Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: May 2019

5 หลัก เลี้ยงลูกเชิงบวกแบบ ‘TRIPLE P’
Family Psychology
31 May 2019

5 หลัก เลี้ยงลูกเชิงบวกแบบ ‘TRIPLE P’

เรื่อง The Potential ภาพ antizeptic

ใครๆ ก็อยากเลี้ยงลูกเชิงบวก แต่วิธีของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันตามประสบการณ์และหลักการที่ศึกษา หนึ่งในนั้นคือ หลักการเลี้ยงลูกเชิงบวกแบบ ‘ทริปเปิลพี’ ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและส่งเสริมอย่างกว้างขวางโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ การเลี้ยงดูเช่นนี้ เป็นการเลี้ยงดูที่ทุกฝ่ายต่างก็เป็นสุข เพราะเป็นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ เน้นการสื่อสาร และสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก ขณะเดียวกันก็เป็นการเลี้ยงดูแบบใส่ใจในความรู้สึก พฤติกรรม และพัฒนาการ อย่างไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน

แล้ว ‘ทริปเปิลพี’ ที่ว่านี่คืออะไร ?

พีแรก คือ P – Positive 

พีที่สอง คือ P – Parenting 

พีที่สาม คือ P – Program

โดยทั้งหมดทั้งมวล อยู่บน 5 หลักพื้นฐาน ดังนี้

  1. สร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ : ปลอดภัยต่อการลอง เล่น และเรียนรู้ 
  2. สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เชิงบวก : พ่อแม่ตอบสนองและช่วยลูกแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
  3. ใช้ระเบียบวินัยแบบกล้าแสดงออก : เช่น ออกกฎร่วมกันกับลูก อธิบายเหตุผลอย่างชัดเจน แทนการลงโทษ ด่าทอ หรือขู่
  4. คาดหวังแบบสมจริง : ให้ความสำคัญที่ความพยายาม พัฒนาการ ลูกจะรับรู้ถึงความเอาใจใส่
  5. พ่อแม่อย่าลืมดูแลตัวเอง : มีเวลาให้ตัวเอง มีคนอื่นช่วยแบ่งเบาภาระ พลังเหล่านั้นก็จะส่งกลับมายังลูก
ที่มา:

triplep-parenting.net

en.m.wikipedia.org

Tags:

การศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกวินัยเชิงบวก

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

antizeptic

Related Posts

  • Social Issues
    เมื่อโรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งความกดดันและไร้สุข จึงต้องปรับตัวและรับผิดชอบความป่วยไข้นี้

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Early childhood
    ทำไมเลี้ยงเด็กสักคนมันยากเหลือเกิน: ตอบให้หายสงสัยและเข้าใจในวง ‘เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก’

    เรื่อง

  • Early childhoodBook
    THE HAPPIEST KIDS IN THE WORLD: อิสรภาพจากการได้เล่นอิสระ เคล็ดลับเด็กดัตช์แฮปปี้สุดๆ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Family Psychology
    5 คำขู่ผิดๆ ของพ่อแม่ที่ทำให้เด็กโตมาไม่กล้าและขี้กลัว

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Early childhood
    KIND BUT FIRM พ่อแม่ไม่ต้องดุด่าแต่ว่า ‘เอาจริง’

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

ชวน ‘ราชาน้ำท่อม’ ไปปลูกป่าด้วยวิถีวิจัย การศึกษาที่ชุมชนออกแบบเอง
Creative learning
30 May 2019

ชวน ‘ราชาน้ำท่อม’ ไปปลูกป่าด้วยวิถีวิจัย การศึกษาที่ชุมชนออกแบบเอง

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัย

  • ราชาน้ำท่อม จนกลายมาเป็นแกนนำและพลังสำคัญของชุมชน
  • บังพงษ์ ใช้วิธีเดินตามเด็ก เดินพร้อมเด็ก และหนุนให้เด็กเดิน เพื่อชวนเด็กๆ หันหลังให้น้ำท่อม แล้วมาปลูกป่า ทำธนาคารปูม้า
  • แนวคิดสำคัญของบังพงษ์คือ ชวนเด็กร่วมคิด ออกแบบ และลงมือกระบวนการเรียนรู้ เขาจะได้ออกแบบชีวิตเอง

ในวงการวิจัยท้องถิ่น สมพงษ์ หลีเคราะห์ มักถูกแนะนำว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล (โหนด) แต่กับชาวบ้านในพื้นที่ ทุกคนรู้จักเขาในนาม บังพงษ์ ทำงานทุกด้านตั้งแต่วิจัยชาวบ้าน การศึกษา เป็นชาวประมง เป็นคุณพ่อลูกสี่ กระทั่งเป็นแกนนำคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่ลงไป เล่น – ตามคำที่บังพงษ์ใช้ – กับกลุ่มเด็กที่ชาวบ้านเป็นห่วงที่สุด คือ ราชาน้ำท่อม

หากถามว่าบังพงษ์ทำอะไรบ้างในพื้นที่ นิ้วมือทั้งสิบอาจนับไม่ครบ แต่ประเด็นที่เราลงพื้นที่ชวนคุยในวันนี้ คือการใช้ ‘วิถีวิจัย’ ทำงานกับเยาวชนกลุ่ม ‘ราชาน้ำท่อม’ และพี่เลี้ยงในชุมชน เพื่อสร้างการจัดการเรียนรู้ด้วยชุมชนเอง

เดินตามเด็ก เดินพร้อมเด็ก และ หนุนให้เด็กเดิน คือโมเดลที่บังพงษ์ยึดเป็นแก่นแกนในการทำงาน และถ่ายทอดวิธีคิดนี้ให้กับเครือข่ายคนทำงานในชุมชน

ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเยาวชนที่ใช้น้ำท่อมลดลงจริงหรือเปล่า แต่งาน มหกรรมเยาวชน ‘ทนแลม้ายด้าย’ (Rise Up the Chance) จังหวัดสตูล วันที่ 26-27 มกราคม 2562 ณ โรงเรียนอนุบาลสตูล มีผู้เข้าร่วมงานมากหน้าและหลากหลาย ทั้งผู้ปกครองที่มาส่งบุตรหลานร่วมกิจกรรม, เยาวชนที่บิดมอเตอร์ไซค์มาจอดเรียงแถวโรงเรียน และหน่วยงานจากภาครัฐ โดยเฉพาะสายปกครองอย่างตำรวจ ยังเข้ามาร่วมงาน ทั้งหมดนี้อาจแปลได้ว่า มหกรรมเยาวชนดังกล่าว ได้ใจกลุ่มวัยรุ่นไม่น้อยเลยทีเดียว

ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าคนในพื้นที่สบายใจกับสถานการณ์เยาวชนจริงหรือไม่ แต่วิธีคิดและกระบวนการทำงานของโหนดสตูลยังน่าสนใจ โดยเฉพาะนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ในชุมชน 

พร้อมกันนี้ บังพงษ์ยังเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล โปรเจ็คท์นำร่องปฏิรูปการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นช่วงเวลาอันดีที่จะสอบถามกับเขาว่า คนทำงานในสตูลมีวิธีคิดจัดการศึกษา ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร และการจัดการความรู้โดยชุมชน จะเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาภาพใหญ่อย่างไร

สมพงษ์ หลีเคราะห์

จากที่ได้คุยกับชาวบ้านในพื้นที่ จำนวนมากเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์เยาวชนติดน้ำท่อมค่อนข้างน่าเป็นห่วง สถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไร รุนแรงเช่นนั้นจริงหรือ?

อันที่จริงแล้วชาวบ้านกินน้ำท่อมกันเป็นเรื่องปกติ คือกินกันแบบคนทำงาน แต่ถามว่ามันรุนแรงไหม? รุนแรงนะ เด็กที่อยู่ในโรงเรียนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้องเคยลอง เด็กมหา’ลัย ก็กิน บางบ้านเอาลูกไม่อยู่ ให้ต้มกินบนบ้านเลยก็มี ที่รุนแรงที่สุดถึงขั้นสมองไม่ทำงาน ขี้รั่ว ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ปัญหาอยู่ที่วิธีการจัดการ ที่ผ่านมา ถ้าเป็นสายการปกครองแบบรัฐ จะเอาเด็กไปเข้าค่ายทหาร เด็กกลับมาจากค่ายก็แค่เพิ่มเครือข่ายน้ำท่อมต่างตำบล ต่างอำเภอ เอาง่ายๆ ไม่มีใครอยากเอาลูกตัวเองไปเข้าค่ายทหารเพื่อให้เลิกน้ำท่อมเลย ส่วนสายศาสนาทำยังไง? ก็เอาเด็กไปเข้ามัสยิด ไปเข้าวัด สถานการณ์ในสตูลเป็นแบบนี้ กลายเป็นความเอือมระอา ผู้นำก็หาทางออกไม่ได้ แต่เราก็เห็นโจทย์แบบนี้แล้ว จะทำยังไง 

คุณพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มราชาน้ำท่อมในพื้นที่สาธารณะหลายครั้งว่าใช้โมเดล เดินตามเด็ก เดินพร้อมเด็ก และ หนุนให้เด็กเดิน คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ก่อนเราจะทำงานโครงการชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ช่วงนั้นมีเด็กกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า ราชาแห่งน้ำท่อม หรือ เจ้าแห่งน้ำท่อม สูตรแต่ละสูตร พวกรู้หมด บังหมาน บังยูนหนา บังจำปา แกนนำชาวบ้านขณะนั้นอยากทำอะไรกับเด็กกลุ่มนี้ อยากให้พวกเขาเดินมาอีกทาง แกนนำชาวบ้านกลุ่มนี้ใช้เวลาอยู่สองปี พวกเด็กๆ จึงเริ่มรวมกลุ่มทำธนาคารปูม้า ทำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน จากเด็กน้ำท่อมกลายเป็นคนที่ต้องกล่าวรายงานกิจกรรมปลูกป่ากับนายอำเภอด้วยตัวเอง

พี่เลยชวนแกนนำกลุ่มนั้นถอดบทเรียน อยากรู้ว่าพวกเขาทำงานกับเด็กยังไง จึงค่อยรู้ว่า พวกเริ่มต้นจากการเข้าไปนั่งคุยกับเด็ก เด็กไปรวมกลุ่มในป่า พวกนี้ตามหมด ไปนั่ง ไปชวนคุย ไม่ต่อว่า แต่ไป ‘เดินตามเด็ก’ คือไปทำความเข้าใจและศึกษาว่าเด็กเป็นยังไง

จนตอนนั้นพวกบังรู้หมดว่าสูตร (ผสมน้ำท่อม) อะไรเป็นอะไร พี่เลี้ยงต้องทำยังไงให้เขาไว้ใจจนให้เราไปนั่งอยู่กับเขา นั่งในวงของเขา เขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ แต่เขาไว้วางใจว่าคนคนนี้ไม่เอาตำรวจมาจับแน่นอน คนคนนี้ไม่ตีตรา นี่คือ ‘พี่เลี้ยง’ 

พอเด็กเริ่มไว้ใจ เริ่มคุยด้วย พี่เลี้ยงก็เริ่มชวนเด็กทำกิจกรรม ช่วงนี้พี่ใช้คำว่า ‘เดินพร้อมเด็ก’ พาเด็กไปทำนู่นทำนี่ พอเด็กเริ่มทำกิจกรรม ก็เริ่มให้เขาจัดตั้งกลุ่ม จัดตั้งองค์กร ถ้าจำไม่ผิด ช่วงนั้นคือกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าเลน เด็กกลุ่มนี้เริ่มเขียนและทำโครงการ อันนี้คือขั้นที่สาม ขั้น ‘หนุนให้เด็กเดิน’ พอถึงขั้นนี้ มันก็ไปตาม process แล้ว และคิดว่าโมเดลของ ‘ราชาน้ำท่อม’ คือทางออกนะ 

ช่วงนั้น อาจารย์ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เอาเด็กจาก 3 จังหวัดมานั่งแลกเปลี่ยนกับเด็กกลุ่มราชาน้ำท่อมและกลุ่มพี่เลี้ยง สิ่งที่เห็นเลยคือ เด็ก 3 จังหวัดบอกว่าปัญหาหนึ่งคือวิธีคิดของเด็ก กับ วิธีคิดของผู้ใหญ่ สวนทางกันอยู่  

ก่อนหน้านั้นเด็กมองว่าผู้ใหญ่ขี้ด่า ขี้บ่น มองเด็กในทางลบ ผู้ใหญ่ก็มองว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่เอาไหน ไม่ได้เรื่อง เป็นการมองที่สวนทางกันตลอด แต่พอมาทำกิจกรรมร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กสะท้อนว่าผู้ใหญ่กลุ่มนี้ (กลุ่มพี่เลี้ยงราชาน้ำท่อม) เป็นคนที่ช่วยเหลือดูแลมาตลอด เชื่อว่าเด็กกลุ่มราชาน้ำท่อมทำอะไรได้เยอะแยะ พอตัว process ทำให้มุมมองเปลี่ยน พอมุมมองเปลี่ยน ก็ทำให้คนเข้าหากันได้ เลยมองว่ากระบวนการแบบนี้น่าจะเป็นชุดความรู้ให้กับสังคม ไม่ใช่แค่วิธีจัดการจากสายปกครอง สายศาสนาที่ทำอยู่ 

ช่วงเวลาเดียวกัน มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้ามาพูดคุยให้ทำงานสึนามิช่วงสุดท้าย (โครงการชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ) เลยได้เอาบทเรียนนี้ไปทำกับหลายชุมชนที่ประสบเหตุสึนามิ พอมีโครงการ active citizen เข้ามา เราก็บอกกับน้องๆ ในทีมเลยว่า เราจะไม่ทำกับเด็กโดยตรง แต่ต้องหาคนในพื้นที่ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก 

ทำไม?

ย้อนกลับไปสมัยวัยรุ่น เคยทำงานที่ชุมชนหัวหิน (ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล) โครงการส่งเสริมชุมชนจัดการทรัพยากรชายฝั่ง จังหวัดสตูล ตอนนั้นมีปัญหาการใช้อวนรุนจับปลา (เครื่องมือจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่ ทำให้สัตว์น้ำทุกชนิดติดไปกับอวนรุน รวมถึงเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านด้วย) อวนรุนเข้ามาถึงชายฝั่งและส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน เป็นปัญหามาตลอด  

หลังอวนรุนหยุด ทรัพยากรชุมชนฟื้น พี่ก็ทำค่ายเยาวชน ชวนเด็กไปเรียนรู้ทรัพยากร โดยมีน้องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาเป็นพี่เลี้ยง และพี่ก็ชวนเด็กที่บ้านมาเข้ามาร่วมกลุ่มด้วย ซึ่งเด็กรุ่นนั้นก็คือพี่เลี้ยงในโครงการ active citizen ตอนนี้นะ (หัวเราะ) 

แต่พอพี่เลี้ยงออกจากชุมชน เด็กไม่มีพี่เลี้ยง พี่น้องที่อยู่ในหมู่บ้านตอนนั้นแค่ทำงานสนับสนุน เช่น เวลาเด็กทำกิจกรรมก็หุงข้าวให้ หาฟืนให้ แต่ให้คำปรึกษาในเชิงกระบวนการไม่ได้ แต่ถ้าพี่เลี้ยงอยู่ในชุมชน เราอยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่เป็นไร ยังมีบังยูนหนาน ยังมีบังจำปาอยู่ในพื้นที่ เด็กทำกิจกรรมได้ตลอด พี่เลี้ยงที่ทำงานกับเด็กจึงต้องเป็นคนที่ทำงานได้ต่อเนื่อง ต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน 

พอมาทำงานแบบนี้ จึงต้องฝึกให้ชาวบ้านเป็นพี่เลี้ยงในความหมายนี้ ไม่ใช่แค่เป็นหน่วยสนับสนุนแต่ต้องจัดการเนื้อหาได้ด้วย สุดท้าย เด็กหลายกลุ่มยังผูกพันกับพี่เลี้ยง ไม่มีเรา เขาก็ยังทำงานกันได้

กลับไปเรื่องการทำงานกับราชาน้ำท่อม วิธีคิดอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือการปรับความคิด ไม่ตัดสินตีตราฝ่ายตรงข้ามไปก่อน?

ไม่ใช่เลย ไม่ใช่การเข้าไปคุยเรื่องน้ำท่อม การเดินตามเด็กคือการทำความเข้าใจเด็ก เด็กกลุ่มนี้อยู่ยังไง ทำอะไร เข้าไปสร้างความไว้วางใจกับเด็ก ถ้าผู้ใหญ่เข้าไปแบบมีทัศนคติชุดหนึ่ง เด็กไม่มาหรอก แต่นี่เราเข้าไปเพื่อสร้างความไว้วางใจ ถ้าเขาไว้วางใจเรา เขาก็มา ช่วงแรกๆ พี่เลี้ยงต้องไปปลุกถึงที่นอน ให้เด็กมานั่งคุย ถ้าจะทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ ไม่ใช่แค่การประชุม เดินตามเด็กคือการเข้าหา สร้างความไว้วางใจกับเด็ก 

เป้าหมายที่หนึ่งคือทำงานกับเยาวชน แต่เป้าหมายที่สอง คือเรื่องการจัดการชุมชนด้วยหรือเปล่า?

ประเด็นหลักคือ สังคมยังหาทางออกเรื่องนี้ไม่ได้ เราพยายามเสนอว่าวิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะ

แต่ระหว่างการทำงานกับเด็ก ก็เท่ากับสร้างองค์กรชุมชนเพื่อทำงานกับเด็กด้วย นี่คือสิ่งที่คาดหวัง ไม่ได้มองแค่โปรเจ็คท์ใดโปรเจ็คท์หนึ่ง เราต้องการเห็นภาพการจัดการที่ถึงแม้หมดโปรเจ็คท์ไปแล้ว โครงการก็ยังเดินไปอย่างต่อเนื่อง จะยังมีกลุ่มคน มีกลไกที่ทำงานเรื่องนี้

ฉะนั้นสิ่งที่พี่คาดหวังคือ ถ้ากำหนดว่าต้องทำงานนี้สามปี ปีที่หนึ่งและสอง ต้องเห็นขั้นบันได ต้องเห็นกลไกชุมชนและเครือข่าย ไม่ใช่แค่เกิดกลุ่มเยาวชน แต่เกิดกลไกที่ทำงานด้านเด็ก

ระบบการศึกษาในห้องเรียน แก้ปัญหาราชาน้ำท่อมได้ไหม

ไม่ได้มองว่าเรียนในห้องหรือไม่เรียนในห้อง เรียนที่ไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่มีกระบวนการเรียนรู้ มันก็ไม่ต่างกัน การเรียนรู้ส่วนหนึ่งไม่ขึ้นกับพื้นที่ ถ้าออกมาเรียนใต้ต้นไม้ ออกมาเรียนข้างนอกกับพ่อกับแม่ แต่สุดท้ายคุณยังใช้วิธีสอนแบบสั่งการ หรือ top-down กับเรียนในโรงเรียนก็จริง แต่ครูไม่สั่งการ ไม่ top-down เลย อันไหนคือกระบวนการเรียนรู้? การเรียนรู้ในห้องเรียนแต่พาเด็กลงพื้นที่ เก็บข้อมูล ทำวิจัย มันก็ดีกว่ามาเรียนใต้ต้นไม้กับพ่อแม่แต่ top-down มันอยู่ที่ตัว process หรือกระบวนการมากกว่า 

ตอบคำถามคือ ‘ได’ ตอนที่เราทำเรื่องน้ำท่อม เราไม่ได้คุยเรื่องน้ำท่อม เราคุยเรื่องพื้นที่ทำกิจกรรม เมื่อก่อนเด็กไม่มีพื้นที่ คีย์เวิร์ดคือสร้างพื้นที่ให้เด็ก พื้นที่ให้ได้พูดคุย ได้แลกเปลี่ยน ได้สร้างสัมพันธ์ เด็กรวมตัวกันกินน้ำท่อม นั่นคือการรวมกลุ่มนะ คือการจัดตั้งวิธีหนึ่ง แต่นี่เรามาจัดตั้งวิธีหนึ่ง แย่งพื้นที่กัน 

พื้นที่นี้จะชวนให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถ้าคิดได้ เขาก็ออกแบบชีวิตตัวเองได้ พี่มองว่า ไม่ว่าคุณจะเรียนรู้ จะใช้ชีวิตยังไง กระบวนการเรียนรู้ต้องทำให้คนคิดได้ การออกแบบชีวิตคือการคิด คุณจะกิน จะอยู่ จะช่วยเหลือใคร จะไปทางไหน 

อีกหนึ่งบทบาทคือเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล โปรเจ็คท์นำร่องปฏิรูปการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ สตูลมีวิธีคิดจัดการศึกษา ปฏิรูปการศึกษาอย่างไร

สตูลให้เด็กเรียนรู้ผ่านงานวิจัย ใช้นวัตกรรมนำ ถามว่าคืออะไร? มันคือนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ active learning กระบวนการที่เราไม่ top-down เด็ก ให้เด็กตั้งโจทย์ด้วยตัวเองและเลือกเรื่องที่ทำโจทย์วิจัย กระบวนการคือ ทำยังไงให้เด็กได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ลงไปค้นสืบค้นข้อมูล พื้นที่นวัตกรรมของจังหวัดสตูลจะเริ่ม 10 โรงเรียนก่อน ปีหน้าจะขยายเป็น 50 และปีต่อไปจะทำทั้งหมดและขยายลู่ด้วย คือรวมทั้งการศึกษานอกระบบ (กศน.) และโรงเรียนมัธยมด้วย  

สิ่งหนึ่งคือการเปลี่ยนชุดความเชื่อ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ ปัญหาอยู่ที่ความเชื่อ เช่น ความเชื่อ “ถ้าไม่เรียนหนังสือแล้วจะเอาอะไรไปสอบ?” การเรียนรู้แบบนี้ยังฝังในตัวพ่อแม่ ครู ผู้บริหารการศึกษา ถามว่าเปลี่ยนความเชื่อยากไหม? มันก็ต้องไปปรับในโครงสร้างการศึกษา ในอนาคตต้องเปลี่ยนวิธีสอบ ไม่ใช่การเอาคณิตศาสตร์มาสอบแต่เอาการทำงานมาสอบ 

ในฐานะนักจัดการชุมชน จะนำกระบวนการวิจัยชุมชนเข้าไปในการศึกษาอย่างไร

พี่คือคนทำการศึกษาในโรงเรียน แต่เอาชุดความรู้ฝั่งการศึกษาทางเลือกมาใช้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ลุกขึ้นมาจัดการเรียนรู้เองได้ ชาวบ้านมีความรู้ แต่ยังไม่ใช่คนจัดการความรู้ ฉะนั้นคนที่ขาดโอกาสก็ต้องอยู่ในระบบโรงเรียนต่อไป แต่คนฝั่งนี้ (การจัดการความรู้ในชุมชน) ก็ต้องเปลี่ยนบ้าง ไม่งั้นมันก็จะได้แค่นี้ 

ความตั้งใจคือ สร้างกลไกเด็กที่ทำงานกันเป็นเครือข่าย มีเด็กหมุนเวียนตลอดและมีเครือข่ายพี่เลี้ยงทำงานแต่ละจังหวัด

ถ้าคุณจะทำงานกับเด็กสตูล คนกลุ่มนี้จะเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันลุกขึ้นมาบอกกับผู้ว่าฯ นายก อบจ. หรือคนทำงานอื่นๆ ว่าต้องทำยังไง ไม่ใช่พี่นะ แต่เป็นพี่เลี้ยงในชุมชน ให้เครือข่ายเป็นคนขับเคลื่อนความรู้ ฉะนั้น ชุดการทำงานนี้ (การขับเครื่อนพื้นที่นวัตกรรม) ต้องออกแบบกระบวนการที่ไม่ได้เล่นกับเยาวชนอย่างเดียว แต่เล่นกับผู้ใหญ่ให้มาสร้างกลไกเหล่านี้ด้วย

หมายความว่าให้ชุมชนมีกระบวนการเรียนรู้แบบนี้แล้วมันส่งต่อไปสู่ระบบโรงเรียน ให้งานสองชิ้นนี้ไปด้วยกัน 

ชุดพี่เลี้ยงในรอบนี้ หลายคนเปลี่ยนจากคนที่นั่งเฝ้าเด็กอย่างเดียว กลายเป็นคนจัดกระบวนการ ลงรายละเอียดได้ เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเด็กได้ ซึ่งไม่ใช่ครูนะ ซึ่งต่อไปคนเหล่านี้ (ชุมชน) จะออกไปจัดการศึกษาเองได้ ต่อไปมันจะมีครูสามคน ครูในโรงเรียน ครูพ่อแม่ และครูชุมชน ซึ่งตอนนี้ม๊ะเดียร์ (ก่อเดี๊ยะ นิ้วหลี พี่เลี้ยงเยาวชนบ้านทุ่ง) ก็เป็นครูชุมชนแล้วนะ

การศึกษาไม่ได้ขยับแค่ในโรงเรียน?

คุณครูที่โรงเรียนก็ไปร่วมงาน active citizen นะ มันกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกระบบ 

คำว่าพื้นที่นวัตกรรม ไม่ใช่แค่การศึกษาในระบบ พื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูลคือ นวัตกรรมที่จะทำให้ทุกระบบการศึกษาต่อจิ๊กซอว์เชื่อมกันหมด และกำหนดโดยคนสตูลไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ ฉะนั้น คนที่ทำ active citizen ในอนาคตเขาจะเป็นเครื่องมือไปต่อกรกับคนทำการศึกษาในระบบ ว่าไม่ใช่หน้าที่ของคุณ นี่เป็นลูกหลานเรา เรามีสิทธิกำหนด ไม่ใช่คุณกำหนด

หมายเหตุ: ชมคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ที่นี่ “อย่าสอนให้รู้ แต่จงสอนให้คิด” ห้องเรียนชีวิตเด็กน้ำท่อม

Tags:

project based learningResearch Base Learning(RBL)สตูลสมพงษ์ หลีเคราะห์สุทธิ สายสุนีย์active citizen

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

สิทธิกร ขุนนราศัย

Related Posts

  • Education trend
    โรงเรียนอนุบาลสตูล ที่นี่เด็กๆ เลือกเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

    เรื่อง The Potential

  • Creative learning
    ปันจักสีลัต ศิลปะและการต่อสู้ ที่ใช้ทั้งกาย จิต และปัญญาประสานเป็นหนึ่งเดียว

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Creative learningCharacter building
    เดินเท้าแกะรอยเมล็ดพันธุ์ เพื่อพบ ‘มะตาด’ ต้นสุดท้ายในบ้านควน

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Creative learningCharacter building
    ปันจักสีลัตแห่งบ้านทุ่ง จังหวัดสตูล กระบวนเรียนรู้ที่มาจากสถานการณ์จริง

    เรื่องและภาพ potential-test-user

  • Character building
    “อย่าสอนให้รู้ แต่จงสอนให้คิด” ห้องเรียนชีวิตเด็กน้ำท่อม

    เรื่องและภาพ The Potential

‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์: ถ้าประเทศนี้…ไม่มีโรงเรียน
Creative learning
30 May 2019

‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์: ถ้าประเทศนี้…ไม่มีโรงเรียน

เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • ตั้งต้นจากหนังสือ ‘Deschooling Society ที่นี่ไม่มีโรงเรียน’ พร้อมหัวข้อสนทนาว่า ประเทศนี้ไม่มีโรงเรียน ได้จริงไหม
  • ไอวาน อิลลิช ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เสนอระบบที่ไม่มีโรงเรียน เพราะจะทำให้สังคมเกิดและงอกงามได้ด้วยการเรียนรู้
  • สนทนาเรื่องนี้กับ นักอ่าน – นักคิด – นักเขียน –  นักสงสัย – นักตั้งคำถาม และ นักเรียนรู้ อย่าง ‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ชายหนุ่มที่แนะนำตัวว่า “ผมคือผลผลิตของระบบการศึกษาแห่งประเทศไทยเลยครับ”
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

นี่อาจจะไม่ใช่บทสัมภาษณ์เหมือนที่ผ่านมา เรียกว่าบทสนทนาอาจจะถูกต้องมากกว่า และเป็นบทสนทนาที่ตั้งต้นจากหนังสือชื่อว่า Deschooling Society ที่นี่ไม่มีโรงเรียน ของ ไอวาน อิลลิช นักคิด นักการศึกษาชาวออสเตรีย นักบุกเบิกด้านการศึกษา ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบโรงเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง 

ไอวาน อิลลิช วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ระบบโรงเรียนสร้างขึ้นใหม่ จนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ แต่กลับสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ ให้เกิดขึ้นและกระจายไปยังโครงสร้างต่างๆ ทางสังคม จนก่อให้เกิดปัญหาและความล้มเหลวต่างๆ 

คำถามคือทำไมต้องคุยกับ ‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ?

หนึ่ง นักอ่าน – นักคิด – นักเขียน – นักสงสัย – นักตั้งคำถาม และ นักเรียนรู้ รวมอยู่ในตัวเขาทั้งหมด 

สอง เราไม่อยากให้บทสนทนาชิ้นนี้ออกมาในเชิงสั่งสอน ให้ความรู้ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ช่วงเวลาของบทสนทนาครั้งนี้เกิดหลังจากเรา – The Potential และ นิ้วกลม อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวจบเพียงไม่กี่วัน ยังมีคำถาม จุดสงสัย ความไม่เห็นด้วย และ ความคิดที่ว่า เออ…ใช่ ค้างอยู่ในสมองเต็มไปหมด

และ สาม เราไม่มีความสามารถมากพอจะสรุปได้ว่าอันไหนถูก-ผิด และไม่ต้องการทำเช่นนั้น จึงอยากชวนผู้อ่าน ร่วมวงสนทนานี้ไปด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า

“ที่นี่ ไม่มีโรงเรียนได้จริงไหม” 

จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คิดว่า การเรียน การศึกษา และการเรียนรู้ มันมีส่วนเหมือนและต่างกันอย่างไรบ้าง

ผมเพิ่งเปิดพจนานุกรมพุทธศาสนาเลยครับว่า การศึกษาแปลว่าการเรียนรู้เลยครับ ถ้าจะถามว่า การศึกษา การเรียนรู้มันต่างกันอย่างไร จริงๆ ก็คิดว่าความแตกต่างมันคงเป็นแค่คำนะครับ เพราะว่าความหมายโดยแก่นแท้ของมันคือ การที่เรารู้จักอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเข้าใจมันมากขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดหรือในแง่ของความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่างๆ 

แต่ไอ้ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในความรู้สึกเนี่ยมันเกิดจากอะไร ผมว่าก็น่าคิดเหมือนกัน

อะไรที่ทำให้เราคิดว่า ทำไมคำว่า ‘การศึกษา’ มันถึงดูทางการกว่า ทรงภูมิกว่า แล้วทำไม ‘การเรียนรู้’ ถึงดูธรรมดาๆ ดูชีวิตประจำวันมากกว่า ส่วน ‘การเรียน’ ถ้าเอาไปถามนักเรียนมัธยม ประถม ก็น่าจะทำหน้าเบื่อขึ้นมาทันที

คิดว่ามันอาจจะมาจากการที่เราใช้ชีวิตผ่านระบบการศึกษาบางอย่างไป มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า การศึกษาเป็นเรื่องซีเรียส แล้วก็การเรียนมันก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับนักเรียน

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณเอ๋ผ่านการศึกษาหรือการเรียนมาแบบไหน?

จริงๆ ผมนี่เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาแห่งประเทศไทยเลยครับ เข้าเรียนตามระบบเลยตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล 

ความรู้สึกแรกที่จำได้และเป็นภาพติดตาเลยคือ ตอนที่เข้าเรียน ป.1 วันแรก ผมจำได้ว่ามีครูคนหนึ่ง เขาถือไม้เรียวอยู่ที่หน้าห้อง แล้วไม้เรียวของเขามีสีแดงอยู่ตรงปลาย แล้วเขาก็บอกนักเรียนทุกคนเลยนะครับว่า อย่าดื้อ เพราะว่าคนที่ดื้อจะโดนตีจนเลือดออกแบบนี้ นั่นเป็นภาพจำสำหรับห้องเรียนของผม เพราะนั่นเป็นภาพแรกๆ ที่เราเริ่มรู้จักห้องเรียน ผมก็เลยมีความรู้สึกว่า การเรียนมันจำเป็นอย่างมากเลยที่จะต้องมีระเบียบ คือจะต้องเป็นนักเรียนที่ดี คุณจะต้องเป็นนักเรียนที่เชื่อฟังครู และถ้าคุณเชื่อฟังครู คุณตั้งใจเรียน คุณก็จะเป็นเด็กเรียนเก่ง แล้วเด็กเรียนเก่งเนี่ย ก็จะเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่มีอนาคตที่ดี

ส่วนการศึกษา เราจะรู้สึกว่ามันเป็นการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ไม่รู้เพราะอะไร แต่ก็คิดว่าเราควรจะมีการศึกษาที่ดี ถ้าจะพูดให้เห็นความแตกต่าง ส่วนตัวความแตกต่างอาจจะอยู่ที่ ตอนที่เรายังเรียนอยู่ในระดับประถม มัธยม เราจะรู้สึกว่าการไปโรงเรียนหรือการเข้าห้องเรียน มันคือการที่เราเข้าไปฟังวิชาความรู้จากครู โดยที่ครูเหมือนเป็นฮาร์ดดิสก์สักลูกนึงที่มีความรู้บรรจุอยู่เต็มเปี่ยมเลย เราเข้าไปเพื่อจะดึงไฟล์ความรู้จากสมองของครู ออกมาสู่สมองของเรา ถ้าเราดึงความรู้จากครูมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งฉลาดและเป็นเด็กเก่งมากขึ้น 

ที่เปรียบเทียบแบบนี้เพราะรู้สึกว่า เราไม่รู้ว่าความรู้มันจะงอกงามต่อไปจากที่ครูมียังไง แต่เรารู้แค่ว่าครูน่ะรู้อะไรเยอะ แล้วเราต้องรู้ให้เหมือนครู 

ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็จะมีความรู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปนิดนึง ตรงที่ว่าเวลาเราเข้าห้องเรียนไป เราจะรู้สึกว่า จริงๆ แล้วมันมีความรู้บางอย่างที่เกิดระหว่างที่เข้าไปเรียนอยู่ ซึ่งความรู้นี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราเข้าไปถามครู หรือว่ามีเพื่อนตั้งคำถามในสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่า เฮ้ย มันมีมุมนี้ด้วยเหรอ? 

แล้วสิ่งที่มันต่างชัดเจนอาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งผมเรียนคณะสถาปัตยกรรมฯ มันเป็นคณะที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดที่มันแตกต่างเยอะมาก โดยเฉพาะไอเดียการออกแบบ เพราะฉะนั้นในโจทย์ๆ หนึ่ง เราก็จะเห็นว่า มันมีวิธีในการออกแบบผลลัพธ์ออกมาเยอะมากเลย เช่น ผมเรียนในสตูดิโอ มีนิสิต 200 คน อาจารย์ให้โจทย์ออกแบบบ้าน 1 หลัง เราจะเห็นว่ามันจะมีแบบที่ออกมาถึง 200 แบบไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่เซอร์ไพรส์มากนะครับ มันต่างจากสมัยมัธยมมากๆ คือ ในโจทย์เดียวกัน มันมีคำตอบที่ไม่ถูกไม่ผิดเยอะได้ขนาดนี้เลยเหรอ?

ตอนเด็กๆ คุณเอ๋เป็นเด็กที่มีปัญหาหรือตั้งคำถามกับการเป็นนักเรียนไหม หรือมีคำถามอะไรผุดขึ้นมาระหว่างที่เราเรียนอยู่บ้างหรือเปล่า เช่น ทำไมเหมือนเราเป็นผู้รับจากครูอยู่ฝ่ายเดียว แล้วการที่เรารับมาฝ่ายเดียว มีปัญหาอะไรกับมันบ้างไหม?

ผมว่าเวลาเราพูดถึงโรงเรียน ภาพแรกที่นึกมันอาจจะเป็นห้องเรียน แต่ว่าจริงๆ แล้วโรงเรียนมันคือ ระบบๆ หนึ่ง หรือโลกใบเล็กๆ ใบหนึ่ง ที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น โดยเข้าใจว่าถ้าเราเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้นเราจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แต่โลกใบนั้นเนี่ย มันเป็นการสร้างระบบระเบียบบางอย่างขึ้นมาใหม่ เพราะก่อนที่เราจะเข้ามาในโรงเรียน เราอะไรก็ได้ หมายความว่า ถ้าเกิดว่าจะมีใครมากำหนดกฎเกณฑ์ก็คงจะมีแค่พ่อแม่ แต่พอเข้าไปในนั้น (โรงเรียน) มันมีสิ่งที่ถูกต้องแบบหนึ่งที่เราต้องปฏิบัติตาม 

สำหรับผมมักจะไม่ค่อยมีคำถามกับสิ่งที่ครูสอน แต่ผมจะมีคำถามนอกห้องเรียน เช่น ทำไมเราจะใส่กางเกงเลยเข่าไม่ได้เหรอ หรือทำไมเราจะใส่กางเกงสั้นเต่อไม่ได้ คือสั้นก็ไม่ได้ ยาวไปก็ไม่ได้ หรือผมเนี่ยเราจะไว้ให้มันยาวลงมาแบบ พี่มอส พี่เต๋า หรือว่าเจ มณฑลไม่ได้ สมัยนั้นเนี่ย เขาจะให้ตัดเกรียนแต่เราก็จะต้องมีปอยๆ นึงเอาไว้ดูกันว่า ใครไว้ถึงคางได้ โห มึงเก๋ามากเลยแล้วก็เอาเยลเหน็บเก็บไว้ อันนี้เป็นคำถามมากๆ ครับ

มันจะมีทั้งคำถามต่อระบบในโรงเรียน แต่กับวิชาที่เรียน เราไม่ได้มีคำถามเลยใช่ไหมคะ

ตอนเด็กเราเชื่อเลยว่า คำตอบที่ถูกเนี่ยครูเขารู้ เราไม่มีทางที่จะรู้คำตอบที่ครูจะไม่รู้ได้เลย คือถ้าเรามีคำตอบอื่นที่ไม่ตรงกับครู มันต้องผิด เราแค่มองไปที่หน้าครูแล้วเดาว่า ครูอยากให้ตอบว่าอะไร แล้วตอบให้ตรงอะครับ แล้วสิ่งนั้นแหละมันจะถูก 

ถ้ามันจะมีวิชาสักวิชาหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีคำตอบอื่นได้ สำหรับผม มันคือวิชาศิลปะ ผมมีประสบการณ์หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตในโรงเรียนเลย คือตอนนั้น ม.3 อาจารย์ฝึกสอนวิชาศิลปะคนหนึ่ง เขาให้วาดรูปอะไรก็ได้ในโรงเรียน ผมก็วาดสนามบาสหน้าโรงเรียน

ตอนนั้นผมเพิ่งซื้อสีโปสเตอร์มาใหม่ มีสีสะท้อนแสงแบบแจ๊ดๆ เยอะๆ ผมก็ระบายสีมันไม่เหมือนจริงเลย เช่น ระบายท้องฟ้าเป็นสีม่วง ระบายต้นไม้เป็นสีส้ม ซึ่งมันก็เป็นภาพที่แปลกมาก หน้าตามันก็คล้ายๆ กับภาพที่อยู่ข้างหลังรถสองแถว มันนีออนมาก (หัวเราะ) เพื่อนด่ากันเยอะมาก แต่ว่าภาพวาดชิ้นนั้น อาจารย์เขาให้เกรดเอ มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย แปลกดี

ารย์คนนั้นแหละที่สร้างเครื่องหมายคำถามขึ้นมาในหัวเราว่า หรือมันมีคำตอบที่มันท้าทายโจทย์ ตรงนี้แหละครับที่ทำให้เราเห็นรูเล็กๆ ในเขื่อน ที่เราไม่เคยเห็นจากผนังนี้มาก่อนเลย เราเลยรู้สึกว่า มันมีคำตอบอื่นอีกนี่หว่า

ที่บอกว่า คำตอบที่ถูกที่สุดอยู่กับคุณครูเท่านั้น นั่นหมายความว่าคำตอบที่ถูกที่สุด ไม่จำเป็นต้องถูกของที่อื่น แต่ต้องเป็นถูกของคุณครูเท่านั้น ไม่ว่าความรู้นั้นมันจะถูกหรือผิดก็ตาม?

ตอนที่เรียนอยู่ในโรงเรียน ผมเชื่อเลยว่านอกโรงเรียนไม่มีความรู้ที่ถูก คือความรู้ที่คุณควรจะเข้าใจหรือเรียนรู้จากมันควรจะเรียนจากห้องเรียน ครูเขารู้ถึงมาสอนเรา เรารู้สึกว่าถ้าอยู่นอกห้องเรียน เช่น ฟังจากรายการทีวีหรือผมไปเจอปราชญ์ชาวบ้าน แล้วมาบอกอะไรผมสักอย่าง ผมก็คงไม่เชื่อว่าความรู้นั้นมันน่าเชื่อ เพราะเราเชื่อไปแล้วว่า คนที่เราควรเชื่อที่สุดคือครู 

และสิ่งที่มันมายืนยันสิ่งนี้ได้คือ ข้อสอบ คือกระบวนการของการเรียนที่สุดท้ายมันมาจบที่การทำข้อสอบ ข้อสอบนั้นมันกำลังทดสอบเราว่า ตกลงแล้วเรารู้ตามที่เขาสอนไหม? เพราะฉะนั้นเวลาเราทำข้อสอบ ซึ่งปกติแล้วมันจะเป็นปรนัยด้วย เราก็ต้องคิดว่า ถ้าเราเป็นนักเรียนที่เก่งและเรียนดี เราก็จะต้องตอบถูก ซึ่งมันไม่มีทางคิดว่า เราจะถามคำถามอื่นหรือตอบคำตอบที่นอกจากคำตอบที่ถูกต้องได้ไหม 

ข้อสอบนี่แหละที่มาตรวจเราอีกทีว่าคุณรู้ในความรู้ที่ครูสอนหรือเปล่า เพราะฉะนั้นความรู้ที่ครูไม่ได้สอนมันไม่มีผลอะไรกับคะแนนสอบ หรือคำตอบอื่นที่ไม่ตรงกับคำตอบที่ครูบอกว่ามันถูก มันไม่มีผล แล้วสิ่งที่เราอยากได้ที่สุดในตอนที่เรียนอยู่คือคะแนนสอบ แล้วอะไรที่เพื่อนยอมรับเรามากที่สุดคือ คะแนนที่มันดีที่สุด อะไรที่ทำให้พ่อแม่ชมเรา ญาติปรบมือให้เรา มันก็คือ คะแนนสอบ

มันกลายเป็นว่า การเรียนรู้ทั้งหมด บทสรุปของมันก็คือ คะแนนสอบเท่านั้นเอง แล้วพอเราอยากได้คะแนนสอบ เราก็ต้องตอบตามที่ครูสอนเท่านั้นเองครับ

หนังสือ Deschooling Society เปรียบเทียบระบบการศึกษากับศาสนา ในฐานะระบบตั้งต้นในการผลิตคนสู่สังคม ให้เป็นคนที่เป็น ‘ผู้รับ’ อย่างเดียว ไม่แลกเปลี่ยน ไม่ตั้งคำถาม แต่ทำหน้าที่เอาข้อมูลเหล่านี้ไปสนับสนุนทำให้เกิดโครงสร้างต่างๆ ในสังคม เช่น ระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์  รวมถึงความคิดว่าความรู้ทุกอย่างต้องพึ่งพากัน เช่น ความรู้ต้องพึ่งพาครู หรีอผู้อื่นที่รู้หรือเชี่ยวชาญมากกว่า…คุณเอ๋เห็นด้วยหรือคิดต่างอย่างไรบ้างคะ

นี่เป็นมุมหนึ่งเลยครับที่ชอบจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือตอนเปรียบเทียบว่า ระบบโรงเรียนเหมือนมารับบทบาทแทนองค์กรทางศาสนา 

แต่ก่อนองค์กรทางศาสนาคือองค์กรที่ 1.ให้ความรู้คน 2.บอกเรื่องราวในแง่ศีลธรรม อะไรที่ควรทำ ไม่ควรทำ ถูกผิดดีงามอย่างไร และ 3.มีคนที่จัดการและสามารถบอกคุณได้ว่า คุณควรทำหรือไม่ควรทำอะไร น่าจะเป็นบทบาทของนักบวช 

นอกจากนั้น องค์กรทางศาสนายังช่วยเซ็ตคุณค่าบางอย่างขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้คนออกมาสู่สังคมและอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ซึ่งบทบาทเหล่านี้ มันเกิดการเปลี่ยนผ่าน ศาสนาอาจจะมีบทบาทในการกำหนดสิ่งเหล่านี้ลดลง โรงเรียนเข้ามารับบทบาทเหล่านี้แทน แล้วแทนที่จะเป็นบาทหลวงหรือนักบวช ก็มาเป็นครูในห้องเรียนแทน

ผมว่าอันนี้มันน่าสนใจ ตรงที่ว่าถ้าอย่างนั้นโรงเรียนต้องมีการกำหนดคุณค่าอะไรบางอย่างให้กับเราด้วย เพราะหนังสือเล่มนี้บอกกับเราอีกว่า โรงเรียนทำราวกับว่า ให้คุณตัดตัวเองออกจากชีวิตจริง แล้วคุณต้องเข้าไปอยู่ในนั้น (โรงเรียน) คล้ายๆ กับเป็นอะไรสักอย่างที่บ่มเพาะคุณให้พร้อมออกมาเจอโลกข้างนอก แล้วถ้าคุณไม่ผ่านระบบนี้ คุณก็จะรู้สึกว่า คุณอยู่โลกข้างนอกแล้วคุณจะเข้าระบบไม่ได้ คุณอาจจะรู้สึกแปลกแยก เพราะว่าโลกข้างนอกมันเป็นระบบที่รับไม้ต่อมาจากโรงเรียน 

ผมว่าโลกทัศน์ที่โรงเรียนมอบให้เราผ่านการเข้าไปอยู่ในโลกของโรงเรียน จริงๆ แล้วมันส่งผลกระทบกับการมองโลกและชีวิตหลายอย่างมาก เช่น การที่เราเข้าไปเรียนในระบบที่เราเป็นผู้รับเท่านั้น โดยวิธีการของโรงเรียนส่วนใหญ่มันไม่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักเรียนกับครู มันทำให้เราไม่ตั้งคำถามต่อคนที่เขาคิดว่าเขารู้มากกว่าเราหรือมีอำนาจมากกว่าเรา มันทำให้เราไม่รู้สึกว่าเราสามารถจินตนาการถึงชีวิตของตัวเองได้ 

คาร์ล มาร์กซ์อาจจะบอกว่า คนทำงานแล้วรู้สึกแปลกแยกกับงาน แต่พอมาบอกว่า เฮ้ยจริงๆ มันเกิดขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียน ผมว่ามันยิ่งน่าสนใจ มันทำให้เราเห็นว่า ตอนที่เราเรียน เรานึกไม่ออกว่าสิ่งที่เราเรียนมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตเรา เช่น เราเรียนคณิตศาสตร์ มันมีบวก มีคูณ มีถอดสแควรูท แต่เราไม่รู้เลยว่ามันมีผลอะไรกับชีวิตเรา เราเรียนประวัติศาสตร์อยุธยา เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา 

มันกลายเป็นว่าสิ่งที่เรียนหรือวิชาความรู้มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเรา เราก็รู้สึกว่ามันแปลกแยกกับสิ่งที่เราเรียน แล้วมันก็ส่งผลให้รู้สึกว่าแปลกแยกกับชีวิตตัวเองด้วย เราเลยรู้สึกว่า เวลาเราไปเรียนมันเหมือนเราไปทำความรู้จักกับอะไรสักอย่างที่เขาบอกว่าคุณต้องรู้จัก เช่น เราต้องไปทำความรู้จักต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่เราไม่รู้เลยว่า มันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร กินก็กินไม่ได้ เอามาผัดอะไรก็ไม่ได้ ซึ่งความรู้สึกตรงนี้มันส่งผลระยะยาวมากว่า เหมือนมันทำให้เรากลายเป็นคนที่กลายเป็นแค่อะไรโล่งๆ อันหนึ่ง ที่ไปนั่งอยู่เฉยๆ แล้วให้โลกกระทำกับเรา

ผมว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในโรงเรียนที่เป็นระบบคือ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นผู้ถูกกระทำ คือเป็นผู้ที่คอยรับ แต่เราไม่ได้มีโอกาสเป็นผู้ที่สร้างสรรค์อะไรบางอย่างขึ้นมา เพราะว่าถ้าเราจะสร้างสรรค์มันก็กลายเป็นว่ามันมีคำตอบที่ถูกอยู่แล้ว ผมว่าสิ่งนี้มันกระทบอย่างมากเลยในระยะยาว

ที่เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้รับอย่างเดียว ทำให้เราไม่คิดตั้งคำถาม หรือไม่คิดที่จะหาคำตอบอื่นๆ เอาจริงๆ ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีการต่อต้าน อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมด้วยหรือเปล่าที่ทำให้เรารู้สึกเนียนไปกับระบบแบบนี้

ผมว่าสิ่งหนึ่งที่มันสร้างผลกระทบก็คือ มันทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนที่ไม่รู้ เธอคือผู้ไม่รู้ และเธอต้องรู้ในสิ่งที่ควรรู้ด้วย และเธออย่าไปรู้ในสิ่งที่ฉันไม่ได้บอกให้เธอรู้ นั่นคือการที่เรารู้สึกกับตัวเองว่าเราเป็นคนที่ไม่รู้ แล้วมีคนที่รู้จริงรออยู่ แล้วคนที่รู้จริงมีไม่กี่คน แล้วมีคนที่เฉพาะเจาะจงมาแล้ว

นอกจากนั้นการที่เขาบอกว่า เราจะต้องฟังจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งครูก็เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ มันก็ทำให้คนอื่นๆ ที่อยู่นอกโรงเรียน เช่น แม่ครัวที่ทำอาหารเก่งมาก คนที่เพนท์โปสเตอร์หนังที่มีฝีมือมากๆ คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ที่ไม่รู้จริงไปหมดเลย มันทำให้เรารู้สึกว่า โลกของการเรียนรู้จำกัดมาก แล้วโอกาสที่ทำให้เราจะได้เรียนรู้จากคนที่เขารู้จริงแต่เขาไม่ได้อยู่ในโรงเรียนมันก็ตกไป เราตกเป็นคนที่ต้องรอ แล้วมันก็เซ็ตความคิดให้เราว่า มีคนบางคนที่เหมือนถูกการันตีมาแล้ว ได้รับมาตรฐานออกใบรับรองมาแล้วว่า คนนี้เป็นคนที่เราควรจะฟัง แล้วก็จะมีคนอีกส่วนนึงเลยที่เราไม่จำเป็นต้องฟัง 

สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือ คนที่ได้รับการการันตี กลายเป็นคนที่มีอำนาจไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันก็ทำให้เกิดขั้นของความสูง-ต่ำตั้งแต่ในโรงเรียน เราไม่รู้สึกว่าเราจะเป็นคนที่สามารถจะรู้ หรือเปลี่ยนสถานะตัวเองให้ไปเป็นคนที่มีสถานะเท่ากับคนที่สอนเราได้ ซึ่งสถานะแบบนี้มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ถ้าเราไปรู้ในสิ่งที่ครูไม่รู้ แล้วก็เอามาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน แต่พอมันเป็นไปตามระบบแบบนั้นแล้ว มันก็เลยทำให้เราก็จะต้องเป็นคนที่รู้น้อยกว่าคนบางคนอยู่เสมอ

ผมว่าสิ่งนี้มันอาจจะเกิดผลกระทบระยะยาว คือ พอเราโตขึ้นมาด้วยมายด์เซ็ตแบบนี้ เราอาจจะกลายเป็นคนที่เชื่อว่าจะมีคนบางคนที่รู้ดีกว่าเรา ควรให้เขามาปกครองเรา เช่น มันอาจจะส่งผลถึงว่า เราก็เลยไปเชื่อในระบบของคนที่เขามีคุณธรรมมากกว่าคนบางกลุ่ม เขาอาจจะดีกว่า หรือเชี่ยวชาญในด้านนี้มากกว่าคนบางกลุ่ม โดยไม่สนว่าเขาจะเข้ามาในวิธีการแบบไหน เราก็ยอมรับในกลุ่มคนที่เราเชื่อว่า เขาน่าจะถูกการันตีมาแล้ว

ขณะเดียวกันตัวเราเองก็เชื่อมั่นในลำดับชั้นของความรู้ไม่รู้แบบนี้ด้วยเหมือนกัน เราอาจจะมองคนอื่นที่เขาไม่ได้อยู่ในระบบเดียวกับเราว่า เธอรู้น้อยกว่าฉัน ซึ่งมันก็เหมือนกับว่า เราอาจจะจบการศึกษาปริญญาตรีมา แล้วเราก็มองว่า คนที่ไม่ได้จบ ป.ตรีมาไม่ได้รู้เท่าเรา หรือโง่กว่าเรา ซึ่งมายด์เซ็ตแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกไปด้วยว่า เมื่อเธอมีความรู้น้อยกว่าฉัน เธอก็ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงเท่ากับฉันด้วย 

มันก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า มีคนหนึ่งรู้มากกว่าอีกคนหนึ่ง โดยที่มันมีความรู้ที่เป็นมาตรฐานอย่างเดียวเลย คือ มันเกิดขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียนเลยหรือเปล่า? แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดกับคนที่รู้มากกว่า-น้อยกว่าแบบนี้หรือเปล่า?

คิดแบบชวนทะเลาะอีกหน่อย ความรู้ในที่นี้ มันไม่ใช่แค่คุณมีเงินอย่างเดียวแล้วคุณจะรู้ได้ คือความรู้ที่เราให้ค่ามันมากๆ หลายเรื่องเราก็ต้องมีเงินด้วยที่จะเดินไปถึงจุดสูงสุดของความรู้นั้นๆ เพราะฉะนั้นสายตาที่เรามองคนที่ความรู้ความเชี่ยวชาญมันไม่ใช่แค่ความรู้ มันคือสถานะทางสังคม ความพร้อมทางเศรษฐกิจต่างๆ ด้วย

ความคิดแบบนี้มันน่าจะส่งผลหรือไปสร้างสังคมด้วยไหม เพราะมันไม่ได้มีแค่ความรู้สูงสุด แต่ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่ทำให้เราคิดว่า เราควรจะเชื่อคนคนนี้

ผมว่าตั้งแต่โรงเรียนแล้วครับ เราจะมีความรู้สึกว่าความรู้มันเท่ากับมีอำนาจด้วย คือครูไม่ได้แค่ฉลาดหรือรู้มากกว่าเรา แต่เขามีอำนาจมากกว่าเราด้วย ซึ่งจริงๆ อำนาจนั้นมาจากสถานะที่เขาเป็นผู้ที่รู้มากกว่า ทีนี้พอเราออกมาใช้ชีวิตในสังคม เราก็เลยมีความรู้สึกแบบนั้นอยู่ด้วยว่าคนที่มีการศึกษาที่ดีกว่า ลึกๆ ก็น่าจะมีอำนาจในความรู้บางอย่างที่มากกว่าเราด้วย 

แต่กว่าคนคนหนึ่งจะมีความรู้ในระดับสูงได้ นั่นแปลว่าเขาก็ต้องผ่านอะไรมาหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ แน่นอนว่าคนที่จบสูง จบนอก ก็อาจจะต้องมีเงิน แม้ว่าไม่มีเงิน เขาอาจจะต้องสอบชิงทุนไป ซึ่งอันนี้มันการันตีอะไรบางอย่างนะว่า เขาเป็นคนที่โอเคของระบบ เขาเป็นผลผลิตที่ระบบยอมรับ แล้วในเมื่อเราอยู่ในระบบเดียวกัน เราจะรู้สึกว่า สถานะของเราก็คงจะสู้เขาไม่ได้ หรือเราคงอยู่ในสถานะด้อยกว่า แม้ว่าเขาจะยังไม่มีอำนาจทางตำแหน่งหน้าที่อะไร หรืออาจจะไม่ได้รวยกว่าเรา แต่เราก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่โอเคกว่า เพราะว่าเขาสามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่ในระบบนั้นไปถึงสถานะที่มันเหนือกว่าเรา

ถ้าเราอยู่ด้วยความเชื่อหรือความคิดแบบนี้มันน่าจะส่งผลอะไรกับชีวิตประจำวันบ้าง

ผมว่า อย่างแรกเลยคือ เวลาที่เราอยู่ด้วยกัน เราจะมีความรู้สึกว่า เราจะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาได้ไม่เต็มที่ เพราะเรากลัวว่า ความรู้ของเราที่ถูกเรียกว่าน้อยกว่า มันจะผิดด้วย แล้วความรู้สึกที่เราคิดว่าผิดเนี่ย มันส่งผลกลับมาว่าเราจะมีอำนาจน้อยลงไปด้วย

แบบไหนอันตรายกว่ากันคะ ระหว่างคนที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้ว กับกลุ่มคนที่คิดว่าฉันไม่มีทางที่จะเป็นแบบนั้นได้ ฉันจึงต้องเชื่อเขาดีกว่า?

ผมว่าสิ่งที่สังคมเสียประโยชน์ก็คือ เรามีความถูกต้องที่แคบ แล้วก็เรามีลู่ทางที่จะเห็นเส้นทางที่จะไปในแบบที่มันแคบมาก แล้วดูเหมือนว่า คนที่มีอำนาจมากกว่า มีความรู้มากกว่า จะเป็นคนที่พาคนทั้งหมดไป ซึ่งสังคมที่มันเฮลท์ตี้ควรจะเป็นสังคมที่มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งสังคมที่เกิดความคิดเห็นหลากหลายมันจะต้องเกิดจากความมั่นใจในความคิดตัวเองก่อนว่ามันไม่ได้มีคำตอบที่ถูกแคบๆ หรือที่ถูกตามมาตรฐาน แต่เราควรจะได้เห็นความรู้ที่มันแตกต่างกัน ซึ่งความต่างมันไม่ได้แปลว่าเก่งกว่าหรือไม่เก่งกว่า

ถ้าเรามีมายด์เซ็ตตามระบบการศึกษา เราจะรู้สึกว่าคนที่จบปริญญามีความรู้ที่ได้รับการยอมรับมากกว่าใช่ไหมครับ สมมุติว่าคนหนึ่งเป็นดอกเตอร์ แต่อีกคนอาจจะเป็นชาวนาที่เก่งมาก แต่ชาวนาอาจจะคิดว่าตัวเองไม่รู้ แต่ในสังคมที่มันเปิดกว้าง และไม่ได้มีลำดับชั้นของความรู้ ผมว่าชาวนาเองก็จะสามารถแสดงความรู้และความคิดในมุมมองของเขาออกมาได้ 

ในสังคมที่มีคนแสดงความคิดเห็นออกมามาก มันปลอดภัยกว่า เพราะมันมีทางเลือกมากกว่า มันก็เกิดความผสมผสานของความคิดมากกว่า แล้วมันก็ทำให้คนที่อยู่ในสังคมไม่ตกเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา หรือฉันจะต้องเดินตามคนที่เขาบอกว่า “เฮ้ย ฟังฉันสิ ฉันรู้มากกว่า” มันมีความรู้สึกถึงศักดิ์ศรี ถึงคุณค่าของตัวเองในชีวิตมากกว่า และนั่นควรจะเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นชีวิตของมนุษย์

ความรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยนั่นคือ เรากำลังขาดพื้นที่ปลอดภัย เรารู้สึกว่า ถ้าฉันพูดว่าฉันไม่รู้ ฉันตายแน่ๆ เราขาดพื้นที่ปลอดภัยในการบอกว่า ฉันไม่รู้ เป็นไปได้ไหมว่าส่วนหนึ่งมันมาจากระบบที่ให้ค่ากับความรู้-ไม่รู้ ขณะเดียวกัน ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นมากเรื่อยๆ คือ การตั้งคำถามกับทุกอย่าง ที่ค่อยๆ นำความเปลี่ยนแปลงเข้ามา

ซึ่งก็จะนำไปสู่คำถามต่อไปคือว่า ตอนนี้คนพูดถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ และหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงสังคมที่ไม่มีระบบโรงเรียน (Deschooling Society) ในความคิดเห็นของคุณเอ๋ เราสามารถที่จะไม่มีโรงเรียนได้จริงไหม ถ้าไม่มีก็ได้ แล้วจะยังไงต่อดี

ผมว่าทางออกอาจจะเป็นว่า มันอาจจะไม่ได้เป็นซ้ายสุด-ขวาสุด คือไม่ใช่ว่ามันจะต้องมีโรงเรียนในแบบเดิม หรือว่าจะไม่มีโรงเรียนเลย แต่ตัวโรงเรียนเองน่าจะมีพื้นที่ของการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบเดิมๆ อยู่ในนั้นด้วย 

ถ้าเป็นการศึกษาในยุคที่ผมเติบโตมา มันเป็นการศึกษาที่มีระบบมากๆ ซึ่งโรงเรียนเองควรจะทำการบ้านใหม่ว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่ระบบทำกับเด็ก มันผลิตให้เด็กออกมาเป็นคนแบบไหนในสังคม ซึ่งพอโลกมันเปลี่ยน ผมคิดว่าโรงเรียนก็จะต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน เช่น เราอาจจะเห็นว่า ตัวระบบอาจจะทำให้เด็กเป็นคนที่คิดอะไรที่เป็นลำดับขั้นตอนที่ต้องมีคนมาคอยตรวจว่ามันถูกหรือผิดเนี่ย มันไม่ได้แล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็วมาก แล้วถ้าคุณมัวแต่เดินตามขั้นตอน แล้วเชื่อแต่สิ่งที่ครูบอกว่าถูก เด็กคนนี้ก็อาจจะออกมาในโลกสมัยใหม่ที่ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ ผมว่าโรงเรียนก็อาจจะไม่จำเป็น 

เช่น ไม่จำเป็นต้องสอน 8.00-16.00 แบบเดิมแล้ว อาจจะมีสักวันหรือสองวัน ที่ให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือให้เด็กออกมาแบ่งปันกับเพื่อน ลดอำนาจของครูในห้องเรียน ทำให้เด็กรู้สึกว่า เราสามารถที่จะถามครูได้ ตั้งคำถามที่ท้าทายได้ หรือครูอาจจะชวนเด็กมาให้ความรู้ใหม่ๆ ก็ได้ 

ผมว่าจริงๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในโรงเรียนทางเลือก แต่ตัวโรงเรียนที่เป็นระบบ ก็ต้องทำการบ้านว่า จริงๆ แล้วมันไม่ถึงขั้นหรอกว่าจะไม่มีโรงเรียน แต่ว่าโรงเรียนจะปรับตัวอะไร อันนี้เป็นสิ่งที่น่าถาม และคำถามนั้นไม่ใช่ว่าโรงเรียนอยู่รอดในแง่ว่า ให้พ่อแม่อยากส่งลูกไปเรียนเท่านั้นนะครับ แต่ว่ามันต้องเป็นการปรับตัวที่สร้างบุคคลที่เหมาะกับโลกยุคปัจจุบันมากกว่า

พูดถึงคำว่าเรียนรู้ บทบาทสำคัญอย่างครอบครัว มีส่วนหล่อหลอมให้เด็กโตขึ้นมาแล้วไม่กล้าตั้งคำถาม เช่น ประโคที่บอกว่า เชื่อเรา เราอาบน้ำร้อนมาก่อน หรือถ้าเด็กสักคนเดินไปบอกว่า ไม่อยากเรียน ป.ตรี ไม่อยากเรียนต่อ พอถูกไล่ถามเหตุผล มันยังยากเลยกับการตอบคำถามนี้ คุณเอ๋คิดว่าบทบาทของครอบครัว คนรอบข้าง ควรจะคิดกับการเรียนรู้ใหม่อย่างไร

ผมว่าเวลาเราคิดว่าเราอยากให้ลูกเรียนอะไร จริงๆ คำตอบของมันก็คือว่า เราอยากเห็นลูกจบออกมาเป็นอะไร…มากกว่า คือจริงๆ มันอยู่ที่พ่อแม่เห็นคุณค่าของโลกใบนี้แตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ที่ไม่ได้คิดว่าลูกจะต้องจบออกมาเป็นเจ้าคนนายคน หรือเป็นคนที่มีความมั่นคงของชีวิตด้วยการที่มีเงินเยอะ เขาก็จะเป็นคนที่มีวิธีการให้ลูกเรียนรู้แตกต่างจากพ่อแม่ที่มองเห็นอนาคตลูกแบบนั้น 

เวลาเราพูดถึงระบบโรงเรียน สิ่งที่มันซ่อนอยู่ในการตัดสินใจว่า อยากจะให้ลูกเข้าไปเรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีระบบแบบไหน ผมว่ามันคือคุณค่าในใจของพ่อแม่ เช่น พ่อแม่อาจจะเป็นผลผลิตของทุนนิยม บริโภคนิยมมากๆ เราก็จะนึกไม่ออกเลยนะครับว่า ลูกจะเติบโตมาในโลกที่มีค่านิยมแบบอื่นได้ด้วยเหรอ ลูกที่มัวแต่ไปเรียนธรรมะ 3 วัน ลูกที่ไม่เข้าโรงเรียนเลย แล้วก็ออกไปวิ่งเล่นกันในทุ่งกว้าง แล้วก็ไปจับเต่าทอง เอาใบไม้มาเรียงสีกัน สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่จะเอามาทำมาหากินได้ด้วยเหรอ คือพอคุณค่าเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นในจินตนาการหรือในใจของพ่อแม่ มันก็ยากเหมือนกันที่พ่อแม่จะสามารถคิดได้ว่ามันจะสามารถมีการเรียนรู้ในแบบอื่นได้อยู่

ในความคิดเห็นจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา สถาบัน ชื่อคณะ ยังมีความจำเป็นอยู่ไหม

ผมคิดว่าในสังคมไทยชื่อสถาบันยังมีน้ำหนักอยู่เยอะมาก เราอาจจะอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับเครือข่ายและอำนาจ หมายถึง การที่เราได้รู้จักคนที่มีบทบาทหรืออำนาจทางสังคม ที่อาจจะจบมาจากสถาบันเดียวกัน เราเห็นประวัติของเขา อีกอย่างที่เกิดขึ้นตลอดและเกิดขึ้นจริง คือการช่วยเหลือกันในโลกทำงาน เช่น ความสัมพันธ์แบบพี่ช่วยน้อง เพราะเห็นว่าจบมาจากที่เดียวกัน  

แล้วอย่างนี้มันจะขัดกับการเรียนรู้ที่บอกว่าทุกคนเท่ากันหรือเปล่า

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเราโตมากับสังคมอุปถัมภ์จริงๆ ถ้าเราเป็นเพื่อนใครสักคนที่มีอำนาจ เราได้อยู่ในสังคมที่เรารู้จักคนคนหนึ่ง แล้วเขารู้จักใครสักคนที่ทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น จะเป็นเรื่องดี ซึ่งเรื่องดีแบบนี้เกิดขึ้นไม่รู้กี่ครั้งต่อแล้ว ทั้งในแง่ส่วนตัวและคนใกล้ชิด โดยในโลกสังคมอุปถัมภ์นี้ บางครั้งเราอาจเป็นผู้แพ้ บางครั้งเราอาจเป็นผู้ชนะ นอกจากนั้นเราเห็นระบบนี้ผ่านภาพข่าวต่างๆ คุณเป็นพี่เป็นน้องกับคนนี้ มันจะทำให้คุณได้ตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ไป มันจึงทำให้เราไม่ได้รู้สึกว่าการใช้สิทธิพิเศษของความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องแปลก 

เราอาจปฏิเสธไม่ได้ เพราะโครงสร้างของสังคมมันอุปถัมภ์กัน ผู้ใหญ่อุปถัมภ์ผู้น้อย พี่ช่วยเหลือน้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจึงทำให้คนบางคนมีโอกาสน้อยในเข้าถึงสถาบัน พูดให้ง่ายคือมันยิ่งทำให้เกิดช่องว่างที่กว้างมากขึ้น ทั้งด้านการศึกษา รวมถึงด้านอื่น เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพที่ดี 

ผมว่ามันเกิดความลักลั่น คนยังต้องอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้นอยู่ มีคนที่มีโอกาสทางสังคมมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีมันเปิดโอกาสให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยมีโอกาสน้อยกว่า ได้ทำสองอย่าง ได้แก่ การเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ อีกอย่างหนึ่ง สามารถสร้างโอกาสในชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อก่อนถ้าเราจะทำรายการสักรายการหนึ่ง เราต้องไปเสนอช่องโทรทัศน์ ต้องผ่านการอนุมัติว่าผ่าน/ไม่ผ่าน หรือทำกระบวนการอะไรบางอย่างที่จะผลักงานให้ออกอากาศ แต่ปัจจุบันเราสามารถอัพโหลดรายการเผยแพร่ลงในยูทูบเองได้ ผมมองว่าจุดนี้มันค่อยๆ ทอนอำนาจ ของคนที่มีอำนาจมากกว่า พอมันเป็นแบบนี้มันจะทำให้เกิดการเข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น ลดช่องว่างความไม่รู้มากขึ้น อีกอย่างทำให้คนที่กุมอำนาจ คนที่เคยบอกว่า ความรู้ต้องเกิดจากฉันเท่านั้น ก็จะมีอำนาจลดลง เพราะเราไม่จำเป็นต้องเข้าหา ใครก็เข้าถึงความรู้ได้

แต่อาจยังไม่ได้เกิดเป็นความรู้สึกว่า ทุกคนจะมีโอกาสรู้เท่าๆ กัน ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นยาก ผมว่าถ้ามันจะเกิดขึ้น อย่างแรกที่จะเกิดคือเราต้องเกิดประชาธิปไตยขึ้นอย่างแท้จริงก่อนเลย ซึ่งคำว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงมีการเลือกตั้ง แต่หมายถึงการให้คุณค่าและเคารพความคิดของคนทุกคนในสังคมเดียวกันอย่างเท่าเทียม ช่วงเวลานั้นแหละจะทำให้เกิดการพบปะ สนทนากัน

ตราบใดที่ยังไม่เกิดสิ่งนี้ขึ้น ยังมีคนบอกว่า ฉันจำเป็นต้องอยู่ในอำนาจ เพราะถ้าไม่มีฉันจะเกิดความไม่สงบ ความไม่สงบนั้นอาจแปลว่ามีบางความคิดที่คุณกำลังยอมรับไม่ได้ ซึ่งนี่คือความไม่เท่าเทียมในการรู้-ไม่รู้ สังคมที่จะเท่าเทียมกันทางความคิดมันก็ต้องให้เสรีภาพในความคิด และให้คนในสังคมประมวลเอาเองว่าความคิดแบบไหนที่มีคุณค่าพอที่จะหยิบขึ้นมาใช้ดำเนินชีวิต

ไอวาน อิลลิช (ผู้เขียนหนังสือ) สรุป 3 ลักษณะของการศึกษาแบบใหม่ 1.เข้าถึงความรู้-ทรัพยากร 2.มีอำนาจ 3.ได้แสดงความเห็น ในเมื่อเรา deschool แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ในเมืองไทย ที่เป็นไปได้จริงๆ คือ โรงเรียนและเรียนรู้ ต้องไปด้วยกัน อาจจะเป็นด้วยระบบหรือเนื้อหาวิชา และตัวครูเอง

โดยส่วนตัว คุณเอ๋เคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมว่า ตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียน เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้ บ้างหรีอเปล่า

อย่างแรก คิดว่าไม่ค่อยเกิดการเรียนรู้ระหว่างที่อยู่ในโรงเรียน เพราะสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากคือ เราไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเปิดตัวเองออกเพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่าง 

เวลาเปิดเทอมเราจะรู้สึกว่า ต้องไปโรงเรียนอีกแล้วเหรอ มันไม่มีความตื่นเต้นที่เรารู้สึกว่าจะได้ไปเจออะไรใหม่ๆ แต่เรารู้สึกว่าจะเข้าไปเจออะไรแบบเดิม ความรู้สึกแบบเดิมอีกแล้ว สิ่งที่มันไม่เป็นระบบที่สุดก็คือเพื่อนเรา 

ความกระตือรือร้น กับความอยากไปเจออะไรใหม่ๆ มันสำคัญมาก แต่สิ่งนี้สังเกตเห็นในตัวเองเวลาเราเดินเข้าร้านหนังสือครับ เรารู้สึก ช่วงนี้อยากรู้เรื่องนี้ก็เดินเข้าไปในหมวดนี้ เราก็จะไปเจอหนังสือบางเล่มที่เราอยากอ่านมากๆ มันเลยทำให้เห็นว่า โรงเรียนเหมือนเสาที่ปักไว้ตรงกลางแล้วเราต้องไปวิ่งวนอยู่รอบเสา แต่มันไม่ใช่ว่าเราอยากรู้สิ่งนี้แล้วโรงเรียนเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า อยากรู้เรื่องนี้เหรอ มีความรู้แบบนี้มาให้ 

อย่างที่สอง ผมคิดว่า ผมได้เรียนรู้จากครูศิลปะคนนั้นมากที่สุดแล้ว มันเป็นการเรียนรู้ที่คล้ายๆ ทุบกะลาออกว่ามันมีความถูกต้องที่นอกไปจากที่เราคิดว่ามันมีอยู่ เราเคยคิดว่าต้องระบายสีให้เหมือนจริงที่สุดถึงจะได้คะแนนดี แต่พอกะลานี้ถูกทุบถึงได้เห็นว่ามีแบบอื่น และทำให้เราคิดต่อไปได้อีกว่า จริงๆ อาจมีวิธีการวาดรูปแบบอื่นที่ไม่ต้องตรงโจทย์ก็ได้ 

อย่างที่สาม คือ เรียนรู้ผ่านช่วงชีวิตบางอย่าง เช่น อกหัก (หัวเราะ) เพราะมันเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์ คาดเดาไม่ได้ แล้วโยนให้เราไปอยู่ในที่ที่ไม่ชินเลย พอเราคาดหวังกับการจีบผู้หญิงคนหนึ่งมากๆ เราคิดว่ามันควรจะเป็นแบบนี้ แล้วมันไม่เป็น มันโยนเราไปอยู่ในโจทย์ใหม่เลยว่าเราจะทำยังไงกับมัน เพราะเรามองชีวิตเราเองหรือชีวิตในโรงเรียนว่ามันเป็นลำดับขั้นที่ชัดเจนมาก จะไม่มีอะไรที่ผิดไปจากนี้ เดี๋ยว ป.3 ก็ต้องขึ้น ป.4 ป.5 มันเห็นความแน่นอนในชีวิต

ส่วนหนึ่งที่โรงเรียนขีดเส้นไว้ให้เราคือ ทำให้เราหลงเชื่อว่าชีวิตมันคือความแน่นอน และผมว่าในภาวะแน่นอน มันทำให้ความกระตือรือร้นที่จะเรียน มันมีน้อย แต่ถ้าคุณโยนเราไปอยู่ในที่ที่ไม่แน่นอน ใหม่ตลอดเวลา ไม่แน่ เราอาจจะรู้สึกว่าอยากจะได้รับบทเรียนใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

และผมว่าอันนี้มันทำให้นิสัยหรือศักยภาพที่รู้สึกว่าโลกนี้มันยังมีอะไรอีกเยอะ มันไม่เกิดขึ้นเท่าไหร่ นอกจากสังคม ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ จริงๆ มันมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีก ถ้าสิ่งนี้มันเกิดขึ้น มันก็จะเกิดจิตวิญญาณของการเรียนรู้ได้

หลายคนหันมาสนใจเรื่องการเรียนรู้ จนทำให้หลายการเรียนรู้มีราคาแพง ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้เรียนรู้ พูดได้ไหมว่าความเรียนรู้มันถูกบิดเบือนความหมายไป หรือจริงๆ เราอยู่ในโลกทุนนิยม ทุกอย่างก็ต้องมีต้นทุนทั้งนั้นแหละ?

โอ้โห ปัญหามันซับซ้อนมาก

อันดับแรก เราชินกับการที่ทุกอย่างเป็นสินค้า กระทั่งความรู้ในระบบเองก็ตาม พ่อแม่ถึงยอมจ่ายแป๊ะเจี๊ยเอาลูกเข้าโรงเรียนที่ว่ากันว่าดี แปลว่าเรียนจบจากโรงเรียนนี้มาจะได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ดี แปลว่าคุณกำลังจ่ายเงินเพื่อซื้อความรู้ที่คุณคิดว่ามีคุณภาพมากกว่า และความรู้อยู่ในสถานะนี้มานานแล้ว เพียงแค่มันอาจจะเคยอยู่ในโรงเรียน พ่อแม่บางคนอาจยอมจ่ายให้ลูกเรียนพิเศษ นั่นคือจ่ายเงินเพื่อซื้อความรู้ในแบบที่คนอื่นเข้าไม่ถึงเพราะอาจมีต้นทุนน้อยกว่า 

ทุกวันนี้ ความรู้มีช่องทางมากขึ้นแต่การที่คุณจะเก็บเงินเพื่อให้ได้ความรู้นั้น ผมว่ามันก็ยังอยู่ในร่องเดิมคือ ความรู้เป็นสินค้าที่สามารถเอามาขายหรือทำกินได้ แต่ถามว่ามันสมเหตุสมผลไหม ถ้าเรามองในโลกทุนนิยม มันก็เป็นเรื่องปกติที่คนที่ทำมาหากินอะไรบางอย่างก็ต้องหารายได้จากมัน 

แต่คำถามที่น่าจะถามมากกว่านั้น คือ แล้วมันมีความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องซื้อหากันได้ไหม ผมว่าสิ่งนี้มันน่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นด้วยในโลกสมัยใหม่ แต่สิ่งที่น่าจะถามให้ลึกลงไปอีกว่า เรามองการเรียนรู้เป็นอะไรกันแน่ เราเห็นการเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญกับชีวิตเพื่อที่จะทำให้คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบหนึ่งเนี่ย ถ้าเรามองว่า ความรู้ทำให้คนคนนั้นโตขึ้นมาและทำมาหากิน มันก็ไม่แปลกที่เราจะขายความรู้ เพราะผมคิดว่า ผลลัพธ์ก็มาจากต้นทุนความคิด ถ้าคุณคิดว่า ชีวิตที่ดีคือการได้ขายอะไรสักอย่างออกไปไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือสินค้า แล้วคุณคิดว่านี่คือชีวิตที่ดี มันจึงไม่แปลกว่า พอเรามีความรู้แล้วเราอยากจะขายความรู้นั้น 

แต่ถ้าเรามีค่านิยมว่า สังคมที่ดีควรมีความรู้ที่หลากหลาย และเอาความรู้นั้นมาทำให้สังคมดีขึ้น เราจะได้อยู่ในสังคมที่มีคุณภาพมากขึ้น ผมว่าแบบนั้นเราอาจไม่รู้สึกว่า เราอาจไม่ต้องได้เงินมาจากความรู้ทุกอย่างที่เรามี มันอาจจะเกิดการแชร์ความรู้ที่ฟรี และอาจเกิดชุมชนที่เปิดพื้นที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ค่านิยมแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องถามว่าแล้วตกลงเราคิดเห็นกับมันอย่างไร 

อีกมุมที่น่าคิดว่าตัวผู้เรียนเอง เขามองว่าตัวเองเป็นใครและอยู่ในสถานะไหนในระบบ ถ้าเขามองตัวเองเป็นลูกค้า ผู้บริโภค เขาก็จะมองว่าเวลาที่เข้าถึงความรู้ เขาจะต้องจ่ายเงินเพื่อไปซื้อความรู้จากพ่อค้าแม่ค้ามาเข้าตัวเอง แต่ถ้าเขามองว่าเป็นคนที่อยากเรียนรู้ เขาอาจจะใช้วิธีการอื่นก็ได้ 

แทนที่คุณจะต้องไปเสียเงินเรียนคอร์สออนไลน์ที่สอนเรื่องภาพยนตร์ คุณอาจจะยอมไปเป็นเด็กเสิร์ฟน้ำในกอง หรือเข้าไปช่วยงานในกอง ถ้าเรามองกลับไปโลกโบราณ ศิษย์กับครูผูกพันใช้ชีวิตร่วมกัน ถ้าเป็นหนังจีน ศิษย์ก็จะต้องไปคุกเข่า หาบน้ำ ทำกับข้าว และค่อยๆ ฝึกวิชาจนแก่กล้า มันต้องมีการผ่านกระบวนการบางอย่างที่จะพิสูจน์ตัวเอง และน้อมใจเพื่อเรียนรู้สิ่งนั้นหรือจากคนคนนั้น แต่ทุกวันนี้ คนจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้มองว่าความรู้เกิดจากบรรยากาศแบบนั้น อยากเข้าถึงความรู้ คุณมีเงินก็จ่ายมันไป ในตัวของผู้เรียนเองก็น่าคิดเหมือนกันว่าเขามองตัวเองเป็นแบบไหน

ต่อไป การศึกษา การเรียน การเรียนรู้ คำเหล่านี้มันควรจะกลืนกันหมดไหม เพราะการแยกมันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถาม แต่ถ้าเรารวบมันมาเป็นคำๆ เดียว การเรียนรู้สามารถไปอยู่ในโรงเรียน หรือที่ไหนก็ได้ กระทั่งในบ้าน มันก็อาจจะมีคำถามน้อยลง และอาจจะมีปัญหาน้อยลงด้วย?

(หัวเราะ) เห็นด้วยครับ จริงๆ ปัญหาอย่างหนึ่ง คือ การที่เรามองว่าการเรียนรู้หรือการศึกษามันต้องอยู่เฉพาะในโรงเรียน แล้วพอเสร็จจากโรงเรียน ฉันเลิกเรียนรู้แล้ว ก้าวขาออกจากโรงเรียนคือกูจะเล่นอย่างเดียว มันก็ทำให้โลกทัศน์ของเด็กนักเรียน แบ่งโลกชัดเจนเลยว่า เข้าโรงเรียน เซ็ตหัวเลยว่าเรียน พอออกมาก็ไม่มีความรู้อะไรที่จะต้องเรียนแล้ว 

อีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ ระบบที่เป็นอยู่ มันให้เวลาและใช้พลังงานไปกับการเรียนในระบบเยอะมาก มันทำให้ผู้เรียนล้ามากเลย ไหนเรียนในโรงเรียน เรียนพิเศษอีก พอกลับถึงบ้านมันไม่มีความรู้สึกว่าฉันจะต้องเรียนรู้ต่อ จริงๆ การเรียนรู้นอกระบบเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากความชอบส่วนตัว เรียนสิ่งที่อยากรู้จริงๆ แต่พอใช้เวลาและพลังงานหมดไปกับการเรียนแล้ว การเรียนรู้ตรงนี้ มันเลยลีบแบนลงไปอีก

เวลาเราพูดว่าจะเบลนด์มันให้เข้ากันหมด การศึกษา การเรียน การเรียนรู้ หมายความว่าเราจะเบลอเส้นความรู้ในและนอกห้องเรียนออกจากกันหมด ผมว่าก็ต้องตั้งคำถามกลับไปยังการเรียนในระบบด้วยเช่นกันว่ามันใช้เวลา พลังงานของผู้เรียนไปมากเสียจน เราไม่มีความรู้สึกว่า เราจะเรียนอะไรได้ดีนอกห้องเรียน

มันก็ยังมีการวัดผลอีกว่า เราจะเก็บเกรดเด็กๆ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าคุณยังวัดผลด้วยความเข้มข้นและถี่ขนาดนี้ เราก็ยังคาดเดาได้ยากว่าเด็กจะออกมาเรียนรู้นอกระบบหรือนอกห้องเรียนได้ยังไง เพราะเขายังต้องทำชีวิตตัวเองไปเสิร์ฟกับระบบนั้นอยู่

การเมืองที่คนชอบโทษว่าที่มันเป็นอย่างนี้เพราะการศึกษามันล้มเหลว เลยมีคนแบบนี้ออกมา มันเหมารวมหรือโทษการศึกษาเกินไปหรือเปล่า

สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ ที่เราใช้ชีวิตยืดยาวมากๆ ไปกับช่วงต้นคือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย คือ อายุ 7-20 ปี นั่นคือเวลาสิบกว่าปีที่เราจะได้รู้ว่าโลกใบนี้ ชีวิตนี้ การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมันควรจะเป็นอย่างไร มันถูกปลูกฝังมาว่าสิ่งที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร สิ่งนี้มันเกิดขึ้นในโรงเรียนแทบทั้งหมด มันปลูกฝังโลกทัศน์บางอย่างอย่างปฏิเสธไม่ได้จริงๆ 

ปัญหาอย่างหนึ่งในสังคม ผมมองว่า สังคมไทย เราเห็นข่าวทุกวัน มันมีสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มันเป็นสังคมอำนาจนิยมจริงๆ เลยน่าตั้งคำถามว่า ผลผลิตอำนาจนิยมแบบนี้ มันเกิดขึ้นจากช่วงเวลา วัยแห่งการเรียนรู้แบบไหน ซึ่งถ้าเรากลับไปดูที่โรงเรียน ยังนึกภาพครูถือไม้เรียวติดเลือดอยู่เลย นั่นคืออำนาจนิยมในห้องเรียน และจริงๆ เราเป็นคนที่กลัวในโรงเรียนและรู้สึกว่าครูพร้อมลงโทษเราตลอดเวลา ครูให้ได้ทั้งคุณและโทษ

ถ้าเราเชื่อฟัง ถ้าเราอยู่ข้างอำนาจ เป็นเด็กดี เราจะมีชีวิตที่ดี ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันหล่อหลอมให้เรามีทัศนคติแบบนี้ และที่มากกว่านั้นคือ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเคยถูกกระทำด้วยอำนาจ เราจึงอยากอยู่กับฝั่งอำนาจ ถ้าเรามีอำนาจขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง เราก็จะใช้อำนาจนั้น กดข่ม คนที่มีอำนาจน้อยกว่า เพราะเรารู้ว่าเราทำได้ เราเคยถูกกระทำมาแล้ว

ผมว่าสิ่งนี้มันมากกว่าวิชาความรู้ในห้องเรียน แต่มันคือระบบหรือโครงสร้างที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตที่สำคัญมากๆ ของเรา ในช่วงแรกๆ ของชีวิต และเราเชื่อไปแล้วว่าโลกที่ควรจะเป็นคือแบบนี้ 

สิ่งหนึ่งที่อยากชวนคิดต่อคือ เมื่อครูและนักเรียนอยู่ในระนาบเดียวกัน สิ่งที่เราได้ยินเพิ่มขึ้นมาคือความคิดของเพื่อน เราจะเห็นว่ามันไม่ได้มีความคิดแบบเดียว มีความคิดที่ต่างกับเรามากๆ เขามีพื้นที่แสดงออก โรงเรียนจึงไม่ใช่เรื่องของเรากับครู แต่คือเรากับคนอื่นๆ กับเพื่อนที่มาจากคนละสถานะ เพศ รสนิยมต่างๆ ถ้าเราเห็นพื้นที่แบบนี้ในโรงเรียน เราก็จะเข้าใจว่า โลกมันไม่ใช่พื้นที่ของคนมีอำนาจและคนที่ทำตามอำนาจนี่ จริงๆ มันคือสนามแห่งหนึ่งที่ทุกความคิดได้ปะทะสังสรรค์กัน ถ้าเป็นแบบนั้น มันก็อาจจะค่อยๆ คลี่คลายมาสู่สังคมที่มันเป็นแบบนั้นได้

Deschooling Society ที่นี่ไม่มีโรงเรียน ผู้เขียน : ไอวาน อิลลิช
Deschooling Society ที่นี่ไม่มีโรงเรียน
“ยิ่งพลเมืองถูกฝึกให้ต้องบริโภคสินค้าและบริการประเภทสำเร็จรูปมากขึ้นเท่าไหร่, พวกเขาก็จะยิ่งมีส่วนกำหนดสภาพแวดล้อมของตนเองได้น้อยลงเท่านั้น”  ไอวาน อิลลิช

หนังสือเรื่อง ที่นี่ไม่มีโรงเรียน Deschooling Society โดย ไอวาน อิลลิช นักคิด นักการศึกษาชาวออสเตรีย ว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบบโรงเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง

วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่ระบบโรงเรียนสร้างขึ้นใหม่แทนวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในความคิดของไอวาน อิลลิซ ระบบโรงเรียนที่สร้างขึ้นใหม่ซึ่งเป็น ‘ระบบปิด’ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ปัญหาเสรีภาพทางการศึกษา เสรีภาพในการเรียนรู้ ไปจนถึงการไม่มีความสุขในการเรียนและปัญหาการเผด็จการในโรงเรียน ที่ยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ การศึกษาในระบบเปิด เปลี่ยนจากระบบการศึกษาแบบอนุรักษนิยมให้กลายเป็นเสรีนิยม ท่ีมีวัฒนธรรมของการเรียนรู้ที่เหมาะกับธรรมชาติของเด็กและชุมชน เราเรียกสิ่งนี้ว่า การปฎิรูปการศึกษาที่แท้จริง

ที่มา : คำนำสำนักพิมพ์ (พิมพ์ครั้งที่สอง กันยายน 2543) โดย พิภพ ธงไชย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก
หมายเหตุ : ขอขอบคุณร้าน Too Fast Coffee at sasin สำหรับการเอื้อเฟื้อสถานท่ี

Tags:

หนังสือCreative Deschoolingสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์(นิ้วกลม)

Author:

illustrator

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

อดีตนักข่าวที่ผันตัวมาทำงานด้านการเรียนรู้(อย่างรื่นรมย์) ด้วยอินเนอร์คุณแม่ลูกหนึ่ง(ที่เป็นวัยรุ่นและขายาวมาก) รักการทำงานก็จริงแต่ชอบหนีไปออกกำลังกายตามคำบอกของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เพื่อให้ชีวิตการงานสมดุลอยู่

illustrator

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

หลงใหลถุงผ้ากับกระบอกน้ำ เริ่มต้นอาชีพด้วยการฝึกปรือและอยู่กับผู้คนในประเด็นการศึกษา สนุกจะคุยกับเด็ก ชอบฟังเรื่องเล่าในห้องเรียน ที่สนใจการเรียนรู้ก็เพราะเชื่อว่านี่เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Related Posts

  • Book
    Normal People: จะรวยหรือจน…ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ปิราเนซิ: โลกแสนงดงามเมื่อถูกสะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่

    เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    The Element: การค้นพบ ‘ธาตุ’ ที่บอกว่า ‘ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พิมพ์พาพ์

  • Creative learning
    คนไม่มีความรู้=คนไม่มีอำนาจ?

    เรื่อง The Potential

นวัตกรตัวน้อย: ไม้ยืนต้น รากลึกและแข็งแรงจาก ‘ต่อกล้าให้เติบใหญ่’
Voice of New Gen
29 May 2019

นวัตกรตัวน้อย: ไม้ยืนต้น รากลึกและแข็งแรงจาก ‘ต่อกล้าให้เติบใหญ่’

เรื่อง The Potential

  • ต้นเดือนที่ผ่านมา เด็กๆ ในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่รุ่นที่ 7 ลากกระเป๋าเข้าบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเวิร์คช็อปเรียนรู้การพัฒนาโปรเจ็คท์ของแต่ละทีมเป็นครั้งแรก (จากทั้งหมด 3 ครั้ง เวิร์คช็อปครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นราวเดือนกันยายน)
  • The Potential เข้าสังเกตการณ์และพูดคุยกับเยาวชนผู้เคยเข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ ในปีก่อนๆ วันนี้พวกเขากลับมาเป็นพี่เลี้ยงค่าย เราคุยกันถึงจุดเริ่มต้นและวิธีคิดการเป็นนวัตกร หากฟังเสียงของพวกเขาอย่างตั้งใจพอ เราจะเห็นคำตอบว่า ทำไมการเรียนรู้จึงไม่เคยอยู่แค่ในห้องเรียน
ภาพ: จุมพล ศิริอินทร์

สำหรับเด็กสายไอที เวทีประลองความรู้และต่อยอดไอเดียมีหลากหลาย แต่เวทีที่คุ้นหูเหล่านวัตกรน้อยและครูที่ปรึกษาหนีไม่พ้น 3 เวทีนี้คือ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) การประกวดโครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) และ การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (YECC) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะแต่ละปีมีได้ไม่กี่ราย แต่นวัตกรเกิดใหม่ ไอเดียและโปรเจ็คท์มากล้นได้ก่อเกิดขึ้นบนเวทีเหล่านั้นแล้ว

เพื่อไม่ให้ไอเดียนวัตกรรมและนวัตกรเหล่านั้นสูญหายไป โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่จึงเกิดขึ้น วิธีคิดคือทำอย่างไรก็ได้ให้ไอเดียเหล่านั้นถูก ‘ต่อยอด’ วิธีการคือเปิดเวทีให้ทีมนวัตกรจากเวทีประกวด 3 เวทีข้างต้น (NSC, YSC และ YECC) ที่ต้องการพาผลงานไปสู่ผู้ใช้งาน สมัครเข้าโครงการ รวมถึงต่อยอดเหล่านวัตกรในเรื่องวิธีคิดและความรู้ใหม่ในการพัฒนาโปรเจ็คท์ 

สำคัญที่สุดคือโครงการต่อกล้าฯ จะจัดเวิร์คช็อปจำนวน 3 ครั้งเพื่อติดตั้งวิธีคิดและเครื่องมือในการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ผู้ใช้ได้จริง เช่นเรื่อง Design Thinking, User Experience Design (UX) และ User Interface Design (UI) เป็นต้น รวมถึงการให้คำปรึกษาและฝึกอบรมผ่านโค้ชมืออาชีพจำนวนหนึ่ง เป็นโค้ชที่เข้าใจวิธีส่งต่อข้อมูลอย่างไม่สั่งสอน เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้อบอุ่นเป็นกันเอง เป็นครอบครัว

วันที่ 1-4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เด็กๆ ในโครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 7 ลากกระเป๋าเข้าบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อเข้าเวิร์คช็อปการเรียนรู้พัฒนาโปรเจ็คท์ของแต่ละทีมเป็นครั้งแรก (จากทั้งหมด 3 ครั้ง เวิร์คช็อปครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นราวเดือนกันยายน)

The Potential มีโอกาสเข้าสังเกตการณ์และแอบพูดคุยกับเยาวชนผู้เคยเข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ ในปีก่อนๆ ซึ่งกลับมาเป็นพี่เลี้ยงหรือ TA (Teacher Assistant) ในวันนี้ถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางชีวิตและวิธีคิดการเป็นนวัตกร

และหากฟังเสียงของพวกเขาอย่างตั้งใจพอ เราจะเห็นคำตอบที่ว่า ทำไมการเรียนรู้จึงไม่เคยอยู่แค่ในห้องเรียน

1. ภูมินทร์ ประกอบแสง โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 3

“พูดกันตรงๆ เด็กบ้านนอกอย่างผมมองว่าการเข้าไปแข่งขันในเวทีระดับประเทศแบบนี้มันยาก แค่เวทีในอำเภอหรือจังหวัดก็สู้เขาไม่ได้แล้ว มองศักยภาพของตัวเองต่ำมาก คิดว่าความรู้คงไม่ถึง วิชาการด้านเทคโนโลยีอะไรก็ไม่มี อยู่ไกล โอกาสจะได้เจอเทคโนโลยีใหม่ๆ มันช้า”

“ตอนแข่งครั้งแรก (เวที YECC) บอกเลยว่าผม ‘ว้าว‘ มาก เดินไปดูงานแต่ละกลุ่มแต่ละชิ้นแต่ละเวที ผม ‘ว้าว‘ ทุกอย่าง เดินเข้าไปถามอย่างเดียวเลย เคยเห็นเทคโนโลยีสูงๆ ล้ำๆ แค่ในหนัง แต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าทำให้คิดว่าคนไทยทำได้ถึงขั้นนั้น“

ภูมินทร์ ประกอบแสง หรือ ครูต่าย วัย 24 ปี ปัจจุบันเป็นอาจารย์แผนกวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ย้อนความถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเลือกเป็นครูทันทีหลังเรียนจบ

“อยากสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ เหมือนที่เคยได้รับ” เขาว่าเช่นนั้น

ภูมินทร์เข้าร่วมเวที YECC ด้วยโครงการ ‘เครื่องเพาะเห็ดสำหรับบุคคลทั่วไป‘ เริ่มต้นจากปัญหาใกล้ตัวเพราะขณะเรียนชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร พบว่าหลายครัวเรือนรอบมหาวิทยาลัย ประกอบอาชีพเพาะเห็ดแต่ปัญหาคืออุณหภูมิและความชื้นแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เขาและทีมจึงอยากพัฒนาเครื่องเพาะเห็ดอัตโนมัติสำหรับบุคคลทั่วไปขึ้น

“ตอนนั้นคิดแค่ว่าเราจะแก้ปัญหาให้บ้านเรา พี่น้องเราต้องใช้เครื่องนี้เป็น คิดแค่นั้น ยังไม่ได้คิดไปถึงสเกลระดับใหญ่อะไรขนาดนั้น พอประกวดเวที YECC จบ ทีมผมได้ที่ 2 โครงการต่อกล้าฯ เดินมาถามว่า ‘น้องอยากต่อยอดโครงการไหม?’ ผมถามว่า ‘มันจะต่อยอดได้เหรอครับ?’ เขาบอกว่าได้ และการเข้าโครงการจะช่วยต่อยอดถึงผู้ใช้งานจริงได้ ผมเลยสนใจและสมัครโครงการต่อกล้ารุ่นที่ 3”

ปัจจุบันเครื่องเพาะเห็ดของทีมถูกพัฒนาโดยเจาะไปที่กลุ่มผู้ใช้งานสูงวัย ซึ่งปุ่มสั่งการต้องเรียบง่าย ใช้ง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ทีมมอบสิทธิบัตรดังกล่าวให้กับมหาวิทยาลัยโดยเปิดให้เป็น free brand นำไปพัฒนาต่อยอดและผลิตใช้งานได้ฟรี

“สิ่งที่ผมได้จากโครงการต่อกล้าฯ คือความรู้สึกอยากเป็นครู อยากสร้างโอกาสแบบนี้ให้กับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ไกลๆ เหมือนตอนที่ผมได้โอกาสแบบนี้จากคนอื่นเช่นกัน พยายามพานักเรียนที่ตัวเองสอนให้ได้มาเวทีเหล่านี้ ให้เขาได้เห็นโลกกว้าง เพราะเวลาได้มาเห็นอะไรแบบนี้เราจะเห็นเลยว่า วิธีคิดเขาเปลี่ยนไป มันมีความตื่นเต้น มีความท้าทายเข้ามาแต่ละวัน

“ก่อนทำงานจริง เด็กๆ จะมองว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องยาก เขาจะไม่อยากทำ แต่เมื่อเด็กๆ ซึมซับสิ่งที่โค้ชสอน คำถามจากโค้ชทำให้เขาเริ่มคิดกับงาน นำมาใส่กับงาน จากที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็จะเริ่มเก่งขึ้น

“เวทีเหล่านี้ทำให้เขามองเห็นโอกาสในชีวิต อย่างนักเรียนที่พามาเป็นนักเรียนช่างไฟฟ้า สิ่งที่เขาเคยคิดคือจบไปอาจเป็นแค่ช่าง แต่พอได้มาเวทีแบบนี้เขาเห็นว่าตัวเองอาจเป็นได้มากกว่านั้น แค่ชื่อโครงการ (ต่อกล้าให้เติบใหญ่) ก็เป็นจุดเปลี่ยนแล้ว”

คำถามทิ้งท้าย นวัตกรรมในมุมของภูมินทร์คืออะไร?

“นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ใหม่ในแง่เทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่จำเป็น แต่นวัตกรรมต้องแก้ปัญหาต่อยอดตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ นวัตกรต้องขี้สงสัยต่อยอดจากปัญหาและนำไปทดลองทดลองๆๆ ว่ามันตอบโจทย์ที่ตั้งไว้จริงรึเปล่า ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อยๆ บอกไม่ได้ว่าจะจบตรงไหน สำคัญคือนวัตกรรมนั้นต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งาน นั่นคืองานของเรา”

 2. วณัฐวนี ศรีโกเศรษฐ โครงการต่อกล้ารุ่นที่ 5

“ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กแต่ก็แค่ฝึกวาดเฉยๆ มากสุดคือใช้เมาส์ปากกาวาดรูปในคอมฯ เคยคิดว่าโตขึ้นไปถ้าไม่เป็นครู… คือพ่อแม่หนูเป็นครูมาตลอด เคยเห็นแค่อาชีพนี้อาชีพเดียว หมายความว่าถ้าไม่เป็นครูก็อาจทำงานเกี่ยวกับการวาดรูป แต่ไม่เคยคิดว่าจะเอาการวาดไปจับกับเทคโนโลยีได้เหมือนที่ทำทุกวันนี้

“พอมาอยู่ตรงนี้ (ทำเกมแอนิเมชั่น) รู้สึกว่างานอดิเรกของเราทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ มีความสุขที่เห็นคนใช้งานจากรูปวาดของเรา“

แป้ง–วณัฐวนี ศรีโกเศรษฐ โครงการต่อกล้ารุ่นที่ 5 ปัจจุบันเป็นนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ไม่ใช่สายครุศาสตร์อย่างที่เคยคิดไว้

แอพพลิเคชั่นที่แป้งว่าคือ เกมเป็นหนึ่ง เกมเพื่อสร้างเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม วิธีการคือผู้เล่นหนึ่งคนต้องควบคุมตัวละครทั้ง 5 ให้ทำงานร่วมกันเป็นทีมให้ได้ หน้าที่ของแป้งในทีมคือเป็นมือกราฟิก โดยเพื่อนอีกสองคนรับหน้าที่เขียนโค้ด ทีมของแป้งพัฒนาเป็นหนึ่งเข้าประกวดเวที NSC และใช้เกมเดิมสมัครเข้าโครงการต่อกล้าฯ เพื่อพัฒนาเกมต่อไป

วันที่แป้งพูดคุยกับเราเธอพูดจาฉะฉาน แต่แป้งย้ำเสมอว่าเมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ เธอไม่พูด ไม่มั่นใจ กลัว แต่เวทีนี้ขัดเกลาเปรียบเป็นยาแรงผลักให้เธอต้องพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเอง

“ตอนเข้าเวที NSC ตื่นเต้นมาก ไม่เคยทำงานนอกโรงเรียนมาก่อน ตอนพรีเซนต์ครั้งแรกเกือบร้องไห้ กลัวทำไม่ได้ กลัวทำให้เพื่อนร่วมทีมลำบาก กลัวการเข้าสังคม ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะทำอะไรได้เลย โดยเฉพาะตอนโค้ชถามคำถามที่ตอบไม่ได้ จะยิ่งไม่มั่นใจ กลัวมากว่าถ้าตอบไปว่า ‘ไม่รู้’ เขาจะว่าอะไรไหม? (หัวเราะ) แต่พอจบค่ายกลายเป็นว่าเราพูดในสิ่งที่เกี่ยวกับงานได้คล่องแคล่ว ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจในงานของตัวเอง แต่ก็เป็นเพราะค่ายทำให้เรามีเวลาอยู่กับงานอย่างเต็มที่มากๆ คอยกระตุ้นให้ต้องทำงานและพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น ทำให้ต้องอยู่กับงานบ่อยขึ้น

“จำได้ว่าตอนประกวด NSC เวทีแรก ผู้เล่นจำไม่ได้ว่าต้องกดคีย์ลัดอะไรบ้าง แต่วันพรีเซนต์งานครั้งสุดท้ายในโครงการต่อกล้าฯ คนมาอยู่ที่บูธเรามากกว่าครั้งไหนๆ รู้สึกว่างานมาไกลจากเดิมมาก เห็นว่าผู้เล่นมีความสุขกับงานเรา งานเราเล่นง่ายขึ้นซึ่งในมุมมองคนทำเกม การเห็นคนเล่นเกมมีความสุขคือความสุขของเราแล้ว”

แป้งขยายความต่อว่าความมั่นใจที่มากขึ้น แปรผันตามความเข้าใจในหน้างานของตัวเองจนแตกฉาน เพราะรู้ว่าที่มาที่ไปของงานมาจากไหน นำไปสู่อะไร วิธีคิดในงานคืออะไร แป้งยกตัวอย่างบทเรียนในโครงการต่อกล้าฯ ที่มีส่วนช่วยให้รู้ว่า ‘ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่’ มากขึ้น

“ความรู้ที่จำได้และชอบคือเรื่อง UX (User Experience Design) และ UI (User Interface Design) ตอนออกแบบโปรแกรมช่วงมัธยม หนูออกแบบโปรแกรมด้วยหน้าตาที่ตัวเองคุ้นเคย แต่พอมาเรียนเรื่องนี้ต้องมองในมุมคนใช้งานมากขึ้น เปลี่ยนมุมมองว่าเราเป็นคนพัฒนานะ ไม่ใช่ผู้ใช้งาน พอเข้าใจผู้ใช้มากขึ้นก็จะเข้าใจว่าโปรแกรมแบบนี้ ต้องออกแบบหน้าตายังไงให้ผู้ใช้เข้าใจว่าโปรแกรมมีไปเพื่ออะไร”

ความมั่นใจสำคัญยังไงต่อการเป็นโปรแกรมเมอร์?

“การนำงานในส่วนของเราไปทำร่วมกับคนอื่น หรือไปให้คนอื่นใช้เราต้องพรีเซนต์ต้องสื่อสาร ต้องโฆษณางานตัวเองให้คนอื่นรับรู้ได้ ไม่ใช่แค่ทำในส่วนของตัวเองอย่างเดียว เช่นหน้าที่ของหนูคือกราฟิก เราออกแบบหน้าตาโปรแกรมไว้แบบหนึ่ง แต่ถ้าเราสื่อสารให้คนเขียนโค้ดเข้าใจไม่ได้ แผนก็จะผิด ต้องไปตามแก้ซึ่งมันเสียเวลา”

คำถามสุดท้ายประจำหัวข้อ สำหรับแป้งนวัตกรรมคืออะไร?

“นวัตกรรมต้องยึดจากปัญหาของผู้ใช้งานเป็นหลัก ต้องรู้ว่าผู้ใช้งานมีปัญหาอะไร ปัญหานั้นเกิดขึ้นจากอะไร เราจะสร้างนวัตกรรมอะไรมาแก้ปัญหานี้ นวัตกรต้องเป็นคนใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ที่คนอื่นมองข้าม

“หนูคิดว่านวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีเสมอไป แค่ ‘วิธีคิด’ ที่แก้ปัญหาให้ผู้ใช้งาน ให้คนใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น เป็นประโยชน์กับเขามากขึ้น”

3. พีรพงษ์ ทับทิม โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 4

“ในเวิร์คช็อปต่อกล้าฯ ปีที่ 4 ผมกับเพื่อนทำโปรเจ็คท์ตู้อบสมุนไพรชื่อ Herb Pure Dry เพราะชาวบ้านทำลูกประคบโดยใช้สมุนไพรตากแห้ง แต่อากาศบางครั้งเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน เดี๋ยวชื้น ทำให้สมุนไพรเป็นรา ตู้อบสมุนไพรเดิมมีอยู่แล้วแต่ราคาสูง และมักเป็นตู้อบขนาดอุตสาหกรรม เราอยากทำตู้อบที่ราคาถูกลงใช้ในครัวเรือนง่ายขึ้น

“เพราะตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาครุศาสตร์อุตสาหกรรมฯ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา) ทำให้มีความรู้แค่ในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ แต่เวลาโค้ชถาม เขาใช้คำถามที่ลึกเช่นเจาะลึกเรื่องวิทยาศาสตร์ สมุนไพรที่ใช้มาจากอะไร ใบพืชแบบนี้มีประโยชน์อย่างไร ยังมีคำถามในเชิงธุรกิจอีกที่เราตอบไม่ได้ เราตอบไม่ได้แต่ก็อยากตอบ เลยกลายเป็นแถ (หัวเราะ) กรรมการบอกว่าสิ่งที่เราตอบมันไม่ใช่นะ เลยเฟลหน่อยๆ ว่าทำไมเราถึงไม่ศึกษาข้อมูลให้ดีนะ ถ้าศึกษามาแต่แรกก็จะตอบได้เลย

“อาจเพราะตอนนั้นยังเด็ก ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถามจี้เราขนาดนี้ แต่ตอนนี้เข้าใจว่าเขาอยากให้เราหาจุดประสงค์ของโครงการที่เรากำลังทำให้ได้จริงๆ เราทำเพื่ออะไร ใครเป็นคนใช้งาน ไม่ใช่แค่โปรเจ็คท์เพื่อให้เรียนจบแค่ทำให้เสร็จๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก”

ปิ๊ก–พีรพงษ์ ทับทิม โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 4 ผู้ที่ตอนเข้าแข่งขันได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งคนที่ถูกโค้ชถามเจาะถามจี้มากที่สุดคนหนึ่ง ปัจจุบันปิ๊กเป็นผู้ช่วยวิศวกรโครงการ FabLab ประจำวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ใช้ความรู้ด้านการโค้ชและประสบการณ์ในเวทีไอทีต่างๆ แนะนำน้องๆ ที่เข้าใช้ห้องแล็บ และช่วยแนะแนวน้องๆ สู่การประกวดในโครงการด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป

“สำหรับผม โครงการต่อกล้าฯ ทำให้เราไม่หยุดแค่การทำงานเชิงฮาร์ดแวร์ แต่เข้าใจเรื่องการทำการตลาดต่อยอดไปสู่ผู้ใช้งาน แต่ก่อนเพื่อนคณะบัญชีพูดกันเรื่อง Agile, Scrum หรือการตลาดกัน ผมไม่รู้เรื่องเลยนะ เดี๋ยวนี้เพื่อนสายอื่นๆ กลับงงแทนว่าผมที่เรียนวิศวะ รู้เรื่องพวกนี้ได้ยังไง”

ในฐานะนวัตกร คุณนิยามนวัตกรรมว่าอะไร? – เราถามทิ้งท้ายก่อนจาก

“เริ่มจากปัญหาที่เราเจอและยังไม่มีใครแก้ ไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ เป็นปัญหาเล็กๆ ก็ได้ แต่เราคิดถึงมัน แก้ไขและทำมันออกมา นวัตกรรมนั้นๆ ต้องโดนใจตัวเองก่อน ถ้าเราชอบ คนอื่นอาจจะชอบเหมือนเราก็ได้เพราะเรายังชอบเองเลย”

 4. สุภาวดี ภูสนาม โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 3, 4 และ 6

“หนูเข้า NSC ตอน ม.2 ตอนนั้นยังค้นหาตัวเองอยู่ว่าสนใจด้านไหน ตอนนั้นครูที่โรงเรียนรู้ว่าหนูชอบเรียนคณิตศาสตร์เลยชวนให้ลองเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าโค้ดคืออะไร แต่อยากลอง เลยเริ่มเรียนรู้จากตรงนั้น และเรียนรู้ผ่านการแข่งขันแต่นั้นมา”

หญิง–สุภาวดี ภูสนาม เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 3, 4 และ 6 ที่เธอกล่าวว่าเรียนรู้การเขียนโค้ดจากการแข่งขันจึงไม่ใช่เรื่องเกินเลย หญิงเพิ่งจบชั้น ม.6 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์มาหมาดๆ กำลังจะเข้าศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

โปรแกรมคอมพิวเตอร์แรกที่หญิงเป็นคนพัฒนาและใช้ประกวดเวที NSC คือหนุมานตะลุยใต้บาดาล แต่โครงการที่เธอใช้ต่อยอดในโครงการต่อกล้าฯ คือเกมกระดานชิ้น King of Transport รับส่งผู้โดยสารผ่านการวางแผน ต้องใช้ยานพาหนะแบบไหนในการรับส่งผู้โดยสารในแต่ละรอบ

เพราะเป็นน้องเล็กสุดในทีม ประสบการณ์แข่งขันยังมีน้อย ทำให้เธอคิดว่าปีแรกเป็นปีที่ยากที่สุด ทั้งความตื่นกลัวที่จะต้องพรีเซนต์ต่อหน้ากรรมการ และการต้องพัฒนาฝีมือมาพัฒนาโปรแกรม

“เราเห็นปัญหากระบวนการคิดของเด็กสมัยนี้ที่คิดน้อย คิดแค่ผิวเผิน สมาธิสั้น King of Transport ฝึกการคิดวิเคราะห์ตัดสินใจ เพราะต้องตัดสินใจทุกอย่างในเกม อีกเรื่องคือปัญหาเรื่องสังคมก้มหน้า แต่ธรรมชาติของเกมกระดานต้องมาเล่นหลายคน ก็ต้องไปชวนคนมาเล่นกันเยอะๆ”

หญิงเข้าโครงการต่อกล้าฯ ถึง 3 ครั้ง อะไรเป็นเหตุผลให้อยากกลับมาแข่งขันตลอดช่วงชีวิตมัธยมปลาย?

“เข้าต่อกล้าฯ ครั้งแรกไม่ใช่โครงการที่เราเริ่มต้นพัฒนาเองตั้งแต่แรก เป็นโครงการของรุ่นพี่ แต่การเข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯครั้งที่ 2 และ 3 เป็นโครงการของหนูเองตั้งแต่ต้น อยากผลักดันโครงการของเราต่อโดยใช้ความรู้จากในโครงการ โครงการต่อกล้าฯ ช่วยพัฒนาโปรเจ็คท์จนไปถึงคนใช้ น้องได้เล่นเกมได้เรียนรู้จากแอพฯ อาจไม่ได้มีคนใช้เยอะแต่ภูมิใจที่งานเราไปได้ไกล กระบวนการทำให้เราคิดถึงผู้ใช้มากขึ้น”

หญิงบอกว่าโปรเจ็คท์ที่เธอภูมิใจที่สุดชื่อว่า Algolaxy มาจากคำว่า algorithm และ galaxy แอพพลิเคชั่นประกอบการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ Computing Science เป็นวิชาใหม่ของนักเรียนไทย เริ่มเรียนตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา ปัจจุบัน แอพพลิเคชั่น Algolaxy ถูกใช้ประกอบการสอนจริงที่โรงเรียนในเครือคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตรจำนวน 23 โรง ผู้สนใจทั่วไปอัพโหลดแอพพลิเคชั่นนี้ได้ทาง Play Store และ App Store

หญิงอยู่กับการ coding มานาน เคยคิดอยากไปค้นหาตัวเองกับกิจกรรมอื่นไหม?

“เพราะอยู่กับการโค้ดดิ้งมานาน ถ้าไม่ชอบมันก็น่าจะเลิกไปนานแล้ว ยิ่งทำยิ่งรู้ว่าชอบ ท้าทาย เวลาเจอปัญหาแล้วแก้ได้จะดีใจ มีกำลังใจทำต่อ ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมรึเปล่าที่เวลาเขียนต้องลำดับความคิด 1 2 3 4 วิธีการทำงานเลยค่อนข้างต่างกับเพื่อน คิดลึกไปว่าถ้าทำงานแบบนี้จะเจออะไรบ้าง และมีความเป็นผู้นำด้วย“

“นอกจากบ้านและโรงเรียน โครงการต่อกล้าฯ เหมือนบ้านหลังที่สาม เวลาที่กลับมาค่ายจะรู้สึกอบอุ่นทุกครั้ง แม้ตอนเข้าค่ายจะเครียดแต่มีจุดที่สนุกและมีความสุขกับมัน เวลาที่เครียดมันมีคนอยู่ข้างๆ ให้กำลังตลอด ไม่ได้อยู่คนเดียว ได้พัฒนาตัวเองตลอด ได้เรียนรู้สิ่งที่เพื่อนในห้องเรียนไม่ได้เรียน”

สำหรับหญิง นวัตกรรมคืออะไร?

“นวัตกรรมคือต้องตอบโจทย์ผู้ใช้ สิ่งที่เราสร้างไม่ใช่แค่อวดอ้างว่าเราทำได้ แต่ต้องใช้ประโยชน์ได้ นวัตกรรมอาจตั้งต้นจากการคิดขึ้นใหม่เลย หรือเป็นการต่อยอดจากของเดิมก็ได้”

5. สุภนิดา พลอยคำ โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 6

“เข้ามาตอนแรกคิดแค่ว่ามาแข่งขัน แต่ถึงเวลาจริงมันมากกว่านั้น เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่หาไม่ได้จากที่ไหน โค้ชในโครงการไม่ได้แค่สอนเรื่องงาน แต่ทำให้เรามีความรับผิดชอบ สอนให้ทำงานเป็นทีม โค้ชไม่สั่งให้เราต้องทำแบบนี้ๆ แต่ช่วยแนะนำว่าสิ่งที่คุณทำมันเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงไหม? เหมาะสมจริงหรือ ช่วยชี้ว่าออกแบบโปรแกรมแบบไหนจะมีคนสนใจ ส่วนใหญ่โค้ชจะใช้คำถามชวนให้คิดว่าเราจะเลือกอะไร ถ้าจุดไหนเป็นปัญหาเขาจะชี้ให้ชัด แล้วให้ดูว่าเราจะแก้หรือจมอยู่กับปัญหาตรงนั้น ต่อให้ไม่ใช่ช่วงเวิร์คช็อปก็ทักไปขอคำปรึกษาได้ตลอด

“ต่างกับการเรียนในห้อง ในห้องจะสอนว่าคุณต้องเป็นแบบนี้ๆ ถ้าไม่ทำตามที่บอกคุณผิด แต่อันนี้โค้ชไม่บอกว่าคุณต้องเป็นแบบนี้แต่ชี้แนะให้คุณเลือกเอง”

ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน นิดา–สุภนิดา พลอยคำ ประกวดเวที NCS ด้วยโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ชื่อ แสบซ่าท้าฝัน เกมเกี่ยวกับอาชีพ 3 อาชีพ คือ ครู เชฟ และจิตรกร แต่เข้าประกวดในโครงการต่อกล้าฯ ปีที่ 6 ด้วยโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ที่ชื่อ Vocaby มาจากคำว่า vocabulary ให้ผู้เล่นแก้ปริศนาโดยใช้ภาษาอังกฤษ นิดารับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างทีมโค้ดและทีมดีไซน์

ปัจจุวันนวัตกรน้อยคนนี้อายุ 19 ปี กำลังจะเป็นนักศึกษาปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมฝึกงานเขียนโปรแกรมให้กับบางโครงการของ NECTEC ไปในเวลาเดียวกัน

“เขาไม่ได้ให้แค่เงินรางวัล ไม่ได้ให้แค่บทเรียนที่หาไม่ได้ในห้อง แต่ให้อนาคตของเด็กคนหนึ่ง กรรมการหรือโค้ชในโครงการถ้าเขาเห็นว่าเราตั้งใจ เขาพร้อมให้โอกาสเราพัฒนาตัวเอง ต่อให้จบโครงการไปแล้วเราก็ยังติดต่อกันได้อยู่ เอาจริงๆ ถ้าไม่มีต่อกล้าฯ เราคงเป็นเด็กนั่งเตรียมสอบโดยไม่รู้ว่าจะติดรอบไหน”

ปัจจุบันนิดาตั้งใจอยากส่งต่อโครงการและบรรยากาศการเรียนรู้ด้านไอทีเช่นนี้ต่อไป ส่วนจะมีโครงการอะไรบ้าง นิดาและเพื่อนๆ ขอให้ทุกคนช่วยกันติดตาม

คำถามสุดท้าย ในความเห็นของนิดานวัตกรรมคืออะไร?

“นวัตกรรมอาจไม่ใช่การประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่หรือเป็นอะไรที่ยาก อาจเป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาจากของเดิม นวัตกรรมที่ทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายขึ้นกว่าสิ่งที่มีอยู่”

6. ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน โครงการต่อกล้าฯ รุ่นที่ 4

ภูมิ–ภูมิปรินทร์ มะโน โครงการต่อกล้าฯ ปีที่ 4 ปัจจุบันเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (software developer) ที่อายุน้อยที่สุดของบริษัท OmniVirt สตาร์ทอัพสัญชาติไทยในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา–ที่ว่าน้อยที่สุดคืออายุ 17 ปี

“เวลาที่เราคุยเรื่อง product ไม่มีครั้งไหนที่เราจะคุยกันว่า ‘มาทำ product ที่เราชอบกันไหม?’ ได้ยินคำเดียว ‘เราจะทำ product เพื่อ user’ ‘เพื่อแก้ปัญหาของเขา’ โครงการต่อกล้าฯ เปลี่ยนความคิดจากการเขียนโค้ดเพื่อตัวเองเป็นเขียนโค้ดเพื่อสร้าง product ที่แก้ปัญหาคนในสังคม เริ่มที่คำนี้ เริ่มจากการน้อมรับฟีดแบ็คที่ผู้ใช้บอกมา“

“เพราะเรา (โปรแกรมเมอร์) ไม่ใช่ผู้ใช้แต่เป็นคนที่ไปทำความเข้าใจกับผู้ใช้งาน สร้าง product ที่แก้ปัญหาได้จริง ไม่ใช่สิ่งที่เรามโน ทำงานบนพื้นฐานข้อมูล เห็นอกเห็นใจผู้ใช้”

ภูมิลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 15 ปี หลังเข้าโครงการต่อกล้าฯ ปีที่ 4 เขาพบว่าการทำโปรเจ็คท์ FlipEd แอพพลิเคชั่นสนับสนุนการเรียนรู้ที่สนุกโดยไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนการสอนแบบเดิม พร้อมกับตั้งคำถามว่าการเรียนในห้องอาจไม่ตอบโจทย์ตัวเองอีกต่อไป จากนั้นเขาลาออกจากโรงเรียนตอนอยู่ ม.4 และสมัครเข้าโครงการฝึกงานและทำงานเต็มเวลาที่บริษัท iTAX สตาร์ทอัพด้านภาษีในไทย เมื่อครบ 1 ปี ภูมิเข้าทำงานต่อที่ OmniVirt เดินทางไป–กลับระหว่างไทยและแคลิฟอร์เนีย

เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในบริษัทใหญ่ ใช้ความรู้จากในโครงการต่อกล้าฯ ไหม หรือมีวิธีคิดอะไรบ้าง?

“ใช้เยอะมากโดยเฉพาะเรื่อง UX (User Experience Design) และ design thinking ที่บริษัทผมแม้จะเป็น developer แต่เราพูดคำว่า UX กันบ่อยมาก เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงที่เราทำต้องมาจากผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้ใช้ผลิตภัณฑ์เราง่ายขึ้นก็จะนำไปสู่ผู้ใช้ที่มากขึ้น ไปสู่กำไรที่มากขึ้น เห็นว่าทุกอย่างเริ่มที่ผู้ใช้ทั้งหมด”

นอกจากหมวกนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพ หมวกอีกใบที่ภูมิสวมอยู่คือการจัดค่ายพัฒนานวัตกรน้อยในประเทศไทย

“พวกเรานำหลักสูตรจากต่อกล้าฯ ไปสอนน้องๆ ในค่าย Young Creator’s Camp เพราะอันที่จริงแล้วเป้าหมายของโครงการต่อกล้าฯ คืออยากให้เด็กๆ มีมายด์เซ็ตที่จะเป็นผู้ให้ต่อสังคม ไม่ได้ทำเพื่อเราคนเดียว แต่แก้ปัญหาให้กับคนหลายคน”

“ผมมองว่าชีวิตตัวเองเหมือนพีระมิดสามชั้น ชั้นแรก–เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาตัวเอง พอแก้ของตัวเองเสร็จ ชั้นที่สอง–เราจะเห็นว่าเราไม่ได้มีปัญหานี้คนเดียว มีคนอีกมากที่มีปัญหาเดียวกับเรา เราก็ทำให้ปัญหานั้นกลายเป็น product ที่หลายคนใช้ได้ เมื่อทำ product ของตัวเองได้แล้ว ยอดสุดของพีระมิด–คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่คนอื่น ทำให้องค์ความรู้ยั่งยืน”

สุดท้าย นวัตกรรมในความเห็นของภูมิเขามองว่า

“ความเห็นของผมซึ่งอาจไม่ตรงกับคนอื่นนะครับ ผมมองว่า นวัตกรรมคือการนำปัญหาที่เรามีมาแก้ให้คนหมู่มาก ปัจจุบันมีคนเรียกวิธีการแก้ปัญหาด้วยคำสวยหรูแต่แก้ปัญหาไม่ได้ กลับกันบาง project อาจใช้เทคโนโลยีง่ายๆ อาจเป็นแค่กระดาษหรือเครื่องจักรกล แต่แก้ปัญหาได้จริง ผมมองว่านวัตกรรมจริงๆ คือการแก้ปัญหาผู้คน”

“หาเป้าหมายก่อนว่าจะแก้ปัญหาให้ใคร แล้วเริ่มจากการคุย สัมภาษณ์ พยายามเข้าใจว่าคนแต่ละคนต้องการอะไร เขามีปัญหานี้จริงรึเปล่า พยายามเข้าใจบริบทแล้วเอาทั้งหมดนั้นมาบวกกับองค์ความรู้ที่เรามี เพื่อหาจุดร่วมในการแก้ปัญหา ย้ำว่ามันอาจไม่สวยหรู แค่แก้ไขปัญหาให้เขาได้”

โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ สร้างการเรียนรู้โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

Tags:

NECTECภูมินทร์ ประกอบแสงสุภนิดา พลอยคำสุภาวดี ภูสนามพีรพงษ์ ทับทิมวณัฐวนี ศรีโกเศรษฐGeneration of Innovatorโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นวัตกรภูมิปรินทร์ มะโน

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Voice of New Gen
    ปิยะธิดา อินทะนัย: จากนักเรียนสู่นักวิจัยรุ่นเยาว์ ผ่านโครงการทำอาหารกุ้งฝอยจากเบต้ากลูแคน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ The Potential

  • Voice of New Gen
    รดิศ ค้าไม้: จากเด็กติดเกมสู่นักออกแบบเกม เกมเป็นครู เป็นความฝัน และผู้สอนทักษะการบริหาร

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Voice of New Gen
    ‘เราจะก้าวสู่จุดที่เด็กทำวิจัยกับนักวิจัยเพื่อส่งของขึ้นอวกาศอย่างเป็นเรื่องปกติ’ ภูมิปรินทร์ มะโน

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Voice of New Gen
    ‘ภูมิ’ เด็กสร้างค่าย เปลี่ยนเด็กธรรมดาให้กลายเป็น ‘นักสร้างสรรค์’ ภายใน 3 วัน

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • Creative learning
    3 นักนวัตกรรมบนเวที THAILAND IT CONTEST FESTIVAL กับประสบการณ์ ‘เวที’ สร้างคนได้อย่างไร?

    เรื่อง

คุกคามทางเพศในวัยเด็ก: ปม การละเมิด ถูกทรยศ และความเคารพในการปฏิเสธ
Character building
29 May 2019

คุกคามทางเพศในวัยเด็ก: ปม การละเมิด ถูกทรยศ และความเคารพในการปฏิเสธ

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • หลายคนเคยได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนใกล้ตัวได้ฟังประสบการณ์ของใครอื่นที่ (กล้าหาญ) เผยแพร่ในสื่อสาธารณะตั้งแต่เคยถูกลวนลามคุกคามทางเพศถึงการทารุณทางเพศ
  • หนึ่ง–ชวนทำความเข้าใจต้นเหตุของปัญหาในมุมมองเชิงสังคม และสอง-ชวนมองอย่างลึกลงไปในระดับปม/บาดแผลทางจิตใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการถูกกระทำ แต่จากความรู้สึกถูกทรยศหักหลังจากความเฉยชา ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ และไม่ปกป้องของผู้ปกครอง
  • ทั้งหมดนี้ไม่ต้องการสร้างสถานการณ์ให้สังคมกังวลเกินจริง แต่อยากชี้ประเด็นว่าจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพเนื้อตัวร่างกาย เรียนรู้วิธีสื่อสารและเคารพการปฏิเสธ แม้เป็นสัมผัสจากความเอ็นดู แต่หากเด็กพูดว่า ‘ไม่’ ทุกคนต้องเคารพ

หลายคนอาจเคยอ่านข่าวนี้… 

รายงานสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศประจำปี 2560 โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงในหนังสือพิมพ์จำนวน 13 ฉบับ พบเหตุความรุนแรงทางเพศทั้งหมด 317 ข่าว ช่วงอายุของผู้ถูกกระทำในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 5-20 ปี จำนวน 60.6 เปอร์เซ็นต์, อายุ 41-60 ปีจำนวน 30.9 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ

  • ผู้กระทำความรุนแรง ‘กว่าครึ่ง’ หรือ 53 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัว (26.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิด ใช้ความไว้ใจเชื่อใจและล่อลวงเพื่อทำให้ผู้ถูกกระทำหวาดผวาระแวงและกลัว) ในกรณีคนรู้จักผู้ถูกกระทำราว 12.8 เปอร์เซ็นต์ ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลายาวนานและหลายครั้ง
  • รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า/ไม่รู้จัก 38.2 เปอร์เซ็นต์
  • คนที่รู้จักกันผ่านโซเชียลมีเดีย 8.8 เปอร์ซ็นต์ (ผู้กระทำที่อายุน้อยที่สุดคือ 12 ปี) 

ข้างต้นเป็นสถิติที่ใช้ยืนยันว่าการคุกคามทางเพศในเด็กเกิดขึ้นจริงและเกิดได้กับคนใกล้ตัว หลายคนเคยได้ยินเรื่องเล่าจากเพื่อนใกล้ตัว ได้ฟังประสบการณ์ของใครอื่นที่ (กล้าหาญ) เผยแพร่ในสื่อสาธารณะ ตั้งแต่เคยถูกลวนลามคุกคามทางเพศถึงการทารุณทางเพศ

ที่น่าสนใจคือหลายคนเล่าเรื่องโดยตั้งต้น ‘สงสัย’ ว่าพฤติกรรมเช่นนั้นเข้าข่ายถูกลวนลามหรือเปล่า และมาเข้าใจแตกฉานเอาเมื่อโตขึ้น ขณะที่บางคนเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าพฤติการณ์เช่นนี้ใช่การคุกคามแน่แล้ว แต่เพิ่งมีความสามารถจะหลีกหนีและปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยเอาเมื่อเติบโตขึ้น

จุดยืนของบทความชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งใจตีตราผู้ที่เคยถูกกระทำ และสร้างความหวาดระแวงเกินจริง หาก 

หนึ่ง ชวนผู้อ่าน ผู้ปกครอง ครู สังคม ทำความเข้าใจต้นเหตุของปัญหาในมุมมองเชิงสังคม

สอง ชวนมองลึกลงไปในระดับปม/บาดแผลทางจิตใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการถูกกระทำ แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกถูกทรยศหักหลังจากความเฉยชา ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ และไม่ปกป้องของผู้ปกครอง 

สาม ถึงเวลาสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพเนื้อตัวร่างกาย และเรียนรู้วิธีสื่อสารและเคารพการปฏิเสธได้หรือยัง?

การคุกคามทางเพศในมุมมองสังคม: ถูกคุกคามทางเพศเพราะนุ่งสั้นหรือเปล่า? 

แสงจันทร์ เมธาตระกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic-learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต และในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา มูลนิธิ Path2Health อธิบายให้เห็นภาพก่อนว่า

คำว่าล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ* หมายถึงการแสดงท่าทีคุกคามด้วยวาจา คำพูด การพูดจาละลาบละล้วงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสเนื้อตัวก็ได้ เช่น ส่งภาพโป๊ให้แซวหรือมองด้วยสายตาลวนลาม ทำท่าทางที่แสดงออกว่าอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่เส้นแบ่งของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศอยู่ที่การยินยอม (consent) หมายความว่าถ้าเจ้าตัวหรือผู้ที่ถูกกระทำ ‘ยินยอม’ จะไม่ถือเป็นการล่วงละเมิด แต่หากเจ้าตัวไม่ยินยอมแม้ไม่ชอบเพียงคำพูด เจ้าตัวมีสิทธิ์ปฏิเสธบอกให้คู่กรณีหยุดพฤติกรรมตรงหน้าได้

“แต่ภายใต้กรอบวัฒนธรรมที่บอกว่าเป็นไทย เรามองว่าผู้ชายเป็นเพศที่เหนือกว่า ได้เปรียบกว่า เช่นแต่ก่อนมี ‘สามแยกปากหมา’ ผู้ชายพูดแซวผู้หญิงได้โดยที่ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิด แม้ตอนนี้มันจะดีขึ้น แต่การแซวหรือแนวคิดแบบนี้ก็ยังมีอยู่ กระทั่งถ้ามีการคุกคามเกิดขึ้นผู้หญิงจะถูกตั้งคำถามทันทีว่า ‘นุ่งสั้นรึเปล่า’ ‘ไปยั่วยวนรึเปล่า’ ‘โกหกรึเปล่า’ เราไปมองมุมนั้น ทั้งที่การละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่อย่างไรก็รับไม่ได้ เพราะนี่คือการละเมิดเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น” แสงจันทร์อธิบาย

แม้แต่กรณีที่พบเห็นตามข่าวทั่วไปเมื่อมีการละเมิดหรือคุกคามทางเพศขึ้นจริง หากเด็กเล่าหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ หลายครั้งสิ่งที่ได้รับกลับมาคือการเพิกเฉยทำเป็นไม่ได้ยิน กระทั่งกล่าวโทษว่าพูดเท็จและไม่ดำเนินการเพื่อปกป้องเด็กจากความรุนแรงนั้น

“จากข้อมูลวิจัยยืนยันว่าการละเมิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัวซึ่งอาจเป็นคนที่พ่อแม่ของผู้ถูกกระทำต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ ยิ่งมีภาวะพึ่งพิงอีกฝ่ายมากเท่าไรก็ยิ่งไม่อยากขัดใจคนคนนั้น ซึ่งในครอบครัวเด็กที่ถูกล่วงละเมิดเราไม่รู้ว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนที่ทำกับคนที่ต้องดูแลเด็กเป็นยังไง เขาอาจเป็นพ่อเลี้ยงที่ดูแลเศรษฐกิจในครอบครัวหรือเป็นใครก็ตามที่คอยช่วยเหลือครอบครัวนี้อยู่ ลักษณะแบบนี้ไม่ง่ายที่จะพูดอะไรออกมาได้”

“และด้วยวิธีคิดของสังคมที่คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรพูด ยิ่งเกิดกับเด็กเล็กและคนที่ทำเป็นคนใกล้ตัว ยิ่งไม่ใช่เรื่องที่พูดได้ง่ายหรืออยากให้ใครรับรู้ เพราะฉะนั้นการปฏิเสธจึงเป็นการกลบเกลื่อนเรื่องราวด้วยความรู้สึกของตัวเอง ปฏิเสธว่าเรื่องราวไม่เคยเกิดขึ้นไปเลย” แสงจันทร์อธิบาย 

สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปก็คือ เสียงที่บอกว่า ‘นุ่งสั้นเกินไปรึเปล่า?’ หลายครั้งดังมาจากผู้หญิงด้วยกันเอง?

ผลกระทบในเชิงจิตใจ: ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และการถูกทรยศหักหลัง

ขณะที่ พญ.วินิทรา แก้วพิลา (หมอโบว์) นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นและอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ให้ความเห็นคล้ายกันกับแสงจันทร์ว่า การที่ผู้ปกครองปฏิเสธว่าเหตุการณ์คุกคามเด็กที่เกิดขึ้นนั้นไม่จริง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาวะที่ต้องพึ่งพาผู้กระทำ ขณะที่อีกด้านอาจเป็นกระบวนการปัดเลี่ยงปัญหาที่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยอัตโนมัติ

“บางเคสที่เจอมีเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์ในบ้านที่ไม่เท่าเทียมกันด้วย เช่น แม่เข้าข้างลูกชาย พ่อเข้าข้างลูกสาว พอลูกสาวไปบอกแม่ว่าพี่ชายคุกคามทางเพศ แม่ไม่เชื่อ บอกว่าไม่มีทางหรอกที่พี่ชายจะทำน้อง การไม่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นจะดีกับแม่และครอบครัวมากกว่า บางทีเป็นกลไกอัตโนมัติจากการไม่อยากรับรู้ปัญหาได้เหมือนกัน”

ส่วนปัญหาภายในจิตใจของผู้ถูกกระทำ พญ.วินิทราอธิบายว่าการถูกคุกคามทางเพศสร้างบาดแผลในจิตใจ (trauma) ได้หลายระดับ แต่ในระดับพื้นฐานความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นภายในมักมาจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ และตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเองหรือเปล่า?

“คนที่ถูกกระทำจะรู้สึกมีบาดแผลรุนแรง รู้สึกว่าเป็นความลับที่บอกใครไม่ได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มันกัดกินหัวใจของคนที่ถูกกระทำนะ เล่าให้ใครฟังไม่ได้ ต้องอยู่กับความรู้สึกนั้นด้วยตัวเองคนเดียว มักคิดว่าเรามีส่วนรึเปล่าทั้งที่เป็นความผิดของผู้กระทำเต็มๆ อาจรู้สึกไม่กล้าพูดและก็รู้สึกไม่ดีกับตัวเองที่ไม่กล้าพูดออกไป เป็นความรู้สึกที่ซับซ้อน บางคนที่ไม่อยากพูดถึงก็ใช้วิธี ‘ลืมๆ มันไป’ แต่อย่างไรก็ตามพวกนี้มันส่งผลต่อเราอยู่ดี

“มีวิจัยเหมือนกันนะว่าคนที่เข้ามารักษาเรื่องการลดน้ำหนักได้แล้วแต่สุดท้ายก็กลับไปอ้วนเหมือนเดิม พอทำงานกับคนไข้ไปเรื่อยๆ พบว่าคนกลุ่มนี้เคยถูก sexual abuse ในวัยเด็ก การมีน้ำหนักเยอะทำให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ดึงดูด หรืออาจเจอความสัมพันธ์โรคบางโรค เช่น ปัญหาทางอารมณ์หรือปัญหาบุคลิกภาพบางอย่าง” 

ความซับซ้อนที่มากยิ่งกว่า คือ เด็กที่ถูกคุกคามทางเพศและถูกพ่อแม่ปฏิเสธว่าไม่จริง ไม่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้จะสร้างรอยแผลภายในที่ซับซ้อนลึกลงไปอีก

“ประเด็นนี้จะส่งผลกับเด็กมากเพราะมันทำให้เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยาและฝังเป็นปมอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำคือความรู้สึกถูกทรยศ และความรู้สึกนี้อาจรุนแรงมากกว่าการถูกกระทำด้วยซ้ำ คนที่รักและเชื่อใจไม่ช่วยเราไม่อยู่เพื่อเรา มันคือการถูกทรยศที่ยิ่งใหญ่ นี่จะเป็น trauma อีกรูปแบบหนึ่งส่งผลให้เกิดปัญหากับความสัมพันธ์ในจิตใจได้อีกเยอะมาก”

ข้างต้นที่กล่าวไป–การปฏิเสธความจริงของพ่อแม่เป็นเพียงการอธิบายสถานการณ์ที่รุนแรงขั้นสุด ซึ่งไม่ใช่ทุกกรณีเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามการคุกคามทางเพศกับเด็กจากคนใกล้ตัวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และจริง และเมื่อเกิดแล้วเด็กหลายคนไม่กล้าบอกผู้ปกครองเพราะกังวลใจหลายอย่าง พญ.วินิทรากล่าวด้วยว่าอาจเป็นที่พัฒนาการของเด็ก หรือความเข้าใจส่วนตัวของเด็กเล็กที่อาจเรียบเรียงคำพูดไม่เป็นภาษา แต่ผู้ปกครองอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมภายนอก

“พฤติกรรมบางอย่างของเขาอาจเปลี่ยนไปไหมเช่นเริ่มพูดน้อยลง แยกตัวหรือให้ลองสังเกตปฏิกิริยาในบ้านก็ได้นะคะ เช่น เขาอาจจะกลัวหรือหลีกเลี่ยงใครบางคน หรืออาจมีเรื่องพฤติกรรม (ทางกายภาพ) ที่แปลกไป เช่น ในเด็กเล็กมากปัสสาวะหรืออุจจาระอาจเปลี่ยน บางคนที่เคยเข้าห้องน้ำได้ก็อาจฉี่ราดหรือพฤติกรรมแปลกๆ อย่างอื่น เช่น ฉีกกระดาษ แยกตัวจากเพื่อน เหม่อลอย

“แต่ไม่ต้องถึงกับกังวลมากไปว่าถ้าลูกมีอาการแปลกๆ แล้วจะต้องถูกกระทำแน่ๆ ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปนะคะ แค่ลองสังเกตดูถ้าไม่สบายใจให้พามาพบแพทย์ได้เลย” พญ.วินิทรากล่าว

วัฒนธรรมแห่งความเคารพและการปฏิเสธ

กลับมาที่การป้องกันหรือสร้างวัฒนธรรมแห่งความเคารพ ในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษาในห้องเรียน แสงจันทร์กล่าวว่าสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือประเด็นพัฒนาการทางเพศและประเด็นเพศวิถีรอบด้าน ที่นอกจากจะทำความเข้าใจอวัยวะในเชิงกายภาพ ยังต้องเข้าใจเรื่องการเคารพในเนื้อตัวร่างกาย พัฒนาการทางเพศตามวัยของเด็ก 

และต้องทำความเข้าใจกับเด็กให้ชัดว่าไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่จะมาละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเด็กไม่ได้ แต่เด็กด้วยกันเองก็จับสัมผัสอวัยวะส่วนตัวและอวัยวะที่กระตุ้นความรู้สึกรื่นรมย์ของคนอื่นไม่ได้ด้วย

“เด็กควรรู้อะไร? ควรรู้ว่าเนื้อตัวร่างกายของเราโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศ จู๋จิ๋มหน้าอกซอกคอแม้แต่คนที่รู้จักกันก็ให้สัมผัสไม่ได้ ทั้งหมดนี้ต้องสร้างเป็นวัฒนธรรมในการเคารพเนื้อตัวร่างกายกันตั้งแต่เด็ก”

“บางทีผู้ใหญ่หอมแก้มด้วยความเอ็นดูรักใคร่ แต่ถ้าเด็กอึดอัดไม่ชอบใจจะฝืนเขาไม่ได้ ขออนุญาตเด็กก่อน ‘ขอหอมแก้มได้ไหม?’ ‘ขอกอดได้ไหม?’ ถ้าเขาไม่อนุญาต ผู้ใหญ่ต้องเคารพ ถ้าพ่อแม่ทำแบบนี้ตั้งแต่ต้นเขาจะเข้าใจการปกป้องตัวเอง ถ้ามีใครมาจู่โจมเขาจะปฏิเสธได้ว่า ‘อย่าทำนะไม่ชอบ’ ”

อย่างที่ พญ.วินิทราย้ำว่าไม่ใช่การห่วงกังวลเกินจริง แต่การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพเนื้อตัวร่างกายและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กกล้าพูดคำว่า ‘ไม่’ กล้ายืนยันที่จะปฏิเสธตั้งแต่สัมผัสที่เขาไม่สะดวกใจ กระทั่งหากถูกคุกคามขึ้นจริงเขาจะเข้าใจสิทธิของตัวเอง ดำเนินการตามกฎหมาย

และท้ายที่สุดยืนยันกับตัวเองได้ว่าไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ และหากต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจหรือการบำบัด เขาสามารถขอรับการดูแลได้

กรอเทปและอัดทับความรู้สึก-เราอยู่กับแผลเป็นได้

พญ.วินิทราให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เคยถูกคุกคามทางเพศ รู้สึกฝังใจ เพราะความรู้สึกนี้ไม่เคยถูกชำระ วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือ ‘การกรอเทปและอัดทับ’ 
“ย้อนกลับไปเปิดเทปใหม่ ไปทำความเข้าใจเหตุการณ์นั้น ย้อนเทปไปทำความเข้าใจว่าตอนนั้นมันน่ากลัวมากใช่ไหม? และเราป้องกันตัวเองไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มันอยู่ในภาวะที่น่ากลัวมาก บอกตัวเองว่าโอเค… มันน่ากลัวนะแต่เราผ่านมันมาได้แล้วนะ ตอนนี้เรามีความสามารถในการดูแลตัวเองแล้วนะ ปลอดภัยแล้วนะ ตอนนี้เรามีสิ่งต่างๆ รอบกาย ตอนนี้เราไม่ใช่คนเดิมแล้ว เหตุการณ์นั้นมันได้ผ่านไปแล้ว มันไม่แย่ มันไม่ใช่ความผิดเรา
“จากนั้นเราอาจค่อยๆ ทำความเข้าใจคนในเหตุการณ์แต่ละคน พอเขาทำความเข้าใจตรงนั้นได้เหมือนการอัดเทปใหม่ ความรู้สึกโกรธเศร้าหดหู่กลัวหรือความรู้สึกอะไรที่มันเยอะๆ อาจเบาบางลงได้ แต่มันก็อาจจะยังคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งกับเราเหมือนแผลเป็น แต่จริงๆ แผลเป็นก็อาจไม่เลวร้าย เราใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเข้มแข็งของเราอีกแบบ เรายังอาจใช้ประสบการณ์ตรงนี้ช่วยเหลือคนอื่นได้อีก

แผลเป็นนี้จะหายไปไหม? – เราถาม

“มันจะไม่หายไปและสิ่งสำคัญไม่ใช่การมีแผลหรือไม่มีแผล สิ่งสำคัญคือฟังก์ชั่นของแผลเป็นต่างหาก สมมุติเรามีแผลเป็นที่มือ ไม่สำคัญว่ามีแผลไม่มีแผล แต่เราอยากใช้มือนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร ใช้มือของเราทำอะไรในชีวิต คล้ายๆ เราย้ายโฟกัส เดิมเราโฟกัสว่า ‘ตายแล้วมันเป็นแผลถาวรถ้าคนอื่นเห็นมันจะเป็นยังไง มันน่าอายไหม มันไม่ดียังไงไหม’ 

“แต่เราจะไม่ซีเรียสกับแผลเป็นที่ได้จากอุบัติเหตุใช่ไหม? เพียงแต่ทำความเข้าใจว่าแผลเป็นไม่ได้เยอะอะไร มันแค่ยังอยู่และเราไม่มีทางลืมหรอก ถ้าเราเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกเราไม่มีทางลืม แต่ย้ายโฟกัสแล้วปรับมุมมองใหม่ และเล่าเรื่องตัวเองใหม่ ถ้าเราเล่าเรื่องตัวเองใหม่ได้ เราไม่เห็นตัวเองเป็นเหยื่อที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราจะมีพลังขึ้น empower ตัวเองขึ้น

Tags:

เพศSexuality Education(เพศวิถีศึกษา)แสงจันทร์ เมธาตระกูลพญ.วินิทรา แก้วพิลาคุกคามทางเพศ (sexual harassment)ปม(trauma)

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    เกมของเจอรัลด์ : เลิกขังตัวเองให้เป็นเหยื่อและนำอำนาจของตัวเองคืนกลับมา

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Movie
    Moxie (2021) หนังที่บอกเราว่าไม่ควรเมินเฉยต่อการถูกแกล้ง ลวนลาม แต่จงลุกขึ้นมาส่งเสียงของตัวเอง

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Education trend
    ล่วงละเมิดทางเพศแบบนี้ หนูไม่โอเค

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • Healing the trauma
    ปมฝังลึกที่หลงลืมไป อาจไม่เคยสูญหายและยังมีผลกับเราอยู่?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • How to get along with teenager
    รับมือวัยรุ่นยุค SEXTING: สื่อสารให้เข้าใจเรื่องความปลอดภัยของตัวลูกเอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

อ่าน เล่น ทำงาน: อ่าน ‘อย่างมีความสุข’ เพื่อสร้างระบบความจำใช้งาน
EF (executive function)
28 May 2019

อ่าน เล่น ทำงาน: อ่าน ‘อย่างมีความสุข’ เพื่อสร้างระบบความจำใช้งาน

เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

ไม่เคยพูดหรือเขียนว่าการอ่านนิทานก่อนนอนจะทำให้เด็กรักการอ่าน ฉลาด หรือนิสัยดี เหล่านี้เป็นผลพลอยได้ที่มักจะได้ ที่พูดหรือเขียนเสมอคือการอ่านนิทานก่อนนอนเพื่อสร้างแม่ หรือพ่อ ที่มีอยู่จริง

เพราะการอ่านนิทานก่อนนอนเป็นการนัดหมาย ‘เวลา’ ที่ทรงพลัง เด็กจะรอพ่อแม่มาอ่านนิทานให้ฟัง ทุกคืน ทุกวัน ทั้งปี อย่างน้อยก็สามปีแรกของชีวิต

การอ่านนิทานก่อนนอนเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านเอง อ่านเองเพราะมีความสุขที่จะอ่าน เด็กที่นอนฟังและดูแม่อ่านนิทานมักจะพยายามแกะอักขระบนป้ายโฆษณาด้วยตนเอง เขามักเรียนรู้ระบบสัญลักษณ์ กลวิธีแยกคำ และถอดความหมายได้เองอย่างไม่น่าเชื่อ เด็กบางคนถึงกับลงมือเขียนหนังสือด้วยตนเอง

เขาจะทำทั้งหมดนี้ได้เพราะมีความจำใช้งานที่ดี ความจำใช้งาน หรือ working memory สร้างตัวเองขึ้นมาจากการอ่าน เล่น และทำงาน การเล่นและทำงานมาทีหลัง แต่การอ่านเริ่มต้นได้ตั้งแต่รุ่งอรุณของชีวิตด้วยการนอนฟังและดูนิทานก่อนนอนที่แม่ หรือพ่ออ่านให้ฟัง และชี้ให้ดู พ่อแม่ส่วนใหญ่ชี้เพียงภาพ แต่เด็กมักดูทั้งหน้าเสมอ ดูทั้งฉากหน้า (foreground) ฉากหลัง (background) และอักขระ (alphabets)

พ่อแม่ก้าวข้ามเส้นไปที่ชี้อักขระเพื่อบังคับอ่านกลับจะทำให้เด็กไม่สนใจ

มีงานวิจัยหลายชิ้นในทศวรรษที่ 1990 ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กอายุ 5 ขวบ พูดตามผู้ใหญ่ได้ 3 คำติดต่อกัน อายุ 9 ขวบได้ 4 คำ และอายุ 11 ขวบได้ 5 คำ นั่นคือระยะเวลาของความจำระยะสั้น (memory span) ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ เด็กอายุมากขึ้นจะมีความจำระยะสั้นนานขึ้น จำคำพูดของเราได้นานขึ้นแล้วสามารถพูดตามได้โดยไม่ผิด

พบต่อไปว่าระยะเวลาของความจำระยะสั้น ซึ่งต่อไปจะขอใช้คำว่า เมมเมอรี่สแปน นี้มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษา การอ่าน จำนวนคำศัพท์ และระดับสติปัญญา (IQ) ถ้าเราสามารถทำให้เด็กคนหนึ่งมีเมมเมอรี่สแปนยาวขึ้น ระดับสติปัญญาและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเขาจะดีขึ้นตาม ทั้งนี้โดยอนุมานว่าเด็กควรมีระดับสติปัญญาตั้งต้นไม่น้อยกว่า 80 โดยไม่มีความบกพร่องอื่น (หมายถึงมิใช่เด็กพิเศษในรูปแบบอื่น)

ความข้อนี้สำคัญ ถ้าการสำรวจที่ทำๆ กันถูกต้อง บ้านเราอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเด็กที่มีไอคิวระหว่าง 70-90 เด็กเหล่านี้มักถูกตีตราตามตำราว่าเป็นพวกคาบเส้น หรือปัญญาทึบ คือ Dull Normal นำไปสู่การถูกทอดทิ้งและไม่ใส่ใจด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขามีศักยภาพที่จะพัฒนา หากผู้กำหนดนโยบาย ครูใหญ่และครูจะล่วงรู้ว่าเราพัฒนาเมมเมอรี่สแปนได้ ไอคิวของพวกเขาจะดีขึ้น

เมมเมอรี่สแปนประกอบด้วยอะไรบ้าง?

เมมเมอรี่สแปนประกอบด้วย 2 ส่วน

1. เวลาที่ใช้ในการระบุคำ เรียกว่า item identification time

2. อัตราเร็วในการสะกดคำ เรียกว่า articulation rate

ยกตัวอย่าง

นักวิจัยบอกให้เด็กพูดตาม นักวิจัยพูดว่า ‘ปรากฏการณ์’ เด็กหยุดไปพักหนึ่ง ก่อนที่จะพูดว่า ‘ปรากฏการณ์’ ระยะเวลาที่ห่างกันนั้นคือเวลาที่ใช้ในการระบุคำ

นักวิจัยบอกให้เด็กพูดตามอย่างเร็วที่สุด นักวิจัยพูดว่า “โทรศัพท์ ปรมาณู” แล้วให้เด็กพูดตาม 10 รอบ “โทรศัพท์ ปรมาณู โทรศัพท์ ปรมาณู โทรศัพท์ ปรมาณู….” อัตราเร็วที่คำนวณได้คืออัตราสะกดคำ ซึ่งก็คือความเร็วในการอ่านหนังสือของผู้ใหญ่ในอนาคต

นักวิจัยพบต่อไปว่าอัตราเร็วในการสะกดคำแปรผันตรงกับเมมเมอรี่สแปนและแปรผันตรงกับความเร็วในการอ่านหนังสือในที่สุด เมื่อใช้โมเดล phonological loop ของความจำใช้งานซึ่งบอกว่าเด็กคนหนึ่งจะจำคำคำหนึ่งได้ 2 วินาทีหากไม่ทวนคำ เด็กคนหนึ่งจะเพิ่มอัตราเร็วในการสะกดคำได้ต่อเมื่อเขาสามารถคง 2 วินาทีแรกได้นานพอจนกระทั่งซ้อนทับกับคำใหม่ และคำใหม่ และคำใหม่… เกิดเป็นอนุกรมของความจำใช้งานที่ผุดขึ้นแล้วดับไป ผุดขึ้นแล้วดับไป ผุดขึ้นแล้วดับไป… อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งหนังสือจบเล่ม นี่คือความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ของการอ่านหนังสือ

อย่าลืมว่าตอนที่เราอ่านสามก๊กจบสองเล่ม เรามิได้ ‘จำ’ ตัวหนังสือทั้งหมด เราอ่านเอาเรื่อง จะมีก็แต่เดต้าในสตาร์เทร็ค (หุ่นแอนดรอยด์ใน Star Trek: the Next Generation) ที่ทวนหนังสือทั้งเล่มให้เราฟังได้ทุกตัวอักษร หรือบุคคลออทิสติก (autistic savant) ที่มีความสามารถพิเศษบางคนที่จะทำเช่นนั้นได้

ลองนึกถึงพนักงานพิมพ์ดีดที่พิมพ์สัมผัสมิได้ เขาจะจดจำประโยคหนึ่งได้ยาวกี่คำโดยพิมพ์ไม่ผิดเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว คำเฉลยคือสั้นกว่าที่เราคิดมาก

เขียนถึงตรงนี้ก็มิได้หมายความว่าเราควรกดดันเด็กปฐมวัยให้รีบสะกดคำและอ่าน ในทางตรงข้ามเรากลับยิ่งต้องพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความสุขในการ ‘มอง’ และ ‘จำ’ อักขระ เด็กที่มีความสุขจะแยกหน่วยเขียน หน่วยคำและหน่วยเสียง (grapheme, morpheme & phoneme) ได้ด้วยตนเอง

แปลว่าเด็กไอคิวน้อยกว่า 90 เรากลับควรระมัดระวังการกดดันให้มาก แต่สร้างความสุขกับการอ่านมากยิ่งขึ้น เริ่มช้าไม่เป็นไร แต่ค่อยๆ เร่งความเร็วขึ้นได้ในภายหลังเมื่ออ่านมากขึ้น ในทางปฏิบัติเราควรให้เด็กมีความสุขกับการอ่านได้ โดยรับรู้ว่าการอ่านคำสองพยางค์ย่อมง่ายกว่าคำสามพยางค์ และคำสี่พยางค์ย่อมง่ายกว่าคำห้าพยางค์

ยกตัวอย่าง เมื่อเด็กอ่านคำสองพยางค์ ‘กุญชร’ ได้จนคล่อง มีอัตราเร็วในการสะกดคำและเมมเมอรี่สแปนดีแล้ว เด็กจะอ่านคำว่า ‘คชสาร’ ตามด้วย ‘พญากุญชร’ แล้วต่อด้วย ‘พญาคชสาร’ ได้ด้วยตนเอง เช่นนี้ เราจะพบว่าอัตราเร็วในการสะกดคำจะดีขึ้น เมเมอรี่สแปนยาวขึ้น คือระบบความจำใช้งานที่เสถียรมากขึ้น มีห่วงโซ่ของความจำครั้งละ 2 วินาทีที่เกี่ยวพันกันอย่างต่อเนื่องยาวมากขึ้น

คือกำเนิดและพัฒนาการของความจำใช้งาน

หมายเหตุ: ติดตามอ่านบทความที่เกี่ยวกับการอ่านของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ที่นี่:
อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทาน 
อ่าน-เล่น-ทำงาน: เล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญมาก ของ ‘นิทานก่อนนอน’
อ่าน เล่น ทำงาน: สมอง ‘อ่าน’ อย่างไร
อ่าน เล่น ทำงาน: ความต่างระหว่าง ‘อ่านออก (เร็ว)’ กับ ‘อ่านเอาเรื่อง’
อ่าน เล่น ทำงาน: ‘นิทาน’ สมาธิและความฉลาดเริ่มต้นในห้องนอนยามค่ำคืน
อ่าน เล่น ทำงาน: เด็กทำอะไรช้า มาจาก ‘ความจำใช้งาน’ เด็กๆ จึงต้องได้อ่านนิทานภาพก่อนนอน

Tags:

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์อ่าน เล่น ทำงานEFและการศึกษาความจำใช้งาน

Author:

illustrator

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Illustrator:

illustrator

antizeptic

Related Posts

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอนที่ 5

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: รู้จักพลิกแพลง เปลี่ยนแปลงได้ไม่รู้จบด้วย ‘ความจำหมายเลข 4’

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านวรรณคดีไทย ลูกจะเผชิญด้านมืดได้ดีกว่าคำพ่อแม่สั่งสอน

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: จดจ่อ-แบ่งส่วน-เปลี่ยนจุดสนใจ ในระบบความจำใช้งาน

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: เรียนรู้ด้วยการเล่นดีอย่างไร

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

4 กุญแจสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
Learning Theory
27 May 2019

4 กุญแจสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เรื่อง The Potential

การเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ต่างจากการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่ใช่เพื่อไปต่อสู้กับคนอื่นหากเพื่อพัฒนาตัวเองสร้างจุดแข็งซ่อมจุดอ่อน

ทำได้ทุกวัยแต่ถ้าฝึกฝนได้ตั้งแต่เด็กเขาจะรู้จักกำกับและดูแลตัวเอง

ที่สำคัญการเรียนรู้ด้วยตัวเองช่วยให้เราเพิ่มพูนทักษะความรู้ใหม่ๆตามความชอบและความสนใจได้อย่างอิสระไม่ต้องขึ้นอยู่กับใคร

และกุญแจ4 ดอกนี้จะช่วยไขและผลักไปสู่การเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนรู้ด้วยตัวเอง ประกอบไปด้วย 4 กุญแจสำคัญ 

กุญแจดอกที่หนึ่ง ความพร้อม (Being Ready to Learn/ Assess Readiness to Learn)

ทุกคนมีทักษะและทัศนคติต่อการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องประเมินความพร้อมในการเรียนรู้ของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก  

กุญแจดอกที่สอง เป้าหมาย (Setting Learning Goals)

ตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้ ครูและผู้ปกครองช่วยวางแผนการเรียนรู้ได้จากการพาทำกิจกรรมหรือออกแบบการสอนในห้องเรียน

กุญแจดอกที่สาม การมีส่วนร่วม (Engaging in the Learning Process)

สำรวจความต้องการของตัวเอง ว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไร ชอบเรียนแบบไหน เพราะการรู้จักตัวเองจะเชื่อมผู้เรียนกับสิ่งที่สนใจเข้าด้วยกัน นำไปสู่การทดลองและลงมือเรียนรู้ด้วยตัวเอง

กุญแจดอกที่สี่ ประเมินผล (Evaluating Learning)

การประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา เห็นข้อดี ข้อเสีย ยอมรับข้อผิดพลาด ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างตรงจุด

tips : 3 ไม่ ปิดกั้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

‘ไม่’ อยากทำ                    

ขาดแรงจูงใจที่จะลงมือทำ (Motivation)                         

ทำ ‘ไม่’ ได้ 

มองว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอ (Ability)                

‘ไม่’ เก่ง     

ประเมินตัวเองว่าทำไม่ได้ตั้งแต่แรก (Type)

อ่านบทความเรื่องการเรียนรู้ด้วยตัวเองเพิ่มเติม ที่นี่ https://thepotential.org/2019/05/23/self-directed-learning/

4 กุญแจสำคัญ ของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

Tags:

21st Century skillsการเรียนรู้ด้วยตัวเอง(self-directed learning)

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Social IssuesLearning Theory
    โอกาสใน COVID-19: เปลี่ยนจากเรียนแบบเหมาโหล สู่บทเรียนส่วนตัวแบบเลือกได้

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Learning Theory
    ‘การเรียนรู้ที่บ้าน’ กำลังมา: กำกับตัวเองให้มาก ใช้ความสงสัยใคร่รู้และความสุขจากการเล่นนำทาง

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Education trend
    การศึกษาในโลกยุคใหม่และเรียนรู้ตามความถนัด: ควรมุ่งเน้น AI หรือ พหุปัญญา?

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

  • Creative learningCharacter building
    CLOWN PANIC: เกมการเดินทางของตัวตลกที่หวังให้ผู้เล่นมีความสุข

    เรื่อง The Potential

  • 21st Century skills
    10 ทักษะผู้นำของคนในวงการไซเบอร์ ที่โลกอนาคตต้องการ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

โรงเรียนธรรมชาติ: เหตุผลที่ต้องรักษาโรงงานผลิตออกซิเจนยักษ์
SpaceCreative learning
27 May 2019

โรงเรียนธรรมชาติ: เหตุผลที่ต้องรักษาโรงงานผลิตออกซิเจนยักษ์

เรื่อง เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ภาพ บัว คำดี

  • บทความภาคต่อจากโรงเรียนธรรมชาติโดย เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ครูสอนธรรมชาติศึกษา ที่สอนเรื่องเล็กๆ ในธรรมชาติ หวังให้เด็กๆ ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับความเข้าใจเรื่องธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
  • ประเด็นสำคัญของบทความตอนนี้คือการตอบคำถามยอดนิยมอย่าง ทำไมต้องเรียนวิชาธรรมชาติ, วิชาธรรมชาติมีอะไรบ้าง และเรียนแล้วต้องไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรือเปล่า? จากครูเกรียง
  • รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่เห็นผลได้ชัดจากการนำเด็กๆ ออกนอกห้องเรียนปกติไปสู่ห้องเรียนธรรมชาติ

ทำไมต้องเรียนวิชาธรรมชาติ, วิชาธรรมชาติมีอะไรบ้าง และเรียนแล้วต้องไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หรือเปล่า? มักจะมีคนสอบถามผมเสมอๆ ว่าเรียนธรรมชาติไปทำไม เรียนแล้วได้อะไร?

คำตอบแบบสั้นๆ และง่ายที่สุดก็คือ

“ถ้าเรายังหายใจอยู่และลมหายใจเรามาจากธรรมชาติ เราไม่คิดอยากจะทำความรู้จักกับธรรมชาติเลยเหรอ”

ดูเหมือนง่ายแต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี

เรามีโรงงานผลิตโน่นนี่นั่นมากมายมหาศาลเล่าเป็นปีก็ไม่จบว่ามนุษย์เราผลิตอะไรได้บ้างที่ตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่เชื่อไหมว่ายังไม่มีโรงงานไหนคิดค้นและผลิต ‘ออกซิเจน’ ได้เลย

มีเพียงโรงงานเดียวที่ ‘ธรรมชาติ’ ตั้งขึ้นและตั้งมาตั้งแต่หลายพันล้านปีที่แล้วที่ริเริ่มสร้างโรงงานนี้ แม้ในช่วงต้นออกซิเจนที่ผลิตได้จะยังเป็นสารพิษของสิ่งมีชีวิตบางชนิดอยู่ แต่เมื่อผ่านกาลเวลาอันยาวนานกลไกชีวิตต่างๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองจนอยู่ในภาวะที่เหมาะสม บรรพบุรุษของมนุษย์ (Homo) เรามีชีวิตอยู่ในช่วงสองล้านปีเศษที่ผ่านมาเท่านั้นเองหลังจากตั้งโรงงานมานานมากแล้ว

โรงงานนี้เป็นโรงงานขนาดใหญ่มีพนักงานที่อยู่ในสายพานการผลิตหลายล้านตำแหน่ง แต่ละแผนกต่างทำหน้าที่ของตัวเองในช่วงเวลาของตัวเอง ใครอยู่กะกลางคืนก็ทำหน้าที่กลางคืนไป ใครอยู่กะกลางวันก็ทำหน้าที่กลางวันไป พนักงานบางตำแหน่งมีรูปร่างเล็กจิ๋วเท่าฝุ่นละออง บางตำแหน่งมีร่างกายใหญ่ยักษ์ยาวกว่า 30 เมตร ทุกตำแหน่งต่างทำงานในหน้าที่ของตนอยู่ในฟันเฟืองของธรรมชาติ

งานหลักๆ เท่าที่เราจะพอมองเห็นได้เช่นแมลงต่างๆ ทำหน้าที่ในการผสมเกสรพืชพันธุ์ พอติดผลออกลูกจนสุกงอม นก กระรอก ชะนี ค้างคาว เก้งกวาง และสัตว์อื่นๆ ก็พากันมา นำพาเมล็ดหว่านกระจายไปยังที่ต่างๆ ไม่ให้กระจุกกันอยู่บริเวณโคนต้นแม่

เห็ดราปลวกหนอนด้วงพากันช่วยย่อยซากพืชซากสัตว์ที่ล้มตายระเกะระกะในป่าให้เน่าเปื่อยรวดเร็วมากขึ้น เพื่อจะได้ปุ๋ยไปบำรุงต้นที่ยังยืนหยัดอยู่ หรือเมล็ดที่จะรอวันงอกเจริญเติบโตต่อไป

ทุกชีวิตทุกหน้าที่กำลังดำเนินไปในโรงงานยักษ์นี้เหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด เพื่อให้โลกได้มีออกซิเจนหล่อเลี้ยงชีวิตอื่นๆ ทั้งพนักงานที่อยู่ในโรงงานเองและชีวิตอื่นที่รายล้อมอยู่ท่ามกลางโรงงานยักษ์

เราเป็นมนุษย์เราได้เห็นอะไรบ้าง และเราได้เข้าใจกลไกของโรงงานนี้มากน้อยแค่ไหน เราใช้ประโยชน์จากโรงงานนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่จนถึงวาระสุดท้าย เมื่อเราได้ประโยชน์มากมายขนาดนี้เราจะไม่ดูแลโรงงงานนี้เลยหรือ และเราจะดูแลโรงงานและพนักงานทุกชีวิตที่กำลังทำหน้าที่อยู่อย่างขะมักเขม้นนี้อย่างไรถึงจะอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปจนถึงลูกหลานเหลนของพวกเรา

การเรียนเรื่องธรรมชาติก็เพื่อให้เราได้เข้าใจธรรมชาติให้ลึกซึ้งและสามารถดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในสายเลือดของมนุษย์เราทุกคน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือนักวิจัยธรรมชาติ ไม่ใช่นักชีววิทยาหรือผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้

เด็กทุกคนควรจะต้องเรียนรู้ทำความรู้จักกับขบวนการการทำงานของโรงงานนี้ตั้งแต่ยังเด็กๆ ต้องถือว่าเป็นหน้าที่ด้วยซ้ำเพราะนี่คือสิ่งที่จะต้องอยู่กับพวกเขาในอนาคต หากละเลยจนกว่าเขาจะรู้ว่ามันจำเป็นก็สายไปแล้ว

นี่เป็นเหตุผลเดียวของมนุษยชาติที่จะเอาชีวิตรอดในยุคข้างหน้า ก็คือการรักษาโรงงานนี้ไว้ให้ยาวนานและยั่งยืนมากที่สุด

นี่น่าจะเป็นคำตอบที่พอจะเข้าใจได้สำหรับคำถามว่าจะเรียนเรื่องธรรมชาติไปทำไม ส่วนผลพลอยได้เรื่องอื่นๆ เช่นเด็กๆ ที่ผ่านการเรียนเรื่องพวกนี้ในธรรมชาติมาสักระยะหนึ่งจะมีความเข้าใจเรื่องชีววิทยาได้ดีมากขึ้น เมื่อเขาเรียนในระดับที่สูงขึ้นไม่มีผลวิจัยอะไรมายืนยัน แต่จากการสอนเด็กๆ ในโรงเรียนมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา ได้เห็นเด็กอนุบาลเด็กประถมที่เข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยหลายคนมีความชื่นชอบและทำคะแนนได้ดีในสาขาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเห็นเองและผู้ปกครองประเมินให้ฟัง

ผู้ปกครองบางท่านหันมาเปิดโรงเรียนระดับอนุบาลและประถม และนำเอาวิชาธรรมชาติเข้ามาอยู่ในหลักสูตร หลังจากมีความมั่นใจและเห็นผลกับลูกของตัวเองที่ได้ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องธรรมชาติมากับโรงเรียนทางเลือกที่ผมสอนอยู่

มีโรงเรียนอนุบาลสองแห่งที่ผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่ใช้เวลาสั้นๆ เพียงสามสี่ปีที่ผ่านมานำขบวนการเรียนการสอนในเรื่องของธรรมชาติเข้าสู่ภายในโรงเรียน นำเด็กนักเรียนออกนอกห้องเรียนปกติไปสู่ห้องเรียนธรรมชาติมากขึ้น 

มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวเด็กหลายด้านทั้งในด้านการเรียนรู้ เด็กๆ มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้มากขึ้น มีข้อสงสัยและมีการตั้งคำถามมากขึ้น ลดความกังวลความกลัวในเรื่องบางอย่างในธรรมชาติ

ถามว่าเมื่อไม่ได้อยากให้ลูกๆ ทำงานในด้านนี้ ไม่ได้อยากให้ลูกๆ เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ได้อยากให้ลูกๆ มาเป็นนักวิจัยสัตว์ป่า นักวิจัยพันธุ์พืช จำเป็นต้องให้ลูกมาเรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วยหรือ

คำตอบอยู่ในตอนต้นของบทความนี้แล้วครับ

หมายเหตุ: อ่านบทความ โรงเรียนธรรมชาติ ของครูเกรียง ย้อนหลังได้ที่นี่

โรงเรียนธรรมชาติ: ธรรมชาติคือครูที่สุดยอด เด็กๆ ต้อง ‘ปลอดสายตา’ พ่อแม่บ้าง 

โรงเรียนธรรมชาติ: รู้จักชีวิตที่ขาดสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ

Tags:

โรคขาดธรรมชาติ(nature deficit disorder)โรงเรียนธรรมชาติเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์เข้าป่าสิ่งแวดล้อมeco literacy

Author:

illustrator

เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์

Illustrator:

illustrator

บัว คำดี

เติบโตมากับเพลงป็อปแดนซ์ยุค 2000 เริ่มเป็นติ่งวงการ k-pop ในวัยมัธยม มีเพลงการ์ตูนดิสนีย์เป็นพลังใจในทุกช่วงวัยของชีวิต

Related Posts

  • Everyone can be an Educator
    ‘วิชาถิ่นนิยม’ บนดอยหลวงเชียงดาว: ก่อนจะเป็นเป็นจะที่นิยม ต้องทำให้ท้องถิ่นเป็นความรื่นรมย์เสียก่อน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร

  • Creative learning
    โรงเรียนธรรมชาติ: ‘วิชาลูกทะเล’ ฝึกเด็กๆ ให้ฟังปลาและหากิน

    เรื่องและภาพ เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์

  • Creative learning
    ‘ด.เด็กเดินป่า’ ปล่อยมือลูกให้เดินเข้าป่าบ้าง ให้ที่ว่างของการเติบโต

    เรื่อง วิรตี ทะพิงค์แก

  • Creative learning
    สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์: PUBLIC SPACE ควรมีไว้เล่น สัมผัส และสูดหายใจเข้าเต็มปอด

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • SpaceCreative learning
    โรงเรียนธรรมชาติ: รู้จักชีวิตที่ขาดสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ

    เรื่อง เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ภาพ บัว คำดี

วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่าเลน เจอคุณปู่โกงกางและสัตว์น้ำตัวเล็กๆ
Creative learningCharacter building
23 May 2019

วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่าเลน เจอคุณปู่โกงกางและสัตว์น้ำตัวเล็กๆ

เรื่อง The Potential

  • แม้จะเติบโตมากับชายเลและป่าเลน และป่าเลนแห่งนี้จะมีชื่อเสียงระดับจังหวัด แต่กลุ่มเยาวชนจากบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล แทบไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับผืนป่าเลนบ้านเกิด เมื่อได้รับการชักชวนให้เข้าร่วม โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล พวกเขาจึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ และส่งต่อความรู้เหล่านี้แก่น้องๆ รุ่นต่อไป
  • เข้าป่าเลนหาความรู้ จัดค่ายเยาวชนส่งต่อข้อมูล และตั้งใจทำนิทานสิ่งแวดล้อม คือทั้งหมดที่พวกเขาทำเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่ได้มา

การรวมตัวของทีมงานในโครงการ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนหลังการประกาศเขตอภัยทานสู่การสร้างสำนึกรักษ์ป่าเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้ เกิดขึ้นจากการชักชวนของ กีรีน-สากีรีน เส็นสมมาตร ประธานเยาวชนรักท่าแพที่มีการรวมตัวกันเพื่อทำโครงการท้าทำดี ที่จะสัญจรพัฒนาหมู่บ้านอยู่เป็นประจำทุกวันเสาร์แรกของเดือน เมื่อกีรีนได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการกลไกชุมชนฯ เขาก็ชวนกลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมคือ ฮาดี-อับดุลฮาดี มานีอาเหล็ม และ 3 สาวรุ่นน้องอย่าง รอ-นัซรอ เหมซ๊ะ, ซารอ-ซารอ ทิ้งน้ำรอบ และ เล็ก-ซอฮาบีย๊ะ เย็นจิต เข้าร่วมกลุ่มด้วย

“ตอนคุยกันว่าจะทำโครงการอะไร เราคิดถึงจุดเด่นของหมู่บ้าน นั่นก็คือป่าเลน ป่าเลนที่บ้านเราค่อนข้างเยอะและอุดมสมบูรณ์มาก เกิดจากผู้ใหญ่ในชุมชนเขารวมกลุ่มกันดูแลทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งในเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน มีภาคีหลายเครือข่ายเข้ามาจัดกิจกรรมปลูกป่า แต่ถึงอย่างนั้น พวกเรากลับไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าป่าเลนบ้านเรามีพื้นที่กี่ไร่ มีพันธุ์ไม้ มีสัตว์น้ำอะไรบ้าง เลยคิดกันว่าเราน่าจะเรียนรู้ให้มากกว่านี้ในฐานะที่เป็นคนที่นี่” กีรีนเล่า

หลังได้โจทย์ที่แน่ชัด ทีมงานได้ประชุมร่วมกับพี่เลี้ยงกลุ่ม เพื่อกำหนดขอบเขตในการจะลงสำรวจป่าชายเลน โดยป่าชายเลนของชุมชนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ‘เขตใช้สอย’ ที่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และ ‘เขตอภัยทาน’ ที่ห้ามเข้าไปกระทำการใดๆ ทีมงานเลือกสำรวจเขตอภัยทานก่อน เพราะเขตป่าใช้สอยเป็นที่ที่มีคนเข้าไปเยอะจึงได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงอยู่แล้ว ขณะที่เขตอภัยทานยังไม่ค่อยมีการสำรวจและเก็บข้อมูลพันธุ์ไม้พันธุ์สัตว์ พวกเขาจึงอยากรู้ข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในเขตอภัยทาน

สิ่งที่พบจากการสำรวจทำให้พวกเขาได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ รู้สึกทึ่งกับทรัพยากรของป่าชายเลนในบ้านเกิด

“เรารู้แค่ว่าป่าเลนมีหอย ปู ปลาตัวเล็กๆ ในน้ำ การทำข้อมูลครั้งนี้เราเจอกับปลาตีนและรู้ว่าความสำคัญของมันต่อระบบนิเวศป่าเลนคืออะไร ยังได้เจอโกงกางที่มีอายุกว่า 80 ปีด้วย” กีรีนเล่า

ภายหลังการสำรวจ ทีมงานได้นำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวม และศึกษาประโยชน์ของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เพิ่มเติม เพื่อเตรียมนำไปใช้จัดค่ายส่งต่อความรู้แก่เด็กและเยาวชนในกิจกรรมต่อไป

จัดค่ายเรียนรู้ และอุปสรรคที่คาดไม่ถึง

เพราะข้อมูลที่รวบรวมศึกษา หากไม่ส่งต่อ อาจเป็นได้แค่ข้อมูลที่อยู่ในกระดาษ พวกเขาจึงคิดต่อยอดโครงการด้วยการจัดค่าย ต้องการให้น้องๆ และเยาวชนคนอื่นได้รู้จักป่าชายเลนมากขึ้น เพื่อจะได้ร่วมกันถ่ายทอดและอนุรักษ์ป่าชายเลนต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าฟังก์ชั่นของการจัดค่าย ไม่ใช่แค่ผู้ร่วมงานจะได้ความรู้ แต่ทีมผู้จัดก็ยังได้พัฒนาทักษะการบริหารจัดการทำงานด้านอื่นๆ ด้วย

ขณะจัดงาน ทุกคนร่วมมือแข็งขัน รวมทั้งกลุ่มผู้ปกครองของเด็กๆ ก็เข้ามาสมทบอย่างจริงจังไม่แพ้เด็กๆ เช่น มะ (แม่) ของกีรีนกับมะของก๊ะบ๊ะ-ฮาบีบ๊ะ เส็นสมมาตร หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง และกลุ่มแม่บ้าน ที่มาช่วยเด็กๆ ทำอาหารในการเข้าค่าย

กิจกรรมการเรียนรู้ในวันเข้าค่ายแบ่งออกเป็น 3 ฐาน ให้แต่ละกลุ่มเวียนเข้ามาเรียนรู้ ได้แก่

  • ฐานพันธุ์ไม้ ที่มีผู้รู้มาให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ก่อนเริ่มกิจกรรม แล้วจึงเล่นเกมนำชื่อต้นไม้ไปวางให้ตรงกับต้นไม้ ซึ่งส่วนมากน้องจะวางไม่ค่อยถูก เพราะยังไม่แม่นเรื่องข้อมูล
  • ฐานสัตว์ โดยมีพี่ๆ จากกู้ภัยและ อสม. อาสามาให้ความรู้ เกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน
  • ฐานฝึกความสัมพันธ์ ทีมงานดูแลกันเอง โดยให้น้องๆ เดินบนเชือกแล้วบุกตะลุยโคลน เพื่อฝึกความสามัคคีและละลายพฤติกรรม

“น้องๆ ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมค่อนข้างดีและสนุกสนานกันมากค่ะ เราเลยคิดจะจัดกิจกรรมภาคกลางคืนนอกเหนือจากแผนที่วางไว้ เพราะอยากให้ความรู้สึกของน้องๆ ต่อเนื่อง โดยให้เขาแสดงละครเป็นกลุ่ม พี่เลี้ยง 1 กลุ่ม กลุ่มกู้ภัย 1 กลุ่ม กลุ่มเยาวชน 3 กลุ่ม” ซารอเล่า

กิจกรรมวันที่ 2 ทีมงานเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเช็คอิน ให้น้องๆ พูดความรู้สึกจากการทำกิจกรรมวันแรก โดยนำแนวคิดกิจกรรมนี้มาจากการไปเข้าร่วมเวทีเวิร์คช็อปจากโครงการกลไกฯ

นัซรออธิบายว่า ก่อนเริ่มกิจกรรมอื่นๆ จะมีการเช็คอินกันก่อน เพราะจะทำให้เรารู้ว่าน้องๆ มีความรู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมที่พวกเราจัด เขาได้เรียนรู้อะไร และฝึกการพูดและกล้าแสดงออกให้น้องๆ ด้วย ซึ่งสิ่งที่น้องๆ สะท้อนส่วนมากคือ กิจกรรมสนุกและอยากมีกิจกรรมแบบนี้อีก

เช็คอินเสร็จแล้ว ทีมงานแบ่งน้องเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน ให้แต่ละกลุ่มระดมความคิดและวาดรูปตามโจทย์ว่าอยากพัฒนาอะไรเกี่ยวกับป่าชายเลน แล้วจึงให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอพร้อมอธิบายเหตุผล สิ่งที่พอจะเป็นไปได้คือ การทำหอคอยชมวิว และป้ายเช็คอินไว้ถ่ายรูป ส่วนกิจกรรมสุดท้ายคือ ให้น้องนำป้ายชื่อพันธุ์ไม้ที่ทำไว้ไปติดตามต้นไม้นั้นๆ

“ทำเสร็จแล้วรู้สึกโล่ง (ลากเสียง) มากค่ะ ไม่คิดมาก่อนว่าทำได้ขนาดนี้ (ยิ้ม) ตอนแรกเครียดมากว่าจะออกมาเป็นยังไง กลัวไม่มีคนมา ถ้าคนมาร่วมน้อยจะไม่สนุกหรือเปล่า แต่พอผ่านกิจกรรมช่วงเช้าที่มีสันทนาการ แล้วน้องมีความสุข น้องให้ความร่วมมือ เห็นความสามัคคีที่มากขึ้น เรารู้สึกดีมากๆ ค่ะ” ซารอเล่าความรู้สึกเมื่อค่ายเสร็จสิ้น

แม้จะร่าเริงกับผลสำเร็จของค่าย แต่ทีมงานก็ไม่ลืมประเมินว่าควรทำสิ่งใดให้ดีขึ้นในกิจกรรมนี้ นั่นคือ ‘การรักษาเวลา’ ทั้งเวลาการทำกิจกรรม และการตามน้องๆ ให้มาเข้าร่วมกิจกรรมตรงเวลา

ป่าเลนยั่งยืน คนเปลี่ยนแปลง

จากการเดินหน้าหาความรู้ใส่ตัวเองจนเกิดความรู้สึกดีๆ ต่อป่าชายเลน กระทั่งกลายเป็นคนส่งต่อการเรียนรู้และความรู้สึกดีๆ แก่คนอื่น เปรียบดั่งเส้นทางการเรียนรู้ที่มีจุดเช็คพอยต์ให้ทีมงานได้พัฒนาตัวเองไปทีละขั้นและค่อยๆ ค้นพบความเปลี่ยนแปลง

“กล้าแสดงออกมากขึ้น” เป็นทักษะแรกที่พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวว่าได้เรียนรู้เต็มๆ จากการที่ต้องไปซักถามความรู้จากผู้รู้ และนำฐานกิจกรรมภายในค่าย เล็กเล่าว่า

“เดิมหนูขี้อายมากและไม่ค่อยมั่นใจ เวลาต้องออกไปนำเสนอทีไร ไปไม่เป็นทุกที แต่พอมาทำโครงการ เราได้ฝึกการนำเสนอหลายครั้ง เริ่มชิน พูดได้ไม่เขินอาย และได้นำทักษะการวางแผนไปใช้กับการเรียนด้วย เช่น วางแผนนำเสนองานกลุ่ม แบ่งบทบาทหน้าที่กัน และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น”

ส่วนซารอเล่าว่า เธอมีจิตอาสามากขึ้น จากเมื่อก่อนเวลาทำงานกลุ่มจะทำแค่ตามหน้าที่ของตัวเองเสร็จก็จบ แต่ตอนนี้จะเมื่องานตัวเองเสร็จก็จะไปช่วยเพื่อนต่อ เพราะมองว่าเป็นงานของกลุ่ม หากงานเสร็จก็เป็นความสำเร็จร่วมกัน

สำหรับนัซรอ ความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายกับเธอมากที่สุดคือ ‘การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น’

“เมื่อก่อนเรายึดความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่เห็นด้วยก็พูดออกมาเลยว่า ‘ทำไมไม่ทำแบบที่เราคิด’ งานกลุ่มก็คืองานเดี่ยว ถ้าคิดจะทำแบบไหนก็ทำเองคนเดียว แต่พอปรับวิธีคิด รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนมากขึ้น หนูพบว่างานดีขึ้น เพราะพอเราฟังก็นำความคิดของเขามาปรับกับของเราได้ ลองนำวิธีการทำงานแบบนี้ไปใช้ในโรงเรียน ด้วยการแบ่งหน้าที่กับเพื่อนเวลาทำงานกลุ่ม ไม่ยึดความคิดของตัวเองค่ะ”

แม้จะเป็นประธานกลุ่มเยาวชนของชุมชน และรับหน้าที่ประธานโครงการนี้ด้วย แต่กีรีนกลับบอกว่าที่ผ่านมาเขายังไม่สามารถเป็นผู้นำของคนอื่นได้ดีพอ เพราะไม่กล้าพูด แต่พอมาทำโครงการเหมือนกับสถานการณ์ทั้งหมดบังคับให้เขาต้องพูด จนก้าวข้ามความกลัวไปได้

“เคยเป็นคนไม่กล้าพูดเลย ไม่กล้าถือไมค์ ถ้ามีคาบที่ครูให้นำเสนอก็จะโดดเรียนหรือไม่ก็ให้เพื่อนนำเสนอแทน แต่ตอนไปเสนอโครงการครั้งแรก โดนน้องๆ และพี่เลี้ยงให้ออกไปนำเสนอ เลยรวบรวมความกล้าบอกตัวเองว่า เราเป็นประธาน ต้องพูด อย่ายอม ต้องทำให้ได้ เพราะถ้าเราทำไม่ได้ น้องๆ คนอื่นก็คงไม่มั่นใจเหมือนกัน ตอนแรกยาก เสียงสั่น พูดติดขัดเพราะเราท่องจำมา พี่โจ้ (กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล) แนะนำว่าเวลาพูดต้องสบตาคนฟังและคณะกรรมการ หลังจากนำเสนอ การพูดของผมดีขึ้น กล้าพูดมากขึ้น เพราะเมื่อผ่านครั้งแรกไปได้ ทำให้ครั้งต่อไปมั่นใจขึ้นครับ” กีรีนเล่า

อีก 2 ทักษะที่กีรีนได้เรียนรู้ คือ ‘การจัดการ’ ที่เขาสามารถหาและจัดสรรกำลังคนในการทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอพี่เลี้ยงบอก และ ‘ความรับผิดชอบ’

“ความรับผิดชอบเรื่องเวลาสำคัญมากครับ เราเป็นผู้นำต้องไม่ให้คนอื่นรอ เมื่อก่อนถ้าเขานัดเรา 9 โมง เราตื่น 9 โมงเลย ไปสายอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เดี๋ยวนี้ต้องไปก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมครับ”

กว่าจะทำมาจนเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ทีมงานสารภาพว่าพวกเขาต่างคนก็ต่างท้อ จนอยากเลิกหลายครั้ง แต่สิ่งที่รั้งพวกเขาไว้คือ ‘เพื่อนร่วมทีม’ และ ‘พี่เลี้ยง’ กีรีนเป็นตัวแทนกลุ่มเล่าเรื่องราวว่า

“ช่วงที่เฟลมากคือ ตอนแรกที่ชวนเพื่อนมาทำโครงการ หลายคนรับปากแล้วแต่สุดท้ายไม่มา เราเสียใจ แต่เพื่อนในทีมก็ช่วยให้กำลังใจกัน บอกกันว่าพวกเราโตแล้ว รับงานมาก็ต้องทำให้ดีที่สุด สู้ให้ถึงที่สุด พอผ่านมาได้ก็มานั่งคิดว่าถ้าตอนนั้นเราเลิกไปก่อนอาจเสียใจไปตลอดว่าทำไมไม่ทำต่อ เพราะสุดท้ายเราทำได้ แม้จะไม่ได้เหมือนกลุ่มอื่น แต่ก็ดีที่สุดเท่าที่กำลังของพวกเรามีครับ” กีรีนเล่า

ขณะที่นัซรอเสริมว่า “อีกอย่างคือมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนด้วย พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาตลอด ผู้ใหญ่ในชุมชนหลายคนก็มาช่วยงาน เราคงทำได้ไม่ถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีพวกเขาคอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และให้กำลังใจ” ก๊ะบ๊ะ เล่าเทคนิคการดูแลทีมงานเยาวชนของทีมพี่เลี้ยงว่า ช่วงแรกจะทำให้กลุ่มเยาวชนดู เพราะพวกเขายังไม่รู้งาน ยังไม่มั่นใจ เมื่อรู้งานแล้ว พี่เลี้ยงจะปล่อยให้เยาวชนลองทำ เวลาติดขัดอะไรค่อยมาปรึกษา เพื่อฝึกการคิด การทำ และความรับผิดชอบ

ด้าน บังดีน-ตายุดดีน สืบเหม พี่เลี้ยงอีกคน เล่าว่า “เวลาจะช่วยน้องๆ หาทางออก พวกเราจะเน้นตั้งคำถามเป็นหลักเพื่อให้เขามองเห็นทางออกด้วยตัวเอง ถ้าจำเป็นต้องช่วยจริงๆ มักต้องเป็นเรื่องยาก เช่น การประสานงานกับวิทยากรที่เป็นผู้อาวุโส”

ทีมพี่เลี้ยงกล่าวถึงความตั้งใจที่พวกเขาทุ่มเทให้ทำงานกับเด็กๆ เพราะอยากเห็นคนรุ่นต่อไปขึ้นมาช่วยรับผิดชอบชุมชนเรื่องทรัพยากร และถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไปเหมือนดั่งที่คนรุ่นพวกเขา และคนรุ่นก่อนพยายามทำเรื่อยมา

ก๊ะบ๊ะบอกว่า อยากให้เยาวชนพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และกลับมาพัฒนาชุมชน เสียสละความสุขส่วนตัวคนละนิดหน่อย เพื่อความสุขของชุมชน เหมือนคนรุ่นก่อนที่ช่วยกันทำให้ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ดังเช่นวันนี้

ดูเหมือนกิจกรรมสุดท้ายของทีมงานก็กำลังค่อยๆ เริ่มสืบทอดเจตนารมณ์ของผู้ใหญ่ เพราะพวกเขาจะถอดบทเรียนความรู้ตลอดการทำโครงการออกมาเป็นหนังสือนิทานเกี่ยวกับป่าชายเลน ซึ่งตอนนี้ทำเสร็จไปแล้วเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับปู่ที่ชวนหลานลงสำรวจป่าชายเลน โดยมีหลานเป็นคนซักถาม และมีคุณปู่เป็นคนอธิบาย

“แนวคิดการทำนิทานมาจากตัวพวกเราที่อยากรู้ว่าในป่าเลนมีอะไรบ้าง จึงไปถามจากผู้ใหญ่ โดยจะนำไปเผยแพร่ให้น้องๆ ในโรงเรียนประถมได้เรียนรู้เรื่องป่าเลนมากขึ้นครับ” กีรีนเล่า

นอกจากนั้นทีมงานยังอยากทำแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่คนทั่วไปด้วย ความรู้ทั้งหมดที่ได้จากการทำโครงการนี้จึงกำลังกลายเป็น ‘ความรู้ที่ถูกส่งต่ออย่างไม่มีวันสิ้นสุด’

“เราอยากถ่ายทอดให้น้องๆ รู้ว่า เมื่อก่อนป่าเลนบ้านเราที่ไม่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างไร แล้วพี่ๆ ผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันดูแลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์จนมีชื่อเสียงได้อย่างไร ไม่อยากให้สิ่งที่พี่ๆ ทำมาดีกว่า 10 ปีมาล่มที่เรา อยากให้คนมาสานต่อจากพวกเราไปอีกเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น” กีรีนฝากความหวังเอาไว้

Tags:

active citizenproject based learningเข้าป่าสิ่งแวดล้อมสตูล

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Voice of New Gen
    สวนกง…เพราะหาดคือชีวิต

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Creative learningCharacter building
    เดินเท้าแกะรอยเมล็ดพันธุ์ เพื่อพบ ‘มะตาด’ ต้นสุดท้ายในบ้านควน

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Creative learningCharacter building
    ปันจักสีลัตแห่งบ้านทุ่ง จังหวัดสตูล กระบวนเรียนรู้ที่มาจากสถานการณ์จริง

    เรื่องและภาพ potential-test-user

  • Creative learningCharacter building
    ‘ขยะวิทยา’ ตลอดชีวิต ของเด็กๆ คลองโต๊ะเหล็ม จังหวัดสตูล

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Character building
    “อย่าสอนให้รู้ แต่จงสอนให้คิด” ห้องเรียนชีวิตเด็กน้ำท่อม

    เรื่องและภาพ The Potential

การเรียนรู้ด้วยตัวเอง: อิสระ ไม่ต้องสอบ ให้ผลลัพธ์ชี้วัดตัวเอง โรงเรียนไม่ใช่เงื่อนไข
Learning Theory
23 May 2019

การเรียนรู้ด้วยตัวเอง: อิสระ ไม่ต้องสอบ ให้ผลลัพธ์ชี้วัดตัวเอง โรงเรียนไม่ใช่เงื่อนไข

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • การเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ต่างจากการฝึกซ้อมกีฬา ยิ่งซ้อมมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองมากเท่านั้น เป็นการฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น สร้างจุดแข็งให้แข็งแรงและซ่อมเสริมจุดอ่อน ทั้งร่างกายและจิตใจ 
  • มีความพร้อม-มีเป้าหมาย- มีส่วนร่วม-ประเมินผลด้วยตัวเองได้ 4 กุญแจสำคัญช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และยั่งยืน
  • คำว่า ‘ไม่’ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ปิดกั้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้ผู้เรียนขาดความกล้าและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความพยายามและความมุ่งมั่น ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าพูดถึง ‘การเรียนรู้ด้วยตัวเอง’ (self-directed learning) ขึ้นมาแบบลอยๆ เราคงจินตนาการไม่ออกว่า การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นแบบไหน แต่ถ้ายกตัวอย่าง การฝึกฝนของนักกีฬาหรือนักดนตรี น่าจะทำให้เห็นภาพการเรียนรู้ด้วยตัวเองชัดมากขึ้น

การเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ต่างจากการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ สำหรับนักกีฬา พวกเขาต้องฝึกซ้อมอย่างหนักก่อนการแข่งขัน ยิ่งซ้อมมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองมากเท่านั้น 

การฝึกซ้อมจึงไม่ใช่การพัฒนาฝีมือไปต่อสู้กับผู้อื่นอย่างที่เห็นจากภายนอก แต่เป็นการฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น สร้างจุดแข็งให้แข็งแรงและซ่อมเสริมจุดอ่อน ทั้งร่างกายและจิตใจ แล้วเมื่อตัวเองมีความพร้อม การลงสนามแข่งจึงไม่ใช่เรื่องน่าหวาดกลัว แต่กลับเป็นความท้าทาย

การซ้อมไม่เคยจบเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง ไม่ว่าผลจะออกมาแพ้หรือชนะ ไม่ว่าจะมีโค้ชหรือไม่มี ผลลัพธ์ในสนามแต่ละครั้งเป็นตัวชี้วัดให้นักกีฬาแต่ละคนรู้ว่าพวกเขาควรพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไรอีก 

นักดนตรี นักร้องเองก็ไม่ต่างกัน สำหรับนักดนตรี พวกเขาอาจมีบางท่อนที่เล่นไม่ได้ นักร้องหลายคนมีโน้ตที่ร้องไปไม่ถึง พวกเขาอาจได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ แต่สุดท้ายการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง จากความพยายามของตัวเองเท่านั้นที่จะช่วยพัฒนาทักษะฝีมือของพวกเขาก่อนเผยแพร่ผลงานสู่สายตาผู้ชมและผู้ฟัง 

ตัวอย่างที่ว่ามา ตอกย้ำประโยคคุ้นหูที่ว่า “การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าไม่หยุดพัฒนาตัวเอง”

การเรียนรู้ด้วยตัวเอง (self-directed learning) มีประโยชน์อย่างไร?

บิล เกตส์ (Bill Gates) มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) และ เอลเลน ดีเจนเนอรีส (Ellen DeGeneres) เมื่อเอ่ยถึงบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ชื่อพวกเขาปรากฏขึ้นมาเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ เราจะไม่โฟกัสตรงการตัดสินใจลาออกจากการเรียนในมหาวิทยาลัยของพวกเขา แต่ปัจจัยความสำเร็จสำคัญที่พวกเขามีเหมือนกัน คือ ‘การเรียนรู้ด้วยตัวเอง’

การเรียนรู้ด้วยตัวเองช่วยให้เราเพิ่มพูนทักษะความรู้ใหม่ๆ ตามความชอบและความสนใจได้อย่างอิสระ ไม่ต้องถามเรื่องความสำเร็จ เพราะความสำเร็จเกิดขึ้นได้แน่นอนหากผู้เรียนเรียนรู้ที่จะกำกับตัวเอง

ในเมื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ทำไมต้องไปโรงเรียน?

แม้มีการศึกษายืนยันอย่างชัดเจนว่า ทุกคนสามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ แต่นักการศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยทางสมอง ก็มีความเห็นตรงกันว่า 

“มันไม่ใช่เรื่องง่าย”

การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่จะเป็นเรื่องน่ายินดีมากหากเด็กและเยาวชนหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น เพราะอย่างที่บอกว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นการเรียนรู้ที่เป็นอิสระ และสร้างความสุขสนุกสนานได้มากกว่าการรอให้พ่อแม่หรือครูป้อนข้อมูลเข้าสมอง การไปหรือไม่ไปโรงเรียนจึงไม่ใช่เงื่อนไข 

การศึกษาโดย มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา (University of Waterloo, Canada) ได้ค้นพบกุญแจ 4 ดอกสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ยั่งยืนเฉพาะตัวบุคคล

  • กุญแจดอกที่หนึ่ง ความพร้อมที่จะเรียนรู้ (Being Ready to Learn/ Assess Readiness to Learn)

แต่ละคนมีทักษะและทัศนคติต่อการเรียนรู้ไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การประเมินความพร้อมในการเรียนรู้ของตัวเอง ส่วนจะถูกต้องแม่นยำแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า เรายอมรับความจริงและซื่อสัตย์กับตัวเองมากน้อยแค่ไหน ลองถามตัวเองด้วยชุดคำถามต่อไปนี้…

รู้สึกอย่างไรกับการเรียน?

ผลการเรียนตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

รู้สึกอย่างไรกับการบ้าน? ทำการบ้านส่งทุกครั้งหรือเปล่า?

ถ้าไม่ใช่การเรียนในห้องเรียน ชอบทำอะไร?

ที่บ้านมีคนช่วยสอนการบ้านไหม? พ่อแม่มีส่วนช่วยเรื่องการเรียนอย่างไรบ้าง?

ชอบไปโรงเรียนไหม เพราะอะไร? ถ้าไม่ชอบ เพราะอะไร? ฯลฯ

คำตอบที่ได้จากคำถามข้างต้นทั้งหมด จะชี้ให้เห็นทัศนคติส่วนตัวที่มีต่อการเรียน ความมีวินัยในตัวเอง ความสามารถในการจัดการตัวเอง เช่น การแบ่งเวลาเรียนแบ่งเวลาเล่น ทักษะด้านการสื่อสาร ความสามารถในการรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการประเมินและสะท้อนตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ

  • กุญแจดอกที่สอง มีเป้าหมายในการเรียนรู้ (Setting Learning Goals)

เป้าหมายที่ว่าไม่ใช่แค่เป้าหมายเฉพาะตัวบุคคล สำหรับการเรียนในห้องเรียน ครูและนักเรียนจะต้องสื่อสารและทำความเข้าใจร่วมกัน 

ครูจะต้องบอกนักเรียนได้ว่าการเรียนการสอนแต่ละบทเรียนนั้น มีไปเพื่ออะไร นักเรียนจะได้ทำอะไรบ้าง แล้วผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมอย่างไร เช่น มาช่วยเป็นวิทยากร หรือช่วยเตรียมอุปกรณ์ให้ลูก 

เกณฑ์การประเมินผลวัดจากอะไร ใครเป็นผู้ประเมินบ้าง เช่น ครูเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ หรือให้โอกาสผู้ปกครองมีส่วนร่วมประเมินผลนักเรียนด้วย เป็นต้น 

ส่วนเมื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ผู้ปกครองช่วยวางแผนการเรียนรู้ได้จากการพาลูกๆ ทำกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต

  • กุญแจดอกที่สาม มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ (Engaging in the Learning Process)

นอกจากเช็คพื้นฐานความพร้อมแล้ว การเรียนรู้ด้วยตัวเองเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนเข้าใจความต้องการของตัวเอง เด็กๆ ต้องรู้ใจตัวเองว่า อยากเรียนรู้เรื่องอะไร ถ้าไม่ชอบเรียนในห้องเรียน แล้วชอบเรียนแบบไหน การรู้จักตัวเองนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโรงเรียนและผู้ปกครอง เปิดพื้นที่ให้เด็กได้ลองคิดลองทำกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลายนอกเหนือจากการท่องจำในตำรา 

ผู้ปกครองสามารถช่วยลูกค้นหาคำตอบด้วยคำถามต่อไปนี้…

ลูกชอบครูคนไหนมากที่สุด? เพราะอะไร?

ทำไมลูกถึงชอบครูคนนี้ วิธีที่ครูสอนต่างจากครูคนอื่นอย่างไร? ฯลฯ

ในเชิงวิชาการวิธีการเรียนรู้มีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่ การเรียนรู้แบบลุ่มลึก (deep approach) การเรียนรู้แบบผิวเผิน (surface approach) และการเรียนรู้แบบกลยุทธ์ (strategic approach)

การเรียนรู้แบบกลยุทธ์ การเรียนรู้แบบนี้เป็นลักษณะเดียวกับการติวเพื่อให้ทำข้อสอบได้ เพื่อให้ได้คะแนนสูงที่สุด เป็นการเรียนรู้จากการทำข้อสอบ และการท่องจำชุดความรู้เพื่อนำไปใช้ตอบคำถาม แต่ไม่ได้ฝึกกระบวนการคิด

การเรียนรู้แบบผิวเผิน เป็นการเรียนในกรอบเพื่อตอบโจทย์ผลสัมฤทธิ์ แตกต่างกับแบบแรกอยู่เล็กน้อยตรงที่องค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จะมีสเกลกว้างกว่าตามบทเรียนหรือหัวข้อหลักของแต่ละหน่วยการสอน แต่ก็ยังหนีการท่องจำไม่พ้น

การเรียนรู้แบบลุ่มลึก ต่อยอดการเรียนรู้แบบผิวเผิน เป็นการปรับใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้เข้ากับสถานการณ์ในชีวิตจริง มีความสนใจหรือตั้งคำถามต่อยอดจากความรู้ที่มีอยู่เดิม 

การเรียนรู้อย่างอิสระด้วยตัวเองจะต้องใช้การเรียนรู้แบบลุ่มลึก เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อมต่อตัวเองกับการเรียนรู้และเป็นแรงจูงใจในการศึกษาค้นคว้าต่อจากสิ่งที่สนใจ 

หลายครั้งนำมาสู่การทดลอง ลงมือทำ ซึ่งอาจได้ผลลัพธ์ตามที่คาดไว้หรืออาจล้มเหลว กำลังใจจากครอบครัว และครูผู้สอน จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เป็นการเสริมแรงไม่ให้พวกเขาย่อท้อหรือล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน ด้วยเหตุนี้ ‘ความอดทนและพยายาม’จึงเป็นคุณลักษณะที่ผู้เรียนต้องมี

  • กุญแจดอกที่สี่ ประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ (Evaluating Learning)

อย่างที่ยกตัวอย่างนักกีฬา นักดนตรี และนักร้อง ไปแล้วในตอนต้น การประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา แล้วยอมรับข้อผิดพลาด ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างตรงจุด 

ลองทบทวนตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้

รู้ได้อย่างไรว่าตัวเองได้เรียนรู้แล้ว วัดจากอะไร?

สถานการณ์ไหนบ้างที่คิดว่าตัวเองได้นำความรู้ที่มีไปปรับใช้?

มีความมั่นใจขนาดไหนก่อน ระหว่าง และหลังลงมือทำ?

คิดว่าความรู้ที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือยังสำหรับเรื่องที่ตัวเองสนใจ? 

ถ้ายังไม่พอ คิดว่าต้องหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องไหนอีก? ฯลฯ

คำถามที่สำคัญอีกข้อหนึ่งที่ผู้เรียนจะต้องประเมินตัวเองให้ได้ คือ เราเรียนรู้แบบไหน?

ยกตัวอย่างเช่น เรียนรู้จากการอ่านได้ดี อ่านครั้งเดียวก็จำได้, เรียนรู้จากการฟังได้ดีกว่า อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าหัว, เรียนรู้จากการจด เช่น อ่านแล้วสรุปบันทึก หรือฟังแล้วสรุปสาระสำคัญ หรือเรียนรู้จากการถ่ายทอดสิ่งที่รู้ให้คนอื่นฟัง (การพูด) เพราะบางคนตกผลึกความรู้ได้ดีขึ้นเมื่อได้บอกเล่าสิ่งที่รู้หรือได้เรียนรู้แก่ผู้อื่น 

กระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคนสามารถเกิดขึ้นได้จากการผนวกการเรียนรู้แบบต่างๆ เข้าด้วยกันไม่จำกัดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง

กุญแจทั้ง 4 ดอกแห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยการทำซ้ำจนกลายเป็นนิสัย ซึ่งจะติดตัวผู้เรียนไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ บทบาทของผู้ปกครองที่ลืมไม่ได้เลย คือ การทำให้ลูกอุ่นใจว่าผู้ปกครองพร้อมรับฟัง ให้คำปรึกษาและเป็นทีมเดียวกันกับพวกเขาเสมอ รวมทั้งช่วยกระตุ้นและสร้างโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ เช่น การพาลูกออกไปทำกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ในวันหยุด เพื่อทำความรู้จักกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งยังเป็นการสร้างการเรียนรู้ด้านการเข้าสังคมและการทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ

ติดอาวุธสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เมื่อรู้จักตัวเองดีพอแล้วว่าสนใจศึกษาเรื่องอะไร ชอบสิ่งไหนเป็นพิเศษ กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองจะเกิดขึ้นได้โดยไม่สะดุด หากมีทักษะการเรียนรู้ (learning skills) ต่อไปนี้

ทักษะชีวิต (life skills) ยกตัวเช่น การจัดการเวลา ผู้เรียนควรเรียนรู้วิธีแบ่งเวลาส่วนตัว เวลาในการเข้าสังคม และเวลาทำงานร่วมกับผู้อื่น ให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของตัวเอง

ความเป็นอิสระ (independence) การสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง มีความเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ การกล้าตัดสินใจและพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการทำกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ตนเองได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์

ทักษะพื้นฐาน (basic skills) พัฒนาความสามารถทั่วไปที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้และการทำงานด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ตนเองสนใจ เช่น การอ่าน การคิดเลข การใช้คอมพิวเตอร์ การทำงานกราฟิก หรือการทำเอกสาร เป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ 

ทักษะการเรียนรู้ (study skills) การเตรียมวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การบันทึก และสรุปใจความสำคัญในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านั้น

การเรียนรู้เพื่อจะเรียนรู้ (learning to learn) ผู้เรียนต้องมีใจเปิดรับการเรียนรู้ ไม่มีอคติต่อการเปิดรับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลใหม่ๆ และหมั่นค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ

ทักษะการวางแผน (planning skills) ความสามารถในการออกแบบและวางแผนการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ทักษะการวิเคราะห์ (analytical skills) ความสามารถในการเลือกและใช้ข้อมูลอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญและความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ 

ทักษะการสื่อสาร (communication skills) ความสามารถในการเขียนและเรียบเรียงข้อมูลรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์กับการเรียนรู้ของตัวเอง 

ทักษะการประเมิน (evaluation skills) ความสามารถในการประเมินตนเองอย่างซื่อสัตย์ ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง และยอมรับคำแนะนำจากผู้อื่นได้

ความมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ (completion skills) ความมุ่งมั่นพยายาม ความอดทน รวมทั้งความมีวินัย ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ และการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้อย่างเต็มความสามารถ ความสำเร็จไม่ได้วัดจากคะแนนหรือคำชื่นชม แต่เกิดจากบทเรียน ประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างลงมือทำงาน

หลีกให้ไกลจากคำว่า ‘ไม่’

จากการศึกษาพบว่า มีชุดความคิด 3 รูปแบบที่เป็นอุปสรรคปิดกั้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้เด็กหลายคนไม่สนุกกับการเรียนรู้ บางคนถึงขนาดไม่อยากเรียนไม่อยากรู้ แล้วเมินหน้าหนีไปเลยก็มี ได้แก่ 

หนึ่ง แรงจูงใจ (motivation) : ฉัน ‘ไม่’ มีแรงจูงใจในตัวเองมากพอ

สอง ความสามารถ (ability) : ฉัน ‘ไม่’ มีความสามารถ หรือ ‘ไม่’ เก่งพอ

สาม การเลือกนิยามตัวเอง (type) : ฉัน ‘ไม่’ ใช่คนประเภทที่จะทำอะไรได้

คำว่า ‘ไม่’ ทั้ง 3 รูปแบบนี้ ทำให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นไปได้ยาก เพราะจะทำให้ผู้เรียนขาดความกล้าและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่มีความพยายามและความมุ่งมั่น ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้ด้วยตัวเองเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีแก้ไม่ยาก ลองพูดกับตัวเองด้วยประโยคที่ปราศจากคำว่า ‘ไม่’ หน้ากระจก วิธีการนี้เป็นวิธีคิดแบบ Growth Mindset(กรอบความคิดแบบเติบโต ที่มีความเชื่อว่าทุกคนพัฒนาความสามารถของสมองในการเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะเมื่อถูกปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก) 

อย่างไรก็ตาม หากชุดความคิดนี้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน บุคคลที่ควรพิจารณาตัวเองก่อนเป็นลำดับแรก คือ ผู้ปกครองและครู

พ่อแม่ทำให้ลูกเกิดความคิดและรู้สึกแบบนี้หรือเปล่า?

การเรียนการสอนในห้องเรียนทำให้เด็กมองตัวเองแบบนี้ไหม?

ถ้าใช่ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้อย่างมีอิสระ เพื่อพัฒนาความกล้าและความมั่นใจ เพื่อเติมเต็มความมุ่งมั่นและความพยายาม แล้วสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้

อ้างอิง:

wabisabilearning.com

wabisabilearning.com

uwaterloo.ca

bigthink.com

Tags:

21st Century skillsการเรียนรู้ด้วยตัวเอง(self-directed learning)คาแรกเตอร์(character building)

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Creative learningCharacter building
    OR HEALTH: ชุดปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีอินทรีย์ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์ผู้จากไปด้วยโรคมะเร็ง

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Social Issues
    ล้าหลัง เชื่องช้า แต่อย่าเฉยชา ความหวังที่ยังไม่หมดของระบบการศึกษา

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Grit
    S.M.A.R.T GOAL ตั้งเป้าหมายให้ชัด ใกล้ ใช่ และจริง – ไม่ล้มเหลวแน่นอน

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Family Psychology
    เลี้ยงลูกด้วยจุดแข็ง อย่าเสียเวลาไปกับข้อผิดพลาด นี่แหละพ่อแม่สายสตรอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • 21st Century skills
    เป็นเด็กยิ่งต้อง ‘เถียง’ และเถียงอย่างสร้างสรรค์เพื่อเข้าใจตัวเองและคนอื่น

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel