Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: September 2024

ครูในฐานะผู้สร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็ก
Transformative learning
30 September 2024

ครูในฐานะผู้สร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็ก

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล

  • ครูแต่ละคนต่างมีชุดคุณค่าที่ยึดถือในการเป็นครูที่แตกต่างกัน ทางเลือกที่จะกระทำการหรือไม่กระทำบางอย่าง รวมถึงการตัดสินใจที่จะปกป้องหรือโอบกอดนักเรียนในบางเรื่องแตกต่างกัน บทความนี้สะท้อนคุณค่าและความหมายของการเป็นครูผ่านเรื่องราวของคุณแม่ผู้เขียน ที่ทำหน้าที่ครูมากว่า 37 ปี

“อีกไม่ถึงเดือน แม่ก็จะเกษียณแล้ว” แม่เอ่ยกับผม เมื่อเราเจอกันครั้งล่าสุดในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เอาจริงๆ สำหรับผม รู้สึกราวกับว่ามันเพิ่งผ่านมาไม่นาน แต่เมื่อนับปีปฏิทินเข้าจริงๆ แม่ทำงานมากว่า 30 ปีแล้ว และเส้นทางในอาชีพครูของแม่นั้นกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ ผมจึงอยากใช้พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ เขียนส่งท้ายถึงบางเรื่องราวการเป็นครูของแม่จากความทรงจำ

การเขียนถึงเรื่องราวการเป็นครูของแม่ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนตัวที่อยากจะบอกเล่า แต่เป็นความตั้งใจของผมที่จะสนทนากับผู้อ่านถึงคุณค่าและความหมายของการเป็นครู ทั้งนี้เพราะเราแต่ละคนต่างมีชุดคุณค่าที่ยึดถือในการเป็นครูที่แตกต่างกัน ทางเลือกที่จะกระทำการหรือไม่กระทำบางอย่างของเราจึงแตกต่างกัน การตัดสินใจที่จะปกป้องหรือโอบกอดนักเรียนของเราในบางเรื่อง รวมถึงสายตาที่เรามองเห็นนักเรียนของเราจึงมาจากแง่มุมที่แตกต่างกันด้วย แม่ของผมก็เช่นกัน เธอเป็นครูคนหนึ่งที่โอบกอดคุณค่าและความหมาย และเลือกที่จะกระทำบางอย่างต่อนักเรียนของเธอ ครูจึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กผ่านการใช้อำนาจและการตัดสินใจที่มีอยู่ ดังนั้นสำหรับผมแล้ว การเรียนรู้จากเรื่องราวของครูด้วยกันจึงเป็นทั้งโอกาสให้ได้กลับมาทบทวนถึงคุณค่าที่เรามีต่องานครูและนักเรียนของเรา และในขณะเดียวกันก็เปิดให้เห็นความเป็นได้ที่ครูจะสามารถสร้างความแตกต่างในชีวิตของคนคนหนึ่งได้อีกด้วย

ชีวิตการเป็นครูของแม่ เริ่มต้นในราวปี 2530 หลังจบการศึกษาจากราชภัฏครูจอมบึง ราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิด แม่สอบบรรจุเข้ารับราชการครูตามที่มุ่งหวัง และมาลงเอยที่โรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กแห่งหนึ่งในโคราช ก่อนที่จะแต่งงาน มีครอบครัว และลงหลักปักฐานที่นี้ ตลอด 30 กว่าปีแม่ไม่ได้ย้ายไปโรงเรียนไหนเลย ยังอยู่ที่โรงเรียนเดิมตลอดมา แม้จะต้องห่างจากถิ่นฐานบ้านเกิดก็ตาม

จะว่าไปแล้ว ผมแทบไม่ได้มีโอกาสได้เรียนกับแม่สักครั้ง และก็จินตนาการไม่ออกด้วยว่าหากได้เรียนกับแม่ในชั้นเรียนจะเป็นอย่างไร จะรู้สึกเกร็งๆ ระหว่างกันไหม นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผล ที่แม้ผมจะมีแม่เป็นครูในโรงเรียนเดียวกัน แต่หลังผมจบชั้น ป.2 แม่ก็ส่งผมไปเรียนโรงเรียนในตัวอำเภอจนจบชั้น ม.6

แม่เป็นครูอย่างไร แม่เป็นครูแบบไหน?

แม้จะไม่ได้เรียนกับแม่ แต่ความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ‘เรื่องราวการเป็นครูของแม่’ ที่ผมมักจะได้ฟังคำบอกเล่าจากตัวแม่เองอยู่เสมอ แทบทุกวันหลังแม่กลับจากโรงเรียน (ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กจนถึงตอนนี้) แม่มักจะเล่าเรื่องงานของแม่ให้ผมฟัง มีทั้งการบ่นระบาย ความอึดอัด ความท้าทาย ความสำเร็จ ปะปนกันไปตามชีวิตครูคนหนึ่งในรั้วโรงเรียน สำหรับผมการได้ยินเรื่องราวการเป็นครูของแม่ จึงไม่ใช่แค่การรับรู้และจดจำว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตการเป็นครูของแม่เท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นถึงความหมายและคุณค่าที่แม่มีต่อการเป็นครูด้วยเช่นกัน

ครั้งหนึ่ง แม่เล่าถึงเด็กหญิงกอไก่ (นามสมมติ) เด็กชั้นประถมฯ ที่มาโรงเรียนด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ สภาพมอซอ เธอถูกทิ้งไว้กับย่า หลังจากพ่อกับแม่แยกทางกัน แต่เมื่อใช้ชีวิตในโรงเรียนกอไก่มักจะแสดงอำนาจ ข่มขู่ให้เพื่อนๆ ของเธอเอาเงินมาให้ กอไก่จึงมักจะถูกมองจากคนอื่นด้วยสายตาที่เป็นลบ แต่สำหรับแม่ แทนที่จะลงโทษด้วยความรุนแรงเพื่อหวังให้เด็กหญิงคนนี้หยุดการกระทำ แม่กลับใช้วิธีการที่ง่ายที่สุดนั่นคือการพูดคุยกับกอไก่อย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดีอย่างไร และส่งผลต่อเพื่อนๆ อย่างไร เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และขอให้กอไก่สัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง พร้อมกับขอให้เพื่อนๆ ให้อภัยในสิ่งที่กอไก่เคยทำผิดพลาด หลังจากนั้นไม่นานกอไก่ก็เริ่มเปลี่ยนไป เธอหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้น เริ่มตั้งใจเรียน กระตือรือร้น จนแม่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเธอและกล่าวชื่นชมกอไก่เสมอ 

 แม่บอกว่า สิ่งสำคัญในการเป็นครู จริงแล้วๆ เราไม่ได้เพียงสอนหนังสือเท่านั้น แต่คือการสอนให้พวกเขาได้พัฒนาตนเองควบคู่ไปด้วย

อีกเรื่องที่แม่จำได้ดี คือเรื่องของเด็กหญิง ม.ต้น คนหนึ่งที่พ่อแม่แยกทางกัน เด็กกลายเป็นคนที่เก็บตัว โดยมีย่ากับญาติคนหนึ่งเป็นคนเลี้ยงดู แต่ต่อมาเด็กคนนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไป ไม่มาโรงเรียน  แม่จึงค่อยๆ สืบหา ไปคุยตำรวจ จนติดต่อกับเด็กได้ เด็กขอความช่วยเหลือ จนภายหลังมารู้ว่าเด็กถูกล่อลวงจากแฟนญาติให้ไปทำงานเด็กเสริฟในร้านอาหาร ในที่สุดเด็กก็ถูกส่งกลับมาบ้าน และได้เรียนต่อจนจบ ม.3 ในสุด ย่าของเด็กหญิงคนนี้บอกกับแม่ว่า “ถ้าไม่ได้ครู ก็คงไม่ได้หลานคืนกลับมา”  

จากทั้งสองเรื่องราว คงพูดได้ว่าแม่คือ ‘ครูที่สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของเด็กได้จริงๆ’  ผมเคยถามแม่ว่าทำไมแม่ถึงอยากมาเป็นครู แม่เล่าย้อนไป บอกว่าจริงๆ ตัวแม่เองซึมซับมาจากตาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยความที่ตาก็เป็นครู และเติบโตมาในครอบครัวที่ทวดมักจะชอบช่วยคนและช่วยสอน ทำให้ตาเองก็ได้สิ่งนี้ติดตัวจากทวดมาด้วยเช่นกัน ตามักจะสอนแม่จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ทุกอย่างถูกจับมาเป็นบทเรียนได้ เอาขนมที่ขายมาสอนเลข ทำแกง ก็จะไม่บอกว่าต้องใส่สัดส่วนเท่าไหร่ แต่จะให้ลองทำและใช้เป็นลูกมือมากกว่าจะเป็นการบังคับให้จำ  ตามักจะฝึกให้แม่คิดเสมอ เช่น หุงข้าว ทำไมมันแฉะ มันไหม้ เกิดจากอะไร ส่วนที่ได้รับมาจากตา สะท้อนผ่านการเป็น ‘ครูวิทยาศาสตร์’ ของแม่ที่มักจะให้เด็กๆ ได้ทดลองเพื่อทำความเข้าใจ มีคำถามให้เด็กได้คิด แม่มักจะบอกเสมอว่าเด็กต้องได้ลงมือทำ ลงมือคิด ถ้าจะให้มานั่งพูดหรือให้จดตามบนกระดาน เด็กก็คงจะไม่ได้ทักษะ 

อันที่จริงไม่ใช่เพียงแค่ความเป็นครูของตาที่หล่อหลอมวิธีคิดการเป็นครูของแม่เท่านั้น แต่ยังมาจากครูครั้งที่แม่ยังเป็นเด็กประถมฯ แม่ในฐานะนักเรียนสัมผัสได้ถึงการเอาใจใส่จากครู  ความใจดีที่ครูมีให้ และมักจะยืนเป็นนั่งร้านให้เด็กเรียนรู้จากความเข้าใจ ในบางครั้งครูท่านนี้มักจะมีสิ่งของหรือขนมมาแจกเป็นรางวัลพิเศษ นั่นทำให้แม่เริ่มรู้สึกได้ว่าชั้นเรียนที่มีความสุขและอยากเรียนมีหน้าตาอย่างไร แม่เชื่อว่า บางครั้งคนเราก็ไม่สามารถทำอะไรแบบที่คนอื่นคาดหวังได้ทุกครั้งไป เพราะเรามีความแตกต่าง ในฐานะครูการฟูมฟักเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาก็ไม่ควรตึงหรือหย่อนมากไปเช่นกัน เหล่านี้จึงกลายเป็นคติประจำใจที่แม่ยึดถือไว้นั่นคือ 

“อย่าคาดหวัง ว่าเราจะเปลี่ยนเขาได้ทั้งหมด เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ แต่จงตั้งความหวังว่าเราจะเปลี่ยนเขาได้เพียงบางอย่างหรือเพียงน้อยนิดก็ถือว่าเราได้เปลี่ยนเขาแล้ว”

ภาพการเป็นครูของแม่จึงค่อนข้างไม่ต่างจากตาที่ทั้ง ‘ดุ เข้มงวด และใจดี’  ในเวลาเดียวกัน คุณลักษณะที่ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้ในคนเดียว แต่กลับกลายเป็นส่วยผสมที่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ จนกลายเป็นครูมีพื้นที่ในใจเด็กเสมอมา เด็กหลายรุ่นมักจะเอ่ยเหมือนกันเสมอๆ ว่าถึงแม้แม่จะเป็นครูที่ดุแต่ก็อยากเรียนกับแม่ตลอด พวกเขาไม่โกรธเวลาแม่ดุพวกเขา และยังชอบให้แม่ทำแบบนี้ด้วย เพราะเขารู้ว่า แม่ยังมองเห็นเขาอยู่ เขายังมีตัวตน มีคุณค่าในสายตาของครู แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เด็กมัธยมฯ กลุ่มหนึ่งโดดเรียน พวกเขาคิดว่าจะถูกแม่ด่าตำหนิอย่างที่เคยเป็น แต่ผิดคาด แม่เลือกที่จะไม่คุยกับพวกเขา พวกเขาบอกแม่ว่า “หากครูจะโกรธไม่คุยแบบนี้ ให้ครูตีเสียดีกว่า” ดูเหมือนว่าการไม่ถูกมองเห็นจากครูนั้นแย่กว่าการถูกตีเสียอีก พวกเขารู้สึกผิดและเข้ามาขอโทษที่โดดเรียน พร้อมกับร้องไห้ แม่จึงโอบกอดแล้วถามถึงเหตุผลที่พวกเขาทำเช่นนั้น เด็กกลุ่มนี้บอกว่า พวกเขากลัวจะถูกตัดผม (ตามกฎระเบียบในเวลานั้น) เหตุการณ์นี้เป็นครั้งหนึ่งที่แม่ได้เรียนรู้ถึงความกลัวของเด็ก ที่ครูสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาบอกเล่าถึงมันได้

แม่บอกกับผมว่า ลึกๆ ลงไปมันคือความเชื่อที่ว่า “ทุกคนมีพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน แต่คนเป็นครูสามารถทำให้เท่าเทียมกันได้ เด็กทุกคนมีคุณค่า ทุกคนต้องการความรัก เราต้องเห็นคุณค่าเขา ให้ใจเขา เอาใจใส่ เห็นใจ แล้วในที่สุดเขาก็จะให้ใจเรากลับมา” ดังนั้น การดุเข้มงวดของแม่ มักจะมาพร้อมกับเหตุผล คำถาม และโอกาสให้เด็กได้อธิบายทุกครั้ง และไม่ว่าอย่างไร จะได้รับการโอบกอดเสมอๆ ในท้ายที่สุดเสมอ นั่นทำให้เวลาเด็กเกิดปัญหาอะไร พวกเขาจะกล้าเดินเข้ามาหา เข้ามาเล่า เพราะเขารู้สึกถึงการรับฟัง เอาใจใส่ และเป็นที่พึ่งพิงให้กับพวกเขาได้    

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แม่จดจำได้ไม่เคยลืม และยืนยันว่าสิ่งที่แม่ทำตลอดมานั้นมีคุณค่า คือการที่โรงเรียนต้องการเปิดการสอนแบบขยายโอกาสครั้งแรก แม่จึงถูกขอให้ไปสอนเด็กมัธยมต้นในเวลานั้นแทนที่การสอนเด็ก ป.6 ที่คุ้นเคย แม่ไม่อยากไป แม้ ผอ.จะขอร้องแล้วก็ตาม จนสุดท้ายเด็กๆ ที่อยากจะเรียนขยายโอกาสในโรงเรียนเดินมายืนประท้วงและร้องไห้หน้าห้องพักครู พวกเขาอยากให้แม่สอนพวกเขาในชั้นมัธยมต้นฯ ไม่เช่นนั้นจะไม่เรียนต่อที่โรงเรียนแห่งนี้ สุดท้าย แม่ยอมเลื่อนชั้นไปสอนพวกเขาด้วยความยินดี และรับรู้ได้ว่า ชีวิตการเป็นครูของแม่นั้นมีความหมายกับนักเรียน การทุ่มเทในบทบาทครูของแม่ยังมักจะได้รับการยืนยันเป็นคำขอบคุณจากเด็กๆ ที่จบไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่แวะเวียนมาหาในวันไหว้ครูทุกปี  

“37  ปี 4 เดือน” คือเวลาที่แม่ทุ่มเททำงานในฐานะ “ครูมืออาชีพ” ตามที่แม่นิยาม หลายคนเตรียมแสดงความยินดีที่แม่จะได้พักผ่อนหลังจากนี้ แต่แม่กลับรู้สึกต่างออกไป แม่ทิ้งทายไว้ว่า

“ตั้งแต่วันแรกที่เราเป็นครูจนถึงวันนี้ ยังรู้สึกอยากเป็นครูเหมือนเดิม ไม่เคยรู้สึกอยากเกษียณ ยังรู้สึกว่าตัวเองยังทำหน้าที่ได้ดี เหมือนเราเกิดมาเพื่อบทบาทนี้ อยากเป็นคนที่ช่วยเหลือคน พัฒนาความรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิต รู้สึกว่าหากไม่ทำต่อแล้ว คงเสียดายมากกว่า อยากทำหน้าที่นี้ของตนเองต่อไป”

Tags:

ครูโอกาสทางการศึกษาเด็กคุณค่าครูผู้ก่อการความเท่าเทียม (equality)

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Related Posts

  • Book
    โสกราตีสสลับขั้ว: มีเพียงการตระหนักว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลยเท่านั้นที่จะลดการตัดสินผู้อื่นลงได้

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 8. การหล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการ โดยดำเนินการที่ปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 7. ลัทธิบูชาผลงาน

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Everyone can be an Educator
    เรียนรู้นอกกรอบ กับอดีตครูนอกคอก: อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มลูกหว้า’ เยาวชนก่อการดีแห่งเมืองเพชร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ สิริเชษฐ์ พรมรอด

Zookeeper ‘หมูเด้ง’ ผู้ไม่เคยผ่านหลักสูตรเลี้ยงฮิปโป แต่เรียนรู้ทุกวันจากการสังเกต: เบนซ์-อรรถพล หนุนดี
Life classroomSocial Issue
28 September 2024

Zookeeper ‘หมูเด้ง’ ผู้ไม่เคยผ่านหลักสูตรเลี้ยงฮิปโป แต่เรียนรู้ทุกวันจากการสังเกต: เบนซ์-อรรถพล หนุนดี

เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • จบช่างไฟฟ้า อาชีพแรกๆ ในชีวิตคือก่อสร้าง ขับสิบล้อ ก่อนจะมาทำงานในสวนสัตว์ ฝึกฝนตัวเองและหาความรู้เพิ่มเติมจนได้รับตำแหน่ง Zookeeper แห่งสวนสัตว์เขาเขียว
  • งานแรกที่ เบนซ์-อรรถพล หนุนดี ได้รับมอบหมายคือการดูแลฮิปโปโปเตมัส ส่วนงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและภูมิใจ คือการปั้นลูกฮิปโปแคระ ‘หมูเด้ง’ จนโด่งดังไปทั่วโลก
  • สำหรับเบนซ์ หัวใจสำคัญของการเป็น Zookeeper นอกจากความรักสัตว์ที่ต้องมีเป็นพื้นฐานแล้ว คือความช่างสังเกตและไม่หยุดเรียนรู้ 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ช่วงนี้อาชีพ Zookeeper หรือผู้ดูแลสัตว์จะอยู่ในโฟกัสของใครต่อใคร เพราะหลังจากที่ลูกฮิปโปโปเตมัสแคระ ‘หมูเด้ง’ โด่งดังไปทั่วโลก เรื่องราวของ เบนซ์-อรรถพล หนุนดี ในฐานะพี่เลี้ยงหรือ ‘ป๋าดัน’ ผู้ส่งหมูเด้งขึ้นแท่นซุปเปอร์สตาร์ในโลกโซเชียล ก็อยู่ในสปอตไลท์ด้วย

ท่ามกลางแฟนคลับหมูเด้งที่มารอกันตั้งแต่เช้ามืด The Potential ชวนเบนซ์-อรรถพล พูดคุยถึงเส้นทางการเรียนรู้สู่อาชีพ Zookeeper ที่เขาว่า “ไม่ใช่แค่ดูแลสัตว์ แต่ต้องดูแลสวนสัตว์ด้วย” 

“ผมไม่ได้จบโดยตรงครับ เรียนจบช่างไฟฟ้า เทคโนฯ ชลบุรี ก่อนมาทำงานนี้ก็เคยทำงานพวกก่อสร้าง ขับรถสิบล้อส่งหินดินทราย แล้วก็มาเรียนต่อการจัดการผลิตสัตว์หลังจากที่ทำงานไปแล้วสักพักนึง ประมาณ 2 ปีได้มั้งครับ เพื่อที่จะบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งนี้”

เบนซ์เล่าว่าครั้งแรกที่เข้ามาทำงานยังไม่ได้ระบุตำแหน่ง แต่คงเป็นเพราะหน่วยก้านดีเลยได้ฝึกเลี้ยงฮิปโปโปเตมัส จากนั้นก็เรียนรู้จากรุ่นพี่และจากงานที่ทำจนเข้าใจธรรมชาติและลักษณะนิสัยของมัน ทำให้ทางสวนสัตว์เห็นถึงศักยภาพ

“การดูแลสัตว์ไม่มีที่ไหนสอนตรงๆ ต้องให้รุ่นพี่สอนเราครับ เพราะสัตว์บางชนิดก็จะมีแค่ในสวนสัตว์เท่านั้น เราก็มาฝึกเอาเรื่อยๆ แรกๆ ก็เบื่อครับ แต่พอตัวนั้นตัวนี้เริ่มมีลูก มันเหมือนเกิดมากับเรา ก็เริ่มผูกพัน เริ่มสนุก เหมือนเป็นลูกเราครับ”

แม้จะไม่เคยคิดฝันว่าจะมาทำหน้าที่นี้ แต่เมื่อเห็นลูกสัตว์ที่ตัวเองดูแลค่อยๆ เติบโต เขาก็เริ่มเห็นคุณค่าของงานและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเอง ปัจจุบันเบนซ์และทีมดูแลสัตว์กว่า  30 ตัว ซึ่งไม่ใช่แค่ฮิปโป แต่รวมถึงดาราของสวนสัตว์เขาเขียวอย่างคาปิบารา สล็อต และอีกหลายตัวที่เขาปลุกปั้นจนโด่งดังมาก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่มีตัวไหนดังเท่า ‘หมูเด้ง’ ลูกฮิปโปที่หลายคนหลงรักจากโซเชียลมีเดีย ‘ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง’ ซึ่งมียอดผู้ติดตามรวม 3 แอป กว่า 4 ล้าน

“มันเริ่มจากตัวแม่ของหมูเด้ง เราลงไปทำความสะอาดบ่อทุกวัน เฝ้าเขากินทุกวัน ไม่รู้จะทำอะไรผมก็เลยนั่งไลฟ์สด ก็ทำอย่างนั้นทุกวันครับ จนเขาน่าจะจำเสียงจำกลิ่นอะไรของผมได้หมดแล้ว นั่งติดกันเลย แล้วก็ไลฟ์ไปจนเขากินเสร็จ เพราะว่าถ้าเราไม่เฝ้า ลิงมันจะมาฉวยอาหารไปหมดเลย ซึ่งมันทำให้เขาคุ้นเคยกับเรา ทำให้เขาเชื่องได้ อันนั้นก็เป็นความท้าทายในการเลี้ยงฮิปโปครับ”

จนมาถึงหมูเด้งที่เบนซ์หมายมั่นปั้นมือว่าจะสามารถสร้างกระแสได้ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด “มันเป็นความน่ารักของเขาด้วย แล้วนักท่องเที่ยวก็ถ่ายไปลงกันเยอะมาก ก็เลยกระจายเป็นวงกว้างไปเลย ทำให้สัตว์ตัวอื่นๆ ก็มีคนอยากมาดูด้วย”

แน่นอนว่าท่ามกลางความโด่งดังของหมูเด้ง คนที่เหนื่อยที่สุดหนีไม่พ้น Zookeeper คนดัง เพราะงานประจำก็ยังคงต้องทำ คลิปก็ต้องถ่าย มากไปกว่านั้นคือการตอบคำถามคนที่สนใจงานของเขา

“Zookeeper ก็เป็นผู้ดูแลสัตว์และเป็นผู้ดูแลสวนสัตว์ด้วยครับ ก็คือหลังจากดูแลสัตว์เสร็จปุ๊บ ทำความสะอาดกรง ซ่อมกรง ปลูกต้นไม้ บริการนักท่องเที่ยว แล้วก็ทำทุกอย่างเลย”

งานของเบนซ์จะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเขาจะดูแลความสะอาดภายในพื้นที่เลี้ยงสัตว์แต่ละชนิดที่อยู่ในความดูแล เก็บอาหารเก่าออกแล้วให้อาหารใหม่ พร้อมสังเกตพฤติกรรมของพวกมัน

“อย่างตอนเช้าๆ ที่ผมเล่นกันกับหมูเด้ง ก็คือดูแม่เขากิน แล้วก็สังเกต แล้วค่อยปล่อยให้เขาไปนอน พอตอนบ่ายก็ให้อาหารอีกรอบนึง”

เขาบอกว่านิสัยสัตว์แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ดูแลต้องรู้วิธีที่จะเข้าหา บางตัวเชื่อง บางตัวขี้ตกใจ บางตัวก็ดุร้าย ถึงจะเป็นฮิปโปแคระด้วยกันก็ไม่เหมือนกัน

“จากการที่ดูแลฮิปโปมา 8 ปี เราก็ศึกษาธรรมชาติของเขาก่อน ว่าเขากินอะไร มีพฤติกรรมยังไง นอนยังไง อะไรยังไง แล้วเราก็ดูเขาทุกวัน ถ้าเกิดวันไหนเขาเดินขากะเผลกๆ ก็อาจจะขาเจ็บ วันไหนเขาสั่นๆ อาจจะปวดท้อง อะไรอย่างนี้ครับ

พฤติกรรมแบบนี้เราก็แจ้งสัตวแพทย์มาดู พอเขารู้อาการเขาก็จะให้ยา เราก็จะเป็นผู้ให้ยาสัตว์อีกทีนึง เพราะว่าสัตวแพทย์เขาไม่ได้เป็นคนเอายาไปป้อน Zookeeper ต้องเป็นคนป้อนยาสัตว์นะครับ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำความคุ้นเคยกับเขา เวลาเขาเป็นแผล สัตวแพทย์ให้ยามา ให้สำลีอะไรมา แต่เราเป็นคนเข้าไปทา เราก็ต้องทำความคุ้นเคยกับเขาตั้งแต่เล็กๆ เลยครับ”

ทุกวันของ Zookeeper จึงเป็นการเรียนรู้จากการสังเกตและการลงมือทำหน้างาน ส่วนองค์ความรู้ได้มาจากการสั่งสมประสบการณ์ เมื่อถามย้อนกลับไปถึงวันแรกที่เข้ามาทำงานในสวนสัตว์ เบนซ์บอกว่าสิ่งที่เพิ่มขึ้นนอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์แล้ว คือความรักสัตว์ที่ขยายออกไปเป็นความรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“เมื่อก่อนก็ไม่ได้รู้เรื่องสัตว์ไม่ได้รู้เรื่องธรรมชาติ ปกติก็รักสัตว์นะครับ เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวนี่แหละ แต่ว่าไม่ได้รู้เรื่องธรรมชาติอะไร พอมาทำงานแล้ว นอกจากสัตว์มันก็ซึมซับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปด้วย เหมือนมันเป็นสิ่งที่คู่กันในโลกนี้ครับ ก็เหมือนเป็นการช่วยอนุรักษ์สัตว์ อนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย แล้วก็เป็นการถ่ายทอดความรู้ผ่านสื่อที่เราทำ”

แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วผลตอบรับจากการติดตามพฤติกรรมของลูกฮิปโป ‘หมูเด้ง’ จะเป็นไปในทางที่ดี แต่ที่ผ่านมาก็มีความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์จากสัตว์ของสวนสัตว์ด้วยเช่นกัน

“ก็จริงนะครับ ที่ว่าสัตว์อยู่ในธรรมชาติคือดีที่สุด แต่ว่าสัตว์หลายชนิดถ้าไม่มีสวนสัตว์มันจะหมด แล้วบางชนิดมันก็ไม่มีในธรรมชาติแล้ว สวนสัตว์ก็ทำเพื่ออนุรักษ์ แล้วก็เพาะขยายพันธุ์เพื่อปล่อยเขากลับสู่ธรรมชาติ อย่างนกในธรรมชาติที่ไม่มีแล้ว แต่ในสวนสัตว์มีอยู่ สวนสัตว์เพาะขยายพันธุ์ได้ก็เอากลับไปปล่อย ติดตาม คือเราก็พยายามเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ไม่ให้เขาสูญพันธุ์ครับ” 

นอกจากนี้ อีกบทบาทหนึ่งของสวนสัตว์ก็คือการเป็นแหล่งเรียนรู้  ที่เชิญชวนคนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กๆ ให้เข้ามาหาทำความรู้จักกับสัตว์ชนิดต่างๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดความรู้และความรักสัตว์ไปด้วย

“ความดังของหมูเด้งทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาที่สวนสัตว์เขาเขียวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก วันธรรมดาจากวันละหลักร้อยคนก็เป็นหลัก 4,000-5,000 คน วันหยุดจาก 5,000 คนก็เป็น 10,000 คน เดือนนี้ (กันยายน) ก็น่าจะแสนกว่าคนแล้วมั้งครับที่เข้ามา”

แน่นอนว่าในจำนวนนี้ นอกจากเสียงชื่นชมก็มีคำถามถึงความเหมาะสมในการดูแลหมูเด้งด้วยเหมือนกัน

“หมูเด้งก็เป็นฮิปโป เขาถึกบึกบึนและซนมากครับ บางคนก็ทะนุถนอมเขาเกินไป จนแบบว่าทำงานยากมากเลยตอนนี้ เขาเล่นเองวิ่งชนต้นไม้ วิ่งกระโดดน้ำ รุนแรงกว่าที่ผมจับเขาเยอะครับ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะเจ็บหรืออะไร บางทีเขาวิ่งกระโดดน้ำ ตู้ม! แผลมาเลย คือเขายังเป็นเด็กก็จะซน เดี๋ยวจะเห็นแผลเขาอีกเยอะครับ ไม่ต้องกลัวว่าผมจะไปทำให้เขาเจ็บ เดี๋ยวเขาทำตัวเองแน่นอนครับ”

ซึ่งในมุมของผู้ดูแล เมื่อถามถึงวิธีกำราบความดื้อความซนของลูกฮิปโป เบนซ์บอกว่า “ก็ปล่อยเขาครับ เขายังเด็ก ซนก็ซนไป ผมไม่บังคับหรือตีเขา แค่หาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย แล้วก็ไม่ให้ไปทำลายข้าวของหรือต้นไม้”

ส่วนใครที่เป็นห่วง Zookeeper คนนี้ที่ถูกหมูเด้งสวบ (กัดเล่น) อยู่บ่อยๆ เขาบอกว่า “ธรรมชาติฮิปโปแคระเป็นสัตว์ที่ไม่ได้ดุร้ายครับ หมายถึงว่าอยู่ดีๆ จะวิ่งเข้าใส่เรา ไม่ใช่แบบนั้น แต่ว่าถ้าเราไปทำเขา เขาก็จะดุร้ายทันที หมายถึงว่าเขาก็ไม่ได้ชอบให้ใครเข้าไป 

เวลาเขาโกรธเขาก็โหดมากครับ ประมาณว่าพละกำลังเยอะ แต่เขาก็ไม่ค่อยแสดงความโหดเท่าไหร่ ก็มีโดนทำร้ายบ้างครับ เราก็ต้องมีวิธีไม่ไปให้โดนทำร้ายหรอก”

เมื่อถามว่าสัตว์ที่เคยดูแลตัวไหนเลี้ยงยากที่สุด เบนซ์ตอบด้วยความมั่นใจว่า “ถ้าเลี้ยงแล้วใส่ใจ อะไรก็ง่ายหมดครับ” เขาว่าสัตว์ก็เหมือนกับคนที่นิสัยใจคอแตกต่างกัน คนเลี้ยงต้องสังเกตและเอาใจใส่ ถึงจะเข้าหาและดูแลได้ถูกวิธี

“มันจะยากตอนมีปัญหา เช่นเวลาเขาเจ็บต้องเคลื่อนย้าย ฮิปโปก็จะยาก เพราะว่าตัวใหญ่กำลังเยอะ ถ้าเคลื่อนย้ายสัตว์เล็กๆ เอากล่องไปใส่ก็ย้ายได้แล้ว แต่ถ้าจะย้ายฮิปโปตัวนึงต้องใช้ฝีมือใช้ประสบการณ์มากเลยครับ”

ดังนั้นถ้าใครคิดอยากจะทำงานเป็น Zookeeper เบนซ์บอกว่า อันดับแรกก็ต้องรักสัตว์ก่อน “แล้วก็ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกตครับ เพราะเราต้องสังเกตพฤติกรรมสัตว์ ถ้ามันผิดปกติเราจะได้รู้ว่าเป็นอะไรยังไง ป่วยไหม อะไรอย่างนี้ครับ”

สำหรับคนที่ยังขอเป็นแค่ผู้ชม Zookeeper แห่งสวนสัตว์เขาเขียวให้คำแนะนำสั้นๆ ง่ายๆ คือ  “ดูอย่างเดียว” 

“ถ้าเขานอนก็นอน ถ้าเขาวิ่งก็ดูอย่างเดียวครับ ส่งเสียงนิดหน่อยได้ แต่ถ้าไปตะโกนเรียกชื่อเขาก็ไม่ตื่นหรอกครับ เขายังจำชื่อตัวเองไม่ได้ เขายังเด็กอยู่ แต่ถ้าเป็นผม เขาก็จะจำโทนเสียงในการเรียกได้”

สำหรับเบนซ์ นี่คือการเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเขากับสัตว์ทุกตัวที่ได้ดูแล และแม้ว่า Zookeeper อาจจะยังไม่ได้อยู่ในลิสต์อาชีพในฝันของเด็กๆ แต่การทำให้คนทั่วไปได้รู้ถึงความทุ่มเทของผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสุขและรอยยิ้มของผู้คน ก็สร้างความสุขและความภูมิใจให้กับเขาด้วยเช่นกัน

Tags:

ฮิปโปสวนสัตว์การเรียนรู้สัตว์หมูเด้งZookeeper

Author:

illustrator

ชุติมา ซุ้นเจริญ

ลูกครึ่งมานุษยวิทยาและนิเทศศาสตร์ รักการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร พอๆ กับการเดินทางข้ามพรมแดนทุกรูปแบบ เชื่อเสมอว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่นิยมแบกโลกไว้บนบ่า

Related Posts

  • Book
    วันนั้นฉันเจอเพนกวิน: อย่าปิดกั้นจินตนาการของเด็กด้วยคำว่า ‘เพ้อฝัน’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Learning Theory
    ‘เพราะคำถามดีๆ มีความสำคัญไม่น้อยกว่าคำตอบดีๆ’ เรียนรู้วิธีตั้งคำถามที่ทำให้เราเก่งขึ้น

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative learningSocial Issues
    ‘วิชาเอาชีวิตรอด’ ทักษะพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรมี: ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลท่ากว้าง จังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • ห้องเรียน ‘บาริสต้าน้อย’ โรงเรียนสินแร่สยาม : ทักษะและการเรียนรู้ที่เด็กๆ ร่วมกันออกแบบ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    จาก ‘ขยะ’ สู่การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเอง : โครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent โรงเรียนบ้านกู้กู ภูเก็ต

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

โต๊ะโตะจัง: แค่เปลี่ยนมายด์เซ็ต ‘เด็กดื้อ’ ของผู้ใหญ่บางคน ก็อาจเป็น ‘เด็กดี’ ของโลกใบนี้ 
Book
27 September 2024

โต๊ะโตะจัง: แค่เปลี่ยนมายด์เซ็ต ‘เด็กดื้อ’ ของผู้ใหญ่บางคน ก็อาจเป็น ‘เด็กดี’ ของโลกใบนี้ 

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เขียนโดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ นักแสดงชื่อดังชาวญี่ปุ่น แปลไทยโดยผุสดี นาวาวิจิต (สำนักพิมพ์ผีเสื้อญี่ปุ่น) โดยหนังสือเล่มนี้ถูกบันทึกโดย Guinness World Records ว่าเป็นอัตชีวประวัติที่ขายดีที่สุดในโลก
  • ตัวละครสำคัญที่ถูกยกย่องเชิดชูจากผู้อ่านมากที่สุดคือครูใหญ่โคบายาชิ นักการศึกษาที่เป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ผ่านวิธีปฏิบัติที่เขามีต่อนักเรียนด้วยความเข้าอกเข้าใจ

หากจะเอ่ยถึงวรรณกรรมเยาวชนจากญี่ปุ่น เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ผลงานจากเรื่องจริงของ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ที่ Guinness World Records ยกให้เป็นหนังสืออัตชีวประวัติโดยนักเขียนเพียงคนเดียวที่ได้รับการตีพิมพ์มากที่สุดในโลก ด้วยยอดขายมากกว่า 25 ล้านเล่ม

และเนื่องในโอกาสที่โต๊ะโตะจังได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันครั้งแรก ผมจึงถือโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านทบทวน พร้อมกับความรู้สึกซาบซึ้งใจและเคารพในตัว ‘ครูใหญ่โคบายาชิ’ ผู้เป็นต้นแบบของ ‘ครู’ ผู้เข้าใจเด็กอย่างแท้จริง

เรื่องราวของโต๊ะโตะจังเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเป็นเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่1 ที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการ แต่น่าเสียดายที่เธอมักจะรบกวนการเรียนการสอนโดยไม่รู้ตัว ทำให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเก่า และย้ายมาเรียนที่โรงเรียนโทโมเอ โรงเรียนที่ไม่เหมือนใคร ทั้งห้องเรียนที่สร้างขึ้นจากตู้รถไฟเก่า รวมถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วม และปรับตามความสนใจของพวกเขา ที่สำคัญคือการไม่ปิดกั้นความคิดและจินตนาการ ทำให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าฝัน กล้าแสดงออก ซึ่งผมเชื่อว่าจะสามารถดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาได้

มากไปกว่านั้น สิ่งที่สัมผัสใจผมมากที่สุดคือความเมตตาและความเข้าอกเข้าใจของครูโคบายาชิ ตั้งแต่ตอนที่โต๊ะโตะจังมาสมัครเรียนกลางเทอม แทนที่จะซักถามถึงเหตุผลต่างๆ นาๆ ครูใหญ่กลับให้โต๊ะโตะจังพูดอะไรก็ได้ที่เธออยากพูด และตั้งใจฟังโต๊ะโตะจังที่สนุกสนานกับการเล่าเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง โดยไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายหรือตัดสินถูกผิด ก่อนตัดสินใจรับเธอเข้าเรียนทันที ซึ่งการกระทำนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กอย่างแท้จริง

ที่โรงเรียนโทโมเอ โต๊ะโตะจังรู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น เพราะเธอสามารถเลือกวิชาที่อยากเรียนมาเรียนก่อนในช่วงเช้า อีกทั้งโรงเรียนยังจัดกิจกรรมที่น่าสนใจมาสลับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เช่น การพาเด็กๆ ออกไปทัศนศึกษา การทำค่ายทั้งในและนอกสถานที่เพื่อฝึกฝนทักษะชีวิตและส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมถึงการเรียนออกกำลังกายประกอบจังหวะเพื่อให้เด็กๆ เคลื่อนไหวตามเสียงเปียโน เพื่อฝึกสมองกับร่างกายของเด็กๆ ให้มีความคิดสร้างสรรค์และทำงานเข้ากันได้ดี ฯลฯ

หนึ่งในฉากที่น่าสนใจที่สุดของหนังสือโต๊ะโตะจังสำหรับใครหลายคน คือฉากที่โต๊ะโตะจังทำกระเป๋าสตางค์ใบโปรดตกหายไปในหลุมส้วมของโรงเรียน เธอจึงใช้กระบวยตักของในบ่อส้วมขึ้นมาส่งผลให้บริเวณนั้นมีสิ่งปฏิกูลต่างๆ กองขึ้นมาเป็นภูเขาขนาดย่อม พอครูใหญ่ผ่านมาเห็น แทนที่จะต่อว่าหรือขัดขวาง เขากลับถามโต๊ะโตะจังอย่างอ่อนโยนราวกับเธอเป็นเพื่อนคนหนึ่ง พร้อมกับฝากให้เธอเก็บทุกอย่างให้เข้าที่ ความใจดีนี้เองทำให้โต๊ะโตะจังรู้สึกถึงความสำคัญและความเชื่อถือที่ครูใหญ่มีให้ 

“ในที่สุดบ่อก็แทบจะว่างเปล่า แต่ยังไม่ปรากฏวี่แววของกระเป๋าสตางค์ มันอาจจะไปติดอยู่ข้างบ่อหรือพื้นบ่อ แต่โต๊ะโตะจังก็พอใจที่เธอพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว 

สิ่งซึ่งซ่อนอยู่ในความพอใจนั้นคือความรู้สึกที่ว่า ‘คุณครูใหญ่ไม่โกรธ แต่ยอมรับการกระทำของโต๊ะโตะจังเหมือนเธอเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้คนหนึ่ง’ รวมอยู่ด้วย เพียงแต่เธอยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจเท่านั้น

…หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว โต๊ะโตะจังก็ไม่เคยมองลงในโถส้วมอีกเลย เธอเชื่อถือและรักคุณครูใหญ่มากขึ้นด้วย”  

หรือจะเป็นฉากช่วงท้ายเรื่องที่ครูใหญ่บอกกับโต๊ะโตะจังว่า “ความจริงหนูเป็นเด็กดี รู้ไหม” ก็ถือเป็นประโยคที่แฟนหนังสือหลายคนประทับใจ เพราะแม้ครูใหญ่จะได้ยินครูหลายคนบ่นถึงวีรกรรมความซุกซนของโต๊ะโตะจัง แต่ครูใหญ่กลับเห็นในสิ่งที่ต่างออกไป ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าครูใหญ่ไม่ได้มีกรอบของคำว่า ‘เด็กดี’ เหมือนครูคนอื่น อีกทั้งสายตาของครูใหญ่ยังมองเห็นในสิ่งที่ครูคนอื่นมองไม่เห็น เช่น โต๊ะโตะจังมีความโอบอ้อมอารีและชอบช่วยเหลือเพื่อนๆ เป็นประจำ ดังนั้นครูใหญ่จึงเสริมความมั่นใจให้โต๊ะโตะจังได้ตระหนักว่าเธอเป็นเด็กที่ดีและมีคุณค่าในสายตาของครูคนนี้เสมอ

“ถ้าตั้งใจฟังให้ดีจะรู้ว่าคำ ‘ความจริง’ นั้นมีความหมายลึกซึ้งทีเดียว คุณครูใหญ่คงอยากบอกโต๊ะโตะจังว่า ‘หนูมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้คนอื่นคิดว่าเป็นคนไม่ดี แต่นิสัยแท้จริงของหนูไม่ได้เลวเลย หนูมีสิ่งดีซึ่งครูเข้าใจดี’”

อย่างไรก็ตาม ยังมีฉากอื่นๆ ที่ส่วนตัวผมรู้สึกประทับใจ แต่อาจไม่ถูกพูดถึงนัก เช่น ตอนที่โต๊ะโตะจังทำผมเปียมาที่โรงเรียนแล้วถูกเพื่อนผู้ชายตัวโตกระชากเปียผมอย่างแรงจนเธอร้องไห้ ครูใหญ่จึงเรียกนักเรียนชายคนดังกล่าวมาอบรมทันที จากนั้นไม่นาน เด็กชายก็รีบมาขอโทษโต๊ะโตะจัง พร้อมให้สัญญาว่าเขาจะปกป้อง อ่อนโยน และทะนุถนอมสุภาพสตรีทุกคน 

รวมถึงฉากที่ครูใหญ่ดุครูประจำชั้นของโต๊ะโตะจัง เพราะเธอดันไปแซว ‘ทากาฮาชิ’ เด็กชายที่มีความผิดปกติทางร่างกายในทำนองว่าเขาอาจมีหางเหมือนบรรพบุรษของมนุษย์ 

ในมุมของครูประจำชั้น เธอเพียงรู้สึกว่านี่เป็นการแซวเล่นสนุกๆ ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ต่างจากครูใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยและโกรธทัศนคติของครูคนนี้มาก เช่นเดียวกับผมที่มองว่าพฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่าย ‘การบูลลี่’ ที่ครูกลายมาเป็น ‘ผู้กระทำ’ เสียเอง ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนคนอื่นนำคำพูดที่ไม่ทันคิดของครูประจำชั้นมาล้อเลียนทากาฮาชิต่อไปอย่างไม่รู้จบ

อย่างไรก็ตาม ครูใหญ่ไม่ได้บุ่มบ่ามต่อว่าครูคนนี้ในห้องพักครูให้ต้องอับอาย แต่เลือกที่จะตักเตือนเธอเป็นการส่วนตัว โดยแสดงให้เห็นว่าการเป็นครูต้องรู้จักระมัดระวังคำพูด เพราะคำพูดของครูนั้นมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กคนหนึ่งได้อย่างมหาศาล   

เมื่ออ่านหนังสือจบ ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไม ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ถึงเป็นวรรณกรรมเยาวชนระดับโลก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องราวสนุกๆ ของเด็กหญิงผู้เปี่ยมด้วยจินตนาการ แต่ยังเป็นภาพสะท้อนแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ผ่านวิธีที่ครูใหญ่โคบายาชิปฏิบัติต่อเด็กๆ ด้วยความเมตตา ให้เกียรติ และเข้าอกเข้าใจ ส่งเสริมให้เด็กได้เห็นคุณค่าในตัวเองและเติบโตในแบบที่ตนเองเป็น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาอย่างแท้จริง

Tags:

โต๊ะโตะจังวรรณกรรมเยาวชนครูโรงเรียนเด็ก

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • Book
    ฤดูร้อนเมื่อครั้งประถม ผมได้เป็นอัศวิน: เด็กชายผู้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความกล้าหาญด้วยตัวเอง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • ‘โรงเรียน = รุนแรง’ สมการนี้สังคมต้องร่วมแก้ …เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Everyone can be an Educator
    เรียนรู้นอกกรอบ กับอดีตครูนอกคอก: อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มลูกหว้า’ เยาวชนก่อการดีแห่งเมืองเพชร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ สิริเชษฐ์ พรมรอด

  • 21st Century skills
    คู่มือเลี้ยงเด็กในศตวรรษที่ 21 จะปรับตัวอย่างไรให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่รอด!

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

เมื่อคำว่า ‘แพ้’ รุนแรงต่อชีวิต ความพ่ายแพ้จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก และผู้แพ้ไม่ควรถูกละเลย
How to enjoy life
26 September 2024

เมื่อคำว่า ‘แพ้’ รุนแรงต่อชีวิต ความพ่ายแพ้จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก และผู้แพ้ไม่ควรถูกละเลย

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ‘ความพ่ายแพ้’ ในการแข่งขันตั้งแต่อดีต ทำให้มนุษย์พัฒนากลไกทางอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกเศร้าเมื่อแพ้ เพื่อป้องกันไม่ให้สู้ต่อในสถานการณ์ที่ไม่มีหวัง แต่ในปัจจุบันกลไกนี้กลับกลายเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
  • ยิ่งในปัจจุบันที่มีค่านิยมที่เน้นความเป็นเลิศและการแข่งขันสูง ทำให้ผู้คนมักจะเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นตลอดเวลา ทำให้ยิ่งรู้สึกกดดันและพ่ายแพ้ง่ายขึ้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอหรือไม่ประสบความสำเร็จตามที่สังคมและตนเองคาดหวัง
  • การยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบ การปรับเปลี่ยนความคิด และการให้กำลังใจตนเองเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพจิต เช่น ครอบครัวที่ให้การสนับสนุน และการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อจำเป็น ก็เป็นวิธีการรับมือกับความพ่ายแพ้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าจะพูดว่า “โลกนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน” ก็น่าจะไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนก็มีจัดอันดับในห้องเรียนตั้งแต่เด็กๆ จนถึงโตมาก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยที่อยู่อันดับต้นๆ ให้ได้ การงานก็มีการจัดอันดับผลงาน อันดับยอดขาย และคนเราก็มักเปรียบเทียบเงินเดือนกับคนรอบตัวว่าได้มากกว่าน้อยกว่า ใครอยู่วงการกีฬายิ่งต้องเคร่งเครียดกับการจัดอันดับกว่าใครเพราะต้องแข่งขันให้อยู่ในอันดับสูงๆ เพื่อที่จะได้สิทธิ์ไปแข่งขันในการแข่งระดับใหญ่กว่า การแข่งขันยังลามไปถึงกิจกรรมอย่างงานอดิเรกเพื่อคลายเครียดอย่างการเล่นเกมมือถือหรือเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ที่มีการจัด ‘rank’ ว่ามีฝีมือมากน้อยแค่ไหน และพอมีการจัดอันดับเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าใครก็อยากได้อันดับสูงๆ กันทั้งนั้น แต่ในทุกการแข่งขันมีผู้ชนะก็ย่อมมีผู้แพ้ ผมเชื่อว่าทุกๆ คนเคยผ่านประสบการณ์การแพ้มาไม่มากก็น้อย และน่าจะเข้าใจถึงความเศร้า ขมขื่น เจ็บใจจากการรู้สึกแพ้ดี 

ผมสังเกตว่าในสังคมนั้นเรามักจะสนใจแต่ผู้ชนะ ถึงจะมีคนพยายามพูดใน ‘เชิงบวก’ ว่าความพยายามสำคัญที่สุด แต่หากสังเกตแล้วเราอาจจะพบว่าสังคมก็ยังให้ความสำคัญกับผู้ชนะมากกว่าอยู่ดี แต่ทำไมเราถึงต้องสนใจคนแพ้กัน… เพราะคนแพ้ก็ใช่ว่าจะไม่พยายาม บางคนแพ้ไม่ใช่เพราะไม่เก่งแต่เพราะอีกฝ่ายเหนือกว่า บางคนแพ้เพราะเหตุสุดวิสัย แต่ที่สำคัญคือความพ่ายแพ้มันอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้คนซึมเศร้าได้ ผมไปพบกับงานวิจัยที่ศึกษาประเด็นนี้โดย ปีเตอร์ เทย์เลอร์และคณะจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ใน ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ผลจากงานวิจัยอื่นๆ จำนวนมากและได้เสนอทฤษฎีที่น่าสนใจว่าความพ่ายแพ้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากที่ทำให้เกิดความซึมเศร้า แถมยังรวมไปถึงการฆ่าตัวตายอีกด้วย ผมเลยรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ แถมงานวิจัยนี้ยังอธิบายธรรมชาติของความพ่ายแพ้และความซึมเศร้า ด้วยหลักวิวัฒนาการ ซึ่งทำให้รู้ว่า ‘ทำไมแพ้แล้วต้องเศร้า’ ทำไมธรรมชาติถึงออกแบบมนุษย์ให้รู้สึกแย่กับการแข่งขันที่กลับไปแก้ผลไม่ได้ เศร้าหลังแพ้ไปมันจะมีประโยชน์หรือผลดีอะไร ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เลยอยากชวนท่านผู้อ่านมาพูดคุยเรื่องนี้กันครับ

หากพูดถึงธรรมชาติของอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ แล้วเราก็ต้องพูดถึงศาสตร์ที่ชื่อ ‘จิตวิทยาวิวัฒนาการ’ ที่ศึกษาว่ากลไกของพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออก และพฤติกรรมภายในอย่างอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะกลไกต่างๆ ย่อมมีส่วนช่วยในการเอาตัวรอดจากอันตราย หรือช่วยให้สืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ ยีนของกลไกเหล่านั้นจึงยังคงอยู่และแพร่หลายถึงทุกวันนี้ เหมือนที่เราหิวเพื่อกระตุ้นให้หาอาหารมาเลี้ยงร่างกาย เจ็บเพื่อให้หลีกเลี่ยงอันตราย แต่ความรู้สึกพ่ายแพ้ที่นำไปสู่ความรู้สึกเศร้านั้นมันให้อะไรกับเรากัน จริงอยู่ที่มันดูไม่มีประโยชน์ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากกลไกทางความรู้สึกของมนุษย์เรานั้นไม่ได้ต่างจากมนุษย์ยุคเริ่มต้นในสมัยหลายหมื่นปีที่แล้วนัก เราจึงต้องย้อนไปดูบริบทของสังคมมนุษย์ยุคโบราณกันครับ

จริงอยู่ที่ในยุคโบราณไม่มีการแข่งกีฬาหรือการสอบแข่งขันอะไรทั้งนั้น แต่เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และธรรมชาติของกลุ่มก็ต้องมีการจัดอันดับสมาชิก คือมีจ่าฝูงที่แข็งแกร่งอันดับหนึ่ง และคนที่อ่อนแอกว่าที่มีอันดับลดหลั่นกันไป การแข่งขันและการแพ้ชนะจึงอยู่ในสัญชาตญาณของมนุษย์อยู่แล้ว ถึงการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก็เพื่อช่วยเหลือกันหาทรัพยากรอย่างเช่นอาหาร แต่นั่นก็แปลว่าก็ต้องแบ่งและแก่งแย่งกันเองในกลุ่มด้วย และคนที่มีอันดับสูงกว่าจะมีสิทธิ์ในการได้รับทรัพยากรมากกว่าไปโดยปริยาย นอกจากนี้สิทธิ์อีกอย่างคือการได้เลือกคู่สืบพันธุ์ด้วย หากมองในแง่นี้แล้วการชิงตำแหน่งสูงๆ ในกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะในมุมมองของวิวัฒนาการแล้วจะอาหารหรือคู่ก็เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตต้องการที่สุด เพราะทำให้ตนเองสืบเชื้อสายส่งต่อยีนของตัวเองต่อไปได้ ดังนั้นกลไกทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้จึงมักเป็นอารมณ์ที่มีความรุนแรง ตัวอย่างอื่นๆ ที่เราเคยคุยกันไปไม่นานมานี้เกี่ยวกับอารมณ์หึงหวงซึ่งก็รุนแรงเพราะเกี่ยวกับเรื่องคู่ (อ่านได้ในบทความ ‘หึง’ ก็เพราะรัก? ‘หวง’ ก็เพราะห่วง? เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์หึงหวงก่อนทำลายความสัมพันธ์ (https://thepotential.org/life/jealousy-because-of-love/)) การแพ้ ‘เกมชิงอันดับในกลุ่ม’ ทำให้ผู้แพ้ต้องอยู่อันดับต่ำๆ และสิ่งนั้นสะเทือนถึงการมีชีวิตรอดและการสืบทอดเผ่าพันธุ์ ความรู้สึกพ่ายแพ้เลยเป็นความรู้สึกลบอย่างรุนแรง เพื่อให้มนุษย์ไม่อยากแพ้ และตะเกียกตะกายให้อยู่อันดับต้นๆ ให้ได้

คำถามคือแล้วอะไรเป็นตัวตัดสินอันดับในสมัยนั้น คำตอบก็คือการแข่งขันกันด้วยพละกำลังนั่นเองครับ การแก่งแย่งตำแหน่งในเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ในบางครั้งมีความรุนแรงไม่น้อยเลย และอาจทำให้ถึงตายได้จากการต่อสู้ด้วยซ้ำ แต่ผู้แพ้ไม่จำเป็นต้องตายจากการแข่ง หากรับรู้ว่าตัวเองแพ้แล้วก็ควรยอมแพ้ การสู้ต่อจะมีแต่ผลเสียตามมา เช่น ต้องบาดเจ็บเพิ่มขึ้นจนอาจถึงตาย 

การที่ผู้แพ้หยุดนิ่ง แสดงถึงความหมดอาลัยตายอยาก ดูแล้วไม่มีใจที่จะสู้ต่อ จะเป็นสัญญาณยอมแพ้ที่บอกฝ่ายที่ชนะให้หยุดใช้กำลังกับตัวเองต่อเช่นกัน พฤติกรรมเหล่านั้นคือความซึมเศร้าครับ 

และนั่นเองที่ภาวะซึมเศร้าเข้ามามีบทบาทในความอยู่รอดของผู้แพ้ มีการวิจัยที่สังเกตสัตว์อื่นๆ หลายชนิดที่การแย่งตำแหน่งจ่าฝูงมีความรุนแรง จะพบว่าฝ่ายแพ้แสดงภาวะซึมเศร้าเช่นเดียวกัน และในบรรดาลิงต่างๆ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์ต่างก็แย่งตำแหน่งกันด้วยความรุนแรงที่ถึงตายได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มนุษย์เองได้รับสืบทอดยีนของการซึมเศร้าหลังจากแพ้มาด้วย

ประเด็นสำคัญคือการซึมเศร้าในยุคโบราณนั้นแตกต่างจากสมัยนี้ การแข่งขันจัดอันดับในสมัยโบราณมีแค่การแก่งแย่งอันดับในฝูง ซึ่งหลังจากรู้ผลแล้ว ฝ่ายแพ้อาจแสดงความซึมเศร้าตอบสนองต่อความพ่ายแพ้ แต่เมื่อการแข่งขันจบลง อารมณ์นั้นจะหยุดครับ ไม่มีผลเรื้อรังต่อไปนานๆ จนรบกวนการดำเนินชีวิตต่อ แต่สังคมของมนุษย์ปัจจุบันต่างจากอดีตมากๆ มนุษย์ยังคงมีการจัดอันดับทางสังคม แถมยังมีการจัดอันดับที่ซับซ้อนหลากหลายอย่าง เรามีการจัดอันดับชนชั้นทางสังคม อันดับตำแหน่งในหน้าที่การงาน อันดับของผลการเรียน ยศถาบรรดาศักดิ์ ไปจนถึงการเล่นเกมกีฬา สังคมสมัยใหม่มีการแข่งขันมากมายมหาศาลให้ชนะและได้แพ้ในการชิงอันดับ ถึงแม้ว่าการจัดอันดับดังกล่าวไม่ได้มีผลคอขาดบาดตายเหมือนสมัยโบราณ แต่กลไกในสมองของเรายังเหมือนเดิม การตอบสนองต่อความพ่ายแพ้อย่างความซึมเศร้าที่สร้างความทรมานยังคงอยู่เหมือนเดิม 

นอกจากการจัดอันดับจากการแข่งขันกับใครต่อใครแล้ว มนุษย์ยังมีการจัดอันดับภายในใจกับตัวเองอีกด้วย มนุษย์เรามีธรรมชาติที่จะมองว่าตัวเองเก่งหรือไม่ อยากเป็นคนมีความสามารถและมีทักษะที่ดี มนุษย์เลยมักมีเป้าหมายในใจ เช่น เราต้องทำได้คะแนนเท่านี้ เราต้องสอบให้ได้มหาวิทยาลัยนี้เท่านั้น เราต้องได้เงินเดือนกี่หลัก หรือแม้แต่เราต้องได้ ‘rank a’ ขึ้นไปตอนเล่นเกมมือถือ และหากเราทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้ สมองของเราจะรู้สึก ‘พ่ายแพ้’ เช่นกันแม้จะไม่มีคู่แข่งก็ตาม ท่านผู้อ่านน่าจะได้ยินค่านิยมของสังคมที่เชิดชูคนเก่งบ่อยๆ ว่าไม่ใช่แค่ทำได้ ทำแค่พอผ่าน แค่เอาตัวรอด แต่ต้องทำให้ ‘ดีกว่าใคร’ ให้อยู่ ‘อันดับต้นๆ’ เราจะพบว่าบางคนทำเรื่องหนึ่งได้ดีแล้วแต่ก็รู้สึกไม่พอใจ เพราะได้ผลไม่ตรงตามมาตรฐานในใจของตัวเอง เขาอาจจะได้ที่หนึ่งของห้อง แต่เขาไม่ได้คะแนนสูงเท่าที่ต้องการ และนั่นก็อาจจะทำให้เขารู้สึกแพ้ 

มีงานวิจัยที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับอันดับที่หลายๆ คนนำมาใช้ชี้วัดความสำเร็จในชีวิตซึ่งก็คือเงินเดือน ที่พบว่าหากเปรียบเทียบว่าเงินเดือนตนเองอยู่ใน ‘ลำดับต่ำ’ ของกลุ่ม คนจะรู้สึกพ่ายแพ้ ซึมเศร้า ถึงแม้ว่าเงินจะไม่ใช่จำนวนที่น้อย หรือไม่พอใช้จ่ายก็ตาม ดังนั้นสิ่งสำคัญในการประเมินคือลำดับเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ 

พอมีเรื่องให้แข่งขันจัดอันดับกันไม่รู้จบ มันเลยกลายเป็นเรื่องผิดธรรมชาติของสมองเรา และทำให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับความพ่ายแพ้และการตอบสนองด้วยความซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณของบางคนรวน

และนั่นส่งผลให้ภาวะซึมเศร้าที่ควรอยู่ชั่วคราวกลายเป็นเรื้อรัง และกลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ซึ่งอารมณ์ลบของโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งที่ทรมานและคนต้องการจะออกจากภาวะนี้ให้ได้ แต่หากแก้ไขไม่ได้ และหากมีความเชื่ออยู่ก่อนแล้วว่า ‘ความตายคือทางออก’ คนนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นไปจากความซึมเศร้าที่ไม่หายไปเสียที

อย่างไรก็ตามเราทุกคนเคยแพ้ และเราก็เคยผ่านความพ่ายแพ้มาไม่มากก็น้อย และหลายๆ ครั้งเราก็อยู่กับมันได้ แน่นอนครับว่าคนเรารู้สึกแย่ที่แพ้ มนุษย์เราเองก็มีการเรียนรู้ที่จะไม่รู้สึกแย่มากจนซึมเศร้าทุกครั้งที่แพ้ จะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้ความสำคัญของการจัดอันดับนั้นๆ เด็กบางคนอาจจะเศร้าที่สอบได้คะแนนน้อย แต่ไม่เศร้าตอนเล่นเกมแพ้ แต่เด็กอีกคนอาจจะเครียดหนักตอนเล่นเกมแพ้ แต่ไม่เคยแคร์ผลสอบ คนเราให้ค่ากับสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน ดังนั้นความคิดที่ว่า ทำไมถึงต้องซึมเศร้า ทำไมถึงขั้นฆ่าตัวตายกับ ‘เรื่องแค่นี้’ จึงอาจเป็นคำปลอบใจที่ฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้คนเราไวต่อความพ่ายแพ้ไม่เท่ากัน บางคนทนกับความแพ้ได้มากกว่า แต่บางคนแพ้แค่ครั้งเดียวชีวิตเขาก็เหมือนกับพังทลาย

ความพ่ายแพ้เลยไม่ใช่เรื่องเล็ก และผู้แพ้จึงไม่ควรถูกละเลย การผิดหวังที่ไม่ชนะเป็นอารมณ์ลบในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ความซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นจากกลไกตามธรรมชาติยิ่งทำให้อารมณ์ลบอย่างร้ายแรงในบางคนและบางกรณี หลายๆ ครั้งที่กว่าจะรู้ตัวว่ามันส่งผลเสียร้ายแรงเพียงใดก็สายไปเสียแล้ว อย่างข่าวการฆ่าตัวตายของเด็กเพราะผลสอบก็ยังคงมีอยู่อย่างน่าเศร้าในสังคม คำถามต่อมาคือแล้วเราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง

สิ่งหนึ่งที่งานวิจัยหลายงานเห็นตรงกันคือสังคมมีส่วนช่วยกับปัญหานี้ได้มาก แรกสุดคือค่านิยมของสังคมที่มาตรฐานสูงเกินที่คนทั่วไปจะทำได้ สังคมมักเชิดชูและสร้างตัวเปรียบเทียบของผู้ที่เก่งหรือประสบความสำเร็จมากๆ อย่างนักกีฬาโอลิมปิก นักธุรกิจพันล้าน นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ศิลปินชื่อดัง แต่คนเหล่านี้มีเพียงหยิบมือเดียวในสังคม หากใครคิดจะอยากอยู่ในอันดับเดียวหรือใกล้ๆ คนเหล่านั้นก็จะตกที่นั่งลำบาก ยิ่งกับการแข่งกับตัวเองแล้ว เหมือนชนะเท่าไรก็ยังมีคนที่ ‘ชนะมากกว่า’ และรู้สึกแพ้อยู่เรื่อยไปเพราะมีตัวเปรียบเทียบที่มาตรฐานสูงลิ่ว 

นอกจากนี้ยังมีค่านิยมในคนเอเชียที่ไม่ให้คน ‘เหลิงกับความสำเร็จ’ อาจจะมีผลรุนแรงเกินไป คือทำให้คนรู้สึกไม่มั่นใจว่าชัยชนะที่ได้นั้นมาด้วยความสามารถของตนเองแต่เพราะโชคช่วย สิ่งนี้เกิดขึ้นแพร่หลายจนมีชื่อว่า ‘imposter syndrome’ (อาการของตัวปลอม) คือความรู้สึกว่าเราเป็นแค่ตัวปลอมที่บังเอิญชนะ ไม่ใช่คนชนะตัวจริง และนั่นทำให้ต่อให้ชนะก็ยังรู้สึกแพ้ นอกจากนี้ระวังค่านิยมที่มองว่าคนแพ้บ่อยๆ คือ ‘ขี้แพ้’ รวมถึงการทับถมคนแพ้อย่างตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ นั่นจะยิ่งทำให้คนแพ้รู้สึกไร้ค่าและรู้สึกว่าตัวเองอยู่อันดับท้ายของสังคมและไปกระตุ้นความซึมเศร้ามากขึ้นไปอีก

เราอาจจะไปกะเกณฑ์สื่อหรือเปลี่ยนค่านิยมสังคมได้ยาก ดังนั้นเอาแค่หน่วยย่อยที่สุดของสังคมอย่างครอบครัวก่อนก็ได้ครับ การยอมรับถึงความสามารถในปัจจุบันของเด็กๆ มากกว่าการเอาแต่ตั้งเป้าหมายสูงๆ ถ้าพ่อแม่เอาแต่ให้ลูกดูคนที่เก่งกว่าตัวเขามากๆ เป็นแบบอย่าง อาจทำให้เด็กรู้สึกแพ้ทุกครั้งที่แข่งขันไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับคนอื่นหรือการประเมินทักษะของตัวเอง เรามีแบบอย่างให้เด็กได้ แต่ต้องชัดเจนด้วยว่าเด็กทำได้แค่ไหนก็ถือว่าดีเพียงพอ และไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเป็นที่หนึ่งถึงจะเก่ง จะลำดับใดๆ ก็เก่งได้ 

นอกจากนี้การให้กำลังใจหลังจากที่เขาไม่ได้รับผลที่คาดหวังนั้นสำคัญ มีครั้งนี้ก็มีครั้งหน้า หรือต่อให้แพ้ครั้งหน้าก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตว่าคนในครอบครัวอ่อนไหวต่อการแข่งขันในสิ่งใด หลายๆ ครั้งที่เรามองว่าความพ่ายแพ้บางอย่างเป็นเรื่องไร้สาระ ลูกอาจจะแพ้เกม สามีอาจจะแพ้ฟุตบอลหลังเลิกงาน ภรรยาอาจจะรู้สึกว่าตัวเองแต่งตัวแย่กว่าเพื่อนๆ  แต่ก็ไม่ควรไปดูถูกความรู้สึกของเขา หากเราไม่ได้ส่งเสริม แต่กิจกรรมนั้นไม่ได้เสียหาย ก็ให้กำลังใจกันไว้ดีกว่า และในทางกลับกัน หากเขาทำสิ่งเหล่านั้นได้ดี การชื่นชมในความสามารถย่อมเป็นเรื่องดี การชนะในเรื่องสองเรื่องในชีวิตก็สร้างความแตกต่างแล้ว เพราะบางคนลืมที่จะให้คุณค่ากับชัยชนะบางอย่างไป และเอาแต่คิดว่าตัวเองแพ้ไปเสียทุกเรื่อง 

เช่นเดียวกับอารมณ์และความรู้สึกอื่นๆ ตัวเราเองก็มีบทบาทสำคัญในการทุเลาความรู้สึกเศร้าจากการพ่ายแพ้ เราอาจจะถูกปลูกฝังให้ไม่เห็นคุณค่าของลำดับที่ไม่สูงมาก ทั้งๆ ที่มันก็เป็นผลงานที่ไม่เลว และยิ่งเราพยายามแล้วต่อให้ไม่ได้ตามต้องการ คุณค่าของการได้ลงมือทำนั้นมีค่าเสมอในแง่การฝึกฝนตัวตน แม้ว่าครั้งหน้าจะพยายามและยังแพ้อีก หรือแม้จะไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ในตลอดชีวิตก็ตาม เราก็ยังได้การเรียนรู้และประสบการณ์ติดตัวมาอยู่เสมอและนั่นคือสิ่งที่มีค่า และอย่ายึดติดกับลำดับเพียงแค่เรื่องใดเรื่องเดียว และให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ ที่เราเก่งและถนัดด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม แต่หากเรารู้สึกว่าความซึมเศร้าที่มาจากความพ่ายแพ้อาจจะรุนแรงจนกระทบต่อสุขภาพกาย ชีวิตประจำวัน หรือความสัมพันธ์ หนักข้อจนตนเองรับมือแก้ไขไม่ไหว การปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเพื่อหาหนทางบำบัดก็เป็นหนทางที่ดี เพราะผู้เชี่ยวชาญอาจมีเทคนิคในการปรับความคิดที่ดีกว่าการพยายามด้วยตัวเอง

หลายๆ คนคิดว่าตัวเองไม่โดดเด่นอะไรสักด้าน แต่จริงๆ แล้วเชื่อเถอะครับ ว่าคุณก็ยังทำได้ดีกว่าคนอื่นในบางด้าน แต่คุณไม่รู้ตัวเท่านั้น บางครั้งเรารู้สึกไม่ดีไม่ใช่เพราะเราไม่ดีพอ แต่เพราะทั้งสังคมหล่อหลอมให้เราเอาแต่มองอันดับสูงๆ และสัญชาตญาณจากยีนที่ปรับตัวไม่ทันโลกสมัยใหม่ ผมมีมุมมองทางสถิติที่น่าจะฟังขึ้นและสมจริงอยู่บ้าง คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ค่าเฉลี่ยหรือระดับกลางๆ การที่เราไปอยู่ในอันดับสูงๆ ของสักสิ่งนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นได้ยากในทางสถิติ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม (หากมันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ใคร) หากเราเก่งเรื่องใดเป็นพิเศษก็เป็นสิ่งน่ายินดี แต่หากเราไม่ได้อยู่ในอันดับสูงๆ ของเรื่องไหน นั่นก็คือเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกแน่นอน ยิ่งกับคนในโลกหลักพันล้านคนแล้ว โอกาสที่คุณจะอยู่อันดับสูงสุดๆ หรือต่ำสุดๆ ของเรื่องใดนั้นน้อยมากๆ ครับ

เอกสารอ้างอิง

Hounkpatin, H. O., Wood, A. M., & Dunn, G. (2016). Does income relate to health due to psychosocial or material factors? Consistent support for the psychosocial hypothesis requires operationalization with income rank not the Yitzhaki Index. Social Science & Medicine, 150, 76-84.

Taylor, P. J., Gooding, P., Wood, A. M., & Tarrier, N. (2011). The role of defeat and entrapment in depression, anxiety, and suicide. Psychological bulletin, 137(3), 391.

Wei, Z., Li, Y., Liu, L., Wu, X., Qiao, Z., & Wang, W. (2024). You are worth it: Social support buffered the relation between impostor syndrome and suicidal ideation. Journal of Pacific Rim Psychology, 18, 18344909241228471.

ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ , มูลนิธิเด็ก.

Tags:

สังคมการใช้ชีวิตการแข่งขันค่านิยมภาวะซึมเศร้าสุขภาพจิตความพ่ายแพ้

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • May i Quit Being Mom__cover
    Movie
    May I quit being a mom? ความพยายามดูแลแม่ญี่ปุ่นของรัฐบาล

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Better  Days: ชีวิตใครบางคนคงไม่แตกสลาย ถ้าทุกคนหยุดการบูลลี่ก่อนที่จะมันจะกลายเป็นอาชญากรรม

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Dear Evan Hansen : เคยรู้สึกเหมือนไม่มีใครอยู่ใกล้ตัวบ้างมั้ย?

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Adolescent Brain
    เพราะสมองหรือเพราะใจ? ทำไมวัยรุ่นถึงเป็นซึมเศร้า ทำความเข้าใจผ่านปัจจัยสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    นิกเซน (Niksen): ละทิ้งความคาดหวังและอยู่กับปัจจุบันขณะ ศิลปะของการไม่ทำอะไรของชาวดัตซ์

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

โรงเรียนต้อง ‘กล้าเปลี่ยน’ เพื่อพัฒนานักเรียนทันการเปลี่ยนแปลง
Social Issues
22 September 2024

โรงเรียนต้อง ‘กล้าเปลี่ยน’ เพื่อพัฒนานักเรียนทันการเปลี่ยนแปลง

เรื่อง The Potential

  • การเตรียมพร้อมเด็กให้มีสมรรถนะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 และพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต โรงเรียนต้องกล้าเปลี่ยนทั้งระบบ
  • ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ครูสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้อยู่ที่การบริหาร ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ หรือวิธีการอื่นๆ แต่ตัวแปรที่มีน้ำหนักที่สุด คือเป้าหมายระยะยาวของเขา ซึ่งหมายถึงคุณค่าระยะยาวของการเป็นครู
  • ‘เครื่องมือวัดผลลัพธ์การเรียนรู้’ เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่นอกจากจะช่วยประเมินว่าเด็กเรียนรู้เนื้อหาได้ตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน ยังส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เด็กบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ตามที่คาดหวัง

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ การเรียนรู้จากการท่องตำราคงไม่เพียงพอ เด็กต้องได้รับการพัฒนาทั้งความรู้ ทักษะ และทัศนคติ รวมถึงการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อให้มีสมรรถนะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 และพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต แต่การที่ผู้เรียนจะสร้างผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้ ‘โรงเรียนต้องกล้าเปลี่ยนทั้งระบบ’ 

สร้างนิเวศการเรียนรู้ สานอุดมการณ์ครู พลังขับเคลื่อนสู่ ‘ผู้ก่อการ’

ในงานมหกรรมรวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน ‘All For Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นักการศึกษาหลายท่านร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ‘ก้าวต่อไปของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเพื่อการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน’  

เริ่มจาก รศ. ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ที่ผ่านมามีโอกาสทำงานเรื่องการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในโครงการก่อการครู เป็นโครงการที่ตั้งใจช่วยให้ครูมีพื้นที่การพัฒนา และเป็น community ให้ครูที่มีใจอยากพัฒนาการศึกษาในหน้างานของตัวเองได้ริเริ่มลงมือปฏิบัติการ ซึ่งคำว่าก่อการมีความหมายแฝงของคำว่า ‘ริเริ่ม’ หรือริเริ่มทำสิ่งที่เหมาะสม 

“ผมได้มีโอกาสอ่านงานของคุณหมอวิจารณ์ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) ที่เล่าถึงความเป็น teacher agency หรือความเป็นผู้ก่อการของครู ในหนังสือบอกว่าการที่ครูจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงมันมีปัจจัยหลายอย่างมาก ไม่ใช่ว่าครูคนหนึ่งอยากจะทำอะไรแล้วลุกขึ้นมาทำได้เลย แต่มีสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศ หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่โอบล้อมรอบคุณครูอยู่ 

หมอวิจารณ์ใช้คำว่า ‘เอื้อระบบนิเวศให้คุณครูเป็นผู้ก่อการ’ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้สนใจทำวิจัยว่าในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวครูนั้น อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ครูเกิดการเปลี่ยนแปลง”

จากการวิจัยกับคุณครูจำนวน 200-300 คน ที่ รศ. ดร.สิทธิชัย มีโอกาสทำงานด้วยและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ตัวเอง พบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ครูสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้อยู่ที่การบริหาร ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ หรือวิธีการอื่นๆ แต่ตัวแปรที่มีน้ำหนักที่สุด คือเป้าหมายระยะยาวของเขา ซึ่งหมายถึงคุณค่าระยะยาวของการเป็นครู 

“คำถามที่เขาถามตัวเองว่าเป็นครูไปเพื่ออะไร การศึกษามีไว้เพื่ออะไร โรงเรียนมีไว้เพื่ออะไร สิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ครูลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน”

นอกจากอุดมการณ์คุณค่าของความเป็นครูแล้ว ‘ประสบการณ์ทางวิชาชีพ’ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงครู โดยประสบการณ์วิชาชีพหมายถึง การที่คุณครูได้รับการพัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ที่นำไปใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงหรือใช้ทำงานกับเด็กได้ แต่ว่าในส่วนนี้ยังมีความสำคัญน้อยกว่า ‘อุดมการณ์ในความเป็นครู’

รศ. ดร.สิทธิชัย ยกตัวอย่าง กลุ่มก่อการครูกาฬสินธุ์ คุณครูกลุ่มนี้ทำงานบนพื้นฐานว่า อยากให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แล้วเชื่อมโยงตนเองกับพื้นที่ของตนเองให้ได้ ซึ่งในช่วงนั้นมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ครูอยากให้นักเรียนเข้าใจว่า PM2.5 เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง สิ่งที่ครูทำคือขับรถพาเด็กๆ ไปที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อไปเจอกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า และจัดกิจกรรมเรียนรู้ว่าระบบนิเวศป่าเป็นยังไง เวลาเกิดไฟไหม้ป่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง 

“ผมถามเด็กที่ไปว่า “ร้อนขนาดนี้ ทำไมถึงออกมาเรียนกับครู” เด็กๆ ตอบว่า “การที่ได้ออกมาเรียนรู้ข้างนอกแบบนี้ ทำให้เขาเรียนรู้คือเขาได้เรียนรู้ตัวเอง ได้เป็นตัวเอง และมีโอกาสได้เจอกับคนที่ทำงานจริง ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้บอกว่า “ในชีวิตการเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขาไม่เคยได้ทำหน้าที่แบบที่คิดฝันเหมือนวันนี้เลย การได้ขึ้นไปบนภูเขาแล้วบอกเด็กๆ ว่า ไฟไหม้แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ทำงานดับไฟป่ากันอย่างไร เขาภูมิใจมากที่ได้มาเป็นครูอีกคนหนึ่ง” 

“เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าครูไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเป้าหมายของการเป็นครูที่จะทำให้นักเรียนคนหนึ่งได้รู้จักตัวเอง ได้รู้จักชุมชน ได้เข้าใจว่าตนเองอยู่ในสังคมยังไง และสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าครูคนนั้นรู้สึกว่าเป็นภาระ ต้องขออนุญาต ต้องทำหนังสือเยอะแยะมากมาย แล้วไม่ได้ตำแหน่งวิชาการใดๆ จากงานนั้นด้วย 

ผมว่าสิ่งสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ครูลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหรือก่อการ คือความรู้สึกว่าเขาเป็นครูเพื่ออะไร แล้วบทบาทของการศึกษาควรเป็นไปเพื่ออะไร”

การวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ควรเป็นกระจกสะท้อนไม่ใช่การตัดสิน

‘เครื่องมือวัดผลลัพธ์การเรียนรู้’ เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน เพราะเครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่ช่วยประเมินว่าเด็กเรียนรู้เนื้อหาได้ตามเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน แต่ยังส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เด็กบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ตามที่คาดหวัง

ดร.ณัฐา เพชรธนู รักษาการผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สำนักทดสอบทางการศึกษามีบทบาทหน้าที่ในการสะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ว่ากระบวนการพัฒนาที่คุณครูวางไว้เกิดผลลัพธ์กับผู้เรียนมากน้อยแค่ไหน ในอดีตเราอาจมองว่าสำนักทดสอบทางการศึกษามุ่งประเมินผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลในเชิงปริมาณ แต่จริงๆ จะเห็นว่าการสะท้อนผลลัพธ์ของผู้เรียนหมายรวมถึงข้อมูลในเชิงคุณภาพด้วย เช่น การซักถาม พูดคุย ซึ่งก็คือความงอกงามเช่นกัน

“ปัจจุบันเราได้พัฒนาหรือว่าจัดกลุ่มตัวชี้วัดซึ่งเป็นเป้าหมายให้เกิดผลลัพธ์กับผู้เรียน ทำให้ครูเห็นชัดว่า เป้าหมายตัวไหนที่สามารถสะท้อนภาพผู้เรียนให้เป็นในเชิงปริมาณได้ ซึ่งแต่ละผลลัพธ์จะมีระยะเวลาในการเห็นความงอกงามที่แตกต่างกัน บางผลลัพธ์อาจใช้เวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง แต่บางผลลัพธ์อาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น บางผลลัพธ์เราใช้ตัดสินความเจริญงอกงามนั้นได้ แต่บางผลลัพธ์เราอาจจะมองได้แค่ว่าเขามีพัฒนาการมากน้อยแค่ไหน 

ที่ผ่านมาเราพยายามสร้างความเข้าใจให้คุณครูใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพราะตัวหลักสูตรเองก็มีลักษณะของผลลัพธ์ของผู้เรียนที่แตกต่างกัน เครื่องมือของคุณครูก็ควรจะต้องสะท้อนภาพผลลัพธ์ให้ตรงกับสิ่งที่หลักสูตรอยากสะท้อนให้เห็น 

อย่างไรก็ดีการที่เรามองผลลัพธ์ของผู้เรียนระยะสั้นด้วยเครื่องมือเชิงปริมาณอาจจะเห็นภาพที่ชัดเจนกว่าแน่นอน ถ้าหากผลลัพธ์นั้นมุ่งที่การพัฒนาก็ต้องเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ แน่นอนว่าครูแต่ละคนจะมีความถนัดในการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้เราอยากให้คุณครูสร้างสมดุลระหว่างข้อมูลในเชิงปริมาณและคุณภาพ” 

ในส่วนของการประเมินระดับชาติ ขณะนี้สำนักทดสอบทางการศึกษาได้พัฒนา ‘เครื่องมือการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test: RT)’ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อช่วยในการวางแผนพัฒนาทักษะด้านการอ่านซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ในระยะยาว

 “บางคนอาจจะมองว่าเด็กเพิ่งขึ้น ป.1 จะวัดประเมินผลเด็กแล้วเหรอ แต่อย่างที่บอกว่ากระจกสะท้อนมีหลากหลายมิติ เครื่องมือประเมินความสามารถด้านการอ่านไม่ได้มุ่งหวังสะท้อนเพื่อเป็นการตัดสิน แต่เรามุ่งหวังให้คุณครูใช้เพื่อสะท้อนผลลัพธ์และวางแผนระยะยาวในการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียนเป็นสำคัญ 

นอกจากนี้เรามีเครื่องมือประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT: National Test) ที่วัดความสามารถเมื่อนักเรียนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เน้นความสามารถด้านการอ่าน และการคิดคำนวณ ซึ่งเป็นฐานสำคัญสำหรับการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดีหากคุณครูใช้เครื่องมือประเมินที่เป็นกระจกสะท้อนอย่างถูกต้องเหมาะสมตามระยะเวลาของการใช้ เชื่อว่าจะช่วยให้ครูสามารถวางแผนการเรียนการสอนที่ทำให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนงอกงามไปตามช่วงวัยได้อย่างแน่นอน”

บูรณาการบทบาทหน่วยงาน ยกระดับคุณภาพ ‘โรงเรียนและผู้เรียน’ 

เพราะการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องขับเคลื่อนร่วมกัน ดร.วรวิชช ภาสาวสุวัศ รองผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) กล่าวถึงก้าวต่อไปในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและผู้เรียน โดยหยิบยกประสบการณ์ที่ได้จากเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้สรุปเนื้อหาออกมาเป็น 2 ภาพคือ ภาพแรกเป็นการถอดบทเรียนในลักษณะของ ‘ห่วงโซ่ผลสัมฤทธิ์ (Results chain)’ ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วน ที่มีความเชื่อมโยงกัน ส่วนแรกคือปัจจัยนำเข้า (Input) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีความคาดหวังจะเปลี่ยนมายด์เซ็ตของผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯ จากยุค 2.0 ให้เป็น 5.0 นั่นคือการใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งต้องสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาให้กับผู้เรียนด้วย

“ส่วนที่สอง คือ กิจกรรม (Activities) เน้นดำเนินการใน 2 เรื่อง คือการ ‘ลดภาระครู’ ซึ่งท่านรัฐมนตรีบอกว่า ‘เราต้องใช้ AI ในการสอนความรู้ และใช้ครูในการสอนความดี’ สองคือ ‘ลดภาระผู้ปกครองและผู้เรียน’ ทำอย่างไรให้เด็กเรียนจบมัธยมศึกษาได้ไวขึ้น เช่น ถ้าเด็กมีความสามารถก็ไม่จำเป็นต้องเรียนมัธยมปลายอีกสามปี และยังมีแนวคิดส่งเสริมให้เด็กหารายได้ระหว่างเรียน สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา 

ในส่วนของผู้บริหารหน่วยงานก็ต้องไม่ติดกับดักกับข้อระเบียบ ส่วนที่สาม คือ ผลผลิต (out put) ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ‘การศึกษาเพื่อความมั่นคง’ ผู้ที่เรียนจบออกมาต้องมีความสามารถทางด้านวิชาชีพ ความสามารถทางการศึกษา และสิ่งสำคัญที่เอกชนสะท้อนมาคือความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงิน กลุ่มที่สองคือ ‘การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ’ ผู้เรียนต้องมีความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ มีความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี และการวิเคราะห์ data analytic”

สำหรับส่วนที่ 4 คือ ผลลัพธ์ (Outcome) ที่ออกมา มุ่งหวังความพึงพอใจของผู้ปกครอง สถานประกอบการ รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาที่รับผู้เรียนขั้นพื้นฐานเข้าสู่ระบบ และสุดท้ายส่วนที่ 5 คือ ผลกระทบ (Impact) ที่เกิดขึ้น คาดหวังว่าจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน 

ดร.วรวิชช เล่าต่อถึงภาพที่สองว่า เป็นภาพการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เป็นองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการและองค์การมหาชนในกำกับ เพื่อให้เห็นการบริหารคุณภาพ หรือ Quality Management ในภาพรวม ถ้าเราเข้าใจระบบการประกันคุณภาพการศึกษา การควบคุมคุณภาพที่เน้นที่ตัวผู้เรียน ผมมองว่าสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. จะต้องให้ความสำคัญตรงนี้ เมื่อมีเป้าประสงค์ว่าผลลัพธ์ของผู้เรียนเป็นอย่างไร สทศ. ต้องมีบทบาทในการวัดผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน ส่วน สมศ. จะทำหน้าที่ในการฟีดแบค หรือประกันคุณภาพภายนอก ฟีดแบคผลลัพธ์ของผู้เรียนเพื่อส่งข้อมูลป้อนกลับไปยังส่วนที่เป็นกระบวนการ input หรือ activities 

นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมสำคัญ คือ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการประกันคุณภาพการเรียนรู้ รวมทั้งยังมีโรงเรียนมหิดลวิทยายุสรณ์ และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจต้องเข้ามาช่วยหน่วยงานหลักจัดการศึกษาเสริมความรู้ผู้เรียน ขณะที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติก็มีส่วนอย่างมากในเรื่องการปลูกฝังวินัย และที่สำคัญคือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีบทบาทช่วยดูแลทั้งสถานศึกษาและผู้เรียนที่ยังขาดความพร้อม

“การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องขับเคลื่อนร่วมกัน หากมองว่า 11 หน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงศึกษาธิการเป็นนักฟุตบอล แน่นอนทุกคนมีตำแหน่งหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็ต้องสามารถส่งต่อลูกบอลให้กันเพื่อพาลูกบอลเข้าสู่ประตูชัยชนะให้ได้ ดังนั้นผมมองว่าความร่วมมือในการวางแผนคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพสถานศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันวางแผนตั้งแต่ต้นทาง”

Tags:

ครูผู้ก่อการทักษะศตวรรษที่ 21All for Educationนิเวศการเรียนรู้โรงเรียนกล้าเปลี่ยนการวัดประเมินผลการเรียนรู้ครู

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 8. การหล่อหลอมความเป็นผู้ก่อการ โดยดำเนินการที่ปัจเจกบุคคล วัฒนธรรม และโครงสร้าง

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 7. ลัทธิบูชาผลงาน

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 3. ความเป็นครูผู้ก่อการ กับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 2. ครูผู้ก่อการคือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

ทำไมเราจึงชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทั้งที่ผลลัพธ์คืออาการเจ็บจี๊ด?
How to enjoy life
19 September 2024

ทำไมเราจึงชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทั้งที่ผลลัพธ์คืออาการเจ็บจี๊ด?

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ‘การเปรียบเทียบ’ เป็นพฤติกรรมที่ฝังรากลึกในมนุษย์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งคนเรา เปรียบเทียบลักษณะตัวเองกับคนอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับในสังคมที่เราอยู่ และใช้การเปรียบเทียบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราจะหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นได้
  • การเปรียบเทียบไม่ได้มีแต่ด้านที่เลวร้าย เราอาจใช้มันเป็นแรงขับดันในด้านที่ดีได้ แต่ก็ควรต้องตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเอง
  • ลองตั้งเป้าหมายและทำสิ่งที่คิดว่าจำเป็นด้วย ‘จังหวะย่างก้าว’ ของตัวเอง รวมถึงพยายามบอกตัวเองว่าเราจะทำให้ดีที่สุดมากกว่าเมื่อวาน ก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

เคยสงสัยกันไหมครับว่า นิสัยการชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นเป็นนิสัยที่ปลูกฝังกันมาจากการเลี้ยงดูและการอยู่ในสังคมหรือฝังอยู่ในดีเอ็นเอของเรากันแน่?

มีการศึกษาวิจัยที่ชี้ว่าเป็นไปได้ว่า การที่เราเป็น ‘สัตว์สังคม’ ทำให้การเปรียบเทียบกับคนอื่นในกลุ่มเป็นเรื่องปกติมากและฝังอยู่ในพันธุกรรมของเราและส่งทอดต่อกันมาผ่านวิวัฒนาการ อันที่จริงแล้วมีการประเมินด้วยว่าความคิดของเราวนเวียนอยู่กับเรื่องการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่มากถึง 10% ของการใช้ความคิดทั้งหมดทีเดียว  

ทำไมคนเราถึงได้หลงใหลได้ปลื้มกับการเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นมากนัก? 

การเปรียบเทียบกับคนอื่นก็มีข้อดีของตัวเอง ไม่งั้นวิวัฒนาการคงไม่เก็บเอาไว้แน่ แนวคิดและคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจจะย้อนกลับไปได้อย่างน้อยก็ถึงปี 1954 เมื่อนักจิตวิทยาสังคมชื่อ ลีออน เฟสทิงเกอร์ (Leon Festinger) ตั้ง ‘ทฤษฎีการเปรียบเทียบเชิงสังคม (social comparison theory)’ ขึ้น ใจความหลักของทฤษฎีนี้ก็คือ 

เราเปรียบเทียบลักษณะตัวเองกับคนอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับในสังคมที่เราอยู่ และใช้การเปรียบเทียบนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราจะหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นได้

อีกทั้งเรามีคุณค่าหรือประโยชน์มากพอให้คนในสังคมนั้นยอมรับเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างไร 

แต่สังคมสมัยใหม่มีความสลับซับซ้อนและมีรายละเอียดของชีวิตให้เปรียบเทียบกันได้มากมาย จนบางครั้งมากเกินไปเสียด้วยซ้ำสำหรับบางคน เพราะแต่ละคนมีความ ‘ชอบเปรียบเทียบ’ มากน้อยไม่เท่ากัน บางคนจึงเกิดความเครียด วิตก กังวล หรือแม้แต่อิจฉาริษยาคนอื่นได้เช่นกัน

คนกลุ่มนี้มีลักษณะจำเพาะบางอย่างดังนักจิตบำบัด แมริสา เพียร์ (Marisa Peer) เจ้าของเว็บไซต์ marisapeer.com ระบุไว้ว่า มักจะเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกไม่มั่นคง และมีความวิตกกังวลอยู่เสมอ จนทำให้มีแนวโน้มจะชอบการเปรียบเทียบมากเป็นพิเศษ 

หากไปสังเกตชีวิตคนเหล่านี้ดู จะพบว่ามีเป็นจำนวนไม่น้อยเลยที่ในวัยเด็กนั้น ‘รู้สึกขาดพร่อง’ ในจิตใจ ไม่ค่อยมีคนสนับสนุนเมื่อทำอะไร ขาดคนยกย่องชมเชยเมื่อทำอะไรสำเร็จ หรือแม้แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอะไรจากผู้ใหญ่ใกล้ตัว จนกลายมาเป็นการขาดความภาคภูมิใจในตัวเองเมื่อโตขึ้น

ในสถานการณ์ย่ำแย่ เช่น สอบตกวิชาใดวิชาหนึ่งหรือโดนให้ออกจากงาน ก็จะยิ่งรู้สึกมากขึ้นไปอีก 

แต่การเปรียบเทียบก็ไม่ได้มีแต่ด้านที่เลวร้าย เราอาจใช้มันเป็นแรงขับดันในด้านที่ดีได้เช่นกัน การเห็นเพื่อนร่วมห้องได้คะแนนดีๆ หรือเพื่อนร่วมงานทำผลได้ดีเยี่ยม ก็อาจใช้เป็นเป้าหมายให้ทำตามได้ด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ก็ควรต้องตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็จะเข้าสู่วงจรอุบาทว์ ตั้งความหวังที่ยากจะเป็นไปได้ จึงเกิดความกดดัน ความกังวลใจ ความเครียด แล้วก็ทำไม่ได้ในที่สุด จนเกิดความทุกข์ ความไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง หรือเลยเถิดไปถึงขึ้นโกรธเกลียดตัวเองไป ในวงการศึกษาสมัยใหม่ มักเน้นไปที่แนวคิดการพัฒนาตัวเองให้ ‘ดีกว่าเมื่อวาน’ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรากำลังจะมีตัวช่วยชั้นดีอย่างเอไอที่อาจมาช่วยออกแบบและสนับสนุนการเรียนให้เหมาะลงไปถึงระดับรายบุคคลได้

คำถามต่อไปนี้สามาถใช้ช่วยตรวจสอบได้ว่า เรากำลังติดกับดักการเปรียบเทียบกับคนอื่นจนมากเกินไปหรือไม่ ลองเช็คดูว่าคุณ ‘เห็นด้วย’ กับข้อความเหล่านี้กี่ข้อนะครับ [3]  

(1) หากมีใครทำสิ่งที่ฉันกำลังตั้งใจทำได้สำเร็จ ฉันรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว 

(2) ฉันใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเพื่อดูว่ามีเพื่อนคนไหนที่มีความสุขมากกว่าหรือประสบความสำเร็จมากกว่าฉันหรือเปล่า 

(3) ฉันมักบอกกับคนอื่นว่าสบายดีและไม่ค่อยยอมให้ใครรู้ว่ากำลังมีปัญหาอะไรอยู่บ้าง

(4) ฉันรู้สึกว่าทุกคนสุขสบายมากกว่าฉัน 

(5) ฉันมักเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตาและความดึงดูดใจของฉันกับคนอื่นเสมอๆ 

(6) ฉันมักรู้สึกเศร้าหรือไม่ก็อิจฉาเวลาคนอื่นได้สิ่งที่ฉันต้องการ และ 

(7) ชีวิตของฉันซ้ำซากและฉันไม่มีประสบการณ์ชีวิตที่ตื่นเต้น

หากคุณตอบว่า “ใช่” เป็นส่วนใหญ่ แสดงว่าคุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากจนเกินไปแล้ว!

มีคำแนะนำเรื่องวิธีป้องกันหรือแก้ไขไม่ให้แต่ละคนตกหลุมพรางการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากเกินไปจนชีวิตเสียหายอยู่มากมายหลายวิธีดังต่อไปนี้ [3-4] สามารถนำไปเลือกใช้ให้เหมาะกับอุปนิสัยหรือจริตของแต่ละคนได้เลยครับ   

คำแนะนำแรก ตรงไปตรงมาคือ ให้ตั้งเป้าหมายของตัวเองและทำสิ่งที่คิดว่าจำเป็นด้วย ‘จังหวะย่างก้าว’ ของตัวเอง อย่าไปวอกแวกกับเรื่องว่าใครทำอะไรสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะอาจจะบั่นทอนกำลังใจได้ทั้งนั้น เน้นไปที่สิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ ที่สำคัญอีกอย่างคือ หากเราทำอะไรที่สำเร็จตามแผน ต้องฉลองให้กำลังใจตัวเองด้วย ต้องแสดงความยินดีกับตัวเองด้วย   

เรื่องที่สองที่ทำได้คือ ตั้งคำถามกับตัวเอง สงสัยให้มากไว้เวลาเกิดอาการเจ็บจี๊ดขึ้นมา เพราะไปเปรียบเทียบอะไรกับใครเข้า ให้ลองถามตัวเองว่า “ฉันรู้สึกอะไรอยู่?” และ “ความรู้สึกนี้มาที่มาจากไหน?” หากลองทำดู ไล่ๆ ไปจะพบว่ามักจะมีจุดตั้งต้นจากความกลัวอะไรบางอย่างหรือไม่ก็จากความขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง สำหรับบางคนวิธีนี้ก็อาจใช้หยุดยั้งอาการดังกล่าวได้

คำแนะนำต่อไปคือ ให้เลิก ‘สร้างภาพ’ ครับ บางคนติดการสร้างภาพ ภาพจะโพสต์บนโซเชียลมีเดียต้องสวยหล่อเท่านั้น อาหารต้องน่ากิน ที่พักต้องน่าอยู่ รถยนต์ต้องดูดีทุกกระเบียด ฯลฯ การอยู่กับความจริง ไม่ต้องหล่อสวยเท่ตลอดเวลาก็ได้ เป็นตัวของตัวเองบ้าง สนุกบ้าง ป้ำๆ เป๋อๆ บ้าง ทำอะไรดูตลกเพี้ยนๆ บ้าง 

เรื่องพวกนี้นำความสงบมาสู่จิตใจได้ไม่มาก ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็น ‘คนสองโลก’ ที่เหนื่อยยาก

แต่ถ้าทำยังไงๆ ก็อดนิสัยต้องแชร์ ต้องเขียนอวดบนโซเชียลมีเดียไม่ได้ สำหรับบางคนการไม่เข้า โซเชียลมีเดียระยะเวลาหนึ่ง คล้ายกับการ ‘อดยาเสพติด’ ก็อาจช่วยได้ เริ่มจากไม่เข้า 1 วันหรือ 2 วัน หรือถ้ายังยากไป ก็เริ่มจากกดยกเลิกการแจ้งเตือนและ ‘อันเฟรนด์’ หรือ ‘อันโชว์’ เพื่อนที่มีแนวโน้มโพสต์อะไรที่จะมากระตุ้นอาการอยากเปรียบเทียบของเราก่อนก็ได้ 

เวลาเข้าโซเชียลก็หมั่นเตือนตัวเองว่า นี่มัน ‘โลกมายา’ การที่เราเห็นคนอื่นมีความสุข สนุกสนาน สบาย หรูหราหมาเห่านั้น เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวด้านหนึ่งของชีวิตของพวกเขา เขาก็มีวันที่แย่ เรื่องเลวร้ายที่ต้องเจอเหมือนกับเรานั่นแหละ แค่ไม่ได้โพสต์ให้เราเห็น 

บางแอปก็อาจลบไปได้เลย ถ้าใจถึงพอ อันนี้เหมาะกับคนที่ต้องการหักดิบ แม้ว่าคุณก็รู้ว่าลบไปแล้ว ก็ยังกลับมาลงแอปพวกนั้นได้อีกแหละนะ 

ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องมองหาตัวช่วย อาจเป็นคนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้แต่คนในกลุ่มบำบัดก็ได้ที่จะคอยให้กำลังใจหรือคำแนะนำ

ข้อสุดท้ายที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ บอกกับตัวเองเสมอว่า “เราแค่ต้องดีกว่าตัวเราเองเมื่อวาน” หากทำเช่นนี้บ่อยๆ ก็จะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน 

เอกสารอ้างอิง

[1] https://openup.com/self-guided-care/blog/comparing-ourselves-to-others/

[2] https://www.psychologytoday.com/gb/basics/social-comparison-theory

[3] Rose Goodman (2023) Psychology Now., Vol. 6, 38-40

[4] https://thrivingcenterofpsych.com/blog/why-do-humans-compare-themselves-to-others-and-how-to-stop/

Tags:

การพัฒนาตนเองการเปรียบเทียบความวิตกกังวล

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • How to enjoy life
    นิสัยเสียที่ฝังในยีน

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    เรื่องเล่าของคนนอนไม่หลับ

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้): คงจะดีกว่านี้ถ้าพ่อพูดอะไรที่คำนึงถึงความรู้สึกเราบ้าง

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Book
    New Year’s Resolutions: อ่าน 7 เล่ม เพื่อเป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • Character building
    Shyness : ความขี้อายไม่ใช่จุดอ่อนเสมอไป

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Digital Diet: สอนให้เด็กบริโภคสื่ออย่างสมดุลเพื่อพัฒนาสมองอย่างมีประสิทธิภาพ
Adolescent Brain
17 September 2024

Digital Diet: สอนให้เด็กบริโภคสื่ออย่างสมดุลเพื่อพัฒนาสมองอย่างมีประสิทธิภาพ

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ‘Digital Diet’ แนวคิดที่จะสร้างสมดุลในการใช้สื่อดิจิทัล โดยเปรียบเทียบ ‘สื่อดิจิทัล’ เป็นเหมือน ‘อาหาร’ อย่างหนึ่งที่ต้องบริโภคอย่างมีสติและเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น การควบคุมเนื้อหาที่เราเสพ หรือการจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล
  • การสร้าง Digital Diet ที่สมดุลควรเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก เพราะจะช่วยให้เด็กมีสมองที่พัฒนาพร้อมสำหรับโลกดิจิทัล ฝึกฝนให้เด็กมีระเบียบวินัยและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดี ซึ่งจะติดตัวเขาไปเมื่อเติบโตขึ้น
  • เด็กสามารถใช้สื่อดิจิทัลได้ แต่ต้องไม่ละเลยกิจกรรมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และยิ่งพ่อแม่ใช้สื่อดิจิทัลมาก ลูกก็ยิ่งใช้สื่อดิจิทัลมากเช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่ก็ควรประพฤติตัวเป็นต้นแบบที่ดีในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสมดุลด้วย

ในยุคปัจจุบัน สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางเทคโนโลยี การเข้าถึงสื่อดิจิทัลจึงกลายเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สมองของเด็กกำลังพัฒนา การใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้โดยขาดความระมัดระวังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและสุขภาพจิตได้

เมื่อการเข้าถึงสื่อดิจิทัลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีการพัฒนาแนวคิดที่จะสร้างสมดุลในการใช้สื่อดิจิทัลที่เรียกว่า ‘Digital Diet’ โดยเปรียบเทียบ ‘สื่อดิจิทัล’ เป็นเหมือน ‘อาหาร’ อย่างหนึ่งที่ต้องบริโภคอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกาย

เมื่อ ‘สื่อดิจิทัล’ คือ ‘อาหาร’ ชนิดหนึ่ง

อย่างที่เราทราบกันดีว่า การเลิกกินอาหารชนิดหนึ่งโดยสิ้นเชิงอาจไม่เป็นผลดี เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น แต่การกินอาหารชนิดหนึ่งมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน ดังนั้น การกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการใช้สื่อดิจิทัล

การใช้สื่อดิจิทัลในปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดี แนวคิด ‘Digital Diet’ จึงหมายถึง การจัดการการใช้สื่อดิจิทัลอย่างมีสติและเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี เช่น การควบคุมเนื้อหาที่เราเสพ หรือการจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล

แล้ว ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ ส่งผลต่อสมองเราอย่างไร?

จากบทความวิจัยในวารสาร Dialogues in Clinical Neuroscience ปี 2020 เผยว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่อสมองในเชิงบวกและเชิงลบ 

ผลในเชิงลบ: การใช้เวลาบนหน้าจอมากเกินไปมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพจิตและสมองหลายประการ เช่น โรคสมาธิ (ADHD), ความบกพร่องทางอารมณ์และสังคม, การเสพติดหน้าจอ, การแยกตัวออกจากสังคม, พัฒนาการทางสมองและการรู้คิดที่แย่ลง และการรบกวนการนอน

ผลในเชิงบวก: การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสมสามารถช่วยพัฒนาสมองและสุขภาพจิตได้ เช่น การออกกำลังกายสมองผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล, การฝึกฝนทักษะการรู้คิดผ่านการจดจำข้อมูล, การเพิ่มความไวในการตอบสนองผ่านการเล่นเกม และการใช้แอปพลิเคชันเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

สรุปคือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การใช้งานที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ส่วนการใช้งานในปริมาณที่เหมาะสมและเลือกเนื้อหาที่มีคุณภาพ จะส่งผลดีต่อร่างกาย 

การสร้าง Digital Diet ที่สมดุลให้กับเด็ก

การปลูกฝังการบริโภคสื่อดิจิทัลอย่างสมดุลควรเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก เพราะนอกจากจะช่วยให้เด็กมีสมองที่พัฒนาพร้อมสำหรับโลกดิจิทัลแล้ว ยังช่วยฝึกฝนให้เด็กมีระเบียบวินัยและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดี ซึ่งจะติดตัวเขาไปเมื่อเติบโตขึ้น

จากบทความวิจัยในวารสาร Infant and Child Development ปี 2022 ได้เสนอแนวคิด Digital Diet ที่เหมาะสมสำหรับเด็กไว้ให้พิจารณาใน 4 แง่มุมต่อไปนี้

  1. ประเภท (Type)

เมื่อเด็กใช้สื่อดิจิทัล ควรเน้นให้เด็กใช้สื่อแบบ ‘แอ็กทีฟ’ มากกว่า ‘แพสซีฟ’ ซึ่งการใช้สื่อแบบ ‘แอ็กทีฟ’ จะกระตุ้นและส่งเสริมทักษะการรู้คิด (Cognitive Skills) ให้กับเด็ก เช่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การให้เหตุผล การใช้ภาษา เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เกมเพื่อการศึกษา เกมแก้ปริศนา วิดีโอคอลกับญาติผู้ใหญ่

ส่วนการใช้สื่อแบบ ‘แพสซีฟ’ จะเน้นการดูเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการคิดวิเคราะห์หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาเหล่านั้นมากมาย ตัวอย่างเช่น การดูวิดีโอ การเลื่อนดูฟีดในโซเชียลมีเดีย

แม้ว่าการดูวิดีโอเฉยๆ จะเป็นการใช้สื่อแบบแพสซีฟ แต่เราสามารถเปลี่ยน ‘สื่อแพสซีฟ’ เป็น ‘สื่อแอ็กทีฟ’ ได้ด้วยการให้ผู้ใหญ่ร่วมดูสื่อและพูดคุยกับเด็ก เมื่อมีผู้ใหญ่ร่วมดูด้วย เด็กจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้รับคำแนะนำต่างๆ ซึ่งดีกว่าการให้เด็กนั่งดูคนเดียวตามลำพัง

  1. ปริมาณ (Amount)

การควบคุมปริมาณหมายถึงการพิจารณาจำกัดเวลาใช้สื่อดิจิทัล เทคนิคที่นิยมสำหรับการจำกัดเวลา คือ การจำกัดเวลาหน้าจอ (Screen Time) โดย Australian Institute of Family Studies (AIFS) แนะนำเวลาหน้าจอสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุไว้ดังนี้

  • อายุน้อยกว่า 2 ปี – ไม่ควรใช้หน้าจอเลย
  • อายุ 2-5 ปี – ไม่ควรใช้หน้าจอเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 5-17 ปี – ไม่ควรใช้หน้าจอเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน (ไม่รวมเวลาทำการบ้าน)

อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้เราดูงานศึกษาเหล่านี้ไว้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (2564) แนะนำว่า “การพูดคุยมีความสำคัญมากกว่าการตั้งกติกา” พ่อแม่ควรใช้การพูดคุยร่วมกันกับลูกเพื่อตั้งเป็นกติกา ไม่ใช่พ่อแม่เป็นฝ่ายตั้งกติกาแล้วให้ลูกทำตาม เมื่อพ่อแม่รับฟังลูก ลูกจะรับข้อเสนอของพ่อแม่ได้ไม่ยาก

นพ.ประเสริฐยังแนะนำอีกว่า “หลัง 7 ขวบเราควรเลิกกำหนดกติกาเวลาได้แล้ว” เพราะตามจิตวิทยาพัฒนาการ เด็กโตและวัยรุ่นตอนต้นเริ่มมีการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองแล้ว ซึ่งอัตลักษณ์บางส่วนหรือหลายส่วนเองอยู่บนโลกออนไลน์ การจำกัดเวลาในช่วงวัยนี้อาจไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก

นอกจากนี้ การปล่อยให้เด็กใช้หน้าจออย่างไม่จำกัดเวลาอาจทำให้เด็กเกิดอาการหงุดหงิดเหมือนคนลงแดงเมื่อต้องเลิกใช้หน้าจอ การสังเกตว่าเด็กใช้หน้าจอมากเกินไปหรือไม่ให้ดูจากอาการ ‘ตาปรือ’ อย่าปล่อยให้เด็กใช้หน้าจอจนตาปรือ

การป้องกันอาการเหมือนคนลงแดงหลังเลิกใช้หน้าจอสามารถทำได้ด้วยเทคนิคเผื่อเวลาเลิก 5 นาที เช่น กำหนดให้เล่นเกมได้ 1 ชั่วโมง เมื่อถึง 55 นาทีแล้วให้ลูกเตรียมตัวเลิกเล่นเลย เวลา 5 นาทีที่เหลือเอาไว้สำหรับการเลิกเล่นและเก็บของ

  1. สมดุล (Balance)

เด็กควรมีสมดุลระหว่าง ‘การใช้สื่อดิจิทัล’ และ ‘กิจกรรมอื่นๆ’ กล่าวคือ เด็กสามารถใช้สื่อดิจิทัลได้ แต่ต้องไม่ละเลยกิจกรรมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิสัมพันธ์ทางสังคม, กิจกรรมทางกายภาพ และเวลานอกบ้าน สื่อดิจิทัลอาจนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในกิจกรรมเหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถแทนที่กิจกรรมเหล่านี้ได้

มีงานวิจัยพบว่า ‘ระยะเวลาที่พ่อแม่ใช้สื่อดิจิทัล’ มีความสัมพันธ์กับ ‘ระยะเวลาที่ลูกใช้สื่อดิจิทัล’ กล่าวง่ายๆ คือ ยิ่งพ่อแม่ใช้สื่อดิจิทัลมาก ลูกก็ยิ่งใช้สื่อดิจิทัลมากเช่นกัน จากงานวิจัยนี้สามารถอนุมานได้ว่า ลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบพ่อแม่ หากเราต้องการให้ลูกใช้สื่อดิจิทัลอย่างสมดุล พ่อแม่ก็ควรประพฤติตัวเป็นต้นแบบที่ดีในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสมดุล

  1. จังหวะเวลา (Timing)

การใช้สื่อดิจิทัลต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกิจวัตรอื่นๆ ของเด็ก กล่าวคือ สอนให้เด็กรู้ว่าเวลาไหนควรหรือไม่ควรใช้สื่อดิจิทัล เช่น เวลากินข้าวไม่ควรใช้หน้าจอ เพราะจะทำให้เด็กไม่สนใจการกินข้าวและเป็นการสร้างนิสัยแบบผิดๆ ทำให้ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง

อีกทั้งการใช้สื่อดิจิทัลในจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้ เช่น ‘เวลาก่อนนอน’ ในเวลานั้นไม่ควรให้เด็กใช้หน้าจอ เพราะแสงสีเสียงจากหน้าจอจะกระตุ้นเร้าทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สบาย หรืออาจทำให้นอนดึกขึ้น เพราะมัวแต่ดูหน้าจอจนลืมเวลา

สรุปแล้ว การสร้างสมดุลในการใช้สื่อดิจิทัลไม่ใช่เรื่องสำหรับเด็กเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมือนกับการเลือกรับประทานอาหาร เราต้องเลือกเสพสื่อที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลต่อไป

อ้างอิง

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2564). อ่าน ‘หน้าจอ-โลกจริง’ กับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (1), (2), (3).

Bidgood, A., Taylor, G., Kolak, J., Bent, E.M., & Hickman, N. (2022). A balanced digital diet for under 5s: A commentary on Orben (2021). Infant and Child Development, 31(3), e2292.

Joshi, A., & Hinkley, T. (2021). Too much time on screens? Screen time effects and guidelines for children and young people. Australian Institute of Family Studies.

Orben, A. (2022). Digital diet: A 21st century approach to understanding digital technologies and development. Infant and Child Development, 31(1), e2228.

Poulain T., Ludwig J., Hiemisch A., Hilbert A., & Kiess W. (2019) Media Use of Mothers, Media Use of Children, and Parent–Child Interaction Are Related to Behavioral Difficulties and Strengths of Children. International Journal of Environmental Research and Public Health, 16(23), 4651.

Small, G.W., Lee, J., Kaufman, A., Jalil, J., Siddarth, P., Gaddipati, H., Moody, T.D., & Bookheimer, S.Y. (2020). Brain health consequences of digital technology use. Dialogues in Clinical Neuroscience, 22(2), 179–187.Safes. (2024). What Is a Digital Diet and Why Is It Important for Our Children?

Tags:

สมองDigital Dietปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเทคโนโลยีดิจิทัลพฤติกรรมเลียนแบบพ่อแม่

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Dr.Yongyud-1
    How to enjoy life
    จิตวิทยาสติ (Modern Mindfulness) ทางเลือกในการดูแลจิตใจและรับมือกับความเครียด: นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • positive-parenting-nologo
    Adolescent Brain
    Positive Parenting: เลี้ยงลูกด้วย ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ เสริมสร้างสมองที่แข็งแกร่ง

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    ‘อยากจำกลับลืม’ เข้าใจการทำงานของสมอง เพิ่มประสิทธิภาพการจดจำให้แม่นยำและยืนยาว

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • How to get along with teenagerAdolescent Brain
    รู้ใจวัยรุ่น…ผ่านตัวตน สมอง และฮอร์โมน

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Adolescent Brain
    สมองแบบติ๊กต่อก: จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเด็กเข้าไปอยู่ในร้านลูกกวาดที่กินเท่าไรก็ได้?

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

ถอดบทเรียน ‘Whole School Approach’ เด็กเปลี่ยน เพราะโรงเรียนปรับ
Social Issue
12 September 2024

ถอดบทเรียน ‘Whole School Approach’ เด็กเปลี่ยน เพราะโรงเรียนปรับ

เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) หมายถึงการพัฒนาโรงเรียนโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การเรียนการสอน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับชุมชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียน
  • เป้าหมายสูงสุดของ Whole School Approach คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนให้ดีขึ้น ทั้งในด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และคุณลักษณะที่ดี โดยเน้นการเรียนรู้แบบองค์รวมและการแก้ปัญหาจริง เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
  • การประสบความสำเร็จของ Whole School Approach ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วนในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้อำนวยการ และชุมชน โดยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการวางแผน ปฏิบัติ และประเมินผล

เพราะโลกเปลี่ยน ผู้เรียนเปลี่ยน โรงเรียนจึงต้องเปลี่ยน นี่คือคอนเซปต์ของเวทีเสวนา ‘โรงเรียนกล้าเปลี่ยน’ ในงานมหกรรม ‘รวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน All For Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน’ โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เปิดเวทีให้คุณครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทาง การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach)

‘Whole school approach’ ตามความหมายของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) หมายถึงการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการ ระบบการจัดการเรียนการสอน ระบบการประกัน คุณภาพภายใน ระบบการพัฒนาบุคลากร การดูแลนักเรียนให้ทั่วถึง ระบบสนับสนุน ฯลฯ เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะทำให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทั้งระบบ

โอกาสนี้ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงสาระสำคัญของ Whole school approach ว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง จะเกิดขึ้นและสำเร็จได้เมื่อทุกคนมีความเข้าใจ มองเป้าหมายเดียวกัน และทำงานร่วมกัน

“ถ้าเราจะพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของเด็กโดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจน ต้องมองทั้งระบบของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการโรงเรียน การเรียนการสอน สองเรื่องนี้เป็นคำใหญ่ๆ ที่มันเกิดขึ้นในระบบโรงเรียน ซึ่งจริงๆ มันมากไปกว่านั้น เพราะว่าห้องเรียนคงไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียนอีกต่อไป บทบาทการสร้างเด็ก พัฒนาเด็ก แก้ปัญหาให้เด็ก ไม่ใช่อยู่ในมือครูแต่เพียงลำพัง” 

ทุกคนร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ All Well-Being 

“ผมมองว่าระบบการศึกษาถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ แต่ว่ากระบวนการเรียนรู้ ระบบการเรียนรู้มันเกิดขึ้นด้วยธรรมชาติ ทีนี้มันประหลาดมากเลยที่เราพยายามจะละทิ้งความเป็นธรรมชาติในการเรียนรู้ มาทำระบบที่เราสร้างขึ้น 

เพราะฉะนั้นคุณค่าความหมายของการศึกษาที่เป็น Whole school approach ผมมองว่ามันเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์เรียนรู้แบบองค์รวม ทั้งองค์รวมในคนๆ หนึ่ง และองค์รวมที่เชื่อมกันอยู่ในทุกภาคส่วน ผมให้นิยามเชื่อมไปทั้งสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย เพื่อจะนำไปสู่ความเป็น Well-Being แบบองค์รวม All Well-Being ที่ทุกคนจะต้องมีความสุขไปด้วย”

ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา อธิบายหลักคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังการออกแบบการเรียนรู้ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา 

“มนุษย์เรียนรู้ผ่านการซึมซับกับผ่านการเรียนรู้แบบตั้งใจเรียนแบบพุ่งเป้า ผมเรียก ‘การเรียนรู้แบบซึมซับ’  และ ‘การเรียนรู้แบบพุ่งเป้า’ นี่เป็นองค์ประกอบใหญ่ที่ทำให้เกิด Whole school approach 

ที่ผมพูดว่าเรียนรู้ๆ เนี่ยคือทุกคนนะครับ แม้แต่ต้นไม้หรือจุลินทรีย์ที่อยู่ในโรงเรียน ก็แปลว่าทั้งครู ทั้งเด็ก ทั้งผู้ปกครอง หรือองคาพยพเกี่ยวข้องหมด เพราะถ้าจะเป็น Whole school approach องค์ประกอบสองอย่างนี้สำคัญมาก คือทำยังไงที่จะเรียนรู้ผ่านการซึมซับที่มีความหมายเพื่อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ซึมซับเนี่ยมันเป็นนามธรรมมากเลย เขาจะเรียนอะไร พอเข้าไปโรงเรียนก็เรียนจาก Culture เรียนจากวัฒนธรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน วิธีคิดของคน ค่านิยม ความเชื่อ อะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่นามธรรมมาก แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการทำให้คนๆ นึงเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้”

“องค์ประกอบที่สองคือ วิจารณญาณ ที่เราจะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้แบบพุ่งเป้าได้อย่างตรงจุด ถ้าให้ผมมองว่าอะไรสำคัญที่สุดในสองปัจจัยนี้ ผมก็ยังมองว่า การออกแบบแบบพุ่งเป้าสำคัญกว่า เพราะพุ่งเป้าเป็นวิธีการที่มนุษย์คนนึงจัดกระทำ ถ้าคนเข้าไปจัดกระทำอย่างไม่มีวิจารณญาณกลายเป็นการทำให้การเรียนรู้นั้นไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”

ครูใหญ่วิเชียรเสริมในเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ว่า “วิธีการออกแบบทำให้มนุษย์เรียนรู้มันง่ายมากนะ เราไม่พูดถึงหลักสูตรด้วยซ้ำไป เพราะว่าบริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว เขาต้องเรียนเพื่อไปใช้ในบริบทใหม่ 

สิ่งที่เราทำได้ก็คือกระตุ้นให้เขาคิด และกระตุ้นให้เขาแก้ปัญหาอยู่บ่อยๆ จนเกิดทัศนคติที่ดีต่อปัญหา เกิดทัศนคติที่ดีต่อการคิดที่จะแก้ปัญหา จะกลายเป็นหนทางรอด โดยที่เราไม่กำหนดเลยนะว่าเขาต้องมีคุณลักษณะอย่างไร”

“การจัดการเรียนรู้แบบพุ่งเป้าง่ายที่สุดคือ เราออกแบบให้เขาเกิดการคิดและแก้ปัญหา เพราะว่าการคิดและแก้ปัญหาในที่สุดมันจะมีวงจรหนึ่งที่เขาจะไปเจอปัญหาใหม่ๆ อยู่เสมอ ในบริบทโลกที่มันเปลี่ยนแปลง วงจรนี้เขาจะกลับมาใช้ได้ตลอดเวลา”

นอกจากนี้ ครูใหญ่วิเชียรยังให้ความเห็นถึงบทบาทผู้อำนวยการในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบด้วยว่า “ในการที่จะเป็น Whole school approach ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ทุกกลุ่ม ทั้งตัวผอ. ครู ผู้ปกครอง รวมถึงโรงเรียนเครือข่าย ผมมองว่าเราดีไซน์ได้ แล้วก็ออกแบบกลไกที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ทุกกลุ่ม อย่างลำปลายมาศพัฒนาเราก็มีนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของครูเราเรียกว่า PLC (Professional Learning Community) ที่มีคุณภาพ แล้วก็ย้ำว่า PLC ที่มีคุณภาพ องค์ประกอบของมันเชื่อมร้อยกันอยู่เป็นองค์รวม”

“สำหรับผู้ปกครองเราก็มีนวัตกรรมที่เรียกว่า CoP ซึ่งมาจาก Community of Prop ที่แปลว่าการเรียนรู้ของเสาหลัก มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจในสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งเข้าใจลูกแต่ละวัย เรื่องที่สองเข้าใจเรื่องการเรียนรู้มันคืออะไร แล้วเขาจะช่วยลูกได้ยังไง แล้วก็เรื่องที่สามเขาเข้าใจวิธีการที่ลูกเขาเปลี่ยนไปในแต่ละวัยเพื่อให้รับมือได้ 

และในส่วนเครือข่ายเองเราก็มีนวัตกรรมที่เรียกว่า PLN – Presonal Learning Network แล้วก็กลไกในการทำงานร่วมกันตลอดเวลา เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน องคาพยพในการเรียนรู้เคลื่อนตัวไปตลอดเวลา แต่ว่ากลไกพวกนี้ก็ต้องออกแบบใหม่อยู่เรื่อยๆ ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ส่วนเด็กเราออกแบบให้เขาได้ร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PBL – Problem based learning จะเป็นกระบวนการที่มีอยู่ทุกวิชาเลย”

นอกจากนี้ ครูใหญ่วิเชียรยังชี้ให้เห็นว่า นักเรียนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน ก็ต่อเมื่อเขาเป็นสิ่งรบกวน หมายความว่าเมื่อไหร่ที่นักเรียนไม่รู้ เขายังทำไม่ได้ เขาจะกลายเป็นสิ่งรบกวนที่ทำให้ครูหันมาร่วมมือกันเรียนรู้ 

“ถ้าเราจะพูดถึงเป้าหมายใหญ่ของกระบวนการทางการศึกษา สิ่งรบกวนนี้ก็จะทำให้องคาพยพของโรงเรียนนั้นเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น แล้วก็ช่วยเหลือเขาได้มากขึ้น แต่มากกว่านั้นภายใต้สิ่งที่ผมพูดคือ ในการออกแบบการเรียนรู้ทุกครั้ง หน่วยการเรียนบูรณาการ PBL ของเราจะต้องเอามาจากสภาพและบริบทที่เด็กเผชิญอยู่ ทั้งหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ภาค หรือโลก แล้วเวลาเรียนรู้ ความคาดหวังของเรา เราหวังว่าเขาจะเอาสิ่งที่เรียนรู้กลับมาใช้ในชีวิต ในชุมชน แล้วก็กลับมาใช้ในโลก 

มันมีประโยคหนึ่งที่อยู่หัวหน่วยการเรียนคือ What can I do, Where I am. หมายความว่าทุกครั้งที่เขาเรียนรู้อะไรลงไปเขาต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ฉันสามารถทำอะไรได้ในสิ่งที่ฉันเรียนรู้นี้, ฉันสามารถที่จะทำอะไรกลับไปได้ในสิ่งที่ชุมชนฉันต้องการ เช่น หน่วยป.3 เด็กเรียนเรื่องน้ำพริก เพราะเด็กไม่กินน้ำพริก ไม่กินผัก เรารู้สึกว่ามันคือสภาพที่เป็นปัญหาในอนาคตถ้าเด็กไม่รู้จักกินอาหารที่หลากหลายหรือกินอาหารประเภทผัก ก็มาเรียนเรื่องน้ำพริกใน 10 สัปดาห์ เขาก็จะตอบคำถามเรื่องนั้น เอากลับไปทำที่บ้าน ชวนพ่อแม่ทำน้ำพริก เขารู้จักผักพื้นบ้านหลายๆ ชนิด อันนี้ต่างหากที่ผมมองว่าหน้าที่ของเด็กที่จะกลับมาช่วย Whole school approach ไม่ใช่แค่ช่วยโรงเรียน แต่ช่วยชีวิตเขาแล้วก็ช่วยชุมชน ช่วยครอบครัว ช่วยโลกด้วยในฐานะที่เขาเป็นแค่นักเรียนนะ”

เพราะฉะนั้นคอนเซปต์ง่ายๆ ก็คือ ‘ทุกคนร่วมมือกันเรียนรู้’ ครูร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PLC ผู้ปกครองร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน CoP เด็กร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PBL แล้วก็เครือข่ายร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PLN

เปลี่ยนโรงเรียนเริ่มต้นที่ผู้บริหาร สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง

เมื่อคุณค่าความหมายของ Whole school approach คือการเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ผู้ที่หยิบเครื่องมือนี้มาใช้คนแรกจึงต้องเป็น ผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการโรงเรียน แล้วตามด้วยครู ส่งต่อไปยังนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน 

“ทำไมเราต้องทำ Whole school approach ผมแชร์ในมุมมองของผมว่า Whole school approach เป็นกระบวนการยกระดับ คุณค่ามันคือเพื่อใช้ยกระดับคุณภาพการศึกษาแต่ว่าเป็นคุณภาพที่มันใช่นะ มันต้องมีสัมมาทิฏฐิทางการศึกษาที่ถูกต้อง” 

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี ชี้ถึงความสำคัญของเครื่องมือนี้ และขยายความถึงองค์ประกอบสำคัญในการทำให้โรงเรียนพัฒนาทั้งระบบเกิดขึ้นได้จริง  

“Whole school approach มันจะมาพร้อมกับระบบโรงเรียน ผมจะเห็นทั้งลำปลายมาศ ทั้งรุ่งอรุณที่มีระบบของตัวเอง และคิดว่าจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ของพื้นที่ตรงนั้น แล้วคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Whole school approach ก็คือพอเราทำจนติดเป็นวัฒนธรรมแล้ว มันทำให้เกิดความยั่งยืน ถ้าเราเห็นคุณค่าตรงนี้องค์ประกอบหลักๆ ที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นตัวแรกเลยคือเรื่องของการร่วมมือกัน การมีส่วนร่วมของแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ทุกภาคส่วนเลยที่พัวพันกัน จะเป็นทั้งรอบๆ โรงเรียน ตั้งแต่จากเขต จากพื้นที่ จากสพฐ. ลงมาที่โรงเรียน หรือแม้แต่ในบริบทของชุมชน เรื่องของฝ่ายบริหาร ฝ่ายจัดการเรียนรู้ รวมทั้งตัวนักเรียนและผู้ปกครองที่จะต้องเข้ามามีบทบาทร่วมกัน”

ดังนั้น หัวใจสำคัญของ Whole school approach ในสายตาของดร.ศุภโชค คือ การมีระบบหรือกลไกขับเคลื่อนเป็นของตัวเอง และการมีส่วนร่วมของแต่ละส่วนในการทำงานร่วมกัน รวมไปถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานลักษณะนี้ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่เกิดการโยกย้ายผู้อำนวยการ

“ทีนี้ในบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน จะต้องมี Collective leadership คือผู้บริหารที่สร้างผู้นำร่วม อันนี้จะนำมาซึ่งองค์ประกอบแรกที่สำเร็จคือเรื่องของการมีส่วนร่วม ผู้บริหารในยุคของการทำ Whole school approach จะลดการสั่งการ จะลดการคอมมานด์ จะลดการบังคับให้ทำ เราอาจจะต้องมีแรงเสียดทานดูบ้างสำหรับผู้บริหารโรงเรียนนะครับ เพราะเราจะถูกสั่งจากข้างบนประจำเลย ทีนี้ถ้าเราคุ้นเคยจากการสั่งข้างบนแล้วเรากดต่อ Whole school approach จะไม่เกิดจากการมีส่วนร่วมกันจริงๆ 

เราจะต้องฝืนวิธีคิดบางอย่างเพื่อปลุกเร้าพลังของคนในบริบทของเราให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมให้ได้ ผู้บริหารจะต้องแชร์เยอะๆ ทำตัวเราให้เล็ก ทำตัวเขาให้โตขึ้น อันนี้เป็นบทบาทแรกของผู้บริหาร 

พอเราทำแบบนี้ ความต้องการ ทิศทางการช่วยเหลือ บทบาทของครู ผู้ปกครอง นักเรียนจะเริ่มตามมา เขาอาจจะสามารถเข้ามาให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับนวัตกรรมที่เรากำลังใช้อยู่ว่ามันใช่ไหม มันโดนเขาไหม เกิดประโยชน์ต่อลูกหลานเขาไหม หรือคุณครูก็สามารถฟีดแบคข้อมูลกันได้ นี่แหละคือหัวใจสำคัญของ Whole school approach เพราะฉะนั้นถ้าเราสตาร์ทจากผู้บริหารที่แชร์ได้มาก แล้วก็สร้างการมีส่วนร่วมได้สูง บทบาทของครู ผู้ปกครอง ก็จะเกิดขึ้นตามมาสูงขึ้น”

ที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมต้องมาพร้อมกับการสร้างความเข้าใจ ดร.ศุภโชค มองว่า “บทบาทที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือการทำให้มันยังคงอยู่ร่วมกัน การรักษาไว้ การสร้างวิถีร่วมกัน ซึ่งการสร้างด้วยตัวผู้นำเองอย่างเดียวก็จะช้าหน่อย แต่ถ้าเราทำให้ครูลุกขึ้นมาสร้างการเรียนรู้ ผู้ปกครองสนับสนุน ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง เป็นวิถีการทำงานที่เข้มแข็งต่อไป”

นอกจากนี้ นักเรียนเองก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาโรงเรียนด้วย โดยในบริบทของโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี ดร.ศุภโชค เล่าว่า “แบ็คกราวด์ของโรงเรียนผมคือมีหลายเผ่า อาข่า ลาหู่ จีน ยูนนาน ไทใหญ่ สิ่งแรกที่เราพยายามสร้างบทบาทนักเรียนก็คือการเรียนรู้และปรับตัวให้อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข แต่ละเผ่าเขาก็จะมีวัฒนธรรม วิถี ความเชื่อ ภาษาที่แตกต่างกัน เราโฟกัสไปที่การเรียนรู้และการปรับตัวในการอยู่ร่วมกัน และทำให้เขาได้มีโอกาสได้รีเฟลกซ์ตัวเอง สะท้อนความต้องการความคาดหวังกี่ยวกับโรงเรียนให้เราได้รับฟัง ซึ่งตรงนี้ถ้าเขาไม่ได้ถูกเราไปออกแบบกระบวนการบางอย่างไว้ เราก็จะไม่ได้รับข้อมูลชุดนี้ แต่พอเราทำเป็นวิถีแล้วเด็กก็มีโอกาสได้เขียนโพสอิทบ้าง ระดมสมองบ้าง พูดคุยในวงที่เราออกแบบไว้ก็จะทำให้เราได้รับการตอบสนอง ว่าเขาอยากจะได้อะไร อยากให้ครูทำยังไง อยากให้โรงเรียนทำยังไง อยากให้ผอ.ทำยังไง 

และที่เห็นชัดเจนก็คือพอเขาต้องการระดับหนึ่งเราก็ตีกลับไปว่า สิ่งที่เขาต้องการมันทำในความเป็นจริงได้ไหม เช่น มีเด็กป.6 มาขอไว้ผมยาว อันนี้เหตุการณ์สัก 7-8 ปีก่อน เราก็ตีกลับไปว่า ถ้าไว้ผมยาวแล้วหนูจะดูแลเหาตัวเองได้ใช่ไหม ก็เป็นข้อตกลงร่วมกัน ในที่สุดแล้วเรื่องนี้ถูกนำเข้าไปในที่ประชุมสภานักเรียน กลายเป็นข้อตกลงที่ใช้ทั้งโรงเรียน ซึ่งมีอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องของการรับประทานอาหารแบบไหน เรื่องของการจัดการขยะในห้องเรียน เรื่องของการอยู่ร่วมกันตามกติกา เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้ถูกสั่งลงไปจากครู ไม่ได้กดดันไปเป็นระเบียบของโรงเรียน แต่เป็นข้อตกลงที่เกิดจากนักเรียนร่วมกันสร้างขึ้น 

ผมว่า Whole school approach น่าจะเป็นระบบที่ช่วยให้เราได้รับข้อมูล ได้สร้างระบบการเรียนรู้และการปรับตัวให้เป็น และนำมาซึ่งข้อตกลงที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”

เปลี่ยนมายด์เซ็ตครู พาเด็กเรียนรู้สู่การเผชิญโลกจริง 

นอกจากการปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ตของผู้นำทัพแล้ว ครูเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน อาจารย์สืบศักดิ์ น้อยดัด อาจารย์ประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ มองว่าต้องเริ่มจากการที่ครูกล้าทะลุตัวเองออกไปจากภาพเดิมที่เรียนแค่ท่องจำ 

“ผมคิดว่าในบทบาทตรงนี้ มันควรเริ่มจากการย้ายมายด์เซ็ตของตัวเองเข้าไปสู่การเผชิญโลกจริง เพราะทุกคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษารู้ดีว่ามีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก เปลี่ยนทุกวันเหมือนกัน ความรู้ใหม่เราต้องเสพเข้าเกือบทุกวัน ก็เลยคิดว่าถ้าเราเริ่มย้ายมายด์เซ็ตตรงนี้ได้ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง ที่เราจะเข้าไปร่วมรู้สู่ความเป็น Whole school approach” 

“ผมแชร์ประสบการณ์ที่สถาบันอาศรมศิลป์มีโอกาสได้ทำงานในเชิงพื้นที่ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนการศึกษานำร่องของพื้นที่นวัตกรรม 20 จังหวัดที่เราต้องช่วยขับเคลื่อนวิกฤตในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านหลักสูตรสถานศึกษาที่มุ่งเน้นฐานสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์กับโลกปัจจุบัน อีกทางนึงเราก็กำลังขับเคลื่อนให้กับกลุ่มโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศที่เราจะเห็นโรงเรียนเอกชนลุกขึ้นมาให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับเปลี่ยนภาพมุมมองไปแบบ Whole school เพราะฉะนั้นตัว Whole school ก็จะเข้าไปมีผลสำหรับการจัดการระบบในโรงเรียนที่มีหลากหลายปัจจัย แต่ถ้าเป็นในหน่วยงานสถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ เราใช้ความเติบโตความงอกงามมาจากฐานคิดของการเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ที่ใช้หลักพุทธธรรมที่ท่านรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน ใช้หลักคิดพุทธธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็โยนิโสมนสิการ มาทำนวัตกรรมการจัดการศึกษาแบบองค์รวม ก็คือ Holistic Education”

อาจารย์สืบศักดิ์ อธิบายต่อว่า การจัดการศึกษาแบบองค์รวมนี้ ขับเคลื่อนไปกับการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบด้วย 7 change 

“ผมมองว่าเป้าหมายของ Whole school มันต้องรู้ตั้งแต่เป้าหมายที่แท้ของโรงเรียนว่าทำโรงเรียนขึ้นมาเพื่อจะสร้างใคร แล้วถ้าเราโฟกัสไปที่เอาชีวิตเด็กเป็นตัวตั้งของการทำการศึกษา อาจจะเป็นโจทย์หนึ่งที่สำคัญในการใช้ลูปของ Whole school เคลื่อน 

มิติของตัวผู้บริหารต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตเปลี่ยนมุมมอง ต่อไปก็ต้องเป็นครูมืออาชีพ หรือครูที่เป็นนักออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งกระบวนการสอนของครูที่จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของการใช้นวัตกรรมก็ดี ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนก็ดี 

และที่สำคัญก็คือหลักสูตรสถานการศึกษาก็ต้องปรับไปด้วย จากนั้นก็ต้องเชื่อมโยงไปถึงพื้นที่ Area Based ที่เขาจะต้องเปลี่ยนทั้งในโรงเรียนแล้วก็นอกห้องเรียนที่เปิดโลกให้กับเด็ก รวมไปถึงสุดท้ายก็คือเรื่องของการวัดและประเมินผล ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเคลื่อนโรงเรียนแบบไม่แยกส่วน”

“ตัวผมเองเชื่อมั่นว่าถ้าเรามองเด็กโดยที่ตัวครูเป็นผู้ที่ศรัทธาในตัวเด็กก่อน แล้วทำยังไงให้เด็กเขารู้จักศรัทธาในตัวเอง ผมว่าการเรียนรู้ในโรงเรียน เด็กทุกคนเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ ต่อให้เขาอยู่ในบริบทในเมืองหรือว่าภูเขาสูง

เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าถ้าเรามีเป้าหมายชัดในความเป็น Whole school ที่มีเป้าที่แท้ ว่าเราจะพัฒนาเด็กคนนึงให้เขาไปเติบโตหรือบรรลุผลด้วยเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เด็กเองเขาก็จะสามารถที่จะเรียนรู้ เพราะแน่นอนผู้ปกครองเลือกที่จะให้เด็กมาเรียนโรงเรียนนี้แล้วเขาก็มีส่วนที่จะเป็นเจ้าของโรงเรียนนี้ เพราะฉะนั้นครูเองจะต้องทำตัวให้เป็นหุ้นส่วนของการเรียนรู้ที่จะพากันเรียนรู้ไปให้ถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังหรือผลลัพธ์ที่เราต้องการ”   

ปิดท้ายในเวทีเสวนา ‘โรงเรียนกล้าเปลี่ยน’ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของนักเรียนว่า “เด็กๆ เป็นตัวต่อที่สำคัญไปถึงผู้ปกครองที่จะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการโรงเรียน ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียน แล้วก็ช่วยพัฒนาโรงเรียน เพราะว่า Whole school ไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนแต่เพียงหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นนักเรียนนี่แหละครับจะเป็นตัวต่อที่ดี ลูกหลานเขาอยู่ในโรงเรียน ผมคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องห่วงใย ต้องเอาใจใส่ เพราะฉะนั้นอันนี้จะเป็นตัวต่อที่สำคัญไปยังตัวผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย การสื่อสารจากโรงเรียนผ่านไปยังตัวเด็ก แล้วไปถึงผู้ปกครองก็เป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบได้” 

Tags:

Whole School Approachโรงเรียนการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Social Issues
    Learning City พัฒนาเมืองสู่นิเวศแห่งการเรียนรู้ เปิดประตูสู่โอกาสที่ทุกคนเข้าถึงได้

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    เด็กชนชั้นแรงงาน วัฒนธรรมต่อต้าน โรงเรียน และทุนนิยม

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    NEW NORMAL ของการศึกษาไทยคืออะไร เมื่อการเรียนทางไกลไม่ใช่คำตอบ

    เรื่อง ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Creative learning
    สุข สนุก และได้เลือกเรียนเอง เด็กๆ บ้านควนเก จึงอยากมาโรงเรียนทุกวัน

    เรื่อง The Potential

  • Education trend
    ครูก็คือครู อย่าเอาหน้าที่ของพ่อแม่มาแบกไว้บนไหล่

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

‘Manifest’ สูตรพลิกชีวิต? พลังจิต พลังความคิด พลังจินตนาการ หรือแค่…มโน
How to enjoy life
10 September 2024

‘Manifest’ สูตรพลิกชีวิต? พลังจิต พลังความคิด พลังจินตนาการ หรือแค่…มโน

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Manifest คือการตั้งจิตมั่น หรือการใช้สมาธิอย่างแรงกล้า เพื่อเปลี่ยนภาพจินตนาการในหัวให้กลายเป็นความจริง
  • แนวคิดเรื่องการตั้งจิตมั่นเพื่อทำฝันให้เป็นจริงนี้ อาศัยกฎแห่งแรงดึงดูด เพราะการคิดในเชิงบวก ย่อมดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามา ขณะที่การคิดในเชิงลบ ย่อมดึงดูดสิ่งร้ายๆ เข้ามาเช่นกัน
  • การมีทัศนคติเชิงบวก หรือความมั่นใจในตัวเอง จะส่งผลอย่างยิ่งต่อโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จ เพราะถ้ามั่นใจว่าเราสามารถทำได้ เราจะยิ่งทุ่มเทในการทำงานชิ้นนั้นมากขึ้น โดยไม่ย่อท้อแม้จะพบเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่ยากลำบาก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘Manifest’ หรือ Manifesting โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ตามสื่อโซเชียล ทั้ง Facebook, YouTube, Instagram และ Tiktok นอกจากนี้ ในโลกออฟไลน์ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ขณะที่หลายองค์กร หลายสถาบัน เปิดคอร์สสอนการ Manifesting กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

ตามความเข้าใจของใครหลายคน Manifest เป็นเรื่องของการใช้พลังจิต เพื่อดลบันดาลสิ่งที่ปรารถนาให้เป็นจริงได้ ขอเพียงแค่คุณตั้งใจจริง มุ่งมั่น เพื่อทำให้ภาพในจินตนาการปรากฎเป็นความจริง

ฟังดูแล้ว น่าจะเป็นเรื่องงมงายเสียมากกว่า มันจะเป็นจริงไปได้อย่างไร เพียงแค่ตั้งจิตมั่น ใช้จินตนาการในเชิงบวก แค่นั้นก็สามารถทำให้สิ่งที่ปรารถนากลายเป็นจริงได้อย่างนั้นหรือ

แต่ถ้าเป็นเรื่องหลอกลวงจริง แล้วทำไมมีใครหลายคนที่เชื่อในเรื่องนี้ ทั้งดารานักแสดงชื่อก้องโลก อินฟลูเอนเซอร์ดังๆ ในโลกโซเชียล หรือแม้แต่หนังสือที่ขายดิบขายดีไปทั่วโลก ก็ยังเขียนถึงเรื่องนี้ 

Manifest เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องหลอกลวงล่าสุด ที่กำลังอินเทรนด์ในตอนนี้ เราจะมาหาคำตอบกัน

Manifest : นิยามแต่ดั้งเดิม

ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Manifest เป็นคำกริยา แปลว่า แสดง หรือ ทำให้ปรากฎ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ตัวอย่างเช่น The ghost manifests each year on the same day แปลว่า ผีตัวนั้น ปรากฎตัวให้เห็นในวันเดียวกันของทุกปี 

หรืออาจใช้เป็นคำคุณศัพท์ ในความหมายว่า เป็นที่ประจักษ์แจ้ง เป็นที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น It was a manifest error of judgement ซึ่งแปลว่า นี่เป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาประมาณยี่สิบปีที่ผ่านมา คำศัพท์นี้ถูกใช้ในความหมายใหม่ว่า การใช้พลังของความคิด หรือจินตนาการ ทำให้สิ่งที่วาดฝันไว้กลายเป็นความจริง

Manifest ในความหมายใหม่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า

1. ความคิด หรือจินตนาการ เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งโดยการดึงดูด หรือผลักไสบางสิ่งบางอย่างออกไปได้

2. กฎแห่งแรงดึงดูด การคิดในเชิงบวก ย่อมดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามา ขณะที่การคิดในเชิงลบ ย่อมดึงดูดสิ่งร้ายๆ เข้ามาเช่นกัน

3. ความเชื่อมั่นในตนเอง จะทำให้เราสามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้

ในปัจจุบัน ความหมายของคำว่า Manifest ในความหมายเดิม แทบจะเลือนหายไปแล้ว ทุกวันนี้เมื่อคุณค้นหาคำแปลของคำศัพท์นี้ คุณจะพบแต่คำนิยามที่ว่า ‘การตั้งจิตมั่น หรือการใช้สมาธิอย่างแรงกล้า เพื่อเปลี่ยนภาพจินตนาการในหัวให้กลายเป็นความจริง’

จุดเริ่มต้นของกฎแห่งแรงดึงดูด

แม้ว่าเรื่องราวของ Manifest จะกลายเป็นกระแสโด่งดังในช่วงตั้งแต่ยี่สิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งเทรนด์นี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหลุดจากความนิยมแต่อย่างใด) แต่ความจริงแล้ว แนวคิดเรื่องการตั้งจิตมั่นเพื่อทำฝันให้เป็นจริง โดยอาศัยกฎแห่งแรงดึงดูด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

จากบันทึกประวัติศาสตร์ ทำให้เราค้นพบว่า อารยธรรมเก่าแก่ของโลก ต่างมีความเชื่อเรื่องการใช้พลังจิต เพื่อกำหนดโชคชะตาของตัวเอง โดยชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า การตั้งจิตอย่างแรงกล้าจะสามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของผู้นั้น หรือแม้กระทั่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกได้

อารยธรรมกรีกก็เป็นอีกอารยธรรมที่มีความเชื่อเรื่องนี้ โดยมีบันทึกว่า นักปรัชญาชาวกรีกอย่าง เพลโต และ พิทากอรัส มีแนวคิดว่า พลังจิตที่แรงกล้าสามารถทำให้สิ่งที่คิดไว้กลายเป็นจริงได้

เพลโต ผู้ได้ชื่อว่า เป็นบิดาแห่งแนวคิดปรัชญาของโลกตะวันตก เชื่อว่า ‘โลกแห่งวัตถุ’ (Material world) หรือโลกที่เรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นโลกมายาที่ไม่เที่ยงแท้ ขณะที่ ‘โลกแห่งมโนภาพ’ (World of idea) คือ โลกที่สมบูรณ์และเป็นต้นแบบของโลกแห่งวัตถุ ซึ่งโลกแห่งมโนภาพ หรือที่บางคนเรียกว่า ‘โลกแห่งแบบ’ ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่รับรู้ได้ด้วยเหตุผล หรือปัญญา (Wisdom)

แนวคิดทางปรัชญาของเพลโตที่ว่า โลกแห่งมโนภาพ เป็นต้นกำเนิดของโลกแห่งวัตถุ จึงถูกนำไปตีความต่อยอดว่า การใช้ความคิดหรือจินตนาการอย่างแรงกล้า จะสามารถก่อร่างสร้างรูป หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกแห่งวัตถุได้

อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องการใช้พลังความคิด หรือพลังจิต เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกจริง หรือโลกทางกายภาพ ดูจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มทางศาสนาหรือปรัชญา ไม่ได้เป็นอะไรที่แมส หรือได้รับความนิยมในวงกว้าง จนกระทั่งการเปิดตัวหนังสือเล่มหนึ่งในปี 2006 ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นจุดกำเนิดของ Manifest ในยุคปัจจุบัน

หนังสือเล่มนั้น ก็คือ The Secret เขียนโดย รอนดา เบิร์น (Rhonda Byrne) ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่ขายดิบขายดีไปทั่วโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆมากมาย รวมถึงภาษาไทย โดยแก่นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ‘หากเราเปลี่ยนความคิด ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตได้’

การเปลี่ยนความคิดในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ การเปลี่ยนทัศนคติ  การฝึกจิตให้คิดแต่เรื่องที่เป็นเชิงบวก เนื่องจากว่า พลังทางความคิด หรือพลังจิต สามารถดึงดูดสิ่งที่เหมือนกันเข้ามาได้ ดังนั้น การคิดในเชิงบวก จะดึงดูดเรื่องดีๆ เข้ามาหาเรา

The Secret กลายเป็นปรากฎการณ์ไปทั่วโลก บรรดาผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ พากันขานรับสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักบวช นักปรัชญา รวมทั้งนักธุรกิจ ต่างประสานเสียงสอดคล้องต้องกันว่า เขาหรือเธอ ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของตนได้ เพราะนำเอากฎแห่งแรงดึงดูดนี้ไปใช้

อย่างไรก็ดี ความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ ต่อให้เป็นนักวิชาการที่น่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ ก็ไม่อาจจูงใจให้คนเชื่อได้เท่ากับดารานักแสดงผู้โด่งดัง ซึ่งเป็นผู้สร้างกระแส Manifest ในโลกโซเชียลมีเดียมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องของเรื่อง เริ่มจากแคมเปญในโซเชียลมีเดีย ที่เคยใช้ชื่อว่า Twitter (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น X ในปัจจุบัน) เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแคมเปญที่รณรงค์ให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ออกมาทวิตถึงสิ่งที่วาดฝันไว้ และพยายามทำให้มันเป็นจริงโดยอาศัยการ Manifesting

ในแคมเปญชิ้นนี้ อ้างถึงคนดังหลายคนที่ประสบความสำเร็จ ในการทำให้ความฝันกลายเป็นจริง ด้วยการ Manifest อาทิ เดมี โลวาโต (Demi Lovato) นักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ซึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอเคยทวิตไว้ในปี 2010 ว่า สักวันหนึ่งเธอจะต้องได้ร้องเพลงชาติอเมริกา ในรายการแข่งขันชิงอเมริกันฟุตบอล นัดชิงชนะเลิศ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า นัดชิงซูเปอร์โบว์ล ซึ่งเป็นรายการแข่งขันกีฬาที่มียอดผู้ชมมากที่สุดในอเมริกา และมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

โลวาโต เชื่อมั่นในความฝันของเธออย่างแรงกล้า เธอมองเห็นภาพความฝันนั้นเป็นรูปธรรมชัดเจนมาโดยตลอด และในอีก 10 ปีต่อมา ความฝันของเธอก็กลายเป็นจริง ซึ่งโลวาโตเชื่อว่าเป็นเพราะการ Manifest ของเธอ

หลังจากนั้น เหล่าดาราเซเลบจำนวนมาก พากันทวิตถึงสิ่งที่เขาหรือเธอเคยฝันไว้ และกลายเป็นจริงได้ด้วยการ Manifest ไม่ว่าจะเป็น โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ผู้เคยพูดไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2007 ในรายการทอล์คโชว์รายการหนึ่งว่า ถ้าคุณเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า สิ่งนั้นจะเป็นจริงได้ เหมือนที่เธอเคยเชื่อว่า เธอจะต้องได้รับบทนักแสดงนำในภาพยนตร์ของผู้กำกับชื่อดัง สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) และในที่สุด เธอก็ได้เป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง The Color People

จิม แครี (Jim Carrey) นักแสดงชื่อดังของฮอลลีวูด เป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อในเรื่องนี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงความเชื่ออันแรงกล้าว่า สักวันหนึ่ง ตัวเองจะกลายเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จ ถึงขั้นที่เขาเขียนเช็คมูลค่าหนึ่งหมื่นดอลลาร์ให้กับตัวเอง ทั้งที่ในบัญชีธนาคารของเขาจะมีเงินไม่พอก็ตาม

และในอีกไม่ปีต่อมา แครี ก็โด่งดังคับฟ้าจากภาพยนตร์ตลกเรื่อง Dumb And Dumber ที่ออกฉายในปี 1994 ซึ่งส่งผลให้เขากลายเป็นนักแสดงระดับหัวแถวของวงการมาจนถึงปัจจุบัน

Manifest ในความเชื่อ VS Manifest ในความจริง

ว่ากันว่า วัยรุ่นในยุคปัจจุบัน เชื่อสิ่งที่พบเจอใน Tiktok มากกว่าคำพูดของพ่อแม่ หรือครูอาจารย์ และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด 

ไม่เพียงแต่ Tiktok ในสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทั้ง Facebook, Youtube, Instagram รวมถึง X ที่เป็นจุดเริ่มต้นกระแส Manifest ต่างนำเสนอคอนเทนท์ที่ชี้ชวนให้เข้าใจว่า เพียงแค่ใช้พลังความคิด ชีวิตของคุณก็สามารถดีขึ้นได้ดังใจหวัง

อินฟลูเอนเซอร์หลายคนในโลกโซเชียล เผยถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการ Manifest ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

1. เขียนรายการความฝัน หรือความปรารถนาที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ความมั่งคั่ง การได้เลื่อนขั้นตำแหน่งงาน การได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการได้พบเจอคนรักที่ใช่ ลงบนแผ่นกระดาษ บันทึกในคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตในโทรศัพท์มือถือ

2. จินตนาการถึงภาพที่จะเกิดขึ้น เมื่อความฝันของคุณกลายเป็นความจริง และพยายามทำให้ภาพนั้นดูสมจริงที่สุด ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณฝันอยากเป็นเจ้าของรถสุดหรูสักคัน ให้แวะไปดูรถคันนั้นในโชว์รูม ลองเข้าไปนั่งเพื่อสัมผัสความหรูหรา เพื่อให้คุณได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น หลังจากความฝันนั้นกลายเป็นจริง

3. ขอบคุณอย่างจริงใจกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น แม้ว่าสิ่งที่คุณปรารถนาอาจยังมาไม่ถึง แต่การที่คุณแสดงความขอบคุณต่อสิ่งดีๆ (ที่อาจจะดูเล็กน้อยมาก) ที่เกิดขึ้น จะช่วยดึงดูดสิ่งดีๆ ที่ใหญ่กว่านั้น ให้เข้ามาหาคุณได้

นอกจากนี้ ยูทูบเบอร์บางคน ยังมีทริคเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้การ manifest ของคุณ ทำได้ง่ายขึ้น เช่น ทริค 369 ซึ่งก็คือ การเขียน หรือทบทวนสิ่งที่คุณฝันไว้ให้บ่อยที่สุด ทุกวัน วันละ 3 เวลา ตอนบ่ายสามโมง หกโมงเย็น และสามทุ่ม หรือเวลาที่เข็มนาฬิกาชี้ที่เลข 3, 6 และ 9 นั่นเอง

ไม่เพียงแต่ในโลกออนไลน์เท่านั้น ในโลกออฟไลน์ หรือโลกจริงที่เราอยู่ เรื่องราวของการ Manifest ก็ปรากฎให้เห็นกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็เป็นไปตามหลักความจริงที่ว่า ทุกเรื่องราวที่มีคนสนใจ ย่อมกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้

ในปัจจุบัน ทั้งในไทยและในต่างประเทศ มีการเปิดคอร์สสอน Manifesting อย่างแพร่หลาย โดยมีค่าวิชาความรู้ ตั้งแต่หลักพันยันหลักหมื่น ซึ่งก็มีทั้งคอร์สที่ดูน่าเชื่อถือ และคอร์สที่ดูอย่างไรก็ไม่น่าเชื่อถือ

หนึ่งในเกณฑ์ที่สามารถชี้วัดความน่าเชื่อถือของเรื่องราวการ Manifest ก็คือ ข้อเท็จจริงทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะทางด้านจิตวิทยา

ดร.ชิกิ เดวิส (Tchiki Davis) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาวะ จากสถาบันสุขภาวะเบิร์กลีย์ กล่าวว่า ถึงแม้เนื้อหาในหนังสือจำพวกกฎแห่งแรงดึงดูด จะไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่มันก็ความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้น

โดยเธอได้อ้างผลงานวิจัยของ ดร.แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ระบุว่า ทัศนคติเชิงบวก หรือความมั่นใจในตัวเอง จะส่งผลอย่างยิ่งต่อโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จ เพราะถ้ามั่นใจว่าเราสามารถทำได้ เราจะยิ่งทุ่มเทในการทำงานชิ้นนั้นมากขึ้น โดยไม่ย่อท้อแม้จะพบเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่ยากลำบาก

“ในทางตรงข้าม ถ้าคุณมีทัศนคติเชิงลบ คิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานนี้ ก็มีแนวโน้มที่คุณจะพาตัวเองไปสู่ทิศทางที่ไม่ได้งานนี้ สมมติว่า คุณไม่สบายในคืนก่อนที่จะมีนัดสัมภาษณ์งาน คุณก็อาจตัดสินใจไม่ไปตามนัดเลย และทำให้คุณไม่ได้งานนั้นจริงๆ” ดร.ดเว็ค กล่าว

ขณะที่ ดร.เดวิส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในทางจิตวิทยาแล้ว การ Manifest ในบางแง่มุม ก็ไม่ต่างจากปรากฎการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Self-Fullfilling Prophecy หรือ ปรากฎการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง หรือ “เราคิดอย่างไร เราก็มักจะพบเจออย่างนั้น”

ตัวอย่างเช่น เวลาพบเจอเพื่อนใหม่ที่ยิ้มแย้ม เราอาจคิดสรุปไปล่วงหน้าว่า เพื่อนใหม่คนนั้นเป็นคนร่าเริงเข้ากับคนได้ง่าย ซึ่งการคิดล่วงหน้าแบบนั้น ทำให้เรารู้สึกดี พูดคุยกับเพื่อนใหม่คนนั้นได้อย่างสนิทใจ และทำให้เรายิ่งรู้สึกว่า เพื่อนคนนั้น มีนิสัยร่าเริงเข้ากับคนง่ายอย่างที่คิดจริงๆ

ในทางตรงกันข้าม หากเราพบเจอเพื่อนใหม่ที่ดูเคร่งขรึมไว้ตัว เราอาจด่วนสรุปว่า เขาเป็นคนหยิ่งและไม่ชอบสุงสิงกับใคร ซึ่งการคิดล่วงหน้าของเราส่งผลต่อพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว ทำให้เราวางตัวออกห่าง ในขณะที่เพื่อนคนนั้นก็ไม่กล้าเข้าใกล้เรา และสุดท้าย เราจึงทึกทักไปเองและสรุปว่า เพื่อนคนนั้นหยิ่งเหมือนที่คิดไว้ในตอนแรกจริงๆ

เช่นเดียวกัน ถ้าเรา Manifest เพื่อให้ได้ตำแหน่งงานในฝัน ซึ่งหมายความว่า เราเชื่อมั่นว่าจะได้ตำแหน่งงานนั้น ความเชื่อมั่นนั้นก็จะทำให้เรามีทัศนคติในเชิงบวก และพาตัวเองไปอยู่ในทิศทางที่มุ่งไปสู่การได้ตำแหน่งงานนั้น เช่น การฝึกทักษะเพิ่มเติมที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงาน หรือการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเปิดรับตำแหน่งงานนั้นอยู่เสมอๆ

ดร.บาร์บารา เฟรดริคสัน (Barbara Fredrickson) จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา เสริมว่า ทัศนคติเชิงบวก รวมถึงการมีอารมณ์ดี ยังช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในสมอง ซึ่งส่งผลต่อการทำงานให้สำเร็จราบรื่น และนั่นทำให้คนที่มีทัศนคติเชิงบวก จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จในการทำงานมากกว่าผู้ที่มีทัศนคติเชิงลบ ซึ่งนั่นก็สอดคล้องกับแนวคิดของการ Manifest ที่อาศัยกฎแห่งแรงดึงดูด

แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่ ดร.เดวิส กล่าวย้ำก็คือ Manifest ไม่ใช่เรื่องของความเชื่อ หรือการตั้งจิตมั่นเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องอาศัยการกระทำอย่างทุ่มเทด้วย

ดร.มาร์ค ทราเวอร์ส (Mark Travers) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ระบุว่า อินฟลูเอนเซอร์ใน Tiktok, Instagram และ Youtube ทำให้การ Manifest ถูกมองเป็นเรื่องหลอกลวง ทั้งที่ในความเป็นจริง มันมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้น

“การสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงการสร้างภาพในจินตานาการว่าเราทำได้ เป็นสิ่งที่นักกีฬาใช้ในการพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกระดับ แต่ต้องควบคู่กับการซ้อมอย่างจริงจังด้วย” ดร.ทราเวอร์ส กล่าว

ท้ายสุด ดร.ทราเวอร์ส ย้ำว่า การ Manifest ไม่ใช่แค่นั่งแล้วใช้พลังจิต จินตนาการถึงสิ่งที่ฝันไว้ แล้วมันจะกลายเป็นจริงได้

“จงกำหนดเป้าหมายหรือความฝันที่เป็นรูปธรรม มีรายละเอียดชัดเจน รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่คุณต้องทำ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ และนั่นคือการ Manifest ที่จะทำให้ความฝันของคุณกลายเป็นความจริง”

แม้ว่าเรื่องนี้จะมีหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่ Manifest ก็ไม่ใช่สูตรลัดไปสู่สิ่งที่มุ่งมาดปรารถนา หากเป็นเพียงแค่การเพิ่มโอกาส ความเป็นไปได้ รวมถึงสร้างกำลังใจในการลงมือปฏิบัติเพื่อไขว่คว้าความฝันนั้น

และสุดท้าย ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร สมดังใจหวัง หรือยังต้องผิดหวัง พึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการกระทำของตัวเราเอง บวกกับเงื่อนไขตัวแปรอื่นๆ อีกมากมาย ที่ไม่ใช่แค่เพราะการ Manifest ของเรา ทำได้สมบูรณ์แบบแล้ว หรือยังทำได้ไม่มากพอ

อ้างอิง

A psychologist explains the dangers of manifesting your goals: https://www.forbes.com/sites/traversmark/2022/11/12/a-psychologist-explains-the-dangers-of-manifesting-your-goals—and-offers-a-solution/

What is manifestation-Base ways to manifest: https://www.psychologytoday.com/us/blog/click-here-for-happiness/202009/what-is-manifestation-science-based-ways-to-manifest

These celebrities predicted their futures through manifesting: https://www.glamourmagazine.co.uk/article/manifesting-celebrities

Social media’s manifesting craze explained: Here’s what you need to know : https://www.indiatimes.com/lifestyle/whats-cooking/heres-everything-you-need-to-manifestation-social-media-trend-589847.html

The history and origins of the law of attraction: https://medium.com/@ManifesatonSecrets/the-history-and-origins-of-the-law-of-attraction-7449b2fd7c6a

โลกทัศน์ของเพลโต: https://www.thaicadet.org/Ethics/Plato.html

Tags:

ความสำเร็จการฝึกสมาธิ (Meditation)Manifestกฎแห่งแรงดึงดูดพลังความคิดทัศนคติเชิงบวกSelf-Fullfilling Prophecy

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Dr.Yongyud-1
    How to enjoy life
    จิตวิทยาสติ (Modern Mindfulness) ทางเลือกในการดูแลจิตใจและรับมือกับความเครียด: นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Marshmallow
    How to enjoy life
    ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ทักษะชีวิตที่ช่วยให้เด็กรู้จักยับยั้งชั่งใจ

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Movie
    Perfect Days: เพราะวันที่ดีคือวันที่ได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง 

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy lifeBook
    7 หลักจิตวิทยาเชิงบวก เปิดประตูความสำเร็จด้วย ‘ความสุข’

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • Learning Theory
    ทุนที่สังคมต้องร่วมกันสร้าง หากอยากได้การศึกษาที่เป็นธรรม

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

จัดการอารมณ์(ร้ายๆ) ก่อนจะกลายเป็นมรดกครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น: Permission to Feel
Book
7 September 2024

จัดการอารมณ์(ร้ายๆ) ก่อนจะกลายเป็นมรดกครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น: Permission to Feel

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • หนังสือ Permission to Feel หรือ โลกที่ผู้คนมีความฉลาดทางอารมณ์ เขียนโดย ดร.มาร์ค แบรกเก็ตต์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ความฉลาดทางอารมณ์ มหาวิทยาลัยเยล แปลเป็นภาษาไทยโดย ภัทร กิตติมานนท์ สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด
  • หนังสือเล่มนี้พูดถึงอารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจุดกำเนิดสำคัญจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และไม่ว่าลูกจะชอบพฤติกรรมของพ่อแม่หรือไม่ สุดท้ายเขาก็จะซึมซับไปโดยอัตโนมัติ
  • ดร.มาร์ค พบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาในการควบคุมอารมณ์เมื่อลูกทำในสิ่งที่ชวนขัดใจ ส่งผลให้เด็กหลายคนเติบโตมาพร้อมกับบาดแผลทางใจ ดังนั้นเขาจึงเสนอเครื่องมือที่เรียกว่า ‘เมตาโมเมนต์’ เพื่อช่วยพ่อแม่จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น

“ในปี 1915 จอห์น บี วัตสัน ประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกา ได้ออกมาเตือนว่าความรักและการปลอบประโลมเด็กมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อเด็ก และเด็กจะเสียคนเพราะการกอด”

ข้อความสั้นๆ ที่ ‘ดร.มาร์ค แบรกเก็ตต์’ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ความฉลาดทางอารมณ์ มหาวิทยาลัยเยล ผู้เขียนหนังสือ Permission to Feel หรือ โลกที่ผู้คนมีความฉลาดทางอารมณ์ หยิบยกมาเพื่อที่จะบอกว่าไม่มีแนวคิดใดชี้นำผิดๆ หรือสร้างความเสียหายได้มากกว่าไปกว่านี้อีกแล้ว สะกิดบาดแผลในวัยเด็กของผมให้เจ็บจี๊ดขึ้นมาอีกครั้ง

นั่นอาจเพราะผมเองก็เติบโตมาในบ้านที่เชื่อว่าการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีคือการทำให้เชื่อฟัง กดดัน บังคับ ร้ายมาร้ายตอบ รวมถึงใช้ความรุนแรงหากลูกไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ลงท้ายด้วยประโยคกึ่งแสดงความเมตตากึ่งชวนให้สำนึกบุญคุณว่า พ่อกับแม่อุตส่าห์เลี้ยงผมให้ซอฟท์ลงกว่าที่พ่อเคยถูกปู่เลี้ยงมาตั้งเยอะ

ไม่เพียงแค่นั้น พ่อแม่มักมองข้ามการชื่นชม การกอด และการบอกรัก โดยเฉพาะการกอดที่พ่อแม่พูดกรอกหูผมมาตลอดว่า “มันเป็นธรรมเนียมฝรั่ง เราเป็นคนไทยอย่ามาดัดจริต” 

แม้นักจิตวิทยาหลายคนจะบอกว่า หากเรามีอคติหรือมีภาพจำลบๆ กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราก็อาจมองสิ่งที่เกิดขึ้นร้ายแรงกว่าความเป็นจริง แต่สุดท้ายพวกเขาไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยความรุนแรงเป็นประจำ ผ่านการใช้คำพูดหยาบคาย การข่มขู่ และการใช้กำลังกับมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่เรียกว่าลูก คือเรื่องจริงที่เลวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย 

ดร.มาร์ค บอกว่าสำหรับเด็กคนหนึ่ง ไม่มีสิ่งไหนที่มีอำนาจและอิทธิพลไปกว่าคำว่า ‘ครอบครัว’ โดยหลายครั้งที่เขาถูกเชิญให้ไปบรรยายทักษะในการควบคุมอารมณ์ให้กับพ่อแม่ เขาพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาในการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้เมื่อลูกทำในสิ่งที่ชวนขัดใจ ซึ่งการตอบโต้ของพ่อแม่ล้วนออกมาในวิธีที่ไม่เหมาะสม เช่น

…ฉันร้องกรี๊ดใส่ลูกสาว ร้องกรี๊ด สุดเสียงเลย

…ผมขู่จะยึดของ

…ผมเงียบ

…ฉันทำให้พวกเขารู้สึกผิดจนยอมทำสิ่งที่ฉันต้องการ

…ผมจะโทษภรรยาที่ไม่ควบคุมเด็กๆ

…ฉันติดสินบนให้ลูกทำตัวดีๆ

“คุณคุ้นเคยกับปฏิกิริยาเหล่านี้ตรงไหนบ้างไหม เมื่ออารมณ์ขึ้น วิธีที่คุณใช้โดยอัตโนมัติคืออะไร เมื่อรู้สึกถูกลูกๆ คุกคาม สวิตช์ความเมตตากรุณาของเราจะถูกปิด…

ผมเล่าให้ผู้ฟังฟังว่า ปฏิกิริยาสุดโต่งหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาจเปลี่ยนโครงสร้างสมองของลูกๆ พวกเขาได้จริงๆ ห้องทั้งห้องเงียบกริบ ทุกคนคำนวณตัวเลขในใจว่าตนเคยอารมณ์เสียและทำตัวไร้สติใส่ลูกๆ มาแล้วกี่ครั้ง และกะขนาดความเสียหายถาวรที่เกิดขึ้นกับจิตใจอ่อนเยาว์ซึ่งไวต่อสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นว่ามากน้อยแค่ไหน

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เหลือเฟือเกี่ยวกับความเสียหายระยะยาวซึ่งเกิดขึ้นจากบาดแผลทางใจในวัยเด็ก เช่น อาจมีภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลง ระบบทางเดินอาหารเจ็บปวดและผิดปกติ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ รวบรวมสมาธิไม่ได้ และซึมเศร้า ผลกระทบเหล่านี้สามารถคงอยู่สืบเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ สร้างปัญหาสุขภาพทั้งกายและใจต่อไปอีกยาวนาน”

นอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว ดร.มาร์คยังชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่คือต้นแบบของลูก ดังนั้นไม่ว่าลูกจะชอบพฤติกรรมของพ่อแม่หรือไม่ สุดท้ายเขาก็จะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่เข้าไปโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้วงจรการเลี้ยงดูถูกส่งต่อและแสดงออกผ่านคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นอย่างไม่มีวันจบ

“เราได้รับเอาประสบการณ์ทางอารมณ์เข้ามาเหมือนกับอากาศที่เราหายใจ เรานำแบบแผนทางอารมณ์เหล่านั้นติดตัวไปด้วยและมักทำซ้ำๆ ทั้งแบบแผนที่ดีและไม่ดี และในบ้านหลังใหม่ของเรา วงจรก็วนซ้ำ บนรากฐานทางอารมณ์เดียวกันกับที่เราเริ่มต้นชีวิต

พวกเราหลายคนใช้ชีวิตด้วยความพยายามสุดความสามารถที่จะหลีกเลี่ยงชะตากรรมดังกล่าว เราพยายามเต็มที่ที่จะเป็นอะไรก็ได้ ยกเว้น เป็นเหมือนพ่อแม่ของเรา แต่แล้วก็หนีไม่พ้น เมื่อถึงเวลาที่เราได้ยินตัวเองพูดว่า “นิสัยแบบนี้มาจากไหนวะ” ทันใดนั้นเราก็ตระหนักได้ว่าเรานำพ่อแม่ติดตัวมาด้วยตลอดชีวิต 

เมื่อผู้ใหญ่สองคนสร้างครอบครัว มีมรดกทางอารมณ์อยู่ในบ้านหลังนั้นแล้วด้วยซ้ำ และแม้ว่าบ้านหลังนั้นจะไม่มีเด็ก หรือมีคุณอยู่คนเดียว อดีตเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ที่ไหนสักแห่งภายในตัวคุณเสมอ”

อย่างไรก็ตาม ดร.มาร์คไม่ได้ต้องการตอกย้ำความสิ้นหวังจากบาดแผลในวัยเด็กที่ส่งผลกระทบต่อคนๆ หนึ่งไปตลอดชีวิต เพราะมีวิธีที่สามารถช่วยให้เราสามารถหลุดออกจากวงจรความรุนแรง ค่อยๆ กลายเป็นพ่อแม่ที่พร้อมจะเป็นต้นแบบที่ดีและมีความฉลาดทางอารมณ์ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘เมตาโมเมนต์’ (Meta-Moment)

ดร.มาร์ค บอกว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันต่างชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ จะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขาได้รับความรักและความห่วงใยที่แสดงออกอย่างเปิดเผยจากพ่อแม่ เขาจึงพัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า ‘เมตาโมเมนต์’ หรือเครื่องมือในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งไม่เพียงแค่พ่อแม่เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็สามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวในการสร้างโลกของเราให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น 

“สำหรับขั้นแรกของการควบคุมอารมณ์นั้น เครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในคลังของเราคือเมตาโมเมนต์ เมื่อเราใกล้จะตอบโต้ในแบบที่ควรหลีกเลี่ยง ให้หยุดหายใจสักหนึ่งหรือสองครั้ง 

การหายใจอย่างมีสติช่วยให้เราแตะเบรกการทำงานของระบบตอบสนองต่อความเครียด โดยลดอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจทางจมูกช่วยได้มาก เมื่อเรานับลมหายใจ หรือท่องวลีที่ทำให้เกิดความสงบขณะที่หายใจไปด้วย เราจะคืนสู่สมดุลและควบคุมตัวเองได้ เนื่องจากสมองส่วนที่ทำงานเป็นหลักจะเปลี่ยนจากก้านสมองมาเป็น motor cortex ที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การหายใจยังช่วยปรับการทำงานของระบบประสาทพาราซิมพาเทติค (ทำให้รู้สึกโล่งสบายผ่อนคลาย) และลดการทำงานของซิมพาเทติค (ระบบประสาทที่ทำให้เราตื่นตัว)

การหยุดเพื่อหายใจขณะถูกท้าทายเป็นเทคนิคเก่าแก่สำหรับการควบคุมการตอบสนองที่เรามีต่อชีวิต แต่นั่นเป็นจุดที่กระบวนการควบคุมอารมณ์เริ่มต้นขึ้น 

การหายใจสยบปฏิกิริยาอันรุนแรงได้ และซื้อเวลาให้เราคิดสักหนึ่งหรือสองวินาที แต่เมตาโมเมนต์อย่างเต็มรูปแบบคือกุญแจสำคัญ”

ดร.มาร์ค บอกว่าพอสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ เราจะมีเวลาชั่วขณะในการเบรกพายุอารมณ์ เพื่อหยุดทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช้อารมณ์ชั่ววูบเป็นตัวตัดสิน จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนสำคัญของเมตาโมเมนต์

“การหยุดยังให้โอกาสเราตั้งคำถามบางข้อซึ่งอาจเป็นประโยชน์ เช่น “ฉันเคยรับมือกับสถานการณ์แบบนี้อย่างไรในอดีต” “ตัวตนที่ดีที่สุดของฉัน จะทำอย่างไรในตอนนี้” 

บุคคลในอุดมคตินั้นมีคุณสมบัติซึ่งเราใช้อธิบายถึงตัวตนที่ดีที่สุดของเราจากมุมมองของเราเองและมุมมองของผู้อื่น เราอยากให้ผู้อื่นเห็นเราและพบพานเราในรูปแบบใด สำหรับบางคนอาจเป็นคำคุณศัพท์ เช่น มีความเห็นอกเห็นใจ…แต่สำหรับบางคนอาจเป็นรูปภาพหรือวัตถุ เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนมัธยม มีตัวการ์ตูนสเมิร์ฟวางอยู่บนโต๊ะของเธอ เพื่อย้ำเตือนให้เธอเป็นตัวตนที่ดีที่สุดของตัวเอง

การสร้างมโนภาพ ตัวตนที่ดีที่สุด จะหันเหความสนใจของเราออกจาก “ตัวจุดชนวน” ไปสู่คุณค่าของเรา มันช่วยให้เราเลือกวิธีควบคุมอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ เช่น การพูดกับตัวเองในเชิงบวก หรือการประเมินใหม่ จากนั้นก็ตอบสนองไปตามนั้น…คุณจะทำอะไรถ้ามีคนที่คุณเคารพนับถือกำลังเฝ้าดูคุณอยู่”  

นอกจากนี้ ดร.มาร์ค เชื่อว่าหัวใจสำคัญของการเป็นพ่อแม่ต้นแบบคือการคิดถึงตัวเองตอนเด็กๆ ให้มาก และพ่อแม่ควรแยกบทบาทตัวเองว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางอารมณ์ ไม่ใช่ผู้พิพากษาทางอารมณ์ของลูก เพราะสุดท้ายแล้วพ่อแม่ไม่ควรปิดกั้นลูก รวมถึงตัวเองจากอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ แต่ควรหมั่นทดลองค้นหาวิธีที่จะเผชิญหน้ากับอารมณ์ทุกชนิด โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบที่พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้เท่าทันถึงประโยชน์และโทษของมัน ก่อนจะควบคุมและก้าวผ่านสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีสติ 

“โปรดจำไว้ว่าลูกๆ ของคุณศึกษาคุณอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่แบเบาะ พวกเขาอ่านน้ำเสียงของคุณทุกโทนเสียง ทุกการแสดงออกเพียงแวบเดียวบนใบหน้า ทุกท่าทีและสัมผัส รวมทั้งเบาะแสจากภาษากาย พวกเขาสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งบอกอะไรมากกว่าที่ถ้อยคำของคุณจะสื่อได้

ลองคิดถึงการที่ชื่อเสียงของเราทำให้เราประพฤติตัวในแบบที่ทำให้ผู้อื่นชื่นชมและเคารพดูสิ เรายินดีที่จะทำตัวให้ดีกว่าที่เราเคยทำเพื่อรักษาชื่อเสียงไว้ ครอบครัวของคุณไม่สมควรได้รับความพยายามแบบเดียวกับที่คุณมอบให้คนอื่นๆ ทั้งโลกอย่างนั้นหรือ คุณอาจลองตอบคำถามนี้ก็ได้ว่า คุณอยากให้ลูกๆ พูดถึงคุณอย่างไรเมื่อพวกเขาโตขึ้น และมองย้อนกลับมา”

Tags:

เด็กอารมณ์Permission to Feel

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • Movie
    Elio:  ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน สุดท้ายความรู้สึกมีคุณค่า…เริ่มต้นจากหัวใจตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • ‘โรงเรียน = รุนแรง’ สมการนี้สังคมต้องร่วมแก้ …เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    Inside Out 2: เมื่อไม่อาจหลีกหนีความวิตกกังวล สิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทันและไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    Like Stars on Earth: ไม่มีเด็กคนไหนไร้ค่า ขอแค่แสงสว่างจากใครสักคนเพื่อเปล่งประกาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • EF (executive function)Adolescent Brain
    ‘สัตว์เลี้ยง’ เพื่อนที่สอนเด็กเรื่องความแตกต่างและเรียนรู้ที่จะปรับตัว

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel