ปีหน้า โจ้-วชิรา รุธิรกนก ก็จะอยู่เชียงใหม่ครบ 13 ปี มีอาชีพเลี้ยงตัวคือดีไซน์เซอร์วิสชื่อ Rabbithood เริ่มจากการออกแบบโปสเตอร์งานปาร์ตี้แบบมีความรู้เรื่องงานออกแบบในระดับที่ ‘ต่ำต้อย’ แต่ก็ค่อยๆ สะสมความรู้ ประสบการณ์และทำการบ้านอย่างสุดๆ ทุกครั้ง จนถึงวันที่ลูกค้าเป็นฝ่ายเดินเข้ามาและบอกสั้นๆ ว่าชอบงาน โจ้เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ฝึกได้ และต้องฝึก แต่มันอาจจะต้องมีความกล้าหาญบางอย่างฝังอยู่ ที่จะเดินอยู่บนเส้นทางความคิดสร้างสรรค์ได้
“เราเลือกสภาพแวดล้อมก่อน แล้วค่อยเลือกอาชีพ” เป็นคำตอบชัดเจนว่าทำไม ‘โจ้’ วชิรา รุธิรกนก ถึงอยู่และทำงานที่เชียงใหม่มา 12 ปีเต็มแล้ว
“เป็นชีวิตที่แฮปปี้ทุกวัน วันหยุดได้อยู่บ้าน ปั่นจักรยานขึ้นภูเขา อ่านหนังสือ ดูหนัง หรือเล่นแมวเรื่อยเปื่อย” คือสภาพแวดล้อมที่โจ้เลือกเป็นอันดับแรก
ส่วนการงานในลำดับถัดมา คือ ดีไซน์สตูดิโอภายใต้ชื่อ Rabbithood และเป็นอาชีพของโจ้ในปัจจุบันที่จดทะเบียนในรูปแบบบริษัทเต็มตัว มีระบบเงินเดือน สวัสดิการ ประกันสังคมและอื่นๆ ที่นิติบุคคลพึงมี
หนังสือ โปสเตอร์ โลโก้ และอื่นๆ คืองานหลักที่ Rabbithood ถนัดและรับจ้างออกแบบในฐานะมืออาชีพ
มืออาชีพในความหมายของโจ้คือ เชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ รับผิดชอบ พยายามไม่ปฏิเสธงาน และถ้าเป็นไปได้ธุรกิจของลูกค้าควรจะรุ่งเรือง
จริงอยู่ แทบทุกคนตั้งต้นและสนใจในขุมคลังพลังความคิดสร้างสรรค์ (Creative) ที่เขาและทีมมี แต่สิ่งที่สำคัญกว่า(และลูกค้าไม่เห็น) คือ ทำการบ้านอย่างหนัก แม่นยำในสิ่งที่ทำ ประโยคธรรมดาๆ อย่าง “คุณต้องเข้าใจว่าคุณทำอะไรอยู่” ถูกย้ำตลอดจนจำขึ้นใจ และถ้ายังทำอะไรผิดซ้ำๆ อาจจะเจอโจ้ วชิรา ในภาคบอสผู้เกรี้ยวกราด-สาดมาอย่างนิ่มๆ
“‘มองภายนอกอาจจะดูสวยงาม ไลฟ์สไตล์เก๋ไก๋ แต่เอาจริงๆ สตูดิโอออกแบบมันคือการทำธุรกิจประเภทหนึ่ง เราค่อยๆ เรียนรู้มาเรื่อยๆ ว่าต้องคิดแบบธุรกิจ ดูแลคนทำงานได้ มีสวัสดิการ ประกันสังคม มีเรทเงินเดือนที่โอเค ที่สุดแล้วมันต้องมีกำไร จะในแง่ไหนก็ตาม จะมากจะน้อยก็ต้องมี ไม่งั้นไม่รู้จะทำทำไม…อยู่บ้านดู netflix เฉยๆ ดีกว่า”
“เพราะเราทำดีไซน์เซอร์วิสเราไม่ได้ทำงานศิลปะ” โจ้-วชิราย้ำประโยคนี้ในวันที่ Rabbithood ยังแข็งแรงสุขภาพดีอยู่ที่เชียงใหม่และลูกค้าเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า ชอบงาน
โจ้-วชิรา รุธิรกนก
คุณโจ้ดูแลอะไรบ้างใน Rabbithood
เราดูส่วน Design direction เป็นหลัก ด้วยความสตูดิโอเราเล็ก มีกันแค่ 4-5 คน เวลาลูกค้าติดต่อมา ผมจะดีลงานและรับบรีฟเอง คิดว่าเขาคงอยากคุยกับเรา ก็เลยไม่มีเออีคอยรับบรีฟให้ เสร็จแล้วเอาไปคุยต่อกับทีม แชร์ไอเดียกัน จนได้ทิศทางออกมา จากนั้นทีมกราฟฟิกดีไซเนอร์ก็จะรับช่วงไปพัฒนาต่อ เสร็จแล้วผมจะมาช่วยดูอีกทีระหว่างทาง ก่อนจะปล่อยงานออกไป
Rabbithood เกิดขึ้นได้อย่างไร
มันเริ่มต้นอย่างคลุมเครือ ตอนนั้น (12 ปีที่แล้ว) ลาออกจากงานแมกกาซีนแล้วไปเชียงใหม่ คิดๆ ว่าจะประกอบอาชีพอะไรวะ เริ่มจากการจัดปาร์ตี้ ถ้าตอนนั้นจัดปาร์ตี้แล้วประกอบอาชีพได้ก็คงจัดไปเรื่อยๆ มั้ง แต่มันเป็นอาชีพไม่ได้ไง แล้วตอนที่จัดปาร์ตี้ก็ได้ออกแบบโปสเตอร์เอง แล้วบังเอิญมีคนชอบและสนใจโปสเตอร์เรา เราเลยเริ่มทำแล้วมันก็ได้เงินแฮะ เลยคิดว่า เอ๊ะ หรือเราจะทำสตูดิโอดีไซน์
เราทำแล้วเราก็ชอบ ยิ่งทำก็ยิ่งชอบ งั้นก็ทำจริงๆ จังๆ ไปเลย ต่อมาเริ่มรับงานกับองค์กรรัฐ มูลนิธิต่างๆ เราก็เลยต้องไปจดนิติบุคคล และใช้ชื่อ Rabbithood
ได้วางธีมหรือบุคลิกดีไซน์สตูดิโอไหม
โห (หัวเราะ-นึกนานมาก) เดาว่าไม่ได้วางนะ คิดแบบนั้นมันคงจริงจังไป ใช้วิธีทำงานไปค่อยๆ หาไปจนเจอมากกว่า เราชอบคิดงานจาก content เพราะตอนที่เราเริ่ม เราใหม่มากๆ พาร์ทที่เกี่ยวข้องกับสไตล์ แฟชั่น เราต้อยต่ำมาก ไม่รู้เรื่องอะไรเลย และเราก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ด้วย
พอได้อ่าน ดีไซน์คัลเจอร์ ของพี่ประชา สุวีรานนท์ ถึงได้รู้ว่าดีไซน์มันไม่ได้มีแต่สไตล์อย่างเดียวนี่หว่า มันมีความคิดที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบนั้นๆ เราก็เลยชอบทำงานแบบนี้ สนุกกับการคิด
process ที่สนุกที่สุดคือการคิดนะ ว่าจากโจทย์นี้จะทำอะไรออกมา มันถึงจะโอเคกับลูกค้า และโอเคกับเราด้วย
พอทำไปเรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่านี่แหละเป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้
อะไรที่ทำให้พบว่าตอนที่สนุกที่สุดคือการคิด
เราชอบช่วงเวลาตอนที่คิด มันจะเป็นโมเมนต์ที่เราอยู่กับมันได้นานมากๆ คิดแล้วคิดอีกๆ คิดแล้วทำออกมา ระหว่างที่ทำเสร็จแล้วก็ยังคิดต่อไปอีก หลายอันมากที่ทิ้งไปเลยเพราะเราคิดอันใหม่ได้แล้ว การคิดแล้วทิ้ง เป็นเรื่องที่ปกติมากๆ สำหรับทีมเรา
น้องที่สตูฯ จะรู้กันเลยว่า ถ้าตื่นมาแล้วคิดอันใหม่ได้ มึงเตรียมตัวทำกันใหม่ได้เลย (หัวเราะ) ไม่เคยเสียดายเลย
ทำไมไม่เสียดาย ความคิดใหม่จะดีกว่าเดิมเสมอ?
ถ้าได้อันใหม่ที่ดีกว่า มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปเก็บอันเก่าไว้ บางทีมันก็ไม่ได้ดีกว่านะ บางทีคือสุดแล้ว ก็จบ ไม่รู้จะอธิบายยังไงเหมือนกัน
ถ้าความรู้สึกข้างในมันบอกว่าน่าจะได้มากกว่านี้ ทันทีที่มีความรู้สึกนี้ค้างอยู่ เราจะไม่หยุด เราจะคิดต่อไปอีก หาทางเอามันออกมาให้ได้เท่าที่สติปัญญามี
เป็นอย่างนี้โคตรบ่อย น้องๆ จะรู้ เป็นธรรมเนียมของสตูฯ ไปแล้ว เราคุยกับน้องบ่อยๆ ว่าอย่าเสียดาย เราใช้เวลาไปกับมันก็จริง แต่มันไม่สูญเปล่า
ทันทีที่เราคิดอันใหม่ได้แล้วดีกว่าเก่า เราควรจะแฮปปี้เพราะมันแสดงว่ากระบวนการในการออกแบบมันทำงานในตัวมันเอง เราว่ากระบวนการนี้ทำให้งานออกแบบมันสนุก เพราะมันยังจะไปได้อีก
คิดว่าสิ่งนี้แหละที่ทำให้ยังทำงานออกแบบได้จนถึงทุกวันนี้
การทำงานในวงการหนังสือมาก่อน มีผลบ้างไหม หรือเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว
(อืม) โดยปกติเราไม่ค่อยทำอะไรเพื่ออะไร เช่น ฉันจะอ่านหนังสือเพื่อที่จะคิดเป็นลอจิก แค่อ่านก็เอนจอยกับมันไป เพราะฉะนั้นกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของเรามันเกิดขึ้นโดยความชอบส่วนตัว แม้แต่เวลาทำการบ้านที่ต้องค้นคว้าเอามาทำงานให้ลูกค้าก็ตรงกับความชอบส่วนตัว ก็น่าจะพูดได้ว่าทุกอย่างมันส่งผลถึงเราหมดทั้งวิธีคิดและการทำงาน เราคิดว่ามนุษย์มันไม่ได้ตรงเป็นท่อ การเรียนรู้ข้างในของมนุษย์มันเกิดจากสิ่งต่างๆ มากระทบ แล้วก็ค่อยๆ ประกอบรูปประกอบร่างกันไปเอง
แต่คิดว่าการอ่านมันมีผลต่อการคิดเป็นเหตุเป็นผลแน่ๆ การทำงานบรรณาธิการมาก่อนก็มีผลต่อการคิดเป็นภาพกว้างแน่ๆ
การเห็นภาพกว้างกับการทำงานดีไซน์สตูดิโอมันส่งผลต่อกันมากน้อยแค่ไหน
การเห็นภาพกว้างมีความสำคัญกับทุกเรื่องเลยมั้ง
สมมติเราเดินเข้าซอย ถ้าเห็นแคบ เราก็จะเห็นแค่ในซอย เราก็จะเดินไปเรื่อยๆ เสี่ยงเอาว่าจะเจออะไรบ้าง ข้อดีคือเราจะได้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าเราดูแผนที่ รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เราจะไปที่ไหน ต้องไปทางไหน ทางไหนไม่ต้องไปก็ได้
แล้วการมองเห็นภาพกว้าง มันจะไปโผล่หรือเอาไปใช้ตรงไหนของงาน
โห ไหนบอกไม่ถามยากไง(หัวเราะ) มันเป็นไปอัตโนมัตินะ มันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาเองจากการที่เราทำมันซ้ำๆ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจุดนี้ โอเคแล้ว
เราตอบไม่ได้หรอก มันจะรู้เองในเพดานของเรา ประสบการณ์เท่านี้ ข้อมูล ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีแค่นี้ เราก็ทำให้ดีที่สุดในต้นทุนที่เรามีในเวลานั้นๆ
ชอบทำงานแบบไหนเป็นพิเศษ
ชอบทำงานที่ลูกค้าปล่อยให้เราคิด เอ้อ…ใครๆ ก็ชอบหรือเปล่าวะ (หัวเราะ)
แล้วงานไหนที่ทำแล้วมีความสุข
เอาจริงๆ เรามีความสุขเกือบทุกงานเลยนะ ถ้ามี 10 งาน เราคงมีความสุขไปสัก 9 งานแล้ว อาจจะเพราะลูกค้ามาหาเราไง เลยเป็นจุดที่เป็นข้อได้เปรียบนิดนึงมั้ง พอเขาบอกกันเองปากต่อปาก หรือมีคนเห็นงาน ติดต่อเข้ามา สตูฯ เองก็ไม่มีพอร์ท ก็มีเว็บไซต์ง่อยๆ อันหนึ่งไว้เก็บและอัพเดทงาน เวลาคนติดต่องานมาก็ส่งลิ้งค์เว็บไซต์ไปให้ ช่วยดูงานเราหน่อย ถ้าดูแล้วยังสนใจงานเราอยู่มั้ย ถ้าสนใจก็ไปกันต่อ
คิดว่าเพราะอะไรลูกค้าถึงมาหาเรา
โอ้โห ตอบว่าหน้าตาดีได้หรือเปล่า (หัวเราะ) ไม่ได้เนอะ เพราะอะไรไม่รู้อะ เขาคงเชื่อใจมั้ง อันนี้ตอบแทนเขาไม่ได้จริงๆ อะ
แล้วเวลาถามลูกค้าว่ามาหา Rabbithood สตูดิโอเพราะอะไร มักจะได้คำตอบว่า …
เพราะชอบงาน อยากให้ทำงานให้ แค่นี้เลย เราว่ามันง่ายมากๆ เลยนะ ชอบงานกันก็ทำงานด้วยกัน
อีกอย่าง เพราะเราทำงานมา 10 ปีแล้วไง ตอน 6-7 ปีแรก หนังคนละม้วนเลยนะ
ม้วนไหนคะ
ตกยาก (ตอบทันที) กลัวว่าจะอยู่รอดมั้ย เพราะเราเริ่มทำสตูดิโอจากที่ไม่มีความรู้เรื่องงานออกแบบ ก็เลย concern ว่าความรู้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ถ้าจะประกอบวิชาชีพนี้คุณต้องเข้าใจในงานออกแบบก่อน ระหว่างที่เราหาความรู้ไปด้วยเราก็ต้องหาเลี้ยงชีพไปด้วย ระหว่างนั้นงานมันก็ไม่ได้ดีนัก คนก็ยังไม่ค่อยรู้จัก เขาคงยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะมาจ้างมันดีมั้ย
พอเข้าระบบเงินเดือนแล้ว วิธีเลือกรับงานต่างจากเดิม (ระบบฟรีแลนซ์) ไหม
คิดว่าไม่ต่างนะ เราก็พยายามรับให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะควบคุมคุณภาพได้
สิ่งที่ต่างคือตอนนั้นลูกค้าเข้ามาน้อยกว่าตอนนี้ ยังมีเวลาเหลือทำโน่นทำนี่ได้ แต่พอลูกค้าเข้ามาเยอะขึ้นขณะที่เรายังต้องควบคุมคุณภาพให้ได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นสิ่งที่หายไปคือเวลาส่วนตัวในชีวิตเรา
การเข้าไปรับงาน มันต้องคิดเยอะขึ้นมากๆ ใช่ไหม
ตอนที่เป็นฟรีแลนซ์ เราไม่ต้องรับผิดชอบอะไรนอกจากตัวเอง แค่เลี้ยงตัวเองได้ก็พอ
แต่พอเป็นบริษัท จะมาแบบช่วงนี้กูอยากไปเที่ยว ไม่รับงาน ก็ไม่ได้แล้ว เพราะเรารู้แล้วว่า fix cost ต่อเดือนเท่าไหร่ ก็ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า เป็นหลักประกันว่าน้องๆ ที่อยู่กับเราเขาจะไม่ต้องกังวลเรื่องนี้อีกเลย ตั้งอกตั้งใจทำงานไป เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรายังทำได้สำเร็จตลอดมานะ ไม่เคยมีปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ เลยตั้งแต่วันแรกจดบริษัทและมีพนักงานประจำ
พอมีพนักงาน หมายความว่าเราต้องรับผิดชอบเขาจนกว่าเขาจะออกไป ถ้าเขาอยู่กับเราแล้วเราไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนอันนี้ไม่โอเค เพราะเขาตัดสินใจแล้วว่าจะให้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตกับเรา เพราะฉะนั้นเราต้องรับผิดชอบเขาให้ได้
เราซีเรียสกับเรื่องนี้มาก มันไม่ใช่มาทำงานแบบช่วยๆ กัน ช่วยๆ กันแปลว่าเรากำลังเอาเปรียบเขา เราเรียกร้องความเป็นมืออาชีพจากเขา เราก็ต้องมืออาชีพกลับไป
แต่กว่าจะเอาวะ ทำระบบเงินเดือนได้ มันนานนะ พัฒนาตัวเองมาถึงจุดที่มีงานเข้าสม่ำเสมอ สเกลงานใหญ่ขึ้น มีสัญญาต่อเนื่อง โชคดีที่มีเพื่อนทำโปรเจคท์ใหม่แล้วมาจ้างเราตั้งแต่ต้น ทำให้พอประคับประคองไปได้
การคิดเยอะ คิดทุกอย่าง เป็นคนอย่างนี้มาตั้งแต่ต้นหรือเปล่าคะ
ไม่ (ตอบทันที) ไม่ได้เป็นคนอย่างนี้เลย เป็นคนไปเรื่อยมาก ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่สมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทุกสิ่งที่เข้ามาคือวันหนึ่งมันมาตกอยู่ตรงหน้าแล้วก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำไหม แค่นั้นเลย
มองภายนอกอาจจะดูสวยงาม ไลฟ์สไตล์เก๋ไก๋ แต่เอาจริงๆ สตูดิโอออกแบบมันคือการทำธุรกิจประเภทหนึ่ง เราค่อยๆ เรียนรู้มาเรื่อยๆ ว่าต้องคิดแบบธุรกิจ ดูแลคนทำงานได้ มีสวัสดิการ ประกันสังคม มีเรทเงินเดือนที่โอเค ที่สุดแล้วมันต้องมีกำไร จะในแง่ไหนก็ตาม จะมากจะน้อยก็ต้องมี ไม่งั้นไม่รู้จะทำทำไม อยู่บ้านดู netflix เฉยๆ ดีกว่า
โชคดีที่ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องมีเงินร้อยล้าน หรือขยับขยายเป็นบริษัทใหญ่ๆ นั่งทำงานบนตึกใหญ่ๆ ไม่เคยมีภาพแบบนั้นในหัวไง จริงๆ อยากอยู่เฉยๆ แล้วมีเงินใช้ ถ้ามีร้อยล้านก็ดี แต่มันไม่ได้ไง (หัวเราะ) เลยต้องทำงาน แต่ทำแบบพอดีๆ ดูแลทีมได้ แฮปปี้ทุกฝ่าย
ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากขยายขนาดสตูดิโอด้วยนะ อยากอยู่กันแค่นี้ 4-5 คนแล้วก็ทำให้มันดีๆ
ชื่อ Rabbithood มันมาจาก Robin Hood เราชอบโมเดลแบบนั้น ยอดฝีมือรวมกัน ไม่ต้องมากพิธีรีตอง แต่งานออกมาดี ต้องการแค่นั้นเลย
ความ Creative ฝึกกันได้ไหม
เราว่าฝึกได้ เป็นสิ่งที่ต้องฝึกด้วย ก็เหมือนทุกอย่างแหละ ทำบ่อยๆ มันก็จะชำนาญ
เราว่าความคิดสร้างสรรค์ มันไม่มีสูตรสำเร็จ ว่าทำเสร็จ 1 2 3 คุณจะเป็นคนสร้างสรรค์ ดังนั้นวิธีการเกิดขึ้นของความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนมันมาได้จากหลากหลายทิศทาง ขึ้นกับว่าสภาพแวดล้อมชีวิตของคนนั้นๆ เป็นยังไง แต่สำคัญที่สุดคือคุณต้องมีความกล้าที่จะออกจาก comfort zone ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ
บางคนต้องอยู่ในบรรยากาศสบายๆ แล้วถึงจะคิดออก แต่บางคนก็ต้องกดดันสุดๆ
แต่ละคนก็มีวิถีทางในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง เพียงแต่เราอาจจะต้องมีความกล้าหาญบางอย่างฝังอยู่ มันถึงจะพอพูดได้ว่าเรากำลังเดินอยู่บนเส้นทางความคิดสร้างสรรค์
สำหรับคุณโจ้ ต้องอยู่ในบรรยากาศแบบไหน ความคิดสร้างสรรค์ถึงจะไปไกล
ผมไม่ได้มีโอกาสเลือกมากนัก เลยต้องทำให้ได้ทุกแบบ แต่ละแบบมันก็ดี-เสียคนละอย่าง บางทีสบายไปก็คิดไม่ออกสักที นิสัยเสีย บางทีช่วงเวลาบีบมากๆ งานบางชิ้นคิดได้คืนสุดท้ายก่อนส่ง ปกบางปกออกแบบแล้วแฮปปี้ แต่ทำไมทำเสร็จแล้วมีความรู้สึกเหมือนกูเคยเห็นที่ไหนวะ เลยลองไล่เช็ค ก็พบว่ามีไปคล้าย เลยเปลี่ยนคืนก่อนส่ง ทั้งๆ ที่สนพ.บอกว่าไม่เห็นรู้สึกเลย
เจอปัญหาความคิดซ้ำบ่อยไหม
เอาจริงๆ ไม่ค่อยรู้นะ เราไม่ค่อยเอาเป็นเอาตายว่าฉันต้องออริจินอล เอาจริงๆ ความออริจินอล มันมีจริงๆ เหรอ ทุกอย่างในโลกนี้มันก็ประกอบขึ้นมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าทั้งนั้น
งานที่ยากที่สุดสำหรับเราคือโลโก้ เพราะเป็นงานที่ต้องน้อยที่สุดเพื่อสื่อสารความเป็นองค์กรนั้นมากที่สุด แต่โลกนี้มันมีโลโก้เป็นล้านๆ อันแล้วอะ มันเป็นไปไม่ได้ที่มันจะไม่ซ้ำกับอะไรเลย ถึงที่สุดมันก็ต้องกระเดียด หรือใกล้เคียงกับบางสิ่งบ้าง ถ้าปึ๊งออกมาแล้วไม่เหมือนใครเลยคงเป็นไปไม่ได้ ที่เราคิดว่างานเราไม่เหมือนใครอาจจะเพราะเรายังไม่เห็นทั้งหมดไง เราเลยหันมาสนใจว่าโลโก้นี้มันตอบโจทย์ธุรกิจลูกค้าหรือยังมากกว่า
วิธีเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยได้คือช่วงที่คิดงานเราก็จะไม่ดูงานคนอื่น ที่สตูดิโอไม่ทำงานระบบ reference เราคิดจาก content ตรงหน้าเท่านั้น ถ้าคิดออกมาแล้วมันดันไปคล้ายจริงๆ เราก็ยังตอบตัวเองได้ว่าก็เราอาจจะยังเห็นไม่มากพอแต่ไม่ได้หมายความว่าเราไปก็อปมา ซึ่งถ้าเจอว่าคล้ายแก้ทันก็แก้ไป
เราค่อนข้างโล่งใจว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีปัญหานี้
แสดงว่าการออกแบบให้แตกต่างไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับคุณโจ้
จะว่าไม่ใช่เลยก็ไม่เชิง มันคงต้องมีความแตกต่างอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ในน่านน้ำธุรกิจของลูกค้า แต่เวลาทำงานไม่ได้เริ่มที่ฉันจะต้องต่างน่ะ ความต่างมันมาตอนท้ายๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความเบื่อ บางทีเราก็รู้สึกอยู่ว่าแบบนี้มันเคยผ่านตามาแล้ว แบบนี้อีกแล้วเหรอ เราคิดแบบอื่นบ้างได้มั้ย ซึ่งไม่ใช่ธงที่ปักแต่แรก ธงแรกของเราคือทำยังไงให้งานออกแบบมัน serve content หลักของลูกค้าให้ได้และตรงที่สุดเท่าที่เราจะคิดได้
ที่คุณโจ้เคยพูดไว้ว่า ทำให้ลูกค้ารุ่งเรือง?
ใช่ เพราะเราทำดีไซน์เซอร์วิสเราไม่ได้ทำงานศิลปะ ฉะนั้นเวลาลูกค้ามาหาดีไซน์สตูดิโอเขาไม่ได้อยากได้ของสวยๆ ไปติดบ้าน เขามาจ้างเราเพราะหวังให้งานออกแบบจะไปส่วนช่วยทำให้ธุรกิจของเขาเจริญเติบโต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถึงพูดบ่อยๆ ว่าถ้านักออกแบบมีความรู้เรื่องธุรกิจอยู่บ้างก็น่าจะดี
เรื่องเทสต์เป็นเรื่องที่พูดกันลำบาก คำพูดที่ใช้กันเรื่องเทสต์ดี เทสต์ไม่ดี ก็คงมีอยู่จริงๆ แต่มันคงไม่ใช่เรื่องถูกผิดคอขาดบาดตาย ที่สำคัญคือมันไม่ใช่เรื่องที่เราจะพูดได้ว่า คุณจ้างเราเถอะเราเทสต์ดี เพราะดีไม่ดีมันขึ้นกับบริบทอื่นๆ ด้วย เอาจริงๆ พูดว่าเหมาะไม่เหมาะอาจจะตรงกว่า เราเลยไม่ค่อยเอาเรื่องพวกนี้มาคิด ก็ปล่อยไป งานที่ออกมาจากเรามันเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะต้องผสมกลมกลืนกับสิ่งที่เราเป็น ซึ่งถ้าไปตรงกับเทสต์ของลูกค้าก็ดีไป แต่ถ้าไม่ตรงก็คงต้องมาจูนกัน
เวลารับบรีฟงาน แล้วพรีเซนต์ หลายคนชอบตกม้าตายตอนพรีเซนต์ ไม่สามารถสื่อในสิ่งที่เราต้องการเสนอได้ คือคิดได้แต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณโจ้มีคำแนะนำไหม
เราไม่ชอบอยู่ต่อหน้าคนนะ บางทีต้องไปพรีเซนต์ห้องใหญ่ๆ จะตื่นเต้นมากแก้ไม่ได้สักที แต่พอเริ่มพรีเซ็นต์ไปแล้ว เราจะค่อยๆ มั่นใจขึ้นเรื่อยๆ งานดีไม่ดีนั่นอีกเรื่องนะ
เราคิดว่าสาเหตุคือ เรามั่นใจว่าเราแม่นยำกับสิ่งที่ทำมา เรารู้ว่ามันผ่านกระบวนการคิดอะไรมาบ้าง เราอยู่กับมันมาตั้งแต่ต้นจนจบ การเข้าใจกระบวนการคิดของตัวงานมาตั้งแต่ต้นทำให้เราอธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้ว่าอย่างไรและทำไมมันถึงออกมาเป็นสิ่งที่ลูกค้าเห็นอยู่ตรงหน้า
การพรีเซนต์เป็นกระบวนการที่ต้องเตรียมตัวอย่างดี คิดเผื่อล่วงหน้าในมุมของลูกค้า จะทำให้เขาเข้าใจกระบวนการคิดงานของเราได้ยังไง ซึ่งถ้าเราแม่นยำในกระบวนการคิดงานอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยพลาดหรอก และเป็นเหตุผลที่เราไปพรีเซนต์งานเอง เพราะไม่มีใครเข้าใจมันเท่าเรา บางโปรเจกต์เตรียมพรีเซนท์ไปเป็นร้อยๆ หน้าก็มี
เราว่างานออกแบบมันอธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้นะ
บางคนจะพรีเซนต์ออกมาหลายแบบให้ลูกค้าเลือก ของคุณโจ้เป็นแบบไหน
ส่วนใหญ่พรีเซนต์แบบเดียว (หัวเราะ) เราจะยึดแบบเดียวไว้ก่อน เพราะเราเชื่อว่าเราคิดมาค่อนข้างครอบคลุมแล้วว่าทำไมถึงควรจะเป็นแบบนี้ มันดีกับแบรนด์คุณยังไง หรือมันดีกับโจทย์นี้ยังไง
เวลาส่งงานหลายแบบจะเกิดขึ้นในกรณีที่ระหว่างทางเราไม่ได้เจอแค่หนึ่ง แต่สองกับสามก็เวิร์คเหมือนกัน ดีเสียต่างกัน เราเองก็ตัดสินใจไม่ได้ ลูกค้าอาจจะตอบได้ตรงกว่า เพราะเขาน่าจะเข้าใจธุรกิจของเขามากกว่า ซึ่งกรณีแบบนี้คือจะเลือกหนึ่ง สอง หรือสาม เราโอเคหมด
แต่เราจะไม่เสนองานแบบที่เขาชอบบอกกันว่าทำไปให้ให้ลูกค้าได้เลือก เพราะจะแสดงให้เห็นว่าเขามี power ได้ตัดสินใจ เราว่าการทำแบบนั้นไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากสปอลย์ลูกค้า ทำไมไม่คุยกันตรงๆ ที่เนื้องานไปเลย เพราะมันผ่านการทำการบ้านหนักหน่วงมากแล้ว สำหรับเรามันดีกว่าการไปเปิด ref หลายๆ แบบแล้วก็ทำมาให้เลือกเยอะๆ เรารู้สึกเสียเวลาชีวิตถ้าต้องทำแบบนั้น เราชอบจบงานที่ลูกค้าก็แฮปปี้ คนทำก็ภูมิใจ
เราไม่ซื้อไอเดียโดยหลักการ ถ้าคุณต้องการแค่ได้เลือก การค้นคว้าอย่างหนักมาทั้งหมดของเรามันจะไม่มีความหมายเลย
เราอยากให้ลูกค้ารู้ว่าการทำงานออกแบบมันเป็นเรื่องของกระบวนการคิด ไม่ใช่แค่ใช้โปรแกรมเป็น ถ้าคุณเลือกเราคุณจะได้งานออกแบบที่ผ่านกระบวนการคิดที่คิดมาเพื่อธุรกิจของคุณ มันจะเป็นการทำงานที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายจริงๆ
การส่งงานให้ลูกค้าเลือกทีละ 10-20 ชิ้น โอกาสตัดสินใจพลาดมีสูงมาก เรามองว่าเป็นข้อไม่ดีด้วยซ้ำ เพราะเป็นการผลักภาระให้ลูกค้า เขาจะตัดสินใจจากอะไรล่ะ จากความชอบส่วนตัวเหรอ แล้วความชอบส่วนตัวของเขามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธุกิจของเขาหรือเปล่า
เราพบว่าการส่งงานน้อยแบบส่งผลดีมากเวลาลูกค้ามีคอมเมนท์เพื่อให้เราเอากลับไปแก้ไข เพราะเราคุยกันเป็นเหตุเป็นผล มีที่มาที่ไป เวลาแก้งานเราก็แก้ง่าย บนฐานของความเข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
มีวิธีการหรือใช้ช่องทางอะไรในการสื่อสารกับลูกค้า
เราพยายามไม่คุยงานกับลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดีย พยายามส่งงานเป็นเรื่องเป็นราวทางอีเมล์เท่านั้น
และการส่งงานดราฟท์แรก ถ้าเป็นไปได้จะไม่ส่งทางออนไลน์ด้วย จะขอนัดเจอ เพราะการเห็นครั้งแรกมันสำคัญมาก มันจำเป็นต้องอธิบายที่มาที่ไป มีเหตุผลอะไร ทำไมต้องเป็นแบบนี้ ข้อดีข้อเสียคืออะไร
ที่สำคัญมากๆ คือ เวลาไปคุยต่อหน้า เราจะเห็นปฏิกิริยาของลูกค้า เราจะรู้เลยว่าเขาแฮปปี้ ลังเล หรือไม่ชอบเลย ในทันที จะมีทั้งพรีเซนต์เสร็จปุ๊บ ลูกค้าตาวาวเลยก็มี หรือจบแล้วนั่งนิ่ง แบบมึงเอาอะไรมาให้กูดู … ก็มี (หัวเราะ) ปฏิกิริยาพวกนี้มันสำคัญมากเลยสำหรับเรา คำพูด น้ำเสียง มันมาพร้อมกันหมดเลยในการพบปะคราวเดียว แล้วการพบปะกันซึ่งๆ หน้ามันช่วยได้มากในการพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้านั้นต่อจนจบโปรเจกต์
ถ้าเป็นที่เชียงใหม่ เราจะขอนัดลูกค้ามาดูพรีเซนต์ที่สตูดิโอ เพราะอยากให้น้องๆ อยู่ด้วยในขั้นตอนนี้ อยากให้เขาสะสมประสบการณ์พวกนี้ไว้ มันเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ สำหรับเขาในอนาคต แล้วถ้าลูกค้าคอมเมนท์ก็แชร์กันได้เลย แต่ถ้าเป็นที่กรุงเทพฯ เราจะไปคนเดียว เพราะตอนนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย
ถ้าสุดท้ายเขาคอมเมนท์ว่าไม่ชอบ ถึงเราจะทำสุดแล้วก็ตาม เสียความมั่นใจไหม
(นิ่งคิด) กำลังคิดว่าเวลาทำงานแล้วเรามั่นใจหรือเปล่าวะ (หัวเราะ) เออ มันต้องมั่นใจเนอะ ถ้าเขาทักว่าไม่ชอบเหรอ … ก็คงเสียแหละมั้ง แล้วถ้าอันไหนที่เรามั่นใจมากๆ ก็จะคิดต่อว่า คุณพลาดแล้วที่ไม่ชอบ (หัวเราะ)
เวลาลูกค้าคอมเมนท์หลักๆ น่าจะมีสองแบบ คือคอมเมนท์แบบเป็นเหตุเป็นผล กับ ไม่เป็นเหตุเป็นผลแต่กูไม่ชอบอันนี้
เราชอบทำงานกับลูกค้าแบบแรก เพราะมันไปต่อได้ แก้ได้ ปรับได้เพราะรู้ว่าไม่ตรงกับความต้องการเขายังไง บางคนทิ่มมาประโยคเดียว เออ! กูไม่เคยคิดมุมนี้เลยว่ะ ซึ่งโคตรดีเลย เพราะบางทีเราอยู่กับมันด้านเดียวเกินไป แต่แบบหลัง มันไปต่อไม่ได้ นอกจากไปขูดรีดความเป็นเหตุผลของเขาออกมา มันไม่สนุก เสียเวลาทั้ง สองฝ่าย เวลาส่งงานเลยต้องขอความร่วมมือกับลูกค้า ช่วยพิจารณาให้ละเอียดๆ หน่อยก่อนจะคอมเมนท์
แต่ถ้าเป็นเรื่องเทสต์ ถ้าจูนกันไม่ได้ ก็ปรับตามเขาเลย
ที่สตูดิโอ จะมีเส้นบางๆ ขีดอยู่ ทันทีที่เลยเส้นนี้ไปแล้ว ก็โอเค ตามสั่ง อยากได้อะไรก็ทำให้อย่างนั้นแหละ
ไม่ใช่ไม่รับแล้ว หรือเลิกทำ?
ไม่ๆๆ (ตอบทันที) ทำแบบนั้นไม่ได้ เรามีคนที่ต้องดูแล ที่สำคัญคือเราอยากเป็นมืออาชีพ ก็พยายามจะรับมือกับปัญหาให้ได้
เป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นเลยมั้ย ว่าจะไม่ปฏิเสธลูกค้า
มีปฏิเสธเหมือนกันในเคสที่ไม่ไหวจริงๆ แต่เป็นกรณีที่ไม่ได้ไปด่าเค้านะ เราไปต่อไม่ได้จริงๆ ทั้งในแง่ความสามารถและเวลา ก็รบกวนไปจ้างคนอื่นเถอะ แต่ถ้ายังอยู่ในวิสัยทีเรายังปรับแก้ได้ เราก็ปรับแก้ให้เขาไป
มืออาชีพสำหรับคุณโจ้คืออะไร
เชียวชาญในสิ่งที่ทำ รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรทำให้ได้ทุกงาน
ถ้าขัดกับตัวเอง?
ทำไมไม่ค่อยคิดเรื่องนี้วะ (หัวเราะ) เราไปตามสถานการณ์ เจอปัญหาก็แก้ไป ไม่ได้นั่งสนใจว่าตัวเราคืออะไร อันไหนจะทำ อันไหนจะไม่ทำ แต่ก็อาจจะโชคดีที่เราได้ทำงานที่เขาต้องการศักยภาพอย่างที่เราเป็น
มันแฟร์มากเลย ถ้าไม่ต้องการแบบนี้ ก็ไปจ้างคนที่เขาทำแบบนั้น
การเป็นสตูดิโอที่อยู่เชียงใหม่ มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
แหม เราไม่เคยมีสตูดิโออยู่กรุงเทพฯ ด้วยสิ (หัวเราะ)
ตอนนี้ก็พอพูดได้ว่าไม่จำเป็นต้องอยู่กรุงเทพฯ แต่ว่าลูกค้าหลักๆ ก็ยังอยู่กรุงเทพฯ เพราะเชียงใหม่ไม่มีโปรเจคท์ใหญ่พอที่จะดูแลคนทั้งสตูดิโอได้ เลยยังต้องรับงานที่กรุงเทพฯ ไปส่งงานทุกเดือนเลย เหนื่อยเหมือนกัน แต่คิดคำนวณแล้วแล้วก็คุ้ม เพราะชีวิตที่เชียงใหม่เป็นชีวิตที่แฮปปี้ทุกวัน วันหยุดได้อยู่บ้าน ปั่นจักรยานขึ้นภูเขา อ่านหนังสือ ดูหนัง เล่นแมวเรื่อยเปื่อย
แสดงว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อการทำงาน?
เราเลือกสภาพแวดล้อมก่อน แล้วเลือกอาชีพทีหลัง เราเลือกอยู่เชียงใหม่ก่อน โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำงานอะไร เราว่าสภาพแวดล้อม มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ยกเว้นมีเงินมากพอจนไม่ต้องทำงานแล้ว ซึ่งเราไม่มี
ออฟฟิศแบบ Rabbithood ทำงานกันอย่างไร
เข้างานหลวมๆ 10 โมงถึง 10 โมงครึ่ง ลากไป 11 โมงก็มี เลิกงานคุยกันไว้ 1 ทุ่ม แต่ยืดไปตามสถานการณ์ ถ้ามันต้องเร่ง อยู่ถึงเช้าก็เคย แต่น้อยมาก เราอยากให้กลับบ้าน ไม่ต้องอยู่ดึกดื่น เราเชื่อว่าถ้าบริหารจัดการระหว่างวันได้ดี มันไม่ต้องอยู่ดึก หรือวางแผนการทำงานล่วงหน้าได้ดี ก็ไม่ต้องมาเสาร์อาทิตย์ แต่วันเสาร์อาทิตย์ เราก็ขอสแตนบายไว้ วันหยุดนักขัตฤกษ์ก็หยุดเหมือนชาวบ้านเขา ลากิจ ลาป่วย ตามสบาย
ลาไปเที่ยวก็มีแต่ไม่เยอะจนน่าเกลียด น้องบางคนถ้าจะขอลากลับบ้านก็มาทำชดเชยให้ก่อน ด้วยความที่สตูฯ เราเล็ก ทุกคนก็เห็นสถานการณ์หมด ถ้าใครหายไปงานจะเป็นยังไง น้องก็ไม่เอาเปรียบเรา
การเข้าออฟฟิศสำคัญไหม
เราทำสตูดิโอเพราะเราไม่อยากทำงานคนเดียว คิดคนเดียวทำคนเดียวมันไม่สนุก ไม่รู้ว่าที่คิดออกมามันดีหรือเปล่า ก็คิดเองเออเองว่าดีอยู่คนเดียว มีคนช่วยคิดช่วยแย้งมันดีกว่า
งานออกแบบพื้นฐานคือความรู้ ความเข้าใจ วิธีคิด รสนิยม การใช้เวลาอยู่ด้วยกันในแต่ละวันมันจะช่วยพัฒนาสิ่งเหล่านี้ บรรยากาศการอยู่ด้วยกันสำหรับเรามันเอื้อต่อการทำงาน เวลามีอะไรแก้ไขกันง่าย
ช่วงหลังๆ เราไม่ค่อยอยู่ ก็ต้องพึ่งออนไลน์ ซึ่งมันเรียกร้องความสามารถในการสื่อสารมากๆ เลย ที่เราพบบ่อยคือจับประเด็นกันไม่แม่นว่ากำลังคุยเรื่องอะไรกันอยู่ เวลาพูดกันตรงนี้เข้าใจ แต่ถ้าเขียนมันเข้าใจได้หลายทาง จะต้องเตรียมการสื่อสารมากกว่าปกติ ถ้าเป็นเราเราจะอ่านทวนว่ามันจะคิดไปเป็นอื่นได้หรือเปล่า บางทีต้องเขียนขยายความเท้าความไปด้วย ไม่งั้นมันพากันไปทางอื่น เสียเวลามากเลย
คุณโจ้เป็นหัวหน้าแบบไหน
โห ปกติเป็นคนไร้สาระมาก แต่เวลาทำงานเราจริงจังมาก บางทีก็จริงจังเกิน บางทีมีโมเมนต์คิดงานอยู่ แล้วจู่ๆ ก็เดินมา พี่เซ็นอันนี้ให้หน่อยค่ะ คือ มึงช่วยดูสี่ดูแปดหน่อยได้มั้ย (หัวเราะ) เราพยายามจะไม่เป็นคนเกรี้ยวกราด เพราะเวลาเกรี้ยวกราดแล้วเราเกลียดตัวเอง ไม่อยากเป็นคนแบบนั้น ก็อยากประคับประคองให้มันดี คิดว่าหลังๆ นี่เบาลงเยอะแล้ว
อยากให้บรรยากาศสตูฯ มันดี ต้องแก้ที่เรา เวลาสตูฯ ไม่มีเรา น้องๆ มันอยู่กันดี เฮฮาปาร์ตี้เหมือนอยู่ชมรมมหาลัยฯ แต่พอเรากลับมา เออ มึง เรามาทำงาน ไม่ได้มาชมรม มึงช่วยสปีดนิดนึง ลูกค้ารออยู่เป็นหางว่าว
เราจริงจังกับคุณภาพงาน บอกน้องๆ ตลอดว่า ทุกครั้งที่ปล่อยงานออกไป มันไม่จบแค่นั้น มันจะส่งผลไปในอนาคตอีกไม่รู้เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเราปล่อยงานห่วยๆ หรืองานที่ทำไม่สุดออกไปไม่ได้ มันจะส่งผลไปอีกยาวนาน ซึ่งการส่งผลยาวนานมันจะเป็นผลดีกับทุกคนระยะยาว เราไม่ต้องกังวลว่าจะมีคนมาจ้างงานมั้ย หรือจะมีเงินเดือนจ่ายลูกน้องหรือเปล่า
ทั้งหมดมันเกิดจากคุณทำงานที่ดีที่สุดออกไป แค่นี้เลย
เคยไหม เวลาทำงานเสร็จบางงานแล้วไม่กล้าบอกใครหรือแอบเก็บๆ ไว้ไม่เอาลงพอร์ท เราไม่ชอบความรู้สึกแบบนั้น
การทำงานมัน consume ทุกสิ่งอย่างของเราไป เพราะฉะนั้นทำงานเสร็จออกมาอย่างน้อยมันต้องโอเคสำหรับเรา ไม่งั้นไม่รู้จะเอาเวลาในชีวิตไปแลกทำไม จะแลกมาด้วยเงินเหรอ คือถ้ายิ่งทำงานดี ก็ได้เงินดีกว่าเดิม มันยิ่งไม่ดีกว่าเหรอ เพราะฉะนั้นเราไม่อยากให้เวลาที่ทุ่มเทไปงานมันเสียเปล่า เราอยากภูมิใจกับทุกๆ ชิ้นที่ทำ
เทรนด์การออกแบบ เราเอามาปรับใช้บ้างไหม
ไม่มี (ตอบทันที) ไม่มีเลย แต่คิดอยู่ว่า เออ … หรือมีบ้างก็ดีวะ ควรจะติดตามมนุษย์โลกเขาหน่อยมั้ย
สนใจนะ ก็ดูจะสนุกดี แต่ไม่ค่อยมีการคุยเรื่องนี้กันทีสตูฯ ส่วนตัวเราชอบอ่านหนังสือออกแบบ สนใจวิธีคิดของเขา ก็พยายามทำมันในชีวิตประจำวัน ดูงานคนโน้นคนนี้ก็เหมือนกัน เหมือนกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง พอเวลาทำงานเราเลยไม่ค่อยได้มาคุยกันว่าตอนนี้ใครเขาทำอะไรกันอยู่ ทำเสร็จถ้ามีเวลาเหลือพอก็เอาไปเช็คหน่อยว่าไปโดนใครหรือเปล่า แต่ถ้าไม่มีเวลาก็ช่างมัน
ที่ผ่านมาไม่ต้องตามเทรนด์ก็อยู่กันมาได้ แปลว่าคงไม่ต้องตามก็ได้มั้ง แต่คิดว่าอนาคตอาจจะตามสักหน่อย จะได้เห็นโลกอีกด้านหนึ่ง
ปกติเราดูงานเพื่อทำความเข้าใจวิธีคิดของการทำงานนั้นๆ เช่น พอต้องรับงานออกแบบหนังสือเป็นเซ็ต ก็จะมีคำถามในหัวทันทีว่าหัวใจของการคิดหนังสือเป็นเซ็ตคืออะไร เราอยากเข้าใจสิ่งนี้ก่อน ก็เริ่มไปหาอ่าน ถ้ามีที่เขาเขียนไว้ก็ดีไป ถ้าไม่มีก็อาศัยดูงานไปเรื่อยๆ แล้ววิเคราะห์ออกมาให้ได้ว่าน่าจะใช้วิธีคิดแบบไหน ถ้าเราพอเข้าใจว่าน่าจะใช้วิธีคิดแบบนี้แน่เลย แล้วเราก็ไปเอาโจทย์ลูกค้ามา ทำงานกับโจทย์ แล้วก็ลืมตรงนี้ไป
ที่สตูฯ รีเสิร์ชกันหนักมาก (ลากเสียงยาว) เป็นวัวเป็นควายเลยแหละ บางโปรเจกต์ใช้เวลาคิดงานน้อยกว่ารีเสิร์ชอีกนะ อาจจะเพราะเราเริ่มจากไม่ได้เรียนออกแบบมาโดยตรง มันเป็นข้อจำกัดที่เราไม่มีทางเลือก ถ้าคุณอยากยืนในตลาดได้ อยากเป็นมืออาชีพ คุณต้องมีความรู้ มันมีทางเดียว สำหรับเราไม่มีทางอื่น
น้องๆ ที่สตูฯ โดนจับรีเสิร์ชหมด คำถามสำคัญคือคุณเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังจะทำหรือยัง แค่นี้เลย เช่น จะออกแบบป้าย คุณเข้าใจการทำงานของระบบป้ายหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจไปหาความรู้ก่อนค่อยมาออกแบบ จะได้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่เปิดคอม เปิดโปรแกรม หยิบเม้าส์ พวกนี้มันมาทีหลัง เรื่องสำคัญคืองานออกแบบมีจุดประสงค์บางอย่างเสมอ หรือทำปกหนังสือ คุณเข้าใจการทำงานของปกหนังสือหรือยัง ไปทำการบ้านมาก่อน ยิ่งถ้าเข้าใจตลาดหนังสือได้ด้วยก็ยิ่งดี
เวลาน้องๆ ส่งงาน บางทีเห็นงานแล้วก็รู้เลยว่าไม่เข้าใจสิ่งที่ทำอยู่แน่ๆ ไปทำการบ้านก่อนมั้ย น้องก็จะหายไปวันนึง แล้วเอาการบ้านมาพรีเซนต์ว่าเราเขาไปทำความเข้าใจมากแบบนี้ ก็คุยกัน แล้วเราก็ปล่อยให้ไปทำต่อ ร้อยทั้งร้อยงานใหม่ที่ออกมาคือหนังคนละม้วนเลย มันพรูฟว่าถ้าคุณเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ มันจะออกมาดีกว่าจริงๆ
เหมือนเป็นนักวิจัย?
น่าจะใช่ มันเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด คุณต้องเข้าใจว่าคุณทำอะไรอยู่ … เป็นประโยคที่เราพูดบ่อยมาก อย่าทำงานในสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ มันเสียเวลาเปล่า สตูฯ ถึงต้องมีห้องสมุด เราเลือกหนังสือชั้นดี ลงทุนกับหนังสือมากมาย ซึ่งอันนั้นคือส่วนกำไรของบริษัทที่แปรรูปมาเป็นหนังสือ
การอ่านความคิดของดีไซเนอร์ สำหรับเรามันน่าสนใจกว่าการดูงานเขาเฉยๆ ถ้าเราไม่เข้าใจเบื้องหลังการคิด เราจะคิดงานได้ยังไง เราว่าก้อนใหญ่ที่สุดคือการคิด แล้วแตกออกไปเป็นอะไร นั่นก็อีกเรืองหนึ่ง
ดังนั้นถ้าคุณมีต้นทุนการคิดน้อย คุณก็จะคิดได้น้อย พอคุณคิดได้น้อย ทางไปคุณก็แคบ
ปัญหาการทำงานกับคนต่างเจน มีบ้างไหม
มีปัญหาหนึ่งคือ เราโตมาในเจเนอเรชั่นถึก ความถึกเท่านั้นจะช่วยให้คุณรอด เราก็ไป push น้องๆ ให้ถึกด้วย พอ push มากๆ ปรากฏว่าบรรยากาศมันอึดอัดไปหมด สุดท้ายเลยเรียนรู้ว่าไม่ต้องไป push มาก ทุกคนมันมีจังหวะในการเรียนรู้ของเขาเอง ต้องพยายามเข้าใจจังหวะเขา เพราะเขาโตมาท่ามกลางความสนใจหลากหลาย ต้องแบ่งเวลาไปสนใจนั่นโน่นนี่ ซึ่งในยุคเราไม่มี ก็พยายามจะเข้าใจ แต่ … เร่งหน่อยก็ดีนะ งานการมันไม่รอท่าเนอะ ชิวไปก็ไม่ได้
อีกปัญหาหนึ่ง พอมี gap ระหว่างวัย น้องๆ ก็จะมองเราเป็นผู้ใหญ่ แล้วก็ตามมาด้่วยความเคารพ ซึ่งอันนี้เราโคตรเกลียด เดินผ่านหน้าก้มหัวก็มี เจอหน้ากันก็ต้องไหว้ มึงจะไหว้กูทำไม เจอกันทุกวัน ไม่เบื่อหรือไง คุยแบบพี่ๆ น้องๆ เหมือนคนธรรมดาๆ ได้มั้ย เราว่าระบบอาวุโสแบบนี้มันทำลายหลายอย่าง ส่งผลมากๆ กับการทำงาน ต้องคอยบอกว่าเวลาเราคิดอะไรออกมาไม่ได้แปลว่าต้องทำตามนั้น เราก็คนเหมือนกัน ผิดก็มีพลาดก็เยอะ บางทีเราแก้งาน อธิบายเสร็จสรรพ ส่งกลับไป จะแก้กลับมาก็ได้ ไม่ได้ว่าอะไร ก็มาอธิบายกัน ไม่ใช่ต้องเยสตลอด น่าเบื่อมาก เป็นปัญหามาก จูนกันอยู่นานกว่าน้องจะยอมเถียง คนเราเคารพกันในฐานะมนุษย์เหมือนกัน แค่นั้นมันก็โคตรจะพอแล้วน่ะ เราต้องการเพื่อนร่วมงาน ทำงานมันต้องแชร์กันได้
เรียนรู้อะไรจากเด็กๆ บ้าง
มหาศาล เราเรียนรู้โลกสมัยใหม่ผ่านพวกเขานั่นแหละ เพราะโลกมันเป็นของเขาไม่ใช่ของเรา วันๆ ก็คอยนั่งฟังว่ามันคุยเรื่องอะไรกัน
ที่เลิก push เขาก็เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากๆ เลยนะ เหมือนเขาสอนเราไปเองเลยว่าทุกคนมีจังหวะของตัวเองนะเว้ยพี่ อย่ามาอัดกูมากเพราะอัดไปก็ไม่ได้อะไร ได้แต่ความตึง
เราอยากให้เขาไปทางไหนทำได้มากสุดก็ไกด์เขา แล้วก็โยนความรับผิดชอบลงไป ส่วนจะเดินยังไงก็ให้เขาไปจัดการจังหวะของตัวเอง