- การดูแลเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ครอบครัวหรือผู้ดูแลหลักในบ้านเท่านั้น ชุมชน-สังคมต้องมีส่วนร่วมในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ถือว่ามีบทบาทสำคัญ
- ในเวทีเสวนา ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้ สร้างสุขภาวะองค์รวม 3H กรณี: ศูนย์เด็กเล่นสร้างโลก’ โดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฉายภาพให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’ ที่มากกว่าการเตรียมเด็กให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก่อนวัยอนุบาล แต่เป็นการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ผ่าน ‘การเล่นอิสระ’ (Free Play)
- การได้เล่นอย่างอิสระ (Free play/Unstructured play) นี้ ส่งผลให้เด็กมีความสามารถในการกำกับควบคุมตัวเอง (Self-rugulation)
งานหลักของเด็กคือ ‘งานเล่น’ การพัฒนาเด็กจึงต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตจาก ‘เรียนปนเล่น’ เป็น ‘เล่นปนเรียน’ และการเล่นนั้นควรจะเน้น ‘การเล่นอิสระ’ (Free Play) ที่ไม่เพียงช่วยกระตุ้นให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำงานร่วมกัน ยังส่งผลให้เกิดสมรรถนะการจัดการตนเอง (Self-management) ซึ่งเป็นรากที่มั่นคงในการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง
นี่คือใจความสำคัญส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนา ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้ สร้างสุขภาวะองค์รวม 3H กรณี: ศูนย์เด็กเล่นสร้างโลก’ โดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่จะฉายภาพให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของ ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’ ที่มากกว่าการเตรียมเด็กให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก่อนเข้าสู่การเรียนในระดับอนุบาล
แหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ส่งเสริมเด็กเล่นไปให้ถึงสมรรถนะการจัดการตนเอง (Self-management)
จากข้อมูลของศูนย์นโยบายเด็กและครอบครัว (kid for kids) ชี้ให้เห็นว่า เด็กประมาณ 60-70% อยู่ในครอบครัวที่มีความเปราะบาง ฐานะยากจน เด็กประมาณเกือบ 30% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ โดยได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่น ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้ ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ล่าช้าทั้งการใช้ภาษาและการเข้าใจภาษา
ดร.ประพาฬรัตน์ คชเสนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4 ) ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงบทบาทของ สสส. ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะการจัดการตนเอง (Self-management) ว่าเด็กและเยาวชนคือช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิต หากสามารถทำช่วงวัยนี้ให้ดี เด็กจะมีสุขภาพดีไปตลอดชีวิตได้ (Best start for lifelong health)
“สสส.ใช้แนวคิดสำคัญในการพัฒนาเด็กเรียกว่า ‘ระบบนิเวศการเติบโตตลอดช่วงวัยของเด็ก’ มองเด็กตั้งแต่ปฏิสนธิ และใช้กรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พูดถึง Nurturing Care Framework หลักการดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ ที่ไม่ได้มองเพียงเรื่องสุขภาพแต่มีมิติอื่นๆ ร่วมด้วย รวมถึงการดูแลเด็กไม่ใช่แค่ครอบครัวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน รพ.สต. เป็นต้น”
![](https://thepotential.org/wp-content/uploads/2025/01/ใส่โลโก้-PO-2.png)
นอกจากนี้ ดร.ประพาฬรัตน์ ยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายภายนอกที่เข้ามา กระทบการเลี้ยงดูให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ
“ความท้าทายส่วนหนึ่งของประเทศไทยก็คือ ช่วงวัยเด็กมีหน่วยงานที่ให้ความสนใจค่อนข้างเยอะ หลายหน่วยงานมีบทบาทมาก ทำยังไงจึงจะเกิดการบูรณาการการทำงานในเรื่องนี้ด้วยกันเพื่อเพิ่มพลังให้มากขึ้น ก็โยงมาที่ว่าแล้ว สสส. ดำเนินงานอย่างไร ที่จะช่วยเสริมหนุนในเรื่องนี้
อันแรกก็คือว่าเราไม่ได้มองว่า เด็กเกิดแล้วก็เติบโตด้วยตนเอง เด็กไม่ใช่กลุ่มประชากรที่เกิดแล้วก็โตเองได้ เขาจะต้องอยู่ในความดูแลของครอบครัว ของผู้ใหญ่ ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพราะฉะนั้นแนวคิดที่เราใช้คือแนวคิดที่ว่า ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ มองว่าเด็กเป็นลูกหลานของชุมชน การดูแลเด็กไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นความร่วมมือของทุกส่วนในชุมชน อันนี้ก็จะนำไปสู่ความร่วมมือแล้วก็ความยั่งยืนต่อในอนาคตด้วย
อันที่สองเราส่งเสริมเรื่องของ ‘การเล่นอิสระ’ (Free Play) ให้กับเด็ก ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ และทำยังไงที่จะให้แหล่งเรียนรู้เหล่านี้อยู่ใกล้บ้านเด็ก เด็กเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที”
การได้เล่นอย่างอิสระ (Free play/Unstructured play) นี้ ส่งผลให้เด็กมีความสามารถในการกำกับควบคุมตัวเอง (Self-rugulation) โดยข้อมูลจากงานวิจัยระยะยาว (Longitudinal Study) จากออสเตรเลียพบว่าเด็กวัย 2-3 ปี และ 4-5 ปีที่พ่อแม่ให้เล่นอิสระ (Free play/Unstructured play) 1-5 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลต่อพัฒนาการด้านกำกับควบคุมตัวเอง (Self-Regulation) ในอีกสองปีให้หลัง
“อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการทำ play worker ก็คือการเป็นผู้ที่จะช่วยเสริมหนุนการเล่นให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คุณครู คนในชุมชน หรือปู่ย่าตายาย ก็สามารถทำได้ และอีกส่วนหนึ่งที่เราทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็คือการทำโปรแกรมที่เรียกว่า 366 Q-KIDS โปรแกรมเสริมศักยภาพครูและบุคลากรเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย จะมีทั้งรูปแบบของการใช้ 3 ตัวช่วย (เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ทีมวิชาการพี่เลี้ยง และชุดความรู้พร้อมใช้ ผ่านการดำเนินกิจกรรม 6 รูปแบบ ในระยะเวลา 6 เดือน โดยใช้รูปแบบผสมผสานทั้งการเรียนรู้แบบออนไซต์และออนไลน์) ส่วนนี้เองก็จะเป็นการกระจายโอกาสในการเรียนรู้ให้กับคุณครูและบุคลากรของศูนย์เด็กเล็กด้วย แล้วก็จะมีการทำเป็นศูนย์ต้นแบบให้ฝังตัวอยู่ในพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอื่นๆ”
จากการทำงานการขับเคลื่อนที่ผ่านมา ดร.ประพาฬรัตน์ แชร์ข้อค้นพบที่สำคัญเพื่อประโยชน์ในการทำงานต่อไปในอนาคต อันดับแรกก็คือ ครูมีบทบาทสำคัญมากต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก และอันที่สองคือความท้าทายในการออกแบบกิจกรรม
“ถ้ายิ่งกิจกรรมมีความท้าทายก็จะช่วยพัฒนา EF ได้มาก ต่อมาเป็นการออกแบบขั้นตอนการเรียนรู้ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ สามารถสร้างให้เด็กปฐมวัยเข้าใจ สื่อสาร และส่งต่อ Message สู่ครอบครัว ในการดูแลเอาใจใส่เด็ก เป็นการเชื่อมกิจกรรมไปยังที่บ้าน ต่อมาการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจให้เด็กๆ ได้เรียนรู้แบบ active learning ก็จะช่วยได้ และอีกส่วนทำยังไงให้เด็กเห็นผลเชิงประจักษ์ เขาก็จะเกิดการเรียนรู้และพยายามที่จะพัฒนาตัวเองไปถึงเป้าหมายที่เขาอยากจะให้ไป”
Heart-Hands-Head แกนหลักของการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบองค์รวม
เพราะการดูแลเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ครอบครัวหรือผู้ดูแลหลักในบ้านเท่านั้น ชุมชน-สังคมต้องมีส่วนร่วมในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งกระจายตัวอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ถือว่ามีบทบาทสำคัญ
โดยเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถึง 5 ปี เป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาด้านต่างๆ และเป็นฐานสำคัญในสร้างการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ในระดับเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ
อาจารย์สืบศักดิ์ น้อยดัด สำนักการศึกษาแบบองค์รวม สถาบันอาศรมศิลป์ ได้กล่าวถึงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในงานเสวนานี้ว่า
“สพฐ. กระทรวงศึกษาฯ เองก็เริ่มที่จะประกาศเป็นนโยบายบอกว่าเรื่องปฐมวัยให้จัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นพัฒนาการสมวัย ผมเองได้มีโอกาสในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในเรื่องของการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่เราพยายามสร้างคอนเซปต์ให้เห็นถึงระบบนิเวศการเรียนรู้แบบใหม่ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยึดแนวคิดนวัตกรรมที่เป็น Holistic Learning หรือว่า Holistic Education ที่เป็น 3H (Heart-Hands-Head) จิตใจ พฤติกรรม สติปัญญา
ผมมองว่าระบบนิเวศการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ ที่เห็นว่าคุณครูพี่เลี้ยงเด็กต้องมีสมรรถนะก่อนที่จะไปจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กของเขาเอง
แล้วเราก็พยายามจะคุยกับทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กว่า เราจะเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ต้องรับผิดชอบชีวิตเด็ก เราจะไม่ใช่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่แค่เลี้ยงเด็กไปเหมือนวิถีเดิมๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเป็นที่พึ่งให้กับในพื้นที่ตรงนั้น ก็เลยพยายามจะทำเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่ให้ครูผู้ดูแลเด็ก”
![](https://thepotential.org/wp-content/uploads/2025/01/ใส่โลโก้-PO-5.png)
คอนเซปต์การสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กนั้น อาจารย์สืบศักดิ์เน้นว่า งานหลักของเด็กคือ ‘งานเล่น’ ไม่ใช่เรียนหนังสือ แต่การเล่นที่ว่านั้นต้องควบคู่กับฐานวิชาการที่ควรจะได้ติดตัวไปด้วย เพื่อที่จะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้ ‘ฉลาดรู้’ ผ่านการกระทำทั้งกาย วาจา ใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนามนุษย์ โดยใช้กิจวัตรประจำวัน 5 งาน ได้แก่ งานบ้าน งานครัว งานสวน งานเล่น และงานคิด อ่าน เขียน มาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
“เรื่องเล่นจึงเป็นเรื่องที่จริงจังสำหรับเด็ก และเราก็ต้องแปรรูปการเล่นทั้งหลาย เราเป็นสังคมที่กำลังคาดหวังว่าทุกคนต้องได้ EF ก็เลยเป็นช่องทางหนึ่งที่เราคิดว่าการเล่นทั้งหลายมันจะส่งเสริมต่อให้เด็กมี EF ที่ดีได้ ซึ่ง EF ที่ดีพื้นฐานแรกก็คือเด็กต้องเล่น หรือว่าต้องปฏิบัติเพื่อเจอสถานการณ์ที่เป็นโจทย์จริง อันนั้นคือ EF ทำงานทันที ส่งต่อไปถึงการปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ตตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน หน่วยงาน องค์กร เปลี่ยนจากการ ‘เรียนปนเล่น’ ให้เป็นให้เป็น ‘เล่นปนเรียน’ แล้วก็ปรับมุมมองใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดการเล่นในทุกพื้นที่
เราจึงหวังว่าพื้นที่เล่นต้องดีทั้งข้างในและข้างนอก เป็น Learning space แล้วก็จัดกระทำด้วย 5 งาน คือ งานบ้าน งานครัว งานสวน งานเล่น และงานคิด อ่าน เขียน ส่วน 5 งานนี้เราได้ถอดวิธีการ หลักการ แนวคิดเลี้ยงลูกของสมเด็จย่ามาใช้ อันนี้เป็นหลักทฤษฎีที่เราสามารถนำมาอ้างอิงแล้วเชื่อถือได้ โดยผ่านงานเล่น แล้วผลสุดท้าย EF ก็เกิด ไปบรรลุผลเป็นสมรรถนะเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีที่เป็นของสากล Well Being”
ข้อควรระวังในการพัฒนาเด็กปฐมวัย
“เด็กแต่ละคนมี culture ที่แตกต่าง เด็กเล็กเป็นวัยแห่งการเล่นอิสระ เพราะฉะนั้นเด็กต้องมีการออกแบบการเรียนรู้ของตัวเอง” หมอโอ๋ – ผศ.พญ. จิราภรณ์ อุรณากูร คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และเจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน แลกเปลี่ยนมุมมองในฐานะนักวิชาการด้านปฐมวัย
“คำแนะนำเล็กๆ ที่อยากจะเติมเต็ม คืออยากแนะนำว่าเวลาเรากำหนดเรื่อง Outcome (ผลลัพธ์) อยากให้มีความระวัง หลีกเลี่ยงการกำหนด Outcome ออกมาเป็นคุณลักษณะที่เป็นผลลัพธ์ เช่น ฉลาด มนุษย์ที่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องตระหนัก
มนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่มีจริงนะคะ มันทำให้ดูเป็นความคาดหวังที่สูงไปว่าเราจะทำให้เด็กคนหนึ่งเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่เอาจริงๆ เราทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบ เราทุกคนต่างมีจุดพร่อง การที่เขาเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ดูแลตัวเองได้อาจจะเป็นเป้าหมายสำคัญ
บางทีพอไปกำหนดว่าเด็กต้องฉลาด ‘เก่ง ดี มีความสุข’ คำเหล่านี้อาจจะต้องตีความดีๆ ว่าเอ๊ะ! มันมีความจำเป็นจริงๆ ไหม เด็กฉลาดอาจจะไม่ได้ดีเท่ากับเด็กรักการเรียนรู้ เด็กรักการเรียนรู้ไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องฉลาด คำว่าฉลาดมันแปลได้หลายความหมายมาก คำว่าฉลาดคือเรียนเก่งเหรอ หรือฉลาดคืออะไร ปัจจุบันเราเชื่อเรื่องทฤษฎี character-based ก็คือการให้คุณค่ากับการมีคุณลักษณะสำคัญ คุณลักษณะอาจจะเป็นเรื่องทักษะ ไม่ใช่เรื่องของ Outcome เช่น รักการเรียนรู้ เป็นทักษะนะคะ”
![](https://thepotential.org/wp-content/uploads/2025/01/ใส่โลโก้-PO.png)
นอกจากนี้ หมอโอ๋ยังแสดงความกังวลถึงเครือข่ายชุมชนของผู้ปกครอง (Line Group) ที่คอยสื่อสารกันว่าตอนนี้เด็กๆ มีพัฒนาการไปขึ้นขั้นไหนบ้าง
“จริงๆ ก็แอบกังวลกับเรื่องกรุ๊ปไลน์ เพราะว่ากรุ๊ปไลน์มันมีทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยเฉพาะกับกรุ๊ปไลน์ที่ต้องส่งภาพเด็กไปอวดกันว่าเขาทำอะไรได้ ซึ่งส่วนนึงมันดีนะคะ ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าดีจังเลยมีชุมชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อีกแง่นึงเนี่ยคือพ่อแม่ยุคใหม่อยู่กับการ competitive (การแข่งขัน) มากอยู่แล้ว ผ่านโลกโซเชียลว่าลูกคนนั้นทำอันนั้นได้ ลูกเรายังทำไม่ได้ อยากฝากไว้ว่าทำยังไงให้พื้นที่กรุ๊ปไลน์มันดีต่อพ่อแม่ เพราะว่าหลายทีการที่เราส่งภาพเด็ก วีดีโอเด็กลงไปในกรุ๊ปไลน์ พอลูกเรายังทำไม่ได้หรือลูกเราก็ทำได้แต่ลูกคนอื่นทำได้เก่งกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีกับพ่อแม่เท่าไหร่ ทำยังไงที่เราจะสร้างนิเวศการเรียนรู้แบบที่เราไม่ต้องแข่งกัน ไม่ต้องรู้สึกเปรียบเทียบกันกับตัวเด็กๆ แล้วเวลาที่ส่งอะไรแบบนี้ลงกรุ๊ปไลน์มันอดไม่ได้จริงๆ ค่ะ ที่มันจะมีการเปรียบเทียบ และทำให้รู้สึกว่าลูกเรายังดีไม่พอ ทั้งที่จริงๆ ลูกเราอาจจะดีมากแล้ว”
“นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องการสร้างมายด์เซ็ต การชมเด็กเก่ง เช่น ‘ปอกไข่ไม่มีรอยแตกเลยลูก’ อาจจะให้ระวังนิดนึง หมออยากให้เขาเรียนรู้คำว่า ‘เก่ง’ ผ่านคาแรกเตอร์ หนูมีความพยายามมากเลย หนูมีความตั้งใจมากเลย หนูมีสมาธิในการปอกไข่มากเลย สิ่งเหล่านี้อาจจะมีความหมายกับเด็กมากกว่าคำว่าเก่งหรือหนูปอกไข่ไม่มีรอยแตกเลย จริงๆ อันนั้นก็เป็นเรื่องของ Outcome ซึ่งทำให้หลายครั้งเด็กอาจตั้งคำถามว่า ฉันเก่งพอหรือยัง ทำไมไข่ของฉันมีรอย แปลว่าฉันไม่เก่งหรือเปล่า”
ข้อควรระวังอีกเรื่องคือ ตารางการเรียนรู้ของเด็กที่ดูเป็นแพทเทิร์นกำหนดเวลาและกิจกรรมไว้ ในอีกแง่มุมหนึ่ง หมอโอ๋มองว่า อาจจะไม่ได้ดีสำหรับเด็กนัก
“เด็กแต่ละคนมี culture ที่แตกต่าง เด็กเล็กเป็นวัยแห่งการเล่นอิสระ เพราะฉะนั้นเด็กต้องมีการออกแบบการเรียนรู้ของตัวเอง เขาอาจจะไม่ต้องกินนมพร้อมกัน เพราะเราอาจจะมีความหิว อิ่ม ไม่เหมือนกัน แต่ว่าเขาอาจจะถูก Assign (กำหนด/มอบหมาย) คร่าวๆ ว่าวันนี้เขาควรจะต้องกินนม เขาออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองได้ว่า เขาจะกินนมตอนไหน จะหิวเมื่อไหร่ การเล่น Free play จึงไม่ค่อยเห็นในกิจกรรมของเด็กที่ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กออกแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นการทำกิจวัตรตามเวลามากกว่า ซึ่งเอาจริงๆ เป็นการลิมิตศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กพอสมควร
ทำยังไง Free Play เป็นการเรียนรู้หลัก ไม่ใช่การทำกิจวัตรประจำวันตามเวลาเท่านั้น เพราะจริงๆ เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่นมากๆ นะคะ”
นอกจากนี้ในเรื่องการดูแลสุภาพใจเด็กก็สำคัญไม่แพ้กัน หมอโอ๋เสนอว่า ควรเน้นให้เด็กเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง ‘โกรธ เศร้า เหงา กลัว’ มากกว่าการเน้นให้นั่งหลับตาทำสมาธิ
“เรื่องของการนั่งสมาธิ สวดมนต์ เป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะดีในแง่มุมของผู้ใหญ่ ก็คือเด็กได้นั่งสมาธิ หลับตา แต่ว่าสำหรับเด็กเล็กเขาไม่ได้เรียนรู้การดูแลสุขภาพใจของตัวเองผ่านกิจกรรมที่เขายังไม่เข้าใจความหมายแบบที่ผู้ใหญ่เข้าใจ อย่างการนั่งสมาธิ เพราะฉะนั้นการเอาเด็กไปนั่งหลับตา หายใจเข้าออก เอาจริงๆ หลายทีไปส่งผลต่อจิตใต้สำนึกว่าการนั่งสมาธิน่าเบื่อ เพราะเขายังไม่เข้าใจ
เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพใจของเด็กเล็ก เป็นการเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง เช่นเราอาจจะชวนเขาดูว่าวันนี้เขารู้สึกยังไงบ้างผ่านรูปภาพใบหน้าทำให้เขาเข้าใจว่า อ๋อ…อารมณ์โกรธเป็นธรรมชาติของมนุษย์ อารมณ์ดีใจ อารมณ์กลัวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทำยังไงที่เราจะรู้จักอารมณ์เหล่านี้แล้วเรียกชื่อมันถูก ภาวะอะไรได้บ้างที่เราจะเกิดอารมณ์เหล่านี้ เราจัดการตัวเองยังไง อะไรแบบนี้อาจจะมีความหมายกับเด็กๆ มากกว่าการนั่งหลับตาแบบที่เด็กไม่เข้าใจ ซึ่งเราอาจจะทำความเข้าใจกับเขาได้
แต่หมออยากให้เราทำด้วยความเข้าใจว่าเด็กเข้าใจจริงๆ และทำด้วยความเข้าใจว่าเด็กมีข้อจำกัด Attention Span หรือช่วงเวลาในการโฟกัสของเด็กเล็กน้อยมาก คิดง่ายๆ คือ อายุคูณสองถึงสามนาที แปลว่าเด็กเล็ก 2-3 ขวบ เขาจะอยู่ได้ประมาณ 5-6 นาที ไม่เกิน 10 นาที เพราะฉะนั้นกิจกรรมเหล่านี้ต้องไม่นานแบบที่ผู้ใหญ่ทำ”