- ‘วิเวียน’ สาวน้อยอายุ 16 เกิดคำถามขึ้นหลังจากที่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่มีเด็กผู้ชายชื่อ ‘มิทเชล’ มาทำตัวไม่ดีคุกคาม ‘ลูซี่’ เด็กสาวที่พึ่งย้ายเข้ามาในโรงเรียน วิเวียนพยายามเข้าไปแนะนำเพื่อนสาวให้เมินมิทเชลไปเถอะ แต่ลูซี่ถามกลับมาว่า ‘แล้วทำไมฉันต้องเมินเค้าด้วยล่ะ ทำไมไม่เป็นเขาที่เลิกทำตัวเฮงซวย’
- วิเวียนเริ่มมองเห็นปัญหาและพบว่าวิธีที่เธอทำมาตลอด อย่างการปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยไม่ต่อสู้ เลือกที่จะเมินเฉย หรืออดทนก้มหน้าก้มตารับสิ่งเหล่านั้นมันทำให้พวกผู้ชายก็ยังคงทำตัวกวน และไม่ให้เกียรติผู้หญิง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เธอมองเห็นปัญหา และเกิดแรงบันดาลใจจากหนังสือทำมือที่แม่เคยทำไว้สมัยสาวๆ ที่บอกว่าผู้หญิงมีพลังมากพอที่จะปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เธอจึงทำซีนขึ้นมาเองบ้างแล้วตั้งชื่อมันว่า ‘Moxie’
Month: March 2021
- ครูสัญญา มัครินทร์ หรือ ‘ครูสอญอ’ แห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น ที่ปัจจุบันกำลังจะย้ายไปสอนที่บ้านเกิด และตั้งใจทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน พร้อมทั้งขยายขอบห้องเรียนให้ไกลกว่าเดิม
- ประเด็นที่ชวนครูสอญอคุยตั้งแต่วิธีการสอนของเขาที่ออกแบบให้เป็นห้องเรียนปลอดภัย โดยต้องเริ่มจากนักเรียนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ การผันตัวไปเป็นยูทูปเบอร์เพื่อโปรโมทบ้านเกิด และอำนาจกับครู
- “แน่นอนว่าเราก็เคยบ้าอำนาจ เราเคยรู้สึกว่าพาวเวอร์ฟูลกับอำนาจที่เรามี แล้วเราก็เห็นว่าซัฟเฟอร์ทั้งเราและเด็ก เพราะการใช้ชีวิตร่วมกับเขา ไม่มีใครอยากถูกใครบงการหรือถูกใครควบคุมตลอดเวลา”
ห้องเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ได้แลกเปลี่ยน โต้เถียง และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด แต่ในความเป็นจริงการสร้างบรรยากาศแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในรายการพอดแคสต์ ‘ข้างๆ ครูคูล’ เจ้าของรายการ ครูสัญญา มัครินทร์ หรือ ‘ครูสอญอ’ แห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันกำลังจะย้ายไปสอนที่บ้านเกิด และตั้งใจทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชน ขยายขอบห้องเรียนให้ไกลกว่าเดิม มาแชร์ความคิดการจัดพื้นที่ห้องเรียนประชาธิปไตย พร้อมเล่าถึงเบื้องหลังความตั้งใจคืนอำนาจให้นักเรียนได้ร่วมออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง กับไอเดียการชักเย่อความคิดที่ชวนนักเรียนถกเถียงอย่างสร้างสรรค์
สามารถรับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่นี่
อยากทราบถึงแรงบันดาลใจในการทำอาชีพครู?
จุดเริ่มต้นของการเป็นครู ย้อนกลับไปเมื่อตอน ป.5 จำได้วิชาหนึ่ง อาจารย์ถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราตอบอยากเป็นครูครับ เพราะรู้สึกว่าครูคนนี้ไม่ได้สอนวิชา แต่เป็นนักเล่าเรื่อง รู้สึกว่าคนเป็นครูนี่มีพลัง เหมือนมีมนต์อะไรสักอย่างสะกดเด็กอยู่ เรื่องที่ครูเล่ายังคงอยู่ในหัวเลยว่าเล่ายังไง เราอยากเป็นคนข้างหน้าห้องแบบเขาบ้าง นั่นคือจุดเริ่มต้น แต่พอโตมาเริ่มมีความสนใจหลากหลาย อยากเป็นน้าต๋อยบ้าง อยากเป็นพี่บอล อยากเป็นเป็นเอก แต่สุดท้ายก็ยังนึกถึงสิ่งแรกที่อยากเป็นอยู่ ก็เลยเรียนครู แม้กระทั่งตอนนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจมากเท่าไร
ที่ตัดสินใจเรียนครูเพราะยังคงมีภาพจำที่ประทับใจตั้งแต่ ป.5
ยังมีภาพวันนั้นอยู่ และด้วยตอนที่เรียน ม.ปลาย เจอครูมันๆ เยอะ เรารู้สึกอาชีพนี้ยังน่าสนใจอยู่ แต่ตอนนั้นก็มีอยากเรียนทำหนัง ทำฟิล์ม แต่ด้วยจังหวะและเวลา คิดว่าเลือกเรียนครู เพราะอยากสอบให้ติด เลยเลือกสอบโควต้า แล้วก็ได้ พอไปเรียนก็ตั้งท่าว่าจะไปเรียนสาขาอื่น เพราะว่าไม่ชอบสไตล์การเรียนรู้ แต่มาพลิกตอนไปฝึกสอน ตอนปี 4 จากคนขี้เกียจ คนที่ไม่ค่อยสนใจ พอไปโรงเรียนแล้วรู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว
ตอนนั้นได้ไปเป็นอาจารย์ฝึกสอนที่ไหน?
ฝึกที่โนนชัย ที่ปัจจุบันนี้รู้สึกว่านี่คืองานของเราเลย เพราะไปแล้วรู้สึกเป็นตัวเองมาก ได้พลังจากเด็ก สนุก อยากไปโรงเรียนทุกเช้า คิดว่าอยากทำงาน แล้วก็ทำมา 13 ปีแล้วครับ
ตอนเรียนไม่ชอบ แต่พอได้ลองสอนแล้วชอบ มีไฟ เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น?
หนึ่งชอบ reaction ของเด็ก และสองเรารู้สึกว่าเวลาเล่นมุก หยอดอะไรไป มันมี engage มีการตอบโต้กลับมา รู้สึกดี สิ่งที่เรานำพาเขามามันไปต่อได้ ไหลลื่น รู้สึกว่าไม่ได้สอน เหมือนมาใช้ชีวิตกับเขา มีความ relax มีพลังงานดีๆ ไปด้วยกัน ชอบบรรยากาศแบบนี้ครับ
สไตล์การสอนของครูเป็นอย่างไร ?
จริงๆ สไตล์การสอนของเราไหลลื่นมากเลย ไม่ค่อยตายตัว เรียกว่าเป็นสไตล์แถๆ มีความอิมโพรไวส์ (improvise) จะดูพลังงานผู้เรียนเป็นหลัก แล้วที่สำคัญดูพลังงานครูด้วยว่าจะนำพาแบบไหน หรือถ้าพลังงานเด็กดาวน์ เราจะปลุกเขายังไง ใช้การดูหน้างานพอสมควร
แต่ว่าหลักๆ หัวใจของเรา จะมีอยู่ประมาณสองสามคำ คือ ทำให้ห้องเรียนมีส่วนร่วม ต้องมีพื้นที่ให้เด็กได้พูดคุย แล้วก็เป็นพื้นที่ที่เราเองจะได้เรียนรู้จากเขาด้วย เราก็เลยชอบให้มีพื้นที่ประมาณสักสิบนาทีได้พูดคุยกัน แล้วที่สำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้เขาได้สะท้อนตัวเอง แล้วก็สะท้อนตัวครูด้วย
ฟังดูแล้วไม่เน้นวิชาการ แต่ให้น้ำหนักกับบรรยากาศการโต้เถียง และการสะท้อนตัวตนมากกว่า
หมวดวิชาการก็วิชาการนะ วันนี้เราจะ lecture based นะนักเรียน เราจะสอนกัน ก็หนักไปทางนั้น ถ้าวันนั้นพร้อม แต่บรรยากาศส่วนใหญ่จะเน้นการพูดคุย เราเชื่อว่าความรู้อยู่ในตัวเขาแล้ว ก็จะใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เขาอยากหาต่อ เพราะเด็กทุกวันนี้เก่ง เข้าถึงข้อมูลได้ ก็จะชวนคุย ให้แลกเปลี่ยนกัน แล้วก็เปิดพื้นที่ หนักไปทางให้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกันมากกว่าข้อมูลและเนื้อหา
นำแนวคิดแบบนี้มาจากไหน?
จริงๆ ก่อนเป็นครูมีไปเวิร์กชอป ไปเรียนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การศึกษาแบบมนุษย์ที่แท้ ไปเรียนรู้กับอาจารย์ประชา, อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู, อาจารย์ประภาภัทร นิยม หรืออาจารย์วิเชียร หลากหลายมากเลย แล้วก็กลับมาดูว่าเราถนัดแนวไหน เชื่อแบบไหน และเราเคยมีประสบการณ์ที่อาจารย์พานักเรียนไปเจอของจริง ลงไม้ลงมือทำ แล้วก็มีวงสนทนากันอยู่เรื่อยๆ ก็เลยเหมือนซึมซับ ชอบการเรียนรู้แบบนี้
อยากให้คุณครูยกตัวอย่างถึงกิจกรรมในห้องเรียนที่มีการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ถกเถียงประเด็นที่เป็นกระแสสังคม ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจประเด็นต่างๆ ในเชิงลึกได้
เอาประเด็นเร็วๆ นี้ คือความเห็นทางการเมือง เพราะว่าเด็กตื่นตัวมากและกำลังสนใจกัน มีนักเรียนหลายคนแสดงสัญลักษณ์ในโรงเรียน เด็กม.ต้น มายกสามนิ้ว ผูกโบว์ แล้วก็มีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราเห็นบรรยากาศของครูในโรงเรียน มีการควบคุมและตั้งคำถาม เราเห็นว่าบรรยากาศแบบนี้ดีเพราะว่าพลังงานมา เราสอนสังคมอยู่แล้ว ดังนั้น ชวนเด็กเรียนรู้เรื่องนี้กัน อยากฟังเขาด้วย คิดยังไง จัดกระบวนการเลย ให้เด็กตั้งคำถามว่าเราคิดหรือเข้าใจยังไงกับการยกสามนิ้ว ก็มีเด็กที่เข้าใจลึก เด็กที่ไม่เข้าใจ เด็กที่ไม่เห็นด้วย เราก็ทำเหมือนชักเย่อความคิด ใครเห็นด้วยมาอยู่ฝั่งนี้ ใครไม่เห็นด้วยมาอยู่ฝั่งนี้ แล้วลองฟังกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยว่าเขาคิดยังไง เขาก็พูดเต็มที่เลย ยกไปทำไม เสร่อ ไม่เข้าใจ ทำทำไม อีกกลุ่มหนึ่งก็บอกว่าเป็นแฟชั่นต้องทำ เป็นความหมายของการต่อสู้ที่เราไม่เห็นด้วยกับระบบ
คราวนี้แล้วจะชวนเขาไปต่อยังไง ก็ชวนให้เขาเข้าใจเรื่องความเชื่อทางการเมืองที่มีหลายเฉดมาก ฝั่งขวามียังไงบ้าง ขวาจัด ซ้ายจัด ตรงกลาง ก็สอนเลย เอาคอนเทนต์มาเลยว่ามีอนุรักษ์นิยม ชาตินิยม เสรีนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เด็กก็เริ่มเข้าใจแล้วว่ามีความคิดนี้เกิดขึ้นยังไง ในประวัติศาสตร์การเมืองของเราเป็นยังไงบ้าง แล้วเจเนอเรชั่นนี้ ทำไมถึงมีความเชื่อแบบนี้ เขาโตมากับอะไร เราก็ชวนคุย แล้วคราวนี้ก็กลับมาแลกเปลี่ยนกันต่อว่าแล้วเขาจะยังทำเรื่องนี้ต่อไหม หรือจะเปลี่ยนฝั่ง ก็มีการคุยกัน แล้วเขาก็เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นกับสิ่งที่เขาทำ อ๋อ ฉันทำเพราะทำตามเพื่อน ฉันทำเพราะว่าฉันยังยืนยันในสิ่งที่ฉันเชื่ออยู่ คนที่ไม่เข้าใจก็เริ่มฟังมากขึ้น ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อครูหลายๆ คนเริ่มตั้งคำถาม แล้วเขามาคุยหลังไมค์ว่าครูหนูไม่ขอทำต่อแล้วนะ เพราะหนูรู้สึกว่าสัญลักษณ์นี้มันไปกระทบความรู้สึกของเพื่อน หรือความรู้สึกของหนู เพราะหนูเอง พอถูกครูบางคนทำ แล้วเขาให้เหตุผลอีกแบบหนึ่ง หนูขอสื่อสารแบบอื่นดีกว่า เขาก็เปลี่ยน เพราะเขาก็รู้สึกว่าเขาถูกเพ่งเล็ง แต่เขาก็เปลี่ยนวิธีการเป็นงานเขียน เป็นการทำอย่างอื่น ซึ่งเรารู้สึกว่าอิมแพค แล้วก็เป็นพื้นที่ที่เราได้เรียนรู้จากมุมเขาด้วย รู้ว่าเขาอินขนาดไหน เชื่อแบบไหน
รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ได้เห็นว่าเด็กมีวิธีการที่เปลี่ยนไป หรือมีความเข้าใจในมุมมองที่หลากหลายขึ้น
รู้สึกว่าเขามีวุฒิภาวะ แล้วเด็กคนนั้นคือเด็กม.1 ด้วย ปกติเราเห็นเขายกมือ แต่วันต่อมาจากเขายกสูงมาก แล้วลดมายกเหลือแค่นี้ วันต่อมาไม่ยกแต่ผูกโบว์ เวลาอยู่ในห้องเรียนเขาเป็นเด็กเรียบร้อย แต่รู้สึกว่าเขาก็ยังเชื่อในสิ่งที่เขาทำ แต่อาจจะเปลี่ยนวิธีการแสดงออก คือเขาก็น่ารักที่แคร์ครูเหล่านั้น ไม่ได้หมายถึงความกลัว แต่เขาใส่ใจครูที่เป็นห่วงว่าเขาจะถูกเพ่งเล็ง หรือมองว่าหัวรุนแรง
แต่แบบนี้ไม่ใช่การทำให้เด็กรอมชอมหรือยอมจำนนใช่ไหม?
หมิ่นเหม่เหมือนกันนะว่ายังไง คือส่วนหนึ่งเวลาทำต้องอาศัยเพื่อนเหมือนกัน พอสิ่งที่เขาทำไม่มีเพื่อน เราก็รู้สึกว่าเขาก็ขอทำในส่วนที่พอทำได้ดีกว่า มีการคุยกันอยู่นะ แม้กระทั่งเรื่องทรงผม เรื่องการแต่งกาย ก็ฟังว่าเขาคิดยังไง ถ้าอยากสู้เรื่องนี้ต่อ มีวิธีการต่อสู้หรือสื่อสารแบบไหน เราก็เอาเรื่องการสื่อสารแบบสันติไปช่วยเขา ถามว่าจะสื่อสารยังไงกับเรื่องนี้ ผมแคปหน้าจอพรบ.การศึกษาเอาไว้ติดตัว ถ้าคุณครูถาม ผมจะตอบด้วยความสุภาพว่าผมยืนยันไว้ทรงนี้ครับ ปรากฎว่าเขาจะใช้มุกนี้ครับ อธิบายให้คุณครู ซึ่งก็ไม่ตัดนะ จนวันนี้ก็ไม่ยอมตัดผม แต่คุณครูเหล่านั้นก็เข้าใจ เราก็พยายามพูดในวงประชุมว่าต้องยืดหยุ่น ต้องให้พื้นที่เขา เพราะว่ากฎหมายและพรบ. หลายเรื่องเปิดทางแล้วก็ผ่อนคลายเยอะแล้ว ครูเองก็ต้องเท่าทัน เข้าใจธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป เราไปใส่ใจและโฟกัสเรื่องที่น่าจะถูกดึงขึ้นมากกว่าไหม
ทำไมคุณครูถึงเลือกที่จะเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนร่วมกันแบบนี้
เรามองว่าเขาคือผู้ใหญ่ในอนาคต คนเหล่านี้แหละที่เราจะพึ่งได้ เราอยากพึ่งคนที่มีความคิดความอ่าน หรืออยากเห็นคนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องสร้างบรรยากาศเหล่านี้เลย ตอนที่เราเชื่อ มีกำลัง ทำห้องเรียนผู้ใหญ่ในห้องเรียนเด็ก ให้เขาเรียนรู้ความเป็นผู้ใหญ่ คือเห็นต่างได้ ถกเถียงกันได้ อดทนอดกลั้นกันได้ แต่พอพูดแบบนี้เหมือนยาก เราก็เริ่มต้นจากการทำให้พื้นที่ห้องเรียนของเราปลอดภัยพอที่จะเป็นตัวตนของเขา ต้องถูกกระทำอยู่ซ้ำๆ เรามาพูดกัน ฟังกัน
มากกว่านั้นคือเมื่อพื้นที่ถูกเปิดให้ปลอดภัย ก็จะถูกพูดคุยเรื่อยๆ เขาก็เป็นเขามากขึ้น คราวนี้เราก็เริ่มเปลือยตัวตนของเรา ครูเป็นคนขี้ง่วง วันนี้ครูง่วง นอนกันเถอะ เด็กก็อาจจะครู วันนี้ผมเหนื่อย ของีบห้านาทีได้ไหม โอเคได้ งั้นงีบด้วยกัน ก็คือแบ่งกัน เด็กรับความเป็นครูให้ได้ แล้วครูก็จะรับความเป็นเด็กเหมือนกัน
แล้วพอมีความเป็นกันเอง คราวนี้หลายๆ เรื่องก็ถูกพูด ทำความเข้าใจ แต่ครูก็ยังต้องทำหน้าที่มอนิเตอร์ ถ้าพื้นที่ตรงไหนเริ่มจะเอียงไปฝั่งหนึ่ง หรือถูกกินพื้นที่ฝั่งหนึ่ง ครูก็จะใช้อำนาจความเป็นครูในการตบโต๊ะแบบประธาน อ้าวฟังครับ ให้สิทธิคนที่ถูกพาดพิง ให้ฟังกันก่อน แล้วก็ค่อยๆ ไป
พอพื้นที่ปลอดภัย ทุกคนมีเสียง ความมั่นใจของทุกคนจะมา เราเชื่อว่ามันคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่จะถกเถียงกันได้ อาจจะไม่เห็นด้วยกับครู หรือเห็นต่างกับครู หรือไม่เอาวิธีคิดของครูก็ได้
ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงโควิด เห็นคุณครูกลับบ้านและเริ่มสนใจถ่ายรูปท่องเที่ยว วิ่ง หรือพาเด็กๆ ลงพื้นที่ มีแนวคิดจะผันตัวเป็นยูทูบเบอร์หรือเปล่า
ยังครับ ยังเป็นครูอยู่ คือช่วงโควิด โดยส่วนตัวเราอยู่อำเภอสีชมพู เป็นอำเภอที่ไกลปืนเที่ยงมาก ความที่เห็นว่าบ้านตัวเองน่าสนใจ คือพอพูดถึงขอนแก่นมักจะนึกถึงความเป็นเมือง หรือสถานที่ท่องเที่ยว เราก็จะแอบน้อยใจว่าทำไมแผนที่ท่องเที่ยวไม่เคยแนะนำบ้านเราเลย ทั้งที่บ้านเรามีอะไรเจ๋งๆ เยอะ ฉะนั้นเราจะเป็นคนที่ทำให้โลกนี้รู้ว่าบ้านเรามีดี ก็เลยตระเวนเก็บภาพ ไปเดิน ปั่นจักรยาน วิ่ง นึกถึงตอนเราไปวังเวียง ก็รู้สึกว่าบ้านเรามีความวังเวียงเหมือนกัน มีธรรมชาติ ลำธาร มีความบ้านๆ ซึ่งจากการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อยๆ ก็ชวนเพื่อนมา แล้วก็เริ่มมีน้องๆ ในชุมชนที่เขาอยากทำ เขาเป็นคนในพื้นที่ แต่ว่าเราเกิดและโตมาที่จังหวัดขอนแก่น 20 กว่าปี เรารู้สึกว่าน้องๆ เขาเป็นจิ๊กซอว์ที่มาทำงานด้วยกันได้ ซึ่งน้องๆ มีพรรคพวกเยอะ แก๊งค์เตะฟุตบอล แก๊งค์ผู้บ่าวไทบ้าน ก็เลยลองมาเริ่มต้นทำเรื่องท่องเที่ยวด้วยกัน
จริงๆ เรื่องท่องเที่ยวเหมือนกับเป็นประตูแรกที่จะนำไปสู่มิติอื่นๆ เพราะเรามองว่าบ้านเราเองตอนนี้ก็มีปัญหาเยอะมาก มันมีความงามแหละ แต่ว่าทรัพยากรก็ค่อยๆ หายไปพอสมควร จากการทำไร่อ้อยที่ใช้เคมีเยอะ หรือมีโรงโม่ที่เอาภูเขา ลำน้ำ หรือว่าพื้นที่ทำกินไปหลายจุดเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกอยากชวนให้คนมาเห็นคุณค่าผ่านทรัพยากร แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดึงศักยภาพของคน คิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำงานที่เรายังพอมีกำลัง แล้วยังพอมีพรรคพวก เพื่อนพ้อง ที่น่าจะมาหนุนเสริม แล้วก็นำพาตัวเราและชุมชนไปด้วยกันได้ ก็เลยตัดสินใจทำเรื่องย้ายไปเป็นครูแถวบ้านเลย เพราะรู้สึกว่าครูยังมีอำนาจ แล้วก็ยังมีพลังงานบางอย่างที่จะสามารถนำเรื่องการศึกษาไปชวนให้คนได้กลับมาเห็นตัวเอง เห็นสิ่งรอบตัว แล้วก็เห็นทรัพยากรในชุมชนของเรา ก็น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แล้วเราก็เชื่อว่าถ้าเกิดเขารัก เขาหวงแหนพื้นที่เขา เขาจะกลับมา แล้วก็ทำบางอย่างเพื่อชุมชนให้ดีกว่าเดิม
จากการท่องเที่ยวที่เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญแต่ก็สามารถเชื่อมไปสู่การเรียนรู้ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้จำกัดวงแค่นักเรียนของตัวเองแล้ว
เรามองว่าทุกที่คือห้องเรียน และที่สำคัญโอกาสนี้คือเรื่องใหม่มาก เราเองก็จะได้เรียนรู้ เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเวลาทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนต้องเริ่มยังไง เป็นโอกาสดีที่เราจะเริ่มต้นไปด้วยกัน แต่ตั้งค่าว่าเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะไปได้ ผิดบ้าง ถูกบ้าง มันจะสนุก สาเหตุที่เรารู้สึกว่าทำไมต้องไปทำงานกับชุมชน ทำงานกับวัยรุ่น เพราะเราคือส่วนหนึ่งของชุมชน เรามองว่าครูไม่ใช่ทำงานแค่ในห้องเรียน แต่ครูคือผู้นำ เราเคยเห็นภาพครูที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเยอะแยะมากมายเลยในอดีต ครูอย่างพวกเราก็ไม่น้อยนะ ถ้าเช่นนั้นฉันขออหังการ์ ขอไปเป็นครูเหล่านั้นบ้าง
คือรู้สึกว่าการเป็นครูน่าจะเป็นนัก educate ได้ทุกที่ มองทุกที่คือพื้นที่การเรียนรู้ แล้วก็ชวนคนอื่นมาเรียนรู้ด้วยกัน เราคิดว่าอันนี้อาจจะเป็นทักษะหนึ่งที่ครูควรต้องฝึก แล้วก็ต้องนำพาตัวเองไปถึงมิตินั้น ถึงจะดึงจิตวิญญาณ แล้วก็ความศรัทธาของครูในอดีตกลับคืนมา
เพราะว่าครูของเราถูกทำร้าย ถูกมายาคติทั้งบวกทั้งลบ แต่ฝั่งลบนี่หนักแน่นเหลือเกิน แล้วโดยเฉพาะสื่อที่ขายข่าว ก็มุ่งไปแต่เรื่องของครูด้านลบ ก็ดึงศรัทธา หรือว่าดึงครูดีๆ ที่ตั้งใจดีให้ถูกเหมารวมว่าครูทุกวันนี้ไม่ได้เรื่องไปเยอะเหมือนกัน เราก็เลยจะขอเป็นแสงสว่างน้อยๆ ที่จะทำอะไรได้บ้างในพื้นที่ของเรา แล้วก็ตามกำลังเรี่ยวแรงของเราที่จะดึงความเป็นครูธรรมดาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
เราพบครูจำนวนไม่น้อยที่ซัฟเฟอร์ (suffer) จากระบบ ครูเองก็ถูกกดดันจากอำนาจของโครงสร้างบางอย่าง เอาเรี่ยวแรงจากที่ไหนในการพาตัวเองออกไปเรียนรู้ สร้างสร้างแรงบันดาลใจกับคนอื่นๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน?
คำถามนี้ถูกถามบ่อยมากเลย ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะว่าก็มีช่วงที่ซัฟเฟอร์แล้วอยากลาออก เพราะทุกข์ แต่หลายครั้งอาจเพราะทักษะที่ฝึกมาด้วย คือจะกลับมานิ่งกับตัวเองแล้วตั้งคำถามว่า จุดเริ่มต้นของการอยากเป็นครูคืออะไร แล้วคุณค่าที่เราให้คืออะไร มีหลายครั้งที่ทำแล้วเหนื่อย เราต่อสู้ พอกลับมา เราไม่ได้รับคำชม เราไม่ได้มีเพื่อนมาช่วย นักเรียนไม่สนุกกับเรา สิ่งนี้คือคุณค่าแท้หรือคุณค่าเทียม คุณค่าแท้ที่เราตั้งใจอยากจะมาเป็นครูเพราะอยากจะสร้างการเรียนรู้ให้ตัวเอง อยากจะขัดเกลาตัวเอง ดังนั้นพอกลับมาคุณค่าแท้ที่เราตั้งไว้ ก็จะรู้สึกว่าเราก็ทำไป แต่อย่าลืมเป้าหมายหลักที่ตั้ง ขัดเกลาตัวเอง แล้วก็ทำให้ตัวเองกลับมาทำงานได้
อีกอันหนึ่งคือ เครื่องมือของการใคร่ครวญตัวเอง เราเรียกว่า วิชาภาวนา คือวิชาที่กลับมาเห็นอำนาจภายในตัวเอง ก็คือ ‘สติ’ นั่นเอง สิ่งหนึ่งที่เราไม่หลงลืม แล้วยังต้องฝึกอยู่เรื่อยๆ คือการเจริญสติ เพราะถ้าเกิดเราเจริญสติ เห็นและเข้าใจความรู้สึก ความสุข ความทุกข์ หรือธรรมชาติที่เกิดข้างใน นามธรรมในร่างกายของเรา เราจะรู้ว่าช่วงนี้เราจะฟื้นฟูอย่างไร ช่วงนี้จะพักยังไง ช่วงนี้เราจะให้เขาเติบโต แล้วไปให้แรงบันดาลใจเพื่อนยังไง เราก็เลยรู้สึกว่า ต้องกลับมาเห็นพลังข้างในตัวเองให้เป็น แล้วจะรู้เลยว่า ช่วงนี้เราจะเติมให้ตัวเองหรือพักยังไง
ประเด็นเรื่องการคืนอำนาจของครูในห้องเรียน มีอะไรที่อยากสื่อสารบ้าง?
คำถามนี้น่าสนใจมาก อำนาจ ถ้าเราเรียนมา อำนาจมีสามก้อน คือ อำนาจเหนือ เป็นอำนาจจากข้างบน จากผู้ใหญ่ รุ่นพี่ แล้วก็มีคนที่อยู่อำนาจข้างล่าง กับอำนาจที่สองเขาเรียกว่า อำนาจร่วม ก็คือเรามองคนเท่ากัน เรารู้สึกว่าแชร์กันได้ สร้างการมีส่วนร่วมด้วยกันได้ แล้วก็อีกอำนาจหนึ่งก็คือ อำนาจภายใน คือ การกลับมาเห็นคุณค่าของตัวเอง มาเห็นศรัทธา ไว้ใจ หรือสิ่งที่เป็นพลังงานข้างใจ เรียกว่าเป็นจิตวิญญาณ
ถ้าจะคืนอำนาจ เราเองก็ต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่าตอนนี้เราใช้อำนาจอะไรอยู่ ตอนนี้เรากำลังบริหารอำนาจแบบไหนอยู่ สิ่งที่เราทำอยู่เรื่อยๆ ในห้องเรียนคือ เราพยายามทำอำนาจร่วม ให้เด็กตัดสินใจ นี่คือการคืนอำนาจ สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างให้เขามั่นใจ ก็คือการคืนอำนาจภายในให้เขา ให้เขากล้าตัดสินใจ ให้เขากล้าวิจารณ์ครูได้ กล้าประเมินครูได้ แล้วเราก็ทำเรื่องการเจริญสติในห้องเรียนด้วย คือให้เขาเท่าทันอารมณ์ตัวเอง มีความสงบนิ่งกับตัวเอง อดทนกับความอึดอัดที่ควบคุมไม่ได้ข้างในตัวเองควบคู่ไปด้วยกัน ถูกทำซ้ำๆ ให้เป็นทักษะ แล้วเป็นวิถี คราวนี้พอเขามั่นใจ กล้าตัดสินใจ เขาเห็นว่าเขารู้สึกอึดอัด รู้สึกยังไง ก็คือซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง นั่นก็คือจริงใจกับตัวเอง เราก็เลยมองว่าอำนาจภายในก็คือการเท่าทันตัวเอง พอเขาเท่าทันตัวเอง เขาก็จะเคารพคนอื่นไปด้วย ก็เลยถูกทำไปด้วยกัน
คราวนี้รูปธรรมการคืนอำนาจ นอกจากจะมีวงถกเถียงในพื้นที่ห้องเรียน ก็ไปไกลกว่านั้นคือ เหมือนกับเราเอากุญแจให้เขาขี่มอเตอร์ไซค์ ต้องมั่นใจว่าเขาสตาร์ทรถเป็น ประคับประคองตัวเองได้ เมื่อเขาล้ม เขาจะลุกขึ้นมาขี่ต่อไปได้
นั่นแสดงว่าครูเองก็ต้องประเมินพอสมควร ว่าฉันพร้อมจะให้กุญแจคุณขี่มอเตอร์ไซค์ได้แล้ว ก็เลยต้องฝึก ทำไปเรื่อยๆ ตั้งแต่การขี่รถ การสตาร์ท ถ้าเขาเจ็บ เราก็พร้อมที่จะช่วยเขา จริงๆ ก็ทำมาเรื่อยๆ แต่ตรงนี้มันพีคที่ผมคืนหลักสูตรให้คุณเลย มาออกแบบหลักสูตรด้วยกันเถอะ คุณอยากเรียนอะไร มาออกแบบวิชาด้วยกัน แต่การออกแบบวิชานี้ รับผิดชอบร่วมกันด้วยนะ ว่าคุณจะต้องเจอความเสี่ยง ปัญหา ความยากอะไรบ้าง
แน่นอนว่าพอปล่อยไป ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอได้ทำไปแล้วมันพาวเวอร์ฟูลมาก เพราะว่าเขาได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ได้หาครูที่อยากเรียน แล้วเขามีวิธีการประเมิน ได้ลุกขึ้นมาเป็นครูให้กับเพื่อนด้วยกัน มันคือหลักสูตรค้นพบตัวเอง ค้นพบอาชีพ แล้วเขาบอกครู ทำไมพวกผมไม่ได้เรียนแบบนี้ตั้งแต่ตอน ม.1 ก็บอกใจเย็นๆ ครูยังไม่มั่นใจว่าเราจะขับกระบะได้ ก็ขี่จักรยานไปก่อน พอ ม.2 ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ พอ ม.3 ครูเอากุญแจให้ขี่กระบะได้เลย เพราะครูมั่นใจว่าเราจะนำพาตัวเองและเพื่อนได้ ก็รู้สึกว่าครั้งนั้นเป็นการคืนอำนาจที่เป็นรูปธรรม แล้วก็เป็นบทเรียนที่ยังประทับใจ เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนว่าทำได้นะ ซึ่งบทบาทของเราเอง ยิ่งคืนอำนาจก็ยิ่งได้กำลังใจ แล้วก็ได้อำนาจกลับคืนมา คือเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ เติมเต็มจิตวิญญาณความเป็นครูเรามากเลย
เราเป็นคนถือกุญแจ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ถึงเวลาที่จะมอบกุญแจให้เด็กแล้ว ?
เพราะลึกๆ แล้วเวลาจัดการศึกษา บทบาทของครูมีอำนาจบางอย่าง คือต้องนำพา คือเราถือธง และถือกุญแจว่าจะพาเขาไปมิติไหน เขาอาจจะไม่ต้องการกุญแจที่เราถืออยู่ และกุญแจไม่ได้มีแค่ดอกเดียว เพราะความสนใจของเด็กมีหลายอย่าง แต่เราจะมั่นใจได้หรือยัง ก็ต้องใช้เวลานานเหมือนกัน เพราะเราเห็นว่าเขาขี่มอเตอร์ไซค์ได้ แล้วเขาซ้อนเพื่อนได้ แล้วเขานำพาตัวเองได้ ก็ถึงเป้าอยู่นะ บรรลุอยู่นะ นั่นหมายความว่าเวลาเราจะคืนอำนาจ ควงกุญแจไปแจกจ่าย เราก็ประเมินแล้วว่าเขาน่าจะนำพาได้ มันคือการไว้ใจที่เราค่อยๆ ให้กุญแจหลายๆ ดอกให้เขา หรือค่อยๆ ให้ทักษะ ให้ภูมิคุ้มกันอะไรบางอย่างเขาพอสมควร แต่แน่นอนว่าก็ต้องยอมรับความเสี่ยงบางอย่าง เพราะไม่เคยมีการทำมาก่อน เราก็มีเพื่อนที่เชื่อด้วยกัน พร้อมที่จะล้มเหลวด้วยกัน เพราะมองว่านี่คือพื้นที่ที่เราก็ต้องเรียนรู้กับเขาเหมือนกัน แต่ถ้าเริ่มทำแล้วสำเร็จ ก็มั่นใจได้ว่า วิธีการของเราเป็นไปได้กับที่อื่น กับนักเรียนคนอื่นด้วย
ถามแบบตรงไปตรงมาเลย ทำยังไงให้ครูไม่บ้าอำนาจ?
อันที่หนึ่งคือครูได้ตรวจสอบตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าทุกข์หรือเปล่า กำลังแบกอำนาจ ได้ดูปฏิกิริยานักเรียนไหมว่านักเรียนเข้าหาเราหรือผลักออกจากเรา ความเบากาย เบาใจ ความเป็นมิตร รอยยิ้ม สายตาเด็กเป็นยังไง เพราะแน่นอนว่าเราก็เคยบ้าอำนาจ เราเคยรู้สึกว่า powerful กับอำนาจที่เรามี แล้วเราก็เห็นว่า suffer ทั้งเราและเด็ก เพราะการใช้ชีวิตร่วมกับเขา ไม่มีใครอยากถูกใครบงการหรือถูกใครควบคุมตลอดเวลา ง่ายๆ เลยคือถามนักเรียน มีพื้นที่ให้นักเรียนได้สะท้อนครูเรื่อยๆ เป็นยังไงบ้างเรียนวันนี้ น่าเบื่อไหม น่าเบื่อมากครู ผิดหวัง เราก็อืม จริงใจมากเลย พอเขาพูดแบบนี้แสดงว่า ช่องว่างน้อยลงแล้ว ที่เขากล้าพูดแบบเพื่อน วันนี้ครูทำงานกับคนนี้ไม่ได้เลย ครูควรทำงานยังไง ครูก็ไม่ต้องทำงานแบบความเป็นครูสิ ทำแบบเพื่อนสิ ฉันไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อน ฟัง feedback ของเด็กแล้วรู้สึกว่า เราได้อำนาจ วิธีการคิด เครื่องไม้เครื่องมือจากเขาเลย เมื่อเราลดอำนาจ ก็ยิ่งได้ทักษะอะไรจากเขา
**Democracy or Democrazy เป็นนวนิยายเสียดสีการเมืองเขียน โดย Seyyed Mahdi Shojaee เป็นภาษาเปอร์เซีย และแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Caroline Croskery |
- “เราเกิดมาไม่เคยเห็น role model กะเทยเป็นนักการเมือง เป็นข้าราชการระดับสูง เราเห็น role model กะเทยแต่เป็นตลกโปกฮา กลายเป็นภาพจำของคนในสังคม แล้วเราจะหนีภาพจำเหล่านั้นได้ยังไง เมื่อเราไม่ได้เป็นคนตลก เราไม่ได้เป็นกะเทยแบบที่สังคมบอก มันทำให้เราไม่กล้าฝันที่จะเป็นรัฐมนตรี ไม่กล้าฝันที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งที่เรารู้สึกว่าเรามีความรู้ ความสามารถ”
- ย้อนกลับไป กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ได้รับคำชวนจากปิยะบุตร แสงกนกกุล ให้ก้าวเข้าสู่วงการการเมืองในฐานะสมาชิกอนาคตใหม่เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีเพศหลากหลายในการบริหารประเทศและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ในวันนั้นยังไม่มีใครรู้จักชื่อพรรคอนาคตใหม่ เธอขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีครั้งแรกอย่างซื่อสัตย์ต่อตัวเองและความเป็นมนุษย์
- การโอบรับและโอบกอดจากผู้ฟังนับพันครั้งนั้น ทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะสู้ต่อ “เราไม่ได้สู้เพื่อตัวเราคนเดียว เรารู้ว่ามีอีกหลายล้านคนที่เป็นแบบเรา และเขาต้องการที่จะมีชีวิต เขาไม่ได้ต้องการที่จะมีชีวิตพิเศษกว่าคนอื่นนะคะ เขาต้องการจะมีชีวิตที่ได้มีความปกติเท่าเทียมกับทุกคนแค่นั้นเอง”
- อีกบทบาทของการเป็นผู้กับกับการแสดง และนักเขียนบทมากฝีมือ หนังเรื่อง ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน : Insects in the Backyard’ ที่เธอตั้งใจสื่อสารว่ากลุ่มคนเพศหลากหลายล้วนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และการเป็นมนุษย์นั้นมีหลากหลายมากกว่ากรอบที่สังคมขีดไว้ ถูกแบนและใช้เวลากว่า 5 ปีต่อสู้ในชั้นศาล
ภาพ : ปริสุทธิ์
ท่ามกลางกระแสของซีรีส์วาย ที่จิ้นแรงทุกแพลตฟอร์ม จนกลายเป็นอุตสหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ หรือ Y- economy ของภูมิภาคเอเชีย ซีรีส์โรแมนติกระหว่างสองชายหนุ่มกำลังกลายเป็นความหวังใหม่ ในการใช้ soft power สื่อสารเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ ในขณะเดียวกันก็จุดประเด็นถกเถียงร้อนแรงว่านี่คือการสนับสนุนความเท่าเทียมของ LGBTQ+ หรือเป็นเพียงการเสิร์ฟฟินให้กับกลุ่มคนดู
The Potential ชวน กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับ นักเขียนบทมากฝีมือ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และอดีตส.ส. พรรคก้าวไกล มาคุยถึง ประเด็นซีรีส์วายที่การถกเถียงกัน วงการภาพยนตร์และสื่อบันเทิงไทย ไปจนถึงการขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศทั้งในจอ และในสภา
จากผู้กำกับที่ภาพยนตร์โดนสั่งแบน และต่อสู้ในชั้นศาลกว่า 5 ปี จนภาพยนตร์ได้เข้าฉาย ก้าวเข้าสู่วงการการเมืองในนามสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และการเป็นส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้แทนราษฎรข้ามเพศคนแรกผู้เสนอร่างพรบ. สมรสเท่าเทียม เส้นทางการต่อสู้เพื่อสองสิ่งที่เธอเชื่อมั่น หนึ่ง-สิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ สอง-เสรีภาพในการแสดงออกของศิลปินไทย และหากชีวิตของเธอเป็นซีรีส์สักเรื่อง คงเป็นเรื่องที่โรยไว้ด้วยหนามกุหลาบ ที่บางคนเขียนบทให้เธอต้องเจอกับความอยุติธรรม ทว่าความหวังและความมุ่งมั่นของเธอส่องแสงเรืองรองเสมอ อุปสรรคทำให้เธอแกร่งและชัดเจนในเป้าหมายมากขึ้น และแม้การเป็นส.ส.ของเธอจะต้องปิดฉากลง แต่เราเชื่อเหลือเกินว่าซีรีส์เรื่องนี้ยังไม่ถึงตอนสุดท้าย ตราบใดที่ทุกคนยังคงมีความหวัง และดั่งเช่นที่มีคนกล่าวไว้ ‘ท่านเด็ดดอกไม้ทิ้งจะยิ่งบาน’
ซีรีส์วาย กับ การเรียกร้องสิทธิและการยอมรับของ LGBTQ+ เป็นเรื่องเดียวกันไหม
ตั้งแต่แรกดูมันเหมือนเป็นคนละเรื่อง สาววาย คือผู้หญิงที่อ่านนิยายวาย การ์ตูนวาย หรือมีคู่จิ้นผู้ชายกับผู้ชายด้วยกัน แต่พอเราทำงานเรื่อง LGBTQ+ มาตลอด ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราเรียนรู้ว่า LGBTQ+ คือ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” คำนี้ค่อนข้างกว้าง ไม่ได้นิยามว่าจะต้องเป็นกะเทย ตุ๊ด ทอม ดี้ เหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้มัน LGBTQINA+ แล้ว นอกจากหลากหลายทางเพศแล้วยังลื่นไหลทางเพศด้วย หมายความว่า มันไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแค่ L หรือ G หรือ Q แค่นั้น ความลื่นไหลทางเพศ คือเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศได้ เปลี่ยนแปลงเพศสภาพได้ ฉะนั้น ‘ซีรีส์วาย’ ควรเป็นเรื่องเดียวกันไหม? พี่ว่ามันควรเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าสาววายหรือคนที่นิยมดูซีรีส์วายเขาจิ้น หรือเขาชอบสตอรี่ของคนที่มีความรักในเพศเดียวกัน พอเป็นความรักเพศเดียวกันมันก็เป็นหนึ่งในคำนิยามของ LGBTQ+ เหมือนกัน
ปัจจุบันซีรีส์วายเริ่มมีการพูดถึง สิทธิ หรือการเป็นตัวตนของตัวละครตัวนั้นมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องรักของผู้ชายสองคนแล้ว เริ่มมีบริบทคนรอบข้าง มีครอบครัว มีเพื่อน เรามองว่า ซีรีส์วายเริ่มก้าวข้ามวายปกติแล้ว เริ่มเป็นวายที่ตอบคำถามกับสิทธิของคนๆ หนึ่งมากขึ้นว่าการที่เราจะชอบหรือรักใครสักคนหนึ่งมันต้องมาพร้อมสิทธิต่างๆ นะ เช่น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิเหล่านี้มันก็ต้องตามมา และเรียกร้องความเข้าใจจากสังคมและครอบครัว ตามมาด้วยกระบวนการเรียกร้องตามกฎหมาย มันจึงต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
มีประเด็นถกเถียงกันว่า ความรักในซีรีส์วายคือผู้ชายที่ชอบผู้ชายเฉพาะผู้ชายคนนี้คนเดียว ไม่ได้เป็นเกย์ หรือนำเสนอแนวคิดรักกันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ แต่บางคนมองว่าแนวคิดนี้เป็นการลบ Identity ของอีกฝ่าย คุณมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร
คำว่า ‘Identity’ มันไม่ถาวร การที่เรายึดกรอบ ‘Identity’ กับตอนที่เราไม่ได้ยึดกรอบ ‘Identity’ มันคือเรื่องความหลากหลาย ถ้าเราเชื่อในความเป็นมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งมันไม่ควรจะถูกตีกรอบด้วยกรอบใดกรอบหนึ่ง แล้วเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่กรอบนั้น เราก็มีสิทธิที่จะเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพี่เลยมองว่า การตีกันของทั้งสองฝ่าย การที่คุณบอกว่าไปลบ ‘Identity’ ของเกย์ หรือการที่คุณไปตีกรอบคำว่าเกย์ เอาจริงก็อึดอัดนะ เราหนีออกจากกรอบบทบาททางเพศชายและเพศหญิงมาอยู่ในกรอบเกย์ อ้าว… ยังถูกกรอบเกย์ตีกรอบอีกว่าคุณต้องหล่อ ต้องหุ่นดี ต้องซิกซ์แพ็ก อ่าว.. ทั้งๆ ที่บทบาททางเพศมันลื่นไหลได้ตลอดเวลา
แต่เวลาเกิดการตีกันของสาวกซีรีส์วายกับ LGBTQ+ พี่มองว่ามันดี เพราะสิ่งเหล่านี้คือประชาธิปไตย เราไม่สามารถไปบังคับใครให้เชื่อเหมือนเราได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ รับฟังความคิดเห็น เมื่อเกิดความขัดแย้ง พี่เชื่อในความขัดแย้ง แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งเราก็ต้องเคารพเสียงของคนที่คิดไม่เหมือนเราด้วย และเมื่อเกิดการฟังกันมันก็จะเกิดการ Educate การตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบ
แต่แน่นอนว่าสังคมไทยมันไม่ถูก Educate แบบนี้ไง มันถูกบอกว่าใครคิดไม่เหมือนกู กูด่า กูโกรธ เกิดเป็นสงครามกันขึ้นมา นี่เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาไทยที่เราไม่ถูกสอนให้เกิดความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ในโรงเรียนคือที่ปลูกฝังอำนาจนิยมของเด็ก ของครู ผู้ปกครอง
เพราะฉะนั้นในส่วนตัวพี่ การตีกันมันดี แล้วทุกวันนี้ไม่ได้ตีกันอย่างเดียวนะ แต่เอาชุดข้อมูลมาใส่กัน พี่ก็เลยมองว่ามันโอเค มันเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็เลยกลายเป็นว่า พี่ได้ผลดีจากการที่เขาตีกันนะคะ
นอกจากการได้แลกเปลี่ยนความคิดกันแล้ว การถกเถียงมีผลดีอย่างไรบ้าง
ผลของการดีเบตกันระหว่างความคิดว่า ‘เฮ้ย… คุณไปล้าง Identity เขาไหม’ ‘เฮ้ย… คุณเข้าใจ LGBTQ+ ไหม’ เขาอธิบายซึ่งกันและกันในโลกทวิตเตอร์ มันก็ทำให้เกิดความเข้าใจกระจายเป็นวงกว้าง พอดีกับที่เรา Launch การแก้กฎหมาย มาตรา 1448 สมรสเท่าเทียมออกมาถูกที่ ถูกเวลาพอดี มันก็เกิดเป็นกระแสสังคม ทำให้เสียงของคนที่เข้าใจเรื่องคนเท่ากัน เรื่องการแต่งงาน จดทะเบียนสมรส แฮชแท็กสมรสเท่าเทียมขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์
นอกจากนั้นสมรสเท่าเทียมเป็นร่างกฎหมายอันแรกที่ทำให้เว็บไซต์ของรัฐสภาระเบิด เพราะมีคนเข้าไปเป็นล้าน มีคอมเมนต์เกือบ 60,000 คน ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเว็บรัฐสภาไทย แล้วพี่ก็เห็นว่าทั้งสาววายเอย activist เอย สื่อเอย ต่างวิเคราะห์ร่างที่เราเสนอไป มีคนช่วยทำอินโฟกราฟิกอธิบายเยอะแยะไปหมดเลย ทำให้มันเข้าใจได้ง่าย เกิดการเปรียบเทียบกฎหมายเก่า กฎหมายใหม่ ซึ่งก่อน Launch พี่ตื่นเต้นมากว่าคนจะเข้าใจไหม รู้สึกว่าตอนนั้นมันเป็นการร่วมด้วยช่วยกันของนักแสดงซีรีส์วายเอง สาววายเอง ทุกคนช่วยกันติดแฮชแท็กนี้แล้วอธิบาย เนี่ย พี่รู้สึกว่าตรงนี้มันเป็นการสร้างความแข้มแข็ง สร้างความเข้าใจให้กับประเทศได้เลย นี่คือการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องขอบคุณสาวกซีรีส์วาย สาววาย คนอ่านหนังสือวาย ที่ร่วมด้วยช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ แล้วตอนนี้มันไม่ได้มีแต่ LGBTQ+ ที่มาพูดเรื่องสมรสเท่าเทียม กลายเป็นว่าผู้ชาย ผู้หญิงทุกคน โดยที่ตัวเองไม่ใช่ LGBTQ+ ก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันหมดเลย
พี่มองว่าเป็นจุดการเปลี่ยนแปลงใหญ่มากพอสมควร และมันอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้จริงๆ เพราะคนในสภาก็เดินมาถามเต็มไปหมด จากคนที่ไม่เข้าใจ คนที่อนุรักษ์นิยม พอมันเป็นกระแสมากๆ เขาก็ต้องการคำอธิบาย ก็เป็นโอกาสของเราที่จะแลกเปลี่ยนกับคนที่เขายังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งมันอาจจะยังแก้ไม่ได้ในสมัยนี้หรือรัฐบาลชุดนี้ก็ได้ แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะพูดเรื่องนี้กันต่อไปในอนาคตเพื่อให้เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ก็ได้
การยอมรับ LGBTQ+ ในสังคมเราสถานะตอนนี้เป็นยังไง
สถานะตอนนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ คนรุ่นใหม่เข้าใจและคนรุ่นเก่าก็กำลังเริ่มทำความเข้าใจ แต่เขายังไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องตัวบทกฎหมายว่า เฮ้ย… เมื่อมีคนแบบนี้แล้วมันต้องเกิดการยอมรับ เขาบอกว่า “โอ๊ย… ประเทศไทยยอมรับอยู่แล้ว” ใช่ คุณยอมรับว่ามี แต่คุณไม่ได้ยอมรับว่าเขาเป็นมนุษย์เท่ากับคุณไง
ตอนนี้มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นว่า ทุกคนเริ่มเข้าใจว่ามีแล้ว ต้องเข้าใจต่อไปด้วยนะว่า เขาต้องได้รับการรับรองทางกฎหมายด้วย คุณบอกคุณยอมรับเขา แล้วคุณยอมรับว่าเขามีสิทธิเท่าคุณหรือเปล่า? พี่มองว่าตอนนี้เราจุดประกายเรียบร้อยแล้ว สเต็ปต่อไปสังคมต้องช่วยกันสื่อสารผ่านทางสื่อ ผ่านทางซีรีส์ ซึ่งเรามองว่าตอนนี้ซีรีส์วายมันก้าวไปจากเดิมแล้ว เช่น เรื่อง ‘พฤติการณ์ที่ตาย Manner of Death’ ของพี่มะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุลกำกับ ทาง WeTV ก็เริ่มมีอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษา เริ่มเป็นตำรวจ เป็นหมอชันสูตร เป็นนักเลงคุมผับ เริ่มมีการสืบสวนสอบสวน พูดเรื่องสังคม ยาเสพติด อำนาจนิยม นุชชี่ – อนุชา บุญยวรรธนะ ทำ ‘อนธการ The Blue Hour (2015)’, ‘มะลิลา (2018)’ เริ่มมีประเด็นสังคม มีประเด็นศิลปะวัฒนธรรมเข้ามา หรือรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังมา เช่น ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ พี่ก็ดู และเห็นว่าน้องเขาเก่งมาก หรือจะเป็น ‘Gay Ok Bangkok’ เราก็จะเห็นว่า นี่แหละชีวิต มันไม่ใช่วายนะ นี่คือ gay life มันคือชีวิตคนๆ หนึ่ง มันเป็นแบบนี้ ซึ่งพี่มองว่านี่ซีรีส์เหล่านี้เป็น Soft Power ที่ยังขายของได้อยู่ และผู้สร้างเองมีทัศนคติ มีวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกันด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เราก็ดีใจที่น้องๆ คนทำหนัง คนทำซีรีส์รุ่นใหม่นอกจากที่จะขายของเก่งแล้ว ก็ยังนำเสนอคอนเทนต์ที่มีความแข็งแรงด้วยเนื้อหาไปด้วย เป็นซีรีส์วายที่คนดูแล้วยังจิ้นได้ แต่ก็จับต้องความเป็นมนุษย์ของเขาได้ด้วย ซึ่งเราต้องสร้างสิ่งเหล่านี้เยอะๆ
เมื่อก่อนนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า Stereotype ของ LGBTQ+ เรายังเห็นโฆษณาที่ลูกเปิดเผยว่าเป็นปั๊ป ก็ยังมีการบูลลี่จากคนที่บอกว่ารักเขา ก็คือพ่อแม่
เราถูกบูลลี่ด้วยคำว่าความรักจากครอบครัว จากคุณครู เรายังถูกบูลลี่ด้วยคำว่าความรักอยู่ตลอดเวลา และเราถูกกดทับด้วยคำว่าความดี เช่น ‘คุณเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้คุณเป็นคนดี’ อ้าว… นี่ด่ากูนิ กลายเป็นว่าเป็นกะเทยต้องดีด้วย เป็นคนปกติไม่ได้ มีเลวไม่ได้ คุณจะไม่ถูกยอมรับ มันก็เลยกลายเป็นว่า ถูกคำว่า ‘ความรัก’ กับ ‘ความดี’ กดทับเข้าไปอีก
เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญของคนทำซีรีส์ยุคใหม่ ต้องช่วยกันสร้าง Stereotype ใหม่ๆ สร้างความเข้าใจ สร้างภาพจำว่า เมื่อเราเป็น LGBTQ+ แล้ว เราควรถูกยอมรับจากครอบครัว โรงเรียน สังคม และกฎหมายในประเทศด้วย
จากที่ทำงานในวงการบันเทิง อะไรคือจุดเปลี่ยนให้คุณตัดสินใจ ก้าวเข้าวงการการเมือง
จริงๆ ก็เนื่องจากตัวเราเองก็เป็นกะเทย แล้วเรารู้ตัวเองตั้งแต่เด็ก พอเราประกาศตัวว่ามีรสนิยมแบบนี้ มันก็มีผลกระทบต่างๆ ตามมา แล้วเรามีคำถามมาตลอดตั้งแต่เรียนมัธยม ‘เอ๊ะ… นี่เราไม่เท่ากับคนอื่นตรงไหนวะ’ ทั้งที่เราควรจะได้สิทธิต่างๆ ทางสังคม การยอมรับต่างๆ เท่ากันทุกคน แต่ปรากฏว่า เมื่อเป็นผู้ชายจะได้มากกว่า ผู้หญิงได้อีกแบบหนึ่ง แล้วพอเป็นกะเทยปุ๊บ กลายเป็นบุคคลชั้นสามสี่ห้าหก ซึ่งเราโดนกระทำแบบนี้ โดนบูลลี่เอย โดนเลือกปฏิบัติเอย มาตั้งแต่เด็ก เราถูกบทบาททางเพศบอกมาตั้งแต่เราเกิด ซึ่งถามว่าตอนเราเกิด เราเลือกเกิดไม่ได้ด้วยอวัยวะเพศหรือเรียกว่าเพศกำเนิด คำถามคือ ทำไมเราต้องปฏิบัติตัวตามบทบาททางเพศ ตามเพศกำเนิดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่สามารถเลือกเพศสภาพได้ด้วยตัวเราเองล่ะ และคำถามเหล่านี้มันอยู่ในใจมาตลอด
จุดพีคคือ เราทำหนังเรื่อง ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน : Insects in the Backyard’ แล้วมันโดนแบน ซึ่งแบบ… เฮ้ย เราต้องการทำหนังที่สื่อสารกับคนโดยที่ต้องการจะทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศว่า การเป็นมนุษย์มันมีมากกว่าหนึ่งแบบ สองแบบ ตามที่เราถูก Stereotype เราต่อสู้ในชั้นศาล กว่าหนังจะได้ฉายเข้าโรง 7 ปี มันยาวนานมาก แล้วตรงนั้นมันก็เป็นสองอย่างที่เราต่อสู้และทำความเข้าใจกับสังคมมาตลอดคือ หนึ่ง – สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สอง – เสรีภาพทางการแสดงออกของคนทำงานศิลปะ
ชีวิตคุณเปลี่ยนไปเยอะไหม
มันเปลี่ยนชีวิตนะ เมื่อก่อนเราเป็น Artist ที่ค่อนข้างมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก แล้วพอเข้าไปอยู่ตรงนั้น เหมือนเป็นคนของประชาชนที่ทุกคนสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์เราได้หมด ก็ตัดสินใจนานเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยน แล้วถ้าเราได้เป็นคนแรกจริงๆ มันก็น่าจะเปิดประตูอะไรได้หลายๆ อย่าง อย่างน้อยที่สุดการที่ได้เข้าไปเป็น สส. มันเป็นการแสดงจุดยืนและแสดงให้คนในประเทศเห็นว่า เราเป็นตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เข้าไปยืนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะคำว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ มันคือผู้แทนของคนแบบเนี้ย ซึ่งมีไม่รู้กี่ล้านคนทั่วประเทศนี้ เขาต้องมีผู้แทนเพื่อที่จะต่อสู้ เพื่อที่จะบอกว่า เราเป็นคนๆ หนึ่ง ที่ควรจะได้รับสิทธิเท่ากับทุกคน
ฟังดูเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต ย้อนกลับไปตอนนั้นรู้สึกอย่างไร
ตอนนั้นคิดว่าพรรคอนาคตใหม่จะมีส.ส.ไหม ไม่รู้เลย แล้วเราทำอยู่เนี่ย ถูกหรือเปล่าไม่รู้ แต่พอเราไปปราศรัยใหญ่ที่เชียงใหม่ เชียงราย มีคนมานั่งฟังปราศรัยเราเป็นพันๆ คน แล้วเราก็เป็นกะเทยคนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจอะไรเลย เราขึ้นไปพูดเรื่องความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะรับสิ่งที่เราพูดได้มากน้อยแค่ไหน เราก็ขึ้นไปพูดซื่อๆ แหละว่าในการที่เราเกิดมาเป็นกะเทยคนหนึ่ง เราถูกโกงความเป็นมนุษย์อะไรบ้าง เราถูกฆ่าตัดตอนความฝันอะไรบ้าง
เราเกิดมาโดยที่ไม่เคยเห็น role model กะเทยเป็นนักการเมือง เป็นข้าราชการระดับสูง แล้วสามารถแต่งเป็นผู้หญิงแล้วถูกยกย่องส่งเสริมมาก่อน เราเห็น role model กะเทยแต่เป็นตลกโปกฮา ซึ่งกลายเป็นภาพจำของคนในสังคม แล้วเราจะหนีภาพจำเหล่านั้นได้ยังไง เมื่อเราไม่ได้เป็นคนตลก เราไม่ได้เป็นกะเทยแบบที่สังคมบอก นั่นมันทำให้เราไม่กล้าฝันที่จะเป็นรัฐมนตรี ไม่กล้าฝันที่จะเป็นนายก ไม่กล้าฝันที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งที่เรารู้สึกว่าเรามีความรู้ ความสามารถ
สังคมก็ควรจะมีทางให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีวิสัยทัศน์สิ แต่พอเราเป็นกะเทยปุ๊บ เราก็จะเจอกะเทยรอบข้าง แล้วก็จะเห็นภาพจำที่อยู่ในทีวีว่าเป็นกะเทยแบบนั้นแบบนี้ ในขณะที่สมมติมีคนเป็นหมอ เป็นครูจริง แต่คนเหล่านี้บางคนก็ไม่สามารถแต่งตัวหรือแสดงออกในแบบที่ตัวเองต้องการได้ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศและสามารถเป็นตัวของตัวเอง และใช้ความรู้ ความสามารถตัวเองอย่างเต็ม 100% ทุกคนยังถูกกด ไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มที่ และถูกโยนไปให้แค่อาชีพบางอาชีพ คุณไปเป็นสไตล์ลิสต์ ไปเป็นช่างแต่งหน้า เฮ้ย… กะเทยเป็นอาชีพได้เท่านี้เหรอ
เพราะฉะนั้นการถูกกดทับเหล่านั้น มันทำให้พี่ตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบให้ได้ และเมื่อเราไปพูดสิ่งเหล่านี้บนเวทีแล้วมีคนนั่งเงียบฟังเรา โฟกัสมาที่เรา เรารู้สึกขนลุกมาก ทุกคนพร้อมจะเข้าใจ ว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สมควรได้รับความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน พอเราลงเวทีมามีคนมากอดเยอะมาก แล้วบอก “ฝากความหวังด้วยพี่ ผมมีแฟนเป็นกะเทย” “ผมเป็นทอม” “หนูชอบผู้หญิง ช่วยทำให้เรามีกฎหมายรองรับได้ไหม ช่วยทำให้เราสามารถมีชีวิตเหมือนคนอื่นได้ไหม” โห… ตอนนั้นร้องไห้หนักมาก เพราะเราไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นความหวังของใครมาก่อน แล้วพอเรายืนตรงนี้แล้วบอกว่าเราเป็นตัวแทนของพวกเขา พวกเขาเข้ามาให้กำลังใจ เลยรู้สึกว่า ยังมีคนที่ไม่ได้พร้อมเท่าเราด้วยซ้ำ หรือมีคนที่พร้อมมากกว่าเรา แต่เขาไม่กล้าจะออกจากเซฟโซน ไม่กล้าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นะไร คนที่ยังไม่ come out คนที่ไม่กล้าออกมาบอกครอบครัว คนที่ไม่กล้าออกมาบอกกับคนในสังคมว่าตัวเขา Prefer ที่จะเป็นคนแบบนั้น เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้อีกเยอะแยะมากมายที่มาให้กำลังใจเรา มันก็ทำให้เรา อะ… ต้องสู้ต่อไป เพราะเราไม่ได้สู้เพื่อตัวเราคนเดียว เรารู้ว่ามีอีกหลายล้านคนที่เป็นแบบเรา และเขาต้องการที่จะมีชีวิต เขาไม่ได้ต้องการที่จะมีชีวิตพิเศษกว่าคนอื่นนะคะ เขาต้องการจะมีชีวิตที่ได้มีความปกติเท่าเทียมกับทุกคนแค่นั้นเอง
ในการขับเคลื่อนสองประเด็นนี้ จากบทบาทของผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ใช้ Soft Power สู่การเป็นผู้แทนราษฎรเสนอร่างนโยบายในสภา สองบทบาทมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในการพัฒนาประเทศ
แตกต่างมาก เพราะว่าการที่เราเป็นผู้กำกับ เมื่อเราทำหนังอิสระที่ต้องการจะพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เราโดนแบน หรือหนังของเรามีคนดู 500 คน แตกต่างกับคนที่ถือนโยบาย สมมติว่าเราเป็นคนออกนโยบาย แล้วเรามีความรู้เรื่อง LGBTQ+ เรื่อง freedom of expression เรารู้ว่าคนทำงานศิลปะ ศิลปินนั้นมันไม่ใช่อาชีพ เพราะประเทศนี้ไม่มีอาชีพศิลปิน คำว่าอาชีพมันต้องมีความมั่นคง แต่อาชีพศิลปินในประเทศนี้ไม่มีความมั่นคง ไม่สามารถมี statement ที่จะไปกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ระบบการเงินของประเทศนี้มันไม่ได้เอื้อให้อาชีพ freelance ซื้ออะไรที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่มีเงินเดือน จะซื้อบ้านซื้อรถต้องซื้อเงินสด โห.. กว่าคนเราจะมีเงินสดก้อนใหญ่ขนาดที่จะซื้อของใหญ่ขนาดนั้นมันก็เป็นไปได้ยาก
ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวกับการเมืองและนโยบายต่างๆ ของรัฐโดยตรง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้กำกับตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ทำหนังมีคนดู 500 คน มันจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ไหม ไม่ได ้ฉะนั้นมันเป็นความใฝ่ฝันของเราที่อยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม
เพราะการใช้คำว่า Soft Power มันไม่ใช่พูดอย่างเดียว ต้องทำด้วย และทำด้วยความเข้าใจ 20 ปีที่แล้วเกาหลีมาดูโมเดลของไทย แล้วเขาบอกว่า 20 ปีเขาจะต้องได้คานส์ ได้ออสการ์ และทำ Soft Power ให้เป็น Business เขาเรียกว่า ขายสินค้าทางวัฒนธรรม ประเทศไทยก็พูดตาม แต่ต้องย้อนกลับมาถามว่าแล้วประเทศไทยล่ะ เข้าใจหรือเปล่าว่า ‘Soft Power’ คืออะไร กว่าที่เกาหลีจะผลิต ‘บงจุนโฮ (Bong Joon-ho)’ ผู้กำกับระดับโลกมาได้ งานของเขาดังมาจากหนังที่วิพากษ์ความไร้ประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำของเกาหลีในแง่มุมต่างๆ มาหมดแล้ว
ในขณะที่รัฐไทยยังคิดว่า ‘Soft Power’ คือ Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ที่จะสามารถยัดสิ่งดีๆ ให้คนดูและคนดูจะ ‘ดี’ ตาม แล้วคำว่า ‘ดี’ นั้นจะต้องเป็นคำว่า ‘ดี’ ที่ถูกนิยามจากฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่คำว่า ‘ดี’ นั้นมันไม่มีมาตรฐานอะไรเลย คำว่า ‘ดี’ ของเรา ‘ดี’ ของรัฐ ‘ดี’ ของคุณ มันไม่เหมือนกันเลยนะ เมื่อพี่เข้าไปเป็น ส.ส. เข้าไปคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมถึงการจะใช้ Soft Power ว่าเรากล้ายอมรับความเป็นจริงของประเทศเราแล้วเล่าสิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า แล้วขายสินค้าที่พ่วงไปกับเรื่องราวที่น่าสนใจออกมา
เพราะฉะนั้นคำถามก็คือว่า ในการที่เราเป็นผู้กำกับแล้วใช้ ‘Soft Power’ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ทำได้ไหม? ทำได้ค่ะ แต่เรื่องราวเหล่านั้นต้องถูกส่งเสริมและสนับสนุนทั้งเงินทุน ช่องทาง คอนเนกชันจากหน่วยงานรัฐที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพในการทำงาน
อะไรคือสิ่งแรกที่คุณอยากเปลี่ยนเพื่อพัฒนาวงการศิลปะ และสื่อบันเทิงของไทย
freedom of expression ต่องานศิลปะในเมืองไทย freedom of expression ของ artist ในเมืองไทยมันน้อยมาก เพราะที่ผ่านมาเราถูกตีกรอบ เราถูกฆ่าตัดตอนทางจินตนาการมาตลอดตั้งแต่เด็ก ศิลปะในประเทศเราสอนแบบให้ทำตามขนบ เรียกว่าลอกแล้วกัน สอนให้วาดรูปตามธรรมชาติ ช้าง ม้า วัว ควาย พระอาทิตย์ ส้ม มะละกอ แอปเปิ้ล ใครวาดเหมือนก็ได้ 10 เต็ม แต่เราไม่เคยถูกสอนศิลปะแบบเด็กที่คิดต่าง ถ้าเราวาดไม่เหมือน หรือมีจินตนาการว่าสิ่งที่เราเห็นมันเป็นอย่างอื่น ถ้าเราไม่สามารถทำตามที่ครูบอกได้ เด็กคนนั้นจะถูกตั้งคำถาม เธอทำผิดโจทย์ที่ครูบอก เราต้องการอธิบาย แต่ครูไม่เคยให้เด็กออกมาอธิบายว่าทำไมจึงคิดแบบนี้ มันจึงมีผลต่องานศิลปะหรือวงการศิลปะในประเทศเราที่มักจะถูกตีกรอบให้ลอกเลียนแบบ ให้เป็น Technician ไม่ใช่ Artist พี่ก็ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด
เหนื่อยหรือกดดันบ้างไหม ที่บางครั้งพอทำหนังหรือซีรีส์ LGBTQ+ หรือวาย มักถูกคาดหวังว่าจะต้องส่งสารอะไรบางอย่างต่อสังคม
ไม่หรอกค่ะ จริงๆ แล้วพี่มองว่ามันไม่ได้เหนื่อยมากกว่ากันหรอก เพราะตัวพี่เองก็ทำซีรีส์ละครชายหญิงมาตลอด มันขึ้นอยู่กับคนทำต่างหากว่าเขามีวิสัยทัศน์ ทัศนคติอย่างไร คนที่ทำเอาเรตติ้งอย่างเดียวก็มี ตบตีแย่งผัวไหม มี แต่ถ้าเราทำได้ เราก็จะบอกนายทุน บอกผู้จัดว่า เราจะสอดแทรก นำเสนอ เราบอกว่าเราไม่ทำฉากข่มขืนนะ ถ้ามีข่มขืนมาเราไม่ทำ เราสามารถบอกตัวเองแบบนั้นและบอกเขาได้ เราเลือกได้ เพราะถ้าเราทำแปลว่าเราก็สนับสนุน เราบอกเราไม่ทำ Stereotype ที่กะเทยเป็นแบบนี้แบบนั้น ซึ่งแน่นอนเราอาจจะถูกบังคับด้วยว่าเราต้องทำมาหากินเนอะ เขาอยากได้อะไรเราก็ต้องทำให้ แต่ว่าต้องมีการ Compromise และคุยกันเหมือนกัน
แต่ตอนนี้เรามองว่ากระแสสังคมก็เริ่มที่จะกดดันคนทำงานนะ เมื่อมันมีข่มขืน เขาก็ด่ากันในทวิตเตอร์ เมื่อมันรุนแรงเกินไปเขาก็มี Feedback พี่ว่ามันก็ทำให้คนทำเริ่มตระหนักถึงว่าอะไรมีความเหมาะสมไม่เหมาะสมมากขึ้น
อะไรคือความท้าทายในการทำหนัง ซีรีส์ ในสถานการณ์บ้านเมืองเเบบนี้
การทำหนังหนึ่งเรื่อง ซีรีส์หนึ่งเรื่อง มันไม่ใช่ว่าคิดปุ๊บจะออกมาเป็นภาพได้เลย มันต้องใช้เงิน แล้วนักลงทุนเขาต้องคำนึงถึงกำไรเป็นที่ตั้ง คนเอาเงินมาลงทุนเพื่อจะโปรโมทสินค้าเขา เพราะฉะนั้นการที่เขาจะกำหนดเนื้อหาก็ย่อมเป็นไปได้ เขาต้องการเนื้อหาที่คนดูดูแล้วซื้อสินค้าของเขา
เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่ายิ่งประเทศมีการผูกขาดทางการค้าที่เอื้อประโยชน์จากทางรัฐบาล เราจะเห็นว่า วงการบันเทิงเราก็จะถูกผูกติดกับค่านิยมคำว่า ‘ความดี’ แล้วก็พ่วงไปกับหน่วยงานรัฐ มันก็จะมีนักแสดง ดารา ที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองแล้วก็โดนแบน ถ้าถามว่าเป็นไปได้ไหมที่เอกชนจะลุกขึ้นมาทำหนังที่มันดี คนดูเป็นร้อยล้าน สนุก และได้เนื้อหาสาระที่เป็น Soft Power พร้อมจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ต้องถามว่า คนที่มีเงินลงทุน คนที่มีอำนาจตัดสินใจ คือใครล่ะ? ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ออกมาจากหน่วยงานรัฐที่ทำโดยไม่หวังผลกำไร มันก็ยาก ทุกอย่างมันถูกขับเคลื่อนด้วยภาครัฐอยู่แล้ว มันถึงเป็นคำถามว่า ’ทำไมถึงอยากเป็น ส.ส.’ ‘ถึงอยากจะเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ’ เพราะเห็นไหม พอทุกอย่างจะทำมันต้องกลับไปที่ตรงนั้นหมดเลย
ทุกวันนี้เราไม่สามารถปิดหูปิดตาอะไรได้แล้ว เรามานั่งทำสื่อแล้วบอกว่าเป็น Soft Power ล้างสมองให้คนเชื่อ มันไม่ได้แล้ว ถ้าบอกให้เขาเชื่อ รับรองไม่มีใครเชื่อ เขาจะเสิร์ชหาข้อมูลมาขัดแย้งทันที เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีความฉลาดในการที่จะทำให้คนในประเทศเชื่อในสิ่งที่กำลังทำอยู่ พอรัฐไม่ได้เชื่อเหมือนที่ประชาชนเชื่อ มันยากแล้วที่จะทำงานสอดประสานโดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบอะไรเลย
เจอมาหลายอย่างมาก คุณมีวิธีรักษาความหวังและไฟในตัวเองที่จะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
เหนื่อยมากเลย ถามว่าท้อไหม พี่ก็ท้อนะ ท้อตลอดเวลา เพราะว่าสิ่งที่เรามีอุดมการณ์ มันก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเมื่อไรที่เราคิดว่ามันยากและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แปลว่าเรายังไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย ถ้าเราเชื่อว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงได้สิ ไม่ตอนนี้ อีก 5 ปี อีก 10 ปี มันก็ต้องเปลี่ยนได้ ถ้าเรายังมีความหวัง แต่ถ้าเราไม่เชื่อว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ มันก็จะไม่เปลี่ยน อาจจะไม่ใช่เราใน Finally แต่อย่างน้อยที่สุดเราได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง มันก็น่าจะทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้
- การเล่นของเด็กถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการปูพื้นฐานด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม รวมไปถึง การแก้ปัญหา ฝึกสมาธิ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา PQ (Play Quotient) หรือ ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น ซึ่งจะกลายเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวพวกเขาไปจนโต
- ต้นแบบนวัตกรรมของเล่นจากยางพารา ภายใต้ชื่อ ‘Para Plearn’ ของเล่นที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินและปลอดภัย เพื่อเสริมทักษะและกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ 3 ชนิด ประกอบไปด้วย Para Note, Para Dough และ Para Sand
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยกล่าวไว้ว่า “งานของเด็กคือการเล่น”
เพราะการเล่นของเด็กถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการปูพื้นฐานด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม รวมไปถึง การแก้ปัญหา ฝึกสมาธิ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา PQ (Play Quotient) หรือ ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น ซึ่งจะกลายเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวพวกเขาไปจนโต
สำหรับ PQ หรือ Play Quotient ประกอบไปด้วย
- พัฒนาการทางร่างกาย เช่น พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่จากการวิ่งเล่น ปีนป่าย และพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กจากการปั้นดินน้ำมัน
- พัฒนาการทางสมอง เช่น ความคิดสร้างสรรค์จากการประดิษฐ์ การคิดวางแผนต่อบล็อก ฝึกกะระยะจากการรับส่งบอล
- พัฒนาการทางสังคม เช่น การรู้จักแบ่งปัน และการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันในระหว่างเล่น
- พัฒนาการทางภาษา เช่น การสื่อสารเมื่อเล่นกับเพื่อน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นอกจากการเล่นโดยหยิบจับของใกล้ตัวมาประยุกต์ใช้แล้ว ในปัจจุบันมี ‘ของเล่น’ มากมายที่ถูกออกแบบเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก ทว่าปัญหาที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนกังวลก็คือเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ โดยเฉพาะสารเคมีที่ปะปนอยู่ในของเล่นที่เด็กๆ ต้องสัมผัสใกล้ชิด
ล่าสุด ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว ต้นแบบนวัตกรรมของเล่นจากยางพารา ภายใต้ชื่อ ‘Para Plearn’ ของเล่นที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินและปลอดภัย
ดร.ปณิธิ วิรุฬห์พอจิต หัวหน้าทีมวิจัยกระบวนการแปรรูปยางขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. เล่าว่า ทีมวิจัยมีแนวคิดในการเพิ่มมูลค่ายางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จึงได้นำยางพารามาทดลองเปลี่ยนสภาพให้อยู่ในรูปแบบต่างๆ กระทั่งนำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเล่นเพื่อเสริมทักษะและกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ 3 ชนิด ประกอบไปด้วย Para Note, Para Dough และ Para Sand
Para Note: เขียนได้ไร้ฝุ่น ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก
“Para Note คือการนำยางพารามาทำให้แข็ง แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง สามารถใช้เขียนกระดานหรือพื้นผิวที่มีความขรุขระได้คล้ายกับชอล์ก โดยทั่วไปชอล์กตามท้องตลาดมักทำจากแร่ยิปซัม หรือเกลือจืด ซึ่งเป็นแคลเซียมซัลเฟต เวลาเขียนจะเลอะมือ เกิดฝุ่นได้ง่ายและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ แต่ Para Note ที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนั้น เขียนได้ไม่เลอะมือ ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย และไม่เป็นอันตราย อีกทั้งยังแตกหักได้ยากกว่าชอล์กที่วางจำหน่ายทั่วไป ที่สำคัญคือสามารถลบให้สะอาดได้ด้วยยางพาราที่มีความอ่อนตัวน้อยกว่า และขึ้นรูปเป็นลักษณะต่างๆ ได้ตามรูปแบบแม่พิมพ์”
Para Note นอกจากจะเป็นนวัตกรรมที่ปลอดภัยไร้สารเคมีแล้ว ยังเป็นของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้แก่เด็กๆ ได้อย่างดี เพราะการส่งเสริมให้เด็กเล็กขีดเขียนด้วยชอล์ก หรือดินสอไม้นั้น จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้มีความแข็งแรง ฝึกการทำงานที่สัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ช่วยให้เด็กมีสมาธิมีจดจ่อกับสิ่งที่เขียนตรงหน้า รวมทั้งเสริมสร้างให้เด็กๆ มีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ด้วย
Para Dough: ยางปั้นไร้สารอันตราย ฝึกสมาธิ สร้างจินตนาการ
สำหรับ Para Dough ดร.ปณิธิ อธิบายว่า เกิดจากการทดลองนำแผ่นยางพารามาทำให้อ่อนตัวมากที่สุด จากนั้นทดลองผสมกับน้ำมันปาล์มและแป้ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จนเกิดเป็น Para Dough หรือยางสำหรับปั้น มีลักษณะคล้ายกับดินน้ำมัน แต่ไม่มีกลิ่นและปลอดภัยกว่าดินน้ำมันทั่วไป เพราะปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังสามารถคงสภาพอยู่ได้โดยไม่แห้งแข็ง ทนความร้อน-เย็นได้ ไม่ขึ้นรา และไม่มีกลิ่นแม้จะทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน จึงเป็นนวัตกรรมอีกตัวหนึ่งที่มีความปลอดภัย เพราะส่วนผสมทุกอย่างที่ใช้ผลิตล้วนมาจากธรรมชาติ
ทั้งนี้ การปั้น Para Dough ยังถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ ได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กในช่วงแรกเกิดถึง 3 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่สมองของเด็กพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพมากที่สุด ในส่วนของเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป การปั้นสามารถช่วยฝึกสมาธิ เสริมสร้างจินตนาการ และต่อยอดกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ให้แก่เด็กได้อีกด้วย
Para Sand: ขึ้นรูปทรงตามใจ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
นวัตกรรมตัวสุดท้ายคือ Para Sand ดร.ปณิธิ อธิบายว่า เป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีลักษณะเป็นผงเหมือนทรายแต่มีความหนืดไม่แตกตัว ลักษณะคล้ายสไลม์แบบผง มีรูปแบบการพัฒนาเช่นเดียวกับ Para Dough แต่มีการผสมวัตถุดิบในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ความพิเศษของ Para Sand คือสามารถนำผงยางพารามาปั้นหรืออัดขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่างๆ และเปลี่ยนรูปให้กลับมาเป็นผงเช่นเดิมได้ โดยนำกลับมาปั้นขึ้นรูปใหม่ได้มากกว่า 10 ครั้ง รวมทั้งเติมสีและกลิ่นต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งประโยชน์ของ Para Sand นั้นจะคล้ายๆ Para Dough คือช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างพัฒนาการกล้ามเนื้อมือและนิ้วของเด็กๆ ในการหยิบ จับ นวด ปั้นให้ออกมาเป็นรูปทรงต่างๆ และที่สำคัญคือการสร้างความภูมิใจเมื่อเด็กๆ ปั้นชิ้นงานต่างๆ ออกมาได้สำเร็จ
(Para Plearn เป็นนวัตกรรมของเล่นจากยางพาราที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีสมวัย เล่นได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช.)
- การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ทำให้ความกลัวในโลกยุคใหม่ ผูกโยงเข้ากับสังคมในโลกเสมือน เป็นความกลัวที่เชื่อมโยงกับความรู้สึก มากกว่า ความกลัวทางกายภาพ
- “โฟโม” (Fear of Missing Out: FoMO) อาการที่เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวการโดนปฏิเสธจากคนรอบข้างและสังคม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ผิดแปลก แต่ความกลัวในรูปแบบที่ว่า ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนขึ้น ในยุคที่ผู้คนเข้าถึงเรื่องรอบตัวและไกลตัวได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์
- สิ่งที่น่ากังวล คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เมื่อความกลัวคืบคลานจนฝังรากลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขานำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียกำลังทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
ความกลัวเป็นอารมณ์พื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ เช่นเดียวกับความสุข และความเศร้า เมื่อความกลัวเกิดขึ้น สมองจะทำงานเพื่อแสดงพฤติกรรมตอบสนองความกลัวนั้น 2 รูปแบบ คือ “สู้” (Fight) หรือ “หนี” (Flight) สิ่งนี้เป็นสัณชาตญาณที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตรอดอยู่ได้ เพราะจะถูกปลุกขึ้นก่อนเสมอในยามสุ่มเสี่ยงกับความอยู่รอดของชีวิต เช่น เมื่ออยู่ท่ามกลางความมืด ต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ การเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆ หรือ อยู่ในสถานการณ์อันตรายบางอย่าง
สิ่งที่น่าสนใจ คือ การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย ทำให้ความกลัวในโลกยุคใหม่ ผูกโยงเข้ากับสังคมในโลกเสมือน เป็นความกลัวที่เชื่อมโยงกับความรู้สึก มากกว่า ความกลัวทางกายภาพ
การกลัวตกกระแส กลัวพลาดการรับรู้เรื่องบางอย่าง กลัวตามไม่ทันเรื่องที่คนอื่นรู้ หรือถ้าไม่รู้ กลัวพูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง เป็นความกลัวที่เกิดจากความต้องการเชื่อมต่อกับสิ่งที่คนอื่นทำอยู่อย่างต่อเนื่อง
ลึกๆ แล้วความกลัวเหล่านี้ เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวการโดนปฏิเสธจากคนรอบข้างและสังคม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ผิดแปลก แต่ความกลัวในรูปแบบที่ว่า ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนขึ้น ในยุคที่ผู้คนเข้าถึงเรื่องรอบตัวและไกลตัวได้ง่ายจากอินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์
เรากำลังพูดถึง อาการ “โฟโม” (Fear of Missing Out: FoMO) ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง
ฉันต้องเป็นกลุ่มแรกๆ ที่รู้ก่อนใคร
ฉันรู้สึกดีและรู้สึกพิเศษกว่าใครที่ได้แชร์เรื่องนี้
ถ้าฉันสนใจเรื่องนี้ แล้วโพสต์ออกไป โพสต์ของฉันต้องได้ยอดไลค์และยอดแชร์เยอะแน่ๆ
ในโลกออนไลน์ ยอดไลค์และยอดแชร์ จากคนทั้งที่รู้จัก และไม่รู้จัก กลายเป็นตัววัดความสำเร็จที่สร้างความภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันกลายเป็นความคาดหวัง เพราะเมื่อไม่ได้อย่างใจต้องการ หลายคนกลับจิตตก เกิดภาวะเครียด อารมณ์เสีย หงุดหงิด เพราะรู้สึกไม่ได้เป็นคนสำคัญ หนักกว่านั้น คือ การตกอยู่ในห้วงความคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ
ข้อมูลจากการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นโซเชียลมีเดียกับโฟโม พบว่าคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวเอง แต่วนเวียนอยู่กับการเช็คมือถือ เพื่อดูผลตอบรับจากสิ่งที่ตัวเองนำเสนอ (feedback) และติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องที่ตัวเองสนใจ หรือสิ่งที่คนในกลุ่มและสังคมของตัวเองสนใจ เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่เหล่านั้น
อันที่จริงโฟโมไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เกิดขึ้นได้ในทุกวัย แต่พบมากในเด็กและวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนอารมณ์พัฒนาเยอะ สมองส่วนเหตุผลยังพัฒนาไม่เต็มที่ เป็นวัยที่ยังค้นหาตัวเอง อยากเป็นที่ยอมรับ และอยากได้รับความสำคัญ
สิ่งที่น่ากังวล คือ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว เมื่อความกลัวคืบคลานจนฝังรากลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขานำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น ดูเหมือนว่าโซเชียลมีเดียกำลังทำให้สถานการณ์แย่ลง โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ กับ Feedback ที่ทำร้ายจิตใจได้อย่างฝังลึก
พอล โดแลน (Paul Dolan) ศาสตราจารย์จาก วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE: London School of Economics and Political Science ) และ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Happiness by Design: Change What You do, Not How You Think’ กล่าวว่า
เมื่อวัยรุ่นติดอยู่ในวงล้อมของความกลัวแบบโฟโม พวกเขาจะหลบหลีกจากโลกแห่งความจริงและศักยภาพที่มี เพื่อมองหาตัวตนของตัวเองในอีกพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุข เมื่อไรก็ตามที่พวกเขารู้สึกไม่มีความสุขเท่าที่ควรในโลกแห่งความจริง วัยรุ่นมักวางความสนใจผิดที่ผิดทาง ซึ่งในยุคนี้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงง่ายที่สุดและดูดเวลาในชีวิตประจำวันไปไม่น้อย
“ความสุขขึ้นอยู่กับคุณวางความสนใจไว้ที่ไหน สิ่งที่คุณสนใจเป็นตัวกำหนดความสุขของคุณ” โดแลน กล่าว
ข้อมูลจาก รามาชาแนล (Rama Channel) ชี้ให้เห็นว่า ยอดไลค์ ยอดแชร์ ทำให้ผู้รับสารรับรู้ว่ามีคนชอบในสิ่งที่ทำ การได้โหลดแอพยอดนิยมต่างๆ มาใช้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระแส ไม่ตกเทรนด์ และได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในโลกเสมือนจริง เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึง “การเสพติด” อย่างหนึ่ง
เป็นการเสพติดเสียงตอบรับจากผู้อื่น โดยเฉพาะเสียงตอบรับเชิงบวก ส่งผลกระทบตามมาอย่างไม่ทันรู้ตัว และไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะเป็นคนสนิท แค่คนรู้จัก หรือไม่รู้จักกันเลย
ยกตัวอย่าง ผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้แก่
หนึ่ง โรคหลงตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเก่งและดี เพราะมีผู้ติดตามเยอะ
สอง รับฟังคนอื่น โดยเฉพาะคนรอบข้างน้อยลง แต่ให้ความสำคัญกับคนที่ไม่ร้จักในโลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น
สาม เมื่อมีคนไม่เห็นด้วย ถูกตำหนิ บางคนรู้สึกไม่พอใจ ทนไม่ได้ โกรธแค้น บางคนหมดความมั่นใจ คิดมาก ไม่มีความสุขกับชีวิตจริง เป็นสาเหตุของข้อที่ สี่ คือ โรคซึมเศร้า
ขณะที่สารคดี The Social Dilemma (ออกอากาศทาง Netflix) ที่นำเสนอผลกระทบของโซเชียลมีเดีย ต่อสังคมโลก ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของอดีตพนักงานหลายคนทั้งจากเฟสบุ๊ก กูเกิ้ล ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม พินเทอร์เรส ฯลฯ ผู้เคยทำงานเบื้องหลัง เป็นทั้งผู้ออกแบบ วางแผนและสร้างอัลกอริทึมให้กับโปรแกรมต่างๆ รวมถึงนักวิชาการและนักลงทุนจากซิลิคอนวอลเลย์ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าโซเชียลมีเดียได้พาทุกคนมาถึงจุดนี้ ความคาดหวังของพวกเขาในตอนนั้น ต้องการเพียงสร้างสรรค์ผลงาน และเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ตอนนี้ “มนุษย์” ได้กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์” (product) หนึ่ง ในโซเชียลมีเดียไปเป็นที่เรียบร้อย
สารคดีนำเสนองานวิจัย สรุปยืนยันข้อมูลที่น่าตกใจว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย และทำให้เด็กรุ่นใหม่ทำร้ายตัวเองมากขึ้น ข้อมูลสถิติการฆ่าตัวตายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจหลังปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่โซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามาครอบงำ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน บนหน้าจอมือถือ
พบอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 ในกลุ่มวัยรุ่นเพศหญิง ช่วงอายุ 15-19 ปี และเด็กผู้หญิงอายุ 10-14 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 151 สถิติผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล จากกการทำร้ายตัวเองแบบไม่ร้ายแรง ในกลุ่มวัยรุ่นเพศหญิง ช่วงอายุ 15-19 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 และเด็กผู้หญิงอายุ 10-14 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 189
“มีเพียงสองอุตสาหกรรมเท่านั้นที่เรียกลูกค้าของตัวเองว่า ‘ผู้ใช้’ นั่นคือ การค้ายาเสพติด และซอฟท์แวร์” – เอ็ดเวิร์ด ทัฟเต้ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และศาสตราจารย์กิตติคุณ ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ รัฐศาสตร์และสถิติ แห่งมหาวิทยาลัยเยล กล่าว
“There are only two industries that call their customers ‘users’: illegal drugs and software,” said Edward Tufte, a computer scientist and a professor emeritus of computer science, political science and statistics at Yale University.
ใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดจากอาการโฟโม
ในโลกศตวรรษที่ 21 คงเป็นการยากหากบอกให้หลีกเลี่ยงการใช้อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย เพราะอีกด้านหนึ่งโลกออนไลน์ก็ยังมีด้านที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ การติดต่อสื่อสารกับผู้คน การสร้างความบันเทิง รวมถึงเพื่อการทำธุรกิจ สังคมในแอพพลิเคชั่นและโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆ กลายเป็นแหล่งรวมผู้คนจากทั่วโลก ในเชิงธุรกิจที่แห่งนี้เป็นตลาดขนาดใหญ่ การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ การรู้เท่าทันและการรู้จักคัดกรองข้อมูล
ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง และพฤติกรรมของเด็ก เพราะผู้ใหญ่เองก็เผชิญหน้ากับโฟโมได้เช่นเดียวกัน
ถึงตรงนี้ลองมาเช็คกันดูสักหน่อยว่า มีอาการเหล่านี้กันอยู่หรือเปล่า?
- นึกภาพไม่ออกว่าตัวเองจะผ่านวันหนึ่งไปได้อย่างไรถ้าไม่มีมือถือ
- รู้สึกว่ามือถือสั่นแจ้งเตือนอยู่ตลอด ทั้งที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
- รีเฟรชหน้าจอมือถือบ่อยครั้ง เพื่อดูว่ามีอะไรอัพเดทเข้ามาหรือไม่
- มีความรู้สึกกังวล และรู้สึกว่าต้องตอบเมสเสจต่างๆ ในทันที ตลอด 24 ชั่วโมง
- รู้สึกว่า “จำเป็น” ต้องโพสต์ในโซเชียลมีเดียทุกวัน
- เบื่อหน่าย ไม่พอใจในชีวิตตัวเอง ตามล่าหาแรงบันดาลจากการเข้าไปดูคนอื่น
- รู้สึกซึมเศร้า เปล่าเปลี่ยว เมื่อไม่ได้ออนไลน์
- ตัดสินใจอยากเป็น อยากทำตาม อยากมีชีวิต ตามกระแสในโซเชียลมีเดีย เท่าที่ตัวเองเห็น
ถ้าผู้ปกครองเองมีภาวะเสพติดโซเชียลมีเดีย และมีอาการโฟโม สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การแบ่งเวลาให้กับลูกมากขึ้น เริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายๆ ด้วยการ
ไม่นำมือถือเข้าในห้องนอน
เลี่ยงการไถหน้าจอ หน้าฟีดเรื่อยเปื่อยโดยไม่จำเป็น! เพราะการกดคลิ๊ก เข้าดูสิ่งที่โปรแกรมหรือซอร์ฟแวร์จัดสรรให้ นำไปสู่การเสพติด
ข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ที่ขึ้นข้อความทำนองว่า “แนะนำสำหรับคุณ” ไม่ต้องกดเข้าไปดู แต่ใช้มือถือเพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการ เข้าไปอ่านสิ่งที่สนใจ เพลงที่อยากฟัง รายการที่ชอบ จากเว็บไซต์โดยตรงแทน
แน่นอนว่า วิธีการที่ว่ามานี้ นำไปใช้กับเด็กๆ ได้เช่นเดียวกัน
พ่อแม่จะรับมือกับ Fear of Missing Out ได้อย่างไร?
ความสนใจของผู้ปกครองที่มีต่อเด็ก ช่วยสลายความกลัวต่อการไม่ถูกยอมรับจากคนแปลกหน้า จนต้องสร้างตัวตนให้คนแปลกหน้ายอมรับในเด็กและวัยรุ่นได้
การสื่อสารเชิงบวก พูดคุย เปิดกว้าง และทำความเข้าใจในสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นต้องการ เช่น การชื่นชมในสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีปลายทางเพื่อค้นหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด ไม่ตัดสินถูกผิด การพร้อมตอบคำถามในสิ่งที่พวกเขาอยากได้คำตอบ เพื่อที่พวกเขาจะไม่ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการค้นหา และสร้างตัวตนของตัวเอง (ในทางที่ผิด) เป็นหนทางที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ได้
อธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า…
หนึ่ง โซเชียลมีเดียไม่ใช่ทุกสิ่ง และไม่ใช่โลกแห่งความจริงทั้งหมด
สอง การพลาดอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอในชีวิต อธิบายให้เห็นภาพว่า ในชีวิตจริงหลายครั้งเราก็เคยพลาดอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ตื่นสายไปโรงเรียนไม่ทัน ลืมข้าวของ พลาดรายการโปรด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงในชีวิต
แล้วเราจะปรับตัวแก้ปัญหาโฟโม (Fear Of Missing Out: FoMO รวมถึงปัญหาจากการใช้อินเทอร์เน็ต (Problematic Internet Use: PIU) ได้อย่างไร?
“ปิดการแจ้งเตือน ทุกแอพในมือถือ” ผู้ร่วมให้สัมภาษณ์ในสารคดี The Social Dilemma ตอบเป็นเสียงเดียวกัน
การปิดการแจ้งเตือนแอพพลิเคชั่น เป็นวิธีการหนึ่งที่ง่ายและทำได้ทันที ขณะที่คนกลุ่มหนึ่ง ผู้ได้ชื่อว่าเคยมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลกออนไลน์ขึ้นมา กำลังผลักดันให้มีระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย เพื่อกำหนดและควบคุมการทำงานของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะโมเดลธุรกิจ ที่สร้างกำไรให้กับบริษัทเหล่านี้อย่างมหาศาลตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันก็สร้างความกลัวซึ่งเป็นผลกระทบเชิงลบไว้ในจิตใจของผู้คนอยู่ไม่น้อย
อ้างอิง
Noor Bloemen, David De ConinckSocial. (2020) Media and Fear of Missing Out in Adolescents: The Role of Family Characteristics
Dorit Alt, Meyran Boniel-Nissim. (2018) Parent–Adolescent Communication and Problematic Internet Use: The Mediating Role of Fear of Missing Out (FoMO), Jounal of Family Issuues 39
https://www.childnexus.com/blog/article/fomo-and-how-it-might-affect-children-with-attention-issues#
สารคดี The Social Dilemma
- แม้เนื้อหาต่างๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์ได้ขยายขอบความรู้ออกไปกว้างมากจนทำให้คนรู้จัก “อะไร” ต่างๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ก็คือ ไม่อาจทำให้คนเข้าใจในแง่ “อย่างไร” ได้อย่างชัดเจน How ในการเรียนออนไลน์จึงหายไป
- โรงเรียนควรใช้โอกาสในช่วงโควิดลดเนื้อหาลงไม่จำเป็นต้องมี 8 วิชา อย่างสิงคโปร์เน้นเรื่องภาษาแม่ ภาษาอังกฤษ เพราะเขาจะให้เด็กอ่านคล่อง จับใจความได้ดี คิดวิเคราะห์ได้ คณิตศาสตร์ก็เป็นการคิดเชิงตรรกะอยู่แล้ว ส่วนวิชาอื่นๆ ก็เรียนด้วยการอ่านทั้งสิ้น
- ชวนคิดต่อว่า ในช่วงนี้ที่เด็กๆ ได้รู้จักการเรียนออนไลน์แล้วจะเป็นจังหวะที่ดีที่จะขยับเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ทันโลกและเหมาะสมกับวิถีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ อย่างไร
การเข้าสู่ห้องเรียนออนไลน์แบบไม่ทันตั้งตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทั้งพ่อแม่ ครู และเด็กหลายคนต้องเครียดและเหนื่อยไปตามๆ กัน จากการเรียนออนไลน์ไปแล้วเกือบปี เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่คุ้นเคย ไม่คุ้นชิน ไม่รู้ รวมไปถึงการจัดการที่ไม่ดีได้ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กจำนวนหนึ่งลดลงไป
The Potential นำประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์จากการเสวนาในหัวข้อ “พลิกวิกฤตการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จที่เท่าเทียม” ในงานเสวนาออนไลน์ที่ต่อยอดจากหนังสือ “ปั้นให้รุ่ง: สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” (Helping Children Succeed) โดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มานำเสนอ เพื่อชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหา ข้อติดขัดต่างๆ ของนักเรียน ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ การเรียนที่ถดถอยของเด็กโดยเฉพาะเด็กกลุ่มที่มีฐานะยากลำบาก
ทั้งนี้ ในเวทีการพูดคุยดังกล่าวมองว่า อนาคตการเรียนออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทต่อระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น เราจึงชวนคิดต่อว่า ในช่วงนี้ที่เด็กๆ ได้รู้จักการเรียนออนไลน์แล้วจะเป็นจังหวะที่ดีที่จะขยับเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ทันโลกและเหมาะสมกับวิถีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ อย่างไร
‘How’ ที่หายไปจากการเรียนออนไลน์
“ข้อดีของการเรียนออนไลน์คือเข้าถึงเนื้อหาได้มากขึ้น” พชร สูงเด่น ผู้แปลหนังสือปั้นให้รุ่งฯ ให้ความเห็นต่อการเรียนออนไลน์จากประสบการณ์ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม แม้พชรจะเห็นว่า เนื้อหาต่างๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์ได้ขยายขอบความรู้ออกไปกว้างมากจนทำให้คนรู้จัก “อะไร” ต่างๆ มากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์ก็คือ ไม่อาจทำให้คนเข้าใจในแง่ “อย่างไร” ได้อย่างชัดเจน
“อย่างไร หรือ how ในการเรียนมันค่อนข้างสูญเสียไปเยอะในการเรียนออนไลน์เหมือนกัน เราค่อนข้างเชื่ออย่างหนึ่ง อย่างที่ พอล ทัฟ (ผู้เขียนหนังสือปั้นให้รุ่งฯ) บอก อย่างไรมันยังต้องสอนคนอยู่ ก็จะมีเนื้อหาหลายอย่างในหนังสือที่บอกว่า
เราแค่บอกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ว่ามันต้องมีการเอื้อสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้น หรือว่าต้องสร้างสถานการณ์ให้เกิดการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ เพราะ content (เนื้อหา) อย่างเดียว เหมือนเป็นขั้นแรก แต่ว่า learning (การเรียนรู้) ขั้นอื่นๆ มันอาจจะเกิดขึ้นได้ยากเมื่อผ่านการเรียนออนไลน์”
จากหนังสือปั้นให้รุ่งฯ พอล ทัฟ ผู้เขียนได้ชี้ว่า ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่ ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ความเครียด’ มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งจะทำให้เกิดการบ่มเพาะพฤติกรรมบางอย่างที่จะติดตัวเด็กไป ประเด็นนี้จึงเชื่อมโยงกับความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหันมาใช้ห้องเรียนออนไลน์ได้ เช่น เมื่อเด็กต้องอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน หรือเมื่อครูสั่งการบ้านมากกว่าการเรียนที่โรงเรียน สิ่งเหล่านี้คือ สภาพแวดล้อมที่ล้วนมีผลต่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ ขณะที่เด็กกำลังเรียนออนไลน์ยังมีสิ่งเร้าอื่นมาดึงความสนใจต่อบทเรียนได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อทักษะและนิสัยต่างๆ ของเด็กได้เช่นกัน
“เราไม่สามารถโฟกัสหรือแม้กระทั่งพัฒนาคุณสมบัติบางอย่าง เช่น คุณสมบัติอดทนอดกลั้น ทำอะไรที่มันยากๆ ให้มันลุล่วงไปให้เสร็จ การอยู่ใน process (ขั้นตอน) ของอะไรบางอย่างก็เลยเหมือนกับว่า เราเรียนปุ๊บ เราคิดว่ามันเสร็จแล้ว แต่มันสำเร็จในการเรียนรู้มั้ย ก็อาจจะไม่สำเร็จ ซึ่งมันจะไม่ใช่แค่การเรียนสามชั่วโมงนั้น แต่จะติดตัวไปถึงคุณลักษณะนิสัยเลยว่า เราจะแค่ทำอะไรแค่ผ่านๆ ไป” พชร อธิบาย
โรงเรียนคือที่ส่งเสริม soft skills ครูคือผู้ติดตามการเรียนรู้
“ตอนแรกภรรยาก็กังวลว่า เรียนออนไลน์จะผิดวิธีเรียนรู้หรือเปล่า ผมบอกว่านี่คือชีวิตของเขาในอนาคต” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกลและโฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรกล่าว โดยในฐานะคุณพ่อของลูกสาว วิโรจน์ถือว่าการเปลี่ยนห้องเรียนจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ลูกจะได้ปรับตัว เนื่องจากเห็นว่า โลกในอนาคตของลูกจะต้องอยู่ในโลกที่ออนไลน์เป็นหลักทั้งการเรียนและการทำงาน แต่เขาก็เห็นว่า ห้องเรียนออนไลน์ต้องไม่ใช่การยกห้องเรียนออฟไลน์มาทั้งหมด ควรจะมีการปรับเปลี่ยนด้านเนื้อหาและวิธีการสอนใหม่
“โรงเรียนควรจะใช้โอกาสในช่วงโควิดมาลดเนื้อหาในการเรียนลง จำเป็นเหรอที่จะต้องมี 8 สาระวิชา อย่างประเทศสิงคโปร์ ผมดูหลักสูตรเขา เขาสนใจเรื่องภาษาแม่ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ เชื่อมั้ยครับว่าวิทยาศาสตร์ เด็ก ป.1 เด็กอนุบาล เขายังไม่ได้เรียน เพราะเขาจะให้เด็กอ่านคล่อง อ่านจับใจความได้ดี อ่านแบบคิดวิเคราะห์ได้ ทั้งภาษาแม่แล้วก็ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของการคิดเชิงตรรกะ คิดแบบแก้ปัญหาอยู่แล้ว ส่วนวิทยาศาสตร์ สังคม ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ มันก็คือการเรียนด้วยการอ่านทั้งสิ้น” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์มองว่า สิ่งที่การศึกษาไทยทำมาตลอดคือการ “สาด” ข้อมูลให้เด็กมากกว่าที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เขาเสนอไอเดียการทำสื่อการเรียนส่วนกลางที่นักเรียนสามารถเข้าดูเนื้อหาได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โดยควรเป็นสื่อที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เป็นสื่อที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ จากนั้นโรงเรียนจะให้เด็กนำสิ่งที่รู้มาถกเถียงกันผ่านห้องเรียนออฟไลน์หรือการพูดคุยออนไลน์ (teleconference) ก็ย่อมได้
“ถ้าเราสามารถรวมครูเก่งมา จะเป็นการลดภาระครูด้วยซ้ำ และเป็นวิชาที่เด็กทุกคนจะต้องเรียน ครูทุกคนแทนที่จะต้องไปโฟกัสว่าจะสอนเนื้อหาอะไร ครูที่ทำหน้าที่หน้างานก็ไปติดตามการเรียนรู้ของเด็ก ประเมินผล จัดกลุ่มการเรียนรู้ ทำงานเป็นทีมน่าจะดีกว่า
ก็คือมีแหล่งเรียนรู้ร่วมกันที่เป็นออนไลน์ แล้วก็เนื้อหาที่เข้าถึงได้สอนสนุก ครูก็อาจจะได้ลดภาระเรื่องการเรียนการสอน ใช้แหล่งเรียนรู้ให้มีประโยชน์ แล้วก็ไปมีบทบาทในเรื่องของการทำให้เด็กทำงานเป็นทีม เรื่องการดูแลเด็กให้เป็นรายคน ไปใช้พลังกับตรงนั้นมากกว่าที่จะต้องมาเตรียมการสอน” ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ จาก กสศ. เสริม
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเรียนออนไลน์ยังคงไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็ก วิโรจน์เห็นว่า เรื่องการเข้าสังคมและการมีเพื่อนที่เด็กจะได้จากการไปโรงเรียนยังเป็นเรี่องจำเป็นมาก บทบาทของโรงเรียนจึงควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่พ่อแม่จะวางใจได้หลังจากที่ปล่อยมือลูกไปและเป็นสถานที่ฝึกทักษะด้านสังคมให้กับเด็ก
“การเรียนรู้แบบกายภาพมีประโยชน์อะไร ผมมองเหมือนกับองค์กรสมัยใหม่ ผมถามเขาว่าเขายังคงเรียกพนักงานมา training (ฝึกฝน) มาพบปะสังสรรค์กันเพื่ออะไร ผู้บริหารหลายท่านบอกว่าเขาต้องการให้พนักงานมารวมตัวกันแล้วมาทำกิจกรรมร่วมกัน เขาต้องการให้พนักงานรู้สึกว่าเขาได้รับรางวัล รู้สึกถึงความภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็นในองค์กร รู้สึกมีความสุขในการที่เขาได้เจอเพื่อนๆ แล้วก็ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างตัวเขากับเพื่อน
หลักสูตรสมัยใหม่ เขาไม่มาพูด ไม่มีแลคเชอร์กันแล้ว มาทำกิจกรรมกันอย่างเดียว เพราะถ้าจะแลคเชอร์กันเขาทำผ่านระบบ online training แทน ผมว่าการเรียนรู้ต้องถูกปรับแล้ว” วิโรจน์ แสดงความเห็น
หัวใจสำคัญคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน
ณ ตอนนี้ เราคงเห็นแล้วว่า “โรงเรียน” ได้รับผลกระทบจากการพยายามยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมาก จากการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการปิดโรงเรียนในบางพื้นที่และการย้ายเด็กให้ไปเรียนออนไลน์อย่างขอไปทีได้สะท้อนให้เห็นว่า เรายังไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กเท่าที่ควร
“เราถูก disrupt จากเดิมโดยเทคโนโลยีมา ตอนนี้โควิดมา disrupt ด้วย” ธันว์ธิดากล่าว เธอยอมรับว่า ตอนนี้การเรียนออนไลน์เป็นทางออกหนึ่ง แต่ก็ต้องคำนึงถึงด้วยว่านี่อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กถดถอยได้หากไม่มีการจัดการที่ดีพอ
ธันว์ธิดายกตัวอย่างให้เห็นถึงกิจกรรมที่ทาง กสศ. กำลังทำร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับการควบคุมสูงสุด กสศ.ใช้วิธีผสมผสานระหว่างการเรียนที่โรงเรียนและออนไลน์ โดยจัดให้ครูไปเยี่ยมบ้านเด็กและจัดทำ “กล่องการเรียนรู้” ให้เด็กได้ฝึกคิดและเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ให้เด็กไม่หยุดการเรียนรู้ และผู้ปกครองก็สามารถคอยเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กได้
ทั้งนี้จากประสบการณ์การทำงานกับเด็ก เธอได้แลกเปลี่ยนด้วยว่า ที่จริงแล้วสิ่งที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหาจำนวนมากๆ ที่ครูคอยป้อนให้เด็ก
“หัวใจสำคัญไม่ใช่แค่วิชาหรือว่าสอนอะไร สิ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปไม่ได้คือเรื่องของ engagement ของเด็ก หรือว่าการปฏิสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ
ปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบหรือว่าเรียนไม่ดี จริงๆ มันก็มีอยู่ 2 เรื่อง มีที่เด็กออกจากโรงเรียนเพราะความยากจน และก็มีปัจจัยที่เกิดจากการศึกษาด้วยหลักสูตรที่ไม่ได้ตอบโจทย์เขาด้วย เขาไม่เห็นความหมาย ไม่คิดว่าเรียนเนื้อหาอันนี้แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับเขา” ธันว์ธิดา อธิบาย
ด้านพชรเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงต่อจากนี้น่าจะต้องเริ่มที่การสร้างความเข้าใจเรื่องปัจจัยทางกายภาพและทางจิตใจที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก และต้องทำความเข้าใจใหม่เรื่อง “การเรียนรู้” ด้วยว่าเป็นกระบวนการคิด การประมวลผล การมีส่วนร่วม การมีประสบการณ์ ไม่ใช่แค่การอ่านและฟัง พชรยังยืนยันว่า ทั้งพื้นที่ออฟไลน์และออนไลน์มีความจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ อยู่ที่ว่าเราจะออกแบบพื้นที่เหล่านั้นอย่างไร
“เพราะว่าเราก็ไม่ได้เกิดเติบโตมาเป็น digital native (ประชากรยุคดิจิทัล) เราเองก็อยู่ในโลกยุคแอนะล็อกอยู่ช่วงหนึ่งแล้วก็เป็นผู้ใช้ออนไลน์ช่วงหนึ่ง แต่พอเรามาคิดว่าเด็กยุคใหม่ ไม่ว่าจะยังไงก็ตามแต่เขาเกิดมากับสิ่งนี้โดยทันควัน คำถามก็คือว่าเราอาจจะไม่ต้องใช้สมการว่าออนไลน์หรือออฟไลน์อันไหนดีกว่ากันอีกต่อไปแล้ว คำถามนี้ไม่ใช่คำถามที่ถูกต้องตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
คำถามของมันต่อไปอาจจะเป็นว่าฟังก์ชันของ 2 พื้นที่นี้ ฟังก์ชันของออนไลน์ควรจะเป็นอย่างไร ฟังก์ชันของออฟไลน์ควรจะเป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าทั้งสองอย่างมันก็มีความจำเป็นทั้งคู่” พชร กล่าว
ดังนั้นคำถามต่อมาที่ผู้ที่ทำงานการศึกษาจะต้องหาคำตอบให้ได้ก็คือ
-หากจะมีการเรียนออนไลน์มากขึ้น อะไรบ้างที่จะอยู่ในห้องเรียนออนไลน์
-อะไรบ้างที่โรงเรียนหรือครูมีหน้าที่ที่จะต้องฝึกให้เด็ก เช่น soft skills ต่างๆ
-จะทำอย่างไรให้เด็กจดจ่ออยู่กับเนื้อหาออนไลน์
-ผู้ดูแลเด็กจะจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเอื้อให้ทักษะแห่งความสำเร็จของเด็กเพิ่มพูนอย่างไร
-จะมีสื่อหรือการจัดการอื่นใดมาช่วยสนับสนุนเด็กๆ ได้อีกนอกจากสื่อออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ “how” หรือทำให้เด็กเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกันได้อย่างกระตือรือร้น
หากช่วยกันคิดต่อจากคำถามเหล่านี้ได้… เด็กก็จะเกิด “การเรียนรู้” อย่างแท้จริง
- ฌอง – บัปติสท์ คลามองซ์ ตัวละครชายที่ไม่เปิดโอกาสให้เราได้โต้ตอบ ตัวละครที่เอาแต่เล่าเรื่องราวและสารภาพความผิดที่ผ่านมาของตนเอง แต่กลับพาเราดำดิ่งลึกลงไปสู่การค้นหาและรู้จักกับตัวตนของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง และพาให้เราฉุกคิดว่า หรือแท้ที่จริงแล้ว ทั้งตัวเราและผู้คนที่รายล้อมอยู่ในสังคมนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น ‘มนุษย์สองหน้า’ ด้วยกันทั้งสิ้น
- ความเป็น ‘คนดี’ แท้ที่จริงแล้วคืออะไร แค่เพียงการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เข้าวัด ทำบุญ ให้ทาน เพียงพอหรือไม่? ที่จะบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนดี หรือให้อำนาจบุคคลนั้นในการพิพากษาความดี ความเลว ของบุคคลอื่น และตัดสินใจว่าบุคคลนั้นสมควรที่จะโดนลงโทษอย่างไร
ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เราได้ตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าจะใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้น โดยหนึ่งในความสนใจของเรา คือ อยากรู้จักกับตัวตนของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ผ่านการบอกเล่าและการตีความที่หลากหลาย จนทำให้วันหนึ่งเราได้มาพบกับ ฌอง – บัปติสท์ คลามองซ์* ตัวละครชายที่ไม่เปิดโอกาสให้เราได้โต้ตอบ ตัวละครที่เอาแต่เล่าเรื่องราวและสารภาพความผิดที่ผ่านมาของตนเอง แต่กลับพาเราดำดิ่งลึกลงไปสู่การค้นหาและรู้จักกับตัวตนของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง และพาให้เราฉุกคิดว่า หรือแท้ที่จริงแล้ว ทั้งตัวเราและผู้คนที่รายล้อมอยู่ในสังคมนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น ‘มนุษย์สองหน้า’ ด้วยกันทั้งสิ้น…
คลามองซ์ เป็นทนายความผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ทนเห็นผู้ประสบกับความเคราะห์ร้ายเป็นไม่ได้
ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ตั้งแต่การว่าความให้กับผู้ยากไร้โดยไม่เรียกเงิน ให้ทาน ช่วยยกหีบยกกระเป๋าให้ผู้โดยสารที่ไม่รู้จักในขบวนรถไฟ ไปจนถึงการรีบวิ่งไปจูงคนตาบอดข้ามถนน ซึ่งการแสดงออกถึงความสุภาพ ความใจดีเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ นอกจากจะสร้างการยอมรับนับถือและสรรเสริญจากผู้คนที่รู้จักเขาแล้ว ยังสร้างความสุข ความอิ่มใจ ในความดีงามของตนเองให้กับเขา จนเกิดเป็นความนิยมตัวเองอย่างสุดซึ้ง และรู้สึกว่าตนเองนั้น วิเศษ กว่าคนธรรมดาทั่วไปเป็นอย่างมาก
กระทั่งวันหนึ่งขณะที่กำลังเดินขึ้นสะพานเพื่อกลับบ้าน เขาเห็นหญิงสาวคนหนึ่งกำลังจ้องมองลงไปที่แม่น้ำ จนเมื่อเขาเดินผ่านไปไกลจนสุดสะพานแล้ว พลันได้ยินเสียงร่างกระทบน้ำอย่างรุนแรงกึกก้อง ซึ่ง ณ จังหวะนั้น เขาได้หยุดนิ่ง ไม่เหลียวไปดู กระทั่งเสียงหญิงสาวที่ร้องซ้ำๆ ไกลออกไป และเงียบสนิทลงในที่สุด ราวกับทุกอย่างหยุดนิ่งเหมือนกับจะไม่มีการเคลื่อนไหวชั่วนิรันดร แม้ว่าจะอยากวิ่งหนีไปขนาดไหน แต่ก็ก้าวขาไม่ออก แม้จะบอกตัวเองว่าต้องรีบ แต่ก็รู้สึกอ่อนปวกเปียกไปหมดทั้งตัว ในใจคิดวนเวียนกับตัวเองเพียงว่า ‘คงสายไปเสียแล้ว ไปไกลเสียแล้ว’ จนอีกสักพักใหญ่ เขาจึงเดินช้า ๆ เพื่อพาตัวเองกลับบ้าน และไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังอีกเลย
หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ภาพที่เขาเคยได้ประกอบสร้างขึ้นมากลับพลันสลายลงไปช้าๆ แม้ว่าผู้คนรอบตัวจะยังคงชื่นชมและสรรเสริญ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ความคลอนแคลนในตนเองที่เกิดขึ้น ความสงสัยในตัวตนของตนเอง และความรู้สึกที่ต้องพยายามต้องหลีกเลี่ยงการถูกพิพากษาจากผู้คน ที่วันหนึ่งอาจพบว่าที่จริงแล้วการแสดงออกที่เขาเคยทำมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงการตีหน้าว่าตนเองเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยศีลธรรม สร้างตัวตนเพื่อให้ได้รับการชื่มชมสรรเสริญ ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาเป็นเพียงมนุษย์ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นก็เฉพาะเรื่องที่ตนเองสามารถทำได้โดยง่าย และแน่ใจว่าจะมีผู้พบเห็น เพื่อสรรเสริญเขาต่อไปเท่านั้น
เมื่อพาคนตาบอดข้ามถนนเสร็จแล้ว ต้องมองซ้ายมองขวาเพื่อให้มั่นใจ ว่ามีคนตาดีมองเห็นการกระทำของเขา ซ้ำร้ายกว่านั้นคือเมื่อสำรวจลึกลงไปในจิตใจ ยิ่งพบว่าความพยายามวิ่งเข้าหาเพื่อช่วยเหลือคนตาบอดและผู้ยากไร้ของเขา เป็นผลลัพธ์ที่ประกอบขึ้นจากการมองว่าคนเหล่านั้นคือผู้ที่ด้อยกว่า และเป็นเพียงเครื่องมือที่พาตัวเขาไปสู่เป้าหมายในการเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องราวนี้ไม่เพียงชวนให้เราคิดถึงความคิดความอ่านของตัวเอง แต่ยังอดไม่ได้ที่จะชวนให้เรานำมาใช้ในการมองสังคมปัจจุบัน สังคมอันเต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะแสดงออกและบอกกล่าวกับผู้อื่นอยู่เสมอ ว่าตนเองนั้นเป็นคนดี เปี่ยมไปด้วยศีลธรรม โดยการแชร์ภาพที่เข้าหาศาสนา ธรรมะ คำสอน ไปจนถึงการให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่นเล็กๆ น้อยๆ ในทุกครั้งที่โอกาสอำนวย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องที่ท้าทายทางศีลธรรม เช่น การพบเห็นผู้ที่มีความคิดความเชื่อต่างออกไป ต้องถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะด้วยกฎหมาย หรือการทำร้ายร่างกายโดยตรง ผู้คนกลุ่มเดียวกันนี้เองที่ส่งเสริมและสนับสนุนการกระทำอันรุนแรงและป่าเถื่อนเหล่านั้น เพียงเพราะเห็นว่าคนกลุ่มนั้นเป็นคนที่ต่างจากตนเอง มีความผิดที่คิดและเชื่อเช่นนั้น ทำให้ตนเองที่ถือว่าเป็นคนที่ดีกว่า เหนือกว่า มีอำนาจในการพิพากษาว่าพวกเขาเหล่านั้น สมควรแล้วที่จะถูกกระทำอย่างไรก็ได้ แค่เพียงเพราะพวกเขาไม่ใช่ ‘คนดี’ อย่างที่พวกตนเป็นก็เท่านั้น
ดังนั้น เราจึงอยากชวนให้คิดว่า ความเป็น ‘คนดี’ แท้ที่จริงแล้วคืออะไร แค่เพียงการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น เข้าวัด ทำบุญ ให้ทาน เพียงพอหรือไม่ที่จะบอกว่าใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนดี หรือให้อำนาจบุคคลนั้นในการพิพากษาความดี ความเลว ของบุคคลอื่น และตัดสินใจว่าใครสมควรที่จะโดนลงโทษอย่างไร หรือแท้ที่จริงแล้ว การทำความดีเหล่านั้น เป็นเพียงฉากบังหน้า เพื่อให้ตนเองสามารถแสดงออกถึงความเลวที่อยู่ภายในได้ โดยมีเกราะกำบังแก่ตัวตนของตนเอง ทั้งเพื่อหลอกผู้อื่นและตนเอง ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเลวอย่างที่เป็นจริง เพียงเพราะเป็นมุมมองของตนเอง ผู้มีศีลธรรมเหนือกว่าผู้อื่นก็เท่านั้น
การคิดทบทวนเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องคิดออกมาดังๆ หรือกังวลว่าจะกระทบกับภาพที่ผู้อื่นกำลังมองตัวเราอยู่ หากเพียงถ้ามีโอกาส อาจจะลองหยิบหนังสือ ‘มนุษย์สองหน้า’ เล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
พาตัวเองเข้าไปสนทนากับ คลามองซ์ รับฟังการสารภาพเรื่องราวของเขา และปล่อยให้เขาพาคุณไปตั้งคำถามกับตัวเอง คิดใคร่ครวญถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในการกระทำและตัวตนของเราลึกๆ ที่เราอาจสารภาพออกมากับเขาเพียงเบาๆ ไม่ใช่เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ แต่เพื่อให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น ก็คงเพียงพอแล้ว
ตัวละครจากหนังสือ มนุษย์สองหน้า แปลมาจากหนังสือ The Fall เขียนโดย อาลแบร์ กามูว์ (Albert Camus) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส |
- ผลกระทบที่มาจากการเลี้ยงดูในลักษณะที่ปกป้องเกินไปกระทั่งกลายเป็นการควบคุมบงการ ผ่านตัวละครตำนานอูเธอร์ เพนดรากอนและมอร์กานาจากละครโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักร เมอร์ลิน (Merlin)
- ผลกระทบสุดโต่งทางแรกคือ สูญเสียตัวเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์ และอยู่กับความรู้สึกไม่ ‘จริง’ สุดโต่งอีกทางคือ การตัดสัมพันธ์กับอีกฝ่ายเพื่อที่จะมีความสัมพันธ์กับของตัวเองจริงๆ
- นำเสนอการทำงานกับโลกภายในเพื่อให้เกิดทางเลือกที่แตกต่างจากสุดโต่งสองด้านดังกล่าว
“บัดนี้ข้ารู้แล้วว่าที่แท้นั้นข้าเป็นใคร และมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องกลัว สักวันหนึ่งผู้คนอาจมองว่าเวทย์มนตร์เป็นพลังที่ดีก็ได้” — มอร์กอนา พูดกับเมอร์ลิน
ในบทที่แล้ว (อ่านบทความ) เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ควบคุมและผู้ถูกควบคุม ผ่านตัวละครในตำนาน อูเธอร์ เพนดรากอน พ่อ และ มอร์กานา ลูกสาว ความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่ราบรื่น เพราะอูเธอร์ชิงชังคนที่มีหรือใช้เวทมนตร์ถึงขนาดที่ต้องประหารผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก รากของความชิงชังต่อเวทมนตร์นั้นสืบขึ้นไปได้ถึงเหตุการณ์ที่เขาขอให้แม่มดนิมเวย์ช่วยให้ภรรยาเขาตั้งครรภ์รัชทายาท นั่นก็คือ อาเธอร์ (พี่ชายต่างมารดาของมอร์กานา) ทว่ากฎของศาสนาโบราณเน้นเรื่องความสมดุล ในการทำให้ชีวิตหนึ่งเกิดขึ้น ก็ย่อมต้องมีชีวิตที่ถูกพรากเอาไป และนั่นก็คือ ชีวิตแห่งภรรยาของอูเธอร์
อูเธอร์จัดการกับความรู้สึกผิดไม่ได้ ความผิดจึงตกไปอยู่กับทุกคนที่มีหรือใช้เวทมนตร์ เขาเพียงแค่ไม่อยากรับรู้อารมณ์ที่ทำให้รู้สึกอ่อนแอต่างๆ จึงแปรเปลี่ยนให้เป็นความโกรธ ภายใต้หน้ากากทรราชย์ผู้สั่งฆ่าคนที่ใช้เวทย์มนตร์จำนวนมากมาย เขาเพียงแต่ไม่อยากเปราะบางและหวาดกลัวที่จะสูญเสียอีกเท่านั้นเอง
ส่วนมอร์กานาเองเป็นคนที่มีเวทมนตร์และมีความเป็นนักสู้ในตัวเองด้วย แต่เมื่อพ่อของเธอปฏิเสธมัน เธอจึงต้องยอมตัดขาดกับแก่นสารบางอย่างของตัวเองและหลับใหลอยู่กับความรู้สึก ‘ไม่จริง’ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยและเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับพ่อ นี่คือตัวอย่างของสุดโต่งแบบแรกในความสัมพันธ์ลักษณะนี้
สุดโต่งแบบที่หนึ่ง : สูญเสียตัวเอง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ และอยู่กับความรู้สึกไม่ ‘จริง’ ไปเรื่อยๆ
1.ถ้าฉันแสดงความเป็นตัวเองออกมา และรู้สึกอย่างที่รู้สึก ฉันจะถูกปฏิเสธหรือตกอยู่ในอันตราย
ดร.กาบอร์ มาเธ่ (Gabor Maté) แพทย์ซึ่งสนใจเป็นพิเศษในเรื่องบาดแผลทางจิตใจและพัฒนาการในวัยเด็ก อธิบายว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่คลอดออกมากแล้วก็ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ต้องพึ่งพิงคนอื่นมากที่สุด อีกทั้งเป็นเวลานานกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ความผูกพันซึ่งรวมไปถึงความเชื่อมโยงและความรักจึงทำให้มนุษย์มีโอกาสอยู่รอดและเติบโต
ทว่านอกจากความผูกพัน มนุษย์ยังจำเป็นต้องสามารถรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง อีกทั้งสามารถแสดงออกถึงสิ่งที่เราเป็นและอนุญาตให้ลักษณะต่างๆ ของเราปรากฏอยู่ในความสัมพันธ์ กระนั้น ในความผูกพันระหว่างพ่อแม่และลูกซึ่งยังเป็นเด็กนั้น บางห้วงเวลาคนเป็นพ่อแม่อาจกำลังเครียด หรือเจ็บปวดกับบาดแผลบางอย่าง ฯลฯ
ดังนั้นแม้จะรักลูกมาก แต่โดยไม่รู้ตัวก็สามารถส่งสารบางอย่างออกไป ทำให้ลูกตีความว่าลูกไม่เป็นที่ต้องการ หรือฉันคือความผิดพลาดมาตั้งแต่แรกแล้ว
เช่น เกิดมาแล้วรู้สึกว่าตัวเองทำให้พ่อแม่ลำบากขึ้น ไม่น่าเกิดมาเลย หรือเกิดมาแล้วไม่สามารถช่วยให้พ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอย่างที่แม่ตั้งใจ หรือลูกตีความว่าถ้าลูกเป็นสิ่งที่เขาเป็นหรือถ้ายืนกรานในความรู้สึกจริงๆ ของตัวเอง พ่อแม่จะปฏิเสธเขา
เด็กอาจมีข้อสรุปว่าฉันต้องไม่แสดงความเป็นตัวเองออกมาเพราะมันอันตรายต่อความรอด จึงปรับตัวเข้ากับผู้เลี้ยงดูด้วยการกดความเป็นตัวเอง รวมถึงกดสัญชาตญาณและอารมณ์ต่างๆ อันเป็นเครื่องนำทาง เด็กผูกตัวเองอยู่กับการรับผิดชอบอารมณ์ของผู้เลี้ยงดู และมักห่วงความต้องการทางอารมณ์ของคนอื่นมากกว่าของตัวเอง ถ้าคนอื่นรู้สึกผิดหวังหรือรู้สึกไม่ดี ก็รู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบ
เฉกเช่นมอร์กานา เธอรู้ว่าพ่อรักเธอและเขาก็มีเรื่องเครียดอยู่แล้ว นั่นคือพ่อรู้สึกว่าเวทย์มนตร์คืออันตรายต่อราษฎรอันต้องกวาดล้าง เมื่อเธอเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีเวทย์มนตร์ เธอจึงไม่อาจรับรู้มันอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะเธอเองก็ต้องอยู่กับความหวาดกลัวว่าพ่อจะรับไม่ได้และเธอจะไม่รอด เธอไปบอกหมอหลวง แต่เพื่อจะปกป้องเธอ หมอหลวงก็หักล้างความรู้สึกเธอว่าไม่จริง ทำให้เธอสับสนที่จะเชื่อความรู้สึกตัวเอง (หมอหลวงในที่นี้เปรียบได้กับ ความรู้สึกกลัวและความรู้สึกผิด ฯลฯ) นอกจากนี้เมื่อมอร์กานาคัดค้านพ่อไปตามมโนธรรมของเธอ เธอกลับถูกจับขังไว้ในคุกใต้ดิน แม้พ่อของเธอจะมาขอโทษในภายหลัง แต่เธอก็ย่อมเรียนรู้แล้วว่าถ้าทำตามความรู้สึกจริงๆ เธอต้องถูกทำโทษ
เรื่องราวส่วนนี้ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาให้โทษผู้ดูแล เพราะเขาก็พยายามทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่เขาก็มีสถานการณ์ส่วนตัวที่ต้องรับมือเหมือนกัน
ทว่าก็ยังมีกรณีแบบอื่น เช่น เด็กโดนคนเลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศ แต่กดความรู้สึกโกรธไว้และไม่ได้บอกใครเพราะรู้สึกว่าสู้ไม่ได้ หรือเด็กถูกทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกาย แล้วกดความรู้สึกว่าคนที่เลี้ยงดูทำผิดต่อเรา บ้างบอกว่าต้องไม่ปกป้องตัวเองด้วยการสู้กลับเพราะจะเป็นการ ‘อกตัญญู’ แต่สรุปว่าตัวเองทำผิดจึงสมควรรับโทษ เด็กตัดขาดกับสัญญาณเตือนภัยและอารมณ์โกรธในตัวเองเพื่อรักษาสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู และบ้างก็มีประสบการณ์ที่สู้กับคนนอกแล้วพ่ายแพ้ด้วย
เมื่อกลายเป็นพ่อแม่ หนึ่งในอีกวิธีปกป้องลูกจึงเป็นการห้ามไม่ให้ลูกสู้คนอื่นโดยมีลักษณะการห้ามที่มีอารมณ์โกรธรุนแรงหรือกลัวสูง โดยที่ขณะนั้นเขาก็มักไม่รู้ตัวและภายหลังยังบอกว่าจำมันไม่ได้อีกต่างหาก และนั่นเองเขากำลังส่งทอดวิธีรับมือ (coping) กับสถานการณ์ตึงเครียดของตัวเองไปให้ลูก หากลูกคนนั้นยังไม่ได้ทำงานกับตัวเองก็สามารถสืบมรดกรูปแบบความสัมพันธ์ที่ปล่อยให้คนอื่นล้ำเส้นในลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งมันรวมไปถึงการที่ลูกต้องกดสิ่งที่ช่วยนำทางให้พ้นภัย เช่น ความรู้สึกว่าอะไรอันตรายกับเราและอารมณ์โกรธ ผลลัพธ์คือ คนๆ นั้นไม่เพียงสูญเสียความเชื่อมโยงกับตัวเอง แต่ภูมิคุ้มกันก็อาจถูกกดไว้ (ทำหน้าที่แบบเดียวกับความโกรธ คือ ปกป้องอาณาเขตของเราให้พ้นจากอันตราย) และมีผลลบกับระบบประสาทของเขาด้วย
ถึงจุดหนึ่ง พวกเขาก็เริ่มจะมีราคาที่ต้องจ่าย เช่น ความป่วยไข้ทางร่างกายหรือจิตใจ การเสพติดสิ่งต่างๆ รวมถึงเสพติดความสัมพันธ์ที่เป็นโทษต่อตัวเอง ดร. มาเธ่ ให้ตัวอย่างว่าบางคนไม่ได้ติดสารเสพติด แต่ติด ‘ดี’ ต้องเป็นมิตรตลอดเวลา ซึ่งสะท้อนความพยายามหนีความเจ็บปวดจากการไม่ถูกยอมรับอย่างที่ตัวเองเป็น ฉันจึงเป็นอะไรให้พวกคุณก็ได้ แค่รักฉันเถอะ มองเห็นฉันบ้าง ว่ากันว่าคนดีตายเร็ว ซึ่งก็จริงในหลายกรณี เพราะหลายคนติด nice จนกระทั่งเป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง (autoimmune disease) หรือเป็นมะเร็ง ซึ่งบางคนที่เป็นมะเร็งแล้วปฏิวัติตัวเองกลายเป็นคนกล้าปฏิเสธคนอื่น กล้าบอกว่าตัวเองไม่เอาอะไร กล้าใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ ก็กลับหายจากมะเร็งไปอย่างน่าอัศจรรย์
ในการเปลี่ยนผ่านของชีวิต อาการป่วยไข้เหล่านี้ไม่ได้มาบอกว่าเรามีตำหนิ แต่เป็นดั่งเสียงกระซิบซาบแห่งกระบวนการเติบโตทางจิตใจ มันคือเสียงเพรียกหา (Calling) คล้ายในไพ่ The Judgement ให้ต้องใคร่ครวญเพื่อจะเข้าใจว่ามี แนวเรื่องซ้ำรอยเดิมบางอย่าง อยู่ตลอดเส้นทางชีวิตของเรา และเรามีศักยภาพที่จะตระหนักว่าต้องทำหรืองดเว้นการกระทำอะไรหากไม่ต้องการตกร่องเดิมอี
2.โลกภายนอกอันตราย เธอจึงต้องเชื่อฟังและพึ่งพาฉัน : ศักยภาพและจุดยืนที่ถูกกดไว้
ชีวิตของมอร์กานา ไม่เพียงแต่สะท้อนคนที่ต้องตัดขาดกับแก่นของตัวเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์ แต่ยังแสดงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ผู้เลี้ยงดูรู้สึกว่าโลกภายนอกอันตรายอย่างยิ่ง และกลัวสูญเสียลูกไปเพราะอันตรายนั้น (รวมถึงกลัวสูญเสียถ้าหากลูกปีกกล้าขาแข็ง) พวกเขามีแรงขับให้ปกป้องลูกอย่างสุดขีด ซึ่งบ้างก็รวมถึงการปกป้องโดยไม่ให้ลูกสู้คน! (เพราะกลัวว่าหากสู้แล้วแพ้ลูกจะได้รับอันตราย) ผู้เป็นลูกบางส่วนถูกผู้เลี้ยงดูสะกดให้เชื่อว่าตัวเองไม่สามารถรับมือกับโลกภายนอกได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองและต้องพึ่งพาผู้เลี้ยงดูในทางใดทางหนึ่งในลักษณะที่กระทบความนับถือตัวเองของลูกคนนั้น
แนวเรื่องเล่าที่ได้ยินซ้ำๆ คือ การที่ผู้ปกครองปกป้องลูกอย่างสุดขีด ซึ่งมักจะเป็นลูกสาว ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะว่าโดยทางกายภาพอาจมีโอกาสเกิดอันตรายกับผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย รวมถึงมีกรอบทางวัฒนธรรมอีกมากมายโอบล้อมอยู่ ลูกสาวหลายคนที่มีศักยภาพและพรสวรรค์สูง แต่กลับต้องมาซึมเศร้าเมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อคุยไปเรื่อยๆ พบว่าพวกเธอบางส่วนไม่เคยไปอยู่คนเดียวที่ไหนเลย แม้ต้องไปเรียนในที่ไกลๆ ก็ไม่ได้อยู่หออย่างนักศึกษาคนอื่นแต่ต้องเดินทางไปกลับเพื่อให้อยู่ในสายตาผู้ปกครอง พวกเธอถูกทำให้เชื่อว่าตัวเองอ่อนแอเกินไป หรือไม่มีความสามารถในการดูแลตัวเองดังนั้นจึงต้องอยู่กับพ่อแม่ในรูปแบบที่พ่อแม่คุ้นเคยเท่านั้น หรือต้องมีแฟนที่พ่อแม่เห็นชอบด้วยเพื่อให้มาดูแลเธอ!
ลูกที่ถูกปกป้อง ซึ่งในที่นี้คือควบคุมมากเกินไป เมื่อถึงจุดที่อึดอัดสุดขีด บางส่วนก็ออกไปอยู่ที่อื่นเองนอกบ้านในช่วงวันทำงานแล้วค่อยกลับบ้านเป็นพักๆ แต่ที่น่าสนใจคือ มีคนส่วนหนึ่งที่อายุ 20+ 30+ แล้วแต่ทำได้แค่ปรารถนาและยังคงต้องอยู่ในวงจรขาดจุดยืน คนส่วนหนึ่งในนี้มีอาการซึมเศร้าและได้รับยาต้านเศร้า น่าสนใจเพราะคำว่ารู้สึกซึมเศร้าหรือ depressed นั้นหมายความอีกอย่างได้ว่ากดลงไป นั่นคือ คนเหล่านี้ต้องเก็บกดความรู้สึกหลายอย่างและความเป็นตัวเองเอาไว้
บ้างรู้สึกว่าต้องใช้การแต่งงานเป็นการออกจากบ้านไปมีชีวิตของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการรับประกันได้ว่าสิ่งแวดล้อมใหม่จะมีอิสระมากขึ้น หนำซ้ำยังอาจเลือกแฟนที่ย้ำรอยความสัมพันธ์แบบเดิมด้วย แม้แต่คนที่มั่นใจว่าตัวเองมีศักยภาพต่อกรกับโลกภายนอกพอสมควร ก็ยังกลัวการพัดพรากจากบุคคลที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งก็กลับมาที่สมการเดิมในวัยเด็กว่า ถ้าฉันเป็นตัวเองฉันจะถูกปฏิเสธและถูกตัดความสัมพันธ์
แต่ทุกคนมีโอกาสเปลี่ยนแปลงและเติบโตหากพร้อมเผชิญกับอารมณ์ต่างๆ ของตัวเอง เช่น ความกลัว ความรู้สึกผิด ความละอายใจ ฯลฯ
คนที่เห็นศักยภาพของตัวเองอาจขบถเหมือนมอร์กานา (ซึ่งในชีวิตจริงก็คงไม่เลวร้ายอย่างที่มอร์กานาทำ) มอร์กานามีความเป็นนักรบและมีเวทย์มนตร์ที่ต้องเก็บงำไว้ อีกทั้งไม่สามารถนำมันมาเชื่อมโยงกับชุมชนที่เป็นเหมือนกับเธอได้ เธอย่อมไม่เพียงแต่อึดอัด แต่ยังขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belong) ด้วย เมื่อมาร์กานาค่อยๆ เติบโตขึ้นประกอบกับเห็นด้านลบของอูเธอร์ที่มีอำนาจควบคุมเธอและชาวเวทย์อื่นๆ วันหนึ่งเธอย่อมปิดบังตัวเองไม่ไหว เธออัดแน่นไปด้วยความโกรธและต้องลุกขึ้นทำอะไรบางอย่าง
สุดโต่งอีกด้าน : ตัดสัมพันธ์กับอีกฝ่าย เพื่อที่จะมีความสัมพันธ์กับของตัวเองจริงๆ
ในเรื่อง มอร์กานาจับพ่อไปขังไว้และเถลิงขึ้นเป็นราชินีจอมโหดเสียเอง ทั้งที่ตั้งแต่แรกเธอก็ไม่ชอบความเป็นทรราชย์ของพ่อเอาเลย ในแนวเรื่องนี้ อยากอ่านในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ในแง่ที่เป็นการตัดความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย หรือเป็นการกล้าตัดสินใจแบบที่ตัวเองต้องการเลยโดยที่ไม่แคร์การควบคุมของอีกฝ่ายแล้ว
การเป็นนักรบและการมีเวทย์มนตร์ของมอร์กานาอาจเป็นเพียงแค่ความกล้าหาญและความสามารถในการกลับมาสัมผัสกับแก่นสาร สัญชาติญาณและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ว่าคนอื่นจะชอบหรือไม่ชอบมันก็ตาม บางทีคนอื่นก็สามารถสัมพันธ์กับเราได้ลึกเพียงเท่าที่เขาสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ของตนเอง เราจึงไม่จำเป็นต้องรับเอากรอบกั้นของเขาเสมอไป การเป็นราชินีครองอาณาจักรแห่งชีวิตของตัวเอง หมายความเชิงสัญลักษณ์ได้ว่า ในจุดนั้น เราสามารถแสดงจุดยืนว่าอะไรบ้างที่คนอื่นยัดเยียดให้ทว่าเราไม่ยินดีแบกรับไว้ มันคือการตื่นขึ้นมารับผิดชอบชีวิตตัวเอง (responsible) ซึ่งไม่ได้เป็นการกระโจนเข้ารับผิดชอบความรู้สึกทุกคนหากไม่ได้ทำอะไรผิด ตรงกันข้ามการเป็นราชินีปลดล็อคจากความรู้สึกผิดพร่ำเพรื่อ จึงทำให้สามารถที่จะตอบสนอง (able to response) ไปตามความรู้สึกที่แท้จริงได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเก็บกดที่ผ่านมาก็อาจทำให้มีความโกรธสะสมอยู่เต็มเปี่ยม และสามารถพัฒนาไปเป็นการต่อต้านคำวิพากษ์วิจารณ์และการควบคุมทุกรูปแบบ ทั้งยังอาจมีแรงขับให้ควบคุมคนอื่นและสถานการณ์รอบตัวอย่างสุดขีด เพื่อชดเชยกับการที่ถูกควบคุมมาทั้งชีวิตด้วย ซึ่งเราอาจต้องทำงานกับพลังงานเช่นนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้มันส่งผลลบกับผู้อื่น
หนทางประนีประนอม
ทางออกกลางๆ ระหว่างการตัดขาดกับตัวเองไปสยบยอมผู้อื่นโดยสิ้นเชิง กับการตัดสัมพันธ์และไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น สามารถเป็นการทำงานกับพลังงานภายในที่ต้องกดไว้ เราสามารถทำงานกับภาพสัญลักษณ์ที่ปรากฏในตำนาน ศิลปะและความฝัน ซึ่งอาจสอดคล้องกับร่างฝันที่ปรากฏขึ้นเป็นความป่วยไข้ต่างๆ ด้วย มันสามารถทำให้เราค่อยๆ สัมผัสพลังงานหลายๆ ลักษณะที่เก็บกดไว้ในกรุแห่งจิตไร้สำนึก หรือพลังที่ไม่ค่อยได้ใช้ ซึ่งไม่ว่าเราจะเป็นใครในความสัมพันธ์ ก็สามารถทำงานกับโลกภายในได้ทั้งสิ้น
การทำงานกับโลกภายในไม่ได้แปลว่าภายในครั้งสองครั้ง เราจะต้องปลดล็อคอารมณ์ลบทุกอย่างได้หรือเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง และไม่ได้แปลว่าเราจะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้ แต่อาจหมายความเพียงแค่ว่าพลังงานที่ถูกกดเก็บไว้เหล่านี้มันมีพื้นที่ระบายออกมาอย่างสร้างสรรค์ขึ้นและควบคุมชีวิตแบบที่เราไม่รู้ตัวน้อยลง
ยกตัวอย่าง หญิงสาวคนหนึ่งป่วยกระเสาะกระแสะมาเนิ่นนาน เช่น ปวดหัวและมีอาการซึมเศร้าเป็นระยะๆ เธอรู้สึกว่าชีวิตตัวเองถูกพ่อควบคุมและไม่มีพื้นที่ เธออยากออกไปทดลองใช้ชีวิตนอกบ้านสักพักหนึ่งแต่ยังไม่มีโอกาส
ภายหลังเธอได้ทำงานกับความรู้สึกอึดอัดผ่านภาพศิลปะบนไพ่
เธอเปิดไพ่ขึ้นมาเป็นภาพผู้ชายและผู้หญิงซึ่งเดินสวนทางกันแต่พวกเขาไพล่มือมาเกาะกุมกันไว้ด้านหลังของกันและกัน พวกเขามีรอยยิ้มที่อิ่มเอม สีสันของลำตัวของพวกเขากลืนไปกับพื้นหลังสีเขียวระเรื่อเจือสีสันต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ เธอและเพื่อนไดอะล็อคกันเพื่อเธอสะท้อนภาพ ซึ่งเกิดความหมายที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ของเธอกับพ่อ นั่นคือ เธอยืนกรานสิ่งที่เธอรู้สึกและมีจุดยืนของตัวเองได้ ในขณะที่พ่อของเธอก็สามารถรู้สึกแตกต่างไปจากเธอได้เช่นกัน พวกเขาเดินไปคนละทางโดยที่ยังรักกันได้
หลังจากการไดอะล็อคในประเด็นต่างๆ ผ่านภาพสัญลักษณ์ เธอรู้สึกว่าความอึดอัดคลี่คลายขึ้นหน่อย เธอเห็นทางเลือกในความสัมพันธ์กับพ่อมากขึ้น แต่เธอก็ยังต้องออกเดินทางภายในไปเจอกับตัวเองอีกเรื่อยๆ
การทำงานกับภาพสัญลักษณ์ดังกล่าวทำให้เกิดทางเลือก ทั้งสองฝ่ายจึงไม่ต้องตัดขาดกันอย่างอูเธอร์และมอร์กานา
อ้างอิง
Authenticity vs. Attachment ดร. กาบอร์ แมท Gabor Maté แพทย์ซึ่งเกิดในฮังการีในช่วงนาซีบุก เขาสนใจเรื่องพัฒนาการในวัยเด็กและบาดแผลทางจิตใจ การแปลงคำว่ารับผิดชอบหรือ responsible เป็น be able to response และการตีความคำว่า depression เชื่อมโยงกับการ “กด” ตัวอารมณ์ของตัวเอง มาจากดร. มาเธ่ ผู้นี้
บทความของ Shahida ผู้เขียน Power: Surviving and Thriving After Narcissistic Abuse และ She Who Destroys the Light: Fairy Tales Gone Wrong
- หอยชักตีน หอยนางรม หอยดาว หอยตาชัย หอยตาแดง หอยเข็ม และพันธุ์หอยอื่นๆ อีกกว่า 20 ชนิด คือ สิ่งที่เราสามารถเจอได้ที่ บ้านมดตะนอย อำเภอเกาะลิบง จังหวัดตรัง
- เมื่อบ้านมีของดีเป็นหอย เยาวชนบ้านมดตะนอยรวมตัวกันทำ โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย เพื่อทำความรู้จักหอยให้มากขึ้น โดยปลายทางเพื่อดูแลอนุรักษ์ให้ชุมชนยังเป็นแหล่งที่อยู่ของหอยที่มีความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และไกลไปกว่านั้น คือ หาวิธีการเพาะพันธุ์หอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ฝืนธรรมชาติ
- เด็กตรังยังหรอย กิจกรรมที่พวกเขาจัดเพื่อชวนเยาวชนจากพื้นที่อื่นๆ มารู้จักหอย ตั้งแต่ล่องเรือชมทัศนียภาพชุมชน เก็บหอยริมหาด และปิดท้ายด้วยการลิ้มรสเมนูหอยที่นำมาปรุงแบบฉบับเมนูพื้นบ้าน เช่น ยำหอยอูหนำกับน้ำจิ้มเหี้ยนรสแซ่บที่มีถั่วตำผสมลงไปด้วย น้ำพริกกะปิใส่หอยติบ หอยออด๋องแกงส้มสับปะรด เป็น sea to table หอยสดๆ คัดเลือกจากทะเล ปรุงแล้วเสิร์ฟตรงถึงโต๊ะอาหาร
เมื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) กลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่ไม่ควรถูกละเลย ขณะที่ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อ หลายคนโหยหาการเดินทางท่องเที่ยวและการผจญภัย เมื่อหน้ามรสุมผ่านไปท้องทะเลอันดามันอันกว้างใหญ่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง ให้ได้ไปหลบพัก รับพลังจากธรรมชาติ ล่องเรือปล่อยใจอ้าแขนรับสายลมแสงแดดในท้องทะเลกว้างๆ สัมผัสหาดทรายขาวและน้ำทะเลสีเทอควอยซ์ รวมถึงอาหารทะเลสดๆ อร่อยๆ ในแบบฉบับที่ไม่ได้คุกคามธรรมชาติแต่สอดคล้องไปกับวิถีธรรมชาติและชุมชน
มาเรียม พะยูนน้อยกำพร้าแม่ทำให้หลายคนรู้จักเกาะลิบง จังหวัดตรัง ในฐานะบ้านหลังเกือบสุดท้ายของพะยูนในประเทศไทย หลังทีมสัตวแพทย์ นักวิชาการ ชาวบ้านและอาสาสมัครกว่าร้อยชีวิตได้ช่วยกันอนุบาลมาเรียมด้วยระบบเปิดในทะเลเพียงไม่กี่เดือน ขยะพลาสติกก็กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่พรากมาเรียมให้จากไปอย่างน่าใจหาย นี่ไม่ใช่ความเศร้าเสียใจแรกที่เกิดขึ้นกับผู้คนในเขตพื้นที่เกาะลิบง ชาวบ้าน ชาวประมงตระหนักถึงปัญหาและความเปลี่ยนแปลงเชิงลบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติรอบตัว ปลา ปู หมึก กุ้ง และหอย ที่จับหาได้ยากขึ้น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และขยะทะเลเกยตื้นที่ไม่ได้มาจากชุมชนแต่มากับทะเลซึ่งอาจมีต้นทางมาจากบ้านของใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ ใครจะไปรู้วันหนึ่งถุงพลาสติกหรือขยะขวดน้ำจากบ้านเรา อาจลอยไปเกยตื้นอยู่ที่ทะเลแถบเกาะลิบงก็เป็นได้
สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ชาวบ้านและกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลในเขตพื้นที่เกาะลิบงท้อแท้ แต่กลับเป็นเชื้อไฟจุดประกายให้ผู้คนในพื้นที่ผนึกกำลังกันอย่างจริงจังและเข้มแข็งมากขึ้น พวกเขาทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเลมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ถ่ายทอดจิตสำนึกและวิถีปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่แต่เด็กและเยาวชนได้เข้ามารับรู้และตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ด้วยเช่นกัน
บ้านมดตะนอย อำเภอเกาะลิบง จังหวัดตรัง เป็นชุมชนที่ไม่ได้อยู่บนเกาะแต่เป็นส่วนหนึ่งขององค์การบริหารตำบลเกาะลิบง หมู่บ้านชาวประมงติดทะเลห่างจากตัวเมืองตรังมาทางทิศตะวันตกประมาณ 50 กิโลเมตร ชุมชนขนาดเล็กที่มีประชากรอยู่เพียง 320 ครัวเรือน หากมานั่งพักพิงเอนกายบริเวณชายหาดบ้านมดตะนอยยามเย็น เราจะเห็นเกาะลิบงตั้งเด่นอาบแสงสีส้มของพระอาทิตย์ตกเป็นแบ็คกราวน์อยู่ด้านหลัง พูดง่ายๆ ก็คือว่า ชายหาดบ้านมดตะนอยวางแนวขนานไปกับเกาะลิบงที่อยู่เบื้องหน้า เสน่ห์ของบ้านมดตะนอยเป็นชุมชนท้องถิ่นที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแต่ยังเงียบสงบ เดินทางมาได้ไม่ยาก ด้วยทำเลที่ตั้งสามารถนั่งเรือไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ โดยรอบได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นถ้ำเจ้าคุณ ถ้ำมรกต เกาะมุก เกาะกระดาน และเกาะลิบง
ป่าชายเลนหรือป่าโกงเกงที่ทอดขนานไปทั้งสองด้านบริเวณคลองลัดเจ้าไหมก่อนไปหยุดที่ท่าเทียบเรือของชุมชนซึ่งยังคงเป็นโครงสร้างที่ทำจากไม้ เป็นบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่า ‘เราเป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งท่ามกลางธรรมชาติเท่านั้นเอง’ ยิ่งมองทิวทัศน์มุมสูงลงมาจากโดรนยังแอบคิดในใจว่า ‘นี่ฉันอยู่ในป่าอะเมซอนหรือเปล่า?’
มหัศจรรย์พันธุ์หอย
ฝั่งหนึ่งของบ้านมดตะนอยเป็นโค้งทะเล เรียกว่า สันหลังมังกรเผือก ยามน้ำลงเต็มที่จะเห็นเป็นสันทรายโผล่พ้นน้ำยาวลาดไปไกลนับกิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายมังกรสีขาว ลำตัวยาวกำลังตั้งท่าแหวกว่ายไปในทะเล ชายหาดบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะหอย ไม่ว่าจะเป็นหอยชักตีน หอยนางรม (หอยตีเตบหรือหอยตีบ) หอยดาว (บูหลัน) หอยตาชัย หอยตาแดง หอยเข็ม หอยหวาน หอยแครงลิง หอยแครง หอยเม็ดหนุน หอยหลักไก่ หอยกูดเพา หอยปูน (หอยหลอด) หอยแว่น หอยออด๋อง (หอยสันขวาน) หอยอูหนำ หอยกัน หอยติง หอยลูกบ้า หอยเสียบ และหอยบอก พันธุ์หอยกว่า 20 ชนิดที่ว่ามานี้เป็นหอยที่กินเนื้อได้และอาศัยเฉพาะบริเวณหาดทราย แนวหญ้าทะเล และป่าชายเลนเท่านั้น
นาน – ธัญวรินทร์ หวังดี อายุ 22 ปี ตัวแทนเยาวชนบ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เล่าว่า หอยเป็นอาหารยอดนิยมของคนบ้านมดตะนอย ในขณะที่ผู้ชายหรือผู้นำครอบครัวออกเรือไปหาปลา เมื่อถึงเวลาน้ำลดผู้หญิงจะชวนลูกๆ ถืออุปกรณ์ลงชายหาดไปหาหอย หรือช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถออกเรือได้ อาหารริมหาดจากธรรมชาติอย่างหอยเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ช่วยดูแลปากท้องของคนในชุมชนเสมอมา หอยแต่ละชนิดอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน มีลักษณะภายนอกต่างกัน รสชาติไม่เหมือนกัน แถมวิธีการเก็บหายังต่างกันด้วย บางชนิดต้องดูรอยเท้าหรือร่องรอยการเคลื่อนที่ บางชนิดดูลักษณะมูลที่ถ่ายออกมา หรือลักษณะทรายรอบๆ บางชนิดต้องใช้อุปกรณ์เสริมในการขุดหา บางชนิดอาศัยอยู่บนต้นไม้ริมป่าโกงกาง แต่บางชนิดก็ออกมาประจันหน้าให้เก็บกันได้ง่ายๆ
นาน กล่าวว่า แม้ชาวบ้านหันมาสนใจและร่วมมือกันดูแลรักษาทรัพยากรภายในชุมชน แต่ก็ยังมีบางคนไม่ให้ความร่วมมือและบุกรุกแหล่งที่อยู่ของหอย ไม่เฉพาะคนในชุมชนเท่านั้นที่สามารถเข้ามาจับสัตว์น้ำละแวกป่าชายเลนหรือโดยรอบบ้านมดตะนอยได้ แต่ชาวประมงจากพื้นที่อื่นก็เข้ามาได้เช่นกัน ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติบ้านมดตะนอยได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำให้สมดุลนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไป ปริมาณหอยบริเวณชายหาดบ้านมดตะนอยลดลงอย่างมาก หลายชนิดกลายเป็นหอยหายากแต่รสชาติอร่อยที่คนในชุมชนเท่านั้นมีสิทธิได้ลิ้มลอง นานกับเพื่อนๆ จึงรวมกลุ่มทำ โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย เพื่อทำความรู้จักหอยให้มากขึ้น เป้าหมายปลายทางก็เพื่อดูแลอนุรักษ์ให้ชุมชนยังเป็นแหล่งที่อยู่ของหอยที่มีความหลากหลายให้ได้มากที่สุด และหากไปได้ไกลกว่านั้นกลุ่มเยาวชนอยากหาวิธีการเพาะพันธุ์หอยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่ฝืนธรรมชาติ เพื่อขยายพันธุ์ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
“แม่บ้านบางคนว่างงาน รายได้หลักมาจากการเก็บหอย เมื่อเก็บได้น้อยลงรายได้ก็ลดลงและมีรายได้ไม่แน่นอน สังเกตได้จากออกไปแต่ละครั้งใช้เวลาในการหาหอยนานขึ้น ต้องขุดหาลึกขึ้น เดินไปไกลขึ้น เจอแต่หอยที่มีขนาดเล็ก หอยปูนหรือหอยหลอดก่อนหน้านี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่ชาวบ้านแทบหาเก็บไม่ได้เลย บางครั้งเก็บได้น้อยมากจนต้องขอแบ่งซื้อปลาจากต่างหมู่บ้านมากินแทนหอย” นาน กล่าว
กิจกรรมที่เด็กและเยาวชนได้ลงมือทำในโครงการมีตั้งแต่การเก็บข้อมูลเรื่องพันธุ์หอย ทั้งที่อาศัยในป่าชายเลนและชายหาดจากผู้รู้ในชุมชนเทียบเคียงกับข้อมูลวิชาการ แล้วเรียบเรียงเป็นความรู้พื้นฐาน เช่น ลักษณะหอยชนิดต่างๆ สถิติปริมาณหอยที่จับได้ในแต่ละจุดเพื่อให้เห็นแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง กลุ่มเยาวชนลงพื้นที่สำรวจหอยตามชายหาดและป่าชายเลนเพื่อทำแผนที่แหล่งที่อยู่ของหอยในชุมชน ศึกษาและจัดทำปฏิทินน้ำขึ้นน้ำลงที่มีความสัมพันธ์กับวงจรชีวิตของหอย เรียนรู้วิธีการเก็บหอยให้เกิดความเชี่ยวชาญมากขึ้น และทดลองนำหอยไปแปรรูปหรือทำเป็นเมนูอาหารพื้นบ้าน รวมถึงสร้างสรรค์เมนูใหม่แบบ sea to table เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ที่สำคัญเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ นาน บอกว่า กลุ่มเยาวชนได้ข้อความรู้จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต เพื่อศึกษาเชิงลึกไปถึงเรื่องการเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์หอย
Sea to Table ความมั่นคงทางอาหารในท้องทะเล
จะว่าไปจังหวัดตรังมีสภาพภูมิประเทศที่ค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งอำเภอที่ติดทะเลและไม่ติดทะเล บางอำเภอติดภูเขา นานและเพื่อนๆ จัดกิจกรรม เด็กตรังยังหรอย ขึ้นระหว่างทำโครงการ เดาๆ จากชื่อแล้วคงเป็นกิจกรรมน่าอร่อยและทำให้อิ่มท้อง เจ้าบ้านบ้านมดตะนอยชวนกลุ่มเยาวชนจากพื้นที่อื่นๆ มาทำกิจกรรมในพื้นที่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการล่องเรือชมทัศนียภาพ การเก็บหอยริมหาด และการลิ้มรสเมนูหอย มีเมนูพื้นบ้าน เช่น ยำหอยอูหนำกับน้ำจิ้มเหี้ยนรสแซ่บที่มีถั่วตำผสมลงไปด้วย น้ำพริกกะปิใส่หอยติบ หอยออด๋องแกงส้มสับปะรด และเมนูที่กลุ่มเยาวชนมดตะนอยรังสรรค์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เช่น ห่อหมักหอยติบ หอยออด๋องผัดน้ำพริกเผา หอยสดๆ คัดเลือกจากทะเล ปรุงแล้วเสิร์ฟตรงถึงโต๊ะอาหาร ไม่ต่างจาก Chef’s Table (การทานอาหารที่คนปรุงหรือเชฟเป็นคนเลือกสรรวัตถุดิบ แล้วคิดเมนูพิเศษเสิร์ฟเซอร์ไพรส์ให้คนทาน) และ Farm to Table (การเลือกสรรวัตถุดิบส่งตรงจากแปลงปลูก) ที่มักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ
“เมนูดั้งเดิมที่มีอยู่เป็นอาหารท้องถิ่นของชุมชนแถบนี้ที่กินกันทุกบ้าน ถ้านักท่องเที่ยวมาเที่ยวก็จะได้กินเมนูเดิมๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าจำเจ เลยคิดเมนูเพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือกดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ได้ลองเมนูใหม่ๆ ที่ยังคงเป็นหอยสดจากชุมชน” นาน กล่าว
ดูดินฟ้าอากาศและปฏิทินข้างขึ้นข้างแรมเพื่อให้รู้จังหวะน้ำขึ้นน้ำลง นาน เล่าถึงวิธีการเตรียมตัวก่อนออกไปเก็บหอย แล้วเล่าต่อว่าช่วง 13 ค่ำถึง 4 ค่ำเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านนิยมออกไปหาหอยเพราะน้ำทะเลจะลดลงไปไกลทำให้หาหอยได้ง่ายและมีพื้นที่เก็บหอยเยอะ เมื่อถึงเวลาก็หยิบถังน้ำ ถุงอวนตาข่ายและมีดกรีดยางเก่าๆ สำหรับใช้เขี่ยตาหอยออกไปเก็บหอยได้
เมื่อเก็บหอยได้แล้วก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมอาหาร ซึ่งต้องอาศัยความรู้ในการเตรียมหอยอยู่พอสมควร สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาด้านอาหารของชาวบ้านที่สั่งสมส่งต่อกันมาจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน เป็นวิถีการกินที่ชาวเลต้องรู้
“หอยชักตีนอยู่ตามหาดนำมาต้มสดได้เลย หอยออด๋องอยู่ตามป่าชายเลนต้องเคาะเปลือกออกให้เหลือแต่เนื้อข้างในถึงจะนำไปทำอาหารได้ ส่วนหอยติบมีลักษณะเป็นพวงจับมาแล้วต้องเคาะแล้วแช่น้ำไว้ 2 – 3 ชั่วโมง เกาะเนื้อออกแล้วค่อยนำมาทำอาหาร” นาน เล่า
ประกาศกติกาชุมชน พิทักษ์ทรัพยากร
ห้ามเก็บหอยขนาดเล็ก ให้เก็บเฉพาะตัวเต็มวัยที่มีขนาดใหญ่ (กำหนดขนาดตามแต่ละชนิดของหอย เช่น ห้ามจับหอยชักตีนที่มีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร หอยตลับ 4 เซนติเมตร หอยสันขวาน 5 เซนติเมตร เป็นต้น)
ห้ามเก็บหอยที่มีเปลือกบาง
เว้นระยะการเก็บหอยช่วงที่หอยวางไข่
ห้ามทำลายแนวหญ้าทะเล
ห้ามใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำ และห้ามใช้อวนลากบริเวณริมตลิ่ง
ที่ว่ามานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกติกาชุมชน
“ก่อนเข้าไปถามข้อมูลจากผู้ใหญ่ในชุมชน เราอธิบายเป้าหมายของโครงการให้ฟังก่อนว่าปลายทางของเราคือการอนุรักษ์ คนในชุมชนเติบโตมาจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ โตมากับท้องถิ่น มีความหวงแหนและผูกพันกับป่าชายเลน ลำคลอง หรือชายหาดอยู่แล้ว อย่างต้นโกงกางเราใช้ประโยชน์แต่ก็มีการปลูกทดแทน เมื่อรู้จักโครงการผู้ใหญ่ก็เลยให้ความร่วมมือ จากก่อนหน้าชุมชนไม่ได้สนใจเวลามีคนภายนอกเข้ามาหาหอยในพื้นที่ ตอนนี้ตั้งกติกาชุมชนขึ้นมาชัดเจน มีการเตือน บอกคนจากต่างหมู่บ้านที่เข้ามาเก็บหอยหรือนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามกติกาของชุมชน เห็นคนทำผิดก็ไม่ปล่อยผ่านเหมือนที่ผ่านมา” นาน อธิบาย
โครงการของเด็กๆ หนุนให้ผู้ใหญ่เพิ่มกฎกติกาเรื่องการจับหอยเป็นหนึ่งในกติกาชุมชน และทำให้กติกาชุมชนที่เคยร่างกันไว้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ประกาศหรือยังปฏิบัติกันอย่างหละหลวมกลับมาเป็นกฎกติกาการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติที่ชัดเจน ถูกกวดขันและปฏิบัติอย่างเข้มงวดมากขึ้น มีกลุ่มแกนนำเยาวชนเป็นอีกแนวร่วมหนึ่งช่วยสอดส่องดูแลและเป็นหูเป็นตาร่วมกับผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนได้กลายเป็นเสียงของชุมชนที่ผู้ใหญ่ให้การยอมรับ
“หอยชักตีนวางไข่อยู่ตามรากของหญ้าทะเลซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจน จึงต้องมีการเว้นช่วงเวลาเก็บหอยและดูแลแนวหญ้าทะเลไม่ให้ถูกทำลายจากอวนตาถี่ เพราะอวนตาถี่ทำให้สัตว์ทะเลตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นปลา ปู กุ้ง หอยที่ยังไม่โตติดอวนไปด้วย ด่านป้อมยามหน้าหมู่บ้านมีเจ้าหน้าที่ อพปร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) คอยดูแลคัดกรองอุปกรณ์จับสัตว์น้ำบนเรือที่ผ่านเข้าเขตชุมชน หากผิดกฎกติกาของหมู่บ้านจะไม่อนุญาตให้เรือเข้ามาได้ หมู่บ้านมีทางเข้าออกทะเลเพียงทางเดียวทำให้ง่ายต่อการตรวจตรา เราสอบถามจากคนเฝ้าด่านได้ว่ามีคนทำผิดมั๊ยในแต่ละสัปดาห์แล้วจดบันทึกไว้ จากการเก็บข้อมูลเท่าที่ผ่านมา พบการทำผิดกติกาชุมชนน้อยลงเรื่อยๆ ปริมาณหอยตามฤดูกาลก็มีเยอะขึ้น” นาน อธิบาย
โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอยเป็นเหมือนตัวจุดประกายความคิดและชนวนกระตุกจิตสำนึกของผู้คนบ้านมดตะนอยทุกวัยให้เหลียวกลับมามองทรัพยากรธรรมในพื้นที่ ตระหนักถึงคุณค่าของแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่มีอยู่ในชุมชน แล้วร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อดูแลรักษาความมหัศจรรย์นี้ให้คงอยู่ต่อไป
“นอกจากกลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการแล้ว โครงการเข้ามาปลุกจิตสำนึกให้น้องๆ เยาวชนในชุมชน หันมาสนใจเรื่องทรัพยากรในชุมชน เรามีแผ่นพับให้ความรู้เรื่องหอยจากข้อมูลที่เก็บได้ในโครงการ เมื่อน้องๆ ได้อ่านข้อมูลก็ยิ่งรู้สึกหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ หรือการที่กลุ่มเด็กๆ อย่างเราเข้าไปถามไปขอข้อมูลจากผู้ใหญ่ก็ทำให้ผู้ใหญ่ได้ฉุกคิดเหมือนกันว่าหอยที่จับได้มันน้อยลงกว่าแต่ก่อนนะ แล้วมันน้อยลงเพราะอะไร คนในชุมชนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้หอยกลับมามีจำนวนเพิ่มขึ้น พอได้คิดทบทวนผู้ใหญ่ก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ด้วย”
“มนุษย์ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมาเยอะแล้ว ควรร่วมมือกันอนุรักษ์ให้ไปถึงรุ่นหลัง ให้เขาได้เห็นหอยที่เป็นหอยจริงๆ ไม่ใช่จากในภาพหรือที่ตั้งโชว์ไว้” นาน กล่าวทิ้งท้าย
ดูเหมือนว่าสิ่งที่ได้รับกลับมาจากการท่องเที่ยวที่บ้านมดตะนอยมีมากกว่าแค่การไปพักผ่อน ที่นี่มีวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายแง่มุมให้ได้เห็นและเรียนรู้ ความเคารพ ความรักและแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ กลับจากที่นี่เราคงได้รู้ได้เห็นปรากฎการณ์ต่างๆ รอบตัวในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น
ฤดูกาลท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเมษายนของทุกปี |
- เป้าหมายสำคัญของโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชนบ้านเขาน้อย จังหวัดสตูล คือ การสร้างเยาวชนให้เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนและชุมชน จนเกิดความหวงแหนบ้านเกิดของตนเอง โดยจากการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของชุมชน การอพยพย้ายถิ่นเพื่อตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษ วิถีชีวิตในการดำรงชีพ สถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และตำนานเล่าขานบ้านเขาน้อย
- หัวใจของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมถึงการพัฒนาชุมชน คือ ความเสมอภาค ทุกคนต้องได้รับสิทธิเสมอภาคเหมือนกัน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดได้แสดงความคิดเห็น เมื่อทุกคนมีพื้นที่ในการสื่อสาร การประสานงานเพื่อทำงานร่วมกันจะเป็นไปได้ง่ายและมีทิศทาง
ทะเลหมอกที่คลอเคลียไปกับทิวเขากระทบแสงสีทองของพระอาทิตย์ที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นในยามเช้า คือ ภาพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างถิ่นให้มาหยุดยืน ณ จุดชมวิวเขาภูน้อย บ้านเขาน้อยเหนือ หมู่ 3 ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่จากความร่วมมือร่วมใจของคนบ้านเขาน้อย
ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ เป็นผืนนากว่า 2 พันไร่กว้างไกลสุดสายตา โอบล้อมด้วยภูเขาสามด้าน มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีสายน้ำชลประทานไหลผ่าน และเป็นชุมชนหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 150 ปี อ้างอิงข้อมูลที่ได้จากการสืบค้น สำรวจ สัมภาษณ์และสังเคราะห์ โดยเด็กและเยาวชนในชุมชน ภายใต้โครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชนบ้านเขาน้อย
ทว่าย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ชุมชนที่เคยเงียบสงบต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ได้เข้ามาในพื้นที่ บวกกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มถอยห่างจากความเป็นชุมชนและถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ความพยายามที่จะหาแนวทางแก้ไขจึงเกิดขึ้น โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่เดิมทั้งองค์กรศาสนา องค์การท้องถิ่น รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้เยาวชน รื้อฟื้นความสัมพันธ์และสร้างสำนึกร่วมทางสังคมของคนในชุมชนขึ้นมาจนสามารถฝ่าวิกฤติไปได้
เปิดพื้นที่ให้เยาวชนรวมพลแก้ปัญหา
ใครจะไปนึกว่าการเข้ามาของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณของความเจริญทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระดับฐานรากจนทำให้ชุมชนเล็กๆ อย่างบ้านเขาน้อยสั่นคลอน สอและ หลงสมัน หรือครูสอและ พี่เลี้ยงโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฯ ครูสอนศาสนาโรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา และผู้บริหารฝ่ายวิชาการมัสยิดบ้านเขาน้อย กล่าวว่า บ้านเขาน้อยเป็นชุมชนขนาดเล็ก ปัจจุบันมีประชากรทั้งสิ้นราว 1,200 คน ประมาณ 161 ครัวเรือน ย้อนกลับไปราวปี 2556 การเข้ามาของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน อีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นศูนย์กลางกระจายยาเสพติด ซึ่งเป็นด้านมืดที่แทบไม่มีใครมองเห็นและไม่ได้นึกถึง
“ปัญหาในพื้นที่มีอยู่แล้วก็คือปัญหายาเสพติด ช่วงนั้นผู้ใหญ่บ้านก็เพิ่งได้รับตำแหน่งมาใหม่ๆ ร่วมกันทุกวิถีทางช่วยให้น้องๆ รอดพ้นจากตรงนั้น ศูนย์การค้าเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย แต่พอคนหมู่มากเข้าไปอยู่ตรงนั้นก็สามารถทำงานในรูปแบบอื่นได้ กลายเป็นเหมือนฮับกระจายของไปทั่ว พื้นที่เขาน้อยบางส่วนเป็นเส้นทางผ่านและเป็นจุดพักยาเสพติด ชุมชนเราตอนนั้นก็มานั่งร่วมคิด ฝ่ายปกครองกับฝ่ายศาสนามาคุยกันหาทางออก
หากเราไม่มีกิจกรรม ไม่มีพื้นที่ให้เด็กเยาวชนแสดงความสามารถ อนาคตปัญหาชุมชนเราอาจแย่ไปกว่านี้ แต่เมื่อมีกิจกรรม เรามีเวที เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ เด็กก็มีความรัก ความเป็นห่วงพื้นที่มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน”
มัสยิดดารุลนาอีม บ้านเขาน้อย เป็นศูนย์กลางของชุมชน ครูสอและ เล่าว่า ปกติชุมชนใช้มัสยิดเป็นฐานในการทำกิจกรรม ไม่ว่าฝ่ายปกครอง หรือของฝ่ายศาสนา อีกด้านหนึ่งมัสยิดจึงเปรียบเสมือนจุดยึดเหนี่ยวของคนในพื้นที่ เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนให้ความเคารพ และมีพื้นที่กว้างขวางทำให้การจัดกิจกรรมเป็นไปได้อย่างคล่องตัว
ครูสอและ เล่าว่า ราวปี 2557 เป็นช่วงที่สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชนรุนแรงมาก ทั้งเรื่องยาเสพติด เรื่องชู้สาว หลังจากนั้นปี 2558 ผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่จึงมาร่วมกันระดมความคิดเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา เห็นพ้องต้องกันว่าฐานที่ช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาเบาบางลงได้ต้องอาศัยองค์กรศาสนามาเป็นตัวหลัก องค์กรฝ่ายปกครองเข้ามาช่วยเสริม แล้วเปิดพื้นที่ดึงเด็กและเยาวชนมาร่วมทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ โดยมีผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุน
“เมื่อก่อนเด็กห่างเหินกับองค์กรศาสนากับผู้นำชุมชน เด็กไม่ค่อยเข้าใกล้ เด็กไม่ปฏิสัมพันธ์ด้วย ไม่ค่อยให้ความสนใจกับกิจกรรมในพื้นที่ เพราะเขายังไม่เห็นความสำคัญว่ากิจกรรมหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดในชุมชนจะมีผลกระทบกับเขาอย่างไร ผู้ใหญ่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กพูด ถึงเวลาเราก็บอกว่าขอยี่สิบคน ขอสามสิบคน แต่บางทีเขามาด้วยความอึดอัด เขาไม่อยากทำในส่วนตรงนั้น ในกลุ่มผู้ใหญ่ก็มาคิดร่วมกันระหว่างองค์กรศาสนากับองค์กรปกครองในท้องที่ แล้วก็ได้ให้ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง”
ครูสอและ บอกว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนต้องอาศัยความตั้งใจ ความพยายาม และความร่วมมือจากองค์ประกอบทางสังคมทุกส่วนในชุมชน เพื่อจับมือกันวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนไปในทิศทางเดียวกัน
“ปี 2558 ชุมชนเน้นเรื่องบุหรี่เป็นประเด็นแรก เราคิดว่าบุหรี่คือต้นตอของปัญหายาเสพติดทุกประเภท ใช้คณะกรรมการหมู่บ้านกับคณะกรรมการมัสยิดลงสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูลว่าในหนึ่งครอบครัว สมมติมี 5 คน พ่อสูบไหม? สูบอย่างไร สูบแบบต่อเนื่อง สูบบ้างเว้นบ้าง ลูกสูบไหม? สูบอย่างไร สูบวันละเท่าไร สูบกี่ซอง สูบประเภทไหน เราเอารายละเอียดมาทั้งหมด มาประมวลข้อมูลทั้งหมด แล้วรายงานไปยังสาธารณสุขจังหวัด ผลปรากฎว่าบ้านเขาน้อยมีสถิติผู้สูบบุหรี่ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของจังหวัด เราเลยจัดกิจกรรมเกี่ยวกับบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง”
ตามล่าหาอดีตบ้านเขาน้อย รื้อฟื้นความสัมพันธ์ในชุมชน
โครงการแรกที่กลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านเขาน้อยได้ลงมือทำ ภายใต้โครงการ Satun Active Citizen คือ โครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน ควบคู่กับโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ส่วนในปีที่สองกลุ่มเยาวชนรุ่นต่อมาได้ริเริ่มโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชนบ้านเขาน้อย
เป้าหมายของชุมชน คือ การสร้างเยาวชนให้เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนและชุมชนจนเกิดความหวงแหนบ้านเกิดของตนเอง ส่วนเป้าหมายของโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฯ คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของชุมชน การอพยพย้ายถิ่นเพื่อตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษ วิถีชีวิตในการดำรงชีพ สถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และตำนานเล่าขานบ้านเขาน้อย
กระบวนการเรียนรู้จากการทำโครงการ ทั้งจากการสืบค้นข้อมูลในเอกสาร หนังสือ และอินเทอร์เน็ต การลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในชุมชน การบริหารจัดการเวลาทั้งการเรียน งานบ้าน และงานในโครงการ การฝึกฝนการทำงานเป็นทีม การได้ร่วมเรียนรู้กับเพื่อนเยาวชนจากพื้นที่อื่น และการเรียนรู้จากปัญหาอุปสรรคผ่านการลงมือทำ ทำให้เยาวชนได้เปิดหูเปิดตาและพัฒนาตัวเอง
“เมื่อเข้าสู่โครงการนี้ เราสร้างกระบวนการทำงานให้กับเด็ก เราได้สอนวิธีคิดให้กับเด็ก ทำให้เด็กเกิดความรักและหวงแหนโครงการที่เขาคิดขึ้นมา เพราะว่าทุกกิจกรรมในสามโครงการที่เขาน้อยได้ทำในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นความคิดที่มาจากเด็กๆ ทั้งสิ้น ผู้ใหญ่แค่นำเสนอไปบางส่วนเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ ทำให้เด็กเขารักในสิ่งที่เขาทำ”
หากเทียบกับประสบการณ์ครั้งแรกที่กลุ่มแกนนำเยาวชนได้ทำความรู้จักกับคณะทำงาน Satun Active Citizen ครูสอและ บอกว่า เด็กๆ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
“ตอนนั้นล้อมวงประมาณ 7 – 8 คน ที่เป็นแกนนำ มีผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 3 คน มาด้วยกัน พอโยนคำถามไป น้องมีความคิดอย่างไรบ้าง น้องๆ แอบไปอยู่หลังเสา ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในเบื้องต้น ผม ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่าม ต้องเค้นน้องๆ ให้พูดออกมาว่ามีความคิดเห็นอย่างไร พร้อมที่จะทำหรือไม่ ใช้เวลาเป็นครึ่งชั่วโมงกว่าจะมีคำพูดแรกออกมาจากน้องๆ”
“เราได้เห็นว่าการที่เราไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กทำงานตั้งแต่ต้น เมื่อถึงบทที่จะทำงานจริงๆ แล้ว เด็กไม่กล้าแสดงออก เห็นชัดเจนเลย แม้ว่าเป็นการสนทนาที่ไม่มีพิธีการใดๆ ทั้งสิ้น เด็กก็ยังไม่กล้า ถ้าเป็นพิธีการเราคิดว่าน่าจะหนักไปกว่านี้อีก แต่หลังจากที่ทำโครงการมา เด็กตอบรับกับโครงการ เข้ารับการพัฒนา วิถีการเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ดีขึ้น มีความรับผิดชอบขึ้น แล้วก็มีคำพูดกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น พอมาโปรเจกต์ปีที่สอง แทบไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชไม่ต้องไปช่วยคิดอะไร เขาสามารถวิเคราะห์ขึ้นมาเองได้ ต่อไปจะต้องทำอะไร นั่นคือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน”
คำถามคือ…การเรียนรู้ รื้อฟื้นเรื่องราวในอดีต ช่วยให้เกิดการพัฒนาได้อย่างไร?
สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเขาน้อย ทำให้รู้ว่าการพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นจากการโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ามาเท่านั้น แต่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นตลอดระยะเวลาที่กลุ่มแกนนำเยาวชนแต่ละรุ่นแต่ละมือทำโครงการมาตั้งแต่ต้น ความสัมพันธ์และการค้นพบความจริงในความสัมพันธ์ระหว่างทำโครงการ ทำให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปได้ และเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน
“ชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนอยู่กันแบบครอบครัวเดียวกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเป็นครอบครัวเดียวกันเพิ่งมาเฉลยในปีที่ผ่านมาจากโปรเจกต์ของเยาวชน หลังไปสำรวจเรื่องการสืบสานวงศ์ตระกูลของคนในพื้นที่ พบว่า ผู้ใหญ่บ้านคนที่สามของเขาน้อยเป็นต้นตระกูลคนเขาน้อย เขามีลูกทั้งหมด 6 คน แล้วก็แยกไปมีครอบครัว กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณใกล้เคียง กลุ่มแกนนำเยาวชนที่ทำงานในปีที่ผ่านมา พบว่า 80% ของคนในชุมชน เป็นลูกหลานของผู้ใหญ่บ้านคนที่สามของเขาน้อย ผู้ใหญ่ทอง สาดี หมายความว่าคนในชุมชนเป็นครอบครัวเดียวกันจริงๆ”
“โปรเจกต์ที่สองเกิดขึ้นมาบนคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมรู้จักกันดีขึ้น เพราะแม้กระทั่งพี่น้องใกล้ชิดกันก็ยังไม่รู้ว่าเป็นพี่น้องที่มาจากต้นตระกูลเดียวกัน จากต้นตระกูลหกคน นามสกุลก็ไปคนละทิศละทาง ดังนั้นถ้าเด็กอยากรู้เรื่องประวัติชุมชน ตัวเราเองก็ยังรู้ตรงนี้ไม่ลึก เด็กต้องไปหาข้อมูลจากผู้สูงอายุเอง มีปราชญ์ที่เป็นแกนนำในพื้นที่อยู่สองสามคน อาทิตย์นี้ได้มาสักสองเรื่อง อาทิตย์หน้าตั้งข้อสงสัยอีกก็ไปถามต่ออีก เจาะลึกขึ้นมาเรื่อย ๆ ครู คณะกรรมการหมู่บ้านกับคณะกรรมการมัสยิดเป็นสื่อกลางในการเชื่อมระหว่างกัน”
“ในพื้นที่เด็กเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ หลังจากทำงานกับผู้สูงอายุมาในโปรเจกต์แรกเรื่องสุขภาพ ตอนนั้นเด็กๆ ฉุกคิดจากการที่ไปนั่งเผชิญหน้ากัน แล้วไม่รู้จักกันเลยทั้งที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน สิ่งที่เห็นชัดเจนจากโปรเจกต์แรกคือ เราได้น้ำตาจากผู้สูงอายุ เพราะเขาไม่รู้ว่านี่คือลูกคือหลานของเขาเอง เด็กไม่เคยเข้าหาผู้สูงอายุ อยู่คนละส่วนกัน หลังจากนั้นก็มานำเสนอแล้วมานั่งคุยกันว่าเหมาะสมแล้วที่จะทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ เน้นไปที่เรื่องวงศ์ตระกูลของคนในพื้นที่”
พลังคนต่างวัยถักทอชุมชนให้เข้มแข็ง
การพัฒนาจุดชมวิวเขาน้อย รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีธรรมชาติและวิถีชุมชนของคนบ้านเขาน้อย เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือของคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย ที่บอกว่าทุกเพศทุกวัยนั้นไม่ใช่คำกล่าวลอยๆ แต่เป็นแบบนั้นจริงๆ ที่บ้านเขาน้อย
“ตลาดเขาน้อยเป็นตลาดเช้า เปิดตั้งแต่หกโมงเช้าถึงเก้าโมง เปิดมาได้สองปีแล้ว นักท่องเที่ยวหรือคนที่ลงมาจากเขามักแวะทานอาหารกันตรงนั้น มีผักผลไม้พื้นบ้านจากพี่น้องในชุมชน ทุกวันพุธมีตลาดเย็น พอคนในชุมชนมาทำกิจกรรมด้วยกัน เราก็เริ่มสร้างธุรกิจของชุมชนขึ้นมา จัดให้มีตลาดช่วยพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ นำโปรเจกต์ของกลุ่มเยาวชนเข้าไปใช้ กำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ คนมาจากที่ไหนก็ตามเมื่อมาช็อปที่ตลาดนี้ จะไม่มีคนสูบบุหรี่ เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดบุหรี่จริงๆ”
ภาพความระเบียบและความสงบสุขของชุมชนเขาน้อยในวันนี้ ได้ถูกหล่อหลอมขึ้นผ่านบทเรียนในอดีตตลอดช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปก่อนหน้าปี 2552 ครูสอและ กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ชุมชนเปราะบาง จุดด้อยของพื้นที่ คือ ผู้นำศาสนา ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น ไม่หันหน้าเข้าหากัน ไม่มีการปรึกษาหารือในการทำงานเพื่อชุมชน เพราะมีแนวทางการทำงานไปกันคนละทิศคนละทาง แต่ความสามัคคีทำให้ปัจจุบันระบบกลไกชุมชนกลับมาทำงานได้อย่างเข้มแข็ง
“ยุคนั้นเลือกตั้งบ่อย ผู้ใหญ่บ้านวาระแค่ห้าปีต้องเลือกใหม่ ท้องถิ่นสี่ปีเลือกตั้งใหม่ เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งฝ่าย แต่องค์กรศาสนาเป็นองค์กรที่มั่นคง สององค์กรนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เลยไม่สามารถหลอมรวมคนในพื้นที่ให้มาอยู่ในจุดเดียวกันได้ แต่หลังจากได้ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันมา เขาเข้าหาผู้นำศาสนา มานั่งพูดคุยกัน มานั่งแก้ปัญหาร่วมกัน กลายเป็นโมเดลการทำงานร่วมกันของชุมชนในท้ายที่สุด”
“การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ทั้งฝ่ายปกครองกับฝ่ายศาสนามาคุยกัน สนับสนุนบุคคลที่เข้าไปอยู่ตรงนั้น หากใครไม่ตามมติของผู้นำท้องที่กับผู้นำศาสนา ถึงลงเลือกตั้งไปโอกาสที่ได้ตำแหน่งมีน้อย พอเราได้ทั้งสามส่วนของผู้นำมาเป็นองค์รวม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหากันทั้งหมด จึงทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งขึ้นมา ในช่วง 2552 – 2557 เป็นช่วงที่สังคมบ้านเขาน้อยกำลังปรับเปลี่ยน แล้วกลับมาเป็นสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”
ปัจจุบันกลไกชุมชนบ้านเขาน้อยได้รับมอบหมายให้ต่อยอดโมเดลการพัฒนาชุมชนไปยังพื้นที่ข้างเคียง มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุน เสริมจุดแข็งของชุมชน เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สาขาผังเมือง ได้เข้ามาวางแปลนพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เรื่องถนนสุขภาพเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ชุมชน และจับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมการปลูกผักคอนโดเพื่อสุขภาพในพื้นที่ด้วย เป็นการสานต่อโครงการของกลุ่มเยาวชนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ครูสอและ กล่าวว่า หัวใจของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมถึงการพัฒนาชุมชน คือ ความเสมอภาค ทุกคนต้องได้รับสิทธิเสมอภาคเหมือนกัน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดได้แสดงความคิดเห็น เมื่อทุกคนมีพื้นที่ในการสื่อสาร การประสานงานเพื่อทำงานร่วมกันจะเป็นไปได้ง่ายและมีทิศทาง
“ปัจจัยที่ชัดเจนเลยก็คือผู้นำในท้องที่ ทั้งสามส่วน ทั้งศาสนา ทั้งท้องที่ แล้วก็ท้องถิ่น หากเด็กทำไปแล้วทั้งสามส่วนไม่เป็นตัวหนุนเสริม ไม่ให้โอกาสก็ลำบาก เด็กจะเดินไปไม่ได้ ปัจจัยที่สอง พี่เลี้ยงต้องเอาใจใส่ต้องเป็นกันเอง อยู่เสมือนพี่กับน้อง แม่กับลูก ทำงานร่วมกันได้ สามารถสื่อสารกันเข้าใจระหว่างพี่เลี้ยงกับเด็ก พี่เลี้ยงต้องเป็นที่ไว้วางใจของเด็ก เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวของพี่เลี้ยง
สำหรับครูลูกตัวเองอยู่กับครูอย่างไร ลูกของคนอื่นก็อยู่กับครูแบบนั้น นั่นคือจุดที่เด็กให้ความไว้วางใจ อยู่กับเราแล้วเขาปลอดภัย เขามีความสุข ลูกเขาก็เหมือนลูกเรา เด็กทุกคนสามารถเข้ามาพูดคุยได้ตลอด ไม่ต้องกลัวการเข้าหาเรา”
“ปัจจัยที่สาม การบริหารจัดการเงิน เราเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการของเขา เด็กทำบัญชีเอง เด็กต้องรู้ว่ามีงบประมาณอยู่เท่านี้ ระยะเวลางานเหลืออีกสองเดือนต้องทำอย่างไร ต้องวางแผนแล้ว มิฉะนั้นปัจจัยของเราอาจไม่สอดคล้องกัน แล้วพอหลายส่วนมาหนุนเสริม มันช่วยให้การขับเคลื่อนกิจกรรมของเราไปได้เร็วขึ้น”
เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง หลังจากมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเด็กเยาวชนและชุมชนอย่างหลากหลายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ครูสอและ กล่าวทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า
“ครูได้พัฒนาตัวเองไปเยอะ หลายเรื่องราวเราไม่รู้ แต่พอมาทำโครงการเราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น เช่น เรื่องการอยู่กับเด็ก ทักษะชีวิตในการเข้าใจเด็ก เรามีวุฒิภาวะมากขึ้น มีภาวะผู้นำมากขึ้นจากการรับบทบาทตรงนี้
หากเรายังใช้ชีวิตเดิมๆ ของเรา ไม่พัฒนาไม่ได้เรียนรู้จากตรงนี้ แม้กระทั่งการพูดกับเด็กก็ถือเป็นปัญหาสำคัญแล้ว เมื่อก่อนบางทีเราอาจพูดไม่เข้าหูเด็กบ้าง เราก็เข้าใจว่าเยาวชนวัยรุ่นเป็นช่วงที่อ่อนไหว แต่พอเราได้พัฒนาตัวเอง เราสามารถเลือกใช้คำพูดวาจาต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมโครงการ นี่ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นใจ
อย่างที่บอก สิ่งสำคัญคือเรื่องของความไว้วางใจ ต้องเอาความซื่อสัตย์และความเสียสละของเราเข้ามาส่วนหนึ่งในการทำงานตรงนี้”