- ครั้งแรกที่เวที TEDxBangkok กลายเป็นพื้นที่ ‘สนามเด็กเล่า’ กับรูปแบบงาน TEDxYouth@Bangkok ที่เหล่าสปีกเกอร์ทั้ง 9 คน ยังเป็นเด็ก อายุไม่ถึง 20 ปี
- พาไปฟัง 9 เรื่องเล่า จาก 9 ตัวตนที่หลากหลายของเด็กสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็น นักแร็พ นักมวย นักออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ ฯลฯ
- เด็กและเยาวชนทั้ง 9 คนต่างก็อยากเล่าเรื่องที่อยากให้ผู้ใหญ่ ‘ฟัง’
ภาพ: TEDxYouth@Bangkok
TEDx คือชื่อของเวทีที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลก มักจะเชิญตัวจริงในเรื่องนั้น มาพูดในหัวข้อตามที่ตัวเองถนัด แต่ปีนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะเปิดพื้นที่ให้ ‘เด็ก’ ได้ขึ้นมาพูดในเรื่องที่อยากให้ผู้ใหญ่ฟัง ผ่านพื้นที่ ‘สนามเด็กเล่า’ ในงาน TEDxYouth@Bangkok ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ โรงละครอักษรา คิงพาวเวอร์
ท่าทางและการพูดของ 9 คนนี้อาจจะเคอะๆ เขินๆ บางรายตะกุกตะกัก ไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบอย่าง TED Talk รุ่นพี่ๆ แต่สิ่งที่เด็กๆ กลุ่มนี้มีคือ ความต่าง, ความเป็นธรรมชาติ และความจริงที่อยากเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง
คาบเรียนที่ 1 วิชาการเป็นนางเอกที่คนเห็นเป็นตัวประกอบ
ถ่ายทอดวิชาโดย: กรณิศ เล้าสุบินประเสริฐ – อ๊ะอาย อายุ 13 ปี
“เพราะทุกคนสามารถเป็นพระเอกนางเอกในชีวิตได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร และความฝันนั้นจะคืออะไร”
อาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่บ้างสำหรับสปีกเกอร์คนนี้ เพราะเธอฝากผลงานการแสดงที่ยอดเยี่ยมไว้หลายชิ้นผ่านหน้าจอโทรทัศน์ อาทิ ละครเวทีเรื่องสี่แผ่นดิน, บางรักซอย 9/1 ฯลฯ
อ๊ะอาย เปิดเวทีด้วยน้ำเสียงหวานใสในบทเพลง ‘นางนวลเจ้าเอย’ เล่าถึงความฝันของนกนางนวลที่อยากโบยบินไปยังขอบฟ้า แต่ทำไม่ได้เพราะต้องรอโอกาสจากใครสักคน เธอตั้งใจใช้บทเพลงนี้พิสูจน์ความสามารถและความเชื่อของตัวเองที่ว่า แม้จะเป็นเด็กแต่ก็ทำอะไรหลายๆ อย่างได้ในแบบที่ผู้ใหญ่ทำ
สาวน้อยผู้มากความสามารถ ตั้งคำถามบนเวทีได้อย่างน่าสนใจอีกว่า ทำไมละครและภาพยนตร์ไทยให้พื้นที่กับเด็กน้อย บท ‘ตัวหลัก’ ที่ใช้เด็กแสดงมีน้อยเหลือเกิน ยิ่งเทียบกับภาพยนตร์ต่างประเทศจะเห็นสัดส่วนที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ตั้งแต่จำความได้อ๊ะอายมีความฝันเพียงอย่างเดียวคือการเป็นนางเอก แต่ก็เป็นได้แค่นางเอกตอนเด็กเท่านั้น ชีวิตจึงไม่ต่างจากเจ้านกนางนวล ที่ถูกเลี้ยงอยู่ในกรง รอวันได้โบยบินตามที่ผู้ใหญ่ให้โอกาส
“ผู้ใหญ่มักจะถามคำถามเดิมๆ กับเด็กเสมอว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร? แต่ไม่เคยถามเลยว่าตอนนี้เด็กอยากเป็นอะไร นอกจากเป็นนักเรียน”
คาบเรียนที่ 2 วิชา (ไม่) พร้อมสู่การเป็นมืออาชีพ
ถ่ายทอดวิชาโดย: ณัฐภัทร ตุลาประพฤทธิ์ – ก้อง และ โภคินทร์ ตุลาประพฤทธิ์ – ไก๊ 14 และ 16 ปี
“ไม่สำคัญว่าผลลัพธ์จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ สำคัญที่เริ่มต้นลงมือทำจริง ถ้าเริ่มทำแล้วให้ทำอย่างเต็มที่”
สองเด็กชายพี่น้องที่สร้างความชอบจนเกิดเป็นอาชีพ ก้องและไก๊ผู้หลงใหลในภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิค CG ขณะที่ยังเป็นเด็กประถม เริ่มจากใช้มือถือรุ่นล้าหลังตัดต่อรูปแบบงูๆ ปลาๆ ขยันฝึกฝนและพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นมืออาชีพ สร้างผลงานที่มีคุณภาพ และใช้โลกออนไลน์สร้างพื้นที่โชว์ความเจ๋งของตัวเอง โดยเปิดช่องยูทูบชื่อว่า KoGu Studio ที่มียอดชมสูงถึงหลักแสน
แต่สิ่งที่ยังทำให้ก้องและไก๊กังวล นั่นคือแรงสนับสนุนของพ่อแม่ แรกเริ่มที่ทั้งคู่ใช้เวลาทุ่มเทและศึกษาเกี่ยวกับการทำ CG พ่อแม่ไม่เห็นด้วย พวกเขาจึงใช้ความสามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นและยอมรับว่า “การอยู่หน้าคอมไม่ใช่เรื่องไร้สาระอย่างเดียวอีกต่อไป”
จนวันนี้ก้องและไก๊ประสบความสำเร็จ สื่อหลักต่างๆ นำเสนอผลงานสุดเจ๋งของพวกเขา และทำให้โลกรู้ว่าความสามารถสำคัญกว่าอุปกรณ์ แม้เป็นเด็กก็ทำให้วงการ CG สะเทือนได้!
“พวกผมเริ่มต้นจากอุปกรณ์ธรรมดา ใช้ความอยากผสมผสานกับการลงมือทำ ถ้าวันนั้นพวกผมมัวแต่กลัว ไม่กล้าลองผิดลองถูกก็คงไม่ได้พัฒนามาถึงวันนี้”
คาบเรียนที่ 3 วิชาขึ้นชกเพื่อเอาชนะโชคชะตา
ถ่ายทอดวิชาโดย: ภูริภัทร พูลสุข – ภู อายุ 12 ปี
ภู สปีกเกอร์ที่อายุน้อยที่สุดบนเวทีนี้ เขาไม่ได้ขึ้นมาทอล์คเชิญชวนให้เด็กอายุน้อยให้หันมาต่อยมวย แต่ให้เข้าใจถึงเหตุผลและแนวคิดของนักมวยเด็กอย่างเขา
นักมวยตัวจิ๋ว เจ้าของฉายา ‘ฉมวกขาว’ ภูเปรียบหมัดชกของเขาว่าแม่นยำและอันตรายเหมือนกับฉมวก แต่ที่เติมคำว่าขาวเข้าไปเพราะมีไอดอลเป็นบัวขาว บัญชาเมฆ สมญานามฉมวกขาวนี้ เขาไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ภูใช้ความมุ่งมั่นและวินัยจนชนะโชคชะตา ได้เป็นนักมวยอย่างที่ตัวเองฝันไว้ แม้ช่วงแรกพ่อจะไม่เห็นด้วยเพราะไม่อยากให้ลูกเจ็บ แต่ก็ต้องยอมแพ้เลือดนักสู้ที่ไหลอยู่ทั่วร่างกายของเขา
เมื่อจริงจังกับการเป็นนักมวย มันไม่สนุกอย่างที่คิด ซ้อมหนัก วิ่งเหนื่อย แต่เขาไม่เคยยอมแพ้ ฮึดสู้จนได้ขึ้นชก สังเวียนแรกเขาแพ้…แต่ไม่ถอดใจ ฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก ทำให้ขึ้นชกครั้งที่สอง-เขากลายเป็นผู้ชนะ
ภู ทำให้เรารู้สึกชื่นชมกับความซื่อสัตย์ต่อความฝันตัวเอง เด็กชายธรรมดาคนหนึ่งกล้าหาญที่จะออกแบบและวางแผนชีวิตของตัวเอง ตั้งแต่อายุ 12 ปี ภูบอกว่าถ้าวันหนึ่งต้องเลิกเป็นนักมวย ก็จะสอบเป็นตำรวจให้ได้ จะได้มีรายได้เข้ามาเลี้ยงครอบครัว
ก่อนจะลงจากเวที ภูทิ้งประโยคหนึ่งเอาไว้
“ชีวิตนักมวยของผม มันไม่เคยมีแต้มต่อ แต่ผมจะขอทำตามความฝันของผมให้ดีที่สุด แล้วพวกคุณล่ะ จะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน”
…แด่ชีวิตที่ไม่มีแต้มต่อของเด็กชาย หวังเพียงจะมีใครสักคนมาสนับสนุนความฝันของเขาบ้าง
คาบเรียนที่ 4 วิชาเล่าสู่กันฟัง
ถ่ายทอดวิชาโดย: สุรีรัตน์ พรศิริรัตน์ – นิว อายุ 16 ปี
“เราอยากเล่าเรื่องให้ทุกคนในประเทศรู้ว่าประเทศนี้มีปัญหาอยู่ เรื่องเล็กๆ เหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการเล่าสู่กันฟัง”
นิว เด็กหญิงมัธยมกระโปรงน้ำเงินธรรมดาคนหนึ่ง ขึ้นมาทอล์คในหัวข้อใกล้ตัว โดยยกวลีเด็ดอย่าง ‘ใครๆ เขาก็ทำกัน’ ที่คนส่วนมากมักใช้อ้างในการทำความผิดบางอย่าง จนติดเป็นนิสัย วลีนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือป้องกันและหลอกตัวเองว่า ‘ฉันไม่ผิด!’ เพราะถ้าคนหมู่มากทำได้ เราก็ทำได้ เรื่องผิดจึงกลายเป็นความปกติ สุดท้ายแล้วมันจึงนำไปสู่ความมั่นใจ (แบบผิดๆ)
“บ่อยครั้งที่ต้องเถียงกับแม่ เพราะแม่ชอบขับรถย้อนศรและอ้างว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย…ใครๆ ก็ทำกัน”
นิวชวนตั้งคำถามต่อว่า ถ้ามีคนหนึ่งคิดแบบนี้ ส่งต่อความมั่นใจแบบผิดๆ ให้คนที่สอง…คนที่สาม…คนที่สี่
ในท้ายที่สุดสังคมก็จะเมินเฉยกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วเราจะแก้ไขมันอย่างไร?
นิวจึงเสนอวิธีการที่ง่ายแสนง่าย อย่างการ ‘เล่าสู่กันฟัง’ มาแก้ปัญหา
“เราสามารถหยิบยกปัญหาสังคมขึ้นมาเม้ามอยกับกลุ่มเพื่อนเล็กๆ ของเราได้ เริ่มจากการคุยกันง่ายๆ ตั้งคำถามในวงเล็กๆ แม้ผลลัพธ์ของมันอาจจะไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาเล็กๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่โตจนบานปลาย”
คาบเรียนที่ 5 วิชาลดความเป็นโรงเรียนให้น้อยลง
ถ่ายทอดวิชาโดย: แดนไท สุขกำเนิด – แดนไท อายุ 14 ปี
“ในเกมไม่มีคุณครูที่เดินมาบอกว่าควรเลือกอะไร เราสามารถตัดสินใจได้เอง”
แดนไท เด็กหนุ่มที่ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เดินออกจากห้องเรียนเข้าสู่ระบบโฮมสคูล ซึ่งเป็นระบบ Deschooling เพราะคิดว่า นี่คือสิ่งที่ตอบโจทย์มากกว่า จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งเพจที่ชื่อว่า ‘เถื่อนเกม’ รวมกลุ่มคนรักการเล่นบอร์ดเกม ทั้งเพื่อความสนุกและใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้สู่ประเด็นทางสังคม
จากเด็กติดเกมสู่การทำเกม แดนไทนิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้’ ใช้เกมสร้างการเรียนรู้ให้คนอื่น เพราะเชื่อว่าเกมให้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในหนังสือ
“เกมเพื่อการเรียนรู้เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างอิสระ ทุกคนมีสถานะเท่ากัน เราได้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกอะไร ต่างจากชีวิตห้องเรียนที่มีอำนาจสั่งให้เชื่อว่าข้อนี้ถูกหรือผิด”
คาบเรียนที่ 6 วิชาพื้นฐานการใช้ใจมองคน
ถ่ายทอดวิชาโดย: ธนายุทธ ณ อยุธยา – บุ๊ค อายุ 17 ปี
“เพราะแร็พ คือ โลกอีกใบของผม”
บุ๊ค สปีกเกอร์สายแร็พจากชุมชนคลองเตย เขาเติบโตมาในครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความฝัน แต่ไม่ยอมแพ้ ฝึกฝนและตั้งใจใช้เพลงแร็พเปลี่ยนมุมมองความคิดของสังคมที่มีต่อบ้านเกิดของเขา เด็กหนุ่มมักใช้ไรม์บวกกับจังหวะดนตรีที่หนักหน่วง เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เขาเล่าเรื่องชีวิตตัวเอง ความสุข ความเศร้า ความผิดหวัง อย่างที่สั่งสมจนเป็น ‘บุ๊ค’ แบบในทุกวันนี้
ไรม์ของบุ๊คบนเวทีนี้ เต็มไปด้วยถ้อยคำที่ทำให้เราเห็นโลกของเขา รวมถึงโลกของเด็กไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามกับระบบการศึกษาหรือทัศนคติเกี่ยวกับชุมชนคลองเตย
‘เด็กเก่งไม่ต่างจากใคร แต่ที่ต่างคือทุนทรัพย์ และทำให้มีตลับเมตรยี่ห้อสิทธิแล้วจะเอาอะไรมาวัด อยากให้เห็นค่าในอนาคตของชาติ ผลักดันสุดทางแห่งฝัน ให้พวกเขามีคุณค่า’
‘เลิกมองคนที่บ้านเกิดและสถานะ บางคนเป็นดอกเตอร์ได้ทั้งๆ ที่บ้านเขาอยู่วัด เริ่มพัฒนาตามสังคมให้ดีขึ้น เหมือนเสือต้องการป่า เหมือนหมีต้องการผึ้ง จะไปแบ่งแยกกันเพื่ออะไร ทุกคนล้วนเท่าเทียมไม่ว่าต่างชาติหรือคนไทย’
ไรม์ของบุ๊คไม่ได้มีพลังมากถึงขั้นช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่บุ๊คเลือกใช้มันเปลี่ยนตัวเอง เพื่อจะได้พัฒนาสังคมนี้ให้ดีขึ้น
“แม้เพลงแร็พของผมอาจไม่ได้ตอบแทนใคร แต่มันทำให้ผมมีความฝันและใช้มันหาเลี้ยงครอบครัวได้”
คาบเรียนที่ 7 วิชาฝึกฝนตนไม่ให้เป็นตรรกะวิบัติ
ถ่ายทอดวิชาโดย: ปณิธิ วนสิริกุล – ทีม อายุ 16 ปี
“ขอให้ทุกคนใช้หลักการคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนจะตัดสินใครเพื่อไม่ให้เกิดตรรกะที่วิบัติ”
ทีม คือหนึ่งในสปีกเกอร์ที่น่าสนใจ ขึ้นมาทอล์คด้วยชุดนักเรียนธรรมดาๆ แต่ชวนเราตั้งคำถามแปลกๆ ที่ว่า “จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราเชื่อว่ามันถูกมาโดยตลอด มันถูกต้องจริงๆ?”
เขาพาเราสำรวจตรวจสอบความคิดต่อสังคม และย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จริงๆ แล้วเราทุกคนอาจจะตกอยู่ในภาวะตรรกะวิบัติโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้ มองสิ่งที่ถูกเป็นผิด มองสิ่งที่ผิดเป็นถูก ทิ้งท้ายไปด้วยวิธีการแก้ไขและป้องกันความวิบัติ ไม่ให้เป็นภัยลุกลามในสังคม ซึ่งอันที่จริงก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า มันถูกต้องแล้วหรือไม่ แต่ทีมได้ทำหน้าที่เป็นสปีกเกอร์ที่ยอดเยี่ยม เป็นเด็กรุ่นใหม่สุดเจ๋ง กล้าคิด กล้าวิเคราะห์ กล้าชวนสังคมฉุกคิด โดยหวังเพียงแค่ให้ทุกคนมีตรรกะที่เข้มแข็งพอเท่านั้นเอง
คาบเรียนที่ 8 วิชาสมการเสียงหัวเราะ
ถ่ายทอดวิชาโดย: อัคพงษ์ ป้อมชัยภูมิ – กัส อายุ 16 ปี
กัส นักเรียนสายอาชีพอารมณ์ดี ที่มีสโลแกนประจำตัวแบบคูลๆ ว่า ‘ไม่ฮาก็หาว’ เขาชอบใช้เวลาว่างไปกับการดูคลิปตลกคาเฟ่เก่าๆ จนทำให้เขาขึ้นเวทีมาทอล์คในวิชาการสร้างเสียงหัวเราะ โดยคิดสมการความสุขขึ้นมาเอง ง่ายๆ อย่าง ‘ความจริง + สิ่งไม่คาดคิด = เสียงหัวเราะ’
“เพียงคุณใช้สมการเสียงหัวเราะ ความจริง + สิ่งไม่คาดคิด นอกจากคุณจะมีความสุขเองแล้ว สิ่งไม่คาดคิดที่ตามมาคือความสุขของคนรอบข้างด้วย”
กัสทำให้เรารู้ว่าประโยชน์ของเสียงหัวเราะ ไม่ใช่ทำให้เราลืมความเศร้า แต่ทำให้เรามองเห็นเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป เมื่อเราพลิกมุมมองของความจริงที่เจ็บปวดบางอย่าง เราจะเห็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ปรับมุมมองให้เป็นเรื่องตลกบ้าง มีความสุขกับสิ่งที่เกิดบ้าง และใช้สมการฉบับเดียวกับกัสในการใช้ชีวิต เผลอๆ คุณอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเกิดขึ้นก็ได้
คาบเรียนที่ 9 วิชาโอบกอดความรู้สึกตัวเอง
ถ่ายทอดวิชาโดย: สุขุมาลย์ ศรีราพัฒน์ – ผักบุ้ง อายุ 13 ปี
ผักบุ้ง เด็กหญิงตัวเล็ก ที่ใช้ประสบการณ์อันเจ็บปวดของตัวเองมาทอล์คบนเวทีนี้ โดยการเล่านิทานประกอบภาพเรื่องครอบครัวหมูที่แสนจะอบอุ่น มีปู่หมู พ่อหมู แม่หมู ลูกหมู ครอบครัวหมูใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมีความสุขมาโดยตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดลูกหมูแบกรับไม่ไหว ทุกอย่างแตกสลายกลายเป็นการนำพาความเศร้าเข้ามา ลูกหมูตัวนั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ทุกข์ทรมาน จนไม่อยากมีชีวิตอีกต่อไป กว่าที่ลูกหมูตัวนั้นจะเยียวยาหัวใจ จนเห็นคุณค่าของตัวเองก็ใช้พลังและเวลานานพอสมควร
นิทานในตอนสุดท้ายยังไม่สิ้นสุด ผักบุ้งเฉลยว่าชีวิตของเธอคือลูกหมูตัวนั้น ผักบุ้งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แม้อาการเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ครอบครัวของเธอก็ไม่ได้กลับมาอบอุ่นเหมือนเดิม วันนี้ผักบุ้งกล้าลุกขึ้นมาถ่ายทอดประสบการณ์ที่พบเจอ เพียงเพราะอยากจะเป็นกำลังใจให้ใครหลายๆ คน ที่อาจจะกำลังเจอกับความทุกข์ใจอยู่ อยากให้นึกถึงสิ่งที่ตัวเองชอบ และจงมีชีวิตอยู่เพื่อทำมัน
ผักบุ้งก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากของชีวิต ด้วยการลงมือทำสิ่งที่เธอรักอย่าง ‘การวาดรูป’ แม้ความเศร้าจะไม่ได้เลือนหายไป แต่การได้ทำในสิ่งที่รักเป็นเหมือนการค้นเจอหีบสมบัติที่สร้างความสุขและเห็นแสงสว่างในตัวเองอีกครั้ง
“เมื่อเรารู้สึกเศร้าและไม่มีใคร ขอให้ทุกคนมีสติ นึกถึงสิ่งที่ตัวเองชอบและมีความสุข เราจะได้ไม่ปล่อยตัวเองจมไปสู่ความมืด”