Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
How to enjoy life
28 October 2020

“ให้ดนตรีช่วยบำบัด” เป็นฟังก์ชันลดความเจ็บปวด และเจ็บป่วยในชีวิต

เรื่อง ณัฐชานันท์ กล้าหาญ ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • “ดนตรีบำบัดต่างจากศาสตร์อื่นตรงที่เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ ซึ่งมันมีความพิเศษตรงที่เข้าถึงได้ง่าย ได้ยินปุ๊ปรู้ถึงอารมณ์ ความคิดของตัวเอง และเป็นเครื่องมือที่จะใช้สื่อสารออกมาได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องพูด บางคนมีทักษะจำกัด ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ก็ต้องร้องเพลง ฮัมเพลง หรือใช้แค่เสียง ร่างกายก็ขยับได้แล้ว เขาก็จะรู้สึกสนุก ปลอดภัย มันสร้างสัมพันธภาพทางการบำบัดได้ง่าย”
  • ดนตรีบำบัดทำได้ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน หรือพื้นที่ส่วนตัว เช่น ในคุก บริษัท แถมยังมีการใช้ในหลากหลายเป้าหมาย เช่น การใช้ดนตรีบำบัดกับเด็กในเรื่องความกลัวต่อการเข้ารับการรักษา บำบัดความเจ็บปวด หรือ ใช้กิจกรรมที่ทำกับนักดนตรีบำบัดกับพัฒนาทักษะทางสังคมกับเด็กที่อยู่บนเตียงนานๆ
  • ดนตรีสามารถเป็นภาษาของอารมณ์ เป็นตัวช่วยในการระบายความเครียด สร้างความมั่นใจ และยังช่วยค้น pain point หรือปัญหาบางอย่างในใจของมนุษย์และผู้ป่วยทางจิตได้ ตัวโน้ตและเนื้อร้องจะเข้าไปรื้อขุดความขุ่นข้องหมองใจ และค่อยๆ ตามหารอยแตกร้าวของความทรงจำ

“เราจะมีชีวิตที่ปราศจากความกังวลได้ไหม” 

“ปกติมนุษย์ต้องมีความเครียดไหมถึงจะประสบความสำเร็จ” 

“ดนตรีบำบัดคืออะไร แตกต่างจากการฟังดนตรีทั่วไปอย่างไร” 

ล้วนเป็นคำถามที่เหล่าผู้เข้าร่วม เวิร์กชอปรับมือกับโลกวุ่นวาย…ด้วยเสียงดนตรี คิดกันไม่ตกระหว่างระยะเวลาสามชั่วโมง

ภายในห้องสี่เหลี่ยมเย็นสบาย ทุกคนต่างนั่งล้อมวงและมาด้วยความคาดหวังที่แตกต่างกัน บางคนแค่อยากมาคลายเครียดจากสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่บางคนมาเพื่อเรียนรู้การฟังเพื่อที่จะนำไปปรับใช้กับโปรเจกต์ผู้สูงอายุที่ทำอยู่

อาจารย์วิพุธ เคหะสุวรรณ และ อาจารย์กฤษดา หุ่นเจริญ

อาจารย์วิพุธ เคหะสุวรรณ หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์กฤษดา หุ่นเจริญ อาจารย์ประจำสาขาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สองวิทยากรเริ่มต้นด้วยประเด็นการจัดการอารมณ์ของคนในยุคปัจจุบัน ความกดดันสามารถนำไปสู่ความกังวลและความเครียดหากตามสเต็ปอารมณ์ของตัวเองไม่ทัน

“ดนตรีบำบัดคือการเอากิจกรรมทางดนตรีมาใช้เพื่อช่วยเหลือหรือคงไว้ซึ่งทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทักษะเหล่านั้นก็เช่น การควบคุมอารมณ์ การสื่อสารร่างกายและสติปัญญา ซึ่งนักดนตรีบำบัดที่ผ่านการเรียนการสอนทางด้านดนตรีบำบัดโดยตรงจะประเมินและออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้รับบริการ และกิจกรรมเหล่านี้จะตั้งอยู่บนหลักฐานทางงานวิจัย”

อ.วิพุธให้คำนิยามสั้นๆ ของดนตรีบำบัด และยังเสริมว่าดนตรีบำบัดสามารถทำได้ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน หรือพื้นที่ส่วนตัว เช่น ในคุก บริษัท แถมยังมีการใช้ในหลากหลายเป้าหมาย เช่น การใช้ดนตรีบำบัดกับเด็กในเรื่องความกลัวต่อการเข้ารับการรักษา บำบัดความเจ็บปวด หรือ ใช้กิจกรรมที่ทำกับนักดนตรีบำบัดกับพัฒนาทักษะทางสังคมกับเด็กที่อยู่บนเตียงนานๆ 

“หรือจะเป็นวัตถุประสงค์เรื่องการศึกษาพิเศษก็ได้เช่นกัน เรามีนักดนตรีบำบัดที่อยู่ในโรงเรียนเพื่อเด็กพิเศษ เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ โดยจะปรับพฤติกรรมเพื่อให้เขากลับไปเรียนได้” อ.กฤษดาเสริมต่อ

แต่ดนตรีบำบัดต่างจากดนตรีที่เราฟังแล้วรู้สึกดีในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง ถือว่าเป็นดนตรีบำบัดเหมือนกันหรือเปล่า

“ถ้าทั่วไปที่เราใช้ดนตรี เราจะเรียกว่าการใช้ดนตรีเพื่อดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าดนตรีบำบัดจะประกอบไปด้วยผู้รับบริการ ตัวนักดนตรี และดนตรี เพราะฉะนั้นถ้าฟังเองจะไม่ถือว่าเป็นดนตรีบำบัด ต้องมีผู้เชียวชาญที่คอยดูแลว่าใช้เหมาะสมไหม ใช้ดนตรีแบบไหน มีการตั้งเป้าหมาย คัดเลือกกิจกรรมและประเมินผล” อ.วิพุธตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

เวิร์กชอปดนตรีบำบัดขนาดย่อมในครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายและเชื่องช้าเพราะอาจารย์ทั้งสองคนปูพื้นฐานด้านอารมณ์แวดล้อม ตัวตน ปัจจัยทางด้านสังคมและชีววิทยาเพื่อประกอบในการสังเกตมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน

บางคนเครียดง่าย บางคนเติบโตมาพร้อมกับการฝ่าฟันและความยากลำบาก บางคนประสบการณ์ต่อความผิดหวังน้อย เจอความล้มเหลวหรือการปะทะทางความคิดหนักๆ ก็เป็นโรคซึมเศร้าได้โดยง่ายแล้ว ผู้เข้าร่วมจึงได้มีโอกาสเลือกอารมณ์ว่าในเวลานี้เรารู้สึกถึงอารมณ์แบบไหนบางที่สุด เช่น วิตกกังวล, เครียด, หวาดกลัว, หดหู่, โกรธ จากนั้นจึงฟังบรรยายต่อว่าความเครียดที่หลายคนสัมผัสและโอบกอดมันอยู่ตอนนี้ก็มีทั้งความเครียดภายในและภายนอก และยังมีความเครียดที่เป็นเชิงบวกถ้าเราสังเกตมันดีๆ เช่น ถ้าเครียดเรื่องสุขภาพ บางคนอาจจะกระตือรือร้นออกกำลังกาย หรือไปพบแพทย์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ท้ายที่สุดแล้วการปรับสมดุลของความเครียดและคุณค่าในตัวเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นที่ควรนึกถึงบ่อยๆ อาจารย์ย้ำด้วยรอยยิ้มว่าความเครียดหรือความวิตกกังวลก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเสมอไป การกดข่มความรู้สึกและไม่เลี้ยงมันไว้อย่างทะนุถนอมมากพอต่างหากคือข้อเสีย

“เราจัดวางทักษะหรือความรู้เชิงดนตรีและจัดการกับชีวิตให้เหมาะสมได้อย่างไร อันดับแรกคือคนที่ใช้ดนตรีต้องตระหนักรู้กับตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราฟังหรือเล่นดนตรีแล้วเรารู้สึกอย่างไร เราใช้มันอย่างเหมาะสมหรือเปล่า” อ.วิพุธเสนอ

สไลด์เลื่อนต่อไปในบทของประโยชน์ของดนตรีในด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ดนตรีบำบัดสามารถปรับใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย ในผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ ดนตรีมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยฟื้นฟูจิตใจและสร้างแรงบันดาลใจให้มุมสดใสของชีวิตที่นับถอยหลังลงไปเรื่อยๆ 

“เรารู้ว่าผู้ป่วย Dementia (โรคภาวะสมองเสื่อม) ส่วนมากจะไม่หายหรอก เต็มที่คือคงสภาพฟังก์ชันการทำงานได้ของเขาได้มากที่สุด เพราะส่วนใหญ่ก็จะแย่ลงๆ ดนตรีบำบัดก็จะทำเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของเขา เอาเพลงที่เคยฟังตอนหนุ่มสาวและมีความหมายกับเขามาเปิด อย่างน้อยที่สุดเขาก็จะรู้สึกดีกับบรรยากาศเก่าๆ รู้สึกปลอดภัย คุณภาพชีวิตนี้แม้มีสัก 5-10 นาทีต่อวันก็ถือว่าดีมากแล้ว” อ.กฤษดาให้ข้อมูล

ดนตรีสามารถเป็นภาษาของอารมณ์ เป็นตัวช่วยในการระบายความเครียด สร้างความมั่นใจ และยังช่วยค้น pain point หรือปัญหาบางอย่างในใจของมนุษย์และผู้ป่วยทางจิตได้ ตัวโน้ตและเนื้อร้องจะเข้าไปรื้อขุดความขุ่นข้องหมองใจ และค่อยๆ ตามหารอยแตกร้าวของความทรงจำ

“การที่เรามานั่งคุยกันแบบนี้อาจจะยังไม่สบายใจพอ และบางทีเป็นปัญหาที่เก็บลึกในระดับจิตสำนึก (unconscious) ไม่สามารถนึกออกได้ทันที หรือยังไม่รู้ว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร เราก็ใช้ดนตรีไปเชื่อมกับความเป็นตัวตนของเขาออกมา ถามว่าทำไมถึงเลือกเพลงนี้ มันสัมพันธ์กับชีวิตยังไงบ้าง บางคนฟังเพลงแล้วน้ำตาแตกเลย เราก็จะถามว่าเห็นภาพอะไรระหว่างฟัง” อ.วิพุธเล่า

“แม้แต่การเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองเวลาฟังเพลงก็สำคัญ เช่น ฟังแล้วปลีกตัวจากสังคมไหม ต่อต้านอะไรหรือเปล่า หรือฟังแล้วระลึกถึงเรื่องอะไร ไปสู่อารมณ์เชิงลบหรือพฤติกรรมที่นำไปสู่สิ่งที่แย่ลง บางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้ก็เกิดจากการที่มีเพลงมากระตุ้น” อ.กฤษดาเสริมต่อ

แต่การฟังเพลงมากเกินไปก็อาจจะเป็นปัญหาได้เช่นเดียวกัน วัยรุ่นที่เปิดเพลงฟังยาวไปตลอด 1 สัปดาห์ เปิดทั้งวัน ทุกวันก็อาจจะประเมินได้ว่ามีแนวโน้มปลีกตัวเองออกจากสังคม หรือเนื้อหาเพลงที่มีความรุนแรงก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เราอาจจะตั้งคำถามได้ แต่ไม่ควรไปโทษแนวเพลงใดแนวเพลงหนึ่ง สิ่งที่ควรป้องกันอันดับแรกคือการให้ความรู้ในการฟังเพลงกับเด็กมากกว่า

ดังนั้นคำถามที่ว่าเพลงที่ดีหรือเพลงที่ไม่ดีคืออะไรจึงซับซ้อนและฟันธงไม่ได้

“ดนตรีมันไม่มีถูกไม่มีผิดเพราะเป็นเรื่องของรสนิยม ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการใช้ของแต่ละคน บางทีเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น เพลงใต้ดิน ไม่ใช่ว่าคนที่เสพทุกคนจะมีพฤติกรรมไม่ดี มันขึ้นอยู่กับครอบครัว การเลี้ยงดู และตัวเองว่าเขาจะสามารถย่อยมันได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางคนชอบที่แนวเพลงไม่เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหาเลย อย่างดนตรีบำบัดเราก็จะเลือกใช้เพลงที่คนมาบำบัดชอบเพราะทำให้รู้สึกปลอดภัย เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากฝึกทักษะต่างๆ ” อ.วิพุธออกความเห็น

ตลอดเวิร์กชอป ผู้เข้าร่วมมักจะยิงคำถามเพื่อโต้ตอบกับวิทยากรเสมอ ต่อจากเลคเชอร์พื้นฐานเรื่องดนตรีบำบัด  จึงเข้าสู่ช่วงที่อาจารย์ทั้งสองคนเปิดโอกาสให้เราเลือกเครื่องดนตรีประหลาด หน้าตาไม่คุ้นบนโต๊ะขึ้นมากันคนละหนึ่งอย่างเพื่อสร้างวงดนตรี

เสียงเคาะ ดีด เขย่า ตบ ดังขึ้นรอบวงไปคนละทิศละทาง ไม่สามารถระบุได้ว่าจังหวะหรือเพลงที่เรากำลังบรรเลงอยู่เป็นลักษณะแบบไหน แต่พอเริ่มเล่นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จังหวะของเครื่องดนตรีบางชิ้นเริ่มเข้าที่มากขึ้น มีทิศทางและจับท่วงทำนองได้ ต่างคนต่างมองหน้ากัน บางคนโฟกัสกับเครื่องดนตรี บางคนเงี่ยหูฟังจังหวะของกลุ่มอย่างตั้งใจ

เพลงจบ อาจารย์ทั้งสองเลยถอดบทเรียนสั้นๆ จากเมื่อครู่ว่าใครรู้สึกอย่างไรกันบ้าง คิดว่าเพลงที่เล่นไปเพราะไหม หลายคนสะท้อนว่าเพราะทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่คาดคิดเลยว่าจะออกมาเพราะได้ บางคนถึงขั้นบอกว่ารู้สึกว่าเป็นเสียงที่ดูศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนเล่นดนตรีจนกลายมาเป็นเสียงเดียวกัน

“เห็นไหมว่าเราไม่ได้ใช้ภาษาสื่อสารกันเลย” อ.กฤษดากล่าวปิดท้ายยิ้มๆ

“ทุกวันนี้ทุกคนรวมถึงเด็กๆ สามารถหาดนตรีหรือเสียงของเรากันได้อยู่แล้ว จะเป็นเพลงแร็ป ร็อค หรือเพลงอะไรก็แล้วแต่ เช่น ถ้าฟัง Blackpink ก็อาจจะช่วยให้เขาฟังก์ชันกับกลุ่มเพื่อนเพราะเขามีความรักในสิ่งเดียวกัน ดนตรีเป็นของทุกคนอยู่แล้ว”

จากเวิร์กชอปเล็กๆ สั้นๆ  อาจารย์กฤษดาตีความว่าดนตรีสามารถนำไปสู่การ empowerment หรือเสริมพลังให้กับคนได้ เช่น โอกาสที่ได้เล่นดนตรี ได้มองเห็นว่ามีเสียงของตัวเองเป็นหนึ่งในกิจกรรมของสังคม 

“ดนตรีเป็นพาร์ทใหญ่ของชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ก่อนหน้านี้สักปีสองปี เพลงประเทศกูมี สร้างมูฟเมนท์ให้คนมาสนใจ ตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้น เด็กก็จะหันมาฟัง หรือเพลงในสมัยก่อน เช่น เพลงโรงเรียนของหนู ซึ่งเป็นเพลงเพื่อชีวิต ก็สะท้อนออกมาให้คนตระหนักว่ามีโรงเรียนที่ห่างไกลอยู่นะ หรือทุกวันนี้ที่มีเด็กมารวมกลุ่มกันไปคอนเสิร์ต BNK ก็แสดงให้เห็นว่าเขาต้องการพื้นที่ในการแสดงออกหรือเปล่า ดนตรีมันสร้างมูฟเมนท์บางอย่างได้แน่นอน”

ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนนักดนตรีบำบัด เพราะเป็นศาสตร์ใหม่และมีจัดสอนแค่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลที่เดียวจึงผลิตนักศึกษาปริญญาโทได้เพียงรุ่นละ 5 – 6 คน แต่หากรัฐสามารถเพิ่มหลักสูตรดนตรีบำบัดเข้าไปในโรงเรียน หรือเพิ่มลงในรัฐสวัสดิการ ประชาชนทั่วไปจะสามารถเลือกใช้บริการให้เหมาะสมกับกลุ่มอาการ เยียวยาความเครียด และปัญหาของปัจเจกที่เกิดจากมลพิษทางสังคมได้

“ตอนนี้ระบบการศึกษาพิเศษมีดนตรีบำบัดอยู่ในทุกศูนย์เลย แต่ยังไม่มีนักดนตรีบำบัดไปอยู่ครบ เราคิดว่าถ้ามีโอกาสแล้วไปเชื่อมกับเขาได้จริงๆ ก็สามารถให้นักดนตรีบำบัดไปเทรนครูดนตรีต่อได้” อ.วิพุธบอกความคาดหวัง 

“เราอยากให้ดนตรีบำบัดมีสมาคมวิชาชีพเหมือนที่พยาบาลหรือหมอมี นี่เป็นอีกหลักไมล์หนึ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย และอีกฝั่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่คือเรื่องการทำงานวิจัยในด้านนี้” อ.กฤษดาเสริม

นอกจากการเล่นเครื่องดนตรี ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปยังได้ฝึกร้องเพลงสองสามเพลงไปด้วยกัน อาจารย์สะท้อนความรู้สึกง่ายๆ หลังจากที่ได้ร้องเพลงและฝึกกำหนดลมหายใจเพื่อปลดปล่อยความกังวล และให้ลองสังเกตตัวเองและความรู้สึกของตัวเองอยู่เมื่อมีสติ

ภายใต้เปลือกตาที่ปิดสนิท ห้องเงียบสงบ อาจารย์ทั้งสองคนให้ลองสังเกตตัวเอง ให้เวลาตัวเองในการหายใจมากขึ้นเพราะในชีวิตประจำวันเราอาจจะทำเพื่อคนอื่นเยอะมากพอแล้ว หายใจเข้า ออก และแนะนำให้ลองหาเวลาในช่วงชีวิตปกตินั่งลงที่เก้าอี้ ในภาวะที่ไม่มีงาน ไม่มีความคาดหวังจากคนอื่น แล้วลอง ‘let go’

“ดนตรีบำบัดต่างจากศาสตร์อื่นตรงที่เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ ซึ่งมันมีความพิเศษตรงที่เข้าถึงได้ง่าย ได้ยินปุ๊ปรู้ถึงอารมณ์ ความคิดของตัวเอง และเป็นเครื่องมือที่จะใช้สื่อสารออกมาได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องพูด บางคนมีทักษะจำกัด ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ก็ต้องร้องเพลง ฮัมเพลง หรือใช้แค่เสียง ร่างกายก็ขยับได้แล้ว เขาก็จะรู้สึกสนุก ปลอดภัย มันสร้างสัมพันธภาพทางการบำบัดได้ง่าย” อ.วิพุธเสริม

มนุษย์มีศักยภาพที่จะปลดปล่อยพลังออกไป พลังที่จะควมคุมความวิตกกังวลหรือความเครียดให้อยู่หมัด ล้วนรวบตึงได้ด้วยการฟังดนตรีง่ายๆ การจัดการกับภาวะภายในอาศัยกำลังภายใน และหนึ่งในกำลังภายในก็มีคำว่า “ช่างมัน” ปะปนอยู่ด้วย เป็นคำที่สำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน

ถ้าในอนาคตเรามีการเมืองที่พัฒนาจนสามารถระบุหลักสูตรดนตรีบำบัดเข้าไปในระบบการศึกษา ปรับใช้เป็น know-how ง่ายๆ ได้ในครอบครัว และยกระดับคอร์สในโรงพยาบาลให้เป็นพื้นฐานที่ดีต่อการรักษาสุขภาวะของประชาชนได้ เสียงเพลงที่เข้าถึงทุกคนจะมีอำนาจในการบำบัดสมดุลทางอารมณ์ ปรับพื้นฐานของการใช้ชีวิตบางช่วง และอาจจะนำไปสู่สังคมที่มีคุณภาพใจอบอุ่นแข็งแรง

Tags:

ดนตรีบำบัดอีเวนต์

Author:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Photographer:

illustrator

ธีระพงษ์ สีทาโส

คนถ่ายภาพ คนทำละครเร่ กระบวนกร คนทำงานสื่อสารที่เลือกข้างแล้ว ชอบมองหาการเมืองในชีวิตประจำวัน เสพติดนิโคตินและแอกอฮอล์ ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ยกเว้นจำเป็นเพื่อความอยู่รอด ความฝันคือได้เป็นคนเท่ๆ ตอนอายุ 50 ที่นั่งจิบเบียร์เย็นๆ รสชาติหลากหลายในราคาเอื้อมถึงได้ทุกวันบนประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดี ตอนนี้กำลังมีส่วนร่วมดันกลุ่มช่างภาพ REALFRAME ที่ตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิกให้แมส

Related Posts

  • Everyone can be an Educator
    เด็กทุกคนเล่นดนตรีได้(และควรได้เล่น) ไม่ว่าเขาจะพิการหรือไม่ก็ตาม

    เรื่องและภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช

  • Creative learning
    ต่อบล็อกไม้ ปั้นขนมไข่เต่า เดินสวนสมุนไพร เพื่อรู้จักชุมชน ที่ตำบลทุ่งควายกิน จังหวัดระยอง

    เรื่องและภาพ เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Family Psychology
    ดนตรีบำบัดสร้างจังหวะของลูกให้ตรงกับจังหวะของโลก

    เรื่อง The Potential

  • Space
    ปัตตานี ดีโคตร: ต่อจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ เดินเล่นส่องย่าน ‘PATTANI DECODED’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

  • Space
    ปัตตานี ดีโคตร: เดินเล่นในย่านส่วนตัว แต่เรียนรู้แบบส่วนรวม

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel