‘สร้างแรงจูงใจให้เด็กลองปฏิบัติ แล้วค่อยสำทับด้วยความรู้ภาคทฤษฎี’ วิธีสร้างการเรียนให้เหล่าเด็กอาชีวะของครูต่าย – ภูมินทร์ ประกอบแสง ซึ่งแรงจูงใจก็มีตั้งแต่ขดลวด แม่เหล็ก และหลอดไฟ ไปจนถึงห้องน้ำอัตโนมัติ “กระบวนการเรียนรู้แบบนี้จะทำให้เด็กเกิดความสงสัย เมื่อสงสัยและอยากรู้เขาจะไปไขว่คว้าหาสิ่งที่เขาสนใจเอามาทำ พอเขาได้ความรู้จากสิ่งที่ทำเขาก็เอามาเล่นกับเพื่อน เขาก็จะรู้สึกว่ามีภูมิกว่าเพื่อน หรือถ้าเจอเพื่อนในห้องที่ชอบเรื่องเดียวกัน เขาก็จะจับคู่กันสนใจเรื่องนั้นไปเลย” การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ขึ้นไปลุยทำผลงาน ให้นักเรียนได้เจอปัญหาอุปสรรค จนหมดยกกลับเข้ามุม ครูต่ายก็ช่วยชี้แนะแนวทางให้นักเรียนกลับไปสู้ใหม่ เป็นรูปแบบการสอนที่สอนไม่หมด ให้เด็กได้ลองเจอและฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่ครูจะคอยช่วยเติมความรู้ไปทีละเปลาะ
ทุกๆ นวัตกรรมเกิดได้จากกระบวนการ Design thinking ทว่าทุกๆ Design Thinking ต้องเริ่มต้นจากแรงจูงใจ
แต่ความจริงก็คือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถสร้างแรงจูงใจด้วยตัวเองได้…
การชี้แนะและให้โอกาสจากผู้ใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนวัตกร ซึ่งนั่นเองคือสิ่งที่ ภูมินทร์ ประกอบแสง หรือที่เด็กๆ เรียกติดปากว่า ครูต่าย กำลังพยายามทำอยู่
ครูต่าย – ภูมินทร์ ประกอบแสง
จากอดีตเด็กบ้านนอก สู่การพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นนวัตกรผู้สร้างผลงานหลากหลาย (หนึ่งในนั้นคือ Easy Mushroom ชุดเพาะเห็ดขนาดเล็กอัตโนมัติสำหรับครัวเรือน ผลงานในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 3) ปัจจุบันครูต่ายคือ อาจารย์ประจำสาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ
วัยวุฒิอาจเปลี่ยนแปลง และบทบาทอาจเปลี่ยนไป ทว่าความเป็นนวัตกรของครูต่ายยังเปี่ยมล้น ทุกวันเขายังคงทำหน้าที่นวัตกร ผู้เพียรสร้างนวัตกรรม…ที่หาใช่เครื่องจักรกลหรือซอฟท์แวร์
หากแต่คือ ลูกศิษย์ในชั้นเรียนของเขาเอง
Empathize & Define : เด็กช่างมีโลกเป็นของตัวเอง
ในยุคปัจจุบัน ที่ระบบอนาล็อกล่มสลาย และถูกแทนที่ด้วยระบบดิจิทัลอย่างเต็มตัว มีการวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวางถึงตลาดแรงงาน ที่เด็กอาชีวะจะมีที่ยืนมากมายในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่กำลังพัฒนาไปสู่การใช้ AI – Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น
“เด็กอาชีวะจะมีผลต่อโลกมากในยุคที่ทุกอย่างใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เทคโนโลยีจะยิ่งก้าวต่อไปเรื่อยๆ คนรุ่นเก่าจะค่อยๆ หายไป เด็กรุ่นใหม่จะเติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะเด็กที่เรียนศาสตร์เหล่านี้มา เขาจะสามารถเอาไปใช้งานได้จริงๆ จากที่เราเคยมองเทคโนโลยีว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทุกวันนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากโดยเฉพาะในเขตเมือง ชนชั้นแรงงานสมัยนี้จะเป็นคนที่เรียนจบ ม.3 ม.6 ส่วนที่จบ ปวช. ปวส. ปัจจุบันไม่ใช่ชนชั้นแรงงาน จะเป็นระดับช่างขึ้นไป”
ทว่าในความเป็นจริง เด็กอาชีวะที่จบการศึกษาจากสถาบัน ยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อตลาดแรงงานได้
ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากค่านิยมการเรียนอาชีวะ ที่สังคมไทยยังไม่ให้การยอมรับเท่าการเรียนสายสามัญ ทว่าครูต่ายบอกว่าอีกเหตุผลหนึ่งคือ เด็กอาชีวะขาดแรงจูงใจ!
“ชั่วโมงแรกที่ผมสอน หรือทุกครั้งที่มีเด็กใหม่มาเข้าเรียน ผมจะถามคำถามแรกเสมอว่า ทำไมถึงเลือกมาเรียนช่าง? ก็จะมีคำตอบหลากหลาย ไม่ชอบวิทย์คณิตบ้าง บางคนก็บอกเพราะความขี้เกียจของตัวเองบ้าง”
ในฐานะเด็กอาชีวะเก่า และเคยได้รับแรงจูงใจจากอาจารย์มาก่อน จนได้เข้ามาสู่เส้นทางของการเป็นนวัตกร ครูต่ายจึงถอดบทเรียนของตัวเอง เพื่อนำมาปรับใช้ในการสอนลูกศิษย์
“สิ่งที่ทำให้ผมมาได้ถึงจุดนี้ได้ คือมีอาจารย์หลายท่านสอน ตอนเรียนอาชีวะผมเคยไปทำค่ายกับอาจารย์แล้วเขาบอกให้ผมหัดเป็นผู้นำ ได้เป็นพี่ค่าย ฝึกเป็นวิทยากร พอขึ้นมาเรียนมหาวิทยาลัยก็ทำค่าย E-Camp กับอาจารย์นครินทร์ ศรีปัญญา อาจารย์ที่ปรึกษาที่ดูแลเรา หลังจากนั้นอาจารย์ก็ชวนให้ทำผลงานไปแข่งขันโครงการ Youth’s Electronics Circuit Contest (YECC) ทำเครื่องเพาะเห็ดธรรมดา ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ของเราใช้งานได้จริง อาจารย์ก็บอกให้เอาการใช้งานได้จริงนี่แหละไปสู้กับเขา จนได้รางวัลที่ 2 ระดับประเทศ ถือเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตเท่าที่เคยได้มา ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย เราคิดว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่ได้ผลออกมาขนาดนี้”
Ideate : สร้างโลกการเรียนรู้ใหม่…ไม่ใช่แค่ในตำรา
การสร้างเด็กในพื้นที่ห่างไกลให้เติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคลที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ จึงเป็นเจตนารมณ์หนึ่งของครูต่าย ที่เขาตั้งมั่นไว้ตั้งแต่เลือกเรียนคุรุศาสตร์ จนกระทั่งจบออกมาและบรรจุที่วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ
“ตอนเลือกเรียนคุรุศาสตร์คิดว่าในอนาคตพอเราโตไปอยากจะสอนนักเรียน อยากจะสร้างนักศึกษาหรือสร้างคนที่เริ่มจากศูนย์ เพราะผมก็มาจากบ้านนอก เป็นเด็กคนหนึ่งที่มองหาโอกาส วิธีการหาโอกาสก็คือการเข้าหาอาจารย์ มีงานอะไรให้ช่วยผมก็ทำหมด พออาจารย์เขาเห็นความตั้งใจของเราเขาก็ส่งเราไปร่วมโครงการต่างๆ”
แต่ก่อนจะไปถึงขั้นแสวงหาประสบการณ์จากโลกภายนอกได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากในชั้นเรียนก่อน จากการถอดองค์ความรู้ตัวเองและประเมินเด็กในชั้น ครูต่ายจึงพยายามที่จะรื้อสร้างกระบวนการเรียนในชั้นเรียนเสียใหม่ จากแต่เดิมที่ต้องเรียนทฤษฎีแล้วไปปฏิบัติ ครูต่ายเลือกที่จะสร้างแรงจูงใจให้เด็กลองปฏิบัติ แล้วค่อยสำทับด้วยความรู้ภาคทฤษฎี
“เพราะผมเคยนั่งเรียนแนวทฤษฎีมาก่อน บอกเลยว่าเบื่อมาก (หัวเราะ) เคยลองให้เด็กแสดงความคิดเห็นเขาก็จะบอกว่า ถ้าอาจารย์ท่านไหนหาอะไรมาให้เล่นเขาจะสนุกมากกว่าที่จะนั่งฟังเฉยๆ เพราะลักษณะของเด็กช่างเขาไม่ชอบการนั่งเรียนทฤษฎีจากหนังสือหรือให้เขียนให้จดเลย จึงต้องหาอะไรมาให้เขาสัมผัส ผมจะเอาของมาให้ดูตั้งแต่คาบแรกเลย หลังจากนั้นค่อยมาอธิบายให้เขาเข้าใจในเชิงทฤษฎีภายหลัง”
เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็ก โดยที่หลายๆ ครั้งกระบวนการหรือกิจกรรมก็ไม่ได้อยู่ในแผนการสอน
“บางครั้งก็ไม่ได้สอนตามแผนครับ (หัวเราะ) เพราะตามแผนที่เราส่งจะเป็นตารางการเรียนรู้แต่ละสัปดาห์ แต่หลักการสอนของผมคือการหาแรงจูงใจมาให้เขาดูเพื่อให้เกิดความอยาก สร้างแรงจูงใจโดยการหาอะไรที่เด็กไม่เคยรู้หรือไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นของใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันนำมาให้เด็กดู ให้เด็กลองทำ พอได้เจออะไรใหม่ๆ บางคนเขาเกิดความประทับใจ เขาก็จะฝังใจเลยว่าเขาชอบอันนี้ สนใจอันนี้ เขาก็จะขี้สงสัยเรื่องนี้ แล้วคอยถามเราตลอด แล้วไปหาอุปกรณ์มาทำของเขาเอง”
Prototype : รูปร่างของแรงจูงใจ
การสร้างแรงจูงใจให้เด็กนั้น หลายครั้งที่ครูต่ายสร้างขึ้นด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ ไม่กี่ชิ้น ทว่ากลับได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ
“ผมสอนรายวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เรื่องการกำเนิดไฟฟ้าเลย เด็กบางคนอาจได้เรียนตั้งแต่ชั้น ม.3 แต่เขาได้เรียนแต่ในหนังสือหรือเห็นภาพวิดีโอที่ครูเปิดให้ดู แต่ของผมจะทำสื่อการสอนสำหรับเด็ก ปวช. ไว้ชุดหนึ่ง เป็นขดลวดพันกับแม่เหล็กแล้วมีหลอด LED หนึ่งหลอด พอใช้มือหมุนหลอดไฟก็จะติด เด็กก็จะสงสัยว่าอาจารย์ใส่ถ่านหรือเปล่า แค่นี้เด็กก็เกิดความว้าว! แล้วว่าแค่ขดลวดกับแม่เหล็กก็ทำให้กำเนิดไฟฟ้าได้”
หรือสำหรับเด็ก ปวส. ครูต่ายก็มีวิธีสร้างความว้าว! ตามวัยวุฒิของเด็ก เช่น การควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยโทรศัพท์มือถือ ครูต่ายจะลงมือทำให้เด็กดูแบบสดๆ จนเด็กเกิดความสนใจ และต่อยอดไปสู่ไอเดียใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี
“กระบวนการเรียนรู้แบบนี้จะทำให้เด็กเกิดความสงสัย เมื่อสงสัยและอยากรู้เขาจะไปไขว่คว้าหาสิ่งที่เขาสนใจเอามาทำ พอเขาได้ความรู้จากสิ่งที่ทำเขาก็เอามาเล่นกับเพื่อน เขาก็จะรู้สึกว่ามีภูมิกว่าเพื่อน หรือถ้าเจอเพื่อนในห้องที่ชอบเรื่องเดียวกัน เขาก็จะจับคู่กันสนใจเรื่องนั้นไปเลย”
นั่นคือขอบเขตของโลกการเรียนรู้แบบใหม่ที่ครูต่ายพยายามสร้างขึ้นในชั้นเรียน แต่ก็ดังที่เกริ่นไปก่อนหน้า ว่าการได้ออกจากชั้นเรียนไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในโลกใบกว้าง ก็เป็นสิ่งที่ครูต่ายเชื่อมั่น และพยายามผลักดันให้นักเรียนของเขาก้าวออกไปเมื่อมีโอกาส ดังเช่น การจุดประกายและผลักดันผลงาน Intelligent Toilet System ระบบห้องน้ำอัตโนมัติ ที่นักเรียนของเขาพัฒนาขึ้นและเข้าร่วมในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 7
“ ตัวผลงานนี้เริ่มต้นจากเด็ก ปวส.1 คนหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาเรียนไม่นาน ยังไม่ได้รู้จักเทคโนโลยีอะไรมากนัก เขาไปเห็นห้องน้ำอัตโนมัติที่ห้างแห่งหนึ่งใน จ.บึงกาฬ แล้วมาถามว่า อาจารย์ครับทำไมห้องน้ำที่วิทยาลัยเราถึงไม่มีแบบนี้บ้าง? ”
แต่แทนที่จะให้คำตอบเปล่าๆ ครูต่ายกลับเลือกที่จะสร้างแรงจูงใจให้เด็ก ด้วยการถามกลับไปว่า
“ผมก็ถามกลับไปว่า แล้วอยากทำมั้ย? ให้เป็นโปรเจกต์จบของพวกเรา ”
หากขั้นตอน Prototype ในกระบวนการ Design Thinking คือการที่นวัตกรรมแปรรูปไอเดียของตนเองออกมาเป็นผลงานต้นแบบ ครูต่ายในฐานะนวัตกรก็ริเริ่มที่จะแปรรูปประสบการณ์และแนวคิดของตน เพื่อส่งต่อไปพัฒนานักเรียนต้นแบบของเขา ไปพร้อมๆ กับที่ตัวนักเรียนก็ได้พัฒนาตัวเองผ่านการ Design Thinking ระบบห้องน้ำอัตโนมัติด้วยตัวนักเรียนเองอีกชั้นหนึ่ง
“หลังจากนักเรียนมาถาม ผมก็ให้เขาไปสืบหาข้อมูลมาก่อน ว่าในจังหวัดเรามีห้องน้ำแบบนี้ที่ไหนบ้าง รูปลักษณ์หน้าตาของแต่ละที่เป็นอย่างไร ให้ไปทดลองใช้ทุกตัว (หัวเราะ) ไปยืนเก็บข้อมูลว่าที่มีใช้อยู่ในบ้านเราใช้แบบจับเวลากี่วินาที ให้เก็บข้อมูลเพื่อตั้งสมมติฐานก่อน หลังจากได้ข้อมูลแล้ว ผมจึงให้โจทย์ไปว่า ให้ทำห้องน้ำอัจฉริยะด้วยงบไม่กี่พันบาท ซึ่งผมประเมินราคาอุปกรณ์แล้วว่ามันทำได้”
“ที่ตั้งโจทย์แบบนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็ก เพราะเขาไปเห็นเครื่องแบบนี้ในห้างราคาหลักหมื่น แล้วเงินแค่ไม่กี่พันทำได้แบบนี้เลยเหรอ เด็กก็พากันตื่นเต้นอยากจะทำ เพราะยังไม่เคยมีใครทำอะไรที่สามารถนำมาใช้ได้ในวิทยาลัย เป็นผลงานที่ใช้ในส่วนรวมด้วย เด็กหลายคนที่เดินผ่านแล้วสนใจก็ตื่นเต้นอยากทำกัน เป้าหมายตอนนั้นก็คือ ทำให้ออกมาใช้งานได้”
Test : บททดสอบของครู คือการเติบโตของนักเรียน
ขั้นตอน Test ของครูต่าย ก็คือ การผลักดันให้นักเรียนต้นแบบได้ลองดำเนินกระบวนการพัฒนาผลงานระบบห้องน้ำอัตโนมัติด้วยตนเอง โดยครูต่ายวางตัวอยู่ในบทบาทของที่ปรึกษา ที่คอยช่วยหนุนเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด
“การทำงานของเด็กจะค่อยๆ ไต่เป็นระดับๆ ไป อย่างช่วงแรกหน้าตาของผลงานก็จะเป็นแบบหนึ่ง ตอนทำเป็นโปรเจกต์จบก็หน้าตาออกมาอีกแบบหนึ่ง ตอนแรกตั้งเป้าหมายเพียงแค่ให้ใช้งานภายในแผนก มีการทำแบบสอบถามให้นักเรียนที่ได้ลองเข้าไปใช้งานได้แสดงความคิดเห็น นี่คือเป้าหมายของโปรเจกต์จบ จนได้เข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ ก็เริ่มชวนนักเรียน ปวช. มาร่วมเพิ่มเติม ให้เขาได้ลองทำดูเผื่อว่าจะมีไอเดียอะไรแปลกใหม่”
เปรียบเหมือนเวทีเวทีหนึ่ง ที่ครูต่ายเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ขึ้นไปลุยทำผลงาน ให้นักเรียนได้เจอปัญหาอุปสรรค จนหมดยกกลับเข้ามุม ครูต่ายก็ช่วยชี้แนะแนวทางให้นักเรียนกลับไปสู้ใหม่
เป็นรูปแบบการสอนที่สอนไม่หมด ให้เด็กได้ลองเจอและฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่ครูจะคอยช่วยเติมความรู้ไปทีละเปลาะ
“เรื่องระบบต่างๆ เด็กเขาไม่มีปัญหา ปัญหาหลักๆ อยู่ที่การออกแบบเพราะเขายังมองภาพไม่ออกว่ามันควรจะหน้าตาแบบไหน? ควรจะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมธรรมดา? หรือจะวางตำแหน่งท่ออย่างไร? เด็กสามารถวางแผนวางระบบจนสำเร็จพร้อมทำงานได้แล้ว แต่ผมอยากฝึกให้เขาได้คิดออกแบบเอง ให้ลองทำ ให้เจอปัญหาเองก่อนแล้วค่อยๆ บอกทีละขั้นตอน ซึ่งนั่นเองทำให้เจอว่าปัญหาของเขาคือการออกแบบ”
เพราะการชี้แนะจากผู้ใหญ่หรือผู้รู้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนวัตกร ครูต่ายที่เคยผ่านจุดนี้มาก่อนจึงพยายามทำหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาอย่างเต็มที่
“เห็นภาพตัวเองช่วงที่ทำโครงการต่อกล้าฯ (ยิ้ม) ทำเครื่องเพาะเห็ดตอนเรียนปี 2 บอกเลยว่าเหนื่อยมาก เพราะอาจารย์ให้โจทย์มาใหญ่เกินตัวมาก ตัวระบบเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่พอไปถึงเรื่องโครงสร้างเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผม ต้องคอยปรึกษาอาจารย์ตลอด ผมได้เรียนรู้ว่าขีดความสามารถเราเท่านี้ เราต้องมีคนเข้ามาช่วยต่อยอด เราต้องเอาคำแนะนำเรื่องนั้นเรื่องนี้ของผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านมาแล้วพัฒนาเพิ่มเติมเอง”
และถึงวันนี้ การทดสอบของครูต่ายก็เริ่มเห็นผลเป็นที่น่าพอใจ จากการที่นักเรียนของเขาเกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาผลงานให้ดียิ่งๆ ขึ้น ให้ถึงขนาดสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้
“ที่เห็นคือ เด็กเกิดความอยากที่จะทำต่อให้ขายให้ได้ อยากมีธุรกิจเล็กๆ ของเขาเอง เพราะเวลาไปออกงาน อย่างที่งาน NECTEC มีคนสนใจเข้ามาถาม แล้วจะขอซื้อทั้งตัวฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เลย เด็กเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาทำมามันขายได้จริงๆ นะ เหมือนจะเป็นสิ่งที่ที่ไหนก็มีขาย แต่ของเราราคาถูกกว่า คนทั่วไปแตะต้องได้ บ้านไหนอยากมีก็สามารถทำได้”
Next Step : แต่ละคนมีก้าวย่างของตัวเอง
แม้จะมองว่า เด็กอาชีวะจะเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันอันใกล้ที่ทุกอย่างล้วนต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และแม้จะพยายามถ่ายทอดวิชาความรู้ในศาสตร์ของนวัตกรให้แก่ลูกศิษย์อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ครูต่ายอยากเห็นจากลูกศิษย์ของเขา ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเติบโตไปเป็นนวัตกรที่มีชื่อเสียง หรือร่ำรวยด้วยการขายนวัตกรรมที่ผลิตสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง…
“ การได้เป็นครูสอนเด็กช่างนี่แหละครับคือความภูมิใจของผม เพราะเด็กช่างพวกนี้เขาจะโตไปเป็นอนาคตของชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่างไฟที่ทำในบ้าน ช่างไฟที่ทำงานการไฟฟ้า หรือช่างอิเล็กทรอนิกส์ที่ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ความภูมิใจคือเราได้สอนช่างให้เป็นช่าง ถึงไม่ได้เป็นช่าง อย่างน้อยเขาก็ได้เอาความรู้ที่ได้เรียนกับเราไปใช้ประโยชน์”
“อย่างการพาเด็กไปแข่ง สิ่งที่เขาได้มากที่สุดคือ ประสบการณ์ ที่เขาจะไปเล่าให้พ่อแม่พี่น้องฟังได้ พ่อแม่จะเกิดความประทับใจในตัวลูก อย่างน้อยครั้งหนึ่งลูกเราก็เคยได้ไปร่วมโครงการ ได้ไปทำอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นประสบการณ์ของเขา หรือการได้ไปเจอเพื่อนใหม่ๆ ได้ไปเจอโครงการของโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้ เขาน่าจะเกิดเป็นแรงบันดาลใจ”
เพราะถึงที่สุดแล้ว มนุษย์หาใช่เครื่องจักรกล และเมื่อขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ก็ล้วนแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล
“สิ่งสำคัญคือ ครูต้องเข้าใจเด็กในแต่ละช่วงวัย ซึ่งมีความต้องการไม่เหมือนกัน ความสนใจก็ไม่เหมือนกัน นักเรียนในห้อง 20 – 30 คน จะมีแค่บางส่วนที่สนใจเรา และอีกส่วนที่ไม่สนใจเราเลย (หัวเราะ) เราต้องสังเกตพฤติกรรมเขาแล้วแก้ปัญหาให้ได้”
“ตัวอย่างเช่นถ้าเจอเด็กที่เล่นหยอกล้อกันตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กหลังห้อง สิ่งแรกที่จะทำคือย้ายเขามาอยู่หน้าห้อง เขาอาจเกิดความกดดัน แต่ผมจะมองตาเขา พยายามชวนพูดชวนคุย ให้เขาได้ออกมาทำกิจกรรม ได้สัมผัสอุปกรณ์ข้างหน้า พอเขาเกิดความใกล้ชิดกับเรามากขึ้น เด็กคนนั้นจะเปลี่ยนไป พอคาบต่อไปเขาจะความสนใจเรามากขึ้น การสอนครั้งแรกมีความสำคัญมาก เขาต้องประทับใจในตัวเราถึงจะสอนกันไปได้ตลอด แต่ถ้าครั้งแรกเราไม่น่าประทับใจเลยครั้งต่อๆ ไปก็เป็นเรื่องยาก”
นั่นคือแนวทางของนวัตกรผู้สร้างนวัตกร สิ่งสำคัญคือการให้โอกาสและสร้างจูงใจให้เกิดขึ้นกับเด็กให้ได้ หากแต่เมื่อจุดแรงจูงใจติดแล้ว สุดท้ายปลายทางผลงานของเขาจะเลือกเดินต่อในทางไหน เขาก็พร้อมยินดีกับทุกเส้นทางที่ลูกศิษย์ได้เลือกแล้ว
กระนั้นสำหรับตัวครูต่ายเอง การเป็นนวัตกรผู้สร้างนวัตกรอาจยังฟังดูไม่ซับซ้อนพอ เพราะก้าวต่อไปของเขาคือการยกระดับตัวเองขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นนวัตกรผู้สร้างนวัตกรผู้สร้างนวัตกร
“ตอนนี้ผมเพิ่งอายุ 25 ปี รู้สึกว่ายังมีอะไรที่ทำได้มากกว่านี้ วันนี้เราสามารถสร้างเด็กขึ้นมาได้ชุดหนึ่ง ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ดำเนินรอยตามเราได้ทุกอย่าง แต่ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเขาได้แล้ว ในอนาคตผมอยากเป็นผู้บริหารที่สอนครูท่านอื่นให้ไปสอนเด็ก ให้เขามองเด็กให้ออก โฟกัสที่ตัวเด็กให้มากขึ้น แล้วเราจะพบว่า เด็กอาชีวะสามารถทำอะไรได้มากมายเลย” ครูต่ายทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม