- ‘พันธุ์เจีย’ เกิดจากการรวมกันระหว่างคำว่า ‘พันธุกรรม’ และคำว่า ‘เจีย’ ในภาษาเขมร ที่แปลว่า ดี เมื่อรวมกันจึงกลายเป็น ‘พันธุ์ดี’ สื่อถึงการปลูกผักที่ใช้เมล็ดพันธุ์ดี และความปรารถนาดีในการส่งต่อผลผลิตจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค
- The Potential ชวนอ่านเรื่องราวของ จีรนันท์ บุญครอง เจ้าของ พันธุ์เจีย – Pangaea Organic Garden คนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ตัวเองอยู่รอด และส่งต่อความรู้ที่ได้สู่ชุมชน เพื่อหวัง ‘อยู่ร่วม’ และ ‘อยู่รอด’ ไปด้วยกัน
- ออกแบบการเรียนรู้ 4 หลักสูตร จากวิถีเกษตรของชุมชน คือ ปลูกผักอินทรีย์ ทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำอาหารสัตว์ และแปรรูป เพื่อทำให้ชุมชนมีความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์ สามารถรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
“จริงๆ คำว่า คนรุ่นใหม่ มันเป็นคำที่สร้างความกดดันให้เรามาก เราแค่เป็นคนโชคดี ที่อยากกลับบ้านแล้วได้กลับ และรู้ว่าตัวเองจะกลับมาทำอะไร ให้อยู่ร่วม และ อยู่รอดได้ ในชุมชน”
นัน-จีรนันท์ บุญครอง เจ้าของไอเดีย ‘พันธุ์เจีย’ – Pangaea Organic Garden แบรนด์ผลผลิตทางเกษตรแบบปลอดสารพิษ และหน่วยจัดการเรียนรู้ โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่การพึ่งพาเครือข่ายที่ยั่งยืน หนึ่งในโครงการต้นแบบของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกช่วงวัย ทั้งในด้านการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้
นันในวัย 27 ปี เธอเป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ไปเรียนในเมืองใหญ่ แล้วกลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิด สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ตัวเองอยู่รอดได้ และส่งต่อความรู้ที่ได้สู่ชุมชน เพื่อหวัง ‘อยู่ร่วม’ และ ‘อยู่รอด’ ไปด้วยกัน
ซึ่งถ้าพูดถึงการกลับมาอยู่บ้าน ไม่วาจะด้วยความฝัน ความหวัง หรือด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่บีบรัดให้ต้องกลับมา คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ กลับไปแล้วจะทำอะไร?
ถึงจะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่คงดีไม่น้อยหากการกลับบ้านยังคงมีฐานทุนดีๆ จากชุมชน ทั้งทรัพยากร องค์ความรู้ หรือแม้แต่ระบบความสัมพันธ์ในชุมชนที่เป็นพื้นที่รองรับให้พวกเขาได้กลับมาเรียนรู้และสามารถใช้ชีวิตต่อไปอย่างเข้มแข็ง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวนั้นก็จะค่อยหายไป เช่นเดียวกับนันที่มีฝันอยากเห็นสังคมเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสในการเรียนรู้สำหรับทุกคน
เก็บเกี่ยวชั่วโมงบินจากห้องเรียนในเมืองใหญ่
“สมัยเรียนที่เราตัดสินใจไปเรียนกรุงเทพฯ เพราะไม่อยากอยู่บ้าน อยากไปเจอโลก อยาก explore (สำรวจ) อยากทำอะไรที่ไม่ลำบากเหมือนที่พ่อแม่ทำ แต่พอเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ก็ดันไปเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร กลายเป็นว่าอิน แล้วก็สะสม มันมีเรื่อง relate (เกี่ยวข้อง) กับอาชีพของพ่อแม่เราเลยอินไปด้วย นอกจากในห้องเรียนแล้วเราก็หาความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เห็นแนวทางในการขยายต่อ ในการพัฒนาของอาชีพนี้ได้มากขึ้น เพราะว่ามันมีตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ทำแตกต่างออกไป แล้วก็ประสบความสำเร็จ
แล้วทีนี้ก็มีความคิดเรื่องการจะกลับมาอยู่บ้านตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เพราะไลฟ์สไตล์เราไม่เหมาะกับการใช้อยู่ชีวิตในกรุงเทพฯ ก็เลยหาไปฝึกงานก่อน กะว่าได้โปรไฟล์มาแล้วไปสมัครงานที่มันเหมาะกับเราจริงๆ พอไปฝึกงาน ได้ไปอยู่ในไร่จริงๆ ปุ๊บ มันก็เลยอยากกลับบ้าน แล้วที่บ้านก็ไม่ได้มีแรงต้านอะไรเลย แม่อยากให้กลับบ้านอยู่แล้ว ครอบครัวไม่มีใครมาคาดหวังว่าเราจะต้องส่งเงินเดือนให้ทุกเดือน ถึงบอกว่าเราเป็นคนโชคดีคนนึงที่อยากทำอะไรก็ได้ทำ ถึงมันไม่ได้มีต้นทุนสูงอะไรมาก แต่มันคือการตัดสินใจของเรา แล้วก็ไม่มีใครมาห้าม”
หลังจากเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2562 นันจึงเลือกกลับมาทำร้านค้าผักออร์แกนิกออนไลน์ของตัวเอง ที่สามารถขายผักอินทรีย์ได้ในราคาสูงกว่าชุมชน ในชื่อ ‘พันธุ์เจีย’ ซึ่งเกิดจากการรวมกันระหว่างคำว่า ‘พันธุกรรม’ และคำว่า ‘เจีย’ ในภาษาเขมร ที่แปลว่า ดี เมื่อรวมกันจึงกลายเป็น ‘พันธุ์ดี’ สื่อถึงการปลูกผักที่ใช้เมล็ดพันธุ์ดี และความปรารถนาดีในการส่งต่อผลผลิตจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค
โดยก่อนหน้านี้นันเป็นหนึ่งในอาสาคืนถิ่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับชุมชน เมื่อเรียนจบกลับมาทำไร่ ทำสวน ทำให้ได้เห็นฐานทรัพยากรและศักยภาพของคนในชุมชน เห็นดีมานด์จากการขายออนไลน์ของตัวเอง จึงอยากนำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่มาต่อยอดเพื่อสร้างการเรียนรู้ด้านอาชีพให้คนในชุมชน และตัดสินใจทำโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่การพึ่งพาเครือข่ายที่ยั่งยืน โดยดำเนินการภายใต้พื้นที่บ้านหลวงอุดมและบ้านดงเค็ง ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
“เราอยากใช้โอกาสตรงนี้สร้างมูลค่าให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แทนที่เราจะทำคนเดียว อยู่รอดคนเดียว กลายเป็นอยู่ร่วมกับชุมชนให้เขารอดไปด้วยกันได้ได้ไหม แล้วการที่เราเข้าร่วมกระบวนการของโครงการอาสาสมัครคืนถิ่น มันก็จะเห็นกระบวนการการกลับบ้าน การหนุนเสริม การเสริมพลัง การให้เครื่องมือในการกลับมาอยู่บ้าน เห็นโครงสร้างต่างๆ แล้วก็ได้สำรวจชุมชน แล้วก็พอสิ้นสุดกระบวนการปุ๊บ เออ…เรารู้สึกว่าเราอยากทำอะไรแบบจริงๆ จังๆ ก็เลยเขียน proposal (เขียนโครงการ) ขอไป
เป้าหมายกว้างๆ เลย คือ อยากอยู่ในสังคมที่ดี แต่เรารอให้มันดีขึ้นเองไม่ได้ มันช้าเกินไป เราต้องลงมือทำเอง”
นอกจากทำให้ชุมชนมีความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์ สามารถรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นันอยากเห็นมากที่สุดคือ การสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
4 หลักสูตรการเรียนรู้ จากวิถีเกษตรชุมชน
เมื่อการสร้างสังคมดีคือเป้าหมายใหญ่ บวกกับมีประสบการณ์ความรู้เรื่องการปลูกผักอินทรีย์เป็นฐานทุนในการทำงาน เธอจึงรวมทีมกับคุณครูเกษียณในโรงเรียนและคนในชุมชนที่มีความสนใจคล้ายกัน ออกแบบเวทีชี้แจงโครงการผ่านการเปิดวิดีโอการทำงานของ กสศ. และการพูดคุย โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิทที่ทำโครงการนี้ต่อเนื่อง 3 ปีมาช่วยไขข้อข้องใจ ทำให้ข้อจำกัดในการสร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และใช้เวทีประชุมประจำเดือนที่ศาลากลางหมู่บ้านเป็นพื้นที่สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน และเดินหาตามบ้าน เพราะรู้ว่าใครสนใจและมีศักยภาพที่จะทำได้
ผลจากการพูดกับทีมงานและกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ทีมงานได้นำมาออกแบบการเรียนรู้ทั้งหมด 4 หลักสูตร คือ การปลูกผักอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำอาหารสัตว์ และการแปรรูป ซึ่งทั้งหมดใช้กลุ่มอาชีพเดิมเป็นแกนในการพัฒนา ออกแบบหลักสูตรจากวิถีเกษตรที่เชื่อมโยงกัน เพื่อลดต้นทุน และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน
“4 หลักสูตรนี้ขายแนวคิดเรื่องเกษตรยั่งยืน เพราะเราเริ่มจากการปลูกผัก ก็ต้องมีการทำปุ๋ยตามมา ซึ่งทุกบ้านมีคอกวัวหมด มีพื้นที่ปลูกผักข้างบ้าน มีสระน้ำเพื่อเลี้ยงปลาก็ต้องใช้อาหารปลาที่ปกติต้องซื้อกระสอบละหลายร้อยบาทต่อเดือน แต่ถ้านานๆ กินปลาทีมันไม่คุ้ม เลยคิดว่านำมาแปรรูป เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกัน โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายทุกคนได้เลือกเรียนรู้คนละ 1 หลักสูตร ซึ่งแต่ละอันถูกออกแบบให้ชาวบ้านทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการเรียน และเนื้อหาด้วยตัวเองร่วมกับวิทยากรที่เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน หรือเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดที่เกษียณแล้ว เพราะกลุ่มเป้าหมายทุกคนคือ มีประสบการณ์ด้านการเกษตร เพียงแต่ยังต้องเติมความรู้ใหม่ เพื่อนำไปปรับใช้กับแปลงเกษตรของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ”
“ยกตัวอย่าง อาหารสัตว์ หมู่บ้านเรามีวัวประมาณ 500 ตัว แล้วก็ปลาอีกประมาณ 40 บ่อ แล้วแต่ละบ่อซื้ออาหารปลาเดือนละเป็นกระสอบ เดือนนึงก็หลายหมื่น แล้วอีกอย่างนึงคือ ทรัพยากรที่จะเอามาใช้เนี่ย มันหาได้ในชุมชนหมดเลย อย่างวัตุดิบที่เอามาใช้ทำอาหารปลา โรงสีในหมู่บ้านมีประมาณ 3-4 โรง มีรำข้าว มีปลายข้าวอยู่แล้ว ถ้ามันต่อยอดเป็นอาชีพได้มันเหมือนเป็นการลดการนำเข้าผลผลิตจากที่อื่น แล้วก็มาใช้ของคนในชุมชน เป็นการกระจาย หมุนเวียนเศรษฐกิจชุมชนจริงๆ ถึงแม้ไม่ลดต้นทุน ราคาเท่าเดิม แต่คนที่ได้รับตังค์มันอยู่ในชุมชนมันก็ยังดีนะ”
กว่าทุกอย่างจะเป็นรูปเป็นร่างได้ ผ่านการลองผิดลองถูกมาทั้งนั้น ความรู้ที่นำมาใช้ก็เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self – Directed Learning) ส่วนหนึ่งจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงการไปดูงานจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ สะสมมาเรื่อยๆ
“จริงๆ ตอนที่เราหาข้อมูล คนในหมู่บ้านเขาก็เป็นแหล่งข้อมูลให้เราได้อยู่แล้วแหละ ก็เลยสะสมมันมาเรื่อยๆ คือเรากลับมาปีนี้ก็ได้ปีที่ 3 เข้าปีที่ 4 แล้ว มันก็ลองผิดลองถูก ไม่ใช่ว่ารู้ทั้งหมด บางอย่างทำไปทำมาเพิ่งรู้ว่าอันนี้ไม่คุ้มก็มี เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่จริงๆ ก็อยากไปเรียนต่อเหมือนกัน จะได้ลดการผลิตซ้ำความผิดพลาด แต่ถ้ามันไม่ได้ผิดพลาดด้วยตัวเองจริงๆ มันก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจจริงๆ นะ เหมือนเราเรียนรู้จากการลงมือทำจริง”
“เราเชื่อมั่นว่าทุกคนเรียนรู้ได้ ฉะนั้นก่อนทำโครงการจึงตั้งใจว่าจะไม่ยัดเยียดความรู้ให้เขา แต่เราจะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มาจากความต้องการของเขาจริงๆ เรื่องไหนที่เห็นว่าหนักไปก็ทำความเข้าใจกับวิทยากรให้ออกแบบกระบวนการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะหากใช้ทฤษฎีมากไป คนก็หนี”
เรียนรู้จากการลงมือทำ
“สิ่งที่เราได้รับ… เอาจริงๆ นะ ตอนที่เขียน proposal เหมือนแบบจินตนาการว่าผลลัพธ์มันคงแบบนี้ๆ มีการรวมกลุ่ม มีการสร้างรายได้ มีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชน แต่พอเรียนรู้จริงๆ มันคือการจัดการกลุ่มเลย เพราะว่าเราทำงานกับคน เราควรจะจัดการยังไง กิจกรรมนี้ถ้าเราอยากจะทำต่อควรทำยังไง ควรจะให้ใครรับผิดชอบ ควรจะบริหารต้นทุนยังไง ควรจะขายให้ใคร ควรจะสต็อกของยังไง
สิ่งที่เรียนรู้มากที่สุดคือการจัดการ แล้วก็การทำงานกับคน การแก้ปัญหา เพราะว่ามันใหม่เรื่อยๆ เลย บางอย่างเราก็ไม่คาดคิด แล้วเราก็ไม่ได้มีพลังในการทำแบบนี้ตลอดเวลา คือคนในช่วงวัยเรา ไม่ใช่แค่เราเท่าที่คุยมา หลายคนมีอาการ depress หมด ซึมเศร้ากันหมด แต่ละคนเปรียบเทียบกับคนข้างๆ หมด บางอย่างเราคิดแล้วก็โทษตัวเองไปเรื่อยๆ ทั้งที่คนในหมู่บ้านเขาไม่ได้คาดหวังไปขนาดนั้นเลย เขาเห็นแนวทางการพัฒนาต่อไปได้ก็ดีใจแล้ว สิ่งที่เราทำมันก็เป็นการพัฒนาตัวเองเหมือนกันนะ”
นันแสดงความเห็นต่อว่า สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ประสบกับภาวะเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะเราต่างเสพความสำเร็จของคนอื่นมากเกินไป
“บางทีเราไปดูงานของชุมชนนี้ เขาประสานงานกันได้ครบทุกที่เลย แต่เขาทำมา 30 ปี แล้วนะ เรากลับมาบ้าน 3 ปี เราจะไปเปรียบเทียบกับเขาจริงๆ เหรอ เราจะไปด้อยค่าความสามารถของตัวเองทำไม เราก็ต้องพยายามเตือนตัวเองเอาไว้ ต้องหาจุดยืนของตัวเองจะได้ไม่หลงทาง จริงๆ การได้คุยกับทีมเรื่อยๆ จะดีมาก เพราะว่าถ้าปล่อยให้เราคิดเองคนเดียวมันก็จะฟุ้งซ่านอย่างนี้ แต่ถ้าได้คุยกันเราก็จะมาหาทางออก ผิดพลาดตรงไหน แล้วก็เริ่มใหม่ หาวิธีแก้ใหม่”
นอกจากนี้นันยังเล่าว่า เธออยากเห็นการทำ CSA หรือ Community Supported Agriculture เกิดขึ้นในชุมชน
“CSA มันคือ โมเดลๆ หนึ่ง ในการทำการเกษตรรูปแบบหนึ่ง เป็นการบริหารความเสี่ยงร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ผลิตแล้วก็ผู้บริโภค คุณค่าของระบบนี้คือ ผู้ผลิตผลิตอาหารที่ดีให้กับผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคก็สนับสนุนผู้ผลิต โดยที่ไม่ได้คิดว่าอีกฝ่ายนึงเป็นบุญคุณ คือแนวคิดหรือตรรกะของเกษตรกรหลายคน เวลามีคนมาซื้อของจะดีใจมาก ปลื้มใจมาก และคิดว่าสิ่งนั้นคือบุญคุณ ซึ่งในความคิดของเรา เราอยากให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคมีการ respect กัน มันเป็นการพึ่งพากัน ให้คุณค่าของทั้งสองฝ่าย เราตั้งใจผลิตให้คุณ แล้วคุณก็เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ มันก็คือการที่ทั้งสองฝ่ายต้องมี awareness ซึ่งกันและกัน”
ไม่ว่าสิ่งที่นันทำอยู่นี้จะเป็นการสร้างโอกาส หรือลดความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้ของชุมชนเล็กๆ ในชนบทแห่งนี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ การเปิดพื้นที่และโอกาสในการเรียนรู้ และไม่ใช่แค่ร่วมกิจกรรม แต่เป็นการร่วมคิด ร่วมออกแบบ ค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน
“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก่อนหน้านี้ที่เราเรียนมา เราไม่ได้เรียนจากความต้องการของเราจริงๆ มันเป็นหลักสูตร มันก็เลยเป็นเหมือนความเหลื่อมล้ำในระบบเหมือนกันนะ ว่าฉันไม่ได้ชอบสิ่งนี้แต่ก็ต้องเรียน เพื่อให้ได้วุฒิมา ทีนี้โครงการที่เราทำ ทุกอย่างมันเกิดจากการที่กลุ่มเป้าหมายและคณะทำงานที่อยู่ในหมู่บ้านเป็นคนออกแบบด้วยตัวเอง ตอนแรกเราคิดไว้แค่อาหารปลา ทำปุ๋ย ปลูกผัก แต่ทีนี้พอเราเอาไอเดียไปเสนอ เขาบอกว่าอยากได้อาหารวัวด้วย เพราะเลี้ยงวัวเยอะ หลายๆ อย่างที่มันเกิดขึ้นมาทีหลัง มันเกิดขึ้นจากชาวบ้านคิดกันเองเยอะเลย เขามีภาพฝันของเขาเยอะเลย
พอเราได้จัดกระบวนการตามที่เขาต้องการจริงๆ มันก็เลยเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสิ่งที่เขาไม่เคยรับมาก่อนด้วย เหมือนเป็นการเติมเต็มเขา อันนี้ในทัศนคติของเรา แล้วก็เหมือนเป็นการมอบโอกาสให้กับเขา อย่างบางคนไม่ได้รับการศึกษามาด้วยซ้ำ ถึงตอนนี้การเข้าถึงการศึกษามันจะง่าย เปิดยูทูบก็ได้แล้ว แต่บางคนก็ยังไม่รู้ ยังเข้าไม่ถึง ต้องลองผิดลองถูก ล้มเหลวมาก็เยอะ แต่พอเราได้ทำรูปแบบกลุ่ม ได้เอาความรู้ที่ผ่านการล้มเหลวหรือผิดพลาดมาแล้วมาให้เลย มันก็เลยลดช่องว่างตรงนี้ เพราะบางคนไม่มีเวลา ไม่มีต้นทุนจะไปล้มเหลวแบบนั้น”
“ท้ายที่สุดแล้วหัวใจหลักที่เราทำโครงการ ที่เราทำงานทุกวันนี้ เราจะคิดเสมอ เตือนตัวเองว่าที่ทำอยู่ไม่ได้เพราะว่าจะไปทำให้คนอื่นยอมรับ คือที่เราทำอยู่เพื่อตัวเอง เพราะเราอยากเห็นสังคมดีขึ้น แล้วการที่สังคมดีขึ้นมันไม่ได้ดีมากจากการที่อยู่ๆ เขาเอาเงินมาให้เราแล้วเราดีขึ้น สมมติเราอยากเปิดร้านอาหารในชุมชน แต่เราอยากให้คนในชุมชนได้กินอาหารดีๆ นั้น แต่ก็ต้องจ่ายให้เราในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งก็หมายถึงการที่เขามีกำลังซื้อด้วย แล้วการที่เขามีกำลังซื้อก็คือเขาจะต้องมีฐานะที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนกัน คือค่าครองชีพหลายๆ อย่างมันต้องสมเหตุสมผลกับคุณค่าที่เขาอยู่” จีรนันท์ ทิ้งท้าย