจจุบัน อาจเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ ไม่ได้แตกต่างอะไรจากแนวคิดผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child-centered) ที่เคยเป็นนโยบายหลักช่วงกลางทศวรรษ 2540 

ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดต่อว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา วงการการศึกษาของเรากำลังวนเวียนพูดเรื่องเดิมซ้ำซากที่เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ แต่งเติมสีสันให้ดูทันโลก อย่างนั้นหรือเปล่า? เพื่อทำความเข้าใจการเมืองของการศึกษาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมย้อนอ่าน ‘ไชลด์เซ็นเตอร์ ฯ’ อย่างจริงจังเสียที 

หนังสือ “ไชลด์เซ็นเตอร์ สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย” เขียนโดย พิพัฒน์ พสุธารชาติ

ก่อนจะมาเป็น Active learning เราคลั่ง Active participant มาก่อน ?

ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือการตั้งคำถามถึงคำว่า ‘เด็กเป็นศูนย์กลาง’ หรือ ‘ผู้เรียนเป็นสำคัญ’ ที่ถือเป็นคำยอดฮิตในแวดวงการศึกษาของไทยในเวลานั้น ไม่ต่างจาก Active Learning ในปัจจุบัน ภายใต้การเกิดขึ้นของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ต้องการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและนักวิชาการต่างก็พูดถึงกันอย่างจริงจังว่าแนวคิดนี้จะเป็นหนทางสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาชาติให้ก้าวหน้าได้ แต่จุดยืนของคุณพิพัฒน์กลับต่างออกไป เขาชวนให้ผู้อ่านมองเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธีการสอนใดก็ตาม เราควรยอมรับแต่โดยดีว่าการสอนไม่เป็นกลาง เพราะแต่ละวิธีการก็ล้วนวางอยู่บนคุณค่าและวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งทั้งสิ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้อง ‘สืบค้นเชิงวิพากษ์’ เพื่อทำความเข้าใจถึงรากฐานและคุณค่าของมันให้ชัดเจนเสียก่อน อย่าเพียงเชื่อว่ามันคือเครื่องมือวิเศษที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายทุกอย่างได้  

สองพาร์ทแรกของหนังสือเล่มนี้ ‘ภาคที่ 1 ความสับสน’ และ ‘ภาคที่ 2 ทฤษฏีจิตวิทยาการเรียนรู้’ เป็นส่วนที่คุณพิพัฒน์ ได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษ 2540 ได้เกิดข้อถกเถียงเรื่องเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างไร เขาได้ยกเห็นเหตุการณ์สำคัญในปี 2545 ที่เด็กนักเรียนคนหนึ่ง ได้วิจารณ์ว่าแนวคิดนี้กำลังทำให้นักเรียนเป็น ‘ควายเซ็นเตอร์’ ที่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท ส่งผลต่อการสอบเข้าสอบมหาวิทยาลัย เพราะนักเรียนไม่ได้มีทรัพยากรเท่าเทียมกัน การวิจารณ์ดังกล่าวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อกระทรวงศึกษาธิการ พวกเขามองเห็นว่านี่คือความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อแนวคิดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และนั่นหมายถึงต้องเร่งทำให้ครูเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องโดยเร็ว แน่นอนว่าในแวดวงวิชาการก็เริ่มมีการถกเถียงถึงแนวคิดนี้อย่างจริงจังมากขึ้น 

มุมมองของผู้ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เห็นว่าแนวคิดนักเรียนเป็นศูนย์กลางถูกรับรู้ความหมายคลาดเคลื่อนไป คำว่าศูนย์กลางหรือสำคัญ คือการยึดเอาความสนใจของเด็กเป็นหลัก ในแง่ความสัมพันธ์ต้องเปลี่ยนจาก ‘ผู้รับ’ มาเป็น ‘ผู้เรียน’ ผู้สอนต้องไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้แต่ต้องมาเป็นผู้จัดประสบการณ์เรียน ดังนั้น บทบาทการเรียนรู้ต้องสร้างให้เกิด ‘Active Participant’ นั่นคือการที่ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นจริงจัง ยิ่งผู้เรียนมีบทบาทมากเท่าไรก็ยิ่งหมายถึงการที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น แต่กิจกรรมต้องทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ และค้นพบความรู้ได้ด้วยตนเองด้วย ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าสิ่งนี้ทำให้เด็กหย่อนยานในเนื้อหาการเรียนรู้ และดูเหมือนจะเป็นการให้อิสระมากจนเกินไป  

การฉายให้เห็นข้อถกเถียงจากหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่า เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี การถกเถียงว่าด้วยการศึกษาได้ย้ายจากคำถามที่ว่า ‘ใครควรเป็นศูนย์กลาง’ หรือแบบไหนที่เรียกว่า ‘นักเรียนเป็นศูนย์กลาง/สำคัญ’ ไปสู่คำถามว่า ‘อะไรคือ Active’ และ ‘Passive’ แต่สิ่งที่ดูจะไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก คือการย้ำไปย้ำมาของสำนวนที่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีนักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากที่สุด ในแง่ที่เป็น ‘Learning by Doing’ ซึ่งราวกับเป็นสัจธรรม    

ใครๆ ก็อ้างถึงจอห์น ดิวอี้ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

พิพัฒน์ไม่ได้ตัดสินว่าฝั่งไหนถูกหรือผิด แต่สิ่งสำคัญคือเขาตั้งข้อสังเกตต่อแนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของนักการศึกษาไทยที่เชื่อว่าแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากปรัชญการศึกษาของ John Dewey ในสโลแกนที่ว่า ‘Learning by Doing’ แต่พิพัฒน์ไม่ได้เชื่อเช่นนั้น 

เขากลับเห็นต่างออกไปว่า แนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีรากฐานมาจากปรัชญาของรุสโซ่ และจิตวิทยาการเรียนรู้ของเพียเจย์ (Piaget) สำหรับรุสโซ่ แนวคิดเรื่องการศึกษาได้ปรากฏชัดในหนังสือ ‘อีมิล’ ที่สะท้อนถึงความเชื่อว่ามนุษย์นั้นดีงามมาตั้งแต่ต้น แต่ถูกทำลายด้วยความเป็นสังคมสมัยใหม่ เด็กจึงควรถูกนำไปอยู่ห่างไกลจากสังคม ปราศจาการแทรกแซงจากผู้ใหญ่ ให้เขาได้เติบโตโดยปราศจากโลกภายนอก ไม่ต้องถูกเจือปนจากสิ่งอื่นๆ ดังนั้น การเติบโตที่ดีจึงต้องรักษาความอิสระและธรรมชาติเอาไว้ 

ในมุมมองพิพัฒน์ เขาเห็นว่าตัวรุสโซ่เชื่อว่าเด็กควรได้เติบโตตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น และมองว่าสังคมสมัยใหม่กำลังทำให้ความก้าวหน้าเสื่อมลง การปฏิเสธสังคมเช่นนี้ จึงเท่ากับปฏิเสธเนื้อหาที่ถูกกำหนดโดยชุดค่าต่างๆ ของสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าเนื้อหา และเช่นนี้เองที่การศึกษามีลักษณะมุ่งตอบสนองความต้องการเด็ก โดยปราศจากการแทรงแซงจากผู้ใหญ่ ในทางตรงกันข้าม พิพัฒน์เห็นว่าใจกลางความคิดของดิวอี้คือเชื่อว่าการศึกษาคือความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกและสังคม ดังนั้น การศึกษาต้องมีความเป็นชุมชนประชาธิปไตยที่จะพาให้เราเรียนรู้และเห็นคุณค่าความคิดที่หลากหลาย เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต จึงเป็นไปไม่ได้เลยหากเราจะแก้ไขปัญหาในอนาคตด้วยการยึดความรู้จารีตแบบแผนที่มีมาเป็นหลัก ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการไตร่ตรองร่วมกันต่างหากที่สำคัญ มุมมองของดิวอี้จึงไม่ได้เสนอให้สอนตามทางเลือกความต้องการของเด็ก และไม่ได้แยกขาดจากสังคม 

นี่จึงทำให้พิพัฒน์สรุปว่า รากฐานแนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ได้มาจากดิวอี้อย่างที่นักการศึกษาไทยหลายคนเข้าใจ แต่มาจากรุสโซ่ ก่อนจะส่งอิทธิพลไปถึงนักการศึกษาอย่างเพียเจต์ในเวลาต่อมา

พิพัฒน์ยังได้สืบค้นและพบว่า แนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเคยเป็นกระแสช่วงหนึ่งในยุโรป หนึ่งในอิทธิพลสำคัญคือจิตวิทยาของ เพียเจย์ (Piaget) ที่มีการอธิบายพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นระบบ ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ที่มองว่าเด็กมีกระบวนการการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยจะมีการรับรู้และขยายความเข้าใจตัวเองเมื่อเจอสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป และดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษในช่วงปี 1960 ในรายงานเพลาเดน แต่กระนั้นหลังปี 1974 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ การศึกษาก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุ และมองว่าการปล่อยให้ครูมีอิสระมากจนเกินไปในการสอนทำให้การสอนไม่มีมาตรฐาน เป็นผลให้เกิดการกลับไปสู่จารีตแบบดั้งเดิมคือการยึดเอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง อันที่จริงในเวลานั้นมันคือการ ‘เอาเนื้อกลับไปขายเนื้อเหมือนเดิม’     

สำหรับผมแล้วไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับสิ่งที่พิพัฒน์หยิบยกมาสร้างข้อถกเถียงหรือไม่ก็ตาม  แต่สิ่งสำคัญคือความพยายามของเขาที่จะสืบเสาะไปถึงรากปรัชญาความคิดอย่างจริงจังมากกว่าจะเชื่อและอ้างอิงกันมาโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ  

บ่อยครั้งที่นโยบายการศึกษามัก ‘หยิบฉวย’ ตามกระแสมาใส่ไว้แล้วออกคำสั่งให้ครูปฏิบัติ แล้วแปะหน้าซองด้วยคำกล่าวอ้างหนึ่ง แล้วเราก็เชื่อไปโดยปริยาย  หนังสือเล่มนี้จึงบอกกับเราว่า เราจำเป็นอย่างมากที่ต้องตรวจสอบ สืบเสาะ และถกเถียงลงไปให้ลึกกว่าเพียงผิวเผิน อย่างมากที่สุดคือการกลับไปให้ถึงรากของปรัชญาของมัน

อย่าเพิ่งไว้วางใจแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง (และตั้งคำถามบ้างก็ดี)

หลังจากที่พิพัฒน์ได้คลี่ให้เห็นถึงรากฐานความคิด เขาก็ได้สร้างข้อโต้แย้งถึงแนวคิดดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ถือเป็นความพยายามที่จะท้าชนกับวิธีคิดกระแสหลัก ประการที่หนึ่งคือ ‘การค้นพบความรู้ด้วยตนเอง’ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่านักเรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ดังที่นักการศึกษาจำนวนหนึ่งเชื่อ สำหรับพิพัฒน์ การเรียนรู้ใดก็ตามต้องอาศัยครู อย่างน้อยก็ในการชี้แนะ สนทนา หรือบอกใบ้ เพื่อให้เด็กได้สร้างข้อถกเถียงหรือกรอบวิธีคิดขึ้นมา นี่เป็นการวิพากษ์ของพิพัฒน์บนทฤษฏีของ ไวท์ก็อตสกี้ และ บูรเนอร์ ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction) 

และประการที่สอง บ่อยครั้งแนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางก็ได้จัดวางให้ความรู้ที่ได้มาจากการจดจำอยู่ในระดับล่างสุดของลำดับชั้น เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างท่องแท้ เสมือนเป็นนกแก้วนกขุนทอง พิพัฒน์ได้วิจารณ์ว่าการจัดวางและการโจมตีความรู้จากการท่องจำนั้นดูจะเป็นสิ่งที่เกินเลยไป เขาได้ยกสถานการณ์ที่การจดจำทำงานควบคู่กับการคิดวิเคราะห์ขึ้นมาให้เห็นภาพ เช่น คณิตศาสตร์ที่นักเรียนต้องเรียนรู้จดจำสัญลักษณ์ที่สังคมให้ควาหมาย เพื่อเป็นพื้นฐานของการคิด เป็นต้น ในประเด็นสุดท้าย คือ ความสนใจอยากรู้ของนักเรียน เขายังได้ตั้งคำถามผ่านไปในบริบทเฉพาะ เช่น การเรียนรู้เรื่องภาษา การฝึกเขียน การฝึกฝนเหล่านี้จะถูกอธิบายหรือมีที่ทางอย่างไรในหลักการดังกล่าว  

ขณะเดียวกัน ในพาร์ทที่ 3 และ 4 พิพัฒน์ยังเสนอให้เราทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ในมุมมองที่กว้างออกไป ไม่ใช่เพียงติดอยู่กับคำถามที่ว่าครูมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน หรือความเข้าใจที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร แต่ในฐานะนักการศึกษาหรือผู้ออกนโนบายควรมองครูในฐานะมนุษย์ที่สัมพันธ์กับชุดค่าและความเชื่อด้วย ในการสอนครูมีความเชื่อและเป้าหมายอย่างไร การจัดสภาพการทำงานองค์กรแบบไหนที่จะเอื้อสนับสนุนคุณค่าต่างๆ เหล่านั้น ความรู้เชิงปฏิบัติก็เป็นอีกสิ่งที่เกิดขึ้นกับครูในหน้างานแต่ละวัน แต่เป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญน้อยมากๆ เรามักจะมองที่ความรู้เชิงวิชาการที่ส่งตรงมาให้ครูในฐานะที่เป็นวัตถุวิสัย ให้ครูยอมรับ และทำตาม แต่แท้จริงแล้วครูอยู่ในห้องเรียนที่แตกต่างกัน พวกเขาแต่ละคนจะมองเห็น คิด และเลือกตัดสินใจจากบริบทตรงหน้า นี่คือความเป็นอัตวิสัย ดังนั้น หากหวังว่าจะให้ครูปรับเปลี่ยน จำเป็นที่ต้องเข้าใจว่าความรู้เชิงปฏิบัติการที่เกิดจากในห้องเรียนของครูคืออะไร จากนั้นควรมีการสร้างการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ความเข้าใจเปิดกว้างออกไปจากมุมที่ครูคุ้นชิน    

หนังสือเล่มนี้จึงกำลังบอกเราว่าอย่าเพิ่งไว้วางใจแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง หรือมองมันอย่างไร้เดียงสา เพราะแนวคิดหนึ่งก็นำมาซึ่งการเสนอวิธีการและความเข้าใจต่อการเรียนรู้แบบหนึ่ง และมันสำคัญมากที่เราจะตั้งคำถามกับมันให้มากขึ้น ไม่ควรทำให้มันเป็นสัจธรรมหรือคำตอบสำเร็จรูป มากไปกว่านั้นยังได้ย้ำเตือนว่ายังมีทางเลือกหรือความเป็นไปได้ในการคิดหรือมองมันในแบบอื่นๆ อยู่ด้วยเช่นกัน   

10-20 ปีหลังจากนี้ เรายังจะยังวนเวียนอยู่กับสำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทยอีกหรือไม่ ? 

อ้างอิง

Active Learning กำลังจะมา แต่ผล Pisa ของไทยกำลังไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น… : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

https://www.matichon.co.th/columnists/news_414195

Tags:

การศึกษาไทยActive Learningการตั้งคำถามchild center‘ไชลด์เซ็นเตอร์ สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย’หนังสือ

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Education trend
    สังคมการเรียนรู้ คือสังคมแห่งคำถาม: ปุจฉา 5 ข้อ จาก ‘ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช’ ทบทวนความเข้าใจ(ผิด)ทางการศึกษา

    เรื่อง The Potential

  • Book
    Normal People: จะรวยหรือจน…ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Social Issue
    ‘ความผิดหวังต่อระบบการศึกษา’ ฝันร้ายในวิกฤตเด็กนอกระบบ

    เรื่อง The Potential

  • Education trendSocial Issues
    ข้อสังเกตในยุคที่ ‘อะไรอะไรก็ต้องเป็น Active Learning’ เมื่อ AL อาจทำให้มุมมองการสอนของเราแคบลง

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

Blue Giant: ในวันที่ก้าวสู่ฝัน…หวังว่าเราจะเป็นลมใต้ปีกที่คอยพยุงกันและกันไปให้ถึงจุดหมาย
Movie
26 January 2024

Blue Giant: ในวันที่ก้าวสู่ฝัน…หวังว่าเราจะเป็นลมใต้ปีกที่คอยพยุงกันและกันไปให้ถึงจุดหมาย

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Blue Giant เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันจากญี่ปุ่น บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัย 18 ปี 3 คน ที่มีแบ็คกราวด์แตกต่างแต่มีความฝันเดียวกัน โดยมีดนตรีแจ๊สร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างทรงพลัง
  • แก่นหลักของเรื่องนอกจากจะทำให้เห็นถึงความสำคัญของแพสชั่นและความพยายาม หรือ Grit ยังฉายชัดถึงการมีทัศนคติที่ดี ที่ช่วยให้รับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้
  • ยุซุรุ ทาชิคาวะ ผู้กำกับแสดงความคาดหวังว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังหลงทาง สูญเสียความฝัน หรือยอมแพ้ ให้สามารถลุกขึ้นยืนเพื่อตามหาดาวเหนือที่ฝันไว้อีกครั้ง

ภาพจาก 沁入靈魂的爵士樂:為什麼《BLUE GIANT》讓觀眾看著看著都淚流滿面? – POPBEE

ย้อนกลับไปประมาณสิบปีก่อน ผมในวัย 20 กำลังนั่งจับกลุ่มคุยกับเพื่อนๆ ถึงเหตุการณ์ในรายการประกวดร้องเพลงชื่อดังแห่งยุค

สิ่งที่ทำให้ผมไม่ลืมคือปกติเราจะนั่งคุยกันว่าใครเสียงดีหรือหน้าตาดีที่สุด แต่วันนั้นเรากลับพูดถึงประเด็นที่รายการโฟกัสความสนใจไปยังน้องผู้หญิงวัยมัธยมสองคนว่าทำไมคนหนึ่งถึงถูกกรรมการเปรียบว่าเป็น “ดอกไม้สด” ต่างกับอีกคนที่ถูกเรียกว่า “ดอกไม้ประดิษฐ์”

ผมคิดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง หลังได้รับชมภาพยนตร์อนิเมะจากญี่ปุ่นเรื่อง Blue Giant เป่าฝันให้เต็มฟ้า ที่สร้างจากมังงะชื่อเดียวกันที่มียอดขายมากกว่า 10 ล้านเล่ม

Blue Giant บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ได’ (มิยาโมโตะ ได) หนุ่มน้อยอายุ 18 จากเมืองเซนไดที่เดินทางเข้ามาในเมืองหลวงอย่างกรุงโตเกียวเพื่อสานฝันการเป็นนักดนตรีแจ๊ส (แซ็กโซโฟน) อันดับ 1 ของโลก ซึ่งประเด็นสำคัญนอกจากเรื่องความมุ่งมั่นพยายามอย่างแรงกล้าของไดแล้ว ภาพยนตร์ยังเล่าถึงเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันของไดอีกสองคนที่แม้จะมีนิสัยใจคอต่างกัน แต่ด้วยความหลงใหลในดนตรีแจ๊สเหมือนกัน ทำให้ทั้งสามคนตัดสินใจตั้งวงดนตรีร่วมกัน โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องไปแสดงโชว์ใน So Blue หรือคลับแจ๊สอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นก่อนที่ทุกคนจะอายุครบ 20 ปี

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์]

Blue Giant

ความสำเร็จเหมือนการปลูกดอกไม้ที่ต้องรดน้ำพรวนดินอย่างสม่ำเสมอ

บทเรียนชีวิตบทแรกที่ผมได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือเรื่อง ‘ความมุ่งมั่น’ และ ‘เพียรพยายาม’ ของไดในการฝึกฝนฝีมือทุกวัน โดยไม่สนว่าวันนั้นจะผ่านเรื่องอะไรมา สภาพอากาศจะเป็นอย่างไร หรือคนจะพูดถึงเขายังไง 

นอกจากการฝึกเป่าแซ็กโซโฟนทุกวัน ไดก็หาเวลาว่างมาดูแลอาวุธคู่ใจของเขาเสมอ ทั้งยังเพิ่มความแข็งแรงของปอดและลมหายใจด้วยการวิ่งวันละ 3 ชั่วโมง เพราะไดตระหนักว่าหน้าที่ของเขาคือการพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เขาในวันนี้ต้องดีกว่าตัวเองในเมื่อวาน

ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่าการมีแพสชันเพียงอย่างเดียวก็ไม่ต่างอะไรกับการ ‘ฝันกลางวัน’ ที่แทบจะไม่มีทางเป็นจริง ซึ่งบุคลิกของไดได้บอกใบ้ผมทางอ้อมว่า กุญแจสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นความจริง คือส่วนผสมของความหลงใหลและความพากเพียร ที่เรียกว่า Grit ซึ่งเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ได้ โดยไม่ยอมแพ้แม้หนทางจะยากลำบาก หรืออุปสรรคจะมากแค่ไหน 

‘ได’ นักดนตรีแจ๊ส (แซ็กโซโฟน)

อย่าเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่สวยแต่ไร้ชีวิตชีวา 

ในจำนวนเพื่อนร่วมวงทั้งสองของได ผมชื่นชอบนักเปียโนที่ชื่อ ‘ยูกิโนริ’ มาก เพราะยูกิโนริถือเป็นตัวละครที่มีความพลิกผันมากที่สุด ซึ่งก็ทำให้เห็นมุมมองเรื่องชีวิตและความสำเร็จมากที่สุดเช่นเดียวกัน

ยูกิโนริฝึกเปียโนตั้งแต่ 4 ขวบ ฝีมือของเขาในวัย 18 ถูกจับจ้องและคาดหมายว่าจะก้าวขึ้นเป็นนักดนตรีแถวหน้าของวงการแจ๊สได้ไม่ยาก แต่ถึงจุดหนึ่งความแม่นทฤษฎีกลับทำให้ตัวเอง ‘ติดกรอบ’ เมื่อต้องแสดงท่อนโซโล่ในการโชว์ร่วมกับวง เขากลับโซโล่เปียโนอยู่ในกรอบเดิมๆ ซ้ำๆ จนขาดเสน่ห์ เพราะหัวใจของท่อนโซโล่คือการแสดงอารมณ์ความรู้สึกสดๆ ของนักดนตรีผ่านเสียงบรรเลงไปยังผู้ชมโดยไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน

สวนทางกับไดที่แม้จะไม่รู้ทฤษฎีอะไรมากนัก แต่พอเข้าโซโล่เขากลับเล่นดนตรีได้อย่างเร่าร้อนและทรงพลัง โดยใช้อารมณ์เป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เสียงแซ็กโซโฟนของไดเปล่งประกายและมีเสน่ห์เฉพาะตัวเหมือนกับ ‘ดอกไม้สด’ ที่บางครั้งก็เบ่งบานให้ความสุข แต่บางคราวกลับดูเศร้าหมอง แต่ทุกครั้งมันคือการสื่อสารความรู้สึกจากนักดนตรีไปถึงผู้ชม

อย่างไรก็ตาม หลังฉากนี้ผู้บริหารจาก So Blue คลับแจ๊สอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นที่ได้มาดูการแสดงสดของทั้งสามคน ซึ่งรวมตัวกันในชื่อ ‘Jass’ เขาได้พูดคุยกับยูกิโนริเป็นการส่วนตัว และได้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า

“เธอเล่นได้ไม่ดีเลย เอาแต่เล่นเปียโนอยู่ใต้จมูกตัวเอง ไม่มีพาร์ทไหนของการแสดงเลยที่น่าสนใจ เธอก็รู้ว่าเรามีคลับแจ๊สที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น แต่เธอกำลังทำเหมือนดูถูกเราด้วยวิธีการเล่นแบบนั้น เธอขี้ขลาดใช่ไหม เธอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อดึงดูดความสนใจมาที่ตัวเอง…ทั้งๆ ที่เธอควรใช้ความพยายามเหล่านั้นในระหว่างการโซโล่แทน ยิ่งกว่านั้นดูเหมือนเธอไม่เพียงแค่ดูถูกดนตรีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนอื่นๆ ด้วย”

‘ยูกิโนริ‘ นักเปียโน

ล้มได้ก็ลุกได้ ถ้าเรายังเป็นลมใต้ปีกให้กันและกัน

ภายหลังเหตุการณ์ที่ยูกิโนริถูกผู้บริหาร So Blue หักอก ภาพยนตร์ก็ส่งข้อความถึงผมว่า การมี ‘ทัศนคติที่ดี’ จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ยากๆ ได้ ซึ่งนำเสนอผ่านฉากที่ ‘ได’ รับรู้เรื่องนี้และเข้ามาปลอบใจยูกิโนริให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง 

“นายคิดว่าสิ่งที่ชายคนนั้นพูดมันจริงไหม ใช่ ฉันก็คิดแบบนั้นเช่นกัน นายไม่ควรปล่อยให้ตัวเองหดหู่ สิ่งที่นายควรทำคือการลุกขึ้นสู้ ไม่ใช่มัวแต่นั่งซึม 

ตอนเป่าโซโล่ ฉันจะเป่าโดยคิดว่าตัวเองเจ๋งสุดในโลก ถึงแม้จริง ๆ แล้วมันไม่แจ่มนักก็ตาม ถ้าแค่มีคนบอกว่าฝีมือห่วยก็เออออเชื่อเขาแบบนี้คงไม่ต้องทำอะไรกินกันแล้ว คนที่มัวแต่หงอ ไม่มีทางทำอะไรสำเร็จหรอก”

นอกจากยูกิโนริ ตัวละครสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือ ‘ทามาดะ’ มือกลองของวงที่หัดกลองได้ไม่ถึงสามเดือนก็ต้องขึ้นโชว์ครั้งแรก ซึ่งภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่าแม้ช่วงต้นๆ เขาจะเป็น ‘ตัวถ่วง’ ของวง แต่ไม่นานผมก็เริ่มเห็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของทามาดะ ผ่านสายตาของคุณลุงเจ้าของร้านเต้าหู้ที่ติดตามให้กำลังใจทามาดะตั้งแต่แสดงครั้งแรกจนถึงวันที่เขาเริ่มเป็นที่ยอมรับของชาวแจ๊สในกรุงโตเกียว

‘ทามาดะ’ มือกลอง

“เธอเล่นดีขึ้นมากจากการแสดงครั้งแรกจนถึงตอนนี้ ลุงเห็นทักษะของเธอดีขึ้นเรื่อยๆ (ตบไหล่) ลุงมาที่นี่ก็เพื่อดูว่าฝีมือกลองของเธอพัฒนาการขึ้นแค่ไหนแล้ว”

ผมรู้สึกประทับใจวิธีพูดและการใช้ภาษากายของคุณลุงมาก เพราะทามาดะเป็นตัวแทนของคนที่เริ่มพัฒนาตัวเองจากศูนย์โดยอาศัยความพยายามอย่างหนักหน่วง ทั้งการลงทุนซื้อกลอง ไปเรียนกลองที่โรงเรียนสอนดนตรีเด็ก หรือแม้แต่ฝึกตีกลองจนนิ้วเป็นตุ่มพองก็ยังไม่หยุด ดังนั้นการที่มีใครสักคนมองเห็น ชื่นชม ให้กำลังใจ และให้คุณค่ากับความพยายามของเขา จึงเหมือน ‘ลมใต้ปีก’ ที่พยุงให้ทามาดะมีพลังใจจะก้าวต่อไปในเส้นทางที่เขารัก

อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางไล่ล่าความฝันเพื่อให้ได้ขึ้นแสดงที่ So Blue จักรวาลชาวแจ๊สในโตเกียว ทั้งสามคนต้องผ่านบททดสอบมากมาย แต่ด้วยมุมมองเชิงบวก ความมุ่งมั่นพยายามเอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง การเห็นคุณค่าและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในการโอบล้อมของมิตรภาพและความปรารถนาดีอย่างจริงใจ ทำให้พวกเขาก้าวไปประกาศความฝันต่อหน้าผู้ชมได้อย่างสง่างาม

“ผมมีคำเรียกนักดนตรีที่เล่นได้อย่างมหัศจรรย์ว่าดาวฤกษ์สีฟ้า ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจัดจนเกินขีดจำกัดที่เราสามารถทำได้ พวกเขาเป็นเหมือนดาวฤกษ์สีฟ้าดวงนั้น และการแสดงโชว์ครั้งนั้นเปล่งประกายไปด้วยแสงสีฟ้าของดนตรี” อาจารย์ผู้สอนแซ็กโซโฟนของได กล่าว

ถือเป็นความแข็งแรงของพล็อตที่ทำให้หนังเรื่องนี้ส่งต่อพลังงานดีๆ ให้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่กำลังไล่ตามความฝัน เป็นคนรักดนตรีแจ๊ส เป็นคนรักอนิเมะ หรือเป็นแค่คนธรรมดาที่อยากใช้ชีวิตในเส้นทางที่เลือก…

Tags:

การพัฒนาตนเองความหลงใหล (passion)ความพากเพียร (perseverance)ภาพยนตร์แอนิเมชั่นญี่ปุ่นBlue Giant เป่าฝันให้เต็มฟ้าการชื่นชมGritความฝัน

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • Movie
    Flash Dance: เอาชนะความกลัวด้วยความเชื่อที่ว่า ถึงจะล้มเหลวก็ยังดีกว่าการไม่ได้เริ่มต้นในสิ่งที่ใจปรารถนา

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • MovieDear Parents
    The Makanai: cooking for the maiko house ประเทศที่คนจะทำอาชีพอะไรก็ได้

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Whisper of the heart: ในวันที่มองไม่เห็นอนาคตและความฝันยังไม่สำเร็จ ฉันเพียงต้องการแค่คนที่อยู่เคียงข้างกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Character building
    Grit : ส่วนผสมของ ‘หลงใหล’ และ ‘พากเพียร’ ความสำเร็จที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • มีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้คำว่า ‘การศึกษาเพื่อการมีงานทำ’

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

‘ทั้งขำ ทั้งจำได้’ ประโยชน์ของอารมณ์ขันในห้องเรียน
Education trend
23 January 2024

‘ทั้งขำ ทั้งจำได้’ ประโยชน์ของอารมณ์ขันในห้องเรียน

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การสอนแบบสนุกเฮฮามีส่วนช่วยให้จดจำได้ดีขึ้นหรือไม่? หรืออันที่จริงแล้ว ก็แค่สนุก แต่ไม่ได้ช่วยให้จำอะไรได้ดีขึ้นกันแน่? หรือแม้แต่จำได้แย่ลงหรือไม่? ถ้าอยากให้สนุกด้วย จำได้ดีด้วย จะต้องทำอย่างไร?
  • อารมณ์ขันในห้องเรียนส่งผลกับทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เรียน ทำให้สามารถเรียนได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้นและส่งผลให้ความทรงจำที่เกิดขึ้นกลายไปเป็นความจำแบบระยะยาวได้ดีขึ้น
  • มุกตลกที่นำมาใช้จำเป็นต้องเกี่ยวข้องหรือเสริมกับเนื้อหา จึงจะมีส่วนทำให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นหรือมากขึ้น

หากถามแต่ละคนว่าจำครูอาจารย์คนไหนได้บ้าง เชื่อว่าคงต้องมีหลายคนสามารถที่จดจำครูที่สอนสนุก เฮฮา มีการยิงมุกตลก ปล่อยเรื่องขำขันเป็นระยะๆ บางคนได้แน่ 

คำถามสำคัญน่าจะได้แก่ การสอนแบบสนุกเฮฮามีส่วนช่วยให้จดจำได้ดีขึ้นหรือไม่? หรืออันที่จริงแล้ว ก็แค่สนุก แต่ไม่ได้ช่วยให้จำอะไรได้ดีขึ้นกันแน่? หรือแม้แต่จำได้แย่ลงหรือไม่? ถ้าอยากให้สนุกด้วย จำได้ดีด้วย จะต้องทำอย่างไร? 

จะขอเริ่มจากการอ้างอิงว่ามีงานวิจัย [1] ที่ยืนยันว่า นักเรียนนักศึกษาจำห้องเรียนและครูอาจารย์ที่มีอารมณ์ขันและห้องเรียนที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายได้ดี พูดเข้าใจง่ายๆ คือ เป็นห้องเรียนที่ชวนให้ประทับใจนั่นเอง 

เรื่องที่น่าสนใจคือ นักเรียนนักศึกษามักจะให้เครดิตกับครูอาจารย์กลุ่มนี้ว่าเก่งกว่าอีกด้วย แม้ว่าความจริงครูอาจารย์พวกนี้อาจจะไม่ได้เก่งกว่า มีภูมิความรู้สูงกว่า แต่เป็นพวกที่สื่อสารผ่านบทเรียนตลกๆ สนุกๆ ได้ดีกว่า ซึ่งก็สำคัญมากเช่นกัน  

อารมณ์ขันในห้องเรียนส่งผลกับทั้งร่างกายและจิตใจของผู้เรียนนะครับ 

หลักฐานคือมีการศึกษาฮอร์โมนในร่างกายผู้เรียนที่แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ขันและความรู้สึกสนุกสนานของนักเรียนนักศึกษาทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดลดลง ไม่ว่าจะเป็นคอร์ติซอล โดแพ็ก (dopac) และเอพิเนฟรีน (epinephrine) และในทางกลับกันก็ไปเพิ่มฮอร์โมนโดพามีน (dopamine) ที่อยู่ในระบบให้รางวัลของสมอง [2] ทำให้รู้สึกมีความสุข ความพึงพอใจมากขึ้น

แต่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ยังส่งผลต่อเนื่องทำให้สามารถเรียนได้อย่างมีเป้าหมายมากขึ้นและส่งผลให้ความทรงจำที่เกิดขึ้นกลายไปเป็นความจำแบบระยะยาวได้ดีขึ้น [3]  

สมองเรามีความความจำแบบระยะสั้นที่จะลืมไปอย่างรวดเร็ว เช่น เบอร์โทรศัพท์หรือรหัสพาสเวิร์ดบางอย่างที่ต้องใช้เฉพาะหน้า แต่อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีกในอนาคต และอีกแบบหนึ่งคือระบบความจำระยะยาว เช่น เกี่ยวกับเรื่องงานที่ทำซ้ำๆ หรือเรื่องที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับคนนั้น เช่น ความทรงจำเรื่องช่วงเวลาดีๆ กับคนรักหรือคนในครอบครัว หรือรหัสเข้าใช้งานคอมพิวเตอร์หรือรหัสเอทีเอ็ม   

กล่าวได้ว่าประโยชน์ของอารมณ์ขันในห้องเรียนนี่ ชัดเจนแจ่มแจ๋วแบบไม่ต้องเถียงกัน อันที่จริงจากประสบการณ์ตรงหลายคนก็คงรู้สึกเช่นนั้น ไม่เช่นนั้นพวกนักเรียนคงไม่ไปเรียนกับพวกติวเตอร์ที่ปล่อยมุกตลกได้เป็นระยะๆ ตลอดการสอนแน่ 

มีงานวิจัยที่รู้จักกันดีเพราะค้นพบกันมาอย่างยาวนานว่า การยิ้มหรือหัวเราะยังทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เอนดอร์ฟิน (endorphin) ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวดและความเครียดได้อีกด้วย แต่เรื่องที่คนจำนวนมากยังไม่ค่อยรู้กันก็คือ เอนดอร์ฟินช่วยกระตุ้นสมองส่วนหน้าและช่วยเพิ่มความจดจ่อหรือสมาธิให้มากขึ้นด้วย [4] 

 อันที่จริงมีการทดลองหนึ่งที่นักวิจัยเขียนคำแนะนำการทำข้อสอบแบบขำๆ หรือเขียนเนื้อหาในตัวข้อสอบแบบขำๆ แทนที่จะเขียนแบบเรียบๆ หรือเป็นทางการอย่างที่ทำกันเป็นปกติ ผลก็คือพบว่าช่วยลดความเครียดของนักเรียนที่ทำข้อสอบได้ ส่งผลให้ทำคะแนนสอบได้มากขึ้นอีกด้วย [5] 

พอจะเรียกได้ว่าอารมณ์ขันเปลี่ยนจากสถานการณ์สอบที่เป็นเรื่องทางการและน่าเบื่อหน่ายไปเป็นเรื่องที่ผ่อนคลายให้ความรู้สึกสบายๆ มากขึ้นได้บ้าง 

ยุคนี้มีการสอนออนไลน์กันมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 กว้างขวางเท่าเดิมแล้วก็ตาม ศาสตราจารย์มาร์ค แชตซ์ (Mark Shatz) และแฟรงก์ โลชิเอโว (Frank LoSchiavo) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ แสดงให้เห็นว่าอารณ์ขันในห้องเรียนแบบนี้ ช่วยเพิ่มความตั้งใจและการร่วมมือของนักเรียนได้อย่างเห็นได้ชัด [6]  

มองออกไปไกลกว่าห้องเรียน มีการสำรวจของพิวรีเสิร์ช [7] ที่พบว่า เมื่อผู้ชมได้ชมรายการโทรทัศน์ (อาจเป็นรายการข่าวหรือรายการโชว์ต่างๆ ก็ได้) ที่พิธีกรเจืออารมณ์ขันเข้าไปด้วย เช่น เดอะเดลี่โชว์ (The Daily Show) ของอเมริกันที่เอาข่าว เรื่องของนักการเมืองและใครต่อใครเอามาเล่าแบบขำๆ หรือเสียดสี หรืออีกรายการคือ เดอะโคลเบิร์ตรีพอร์ต (The Colbert Report) ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันคือ ตลกๆ จิกกัด ซึ่งมีสตีเฟน โคลเบิร์ต เป็นพิธีกร ก็จะทำให้ผู้ชมจดจำ ‘เนื้อข่าว’ ได้ดีกว่า หากเทียบกับการดูข่าวจากซีเอ็นเอ็น ฟอกซ์นิวส์ หรือสถานที่โทรทัศน์ท้องถิ่นอื่นๆ รวมไปถึงการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ด้วย

หากเทียบกับอาหาร การใส่อารมณ์ขันในรายการโทรทัศน์ก็เหมือนการเพิ่มน้ำจิ้มหรือเครื่องเทศบางอย่างให้อาหารกลมกล่อมมากขึ้นนั่นเอง

แต่การนำความตลกขบขันเข้าสู่ชั้นเรียนมีเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือต้องเลือกให้เหมาะสมกับวัย และข้อที่ 2 คือเรื่องนั้นต้องมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะสอน จึงจะช่วยให้จำได้ดีขึ้น 

มีงานวิจัยที่จับเอาเด็กอนุบาลกับเด็กชั้นประถมปีที่ 1 มานั่งดูรายการเด็ก เซซามีสตรีท (Sasame Street) โดยให้ดูท่อนที่มีแก๊กตลกกับท่อนที่ไม่มี ผลคือกลุ่มที่ได้ดูท่อนที่มีเนื้อหาขำๆ จะจดจำเนื้อเรื่องได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ดูแต่ท่อนที่ไม่มีมุกตลก [8]  

แต่ที่ดีไปกว่านั้นก็คือ ความสามารถในการจดจำเนื้อหาที่ได้ยังลากยาวไปถึงส่วนที่ไม่ตลกด้วยสำหรับเด็กที่ได้ดูท่อนที่ตลก ผู้สร้างรายการรู้เรื่องนี้ดี จึงแทรกมุกตลกอยู่เป็นระยะๆ เพื่อสร้างการจดจำสำหรับเด็กๆ      

ในวัยรุ่นยิ่งได้เปรียบมากขึ้นไปอีก เพราะนักวิจัยพบว่าเป็นวัยที่มีตัวรับ (receptor) บนเซลล์ที่จับกับฮอร์โมนโดพามีนเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ จึงรู้สึกขำง่ายและขำมากเป็นพิเศษ เรื่องขำขันหรือมุกตลกจึงเวิร์กมากๆ สำหรับเด็กในช่วงวัยนี้ [9] 

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ มุกตลกที่นำมาใช้จำเป็นต้องเกี่ยวข้องหรือเสริมกับเนื้อหา จึงจะมีส่วนทำให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นหรือมากขึ้น จะขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจในคลาสที่สอนเกี่ยวกับ ‘การรายงานการค้นพบทางวิทยาศาสตร์’ [10] แต่แทนที่จะเล่าแบบตรงๆ นักจิตวิทยาชื่อ แรนดี้ การ์เนอร์ (Randy Garner) เลือกใช้วิธีเล่าเรื่องของนักโทษ 2 คนให้นักศึกษาฟังว่า มีนักโทษ 2 คนโดนขังอยู่ด้วยกันในคุกที่อยู่กลางทะเลทราย

นักโทษใหม่พยายามจะชวนนักโทษเก่าให้หนีไปด้วยกัน แต่ไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจพยายามหนีไปคนเดียว แม้จะหลุดรอดออกจากคุกได้สำเร็จ แต่กลายเป็นว่าไปไหนไม่ได้อยู่ดี เพราะตัวคุกอยู่กลางทะเลทราย ห่างจากเมืองที่ใกล้สุดเป็นร้อยกิโลเมตร 

สุดท้ายจึงโดนจับกลับมาและได้กลับมาอยู่ในห้องขังเดิม นักโทษที่อยู่มาก่อนจึงเล่าให้ฟังว่า เขาก็เคยพยายามหนีแบบนี้เช่นกันไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น แต่สุดท้ายก็ไปไหนไม่รอดด้วยเหตุผลเดียวกัน ทำให้นักโทษใหม่ถึงกับร้องโวยวายว่า “เอ๊า แกก็ทำ! แกก็รู้! แล้วทำไมไม่บอกข้า?” 

นักโทษที่อยู่มาก่อนก็ตอบว่า “ไอ้บ้า ใครเค้ารายงานผลการทดลองที่ล้มเหลวกันล่ะ แหม่!” 

ใช่ครับ … ในวารสารวิทยาศาสตร์ทั่วไป ปกติจะเล่าว่านักวิจัย ‘ประสบความสำเร็จ’ อะไรบ้างกับการทดลองของตัวเอง แทบไม่มีใครรายงานความล้มเหลว จะมีก็เป็นส่วนน้อยมากๆ 

เรื่องเล่านี้จึงมีเนื้อหาที่เสริมกับบทเรียนและช่วยให้นักศึกษาจดจำเรื่องการไม่รายงานผลการทดลองที่ให้ผลเป็นลบได้เป็นอย่างดี     

ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นที่ครูอาจารย์ต้องทำตัวเป็นตลกหรือสแตนด์อัปคอมมีเดียน แค่เลือกเอาเรื่องขำขัน ตลกๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทเรียนในทางใดทางหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้าง ทำได้เพียงเท่านี้ ห้องเรียนก็จะน่าเรียน นักเรียนก็จะรักทั้งตัวครูและบทเรียนมากขึ้น

เกิดอาการ ‘ทั้งขำ ทั้งจำได้’ อย่างที่จั่วหัวไว้นั่นแหละครับ

เอกสารอ้างอิง

[1] Communication Education, 48:1, 48-62, DOI: 10.1080/03634529909379152

[2] https://www.nature.com/articles/nn0301_237 

[3] https://www.nature.com/articles/nrn1406

[4] https://denniseheckman.medium.com/how-laughter-increases-students-learning-and-memory-retention-ecc723a1b3b6

[5] HUMOR: International Journal of Humor Research, 19, 425-454

[6] https://denniseheckman.medium.com/how-laughter-increases-students-learning-and-memory-retention-ecc723a1b3b6

[7] https://www.edutopia.org/blog/laughter-learning-humor-boosts-retention-sarah-henderson

[8] Journal of Educational Psychology, 72(2), 170–180. https://doi.org/10.1037/0022-0663.72.2.170

[9] Front. Hum. Neurosci., 12 February 2010, Volume 4 – 2010. https://doi.org/10.3389/neuro.09.006.2010

[10] https://www.apa.org/monitor/jun06/learning

Tags:

เทคนิคการสอนการจดจำห้องเรียนความสนุกเป้าหมายในการเรียน

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • EF (executive function)
    ‘Process Art’ ศิลปะที่เน้นกระบวนการมากกว่าผลงานชิ้นโบว์แดง เสริมทักษะ EF ในเด็กปฐมวัย: ครูบุญทิพา คุ้มเนตร โรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฏร์)

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Learning Theory
    เรียนรู้ผ่านเรื่องเล่า: เทคนิคการเล่าเรื่องที่ช่วยให้ผู้เรียนจดจำได้ดีขึ้น

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Learning Theory
    สร้างบรรยากาศแห่งความหวังในห้องเรียน ให้นักเรียนกล้าตั้งเป้าหมายและพยายามไปให้ถึง เชื่อมั่นว่าตนเรียนสำเร็จได้

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    อยากเห็นเด็กๆ โตเป็นพลเมืองที่ดี การเมืองต้องเป็นเรื่องที่พูดได้ เถียงได้ในห้องเรียน

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ PHAR

  • 21st Century skills
    เรียน ‘วิชาเงียบ’ เพื่อให้เด็กๆ ฟังเสียงตัวเองชัดขึ้น

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

‘ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก’  วิชาที่ชวนเด็กๆ ตั้งการ์ดสูง ยืนยันสิทธิที่จะไม่ถูกบูลลี่:  ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์   
Social Issues
22 January 2024

‘ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก’  วิชาที่ชวนเด็กๆ ตั้งการ์ดสูง ยืนยันสิทธิที่จะไม่ถูกบูลลี่:  ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์   

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • การกลั่นแกล้งรังแก (Bully) ในเด็กและเยาวชน นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
  • นอกเหนือจากครอบครัว โรงเรียน และค่านิยมสังคมแล้ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ซ้ำเติมผลกระทบ  ด้านสุขภาพจิตของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อคือ ‘ทัศนคติ’ ของผู้ใหญ่ที่ละเลยเพิกเฉย
  • การติดตั้งทักษะชีวิตเพื่อรับมือกับการกลั่นแกล้งรังแกกัน ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ มีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์และขอความช่วยเหลือ

“เพื่อนล้อเล่นแค่นี้ทำไมต้องโกรธ”

“พ่อ(แม่) บอกแล้วใช่ไหมว่าให้ไปฟ้องครู” 

“ทำไมปล่อยให้เพื่อนชกอยู่ฝ่ายเดียวล่ะ” 

“ถูกแกล้งแค่นี้ทำเป็นรับไม่ได้ โรงเรียนไหนก็มีกันทั้งนั้น” 

สมัยเด็กๆ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำพูดลักษณะนี้จากครูและผู้ปกครอง ด้วยความเป็นเด็กทำให้ไม่อาจโต้เถียงและจำใจเชื่อว่าการกลั่นแกล้งรังแกกันเป็นเรื่องปกติที่ต้องอดทน แต่ข่าวร้ายคือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อส่วนมากยังติดอยู่กับความรู้สึกหวาดกลัวเจ็บปวด จนกลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในจิตใจ และแม้จะมีการให้ข้อมูลความรู้กับสังคม รวมถึงรณรงค์ยุติการกลั่นแกล้งรังแก แต่ตัวเลขของเด็กๆ ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนี้กลับไม่ได้ลดลงเลย

ในปี 2566 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยกองสุขศึกษาเปิดเผยผลการสำรวจเด็กและเยาวชนจำนวน 31,271 คน พบว่าร้อยละ 44.2 หรือเกือบครึ่งหนึ่งเคยตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก (Bully)  

สอดคล้องกับข้อมูลของกรมสุขภาพจิตที่ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่าเด็กและเยาวชนไทยมีปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก อีกทั้งการกลั่นแกล้งรังแกยังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

The Potential ชวน ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาพูดคุยถึงสาเหตุและรูปแบบของการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน หลีกเลี่ยง และพิชิตการรังแกในหลากหลายแง่มุม

“นิยามของคำว่า บูลลี่ หมายถึงการกลั่นแกล้งรังแกกัน ซึ่งมีองค์ประกอบคือ การมีเจตนาทำให้ผู้อื่นเสียใจ ได้รับบาดเจ็บ หรือรู้สึกไม่ดีต่างๆ นาๆ ซึ่งการกระทำนี้มักเกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในเรื่อง Power คือผู้ที่มีอำนาจกว่ากระทำกับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า หรือเด็กที่แข็งแรงทำกับเด็กที่อ่อนแอไม่เข้มแข็ง 

ส่วนเรื่องไซเบอร์บูลลี่จะเป็นการกลั่นแกล้งรังแกกันที่เกิดขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ทั้งทางโซเชียล ออนไลน์ และทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ภาพหรือคลิปวีดีโอสามารถส่งต่อและแชร์ถึงกันง่ายขึ้น ดังนั้นพอมันเป็นเรื่องออนไลน์ บางทีผู้กระทำไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน สามารถทำการไซเบอร์บูลลี่ได้โดยที่คนก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ซึ่งเอื้อให้เขาสามารถกระทำกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น รวมถึงการปลอมแปลงเป็นผู้อื่นเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พบบ่อย 

เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบหลายอย่าง เพราะผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจ หรือบางครั้งอาจเลยเถิดไปถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกคุกคามทางเพศในภายหลัง”

คุณหมอคมสันต์อธิบายต่อว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้การกลั่นแกล้งรังแกไม่เคยหมดไปคือ ‘ทัศนคติ’ ของผู้ใหญ่ที่มักมองว่าการบูลลี่คือการแกล้งหรือหยอกล้อกันตามประสาเด็กๆ  ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาการบูลลี่ในรั้วโรงเรียน แทนที่ผู้ใหญ่จะออกตัวปกป้อง พวกเขากลับเลือก ‘ตำหนิ’ เด็กว่าอ่อนแอไม่สู้คน หรือบางรายอาจเปรียบเปรยว่าชีวิตนี้ยังมีเรื่องที่ยากและโหดร้ายกว่านี้เยอะ ทำให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวไร้ที่พึ่ง

ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก วิชาพื้นฐานสำหรับเด็กทุกคน

จากแนวโน้มการกลั่นแกล้งรังแกกันที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับทัศนคติของคนไทยส่วนหนึ่งที่มองว่าการกลั่นแกล้งรังแกเป็นเรื่องปกติ ทำให้นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรจิตวิทยาเด็กวัยรุ่นและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลเลือกทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก’ โดยมีคุณหมอคมสันต์รับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ก่อนที่ทั้งคู่จะผลักดันและพัฒนาวิทยานิพนธ์นี้สู่หลักสูตรทักษะชีวิตพิชิตการรังแกที่ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนวิชานี้ได้

“จุดเริ่มต้นมาจากนักศึกษาชื่อ อรัญญา จิตติถาวร ที่มองเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการกลั่นแกล้งรังแก อีกทั้งการจะให้ความช่วยเหลือแต่ละบุคคลมันยาก ถ้ามีหลักสูตรที่สามารถเผยแพร่ความรู้ของการกลั่นแกล้งรังแกกัน เพื่อส่งเสริมทักษะที่ช่วยผู้ถูกรังแกให้รู้วิธีรับมือ รวมถึงบุคคลสำคัญมากๆ คือผู้ที่อยู่รอบข้างที่เห็นเหตุการณ์การรังแกให้สามารถเข้าใจ ไม่นิ่งดูดายต่อการรังแกกัน และไม่มองว่ามันคือการเล่นกันของเด็ก”

สำหรับเนื้อหาในทักษะชีวิตพิชิตการรังแกจะแบ่งออกเป็นสามส่วนคือการทำความรู้จักการกลั่นแกล้งรังแก การเรียนรู้สาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่วนสุดท้ายคือวิธีการรับมือต่อการกลั่นแกล้งรังแก

“ปัจจัยที่ทำให้เด็กถูกรังแกกับเด็กที่เป็นผู้รังแกมีทั้งส่วนที่เหมือนกันและต่างกัน เพราะเด็กที่เป็นเป้าหมายหรือถูกรังแกบ่อยๆ มักจะมีบุคลิกภาพบางอย่าง เช่น เป็นคนเก็บตัวเงียบๆ ไม่ค่อยพูดคุยบอกเล่าสิ่งต่างๆ กับใคร ซึ่งส่วนมากมีผลมาจากครอบครัวที่เขารู้สึกว่าไม่ได้รับฟังเขาหรือพูดไปก็ทำให้เขาถูกตำหนิ เขาเลยเลือกไม่พูดหรือขอความช่วยเหลือจากใคร

ส่วนผู้ที่ไปรังแกผู้อื่นเองก็เหมือนกัน หลายคนมาจากครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ บางครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือบางทีอาจเป็นการเล่นกันในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่แหย่แกล้งเด็กให้โกรธหรือหงุดหงิด ทำให้เด็กรู้สึกว่านี่คือการเล่นกันเฉยๆ เด็กจึงนำการเล่นในลักษณะนี้ไปใช้กับเพื่อนๆ ด้วยเหมือนกัน นอกจากปัจจัยเรื่องครอบครัว กลุ่มที่ชอบรังแกผู้อื่นบางทีก็ตกเป็นเหยื่อมาก่อน หรือบางคนอาจพบปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น มีภาวะการจัดการอารมณ์ไม่ดี มีปัญหาสมาธิสั้น และมีการเรียนรู้บกพร่อง”

ส่วนประเด็นเรื่องค่านิยมทางสังคมมีส่วนกับการกลั่นแกล้งรังแกหรือไม่ คุณหมอคมสันต์มองว่าเป็นปัจจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้อง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเยาวชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“อย่างเรื่องภาพลักษณ์ความเป็นผู้ชายที่สอนให้ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ก็เป็นค่านิยมสังคมแบบหนึ่งที่ค่อนข้างดั้งเดิม เพราะปัจจุบันเราน่าจะสนับสนุนและเข้าใจเรื่องความหลากหลายมากกว่า ไม่ใช่ว่าผู้ชายทุกคนจะต้องเข้มแข็งหรือต้องต่อสู้เสมอไป เพราะคนที่ถูกรังแกเองอาจมีข้อจำกัดบางส่วน รวมถึงผู้หญิงเองด้วยที่ไม่ได้แปลว่าต้องอ่อนแอหรืออ่อนโยน ผู้หญิงก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเหมือนกัน”

‘ไม่มีใครสมควรถูกรังแก’ ตั้งสติ ยืนยันสิทธิ และขอความช่วยเหลือ

คุณหมอคมสันต์บอกว่าผู้ที่กลั่นแกล้งรังแกผู้อื่นมักมีจุดประสงค์ที่ต้องการให้เหยื่อมีความอับอาย เสียหาย รวมไปถึงการบาดเจ็บทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้นทักษะในการรับมือและป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ผู้ตกเป็นเหยื่อและสังคมควรจะเรียนรู้ร่วมกัน

“สำหรับเหยื่อหรือเด็กที่ถูกรังแก อันดับแรกเราก็คงให้ตั้งสติก่อน เพราะเด็กบางคนอาจตอบสนองไปด้วยความโกรธ หงุดหงิดหรือไม่พอใจ ซึ่งทำให้ผู้ที่รังแกเองรู้สึกสนุกหรือชอบใจที่เห็นเหยื่อโกรธ ดังนั้นต้องตั้งสติ และยืนยันสิทธิว่าเรารู้สึกอย่างไร เช่น บอกว่าเราไม่ชอบที่เขามาทำแบบนี้กับเรา และหากเขายังทำอีกก็ไปบอกคุณครู ซึ่งการยืนยันสิทธิและขอความช่วยเหลือจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเหลือปัญหานี้ได้

นอกจากนี้ เพื่อนหรือคนรอบข้างก็ถือเป็นส่วนสำคัญมากๆ ถ้าพบเห็นการรังแก การเข้าไปห้ามถือเป็นสิ่งที่ดีในกรณีที่ไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นต่อตัวผู้ห้ามและเหยื่อ แต่ถ้าดูแล้วอาจเกิดอันตรายขึ้นต่อเนื่อง อาจจะลองเปลี่ยนเป็นการเข้าไปพูดคุยกับเหยื่อที่ถูกรังแกว่ารู้สึกอย่างไร มีอะไรให้เราช่วยไหม หรือช่วยพาเหยื่อไปหาคนที่สามารถให้ความช่วยเหลือต่อไปได้ เช่น ครูหรือพ่อแม่ของเขา ก็จะช่วยให้เหยื่อที่ถูกรังแกรู้ว่าอย่างน้อยตัวเขาก็ไม่โดดเดี่ยว มีคนที่เห็นอกเห็นใจ และพร้อมช่วยเหลือเขา”

โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตและไม่นิ่งดูดาย

ผลสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพโดยกองสุขศึกษาระบุว่า เหตุการณ์การกลั่นแกล้งรังแกในเยาวชนมักเกิดขึ้นในโรงเรียนสูงถึงร้อยละ 86.9 คุณหมอคมสันต์ให้ความเห็นว่า โรงเรียนควรมีมาตรการในการป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกอย่างจริงจังเพื่อลดอำนาจของนักเรียนที่ชอบรังแกเพื่อน

“โรงเรียนควรมีนโยบายต่างๆ ทั้งการลงโทษผู้กระทำผิดว่าจะทำอย่างไร เพราะนอกจากการลงโทษแล้ว โรงเรียนควรเข้าไปประเมินสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจกลั่นแกล้งรังแกเพื่อน ซึ่งน่าจะดีกว่าการลงโทษเพียงสถานเดียว ส่วนในบริเวณที่อาจเป็นอันตรายในโรงเรียน ก็ควรทำการติดกล้องวงจรปิด รวมถึงอาจมีการจัดตั้งกลุ่มนักเรียนที่พร้อมช่วยเหลือเพื่อนให้คอยดูแลสอดส่องเพื่อให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กมากขึ้น 

ส่วนเรื่องนักจิตวิทยาโรงเรียนที่หลายฝ่ายพูดถึงก็เป็นส่วนที่จำเป็นอย่างมาก เพราะหากโรงเรียนมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนก็จะมีผู้ที่สามารถให้ความรู้กับเด็กและบุคลากรคนอื่นๆ ในโรงเรียนได้ด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจใส่ใจในเรื่องจิตใจของเด็กมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นด่านแรกในการจัดการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนที่เรื่องต่างๆ จะบานปลายออกไป”

ขณะเดียวกัน บุคคลที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ควรจะมองปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกให้เป็นเรื่องที่ควรหาทางช่วยเหลือ และไม่ควรนิ่งดูดายและตำหนิเมื่อลูกเข้ามาขอความช่วยเหลือ

“บางครั้งนอกจากการขอความช่วยเหลือ คุณพ่อคุณแม่ หรือแม้แต่คุณครูเองต้องหมั่นสังเกตว่าเด็กคนนี้เงียบลงกว่าเดิมไหม ดูไม่ค่อยสุงสิงกับใคร เก็บตัว มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปไหม ผลการเรียนตกลงหรือเปล่า มีการปฏิเสธที่จะมาโรงเรียนบ่อยๆ ไหม ซึ่งอาจเป็นสัญญาณหนึ่งว่าเขาไม่มีความสุขที่โรงเรียนและอาจเป็นเหยื่อของการรังแก อันนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าไปพูดคุยถามไถ่ มีอะไรให้ช่วยไหม ก็จะช่วยให้เด็กที่ถูกกระทำรู้สึกว่ายังมีคนที่ยังใส่ใจอยากรู้ว่าเขาเป็นยังไง เพราะบางครอบครัวอาจปิดกั้นลูกในเรื่องนี้และมักตำหนิเวลาลูกมาเล่าสิ่งต่างๆ ให้ฟัง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการปิดประตูใส่เขา ดังนั้นพ่อแม่ควรรับฟังก่อนโดยไม่ตัดสิน ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กที่ถูกกระทำกล้ามาพูดคุย 

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรช่วยส่งเสริมทักษะอื่นๆ ด้วย เช่น เสริมวิธีการสื่อสารกับคนที่เข้ามารังแก เพื่อยืนยันสิทธิว่าไม่ชอบไม่โอเคที่มีคนมากระทำแบบนี้ พ่อแม่อาจแสดงบทบาทสมมติให้ลูกลองพูดตอบโต้เหมือนการซ้อมไว้ก่อนซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ แต่สิ่งสำคัญคือลูกอาจไม่พร้อมหรือทำไม่ได้ ซึ่งพ่อแม่คงต้องไปขอความช่วยเหลือจากครู ส่วนครูก็ไม่ควรนิ่งดูดายและรีบให้การช่วยเหลือ”

คุณหมอคมสันต์ทิ้งท้ายสั้นๆ ว่าอยากให้สังคมตระหนักถึงปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกันในทุกรูปแบบ ไม่มีใครสมควรถูกรังแก และต่อให้ไม่ใช่ผู้ถูกรังแก ทุกคนก็มีส่วนช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้

“การกลั่นแกล้งรังแกเกิดขึ้นทุกวัน และไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาทั่วไป ไม่มีใครสมควรถูกรังแกและทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก 

เพราะหากเด็กคนหนึ่งถูกกระทำซ้ำๆ แม้จะไม่รุนแรงแต่ถ้าซ้ำๆ บ่อยๆ เด็กก็จะรู้สึกว่าไม่มีใครช่วยเหลือเขาได้ ทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจของเด็กต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูใส่ใจ ไม่มองตรงนี้ว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เด็กๆ ก็จะทำให้ตัวเด็กเองมองว่าเขามีคุณค่ามากขึ้นเพราะทุกคนให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้”

ผู้สนใจเรียนรู้ ‘ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก’ สามารถลงทะเบียนเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับ E-Certificate จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อผ่านการวัดผลตามเกณฑ์ที่กำหนด เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://mux.mahidol.ac.th

Tags:

โรงเรียนกลั่นแกล้ง(bully)ทักษะชีวิตสังคมการกลั่นแกล้งรังแกการบูลลี่Bully

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • heart&how
    Social Issues
    Heart & How สร้างพื้นที่ปลอดภัย กู้ ‘ใจ’ วัยเรียน 

    เรื่อง The Potential

  • ‘โรงเรียน = รุนแรง’ สมการนี้สังคมต้องร่วมแก้ …เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    Better  Days: ชีวิตใครบางคนคงไม่แตกสลาย ถ้าทุกคนหยุดการบูลลี่ก่อนที่จะมันจะกลายเป็นอาชญากรรม

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    School 2017: เมื่อการสอบเป็นแรงขับเคลื่อนทางการศึกษา แล้วเกรดเป็นเครื่องตัดสินนักเรียน

    เรื่อง ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

  • Education trend
    ครูก็คือครู อย่าเอาหน้าที่ของพ่อแม่มาแบกไว้บนไหล่

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

ความท็อกซิกไม่ได้ถูกสร้างในวันเดียว ถอนพิษด้วยการรู้ทันความต้องการตนเอง
How to enjoy life
18 January 2024

ความท็อกซิกไม่ได้ถูกสร้างในวันเดียว ถอนพิษด้วยการรู้ทันความต้องการตนเอง

เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ‘ท็อกซิก’ (Toxic) หรือ ‘ความเป็นพิษ’ เป็นคำที่ถูกใช้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่รัก ครอบครัว หรือการทำงาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมีความท็อกซิกบางอย่างในตัวเองอยู่แล้ว เราจะมีบางส่วนในตัวเราที่ไม่ได้รู้สึกชอบขนาดนั้น แม้จะพยายามจะแก้ไขแต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในตัวเองอยู่ 
  • ชัค ชัชพงศ์ ชวนสังเกตความท็อกซิกในตัวของเรา ให้รู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้เราหยุดพฤติกรรมที่เป็นพิษแล้วใช้วิธีที่เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น
  • ความต้องการที่มากเกินไปมักจะเป็นบ่อเกิดของความท็อกซิก และความน่ากลัวคือการที่ไม่รู้ทันความต้องการตัวเอง แล้วเผลอทำพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว

ทุกวันนี้คำว่า ‘ท็อกซิก’ (Toxic) หรือความเป็นพิษเป็นคำที่ถูกใช้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่รัก ครอบครัว หรือการทำงาน จนบางครั้งก็ดูเหมือนมากเกินไปจนเราไม่รู้ว่าความท็อกซิกจริงๆ คืออะไรกันแน่ แล้วต้องรุนแรงแค่ไหนถึงควรจะเรียกว่าท็อกซิก บางพฤติกรรมไม่ได้ท็อกซิกแต่อาจเป็นเพราะไม่ชอบก็ได้ หรือถ้ารับบางพฤติกรรมได้ก็อาจจะไม่ได้มองว่ามันท็อกซิก ถ้ามองแบบเป็นกลางจะเห็นว่าแต่ละคนจะตีความหมายของความท็อกซิกต่างกันออกไป บางคนแค่นอนตื่นสายก็มองว่าตัวเองเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบจนด่าว่าตัวเอง แต่บางคนก็ไม่ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา เราจึงควรรู้ขอบเขตตัวเองว่าแบบไหนที่เรารู้สึกโอเค แบบไหนที่เรารับไม่ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมีความท็อกซิกบางอย่างในตัวเองอยู่แล้ว เราจะมีบางส่วนในตัวเราที่ไม่ได้รู้สึกชอบขนาดนั้น แม้จะพยายามจะแก้ไขแต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในตัวเองอยู่ 

บางคนก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองท็อกซิก จากการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ผ่านมา ผมพบว่าคนที่มีความท็อกซิกหลายคนก็ไม่ได้อยากจะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบนั้น แต่เป็นเพราะเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตนถึงเป็นแบบนี้ รู้ตัวอีกทีก็เป็นแบบนี้ไปแล้ว แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้

ผมลองประยุกต์แนวคิดของคาเลน ฮอร์นาย (Karen Horney) นักจิตวิเคราะห์ชาวอเมริกัน มาชวนสังเกต 10 ลักษณะความต้องการที่มักจะเป็นพิษต่อตัวเอง ความต้องการเหล่านี้มักเป็นความต้องการที่ทุกคนมีเหมือนกัน แต่ถ้าหากมากเกินไปมักจะส่งผลต่อให้รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลมากขึ้น และอาจทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ด้วย ความต้องการที่มากเกินไปมักจะเป็นบ่อเกิดของความท็อกซิก และความน่ากลัวคือการที่ไม่รู้ทันความต้องการตัวเอง แล้วเผลอทำพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว เช่น คุณอาจต้องการความสนใจ แต่คุณไม่รู้ทันความต้องการตัวเองรู้ตัวอีกทีก็ออกไปโอ้อวดความเก่งตัวเองเพื่อให้คนอื่นยอมรับ 

1) ความต้องการความรักและการยอมรับ 

คนที่ต้องการความรักและการยอมรับมากเกินไปมักจะกลัวการถูกปฏิเสธ กลัวการโดนวิจารณ์ หรือคนอื่นจะไม่พอใจ ยิ่งไปกว่านั้นก็อาจจะกลัวโดนทอดทิ้ง ซึ่งก็อาจจะเห็นได้บ่อยในคนที่ชอบเอาใจคนอื่นมากๆ (people pleaser) 

2) ความต้องการมีคู่

คนที่ต้องการมีคู่มักจะกลัวการถูกทอดทิ้งและการอยู่คนเดียว มักจะมีความเชื่อหรือเห็นความสำคัญของความรักมากเกินความเป็นจริงไป อาจมีความเชื่อว่าความรักจะเยียวยาทุกปัญหาในชีวิต หรือถ้าเรามีความสัมพันธ์ คนนั้นก็จะช่วยจัดการทุกปัญหาที่เราเจอ

3) ความต้องการที่จะจำกัดตัวเอง

ข้อนี้ฟังดูแปลกมันคือความต้องการที่จะจำกัดตัวเองอยู่ในวงแคบ วางตัวไม่เด่น ไม่ต้องเป็นที่สนใจ ไม่ต้องการ/กล้าเรียกร้องอะไร เขามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความต้องการและความรู้สึกตัวเอง ถ้าแรงมากก็อาจจะด้อยค่าความสามารถ หรือคุณค่าตัวเองด้วย เขาจะไม่ได้มองว่าตัวเองเก่งหรือทำอะไรได้ดีแม้จะมีหลักฐานมากเพียงใดก็ตาม แม้มีคนชมก็จะไม่สามารถรู้สึกดีกับคำชมได้

4) ความต้องการอำนาจ

เขาให้คุณค่ากับความเข้มแข็ง มองว่าอำนาจ การสามารถควบคุม หรือมีอิทธิพลต่อคนอื่นได้คือสิ่งที่ดี ด้วยความสุดโต่งจึงมักมองสิ่งที่ตรงข้ามอย่างความอ่อนแอเป็นสิ่งที่ไม่ควรมี เขามักจะกลัวความรู้สึกสิ้นหวัง การไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ หลายครั้งก็จะเอาเปรียบคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีอำนาจหรือเหนือกว่า 

5) ความต้องการเอาเปรียบผู้อื่น

เขามองความสัมพันธ์เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนบางอย่างที่เขาต้องการ เวลามีความสัมพันธ์ก็มักจะคิดว่าคนนั้นจะสามารถให้อะไรเขาได้บ้าง และมักภูมิใจที่ตัวเองสามารถเอาเปรียบคนอื่นได้ หรือบงการคนอื่นเพื่อให้ตัวเองได้บางอย่างที่ต้องการได้สำเร็จ 

6) ความต้องการการยกย่อง

หากสังคมให้การยกย่องเขาก็จะยิ่งภูมิใจ เขามักจะมองคุณค่าตัวเองและคนอื่นผ่านการที่คนอื่นยกย่อง ให้คุณค่า หรือมีจดจำเขาได้มากแค่ไหน เขามักจะกลัวการไม่ถูกจดจำ การสูญเสียภาพลักษณ์หรือสถานะทางสังคม 

7) ความต้องการชื่นชมตัวเอง

เขามักจะมีความต้องการที่จะชื่นชมตัวเอง มีมุมมองต่อตัวเองที่เป็นบวกมากเกินความเป็นจริง เขาต้องการถูกชื่นชมบนภาพที่เขามองตัวเองไม่ใช่ความเป็นจริงของเขา 

8) ความต้องการประสบความสำเร็จ 

เขามักจะกลัวความล้มเหลวและไม่มั่นคง จึงพยายามกดดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จให้มากที่สุด แม้จะประสบความสำเร็จอยู่แล้วก็จะพยายามผลักดันตัวเองให้สูงขึ้นไปอีก โดยที่ไม่สามารถหยุดตัวเองจากการล่าเป้าหมายได้ง่ายๆ 

9) ความต้องการเป็นอิสระ 

เขามักจะแยกตัวออกจากคนอื่น ต้องการเป็นอิสระ พยายามไม่พึ่งพาคนอื่น ซึ่งอาจเกิดจากการผิดหวังในความสัมพันธ์ ทำให้คิดว่าอยู่คนเดียวน่าจะดีกว่า การอยู่กับคนอื่นหรือขอความช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ดี 

10) ความต้องการความสมบูรณ์แบบ 

คนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบมักจะกลัวความล้มเหลว และยึดติดคุณค่าตัวเองไว้กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เขามักมีความเครียดและวิตกกังวลที่สูง เป็นคนที่มองหาข้อบกพร่องในตัวเองและสิ่งที่ทำได้เสมอ 

ความต้องการที่มากเกินไปมักจะเกิดจากความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองในวัยเด็ก เอาง่ายๆ คือ เขาอยากได้แต่ไม่ได้รับ จนทำให้ต้องการสิ่งนั้นมากขึ้น ความต้องการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
เป็นสิ่งที่คอยผลักให้เราทำ คิด หรือรู้สึกบางอย่างเสมอ อย่างที่บอก ความต้องการเหล่านี้เป็นความต้องการพื้นฐาน แต่ถ้ามากเกินไปก็จะทำให้เรามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แล้วยิ่งทำให้มีความวิตกกังวล

การรู้ทันความต้องการที่มากเกินไปของตัวเองจะทำให้เราหยุดพฤติกรรมที่เป็นพิษต่อตัวเองแล้วใช้วิธีที่เหมาะสมได้มากยิ่งขึ้น 

สมมุติคุณรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบมากเกินไปให้ลองถามตัวเองดูว่าผลกระทบของมันคืออะไรบ้าง คุณรู้สึกเครียดไหมเวลาที่ทำงาน คนรอบข้างคุณเขารู้สึกอย่างไร คุณจะมีวิธีไหนไหมที่ทำงานได้ดีไม่ต้องเครียดมากเกินไป มันเป็นเพราะคุณเอาคุณค่าตัวเองผูกไว้กับผลลัพธ์มาเกินไปไหม แล้วถ้าคุณอนุญาตให้ตัวเองทำงานที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบมากเกินไปบ้างจะเป็นไรไหม แต่ละคนจะมีวิธีจัดการความต้องการที่มากเกินไปในแบบของตัวเอง ถ้าเรารู้ทันความต้องการที่มากเกินไปจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้ทันความคิดและความรู้สึกที่ท็อกซิกของตัวเอง

ผมมี 5 คำถามที่เอาไว้สังเกตตัวเองเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกท็อกซิก

1) คุณกำลังต้องการอะไรอยู่ ? (จาก 10 ความต้องการด้านบน)

2) คุณมักจะทำอย่างไรเพื่อให้ความต้องการนั้นได้รับการตอบสนอง ? 

3) ถ้าความต้องการคุณได้รับการตอบสนองแล้วจะเป็นอย่างไร ?

4) ประสบการณ์วัยเด็ก/อดีตอะไรทำให้คุณอยากได้ความต้องการนั้นขนาดนั้น ? 

5) มีวิธีไหนไหมที่จะทำให้คุณรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น ?  

ยกตัวอย่าง คุณเป็นคนที่ต้องการจำกัดตัวเอง พูดง่ายๆ คือไม่ค่อยเห็นคุณค่าตัวเอง เวลาที่อยู่ในความสัมพันธ์คุณก็มักจะไม่เรียกร้องอะไร ถึงแม้คุณต้องการสิ่งนั้นมากแค่ไหน คุณก็จะพยายามควบคุมตัวเอง หาเหตุผลเพื่อที่จะละเลยความต้องการตัวเองอยู่เสมอ หลายครั้งก็ด้อยค่าตัวเอง ถ้าคุณจำกัดตัวเองคุณก็จะได้ปกป้องตัวเองจากความรู้สึกว่าคนอื่นจะไม่เห็นคุณค่าคุณ คุณปกป้องตัวเองด้วยการด้อยค่าตัวเองก่อนจะได้ไม่โดนคนอื่นทำร้ายเพราะมันเจ็บยิ่งกว่า ที่คุณทำแบบนั้นเพราะที่ผ่านมาคุณไม่เคยได้รับหรือถูกมองว่าความต้องการและความรู้สึกคุณเป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่มักจะเอาความต้องการตัวเองมาก่อนคุณเสมอ 

เมื่อเห็นภาพความต้องการและที่มาที่ไปชัดขึ้น คุณจะค่อยๆ เห็นภาพว่าคุณจะเปลี่ยนความต้องการที่เป็นพิษของตัวเองให้เป็นสิ่งที่เฮลตี้ขึ้นได้อย่างไร แต่ละคนจะมีวิธีที่ต่างกันออกไป จากตัวอย่างข้างบนคุณอาจลองให้ความสำคัญกับความต้องการตัวเองมากขึ้น อาจจะเริ่มจากเหตุการณ์ง่ายๆ อย่างเวลาไปกินข้าวกับเพื่อน จากที่จะให้ความสำคัญกับเสียงของคนอื่นอย่างเดียว ก่อนถามคนอื่นให้ลองถามตัวเองดูว่าเราอยากกินอะไร แล้วค่อยๆ พัฒนาเรื่องที่ยากขึ้นไปอย่างการรู้ทันความต้องการเวลาในความสัมพันธ์ 

สิ่งที่ผมชอบบอกเวลาคนรอบข้างเจอความท็อกซิกในตัวเองคือ ความท็อกซิกไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในวันเดียว การจะเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้เวลาและความอดทนมาก ยิ่งกดดันยิ่งไม่ช่วยอะไร ไม่ต้องโทษที่เรามีความต้องการบางอย่างที่อาจเป็นพิษต่อตัวเองและคนอื่น ทุกคนล้วนมีความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ต้องกลัวคนอื่นจะรู้สึกแย่กับเราเกินไปจนไม่เป็นตัวเอง สิ่งที่ย้อนแย้งของมนุษย์คืออยากจะเป็นคนที่ไร้ข้อบกพร่อง แม้รู้ว่าความเป็นจริงว่าเราไม่มีทางเป็นเช่นนั้น 

เราอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราจะพยายามยอมรับมัน 

ผมพยายามบอกตัวเองแบบนั้น เวลาเจอความเป็นพิษในตัวเอง

Tags:

ความสัมพันธ์การใช้ชีวิตToxicท็อกซิก

Author:

illustrator

ชัค ชัชพงศ์

นักจิตวิทยาที่เขียนบทความเพื่อช่วยให้คนเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง FB: Chuck Chatpong

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Curse Child Star-nologo
    Healing the trauma
    จิตวิทยาของ ‘เด็กดัง’: ทำไมดาวดวงน้อยถึงดิ่งลงเหวเมื่อพวกเขาเติบโต?

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Aftersun: แม้ภายในจะรวดร้าวแต่พ่อยังอยากเป็นความทรงจำที่ดีของลูก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ‘Bai Lan’ เมื่อชีวิตไม่อยากทำอะไร นอกจากการตื่นสายและใช้ชีวิตไปวันๆ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Myth/Life/Crisis
    สารจากรูปแบบความสัมพันธ์กับสิ่งของ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Movie
    Brooklyn Nine-Nine: ถึงรับปากไม่ได้ว่าพ่อจะเข้าใจ แต่พ่อจะพยายาม

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

‘การอ่าน’ คือต้นทุน(เปลี่ยน)ชีวิตเด็ก กำหนดอนาคตประเทศไทย: พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี – หมอแพมชวนอ่าน
Everyone can be an Educator
17 January 2024

‘การอ่าน’ คือต้นทุน(เปลี่ยน)ชีวิตเด็ก กำหนดอนาคตประเทศไทย: พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี – หมอแพมชวนอ่าน

เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • ‘การอ่าน’ สัมพันธ์กับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก ทั้งการสื่อสาร ทั้งภาษาต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตนเอง และเป็นต้นทุนที่เปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งได้เลย
  • หมอแพม – พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี เจ้าของเพจ ‘หมอแพมชวนอ่าน’ ชวนมองถึงความสำคัญของ ‘การอ่าน’ ที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่รวมไปถึง ‘การอ่านจับใจความ’ ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญ และเริ่มลงทุกฝากประจำไว้ให้เด็กตั้งแต่ตอนนี้
  • การอ่านเริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาหลักสูตรควรเน้นให้เด็กอ่านจับใจความ ฝึกคิดวิเคราะห์ และนำความรู้ไปใช้ได้จริง รวมถึงนโยบายรัฐควรส่งเสริมให้เด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบางเข้าถึงหนังสือตั้งแต่แรกเกิด เช่น จัด welcome bag หนังสือ 3 เล่มให้กับคุณแม่

“ภาษาเป็นภาชนะของความคิด ยิ่งเรามีภาษาเยอะ เราก็มีภาชนะใบใหญ่ที่จะใช้บรรยายความคิด ความรู้สึกของตัวเอง…”

“มนุษย์เราคิดเป็นภาษา ถ้าเรามีภาษาในการอธิบายสิ่งที่เราคิดได้ดีกว่า มันก็จะแสดงออกได้ดีกว่า มีพัฒนาการที่ดีกว่า ทั้งเรื่องควบคุมตัวเอง ทั้งเรื่องการสื่อสารกับคนอื่น ท้ายที่สุดแล้วพอสื่อสารกันเข้าใจ สามารถบอกความต้องการได้ เด็กเขาจะมีความสงบภายใน”

หมอแพม – พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารเวช ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเจ้าของเพจ ‘หมอแพมชวนอ่าน’ ชวนมองถึงความสำคัญของ ‘การอ่าน’ ที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่รวมไปถึง ‘การอ่านจับใจความ’ ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญ และเริ่มลงทุกฝากประจำไว้ให้เด็กตั้งแต่ตอนนี้ 

นอกจากนี้หมอแพมยังชวนวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาการอ่านของเด็กไทย ที่มีค่าเฉลี่ยลดลงในทุกๆ ปี เห็นได้ชัดจากผลคะแนนสอบ PISA ปี 2022 ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากเมื่อปีที่ผ่านมา

ผลคะแนน PISA สะท้อนว่าเด็กสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้หรือเปล่า

PISA คืออะไร? ข้อมูลจากเว็บไซต์ Pisa Thailand อธิบายไว้ว่า คือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment) ที่ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD

“หมอเองก็รู้จัก PISA จากการดู TED Talk ของ เซอร์ เคน โรบินสัน (Sir Ken Robinson) แล้วก็ตามหนังสือของเขาที่ชื่อ The creativity school เล่าเกี่ยวกับเรื่องการสอบ PISA ซึ่งจริงๆ แล้วการสอบ PISA ไม่ได้บอกว่าเด็กประเทศนั้นเก่งหรือไม่เก่ง แต่บอกว่าเด็กประเทศนั้นได้รับการศึกษาอยู่ในระบบ และระบบทำให้เขามีความสามารถมากพอที่จะเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้หรือเปล่า นี่คือวัตถุประสงค์ของการสอบ PISA” 

และเนื่องจากหมอแพมเองก็เป็นมนุษย์แม่คนหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งโจทย์หลักๆ ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คือ “เราอยากทำให้ลูกเรามีชีวิตที่ดี หนึ่งในเครื่่องมือที่จะทำให้ลูกเรามีชีวิตที่ดีมันคือการศึกษา” ซึ่งก็จะมีคำถามต่อว่า แล้วการศึกษาของประเทศไทยละเป็นอย่างไร?

“อย่างที่เราเห็นผลคะแนนที่ลดลง โดยเฉพาะการอ่านของเด็กไทย คือต้องบอกว่าคะแนนเราต่ำกว่ามาตรฐานทุกวิชาอยู่แล้วในทุกๆ ปี ซึ่งเราก็คาดคะเนได้อยู่แล้ว เพราะการอ่านมันเป็นต้นทางของทุกเรื่อง ต่อให้มันเป็นโจทย์คณิตศาสตร์ แต่ถ้าอ่านจับใจความไม่ได้ว่าโจทย์ต้องการอะไร ท้ายที่สุดมันก็จะต้องดรอปลง”

“ตัวหมอเองเปิดเพจเรื่องการอ่าน ไปเป็นวิทยากรเกี่ยวกับเรื่องการอ่าน แล้วหมอก็มักจะเอาผลสำรวจของ PISA ไปพูดทุกปีๆ เวลามีเวทีเสวนาต่างๆ ซึ่งต้องพูดอย่างนี้ว่า ‘การอ่านได้’ กับ ‘อ่านเอาความ’ มันไม่เหมือนกัน คือประเทศเราจะบอกว่าเรา success (ความสำเร็จ) ในการทำให้ประชาชนของเราอ่านออกเขียนได้ ประชาชนชาวไทยอ่านออกเสียงได้เกิน 90% แต่ว่าการอ่านที่มันเอาไปใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน มันคือการอ่านแล้วเราสามารถรับสารที่มันเป็นประโยชน์ในสิ่งนั้นๆ คือเด็กไทยขาดทักษะเรื่อง ‘การอ่าน’ 

แล้วก็แนวข้อสอบของคนไทยด้วย มักจะมีตัวเลือกแค่เพียงหนึ่งเดียว คือเด็กไทยถูกฝึกมาว่า คำถามหนึ่งคำถาม มีคำตอบได้หนึ่งคำตอบ ซึ่งข้อสอบ PISA ไม่ใช่อย่างนั้น เราสามารถให้ความเห็นที่หลากหลาย ถ้าความเห็นนั้นมันเป็นเหตุเป็นผลกัน ที่พอรับได้ จะได้คะแนนทั้งหมด”

หมอแพมยกตัวอย่างแนวข้อสอบ PISA วิชาคณิตศาสตร์ เช่น โจทย์ถามว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของตึก ต้องการสร้างชั้นล่างเป็นห้างสรรพสินค้า ชั้นบนอีก 20 ชั้นสร้างเป็นคอนโด ถามว่าตึกนี้จะสูงเท่าไร? 

“สูตรมันก็คือ x + 20y = ? ซึ่งเราเป็นเจ้าของตึก เราสามารถกำหนดเองได้ว่าด้านล่างที่เป็นห้างสรรพสินค้าเราจะให้มันสูงเท่าไร 20 เมตร 10 เมตร แล้วชั้นที่เป็นคอนโด เราอยากให้เพดานสูงเท่าไร 2 เมตร 3 เมตร คือมันจะมีเรนจ์คำตอบที่ถูกต้องและสมเหตุสมผล แต่ข้อสอบลักษณะนี้ เด็กไทยถูกแค่สองคน เพราะว่าเราไม่กล้าคิด เราชินกับการทำโจทย์ที่ต้องมีตัวเลือก แต่ PISA เขาไม่ได้ต้องการอย่างนั้น เขาแค่อยากจะรู้ว่าคุณอ่านโจทย์แล้วเข้าใจไหมว่าเราอยู่ในสถานะไหน”

“ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาเราเทรนเด็กให้คิดในกรอบเท่านั้น ไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง มันก็เลยกลายเป็นว่า คะแนนสอบ PISA มันสามารถที่จะ represent (เป็นตัวแทน) เรื่องของ ‘ความสำเร็จของการให้การศึกษาเด็ก’ ว่าเด็กสามารถใช้ความรู้ไปประกอบอาชีพที่มีคุณภาพได้ไหมในอนาคต

เพราะฉะนั้นเลยเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจบางอย่าง ซึ่งมันสัมพันธ์กันด้วย ตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปี 2022 ที่สอบไป กลายเป็นว่าประเทศที่มีคะแนน PISA ดี จะมีการเติบทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ซึ่งมีผลต่อการลงทุน มีผลต่อการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”

เด็กไทยขาดทักษะ ‘การอ่านจับใจความ’ ต้นทางของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง

ในเรื่อง ‘การอ่าน’ นั้น ในความเห็นของหมอแพมมองว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการอ่านจับใจความน้อยเกินไป จึงต้องปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เด็ก

“ถามว่าอะไรสำคัญที่สุดในกลไกการปลูกฝังให้เด็กอ่าน คำตอบก็คือ คนที่จะอ่านให้เด็กฟัง…ไม่ใช่หนังสือ หนังสือถ้าอยากอ่านจริงๆ มันหาได้ แต่ประเด็นคือทำยังไงให้คนที่เป็นพ่อแม่มือใหม่รู้ว่านี่มันสำคัญ โรงพยาบาลของหมออยู่ใกล้สถานสงเคราะห์ สถานสงเคราะห์เนี่ยสำนักพิมพ์ให้หนังสือนิทานมาเยอะมาก ได้รับบริจาคเยอะมาก ประเด็นจึงไม่ใช่เรื่องหนังสือ ประเด็นคือคนที่จะอ่านให้เด็กฟัง 

ทีนี้ถามว่าการที่เราปลูกฝังให้เด็กๆ รักการอ่าน มันมีความสำคัญยังไง คือเราต้องเข้าใจว่าเด็กยุคใหม่เติบโตมาในยุคที่ข้อมูลมันเยอะมากๆ ทักษะการคิดของเขาไม่ใช่ว่าเด็กที่จะตอบคำถามได้นะ แต่ต้องเป็นเด็กที่ตั้งคำถามเก่ง คือคำตอบมันมีพร้อมสำหรับเขาแล้ว เพียงแต่เขาหาเจอไหมว่านี่คือคำตอบที่ถูกต้อง อันนี้เรียกว่า ‘การคิดวิเคราะห์’ หรือ Critical Thinking ซึ่งต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นเองได้” 

“ยกตัวอย่างเช่น เขาสงสัยเรื่องสัตว์บางชนิด สมมติเป็นเต่า เต่าเป็นสัตว์ประเภทไหนกันแน่ ถามว่าในอินเทอร์เน็ตไม่มีคำตอบหรอ มีเยอะแยะเลยล่ะ แต่บางทีเขาอาจจะไปหาคำตอบที่มันผิด เพราะฉะนั้นเขาจะต้องมีความคิด ต้องมีตัวกรอง และต้องมีประสบการณ์เก่ามากพอสมควร นี่คือการคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงวิเคราะห์ว่า เอ๊ะ…ข้อมูลฉันได้รับมันเป็น ‘ความคิดเห็น’ หรือ ‘ข้อเท็จจริง’ เด็กต้องมีทักษะนี้ เพราะว่าเด็กต้องอยู่ท่ามกลางข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาหาเขา เพราะฉะนั้นการที่เขาอ่านหนังสือกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก มันคือการที่เขารับข้อมูลที่หลากหลายตั้งแต่เด็ก เหมือนกับมีเงินฝากประจำตั้งแต่เล็ก วันละนิดวันละหน่อยแต่ดอกเบี้ยมันทบต้นทบดอก เพราะว่ามันได้รับข้อมูลใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ทุกวันๆ

เด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้อ่านกับเด็กที่อ่าน ต่างกันเยอะมาก อันนี้มีข้อมูล งานวิจัย คือคนไทยชอบพูดว่า ก็ไม่เป็นไรหรอกถ้ายังอ่านไม่ออกเดี๋ยวพอเข้าโรงเรียนมันก็อ่านทันกัน คำว่า อ่านทันกันคือการสะกดคำ เด็กทุกคนต่อให้พ่อแม่อ่านหนังสือกับเขา หรือไม่อ่านหนังสือกับเขา ท้ายที่สุดพอเข้าสู่ระบบการศึกษา เขาจะสามารถสะกดคำอ่านหนังสือออกเองได้ แต่ทักษะการอ่านและจับใจความ มันตามกันไม่ทันเลย”

“เด็กทุกคนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนเรียนรู้ได้เท่ากัน คุณครูพูดประโยคหนึ่งประโยค เด็กที่เขามีพื้นฐานมาแล้ว เขาก็ catch up (ตามทัน) ได้เลย  แต่เด็กอีกคนนึง เขาต้องเริ่มเชื่อมโยงใหม่ แล้วคนที่ catch up (ตามทัน) ได้เลยลองนึกผล Positive สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเชิงบวกกับเขาคืออะไร หนึ่งเขามีความมั่นใจในตัวเอง อาจจะเรียนรู้ได้เร็ว พอเขามั่นใจในตัวเองปั๊บ คุณครูชื่นชม เขามีเรื่องของการพึงพอใจในตนเอง self-efficacy, Self-esteem 

ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งจุดสตาร์ท มันไม่เท่ากันถามว่าเด็กเขารู้ไหม? เขาไม่รู้ เขาไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงทำได้ไม่ดีเท่าเพื่อน เขาโทษตัวเอง มันก็เลยกลายเป็น ฉันทำไม่ได้ ไม่ต้องพยายามหรอก แล้วเด็กมันจะวนเวียนอย่างนี้ 

ถ้าเรารอให้ระบบการศึกษามาเชฟลูกเรา ท้ายที่สุดมันจะมีเด็กแค่บางคน หยิบมือเท่านั้นแหละที่เขารู้สึกว่าตัวเขาโอเค มันจะมีเด็กอีกหลายคนที่มันโดนระบบเชฟว่า ต่อให้เธอพยายามเธอก็ไม่ได้หรอก ทำไม่ได้หรอก”

ส่งเสริมการอ่านตั้งแต่ปฐมวัย ความเท่าเทียมที่เด็กทุกคนเข้าถึงได้

ที่ผ่านมาหมอแพมย้ำเสมอผ่านเพจเฟซบุ๊กของตัวเองและในที่นี้ว่า ‘การอ่าน’ เริ่มได้ตั้งแต่ที่บ้าน เริ่มได้ในครอบครัว แต่จะทำอย่างไรให้คนรู้ว่า “เราสร้างความเท่าเทียมให้เด็กได้ เพียงแค่เราเข้าใจว่าการอ่านมันสำคัญมากๆ” จึงเป็นเหตุผลให้หมอแพมเปิดเพจ หมอแพมชวนอ่าน ด้วย

“เราต้องยอมรับก่อนว่าประเทศเราความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงมากๆ แน่นอนเด็กที่ฐานะดีกว่าเข้าถึงโอกาสมากกว่า เขาก็ต้องเรียนได้ดีกว่า เด็กที่โรงเรียนมีงบประมาณเข้าถึงกว่า มีอุปกรณ์พร้อมกว่า เขาก็ต้องทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว แล้วจะเหลืออะไรให้เด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง สิ่งที่เหลือคือ ความเท่าเทียมที่สมองเขาจะได้พัฒนาไปพร้อมๆ กับเพื่อน คือถ้าสมองโดนเชฟตั้งแต่เด็ก อย่างน้อยๆ ต่อให้เขาไม่ได้รวยมาก ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนที่เป็นจุดศูนย์กลาง แต่สมองเขามันพร้อมที่จะพัฒนาทุกเมื่อ เมื่อได้รับข้อมูล นี่มันคือการสร้างความเท่าเทียมตั้งแต่ที่เขายังอยู่ในช่วงปฐมวัย ซึ่งเราไม่ค่อยนึกถึง และจริงๆ มันทำได้” 

หมอแพมอธิบายต่อว่าที่กล้าพูดเช่นนั้น ก็เพราะว่าตัวเองก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มเด็ก Resilient student (นักเรียนที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก แต่มีการเรียนที่ดี) ซึ่งมีการศึกษาว่า ทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงทำคะแนนได้ดี  นั่นเป็นเพราะว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่พ่อแม่ใส่ใจ พ่อแม่อ่านหนังสือด้วยจนถึงอายุ 15 ปี นี่คือคำตอบ ซึ่งประเทศไทยมี Resilient student 15% 

“หมอก็คิดว่าตัวเองเป็นเด็กคนนั้น เพราะว่าจริงๆ หมอพื้นฐานพื้นเพเป็นเด็กอำเภอบ้านนอกเลยของจังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วก็เรามีเพื่อนวัยเด็ก เราก็เห็นว่าอนาคตของเราคือฉีกออกมาจากเพื่อนวัยเด็กเยอะมาก คือเราสามารถเลื่อนชนชั้นทางสังคมได้เลย แล้วเราก็คิดต่อว่า เอ๊ะ…มันมีปัจจัยอะไรนะ ทั้งๆ ที่สตาร์ทพร้อมกัน เราก็มานั่งคิดตอนที่โตแล้วว่าทำไม? เออมันคือนิสัยรักการอ่านจริงๆ เพราะว่าครอบครัวก็คือคุณแม่อาชีพรับจ้าง ไม่ได้เป็นข้าราชการอะไร แถมเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอีก แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดเลยคือ แม่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน เพราะว่าตอนเด็กๆ บ้านเป็นร้านเสริมสวย ก็คือจะมีนิตยสารสกุลไทย หญิงไทยในร้าน แล้วในนั้นมันจะมีหน้าที่เป็นนิทานหรือเรื่องสั้นอยู่นิดๆ ในเล่ม เราก็จะให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังเสมอ แล้วก็วันหยุดแม่ก็จะพาไปห้องสมุดชุมชนคืออ่านจนหมดในนั้น แล้วเหมือนพออ่านหนังสือเองได้ ที่บ้านมันจะมีหนังสือของพ่อ นิยายจีน อุ้ยเซี่ยวป้อ อะไรพวกนี้ คืออ่านตลอด” 

“การอ่านไม่ใช่แค่ทำให้เรากลายเป็นนักอ่าน แต่คนที่อ่านหนังสือจะมีทักษะของการหาข้อมูลอะไรบางอย่าง คือเวลาเราอยากรู้อะไร เราจะคิดเป็นสเต็ปเลยว่า เดี๋ยวฉันจะต้องไปหาข้อมูล เดี๋ยวไปที่ห้องสมุด ไปหาที่ร้านหนังสือ ซึ่งอันนี้มันคือ Core Value ( คุณค่าหลัก) ของการที่จะให้เด็กๆ เป็นนักอ่านด้วยนะคะ คือข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมันหาง่าย ไม่รู้ว่าอะไรมันคือเรื่องจริง เรื่องไม่จริง 

การที่เด็กอ่านหนังสืออย่างน้อยๆ เขามีตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว คือหนังสือเล่มกับบทความทางอินเทอร์เน็ต เรื่องเลเวลของภาษา เรื่องของความฉาบฉวยมันคนละระดับกัน ถ้าเด็กที่เคยได้สัมผัสกับหนังสือเล่ม หรือภาษาที่มันดี เขาจะรู้ว่านี่คือของดี แล้วก็ด้วยความที่ตัวเองเป็นอาจารย์แพทย์ด้วย เราอ่านรายงานของนิสิต เราจะเห็นเลยว่า เดี๋ยวนี้น้องๆ รุ่นใหม่เขาไม่เข้าใจว่านี่คือภาษาเขียน นี่คือภาษาพูด เพราะว่าข้อมูลในอินเทอเน็ตส่วนใหญ่ใช้คำที่ง่ายขึ้น อันนั้นมันก็โอเคแหละ ภาษามันมีการเปลี่ยนแปลง แต่เรามองเห็นเลยว่ามันไม่มีกำแพงกั้นระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียนอีกต่อไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป๊ะตลอดเวลา แต่ชี้ให้เห็นว่าการที่เด็กเขาได้สัมผัสกับหนังสือ ภาษาวรรณกรรมตั้งแต่เด็ก นอกจากคลังศัพท์เขาจะดีแล้ว มันจะมีลำดับของการใช้ภาษา เรียกว่าการใช้ภาษาที่รุ่มรวย” 

“ภาษาเป็นภาชนะของความคิด ยิ่งเรามีภาษาเยอะ เราก็มีภาชนะใบใหญ่ที่จะใช้บรรยายความคิด ความรู้สึกของตัวเอง 

อันนี้พูดไปถึงเรื่องจิตวิทยาการเลี้ยงเด็กด้วย เด็กที่เขาได้ภาษาดี เขาสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ เขาจะไม่ frustrate (หงุดหงิด, อึดอัดใจ) รู้สึกยังไงเขาพูดขึ้นมาได้ สื่อสารกับแม่ได้ดี อย่างน้อยก็รู้ความรู้สึกตัวเอง เห็นไหมว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน มันไม่ใช่แค่เรื่องว่าอ่านหนังสือกับลูกวันละ 20 นาที ไม่ใช่หรอก มันเหมือนการฝากประจำตั้งแต่เด็ก มันออกดอกออกผล แล้วก็ไปส่งผลถึงอายุ 15 ปี”

‘นิทานภาพ’ เชื่อมโยงการเรียนรู้ของเด็กได้ดีที่สุด, ‘หน้าจอ’ สมองสนุกแต่เชื่อมโยงไม่ทัน

หมอแพมย้ำว่า การอ่านสัมพันธ์กับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก ดังทีได้กล่าวไปข้างต้นว่า “ภาษาเป็นภาชนะของความคิด” 

“คือมนุษย์เรา พอเราเรียนรู้ภาษาแม่ปุ๊บ เราจะคิดเป็นภาษา เราไม่ได้คิดเป็นรหัส ถ้าเรามีภาษาในการอธิบายสิ่งที่เราคิดได้ดีกว่า ก็จะแสดงออกได้ดีกว่า มีพัฒนาการที่ดีกว่า ทั้งเรื่องควบคุมตัวเอง ทั้งเรื่องการสื่อสารกับคนอื่น ท้ายที่สุดแล้วพอสื่อสารกันเข้าใจ สามารถบอกความต้องการได้ เด็กเขาจะมีความสงบภายใน แล้วมันจะมีความรู้สึกแบบว่า “ฉันทำได้” มีความเชื่อมั่นในตนเอง สิ่งนี้ที่ตอกย้ำเขาทุกวันๆๆ ในขณะที่เด็กที่รู้สึกว่า ทำไม่ได้ๆๆ มันก็จะตอกย้ำทุกวันๆๆ อย่างนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันสำคัญจริงๆ เรื่องการอ่าน” 

นอกจากนี้ ความกังวลที่หมอแพมยังคงมีในใจและเป็นห่วงเด็กไทยนั่นก็คือ การติดหน้าจอ

“ต้องยอมรับว่า เด็กทุกคนยุคนี้เราห้ามเขาไม่ได้แล้วจริงๆ คือเขาเกิดมาปุ๊บ เทคโนโลยี เรื่องของมือถือ หน้าจอมันมาเลย สื่อทางหน้าจอมันดีไซน์มาให้เราติดอยู่แล้ว เพราะว่ามันมีภาพ แสง สี เสียง ถ้าเด็กไม่เคยอ่านหนังสือ แล้วอยู่ดีๆ เจอสื่อแรกเป็นสื่อหน้าจอ คิดว่าเด็กจะย้อนกลับไปหาหนังสือได้ไหม มันยากมาก เพราะหนังสือมันไม่ได้มีฟังก์ชันที่แบบครบจบในที่เดียวแบบนั้น 

มีงานวิจัยเรื่อง สื่อที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในสมองของเด็กได้สูงสุด ก็คือเขาเอาเด็กกลุ่มนึง ให้รับสามสื่อ หนึ่งคือเปิดให้ดูหน้าจอ สองคืออ่านนิทาน สามคือให้เด็กฟังนิทานเรื่องเดียวกัน สมมติว่าเป็นนิทานนะ เด็กที่ดูหน้าจอ สมองส่วนรับประสาทสัมผัส รับแสง สี เสียง การเคลื่อนไหว แค่รับข้อมูลมันเหนื่อยแล้ว เพราะฉะนั้นมันจะไม่เกิดการเชื่อมโยงกับของเก่า นักวิจัยเขาเรียกว่า too hot ร้อนเกินไป ไม่เกิดการเชื่อมโยง ซึ่งเด็กเขาต้องเรียนรู้ว่าของเก่าเมื่อวานเอามาเชื่อมโยงกับที่เรียนรู้ใหม่วันนี้ เด็กดูหน้าจอเขาได้ความสุข แต่สมองมันร้อนมากเลย มันรับข้อมูล แต่มันไม่เกิดการเชื่อมโยง 

ส่วนอ่านนิทานมันมีภาพ มีเสียงของแม่ในการอ่าน เด็กเขาเท่าทันว่า อ๋อ…อันนี้เมื่อวานเรียนมาแล้วหนิ มันเกิดการเชื่อมโยง อันนี้คือ just right (ความพอดี) แต่ถ้าให้ฟังอย่างเดียว เด็กไม่เห็นภาพ ไม่สามารถเชื่อมโยงคำใหม่ๆ ได้ เพราะว่าเวลาคนเราจะเรียนรู้คำศัพท์ มันต้องเห็นทั้งภาพทั้งเสียง เพื่อที่จะตอกย้ำว่าศัพท์คำนั้นเรียกว่าอะไร เพราะฉะนั้นการฟังอย่างเดียว มันก็คือเย็นเกินไป เปเปอร์นี้จึงตอบคำถามว่า นิทานภาพ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในการเรียนรู้ของเด็กได้สูงสุด” 

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงต้องเห็นถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือกับลูกตั้งแต่เล็ก อย่าเลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ!

“ถ้าให้ดูหน้าจอตั้งแต่เด็กๆ การเชื่อมโยง การเรียนรู้ภาษามันจะเสีย สำหรับหมอ น้อยกว่าสองขวบคือห้ามหน้าจอทุกชนิด ถ้าเด็กดูหน้าจอเกิดอะไรขึ้น บางคนบอกว่า เด็กนั่งดูนิ่งๆ พ่อแม่เข้าใจผิดคิดว่าเด็กมีสมาธิ อันนั้นไม่ได้เรียกมีสมาธิ เรียกว่าถอนตัวไม่ขึ้น แต่สมองไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย 

สมองสนุกแต่สมองเชื่อมโยงไม่ทัน เด็กกลุ่มนี้จะพูดช้า เพราะเวลาเด็กเรียนรู้เรื่องภาษามันต้องได้ยินเสียง เห็นรูปปาก เวลาแม่พูดแล้วมันต้องมีบริบทว่า อยู่ดีๆ เราจะพูดว่าเห่าขึ้นมา เด็กจะรู้ไหมว่ามันคืออะไร มันต้องมีบริบท หมาเห่า เขาถึงจะเข้าใจ หนังสือภาพให้ทั้งหมดนั้นกับเขาได้เลย เห็นภาพ เห็นบริบท เห็นเรื่องราวที่แม่พูด” 

หมอแพมเสริมว่า ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยหน้าจอ ผลที่ได้คือ เด็กจะพูดได้ช้า แต่จะพูดด้วยภาษาประหลาด หรือที่เรียกว่าภาษา jargon (จากอน) คือเด็กอยากพูด แต่ฟังตามไม่ทัน เพราะไม่มีต้นแบบ 

‘โรงเรียน’ และ ‘นโยบายรัฐ’ ต้องส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์ได้ 

เมื่อถามว่า แล้วเราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างไรดี เพื่อที่จะส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์ได้ นอกจากการส่งเสริมการอ่านในระดับครอบครัวแล้ว โรงเรียน รวมไปถึงนโยบายของรัฐควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร? หมอแพมให้คำตอบว่า… 

“ในส่วนของโรงเรียนหมอคิดว่าแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ เรื่องของ ‘หลักสูตร’ กับ ‘ครู’ หลักสูตรที่เราทำๆ ตามกันมา ต่อให้เด็กเก่ง แต่เรียนในบริบทของหลักสูตรที่ไม่ได้ถูกให้คิดวิเคราะห์ เขาก็ไม่ได้ถูกให้บรรยายสิ่งที่คิด หรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะมันมีช้อยส์ มีคำตอบที่ตายตัว ก็ข้อสอบที่แชร์กันบ่อยๆ ที่ถามเรื่อง หน้าที่ในครอบครัว เด็กเลือกข้อที่แม่เป็นคนหาเลี้ยง แล้วคุณครูบอกว่าผิด ซึ่งจริงๆ อันนี้มันคือความล้าหลังของหลังสูตร ทั้งเนื้อหาและการประเมินด้วย เดี๋ยวนี้ครอบครัวมีความหลากหลายสูงมาก มันไม่ใช่ว่าพ่อต้องทำงานนอกบ้าน แม่ต้องทำงานบ้านเท่านั้น”

นอกจากหลักสูตรจะต้องทำตามทันโลกแล้ว หมอแพมมองว่า คนเขียนหลักสูตรต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ด้วยว่า โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก 

“เราต้อง predict (ทำนาย, คาดการณ์) หลักสูตรด้วย ซึ่งใดๆ นั้น เข้าใจว่า การเขียนหลักสูตรมันยาก แต่ว่าการเรียนของเด็กมันต้องมี Core บางอย่าง เช่น ฝึกให้เขาคิด เป็นหลักสูตรที่ใช้การประเมินผลแบบปลายเปิดไหม ให้มันมีความหลากหลายขึ้นไหม และต้องนึกถึงในกลุ่มเด็กทั้งหมด รวมกลุ่มเด็กเปราะบางด้วย 

ถามว่าคะแนน PISA มีไหมโรงเรียนที่ทำได้ดี มีค่ะ ก็คือโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ กับโรงเรียนสาธิต อันนี้คืออยู่ในค่าเฉลี่ยของ OECD แล้วโรงเรียนอื่นๆ อีกกว่า 90% ของประเทศเราละ คือถ้าจะพูดว่าประเทศไทยมีดีไหม มีค่ะ แต่ถามว่ามันมากพอไหมที่มันจะเฉลี่ยดึงค่าเฉลี่ยของประเทศ มันคือไม่ได้”

หลักสูตรต้องทบทวนอย่างหนักถึงเป้าหมายในการเรียนรู้ของเด็ก สอนไปเพื่ออะไร? ให้เด็กรู้ไปทำไม? 

“อันที่สองคือน่าจะมีคนวิเคราะห์เยอะ คือเรื่องของคุณครูผู้สอน ขาดแคลนมากจริงๆ หมอไปอ่านตามเพจก็คือมีเรื่องน่าเศร้าหลายอย่าง ซึ่งจะปฏิเสธคงไม่ใช่ ทำไมอาชีพครูถึงไม่สามารถ improve (พัฒนา, ส่งเสริม) เด็กเก่งเข้าไป ทำไมเด็กที่เก่งในสายวิชาชีพครูต้องลาออกมาเป็นติวเตอร์ชื่อดัง จะบอกว่าประเทศเราไม่มีครูที่เก่งก็ไม่ใช่นะ แต่มันมีไม่มากพอ ไม่มากพอสักอย่าง

เพราะฉะนั้นหมอว่าต้องดันคนที่เก่งให้ปริมาณมันมากขึ้น แล้วก็ถึงเวลาคืนครูให้ห้องเรียนจริงๆ สักที และในการจัดการเรียนการสอน ครูเองก็ควรจะให้ความสำคัญกับกระบวนการที่มาซึ่งคำตอบ มากกว่าคำตอบของมัน ถอยออกมาเป็น FA อย่าเป็นทิชเชอร์ อย่าสอนอย่างเดียว แต่ฟังเด็กว่าเขามีความคิดยังไง ถ้ามันจะผิดมันจะถูกเดี๋ยวค่อยตบให้มันเข้ารูปเข้ารอย” 

หนังสือเป็นเครื่องมือที่ใช้เลี้ยงลูกที่ดีที่สุดที่รัฐควรส่งเสริม

จากประสบการณ์ของตัวเองและในฐานะแม่คนหนึ่ง รวมถึงความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย หมอแพมย้ำชัดว่า หนังสือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้เลี้ยงลูกได้ดีที่สุด 

“จริงๆ มันจะมีสี่อย่างคือ เล่นกับลูก การเป็นโรลโมเดล โอบกอดสัมผัส อันที่สี่คือหนังสือ ทำไปเถอะตอนช่วงปฐมวัยยังไงก็ได้ผลบวกๆ”

เพราะฉะนั้น ยิ่งเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ฝึกไปจนกลายเป็นการอ่านที่มีคุณภาพ โดยหมอแพมแชร์ทริคสำหรับการอ่านที่มีคุณภาพว่า “หนึ่ง เริ่มให้เร็ว สอง ถ้าลูกยังอยากให้เราอ่านก็อ่านต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าจริงๆ การอ่านไม่ใช่แค่การอ่าน มันเป็นการพูดคุย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แสดงความคิดเห็น” 

“การอ่านให้ลูกฟัง ผลดีก็คือลูกได้แบ่งปันความคิดเห็นกับเรา เหมือนตอนอ่านมันก็จะมี issue (ปัญหา) ที่เอามาคุยกัน เช่น ถ้าหนูเป็นคนนี้หนูจะทำยังไง แล้วเขาก็จะเรียนรู้แนวความคิดของเราด้วย เขาจะเรียนรู้ความเป็นเรา ซึ่งมันได้ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ได้ทั้งเรื่องการปลูกฝังคุณค่าอะไรบางอย่างนะ” 

นอกจากนี้อีกบทบาทหนึ่งหมอแพมเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านด้วย ซึ่งมูลนิธิมีข้อเรียกร้องเรื่องของ ‘หนังสือถ้วนหน้า’ คล้ายกับเป็น welcome bag ของเด็กแรกเกิด 

“เด็กแรกเกิดจะต้องได้กระเป๋าที่มีหนังสือนิทานกับของเล่นเสริมพัฒนาการอันจำเป็นกับเด็กกลับบ้าน คือเคยเหมือนจะผ่าน เราต้องการแค่ว่า เด็กหนึ่งคนขอหนังสือพื้นฐาน 3 เล่ม ให้พ่อแม่มีติดบ้านไว้ เพราะว่างานวิจัยมันก็บอกแล้วว่า การที่มีหนังสืออยู่ในบ้าน เพิ่มโอกาสในการอ่านได้มากกว่า ก่อนจะอ่านมันต้องมีก่อน ทีนี้เราไม่ไปพูดถึงกลุ่มชนชั้นสูงหรือกลุ่มคนที่เขาหาได้ง่าย พวกนี้คือเขาซื้อเยอะอยู่แล้ว เราลองไปนึกถึงเด็กในสลัม เด็กกลุ่มเปราะบางที่แบบพ่อแม่หาเช้ากินค่ำ การซื้อหนังสือนิทานสามเล่มเป็นเรื่องหนัก สมมติหนังสือเล่มละร้อย สามเล่มสามร้อย บางทีรายได้ต่อวันมันไม่ถึงด้วยซ้ำ คือมันจะอะไรมากมายถ้ารัฐจะให้ งบประมาณตรงนี้มันถือว่าน้อยมาก ก็หวังว่ารัฐจะมองเห็นและให้ความสำคัญ คือถ้าเขามองเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญ ยังไงก็ผ่าน 

ถ้าเรามองรัฐเป็นเพื่อนคนนึง เราก็จะบอกกับเพื่อนว่า ไม่มีหรอกคำว่าไม่มีเวลา มันอยู่ที่ว่าแกเห็นว่าสิ่งนั้นมันสำคัญมากพอไหม คนเราจะจัดสรรให้กับสิ่งที่ตัวเองคิดว่าสำคัญ ก็หวังใจว่าเพื่อนคนนั้นซึ่งชื่อว่า ‘รัฐ’ จะเข้าใจว่า ถ้าจะลงทุนอะไรให้ลงทุนในเด็ก เป็นการลงทุนที่ได้ผลในระยะยาวมากที่สุด ได้พลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมด้วย” 

Tags:

การอ่านการศึกษาไทยการพัฒนาตนเองการคิดวิเคราะห์PISAเด็กไทยพญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรีต้นทุนชีวิตนโยบายรัฐ

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • ‘อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้’ สัญญาณของความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD: Learning Disability) คุยกับ หมอวิน-ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Book
    ชวนอ่าน 7 เล่ม รับปี 2024: ปรับ Mindset เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จในแบบของตัวเอง

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • ‘ผลสอบ PISA’ กับความจริงที่ว่า ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ ความสามารถเด็กไทยลดลง

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    ถึงเวลาการศึกษาไทยต้องอัพเดทแพทช์! ความหวังหลังเลือกตั้งของ ‘อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ’

    เรื่อง ปริสุทธิ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอนที่ 5

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

เดอสแตดนิง (Döstädning): มากกว่าจัดบ้านคือจัดการชีวิต ศิลปะการละทิ้ง(ก่อนตาย) สไตล์ชาวสวีเดน
How to enjoy life
11 January 2024

เดอสแตดนิง (Döstädning): มากกว่าจัดบ้านคือจัดการชีวิต ศิลปะการละทิ้ง(ก่อนตาย) สไตล์ชาวสวีเดน

เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • เดอสแตดนิง (Döstädning) เป็นศิลปะการใช้ชีวิตจากชาวสวีเดน แปลความหมายแบบตรงตัวคือ การจัดบ้านเพื่อเตรียมตัวตาย (Death Cleaning) เป็นการจัดบ้านครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตก่อนตายจากโลกนี้ไป
  • การจัดการบ้าน ก็มีความคล้ายคลึงกับการ ‘จัดการชีวิต’ จึงให้ความหมายอันลึกซึ้งเชิงปรัชญาชีวิตถึงการเก็บเฉพาะ ‘สิ่งสำคัญในชีวิต’ และ ‘ละทิ้ง’ สิ่งไม่สำคัญหรือที่ไม่มีความสุขออกไป
  • เป็นปรัชญาที่ทำหน้าที่มาเตือนเราถึงเรื่องที่เราไม่อยากรับรู้มากที่สุด คือ ‘ความตาย’ ให้เราเตรียมตัวเตรียมใจ รับมือ พร้อมปล่อยวางและโอบกอด

“ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้” ตัวเราน่ะเอาไปไม่ได้ แต่ตัวคนอื่นยังพอเอาไปได้อยู่ แต่ถ้าสิ่งของ(ในบ้าน)ที่หลงเหลืออยู่มีมากมายมหาศาล อาจกลายเป็นการสร้างความลำบากแก่ ‘คนข้างหลัง’ ที่ยังมีชีวิตอยู่…

เรื่องนี้เป็นทั้งความกระอักกระอ่วนใจ แต่ก็เป็นความจริงที่หลายคนอาจไม่อยากเอ่ยถึง แต่มีชาวสวีเดนสูงวัยแต่ใจเยาว์คนหนึ่งมองเห็นประเด็นนี้ขึ้นมาจนนำมาสู่แนวคิดที่น่าสนใจมากๆ

วันนี้เลยอยากจะพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจแนวคิดการจัดบ้าน…ที่ได้กลายมาเป็นศิลปะการใช้ชีวิต! จากชาวสวีเดนอีกสักรอบ ที่เรียกว่า เดอสแตดนิง (Döstädning)

เดอสแตดนิ่ง…คำนี้อาจเรียกยาก เขียนยาก จำยาก และไม่ค่อยคุ้นหูตามสื่อต่างๆ เท่าไรนัก แต่ถ้าทุกคนได้ลองเข้าใจมันแล้วล่ะก็ นอกจากจะรีบอยากกลับไปจัดบ้านตัวเองให้รู้แล้วรู้รอดแล้ว ยังน่าจะตั้งคำถามกับชีวิตของเราที่เหลือด้วย

เดอสแตดนิง: จัดบ้านเสร็จก็พร้อมโบกมือลาโลกนี้

เดอสแตดนิง (Döstädning) เป็นภาษาสวีเดน ถ้าแปลความหมายแบบตรงตัวเลยคือ การจัดบ้านเพื่อเตรียมตัวตาย (Death Cleaning) เป็นการจัดบ้านครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตก่อนตายจากโลกนี้ไป 

ให้เราตระหนักรู้ตัวว่า เราจะต้องจัดการสิ่งของส่วนตัวในบ้านและสัมภาระที่เก็บสั่งสมมาทั้งชีวิตอย่างไรเพื่อไม่ให้คนรักข้างหลังที่มีชีวิตอยู่ต่อ…ไม่ต้องมาลำบากเคลียร์ของโน่นนี่เมื่อเราได้ตายไปแล้ว

ปกติแล้ว เรามักจะตั้งคำถามทำนองว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิต…เราจะทำอะไร? อยู่ที่ไหน? ใช้เวลากับใคร?

เดอสแตดนิงก็คล้ายคลึงกัน มันยิงคำถามใส่เราว่า สมมติถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในชีวิตและเราต้องอยู่ในบ้านของเรา…เราจะอยากให้บ้านของเราเป็นแบบไหน? มีหน้าตาแบบไหน? มีสิ่งของความทรงจำอะไรหลงเหลืออยู่ก่อนจากลา? ถ้าเราตายแล้ว ทรัพย์สมบัติของเราจะไปอยู่ที่ไหน? ใครจะจัดการสัมภาระข้าวของที่เราเก็บสั่งสมมาทั้งชีวิต?

แม้ว่าเดอสแตดนิงจะเป็นคำที่ผลิบานมาจากด้านการจัดบ้านก็จริง แต่มันยังได้ให้ความหมายอันลึกซึ้งเชิงปรัชญาชีวิตถึงการเก็บเฉพาะ ‘สิ่งสำคัญในชีวิต’ และ ‘ละทิ้ง’ สิ่งไม่สำคัญหรือที่ไม่มีความสุขออกไป 

เพราะการจัดการบ้าน ก็มีความคล้ายคลึงกับการ ‘จัดการชีวิต’ ไม่น้อย

คุณยายมาร์กาเร็ต: ผู้จุดประกายเดอสแตดนิง

ถ้าฝั่งตะวันออกอย่างญี่ปุ่นมี มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) ผู้เขียนหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up ที่ได้สร้างตำนานการจัดบ้านให้โด่งดังไปทั่วโลก ฝั่งตะวันตกก็น่าจะมี มาร์กาเร็ต แม็กนัสซัน (Margareta Magnusson) นี่แหล่ะที่จุดประกายการจัดบ้านโดยเฉพาะในฝั่งซีกโลกตะวันตก!

โดยคุณยายมาร์กาเร็ต หญิงสูงวัยชาวสวีเดนผู้เปิดเผยอายุแบบอ้อมๆ ว่าอยู่ที่ระหว่าง 80-100 ปี!! แต่กลับดูร่าเริงมีชีวิตชีวาอย่างเหลือเชื่อ เธอเป็นผู้เขียนหนังสือ Döstädning: The Gentle Art of Swedish Death Cleaning ที่เริ่มวางจำหน่ายในช่วงเดือนธันวาคมปี 2017 และส่งอิทธิพลต่อแนวคิดการจัดบ้านและปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างมโหฬาร

อย่างที่เกริ่นไปว่า เดอสแตดนิงมีอิทธิพลต่อใจผู้คนมากเพราะมันไม่ได้จำกัดแค่การจัดบ้าน แต่มันชวนเรามาทบทวนถึงการใช้ชีวิตต่างหาก 

โดยคุณยายเผยว่า เดอสแตดนิงไม่ได้โฟกัสที่ความตาย ณ ปลายทาง แต่กลับเป็นระหว่างทาง ณ ตอนนี้ ให้เราเฉลิมฉลอมชีวิตที่ยังมีอยู่ ที่ได้ใช้อยู่ทุกวินาที

  • อะไรที่ดี เราเก็บไว้ ทะนุถนอมมัน แค่เพียงได้เสพผ่านสายตาก็คุ้มค่าแล้ว
  • อะไรที่ไม่ดี เราทิ้งมันไป ปลดระวางภาระทางจิตใจออกไปจากตัวเรา

เดอสแตดนิง: มากกว่าการจัดบ้านแต่คือจัดการชีวิต

เดอสแตดนิงมีความแตกต่างจากการจัดบ้านสายมินิมอล (Minimalism) นิดหน่อยตรงที่ เป้าหมายไม่ได้ต้องการให้สิ่งของ ‘เหลือน้อยที่สุด’ ห้องไม่ต้องโล่งที่สุด เหลือพื้นที่ว่างเปล่ามากที่สุด 

หากแต่เรามีของเยอะได้ วางเฟอร์นิเจอร์มุมโน้นมุมนี้ได้ แต่ขอให้มันต้องเป็นของที่มีความสำคัญที่สุดและเรามีโอกาสใช้งานได้จริงต่างหาก

ในมุมหนึ่ง เดอสแตดนิงเตือนเราให้ ‘คิดถึงคนอื่น’ อยู่เสมอโดยเฉพาะคนรอบตัวในบ้าน ใจเขาใจเรา คนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปและต้องมาจัดการกับสัมภาระและข้าวของของเราแม้จะจากไปแล้ว

ในเมื่อเรายังมีบริการสำนักงานครอบครัว (Family office) คิดวางแผนล่วงหน้าเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งและบริหารการเงินแก่คนในตระกูลสู่เจเนอเรชั่นต่อไป แล้วทำไมเราจะทำเดอสแต๊ดนิ่งไม่ได้? เพื่อไม่ให้ลำบากแก่คนในบ้านที่อยู่ต่อ

ส่วนวิธีจัดบ้านแบบเดอสแตดนิงนั้น เริ่มจากสิ่งที่ ‘ง่าย’ ก่อน ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า เพราะปกติคนเรามักซื้อเสื้อผ้าที่เยอะเกินความจำเป็น เยอะเกินความต้องการ เราอาจมีเสื้อผ้า 100 ชุด แต่ตัวที่เป็นพระเอกเสื้อคู่ใจของเราอาจมีไม่ถึง 10 ตัว

จากนั้น ซอยย่อยแบ่งเวลามาให้กับชุดเสื้อผ้าแต่ละประเภท เช่น เชื้ต โปโล สูท เดรส กางเกงขายาว กางเกงขาสั้น รองเท้า เราอาจจัดระเบียบโดยแบ่งประเภทละ 1-2 ชั่วโมง ค่อยๆ ทำไปทีละวัน-ทีละสัปดาห์ อย่าเพิ่งโหมทำทีเดียวทั้งหมด เพราะจะเหนื่อยล้าจนท้อใจและล้มเลิกในที่สุด

สิ่งที่ต้องทิ้ง ปล่อยวางมันไป ถอนสมอภาระทางจิตใจที่เราผูกติดมันอยู่ซะ โดยมาร์การเร็ตเผยว่า เพราะปัจจุบันมนุษย์เราอายุยืนยาวขึ้น นั่นหมายความว่ายิ่งมีแนวโน้มที่จะเก็บสิ่งของเยอะขึ้นตาม แต่เมื่อเยอะถึงจุดหนึ่ง การเอาแต่เก็บเพิ่มเรื่อยๆ มักนำมาซึ่งความทุกข์ หนทางพ้นทุกข์จุดนี้คือคร่ำครวญบอกลาก่อนทำการทิ้งบางสิ่งบางอย่างออกไป

จากเดิมที่ละทิ้ง ทิ้ง ทิ้ง ก็มาถึงขั้วตรงข้ามคือสิ่งของที่เราผูกพันทางใจ มีความสำคัญกับเรามากจนประเมินค่าไม่ได้ 

  • มันอาจเป็นหมอนเน่าใบน้อยที่เรากอดมันมาแต่เด็ก 
  • รูปถ่ายใบเก่ากับเพื่อนรักตั้งแต่เด็กซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพและความสุขในแว่บแรกที่เห็น 
  • เสื้อผ้าชุดโปรดที่ใส่ไปออกเดตครั้งแรกกับคนๆ หนึ่งที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมา
  • โซฟาที่เรารู้สึกถูกโฉลกในความสบายพอดีตัวตั้งแต่เล็กจนโต
  • หรือหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่คุณเขียนเพื่อหวังส่งต่อให้ลูกหลาน

ชีวิตเป็นสุขด้วยเดอสแตดนิง

เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราจะพบว่ามันมักมีจุดสิ้นสุดของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งอยู่เสมอ เช่น เรารู้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อเดือนกันยายนปี 1945 แต่เวลามองไปยังอนาคต กลับพบว่าเราไม่มีทางรู้จุดสิ้นสุดของเรื่องอะไรก็ตามเลย เรารู้แค่ว่าเดี๋ยวเราต้องตาย แต่เราไม่มีทางรู้ว่าจะตายเมื่อไร

พอเป็นแบบนี้ คนเราจึงเผลอใช้ชีวิตปล่อยดำเนินเรื่อยไปเสมือนว่าความตายไม่ได้อยู่ในสมการ

ไม่แปลกที่เดอสแตดนิงจะสร้างอิมแพคให้ผู้คนได้มโหฬาร เพราะมันทำหน้าที่มาเตือนเราถึงเรื่องที่เราไม่อยากรับรู้มากที่สุด นั่นคือ ความตาย เพื่อให้เราเตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อให้เรารับมือ พร้อมปล่อยวางและโอบกอด

นอกจากนี้ คนเรา ‘หลอกสมอง’ ตัวเองไม่ได้ ถ้าตาเราเห็นแต่สิ่งของที่เราให้ความสำคัญ มีความหมาย อบอุ่นใจ การรับรู้จะส่งต่อไปยังสมองทันที และความสุขจะเกิดขึ้นในใจเองอัตโนมัติ ขณะที่การละทิ้ง ‘ของที่ไม่ใช่’ ก็เป็นการปล่อยวางรูปแบบหนึ่งที่สร้างความสงบสุขให้ใจเราได้เป็นอย่างดี

เริ่มต้นวันนี้ด้วยเดอสแตดนิง

“Part of the journey is the end.” โทนี่ สตาร์คเคยกล่าวไว้ใน Avengers: Endgame มันเป็นประโยคชีวิตอันแท้จริงที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกแว่บแรกที่ ‘ใจหาย’ 

ไม่ต่างจากเดอสแตดนิงที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า จัดบ้านก่อน ‘ตาย’ บางทีถ้าเราทบทวนจุดสิ้นสุดของชีวิตบ้าง และมองย้อนกลับมา…เราอาจประพฤติตัวและมีความคิดต่างออกไป

ไม่ว่าเราจะนิยาม ‘การเดินทาง’ ว่าอย่างไร ประโยคนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งสิ้น การเดินทางของเราอาจหมายถึง

  • การไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงสิ้นปีเต็มโควต้าเป็นเวลา 14 วัน
  • การเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษเป็นเวลา 1 ปี
  • หรือแม้แต่การใช้ชีวิตของเราตราบจนวันสุดท้ายที่มีลมหายใจ

เดอสแตดนิงเตือนเราให้ทำสองสิ่งอย่างไตร่ตรอง นั่นคือ ลงมือทิ้งสิ่งของที่ไม่มีความหมายกับเราออกไปซะตั้งแต่วันนี้ และ เก็บสิ่งของที่เรารักใคร่ ผูกพัน มีความสุขแค่ได้เห็นไว้ใกล้ตัวเรากว่าที่เคย 

และถ้าเราใส่ใจรายละเอียดมากพอ การคิดถึงผู้อื่นหลังเราโบกมือลาไปแล้ว เราอาจประยุกต์เพิ่มเติมได้ด้วยการหาสมุดที่มีเนื้อกระดาษคุณภาพดีซักเล่ม และใช้เพื่อจดบันทึก ‘รหัสพาสเวิร์ด’ ทั้งหมดในโลกออนไลน์ของเรา รหัสเข้า LINE, Facebook, Gmail, บัญชีธนาคาร, หรือแค่รหัสเข้ามือถือ

ในเมื่อการทำงานยังมีเดดไลน์ส่งงาน ในเมื่อแคมเปญการตลาดมีวันสิ้นสุดโปรโมชั่น สักวันนึงจุดสิ้นสุดของชีวิตเราก็ต้องมาถึงรึเปล่า? บางทีอาจจะเป็นการดีถ้าเราลองคิดเล่นๆ คิดขำๆ บ้างกับวันสุดท้าย หรือปีสุดท้าย หรือจุดสิ้นสุดของชีวิตตัวเราเอง!

อ้างอิง

https://www.stylist.co.uk/life/how-to-declutter-home-swedish-death-cleaning-dostadning-scandi-lifestyle-trend/358829

https://www.rainbowhunting.co.uk/blog/dostadning-the-gentle-art-of-swedish-death-cleaning

https://www.bhg.com/decorating/storage/organization-basics/swedish-death-cleaning-tips/

https://theconversation.com/swedish-death-cleaning-how-to-declutter-your-home-and-life-90253

Tags:

ความตายปรัชญาการปล่อยวางชีวิตสวีเดน

Author:

illustrator

ปริพนธ์ นำพบสันติ

ชอบขบคิดในหัวและหาคำอธิบายให้กับสิ่งรอบตัว

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    ความตายขับเคลื่อนชีวิต (2): เมื่อการระลึกถึง ‘ความตาย’ ทำให้เข้าใจความหมายของ ‘ชีวิต’

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Marshmallow
    How to enjoy life
    ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ทักษะชีวิตที่ช่วยให้เด็กรู้จักยับยั้งชั่งใจ

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • How to enjoy life
    อิจิโกะ อิจิเอะ: การพบกันครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ปรัชญาที่ชวนเราตกหลุมรักชีวิตในทุกเช้าวันใหม่

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • How to enjoy life
    ‘ดื้ออีกนิด ไปต่ออีกหน่อย’ กับ ซิสุ (Sisu) ปรัชญาชีวิตของชาวฟินแลนด์

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Book
    The Last Lecture: ปาฐกถาในวาระสุดท้ายที่บอกว่า ‘อะไรมีความหมายที่สุดในชีวิต’

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

การศึกษาอาจต้องการ ‘ความเสี่ยง’ ไม่ใช่ ‘ความมั่นคง’: ปรัชญาการศึกษาของ Gert Biesta ใน ‘The Beautiful Risk of Education’
Education trendBook
8 January 2024

การศึกษาอาจต้องการ ‘ความเสี่ยง’ ไม่ใช่ ‘ความมั่นคง’: ปรัชญาการศึกษาของ Gert Biesta ใน ‘The Beautiful Risk of Education’

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Gert Biesta นักการศึกษาผู้โด่งดังจากยุโรป ชี้ให้เห็นถึงสภาพการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าการศึกษาทำงานไม่ต่างจาก ‘เครื่องจักร’ ที่พยายามจะกำกับว่าอะไรที่เราควรเรียนรู้และผลลัพธ์ควรเป็นแบบไหน ราวกับว่าการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดผลลัพธ์สำเร็จรูปล่วงหน้าไว้และให้เราเดินตาม  
  • Biesta เสนอว่า การศึกษาควรเป็นสิ่งที่พาให้เราเห็นโลกความเป็นจริงจากสายตาของเราเอง ไม่ใช่สายตาของคนอื่น ดังนั้น เราต้องยอมรับเสียก่อนว่า ไม่มีวันที่เราจะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่แม่นยำและคาดการณ์ได้ราวกับเครื่องจักร
  • การศึกษาต้องเปิดพื้นที่ให้กับความเสี่ยง ผ่าน 7 มโนทัศน์ทางการศึกษา (educational concepts) ได้แก่ ความสร้างสรรค์ (creativity) การสนทนาร่วม (communication) การสอน (teaching) การเรียนรู้ (learning) การรู้แจ้ง (emancipation) ประชาธิปไตย (democracy) และความพิเศษ (virtuosity)

ในห้วงเวลาที่การศึกษาถูกล็อกด้วยตัวชี้วัดมาตรฐานและสมรรถนะที่ต่างก็พยายามกำหนดทิศทางว่านักเรียนคนหนึ่งควรจะได้เรียนรู้และผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง พร้อมกับค้นหาวิธีการที่จะรับประกันว่าระหว่างที่นักเรียนกำลังไต่บันไดการเรียนรู้ไปทีละขั้นนั้น ความผิดพลาดจะต้องเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด การไม่เดินออกไปจากเส้นทางของการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และปัจจัยใดก็ตามที่รบกวนหรือมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้จะถือเป็น ‘ความเสี่ยง’ (risk) ที่ต้องถูกกำจัดทิ้งไป

การศึกษาจึงกลายเป็นแผนการที่คาดการณ์ได้ (predictable) ว่านักเรียนจะเดินไปอย่างไร พร้อมกับสร้างความมั่นคง (secure) และแข็งแรง (strong) ด้วยการสร้างกฎเกณฑ์และหลักฐานที่ชัดแจ้ง (scientific evidence) บางอย่างขึ้นมา เพื่อทำให้เครื่องมือต่างๆ เช่น เทควิธีการสอน การประเมิน ฯลฯ เกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้  

นี่คือใจความสำคัญตอนหนึ่งของหนังสือ ‘The Beautiful Risk of Education’ ปี 2014 เขียนโดย Gert Biesta นักการศึกษาผู้โด่งดังจากยุโรป เขาได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าการศึกษาทำงานไม่ต่างจาก ‘เครื่องจักร’ ที่พยายามจะกำกับว่าอะไรที่เราควรเรียนรู้และผลลัพธ์ควรเป็นแบบไหน ราวกับว่าการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดผลลัพธ์สำเร็จรูปล่วงหน้าไว้และให้เราเดินตาม ยิ่งเครื่องจักรมีประสิทธิภาพมากเท่าไรก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่วางไว้ได้มากเท่านั้น   

การศึกษาอาจต้องการ ‘ความเสี่ยง’ ไม่ใช่ ‘ความมั่นคง’

ในความคิดของ Biesta หากให้เปรียบเปรย การศึกษาเสมือนได้สร้างวงจำกัดพื้นที่ว่าอะไรคือเส้นเขตแดนที่นักเรียนได้รับอนุญาตให้เดินไป พร้อมกับหาวิธีที่จะทำให้พวกเขาอยู่ในเขตแดนนั้น หากนึกภาพไม่ออก เสมือนเรามีทุ่งหญ้าโล่งสุดสายตาที่เราไม่สามารถจินตนาการถึงขอบเขตของมันได้ แต่การศึกษาได้สร้างรั้วล้อมขึ้นมาในพื้นที่ใดพื้นหนึ่ง เพื่อให้เราดำเนินชีวิตอยู่ภายในนั้น รั้วที่ล้อมจึงต้องเป็นสิ่งที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้คนที่อยู่ในรั้วจะไม่ก้าวออกมา นี่คือวิธีคิดของ ปฏิฐานนิยม (positivism) ในการศึกษาแบบสมัยใหม่ (modern education) ที่พยายามทำให้ทุกสิ่งแคบลงมาเพื่อสามารถกำกับควบคุมและคาดการณ์ได้

หนังสือเล่มนี้อาจนับได้ว่าเป็นงานปรัชญาการศึกษาร่วมสมัยในช่วงปัจจุบัน ที่ Biesta ได้พยายามท้าทายวิธีคิดของปฏิฐานนิยม จากมุมมองหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) เขาได้กลับไปพิจารณาถึงสิ่งที่ถูกกีดกันออกไปจากการศึกษาแบบปฏิฐานนิยม นั่นก็คือ ‘ความอ่อนแอ’ (weakness) ซึ่งเป็นอะไรก็ตามที่ถูกเห็นว่าจะนำมาซึ่ง ‘ความเสี่ยง’ (risk) ต่อผลลัพธ์ที่วางไว้ สำหรับ Biesta การศึกษาเช่นนี้พยายายามจะรีดเค้นเอาความเสี่ยงออกไปอยู่ตลอดเวลา เพราะความเสี่ยงเป็นสิ่งที่รบกวนปลายทางที่คาดการณ์ไว้ นี่เท่ากับทำให้การศึกษาดูเป็นอะไรที่ทำให้นักเรียนต้องมองเห็นโลกความเป็นจริงให้ใกล้เคียงจากสายตาคนอื่น (ในนามของมาตรฐานบางอย่าง) ให้ได้มากที่สุด หรือสั้นๆ ก็คือ เรารู้อะไร แล้วอะไรที่เด็กยังไม่รู้ ต้องทำให้เด็กรู้ใกล้เคียงกับเรา 

Biesta เสนอในสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาเสนอว่าการศึกษาควรเป็นสิ่งที่พาให้เราเห็นโลกความเป็นจริงจากสายตาของเราเอง ไม่ใช่สายตาของคนอื่น ดังนั้น เราต้องยอมรับเสียก่อนว่า ไม่มีวันที่เราจะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่แม่นยำและคาดการณ์ได้ราวกับเครื่องจักร เพราะมนุษย์มีความซับซ้อน ความไม่แน่นอน ด้วยเหตุผลเช่นนี้ ‘ความเสี่ยง’ เกิดขึ้นเสมอในการศึกษา และเราก็ไม่ควรปฏิเสธมัน ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผู้รู้ดี’ กับ ‘ผู้ที่ยังไม่รู้ดี’ ที่ต้องคอยเติมช่องว่าระหว่างกันให้เต็ม หรือที่ Biesta เรียกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เจ้าอาณานิคม’ กับ ‘ผู้อยู่ใต้อาณานิคม’ แต่ความเสี่ยงได้เปิดให้เห็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดคิดล่วงหน้ามาก่อนได้ (สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้) ซึ่งเป็นการไต่ออกจากเส้นขอบเขตที่กำหนดไว้ และตรงนี้เองที่ความเป็นไปได้ต่างๆ จะเกิดขึ้น   

ความสร้างสรรค์ การสนทนาร่วม และการรู้แจ้ง

จากจุดยืนเช่นนั้น Biesta เสนอว่าการศึกษาต้องเปิดพื้นที่ให้กับความเสี่ยง ผ่าน 7 มโนทัศน์ทางการศึกษา (educational concepts) ได้แก่ ความสร้างสรรค์ (creativity) การสนทนาร่วม (communication) การสอน (teaching) การเรียนรู้ (learning) การรู้แจ้ง (emancipation) ประชาธิปไตย (democracy) และความพิเศษ (virtuosity) โดยอิทธิพลหลักทางความคิดของหนังสือเล่มนี้ส่วนหนึ่งมาจากนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เช่น Jacques Derrida  Michel Foucault และ Jacques Rancière อย่างไรก็ตามในข้อเขียนนี้จะขอพูดถึงบางมโนทัศน์เท่านั้น

สำหรับ Biesta ‘ความสร้างสรรค์’ (creativity) ไม่ได้หมายถึงการเพิ่มพูนทักษะความคิดสร้างสรรค์ แต่หมายถึงการศึกษาที่เป็นการกระทำอันสร้างสรรค์ (creative act) ที่ก่อให้เกิดอัตวิสัยของมนุษย์ (human subjectivity) ขึ้นมาไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง นั่นคือการที่เราจะเห็นโลกจากสายตาของเราเอง และเปิดทางให้สิ่งใหม่ สิ่งซึ่งไม่เคยมีมาก่อนปรากฏสู่โลก สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเปิดให้มี ‘ความเสี่ยง’ การศึกษาจึงไม่ใช่การควบคุมให้นักเรียนอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้รู้ดี ในทางตรงกันข้าม มันคือการเชื่อมั่น (trust) ในความเสี่ยง ว่าเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดการเติบโตไปในทางใดทางหนึ่ง ด้วยเหตุผลเช่นนี้ Biesta มองว่าการศึกษาจำเป็นต้องมี ‘การสนทนาร่วม’ (communication) อยู่เสมอ บ่อยครั้งการศึกษาถูกจัดวางให้เป็นการถ่ายทอดข้อมูลจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง จากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งอีกแหล่งหนึ่ง จึงมาพร้อมกับใครบางคนที่จะมีอภิสิทธิ์เหนือกว่า ว่าใครควรรู้หรือไม่รู้อะไร เป็นความสัมพันธ์แบบอาณานิคม ด้วยการที่เราต้องคอยอาศัยให้คนอื่นมายืนยันและบอกเราว่าสิ่งที่เราเห็นและรู้สึกนั้นแท้จริงคืออะไร จากนั้นเราจึงจะสามารถ ‘รู้แจ้ง’ (emancipation) ได้ ผ่านการยืนยันของคนอื่นที่ ‘รู้’ มากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ การศึกษาไม่ใช่ความสร้างสรรค์ และไม่ใช่การรู้แจ้ง แต่เป็นการควบคุมให้เรามองเห็นในสิ่งที่ถูกออกแบบมาให้เห็นตั้งแต่แรก ดังนั้น Biesta จึงเสนอ communication ในฐานะที่เป็นการสนทนาร่วมระหว่างบุคคลกับบุคคลด้วยกัน (จากรากฐานปรัชญาของ Dewey) ซึ่งเป็นกระบวนการแบ่งปันความหมายระหว่างกัน ไม่ใช่การส่งสารให้ได้ความแม่นยำ การแบ่งปันระหว่างความหมายดูเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อมนุษย์ได้เผชิญบทสนทนาที่จะสื่อสารร่วมกัน มันเปิดกว้างให้ ‘ความเป็นอื่น’ (other) ที่เคยถูกกีดกันจากการสื่อสารในแบบอาณานิคมได้ปรากฏขึ้น 

ในอีกแง่หนึ่ง การศึกษาในฐานะการสนทนาร่วมคือ ‘การพังทลายของฉันทามติ’ (dissensus) ของสิ่งต่างๆ ที่ถูกจัดระเบียบไว้ (police) ให้เรารับรู้ความหมาย พร้อมๆ กับเปิดพื้นที่เพื่อร้อยเรียงและจัดวางมันใหม่ (politics) หากสรุปให้เข้าใจง่ายๆ คงคล้ายกับ ‘installation art’ หรือศิลปะจัดวาง ที่เราจะสร้างสรรค์และจัดวางสิ่งต่างๆ ออกไปจากสำนึกเดิมๆ  

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ อาจต้องยอมรับตรงๆ ว่า งานปรัชญาของ Biesta เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก แต่ก็มีคุณูปการสำคัญไม่น้อยที่จะพาให้เรามองย้อนกลับมาถกเถียงถึงความหมายและเป้าหมายของการศึกษา 

จริงหรือไม่ที่การศึกษาต้องเติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ราวกับเป็นยอดมนุษย์  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสมบูรณ์หรือไม่  ใครกันที่บอกเราว่ามนุษย์ควรเป็นเช่นนั้น หรือจริงๆ แล้วมนุษย์มีความซับซ้อน ความบกพร่อง และผิดพลาดเสมอ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จึงดูไม่มีทางเป็นได้ หรือแท้จริงการศึกษาควรให้เขาได้เติบโตในแบบที่เขาสามารถจะเป็นได้  ตัวอย่างหนึ่งที่เราสามารถยกมาพูดคุยได้อย่างเป็นรูปธรรมในตอนนี้ ก็คือ ร่าง พรบ.การศึกษา ที่มีผู้รู้ได้เขียนกำหนดเกณฑ์ที่ควรได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยไว้อย่างถี่ถ้วน พวกเขาคาดหวังไว้ว่านักเรียนจะต้องเป็นมนุษย์ที่มีคุณลักษณะบางอย่างที่ต้องไปให้ถึง ดังนั้นอะไรก็ตามที่เป็นความเสี่ยงที่กลัวว่าจะไม่เป็นไปตามลักษณะที่วางไว้ ต้องถูกเขียนลงไปในกฎหมายให้มากที่สุด 

หากมองจากมุมของ Biesta เราอาจพูดได้ไหมว่านี่คือความพยายามทำให้การศึกษามั่นคง แข็งแกร่ง และคาดการณ์ได้ราวกับเครื่องจักร มากกว่าจะเป็นการกระทำอันสร้างสรรค์

Tags:

หนังสือ ‘The Beautiful Risk of Education’Gert Biestaการศึกษาความเสี่ยงความมั่นคง

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Character building
    ‘รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง’ จิตวิทยาเบื้องหลังความห้าวหรือบ้าบิ่นของบางคน

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Education trend
    Border pedagogy การศึกษาที่ชายขอบเป็นศูนย์กลาง

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Education trend
    AI กับอนาคตการศึกษา: ตัวช่วยที่ทำให้เด็กเก่งขึ้น หรือตัวการขัดขวางการเรียนรู้ ทำลายอาชีพครู

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    ‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ ทางออกอยู่ที่ไหน เมื่อเด็กตกอยู่ในการวนซ้ำของการหลุดจากระบบการศึกษา

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • ถอดบทเรียน 4 โมเดล พัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ สู่อนาคตการศึกษาที่ยั่งยืน

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

‘ชายแทร่’ Toxic masculinity เริ่มต้นที่บ้าน โรงเรียน หรืออื่นใด?: คุยกับ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
How to get along with teenager
8 January 2024

‘ชายแทร่’ Toxic masculinity เริ่มต้นที่บ้าน โรงเรียน หรืออื่นใด?: คุยกับ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • ‘ชายแทร่’ หรือ ‘ชายแท้’ ไม่ได้หมายถึงเพศสรีระหรือเพศสภาวะของเพศชาย แต่เป็นคำที่มักใช้เพื่อเปรียบเปรย-เสียดสีผู้ชายที่ไม่เข้าใจหรือไม่สนับสนุนและเคารพความเท่าเทียมทางเพศ
  • ในช่วงที่ผ่านมาก็มีประเด็นคนดังถูกนิยามว่าเป็น ‘ชายแทร่’ จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จนมีชาวโซเชียลตั้งข้อสังเกตว่าการเรียนชายล้วนอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลายเป็น ‘ชายแทร่’
  • The Potential ชวนหาคำตอบกับ อาจารย์นีท – ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้คนๆ หนึ่งมีนิสัย ‘ชายแทร่’

ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘ชายแทร่’ หรือ ‘ชายแท้’ ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ หรือ X และเป็นหนึ่งในคำยอดฮิตที่ได้รับความสนใจจนเป็นที่มาของคำถามที่ว่า “ทำไมผู้ชายบางคนจึงมั่นหน้าเป็นชายแทร่อยู่ได้ ทั้งๆ ที่กระแสสังคมทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม สิทธิสตรี รวมถึง LGBTQ+” 

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจนิยามของคำว่า ‘ชายแทร่’ หรือ ‘ชายแท้’ กันสักนิด คำนี้คือสแลงในโลกโซเชียล ที่ไม่ได้หมายถึงเพศสรีระหรือเพศสภาวะของเพศชาย หรือเหมารวมผู้ชายทุกคน แต่เป็นคำที่มักใช้เพื่อเปรียบเปรย-เสียดสีผู้ชายที่ไม่เข้าใจหรือไม่สนับสนุนและเคารพความเท่าเทียมทางเพศ หรือผู้ชายที่มีทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ มีพฤติกรรมที่เรียกว่า Toxic masculinity (ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ) Anti Feminist (ต่อต้านแนวคิดสตรีนิยม) รวมถึงมองว่าผู้หญิงเป็น Sex Object (วัตถุทางเพศ)

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็มีประเด็นคนดังหรือบุคคลสาธารณะถูกนิยามว่าเป็น ‘ชายแทร่’ จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนมีชาวโซเชียลตั้งข้อสังเกต แล้วเหมารวมว่า การที่ผู้ชายอยู่ในสังคมเพื่อนผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการเรียนในโรงเรียนชายล้วนนั้น อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลายเป็น ‘ชายแทร่’ 

The Potential ชวนหาคำตอบกับ อาจารย์นีท – ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้คนๆ หนึ่งมีนิสัย ‘ชายแทร่’ (ชายแท้)

อาจารย์คิดว่าการเรียนในโรงเรียนชายล้วนจะทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะติดนิสัย ‘ชายแท้’ ไหม?

โดยรวมแล้ว ปัจจัยของพัฒนาการทางการเรียนรู้เรื่องบทบาททางเพศและเรื่องการเติบโตเนี่ยไม่ได้เกิดแค่โรงเรียนที่เดียวนะคะ เพราะฉะนั้นจึงตัดสินไม่ได้ว่า เด็กที่เรียนชายล้วน จะมีผลลัพธ์ที่ดีหรือแย่กว่าเด็กโรงเรียนสหศึกษา เพราะมันก็มีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งครอบครัว ชุมชน หรือเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน ซึ่งทุกอย่างจะประกอบกันเป็นเด็กคนหนึ่ง

แต่แน่นอนว่าถ้าบ้านไหนที่มีแนวคิดแข็งแกร่งในการเน้นย้ำบทบาททางเพศที่ชัดเจน ว่า “เราเป็นผู้ชาย เราต้องดูแลปกป้อง ต้องทําหน้าที่เป็นผู้นํา” แล้วส่งลูกไปเรียนโรงเรียนชายล้วนอีก ก็อาจจะมีแนวโน้มทําให้แนวทางของเด็กคนนั้นชัดขึ้นว่า เขาเชื่อมั่นในแนวทางของเขาด้วยสังคมครอบครัวและโรงเรียนบวกกัน แต่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถเหมารวมได้ว่า “อ๋อ เพราะเขาเรียนชายล้วนไง เขาถึงเป็นแบบนี้” เพราะองค์ประกอบร่วมของการเติบโตทางพัฒนาการของคนๆ หนึ่งไม่สามารถบอกจากแค่ปัจจัยเดียว การที่เรียนอยู่ในโรงเรียนชายล้วน อาจจะเป็นสังคมรวมกลุ่มผู้ชายเพศเดียวกันก็จริง แต่มันก็แล้วแต่แต่ละกลุ่ม แล้วแต่ว่าเขาจะเรียนรู้และเลือกที่จะเป็นแบบไหน 

ถ้าอ้างอิงจากงานวิจัย โรงเรียนชายล้วนหลายโรงเรียนพยายามที่จะสอดแทรกประเด็นการให้เกียรติผู้อื่น โดยให้คํานิยามของคําว่าความเป็นผู้ชายคือ ‘ความเป็นสุภาพบุรุษ’ ดังนั้นโรงเรียนที่มีการเน้นย้ำในประเด็นพวกนี้ เด็กก็จะไม่ได้เติบโตหรือออกมาด้วยความรู้สึกว่า ฉันเป็นผู้นํา เป็นใหญ่เหนือกลุ่มอื่น หรือเหนือคนต่างเพศ

โรงเรียนที่มีความเข้าใจว่าจุดด้อยของการเป็นโรงเรียนชายล้วนคืออะไร เขาก็จะพยายามเติมเต็มและเสริมสร้างลูกผู้ชายที่เป็นมิตรต่อสังคม แต่ก็มีโรงเรียนที่อาจจะเน้นวิชาการ ไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสําคัญอะไร แต่ก็ไม่ได้ส่งเสริมว่าผู้ชายต้องเป็นใหญ่อะไร เพราะมองว่าท้ายที่สุดแล้วเด็กก็จะเติบโตในรูปแบบของเขาเอง 

ซึ่งคอนเซ็ปต์เรื่องคบคนพาลพาไปหาผิดมันก็ยังคงอยู่ในสังคมเราค่ะ ดังนั้นถ้าจะมองในแง่ของว่าเด็กชายล้วนมีแนวโน้มที่จะพากันไปทําพฤติกรรมที่ข่มเหงเพศหญิงก็ไม่แน่เสมอไป เพราะว่าเด็กโรงเรียนสหก็มีทําเหมือนกัน จึงไม่สามารถเหมารวมได้ขนาดนั้นค่ะ

สาเหตุของการที่ทำให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็น ‘ชายแท้’ คืออะไร?

นอกเหนือจากการเลือกคบกลุ่มเพื่อน และตัวอย่างในครอบครัวอย่างที่กล่าวไปว่า ถ้าบ้านไหนที่มีแนวคิดแข็งแกร่งในการเน้นย้ำบทบาททางเพศที่ชัดเจนเด็กก็จะมีแนวโน้มมีความคิดแบบนั้น แล้วอีกสิ่งหนึ่งคือ ‘สื่อ’ เพราะเด็กเขาสามารถเลือกที่จะเสพสื่อที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่โรงเรียนและครอบครัวมอบให้ได้ เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าลูกวัยรุ่นของเราดูอะไรบ้าง เขาอาจจะไปเสพสื่อหรือทำตามเทรนด์ที่เป็นที่นิยมซึ่งอาจจะในทางถูกหรือผิดก็ได้

เด็กอาจจะเสพคอนเทนต์บางอย่างแล้วมองว่า ทําแล้วเท่จัง ทำคอนเทนต์แบบนี้แล้วมีคนกดติดตามเยอะ แต่ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในด้านพัฒนาการ เวลาที่เด็กทําในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง บางครั้งเกิดจากการที่เขาเข้าใจว่า ถ้าทำแล้วจะได้ชื่อเสียง ได้การยอมรับ ดูเท่ในสายตาเพื่อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากนะคะสำหรับวัยรุ่น

อย่างล่าสุดที่มีคนที่เคยทําวิดีโอคลิปที่เหยียดหรือบูลลี่คนอื่น แต่ก็ยังมีคนชอบ มีคนติดตามเป็นหมื่นเป็นแสน ก็อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งเราทําไม่ได้ผิด 

เพราะเด็กวัยรุ่นมีความสุ่มเสี่ยงอย่างหนึ่งคือ อะไรที่เขาได้รับการตอบสนอง ก็จะเข้าใจว่านี่เขามาถูกทางแล้ว

ช่วงปีที่ผ่านมามีประเด็นคนดังหลายคนถูกขุดอดีตว่ามีนิสัย ‘ชายแท้’ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

สิ่งที่เป็นประเด็นในตอนนี้คือ สิ่งที่เขาทําไปแล้วในอดีตกลับมีผลในปัจจุบัน เพราะเขากลายเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นดาราเป็นศิลปินมีชื่อเสียง แล้ว Digital Footprint (ร่องรอยดิจิทัล) ของสิ่งที่เคยทำก็จะเข้ามาทําร้ายเขาในปัจจุบันแม้จะมาสำนึกทีหลังว่าสิ่งที่ทํามาตลอดมันผิดก็ตาม หลายคนเลยเขียนจดหมายขอโทษสิ่งที่ทําในอดีต แต่นั่นหมายความว่าสิ่งที่เขาทําตอนนั้นก็ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าทําได้ ไม่ได้มีฟีดแบคอะไรที่ไปกระทุ้งสามัญสํานึกในอดีตว่าสิ่งที่เขาทํานั้นผิด จนกระทั่งวันหนึ่งทัวร์ลง

การที่เด็กคนนึงเขาเดินทางผิด เช่น แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กดขี่คนอื่น พูดจาไม่ดี หรือทําให้ตัวเองดูโดดเด่น แน่นอนเขาอาจจะเป็นที่ยอมรับกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับคนอีกกลุ่มนึงก็คงไม่ใช่

ในที่สุดแล้วเด็กทุกคนก็จะเรียนรู้ที่จะอยู่รอดในแบบของตัวเอง แล้วเด็กที่เติบโตมาในทางที่ผิด ท้ายที่สุดก็จะมีกระบวนการทางสังคมที่บอกเขาเองว่าถ้าอยากจะไปทางดี อยากเป็นคนมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ เขาควรจะต้องมี Crisis Management ในการจัดการสิ่งที่เคยทำในอดีต ว่าหากถูกทัวร์ลง ถูกเอาอดีตมาเปิดเผย จะขอโทษยอมรับผิดอย่างไรบ้าง

ยิ่งการบูลลี่ในสังคมออนไลน์เนี่ย เด็กหลายคนจะมองว่าฉันไม่ได้มีตัวตนที่สามารถโยงมาถึงตัวจริงของเราได้ เวลาทําแล้วสนุก แต่ว่าอาจจะไม่ได้สะท้อนตัวตน คืองานวิจัยเริ่มมีมากขึ้นว่า อัตลักษณ์ที่เป็นในสังคม กับอัตลักษณ์ในออนไลน์อาจจะคนละเรื่องกันเลย เด็กบางคนที่เขาเรียก ‘เกรียน’ ในออนไลน์เนี่ย บางทีในชีวิตจริงเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสทำก็ได้ เพราะฉะนั้นก็พูดยากเหมือนกันว่าตัวตนออนไลน์สามารถสะท้อนสังคมได้มากน้อยแค่ไหน 

เด็กกลุ่มนี้ก็จะเป็นเด็กที่ยังไม่รู้ว่า ผลลัพธ์มันจะไปได้ไกลขนาดไหนนะคะ บางทีเขาเห็นคนที่โพสต์อะไรประมาณนี้แล้วยอดไลค์ดี ยอดรีทวีตเยอะ เลยทำให้รู้สึกเร้าใจ รู้สึกว่าการที่ปากแจ๋ว ทําให้มีชื่อเสียง ซึ่งอาจเป็นภาพสะท้อนของการที่ไม่ได้รับความสนใจในโลกของความเป็นจริง 

ถ้าเขาไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอในสังคมพื้นฐาน เช่น ครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน เขาก็อาจจะไปทําอะไรที่ Extreme (สุดโต่ง) ในโลกเสมือนจริง ซึ่งเขาลืมคิดไปว่าถ้ามันเป็นคดีความขึ้นมาเราก็สามารถขุดได้ว่าเป็นใคร 

เพราะฉะนั้นโรงเรียนและครอบครัว รวมถึงสังคมเพื่อน จะเป็นตัวที่จะช่วยประคับประคอง แต่เด็กก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย เช่น ถ้าบูลลี่เพื่อนหรือพูดจาไม่ดีกับเพื่อน ก็จะถูกกระแสตอบกลับด้วยการที่เพื่อนไม่เล่นด้วย ซึ่งถ้าเป็นเด็กเล็กเราก็จะสังเกตเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นก็จะมีกลุ่มเพื่อนที่อาจเล่นกันแรงๆ มีกลุ่มเพื่อนที่เฮไปกันกับเขา เด็กก็จะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำมันไม่ดี หรือบางทีก็รู้ว่าไม่ดี แต่สมองของคนเราจะมีสิ่งที่เรียกว่า Reward System (ระบบการให้รางวัลของสมอง)

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ขับรถเร็ว ขับรถไม่มีใบขับขี่  ลองสารเสพติด แอบไปเที่ยวกลางคืนโดยที่ยังอายุไม่ถึง หรือทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในวัยนั้นก็จะเกิดความสนุกจากพฤติกรรมเสี่ยงๆ ขึ้นมาค่ะ

แสดงว่าพัฒนาการทางสมองของวัยรุ่นก็มีผลทำให้ประพฤติตัวไม่เหมาะสมด้วยใช่ไหม?

ใช่ค่ะ คือในพัฒนาการของวัยรุ่น มีงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องการมี Awareness หรือ ‘การรับรู้ถึงความเสี่ยง’ ว่าจะมีพัฒนาการช้ากว่าสมองในส่วนหลังที่รับรู้เรื่อง Reward หรือ ความสะใจ ความตื่นเต้นที่ได้ทําสิ่งที่แหกกฎแหกคอก แล้วไม่มีใครจับได้ค่ะ นี่เป็นสิ่งที่ Reward System ในสมองบอกว่ามันทําได้ ทําเถอะ ไม่เป็นไร เดี๋ยวมีปัญหาก็ค่อยไปแก้เอา ส่วนนี้พัฒนาแล้วตั้งแต่อายุ 12-13 ปี แต่สมองส่วนที่รับรู้ถึงความเสี่ยง ทำหน้าที่ในการมองอนาคต ตั้งคําถาม คิดถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ว่าถ้าโดนจับขึ้นมา ถ้าโดนแหกขึ้นมาล่ะ กว่าจะพัฒนาเต็มที่คืออายุประมาณ 25 ปี พัฒนาการของทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้นค่ะ

แต่ถ้าพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาในในกรอบที่ดี คุยกับลูกเนี่ย พ่อแม่สามารถช่วยฝึกให้ลูกคิดได้ว่า “ถ้าทําแบบนี้พ่อแม่รับไม่ไหวนะลูก” หรือว่า “ถ้าหนูท้องแล้วเรียนไม่จบ จบไม่ทันเพื่อน หนูโอเคหรือเปล่า” เป็นพ่อแม่กลุ่มที่พยายามสอนการคิดถึงอนาคต ให้เด็กเรียนรู้ถึงความเป็นไปได้อยู่เสมอ แต่พ่อแม่ที่ไม่คุยกับลูกก็อาจจะไม่ได้สอนเรื่องพวกนี้ให้ ดังนั้นสมองส่วน Awareness ก็จะคิดได้ช้าหน่อย ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องของโรงเรียนและครอบครัวว่าจะฝึกเด็กยังไง เพราะถึงแม้เราจะรู้จากงานวิจัยว่าสมองส่วนนี้ยังไม่ฟอร์มเต็มที่ แต่ว่าถ้าเราฝึกให้เขาคิดถึงอนาคต สมองส่วนนี้ก็จะพัฒนาได้ดีและเร็วขึ้น

แต่เราก็จะมีเพื่อนหลายแบบที่มากระตุ้นสมองส่วนหลัง ที่ถ้าหากเราไม่ตามเพื่อน แล้วเกิดพรุ่งนี้เช้าไปโรงเรียนเพื่อนไม่ยอมรับขึ้นมาจะรู้สึกยังไง ก็เป็นทางแยกที่วัยรุ่นต้องตัดสินใจ แต่อย่างที่บอกว่า วัยรุ่นที่คุยกับพ่อแม่ เขาจะมี system ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เพราะพอเด็กเริ่มโต พ่อแม่ก็ไม่สามารถคุมได้ตลอดเวลา เด็กต้องคิดเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่พ่อแม่อบอุ่นเขาจะไม่ไปลองเสี่ยงนะคะ เขาก็จะลองเสี่ยงแต่จะมีลิมิตว่าได้แค่ไหน แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กอีกกลุ่มก็อาจจะเสี่ยงไปไกลเลยค่ะ เพราะเขาไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย ไม่มีสายสัมพันธ์ของพ่อแม่และลูกที่ต้องดึงเขาไว้ข้างหลัง 

แล้วการเรียนโรงเรียนหญิง/ชายล้วนจะมีผลต่อพัฒนาการทางเพศของเด็กไหม?

จริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้มีผลขนาดนั้นค่ะ เพราะถึงจะมีข้อจำกัดในการเรียนอยู่ในสังคมหญิงล้วนหรือชายล้วนก็ตาม แต่ตามกลวิธีทางสังคมของมนุษย์ ท้ายที่สุดเราก็จะพาตัวเองไปมีประสบการณ์ที่เราขาดอยู่เสมอ อย่างเช่น พ่อแม่ที่มีลูกคนเดียว ก็รู้อยู่แล้วว่าการมีลูกคนเดียวก็อาจจะทําให้ลูกเหงา ก็จะพยายามหาเพื่อนเล่นให้ลูกโดยพาไปเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน 

ทำนองเดียวกันกับเด็กที่เรียนหญิง/ชายล้วน กระบวนการทางสังคมพวกนี้มันทดแทนกันโดยแบบอัตโนมัติอยู่แล้วค่ะ เช่น เด็กหญิงล้วนหรือเด็กชายล้วนบางกลุ่ม ในช่วงสอบเข้ามหาลัย เขาก็จะพยายามไปหาที่ติว เพื่อที่อาจจะได้เจอเพื่อนนอกกลุ่มหรือนอกโรงเรียน หรือแม้แต่โรงเรียนบางโรงเองก็มีการจัดกิจกรรม แคมป์ต่างๆ ให้พบปะโรงเรียนอื่นที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน 

จริงอยู่ที่สังคมในโรงเรียนมีข้อจํากัด แต่ว่ามันไม่ได้เป็นทั้งหมดของชีวิตเด็ก และถ้าพ่อแม่ตระหนักในประเด็นนี้ว่า เราต้องเติมเต็มประสบการณ์ของลูกให้ได้เจอเพื่อนเล่นทั้งหญิงชาย พาเด็กไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นสหศึกษา เช่น การรวมญาติ การเลี้ยงรุ่นที่พาลูกของเพื่อนไปเจอกัน ก็จะช่วยเติมเต็มได้ เพราะกระบวนการทางสังคมของมนุษย์ไม่ได้ถูกล้อมด้วยโรงเรียนหญิง/ชายล้วนอย่างเดียวเพียงเท่านั้น 

และก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กพาตัวเองไปอยู่ในกิจกรรมแบบไหนด้วย เพราะสังคมเราก็มีกิจกรรมหลายอย่างให้เลือกทำได้ จึงไม่อยากให้เอากรอบเหมาว่าเด็กที่เรียนหญิง/ชายล้วนจะกลัวการเข้าหาเพศตรงข้าม หรือมีปัญหาในการเข้าสังคมขนาดนั้น เพราะสิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านว่าพาลูกไปเจอประสบการณ์แบบไหนบ้าง

โรงเรียนชายล้วนหญิงล้วนเป็นเพียงแค่เป็นเปลือกนอกมากกว่าค่ะ เพราะจริงๆ แล้วแก่นของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู ว่าเลี้ยงดูมายังไงและหล่อหลอมให้เข้าใจความหมือนความต่างของกันและกันมากน้อยแค่ไหนมากกว่า 

รวมถึงเด็กทุกคนก็เติบโตมาด้วยการเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย อาจารย์ก็เลยไม่ได้มองว่าการที่เราไปอยู่โรงเรียนเหล่านั้นจะถึงขั้นทําให้ทุกอย่างมันดู Extreme ขนาดนั้น และในทางจิตวิทยาสอนให้ไม่เหมารวม ต้องดูเป็นคนๆ ไปค่ะ

เราจะทำให้เด็กเติบโตมาบนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศได้อย่างไร?

กลับมาย้อนที่พื้นฐานคือ ‘ครอบครัว’ ค่ะ ในงานวิจัยแล้วพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่เลี้ยงลูกแบบครึ่งๆ คือแบ่งงาน ช่วยกันระหว่างพ่อแม่ จะมีแนวโน้มที่ลูกจะโตมากับความเข้าใจว่า ไม่ว่าเพศไหนก็ทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นสังคมยุคใหม่มันก็ค่อยๆ เริ่มทําความเข้าใจในประเด็นนี้

ลูกสาวที่พ่อแม่เลี้ยงดูมาแบบเท่าเทียมก็จะมีไอเดียว่า เป็นผู้หญิงก็ทำหน้าที่ใหญ่ๆ ในสังคมได้เหมือนกัน หรือถ้าเป็นผู้ชายก็สามารถทำงานที่ดูละเมียดละไมแบบที่ผู้หญิงทําได้เหมือนกัน จะมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าฉันเป็นอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีเรื่องเพศมากำหนด และจะมีแนวโน้มลดไอเดียเรื่องการที่ผู้ชายทำกับข้าวหรือเช็ดก้นลูกแล้วเสียฟอร์ม ถ้าเด็กโตมาในครอบครัวที่เห็นพ่อเก็บแพมเพิร์สลูก ก็จะเข้าใจภาพรวมว่าเขาจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้งานวิจัยทั่วโลกชี้มาเหมือนกันว่าผู้ชายมีความรู้สึกสบายใจที่จะเปลี่ยนผ้าอ้อมลูก และอุ้มลูกได้มากกว่าผู้ชายยุคก่อนๆ ผู้ชายที่เป็น Stay Home Dad มีเยอะขึ้น 

ถ้าเราอยากจะปลูกฝังอะไรให้ลูก ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี คือสร้างสิ่งแวดล้อมในครอบครัวให้ลูกเห็นว่า เราต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่บ้านไหนที่ยังเหมือนเดิมคือ ฝั่งหนึ่งกดอีกฝั่งหนึ่ง เด็กที่โตมาก็จะออกมาเป็นสองแบบ คือ ฉันจะไม่เป็นแบบพ่อแม่ เพราะเห็นแล้วว่าไม่เวิร์ก ถ้าฉันมีลูกเองจะพยายามสร้างสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้น กับแบบที่ลูกทำตามตัวอย่างพ่อแม่เลย เช่น ผู้ชายที่โตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นใหญ่กว่าแม่ เขาก็จะพยายามหาภรรยามาเป็นเบี้ยล่าง มาดูแลปรนนิบัติตัวเองแบบที่เคยเห็นค่ะ

จริงๆ แล้ว สังคมโรงเรียนไม่ได้เป็นปัจจัยทั้งหมดที่จะบอกว่าลูกเราจะเป็นคนแบบไหน แต่สิ่งที่สําคัญกว่าคือ ‘การสื่อสารกับลูก’ ศิลปะของการเลี้ยงลูกวัยรุ่น คือศิลปะของการเปิดกว้างให้ลูกได้มีวิถีทางที่เขาได้ทดลองทําในสิ่งที่เขาสนใจและสงสัย 

ถ้าความสัมพันธ์ของเขากับพ่อแม่อยู่ในระดับที่พูดคุยกันได้เยอะ สิ่งที่เขาสงสัยก็จะได้คําตอบจากในครอบครัว อาจจะไม่ถึงขั้นเลยเถิดและทดลองด้วยตัวเอง เพราะเด็กเขาไม่จําเป็นที่จะต้องทดลองทุกอย่างด้วยตัวเองเพื่อรู้ว่าเป็นยังไง 

แต่ว่าเด็กที่ที่ไม่ได้รับคําตอบจากผู้ใหญ่เลย เช่น ผู้ใหญ่ที่บอกว่า “อย่าเพิ่งรู้เลยยังเด็กอยู่” หรือว่าไม่ปล่อยให้เด็กได้ตัดสินใจอะไรเองเลย เด็กก็จะเกิดคําถามที่ไม่ได้รับคําตอบ ก็จะไปทําอะไรด้วยด้วยตัวเองแล้วบางทีปัญหามันไกลจนต้องมาตามทีหลังเนี่ยมันก็เกินกว่าที่พ่อแม่จะทําได้

แบบนี้อาจารย์คิดว่าในปัจจุบันยังจําเป็นอยู่ไหมที่เราจะต้องแยกโรงเรียนหญิง/ชายล้วน?

คิดว่าไม่จําเป็นนะคะ แต่ขอเท้าความก่อนว่าการแยกโรงเรียนหญิงล้วนชายล้วน นั้นมีต้นตอมาจากโรงเรียนทางศาสนาในทางยุโรป ไม่ได้เป็นไอเดียไทยแท้ แต่เป็นไอเดียดั้งเดิมที่มาจากแนวคิดในยุคเก่า ที่เรื่องความความเท่าเทียมทางเพศยังไม่ชัดเจน โดยโรงเรียนหญิงล้วนชายล้วนในยุคนั้น เกิดขึ้นเพื่อที่จะตอบรับประเด็นว่าเราผลิตผู้ชายมาเป็นชายชาติทหารปกป้องประเทศ เป็นผู้นําทางศาสนา ผู้นำทางการเมืองในประเทศนั้นๆ

โดยเริ่มต้นมาจากการมี Boy School ก่อน ซึ่งการมีโรงเรียนชายล้วนแบบนี้ก็สอดคล้องกับวิธีคิดในยุคโน้น ที่มองว่าชายเป็นใหญ่เป็นเรื่องปกติ และถูกสืบเนื่องกันมาเรื่อยๆ จากตะวันตกที่อยากเข้ามามีอิทธิพลในในประเทศเรา โดยการเผยแผ่ศาสนา ทำให้โรงเรียนหญิงล้วนชายล้วนในบ้านเราเป็นโรงเรียนเซนต์ต่างๆ เพราะนำไอเดียของประเทศเขามาใช้กับเรา

แน่นอนว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ทุกอย่างก็เปลี่ยน ผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ทํางานมากขึ้น จากสิ่งที่เคยปกติในอดีตก็ถูกมองเปลี่ยนไป ประเด็นเรื่องความเท่าเทียม สิทธิทางเพศ และเฟมินิสต์ เข้ามาเป็นประเด็นหลักในสังคมมากขึ้น ทําให้คนเริ่มตั้งคําถามว่า การแยกสังคมเพศในวัยเรียนนั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่

แต่ว่าโรงเรียนที่เขามี Tradition แบบนี้อยู่เขาก็ยังคงเอาไว้เพราะที่มาของเขามาแบบนี้ แต่ถ้าในอนาคตกระบวนการของกาลเวลาเปลี่ยนไป แล้วโรงเรียนเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมต่อไปแล้ว เขาก็ต้องปรับตัวเองเหมือนกับโรงเรียนหลายๆ โรงเรียนที่ปิดตัวไปตามกระบวนการของสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ในปัจจุบันเท่าที่อาจารย์เฝ้าดู อัตราการรับเข้าของโรงเรียนไทยชายล้วนและหญิงล้วนก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย เนื่องจากเขามีข้อดีเรื่องคุณภาพทางการศึกษา เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมองเรื่องคุณภาพของโรงเรียนเป็นสําคัญมากกว่าคอนเซ็ปต์เรื่องชายล้วน หญิงล้วน เพราะฉะนั้นโรงเรียนต่างๆ ที่ยังอยู่มาได้ยืนนานเพราะว่าคุณภาพที่เขามอบให้มากกว่าค่ะ

ผู้ปกครองแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนส่งให้เรียนเพราะชื่อเสียงโรงเรียน บางคนก็ส่งลูกเรียนหญิงล้วนเพราะกลัวลูกมีแฟนหรือผู้ปกครองอาจจะเป็นศิษย์เก่า ก็แล้วแต่ทางเลือกค่ะ และทุกวันนี้ก็มีทางเลือกโรงเรียนรูปแบบใหม่มากขึ้น ทั้งโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนสองภาษา เพราะฉะนั้นพ่อแม่ทุกท่านก็มีทางเลือก การที่เขาเลือกให้ลูกเข้าโรงเรียนนี้มันมีปัจจัยล้านแปด ไม่ใช่แค่เหตุผลเรื่องการแยกเพศอย่างเดียวค่ะ

สุดท้ายอาจารย์อยากฝากข้อแนะนำอะไรให้พ่อแม่ปกครองในการเลี้ยงลูกวัยรุ่นบ้างไหมคะ?

สิ่งที่อยากจะฝากให้พ่อแม่ก็คือ การมีศิลปะของการหย่อนและการผ่อนค่ะ ตอนลูกยังเล็กเนี่ยเขาหันซ้ายหันขวาตามเรา บอกอะไรเขาก็ทําตาม แต่พอเริ่มเข้าโรงเรียน มีเพื่อน เด็กจะเริ่มมีคําถาม เริ่มเปรียบเทียบวิธีการที่ได้จากพ่อแม่กับเพื่อน และคิดว่าที่พ่อแม่ห้ามให้ทํามันจริงแค่ไหน 

เพราะฉะนั้นศิลปะของการมีลูกที่เริ่มโตขึ้นคือการให้ความสนิทสนมกับเขา ให้เขารู้สึกว่าเราคุยได้ทุกเรื่อง ไม่ใช่ห้าม บังคับทุกอย่าง เพราะถ้าเด็กไม่ได้รับคําอธิบายที่ดีพอ เขาจะรู้สึกว่าเขาไว้ใจเราไม่ได้ และแอบไปทําอะไรที่เราห้าม ด้วยความที่กลัวว่าเราจะโกรธ คือเด็กวัยรุ่นเขาไม่บอกเราหมดอยู่แล้วค่ะ แต่ว่าอย่างน้อยถ้าเขามีอะไรยิ่งใหญ่แล้วมาบอกเราได้ แปลว่าเรายังเป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือของเขาอยู่ เป็นศูนย์กู้ภัยให้เขาได้ ลูกวัยรุ่นก็จะไม่เลยเถิดไปไกลนะคะ เรายังสามารถที่จะมีสายใยที่ดึงกันไว้ได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องสําคัญ ไม่ว่าเด็กจะไปบูลลี่คนอื่น จะไปโพสต์อะไรในโซเชียลมีเดียที่ไม่ดีต่อตัวเอง แล้วได้รับผลเสียอะไรบางอย่าง เราก็จะสอนเขาว่า ถ้าพลาดแล้วเราจะจัดการยังไง 

ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่ให้กําลังใจ ให้ความอบอุ่นเด็ก เขาก็จะไม่หลุดออกไปจากวงของเรานะคะ แต่ถ้าเกิดว่าเขาทําพลาดแล้วเราบอกว่า “เป็นยังไงล่ะ สมน้ำหน้า ฉันไม่ช่วยหรอก แกก็หาทางออกเอาเองนะ” อะไรอย่างนี้ เด็กก็จะเริ่มห่างจากเราไปเรื่อยๆ ซึ่ง ศิลปะของการเลี้ยงลูกวัยรุ่นคือการที่เราอยู่กับเขาไม่หายไปไหน แต่ก็ในขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยให้เขาได้ลองเรียนรู้ผิดบ้างค่ะ

Tags:

Toxic masculinityAnti Feminist'ชายแทร่' หรือ 'ชายแท้'โรงเรียนหญิง/ชายล้วนพัฒนาการทางสมองของวัยรุ่นจิตวิทยาวัยรุ่นชายเป็นใหญ่

Author:

illustrator

กนกพิชญ์ อุ่นคง

A girl who aspires to live like a yacht floating on the ocean, a dandelion fluttering over the heather, a champagne bursting in party.

Related Posts

  • RelationshipSocial Issues
    Toxic Masculinity: เมื่อ ‘ชายแทร่’ คือผลไม้พิษ สังคม-ครอบครัวต้องสร้างการเรียนรู้ใหม่…ไม่มีใครเหนือใครในความเป็นมนุษย์

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Life classroom
    The Patriarchal Dilemma: ในโลกที่ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเองก็ตกเป็นเหยื่อ

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to get along with teenager
    ในวันที่โลกดูสิ้นหวัง และตัวฉันที่กำลังจะหมดหวังกับตัวเอง : EP.2 “I am not good enough.”

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • How to get along with teenager
    ในวันที่ลูก (วัยรุ่น) คิดต่าง

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • How to get along with teenager
    จิตวิทยาวัยรุ่น: ความสัมพันธ์(ความสับสนยุ่งเหยิง)วัยรุ่น กับ หมอโอ๋ เลี้ยงลูกนอกบ้าน

    เรื่อง กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ภาพ จิตติมา หลักบุญ

‘เรื่องหลอกเด็ก’ หลุมพรางของความรู้(ไม่)เท่าทันสื่อ
Social Issues
4 January 2024

‘เรื่องหลอกเด็ก’ หลุมพรางของความรู้(ไม่)เท่าทันสื่อ

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ‘การติดอาวุธทางความคิด’ ด้วยการสร้าง ‘ความรู้เท่าทันสื่อ’ (media literacy education) เป็นเรื่องที่ต้องตื่นตัว เพื่อที่จะป้องกันเด็กๆ ไม่ให้โดนหลอกโดยง่ายด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งต้องทำตั้งแต่ไม่เกินช่วงวัยรุ่นตอนต้น จึงจะเหมาะสมที่สุด  
  • การไม่ได้รับการสอนให้ระมัดระวังในการเสพสื่อเท่าที่ควร อาจจบลงตรงที่ได้คนที่พร้อมจะเชื่ออะไรแปลกประหลาด ไม่เข้าท่า ไม่สมเหตุสมผลเพิ่มมากขึ้น
  • การไปสอนในระดับมหาวิทยาลัยอาจจะล่าช้าเกินไปหน่อย และพฤติกรรมที่ทำตอนเป็นเด็กเล็กจนติดเป็นนิสัยแล้ว ก็ยากจะมาแก้ไขกันตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

เราอยู่ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน มีข้อมูลมากมายมหาศาลผ่านหูผ่านตาอยู่ตลอดเวลา ในจำนวนนั้นมีส่วนหนึ่งที่เป็นข้อมูลเท็จ ข้อมูลปลอมแปลง และข้อมูลที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะหวังผลประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น มีความพยายามจะแฮ็กบัญชีธนาคารของเรา หลอกให้เราโอนเงินให้ด้วยเล่ห์กระเท่ต่างๆ นานา   

เป้าหมายของข้อมูลผิดๆ เหล่านั้นมีทั้งคนทั่วไป ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่  

ในโลกตะวันตกมีความตื่นตัวในเรื่องนี้พอสมควร และมีความพยายามจะป้องกันเด็กๆ ไม่ให้โดนหลอกโดยง่ายด้วยวิธีการต่างๆ แต่ก่อนจะลงในรายละเอียด จะขอกล่าวถึงคำ 2 คำที่พบเสมอๆ เวลากล่าวถึงเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างความรู้เท่าทันสื่อ (media literacy education) คือ คำว่า disinformation และคำว่า misinformation 

คำว่า information มักแปลกันว่า ‘ข้อมูล’ แต่ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตสภา กำหนดว่าให้ใช้เป็น ‘สารสนเทศ, ข้อความ, สาร หรือสาระ’ ต่างๆ ส่วนคำว่า disinformation กำหนดให้ใช้เป็น ‘ข้อมูลข่าวสารผิดพลาด’ และคำว่า misinformation คือ ‘ข้อมูลที่ผิด

จากศัพท์บัญญัติจะเห็นว่า แยก disinformation และ misinformation ออกจากกันแทบไม่ได้ ต่างจากนิยามที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน [1] ที่ระบุชัดเจนว่า disinformation คือ ข้อมูลผิดๆ ที่เกิดจากการจงใจปล่อยหรือต้องการทำให้เข้าใจผิด (false information which is deliberately intended to mislead) อาจจะเรียกว่าเป็น ‘ข้อมูลลวง’  

ขณะที่ misinformation คือ ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องแม่นยำ (false or inaccurate information) ซึ่งอาจเกิดจากผู้เขียนหรือผู้เผยแพร่มีเข้าใจคลาดเคลื่อนและสื่อสารออกไปทั้งอย่างนั้น โดยไม่ได้มีเจตนาจะหลอกลวงคนอื่น อาจจะเรียกว่าเป็น ‘ข้อมูลคลาดเคลื่อน’ ก็คงพอได้  

ปี 2016 มีการศึกษาวิจัยในนักเรียนเกือบ 8,000 คนในสหรัฐอเมริกาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด [2] ทำให้ทราบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมากกว่า 80% เชื่อว่า บทความที่ระบุว่าเป็นโฆษณาหรือได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาข่าวจริงๆ 

พูดง่ายๆ คือ แยกแยะข่าวจริงกับโฆษณาไม่ออก  

ขณะที่มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไม่ถึง 20% ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างหรือรูปภาพต่างๆ บนเฟซบุ๊กว่าเชื่อถือได้เพียงใด เช่น เห็นภาพดอกไม้แปลกประหลาดสักรูปที่อ้างว่า เป็นต้นที่โตอยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น แล้วก็สงสัยว่าเป็นเรื่องจริงเพียงใด 

ผลลัพธ์ที่พบคือ เด็กส่วนใหญ่จะเชื่อตามไปในทันที  

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำในเด็ก 961 คนและตีพิมพ์ในวสาร British Journal of Developmental Psychology ในปี 2021 [3] ทำให้ทราบว่า เด็กอายุ 14 ปีคือช่วงวัยที่พร้อมจะเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเป็นจริงเป็นจัง เรียกว่าแยกแยะโลกจริงกับโลกในจินตนาการที่คนเอามา ‘ปั่น’ ไม่ออก และหากเชื่อไปแล้ว จะมาแก้ไขความเชื่อผิดๆ ก็ทำได้ยากมากด้วย 

ดังนั้น ‘การติดอาวุธทางความคิด’ ให้กับเด็ก ต้องทำตั้งแต่ไม่เกินช่วงวัยรุ่นตอนต้น จึงจะเหมาะสมที่สุด  

การศึกษาในปี 2017 ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ [4] พบว่า ในจำนวนผู้ใหญ่ 397 คนที่เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองนั้น คนไหนยิ่งรู้เท่าทันสื่อมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะเชื่อใน ‘ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory)’ น้อยลงไปเท่านั้น  

นี่อาจแสดงนัยยะว่า การไม่ได้รับการสอนให้ระมัดระวังในการเสพสื่อเท่าที่ควร อาจจบลงตรงที่ได้คนที่พร้อมจะเชื่ออะไรแปลกประหลาด ไม่เข้าท่า ไม่สมเหตุสมผลเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการทดลองที่ทำแยกกัน จึงอาจไม่สะท้อนความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันมากนัก 

ปี 2018 วารสาร Wall Street Journal ศึกษาว่าอัลกอริทึมของ Youtube ที่ใช้แนะนำคลิปที่น่าชมสำหรับผู้ชมแต่ละคนทำงานได้ดีเพียงใด [5] ผลที่ได้ทำให้คณะนักวิจัยต้องตกใจ เพราะอัลกอริทึมของยูทูบมีแนวโน้มจะโชว์คลิปที่มีความสุดขั้วและผิดเพี้ยนไปจากความจริงหรือความต้องการตั้งต้นของผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ     

นักวิจัยทดลองค้นใน Youtube ด้วยวลีว่า lunar eclipse หรือ ‘จันทรคราส’ ปรากฏว่าคลิปแนะนำค่อยๆ พาเข้าไปหาคลิปเรื่องโลกแบนในที่สุด! และเนื่องจาก Youtube เป็นโซเชียลมีเดียที่ติด Top 10 ของการสำรวจการใช้งานทั่วโลกเสมอ ผู้ชมจึงอาจโดนลากจูงเข้าหาทั้ง ‘ข้อมูลคลาดเคลื่อน’ และ ‘ข้อมูลลวง’ ได้ง่ายๆ ตลอดเวลา ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงทีเดียว 

ในสหรัฐอเมริกามีโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่มีคลาสสอนเรื่องการรู้ทันสื่อ โดยจะสอนให้เด็กๆ รู้จักประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและคิดวิพากษ์เกี่ยวกับข้อความ ข้อมูล และข่าวสารต่างๆ ก่อนจะเชื่อ ซึ่งก็พบว่าได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ปกครองของเด็กๆ เป็นพวกเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ อยู่แล้วด้วย 

แต่ปัญหาก็คือยังมีโรงเรียนที่มีการสอนแบบนี้น้อยอยู่  

บางรัฐที่เห็นความสำคัญ เช่น รัฐอิลลินอยส์ บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องมีคลาสเรียนเรื่องนี้ และมีอีกหลายรัฐที่กำลังดำเนินการด้านกฎหมาย เพื่อให้มีการสอนในทำนองเดียวกันนี้อยู่ สำหรับมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน มีหลายแห่งมากขึ้นที่มีสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

แต่นักการศึกษาบางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า การไปสอนในระดับมหาวิทยาลัยดูจะล่าช้าเกินไปหน่อย และพฤติกรรมที่ทำตอนเป็นเด็กเล็กจนติดเป็นนิสัยแล้ว ก็ยากจะมาแก้ไขกันตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

นี่ยังไม่นับว่าคอร์สที่สอนกันอยู่เรื่อง ‘การเท่าทันสื่อ’ นั้น ก็ยังคงมีการถกเถียงกันไม่น้อยว่า ควรจะสอนอะไรบ้าง หรือควรจะสอนอย่างไรกันแน่ 

อย่างไรก็ตาม เราก็พอจะยังเห็นความหวังรำไรในเรื่องนี้อยู่ เมื่อคอร์สที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันพอยน์เตอร์ (Poynter Institute) และสมาคมสื่อท้องถิ่น (Local Media Association) ซึ่งได้รับทุนจาก Google.org ที่เป็นองค์การการกุศลที่กูเกิลตั้งขึ้น ได้สอนเด็กไฮสคูล 40,000 คน และเมื่อทำการทดสอบหลังสอนเสร็จ 

พบว่าช่วยให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ประเมินความน่าเชื่อถือของโพสต์ในโซเชียลมีเดียและบทความบนเว็บไซต์ได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้เข้าเรียนคลาสนี้ [6] นั่นก็แปลว่าความพยายามกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและระแวดระวังในกลุ่มเด็กเกี่ยวกับเนื้อหาในสื่อ เป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จได้ 

สิ่งที่ควรตั้งคำถามต่อมาคือ ในเมืองไทยมีใครตั้งคำถามและทดลองหาความจริงทำนองนี้บ้างหรือยัง? มีความพยายามทำคอร์สสอนในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นบ้างแล้วหรือยัง และถ้ายัง เราจะเริ่มต้นกันอย่างไร? และจะทำให้เรื่องนี้ไปถึงในวงกว้าง (อาจกว้างไปถึงคนทั่วไปที่ต้องรับข้อมูลจากสื่ออย่างมากมายในแต่ละวัน) และจะทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้อย่างไร?

เด็กๆ ของเราจะรอดพ้นจากข้อมูลผิดๆ ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจและเกิดจากความตั้งใจได้อย่างไร?

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.apa.org/topics/journalism-facts/misinformation-disinformation

[2] https://stacks.stanford.edu/file/druid:fv751yt5934/SHEG%20Evaluating%20Information%20Online.pdf

[3] British Journal of Developmental Psychology (2021), 39, 499–520. DOI:10.1111/bjdp.12368

[4] https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/2057047317725539?journalCode=ctpa 

[5] https://www.wsj.com/articles/how-youtube-drives-viewers-to-the-internets-darkest-corners-1518020478 

[6] Schooled in Lies. Scientific American, Special Editon, Fall 2022, pp. 18-23.  

Tags:

Media literacyการศึกษาสื่อการรู้เท่าทันสื่อปฐมวัย

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Unique TeacherSocial Issue
    การศึกษาไม่ควรมีคำว่า ‘ชายขอบ’ พัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายแดนด้วย ICAP: ครูมื่อ-ประทิม สายชลคีรี 

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    ‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ ทางออกอยู่ที่ไหน เมื่อเด็กตกอยู่ในการวนซ้ำของการหลุดจากระบบการศึกษา

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Early childhoodFamily Psychology
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.4 ‘แนวทางในการรับมือกับเด็กปฐมวัยพลังล้นเหลือ’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Beyond Schooling : 3 รูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่หยุดแค่รั้วโรงเรียน

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Learning Theory
    วอลดอร์ฟ 100 ปี: การศึกษามนุษยปรัชญาที่ต้องการสร้าง ‘จินตภาพ’ และ ‘ความสร้างสรรค์’ มากกว่า ‘ความจำ’

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง
  • The Anxious Generation EP 1: เลี้ยงลูกด้วย ‘หน้าจอ’ สัญญาณร้ายสู่คนรุ่นใหม่วัยวิตก

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Uncategorized
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel