ตามไปดู โครงการดนตรีสร้างสรรค์เพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โครงการสอนดนตรีของ ยุ้ย เสาวคล ม่วงครวญ – นักเชลโล่และ project director ในการสอนเด็กออทิสติกให้หัดเล่นดนตรี ดูพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของเด็กออทิสติกทิสติกหลังกระบวนการดนตรี เด็กทุกคนควรจะเล่นดนตรีได้ และควรมีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนดนตรี ไม่ว่าจะเขาพิการหรือไม่ก็ตาม เพราะดนตรีมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพ
ทันทีที่เดินเข้าไปในโรงเรียนสอนดนตรีแห่งนี้ ดูทีแรกก็คงเหมือนโรงเรียนสอนดนตรีทั่วไป คีย์บอร์ดที่วางเรียงรายอยู่หลายตัว กล่องไวโอลินและเชลโล่ ตารางการเรียนการสอน แต่ใครจะรู้ว่าไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ยุ้ย เสาวคล ม่วงครวญ – นักเชลโล่ โปรเจ็คไดเร็คเตอร์ และเจ้าของสถาบันร่วมที่นี่พยายามจะปลุกปั้นโครงการดนตรีสำหรับเด็กออทิสติก หรือโครงการดนตรีสร้างสรรค์เพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
จากจุดเริ่มต้นของนักดนตรีสู่การเป็นนักดนตรีทดลอง ที่ชอบทดลองใส่ความเปลี่ยนแปลงลงไปในงานของตนเอง วันนี้เธอเห็นโอกาสการทดลองของตัวเองอีกครั้ง หลังคำชักชวนของผู้ใหญ่ที่อยากให้เธอลองสอนดนตรีให้กับเด็กออทิสติก ทั้งที่เธอไม่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเด็กพิการมาก่อน ยุ้ยตัดสินใจลองตั้ง โครงการดนตรีสร้างสรรค์เพื่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อสร้างพื้นที่ทางดนตรีและพื้นที่การทดลองของเธออีกครั้ง
แม้จะบอกว่าเป็นโครงการ แต่กิจกรรมนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือภาคเอกชนรายใหญ่ใดๆ ทั้งหมดเกิดจากความพยายามของครูยุ้ยและเพื่อนๆ มิตรสหายในการปลุกปั้น เริ่มต้นจากการทำอัลบั้มเพลงเองเพื่อเป็นทุนตั้งต้น สู่ความร่วมมือที่ทำให้โรงเรียนดนตรีแห่งนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษอย่าง ออทิสติก
ตามไปดู และพูดคุยกับครูยุ้ย ถึงที่มาและความพยายามสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในครั้งนี้ ความสนใจ จุดเริ่มต้น อุปสรรค และเล็งเห็นอะไรในตัวน้องๆ ศักยภาพการพัฒนาของพวกเขา รวมถึงบทเรียนของครูยุ้ยเองที่ได้รับจากการทำงานนี้ และพิสูจน์ให้เห็นว่าทำไมคนทุกกลุ่มควรเข้าถึงดนตรี
เริ่มต้นสนใจดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่
เราเรียนจบดนตรีศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เครื่องดนตรีที่เล่น คือ เชลโล่ พอเรียนจบก็มาเป็นครูที่สถาบันดนตรีอยู่ 10 ปี หลังจากนั้นไปเป็นอาจารย์ที่มหาลัยราชภัฏนครปฐม อยู่ 3 ปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราค้นหาตนเอง แล้วก็ไปเจอโรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ ของ ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ได้ทำงานที่นั่นแล้วชอบ เลยลาออกจากการเป็นอาจารย์ เลิกสอนทุกอย่าง แล้วหันไปเดินสายทำดนตรีประกอบละครและผลิตชิ้นงานของตนเอง เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นนักดนตรี เป็นคนแต่งเพลงและเรียบเรียงด้วย ผลงานที่คนน่าจะรู้จักมี สมุย ซอง ของพี่ต้อม เป็นเอก แล้วก็มีงานจากต่างประเทศบ้าง
จุดเริ่มต้นของโครงการเป็นอย่างไร
พอเป็นนักดนตรีเต็มตัว เรากลับมาอยู่บ้านที่นครปฐม ส่วนตัวก็รู้จักกับ หมอ พยาบาล โรงพยาบาลนครปฐมอยู่แล้ว พอเขารู้ว่าอยู่แถวนี้ก็ชวนเราไปเล่นดนตรีให้เด็กๆ ในโรงพยาบาลฟัง เช่น งานวันเด็ก ทำมาแล้ว 3 ครั้ง โดยทำปีละครั้ง ซึ่งก็จะมีเด็กที่ป่วยและไม่ได้กลับบ้าน เราไปเล่นให้เขาฟังตามห้องที่เขาพัก จากนั้นก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำว่า ทำไมไม่เปิดสอนดนตรีสำหรับเด็กออทิสติกล่ะ ที่นครปฐมไม่มีเลยแถมที่สอนในกรุงเทพฯ ก็ต้องไปรอคิวนานมาก
เราเลยตัดสินใจเลือกทำที่บ้าน ส่วนหนึ่งคิดว่าเพราะเราเป็นคนที่นี่ เคยเห็นโครงการแบบนี้มีอยู่แค่ในกรุงเทพฯ แต่ที่อื่นไม่ค่อยเห็น เลยรู้สึกว่าพวกเขาเข้าไม่ถึง และที่สำคัญคือสะดวกทั้งกับเราและน้องๆ
เราเข้าใจว่ายังมีคนที่ทำงานเรื่องนี้ไม่มาก เท่าที่รู้ก็มี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำ แต่ก็แน่นเพราะปริมาณเด็กๆ ที่อยากเข้ากระบวนการมีเยอะ และกระบวนการก็ต้องใช้เวลานาน แต่พอมาทำก็เข้าใจว่าทำไมถึงนาน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
เราไปคุยเรื่องนี้กับโรงพยาบาลซึ่งผลคือเขาสู้ไม่ไหว เขาไม่มีงบประมาณที่จะมาจ่ายค่าเรียนและสนับสนุนโครงการ พอดีจังหวะนั้นเราได้ทำอัลบั้ม (พรายอินสเปซ) กับ พี่ พราย ปฐมพร ปฐมพร เราก็เลยชวนทีมงานและเพื่อนๆ วงอภิวาท ให้มาทำอัลบั้มนี้ด้วยกัน รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายก็เอาไปทำโครงการ ซึ่งทุกคนก็ช่วยกัน บวกกับพี่พราย ปฐมพร เองก็มีฐานแฟนคลับอยู่ เวลาทำอัลบั้มออกมาก็มีคนช่วยซื้อ จากนั้นเราก็กลับไปคุยกับโรงพยาบาลอีกครั้งนึงว่าเรามีทุนแล้ว คุยกันเสร็จ โรงพยาบาลก็คัดน้องๆ มา นอกจากทุนจากการทำเพลง บางส่วนก็มาจากเพื่อน พี่น้อง ครู อาจารย์ มาช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้อีกทางหนึ่ง เพื่อที่จะได้มาทำการจัดการในโครงการนี้
พอเริ่มโครงการเราก็เริ่มหาเพื่อนที่ปรึกษา ทั้งนักกายภาพ นักพัฒนาการเด็ก หาคนคุย เราขอให้โรงพยาบาลคัดเลือกเด็กที่พอจะเรียนได้มาให้ ที่คิดว่าเราสอนพวกเขาได้ และเขาสามารถเรียนรู้ได้
อีกอย่างนึงที่เราอยากจะลองทำโครงการนี้เป็นเพราะว่าโดยพื้นฐานของเราเป็นนักดนตรีทดลองด้วย เราชอบทดลองไปเรื่อยๆ โดยธรรมชาติ พอมาเห็นงานที่น่าสนใจ ก็อยากทำ ดนตรีทดลอง คือการที่คนทั้งวงสามารถเล่นดนตรีแบบที่ไม่มีโน้ตบังคับ ไม่มีทำนองหรือจังหวะตายตัว ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเครื่องดนตรีเท่านั้น บางคนใช้ไวโอลินแต่เล่นในวิธีที่ไม่เหมือนเดิม บางคนใช้เครื่องพิมพ์ดีดเป็นเครื่องดนตรี และทุกคนเล่นไปตามความรู้สึกของตนเอง เราได้รู้จักดนตรีทดลองแบบนี้จากงานอบรมที่นึง แล้วรู้สึกชอบมากๆ รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นการลดอีโก้ของนักดนตรี เพราะปกตินักดนตรีจะเล่นเพื่อทำยังไงก็ได้ให้เสียงกลมกลืน ให้เสียงตรงเสียง แต่ดนตรีทดลองไม่ได้สนใจเรื่องพวกนั้นเลย ไม่มีใครรู้ว่าช่วงไหนใครจะเล่นนำ เล่นเบา อันนี้เขานำ อันนี้เรานำ เราคิดว่าสิ่งน้ำขัดเกลาให้เรากล้าลอง นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า เราเป็นคนที่ทำงานทดลองแล้วสนุก เรารักที่จะได้ทดลองเสมอ
น้องๆ มีพื้นฐานไหม แล้วหัดให้น้องเริ่มเล่นยังไง
ไม่มีเลย แรกสุดเลยให้ผู้ปกครองพามา แล้วเราก็ลองดูสรีระ บางคนตัวสูง บางคนตัวเล็ก ดูนิ้ว ดูว่าใครมีแนวว่าเขาจะเหมาะกับอะไรแล้วก็ถามผู้ปกครองกับเด็กว่าชอบไหม เอาเครื่องดนตรีทั้ง 3 แบบ ไวโอลิน เชลโล่ และเปียโน แล้วให้เด็กเลือก ส่วนใหญ่เด็กจะเลือก เปียโน กับ ไวโอลิน เพราะเล่นง่าย สำหรับเรา เปียโนง่ายที่สุด เพราะว่ากดไปยังไงก็มีเสียง
ในคาบแรก เราให้ผู้ปกครองเข้ามาด้วย เพราะหลายอย่างพ่อแม่ก็ต้องเอาไปสอนต่อ เราเลยสอนผู้ปกครองไปด้วย อย่างเปียโน ก็จะให้เด็กรู้จักมือซ้ายมือขวาก่อน เพราะบางคนไม่รู้เลยว่าอันไหนซ้ายขวา บางทีเราบอกให้ยกมือขวาก่อนแล้วยกมือซ้าย ให้รู้จักตัวโน้ตทีละตัว ว่าคือโน้ตอะไร ให้เขาจำให้ได้ว่าอยู่ตรงไหนของเปียโน บางคนขยับนิ้วแต่ละนิ้วไม่ได้ กล้ามเนื้อเล็กๆ ของเขาขยับไม่ได้ เราเลยให้ฝึกขยับนิ้ว ฝึกเคาะโต๊ะ ฝึกเคาะนิ้ว ทำให้กล้ามเนื้อนิ้วทำงาน พอกลับบ้านไปก็ให้หาลูกบอลกดแต่ละนิ้ว ก็ได้ผลเหมือนกัน บางคนจับคันชักไวโอลินไม่ได้ ฝึกไปเดือนสองเดือน เขาสามารถจับได้
ความรู้ความเข้าใจของตัวเองเกี่ยวกับเด็กออทิสติกถือว่าเริ่มต้นจากศูนย์เลยใช่ไหม
ใช่ค่ะ เรื่องความเข้าใจในคำพูดของเราด้วย แรกๆ เราไม่เข้าใจ บางครั้งเราพูดๆ ไปแล้วสงสัยว่าทำไมเค้าเงียบกันไปเลย เราเลยต้องไปขอคำปรึกษาจากผู้ปกครองของน้องๆ ถึงได้รู้ว่า เขาไม่เข้าใจที่เราพูด เพราะเด็กไม่ค่อยได้เจอคนอื่นหรือคนนอกครอบครัว ถ้าเป็นภาษาใหม่ๆ คำยากๆ ต้องพูดต้องอธิบายให้เขาเข้าใจมากขึ้น
ยังมีเรื่องความไม่ไว้ใจด้วยนะ เช่น น้องคนนึง 5 ขวบ กว่าจะทำให้เขาไว้ใจเราได้นั้นนานมาก ร้องไห้ ตะโกนโวยวาย มีคนนึงไม่ร้องแต่ไม่ยอมให้เราถูกตัวเลย เขาต้องเล่นเปียโนใข่มั้ย? แล้วดนตรีมันต้องมีการจับตัวแต่เขาไม่ให้เราจับ เวลาเล่นก็พยายามเอียงตัวหนี ไม่ให้โดนตัว เราต้องพยายามสื่อสารกับเขาให้ได้ ปรึกษากับพ่อแม่และผู้เชี่ยวชาญว่าต้องทำอย่างไร สรุปว่าเขาไม่ให้โดนตัวเราก็ไม่โดน แล้วน้องคนนี้ก็เป็นคนคำไหนคำนั้น ยึดสัจจะ สมมติเราบอกเขาว่าจะให้เล่นอีกครั้งเดียว เขาก็จะเล่นครั้งเดียวแล้วจบ มากกว่านี้เขาก็จะร้องไห้
วิธีแก้ของเราคือ พูดคำไหนต้องคำนั้นไปเลย ไม่ว่าผลจะเป็นยังไง จะตามใจเราไม่ได้
ต่างจากตอนคิดไหม
(หัวเราะ) ตอนทำโครงการเดือนแรก คนรอบข้างพูดว่าหน้าเราดูเครียดมาก แต่พอผ่านเดือนนึงแล้วสบาย เพราะเรารู้จักเขาหมด อาจจะเป็นเพราะเราตกผลึกได้มากขึ้นว่า เขามาเพื่อกายภาพบำบัด ไม่ได้มาเพื่อเป็นนักดนตรี แรกๆ เรายังรู้สึกว่า เด็กต้องเล่นได้สิ ต้องเล่นได้สักเพลงหนึ่ง ต้องจับคอร์ด ต้องเดินเบสได้ตามเด็กในสถาบันดนตรี
เด็กแต่ละคนมีจุดมุ่งหมายในการเรียนแตกต่างกัน บางคนมาเรียนเพื่อผ่อนคลาย หรือเพื่อเป็นนักดนตรี แต่โครงการนี้เราก็เพิ่งมาเข้าใจเพิ่มทีหลังว่าเพื่อพัฒนาศักยภาพทางร่างกายด้วยดนตรี พอเปลี่ยนโฟกัสเป้าหมายเราก็เปลี่ยน
เราว่าสิ่งที่ยาก คือการที่เด็กแต่ละคนมีจุดที่ควรโฟกัสและดูแลต่างกัน การเรียนการสอนเลยควรทุ่มเทให้พวกเขาเฉพาะรายบุคคล ซึ่งโรงเรียนข้างนอกอาจจะให้สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ได้ ถ้าพวกเขาต้องการมากกว่านั้น หรือต้องการเน้นเฉพาะบางจุด บางคนเราอาจจะต้องบอกเขาหลายๆ รอบหน่อย ต้องสอนเขาย้ำๆ หน่อย เท่านั้นเอง ซึ่งก็พอเข้าใจว่าโรงเรียนที่มีคนเยอะๆ จะมานั่งสอนเด็กแบบนี้ไม่ได้
แล้วหาความรู้เรื่องเด็กออทิสติกจากไหน
เราหาความรู้ตามสื่อต่างๆ สอบถามจากพ่อแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติก ดูจากอินเทอร์เน็ต ถามนักกายภาพจากทีมโรงพยาบาล คุยกันเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนจะสอน แล้วก็ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับพื้นฐานของเด็กออทิสติกเป็นยังไงบ้าง ทางโรงพยาบาลก็ให้ข้อมูลมาอ่าน แต่ในที่สุดก็ต้องดูจากเด็กเป็นหลัก เรื่องนี้ไม่มีวิธีตายตัว วันนี้บางคนเล่นได้ดีมาก แต่อีกวันอารมณ์เขาเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับ อย่างเขาไปเจออะไรมาแล้วอารมณ์เสีย เขาก็เล่นไม่ดี หรือบางวันอารมณ์ดีมาก พอมาถึงก็ตั้งใจเรียนมากเลย เรียนได้ มีสมาธิ ถ้าเขากังวล เขาเครียด เขาก็เล่นไม่ได้เหมือนกัน ปัจจัยสภาพแวดล้อมค่อนข้างมีผล
เริ่มต้นสอนยังไง
เราพยายามให้เขาไล่นิ้วเป็นสเกล 1 ชุดของเสียงที่มันเรียงกัน โด เร มี ฟา ซอล ซอล ฟา มี เร โด ก็ยังไม่ครบจนถึงที ให้ใช้แค่นิ้ว 5 นิ้ว ให้นิ้วขยับ (โด ถึง ซอล) 4 เดือนแรกเราทำอยู่แค่นี้ แล้วก็ให้เพลงไปแต่ละเพลง เพลงง่ายๆ ที่อยู่ในนิ้ว 5 นิ้ว เช่น เพลงหนูมาลี เพลงแมงมุมลายตัวนั้น หรือเพลงที่พ่อแม่เขารู้จักด้วย
มีเด็กคนไหนที่ประทับใจไหม
จริงๆ มีหลายคน เช่น จั้มเปอร์ เขาพูดไม่ได้ถ้าสงสัยจะขยับมือเหมือนหยิบ วันหนึ่งตอนหลังๆ นี่เขาหยิบเก้าอี้มาให้เรานั่ง, น้องผู้หญิงที่เล่นไวโอลิน ชื่อพริ้มเพรา น้องพัฒนาการดีมาก เพราะที่บ้านเขาใส่ใจมากเลย พอกลับไปบ้าน คุณยายของน้องเขาก็ให้น้องทำเองทุกอย่าง เราทราบว่าทางบ้านฝึกน้องให้มีวินัย คุณยายจะบอกให้ซ้อม ถามว่าวันนี้ซ้อมหรือยัง? สำคัญคือให้เด็กทำเอง สุดท้ายก็คือครอบครัวสำคัญที่สุด เพราะเป็นปัจจัยในการพัฒนาและให้การสนับสนุน เราคิดว่าในอนาคตน้องพริ้มเพราสามารถเป็นนักดนตรีได้ถ้าเขาอยากจะเป็น
อีกคนหนึ่งชื่อ โอ๊ต น้องเขาเล่นเชลโล่ โอ๊ตจะมีปัญหาเรื่องการทรงตัว เวลาเดินจะโยกเยก และสายตาเขาจะมองไปที่อื่นอยู่ตลอดเวลา น้องเป็นคนร่าเริง ตอนเรียนก็มีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่สุดท้ายน้องก็ทำได้
อีกคนคือน้องโมเม เราเอานิทานเรื่องหมูบินได้ มาประกอบการแสดงสำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ เวลาเราซ้อม เราก็จะมีบทให้เด็กพูด ที่นี่เราก็อ่านให้น้องๆ ฟัง แต่น้องโมเมเขาจะร้องไห้ทุกครั้งที่ต้องพูดท่อนตัวเอง ท่อนนั้นพูดว่า “ไม่เจียมชาติพันธุ์ ไม่รู้หรือว่าเพียงหมูธรรมดาไม่อาจบิน” พอเขาร้องเราก็หยุด พอสัปดาห์ต่อไปเราก็ลองอีกครั้ง สรุปคือร้องไห้ ไม่เอาเลย แม้แต่ได้ยินก็ไม่เอา เราคิดเองว่ามันเกิดจากการที่เราไม่ได้อธิบายให้เขาฟังทั้งเรื่องน้องเลยไม่เข้าใจ เราเลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้น้องเขาฟังด้วย คือ…
หมูบินได้เป็นนิทานที่สอนเรื่องความพยายาม เป็นเรื่องของความพยายามที่ไม่สูญเปล่า แม้หมูจะมีคำครหาจากคนรอบข้างว่า หมูบินไม่ได้หรอก พยายามไปทำไม พอเล่าให้เขาฟังจบ เขาดูเข้าใจมากขึ้น แม้ยังไม่ยอมพูดคำนี้แต่ก็ไม่ร้องไห้แล้ว เรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่าพวกเขามีความอ่อนไหวทางอารมณ์มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครหลายคนอาจไม่ทันคิด เวลาเราลองเล่นเพลงอื่น เขาก็ไม่เป็น เขาก็แค่ตบมือ แต่พอเป็นเพลงนี้เขาร้องไห้ เพราะมีผลเชิงความรู้สึก
มองว่าน้องๆ จะไปได้ไกลขนาดไหน
ถ้าฝึกไปเรื่อยๆ พวกเขาทำได้ ซึ่งตอนนี้มีบางคนก็ทำได้แล้ว คือสามารถเล่นให้ตรงโน้ตที่กำหนดไว้ได้ ตรงจังหวะเป๊ะเลยด้วย แต่คนที่ยังไม่ได้ก็มี ซึ่งต้องใช้ความพยายามต่อไป ถ้าไม่เลิกไปก่อน เราคิดว่าทุกคนทำได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการ เด็กออทิสติก หรือความพิการแบบไหน อันนี้จากประสบการณ์ ที่เราสอนมาทั้งสองฝั่ง เราเลยมั่นใจว่าทำได้ แล้วก็ไม่ใช่ว่าแค่เรื่องดนตรีด้วย คือเรื่องอื่นด้วย ขอแค่ให้ได้มีโอกาสฝึก
พ่อแม่เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
พ่อแม่น้องคนนึง เล่าว่าลูกสามารถจับดินสอเขียนหนังสือได้ จนครูที่โรงเรียนชมว่าเขียนหนังสือสวยน่าเริ่มเขียนได้แล้ว บางคนก็เริ่มทำเสียงฮัมเพลง มีคำพูดใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะปกติเขาพูดไม่ได้เลย เขาจะพูดได้แค่คำบางคำ แต่พอมาเจอแบบนี้เขาได้พูด อีกคนแม่เล่าว่า เขากล้าสบตาคนแปลกหน้ามากขึ้น กล้าพูดมากขึ้น การพามานอกบ้าน เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ
มีอะไรเป็นบทเรียนหลังจากโครงการนี้ไหม
การวางแผนที่รัดกุม เรื่องการจัดการ อาจจะเป็นเพราะเราทำคนเดียวด้วย ยังมีงานหลังบ้านต่างๆ ที่เราไม่ค่อยถนัด แต่ถ้าทำได้ก็จะดีกว่านี้ อย่างเรื่องทุนต่างๆ ก็สำคัญ เราคงต้องดูและพิจารณารายละเอียดเหล่านี้ให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้เรากำลังมองหาผู้ที่จะมาร่วมทำโครงการต่อ ตอนนี้เรากำลังเขียนโครงการกับที่ๆ หนึ่ง คิดว่าจะขยายผล แล้วก็หาผู้ที่จะร่วมด้วย ผู้ที่มีวัตถุประสงค์ใกล้ๆ กัน นักดนตรีที่อยากทำแบบนี้เหมือนกัน
คิดว่าตัวเองได้อะไรจากกการทำโครงการนี้
รู้สึกได้รับแรงบันดาลใจมากกว่า คนอาจจะมองว่าเราช่วยเด็กใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วเรามองว่าน้องๆ ก็ช่วยเราเหมือนกัน ทำให้เราเห็นความพยายาม ทั้งตัวน้องเองและพ่อแม่ผู้ปกครอง หลายๆ คนที่มาเขาดูลำบาก ลำพังก็ต้องทำมาหากินด้วยก็ยังทุ่มเทการดูแลมากๆ
แรงบันดาลใจจากน้องๆ เป็นพลังบวก ปกตินักดนตรีจะทำงานตามอารมณ์ เดี๋ยวมีอารมณ์แล้วค่อยทำ แต่พอเป็นงานนี้ทำให้เรารู้สึกว่ามีพลังจะทำต่อ แต่ละวันต้องคิดว่าเด็กคนนี้ครั้งหน้าเขามาเขาต้องได้อะไร และเราต้องหาวิธีให้เขาทำยังไงถึงจะได้ เขาจะขยับนิ้วได้ยังไง เขาจะเล่นเพลงนี้ได้ยังไง แต่ละวันพี่จะบอกต้องวางแผนก่อนที่จะมาเจอทุกวัน แต่เรากลับไม่รู้สึกเหนื่อยเลย แถมรู้สึกแบบมีไฟขึ้น ขยันขึ้น
การสอนดนตรีระหว่างเด็กออทิสติกกับเด็กทั่วไป เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง
มีค่ะ เด็กเหมือนกันทุกคน เขามีความซนเหมือนกัน มีความขี้เกียจเหมือนกัน อย่างเด็กไม่พิการบางคนพอถึงความยากขั้นนึง ก็จะรู้สึกว่าไม่อยากแล้ว ไม่เอาแล้ว เด็กพิการก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่เราอาจจะมองว่าน้องเขาพิการ เลยทำไม่ได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยว
เด็กออทิสติกอาจจะพัฒนาช้าแต่พัฒนาได้ สิ่งที่เห็นชัดมากๆ จากการเรียนดนตรีคือผลทางกายภาพ จากที่หยิบจับอะไรไม่ได้ก็กลับมาหยิบได้ จากที่พูดไม่ได้ก็ร้องฮัมได้ บางคนพูดไม่ได้เลย ทำได้แค่ส่งเสียงที่ไม่เป็นคำ วันนี้เขาร้องเป็นทำนองได้ บางคนแค่ขาดความมั่นใจเฉยๆ พอทำได้หน่อยนึงความมั่นใจเขาก็กลับมา กล้าพูด กล้าทำมากขึ้น
เราคิดว่าเอาจริงๆ แล้วความตั้งใจลึกของเรา คืออยากจะให้เด็กทุกคนได้เรียนดนตรี เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้เรียน การเรียนดนตรีต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ค่าเล่าเรียนดนตรีก็ไม่ได้ถูก หาครูสอนยาก มีเวลามาเรียน เวลาฝึกซ้อม
เราอยากให้มองเด็กออทิสติกว่า เขาว่าก็เป็นคนปกติเหมือนกันทั่วไป ก็เด็กคนนึ่งแค่นั้น เด็กก็คือเด็ก ถ้าเกิดเขาซนยังไงก็ให้คิดว่าเป็นเด็กคนนึ่ง เราก็อยู่ด้วยกันได้เขาเรียนรู้ได้ แล้วเขารับรู้ ความลึกซึ้งของคำพูด พวกเขามีความเซนซิทีฟเหมือนกัน
มีอะไรที่อยากทำอีกไหม
เราอยากจะทำหลายๆ อย่าง อยากจะสอนน้องๆ ต่อไปในวันว่างของเรา แล้วก็อยากจะสอนดนตรีให้กับผู้สูงวัย ให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง คนที่หลังเกษียนแล้ว ก็อยากจะเอาดนตรีไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนทั่วๆ ไป อะไรก็ได้
ถ้ามีลูกออทิสติกแล้วอยากให้ลูกเรียนดนตรี
ได้เลยค่ะ ถ้ามีโอกาสควรพาลูกเปิดประสบการณ์ สักช่วงชีวิตนึงที่เขายังเลือกเองไม่ได้ ต่อไปถ้าเขาเลือกเองได้แล้ว ถึงจะเลิกเล่นไป แต่เขายังมีทรัพยากรที่เป็นเพื่อนเขานั่นคือดนตรีอยู่ ที่ไปช่วยในด้านต่างๆ นอกจากร่างกายแล้วยังช่วยให้เขาเข้มแข็งในด้านจิตใจด้วย แม้อนาคตเขาอาจจะไม่ได้เล่น แต่เขาก็ยังเป็นคนฟังเพลงได้
คนพิการมีกี่ประเภท ? ประเภทความพิการในประเทศไทย ถูกแบ่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คนพิการจะถูกแบ่งเป็น 7 ประเภท 1.ความพิการทางการเห็น 2. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 3. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 4. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 5. ความพิการทางสติปัญญา 6. ความพิการทางการเรียนรู้ 7. ความพิการทางออทิสติก