- อย่าฟังแต่คำ ‘เขาว่า’ และอย่าด่วนตันสินใจเชื่อถ้ายังไม่ได้มีโอกาสไปสัมผัสพบเจอเรื่องนั้นด้วยตนเอง ตรงกับคอนเซ็ปต์หนึ่งจากญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘เก็นจิ เก็นบุตซึ’ ที่น่านำมาปรับใช้ในชีวิต
- เก็นจิ เก็นบุตซึ ช่วยให้เราหยุดฉุกคิด ‘ไม่ด่วนตัดสิน’ สิ่งที่เห็นตรงหน้า มีความ ‘สงสัยใคร่รู้’ เป็นภูมิคุ้มกันตัว เผื่อเวลาและเผื่อใจอนุญาตให้ตัวเองได้ไปพิสูจน์ความจริงถึงหน้างาน ช่วยเพิ่มสกิล Empathy ที่ไม่ใช่เข้าใจ แต่ถึงขั้น ‘รู้สึก’ ถึงเหตุการณ์เรื่องนั้นๆ
- เรื่องนี้อาจเซนซิทีฟกว่าที่คิด ในโลกโซเชียล บางครั้งเราเผลอ ‘ปล่อยไก่’ ด้วยข้อมูลผิดๆ ที่เรารับมาและด่วนตัดสิน ด่วนแสดงออกแบบที่คิดบริสุทธิ์จากใจไปว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นคือความจริง จนโดนทัวร์ลง และทำให้เจ้าตัวสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองไปเลย
เคยไหม? บ่อยครั้งที่เราได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงเหตุการณ์เรื่องๆ หนึ่ง เป็นการฟัง ‘เขาว่า’ มาอีกที…ซึ่งเขาในที่นี่ก็ไม่รู้ว่าใคร แต่พอเรามีโอกาสไปสัมผัสพบเจอเรื่องนั้นด้วยตัวเอง ความจริงกลับตาลปัตร
- จากตอนแรกที่ฟังดูแย่…เจอเข้ากับตัว อ้าว ก็ไม่เห็นแย่ขนาดนั้นนี่
- ดูผ่านหน้าจอมือถือมาตลอด…พอไปสัมผัสของจริงความรู้สึกคนละเรื่อง
- ก่อนหน้านี้รับรู้มาว่าไม่มีปัญหา…พอไปดูหน้างานกลับพบว่าเป็นระเบิดเวลาที่เวลาเหลือน้อยลงทุกที
พวกเราหลายคนน่าจะเคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้กับตัวเราเองมาบ้างไม่มากก็น้อยจากประสบการณ์ชีวิตในหลากหลายเรื่อง ซึ่งก็ทำให้นึกถึงคอนเซ็ปต์หนึ่งจากญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘เก็นจิ เก็นบุตซึ’ (Genchi Genbutsu) ที่วันนี้อยากมาแชร์ให้ทุกคนอ่านกัน
เก็นจิ เก็นบุตซึ: ตามหาความจริงที่ต้นทาง
เก็นจิ เก็นบุตซึ 【現地現物】เป็นคำจากภาษาญี่ปุ่น แปลแบบตรงตัวได้ว่า ‘สถานที่แห่งความจริง’
คำนี้มีที่มาจากแนวปฏิบัติในการบริหารโรงงานของผู้บริหารชาวญี่ปุ่นยุคก่อน แต่ปัจจุบันถูกตีความในมุมที่กว้างขึ้นมากเมื่อนำไปใช้จริง ไม่ว่าจะ…
- การไปเยือนถึงต้นกำเนิดเพื่อหาความจริง
- การเดินทางไปเห็นปัญหาถึงหน้างาน
- การเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง ชนิดลงไปคลุกฝุ่น
จุดร่วมที่เหมือนกันคือเป็นการรักษาความสงสัยใคร่รู้ที่อยู่ในใจ ไม่ด่วนสรุปตัดสินจากข้อมูลที่ได้รับมาจากแหล่งโน้นแหล่งนี้ แต่เผื่อพื้นที่ให้ตัวเองได้ไปพิสูจน์ความจริงถึงต้นทาง
ไปให้ถึงหน้างานเพื่อเข้าใจปัญหา
ใครที่ทำงานคลุกคลีกับการตระเวนตรวจโรงงานบ่อยๆ อาจจะพอคุ้นหูมาบ้าง เพราะเดิมที เก็นจิ เก็นบุตซึ เป็นแนวคิดที่มีที่มาจากโรงงานผลิตในบริษัท Toyota หนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ที่เรียบง่ายแต่เวิร์ก คือ คุณโอโนะ ไทอิจิ (Ohno Taiichi) วิศวกรแถวหน้าของบริษัท และเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นระบบ Toyota Production System (TPS) อันโด่งดังที่เน้นการผลิตโดยคำนวณให้มีสินค้าคงเหลือน้อยสูญเปล่าที่สุด
คุณโอโนะ จะเริ่มต้นด้วยการพาวิศวกรน้องใหม่ไปเยือนถึงโรงงาน ให้อยู่สำรวจสังเกตทั้งวัน ดูขั้นตอนการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานทั้งหมด เมื่อใกล้หมดวัน ตัวเขาจะทำหน้าที่จี้ถามรายละเอียดข้อมูลแบบเจาะลึกเพื่อเช็คว่าได้ช่างสังเกตสิ่งต่างๆ เพียงพอแล้วหรือไม่ สาเหตุที่การเยือนหน้างานต้องเกิดขึ้นที่โรงงาน เพราะเขามองว่าบริษัทอยู่ในภาคการผลิต ความสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ตัวโรงงาน ไม่ใช่ห้องแอร์ในตึกระฟ้าใจกลางเมือง
หลังจากนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นถูกขับเคลื่อนด้วยภาคโรงงานอุตสาหกรรมโดยมี Toyota เป็นหนึ่งในผู้นำ เกิดคลื่นกลุ่มชนชั้นกลางมหาศาล ซึ่งมาพร้อมกลุ่มผู้บริหาร แต่ระยะทางที่ไกลระหว่างออฟฟิศในเมืองและโรงงานนอกเมือง ย่อมทำให้ผู้บริหารบางคนไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง อีกทั้งการสื่อสารแบบเรียลไทม์ที่น่าเชื่อถือก็ไม่ครอบคลุมนัก ความคลาดเคลื่อนของข้อมูลย่อมเกิดขึ้น
ในเวลาต่อมา เก็นจิ เก็ตบุตซึ จึงถูกนำมาใช้และกลายมาเป็นมาตรฐานปฏิบัติสำหรับผู้บริหารญี่ปุ่นที่ต้องเดินทางไปตรวจโรงงานอยู่เป็นประจำเพื่อหาต้นตอของปัญหาหรือช่องว่างที่ปรับปรุงพัฒนาได้
เมื่อกงจักรแห่งเวลาเดินหน้าต่อไป แนวคิด เก็นจิ เก็นบุตซึ ไม่ได้จำกัดแค่ภาคโรงงานผลิตอีกต่อไปแล้ว แต่ถูกตีความกว้างขึ้นและนำมาใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตคนเราด้วย เพราะไม่ต่างจากชีวิตคนเรา ของบางอย่างเราต้องออกไปเห็นกับตาถึงจะเชื่อ เจอกับตัวถึงจะตาสว่าง ประสบพบเจอมันโดยตรงถึงจะประทับอยู่ในความทรงจำ
ฉุกคิดสักนิดก่อนตัดสินจากข้อมูลส่งต่อ
ยังจำ ‘เกมกระซิบส่งสาร’ สมัยเด็กตอนเรียนในคลาสกันได้ไหม? ที่คุณครูจะพูดประโยคสารตั้งต้นแก่นักเรียนคนแรก ก่อนจะให้หันหลังพูดส่งต่อประโยคเดิมไปเรื่อยๆ ทั่วห้อง ผลลัพธ์คือเมื่อถึงคนสุดท้าย ประโยคนั้นมักถูกบิดเบือนไปจากเดิมไม่ได้ถูกต้องสมบูรณ์ 100% บางครั้งประโยคผิดเพี้ยนจนกลายเป็นคนละเรื่องเลยก็มี!
จะว่าไปแล้ว การทำงานและชีวิตของคนเราก็ไม่ต่างกันนัก เมื่อข้อมูลถูกส่งต่อเป็นทอดๆ วนไปในองค์กร จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ มีโอกาสสูงมากที่ข้อมูลจะผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทั้งความผิดพลาดหรืออคติความลำเอียงของตัวผู้ส่งสารเอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้
เก็นจิ เก็นบุตซึ จึงมาอุดช่องโหว่ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะเราจะไม่ได้เอาแต่รับสาร แต่บุกย้อนกลับไปต้นทางเพื่อหาข้อมูลสารตั้งต้น มันช่วยให้เราหยุดฉุกคิด ‘ไม่ด่วนตัดสิน’ สิ่งที่เห็นตรงหน้า มีความ ‘สงสัยใคร่รู้’ เป็นภูมิคุ้มกันตัว เผื่อเวลาและเผื่อใจอนุญาตให้ตัวเองได้ไปพิสูจน์ความจริงถึงหน้างาน
และเพราะปลายทางมักมาในรูปแบบรายงานตัวเลขสถิติหรือบทสรุปที่ถูกย่อยให้เข้าใจง่ายมาแล้ว จึงอาจสะท้อนความเป็นจริงได้แค่บางส่วน ส่วนที่ขาดหายไปอาจเป็นอารมณ์และความรู้สึกก็ได้?
เก็นจิ เก็นบุตซึ จึงช่วยเพิ่มสกิล Empathy ความเข้าอกเข้าใจในตัวเราเองด้วย ไม่ใช่เข้าใจ (Understand) แต่ถึงขั้น ‘รู้สึก’ (Feel) ถึงเหตุการณ์เรื่องนั้นๆ รู้สึกถึงความยากลำบากของคนที่อยู่กับปัญหาหน้างาน
ประณีตกับการขบคิด ชีวิตแบบเก็นจิ เก็นบุตซึ
ถึงตรงนี้เราจะสังเกตว่า เก็นจิ เก็นบุตซึมีความสงสัยใคร่รู้เป็นตอม่อเสาเข็ม ไม่ด่วนสรุปตัดบทจบ ไม่หัวอ่อนเชื่อใครง่ายๆ ขบคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนให้ดีก่อน มีวิจารณญาณให้มากเข้าไว้ มันหล่อหลอมเจียระไนเราให้มีความเป็นนักเรียน…นักเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง
ถ้าลองคิดดูดีๆ มันช่างแมตช์กับยุคสมัยนี้เป็นอย่างมาก ยิ่งเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลเยอะเท่าไร ยิ่งต้องคอมโบทักษะการแยกแยะคิดวิเคราะห์ให้สูงขึ้นตามเท่านั้น เอ๊ะ! ให้บ่อย สงสัยตั้งคำถามเข้าไว้ ก่อนไปเฟ้นหาความจริงด้วยตัวเอง ไม่ว่าเรื่องไหนก็ตาม การไปถึงต้นกำเนิดเพื่อค้นหาความจริงเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงที่มีความหมายและน่าจดจำ
เรื่องนี้อาจเซนซิทีฟกว่าที่คิด ดังที่เราเห็นกันในโลกโซเชียล บางครั้งเราเผลอ ‘ปล่อยไก่’ ด้วยข้อมูลผิดๆ ที่เรารับมาและด่วนตัดสิน ด่วนแสดงออกแบบที่คิดบริสุทธิ์จากใจไปว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นคือความจริง จนโดนทัวร์ลงชนิดเต็มลานจอด และทำให้เจ้าตัวสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองไปเลย
กล่าวได้ว่าเมื่อมี เก็นจิ เก็นบุตซึ เราจะใช้ชีวิตแบบมีสติมากขึ้น ประณีตกับการขบคิดวิเคราะห์ พิถีพิถันกับการส่งต่อ ละเมียดละไมกับการนำเสนอ รู้สึกไม่เสียเวลาแต่เอนจอยกับการ ‘ออกเดินทางทางความคิด’ เพื่อค้นหาความจริงที่หน้างานโดยไม่รู้เหมือนกันว่าแกะกล่องออกมาแล้วมันจะเป็นอะไรกันแน่…ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นศิลปะการใช้ชีวิตได้เลยนะเนี่ย?
อ้างอิง
https://www.process.st/genchi-genbutsu/
https://mag.toyota.co.uk/genchi-genbutsu/
https://kanbanzone.com/resources/lean/toyota-production-system/genchi-genbutsu/