Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: April 2022

เดเมียน : วัยรุ่น..ว้าวุ่นสร้างตัว (ตน)
Book
30 April 2022

เดเมียน : วัยรุ่น..ว้าวุ่นสร้างตัว (ตน)

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • หนังสือเรื่อง เดเมียน เป็นผลงานเขียนเล่มแรกของ เฮอร์มานน์ เฮสเส ซึ่งมีแก่นหลักคือ ‘การสร้างตัวตน’ และกลายมาเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตให้กับคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีและมีบทบาทสำคัญในการยกระดับวง BTS ให้กลายเป็นศิลปิน K-Pop ที่ดังที่สุดในโลก
  • ปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้า ทำให้เฮสเสค้นพบตัวตนใหม่ของเขา ภายใต้ชื่อ ‘เอมิล ซินแคลร์’ ซึ่งกลายเป็นนามปากกาแฝงของเฮสเส ที่ใช้ในการเขียนผลงาน ‘เดเมียน’
  • อาจกล่าวได้ว่า เดเมียน คือ ผลงานเล่มแรกที่เฮสเส พานักอ่านเดินทางเข้าสู่การสำรวจโลกภายในจิตใจ ที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน และเป็นงานชิ้นแรกที่เขาได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของคาร์ล ยุง โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก

หลายคนคงเคยได้ยิน หรือเห็นข้อความที่เขียนว่า ‘วัยรุ่นสร้างตัว’ กันมาบ้าง ที่เห็นได้บ่อยที่สุด น่าเป็นสติกเกอร์ติดตามท้ายรถกระบะ 

แม้ว่าความหมายของวลีนี้ จะสื่อถึงคนขยันทำงานเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่ด้วยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของวัยรุ่นที่ติดสติกเกอร์ข้อความนี้ ที่ดูจะตรงกันข้ามกับความหมายของวลีดังกล่าว ทำให้คำว่า ‘วัยรุ่นสร้างตัว’ ดูจะกลายเป็นคำที่มีความหมายติดลบอยู่ในที

แต่ที่ผมจะเขียนถึงในบทความชิ้นนี้ ไม่ใช่เรื่องการสร้างฐานะสร้างเนื้อสร้างตัวของคนหนุ่มสาว หากแต่เป็นการสร้างตัวตน หรืออีกนัยหนึ่ง การค้นหาตัวตนของเหล่าวัยรุ่น

วัยรุ่น คือ ช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านจากวัยเด็ก ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่วัยรุ่นจะว้าวุ่นกับการค้นหา หรือสร้างตัวตน เพราะนับตั้งแต่เกิดมาบนโลก ตัวตนของเด็ก ผูกติดกับพ่อแม่มาโดยตลอด หรืออาจกล่าวว่า ตัวตนของเด็กถูกสร้างขึ้นโดยพ่อแม่เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ความผูกติดกับพ่อแม่ลดน้อยถอยลง เขาหรือเธอเริ่มเสาะแสวงหาตัวตนในแบบที่ต้องการจะเป็นจริงๆ ไม่ใช่ตัวตนที่ถูกปั้นขึ้นโดยผู้ใหญ่

และการสร้างตัวตนนี่เอง ที่เป็นแก่นหลักของหนังสือเรื่อง เดเมียน ผลงานเขียนของ เฮอร์มานน์ เฮสเส ที่กลายเป็นคัมภีร์ชีวิตของคนหนุ่มสาวชาวเยอรมัน ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อเวลาผ่านพ้นไปหลายสิบปี หนังสือเล่มนี้ ก็ข้ามฟากมาเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตให้กับคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีในยุคปัจจุบัน และมีบทบาทสำคัญในการยกระดับวงบอยแบนด์วงหนึ่ง ให้กลายเป็นศิลปิน K-Pop ที่ดังที่สุดในโลก ภายใต้ชื่อ BTS

เดเมียน, เอมิล ซินแคลร์ และเฮอร์มานน์ เฮสเส

เฮอร์มานน์ เฮสเส เกิดในครอบครัวเคร่งศาสนาชาวเยอรมัน พ่อของเฮสเส ต้องการให้ลูกชายเป็นนักเทศน์ ทว่า เฮสเส ซึ่งค้นพบตัวตนตั้งแต่วัยเด็ก ประกาศไว้เมื่อตอนอายุ 12 ปี ว่า โตขึ้นเขาจะเป็นกวี มิเช่นนั้นแล้ว เขาไม่ขอเป็นอะไรเลย

เมื่อเติบใหญ่ เฮสเส ได้เป็นกวีและนักเขียนตามที่ใจใฝ่ฝัน หนังสือนิยายเล่มแรกของเขา คือ ‘ปีเตอร์ คาเมนซินด์’ ประสบความสำเร็จอย่างสูง และทำให้โลกนักอ่านได้รับรู้ว่า เฮสเส คือ กวีและนักเขียนแนวโรแมนติก ที่สำนวนภาษาสละสลวย ละเมียดละไม หากแต่เต็มไปด้วยคำถามถึงความหมายของชีวิต รวมถึงปัญหาระดับโครงสร้างของสังคม เช่น ระบบการศึกษา

ผลงานหลายเล่มที่ตามมา ทำให้เฮสเส กลายเป็นที่รักของนักอ่านชาวเยอรมัน แต่หลังจากที่เขาเขียนบทความต่อต้านสงคราม กวีหนุ่มผู้แสนเปราะบาง กลับกลายเป็นที่เกลียดชังของคนเยอรมันส่วนใหญ่ ที่ถูกปั่นหัวโดยกระแสชาตินิยมในขณะนั้น

ไม่เพียงแต่โลกภายนอกที่ทำร้าย โลกภายในก็เฆี่ยนโบยเฮสเสอย่างรุนแรงเช่นกัน ชีวิตสมรสกับภรรยาคนแรกของเขาล่มสลาย เฮสเสเป็นโรคซึมเศร้าและมีปัญหาทางจิตอย่างรุนแรง จนทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับ คาร์ล ยุง นักจิตวิทยาชาวสวิส ผู้ได้ชื่อว่า บิดาแห่งวงการจิตวิเคราะห์ ซึ่งทั้งสองต่างส่งอิทธิพลต่อความคิดและการสร้างผลงานของอีกฝ่ายอย่างลึกซึ้ง

ปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้า ทำให้เฮสเสค้นพบตัวตนใหม่ของเขา ตัวตนที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และหลากหลาย ภายใต้ชื่อ ‘เอมิล ซินแคลร์’

เอมิล ซินแคลร์ กลายเป็นนามปากกาแฝงของเฮสเส ที่ใช้ในการเขียนผลงาน ‘เดเมียน’ ซึ่งเป็นงานเขียนเล่มแรกของเขา ที่เปลี่ยนแนวจากวรรณกรรมที่งดงาม-ละเมียดละไม ไปสู่งานเขียนที่เจาะลึกถึงจิตใต้สำนึกและจิตไร้สำนึกในแต่ละตัวตน

อาจกล่าวได้ว่า เดเมียน คือ ผลงานเล่มแรกที่เฮสเส พานักอ่านเดินทางเข้าสู่การสำรวจโลกภายในจิตใจ ที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน โลกที่ความดี-ความเลว ความถูก-ความผิด ผู้ชาย-ผู้หญิง ความรัก-ความเกลียดชัง ล้วนถูกหลอมรวมจนไม่อาจแบ่งแยก

เรื่องราวในหนังสือเดเมียน เป็นเหมือนอัตชีวประวัติของเด็กหนุ่มชื่อ เอมิล ซินแคลร์ ผู้เติบโตมาในโลกแห่งแสงสว่าง โลกแห่งศีลธรรมอันดีงาม แม้ว่าบางครั้ง เจ้าตัวอาจพลัดหลงไปในโลกแห่งความมืด หรือโลกแห่งอาชญากรรมอันเลวร้ายบ้าง แต่เขาก็ยังหวนคืนสู่โลกแห่งความถูกต้องตามครรลองคลองธรรมทุกครั้ง

จนกระทั่ง ซินแคลร์ ได้รู้จักกับแม็กซ์ เดเมียน เด็กหนุ่มสันโดษ ผู้ดูราวกับไร้เพศ ไร้ศาสนา ไร้อายุขัย และมีภูมิหลังอันแสนลึกลับ เดเมียน ได้ชี้ทางให้ซินแคลร์ ค้นพบตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่เป็นอิสระพ้นไปจากกรอบแห่งกฎเกณฑ์ ตัวตนที่พร้อมเรียนรู้และยอมรับทั้งด้านสว่างและด้านมืดในตัวเอง

เพราะแท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความดี หรือความเลว แสงสว่าง หรือความมืด ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ ไม่มีใครที่จะมีแต่ความดีงามแสนผุดผ่อง และเช่นกัน ไม่มีใครที่จะมีแต่ความชั่วร้ายแสนโสมม

หรือแท้ที่จริงแล้ว ทวิภาวะ (duality) ล้วนเป็นสิ่งสมมติ หากไม่มีความดี สิ่งที่เรียกว่าความเลวก็คงไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่เรียกว่า ‘ความดี’ จะเกิดมีขึ้นได้ ก็ด้วยการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความชั่ว’

คงไม่ผิด ถ้าเราจะบอกว่า เรื่องราวในหนังสือเดเมียน ก็คือ ภาพสะท้อนชีวิตจริงของเฮสเส โดยที่เอมิล ซินแคลร์ และเดเมียน ล้วนแล้วแต่เป็นตัวตนของเฮสเส โดยที่คนแรก คือ ตัวตนในระดับจิตสำนึก (conscious) และคนหลัง คือ ตัวตนในระดับจิตไร้สำนึก (unconscious)

เห็นได้ชัดว่า เดเมียน เป็นงานชิ้นแรกที่เฮสเส ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของคาร์ล ยุง โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก ซึ่งกลายเป็นแก่นหลักในงานเขียนชิ้นต่อๆ มาของเฮสเส ไม่ว่าจะเป็น สิทธารถะ นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ และงานเขียนสำหรับคนบ้าอย่าง สเตปเปนวูล์ฟ

นอกเหนือจากอิทธิพลของคาร์ล ยุง แล้ว ผลงานชิ้นนี้ของเฮสเส น่าจะได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันออก โดยเฉพาะศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ซึ่งให้ความสำคัญกับการหลุดพ้นจากทวิภาวะ (แนวคิดที่เชื่อว่า ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ ล้วนเป็นคู่ตรงข้าม คือ ความดี-ความเลว บุญ-บาป ความบริสุทธิ์-ตัณหาราคะ)

“เรายกย่องพระเจ้าว่าเป็นบิดาของสรรพชีวิต แต่เราปฏิเสธที่จะพูดถึงชีวิตทางเพศ ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตทั้งมวล พยายามปิดปากเงียบ และเมื่อไหร่ที่เป็นไปได้ พวกเขาก็จะอธิบายว่านั่นเป็นบาป เป็นผลงานชั่วช้าของปีศาจ” เดเมียน กล่าว “เราควรยกย่องและให้เกียรติกับทุกสิ่ง ไม่ใช่ยกย่องเพียงโลกจอมปลอมเพียงครึ่งเดียว”

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นแก่นสำคัญในหนังสือเล่มนี้ และมีการกล่าวย้ำถึงหลายครั้ง ก็คือ การเกิดใหม่ หรือการสร้างตัวตนใหม่ ซึ่งจำเป็นจะต้องผ่านช่วงแห่งการทำลายเปลือก หรือกรอบ หรือโลกใบเดิมเสียก่อน

“การเกิดน่ะยากเสมอ ซินแคลร์ เธอรู้นี่ไม่ง่ายหรอกที่นกจะต่อสู้ออกจากไข่” แม่ของเดเมียน กล่าวกับซินแคลร์

ไม่ว่าเฮสเสจะได้รับอิทธิพลมาจากไหน แต่ความแปลกใหม่ที่ทรงพลังในงานเขียนชิ้นนี้ ทำให้เดเมียนกลายเป็นสายฟ้าที่ฟาดลงกลางใจหนุ่มสาวชาวเยอรมัน กระตุกจิตใจของเขาและเธอให้ตื่นขึ้น และขบคิดอย่างจริงจังถึงเรื่องการแสวงหาตัวตน

หนุ่มสาวชาวเยอรมันในขณะนั้น ไม่รู้เลยว่า เอมิล ซินแคลร์ ผู้เขียนหนังสือ เดเมียน หาใช่วัยรุ่นรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเขา หากแต่เป็นชายวัยกลางคนที่พวกเขาเคยก่นด่าว่า “ไอ้สารเลวคนชังชาติ” และจนอีกหลายปีให้หลัง เฮสเส ถึงออกมายอมรับว่า แท้ที่จริงแล้ว เอมิล ซินแคลร์ คือ อีกตัวตนหนึ่งของเฮอร์มานน์ เฮสเส

และอีกหลายสิบปีต่อมา เดเมียนยังคงเป็นสายฟ้าที่ฟาดลงกลางใจหนุ่มสาว แต่คราวนี้ พลังของวรรณกรรมเล่มนี้ ข้ามฟากมาถึงแดนเอเชียตะวันออก

เดเมียน กับการสร้างตัวตนของวัยรุ่นเกาหลี

แม้ว่าเดเมียน จะเป็นผลงานที่ความประทับใจให้กับเหล่าคนหนุ่มสาวชาวเยอรมัน ตั้งแต่เริ่มตีพิมพ์ออกมาครั้งแรก ในปี 1919 และถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษาทั่วโลก แต่ในความเป็นจริง เดเมียน ไม่อาจนับเป็นผลงานยอดนิยมของเฮสเสได้เลย อย่างน้อยก็ในช่วงแรกๆ

หากถามว่า ผลงานเรื่องใดของเฮสเส ที่มีนักอ่านชื่นชอบมากที่สุด คำตอบมักจะหนีไม่พ้น ‘สิทธารถะ’ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ยกให้เป็นงานระดับมาสเตอร์พีซของเขา หรืออาจจะเป็น ‘สเตปเปนวูล์ฟ’ ที่ว่ากันว่า เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้อิทธิพลของยาเสพติด

แต่สำหรับคนเกาหลีใต้แล้ว เดเมียน คือ ผลงานของเฮสเส ที่พวกเขาชื่นชอบมากที่สุด จนถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า ในเกาหลีใต้ มีนักอ่านอยู่แค่ 2 ประเภท คือ นักอ่านที่เคยอ่านเรื่องเดเมียนมาแล้ว กับนักอ่านที่ยังไม่เคยอ่านเรื่องนี้ และแน่นอน นักอ่านกลุ่มแรกมีจำนวนมากกว่า

ไม่มีใครรู้ชัดว่า อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เดเมียน กลายเป็นหนังสือของเฮสเสที่ได้รับความนิยมอย่างล้มหลาม แทนที่จะเป็นสิทธารถะ หรือเกมลูกแก้ว หรือเรื่องอื่นๆ บ้างก็ว่า เดเมียน เป็นเรื่องราวที่สะเทือนอารมณ์ (melodrama) ซึ่งถูกจริตกับคนเกาหลี หรือบ้างก็ว่า เดเมียน เป็นงานชิ้นแรกของเฮสเสที่ถูกแปลเป็นภาษาเกาหลี ทำให้คนเกาหลีรู้จักผลงานชิ้นนี้ก่อนเรื่องอื่นๆ แต่ที่แน่ๆ นักอ่านชาวเกาหลี โดยเฉพาะนักอ่านวัยหนุ่มสาว ต่างยกให้เดเมียน เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจในการค้นหาตัวตน

ในจำนวนวัยรุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากเดเมียน ยังรวมไปถึงเด็กหนุ่ม 7 คน ในนาม BTS หรือที่คนเกาหลีเรียกขานกันในชื่อ ‘บังทัน’

โดยภาพลักษณ์ภายนอก บีทีเอส อาจดูเหมือนบอยแบนด์ขายหน้าตาหรือท่าเต้นเท่ๆ แต่ในความเป็นจริง พวกเขามีดีมากกว่านั้น บทเพลงที่พวกเขาเขียน มักสะท้อนปัญหาสังคมของเกาหลีใต้ รวมถึงหยิบยกแรงบันดาลใจจากหนังสือที่พวกเขาชื่นชอบมาสร้างสรรค์เป็นบทเพลง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่ชัดเจนที่สุดเท่ากับอัลบัม Wings ซึ่งเป็นอัลบัมเต็มชุดที่ 2 ของพวกเขา

สมาชิกในวงบีทีเอส เคยให้สัมภาษณ์ว่า การที่พวกเขาหยิบเอาเรื่องราวในหนังสือเดเมียน มาสร้างเป็นคอนเซ็ปต์อัลบัมชุดนี้ เพราะพวกเขา ซึ่งเป็นนักอ่านอยู่แล้ว ค้นพบว่า สาส์นในหนังสือเล่มนี้ ตรงกับสิ่งที่พวกเขาต้องการถ่ายทอดในผลงานชิ้นนี้

ทุกเพลงและทุกมิวสิควีดิโอในอัลบัม Wings จึงแทรกด้วยสัญลักษณ์ หรือแฝงนัยยะจากเรื่องราวในหนังสือเดเมียน ไม่ว่าจะเป็นการโกหก แสงสว่าง-ความมืด การให้อภัย และนกที่โบยบินอย่างเสรี หลังจากกระเทาะทำลายเปลือกไข่

“นกกำลังดิ้นรนออกจากไข่ ไข่คือโลก ใครที่ต้องการเกิดต้องทำลายโลก” นั่นคือข้อความที่เดเมียน เคยเขียนบอกกับซินแคลร์

นอกจากการทำลายเปลือก หรือกรอบแบบเดิมๆ แล้ว อัลบัม Wing ยังขานรับสาส์นสำคัญของเดเมียน ที่ว่าด้วยการโอบรับทั้งด้านดีและร้ายในตัวเอง

แฟนคลับหลายคนของบีทีเอส ซึ่งเรียกตัวเองว่า army ยกให้อัลบัมนี้เป็นอัลบัมที่ดีที่สุดของศิลปิน K-Pop กลุ่มนี้ โดยให้เหตุผลว่า เพลงในอัลบัมนี้ สะท้อนความเป็นตัวตนของบังทันอย่างชัดเจน ทั้งด้านที่สวยงาม และด้านที่เปราะบาง

อัลบัมที่อิงแนวคิดจากหนังสืออย่างเต็มตัว ช่วยให้บังทัน ซึ่งโด่งดังคับฟ้าอยู่แล้วในขณะนั้น ยกระดับตัวเองขึ้นเป็นวงไอดอลแห่งวรรณกรรม ขณะที่นักวิจารณ์บางคน ยกให้อัลบัมนี้เป็นเหมือนการเกิดใหม่ของบีทีเอส และเป็นก้าวแรกที่พาพวกเขาเข้าสู่การเป็นศิลปินระดับสากลอย่างเต็มตัว

ในทางกลับกัน พลังของบีทีเอส ก็ช่วยให้เดเมียนทำลายเปลือกไข่และเกิดใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากอัลบัม Wings วางจำหน่าย ยอดขายหนังสือเดเมียนก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในเกาหลีใต้และทั่วโลก

ในปัจจุบัน เดเมียน ถูกยกให้เป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของเฮสเส เทียบเท่า สิทธารถะ และสเตปเปนวูล์ฟ

ผมวางหนังสือเดเมียนลง หลังจากอ่านจบเป็นรอบที่ 2 อดนึกในใจไม่ได้ว่า ที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้ น่าจะยังคงมีหนุ่มสาวหลายคน ที่กำลังสร้าง “ตัวตน” ผ่านทางการ “เกิดใหม่” หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้

Tags:

วัยรุ่นเดเมียนDemianการสร้างตัวตน

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Movie
    Instant family: ได้โปรดให้เวลาพวกเราหน่อยนะ 

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Book
    ‘อย่าเป็นคนฉลาดที่สุดในห้อง’ นักวิทย์โนเบลแนะวิธีเรียนให้รุ่ง

    เรื่อง

  • Creative learningCharacter building
    ‘ขยะวิทยา’ ตลอดชีวิต ของเด็กๆ คลองโต๊ะเหล็ม จังหวัดสตูล

    เรื่องและภาพ The Potential

  • How to get along with teenager
    ปราบ ‘อสูรร้าย’ ทำลายและทำร้ายใจเด็ก

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • Voice of New Gen
    สเตลลา โบลส์ “HELLO, WORLD แม่น้ำสายนี้สกปรกมาก!”

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

ความสัมพันธ์กับความเงียบ และเรื่องราวบรรพชนที่ไม่พูดกัน
Myth/Life/Crisis
28 April 2022

ความสัมพันธ์กับความเงียบ และเรื่องราวบรรพชนที่ไม่พูดกัน

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ช่องว่างที่มิได้นิ่งสนิทของ ‘ความเงียบ’ ทำให้ประสาทสัมผัสต่างๆ แจ่มชัดขึ้น และปล่อยให้ความทรงจำในซอกหลืบที่ดูเหมือนว่าสมองได้ คัดทิ้ง ไปแสนนานมาแล้วกลับผุดปรากฏขึ้น
  • เรื่องราวที่ถูกปิดเงียบหรือ ‘อย่าไปพูดถึงให้มากนัก’ ในครอบครัว สามารถเชื่อมโยงกับบาดแผลที่ยังไม่ได้เยียวยาและรอยเปรอะที่ลบไม่ออกของบรรพชน ซึ่งพวกเขาไม่ได้อยากถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน
  • แม้ความเงียบกริบของเรื่องราวอื่นของบรรพบุรุษ ที่เราไม่อาจเป็นพยานก็ไม่ได้แปลว่าบางอย่างไม่ได้ถูกสืบทอดและกำลังดำเนินไปในตัวเรา แต่รากอดีตนั้น ก็สามารถได้รับการแปรเปลี่ยนรูปแบบและเยียวยาผ่านเราได้ด้วยเช่นกัน

1.

ผู้คนที่รักเสียงดนตรีให้ความสำคัญกับความเงียบ ซึ่งตัวหยุดที่เราเห็นเวลาอ่านโน้ตก็รับรองความสำคัญนั้น

การเงียบฟังเป็นราวกับคำมั่นว่าเสียงของผู้ที่มีอะไรจะบอกจะ ถูกได้ยิน 

ช่องว่างที่มิได้นิ่งสนิทของความเงียบทำให้ประสาทสัมผัสต่างๆ แจ่มชัดขึ้น และปล่อยให้ความทรงจำในซอกหลืบที่ดูเหมือนว่าสมองได้ คัดทิ้ง ไปแสนนานมาแล้วกลับผุดปรากฏขึ้น อย่างเช่นจุดสีม่วงที่รวมกลุ่มกันเป็นทรงเรขาคณิตในห้วงราตรีแห่งวัยเด็ก อีกทั้งความรู้สึกและการแสดงออกเกี่ยวกับเพศในวัยเด็กมากที่ไม่ได้นำมาลากต่อจุดเป็นเส้นเรื่องถึงวัยผู้ใหญ่ มันไม่ผิด แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนจะเที่ยวเอามา พูดกัน 

หลายโอกาส ความเงียบขับให้เห็นความลุกลนที่จะได้เสพประสบการณ์ใหม่ อีกทั้งแรงขับที่จะพุ่งไปยังจุดหมายที่บางทีก็ไม่ทราบว่าคืออะไรและ เพื่ออะไร กันแน่? และยังมีความหิวโหยที่จะเชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่น จากจุดที่ได้สื่อสารกับใครสักคนแล้ว ความเงียบสามารถเป็นการลากเส้นแห่งการรอคอยนับจากจุดเวลานั้นไปจนกว่าจะได้เชื่อมต่อกับมนุษย์สักคนอีกครั้ง และบางสถานการณ์ ความเงียบของคนอื่นก็กระตุ้นความรู้สึก ‘ถูกปฏิเสธและถูกชิงชัง’ ซึ่งดังกึกก้องจากภายใน โดยที่คนอื่นนั้นไม่สามารถจะชิงชังด้านต่างๆ ของเราได้เท่ากับที่เราชิงชังรังเกียจ ละอายและต้องการลงโทษมันอีกแล้ว  

ความเงียบสามารถปลุกเราออกจากความสะลืมสะลือต่อด้านที่เห็นแก่ตัวและชั่วร้ายของตน และทำให้เห็นปลายแง้มเปิดของปากแผลที่ก่อนหน้าได้ทึกทักเอาว่าสมานไปแล้ว มันทำท่ารอคอยให้อุปกรณ์คล้ายอาวุธ คว้านขุดบางอย่างที่แปลกปลอมออกมาพร้อมกับน้ำเลือดน้ำหนอง เพื่อที่เราจะขยับกลับสู่ความจริงแท้ของตัวเองได้ใกล้ขึ้น ซึ่งในนั้นมีความเดิมบางอย่างที่บรรพบุรุษของเราก็ถูกบ่มเพาะให้ไม่ชื่นชมมันด้วย 

นอกจากนี้ บางคนผ่านประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจนิ่งรับประสบการณ์เข้มข้นของเขาได้ เขาจึงรู้จักเป็นภาชนะรองรับตรับฟังคนอื่นด้วยการเป็นความเงียบ และใช้ภาษาซุกซ่อนความคิดแทนที่จะคลี่เผยมันออกมา  

ส่วนในวงสนทนา ผู้คนรู้สึกดีกับการมีพื้นที่ให้ได้แสดงความรู้สึกนึกคิด และผู้คนไม่น้อยก็ชื่นชมที่กระบวนกรสักคนวางใจในความเงียบโดยปล่อยให้พวกเขาดำรงอยู่ในนั้นโดยมิต้องทำลายมันด้วยแซ่เสียงที่กระสับกระส่าย ไม่ใช่ว่าทุกความตระหนักรู้จะต้องถูกพูดออกมา และหลายสิ่งที่รู้ได้อยู่เฉพาะตนก็มีที่ทางอันปลอดภัยและงอกงามในความเงียบ   

อย่างไรก็ตาม สำหรับหลายคนและสถานการณ์ ความเงียบกลับเป็นความโกลาหลมากกว่าความสงบสันติ

2.

ความเงียบร่วมสามารถกลายเป็นการเอื้อต่อระบบที่กดขี่ และในอีกสถานการณ์ก็เป็นปากที่ไม่กล้าเปิดของผู้เสียหายซึ่งเกิดการกระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดขึ้นต่อพวกเขาและเธอ

สำหรับบางคนที่โตมากับการต้องตอบสนองความต้องการของคนที่มีอภิสิทธิ์มากกว่า ความเงียบของอีกฝ่ายก็สามารถสร้างความปั่นป่วนให้ และสำหรับอีกคน ความเงียบคืออันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามา เฉกเช่นความเงียบกริบใต้ทะเลลึก ซึ่งฝูงสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยต่างหลบซ่อนหนีหายเพราะตระหนักถึงการดำรงอยู่ของนักล่าซึ่งแม้ยังมองไม่เห็น..  แต่พร้อมจู่โจมชำแรกน้ำนิ่งเข้ามาโดยพลัน  

3.

ในครอบครัว เรื่องราวที่ถูกปิดเงียบหรือ ‘อย่าไปพูดถึงให้มากนัก’ สามารถเชื่อมโยงกับบาดแผลที่ยังไม่ได้เยียวยาและรอยเปรอะที่ลบไม่ออกของบรรพชน ซึ่งพวกเขาไม่ได้อยากถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน

ความทรงจำที่อย่างน้อยก็ได้พยายามจะลืมเกี่ยวกับบ้านช่องที่แตกสลาย ความเป็นพ่อแม่ลูกที่สับสนไม่ชัดเจน หรือการถูกสถานการณ์บีบให้โยกย้ายพลัดถิ่นและต้องเริ่มต้นใหม่เกือบทั้งหมดเรื่อยไป ฯลฯ ตกทอดเป็นความรู้สึก “ไร้บ้าน” ที่เป็น บ้านของตนจริงๆ และความกลัวว่าจะทำบางอย่าง ‘ผิด’ ใน บ้านของคนอื่น อีกความรู้สึกที่ต้องดีกว่านี้และกว่านี้จากความรู้สึกพร่อง ที่ตามหลอกหลอนคนมาได้หลายรุ่นแม้ในภายหลังที่มีบ้านช่องห้องหับของตนแล้ว   

หรือการเป็นผู้อพยพที่ถูกทำให้พร่าเลือนด้วยการจงใจผสานกับอีกอัตลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกเหนือกว่าหรือได้รับการโอบรับมากกว่าในยุคนั้น การโอนสัญชาติได้หรือไม่ได้ และการจำใจให้ลูกย้ายไปอยู่กับครอบครัวที่ดูจะประกันความรอดมากกว่าแม้ไม่อาจเป็น บ้านที่แท้ สำหรับลูกน้อยซึ่งจะกลายเป็นพ่อแม่ของใครสักคน        

ศาสนาต่างๆ ที่ยึดโยงกับอำนาจที่ไม่เท่ากัน ได้มีบทบาทในความสัมพันธ์ปริแตกระหว่างคู่รัก ครอบครัว และคนในชุมชนเดียวกันซึ่งเมื่อยิ่งถูกทำให้เป็นชายขอบก็ยิ่งแบ่งความสูงต่ำระหว่างกันเอง ภายใต้การถูกอำนาจบางอย่างกดทับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 

ปู่ย่าตายายที่ต้องพลัดพรากจากคนที่ตนผูกพันรักยิ่งเพียงเพราะสัญชาติและศาสนา (เช่น ชาวคริสตังจำใจหย่ากับชาวพุทธ) ไม่อาจเผยอกพูดภาษากำเนิดและต้องหลบซ่อนสอนภาษานั้น ความหวั่นวิตกว่าจะถูกปรักปรำหรือหยามเหยียดเพียงเพราะสิ่งที่เป็น ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองเศรษฐกิจแห่งยุคสมัยต่างๆ (เช่น ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เพราะมาจากและพูดภาษาเวียดนาม หรือการเป็นคนอีสานในบางบริบท)  

ความอยากเปลี่ยนกระดูกกรามบนใบหน้าของฉัน หรือการที่ใครสักคนอยากเปลี่ยนสีผิวพรรณสามารถ(ไม่ได้แปลว่าเสมอไป)สะท้อนมรดกแห่งการล่าอาณานิคมทั้งในระดับข้ามทวีปและในภูมิภาค อีกทั้งการถูกกดทับในทางใดๆ ซึ่งตกทอดมาถึงโฆษณาปัจจุบันเพื่อขายผลิตภัณฑ์และบริการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ ซึ่งเหมือนกระตุ้นให้อยากงามตามมาตรฐานของผู้ชนะสงครามมากกว่าผู้แพ้ ก็ใครอยากเป็นฝ่ายถูกล่าบ้างล่ะ? 

4.

ยังมีอีกสารพันเรื่องราวขมขื่นในอดีตที่ความทรงจำของคนรุ่นก่อนสักคนคือบ้านลับหลังสุดท้ายที่จะกลายเป็นสุสานของเรื่องราวนั้นในที่สุด    

กระนั้น การ ละไว้ ก็มีความโกรธระทมรั่วซึมออกมา ซึ่งคนรุ่นหลังสัมผัสได้นับแต่วัยเด็กจวบจนเติบโตขึ้นมา.. ประวัติศาสตร์ของบรรพชนดำรงอยู่ภายในและรอบตัวเรา และหลายครั้งเราก็โกรธตัวเองที่แสดงความโกรธออกมาในลักษณะเดียวกับพ่อหรือแม่ของเรา หรือแม้แต่เหมือนคนรุ่นก่อนหน้านั้น  

แต่เมื่อคนรุ่นหลังได้เห็นพ่อแม่เป็นวีรบุคคล และ/ หรือได้ผ่านพ้นห้วงความขบถและเชื่อมั่นด้วยเพราะเห็นว่าตนมีศักยภาพพ้นไปจากความผิดพลาดที่คนรุ่นก่อนได้กระทำลงไปและไม่ได้บอกเราเร็วกว่านั้น มาสู่การพยายามทำความเข้าใจ เห็นใจ และทะลวงด่านความกลัวกระทั่งพร้อมเจ็บปวดเพื่อแก้บางปัญหาที่ไม่อาจแก้ด้วยการปล่อยให้สถานการณ์พาไป   

ถึงเวลานั้น เรื่องราวที่ถูกปิดผนึกในความเงียบก็ได้รับโอกาสในการถูกสดับฟังและมองในมุมใหม่ ที่พร้อมให้อภัยของความรัก ตลอดจนการเกิดใหม่ และแม้ความเงียบกริบของเรื่องราวอื่นของบรรพบุรุษที่เราไม่อาจเป็นพยานก็หาได้แปลว่าบางอย่างมิได้ถูกสืบทอดและกำลังดำเนินไปในตัวเรา ทว่ารากอดีตนั้นก็สามารถได้รับการแปรเปลี่ยนรูปแบบและเยียวยาผ่านเราได้ด้วยเช่นกันสุดท้าย ความเงียบที่ยังคงเงียบก็ยังสามารถทำให้เราปล่อยมือจากการควบคุม พักด้วยความวางใจ และปลดปล่อยตัวเองออกจากสิ่งที่คิดว่าเป็นและกำลังกลายเป็น อีกทั้งขอบคุณบรรพบุรุษทุกคนอย่างลึกซึ้ง ❄

อ้างอิง

ขอบคุณแรงบันดาลใจจาก จอห์น ฟรานซิส นักสิ่งแวดล้อมผู้ปฏิญาณตนในความเงียบหนึ่งวันแต่กลับเลยเถิดมาถึง 17 ปี และเขาตระหนักว่ามนุษย์เป็นส่วนสำคัญของสิ่งแวดล้อม, ขอบคุณจอห์น เคจ (John Cage), ขอบคุณแม่น้ำโขง ล้านนา ล้านช้าง และประวัติศาสตร์ผู้คนเชื้อสายเวียดนามที่ถือคาทอลิกในภาคอีสานของประเทศไทย, ขอบคุณเรื่องราวของเพื่อนชาวยิวที่เติบโตตามเมืองต่างๆ ในยุโรปซึ่งได้สนทนากันในปีค.ศ. 2008 ถึงการสูญเสียอัตลักษณ์ขณะสื่อสารผ่านภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ และในปีค.ศ. 2022 ก็ได้ทราบว่าปู่ชาวยิวตูนิส(นครคาร์เธจโบราณ อยู่ในเมืองตูนิส ประเทศตูนีเซีย)ของเพื่อนผ่านประสบการณ์การสูญสลายยิ่งกว่านั้น ด้วยเพราะเขาพูดภาษาที่แทบจะไม่มีใครพูดอีกต่อไปแล้ว, ขอบคุณเรื่องราวที่ได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างกล้าหาญของการต้องเก็บซ่อนบางอย่างเกี่ยวกับตน ในบรรยายกาศกวาดล้างอันโหดร้ายในยุคสตาลิน, ยังมีร่องรอยการผสานความเป็นจีนเข้ากับความเป็นเจ้าดารารัศมี(ในขณะที่ก็มีกลิ่นอายการต่อรองทั้งกับอีกสองอำนาจ)ของผู้ใหญ่ในเชียงใหม่, ขอบคุณร่องรอยของชาติพันธุ์ที่หลากหลายในนครชุม ชากังราว ฯลฯ ในจ.กำแพงเพชร, ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่และบรรพบุรุษ 

Tags:

ครอบครัวความเงียบบรรพชนลูกหลาน

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Movie
    ชีวิตในมุมอับของคำว่า ‘ครอบครัว’: แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear Parents
    ไม่ต้องรักลูกทุกคนเท่ากันก็ได้ แต่อย่าใจร้ายกับลูกคนไหนเลย

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    A Little girl’s Dream (2014) : การเติบโตของโทโทมิกับครอบครัวที่ไม่ใจร้าย

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Aftersun: แม้ภายในจะรวดร้าวแต่พ่อยังอยากเป็นความทรงจำที่ดีของลูก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Dear ParentsMovie
    The King of Staten Island: บางทีชีวิตมันก็ ‘อิหยังวะ’

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

ล้มได้ แต่ไม่พ่ายแพ้ : ชวนเด็กๆ เรียนรู้และรับมือกับความล้มเหลว
Character building
26 April 2022

ล้มได้ แต่ไม่พ่ายแพ้ : ชวนเด็กๆ เรียนรู้และรับมือกับความล้มเหลว

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ความล้มเหลวเป็นเรื่องจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ สำหรับชีวิตที่ดีในอนาคต
  • การเปิดโอกาสให้เผชิญความล้มเหลวนั้น คือการปล่อยให้เด็กๆ ลองออกไปอยู่นอก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของตัวเองบ้าง แต่ไม่ใช่ ‘การตัดหางปล่อยวัด’
  • สำหรับพ่อแม่ เมื่อเด็กมองว่าคุณเป็น ‘ต้นแบบ’ วิธีการให้กำลังใจที่ดีมากแบบหนึ่งคือ การเล่าให้พวกแกฟังว่า คุณเองก็เคยทำพลาดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะทำให้เด็กๆ มองเห็นว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา และช่วยให้เดินก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

คนส่วนใหญ่หรือแทบจะทั้งหมดมีความสุขที่ประสบความสำเร็จ แต่กลับมีน้อยมากที่คิดว่า ความล้มเหลวเป็นเรื่องจำเป็นและเรื่องดีสำหรับชีวิต แต่ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กๆ และจะต้องใช้ไปตลอดชีวิตได้แก่ ทักษะการรับมือกับความล้มเหลว

‘ความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต’ เป็นหนึ่งในบทเรียนที่คนประสบความสำเร็จในชีวิตต้องมี คนพวกนี้ไม่จำเป็นต้องมีฐานะมั่งคั่ง แต่ก็มีความสุขกับชีวิตได้เสมอ 

มีวิธีการอะไรที่จะสอนหรือถ่ายทอดทักษะการล้มเหลวให้ดี และใช้มันเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้บ้าง?

เราทุกคนกลัวความล้มเหลว

เจสสิกา ลาเฮย์ (Jessica Lahey) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษมา 20 ปี เธอแต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ความล้มเหลวคือของขวัญ (The Gift of Failure) [1] โดยระบุว่า เธอมองเห็นลูกศิษย์ปฏิบัติกับความเสี่ยงต่างๆ ด้วยความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ 

วัยรุ่นยุคนี้อาจถือเป็นรุ่นที่ ‘ไม่อาจล้มเหลว’ ได้ สาเหตุหลักอาจจะมาจากความปรารถนาดีและการปกป้องจนเกินเหตุ (overprotection) ของพ่อแม่เป็นหลัก! 

พ่อแม่ที่รักลูก จนไม่อาจยอมให้ลูกล้มเหลวในเรื่องใดทั้งสิ้น จึงทั้งผลักดัน เคี่ยวเข็ญต่างๆ นานา จนบ้างก็เลยเถิดไปถึงขั้นข่มขู่ บางคนก็ตั้งความหวังให้ลูกเป็นในสิ่งที่ตนเองไม่อาจเป็นได้ เช่น เรียนจบเป็นแพทย์ หรืออาชีพอื่น จนลืมเลือนความจริงข้อหนึ่งไปว่า …  

ความล้มเหลวเป็นเรื่องจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ สำหรับชีวิตที่ดีในอนาคต และเรื่องที่ตนเองล้มเหลว ลูกก็อาจล้มเหลวหรือแม้แต่ไม่ชอบก็ได้  

เสี่ยวตง ลิน-ซีเกลอ (Xiaodong Lin-Siegler) ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความมุ่งมั่นและนวัตกรรม (the Education for Persistence and Innovation Center) ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สรุปผลการศึกษาของเขาว่า [2] นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ เมื่อได้เรียนรู้ประวัติของนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดอย่างมารี กูรี และนักประดิษฐ์อย่างธอมัส เอดิสัน ว่าอัจฉริยะชั้นยอดเหล่านี้ก็ยังเคยประสบความล้มเหลวในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ช่วยทำให้พวกเขาได้ผลการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น

พวกเขาได้เรียนรู้ว่าความเฉลียวฉลาดไม่ใช่เรื่องบุญทำกรรมแต่งที่เป็นมาตั้งแต่เกิดเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ความมานะพยายามเป็นตัวช่วย และที่สำคัญคือเราเรียนรู้จากความผิดพลาดต่างๆ ที่ทำลงไปได้ 

พวกเด็กๆ เรียนรู้ว่าตลอดเส้นทางชีวิตของพวกเขา จะมีความล้มเหลวเป็นเพื่อนร่วมทางอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ปล่อยให้ล้มได้ แต่ไม่ใช่ให้พ่ายแพ้

ประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญมักเน้นกันก็คือ การเปิดโอกาสให้เผชิญความล้มเหลวนั้น คือการปล่อยให้เด็กๆ ลองออกไปอยู่นอก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของตัวเองบ้าง แต่ไม่ใช่ ‘การตัดหางปล่อยวัด’  

อีกประเด็นคือ เริ่มได้ยิ่งเร็วก็จะยิ่งดี เช่น ลูกชายลูกหญิงอายุ 3 ขวบ ร้องไห้จะเป็นจะตายอยากได้ลูกอมหรือขนม หรืออาจถึงกับลงไปชักดิ้นชักงออยู่บนพื้น การทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าความต้องการของตัวเองอาจไม่ได้รับการตอบสนองทุกครั้งไป สำคัญกับเด็กวัยนี้และวัยอื่นๆ ไม่ต่างกัน

ปัญหาสำคัญสำหรับคนเป็นพ่อและแม่คือ การห้ามใจไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ทำได้ไม่ง่ายเลย เพราะพ่อแม่จำนวนมากพ่ายแพ้ต่อความต้องการเอาใจหรือปกป้อง  

นอกจากการหักห้ามใจ ปล่อยให้เด็กๆ เรียนรู้และล้มเหลวเองบ้างตามธรรมชาติ ยังมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ อีกที่อาจเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองนำไปใช้ได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องแรกคือ ต้องสอนให้เด็กรักตัวเองและปลอบใจตัวเองเป็น 

การทำผิดพลาดหรือเกิดความล้มเหลวเป็นเรื่องเจ็บปวดเสมอ ไม่ว่าจะล้มเหลวเรื่องอะไรในตอนอายุเท่าไหร่ การนั่งลงข้างๆ เป็นกำลังใจ รับฟังคำพูดและรับรู้อารมณ์ด้านลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีค่ามาก 

คำพูดที่สอนในทางอ้อม เช่น “ถ้า (ชื่อเพื่อน) กำลังรู้สึกแย่เหมือนที่ลูกรู้สึกอยู่ตอนนี้ ลูกจะปลอบใจว่ายังไง?” อาจทำให้เด็กๆ ได้ฉุกคิดและปลอบโยนตัวเองในทางอ้อมได้อีกทางหนึ่ง ในยามที่ล้มเหลวที่สุด การเป็นคนที่สามารถดูแลจิตใจตัวเอง เยียวยาตัวเองได้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด  

กระตุ้นให้หาบทเรียน  

คีลา ไฮโมวิตซ์ (Kyla Haimovitz) นักจิตวิทยาและนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งศึกษาเรื่องปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ปกครองต่อความล้มเหลวของเด็กระบุว่า ปฏิกิริยาตอบสนองของคุณมีผลต่อเด็กอย่างมากมายมหาศาล 

ควรพูดคุยกับพวกเด็กๆ ให้มองเน้นไปที่กระบวนการ เช่น “พ่อ/แม่ เสียใจด้วย ถ้าลองทำใหม่ได้ จะเปลี่ยนไปทำยังไงจ๊ะ?” หรืออาจจะ “ไม่เป็นไรจ้ะ พ่อ/แม่ ก็ไม่เก่งวิทยาศาสตร์เหมือนกัน” หรือ “ไม่ต้องคิดมาก อย่างน้อยลูกก็เก่งเรื่องภาษานะ” 

หากเป็นนักกีฬาก็อาจแนะนำให้เสียใจให้พอ แล้วลองไปปรึกษาโค้ชว่า จะทำอะไรได้บ้าง จะแก้ไขอะไรได้บ้าง 

วิธีการให้กำลังใจที่ดีมากแบบหนึ่งคือ เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ยังเล็กมาก จะมองว่าคุณเป็น ‘ต้นแบบ’ ดังนั้นการเล่าให้พวกแกฟังว่า คุณเองก็เคยทำพลาดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะทำให้เด็กๆ มองเห็นว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา และช่วยให้เดินก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคงมากขึ้น [3] 

อีกวิธิการหนึ่งที่เป็นทางอ้อมมากกว่าอีกนิดคือ การเล่าเรื่องฮีโร่ของพวกเด็กๆ ซึ่งอาจจะเป็นนักกีฬาหรือไม่ก็ฮีโร่ในภาพยนตร์ว่า พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากอะไรในชีวิต และเคยทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง 

การทำแบบนี้จะทำให้เด็กๆ มองเห็นว่า ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ยังไงก็ต้องพบเจอ และเป็นประสบการณ์ชีวิตแบบหนึ่ง ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของความพยายามในเรื่องใดเลย—ก็ขนาดฮีโร่ของเรายังต้องเจอ เราจะรอดได้ไง! 

ชำแหละโซเชียลมีเดียให้เห็น 

โลกโซเชียลมีเดียเดี๋ยวนี้ โหดร้ายกับเด็กๆ มากนะครับ 

นอกจากตัวเว็บ เพจ และแอป จะทำอะไรได้สารพัดแล้ว ตัวกล้องเองก็ปรับได้สารพัดอย่าง จนภาพที่ออกมาดูสวยหล่อ ดูดีกว่าความจริงไปมาก ยังไม่นับธรรมชาติของนิสัยคนที่เข้าคู่กับแอปเหล่านี้ ทำให้ชอบอวดหน้าตา รูปร่าง และความร่ำรวย กันจริงจังมาก

เด็กๆ ที่เห็นเพื่อนส่วนใหญ่ได้ไปร่วมปาร์ตี้สักงาน โดยตนไม่ได้รับเชิญด้วย น่าจะรู้สึกเฟลและเซ็งจับจิตมาก 

มีเด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยหดหู่จนถึงกับซึมเศร้าก็มี และคิดไปเองว่ามีแต่ตัวเองที่โชคร้ายและตกระกำลำบาก แต่แวดล้อมไปด้วยคนที่โชคดีและมีความสุข 

การย้ำเตือนกับเด็กๆ เสมอว่า ภาพที่เราเห็นบนโซเชียลมีเดีย เป็นแค่เศษเสี้ยวเบี้ยวๆ ของโลกจริงเท่านั้น คนเหล่านี้ก็มีความทุกข์ ความเซ็ง และวันซวยๆ เหมือนเรานี่แหละ 

เค้าแค่ไม่ได้แปะให้คนอื่นรับรู้เท่านั้น 

คำแนะนำสุดท้ายคือ หากลูกๆ สนใจจะลองสิ่งใหม่ๆ ก็ปล่อยให้พวกเขาลองทำดูบ้าง เพราะเด็กๆ จะได้เรียนเรื่องความมุ่งมั่น ความรู้สึกร่วมกับคนอื่น กับการแพ้ให้เป็น และล้มเหลวให้เห็นความจริงตามธรรมชาติ  

ทั้งหมดนั้นเป็น ‘กระบวนการ’ สำคัญ สำหรับการเรียนวิชา ‘ความสุข’ ที่พวกเขาต้องเรียนไปตลอดชีวิต! 

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.amazon.com/Gift-Failure-Parents-Children-Succeed/dp/0062299255 

[2] https://doi.org/10.1080/01973533.2020.1734006 

[3] https://doi.org/10.1177/0956797616639727

Tags:

วิชาความสุขการเรียนรู้ฝึกยอมรับความล้มเหลวทักษะการรับมือกับความล้มเหลว

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Learned-helplessness-nologo
    How to enjoy life
    แค่ยอมรับสภาพ หรือเพราะภาวะความสิ้นหวังจากการเรียนรู้ ‘Learned helplessness’

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Like Stars on Earth: ไม่มีเด็กคนไหนไร้ค่า ขอแค่แสงสว่างจากใครสักคนเพื่อเปล่งประกาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • EF (executive function)Adolescent Brain
    ‘สัตว์เลี้ยง’ เพื่อนที่สอนเด็กเรื่องความแตกต่างและเรียนรู้ที่จะปรับตัว

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Everyone can be an EducatorSocial Issues
    ‘Saturday School’ วิชานอกห้องเรียนที่ทำให้เด็กกล้าฝันและเป็นเจ้าของการเรียนรู้: ยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Transformative learning
    ทำไมครูต้องสร้างบทเรียนเพื่อความยุติธรรม

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

เปลี่ยนพลังลบในครอบครัว ด้วย ‘การสื่อสารพลังบวก’ เติมทุนชีวิตให้เด็กไทย : รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
25 April 2022

เปลี่ยนพลังลบในครอบครัว ด้วย ‘การสื่อสารพลังบวก’ เติมทุนชีวิตให้เด็กไทย : รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการขัดเกลาทางจิตใจ ครอบครัวจึงเป็นทั้งต้นทุนชีวิตและฐานที่มั่นคงของชีวิตๆ หนึ่งตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต
  • ครอบครัวที่เผชิญปัญหา กระบวนการเปลี่ยนแปลงครอบครัวทั้งครอบครัว เริ่มที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหนึ่งอย่าง โดยมีเงื่อนไขให้กับคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้าเกิดเลือกพฤติกรรมที่ดีแล้วลูกทำได้ดีแล้วต้องชื่นชมเขาด้วย
  • การสื่อสารพลังบวกในครอบครัว เช่น การมองหาข้อดีของลูกเหมือนการจับถูกคนที่รัก จุดเริ่มต้นของการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เพื่อลดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างให้เป็นครอบครัวพลังบวกขึ้นมา

วัยเด็ก เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของชีวิตที่สำคัญต่อการเติบโตสู่การเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต สิ่งที่หล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตนั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ ‘ครอบครัว’ สังคมแรกของพวกเขาและเธอ สังคมๆ นี้จะช่วยผลักดันให้เด็กเติบโตในเส้นทางไหน พ่อแม่หรือผู้ปกครองทั้งหลายย่อมมีส่วนสำคัญ

ในหนังสือ 3 ฐาน สานพลังต้นทุนชีวิต: บทเรียนการเสริมสร้างพลังบวก โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หรือ หมอเดว ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า ต้นทุนชีวิต (Life Assets) ของเด็กและเยาวชนไม่ใช่แค่เพียงทักษะชีวิตเท่านั้น แต่รวมถึงจิตสำนึกทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมด้วย มีผลต่อการพัฒนาการทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง 

“เด็กที่เกิดมาท่ามกลางครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น มีความเข้าอกเข้าใจ ทุนชีวิตก็จะพัฒนาเพิ่มพูนเป็นทุนที่เข้มแข็ง หากเด็กคนใดเกิดมาท่ามกลางความขัดสน ด้อยโอกาส เติบโตในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่ดี ทุนชีวิตก็จะค่อยๆ ถูกบั่นทอนลงเรื่อยๆ”

เพราะครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการขัดเกลาทางจิตใจ ครอบครัวจึงเป็นทั้งต้นทุนชีวิตและฐานที่มั่นคงของชีวิตๆ หนึ่งตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต

ก่อร่างสร้าง ‘ครอบครัวพลังบวก’ 

‘ครอบครัวพลังบวก’ (Positive Parenting) หนึ่งในโครงการย่อย ‘ครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง’ โดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งถูกนำเสนอในเวทีวิชาการ ‘โครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ครั้งที่ 3’ ที่มี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หรือ หมอเดว เป็นหัวเรือใหญ่ 

โครงการนี้วางแผน และออกแบบ สร้างระบบพี่เลี้ยงชุมชน มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาศักยภาพ แกนนำพลังบวกในชุมชน โดยใช้กระบวนการเสริมพลังบวก นำจุดแข็งของชุมชน ทุนมนุษย์ ทุนสังคม และจุดแข็งของเด็กและเยาวชน ทุนชีวิต ทักษะ 5 ด้านในการบริหารจัดการชุมชนในการแก้ปัญหา มาเป็นฐานในการพัฒนา ทำให้เกิดระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชน พัฒนาภาคีครอบครัวให้เกิดความเข้มแข็ง ด้วยบริบทของชุมชน คือ ทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชน ทักษะการเฝ้าระวัง ทักษะการส่งต่อ ทักษะพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาเด็กเต็มวัย และทักษะการเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษา

โดยจากการทำงานคลุกคลีกับครอบครัวมากว่า 20 ปี ทำให้หมอเดวเห็นความสำคัญของการสื่อสารพลังบวกในครอบครัว คุณหมอเล่าว่า มีเคสหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างครอบครัวพลังบวก ซึ่งเคสนั้นนักจิตวิทยาเอ่ยปากกับคุณหมอว่า อาการหนัก เป็นเคสที่คุณแม่กับลูกชายซึ่งเป็นวัยรุ่นนั้นไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไรนัก เด็กคนนั้นชื่อ ตั้ม (นามสมมติ)

บรรยากาศการพบกันระหว่างคุณแม่ ลูกชาย และคุณหมอเดวในวันนั้นค่อนข้างขมุกขมัว คุณหมอเล่าว่าเริ่มแรกได้คุยกับลูกชายก่อน โดยแม่นั่งรออยู่ด้านนอกห้อง ภาพแรกของเด็กคนนั้นที่นั่งไขว้ห้างกระดิกเท้ายังคงอยู่ในความทรงจำของคุณหมอมาจนทุกวันนี้ และต่อจากนี้เป็นบทสนทนาระหว่างคุณหมอเดวกับตั้ม

“ตั้มเป็นไงเหรอ” คุณหมอถามตั้ม  

“ไม่รู้แม่ง อยากรู้หรอ ไปถามแม่เอา แม่มีปัญหา” นี่คือประโยคแรกที่เด็กคนนั้นโต้กลับคุณหมอ 

“โอเค…ตั้มไม่มีปัญหา แม่ของตั้มมีปัญหา แต่ถ้าเกิดหมอเชิญแม่ของตั้มเข้ามา คิดว่าแม่จะปรึกษาเรื่องอะไร” 

“เรื่องเกรดมั้ง” ตั้มตอบ 

“แล้วเกรดเราเป็นไง” คุณหมอถามต่อ 

“0.26 ครับ” คำตอบของตั้มที่พูดออกมาผ่านใบหน้าเรียบเฉย วินาทีนั้นคุณหมอเดวพยายามที่จะหาพลังบวกของเขาออกมาเลยถามไปว่า 

“แล้วไง 0.26 มันโผล่มาได้ยังไง” 

“อ๋อ รักชอบพอกับครูคนหนึ่งก็เลยยอมแก้ F เป็น D บุญนะหมอที่ไปแก้” 

“แต่หมอไม่คิดว่าแค่เกรดต้องมาพบหมอนะ” 

“ใช่ครับ วันนี้ผมไปไล่ชกม.6 ฐานมาแย่งแฟนผม” 

“อ้าวแล้วเราเรียนอยู่ชั้นไหน” 

“ม.3 ครับ” 

“เฮ้ย แล้วไม่กลัวหรอว่ารุ่นพี่จะมาสกรัม” 

“กลัวทำไมหมอ มันเพื่อนผมทั้งนั้น ผมสอบตกซ้ำชั้นมาสามปี”  

จากนั้นก็เชิญคุณแม่ของตั้มเข้ามาในห้องเพื่อพูดคุยพร้อมๆ กัน บรรยากาศ ณ ตอนนั้นคือหน้าลูกแม่ยังไม่หันไปมอง ความเครียด ความผิดหวังต่างๆ ของคนเป็นแม่อัดอั้นสาดใส่ลูกเข้าไปเต็มประตู ทั้งด่าทอและตำหนิติเตียน คุณหมอเดวได้พยายามทำให้คุณแม่สงบสติอารมณ์ลง และชวนคุยเรื่องบวกๆ โดยลองให้นึกถึงข้อดีของลูกชายสักหน่อย “แม่แกใช้หางตามองลูกตัวเองแล้วบอกว่า หมอเรื่องดีๆ ของมันนึกไม่ออก แต่เรื่องชั่วๆ ของมันนี่ยังไม่หมด”

ขณะนั้นเองคุณหมอเดวจึงหันไปถามตั้มในคำถามเดี๋ยวกัน ตั้มตอบทันทีว่า “แม่มีข้าวให้กิน แม่มีบ้านให้อยู่ แล้วทุกครั้งที่เจ็บไข้ได้ป่วยแม่พามาพบหมอ” 

การบ้านจึงตกเป็นของคุณแม่ที่จะต้องพยายามค้นหาข้อดีในตัวลูกชาย แม้ว่าจะต้องใช้เวลาสักหน่อยแต่ความพยายามครั้งนั้นไม่สูญเปล่าแน่นอน เนื่องจากลูกชายได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  

“สัปดาห์ที่สามลูกมาแล้วเข้ามาทุบโต๊ะหมอเลย บอกหมอๆ ไปทำอะไรแม่ผม แม่ผมเปลี่ยนไป หมอก็ตกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับแม่เขา” 

“เด็กพรั่งพรูทุกสิ่งทุกอย่างออกมาเลยว่า หมอรู้ไหมชีวิตผมเกิดอะไรขึ้น บ้านผมนี่ยากจน ผมไม่มีบ้านเป็นหลังหรอก มันเป็นแฟลตเอื้ออาทร แล้วห้องก็เป็นห้องเล็กๆ ใช้เฟอร์นิเจอร์กั้นไว้เป็นห้องนอน หมอรู้เปล่าเมื่อก่อนเวลาแม่เดินเข้าบ้านแม่ด่าเช็ดตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมไม่เคยมีดีอะไรในสายตาเลย แต่เดี๋ยวนี้แม่เปลี่ยนไป แม่นิ่งมากขึ้น แล้วคนเราถ้าจะไปดูว่าลูกมีดีอะไร ต้องใช้สมองส่วนคิดเบรกอารมณ์ตัวเอง แล้วมองว่ามันมีดีอะไรอยู่นะ วินาทีที่แม่เบรกตัวเองปรากฏว่า ลูกสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่” 

“แต่ก่อนผมเป็นเด็กเรียนเก่งนะหมอ เกือบจะเป็นตัวแทนเขตเลยด้วยซ้ำไป แต่พอผมขึ้นประถมปลายภาพที่เห็นคือ พ่อกับแม่ผมทะเลาะกัน แล้วหมอคิดว่าคนอย่างผมเครียดไหม พ่อผมก็รักแม่ผมก็รัก แล้วคนรักสองคนกำลังทะเลาะกัน แล้วผมจะคิดอะไรยังไง แก้ปัญหาไม่ได้ มีวิธีเดียวที่ผมจะทำได้คือหนีออกไปจากห้องนั้น ไปเล่นเกมไปเป็นฮีโร่ในเกม เริ่มขโมยตังค์ เริ่มหนีเรียน เที่ยวผับ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เข้าแก็งซิ่งมอเตอร์ไซค์ เสพยา” 

คุณหมอเดวจึงยื่นข้อเสนอให้ตั้มด้วยความสามารถของหมอเท่าที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ตั้มอยากให้หมอช่วยเรื่องอะไร 

“เก่งจริงหมอเชิญพ่อผมมาให้ได้ก่อน แสดงว่าคีย์เวิร์ดอยู่ที่พ่อ เดี๋ยวผมให้เบอร์ ในที่สุดเด็กเป็นคนวางกุศโลบายทั้งหมดแล้วก็หาวิธีการในการเชิญคุณพ่อมา” 

ครั้งแรกที่พ่อกับแม่ของตั้มมาเจอกัน คลินิคกลายเป็นสนามอารมณ์ที่กำลังเดือดพล่าน ทั้งสองต่างพ่นอารมณ์ใส่กันอย่างขาดสติ 

“มาถึงปุ๊บพ่อก็ด่าแม่เลย ปล่อยให้เลี้ยงลูกอย่างเดียวยังเลี้ยงลูกให้ดีไม่ได้ แม่สวนกลับทันทีเลย ก็วันๆ เอาแต่เมาเหล้า เคยช่วยเลี้ยงไหม หมอไม่เห็นบรรยากาศที่ดีเลย สงบสติอารมณ์กันก่อนแล้วหาข้อตกลงร่วม อันนี้หมอเล่าแบบสั้นๆ นะ คือเราทำเป็นกระบวนการแบบครอบครัวทั้งครอบครัว ให้เลือกมาเลยหนึ่งพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพ่อแม่และตัวเด็กเลือกพฤติกรรมการกลับมาบ้านให้เร็วขึ้น เพราะปกติเด็กคนนี้เขาไม่กลับบ้านเลย โดยหมอมีเงื่อนไขให้กับคุณพ่อคุณแม่ว่าถ้าเกิดเลือกพฤติกรรมที่ดีแล้วเขาทำได้ดีแล้วต้องชื่นชมเขาด้วยนะ” 

ผ่านไปหนึ่งเดือนสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เป็นครั้งแรกในชิวตที่ลูกได้ยินคำพูดชื่นชมหลุดออกมาจากปากของพ่อ แต่เป็นคำชมที่ยังไปไม่ถึงการสื่อสารพลังบวก 

“ตั้มเล่าว่ามีวันหนึ่งผมกลับมาบ้านเร็ว พ่อพูดชมว่าพายุพัดเข้าประเทศไทยรึไงวะถึงพัดเองกลับมาบ้านเร็ว ส่วนแม่เดินเข้ามาตบไหล่เบาๆ แล้วพูดว่า แม่ภูมิใจในตัวลูกมากที่ลูกกลับบ้านเร็ว รู้ไหมไอพวกที่กลับบ้านดึกๆ เนี่ยติดเน็ต ติดเกม มาเป็นชุดเลย เกิดอาการวัยรุ่นเซ็ง ต้องมานั่งฝึกพ่อแม่ต่ออีกว่าคำชื่นชมทำกันยังไง ที่หมอเล่านี่คือ 20 ปีที่แล้วนะ 

เราใช้พฤติกรรมหนึ่งพฤติกรรมคือการกลับมาบ้านเร็ว ฝึกคุณพ่อคุณแม่สื่อสารพลังบวกภายในครอบครัว เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว เกรด 0.26 ในวันนั้นมาเป็น 2.60 ในเวลาต่อมาแล้วเลิกยาเสพติดทุกประเภท  เลิกซิ่งมอเตอร์ไซค์แต่มาช่วยแม่ขายของ ครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจกับหมอมากเลยว่า มันจำเป็นต้องทำครอบครัวพลังบวกขึ้นมา” 

การสื่อสารพลังบวกในครอบครัว 

“อย่าลืมว่าวันนี้คุณได้จับถูกคนที่คุณรักและคนรอบข้างของคุณแล้วหรือยัง?”

การที่มองหาข้อดีของลูกเหมือนการจับถูกคนที่รัก จุดเริ่มต้นของการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เพื่อลดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน ซึ่งเป็นการสื่อสารพลังบวกที่คุณหมอเดวพยายามจะสร้างให้เป็นครอบครัวพลังบวกขึ้นมา 

“คำว่า Positive psychology คำว่า พลังบวก เกิดขึ้นตั้งแต่หมออยู่โรงพยาบาลเด็ก เลยถือโอกาสที่จะทำเรื่องราวของทุนชีวิต อีกอันที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดคำว่าทุนชีวิตมันก็เป็นกระบวนหนึ่งที่ทำให้เกิดครอบครัวพลังบวก” 

“แล้วยังมีโอกาสได้ทำงานระบบพี่เลี้ยงในชุมชนด้วย กับป้าอุ้มแห่งร่มเกล้าลาดกระบัง กรุงเทพฯ ในการแก้ปัญหา แล้วเอาชุมชนสลัมย้ายขึ้นตึกเอื้ออาทรเก้าตึกแนวดิ่งและชุมชนแนวราบ เราเอาเรื่องพลังบวกมาเป็นตัวตั้ง เราจะให้น้ำหนักสำคัญของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในที่สุดปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือกระบวนการที่ดึงเด็กมีส่วนร่วมโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง โดยป้าอุ้มเป็นแกนนำ เดินเคาะประตูบ้านสำรวจ 3 เรื่อง 

หนึ่ง…สำรวจทุนทางสังคม สอง…ทุนมนุษย์ในพื้นที่ของการเคหะชุมชนร่มเกล้าลาดกระบังว่ามีดีอะไรอยู่บ้าง และสาม…ไปฟังเสียงเด็กและเยาวชน ทุกๆ เสาร์อาทิตย์เรารวบรวมจิตแพทย์ กุมารแพทย์ หรือแม้กระทั่งนักมนุษย์ศาสตร์ มานั่งสังเคราะห์กันว่าครอบครัวแบบไหนที่เรียกว่า ครอบครัวพลังบวก ใช้เวลาเกือบปีเศษ จนได้เป็นห้องสมุดสัญจรมีชีวิต โดยใช้รถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวแปรรูป แล้วพัฒนาเป็นระบบพี่เลี้ยงในชุมชนร่มเกล้า เป็นที่มาของทุนชีวิตพลังบวก”  

การสำรวจทุนสังคม ทุนมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ฟังเสียงของเด็กและเยาวชน นำข้อมูลทั้งหมดมาพัฒนาเกิดเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ขึ้นมา นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จโครงการ ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง 

Tags:

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตีการสื่อสารพลังบวกในครอบครัวครอบครัวพลังบวก (Positive Parenting)ทุนชีวิต

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • Adolescent BrainSocial Issues
    The Anxious Generation EP 1: เลี้ยงลูกด้วย ‘หน้าจอ’ สัญญาณร้ายสู่คนรุ่นใหม่วัยวิตก

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ พิมพ์พาพ์

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.7 ‘การสื่อสารที่ส่งไปถึงใจลูก’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Transformative learningSocial Issues
    ขับเคลื่อนการศึกษาคุณภาพ ปั้นสมรรถนะ ‘เด็กตงห่อ’ สานต่ออนาคตของภูเก็ต

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Dek-Hoo-Jak-Kuam_nologo
    Transformative learningSocial Issues
    ‘เด็กฮู้จักควม’ คิดเป็น ทำเป็น เห็นคุณค่าในตัวเอง เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ    

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • positive-parenting-nologo
    Adolescent Brain
    Positive Parenting: เลี้ยงลูกด้วย ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ เสริมสร้างสมองที่แข็งแกร่ง

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

‘ครูโต’ ม.ล.จิราธร จิรประวัติ : โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนแค่ศิลปะ แต่สอนวิชาชีวิต
Unique Teacher
20 April 2022

‘ครูโต’ ม.ล.จิราธร จิรประวัติ : โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนแค่ศิลปะ แต่สอนวิชาชีวิต

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ศิลปิน ดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบระดับตำนานของเมืองไทย กับอีกหนึ่งบทบาทในฐานะ ‘ครูใหญ่’ แห่งโรงเรียนมหานาค ผู้มีสไตล์การสอนศิลปะที่ยึดความชอบของนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ผสมผสานกับการถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากตำราไหน
  • นอกจากถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะแล้ว ‘ครูโต’ ของลูกศิษย์ มักหาจังหวะสอดแทรกวิชาชีวิตแก่นักเรียนอยู่เสมอ เพราะแม้ว่าทักษะอาชีพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทัศนคติที่ดีจะทำให้คนเราประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
  • ครูโตสอนให้นักเรียนทุกคนกล้าที่จะเดินตามความฝันของตัวเอง แม้ระหว่างทางอาจพบเจออุปสรรค เพราะความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากความชัดเจนในสิ่งที่รัก การรู้จักนำสิ่งรอบตัวมาฝันใหม่ และการมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ

บ่ายวันหนึ่งของเดือนเมษายน ผมมีโอกาสแวะมาทำธุระที่โรงเรียนมหานาค และได้พบกับ ‘ครูโต’ ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ศิลปิน ดีไซเนอร์ และนักวาดภาพประกอบระดับตำนานของเมืองไทย   

แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมาโรงเรียนแห่งนี้ แต่ด้วย ‘เสน่ห์’ ที่ไม่เหมือนใครทำให้ผมตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้มาเยือน

เสน่ห์ที่ว่านี้คือสไตล์การสอนศิลปะที่ยึดความชอบของนักเรียนเป็นหลัก ผสมผสานกับการถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากตำราไหน จนบางครั้งผมรู้สึกว่า ‘โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนแค่ศิลปะ แต่สอนวิชาชีวิต’ 

ดังนั้นเมื่อสบโอกาส ผมจึงชวนครูโตมานั่งพูดคุยสบายๆ โดยไม่มีสคริปต์หรือเตี๊ยมกันมาก่อน ถึงเรื่องราวของ ม.ล.จิราธร ในฐานะ ‘ครูใหญ่’ แห่งโรงเรียนมหานาค 

“ครูไม่ชอบมานั่งดูก่อนว่าหนูจะถามอะไร ฉะนั้นมีอะไรก็ถามครูมาได้เลย”

เด็กน้อยผู้เก่งวิชาเดียว

ทุกอย่างเริ่มต้นในเช้าวันอาทิตย์เมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว วันนั้นเป็นวันที่ ม.ล.จิราธร หยิบหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ของคุณย่าออกมาพลิกเล่น แล้วสะดุดตากับคอลัมน์การ์ตูน เด็กน้อยจึงนำกระดาษแผ่นบางมาวางทาบบนคอลัมน์นั้น ก่อนลากเส้นตามด้วยความสนุกสนาน โดยไม่รู้ว่านี่เป็นการค้นพบพรสวรรค์ของตัวเอง

“จากนั้นตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยม ครูจำได้ว่าในหนึ่งสัปดาห์ ครูเฝ้ารอวิชาเดียวคือวิชาวาดเขียน เพราะเป็นวิชาเดียวที่ครูเรียนแล้วมีความสุข ทุกวันนี้ครูยังจำช่วงเวลาที่ครูนั่งวาดรูปแล้วครูสอนศิลปะเดินมายืนข้างๆ แล้วมองครูด้วยความอัศจรรย์ในสิ่งที่ครูทำได้เกินอายุ”

อย่างไรก็ดี ครูโตยอมรับว่าตัวเองในวัยเด็กดูไม่มีแววที่จะโตมาเป็นครูสักนิด ไล่ตั้งแต่การไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่ชอบทำการบ้าน ไม่ชอบอ่านหนังสือ รวมถึงผลการเรียนที่ไม่เก่งอะไรเลยนอกจากวิชาศิลปะวิชาเดียว

“เหมือนสวรรค์ให้ครูเก่งอยู่วิชาเดียว เลยลืมให้สมองส่วนอื่น โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ ถ้าบวกลบเกินสิบนิ้วครูก็ทำไม่ได้แล้ว พอทำไม่ได้ก็ฟาดหัวฟาดหางร้องไห้ ซึ่งโชคดีที่พ่อแม่ครูไม่ได้ว่าอะไร”

ครูโตบอกว่าพ่อแม่ของครูไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องผลการเรียนของลูกๆ แต่จะเน้นเรื่องมารยาทและการเป็นตัวของตัวเองโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แถมครูยังกล่าวติดตลกว่าพ่อของครูได้ให้ลูกทุกคนกิน ‘ยามั่นใจ’ มาตั้งแต่เด็กๆ 

“ที่ครูบอกว่าพ่อให้ครูกินยามั่นใจมาตั้งแต่เด็ก จริงๆ แล้วหมายถึงการที่พ่อคอยให้กำลังใจครูและสอนให้ครูเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ครูมีความกล้าที่จะทำสิ่งต่างๆ และมุ่งมั่นกับสิ่งที่ครูรักอย่างสุดใจขาดดิ้น”

เมื่อได้รับยามั่นใจบ่อยเข้า ครูโตก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีบุญที่เก่งวิชาเดียว เพราะไม่เพียงทำให้ครูโตค้นพบตัวเองไวกว่าคนอื่น การเก่งวิชาเดียวยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ครูโตหลุดพ้นจากกับดักทางการศึกษาที่ว่าเด็กที่เก่งคือเด็กที่ได้ A ทุกวิชา

“พอครูชัดเจนว่าครูชอบอะไร ครูก็เซ็ตระบบให้ตัวเองฝึกมือวาดรูปทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพราะขนาดสามวันยังจากนารีเป็นอื่น ดังนั้นถ้าไม่มีวินัยครูคงมาถึงทุกวันนี้ไม่ได้”   

นิสิตติวเตอร์

หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายชนิด ‘เส้นยาแดงผ่าแปด’ ครูโตก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางของการเป็นครูด้วยการสอบเอนทรานซ์เข้าไปในคณะครุศาสตร์ (เอกศิลปะ) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ตอนนั้นครูยังไม่ได้คิดเรื่องต้องเป็นครู แต่ตอนนั้นคณะศิลปกรรมของจุฬายังไม่เปิด จะเข้าจิตรกรรมก็ต้องติว ดังนั้นครูเลยต้องเข้าครุศาสตร์เพื่อให้ตัวเองได้เรียนศิลปะ ซึ่งพอได้เข้าไปเรียนในสิ่งที่ครูชอบแล้ว ครูกลับพบว่าในวิชาที่ครูชอบมันก็มีวิชาที่ครูไม่ชอบอีกเช่นกัน เขียนแบบไม่ชอบ ปั้นดินก็เลอะเทอะไม่ชอบ ไหนจะวิชาบังคับอย่างสถิติ ที่อาจารย์ถึงกับบอกครูตรงๆว่าครูเป็นเด็กที่อ่อนที่สุดนับตั้งแต่ที่ท่านเคยสอนมา (หัวเราะ)”

ถึงอย่างนั้น ม.ล.จิราธรกลับไม่ย่อท้อ แถมเอาตัวรอดในวิชาต่างๆ มาได้ พร้อมไปกับการยื่นแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) สมัครเป็นนักวาดภาพประกอบตามนิตยสารต่างๆ จนได้รับงานประจำตั้งแต่อายุ 20 ปี

“พอคนเริ่มรู้ว่าครูเขียนภาพประกอบขณะยังเป็นนิสิต พ่อแม่บางคนก็พาลูกที่กำลังจะเอนทรานซ์มาที่บ้านครูเพื่อให้ครูช่วยติวช่วยฝึกมือให้”

โรงเรียนมหานาค

หลังก้าวเท้าออกจากรั้วจุฬา ม.ล.จิราธร ยังคงประกอบอาชีพนักวาดภาพประกอบ รวมถึงได้จัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเอง ทำให้ศิลปินดังนำเงินเก็บที่ได้มาเปิดร้านเสื้อผ้าของตัวเองที่ตึก Promenade ย่านชิดลม 

“พอมีร้านเสื้อแบรนด์เล็กๆ ครูก็ทำเต็มที่ ไม่อยากให้มันเจ๊ง ครูเลยหาวิธีให้ตัวเองอยู่ร้าน ด้วยการบอกใครๆ ว่าฉันจะสอนวาดรูป จากนั้นก็เริ่มมีคนใกล้ตัวค่อยๆ มาเรียน ครูเลยเหมือนได้สอนไปด้วยทำงานไปด้วย  ทีนี้พอสอนไปเรื่อยๆ จุฬาก็ติดต่อให้ครูไปสอนวิชาภาพประกอบบ้าง หรือสอนแฟชั่นบ้าง จนล่าสุดครูได้เป็นอาจารย์สอนกราฟิก ครูเลยรู้สึกว่าครูเป็น 3 in 1 ที่ได้เป็นเจ้าของวิชาทั้งคณะนิเทศศาสตร์ ศิลปกรรม และครุศาสตร์ จนทุกวันนี้ครูชอบบอกนักศึกษาว่าครูสอนวิชานี้มาตั้งแต่ก่อนพวกหนูเกิด ซึ่งความผิดปกติของครูคือครูไม่เคยเบื่อในสิ่งที่ทำ”

แม้ครูโตจะสอนวาดภาพที่ร้านเสื้อผ้ามาตั้งแต่ปี 1993 แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อตึกที่เปิดมาราว 20 ปี ปิดให้บริการ ทำให้ครูโตต้องหาห้องเรียนแห่งใหม่ไว้สานต่องานที่ตัวเองรัก 

“ครูมาขอพี่ชายเปิดโรงเรียนสอนศิลปะที่วังมหานาค และวางศิลาฤกษ์ในปี 2014 ปีนี้ขึ้นปีที่ 9 ถ้ารวมที่เก่าที่สอนมา 20 ปี ปีหน้าโรงเรียนของครูก็ครบรอบ 30 ปี”

หลักสูตรดึงพรสวรรค์

ถ้าพูดถึงการศึกษาแบบไทยๆ ผมนึกเปรียบเปรยกับโรงงานผลิตเสื้อโหลที่ออกแบบให้ทุกคนได้ใส่เสื้อแบบเดียวกัน โดยมองข้ามและหลงลืมความต้องการของเด็กแต่ละคน ทว่าสำหรับครูโตแล้ว การศึกษาไม่มีหลักสูตรตายตัว หากมุ่งเน้นไปที่การโฟกัสนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อดึงศักยภาพออกมาให้มากที่สุด

“ตอนเด็กๆ ไม่มีใครสอนครูว่าทำไมต้องเรียนทุกวิชา จนพอครูได้มาเป็นครู ครูเลยเข้าใจว่าทุกคนต้องเรียนทุกวิชาเพราะจะได้รู้ว่าชอบวิชาอะไร ครูถึงชอบถามนักเรียนว่าหนูชอบราดหน้าหรือผัดซีอิ๊ว ไอติมกาแฟหรือไอติมช็อกโกแลต ทะเลหรือภูเขา หมาหรือแมว เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพว่าหนูคือใคร เห็นไหมว่าชีวิตมันลอกข้อสอบไม่ได้ ถ้าหนูทำตามคนอื่นทั้งที่หนูไม่ถนัด สุดท้ายหนูก็แป้กอีก” 

เช่นนี้ หากใครมาเรียนวาดรูปที่โรงเรียนมหานาค จะพบว่าครูโตมีวิธีการสอนศิลปะแบบ 1:1 โดยยึดเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง

“สมมติหนูบอกว่าจะไปเรียนต่อแฟชั่น โอเค งั้นวันนี้มาเรียนเขียนแฟชั่นกัน ครูจะถามว่าอังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา ดีไซเนอร์ที่หนูชอบที่สุดคือชาติอะไร ถ้าหนูบอกว่าฝรั่งเศส ครูก็จะถามต่อว่า Channel, Christian Dior, Louis Vuitton คือครูจะให้หนูเลือก ถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น เพราะครูอยากให้หนูเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ 

ดังนั้นถ้าหนูเลือก Christian Dior ครูก็จะให้หนูเปิดรูปชุดที่ชอบของแบรนด์นั้นขึ้นมา จากนั้นครูจะสอน Drawing ลงบนกระดาษ A4 หรือถ้าหนูอยากเขียนภาพวิวแบบเซซาน (ปอล เซซาน ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่) ครูก็จะบอกหนูว่าหนูต้องเริ่มต้นตั้งแต่ 1-10 ยังไง ท้องฟ้ามาก่อน ภูเขาตามมา ต่อด้วยต้นไม้ เห็นไหมครูตอบกว้างๆ ไม่ได้ เพราะศิลปะไม่มีกฎตัวตายแบบคณิตศาสตร์ ครูเลยต้องรู้ว่าหนูต้องการสิ่งใดแล้วครูจะสนองตอบ”

วิชาศิลปะแห่งชีวิต

ระหว่างการสอนศิลปะ ผมสังเกตว่าครูโตมักหาจังหวะสอดแทรกวิชาชีวิตแก่นักเรียนอย่างแนบเนียน ครูโตบอกว่าแม้ทักษะอาชีพจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทัศนคติที่ดีจะทำให้เราประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

“จากจุดเล็กๆ ที่ชอบวิชาเดียว โลกหมุนไป ทุกวันนี้ครูยังคงมุ่งมั่นสุดๆ เชื่อไหมว่าถ้าวันไหนไม่ได้วาดรูป ครูจะรู้สึกเหมือนตัวเองทำบาปจนต้องหากระดาษมาวาดรูปให้ตัวเองสบายใจ 

ครูถึงบอกนักเรียนเสมอว่าถ้าหนูอยากเก่ง คิดอย่างเดียวไม่ได้นะ หนูต้องมีวินัยอย่างสม่ำเสมอด้วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลครูจะพูดไม่ได้เลยถ้าครูไม่ประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียง”

สำหรับนักเรียนที่เป็นศิลปิน ผมได้ยินครูโตสอนว่า “วิชาที่ครูสอนห้ามจำแต่ให้รู้สึก และความรู้สึกเปลี่ยนได้” เพราะศิลปินเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้สึกและจินตนาการในการฝันถึงสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา 

“สิ่งที่ครูสอนว่าหนูต้องรู้สึก และความรู้สึกจำไม่ได้ เพราะถ้าหนูจำความรู้สึก หนูก็จะหยุดอยู่กับที่ หรือแม้แต่ตัวครูเอง ทุกครั้งที่เขียนรูปเสร็จ ครูจะทิ้งความรู้สึกในจิตไปหมดเลย เพราะเมื่อไหร่ที่เราหยุดนิ่งหรือติดในภาพจำ เมื่อนั้นเราจะติดกับดักของความสำเร็จและจะทำให้เราไม่พัฒนาไปไหน นอกจากการย้ำรอยเดิม”

ด้วยหัวใจของความเป็นครูและประสบการณ์ในฐานะศิลปินที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ผมสัมผัสได้ถึงการถ่ายทอดวิชาชีวิตของครูโตที่ลื่นไหล พร้อมไปกับวิธีการประเมินผลงานของนักเรียนแต่ละคนอย่างเมตตา ให้เกียรติ และไม่หักหาญน้ำใจซึ่งกันและกัน

“ครูว่าคนเราไม่สามารถพูดอะไรก็ได้ ไม่ได้นะ แบบนั้นเรียกว่าไม่มีมารยาท เราต้องให้เกียรติผู้อื่น ครูดีใจที่ครูรูดซิปปากได้ แต่ถ้ารักกันจริง ครูมีสิทธิประเมินผลให้ตัวต่อตัว แต่รับรองว่าครูจะไม่ประเมินผลในที่สาธารณะ เพราะมันคือเรื่องส่วนตัว เหมือนตอนเด็กๆ ครูสอนภาษาไทยสอนครูว่าเราไม่ควร ‘ตบหัวกลางศาลา ขอขมาที่บ้าน’ แปลว่าตอนอยู่ในที่สาธารณะไม่ควรไปหักหาญน้ำใจกัน ดังนั้นความอดทนจึงเป็นบทเรียนที่ดีมากสำหรับชีวิต”

ส่วนนักเรียนทั่วๆ ไปที่อยากวาดรูปเป็นงานอดิเรก ครูโตมักสอดแทรกวิชาชีวิตที่เรียบง่าย หากลึกซึ้งกินใจ โดยนำอาวุธประจำกายอย่าง ‘ปากกาหมึกซึม’ มาเป็นบทเรียนสำคัญ

“เวลาวาดรูปด้วยปากกาหมึกซึม ครูชอบบอกเด็กๆ ให้ติ๊งต่างว่าโลกนี้ไม่มียางลบ เพราะครูจะได้รู้ว่าครูผิดไม่ได้ ครูต้องกล้าหาญ จากนั้นครูก็ลากเส้นออกไปช้าๆ โฟกัสกับการจรดปากกาทุกขณะ เหมือนกับการใช้ชีวิตที่หนูต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ว่าหนูจะทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างมันถูกบันทึกเอาไว้หมดแล้ว”

สำเร็จ-ล้มเหลว

ในการสอนศิลปะและวิชาชีวิตให้กับนักเรียนรุ่นใหม่ๆ หลายคนมักตั้งคำถามว่าต้องมาเรียนกี่ครั้งถึงจะเก่งหรือประสบความสำเร็จ ทำให้หลายครั้งครูโตรู้สึกว่าสังคมสมัยนี้เหมือนสังคมแบบ ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ที่ทุกคนอยากรวยอยากดัง และตัดสินผลแพ้ชนะกันอย่างรวดเร็ว 

“ครูชอบศัพท์คำว่า หิวแสง ทั้งที่จริงการประสบความสำเร็จมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น ไม่งั้นทุกคนคงรวยและดังกันหมดแล้วสิ ทุกอย่างมันเร่งไม่ได้เหมือนกับต้นไม้ที่หนูต้องปลูกให้ถูกที่ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน รดน้ำ รอเวลาที่สุกงอม อย่างครูก็ต้วมเตี้ยมของครูไปเรื่อยๆ กว่าจะเป็นที่ยอมรับ แต่บางทีคนอาจไม่เข้าใจเพราะคิดว่าทุกอย่างง่ายเหมือนกับเกมที่สามารถตัดสินแพ้ชนะกันตอนนั้น”  

แม้สภาพสังคมจะกดดันให้คนรุ่นใหม่ไขว่คว้าหาความสำเร็จจนเกิด ‘ดาวเด่น’ และ ‘ดาวดับ’ มากมาย แต่ในมุมของครูโต ‘การประสบความสำเร็จ’ นั้นไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร 

“สำเร็จหรือไม่สำเร็จมันต้องดูกันยาวๆ ครูไม่อยากให้นักเรียนของครูดังแบบพลุที่สว่างวาบแล้วก็หายไป เหมือนหลายคนชอบเอาเงินทองเป็นที่ตั้ง แต่ครูจะสอนให้นักเรียนเอาฉันทะเป็นที่ตั้ง”

ขณะเดียวกันครูโตได้สอนให้นักเรียนทุกคนกล้าที่จะเดินตามความฝันของตัวเอง แม้ระหว่างทางอาจต้องสะดุดหกล้มบ้างก็ตาม

“ถ้าหนูสังเกตตรงทางขึ้นโรงเรียน หนูจะเห็นคำว่า ‘sometimes you win , sometimes you learn.’ ซึ่งครูชอบมาก เลยเอามาติดไว้ให้ลูกศิษย์ได้อ่าน เพราะสำหรับครู ครูไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ครูรู้สึกว่ามันเป็นบทเรียนและประสบการณ์ชีวิตมากกว่า ดังนั้น sometimes I win , sometimes I learn. ”

หลังพูดคุยกับครูโตเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง ผมรู้สึกได้ถึงแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้น ครูโตย้ำเสมอว่า ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากความชัดเจนในสิ่งที่รัก การรู้จักนำสิ่งรอบตัวมาฝันใหม่ และการมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ

รักและให้เกียรติตัวเอง

ก่อนจากกันวันนั้น ผมถามครูโตในวัยย่าง 63 ว่ามีแผนเกษียณตัวเองหรือไม่ ครูโตยิ้มอย่างเมตตาก่อนบอกกับผมว่าจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว

“งานของครูไม่ต้องรีไทร์ ครูเข้าข้างตัวเองว่าครูยิ่งแก่ยิ่งเก๋า ครูเอนจอยกับปัจจุบันไปเรื่อยๆ และครูก็ไม่หยุดอยู่กับที่ งานของครูเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ครูไม่รู้คนอื่นทำงานยังไง แต่ครูเซ็ตระบบให้ตัวเองมีวินัยอย่างน่าอัศจรรย์ เหมือนเวลาเปิดทีวีดูแฟชั่นโชว์แล้วเห็นฟอร์ม สี เท็กซ์เจอร์ เสื้อผ้า หน้าผม หรือแม้แต่การแต่งหน้า ครูจะรู้สึกโอ้โห! องค์ประกอบนี้สวยจังแล้วรีบหยิบสมุดมาสเก็ตช์ในแบบของครูทันที คือทุกเวลานาทีสิ่งที่ครูเห็นสามารถเป็นแรงบันดาลใจในงานเขียนรูปได้หมดเลย 

ดังนั้น ประโยคที่ว่ายังไม่มีแรงบันดาลใจ ยังไม่มีอารมณ์เอาไว้ก่อน จะไม่มีวันออกจากปากครูเลย เพราะครูรักและให้เกียรติตัวเองมาก”

นอกจากจะรักและให้เกียรติตัวเองแล้ว ในฐานะที่เป็นครูในอุดมคติของใครหลายๆ คน ครูโตทิ้งท้ายสั้นๆ ว่านักเรียนที่ดีก็ควรรักและให้เกียรติตัวเองด้วยเช่นกัน 

“ครูไม่อยากได้นักเรียนที่มาเรียนกับครูเพื่อขอถ่ายรูปลงสื่อ ทำเหมือนครูเป็นมาการองที่ฉันมาลองแล้วหนหนึ่ง ครูไม่อยากได้แบบนั้น มันไม่มีประโยชน์เลย ครูอยากได้คนที่มาเรียนเพราะอยากเป็นมืออาชีพหรืออยากมีงานอดิเรก ครูชอบนักเรียนที่ตั้งใจเรียนและมาเรียนอย่างสม่ำเสมอ”

Tags:

ศิลปะวิชาชีวิตม.ล.จิราธร จิรประวัติครูโตการสอน

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • EF (executive function)
    ‘Process Art’ ศิลปะที่เน้นกระบวนการมากกว่าผลงานชิ้นโบว์แดง เสริมทักษะ EF ในเด็กปฐมวัย: ครูบุญทิพา คุ้มเนตร โรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฏร์)

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Everyone can be an EducatorHow to enjoy life
    ปลดล็อกความรู้สึกภายในด้วย ‘ศิลปะ’:  เส้นทางกระบวนกรของ ครูชัย-ศักดิ์ชัย ศรีวัฒนาปิติกุล

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • Learning Theory
    ‘ครูคือคนที่สร้างความแตกต่าง’ ความทรงจำ ตัวตน และจุดยืนการสอน

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    วิจารณ์ พานิช: ใช้ศิลปะและการเล่นกีฬากระตุ้นการเจริญงอกงามของสมองเด็ก

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ บัว คำดี

  • Space
    ปัตตานี ดีโคตร: เดินเล่นในย่านส่วนตัว แต่เรียนรู้แบบส่วนรวม

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร

“จริงๆ ตอนนั้นก็ดีนะ” กับดักจิตใจรสขมปร่าจากอดีตอันแสนหวาน
How to enjoy life
20 April 2022

“จริงๆ ตอนนั้นก็ดีนะ” กับดักจิตใจรสขมปร่าจากอดีตอันแสนหวาน

เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้นได้ก็คงดี… ประโยคนี้อาจผุดขึ้นในหัวของเราในตอนที่กำลังหวนย้อนวันวานนึกถึงอดีตที่น่าจดจำ ความสดใสตอนเด็กๆ ความสนุกสนานในช่วงวัยรุ่น แค่คิดก็อยากจะย้อนๆ กลับไปสนุกสุดเหวี่ยงให้มันจบๆ เรื่อง อยากจะหนีจากปัจจุบันขณะที่เต็มไปด้วยความเครียดและภาระหนักอึ้ง
  • ในคราแรก การหวนนึกถึงอดีตอันหอมหวานก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่แย่ เพราะการแอบนั่งฝันกลางวันแบบนี้นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่ใครๆ ก็ทำกัน แถมยังเป็นเหมือนยาชั้นดีที่ช่วยให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปในวันที่หัวใจอ่อนล้า
  • แต่เมื่อนานวันเข้า เราอาจเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมชีวิตของเรามาถึงจุดนี้ได้ ทั้งที่ตอนนั้นอะไรๆ ก็ดูจะเป็นใจดูจะไปได้สวย ความไม่พอใจกับความเป็นอยู่ในปัจจุบันจะทำให้เราเริ่มเปรียบเทียบตัวเราตอนนี้กับในอดีต และหากเราเริ่มคิดแบบนี้ซ้ำๆ เราก็มีโอกาสเข้าข่ายเสี่ยงที่จะมีสภาวะซึมเศร้าได้

ย้อนกลับไปช่วงห้าถึงสิบปีก่อนหน้านี้ คำว่า Nostalgia (การหวนนึกถึงอดีต) ได้เริ่มแพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางสำหรับคนไทย เราเริ่มใช้คำคำนี้ในบริบทต่างๆ ที่แสดงถึงการหวนนึกถึงความทรงจำสีจางแสนหวาน ช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทำให้อบอุ่นใจ 

คำว่า Nostalgia ถูกบัญญัติขึ้นโดยนายแพทย์ทหารชาวสวิตเซอร์แลนด์ Johannes Hofer โดยในแรกเริ่มเดิมที สภาวะนี้ถูกมองว่าเป็นอาการทางประสาท เนื่องจากอาการหวนนึกถึงอดีตนั้นในช่วงเวลานั้นมักพบในทหารซึ่งส่วนมากเป็นคนที่พลัดถิ่น (ถูกมองว่ามีอาการร่วมกันกับ Homesick) ในเวลาต่อมา Nostalgia ถูกพบในวงกว้างมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ แม้กระทั่งเด็กอายุ 7 ขวบที่นึกถึงความทรงจำในวันที่ไปเที่ยวกับครอบครัว 

การคิดถึงอดีตตามที่เรารับรู้มาและเข้าใจอาจมีความหมายในเชิงบวก เสน่ห์ของนอสทัลเจียคือความปลอดภัย เพราะเหตุการณ์ในความทรงจำนั้นได้ผ่านไปแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับมันอีกแล้ว นอกจากนึกถึงและไตร่ตรอง เหมือนกับหนังสือหรือภาพยนตร์ที่เราเคยดูมาก่อนและรู้ว่ามันจบลงอย่างไรและย้อนกลับมาดูอีกเพื่อวิเคราะห์ทบทวนหรือเพื่อความสบายใจ 

หลายคนอาจใช้ Nostalgia เป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลา พาตัวเองกลับไปในช่วงเวลาที่แสนสุขสันต์ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ Nostalgia มีความเย้ายวนชวนฝันมากขึ้น แต่เหตุผลอะไรที่ทำให้การหวนคิดถึงอดีตเป็นเรื่องขมขื่น ในเมื่อเราแค่นึกถึงความทรงจำสุขที่เคยเกิดขึ้น เรามาทำความเข้าใจกับอดีตรสหวานปนขมนี้กัน 

ดาบสองคมของ Nostalgia 

Nostalgia เป็นอาการประหลาด ในขณะที่เรานึกถึงอดีตที่มีความสุข เราก็รู้สึกขมขื่นที่ไม่สามารถฉกฉวยเอาช่วงเวลาเหล่านั้นไว้ให้คงอยู่ตลอดไปได้จริงๆ เราอาจมีความสุขและมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง สภาวะนี้ก็อาจทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังกับทางเลือกที่ทำให้ปัจจุบันของเราไม่สุขสันต์เท่าครั้งวันวาน ทำให้เรารู้สึกอาวรณ์อดีต เพราะรู้ว่าไม่สามารถย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ดีเหล่านั้นได้อีกแล้ว แย่ไปกว่านั้นคือเราอาจเพิกเฉยต่อความสุขของตัวเองในปัจจุบันไปด้วย แม้ว่าในอนาคตข้างหน้า วันนี้ก็จะกลายเป็นอดีตเหมือนกัน 

“ฉันหวังว่ามันจะมีวิธีที่เราจะได้รู้ว่าเราได้ใช้ช่วงเวลาที่แสนสุขสันต์นั้นก่อนที่จะต้องทิ้งความทรงจำพวกนั้นไปจริงๆ” 

คำพูดในข้างต้นมาจากตัวละคร Andy Bernard จากซีรีส์เรื่อง The Office ซึ่งตรงกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนเรามักจะรับรู้ว่าอดีตของเราดีกว่าปัจจุบันของตัวเอง แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้น 

มนุษย์เรามักมองข้ามความเจ็บปวดที่ได้พบเจอในอดีตและเชื่อมั่นในความทรงจำที่เลือนราง เป็นปกติที่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทรงจำก็จะเป็นแค่ภาพในอดีตที่ไม่สมบูรณ์ ชิ้นส่วนที่ยังคงอยู่มักจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเช่นกัน แต่สมองของเราก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ความทรงจำนุ่มนวลและน่าดึงดูดใจมากกว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง

ตัวอย่างเช่น ย้อนกลับไปในสมัยเรียน ตอนที่จับกลุ่มนั่งคุยเล่นกับเพื่อนๆ หลังเลิก มีลมยามเย็นที่พัดพาและอบอวลไปด้วยกลิ่นของฝน เคล้าเสียงหัวเราะของเพื่อนๆ เราอาจคิดว่า “ถ้าตอนนี้ชีวิตเรียบง่ายเหมือนตอนนั้นก็คงจะดี” แต่เราอาจจำไม่ได้เลยว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เราอาจทะเลาะกับพ่อแม่เป็นประจำ อาจเจอกับความยากลำบากในการรักษาเกรดให้สูงพอที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในฝัน อาจเจ็บปวดจากการอกหักครั้งแรก

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะรู้สึกว่าแล้วมันผิดอะไรที่เราจะเลือกจดจำแค่ช่วงเวลาดีๆ คำตอบคือ ‘ไม่ผิด’ แต่การจมอยู่กับอดีตที่เราสร้างขึ้นใหม่ในอุดมคติของตัวเองนั้นจะทำให้เราเปรียบเทียบวันปัจจุบันกับอดีตอยู่เสมอ และไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข 

การหวนนึกถึงอดีตจะมีประโยชน์อะไรหากเรื่องที่เคยทำให้เรามีความสุขกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เราร้องไห้

อาจกล่าวได้ว่า Nostalgia เป็นอารมณ์ที่ขมขื่น ด้านหนึ่งมันทำให้เราสบายใจ ทำให้เรารู้สึกรักและผูกพันเมื่อนึกถึงคนที่เรารักห่วงใยเราตลอดเวลาหรือช่วงเวลาในชีวิตที่เรารู้สึกว่าทุกอย่างดีพร้อมไปหมด แต่อีกด้าน เรากลับรู้สึกว่าเสียใจที่สิ่งเหล่านั้นจะหายไปในสักวัน และกลัวว่าเราจะสูญเสียและไม่มีวันได้สัมผัสเรื่องราวเหล่านั้นอีก และท้ายที่สุด ความคาดหวังเหล่านี้จะส่งผลต่อความทุกข์ทางอารมณ์และการใช้ชีวิตในอนาคตต่อไปได้ในที่สุด

คิดถึงได้แต่อย่าเสียใจ

ในฐานะมนุษย์ เราทุกคนต่างมีสัญชาตญาณตามธรรมชาติคือการเปรียบเทียบปัจจุบันกับอดีตเพื่อวางแผนสำหรับอนาคต เพราะอนาคตคือความไม่แน่นอนและเป็นสิ่งที่ทำให้เรากังวล และมนุษย์เรามีความเชื่อว่าความไม่แน่นอนนั้นเป็นอันตราย Nostalgia จึงถือเป็นเรื่องปกติสามัญธรรมดา เรานึกถึงอดีตแสนหวานได้แต่ให้เป็นครั้งคราว การคิดถึงซ้ำไปซ้ำมาครั้งแล้วครั้งเล่ามีแต่จะทำให้เรายิ่งจมลงไปอดีตที่เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว

ช่วงเวลาแห่งความคิดถึงอาจเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงสิ่งที่มีความหมายต่อเรา อาจย้ำให้เราจำได้ว่าเราเคยเป็นใคร เรากำลังเป็นใคร และเราต้องการจะเป็นใคร 

หากเราเข้าใจ Nostalgia ได้ เราจะเข้าใจว่าความคิดถึงนั้นเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว และบางครั้งก็ช่างไร้ประโยชน์ 

แม้ว่าเราอาจรู้สึกว่าเราไม่สามารถกลับไปในอดีตนั้นหรือสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้อีก แต่ในความจริง เราไม่จำเป็นต้องอาลัยอาวรณ์กับอดีตที่จะไม่ย้อนมาอีกแล้ว เราสามารถที่จะสร้างความทรงจำใหม่ๆ มาแทนที่ได้

มันอาจมีช่วงเวลาที่เรารู้สึกล้มเหลว ไร้จุดหมายในชีวิต เมื่อไม่มีทางข้างหน้าให้มองไปเราจึงเลือกที่จะมองย้อนกลับมาในอดีต มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเส้นเวลาต่อเนื่อง เรามักจะใช้ประโยชน์จากความทรงจำในอดีตเพื่อความสบายใจเพื่อทำให้จิตใจที่วิตกกังวลสงบลง และเตือนเราว่าเรามีคุณค่าที่แท้จริง

แต่เราไม่ควรจมอยู่กับอดีต จมอยู่ในความทรงจำสีจางจนหลงลืมตัวตนของตัวเองไป เราสามารถชื่นชมอดีตที่สวยงามได้ แต่เราต้องให้ความสนใจกับปัจจุบันด้วย 

จำไว้ว่าเราจะไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ได้ ถ้าเรายังย่ำอยู่กับบทเดิม อย่าปล่อยให้ตัวเองติดอยู่ในวังวนของ Nostalgia เกี่ยวกับอดีตที่จะทำให้รู้สึกผิดหวังและพ่ายแพ้

ชีวิตของเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่มีชีวิตของใครที่สมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถภูมิใจกับสิ่งที่มีในตอนนี้ได้ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย อะไรก็ตามที่ชีวิตเลือกให้ หรือเราเลือกมาด้วยตัวเอง การสูญเสียผู้คนรอบตัว เวลา และเสี้ยวส่วนต่างๆ ของชีวิต อาจใหญ่บ้างเล็กบ้าง อาจทำให้บางส่วนของเราบิดเบี้ยวหรือเว้าแหว่งไปบ้าง แต่ทุกความสุขและความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้หล่อหลอมให้เราเป็นเราอย่างในทุกวันนี้ ความทรงจำในอดีตเป็นเพียงอีกหนึ่งเครื่องย้ำเตือนว่าเราเปลี่ยนไปอย่างไรและกลายเป็นตัวตนแบบในทุกวันนี้ได้อย่างไร

Nostalgia แสดงถึงความงดงามของชีวิตในอดีต อย่างไรก็ตาม เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าความทรงจำของเรานั้นแม่นยำแค่ไหน เพราะความรู้สึกดีๆ ที่มีต่ออดีตสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราจดจำสิ่งต่างๆ ได้ 

ดังนั้น ความคิดถึงจึงเป็นอุดมคติของชีวิตที่เราทำได้เพียงชื่นชมเท่านั้น อย่าคิดถึงอดีตมากเกินไป อย่ายึดติด ทำวันนี้ให้ดีในแบบที่เราอยากให้เป็น เพราะท้ายที่สุดแล้ว วันนี้ของเราก็จะกลายเป็นอดีตแสนหวานต่อไปในอนาคต

อ้างอิง

Those Happy Golden Years: Coping with Memories That Bring More Pain Than Peace

Nostalgia – is Missing the Past Good or Bad for You?

Does Nostalgia Fuel Depression?

Why Do I Miss My Childhood? Understanding Childhood Nostalgia Depression

Why Does Nostalgia Make You Sad Sometimes?

Tags:

ปม(trauma)Nostalgiaความทรงจำในอดีต

Author:

illustrator

จณิสตา ธนาธรชัย

นัก (ทดลอง) เขียนธรรมดาและนักอ่านวรรณกรรม(ฝึกหัด) ชื่นชอบหนังแอคชั่น เรื่องลี้ลับ และการ์ตูนslam dunk

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Early childhoodFamily Psychology
    “โรค” จากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ (2): หอบหืด ประจำเดือนผิดปกติ โรคกลัวผู้หญิง / ผู้ชาย มาจากการถูกกักขังเสรีภาพในนามของความรัก

    เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Myth/Life/CrisisMovie
    แด่วันที่เศร้าและหดหู่: เพียงคนธรรมดาที่มีบาดแผลคล้ายกันได้แบ่งปันและโอบอุ้ม

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Healing the trauma
    ปมฝังลึกที่หลงลืมไป อาจไม่เคยสูญหายและยังมีผลกับเราอยู่?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • Education trend
    ถึงเวลาเอาคะแนน ‘ยกมือตอบในห้อง’ ออกได้หรือยัง?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

LGBTQ+ ความปกติ ธรรมชาติ ศีลธรรม และความเข้าใจ
Life classroom
19 April 2022

LGBTQ+ ความปกติ ธรรมชาติ ศีลธรรม และความเข้าใจ

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กจนยากที่จะเชื่อว่า LGBTQ+ คือสิ่งปกติทั่วไป หลายๆ คนมักจะบอกว่า ธรรมชาติสร้างให้มีชายหญิงมาคู่กันชายจะคู่กับหญิงเพื่อให้มีลูกกันได้ รวมถึงคำสอนหรือความเชื่อทางศาสนาที่กล่าวว่า LGBTQ+ คือสิ่งผิด ความคิดนี้เป็นเหมือนแก่นสำคัญที่ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ไม่ถูกต้อง
  • แต่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาเพื่อมีลูกเท่านั้น ‘มนุษย์ต้องการความรัก’ และหากรักไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะมีลูกหรือไม่ แล้วร่างกายจะเป็นเพศใดนั้นจะขัดขวางไม่ให้รักกันได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น ‘รัก’ ของมนุษย์ไม่ได้จำกัดความสุขแค่จากเพศสัมพันธ์ บางคนมีเพศวิถีที่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับเพศใดๆ เลย แต่ก็ต้องการรักมนุษย์สักคน และนั่นก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก
  • ใครจะรักเพศไหน อยากเป็นเพศไหน หรือการยอมรับเรื่องนี้จะไปขัดขวางสันติสุขของสังคมมนุษย์อย่างไร เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และไม่น่าขัดขวางแก่นสำคัญของคุณงามความดีของศาสนาที่ทุกแห่งมีร่วมกันคือการทำให้สังคมสงบสุข

ช่วงไม่กี่ปีมานี้เราคงได้ยินข่าวเรื่องการรณรงค์ความเท่าเทียมของ LGBTQ+ (ย่อจากเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล ชายหรือหญิงข้ามเพศ บุคคลที่ไม่แน่ใจในเพศวิถี และเพศวิถีอื่นๆ) และความพยายามเปลี่ยนค่านิยมว่า ‘เพศวิถี’ หรือ การจะมีความรักกับเพศไหนหรือตนเองอยากทำตัวให้เหมือนเพศอะไรนั้นคืออิสระ การไม่ใช่ ‘ชายจริงหญิงแท้’ ไม่ใช่สิ่งที่แปลกหรือผิดปกติ เป็นเรื่องที่สังคมควรยอมรับ ซึ่งหลาย ๆ ประเทศก็ให้การตอบรับกับเรื่องนี้เป็นอย่างดี เช่น มีการแก้ไขกฎหมายให้แต่งงานกับบุคคลที่มีเพศทางร่างกายเดียวกันได้ มีการอนุญาตคู่รักที่มีเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรม ในวงการสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ที่มีเนื้อเรื่องเน้นถึงจุดยืนทางสังคมของ LGBTQ+ มากขึ้น นอกจากนี้ในมุมมองการแพทย์สมัยใหม่ เช่น ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (DSM) ที่วงการแพทย์ของอเมริกาใช้ในการวินิจฉัยโรคนั้นระบุว่า LGBTQ+ ไม่ใช่โรค ไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นเหมือนรสนิยมหรือความชอบส่วนตัวเท่านั้น ไม่ควรมองว่าคนกลุ่มนี้ต้อง ‘รักษา’ หรือ ‘บำบัด’ ให้หาย เพราะไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือไม่ดีแต่อย่างใดในเชิงการแพทย์

อย่างไรก็ตามหากเรื่อง LGBTQ+ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคมระดับใหญ่ๆ เช่น ใน ‘ระดับประเทศ’ แต่หากเรามองลึกลงไปในสังคมระดับย่อยๆ คือ ‘ครอบครัว’ เรากลับพบว่าในหลายๆ บ้าน เรื่อง LGBTQ+ เป็นหัวข้อต้องห้าม เป็นหัวข้อที่ต้องเก็บเป็นความลับ บางคนเก็บเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เด็กจนโตก็ไม่คิดจะบอกพ่อแม่ว่าตนเองเป็น LGBTQ+ เพราะรู้ว่าพูดไปพ่อแม่ก็ไม่มีวันยอมรับ ยุคสมัยผ่านไปผมเชื่อว่าคนก็น่าจะเปิดรับมากขึ้น และพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่หลายๆ ท่านก็ไม่ได้คิดรังเกียจหากไปเจอ LGBTQ+ คนอื่นๆ แต่หากเป็นลูกหลานตนเองแล้ว ให้ตายก็ต้องเป็นชายจริงหญิงแท้ ห้ามเป็น LGBTQ+ เด็ดขาด

การยอมรับไม่ได้ในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนครับ เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และคนที่เกิดมาในยุคสมัยที่แตกต่างกันก็ให้ความสำคัญในเรื่องหนึ่งๆ แตกต่างกันออกไป จริงอยู่ที่บางคนปรับตัวหรือเปลี่ยนความคิดได้ แต่บางคนก็ไม่อาจฝืนยอมรับสิ่งที่ตัวเองยึดถือในใจง่ายๆ ในเมื่อสมัยเขายังเด็ก ยังวัยรุ่น ไม่มีใครรับเรื่องนี้ได้ หากเป็นคนอื่นยังพอเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่กลับคนใกล้ตัว มันยากจริงๆ ที่จะเปลี่ยนมุมมองยอมรับได้

ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กจนยากที่จะเชื่อว่า LGBTQ+ คือสิ่งปกติทั่วไป หลายๆ คนมักจะบอกว่าธรรมชาติสร้างให้มีชายหญิงมาคู่กันชายจะคู่กับหญิงเพื่อให้มีลูกกันได้ จะมาผิดไปจากนี้ไม่ได้ และหลายๆ ท่านอาจมีเหตุผลว่า คำสอนหรือความเชื่อทางศาสนาที่กล่าวว่า LGBTQ+ คือสิ่งผิด เหตุผลเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนหนักแน่นไม่ให้เปลี่ยนใจ ไม่ว่าสังคมปัจจุบันจะรณรงค์ให้ยอมรับเรื่องนี้แค่ไหนก็ตาม แต่ความคิดนี้เป็นเหมือนแก่นสำคัญที่ไม่ว่าจะมองอย่างไร LGBTQ+ ก็ไม่ถูกต้อง

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้าน กลับเป็นคนที่เราไม่อาจเปิดเผยสิ่งสำคัญอย่างเพศวิถีให้เขาได้รู้ ว่าจริงๆ ฉันรักคนแบบไหน หรือฉันอยากเป็นเพศอะไร เพราะบุคคลที่คนเรามักจะต้องการให้ยอมรับในสิ่งที่ตัวเราเป็นที่สุดก็คือครอบครัว 

แต่พอเป็นเรื่องนี้หลายๆ คนพบว่าคนอื่นรับได้ แต่คนในครอบครัวรับไม่ได้ และนั่นสร้างความทุกข์ใจมหาศาลแก่ทั้งตัวเขาเอง และคนที่รับไม่ได้ด้วย ผมเลยเขียนบทความนี้เหมือนเป็นการชวนพ่อแม่ ผู้ใหญ่ ทุกๆ ท่านที่รับเรื่อง LGBTQ+ ไม่ได้มาคุยกันสักนิดว่า มันพอจะมีทางคิดไปเป็นอื่นได้ไหม ไม่ต้องถึงกับถอนรากความเชื่อของตนเอง แต่มาดูกันว่าสิ่งที่ตนเองเชื่อแต่เดิมนั้น พอจะปรับเปลี่ยนไปให้ยืดหยุ่นกว่านี้ได้หรือไม่ หากลองคิดถึงเหตุผล และมองกันในมุมอื่นๆ ให้กว้างยิ่งขึ้น 

LGBTQ+ เป็นเรื่องผิดธรรมชาติจริงหรือ 

ก่อนจะคุยกันในประเด็นนี้ เราคงต้องคุยกันก่อนว่า ‘ธรรมชาติ’ หมายถึงอะไร ในที่นี้ตามความเข้าใจของคนทั่วไปคือ ถูกสร้างมาให้เป็นแบบนั้น และเป็นสิ่งที่ทำหรือเกิดขึ้นทั่วไป ประเด็นแรกนั้นเหมือนจะเป็นประเด็นที่วิทยาศาสตร์ตอบคำถามให้ได้อยู่แล้ว เพราะหากมองร่างกายและการสืบพันธุ์ อาจจะสรุปได้ว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นชายและหญิงจะต้องคู่กัน เพราะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่รองรับกัน คนเพศเดียวกันไม่อาจมีลูกด้วยกันได้ แต่ถ้าเราจะมองเช่นนั้น อาจจะทำให้การมีชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ นั้นแคบไปสักหน่อยตรงที่เน้นที่การมีลูกเท่านั้น

หากพูดถึงธรรมชาติ เราอาจจะต้องย้อนไปดูสัตว์อื่นๆ ที่ไม่มี ‘สิ่งปรุงแต่ง’ แบบมนุษย์ เรื่องที่น่าแปลกใจคือการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องที่พบได้เป็นปกติตามธรรมชาติของสัตว์ ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่คนเรานิยมเรียกว่า ‘สิ่งมีชีวิตชั้นสูง’ อย่าง สิงโต ยีราฟ สุนัข แกะ แมวน้ำ หมาป่า โลมา (ที่เรายอมรับว่าเป็นสัตว์ที่ไอคิวสูงมาก) จนถึงลิงตั้งแต่มีหางหรือไม่มีหางอย่างชิมแปนซี ญาติที่ใกล้ที่สุดของมนุษย์ ต่างมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ถึงอาจจะไม่ใช่ทุกตัว แต่เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป 

คำถามที่ตามมาคือแล้วสัตว์พวกนี้จะมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันทำไมให้เสียเวลา มีอะไรกันแล้วก็ไม่มีลูกอยู่ดี จริงอยู่ที่ร่างกายของเพศเดียวกันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีลูกด้วยกัน แต่การมีเพศสัมพันธ์ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์คือแค่มีลูก แต่คือเป็นกิจกรรมที่มีความสุขกิจกรรมหนึ่ง บางครั้งสัตว์เลยเลือกจะ ‘มีความสุข’ กับสัตว์เพศเดียวกันแทน และสรีระของสัตว์ต่างก็รองรับการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันได้เป็นธรรมชาติ ตัวที่มีพฤติกรรมแบบนี้ไม่ถือว่าแปลกหรือไม่เป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามฟังแล้วอาจจะรู้สึกขัดๆ ที่ผมยกเรื่องของสัตว์เพื่อมาบอกว่าสิ่งไหนเป็นธรรมชาติ เพราะบางคนอาจมองว่า มนุษย์ก็ส่วนมนุษย์ เราไม่เหมือนสัตว์ แต่หากมองในแง่นั้นแล้ว ความพึงพอใจว่าจะรักเพศไหนก็ได้กลับยิ่งดูสมเหตุสมผลมากกว่าในมุมมองของสัตว์เสียอีก เพราะในยุคนี้น่าจะเหลือน้อยเต็มทนกับความคิดว่า ‘ทุกคนต้องมีลูก’ ใครอยากมีหากพร้อมมีก็มีเถิด แต่ไม่อยากหรือไม่พร้อมมีก็อย่ามีจะดีกว่า 

มนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาเพื่อมีลูกเท่านั้น และผมเชื่อว่าแทบทุกคนคงเห็นด้วยว่า ‘มนุษย์ต้องการความรัก’ ดังนั้นมันก็น่าจะสมเหตุสมผลว่า คนที่ไม่อยากมีลูกก็ต้องการความรัก และหากรักไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะมีลูกหรือไม่ แล้วร่างกายจะเป็นเพศใดนั้นจะขัดขวางไม่ให้รักกันได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้น ‘รัก’ ของมนุษย์ไม่ได้จำกัดความสุขแค่จากเพศสัมพันธ์ บางคนมีเพศวิถีที่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับเพศใดๆ เลย แต่ก็ต้องการรักมนุษย์สักคน และนั่นก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก เอาจริงๆ หากเราพูดว่าเรื่องรักเท่ากับเพศสัมพันธ์กลับน่าจะฟังดูระคายหูคนส่วนใหญ่เสียมากกว่าจริงไหมครับ 

มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่เราให้ค่าสิ่งนามธรรมต่างๆ มากมายในรูปแบบของความสวยงาม ความดีงามต่างๆ และผมเชื่อว่ารักก็คือหนึ่งในสิ่งมีค่าที่มนุษย์ทั้งโลกเห็นว่าสำคัญและสวยงาม 

ดังนั้นหากรักคือความรู้สึกผูกพัน รู้สึกดีต่อกัน อยากใกล้ชิด สนิทสนม หรือด้วยความรู้สึกอื่นๆ เรื่องนี้หากลองคิดดูแล้ว ร่างกายจะเป็นอย่างไร ถูกสร้างมาแบบไหนก็แทบจะไม่เกี่ยวกับประเด็นนี้เลย หากคนหนึ่งจะมีรักกับใครสักคนโดยที่เขาไม่ได้อยากมีลูกกับคนคนนั้น มันก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ

ถึงผมพยายามบอกว่า LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติ แต่ผมไม่ได้ต้องการสื่อว่า เพราะเรื่องนี้เป็นธรรมชาติเลยต้องถูกต้อง แต่ผมอยากจะสื่อว่าธรรมชาติไม่เกี่ยวอะไรกับความถูกต้องมากกว่า

เดวิด ฮูม (David Hume) นักปรัชญาชาวสก็อตมีแง่คิดเกี่ยววิทยาศาสตร์ในเรื่องความถูกต้องชั่วดีที่น่าสนใจ และเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับในแวดวงจริยธรรมทาง ผมเลยขอมาแบ่งปันไว้ในที่นี้ โดยวิทยาศาสตร์นั้นขีดเส้นแบ่ง ‘ศีลธรรม’ ว่าเป็นคนละมิติกับ ‘ธรรมชาติ’ เราใช้วิทยาศาสตร์ตัดสินความจริงของธรรมชาติได้ แต่ใช้ตัดสินความผิดชอบชั่วดีไม่ได้ และนั่นอาจจะเป็นคำตอบให้เราได้ ว่า ‘ธรรมชาติ’ ไม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องของความถูกต้องหรือความเหมาะสมเรื่อง LGBTQ+ เลย ดังนั้นการจะบอกว่าร่างกายเป็นแบบไหนไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่าควรทำสิ่งต่าง ๆ (เช่น มีความรัก)

เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี ‘อารยธรรม’ เราไม่ได้ทำทุกอย่างตามธรรมชาติหรือสัญชาตญาณแบบสัตว์ แต่มนุษย์สร้างสรรค์แนวคิดที่เรามองว่า ‘ถูกต้อง’ มากมายที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หลายครั้งแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้ตรงกับธรรมชาติเลยหากเรามองตามวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดแล้ว พฤติกรรมอย่างการโกง การมีชู้ การเข่นฆ่า การใช้ความรุนแรง สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดทั้งนั้น แต่พอสังคมเปลี่ยนไป เราไม่ต้องใช้สัญชาตญาณดิบเพื่อความอยู่รอด เรื่องที่ผมกล่าวมาด้านบนเลยไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ปัจจุบันยอมรับแล้ว เพราะมันขัดกับความสงบสุขของมนุษย์ และทำให้สังคมวุ่นวาย 

หากเรานำมุมมองเดียวกันมาใช้กับเรื่องความรัก การมีรักเพื่อที่จะมีลูก คือธรรมชาติตามสัญชาตญาณ แต่การมีรักเพื่อมีความสุขหรือเพื่อคุณค่าอื่นๆ นั้นคืออารยธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในภายหลัง ดังนั้นหากจะมอง ‘แง่มุมของรักในแบบมนุษย์’ เราแทบไม่ต้องมองเลยว่าร่างกายเราเป็นแบบไหน ดังนั้นเราไม่อาจจะใช้เพศสภาพทางร่างกายมาตัดสินมนุษย์ที่มีความรักได้เลยว่า รักกับเพศแบบไหนถึงจะถูกต้อง เพราะมันไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับความสงบสุขที่อารยธรรมของมนุษย์พัฒนาขึ้น

LGBTQ+ คือความผิดบาปหรือไม่ 

หากวิทยาศาสตร์ตัดสินใจความถูกผิดไม่ได้ หลายๆ คนน่าจะคิดว่า ถ้าเช่นนั้นความถูกผิดก็ควรยกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น หากมองในแง่นี้ก็อาจจะไม่ผิดเสียทีเดียวครับ เราเลยมาคุยกันต่อว่า LGBTQ+ คือความผิดบาปทางศาสนาหรือไม่

จริงๆ แล้วผมหนักใจที่จะคุยถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เพราะศาสนานั้นมีทั้งส่วนที่เป็นเหตุผลที่อธิบายได้ และส่วนที่เป็นศรัทธาที่เชื่อมั่นในความดีที่ยึดถือโดยไม่จำเป็นต้องอธิบาย ซึ่งประเด็นหลังนั้นต่างคนต่างมอง ต่างคนต่างเชื่อ การจะถกเถียงกันเรื่องศาสนาเลยมักทำให้ทะเลาะผิดใจกันเปล่าๆ แต่ในหลายๆ บ้านที่พ่อแม่มีความเคร่งหรือความศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า และในหลายๆ ครั้งก็มีการสอนกันมาว่า ‘LGBTQ+ คือความผิดบาป’ การมีลูกเป็น LGBTQ+ จึงเป็นสิ่งที่ทำใจได้ยากเหลือเกิน เหมือนตนเองบาปเสียเอง ผมเลยคิดว่าคงต้องมีสักครั้งที่เราต้องคุยกันถึงเรื่องนี้ และไม่ใช่ในแง่มุมเพื่อจะเถียงกันว่าใครมองถูก แต่ในแง่มุมที่ว่าเราจะประนีประนอมกันได้มากแค่ไหน

ศาสนาที่คนนิยมนับถือกันในโลกนี้เกิดขึ้นมาหลักพันๆ ปี ซึ่งนานมากจริงๆ ตัวเนื้อหาเรื่องศีล ข้อความ ความถูกต้องในคัมภีร์นั้นจึงมีต้นกำเนิดอันแสนยาวนาน สังคมในหลักสองพันปีก่อนนั้นแตกต่างจากสังคมปัจจุบันมากจริงๆ ครับ หากใครศึกษาศาสนาแล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่พบตรงกันว่ารายละเอียดของศาสนานั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปทีละช้าๆ แต่ก็คงไม่ได้เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ การเปลี่ยนแปลงหลายๆ ครั้งก็เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น ข้อห้ามบางอย่างที่เคยห้ามก็อาจจะไม่ห้ามแล้ว หรือบางสิ่งที่ไม่เคยห้ามก็ต้องกลับมาห้าม ไม่เพียงแค่นั้นการที่ศาสนามีคนนับถือเป็นจำนวนมาก บางครั้งเนื้อหาหรือคำสอนต่างๆ ที่มักจะมีการบันทึกหรือการส่งต่อด้วยภาษาโบราณ หรือเนื้อหาเองก็เขียนบางครั้งก็เข้าใจได้ยาก การตีความเนื้อหาในคัมภีร์หรือคำสอนจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มคนนับถือ บางครั้งความแตกต่างเริ่มกว้างขึ้นจนแยกเป็นนิกายต่างๆ เพราะตีความประเด็นสำคัญไม่ตรงกัน

ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะอยากบอกว่าศาสนานั้นมีทั้งการเปลี่ยนแปลง และมีทางมุมมองที่แตกต่างไป ไม่ใช่สิ่งที่คงที่ตายตัวถึงขนาดเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย จริงอยู่ว่าแก่นของแต่ละศาสนาไม่น่าจะเปลี่ยนไปตามเวลา แต่รายละเอียดอย่างเรื่องข้อห้ามในรูปแบบการใช้ชีวิต ผมขออนุญาตเสนอความคิดเห็นว่า การจะรักชอบคนเพศใดนั้น ไม่น่าจะอยู่ในส่วนแกนหลักที่ไม่เปลี่ยนแปลง และแน่นอนว่าย่อมมีผู้คิดเห็นแตกต่างกันไปในเรื่องนี้ไม่ว่าจะในศาสนาใดก็ตาม ถึงแม้ว่าศาสนาจะมีส่วนของศรัทธาแต่ผมเองและคิดว่าหลายๆ คนน่าจะเชื่อว่าศาสนามีเหตุผลเพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข ผมคงตอบไม่ได้ว่าทำไมบางศาสนาถึงมีข้อห้ามการเป็น LGBTQ+ แต่หากมองในบริบทของสังคมปัจจุบันแล้ว ผมอยากให้ลองคิดกันดูว่าการเป็น LGBTQ+ หรือเรื่องที่ว่าใครจะรักเพศไหน อยากเป็นเพศไหน หรือการยอมรับเรื่องนี้จะไปขัดขวางสันติสุขของสังคมมนุษย์อย่างไร เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และไม่น่าขัดขวางแก่นสำคัญของคุณงามความดีของศาสนาที่ทุกแห่งมีร่วมกันคือการทำให้สังคมสงบสุข 

หากท่านศึกษาประวัติศาสตร์ ท่านจะพบว่าในอดีตนั้นวัฒนธรรมทั้งตะวันออกหรือตะวันตกหลากหลายแห่งยอมรับตัวตนของ LGBTQ+ และแน่นอนว่าพวกเขาต่างก็มีศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ ที่เขามองว่ามันดีงามเช่นเดียวกันในวัฒนธรรมนั้นๆ  เพียงแต่มีรายละเอียดแตกต่างจากศาสนาหลักๆ ที่ขยายอิทธิพลมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน และแน่นอนว่ากลุ่มชนเหล่านั้นไกลจากการที่จะเรียกว่า ‘ไร้อารยะ’ นอกจากนี้ท่านจะพบว่าในประวัติศาสตร์แล้ว การรังเกียจ การต่อต้าน LGBTQ+ นั้นมีประวัติศาสตร์อันสั้นเหลือเกินหากเทียบกับอารยธรรมของมนุษยชาติอันแสนยาวนานนับหมื่นปี ดังนั้นการที่จะบอกว่าเรื่อง LGBTQ+ เป็นเรื่องที่เด็กสมัยใหม่คิดกันไปเอง คนสมัยนี้ที่ไม่ค่อยเคร่งศาสนาเชื่อกันไปเอง คงไม่ใช่คำพูดที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินัก LGBTQ+ จึงไม่น่าจะถึงขนาดไร้จุดยืนในศาสนา และความดีงามทางจิตวิญญาณ และไม่น่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงหากท่านคิดว่า LGBTQ+ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้บ้างอย่างน้อยก็ในสักแง่มุม

ผมหวังว่าการได้นั่งคิดนั่งคุยกันในเรื่องนี้จะทำให้พ่อแม่หรือคนที่ยอมรับ LGBTQ+ ไม่ได้ ยอมรับเรื่องนี้ได้มากขึ้นไม่มากก็น้อย แต่ผมก็เข้าใจดีว่าเรื่องว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิดนั้น บางครั้งคุยกันเท่าไรก็ไม่มีทางเห็นตรงกัน บางครั้งก็ยากเหลือเกินจะโน้มน้าวใจได้ หากไม่ว่าอย่างไรก็มองให้เรื่องนี้ถูกต้องในสายตาท่านไม่ได้ ผมก็ขอโน้มน้าวในประเด็นสุดท้ายคือหากท่านไม่ยอมรับแล้ว ท่านทำอะไรได้บ้าง นอกจากทุกข์ใจที่บุตรหลานของท่านเป็นในสิ่งที่ท่านไม่ต้องการ และเขาก็ทุกข์ใจที่ท่านไม่ยอมรับเขา หากคิดจะให้เขาเปลี่ยนแปลงแล้ว มันเป็นไปได้หรือไม่ คำตอบอาจจะไม่ใช่ที่ท่านต้องการนักเพราะงานวิจัยส่วนใหญ่พบตรงกันคือ เพศวิถีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ถึงแม้ตนเองจะต้องการเปลี่ยนแปลงก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้ 

ดังนั้นการที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกกลับมาเป็น ‘ชายจริงหญิงแท้’ นั้นอาจจะเป็นความคาดหวังที่ยากเกินไปที่คนหนึ่งอาจจะให้ได้  ผมคิดว่าการ ‘โอนอ่อนผ่อนตาม’ หรือพยายามรับสิ่งนั้นให้ได้มากที่สุดอาจเป็นคำตอบสำหรับท่านที่ยังรับเรื่องนี้ไม่ได้ หากถามว่าแล้วเหตุใดต้องรับสิ่งนี้ได้ คำตอบคือเพื่อความสุขของคนที่ท่านรักก็คือลูกๆ หลานๆ ของท่าน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ ไม่ต้องถึงกับมองว่าการเป็น LGBTQ+ นั้นเป็นสิ่งสวยงาม แต่ขอแค่ไม่รังเกียจ ไม่มองว่านั่นคืออุปสรรคที่จะเป็นครอบครัวเดียวกัน ในบางครั้งนั่นก็ถือว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการยอมรับแล้ว 

ความเมตตา กรุณาของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต่อลูกหลานนั้นคือสิ่งที่ทุกๆ ศาสนาทุกสังคมให้คุณค่า แต่คงมีขอบเขตที่พ่อแม่จะทำอะไรให้ลูกได้บ้าง ในเมื่อทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทุกคนมีความสุขเป็นของตัวเอง 

ดังนั้นจะบุญหรือบาปจะถูกหรือผิด ขอให้ลูกหลานตัดสินเลือกตามชีวิตที่เขาต้องการในเรื่องนี้เถอะครับ และหากเป็นไปได้ท่านก็เมตตายอมรับในตัวตนของเขาตามสมควรตราบใดที่เขาไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม

เอกสารอ้างอิง

Arfeen, A. (2017). Same-sex love in Muslim cultures through the lens of Hindustani Cinema. CINEJ Cinema Journal, 6(1), 51-70.

Mock, S. E., & Eibach, R. P. (2012). Stability and change in sexual orientation identity over a 10-year period in adulthood. Archives of sexual behavior, 41(3), 641-648.

Robinson, D. (2008). Introducing Ethics: A Graphic Guide. London, Icon Books.

Rosario, M., Schrimshaw, E. W., Hunter, J., & Braun, L. (2006). Sexual identity development among lesbian, gay, and bisexual youths: Consistency and change over time. Journal of sex research, 43(1), 46-58.

Babayan, K. (2008). ‘In Spirit We Ate Each Other’s Sorrow’: Female Companionship in Seventeenth-Century Safavi Iran. Islamicate sexualities: Translations across temporal geographies of desire, 39, 239-274.

ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.

https://en.wikipedia.org/wiki/Homosexual_behavior_in_animals

https://en.wikipedia.org/wiki/Sexual_minorities_in_Japan

https://eachother.org.uk/short-history-homophobia/

https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/sexual-orientation

Tags:

ความรักLGBTQ+ศาสนาการยอมรับธรรมชาติเพศ

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Dear ParentsMovie
    We’re here: แดร็กควีนที่ไม่ใช่แค่ความสนุก แต่เพื่อความรู้สึกมีอำนาจ

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Love, Simon: สักกี่บ้านที่ลูกรู้สึกไม่โดดเดี่ยว สักกี่ครอบครัวที่ไม่คาดหวังให้ลูกเป็นอะไรเลย

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    โอบกอดลูกในวันที่เขาขอเลือก ‘เพศ’ เอง : คุยกับคุณแม่เจ้าของเพจ LGBTQ+’s Mother ‘อังสุมาลิน อากาศน่วม’

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็น Non-binary : ตัวตน ความรักและความเป็นอื่น ‘นอกกล่องเพศ’ กับ คิว-คณาสิต พ่วงอำไพ

    เรื่อง ศากุน บางกระ

  • Voice of New Gen
    Gay Ok Bangkok ถึงนิทานพันดาว ส่วนผสมในการสร้างซีรีส์วายของ ‘ออฟ – นพณัช ชัยวิมล’

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

‘ปลอบก่อน สอนที่หลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย’ 4 เทคนิคสร้างวินัยเชิงบวก: ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร
12 April 2022

‘ปลอบก่อน สอนที่หลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย’ 4 เทคนิคสร้างวินัยเชิงบวก: ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • วินัยเชิงบวกจะเป็นการรักษาตัวตนของลูกเอาไว้ ตีความพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมา แต่ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน และไม่คิดแทนแล้วจบด้วยประโยคคลาสสิคที่ว่า “แม่อาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่จะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชีวิตของเขาเอง 
  • วิธีการปลอบมีกุญแจสำคัญมากๆ อย่างหนึ่งเลยก็คือ ‘อารมณ์ของลูก’ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนึกถึงอารมณ์ของลูกเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นเมื่อเขาอารมณ์ค่อยๆ เย็นลงจนอยู่ในระดับปกติแล้ว จึงค่อยตามด้วยการสอน
  • เมื่อลูกทำดีก็ชมให้ถึงคุณค่า เช่น ลูกถือน้ำมาให้ คุณค่าที่เกิดขึ้นคืออะไร นอกจากความน่ารักแล้วลูกยังเป็นคนมีน้ำใจ

เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก เช่น โกรธจนถึงขั้นขว้างปาข้าวของ ตีน้องหรือตีเพื่อนโดยอาจไม่ได้ตั้งใจแต่ทำไปเพราะอารมณ์โกรธ หรือในช่วงวัยหนึ่งที่เขาอยากรู้อยากลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ย่อมเป็นธรรมดาที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะห่วงจนเผลอห้ามหรือแสดงความรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็นเรื่องไร้สาระ 

พ่อแม่ไม่ใช่ ‘ผู้ปกครอง’ แต่ควรเป็น ‘ผู้ประคอง’ ให้ทั้งลูกและตัวเองด้วย คำว่าประคองในที่นี้หมายถึง เมื่อเจอสถานการณ์ดังกล่าวสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการประคองอารมณ์ตัวเอง ประคองอารมณ์ลูก นี่เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญ

“ปลอบก่อน สอนที่หลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย” เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับลูกที่ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร หรือครูหม่อม อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ในเด็ก วัยรุ่น พ่อแม่ อยากชวนให้ทำความเข้าใจและไขรหัสการสื่อสารที่สำคัญในครอบครัว เพื่อจะได้นำไปใช้ในการเลี้ยงลูก ผ่านคำถามชวนคิดที่เชื่อว่าหลายครอบครัวน่าจะต้องเคยเผชิญกันมาบ้าง ในเวทีวิชาการ ‘โครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ครั้งที่ 3’ โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) 

อย่ามองข้ามอารมณ์ของลูก 

หากเราเห็นว่าลูกกำลังโกรธอยู่ แล้วตีเพื่อน เราจะเข้าไปพูดกับลูกว่าอย่างไร? 

นี่คือโจทย์คำถามข้อแรกที่ครูหม่อมชวนคิด คุณพ่อคุณแม่ลองทบทวนดูว่าเมื่อครั้งที่เจอสถานการณ์เช่นนี้ หรือลองจินตนาการว่าถ้ากำลังเจอสถานการณ์นี้อยู่ ปฏิกิริยาแรกที่เราเองจะตอบสนองต่อลูกเป็นแบบไหน โดยครูหม่อมมีตัวเลือกให้ 4 ข้อ ดังนี้

1. ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ 

2. ตีเพื่อนทำไม

3. เกิดอะไรขึ้น เราทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะ

4. อื่นๆ 

ซึ่งครูหม่อมกำลังพาคุณพ่อคุณแม่มาไขรหัสจุดตัดระหว่างวินัยเชิงบวกกับวินัยเชิงลบไปพร้อมๆ กัน เริ่มที่ตัวเลือกข้อแรก “ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ”

“ถ้าเราเป็นลูก เราโกรธแล้วเราก็ตีเพื่อน พ่อแม่ก็เดินมาบอกว่า ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ เรา(พ่อแม่) เป็นพวกของเพื่อนลูก แม่บอกว่าเพื่อนเจ็บ…แล้วความโกรธของหนูละ กลายเป็นว่าพ่อแม่มองข้ามความรู้สึก มองข้ามตัวตนของลูกไป ลูกก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่พึ่งไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้สร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้ลูกเลย” 

ตัวเลือกต่อมา “ตีเพื่อนทำไม” คำตอบนี้พ่อแม่เข้ายังคงเป็นพวกของเพื่อนลูกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคำถามหลังจากที่ลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทั้งสองข้อนี้ เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เป็นคำถามเชิงตำหนิมากกว่า 

ส่วนข้อที่สาม “เกิดอะไรขึ้น เราไม่ทำร้ายผู้อื่นนะ” ฟังดูเหมือนว่าเป็นการถามถึงเหตุการณ์และสอนไปในตัว แต่พ่อกับแม่ก็ยังคงเป็นพวกของเพื่อนอยู่ดี เพราะฉะนั้นคำตอบทั้งสามข้อนี้เป็นวินัยเชิงลบ เนื่องจากทำร้ายทั้งความรู้สึกลูก และทำร้ายตัวตนของลูก ด้วยมองข้ามอารมณ์ลูกไปโดยอาจตั้งใจหรือไม่ก็ตาม 

แล้วควรจะทำอย่างไรดี? เทคนิค ‘ปลอบก่อน สอนทีหลัง’ ที่ครูหม่อมพูดถึงนั้นทำอย่างไร

“ในทุกๆ สถานการณ์เราจะมีสองเหตุการณ์เกิดขึ้นเสมอ นั่นคือ อารมณ์ของลูก และพฤติกรรมของลูก ซึ่งพฤติกรรมอาจเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ได้ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแน่นอนว่าเราจะต้องสอน อย่างในกรณีนี้ ลูกโกรธคืออารมณ์ของลูก แล้วลูกตีเพื่อน แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่วินัยเชิงบวกบอกว่า ขอให้ปลอบก่อน แล้วค่อยไปสอนทีหลัง วิธีการปลอบให้ปลอบไปที่อารมณ์ของลูก เราสามารถบอกได้เลยว่า พ่อเข้าใจ/แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน” 

กุญแจสำคัญที่จะทำให้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกประสบความสำเร็จในข้อนี้ก็คือ (.) จุดฟูลสต็อป (full stop) หรือมหัพภาค หรือเครื่องหมายจุด หมายถึงการจบประโยค เช่นในกรณีนี้ 

“แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน. อึบแล้วจุดฟูลสต็อปเอาไว้ บางครั้งเรานำไปใช้เราอาจจะเผลอ แล้วก็ติดชินวิธีการเดิม เช่น แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน แต่! หนูจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะลูก ด้วยน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยอารมณ์คล้ายจะตำหนิลูกโดยไม่รู้ตัวนี้ ทำให้พ่อแม่เผลอทำร้ายความรู้สึกลูก ดังนั้นตั้งแต่คำว่า แต่หนูจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะลูก ขอให้กลืนมันลงไปก่อน เพราะว่าเดี๋ยวเราไปปลอบทีหลัง” 

โดยวิธีการปลอบมีกุญแจสำคัญมากๆ อย่างหนึ่งเลยก็คือ ‘อารมณ์ของลูก’ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนึกถึงอารมณ์ของลูกเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นเมื่อเขาอารมณ์ค่อยๆ เย็นลงจนอยู่ในระดับปกติแล้ว จึงค่อยตามด้วยการสอน ซึ่งกุญแจสำคัญของการสอนก็คืออารมณ์อีกเช่นเดียวกัน 

“ไม่ใช่แค่อารมณ์ของลูกอย่างเดียวที่ค่อยๆ ลง แล้วค่อยๆ สอน แต่เป็นอารมรณ์ของพ่อแม่ด้วย ก่อนสอนลูก เทคอารมณ์ลูก เทคอารมณ์ตัวเอง หากว่าเราพร้อมที่จะสอนไปที่หลักการสอนเลย เมื่อเย็นทั้งคู่แล้วค่อยสอน” 

สำหรับวิธีการสอนที่ครูหม่อมแนะนำก็คือ ‘การตั้งเป้าหมายในการสอน’ และ ‘การตั้งคำถาม’ ทั้ง 2 ตั้งนี้คือทริคเล็กๆ ที่ใช้ได้จริง โดยการตั้งเป้าหมายในการสอน อย่างกรณีที่ลูกโกรธแล้วตีเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งเป้าหมายว่า อยากจะสอนลูกเรื่องอะไร ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง เมื่อโกรธแล้วเราจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร และเมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้ว จึงนำไปสู่การตั้งคำถามกับลูก เช่น คราวหน้าถ้าหนูโกรธ แทนที่จะตีเพื่อนหนูว่าหนูจะทำอย่างไรได้บ้าง? หากถามเช่นนี้เขาจะได้คิดทบทวนถึงการกระทำนั้นด้วยตัวเอง 

“คำถามเหล่านี้นอกจากลูกจะได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา ได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดของตัวเองเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่ทางออกอย่างไรแล้ว ลูกยังเรียนรู้ด้วยว่าเขาเป็นคนที่พ่อแม่ยังเชื่อมั่น เชื่อใจ และก็ยังเห็นความสามารถของเราอยู่ พ่อแม่ก็เลยถามเรา นี่ก็คือไขรหัสว่าทำไมเราต้องปลอบก่อน สอนทีหลัง”    

ฟังแล้วตีความ แต่ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน และไม่คิดแทน   

คำถามข้อต่อไปเป็นคำถามของลูกๆ วัยรุ่น ถามว่า…  หากลูกวัยรุ่นเดินเข้ามาบอกว่า “อยากมีแฟน” จะพูดกับลูกว่าอย่างไร? 

1.ยังไม่ถึงเวลา

2.เรียนก่อน

3.อย่า! แก่แดด

4.อื่นๆ

“ต้องบอกว่าคำตอบข้อที่ 1-3 เป็นคำตอบอันดับแแรกๆ เลยที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะใช้ตอบลูกกัน ข้อที่หนึ่ง ยังไม่ถึงเวลา ถามว่าใครเป็นคนตัดสิน ก็คือเราที่เป็นพ่อแม่ ข้อที่สองเรียนก่อน เราก็เป็นคนตัดสินอีก ข้อที่สามอย่า! แก่แดด เราตัดสินทั้งนั้นเลย ข้อสามนี่ร้ายแรงมากนะคะ นอกจากเราไปตัดสินแล้วเรายังไปตีตราเขาอีก อันนี้เป็นความรุนแรงทางจิตใจมากๆ เลย ต้องบอกว่าทั้งสามข้อนี้ก็เป็นวินัยเชิงลบ” 

หากเป็นวินัยเชิงบวกจะเป็นการรักษาตัวตนของลูกเอาไว้ ตีความพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมา แต่ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน และไม่คิดแทน แล้วจบด้วยประโยคคลาสสิกที่ว่า “แม่อาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่จะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชีวิตของเขาเอง 

“ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าพฤติกรรมของลูกที่แสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือว่าพฤติกรรม เราจะต้องตีความหมายให้ได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร แต่เราไม่ตีตรา เราจะอนุญาตลูกให้ได้มีความรู้สึกทุกความรู้สึก ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นความรู้สึกที่ดีหรือไม่ดี เราอนุญาตให้ลูกชอบได้เราก็อนุญาตให้ลูกไม่ชอบได้ เราอนุญาตให้ลูกดีใจได้เราก็อนุญาตให้ลูกเสียใจได้ อนุญาตให้ลูกอิจฉาได้ อนุญาตให้ลูกเกลียดได้ อนุญาตให้ลูกโกรธได้ เพราะความรู้สึกของลูกมันไม่มีถูกไม่มีผิด มันเป็น feeling มันเป็นความรู้สึก หน้าที่เราอนุญาตให้ลูกรู้สึกได้ทุกความรู้สึก แต่เราจะสอนเขาให้จัดการกับความรู้สึกและแสดงออกอย่างเหมาะสม” 

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรฟังลูกให้มาก เพราะหากยิ่งฟังลูกก็จะยิ่งรู้จักลูกมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากพ่อแม่พูดออกไปว่า “แก่แดด” ครั้งหน้าหากลูกมีอะไรคงไม่อยากบอก ไม่อยากคุยกับพ่อแม่ เพราะเหมือนกับว่าพ่อแม่ได้ตีตราไปแล้วว่าลูกนั้นแก่แดดแม้อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม 

เพราะฉะนั้น “การที่เราจะรู้จักลูก คือ การเริ่มต้นที่การฟัง และจบที่การยอมรับ”

ชมให้ถึงคุณค่า เพื่อสร้างตัวตนที่มีคุณค่า

และคำถามข้อสุดท้ายถามว่า… เมื่อลูกถือน้ำมาให้เรา จะบอกลูกว่าอย่างไร    

1.ขอบคุณมากลูก

2.เอาใจพ่อแม่แบบนี้ อยากได้อะไร

3.น่ารักจังเลย

4.อื่นๆ

แน่นอนว่าคำตอบคือข้อสุดท้าย แต่ถามว่าข้อที่ 1-3 นั้น จะเป็นวินัยเชิงลบได้อย่างไร ครูหม่อมอธิบายว่า 

“ไม่เชิงเป็นวินัยเชิงลบแต่ครูหม่อมคิดว่าการลูกถือน้ำมาให้เรา แล้วเราชมว่าน่ารักมาก หรือบอกว่าขอบคุณ คำขอบคุณถือว่าเราเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ทำให้เสียโอกาส” 

“คำชมที่ว่าน่ารักมาก ไหนๆ จะชมแล้วให้ลูกรู้ตัวว่าน่ารักอย่างเดียวไหม ก็จะเสียโอกาส ครูหม่อมอยากให้ชมสุดซอยไปเลย ชมสุดซอยหมายถึงชมให้ถึงคุณค่า หากว่าลูกถือน้ำมาให้เรา คุณค่าที่เกิดขึ้นคืออะไร นอกจากความน่ารักแล้วลูกเราเป็นคนอย่างไร เป็นคนมีน้ำใจนั่นเอง หรือจะเรียกว่ากตัญญูเลยก็ได้ เราสามารถบอกได้เลยว่า ขอบคุณมากถือน้ำมาให้แม่ หนูเป็นเด็กกตัญญูมาก แทนการตีตราเราใส่คุณค่าลงไป” 

คุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรหยอดลงไปให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นความกตัญญู ความรับผิดชอบ การรู้จักหน้าที่รู้จักเอื้อเฟื้อ หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่น เหล่านี้เป็นคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมทั้งสิ้น เมื่อเขาฟังบ่อยเข้าสะสมไปเรื่อยๆ เขาจะกลายเป็นเด็กที่เติบโตมาอย่างคนที่มีคุณค่าเช่นเดียวกัน 

“ชมให้ถึงคุณค่า เพื่อสร้างตัวตนที่มีคุณค่า ลูกโตขึ้นนอกจากเขาจะรู้ว่าเขามีคุณค่าต่อตนเอง มีคุณค่าต่อผู้อื่นแล้ว เขายังรู้อีกว่าคุณธรรมทำง่าย เป็นรูปธรรมเกิดได้ทันที และเกิดได้ทุกวัน กตัญญูถือน้ำมาให้พ่อแม่เรียกกตัญญูลูก ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านแบ่งเบาภาระเรียกกตัญญูลูก หนูไม่ต้องรอโตแล้วค่อยไปดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน” 

ท้ายที่สุดแล้วเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกจะสำเร็จได้คือการปรับเปลี่ยนมุมมองของพ่อแม่ที่ว่า “พวกเรา(พ่อแม่)ไม่ใช่ ผู้ปกครอง แต่เป็น ผู้ประคอง” เมื่อลูกตัดสินใจผิดพ่อแม่มีหน้าที่ประคองอารมณ์ตัวเอง และประคองอารมณ์ลูก แต่ถ้าเมื่อลูกตัดสินใจถูกให้ถึงคุณค่า หน้าที่ของพ่อแม่ก็มีเท่านี้ และนี่ก็คือ 4 เทคนิค “ปลอบก่อน สอนทีหลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย” ที่ใช้ในการดูแลเด็กๆ โดยครูหม่อม-ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร

Tags:

วินัยเชิงบวกการเลี้ยงลูกผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • Dear Parents
    ไม่ต้องรักลูกทุกคนเท่ากันก็ได้ แต่อย่าใจร้ายกับลูกคนไหนเลย

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Family Psychology
    เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก พ่อแม่จะการประคองอารมณ์ตัวเองและอารมณ์ลูกอย่างไร

    เรื่อง The Potential ภาพ PHAR

  • Family Psychology
    ปู่ย่าตายายมีส่วนช่วยเลี้ยงหลานอย่างไรให้เติบโตทั้งกายใจ

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    เป็นพ่อแม่แบบ ‘กระบวนกร’ เปิดพื้นที่ปลอดภัยและใช้อำนาจเย็น

    เรื่อง วิรตี ทะพิงค์แก ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    KIND BUT FIRM พ่อแม่ไม่ต้องดุด่าแต่ว่า ‘เอาจริง’

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน: พ่อแม่และโรงเรียนต้องหมั่นอัพเดทตัวเองอยู่เสมอ
Social Issues
12 April 2022

เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน: พ่อแม่และโรงเรียนต้องหมั่นอัพเดทตัวเองอยู่เสมอ

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • การศึกษาไทยควรเตรียมความพร้อมให้เด็กก้าวสู่ยุคดิจิทัลและนวัตกรรมได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่แค่ความรู้ในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่เป็นการฝึกทักษะ วิธีคิด และความรู้ความสามารถ นำผู้เรียนไปสู่ ‘การเรียนรู้วิธีการสร้างการเรียนรู้’ (learning how to learn) ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • คนที่รู้จักลูกดีที่สุด คือ พ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนสิ่งที่ลูกสนใจ กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ลูกสนใจนั้นสามารถต่อยอดด้วยทรัพยากรที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ หรือทำอย่างไรได้บ้าง? เพราะเมื่อพ่อแม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่ลูกสนใจจะทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง อย่าให้ลูกออกจากบ้านไปโดนระบบการศึกษาทำร้าย กลับมาบ้านแล้วโดนพ่อแม่ทำร้ายซ้ำเติมอีก
  • รูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง นอกเหนือจากการเรียนด้านวิชาการ ผู้สอนต้องทุ่มแรงกาย แรงใจและเวลาอย่างมาก เพื่อกระตุ้นให้เด็กไม่กลัวการลองผิดลองถูก

สถาบันครอบครัวและการศึกษายุคใหม่ต้องอัพเดทเวอร์ชั่นตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย คำเปรียบเปรยนี้คงไม่เกินจริงนักหากเทียบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและไร้ขีดจำกัด 

การอัพเดทตัวเองทำให้พ่อแม่และโรงเรียนเข้าใจเด็กและโลกมากขึ้น ความรู้ความเข้าใจจะเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางการเลี้ยงดูและการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับเด็กและเยาวชน กระตุ้นให้ผู้ปกครองและโรงเรียนตื่นตัวเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กออกไปใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่และเต็มศักยภาพ 

หมออร – แพทย์หญิงกัลย์สุดา อริยะวัตรกุล เจ้าของเพจเลี้ยงลูกไปด้วยกันกับหมออร และ อมฤต เจริญพันธ์ ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ (VERSO) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามผู้บุกเบิกโคเวิร์กกิ้ง สเปซ (co-working space) ในประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในเวทีเสวนา ‘TK Park x EDSY เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน’ ไว้เป็นตัวเลือกเวอร์ชั่นหนึ่งให้ผู้ปกครองและโรงเรียนได้ใช้เป็นแนวทางอัพเดทตัวเอง

‘เทคโนโลยี’ และ ‘นวัตกรรม’ เรื่องควรรู้และเท่าทัน

ทำอย่างไรเมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมจู่โจมเข้ามาในชีวิตได้ทุกเมื่อ?

การศึกษาไทยควรเตรียมความพร้อมให้เด็กก้าวสู่ยุคดิจิทัลและนวัตกรรมได้อย่างรู้เท่าทัน อมฤต กล่าวว่า ดิจิทัลและนวัตกรรมในที่นี้ไม่ใช่แค่ความรู้ในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือมือถือ เท่านั้น แต่เป็นการฝึกทักษะ วิธีคิด และความรู้ความสามารถ นำผู้เรียนไปสู่ ‘การเรียนรู้วิธีการสร้างการเรียนรู้’ (learning how to learn) ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่สนใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วจะดียิ่งขึ้นหากสถาบันการศึกษาทำงานเป็นทีมร่วมกับครอบครัว

“จากประสบการณ์ส่วนตัวในระดับปริญญา ผมมัวแต่เรียนและตั้งใจเรียนมาก พอจบมาแล้ว กลายเป็นว่าสิ่งที่เรียนรู้มาตกเทรนด์หมดเลย ผมตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าเป็นแบบนี้ไปได้ยังไง ถ้าผมได้รู้จักซิลิคอนวัลเลย์ ได้รู้จักสตาร์ทอัพเร็วกว่านี้ ผมคงได้ทำอะไรอีกเยอะเลย แต่ในความเป็นจริงผมรู้จักเรื่องพวกนี้หลังจากเรียนจบแล้ว ดังนั้นถ้าเราสามารถส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องมาเริ่มหลังเรียนจบ แล้วต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเพื่อสร้างอาชีพให้กับตัวเองอีกเป็นสิบปี ทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสไปเยอะ” 

อมฤต กล่าวว่า วิถีชีวิตทุกวันนี้พ่อแม่มีเวลาจำกัด บางบ้านไม่มีอุปกรณ์ หรือพ่อแม่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นโรงเรียนต้องเข้ามาช่วยเติมช่องว่างในจุดนี้ หากเด็กมีความสามารถในการใช้และเข้าใจเทคโนโลยี โลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเชนหรือบิทคอยน์ รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ จะสร้างความได้เปรียบเป็นอย่างมากในอนาคต

สนใจในสิ่งที่ลูกสนใจ แล้วให้ลงมือทำ

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ลูกเกิดความกล้า กล้าลงมือทำและกล้าผิดหวัง สถาบันการศึกษาเข้ามาต่อยอดในสิ่งที่ลูกอยากเป็นเพื่อไปให้ถึงปลายทาง ทั้งนี้ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในระบบการศึกษาแบบใด จะเป็นโรงเรียนประจำตำบล อำเภอ จังหวัด โรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนอินเตอร์ คนที่รู้จักลูกดีที่สุด คือ พ่อแม่ 

ดังนั้น พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและสนับสนุนสิ่งที่ลูกสนใจ กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่ลูกสนใจนั้นสามารถต่อยอดด้วยทรัพยากรที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ หรือทำอย่างไรได้บ้าง? 

เพราะเมื่อพ่อแม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่ลูกสนใจจะทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตนเอง อย่าให้ลูกออกจากบ้านไปโดนระบบการศึกษาทำร้าย กลับมาบ้านแล้วโดนพ่อแม่ทำร้ายซ้ำเติมอีก

อมฤต กล่าวว่า โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ เปิดพื้นที่ให้เด็กสร้างการเรียนรู้จากความต้องการของตัวเองผ่านการทำโครงงานที่สนใจ (Project-based Learning) สนับสนุนการคิดเชิงออกแบบ (Designing Thinking) ให้ผู้เรียนคิด วางแผน ลงมือทำโครงงานและแก้ไขปัญหาอย่างอิสระ กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองนี้ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับผู้เรียน เนื่องจากเด็กๆ จะได้ฝึกฝนทักษะการจัดการรับมือกับปัญหา เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคเฉพาะหน้า ทั้งจากการทำงานด้วยตัวเองและทำงานร่วมกับผู้อื่น

“เราจัดพื้นที่การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนให้เด็กๆ ทำโปรเจกต์ของตัวเอง เพราะเชื่อว่าเมื่อได้ลงมือทำ เด็กจะได้เรียนรู้และรู้ความต้องการของตัวเอง เด็กจะมีโอกาสเลือกว่าอยากทำโปรเจกต์อะไร แล้วเข้ามาคุยกับที่ปรึกษาเพื่อวางแผนการทำงาน โรงเรียนทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นผู้รู้เฉพาะทางที่มีประสบการณ์จริง เรียกว่า Learning Designer (ผู้ออกแบบการเรียนรู้) เราให้เด็กๆ มองหาผู้รู้จากภายนอกได้ด้วยเพราะครูไม่ได้รู้ไปหมดทุกอย่าง เช่น บางโปรเจกต์เขาก็ประสานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีความรู้เฉพาะทางเรื่องที่เขาสนใจมาให้คำแนะนำในโครงการ”  

“เราเชื่อในการคิดเชิงออกแบบ วิธีคิดของนักออกแบบที่คิดวิเคราะห์ มองเห็นปัญหา ลองทำ ออกไปปรับจูนกับฟีดแบคหลังจากทำออกมาแล้วและลงมือแก้ไข เด็กจะวางแผนทำอะไรก็ได้ ตั้งเป้าหมายเอง เปลี่ยนใจและลองใหม่ได้ตลอด สามารถทำตามแรงบันดาลใจของตัวเองได้ 

ในกระบวนการเรียนรู้ทางโรงเรียนจะไม่ตัดสินหรือวัดผล แต่มองไปที่การพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญและศักยภาพของผู้เรียนในเรื่องเหล่านั้น เพื่อดูว่าเขาได้รับสิ่งที่ต้องการหรือค้นพบตนเองแล้วหรือยังมากกว่า วันนี้เขาอยากเป็นเชฟต่อมาอยากเป็นนักลงทุน เขาจะสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองแบบ 360 องศาได้ทุกเมื่อ เพราะเด็กได้ปลูกฝังให้เชื่อในการเรียนรู้ทุกเรื่องได้ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้สำคัญมากกว่าการวัดผล ทำให้เด็กๆ สามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้ ทำให้เขาใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างสบายมาก” อมฤต อธิบาย

ด้านหมออร กล่าวเสริมว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง นอกเหนือจากการเรียนด้านวิชาการ ผู้สอนต้องทุ่มแรงกาย แรงใจและเวลาอย่างมาก เพื่อกระตุ้นให้เด็กไม่กลัวการลองผิดลองถูก

“การเรียนรู้ตรงนี้เชื่อมกับคำว่า growth mindset (กรอบความคิดที่เชื่อว่าสามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถของตัวเองได้ด้วยความพยายามและการสั่งสมประสบการณ์) ไม่เหมือนกับหลักสูตรที่ทำมาแล้วและวัดผลตามเกณฑ์เหมือนกันทุกคน เพราะการสอนไม่ได้มาจากครูเท่านั้นแต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นมาสอนลูกด้วย 

ผู้ปกครองเองก็สามารถปลูกฝังความคิดเรื่องการสร้างการเรียนรู้ให้ลูกได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยทำบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้ลูกกล้าลองผิดลองถูก ชมลูกเฉพาะเจาะจงไปที่กระบวนการไม่ชมเฉพาะผลลัพธ์  ปลูกฝังเรื่องการรักการเรียนรู้และไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำยังไงให้ลูกล้มลุกเรียนรู้ให้ไว ไม่ยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต ตรงนี้พ่อแม่สามารถเริ่มได้เลยด้วยตัวเอง”

‘ภาษา’ ปลดล็อคข้อจำกัดการเรียนรู้

เมื่อผู้คนทั่วโลกมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างง่ายดายมากขึ้น การเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การรู้จักตัวเองหรือประเทศของตัวเอง การเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในความต่างและความเท่าเทียมกัน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ 

สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกเล็กในระดับปฐมวัย หมออร กล่าวว่า พ่อแม่ไม่ต้องตกใจเพราะอนาคตยังอีกยาวไกลและยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่จะผ่านเข้ามา แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ขอบเขตของประเทศไม่มีพรมแดนอีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ นอกจากการพัฒนากระบวนการคิด ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ต่างๆ ‘ภาษา’ ยังคงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดการเรียนรู้และการสร้างความเข้าใจกับเรื่องราวรอบตัว

“การเลี้ยงลูกให้เป็นพลเมืองของโลก ลูกต้องมีทักษะการยืดหยุ่นและการปรับตัวสูงมาก เรามองไปถึงการทำงานกับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ถ้าลูกเราไม่เปิดใจ ไม่ปรับตัว ไม่มองคนอื่นในมุมที่ต่างออกไป แล้วตัดสินคนอื่นว่า แบบนี้ผิด…ฉันถูก ก็จะกลายเป็นปัญหา หรือแม้กระทั่งการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโลกในอนาคตและเด็กรุ่นใหม่”

“ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพื้นฐานที่สองที่เด็กควรได้เรียนรู้ สมองเด็กอายุ 2-7 ปีเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ภาษาได้ดีที่สุด เรียกว่า เป็นช่วงเวลาสำคัญ (critical period) หรือหน้าต่างแห่งโอกาส (window of opportunity) ที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างเป็นธรรมชาติและเร็วที่สุดโดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมาก 

หากเลยช่วงนี้ไปมีการศึกษาพบว่าความสามารถการเรียนรู้ของสมองจะค่อยๆ ลดลง ถามว่ายังเรียนรู้ได้มั๊ย คำตอบคือยังเรียนรู้ได้ ไม่ว่าลูกจะอยู่ประถม มัธยมหรือแม้แต่ผู้ใหญ่เอง เราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต แต่ตอนนี้เรารู้ว่ามีช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ด้านภาษาของลูกเข้าไปได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้ลูกเริ่มเรียนภาษาที่สองเพื่อพัฒนาเป็นทักษะติดตัวไปในอนาคต แน่นอนว่าหลายครอบครัวมีข้อจำกัด เราก็ต้องมาดูว่าสามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ไหม” หมออร อธิบาย

เด็กแต่ละคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่างกัน อมฤต กล่าวว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนโรงเรียนอินเตอร์เท่านั้นถึงจะดีที่สุด ผู้ปกครองสามารถเลือกและนำไอเดียจากข้อมูลและสื่อรอบตัวไปประยุกต์ใช้ที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องของการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน โรงเรียนจำเป็นต้องเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครองและเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการศึกษาในส่วนนี้ด้วย 

“การเรียนรู้ด้านภาษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กหาความรู้ด้วยตัวเองได้กว้างไกลขึ้น ทำให้เด็กเข้าถึงข้อมูลความรู้ภาษาต่างประเทศได้ เขาอาจสนใจเรียนรู้เรื่องการสร้างสะพานจากการใช้ซอร์ฟแวร์ แล้วโรงเรียนสอดแทรกภาษาอังกฤษเข้าไปผสมผสานอยู่ในนั้น แล้วฝึกทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่จำเป็นแตกต่างกันตามแต่ละโปรเจคและช่วงวัยของเด็ก…ประสบการณ์ที่เด็กได้เรียนรู้ ได้แก้ปัญหาจะทำให้เขามีความมั่นใจ มีความเป็นผู้นำพร้อมก้าวไปในอนาคตและพร้อมเผชิญอุปสรรคที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต”

การเตรียมความพร้อมให้ลูกไม่ได้อาศัยความสมบูรณ์แบบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่อาศัยความร่วมมือกันทั้งจากครอบครัว โรงเรียน และมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อมรอบตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง หัวใจสำคัญของการสร้างความพร้อม คือ การเปิดใจเรียนรู้และปรับตัว ซึ่งก็คือการหมั่นอัพเดทตัวเองของครอบครัวและโรงเรียนที่เป็นสถาบันหลักในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน

Tags:

project-based learning (PBL)เตรียมเด็กให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีtransformative learningการเรียนรู้

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Education trend
    AI กับอนาคตการศึกษา: ตัวช่วยที่ทำให้เด็กเก่งขึ้น หรือตัวการขัดขวางการเรียนรู้ ทำลายอาชีพครู

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Space
    Civilization: เรียนสังคมและประวัติศาสตร์ด้วยเกม

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    หลักสูตรคืออะไรกันแน่?

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Space
    Space Inspirium:  แหล่งการเรียนรู้ที่ชวนคนทุกวัยท่องอวกาศไปด้วยกัน

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เพจทำอาหารที่ชวนกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว ผ่านบทสนทนาง่ายๆ “แม่ เมนูนี้ทำไง”

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
Book
9 April 2022

วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • วินนีเดอะพูห์ หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า ‘หมีพูห์’ เป็นตัวละครจากหนังสือ วินนีเดอะพูห์ (Winnie-the-Pooh) เขียนโดย เอ.เอ. มิลน์  (A.A. Miln) และวาดภาพประกอบโดย อี.เอช. เชปเพิร์ด (E.H. Shepard) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1926 ในประเทศอังกฤษ
  • เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ความเรียบง่าย ความไร้เดียงสา และความสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนกำลังโหยหา หลังจากที่เพิ่งผ่านพ้นความสับสนอลหม่านและความรุนแรง จากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาหมาดๆ
  • ทว่าในปี ค.ศ.2000 ความลับที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่องราวแสนน่ารักก็ถูกเปิดเผยผ่านรายงานการแพทย์เรื่อง ‘พยาธิวิทยาในป่า 100 เอเคอร์ฯ’ ดร.ซาราห์ เชีย ระบุว่า ตัวละครสุดแสนน่ารักในป่าแห่งนี้ ล้วนเป็นผู้บกพร่องทางจิต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เมื่อคืน ผมฝัน… ในความฝันนั้น ผมรู้ตัวว่าฝัน แต่ไม่รู้ว่ากำลังอยู่ที่ไหน น่าจะเป็นป่าละเมาะที่ใดที่หนึ่ง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด 

ตอนนั้นเอง ผมเห็นเงาดำๆ ของตัวอะไรสักอย่าง เดินออกจากเงามืดตรงเข้ามาหา ผมไม่ได้รู้สึกกลัว ได้แต่ยืนมองดูร่างๆ นั้นเดินใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แล้วผมก็จำได้ว่า ร่างนั้นคือ หมีตัวสีเหลืองที่มีชื่อว่า วินนี เดอะพูห์

ใช่แล้วครับ เจ้าหมีน่ารักไร้เดียงสาที่เป็นขวัญใจของเด็กๆ ทั่วโลกนั่นล่ะครับ แต่ไม่รู้ทำไมในความฝันค่ำคืนนั้น ผมไม่ได้รู้สึกว่า หมีพูห์ร่าเริงเหมือนที่เคย แววตาของมันดูหม่นเศร้าราวกับมีความลับอะไรบางอย่าง

เรามาช่วยกันค้นหาความลับนั้นกันครับ

รักนะ..เจ้าหมีโง่

วินนีเดอะพูห์ หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า ‘หมีพูห์’ เป็นตัวละครจากหนังสือ วินนีเดอะพูห์ (Winnie-the-Pooh) ที่เขียนโดย เอ.เอ. มิลน์  (A.A. Miln) และวาดภาพประกอบโดย อี.เอช. เชปเพิร์ด (E.H. Shepard) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1926 ในประเทศอังกฤษ 

จุดเริ่มต้นของวินนีเดอะพูห์ มาจากนิทานที่มิลน์เล่าให้ลูกชาย คริสโตเฟอร์ โรบิน มิลน์ (Christopher Robin Miln) ฟังทุกคืนก่อนนอน โดยที่ตัวละครทุกตัวในนิทาน ล้วนจินตนาการสร้างสรรค์ขึ้นมาจากตุ๊กตาของคริสโตเฟอร์ ยิ่งไปกว่านั้น คริสโตเฟอร์ โรบิน ยังกลายเป็นตัวละครหลักในนิทานด้วย และเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวในป่า 100 เอเคอร์ ซึ่งเป็นฉากสถานที่หลักของนิทานเรื่องนี้

จากนิทานก่อนนอน กลายเป็นหนังสือขายดีทั่วประเทศ และต่อยอดกลายเป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลก ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 50 ภาษา รวมถึงภาษาไทย ซึ่งมีการหยิบมาแปลซ้ำหลายครั้งในชื่อที่แตกต่างกัน โดยครั้งแรกที่เราได้เห็นหมีพูห์ เวอร์ชั่นภาษาไทย เจ้าหมีตัวนี้ถูกตั้งชื่อว่า หมีปุ๊กลุก ในหนังสือชื่อ หมีปุ๊กลุกผจญภัย ขณะที่สำนวนแปลไทยฉบับล่าสุด เป็นของสำนักพิมพ์ แพรวเยาวชน ในชื่อ วินนีเดอะพูห์ แปลโดย ธารพายุ

อย่างไรก็ดี ภาพจำของหมีพูห์ หมีหน้าตาน่ารักตัวสีเหลืองอ๋อย สวมเสื้อสีแดง คือ วินนีเดอะพูห์ ที่ถูกดัดแปลงรูปลักษณ์ใหม่ในอะนิเมชั่นของวอลท์ดิสนีย์ ซึ่งแตกต่างจากหมีพูห์เวอร์ชั่นหนังสือของ เอ.เอ. มิลน์ ที่ดูไม่ต่างจากตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ทั่วไป มีขนยาวสีน้ำตาลอมทอง และแน่นอน-ไม่ได้สวมเสื้อผ้าใดๆ

แต่ไม่ว่าจะมีหน้าตาแบบบไหน ใส่เสื้อหรือไม่ใส่ เจ้าหมีอ้วนปุ๊กลุกผู้ชอบกินน้ำผึ้งเป็นชีวิตจิตใจ ก็เป็นที่รักของคนทั้งโลก

ด้วยความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ บวกกับความทึ่มๆโง่ๆ ซึ่งเจ้าตัวเองก็ยอมรับแต่โดยดี

“บางคนมีสมอง บางคนไม่มี เรื่องมันก็เท่านั้น” พูห์ว่า

ความโง่แบบไร้เดียงสาของหมีพูห์ ทำให้ตัวละครตัวนี้ รวมถึงผองเพื่อนของหมีพูห์ในหนังสือ กลายเป็นที่รักของนักอ่านตั้งแต่ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรก 

นักวิจารณ์คนหนึ่งกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ อัดแน่นด้วยความสนุกสนานอย่างเหลือเชื่อ และเป็นความไร้สาระที่สุดแสนจะร่าเริง

นอกเหนือจากความใสซื่อและเรียบง่ายแล้ว เรื่องราวการผจญภัยในป่า 100 เอเคอร์ ในหนังสือเล่มนี้ ยังชวนให้ระลึกถึงภาพชีวิตชนบทที่แสนสงบ โดยป่า 100 เอเคอร์ ของหมีพูห์และผองเพื่อน ก็จำลองมาจากป่าแอชดาวน์ นอกกรุงลอนดอน อันเป็นสถานที่ที่มิลน์และคริสโตเฟอร์ โรบิน ไปเที่ยวเล่นอยู่บ่อยๆ ในช่วงพักร้อน

อาจกล่าวได้ว่า มนต์เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ความเรียบง่าย ความไร้เดียงสา และความสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนกำลังโหยหา หลังจากที่เพิ่งผ่านพ้นความสับสนอลหม่านและความรุนแรง จากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาหมาดๆ

แต่ถ้าถามว่า แล้วมีอะไรอีกในหนังสือเล่มนี้ นักวิจารณ์ต่างพากันส่ายหน้า ขณะที่บางคนกล่าวว่า ไม่มีสัญญะใดๆ ซุกซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้ (เหมือนเช่นที่ไม่มีสิ่งใดอยู่ในมันสมองอันน้อยนิดของหมีพูห์)

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ไม่มีอะไรในป่า 100 เอเคอร์ จริงหรือ?

โง่เขลา แต่เข้าใจโลก

เบนจามิน ฮอฟฟ์ (Benjamin Hoff) เป็นชาวอเมริกัน ผู้หลงรักธรรมชาติ และปรัชญาตะวันออก เขาเติบโตมาในเมืองพอร์ทแลนด์ มลรัฐโอเรกอน ดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องไลฟ์สไตล์แบบฮิปสเตอร์ ซึ่งหล่อหลอมให้เขามีทัศนคติที่อาจจะดู ‘หลุดกรอบ’ และเป็นตัวของตัวเอง

อาจเรียกได้ว่า ฮอฟฟ์ คือ พหูสูตรตัวจริง เขาจบการศึกษาด้านศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะแบบเอเชีย แต่ก็เคยศึกษาด้านสถาปัตย์ กราฟฟิกดีไซน์ และดนตรี เขาผ่านงานมาหลากหลายแขนง ทั้งคนจัดสวน ช่างภาพ นักข่าว นักดนตรี นักแต่งเพลง และนักเขียน

หนังสือผลงานของฮอฟฟ์ที่โด่งดังที่สุด คือ The Tao of Pooh หรือฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า เต๋าแบบหมีพูห์ ซึ่งเป็นหนังสือที่หยิบยกเรื่องราวในหนังสือวินนีเดอะพูห์ มาตีความในเชิงปรัชญาลัทธิเต๋า

เต๋า คืออะไร เต๋า คือ การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติและความจริง โดยแก่นแท้ของเต๋า เชื่อว่า สัจธรรมที่แท้จริง ไร้รูปลักษณ์ ไร้นาม ดังนั้น การใช้ถ้อยคำ หรือใช้ความคิด ไม่อาจพาเราเข้าถึงแก่นแท้ของเต๋าได้ มีเพียงการลงมือกระทำเท่านั้น ที่จะพาเราไปถึงจุดๆ นั้น

และนั่นจึงไม่แปลกที่หมีพูห์ จะเป็นหมีที่มีความสุขที่สุดในโลก แม้มันจะมีสมองอันน้อยนิด แต่มันก็ไม่เคยคิดมาก และใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง

“ฉันโง่และถูกหลอก” มันว่า “และฉันเป็นหมีที่ไม่มีสมองเลย”

“นายเป็นหมีที่ดีที่สุดในโลกนี้ทั้งโลก” คริสโตเฟอร์ โรบิน ปลอบ

“เหรอ” พูห์ พูดอย่างมีความหวัง แล้วมันก็หน้าบานขึ้นทันใด

“จะยังไงก็แล้วแต่เถอะ” มันว่า “จวนถึงเวลาอาหารกลางวันแล้ว

ดังนั้น มันจึงกลับบ้านไปหาอะไรกิน

นี่แหละ เต๋าแบบหมีพูห์

ใดๆ ในป่าล้วนแหว่งวิ่น

นอกเหนือจากการตีความในเชิงปรัชญาแล้ว วินนีเดอะพูห์ ยังถูกชำแหละถึงก้นบึ้งของจิตใจ โดยผลที่ได้ ซึ่งชวนให้ตกตะลึงอย่างยิ่ง ระบุว่า ทุกตัวละครในป่า 100 เอเคอร์ ล้วนมีความบกพร่องทางจิต

ฟังดูอาจเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่มันคือข้อมูลที่มีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับ

ดร.ซาราห์ เชีย กุมารแพทย์ชาวแคนาดา พร้อมคณะ ได้ตีพิมพ์รายงานการแพทย์ที่มีชื่อว่า ‘พยาธิวิทยาในป่า 100 เอเคอร์ : มุมมองต่อการพัฒนาการทางระบบประสาทของ เอ.เอ. มิลน์’ ในปี 2000 ระบุว่า ตัวละครสุดแสนน่ารักในป่า 100 เอเคอร์ ล้วนเป็นผู้บกพร่องทางจิต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ในรายงานระบุว่า หมีพูห์ เป็นตัวละครที่มีความบกพร่องทางจิตมากกว่า 1 อย่าง โดยที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ อาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder-ADHD) อาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder-OCD) รวมทั้งอาจจะมีอาการพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอาการสมาธิสั้น

ส่วนตัวละครอื่นๆ ก็ล้วนแหว่งวิ่นไม่แพ้กัน อย่างเช่น พิกเลต หมูตัวเล็กสีชมพู ก็ถูกระบุว่า เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder-GAD) ส่วนอียอร์ เจ้าลาแสนหดหู่ ก็มีอาการซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) ขณะที่แรบบิต กระต่ายเจ้าความคิด ก็ถูกดร.เชีย ตีความว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นพวกหลงตัวเอง (Narcissism) จากพฤติกรรมเจ้ากี้เจ้าการ และชอบบงการให้เพื่อนๆ ทำตามแผนของตัวเองอยู่เสมอ

แน่นอนว่า การที่ตัวละครอันเป็นที่รักของคนทั่วโลก ถูกตีความว่า เป็นผู้บกพร่องทางจิต ย่อมก่อให้เกิดกระแสโกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรง

“เราได้รับจดหมายแปลกๆ เข้ามาเยอะเลยค่ะ” ดร.เชีย กล่าว “บางฉบับเขียนมาต่อว่าเราว่า ผลาญเงินงบประมาณไปเปล่าๆ บางคนก็โกรธ หาว่าเราจาบจ้วงตัวละครที่แสนน่ารักพวกนี้”

สุดท้าย ดร.เชีย กล่าวย้ำสิ่งสำคัญที่สุด โดยบอกว่า บรรดาตัวละครเหล่านี้ ล้วนสามารถหายเป็นปรกติ หากได้รับการบำบัดตั้งแต่เนิ่นๆ

ทว่า ผู้ให้กำเนิดตัวละครเหล่านี้ กลับไม่ได้รับการบำบัดใดๆ และนั่นอาจเป็นต้นเหตุของความหม่นเศร้าที่ผมเห็นในแววตาของหมีพูห์

เบื้องหลังวรรณกรรมเยาวชน มีความมืดหม่นและหยาดน้ำตา

เอ.เอ. มิลน์ รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า จิตใจและจิตวิญญาณของเขาบาดเจ็บและบอบช้ำอย่างรุนแรง

มิลน์ มีอาการป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ Post Truamatic Stress Disorder-PTSD)  ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ ถูกทำร้าย หรือพบเจอเรื่องราวที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างหนัก

อาการป่วยทางจิตของผู้มีอาการ PTSD มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ซึมเศร้า แยกตัวจากสังคม โกรธง่าย นอนไม่หลับ ฝันร้าย ไปจนถึงเห็นภาพหลอนซ้ำๆ

หลายคนเชื่อว่า ภาพลักษณ์ของอียอร์ คือ ตัวแทนของมิลน์ ซึ่งจ่อมจมระทมทุกข์กับความบอบช้ำทางจิตใจ และการเขียนหนังสือวินนีเดอะพูห์ คือ หนึ่งในความพยายามบำบัดความหม่นเศร้าของเขา

สิ่งที่น่าเศร้ากว่านั้น ก็คือ ความบอบช้ำทางจิตใจของมิลน์ ยังส่งผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมต่อลูกชายของเขา คริสโตเฟอร์ โรบิน ซึ่งเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวในป่า 100 เอเคอร์

มิลน์และแดฟเน อยากได้ลูกสาวมาตลอด พวกเขาตั้งชื่อลูกไว้ล่วงหน้าว่า โรสแมรี ทว่า เด็กที่เกิดมาเป็นผู้ชาย แต่ถึงกระนั้น ทั้งคู่ก็ดูเหมือนจะยึดติดกับความอยากได้ลูกสาว พวกเขาเลี้ยงดูคริสโตเฟอร์ โรบิน ราวกับเป็นเด็กผู้หญิง

ภาพลักษณ์ของคริสโตเฟอร์ โรบิน ที่เราเห็นทั้งในหนังสือและในอะนิเมชั่นของดิสนีย์ ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายผมสีบลอนด์ ทรงผมเหมือนเด็กผู้หญิง ในชุดเครื่องแต่งกายที่ดูกำกวมว่าเป็นของเด็กชายหรือเด็กหญิง คือ ภาพลักษณ์จริงของคริสโตเฟอร์ โรบิน หรืออีกนัยหนึ่ง โรสแมรี ที่พ่อกับแม่วาดฝันไว้

คริสโตเฟอร์ โรบิน ยอมรับว่า ตัวเขาเองปลาบปลื้มกับชื่อเสียงที่ได้รับจากการเป็นคริสโตเฟอร์ โรบิน ในหนังสือวินนีเดอะพูห์ แต่ขณะเดียวกัน เขาต้องถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง ทั้งจากความมีชื่อเสียง และภาพลักษณ์ที่ดูนุ่มนิ่มราวกับเด็กผู้หญิง

ความรู้สึกทั้งรักทั้งชังต่อความเป็น ‘คริสโตเฟอร์ โรบิน’ ค่อยๆ สั่งสมจนกลายเป็นปมที่ทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัวจนย่อยยับ

“อาจพูดได้ว่า พ่อขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในชีวิต ด้วยการเหยียบบ่าผมตั้งแต่วัยแบเบาะ” คริสโตเฟอร์ โรบิน เขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา “พ่อขโมยสิ่งดีๆ ไปจากชื่อของผม แล้วทิ้งไว้แต่ชื่อเสียงที่กลวงเปล่า”

จนกระทั่งในช่วงสุดท้ายของชีวิต ดูเหมือนว่า คริสโตเฟอร์ โรบิน จึงสามารถสางปมขัดแย้งในใจเขาได้ เขายกลิขสิทธิ์วินนีเดอะพูห์ให้กับทางสำนักพิมพ์ บริจาคตุ๊กตาทุกตัวให้กับห้องสมุดนิวยอร์ก และถึงกับเอ่ยปากว่า สามารถอ่านหนังสือวินนีเดอะพูห์ โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอีกแล้ว 

ไม่มีใครรู้ว่า อะไรทำให้คริสโตเฟอร์ โรบิน สามารถเยียวยาความแตกร้าวในจิตใจเขาได้ แต่ผมอยากจะเชื่อว่า สิ่งนั้นคือความใสซื่อและเรียบง่ายที่เขาเคยรู้จัก เมื่อครั้งยังท่องเที่ยวในป่า 100 เอเคอร์ กับผองเพื่อนตุ๊กตาทั้งหลาย โดยเฉพาะเจ้าหมีพูห์ตัวอ้วนปุ๊ก

ตอนนั้นเอง ผมนึกไปถึงคำพูดของดร.เชีย ที่กล่าวไว้ว่า

“ถึงแม้ตัวละครในหนังสือเล่มนี้ล้วนแล้วแต่แหว่งวิ่น แต่เหนือสิ่งอื่นใด แก่นแท้ของหนังสือ คือ ความรัก การยอมรับ และการให้อภัย และนั่นคือตัวอย่างที่ดีที่เราทุกคนควรจะเป็น”

Tags:

Winnie The Poohหมีพูห์วินนีเดอะพูห์ผู้บกพร่องทางจิต

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Movie
    F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • SpaceBook
    Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

    เรื่อง เจษฎา อิงคภัทรางกูร

  • Movie
    Elio:  ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน สุดท้ายความรู้สึกมีคุณค่า…เริ่มต้นจากหัวใจตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ: ปาฏิหาริย์ของการรับฟัง ‘โดยไม่ตัดสิน’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • BookPlayground
    ไม่ว่าจะมีนิสัยที่เป็นภัยหรือไม่ เราทุกคนต่างก็เป็นที่รักได้ : Things No One Taught Us About Love

    เรื่อง อัฒภาค

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel