Skip to content
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
  • Creative Learning
    Creative learningLife Long LearningEveryone can be an EducatorUnique Teacher
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Transformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent Brain
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
How to get along with teenager
6 October 2021

ในวันที่โลกดูสิ้นหวัง และตัวฉันที่กำลังจะหมดหวังกับตัวเอง : EP.2 “I am not good enough.”

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • ‘การเลี้ยงดู’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกว่า ‘ตัวเองไม่ดีพอ’ เช่น การไม่ได้รับความรักและการยอมรับในตัวตนที่เป็น การถูกเปรียบเทียบและโดนตัดสินอยู่เสมอ หรือการที่ไม่สามารถทำผิดพลาดได้เลย
  • ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้เขาเฝ้าตั้งคำถามว่า ตัวเองดีพอให้คนมารักไหม? หรือต้องพยายามเฆี่ยนตีตัวเองให้ทำตามความคาดหวังของคนอื่น เพื่อได้รับความรัก ความภาคภูมิใจ การยอมรับ และรู้สึกว่าตัวเองดีพอ
  • สิ่งที่วัยรุ่นต้องการจากพ่อแม่มากที่สุด คือ บ้านที่ปลอดภัยทางกายใจ ที่เขาสามารถวางหัวใจที่เหนื่อยล้าลงเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ และกลับไปเผชิญโลกภายนอกต่อไป และการ ‘ใจดีกับตัวเอง’ ในวันที่ทำได้ไม่ดีตามที่คาดไว้ ให้เราใจดีกับตัวเองบ้าง บอกกับตัวเองเสมอว่า “วันนี้ฉันทำดีที่สุดแล้ว และฉันภูมิใจที่ฉันได้ลงมือทำ”

ที่มาของความรู้สึกว่า ‘ตัวเองไม่ดีพอ’

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การเลี้ยงดู’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกว่า ‘ตัวเองไม่ดีพอ’ ซึ่งลักษณะการเลี้ยงดูที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว มีดังนี้…

ปัจจัยที่ 1 การไม่ได้รับความรักและการยอมรับในตัวตนที่เป็น

เด็กบางคนเติบโตมาท่ามกลางบ้านที่ปราศจากความรักและความเอาใจใส่ ทำให้ตัวเขารู้สึกไม่มีคุณค่า และไม่สำคัญ เด็กๆ เหล่านี้มักเติบโตมาพร้อมกับความสงสัยในตัวเองว่า “ฉันสมควรถูกรักไหม? แล้วถ้าฉันสมควรได้รับความรัก แล้วทำไมถึงไม่มีใครรักและยอมรับในตัวฉันในวัยเยาว์เลย?” แม้บางคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เรียนรู้ที่จะรักตัวเองได้แล้ว แต่ในยามที่จิตใจอ่อนแอและไหวหวั่น ความสงสัยเหล่านั้นยังคงวนเวียนมาย้ำเตือนว่า “ฉันยังมีค่าพอใช่ไหม?”

ถ้าพ่อแม่ให้การยอมรับลูกอย่างที่เขาเป็นจากใจจริง เด็กทุกคนจะเหมือนได้รับอิสระ เพราะการยอมรับเป็นการปลดปล่อยพวกเขาจากโซ่ตรวนทางความคิดที่ว่า “เขาจะเป็นลูกที่ไม่ดีพอสำหรับพ่อแม่”

ปัจจัยที่ 2 การถูกเปรียบเทียบและโดนตัดสินอยู่เสมอ

บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะละเลยหรือหลงลืมไปว่า ‘เด็กทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นตัวเอง’ เราจึงถือสิทธิ์ในการเป็นผู้ใหญ่เปรียบเทียบและตัดสินเด็กๆ ตามความคิดและความเชื่อของเราอยู่เสมอ แม้ว่าที่ทำไปเพราะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม เราอาจจะสร้างบาดแผลให้เด็กๆ ไปแล้ว

“เด็กทุกคนมีคุณค่า ขอเพียงผู้ใหญ่มองให้รอบและมองให้ลึกเข้าไปในตัวเขา”

ไม่ควรมีเด็กคนใดถูกตัดสินจากมิติเดียวที่เราเห็น เด็กบางคนแม้ว่า เขาอาจจะไม่เก่งวิชาการ แต่เขาอาจจะมีความสามารถในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ขอเพียงเรามองเด็กๆ ให้รอบด้าน มองให้เห็นสิ่งดีๆ และคุณค่าในตัวเขา

“เด็กทุกคนมีดีในแบบของเขาเอง เขาไม่จำเป็นต้องดีเหมือนใคร หรือดีกว่าใคร”

ผู้ใหญ่ไม่ควรเปรียบเทียบเด็กคนหนึ่งกับเด็กอีกคนหนึ่ง ที่แย่ยิ่งกว่า คือ การเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นในครอบครัว ระหว่างพี่น้อง เพราะลูกทุกคนต่างต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ที่เขารัก และการที่พ่อแม่เปรียบเทียบตัวเขาว่า ด้อยกว่าพี่หรือน้องของตัวเอง ย่อมสร้างบาดแผลในใจของเขา ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบาดแผลระหว่างพี่น้องมักจะฝังลึกในใจของเด็กๆ เอง 

พ่อแม่ควรแสดงอออกเรื่องความรักต่อลูกๆ อย่างเท่าเทียม และยอมรับในตัวลูกแต่ละคนในแบบที่เขาเป็น

ปัจจัยที่ 3 การถูกคาดหวังไม่ตรงกับความเป็นจริง

เด็กบางคนถูกคาดหวังให้ทำอะไรที่เกินกว่าวัยและความสามารถของเขา เช่น ให้ลูกอ่านออกและเขียนให้ได้คล่องในวัยอนุบาล เพื่อหวังให้เขาสอบเข้าโรงเรียนประถมที่พ่อแม่หวัง หรือให้ลูกเรียนกวดวิชามากมายในวัยประถมต้น เพื่อหวังให้เขาสอบได้อันดับดี ๆ ในชั้นเรียน

เด็กบางคนถูกคาดหวังให้ทำอะไรที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น ให้ลูกเลือกเรียนสายวิทย์ ทั้งๆ ที่ลูกไม่ชอบการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือให้ลูกไปประกวดความสามารถในเวทีต่างๆ ทั้งๆ ที่ลูกไม่ชอบการแข่งขัน

และเด็กบางคนถูกคาดหวังให้เป็นในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็น เช่น พ่อแม่บางคนอาจจะรู้ว่า ลูกเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ก็พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับในตัวเขา และบอกให้ลูกแสดงออกในแบบที่เราต้องการ หรือพ่อแม่บางคนหวังให้ลูกทำอาชีพเดียวกับตนเอง แต่ลูกไม่ได้อยากทำ ก็พยายามขอร้องแกมบังคับให้ลูกทำ

การใช้ชีวิตเป็นความภาคภูมิใจของคนอื่นนั้นเหนื่อยนัก ยิ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนที่เรารักนั้นเหนื่อยยิ่งกว่า

เพราะคงไม่มีลูกคนไหนที่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวังและเลิกรักเขา สำหรับลูกมันเจ็บปวดมากที่เขาต้องเลือกระหว่าง ‘ความฝัน ความเชื่อ และตัวตนที่เขาเป็น’ กับ ‘พ่อแม่ที่เขารัก’

ทุกความคาดหวังที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ลูกเป็น หากลูกฝืนตัวเองเพื่อทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ 

ในกรณีที่ทำได้สำเร็จดังที่พ่อแม่หวัง แต่สุดท้ายใจของคนเราไม่สามารถบังคับกันได้ เด็กบางคนต้องเผชิญกับความสับสนและความขัดแย้งในตัวเอง 

ในกรณีที่ทำได้ไม่สำเร็จดังที่พ่อแม่หวัง ตัวเขาเองก็คงผิดหวังในตัวเองมากพอแล้ว อาจจะต้องรับรู้ว่า พ่อแม่ผิดหวังในตัวเขาอีก

ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้น สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวชได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และอื่นๆ

ความเชื่อมั่นที่พ่อแม่มีให้กับลูก คือ พรที่วิเศษที่สุดที่ลูกทุกคนต้องการ

ซึ่ง ‘ความเชื่อมั่น’ ไม่เท่ากับ ‘ความคาดหวัง’ เพราะความเชื่อมั่น คือ การยอมรับในตัวลูกในแบบที่เขาเป็น และเชื่อว่าเขาสามารถทำในสิ่งที่เขาตั้งใจได้ ในขณะที่ความคาดหวัง คือ ความต้องการของเราที่ถูกนำไปใส่ในตัวของลูก บางครั้งความคาดหวังมีปริมาณมากกว่าขนาดของตัวลูกที่จะรองรับได้เสียอีก

นอกจากนี้ ความรักและความหวังดีของพ่อแม่ ที่ปราศจากการยอมรับและรับฟังเสียงของลูก อาจจะเป็นความคาดหวังที่กลายเป็นความกดดันมหาศาล

ปัจจัยที่ 4 การที่ไม่สามารถทำผิดพลาดได้เลย

ในบางครอบครัว เวลาที่ใครทำผิดพลาด แม้จะเป็นความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ถือเป็นเรื่องใหญ่โต และเมื่อทำผิดมักจะถูกตำหนิอย่างมาก และบางครั้งอาจจะถูกทำให้อับอายต่อหน้าคนในบ้านอีกด้วย 

เด็กๆ ที่เติบโตมากับบ้านที่การทำผิดพลาดเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น  พวกเขาอาจจะกลัวที่จะทำสิ่งต่างๆ เพราะกลัวว่าตัวเองจะทำพลาด และกลัวว่าสิ่งที่ทำจะดีไม่พอ เมื่อขาดประสบการณ์ในการลงมือ ก็ยิ่งบั่นทอนความมั่นใจภายในตนเอง

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ และเมื่อลูกทำผิดพลาดก็ควรให้การชี้แนะในทางที่ถูก ไม่ใช่ตำหนิและทำให้เขาอับอายหรือหวาดหลัว เพราะสุดท้าย เด็กที่กลัวทำผิดพลาด กลัวว่าตัวเองไม่ดีพอ เขาอาจจะกลัวการยืนหยัดเพื่อตัวเขาเอง

ปัจจัยที่ 5 การไม่ได้รับความเชื่อมั่นหรือความไว้วางใจ

ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจจากพ่อแม่ที่มีต่อลูกมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด วัยรุ่นหลายคนที่สามารถยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ตัวเองรักได้จนสุดทาง มักมีเบื้องหลังเป็นพ่อแม่หรือใครสักคนที่เชื่อมั่นในตัวเขา ยกตัวอย่าง

วัยรุ่นคนหนึ่งตั้งใจจะไปเรียนด้านการทำอาหารเพื่อเป็นเชฟตามฝันของเขา

ป้าข้างบ้าน “ทำไมลูกไปเรียนสายอาชีพล่ะ สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติดเหรอ”

คุณแม่ของวัยรุ่น “ไม่หรอก ก็แค่ไม่อยากสอบน่ะ” 

ป้าข้างบ้าน “ไม่ใช่ไม่อยากสอบหรอกทั้ง คงกลัวสอบไม่ติดมากกว่า”

คุณแม่ “คงงั้นแหละ”

วัยรุ่นเมื่อได้ยินป้าข้างบ้านกับแม่ของเขาคุยกัน ก็แอบรู้สึกน้อยใจและคิดว่า แม่ไม่เชื่อมั่นในตัวเขาหรือสิ่งที่เขาทำ แม่อาจจะอายที่เขาเรียนสายวิชาชีพ เลยไม่กล้าพูดออกไป ในความเป็นจริง เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับวัยรุ่นแล้ว หากพ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเขา พ่อแม่ควรสนับสนุนในตัวเขาด้วย

ถ้าคุณแม่ของวัยรุ่นคนนี้พูดกลับไปว่า “ลูกอยากเรียนทำอาหาร เพราะเขาอยากเป็นเชฟ” ลูกวัยรุ่นคงจะดีใจไม่น้อย เพราะสำหรับลูกแล้ว แม้คนอื่นไม่เห็นคุณค่าและไม่เชื่อมั่นในตัวเขา ยังไม่เจ็บปวดเท่าพ่อแม่มองไม่เห็นและไม่ยืนหยัดที่จะเคียงข้างเขา

สำหรับเด็กบางคนที่ไม่มีทั้งพ่อหรือแม่ ขอเพียงใครสักคนที่พร้อมจะรักและเชื่อมั่นในตัวเขา เขาจะสามารถยืนหยัดต่อไปได้ในโลกใบนี้

สิ่งที่วัยรุ่นต้องการจากพ่อแม่มากที่สุด คือ บ้านที่ปลอดภัยทางกายใจ

บ้านในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึง ‘สถานที่’ หากแต่คือ ‘บุคคลที่เขาไว้วางใจได้’ พ่อแม่ที่ลูกไว้วางใจได้ คือ บ้านที่พักใจสำหรับลูก

แต่บ้านสำหรับเด็กบางคน อาจจะไม่ได้มีทั้งพ่อและแม่ แต่มีเพียงผู้ใหญ่เพียงคนเดียวก็สามารถเติมเต็มใจให้กับเขาได้เช่นกัน หากผู้ใหญ่คนนั้นสามารถเติมเต็มความรักที่ปราศจากเงื่อนไข และปัจจัยทั้งสี่ให้กับเด็กน้อยได้

สำหรับเด็กเล็กๆ อาจจะต้องการบ้านที่เขาสามารถดูแลและตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐาน กินอิ่ม นอนหลับ สอนสิ่งต่างๆ ให้กับเขาได้ แต่เมื่อเด็กเติบโตเป็นวัยรุ่น พวกเขาต้องการบ้านที่เขาสามารถวางหัวใจที่เหนื่อยล้าลงเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ และกลับไปเผชิญโลกภายนอกต่อไป

‘พ่อแม่’ และ ‘ผู้ใหญ่’ สามารถเป็น ‘บ้านที่ปลอดภัย’ ให้กับเด็กๆ ได้ โดยเริ่มจากสิ่งหล่านี้

  1. ให้การรับฟัง
  2. ให้การยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น
  3. ให้ความรักและการสนับสนุนทางใจ
  4. ให้อภัยและการสอน
  5. ให้ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ

ในวันที่โลกดูสิ้นหวัง หากพ่อแม่เชื่อมั่นในตัวลูก เขาจะกลับมามีความหวังในตัวเองอีกครั้งหนึ่ง

แนวทางในการรับมือกับ ‘ความรู้สึกไม่ดีพอ’

ข้อที่ 1 เรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น และปรับเปลี่ยนตัวเองทีละน้อย 

เริ่มจากมองให้เห็นตัวเองตามความเป็นจริง และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นทีละเล็กทีละน้อย 

ถ้าเราไม่สามารถมองเห็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจและขอให้เขาช่วยสะท้อนให้เราฟังว่า เขามองเห็นอะไรในตัวเราบ้าง ทั้งด้านดี และด้านที่ยังต้องพัฒนา เราจะรับรู้ตัวเองตามความเป็นจริงมากขึ้น 

ข้อที่ 2 เรียนรู้ที่ทำในสิ่งที่เราอยากทำ และลงมือทำอย่างจริงจัง

แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งเล็กๆ มากมายที่เราทำได้ สามารถกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตได้เสมอ ความสำเร็จเล็กๆ เป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้เรามีแรงเดินหน้าเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เสมอ และสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรา ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้อื่น 

ข้อที่ 3 มองเห็นสิ่งที่เราทำได้ดี และข้อดีในตัวเอง

แม้สิ่งที่เราทำได้ จะมีคนอื่นที่ทำได้ดีกว่าก็ไม่เป็นไร เพราะขอแค่เรารู้ว่าตนเองทำได้ดีก็เพียงพอแล้ว เมื่อเรารับรู้ว่า เราสามารถทำอะไรได้ดีบ้าง เราจะรับรู้ความสามารถและคุณค่าภายในตัวเอง

ข้อที่ 4 ใจดีกับตัวเอง

ในวันที่ทำได้ไม่ดีตามที่คาดไว้ ให้เราใจดีกับตัวเองบ้าง บอกกับตัวเองเสมอว่า “วันนี้ฉันทำดีที่สุดแล้ว และฉันภูมิใจที่ฉันได้ลงมือทำ” 

และในวันที่เราทำผิดพลาด อย่าลืมที่จะให้อภัยตัวเองด้วย เพราะไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด และการทำผิดพลาดเป็นหลักฐานของการลงมือทำ ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องซ้ำเติมตัวเองด้วยการรู้สึกผิด แต่ให้เรานำประสบการณ์ที่ผิดพลาดในวันนี้ไปพัฒนาตัวเองต่อไป

ข้อที่ 5 ขอความช่วยเหลือ

ถ้าหากเรารู้สึกว่าใจเราไม่ไหว คนที่เราไว้ใจ หรือคนกลางอย่างเช่น จิตแพทย์ และนักจิตวิทยาสามารถช่วยเคียงข้างเราได้

สุดท้าย ในโลกใบนี้ คงไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่เราทุกคนล้วนมีคุณค่า และมีข้อดีในแบบของเราเอง เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ดีพอ แต่เราสามารถเป็นตัวเองในแบบฉบับที่ดีที่สุดได้

Tags:

ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)จิตวิทยาวัยรุ่นปัญหาการสื่อสาร

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • How to get along with teenager
    ในวันที่วัยรุ่นรู้สึกว่า “ตัวฉันไม่ดีพอ” การรับฟังที่ดีจากพ่อแม่ คือ สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ PHAR

  • Early childhood
    การล็อกดาวน์และเว้นระยะห่างส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทักษะการสื่อสารในเด็กเล็ก

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    โรคระบาด ความเครียด การฆ่าตัวตาย และสถานการณ์ที่วัยรุ่นทั่วโลกกำลังแบกรับ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Social IssuesVoice of New Gen
    ‘แบ่งปันความอิ่ม’ คูปองอาหารที่ให้คนมาจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อเพื่อนที่ลำบากในช่วงโควิด

    เรื่อง นฤมล ทิพย์รักษ์

  • Learning TheorySocial Issues
    โอกาสใน COVID-19: เปลี่ยนจากเรียนแบบเหมาโหล สู่บทเรียนส่วนตัวแบบเลือกได้

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel