“เด็กเล็กๆ จริตของเขา เขาชอบเล่น อยากรู้ อยากลอง เด็กวัยนี้มีพลังมาก …เขากำลังเรียนรู้โลกผ่านเซนส์ทั้งหมด ไม่ว่าจะภาษา ท่าทางหรือจะสัมผัส กอดแบบนี้ จับแบบนี้ มันหมายความว่ายังไง นี่คือการอ่าน จริงๆ แล้วเด็กอ่านโลก แต่เราไปบังคับให้เขาอ่านตัวหนังสือ เพื่อจะไปอ่านโลกอีกที จริงๆ เซนส์การอ่านโลกมาก่อน” คุยกับ ครูก้า – กรองทอง บุญประคอง ถึงเรื่องการจัดการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย ผ่านกระบวนการเล่น ดนตรี และศิลปะ ที่เชื่อมโยงไปสู่ทักษะด้านภาษา การอ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉานในวัยที่โตขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทักษะที่เด็กไทยขาด ‘นิทาน’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ครูก้ามองว่าความสำคัญและได้ผลดีในการสร้างการเรียนรู้ในเด็กวัยนี้ โดยเน้นให้เด็กได้อ่านแล้วเชื่อมโยงกับตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจในการอยากเขียน พร้อมกับมีคำถามปลายเปิดแทรกเข้าไปด้วย
“ต้องทำให้เด็กรักที่จะอ่านก่อนที่จะอ่านได้ รักที่จะเขียนก่อนที่จะเขียนได้”
คำพูดของหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ปรมาจารย์ด้านปฐมวัยของประเทศไทย ที่ ครูก้า – กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และคุณครูผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) ยึดมั่นเป็นฐานในการสร้างรากที่แข็งแรงด้านการอ่าน เขียนของเด็กไทย
“หลักของเรื่องการอ่านการเขียน จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่อ่านเขียนแต่กับทุกเรื่อง ให้เด็กเขารักที่จะอ่านก่อนที่จะอ่านได้ รักที่จะเขียนก่อนที่จะเขียนได้ นั่นหมายความว่าให้เขาอ่านด้วยตัวเองแล้วเขาก็รู้สึกว่าเขาอ่านได้ แล้วมันสนุกที่จะอ่าน”
ในบทความนี้ The Potential ชวน ‘ครูก้า’ พูดคุยถึงเรื่องการจัดการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย ผ่านกระบวนการเล่น ดนตรี และศิลปะ ที่เชื่อมโยงไปสู่ทักษะด้านภาษา การอ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉานในวัยที่โตขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในทักษะที่เด็กไทยขาด
หลักคิดการจัดการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติและพัฒนาการเด็ก
ในการจัดการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ครูก้าเล่าว่า ต้องเริ่มต้นจาก ‘การรู้เป้าหมาย’ เสียก่อน ว่าเราในฐานะครูจะใช้เวลาแห่งการเติบโตของเด็กๆ อย่างไรให้มีคุณค่าและมีความหมายกับชีวิตของเด็กคนหนึ่งมากที่สุด ที่สำคัญในการออกแบบการเรียนรู้นั้นต้องสอดคล้องกับธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กด้วย
“เราไม่ได้มีเป้าหมายว่าเอาแค่อ่านออกเขียนได้ หรือเข้าป.1 ที่ไหนได้ ซึ่งมันเป็นการใช้เวลาแห่งการเติบโตที่น่าเสียดายมากถ้าเราโฟกัสแค่ส่วนนี้
เพราะว่าเด็กโตขึ้นไปแล้วจะเป็นคนยังไงก็วัยนี้ ช่วงวัยนี้จึงเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของชีวิต เป็นช่วงรากฐานเลย ถ้าทางสมองก็คือ EF จะเจริญงอกงามเติบโตได้ดีที่สุด ประมาณ 0-8 ปี นั่นหมายความว่า เกิดมาก็มีเป็นแสนล้านเซลล์แล้ว แต่แสนล้านเซลล์มันจะงอกงามไหม มันจะแข็งแรงไหม หรือมันจะฝ่อไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เด็กจะได้รับ”
ครูก้าเล่าต่อว่า ที่โรงเรียนจิตตเมตต์มองว่า “เราต้องรับผิดชอบต่อการเติบโตของเด็ก ว่าเติบโตไปแล้วเขามีรากฐานที่แข็งแรงไหม ถ้าฐานแข็งแรงแล้วจะต่อยอดยังไงก็ได้ ฉะนั้นการออกแบบจึงต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กด้วย ไม่ว่าจะธรรมชาติของสมอง ธรรมชาติของการเติบโต และวิถีแห่งการเรียนรู้อันเป็นธรรมชาติของเด็ก ซึ่งเราก็อาจจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่าการเรียนรู้สำหรับเด็กวัยนี้ก็คือ ‘การเล่น’ เราเรียกว่าการเล่น แต่จริงๆ แล้วคือวิถีแห่งการเรียนรู้ของเด็ก”
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการสร้างฐานรากที่แข็งแรงให้กับเด็กคนหนึ่ง ครูก้าอธิบายว่า ปัจจัยสำคัญมี 3 ด้านด้วยกันคือ Self (พัฒนาการตัวตน), ทักษะสมอง EF (Executive Functions) และพัฒนาการ 4 ด้าน
“มันเริ่มตั้งแต่เซลฟ์ของเด็กที่จะก่อตัวขึ้นมาว่า เอ๊ะ…เขาเป็นใคร เพราะฉะนั้นพัฒนาการด้านตัวตนสำคัญมาก ถ้าตัวตนเขาแข็งแรง เขารู้ว่าเขามีตัวตน มีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าโลกใบนี้มันปลอดภัยพอที่เขาจะเอาสิ่งที่มีติดตัวมาออกมาใช้ได้ ถ้าเขากลัว ไม่มั่นใจ รู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย เขาก็จะไม่ใช้ พอไม่ใช้เซลล์สมองส่วนหน้าไม่ได้ถูกใช้ไปด้วย ทำให้ไม่กล้าคิด ไม่กล้าถาม ไม่กล้าทำ
นั่นหมายความว่ากระบวนการคิด ทักษะในการทำงาน การแก้ปัญหา เขาไม่เคยใช้เลยมันก็จะค่อยๆ ฝ่อไป ซึ่งในกระบวนการทางระบบประสาทวิทยาเขาเรียกว่ากระบวนการ pruning ก็คือตัดแต่งกิ่ง กิ่งก้านสาขาของเซลล์ไหนที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็ตัดทิ้งไป ถามว่ามันจะใช้ยังไง ก็มีประสบการณ์บางอย่างเข้ามากระตุ้นมาออกกำลังคล้ายๆ กล้ามเนื้อของมนุษย์นั่นแหละถ้าได้ออกกำลังบ่อยๆ มันก็แข็งแรง เพราะฉะนั้นวัยเด็กรากฐานที่สำคัญแรกเซลฟ์ต้องแข็งแรง”
“อันที่สองต้องให้ทักษะสมอง EF เขามีโอกาสได้ใช้ แล้วก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างหลากหลายกันไป ฉะนั้นถ้าเซลฟ์เขาดีเขาก็จะเอาความเป็นตัวตนเขาออกมาใช้งานในรูปแบบของเขา เช่นการทำงานศิลปะ งานทุกชิ้นทำไปด้วยกันด้วยเงื่อนไขเดียวกันแต่ออกมาไม่เหมือนกัน เพราะว่าเขากล้าที่จะเป็นตัวเอง เขาคิดอะไรเขาถ่ายทอดสื่อสารได้ออกมาเป็นงานศิลปะ”
“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพัฒนาการ 4 ด้าน จริงๆ มันก็คือพัฒนาการโดยทั่วไปที่เรียกว่าพัฒนาการ 4 ด้าน มันจะถูกออกมาใช้เอง แต่ว่าเจ้าตัวสั่งการคือสมอง อย่างเช่นเขาจะวิ่งจะกระโดด เขาจะกะระยะแล้วกระโดด มันคือการใช้กายผสานกับใจแล้วตัวที่จะประเมินผลหรือสั่งการคือสมอง
มนุษย์ต้องมองแบบองค์รวม อย่าไปมองเป้าหมายเป็นหย่อมๆ ตามความกังวลเป็นกระแสเป็นระยะๆ อย่างเช่น กังวลว่าเด็กจะอ่านไม่ออก กังวลว่าเด็กจะเขียนไม่ได้ กังวลว่าภาษาอังกฤษจะไม่ได้ พวกนี้จริงๆ แล้วถ้าใจพร้อมสมองพร้อมทำได้ทุกอย่าง ถ้าเขาไม่ได้เกิดความพิการทางกายภาพ ไม่ว่าจะพิการทางสมอง พิการทางร่างกาย พิการทางร่างกายยังไม่ค่อยมีอุปสรรคถ้าคนใจสู้ เราจะเห็นว่าคนที่พิการหลายคนกลับลุกขึ้นมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนไม่พิการด้วยซ้ำ เพราะสมองและหัวใจเขาแข็งแรงพอ”
ให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ เคลื่อนไหวไปกับเสียงดนตรี และขีดเขียนสิ่งที่คิดผ่านศิลปะ
สำหรับกระบวนการเรียนรู้ที่ครูก้านำมาใช้กับเด็กๆ คือ การเล่น ดนตรี และศิลปะ อย่างสมวัย
“เด็กเล็กๆ จริตของเขา เขาชอบเล่น อยากรู้ อยากลอง เด็กวัยนี้มีพลังมาก เด็กเล็กๆ ที่เขายังไม่ได้เข้าโรงเรียน ยังพูดไม่ได้เลย แค่กำลังคลาน เขาก็กำลังเรียนรู้นะ เขาเรียนรู้หมดเลยเห็นหน้าแม่แบบนี้ วันนี้อ้อนไม่สำเร็จดูสีหน้าก็รู้ ไปหาพ่อหน้าพ่อมาแบบนี้ไปหายายดีกว่า เด็กเขากำลังเรียนรู้โลกผ่านเซนส์ทั้งหมด ไม่ว่าจะภาษา ท่าทางหรือจะสัมผัส กอดแบบนี้ จับแบบนี้ มันหมายความว่ายังไง นี่คือการอ่าน
จริงๆ แล้วเด็กอ่านโลก แต่เราไปบังคับให้เขาอ่านตัวหนังสือ เพื่อจะไปอ่านโลกอีกที จริงๆ เซนส์การอ่านโลกมาก่อน”
ครูก้ามองว่า ‘การเล่นอย่างอิสระ’ ของเด็กก็คือการที่ให้โอกาสเด็กได้สร้างโจทย์ให้ตัวเอง เป็นเจ้าของโปรเจกต์ตั้งแต่เล็กๆ
“นึกถึงเราตอนเด็กๆ ออกไหม ถ้าวันเสาร์อาทิตย์แล้วไม่ต้องไปเรียนพิเศษเราจะตื่นเช้าเลย วันนี้จะเล่นอะไร จะทำอะไร จะเอาอะไรมาสมมติเป็นอะไร เราจะชวนใครมาเล่น วันนั้นเราเป็นเจ้าของโปรเจกต์ แต่ถ้าสมมติว่าตื่นเช้ามาแม่บอกวันนี้ไปเรียนบัลเล่ต์ เสร็จแล้วแม่พาไปกินข้าว แล้วเดี๋ยวไปต่อด้วยเรียนเปียโน นี่แม่ไม่ได้ให้เขาเรียนอะไรเคร่งเครียดเลยนะ แต่แม่กำลังแย่งโอกาสความสามารถในการบริหารจัดการตัวเองของเด็กไป เพราะเขาไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องคิดแค่ทำตาม พอโตขึ้นก็ไม่แปลกใจ ทำไมโตขึ้นแล้วแกไม่คิดอะไรเองบ้าง ก็ตอนเด็กๆ ไม่เคยได้คิด ไม่เคยได้ตัดสินใจ ไม่มีโอกาสได้เลือก เพราะฉะนั้นการเล่น ได้ทั้งโอกาสการเลือก การคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา เรื่องการเล่นจึงสำคัญ”
ในส่วนของ ‘ดนตรี’ ในช่วงปฐมวัย ครูก้าบอกว่า ไม่ใช่การเรียนดนตรีที่ฝึกให้เด็กเป็นนักดนตรี แต่เป็นการใช้เสียงดนตรีในการเคลื่อนไหวและควบคุมร่างกายของตัวเอง ซึ่งมองว่ามันคือธรรมชาติของเด็ก
“ที่นี่ใช้ดนตรีตามแนวคิดออร์ฟ แล้วครูก้าก็เป็นนายกสมาคมไทย ออร์ฟ ชูลแวร์ค (Thai ORFF Schulwerk Association) ด้วย ซึ่งเป็นการใช้ดนตรีเพื่อพัฒนามนุษย์ เรามองว่าเด็กเล็กๆ ยังพูดไม่ได้ ยังยืนด้วยตัวเองไม่ได้เราจับเขาไว้ พอเสียงเพลงมาเราจะเห็นการขยับตัว นี่คือธรรมชาติที่เขาตอบสนองผ่านเซนส์ที่เขาได้ยินเสียง มันเกิดการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะที่สอดคล้องกับดนตรี นี่คือความชอบอันเป็นธรรมชาติของเด็กอยู่แล้ว ไม่มีใครไม่ชอบเสียงดนตรี เพียงแต่ว่าจะชอบแนวไหนก็ว่ากันอีกที มันคือภาษาที่กำลังสื่อสารกัน”
“เราไม่ได้เรียนดนตรีแบบต้องเล่นอย่างนี้ๆ หรือต้องเต้นแบบนี้ๆ แต่เราเอามาเป็นโอกาสให้เขาดีไซน์ท่าของเขาเอง แต่ขณะเดียวกันเขาควบคุมตัวเองได้ด้วย เช่น เพลงหยุดปั๊บ หยุดนิ่งเลยนะ ฟรีซเลยนะ นี่ก็คือฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ยับยั้งตัวเองให้ได้ ก็เข้าไปตอบสนองตัว EF ตัวนึงละ คือความสามารถในการหยุดยั้งคิดไตร่ตรองให้ดี แล้วท่าของเขาไม่มีผิดมีถูก แล้วคนยอมรับด้วย เซลฟ์เขาจะเติมเต็ม มีความมั่นใจ ซึ่งบางครั้งเราก็ผลัดให้เป็นผู้นำผู้ตาม เขาได้เป็นผู้นำบ้าง แล้วเพื่อนก็เต้นตามเขา แล้วพอเพื่อนนำเขาก็ยืดหยุ่นนะที่จะไม่ยึดตัวเองเป็นหลัก นี่ก็ EF อีก เพราะฉะนั้นกิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวแบบนี้มันเข้าไปเสริมทั้งเซลฟ์ ทั้ง EF”
มาที่ ‘ศิลปะ’ เช่นเดียวกันคือภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ครูก้าบอกว่า ที่นี่เรื่องการอ่านการเขียน เด็กๆ จะเขียนอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเขียนเพื่อบอกเล่าความรู้สึก เขียนเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่คิด โดยใช้กระบวนการศิลปะเป็นตัวนำทาง
“เราจะให้คำถามปลายเปิด สมมติว่าเด็กๆ มีความสุขที่จะทำอะไรบ้าง เด็กอาจจะตอบด้วยคำพูดก็ได้ หรือบางทีถ้าให้เขาไตร่ตรองอยู่กับตัวเขา เขานั่งวาดรูป เขาอาจจะวาดรูปไม่เหมือนเลย อย่างน้องเล็กอ.1 เขาวาดเป็นแค่วงๆ เส้นๆ แต่เขาเล่าได้ว่าเจ้าวงอันใหญ่เนี่ยคือพ่อเขา วงอันเล็กแล้วมีขาลงมานิดนึงอันนี้คุณแม่ แล้วตัวอันเล็กๆ อันนี้ตัวเขา เขามีความสุขที่อยู่บ้านกับคุณพ่อคุณแม่ เขาก็เล่าได้ เขาสามารถถ่ายทอดสื่อสารออกมาผ่านการเขียนที่ถนัดที่สุดคือวาดรูป เดี๋ยวพอมือเขาแข็งแรงขึ้นมากๆ แล้วพอเขาพร้อม เดี๋ยวเขาอยากจะเขียนตัวหนังสือเอง
ที่นี่เราไม่เคยให้คัดตามรอยเส้นประ ไม่เคยสอนสะกดคำ แต่สิ่งแรกที่เขารู้จักความหมายคือชื่อเขาเอง พวกล็อกเกอร์ ที่วางรองเท้า เราติดชื่อเขาไปเลย ไม่ต้องติดรูปสัญลักษณ์อะไร เขาก็จะรู้ว่านี่คือชื่อเขามันมีความหมาย เขาวางรองเท้าถูกที่ เอาของเก็บล็อกเกอร์ถูกที่ อย่างงานศิลปะเขาก็จะเซ็นชื่อตัวเองลงไปด้วย อ่านออกอ่านไม่ออกไม่เป็นไร แต่เขากำลังพยายามเขียนชื่อตัวเองอยู่ นี่คือการเขียนที่มีความสุข แต่ถ้าคัดตามรอยเส้นประมันคือการเขียนที่ผ่านความเครียด เราจะเลือกอะไร ให้เขาเขียนผ่านความสุข หรือเขียนผ่านความเครียด ถ้าเริ่มต้นแบบนี้เด็กจะรักการเขียน”
ฝึกอ่านฝึกเขียน และเล่าเรื่องราวผ่านหนังสือนิทาน
อีกสิ่งหนึ่งที่ครูก้ามองว่าความสำคัญและได้ผลดีในการสร้างการเรียนรู้ในเด็กวัยนี้คือ ‘นิทาน’ โดยเน้นให้เด็กได้อ่านแล้วเชื่อมโยงกับตัวเอง พร้อมกับมีคำถามปลายเปิดแทรกเข้าไปด้วย
“นิทานสำคัญมาก ครูอนุบาลจะใช้กับเด็กอยู่แล้ว แต่เราต้องรู้จักวิธีใช้ สิ่งแรกคือต้องเข้าใจ ภาษาอังกฤษเรียกนิทานว่า Picture Book เพราะเด็กอ่านภาพ เราเข้าใจว่าการอ่านคืออ่านตัวหนังสือ ตรงนั้นก็คืออ่านว่าใครเขียนมาให้เราเพื่อจะรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ซึ่งถามว่ามีความหมายไหม มีความหมายต่อตอนโตขึ้นไป เอาไว้เรียนรู้ค้นคว้าหาข้อมูล
แต่การอ่านที่มีความหมายของเขาในวัยนี้คือ เขากำลังอ่านแล้วคาดเดาความน่าจะเป็น อ่านแล้วเชื่อมโยงกับตัวเอง
แล้วเวลาเล่านิทานบางทีเราก็จะมีคำถามปลายเปิดกันอยู่เรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น นิทานเรื่อง ‘ฉันมีความสุข’ หรือ ‘ฉันรู้สึกโกรธ’ อ่านไปแล้ว เอ…เด็กๆ เคยโกรธไหม เพราะเรื่องพวกนี้คือธรรมชาติมนุษย์ รัก โลภ โกรธ หลง เป็นเรื่องธรรมดา การมีความสุขก็เป็นธรรมดา การมีความเศร้าก็ธรรมดา ฉะนั้นเราให้เขาเจอความจริงแล้วเราก็เปิดคำถาม
เด็กๆ เคยโกรธไหมลูก ครูก็เคย อ้าวแล้วเด็กๆ โกรธเพราะอะไรบ้าง เขาก็จะรู้ว่า อ๋อ…แบบนี้เรียกอารมณ์โกรธ มีที่มาของความโกรธ แล้วใครมีวิธีที่ทำให้หายโกรธยังไง ถ้าเราถามแบบนี้เด็กก็จะได้คลังของวิธีเหมือนซ้อมหนีไฟ ความโกรธมันเหมือนไฟนะ เพื่อนมีวิธีนี้ เรามีวิธีนั้น คนนั้นมีวิธีนั้น มีวิธีเลือกให้จัดการกับอารมณ์โกรธตั้งเยอะแยะ”
“เราต้องให้เด็กได้มีโอกาสอ่าน อ่านด้วยตัวเองด้วย ที่นี่เด็กๆ บางคนตัวเล็กๆ เนี่ย นั่งเปิดอ่านสารานุกรมเฉยเลย ก็เห็นรูปแล้วก็อยากรู้ แล้วนั่งคิดของเขาไปเรื่อยๆ ถ้าเขาอยากรู้เขาจะมาหาครูเอง ครูอ่านให้หน่อยอันนี้มันอะไร เขาก็จะรู้ วันนึงเขาก็อยากอ่านเป็น นี่คือการทำให้เด็กอยากอ่าน”
สำหรับตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างทักษะพื้นฐานอย่างการอ่าน การเขียนนั้น ครูก้ายกตัวอย่างกิจกรรมของพี่ๆ อ.3 ที่คุณครูพาทำกิจกรรมจากหนังสือนิทานเรื่อง ‘What’s inside มีอะไรอยู่ข้างใน’
“คุณครูก็ปล่อยโจทย์ว่า ถ้าเด็กๆ มีกระเป๋าสักใบ จะรูปร่างหน้าตายังไง แล้วเด็กๆ คิดว่าจะเอาอะไรใส่ในกระเป๋าบ้าง เขาก็คิดกันใหญ่เลย เดินทางไปต่างประเทศ ไปเดินป่า ไปสวนน้ำ เหตุผลในการเขียนเกิดจากการที่อยากบอกว่า ฉันเอามาใส่ในกระเป๋าเพื่ออะไร เช่น คนนี้จะไปต่างประเทศ เขารู้ด้วยว่าต้องมีพาสปอร์ต เขาก็วาดพาสปอร์ต เสร็จแล้วเขาก็บอกครูว่าเขาอยากเขียนคำว่าพาสปอร์ต ครูก็ถามว่าอยากเขียนเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เราไม่ได้จำกัด ครูก็เขียนให้เขาดู แล้วเขาก็เขียนตาม นี่คือการเขียนในสิ่งที่มีความหมายกับเขา ที่เขาอยากบอก อยากสื่อสาร
กิจกรรมนี้ 45 นาที แล้วถ้าเด็กทำไม่เสร็จ ฟังนิทาน ดีไซน์กระเป๋าคิดว่าของอะไรอยู่ในกระเป๋าบ้าง แล้วก็มานั่งเขียน แล้วอยากวาดรูปเยอะมาก อยากเอาของไปเยอะๆ พอคุณครูบอกว่าเดี๋ยวเวลาจะหมดแล้ว เขานัดครูเลย บอกเดี๋ยวตอนเย็นเขามาเขียนได้ไหม นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น เด็กกระตือรือร้นตามงานเอง”
ในการเขียนสำหรับวัยนี้ครูก้าจะเน้นให้เด็กเขียนในสิ่งที่อยากเขียน และเข้าใจในความหมายของคำๆ นั้น โดยไม่จำเป็นต้องมาเริ่มจากการนั่งท่องพยัญชนะให้ครบทั้ง 44 ตัว สระและวรรณยุกต์
“จริงๆ จะบอกก็ได้ แต่ว่าอย่าไปให้เด็กรู้สึกว่า โห…เขาอยากเขียนแล้วมันสะดุด ต้องมารู้จักก่อนนะ ว่านี่คือ ก.ไก่ นะลูก แล้วนี่คือไม้หันอากาศนะ อันนี้ น.หนู นะ เคยเจอเวลาทำเวิร์กชอป ครูคะทำไมลูกประหลาดหรือเปล่า ใครบอกว่าเด็กชอบอ่านนิทาน แต่เขาไม่ชอบฟังนิทานเลยค่ะ ก็เลยถามว่าคุณแม่เล่ายังไง ก็เล่าไปชี้ไปสะกดไป นึกออกไหมอรรถรสมันหายไปหมดแล้ว มันไม่เห็นสนุกเลย เด็กไม่ได้อยากรู้ว่านี่คือตัวอะไร แต่เขาอยากรู้ว่ารูปเป็นยังไง ฉะนั้นเราต้องรู้ว่าธรรมชาติของเขา อะไรจะดึงดูดให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือ กับการอยากหยิบเพิ่มเติม จากไปร้านหนังสือแล้วได้เลือก เขาอยากรู้จริงๆ เรื่องนี้ข้างในเป็นไง แล้วก็ชอบอยากไปอ่านซ้ำอีก”
“ที่นี่เด็กแค่อ.1 อ่านชื่อเพื่อนได้ทั้งห้องแล้ว คือลักษณะการอ่านเราเข้าใจว่าต้องจากจุดเล็กๆ ต้องรู้จัก ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก ถึงจะเอาไปผสมคำได้ โอ้โห…กว่าจะถึง อย่างคำว่า ‘แม่’ เนี่ย เขียนเหมือนกันนะ ทั้งอ่านทั้งเขียน อย่างเช่นวันที่เขาอยากทำการ์ดให้แม่ จะเขียนคำว่าแม่สักคำ ถ้าเป็นการสอนแบบ หลักสูตรปกติของเรา ยังลูก มาเขียน ก.ไก่ เขียนพยัญชนะก่อน ข.ไข่ กว่าจะถึงวันนั้นได้ ม.ม้า มาตัวเดียว ม.ม้า แล้วยังไม่ได้นะ หนูต้องไปให้ถึง ฮ.นกฮูก ก่อน แล้วถึงขึ้นสระอะ อา อึ อือ เอะ เอ แล้วก็ต้องไปวรรณยุกต์อีก เด็กหมดอารมณ์แล้ว ไม่อยากเขียน
แต่ถ้าเขาอยากเขียนว่า ‘รักแม่’ เขียนเลยลูก ครูเขียนให้ดู เขาจำคำนั้นได้เลย เราต้องเชื่อว่าเด็กเป็นนักเรียนรู้ เขาจะพยายามถอดรหัส อย่างบางคนชื่อคล้ายๆ กัน อุ๊ย! คล้ายกันเลย ส่วนมากเขาก็จะรู้ตัวอักษรที่เป็นชื่อของเขา”
“เด็กๆ อยากเขียนก็เอาพู่กันมาจุ่มน้ำแล้วเขียนถนนก็ได้ เขียนอะไรก็ได้ นี่คือในที่สุดเขารู้ทิศทางของเส้น การคอนโทรลมือ อ๋อ…มือเนี่ยใช้ความคิดและใช้หัวใจได้ อย่างอยากเขียนหัวใจก็พยายามบังคับจนกระทั่งทำได้บ่อยๆ จนคล่องไม่ต้องมีเส้นประ นี่คือเกิดจากพลังภายในทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นพลังจึงสำคัญแต่เราต้องเชื่อด้วย”
ห้องเรียนคละชั้น จำลองบทบาทการเป็นพี่คนโต พี่คนกลาง น้องคนเล็ก
ที่โรงเรียนจิตตเมตต์ ในหนึ่งวันเด็กๆ เรียนอะไรบ้าง? ครูก้าอธิบายให้เห็นภาพว่า ตารางกิจกรรมในหนึ่งวันที่เด็กๆ ต้องทำนั้น เริ่มต้นจาก…
“แค่จะเข้าโรงเรียนเขาจะผ่านฐานเล็กๆ ของ SI ก็คือ Sensory Integration ก็คือบูรณาการแต่ละสัมผัส เล่าแบบย่อว่าคือกระบวนการที่ให้เขาใช้ระบบประสาทสัมผัสหลายๆ อย่างรวมกัน รับรู้ แล้วมันจะส่งข้อมูลไปที่สมอง เพื่อให้จัดระเบียบร่างกาย เพื่อให้ผ่านตรงนั้นไปได้ พอเข้าไปในบริเวณโรงเรียน ถ้าใครมาเช้าเขาก็จะเข้าไปเก็บข้าวแล้วก็ออกมาเล่นอิสระ พอถึงเวลาเขาได้ยินเสียงเขาจะมายืนตรงกลางลานเขียว มายืนล้อมเป็นวงกลม เราจะไม่ได้ให้เข้าแถว เพราะว่าครูก็นึกไม่ออกว่าเราจะมองคอคนข้างหน้าไปทำไม เช้าๆ เรามาทักทายยิ้มแย้มแจ่มใสให้กัน เพราะว่าเป้าหมายของกิจกรรมยามเช้าเราอยากให้เด็กเบิกบานยามเช้า”
“จากนั้นเขาก็จะปีนป่าย เดิน เล่น อะไรต่ออะไรไป เพราะพื้นที่ข้างในตั้งใจให้เป็น Sensory Integration โดยธรรมชาติอยู่แล้ว ก็คือพื้นมีผิวสัมผัสอะไรหลายๆ อย่างให้เขาได้สัมผัส มีการทรงตัว”
ซึ่งครูก้าบอกว่า กิจวัตรเหล่านี้ต้องมั่นคง หลังจากนั้นก็มาอ่านปฏิทิน เพื่อเป็นการบอกนัยๆ ว่าวันนี้เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ อะไรบ้าง
“เราจะมีปฏิทินอันใหญ่ๆ เลย แล้วบอกว่าเช้าวันนี้เดี๋ยวหลังจากที่เราทานอาหารว่างเสร็จแล้ว เราจะไปห้องดนตรีกันนะ ไปห้องดนตรีเสร็จเราก็จะไปเล่นบ่อทรายกัน จากนั้นเราไปล้างมือล้างเท้า รับประทานอาหารกลางวัน”
“จริงๆ คุณครูก็มีวางอยู่แล้วว่าในหนึ่งวันเนี่ยจะต้องมีกิจกรรมอะไร แล้วแต่ครูเขาจะดีไซน์ แต่จะมีเล่นดนตรีอาทิตย์ละหน หมายถึงว่าเข้าห้องดนตรีแล้วเจอครูดนตรีนะ แต่จริงๆ แล้ว ดนตรีและการเคลื่อนไหวในห้องทำทุกวัน ศิลปะก็เหมือนกันอาทิตย์ละครั้งที่เข้าห้องศิลปะแล้วเจอครูศิลปะ แต่ในห้องก็มีมุมศิลปะทำได้ทุกวัน แล้วก็การอ่านนิทานจะมีทั้งช่วงเช้า หรือว่าช่วงก่อนเด็กนอน หรือบางทีพอตื่นจากนอนแล้วเรามารวมตัวกันฟังนิทาน
แต่ว่าที่นี่ก็จะมีครูที่ทำหน้าที่ไปเล่านิทานตามห้องต่างๆ คือทั้งหมดเนี่ยไม่ว่าจะครูดนตรี ครูศิลปะ หรือครูที่ทำหน้าที่เล่านิทาน จะเป็นหัวเชื่อมให้ครูในห้องเรียนรู้ไปด้วย อ๋อ…ศิลปะทำอย่างนี้ได้ เดี๋ยวเอาไปทำซ้ำในห้อง อ๋อ…ดนตรีทำอย่างนี้ได้ นิทานเล่าแบบนี้แล้วสนุก ถามแบบนี้ได้ด้วย เพราะฉะนั้นในหนึ่งอาทิตย์เราก็จะมีกิจกรรมพิเศษแทรกในทุกวัน”
ห้องเรียนของที่นี่แบ่งเป็นบ้าน 6 หลัง และในแต่ละบ้านประกอบไปด้วยเด็ก 3 วัย ได้แก่ น้องเล็กอ.1 พี่กลางอ.2 และพี่โตอ.3 คละชั้นกัน ซึ่งครูก้ามองว่าข้อดีของห้องเรียนคละชั้้นจะทำให้เด็กได้ฝึกการอยู่ร่วมกันในหลายช่วงวัย ได้เป็นทั้งพี่คนโตของบ้านที่ต้องดูแลน้อง ได้เป็นพี่คนกลางที่ได้รับการดูแลจากพี่และดูแลน้องคนเล็กต่อ
“เราจะเห็นว่าจุดดีก็คือนอกจากเด็กได้ทดลองอยู่ในบทบาทความเป็นน้อง ความเป็นพี่คนกลาง มีพี่ด้วยที่เป็นแรงบันดาลใจ อยากเป็นเก่งแบบพี่ อยากเป็นคนดูแลน้องด้วย เพราะฉะนั้นคนกลางเนี่ยกลับกลายเป็นเรื่องดี แต่จริงๆ ดีหมด คนพี่เขาก็จะรู้สึกว่าพราวมากเลย ฉันเป็นคนที่ศักยภาพเต็มเหนี่ยวกว่าน้องๆ นะ แถมบ่ายไม่ต้องนอน ได้เล่นเต็มที่ น้องเล็กก็มีแรงบันดาลใจ แล้วยังมีพี่ๆ ดูแล
ซึ่งตั้งแต่คละอายุมามันพาให้เด็กไปถึงเป้าหมายเหล่านี้ เป้าหมายคือชื่อโรงเรียน อยากให้เป็นเด็กที่มีจิตใจที่เมตตา เห็นความอ่อนโยนมากขึ้น เห็นเมตตามากขึ้น แล้วจริงๆ มนุษย์ทุกคนมี เพียงแต่ว่ามีโอกาส มีประสบการณ์ให้เขาเอาออกมาใช้ไหม”
สิ่งที่คาดหวังคือ เด็กรู้สึกดีต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และเห็นคุณค่าของธรรมชาติ
สำหรับเป้าหมายหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังจากการจัดการการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่น ดนตรี และศิลปะ ครูก้ามองว่า สิ่งสำคัญที่อยากให้เด็กๆ ได้รับ อย่างแรกคือ เด็กรู้สึกดีต่อตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง อย่างที่สองเด็กรู้สึกดีกับการอยู่กับผู้อื่น เห็นคุณค่าผู้อื่น เห็นความแตกต่างบนโลกเป็นเรื่องปกติธรรมดา และอย่างที่สามเห็นคุณค่าของธรรมชาติ
หลังจากที่ทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้เด็กมีความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านพัฒนาการและจิตใจ
“ยกตัวอย่างง่ายมากเลย ถ้ามองออกไปนอกห้องที่สนามหญ้าจะเห็นบาร์เหลืองที่เป็นบันไดโค้งๆ ขนาดแค่เล่นปีนเนี่ย ถ้าเราหวังดี อ่านเพจหมอประเสิรฐบอกว่าเด็กปีนมากแล้ว EF จะแข็งแรง เราก็ไปบังคับเด็ก ปีนเลยลูกๆ ไม่เห็นน่ากลัวเลย ใครๆ เขาก็ปีนได้ นั่นดูสิพี่เขาปีนไปถึงข้างบนแล้ว ปีนเลยไม่ต้องกลัว แต่เขายังไม่เคยปีน เขาต้องดูตาม้าตาเรือก่อน เขาต้องประเมินก่อน ไหวไม่ไหว ฉะนั้นถ้าเราให้เด็กเป็นคนจับจังหวะตัวเองไม่ต้องพูด แค่พาเขามาดู มีแรงบันดาลใจแน่นอน อยากปีนบ้าง ถ้าเขาจะปีนเมื่อไหร่รอให้เขาปีน แล้วไม่ต้องบอกด้วย ‘จับให้แน่น’ เพราะธรรมชาติเขาจะจับแน่น
มนุษย์เราจริงๆ ฉลาดแต่เด็กแต่เล็กเลย เขาจะประเมินตัวเองได้ว่าไหวไม่ไหว แค่ไหนพอ วันนี้เขาตั้งเป้าไว้ 2 ขั้น แต่เขาจะไม่หยุดแค่ 2 ขั้นตลอดไป ไม่ต้องไปบอกเขาว่าไปตรงกลางเลยลูก ถ้าเราบอกว่าไม่เห็นยากเลยใครๆ ก็ทำได้ปั๊บ แล้วเราเป็นคนประหลาดหรอ เราไม่ใช่คนธรรมดาสิ เพราะเราทำไม่ได้ คนธรรมดาใครๆ ก็ทำได้ แล้วฉันทำไม่ได้ เซลฟ์เสียเลยจริงไหม ก็ใจมันยังสั่น ทักษะมันคือต้องได้สะสม ได้ทำบ่อย แล้วเดี๋ยวเด็กจะท้าทายตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ในที่สุด”
เพราะฉะนั้นบทบาทของครู โดยเฉพาะในวัยนี้คือการเป็น ‘ผู้เฝ้าสังเกตการณ์’ คอยดูแลความปลอดภัย และต้องพยายามหักห้ามใจตัวเองที่จะไปชี้แนะเด็กว่าต้องทำอะไร
“ครูต้องเชื่อว่าเขาประเมินตัวเองได้ แล้วถ้าเขามั่นใจเมื่อไหร่ เขาจะกล้าไปมากขึ้นด้วยตัวเอง และเมื่อนั้นมันคือบทเรียนกับชีวิตเขา เราจะเริ่มต้นอะไรตอนโตสักอย่าง เราจะกล้า อย่างน้อยๆ กล้าก้าวแรก แต่มีหลายคนไม่กล้าก้าว กลัวผิดหวัง กลัวล้มเหลว เพราะว่าไม่เคยมีประสบการณ์ที่บอกว่าผ่านได้”
อย่างไรก็ตามในที่สุดเด็กๆ ที่นี่ก็ต้องโบยบินไปสู่โลกภายนอก เรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษา และเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอสังคมที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น แต่ครูก้าก็ไม่มีความกังวลในเรื่องนี้อยู่เลย
“ลูกศิษย์ครูก้าทำให้ครูก้าไม่กังวล ผ่านมา 20 กว่าปี ไม่ต้องกังวลเลย คนที่กังวลส่วนมากเป็นพ่อแม่ เด็กเขาไม่ได้กังวลเลยถ้าพ่อแม่ไม่กังวล แต่ถ้าพ่อแม่กังวลแล้วกดดันเขาจะกังวล เด็กครูก้าออกไปเขาก็ไปโดดเด่นนะไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน คือหมายความว่า เขากล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ แล้วการบ้านนี่เป็นของวิเศษที่ที่นี่ไม่เคยให้เขาแต่เขาอยากได้ เพราะมีความรู้สึกว่าถึงเวลาโตแล้ว ยิ่งเห็นคนพี่ที่โตกว่าในบ้านเขานั่งทำการบ้าน อยากทำการบ้านแบบพี่บ้าง แต่เด็กที่ถูกเข้มงวดมาตั้งแรก ไม่อยากได้ แล้วพลังในการเรียนรู้ พลังการทำงานกลุ่ม พลังการที่อยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรยังอยู่ลึกมาก
มันอาจจะมีช่วงนึงที่เขาอาจจะรู้สึกว่า ทำไมเพื่อนเขียนเร็ว เขายังเขียนช้า แต่ถ้าฐานใจเขาแน่น มันจะกลายเป็นเรื่องท้าทาย ที่เขาอยากจะเขียนให้ได้เร็ว เมื่อก่อนเปิดโรงเรียนใหม่ๆ ครูก้าบอกว่า 2-3 ปี รับรองว่าตามทัน ตอนนี้ครึ่งปีทั้งอ่านทั้งเขียนเร็วปื๊ดเลย แล้วลายมือสวยด้วย พ่อแม่ก็สะท้อนกลับมาว่า มันมหัศจรรย์มากอยู่ๆ ลูกลุกขึ้นมาอ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ”
สุดท้ายครูก้าฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงคุณครูว่า พัฒนาการของเด็กเป็นลำดับขั้น ถ้าถามว่าจะซัพพอร์ตอย่างไร อยากให้สร้างบันไดที่พอเหมาะให้เขา
“ถ้าเราสร้างบันไดแล้วบอกว่าเธอต้องมานี่ เด็กจะรู้สึกว่ามันยาก แล้วในที่สุดเด็กอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งเหมือนเพื่อน เพราะฉะนั้นทำยังไงที่ให้ลบรอยเชื่อมต่อ เป็นสะพานขึ้นแบบเนียนๆ ไปเรื่อยๆ ให้เขายังคงเชื่อมั่นในตัวเอง ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ก็จะแซงปู๊ดขึ้นไปเลย
แต่ถ้าเราบอกว่าไม่ได้ มาถึงแล้วเธอต้องเขียนอ่านได้เลย เด็กก็จะสตันท์นิดนึง แต่ว่าถ้าพ่อแม่เป็นฐานใจที่ดี ให้กำลังใจ เดี๋ยวก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องคุยกับพ่อแม่ว่าให้เวลากับลูก ให้เวลากับเด็กด้วย”
และในฐานะครูปฐมวัยคนหนึ่ง ครูก้ามองว่า ครูปฐมวัยต้องเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจชีวิตของเด็ก และมีมายด์เซ็ตที่ให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้
“จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือครู หน้าที่คือหล่อเลี้ยงพลังการอยากเรียนอยากรู้เอาไว้ เราเองอาจจะเคยเจอประสบการณ์ในสมัยเป็นนักเรียน บางวิชา ถ้าเราไม่ชอบครูเราก็อาจจะได้คะแนนต่ำ ถ้าเราชอบครูเราอาจจะได้เต็ม นั่นคือพลังของเรา
คือเราได้เรียนรู้มาจากความเป็นธรรมชาติมนุษย์ว่าพลังนี้สำคัญมาก แล้วเด็กเล่นไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย เอาเรี่ยวแรงจากไหนมาเล่นทั้งวันกลางแดดเปรี้ยงๆ เล่นน้ำทะเล แม่เรียกกว่าจะขึ้น กว่าจะมากินข้าวได้ กว่าจะอาบน้ำแต่งตัวได้ไม่ง่ายนะ แล้วเราก็อยากให้เด็กมีพลังอยากเรียน อยากเล่นอย่างนี้”