- สำหรับเด็กการเรียนดนตรีเป็นสิ่งที่ดี แต่ความแตกต่างระหว่างดนตรีศึกษากับดนตรีบำบัดคือ ดนตรีศึกษาเป็นการสอนเพื่อหวังผลลัพธ์ทางดนตรี ส่วนดนตรีบำบัดต้องการประโยชน์ในด้านอื่น ที่เด็กอาจต้องการการช่วยเหลือ บำบัด หรือฟื้นฟู
- คุยเรื่องดนตรีในหลากหลายมิติกับ อาจารย์ปุ๊ – กฤษดา หุ่นเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เคยเป็นครูดนตรีที่สอนทั้งเด็กทั่วไปและเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียน
- ธรรมชาติของดนตรีเป็นการสื่อสารและการแสดงออกของอารมณ์ เด็กจะเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์ผ่านความเข้าใจในกระบวนการเรียนดนตรีได้ไม่ยาก ถ้าวางแผนการสอนสิ่งนี้ควบคู่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน เด็กย่อมได้ประโยชน์มาก
“ยังจำได้ไหม ตอนที่เธอท้อ ตอนที่เธอล้า หัวใจแทบหมดแรง
คำพูดของฉัน บอกเธอวันนั้น ให้เธอโปรดเข้มแข็ง
เมื่อเธอทุกข์ใจ ให้ลองเอาเท้าจุ่มน้ำ
ปล่อยความทุกข์ลอยไปกับทะเลและฟ้าสีคราม…”
(เพลง ‘จี๊ป Jeep’ – วัชราวลี)
ในวันที่รู้สึกหมดแรง เชื่อว่าหลายคนคงมีเพลงที่ย้อนกลับไปฟังแล้วช่วยเยียวยาความรู้สึกได้ อย่างเช่นเพลงนี้ที่เป็นเหมือนเพื่อนเก่าที่มาคอยตบหลังตบไหล่ให้กำลังใจเราได้เสมอ
เช่นเดียวกับประโยคสุดคลาสสิกของ Dick Clark ที่ว่า ‘Music is the soundtrack of your life’ ดนตรีเป็นเสียงที่อยู่ในชีวิตเราตั้งแต่เด็กจนโต เป็นเสียงที่บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตใครบางคนแม้ในเวลาที่เขาไม่อาจพูดมันออกมาได้
“ดนตรีคือวัฒนธรรม และวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากคน คนเราเข้าใจบางอย่าง และอธิบายบางอย่างนั้นโดยใช้ดนตรี ดนตรีจึงเป็น expression (การแสดงออก) ที่มนุษย์ใช้มาตลอด” อาจารย์ปุ๊ – กฤษดา หุ่นเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนมองดนตรีในมุมที่มากกว่าความบันเทิง
ด้วยความที่เคยเป็นครูดนตรีที่สอนทั้งเด็กทั่วไปและเด็กที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียน ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ด้านดนตรีบำบัด (Music Therapy) พ่วงด้วยความรู้เฉพาะทางด้านจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy: CBT) ทำให้อาจารย์ปุ๊ได้สัมผัสกับผู้คนหลากหลาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนทั่วไปและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งดนตรีได้ถูกนำมาใช้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเพื่อผ่อนคลาย เยียวยาจิตใจ หรือเสริมสร้างความมั่นใจ รวมไปถึงการก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อค้นพบศักยภาพของตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และเด็กที่มีบาดแผลจากการเลี้ยงดูของครอบครัวด้วย
สำหรับเด็กไม่มีอะไรสำคัญเกินกว่าครอบครัว
หากไล่ดูเสียงสะท้อนของเด็กและวัยรุ่นในโซเชียลมีเดียต่างๆ ต้องยอมรับว่าความทุกข์หรือปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวนั้นติดเทรนด์อันดับต้นๆ แทบทุกแพลตฟอร์ม
อาจารย์ปุ๊ยืนยันจากประสบการณ์การทำงานทั้งในฐานะครูสอนดนตรีและนักจิตบำบัดว่า “สำหรับเด็ก…ไม่มีอะไรที่สำคัญเกินกว่าครอบครัว ไม่มีอะไรที่จะรุนแรงหรือมีความหมายกับเขามากเท่ากับครอบครัวอีกแล้ว”
“ไม่ว่าเขาจะได้รางวัลจากการแข่งขันหรือไม่ สอบได้คะแนนเท่าไหร่ ลึกๆ แล้วเด็กก็หวังอยากให้ครอบครัวได้รับรู้ ภูมิใจและเข้าใจเขา ครอบครัวจึงเป็นส่วนที่สำคัญมาก เป็นทั้งปัจจัยปกป้องหรืออาจเป็นบ่อเกิดที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตของเขาก็ได้”
อาจารย์ปุ๊มองว่าจุดเริ่มต้นของปัญหา ส่วนหนึ่งอาจมาจากมายาคติของสังคมที่เห็นว่า ‘เด็กคือผ้าขาว’ ที่อาจทำให้พ่อแม่มองไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายของเด็ก ความหวังดีและวิธีการเลี้ยงดูแบบเดิมๆ ไม่ได้เกิดผลเชิงบวกกับเด็กทุกคน ซึ่ง ‘ผ้าขาว’ เป็นความจริงบางส่วน เพราะจริง ๆ แล้วเด็กก็มีสีสันของตัวเขาเอง
“เด็กนั้นไม่ใช่ผ้าขาว เด็กมีผ้าสีของตัวเองติดตัวมา เด็กบางคนเลี้ยงยากตั้งแต่เกิด ร้องไห้ง่าย หลับไม่เป็นเวลา หงุดหงิดง่าย กับเด็กบางคนก็เลี้ยงง่าย หลับง่าย อารมณ์ดี ซึ่งเกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางชีวภาพที่แตกต่างกัน นำไปสู่ความเข้มแข็งทางจิตใจที่ไม่เหมือนกัน พ่อแม่อาจเลี้ยงลูกบางคนได้ดี แต่กับลูกบางคนกลับไม่รู้วิธีจัดการ บางครั้งใช้การควบคุม การทำโทษกับลูกคนพี่ได้ผลและนำมาใช้กับคนเล็กเพราะหวังอยากให้ได้ดีเช่นกัน แต่พอถึงจุดหนึ่งกลับกลายเป็นเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา”
เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็มีความเป็นไปได้สูงที่ความขัดแย้งในครอบครัวจะกลายเป็นความทุกข์ที่เด็กต้องแบกรับ ซึ่งหากพ่อแม่สังเกตเห็นความผิดปกติ และยอมรับว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งของปัญหา เคยผิดพลาดและพร้อมแก้ไข ก็จะพาเขาก้าวต่อไปสู่อนาคตได้อย่างแข็งแรงแม้จะมีบาดแผลเล็กๆ ในใจบ้างก็ตาม
“หลายครอบครัวที่ครั้งหนึ่งพ่อแม่รู้แล้วว่าปัญหาบางส่วนมาจากตนเอง แล้วยอมรับ เปลี่ยนแปลง จัดการใหม่ ปัญหาต่างๆ ที่เคยมีก็ย่อมดีขึ้นได้ ไม่ต้องขอโทษลูกก็ได้ เปลี่ยนให้ลูกเห็น ไม่ซ้ำเติมลูก ให้กำลังใจ หากพูดให้กำลังใจลูกไม่เป็น ก็แสดงออกทำให้เขาเห็นความรักจากเรา นั่งรับฟัง กอดลูกบ้าง…ถ้าทำได้ พูดไม่เป็นไม่เป็นไร
ลึกๆ แล้ว เด็กอยากทำทุกสิ่งที่ดีให้พ่อแม่ได้รับรู้ อยากเป็นที่รักของครอบครัวอยู่แล้ว ซึ่งพ่อแม่ควรทำความเข้าใจเรื่องนี้ เป็นพื้นฐานที่สำคัญ”
การยอมรับและเข้าใจจึงเป็นประตูบานแรกที่นำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา แต่กระบวนการเยียวยาหลังจากนี้อาจต้องใช้จิตแพทย์ นักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดให้คำแนะนำ โดยดนตรีบำบัดถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ได้ผลดีจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านมา
“ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเร็วแล้วรีบมาขอรับการปรึกษา แพทย์ก็อาจจะช่วยพ่อแม่ค้นพบได้เร็ว ว่าน้องมีสภาวะอย่างไร น้องมีปัญหาในเรื่องอะไร และจำเป็นที่จะต้องให้การช่วยเหลือในเรื่องอะไร ในปัจจุบันก็พบว่าปัญหาสุขภาพจิตเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่เด็ก
ผมว่าปัจจุบันสังคมตื่นตัวเรื่องนี้มาก การที่เด็กหนึ่งคนมาปรึกษา มาขอคุย บอกว่าหนูเครียดไม่ไหวแล้ว อยากพบจิตแพทย์ จัดเป็นปรากฏการณ์นะ ในยุคก่อนอาจไม่ค่อยมีอย่างนี้ แต่ในยุคนี้มี และอาจจะเป็นสัญญาณที่ Healthy ก็ได้ว่าเด็กตื่นตัว เริ่มเข้าใจตัวเอง หาวิธีการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต นั่นแปลว่าเด็กยอมรับ รับรู้และอยากจะจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองใช่มั้ยครับ”
สำหรับปัญหาที่เด็กๆ มาปรึกษา อาจารย์ปุ๊บอกว่านอกจากเรื่องครอบครัว ก็มีปัญหาสังคมในโรงเรียน ปัญหาการปรับตัวกับเพื่อน ปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง (Bully) ต่างๆ ซึ่งหลายกรณีมีความซับซ้อน
“เราต้องพยายามมองว่าช่วยอะไรได้บ้าง ในแต่ละด้านของเด็ก อะไรที่จะทำให้เขากลับมาเข้าใจปัญหาที่เกิด เข้าใจตนเองและบริบท รวมไปถึงกลับมาฟังก์ชัน (function) ที่การเรียนหรืออนาคตของตนเอง”
ความรักในดนตรีช่วยให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง
นอกจากให้คำปรึกษาพูดคุยในฐานะนักจิตบำบัดแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของอาจารย์ปุ๊คือการสอนดนตรี รวมไปถึงการทำงานร่วมกับทีมนักดนตรีบำบัดของสาขาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดนตรีจึงเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นเด็กทั่วไปหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
“สำหรับเด็กไม่ว่ากลุ่มไหน การเรียนดนตรีเป็นสิ่งที่ดีโดยตัวเองอยู่แล้ว แต่ความแตกต่างระหว่างดนตรีศึกษากับดนตรีบำบัดก็คือ ดนตรีศึกษาจะเป็นการสอนเพื่อหวังผลลัพธ์ทางดนตรี ร้อง เล่น เต้น ฟัง สนุกกับดนตรี ส่วนดนตรีบำบัดไม่ได้มุ่งหวังเพื่อให้ผู้รับการบำบัดเล่นดนตรีได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่เด็กอาจต้องการการช่วยเหลือ บำบัด หรือฟื้นฟู เช่น ด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม การสื่อสาร เป็นต้น”
ยกตัวอย่าง การสอนดนตรีสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ อาจารย์ปุ๊มองว่าควรจะสอนให้เขารักและซาบซึ้ง (Appreciate) กับดนตรีได้ เล่นดนตรีเป็นกิจกรรมยามว่าง มีดนตรีเป็นส่วนสำคัญของชีวิตได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง
“โดยเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษทางด้านสมองหรือสติปัญญาที่อาจมีข้อจำกัดอย่างมากที่ทำให้เรียนหนังสือหรือใช้ชีวิตในสังคมได้ยาก หาโอกาสที่จะประสบความสำเร็จกับเรื่องต่างๆ ได้ยาก พอเด็กเล่นดนตรี ตีกลองหรือเล่นเปียโนได้บ้าง มันเกิดความหมายกับเขามาก เขาสามารถใช้ดนตรีในการดำเนินชีวิตแต่ละวันได้ได้อย่างมีคุณค่ามีความหมาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นวัตถุประสงค์ด้านดนตรีศึกษาที่ไม่ได้มุ่งบำบัดด้านใด ด้านหนึ่ง”
ในส่วนของพ่อแม่เองก็คงต้องพิจารณาให้เหมาะสมว่าจะสนับสนุนให้ลูกเรียนดนตรีหรือเข้าสู่กระบวนการดนตรีบำบัด ถ้าคาดหวังว่าลูกมาเรียนแล้วต้องเล่นดนตรีได้ก็อาจเป็นการเรียนดนตรี แต่ถ้าต้องการรักษาหรือฟื้นฟูก็ควรจะมาฝึกดนตรีบำบัด จะได้ไม่เสียเวลา
“ครูสอนดนตรีเด็กพิเศษอาจไม่ใช่นักดนตรีบำบัด แล้วบางครั้งนักดนตรีบำบัดก็อาจจะดูเหมือนสอนดนตรี แต่จริงๆ เขากำลังทำบำบัดอยู่ ถ้าเข้าใจตรงนี้ จะทำให้ทั้งสองวิชาชีพทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ในมุมของครูสอนดนตรีเด็กพิเศษ อาจารย์ปุ๊ชวนทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า แม้แต่เด็กที่มีความต้องการพิเศษก็เหมือนผ้าที่มีหลายเฉดสีเฉพาะตัวเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนควบคุมนิ้วได้ยากซึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดของความพิการต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ก็อาจไม่เหมาะกับเครื่องดนตรีที่มีความละเอียดอ่อนสูง เช่น ไวโอลิน แต่อาจจะเหมาะกับเครื่องดนตรีประเภทอื่นๆ ที่เหมาะสมกับข้อจำกัด หรืออาจเป็นการร้องเพลงก็ได้ รวมไปถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษบางคนก็อาจไม่เหมาะเครื่องดนตรีที่มีเสียงสูง แหลม ซึ่งเป็นเรื่องระบบประสาทของเด็ก ผู้สอนต้องประเมินให้ได้ว่าผู้เรียนมีความต้องการพิเศษประเภทไหน มีข้อจำกัดและความต้องการอะไรเป็นพิเศษ เพื่อเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม
“ประโยชน์ของการเรียนดนตรีสำหรับเด็กพิเศษมีอีกเยอะมาก นอกจากทักษะด้านดนตรี อาจมีผลพลอยได้อย่างอื่น เช่น ทักษะด้านภาษา เด็กสามารถเรียนรู้คำศัพท์ในเพลงได้ ทักษะสังคมที่เขาจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อน รวมถึงได้มีโอกาสแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งดนตรีเป็นกิจกรรมไม่กี่อย่างที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษสามารถทำได้พร้อมกับเพื่อนๆ แม้ผู้บรรเลงจะมีระดับความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ในความยืดหยุ่นของดนตรีก็ทำให้สามารถบรรเลงบทเพลงเดียวกันได้ ขึ้นและจบพร้อมกันได้ เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคมได้ (Sense of Belonging) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สำคัญมากในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ”
ถึงที่สุดแล้วเพื่อไม่ให้การเรียนดนตรีที่ควรเป็นการเติมความสุขความภาคภูมิใจให้กับเด็กแปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์ความกดดัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับฟังเสียงจากความต้องการของเด็กเป็นหลัก โดยไม่เอาความคาดหวังของตัวเองเป็นที่ตั้ง
“อยากให้พ่อแม่หยุดคิดสักครู่นึง แล้วถามตัวเองและเด็กก่อนว่าจะเรียนดนตรีอะไร เรียนที่ไหน แล้วเป้าหมายของเขาคืออะไร ไม่ใช่ทุกคนจะต้องไปเป็นแชมเปี้ยน ต้องไปเล่นระดับโลก เป้าหมายคือความรักในดนตรีก็เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่แล้ว ดนตรีควรเป็นสมบัติของคนทุกคน ทุกวันนี้มีโรงเรียนสอนดนตรีที่หลากหลาย พ่อแม่สามารถเลือกให้ตรงกับความต้องการได้ไม่ยาก หรือแม้แต่ซื้อเครื่องดนตรีให้ลูกมาลองหัดเล่น เลือกเรียนบทเพลงที่ไม่ยากมากตามนักดนตรีในยูทูบ คุณพ่อคุณแม่หัดเรียนพร้อมกับลูกก็ได้ ขอแค่ให้เวลา ให้ความสนใจ ทำได้แน่นอนครับ”
หลักสูตรดนตรีสำหรับเด็กเล็ก เรียนรู้อารมณ์สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ
แม้ทุกวันนี้การเข้าถึงดนตรีจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องยอมรับว่าการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าพัฒนาทักษะชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้และวิธีการที่เหมาะสม
“สาขาดนตรีบำบัดเรามีแพลนขอทุนวิจัย เพื่อพัฒนาหลักสูตรดนตรีสำหรับเด็กเล็กที่จะสอดแทรกการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ และความสัมพันธ์ของความคิดที่ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์และพฤติกรรมที่แสดงออกมา ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavior Therapy: CBT)
ที่ทำในวิชาดนตรีก็เพราะว่าธรรมชาติของดนตรีนั้นเป็นการเรียนรู้รูปแบบของอารมณ์ การสื่อสารและการแสดงออกของอารมณ์ เด็กจะเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของอารมณ์ผ่านความเข้าใจในกระบวนการเรียนดนตรีได้ไม่ยาก ถ้าเราวางแผนการสอนสิ่งนี้ควบคู่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน เด็กย่อมได้ประโยชน์มาก
เราเรียกความรู้ความเข้าใจทางจิตใจนี้ว่าเป็น Psychoeducation (สุขภาพจิตศึกษา) สอนให้เด็กรู้ว่าอารมณ์ไม่ใช่ผู้ร้าย ไม่ใช่ตัวการทำลายชีวิตของมนุษย์ ผมคิดว่าสิ่งนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดของสังคมมาช้านาน
พ่อแม่บางคนปกป้องลูกจากอารมณ์บางอย่าง ที่เราไปติดชื่อมันว่าเป็นอารมณ์เชิงลบ เช่น อารมณ์โกรธ ‘หนูห้ามโกรธเพื่อนแบบนั้นสิ’ หรืออารมณ์เศร้า ‘เด็กผู้ชายต้องไม่ร้องไห้’ ซึ่งในความเป็นจริง เด็กต้องการความเข้าใจทางอารมณ์ตามพัฒนาการที่เหมาะสม
การเผชิญกับอารมณ์แต่ละอย่างล้วนเป็นการเรียนรู้ทั้งสิ้น การโกรธก็มีประโยชน์ของมัน เด็กกำลังปกป้องตัวเขาเอง กำลังเข้าใจว่าฉันต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อรักษาสิทธิของฉัน เด็กจึงโกรธอย่างเหมาะสมได้ เด็กเศร้าได้ด้วย เศร้าเพื่อรู้ว่าตัวเรากำลังอยู่ในสภาวะแบบนี้ เรากำลังต้องการให้คนอื่นมาช่วยเหลือและได้รู้ด้วยว่าเพื่อนคนไหนที่เข้ามาช่วยมาดูแลเรา ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้และทำความเข้าใจ ‘ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ (Empathy) ได้ต่อไป การสอนอารมณ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
และไม่ใช่ว่าเราต้องมีแต่อารมณ์เชิงบวกในทุกๆ วัน ถ้าเราตกงาน เราทุกข์ใจ เรากังวล เราไม่มีความสุขก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือแม้แต่เศร้าบ้าง เหงาบ้าง มนุษย์เราก็คงต้องมี ไม่ใช่ต้องอยู่ในสภาวะความสุขเพียงอย่างเดียว สุข-ทุกข์เป็นของคู่กันแม้จะอยู่กันคนละด้าน เราสอนเด็กๆ ได้ว่าอารมณ์เชิงลบคืออะไร ชื่ออารมณ์แบบไหน และไม่ได้แปลว่าเขาไม่ดีนะ หนูอยู่กับเขาได้ มนุษย์อดทนอยู่กับอารมณ์แบบนี้ได้ และบางครั้งมันก็จำเป็นที่จะต้องเกิด หมาที่เรารักมากตายในเวลาหนึ่ง เราจะรู้สึกยังไง เราก็ควรต้องเศร้าอยู่แล้ว หนูเสียใจได้ ครูหรือพ่อแม่ก็เคยเศร้า เราสอนให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้”
สำหรับช่วงเวลาที่ดีในการสอนเรื่องเหล่านี้ก็คือ ระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา และควรเป็นวิชาที่เด็กทุกคนได้เรียนรู้
“เมื่อสอนให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตน เด็กจะเกิดความเข้าใจตนเองต่อไปในอนาคตได้ อย่างน้อยที่สุดก็รู้ว่าฉันกำลังอยู่ในภาวะอารมณ์อะไรซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจและยอมรับได้ (Make sense) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการป้องกันเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมาได้
ถ้าถามว่าดนตรีจะช่วยอะไรได้บ้าง ผมคิดว่าด้วยหลักสูตรที่พูดถึงนี้หรือแค่การได้เรียนดนตรี เล่นดนตรี มีใจรักดนตรี ก็ช่วยได้ประมาณหนึ่งแล้ว แต่ถ้าเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระดับที่รุนแรงที่อาจต้องการการบำบัดหรือฟื้นฟู ก็คงต้องออกแรงกันมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิชาชีพอื่นๆ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักดนตรีบำบัด ที่เข้ามาช่วยร่วมกัน รวมไปถึงครอบครัวและครูที่ควรเข้าใจกระบวนการช่วยเหลือนี้ด้วย”
Music for Self Care: เราต่างมีเพลย์ลิสต์เป็นของตัวเอง
ไม่เฉพาะกับเด็กๆ เท่านั้นที่ดนตรีหรือเพลงเข้าไปทำงานกับความรู้สึกนึกคิด ในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่เอง เราต่างก็มีเพลงที่ได้ฟังแล้วสุข เศร้า เหงา ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งอาจารย์ปุ๊บอกว่าเพลงไม่ได้ ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ ในตัวของมันเอง แต่การนำไปใช้ต่างหากที่ส่งผลกับจิตใจคน
“ผมมีเคสที่สามารถนำมาเล่าได้ เขามีปัญหาครอบครัวในตอนเด็ก แล้วต้องแยกมาอยู่กับญาติ เขาสนิทกับคุณน้ามาก คิดว่าความรักของคุณน้าจะอยู่กับเขาตลอดไป แล้ววันหนึ่งคุณน้าก็ไม่อยู่ ทิ้งเขาไป แต่เขาไม่เข้าใจหรอกกว่า เงื่อนไขชีวิตตอนนั้น ผู้ใหญ่เกิดอะไรขึ้น เขาก็แค่เด็กอนุบาลเอง ซึ่งในวันที่น้าจากไป ตอนที่เขานั่งร้องไห้รอน้ากลับมาอยู่หน้าบ้าน เขาได้ยินเพลงหนึ่งดังมาจากร้านขายเทปคาสเซ็ทที่อยู่ไม่ไกลว่า ‘คิดถึงเธอแทบใจจะขาด อยากให้เธอกลับมาสักที’ ด้วยความหมายของเพลงที่รุนแรงอยู่แล้ว บวกกับสถานการณ์ที่รอน้ากลับมา รอจนถึงค่ำเลย จนสุดท้ายญาติพากลับเข้าบ้าน แล้วบอกว่าน้าไม่กลับมาแล้ว เขาไม่มาหาหนูหรอก ในความรู้สึกของใจที่แตกสลาย เขาฝังใจ ความรู้สึกนี้มันรุนแรง พอโตขึ้นก็พัฒนากลายมาเป็นวิธีการมองโลกใบนี้และมองตนเอง แล้วกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตตามมา
เขาบอกว่าเวลาที่ได้ยินเพลงนี้ มันรุนแรงเกินกว่าที่ใครจะเข้าใจ เพราะบวกกับอารมณ์ในตอนนั้น บวกความรู้สึกว่าฉันไม่เป็นที่รัก ไม่มีคุณค่า เพลงนี้จึงจัดว่าเป็นเพลงที่กระตุ้นอารมณ์เชิงลบและความทรงจำที่รุนแรงสำหรับเขา ควรระมัดระวัง”
เพราะฉะนั้นบางครั้งเพลงจึงเป็นเหมือนดาบสองคม ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของแต่ละคนและการนำไปใช้ อย่างเพลงเศร้า สำหรับบางคนหากฟังตอนที่เศร้าอาจเหมือนเป็นการซ้ำเติม แต่กับอีกหลายคนเพลงเศร้าช่วยทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้
“เพราะเพลงเศร้าช่วยให้คนเศร้าเข้าใจได้ว่า ยังมีคนเห็นด้วยกับฉัน ฉันโดนแทงข้างหลังแล้วทะลุถึงหัวใจ ความรู้สึกเจ็บแบบนี้ หรือ โอ๊ย…เจ็บไปทั้งหัวใจทำไมยังทน โอ้..ใช่เลย มันตอบครับว่ามีใครสักคนที่เข้าใจฉัน เวลาที่เรารู้ว่ามีคนเข้าใจเรามันดีมากนะครับ”
แต่อีกด้านหนึ่งต่อให้เป็นเพลงที่มีความหมายเดียวกัน ถ้าวิธีการใช้เพลงมันต่างออกไป เช่น ฟังอยู่ในห้องคนเดียว ฟังแล้วนั่งคิดวนเวียนทั้งวัน ‘ฉันเหมือนคนจะเป็นจะตาย’ มันก็อาจนำพาไปสู่เรื่องที่แย่กว่าเดิมได้
“พอเราวนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่ได้พาตัวเองออกไปพบโอกาสที่จะเจอสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขข้างนอก ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้ทำงาน มันก็ไม่มีประสบการณ์ทั้งความสุขสนุกสนานหรือความสุขจากความสำเร็จ ถ้าเราอยู่แต่ในห้อง อย่างนั้นดนตรีก็อาจไม่เกิดประโยชน์”
ดังนั้น การใช้ดนตรีเพื่อดูแลตัวเอง (Music for Self Care) ในแต่ละคนจึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความชอบและวิธีใช้ แค่ต้องถามตัวเองว่าใช้แล้วเกิดผลอย่างไรกับตัวเรา ถ้าฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ ไม่สำคัญว่าต้องเป็นดนตรีประเภทไหน เราสามารถใช้เพลงนั้นกับตัวเองได้เลย
“ผมเองใช้ Preferred Music คือเพลงที่เราชอบ เพลงในช่วงเวลาต่างๆ ของเรา เพราะเรามีประสบการณ์ เรื่องราวอยู่ในนั้น ฟังแล้วก็โอเค …นี่คือเพลงของเรา ฟังแล้วผ่อนคลาย ซึ่งคนอื่นที่ไม่รู้จักก็อาจจะไม่รู้สึกผ่อนคลายเหมือนกันก็ได้”
หรือต่อให้เพลงที่ชอบเป็นเพลงแนวร็อก ฮิปฮอปหรือแร็ปก็มีประโยชน์ทั้งนั้น มีงานวิจัยด้านดนตรีบำบัดในต่างประเทศพบว่านักโทษที่ฝึกแต่งเพลงแร็ป ทำเพลงมาต่อว่าคนนั้นคนนี้ ก็ยังช่วยให้ระบายความโกรธออกมา อารมณ์ดีขึ้น ผ่อนคลายขึ้นได้
“ผมว่าเพลงที่เราชอบ ที่ไม่เคยทำร้ายจิตใจเรา ยังไงก็ใช้ได้และใช้ได้ดี เพลงคือสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตเราอยู่แล้ว นำมาใช้ได้ครับ”