ครูเปี๊ยกจบการศึกษาด้านปรัชญาและสังคมศาสตร์ จึงนำความรู้มาออกแบบกระบวนการสร้าง Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นให้กับนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า หากทุกคนมี Empathy จะสามารถสร้างสังคมที่สงบสุขและราบรื่นได้ ‘ห้องเรียนจิตตื่นรู้’ นอกจากจะช่วยเติมเต็ม Empathy แล้วยังมุ่งหวังที่จะลดปัญหาการบูลลี่ โดยให้นักเรียนได้ลอง ‘สวมรองเท้าของคนอื่น’ เพื่อที่จะได้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นผ่านการขบคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง การสร้าง Empathy ในโรงเรียน สิ่งสําคัญคือ ครูควรมี Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจ, เห็นอกเห็นใจทั้งผู้ปกครองและเด็กเป็นพื้นฐาน ครูต้องเป็นคนที่เปิดใจ เป็นกลาง และคอยประสานทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา ครูเปี๊ยกใช้กิจกรรมสร้างการเรียนรู้จากสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริง และการโยนคำถามให้เด็กลองคิดและลองตอบ เพื่อที่เด็กจะได้เข้าใจเหตุผลของการกระทำของตัวอย่างที่เล่าอย่างถ่องแท้ เพราะเมื่อเกิดความเข้าใจจึงจะเกิดความเห็นอกเห็นใจตามมา
“สิ่งใดตนไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทํากับผู้อื่น”
นี่คือปรัชญาขงจื๊อประจำใจของ ครูเปี๊ยก-วิสิทธิ์ ตออำนวย ครูวิชาบูรณาการระดับชั้นประถม ของศูนย์การเรียนประถมภูมิธรรม
ด้วยความที่ครูเปี๊ยกจบปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ สาขาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงยังจบปริญญาตรี วิชาเอก สังคมศาสตร์การพัฒนา วิชาโท ปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครูจึงมีความสนใจทั้งในด้านสังคมศาสตร์และปรัชญาจีนเป็นพิเศษ และกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการส่งต่อแนวคิดที่คล้ายกันกับปรัชญาขงจื๊อคือ การสร้าง Empathy หรือ ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นให้กับนักเรียน เพราะครูเปี๊ยกเชื่อว่า หากทุกคนมี Empathy เราก็จะสามารถสร้างสังคมที่สงบสุขและราบรื่นได้
จุดเริ่มต้นของการที่ครูเปี๊ยกมองเห็นความสำคัญของ Empathy คือการที่ได้กลับมาเป็นครูอีกครั้ง หลังจากที่หยุดพักการสอนไปกว่า 8 ปี ทำให้ครูเห็นความแตกต่างของนักเรียนในปัจจุบัน กับนักเรียนรุ่นแรกที่เคยสอน ที่มีพฤติกรรมค่อนข้างต่างกันมาก และค้นพบปัญหาว่า โดยภาพรวมเด็กๆ ขาดบุคลิกที่มี Empathy เพราะเด็กมองเห็นตัวเองมากขึ้น คิดถึงผู้อื่นน้อยลง และยังคงมีการกลั่นแกล้งรังแกกัน (Bullying) รวมถึงมีทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นลดลง ซึ่งน่าจะเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ถดถอยในด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม
ครูเปี๊ยกจึงคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับนักเรียนให้ได้ เพราะถึงแม้ว่าวิชาการจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในฐานะครู สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างเด็กที่สามารถอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างราบรื่น แม้ว่าทุกคนจะมีความเห็นไม่เหมือนกับเขาก็ตาม
‘ห้องเรียนจิตตื่นรู้’ จึงถูกนำมาใช้ในการสร้างกระบวนการเติมเต็ม Empathy ให้กับนักเรียน เพื่อลดปัญหาการบูลลี่ หรือการรังแกกันในโรงเรียน ให้นักเรียนได้ลอง ‘สวมรองเท้าของคนอื่น’ เพื่อที่จะได้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นผ่านการขบคิดตาม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง
“พอเราปรารถนาดีต่อกัน ก็จะทําให้เราเห็นความรู้สึกของผู้อื่นได้ง่ายขึ้น และเมื่อจุดเริ่มต้นมันดีแล้ว ก็จะทําให้เราสามารถเปิดใจรับฟัง และทํางานร่วมกันต่อไปได้ง่ายขึ้นครับ” ครูเปี๊ยกกล่าว
แนวคิดของครูนักปรัชญา ผู้แก้ปัญหาการบูลลี่
หลักของขงจื๊อกล่าวไว้ว่า ‘สิ่งใดตนไม่ปรารถนา สิ่งนั้นอย่าทํากับผู้อื่น’
ปรัชญาขงจื๊อนั้นให้ค่ากับความสัมพันธ์ในชุมชน เพราะมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกัน ขงจื๊อจึงมีแนวคิดว่า หากมนุษย์จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้ ก็ควรจะต้องมาอยู่ร่วมกันก่อน แล้วถามว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
“ขงจื๊อเสนอว่าเราต้องมี ‘เหริน’ (仁) หรือ ความรัก เพราะมนุษย์ต้องรักกันมีความสัมพันธ์ที่ดีก่อน ถึงจะสร้างชุมชนที่มีมนุษยธรรมและงดงามขึ้นมาได้ ซึ่งก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเคยเรียนและเห็นกันบ่อยๆ ว่า คนเราต้องการมี Liberty (เสรีภาพ) และ Equality (ความเสมอภาค) แต่ว่าหลายคนไม่ค่อยพูดถึง Fraternity หรือ การอยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง อยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์กันสักเท่าไร ซึ่งปรัชญาขงจื๊อมักพูดถึงเรื่องความกลมเกลียวสมดุล และการอยู่อย่างไรให้ราบรื่น
ผมรู้สึกว่าถ้าเด็กๆ เขามีสิ่งนี้ และเข้าใจว่าท้ายสุดแล้วทุกคนต้องอยู่ร่วมกันกับคนที่มีความแตกต่าง เพราะยังไงเราก็เปลี่ยนทุกคนไม่ได้ ถ้าพยายามที่จะกีดกันคนที่คิดไม่เหมือนกันให้แยกออกไป หรือพยายามจะทําให้คนทุกคนคิดเหมือนกัน มันก็เป็นไปไม่ได้”
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ครูเปี๊ยกเห็นหลังจากกลับมาสอนในรอบ 8 ปี และเกิดการเปรียบเทียบกับนักเรียนรุ่นก่อนๆ คือ มองว่าเด็กๆ ค่อนข้างที่จะดูแลได้ยากขึ้นในหลายๆ ด้าน
“ข้อแรกเกิดการตั้งคำถามว่าทําไมนักเรียนรุ่นนี้ถึงไม่ค่อยฟังผู้อื่นเท่าที่ควร เวลาที่ครูเดินเข้ามาห้องเรียนปรากฏว่าเขาไม่สามารถนิ่ง หรือเตรียมข้าวของต่างๆ เพื่อจะเรียนได้ ถัดมาคือเรื่องการบูลลี่ ซึ่งก็มีทั้งการใช้คําหยาบคาย และการกลั่นแกล้งกัน แม้ว่าจะเป็นการแกล้งเล่นๆ แต่เด็กบางคนก็ไม่สามารถที่จะเบรกตัวเองได้ครับ
สุดท้ายคือความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน บางทีครูเดินถือของมา ถ้าเทียบกันเมื่อ 8 ปีก่อน ก็จะมีเด็กกุลีกุจอมาช่วย ครูเปี๊ยกก็ประเมินว่าความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนปัจจุบันไม่ได้แย่ แต่ว่าเขาไม่ค่อยรู้ตัวว่าควรประพฤติตัวอย่างไร”
จาก 3 ประเด็นนี้ ครูเปี๊ยกก็เริ่มสงสัยว่าอะไรที่ทําให้เด็กถึงมีลักษณะที่ต่างออกไปจากเด็กแต่ก่อน และคําตอบหนึ่งที่ครูเปี๊ยกได้จากการทํางาน รวมถึงการพูดคุยกับทั้งครูและผู้ปกครอง สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่คือ สถานการณ์โควิด ที่นอกจากจะมีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในเชิงวิชาการแล้ว ก็ยังมีการถดถอยในด้านปฏิสัมพันธ์ด้วย
“แค่ในช่วงปิดเทอม ก็เป็นเรื่องปกติที่เด็กนักเรียนจะมีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ดังนั้นครูเลยต้องมีเครื่องมือในการมาช่วยแก้ปัญหา เช่น การสั่งการบ้าน หรือการให้งานทำร่วมผู้ปกครองช่วงปิดเทอม เพื่อที่จะคงสมรรถนะความสามารถของนักเรียน
แต่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิดเป็นเรื่องหนักหน่วงกว่ามาก เพราะไม่ใช่ระยะเวลาแค่เพียง 1-3 เดือน เหมือนตอนปิดเทอม แต่กินระยะเวลายาวนานถึง 2-3 ปี และกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะตอบคำถามว่าทำไมเด็กถึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากเด็กยุคก่อนๆ”
ซึ่งหากเราอยากหยุดวงจรการบูลลี่ของเด็ก หลายตําราที่ครูเปี๊ยกอ่านพูดตรงกันอย่างหนึ่งคือ ต้องมี ‘คนหยุดวงจร’ ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทําหรือผู้ถูกกระทําก็ตาม โดยที่ไม่ฝั่งใดก็ฝั่งหนึ่งต้องถอยออกมาเอง และไม่สานต่อ เพราะถ้าเกิดตาต่อตากันต่อฟัน เอาคืนกันไปมาวงจรก็จะไม่จบสิ้น คล้ายกับหลักพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ว่า ‘เวรระงับด้วยการไม่จองเวร’ แต่ครูเปี๊ยกกลับสังเกตได้ว่า เด็กๆ หลายคนอาจไม่ค่อยเข้าใจคอนเซ็ปต์นี้
“พอมันมีโจทย์แบบนี้ ผมก็เลยเริ่มขบคิดว่า ทำไมเด็กเขาถึงยั้งตัวเองไม่ค่อยได้ และจะมีอะไรที่สามารถช่วยเขาได้บ้าง ซึ่งคําตอบหนึ่งที่ผมเจอระหว่างช่วงปิดเทอม ในช่วงที่เข้ามาสอนประมาณกลางปี 2564 หลังจากที่ไม่ได้เป็นครูมานาน ก็ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งคือ ‘Unselfie’ ที่พูดเรื่อง empathy โดยเฉพาะ
เราก็เลยคิดว่าเด็กๆ คงน่าจะขาดบุคลิกที่มี empathy ดูจากการที่เขามองตัวเองเป็นที่ตั้งว่าเขาต้องการอะไร แต่ลืมมองว่าคนอื่นเขาก็มีความต้องการเหมือนกัน เด็กๆ เขาไม่ได้มองว่าคนอื่นก็มีเหตุปัจจัยที่มองโลกต่างออกไปจากตัวเขา ก็เลยคิดว่าควรทำยังไงให้เด็กมี empathy มากขึ้นเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น
ซึ่งในหนังสือ Unselfie ที่ผมอ่านมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ ‘ภาวะเซลฟี่’ เป็นภาวะที่คิดแต่กับตัวเองฝั่งเดียว ซึ่งเวลาเขาเสพสื่อโซเชียลมีเดีย ก็จะเน้นว่า ‘ฉันต้องการจะสื่อสารอะไร’ ‘ฉันต้องการจะพิมพ์บอกอะไร’ เป็นการสื่อสารทางเดียวเป็นส่วนใหญ่
การที่เด็กอยู่กับโลกที่มีปฏิสัมพันธ์ต่ำ ไม่ได้เห็นหน้าเห็นตากัน เด็กเขาก็จะขาดทักษะการเรียนรู้ในการรู้จักอ่านสีหน้าแววตา ภาษากายต่างๆ และน้ำเสียงต่างๆ ที่จะทําให้เราเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่าย”
ครูเปี๊ยกจึงมองว่าเด็กในยุคก่อนที่สอนรุ่นแรก กับเด็กในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งก็ไม่ได้มองว่าเกิดจากการที่ผู้ใหญ่ไม่สอนเด็กเพียงแค่ปัจจัยเดียว แต่เพราะสถานการณ์โควิดทำให้เด็กไม่ได้ถูกฝึกฝนทักษะในการเข้าสังคมมากเพียงพอ
‘ครู’ คือคนแรกที่ควรมี Empathy
สำหรับการสร้าง Empathy ในโรงเรียน แน่นอนว่าสิ่งสําคัญคือ ครูควรมี Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจ, เห็นอกเห็นใจ ซึ่งครูต้องเข้าใจทั้งผู้ปกครองและเด็กเป็นพื้นฐานก่อน เวลาที่เด็กเขามีปัญหาหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ครูต้องเป็นคนที่เปิดใจ เป็นกลาง และคอยประสานทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา
“ครูต้องมี Empathy เพราะนี่คืองานของครู เราต้องประสานระหว่างพ่อแม่กับลูก นักเรียนกับโรงเรียน และถ้าครูเข้าใจก็จะทำให้ทํางานได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าเราเห็นอกเห็นใจคนอื่นก่อน ความแรงของเด็กและผู้ปกครองที่ส่งต่อมาถึงครูก็ถูกจะลดทอนลง เพราะเขาจะรู้สึกว่าเราเข้าอกเข้าใจเขา
หากตัวครูเองหลงลืมไปว่าเด็กต้องเผชิญอยู่ในสถานการณ์ช่วงโควิด แล้วเกิดการเรียนรู้ถดถอย รวมถึงครูไม่มี Empathy ไม่พยายามเข้าใจว่าพ่อแม่เจออะไรมาบ้างระหว่างที่เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านอยู่ตั้ง 2-3 ปี ก็มีโอกาสที่จะทําให้เกิดความไม่เข้าใจขึ้น เพราะครูก็จะคิดว่า เด็กควรเหมือนกับที่เราเคยเห็นสมัยก่อนหรือเปล่า หรือเกิดตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ปกครองปล่อยปละละเลยลูก ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าครูเริ่มจากการมี Empathy ก็จะทําให้เราเห็นภาพว่าเหตุปัจจัยล้วนมีที่มาที่ไป ไม่ใช่ความผิดของใครเลย
เพราะพ่อแม่ในภาวะเศรษฐกิจช่วงโควิดเขาก็สู้มากๆ ในการที่จะหาเงินมาเพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัว แต่มันก็ทําให้เวลาคุณภาพของผู้ปกครองกับเด็กสูญหายไปด้วย เด็กๆ เขาก็ไม่ได้เรียนรู้สมรรถนะต่างๆในการอยู่ร่วมกันกับคนอื่น
หรือถ้าเราเห็นว่าเด็กมีปัญหา เราอาจจะต้องย้อนกลับไปคุยกับผู้ปกครองว่าอยู่ที่โรงเรียนเขาเป็นแบบนี้ เพื่อที่จะเช็กกับผู้ปกครองว่าภาพตรงกันกับที่บ้านหรือเปล่า ถัดมาคือต้องหาเหตุปัจจัยว่าอะไรที่ทําให้เด็กเขาเป็นแบบนี้ คุยและรับเหตุผลของผู้ปกครองมาก่อน ถ้าผู้ปกครองเปิดกว้างเปิดใจ เขาก็จะเริ่มวิเคราะห์แล้วว่ามันเกี่ยวกับที่การเลี้ยงดูที่บ้านหรือเปล่า ซึ่งถ้าเกิดว่าข้อมูลสามารถสื่อถึงกัน ก็จะได้ข้อมูลที่เป็นจริง และจะเข้าใจพ่อแม่มากขึ้นด้วย ทำให้ครูเห็นว่าจะสามารถช่วยพ่อแม่ได้อย่างไร
เพราะถ้าครูใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน มั่นใจว่าฉันมองเด็กถูก มองผู้ปกครองถูก และมั่นใจว่าแนวทางการศึกษาของฉันดีที่สุด จะทำให้ครูคนนั้นติดหล่มแน่นอน เพราะคนอื่นอาจมองไม่เห็นเหมือนเรา
โดยรวมผมมองว่า Empathy มีความสําคัญในการที่เป็นเครื่องมือ ในการช่วยให้ครูทํางานกับทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง หรือเพื่อนครูได้อย่างราบรื่น ครับ ซึ่งคําว่า ‘ราบรื่น’ ก็หมายถึง พอเราปรารถนาดีต่อกัน ก็จะทําให้เราสามารถที่จะใส่รองเท้าของคนอื่น เห็นความรู้สึกของผู้อื่นได้ง่ายขึ้น และเมื่อจุดเริ่มต้นมันดีแล้ว ก็จะทําให้เราสามารถเปิดใจรับฟัง และทํางานร่วมกันต่อไปได้ง่ายขึ้นครับ”
ห้องเรียนแห่งความปรารถนาดี เมื่อทุกคนมี Empathy ในใจ
ครูเปี๊ยกมักจะใช้วิธีการง่ายๆ ในการสื่อสารและทำกิจกรรมกับเด็ก โดยกิจกรรมดังกล่าวถูกนำมาใช้ในห้องเรียน ‘จิตตื่นรู้’ และนอกจากห้องเรียนนี้แล้ว ยังมีการนำไปบูรณาการร่วมกับวิชาอื่นๆ ด้วย เช่น วิชาภาษาไทยที่มีการสอนวรรณกรรม ทำให้เด็กเห็นภาพง่ายขึ้น
โดยเริ่มจากการเรียนรู้พัฒนาการตามวัยของเด็กก่อนว่าเด็กวัยนี้ต้องการอะไร ซึ่งระดับชั้นที่ครูเปี๊ยกรับผิดชอบอยู่หลักๆ คือประถมปลาย ซึ่งเป็นวัยที่เตรียมพร้อมเข้าสู่วัยรุ่น
“ตามตำราเขาบอกว่าเด็กจะเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนมัธยมต้น แต่ผมมองว่าด้วยความที่สื่อโซเชียลเข้ามาเร็ว แล้วเด็กมีโอกาสได้เสพสื่อมากขึ้น รวมถึงยุคโควิดที่ทําให้เด็กเสพสื่อเร็วกว่าเดิม ผมเลยมั่นใจมากว่าเด็กประถมปลายคือเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว เพราะเขาได้เห็นอะไรเยอะและไวกว่ายุคที่เราเคยอยู่
วัยรุ่นเขาต้องเจอกฎระเบียบมากมายจากพ่อแม่ เพราะฉะนั้นเขาก็ถูกควบคุมจากพ่อแม่อยู่แล้ว ดังนั้นเลยคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่ถ้าอยู่ในโรงเรียน แล้วเขาจะมีโอกาสในการสร้างเงื่อนไขข้อตกลงขอตัวเอง”
ข้อดีคือ จะช่วยสร้าง Self-esteem ให้เด็ก เพราะเขาอยู่ในวัยที่ต้องการรู้ว่า เขามีความสามารถอะไร และสามารถทําอะไรกับโลกได้บ้าง ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้และรับผิดชอบจากการกระทําของตัวเองโดยที่ครูไม่ต้องกํากับมาก ก็จะช่วยเสริมพัฒนาการตามวัยของเด็กด้วย
“ผมลองให้เขาได้สร้างข้อตกลงร่วมกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วผมเองก็เตรียมข้อตกลงบางอย่างพื้นฐาน ที่คิดว่าครอบคลุมกับสิ่งที่เด็กๆ และครูต้องการ ก็เลยตั้งกฏไว้ 2 ข้อง่ายๆ กว้างๆ คือ ‘ให้กำกับตัวเอง’ หมายถึงว่าเด็กจะต้องดูแลตัวเองไม่ให้ไปเดือดร้อนคนอื่น ข้อสองก็คือ ‘อย่าทําให้ผู้อื่นเดือดร้อน ’ ซึ่ง 2 ข้อนี้ ก็เกี่ยวกับการมี Empathy ต่อผู้อื่น
ซึ่งตอนที่ใช้คำว่า Empathy แรกๆ เด็กๆ เขาก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ผมใช้กิจกรรมให้เด็กเข้าใจ Empathy ซึ่งคือการให้เข้าเรียนรู้จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หรือเรียนรู้ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้เขาได้ลองสวมรองเท้าของคนอื่นในเหตุการณ์นั้นๆ”
โดยครูเปี๊ยกจะใช้วิธีการโยนคำถามให้เด็กลองคิดและลองตอบ ว่าถ้าตัวเขาเป็นคนนั้น ในสถานการณ์นั้น เขาจะมีปฏิกิริยา หรือเลือกการกระทำแบบใด เพื่อที่เด็กจะได้เข้าใจเหตุผลของการกระทำของตัวอย่างที่เล่าอย่างถ่องแท้ และเมื่อเกิดความเข้าใจก็จะเกิดความเห็นอกเห็นใจตามมา
“เราต้องยกตัวอย่างสถานการณ์พวกนี้ให้เด็กตลอด เพราะเด็กยังอยู่แค่ระดับประถม ประสบการณ์ชีวิตยังน้อย ยิ่งมีสถานการณ์โควิดอีกก็ยิ่งมีประสบการณ์น้อยกว่าเดิม เพราะเด็กในระดับประถมปลาย เขาจะเริ่มมีการฝึกฝนแนวคิดเชิงนามธรรม เกี่ยวกับการวิเคราะห์ว่าสิ่งนี้ดีหรือเลว โหดร้ายหรือไม่ เป็นการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึก เราเลยต้องสอนให้เขาคิดเหมือนกับว่าเราไปสวมรองเท้าของคนอื่น คอยย้ำเขาเยอะๆ เพราะถ้าอยากสร้างเจตคติ หรือสมรรถนะอะไรเป็นพิเศษ เราต้องเน้นย้ำให้เด็กเห็นว่านี่เป็นสิ่งสําคัญ”
นอกจากนี้ก็มีการนำมาเชื่อมโยงกับหัวข้อ ‘การปลูกสติ ’ เพราะปัญหาที่พบคือ เด็กไม่ค่อยนิ่ง ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ทำให้ไหลไปตามสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวได้ง่าย ซึ่งขนาดตัวเด็กยังไม่ค่อยรู้ตัวเลยว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร จึงเป็นเรื่องยากที่จะนึกถึงคนอื่นว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร
“ผมเคยถามนักเรียนว่าเขาแกล้งเพื่อนทำไม เด็กก็ตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน ตอนแรกก็คิดว่าเด็กโกหกหรือเปล่า ก็เลยเช็กว่าเขาไร้เดียงสาจริงไหม สรุปว่าเขาไร้เดียงสาจริงๆ เพราะช่วงโควิดก่อนหน้านี้ทำให้เด็กไม่ได้ผ่านการเจอผู้เจอคนมา เลยทําให้เขาไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลัง ไม่ได้คิดถึงผลเสีย และความรับผิดชอบที่ตามมา ผมก็เลยมีเทคนิคการที่จะดึงตัวเด็กให้กลับมาอยู่นิ่ง โดยการให้คิดทบทวนตัวเองบ่อยๆ”
ซึ่งสื่อที่นำมาใช้สำหรับเด็กประถมคือ ‘สโนว์โกลบ’ (Snow Globe) ที่พอเขย่าแล้วจะมีหิมะล่องลอยในลูกแก้ว ก็จะบอกเด็กว่า เวลาโกรธให้มาเขย่าสโนว์บอลนี้นะ อย่าไปลงกับเพื่อน ระหว่างที่รู้สึกโกรธให้มองไปที่สโนว์บอล เปรียบเทียบว่าอารมณ์ข้างในก็ขุ่นมัวเหมือนกับสโนว์บอลเลย แล้วให้เขานั่งดูไปเรื่อยๆ ว่านานมั้ย กว่าหิมะจะสงบและลงมานอนก้นหมด พอหิมะนอนก้นหมดแล้วผมก็จะถามเด็กว่าตอนนี้โกรธอยู่หรือเปล่า ถ้าอารมณ์ดีแล้วค่อยกลับมาคุยกับเพื่อน เป็นต้นครับ
ในขณะเดียวกัน การทำงานกับเด็กประถมต้นก็มีความแตกต่างกับเด็กประถมปลายมากพอสมควร โดยสิ่งที่ครูเปี๊ยกเห็นได้ชัดเป็นอย่างแรกคือ เด็กประถมต้นเพิ่งโตมาจากอนุบาล ทำให้มีช่วงที่ยังมองตัวเองเป็นศูนย์กลาง (self center) อยู่และพยายามที่จะสื่อสารว่าตนเองอยากได้อะไร รู้สึกอย่างไรเป็นหลัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เขาไปถึงการคิดถึงคนอื่น อย่างไรก็ตาม ระดับของการมองตัวเองเป็นศูนย์กลางจะค่อยๆ ลดลงตามวัย และสามารถคิดถึงผู้อื่นได้มากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
“เด็กเขายังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนามธรรม บางทีโยนคำถามเชิงปรัชญาลงไป เช่น คิดว่าการกินเนื้อสัตว์ เป็นเรื่องที่ยุติธรรมกับสัตว์ไหม แต่เด็กเขายังขาดคลังคำศัพท์อยู่ ก็จะยังไม่สามารถตอบหรืออธิบายได้มากขนาดนั้น
สิ่งที่ทำได้สำหรับการทำงานกับเด็กประถมต้นคือ การใช้วรรณกรรมมาเป็นเครื่องมือ ให้เด็กได้เรียนรู้คลังคำศัพท์เชิงอารมณ์ความรู้สึก และเชิงนามธรรมมากขึ้น เพราะศัพท์บางคำเป็นคำที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือไม่เข้าใจความหมายอย่างแท้จริง
ตัวอย่างเช่น ถ้าเพื่อนบอกว่าโกรธ แล้วจะดูยังไงว่าเพื่อนโกรธ อ่านสีหน้าท่าทางยังไง ครูก็จะพาทํากิจกรรมให้เด็กได้ขบคิด ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ จึงต้องผ่านการทดลองทำจริงและสื่อค่อนข้างเยอะครับ
และนอกจากการบูลลี่ที่เราบอกเด็กว่าห้ามทําแล้ว ผมก็สอนตามตรงว่า บางครั้งการบูลลี่นั้น เราก็ไม่สามารถหยุดอีกฝ่ายได้ และถ้าโตขึ้นไปก็อาจจะมีคนมาพูดไม่ดีกับเราเต็มไปหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแก้ได้ก็คือ ต้องมี Self Esteem เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง เช่น การมีสายสัมพันธ์ที่ดี เห็นว่ามีคนที่ให้คุณค่ากับเรา สิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนให้เขามีเกราะป้องกันมากขึ้นด้วยครับ”
ทางโรงเรียนเองมีการสื่อสารกับผู้ปกครองต้องแต่วันปฐมนิเทศ ว่าจะมีการปลูกฝังนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และหลังจากทํากิจกรรมเสร็จ ก็จะมีบันทึกกิจกรรมและส่งให้ผู้ปกครองด้วย ซึ่งหากพ่อแม่อยากสานต่อสิ่งที่ครูสอนกับลูกก็สามารถทำได้ และทำให้พ่อแม่อุ่นใจว่าครูมีกระบวนการที่ชัดเจน
ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไป กับความเห็นอกเห็นใจที่ค่อยๆ เบ่งบาน
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ เด็กดูนิ่งขึ้นและต่อต้านน้อยลง ตัวนักเรียนเองก็บอกว่าตัวเขาและเพื่อนๆ ดูสงบ อย่างแต่ก่อนมีการใช้ความรุนแรง ครูเรียกไปเจอทุกสัปดาห์ แต่เดี๋ยวนี้ก็น้อยลง เห็นว่าตัวเองมีลิมิตมากขึ้น ถ้ารู้สึกว่าอันไหนเกินไปก็สามารถดึงตัวเองกลับมาได้ แล้วเพื่อนเริ่มเตือนกันเองมากขึ้นโดยที่ครูไม่ต้องบอก เช่น อันนี้แรงเกินไปแล้ว หรือเพื่อนจะต่อยกันก็เข้าไปดึงเพื่อนออกมา เด็กเขาจะไม่มองข้าม และเอาใจใส่กันมากกว่าเดิม
“แม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเด็กยังคงมีการแกล้งกันอยู่เหมือนเดิมด้วยเหตุผลว่า ‘อยากแกล้ง’ เราก็พยายามเข้าใจเขาว่า เด็กอยู่ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ และตอนนี้ยังอยู่ในเซฟโซนโรงเรียนที่เขาสามารถผิดได้ทุกอย่าง”
นอกเหนือจากครูและนักเรียนแล้ว กระแสตอบรับจากผู้ปกครอง ก็บอกว่าลูกมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเช่นเดียวกัน
“ผู้ปกครองเล่าว่า เด็กจะมีการกระทบกระทั่งกันตอนเล่นกีฬาและชนกันล้ม แล้วเขาก็เห็นภาพลูกตัวเองยื่นมือดึงเพื่อนที่ล้มขึ้นมา แล้วถามว่าเจ็บไหม ซึ่งเขาไม่เคยเห็นมาก่อน เขาก็ประทับใจ ว่าลูกเราโตขึ้นอีกขั้นแล้ว
เพราะจิตวิทยาเชิงพัฒนาการที่คุณหมอจะบอกว่าช่วงประถมคือ Golden Time หรือช่วงเวลาสำคัญ ที่หากเราอยากสร้างทักษะ EF (Executive Function) ให้กับเด็ก เด็กประถมคือช่วงสุดท้ายแล้ว เพราะจริงๆ ทักษะพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องเติมเต็มตั้งแต่ต้น ถ้าหลุดประถมปลายไปก็จะไม่ทันแล้ว การที่เติมเต็มให้เด็กตั้งแต่ตอนนี้จึงสำคัญมาก เพราะสิ่งที่ครูมัธยมเขาเจ็บปวดอยู่ตอนนี้คือการที่เด็กไม่ได้ถูกเตรียมมา ยิ่งเด็กเจอภาวะวัยรุ่นที่จะยิ่งเตลิดไปไกล มันก็จะทวีคูณกว่าเดิม”
อย่างไรก็ตาม การสอนให้เด็กเรียนรู้อย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะนอกเหนือจากนั้นต้องมีคนช่วยแตะเบรกเด็กด้วย เนื่องจากความเป็นเด็กทำให้ยังมีประสบการณ์ชีวิตน้อย
“บางทีเขาไม่สามารถที่จะจินตนาการผลลัพธ์แบบ Worst Case (เลวร้ายที่สุด) ได้ เช่น ถ้าเขาทําแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับคนๆ นั้น แล้วคนๆ นั้นจะทุกข์ทรมานมากน้อยแค่ไหน บางทีเขาอาจจะนึกไม่ออก ก็ต้องมีคนช่วยทําให้เขาเห็นให้ได้”
โดยคนที่จะเป็นคนแตะเบรกควรเป็นพ่อแม่และครู แต่หากต้องการปลูกฝังให้ได้ผลที่สุดควรเริ่มจากสถาบันครอบครัว และครูเป็นปราการสุดท้าย ที่จะช่วยเตือนเด็กและต้องยังมีความหวังว่าจะเปลี่ยนเขาได้ เพราะเด็กทุกคนไม่มีใครตั้งใจที่จะใช้ความรุนแรง
“อาชญากรรมบางอย่างที่เด็กทำแล้วรุนแรง มันเป็นปกติที่เราไม่อยากให้อภัย แต่เราต้องเชื่อว่าเขาจะเปลี่ยน เชื่อว่าเขายังมีส่วนที่ดีงามอยู่ ผู้ใหญ่และครูต้องทําหน้าที่นั้นคือ ‘การให้อภัย’ เพราะสิ่งที่เราทำได้คือการเป็นโรลโมเดล เพราะถ้าเราอยากได้สังคมที่มี Empathy เป็นพื้นฐาน เราก็ต้องใช้ Empathy ในตัวเราแสดงให้เด็กเห็น ” ครูเปี๊ยกกล่าวส่งท้าย