- Manifest คือการตั้งจิตมั่น หรือการใช้สมาธิอย่างแรงกล้า เพื่อเปลี่ยนภาพจินตนาการในหัวให้กลายเป็นความจริง
- แนวคิดเรื่องการตั้งจิตมั่นเพื่อทำฝันให้เป็นจริงนี้ อาศัยกฎแห่งแรงดึงดูด เพราะการคิดในเชิงบวก ย่อมดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามา ขณะที่การคิดในเชิงลบ ย่อมดึงดูดสิ่งร้ายๆ เข้ามาเช่นกัน
- การมีทัศนคติเชิงบวก หรือความมั่นใจในตัวเอง จะส่งผลอย่างยิ่งต่อโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จ เพราะถ้ามั่นใจว่าเราสามารถทำได้ เราจะยิ่งทุ่มเทในการทำงานชิ้นนั้นมากขึ้น โดยไม่ย่อท้อแม้จะพบเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่ยากลำบาก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘Manifest’ หรือ Manifesting โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ตามสื่อโซเชียล ทั้ง Facebook, YouTube, Instagram และ Tiktok นอกจากนี้ ในโลกออฟไลน์ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ขณะที่หลายองค์กร หลายสถาบัน เปิดคอร์สสอนการ Manifesting กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
ตามความเข้าใจของใครหลายคน Manifest เป็นเรื่องของการใช้พลังจิต เพื่อดลบันดาลสิ่งที่ปรารถนาให้เป็นจริงได้ ขอเพียงแค่คุณตั้งใจจริง มุ่งมั่น เพื่อทำให้ภาพในจินตนาการปรากฎเป็นความจริง
ฟังดูแล้ว น่าจะเป็นเรื่องงมงายเสียมากกว่า มันจะเป็นจริงไปได้อย่างไร เพียงแค่ตั้งจิตมั่น ใช้จินตนาการในเชิงบวก แค่นั้นก็สามารถทำให้สิ่งที่ปรารถนากลายเป็นจริงได้อย่างนั้นหรือ
แต่ถ้าเป็นเรื่องหลอกลวงจริง แล้วทำไมมีใครหลายคนที่เชื่อในเรื่องนี้ ทั้งดารานักแสดงชื่อก้องโลก อินฟลูเอนเซอร์ดังๆ ในโลกโซเชียล หรือแม้แต่หนังสือที่ขายดิบขายดีไปทั่วโลก ก็ยังเขียนถึงเรื่องนี้
Manifest เป็นเรื่องจริง หรือเรื่องหลอกลวงล่าสุด ที่กำลังอินเทรนด์ในตอนนี้ เราจะมาหาคำตอบกัน
Manifest : นิยามแต่ดั้งเดิม
ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Manifest เป็นคำกริยา แปลว่า แสดง หรือ ทำให้ปรากฎ ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ตัวอย่างเช่น The ghost manifests each year on the same day แปลว่า ผีตัวนั้น ปรากฎตัวให้เห็นในวันเดียวกันของทุกปี
หรืออาจใช้เป็นคำคุณศัพท์ ในความหมายว่า เป็นที่ประจักษ์แจ้ง เป็นที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น It was a manifest error of judgement ซึ่งแปลว่า นี่เป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาประมาณยี่สิบปีที่ผ่านมา คำศัพท์นี้ถูกใช้ในความหมายใหม่ว่า การใช้พลังของความคิด หรือจินตนาการ ทำให้สิ่งที่วาดฝันไว้กลายเป็นความจริง
Manifest ในความหมายใหม่ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า
1. ความคิด หรือจินตนาการ เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งโดยการดึงดูด หรือผลักไสบางสิ่งบางอย่างออกไปได้
2. กฎแห่งแรงดึงดูด การคิดในเชิงบวก ย่อมดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามา ขณะที่การคิดในเชิงลบ ย่อมดึงดูดสิ่งร้ายๆ เข้ามาเช่นกัน
3. ความเชื่อมั่นในตนเอง จะทำให้เราสามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้
ในปัจจุบัน ความหมายของคำว่า Manifest ในความหมายเดิม แทบจะเลือนหายไปแล้ว ทุกวันนี้เมื่อคุณค้นหาคำแปลของคำศัพท์นี้ คุณจะพบแต่คำนิยามที่ว่า ‘การตั้งจิตมั่น หรือการใช้สมาธิอย่างแรงกล้า เพื่อเปลี่ยนภาพจินตนาการในหัวให้กลายเป็นความจริง’
จุดเริ่มต้นของกฎแห่งแรงดึงดูด
แม้ว่าเรื่องราวของ Manifest จะกลายเป็นกระแสโด่งดังในช่วงตั้งแต่ยี่สิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งเทรนด์นี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหลุดจากความนิยมแต่อย่างใด) แต่ความจริงแล้ว แนวคิดเรื่องการตั้งจิตมั่นเพื่อทำฝันให้เป็นจริง โดยอาศัยกฎแห่งแรงดึงดูด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ
จากบันทึกประวัติศาสตร์ ทำให้เราค้นพบว่า อารยธรรมเก่าแก่ของโลก ต่างมีความเชื่อเรื่องการใช้พลังจิต เพื่อกำหนดโชคชะตาของตัวเอง โดยชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า การตั้งจิตอย่างแรงกล้าจะสามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของผู้นั้น หรือแม้กระทั่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกได้
อารยธรรมกรีกก็เป็นอีกอารยธรรมที่มีความเชื่อเรื่องนี้ โดยมีบันทึกว่า นักปรัชญาชาวกรีกอย่าง เพลโต และ พิทากอรัส มีแนวคิดว่า พลังจิตที่แรงกล้าสามารถทำให้สิ่งที่คิดไว้กลายเป็นจริงได้
เพลโต ผู้ได้ชื่อว่า เป็นบิดาแห่งแนวคิดปรัชญาของโลกตะวันตก เชื่อว่า ‘โลกแห่งวัตถุ’ (Material world) หรือโลกที่เรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นโลกมายาที่ไม่เที่ยงแท้ ขณะที่ ‘โลกแห่งมโนภาพ’ (World of idea) คือ โลกที่สมบูรณ์และเป็นต้นแบบของโลกแห่งวัตถุ ซึ่งโลกแห่งมโนภาพ หรือที่บางคนเรียกว่า ‘โลกแห่งแบบ’ ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่รับรู้ได้ด้วยเหตุผล หรือปัญญา (Wisdom)
แนวคิดทางปรัชญาของเพลโตที่ว่า โลกแห่งมโนภาพ เป็นต้นกำเนิดของโลกแห่งวัตถุ จึงถูกนำไปตีความต่อยอดว่า การใช้ความคิดหรือจินตนาการอย่างแรงกล้า จะสามารถก่อร่างสร้างรูป หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกแห่งวัตถุได้
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องการใช้พลังความคิด หรือพลังจิต เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกจริง หรือโลกทางกายภาพ ดูจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มทางศาสนาหรือปรัชญา ไม่ได้เป็นอะไรที่แมส หรือได้รับความนิยมในวงกว้าง จนกระทั่งการเปิดตัวหนังสือเล่มหนึ่งในปี 2006 ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นจุดกำเนิดของ Manifest ในยุคปัจจุบัน
หนังสือเล่มนั้น ก็คือ The Secret เขียนโดย รอนดา เบิร์น (Rhonda Byrne) ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่ขายดิบขายดีไปทั่วโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆมากมาย รวมถึงภาษาไทย โดยแก่นสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ‘หากเราเปลี่ยนความคิด ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตได้’
การเปลี่ยนความคิดในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ การเปลี่ยนทัศนคติ การฝึกจิตให้คิดแต่เรื่องที่เป็นเชิงบวก เนื่องจากว่า พลังทางความคิด หรือพลังจิต สามารถดึงดูดสิ่งที่เหมือนกันเข้ามาได้ ดังนั้น การคิดในเชิงบวก จะดึงดูดเรื่องดีๆ เข้ามาหาเรา
The Secret กลายเป็นปรากฎการณ์ไปทั่วโลก บรรดาผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ พากันขานรับสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักบวช นักปรัชญา รวมทั้งนักธุรกิจ ต่างประสานเสียงสอดคล้องต้องกันว่า เขาหรือเธอ ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของตนได้ เพราะนำเอากฎแห่งแรงดึงดูดนี้ไปใช้
อย่างไรก็ดี ความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ ต่อให้เป็นนักวิชาการที่น่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ ก็ไม่อาจจูงใจให้คนเชื่อได้เท่ากับดารานักแสดงผู้โด่งดัง ซึ่งเป็นผู้สร้างกระแส Manifest ในโลกโซเชียลมีเดียมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องของเรื่อง เริ่มจากแคมเปญในโซเชียลมีเดีย ที่เคยใช้ชื่อว่า Twitter (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น X ในปัจจุบัน) เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นแคมเปญที่รณรงค์ให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ออกมาทวิตถึงสิ่งที่วาดฝันไว้ และพยายามทำให้มันเป็นจริงโดยอาศัยการ Manifesting
ในแคมเปญชิ้นนี้ อ้างถึงคนดังหลายคนที่ประสบความสำเร็จ ในการทำให้ความฝันกลายเป็นจริง ด้วยการ Manifest อาทิ เดมี โลวาโต (Demi Lovato) นักร้องนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ซึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอเคยทวิตไว้ในปี 2010 ว่า สักวันหนึ่งเธอจะต้องได้ร้องเพลงชาติอเมริกา ในรายการแข่งขันชิงอเมริกันฟุตบอล นัดชิงชนะเลิศ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า นัดชิงซูเปอร์โบว์ล ซึ่งเป็นรายการแข่งขันกีฬาที่มียอดผู้ชมมากที่สุดในอเมริกา และมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
โลวาโต เชื่อมั่นในความฝันของเธออย่างแรงกล้า เธอมองเห็นภาพความฝันนั้นเป็นรูปธรรมชัดเจนมาโดยตลอด และในอีก 10 ปีต่อมา ความฝันของเธอก็กลายเป็นจริง ซึ่งโลวาโตเชื่อว่าเป็นเพราะการ Manifest ของเธอ
หลังจากนั้น เหล่าดาราเซเลบจำนวนมาก พากันทวิตถึงสิ่งที่เขาหรือเธอเคยฝันไว้ และกลายเป็นจริงได้ด้วยการ Manifest ไม่ว่าจะเป็น โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ผู้เคยพูดไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2007 ในรายการทอล์คโชว์รายการหนึ่งว่า ถ้าคุณเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า สิ่งนั้นจะเป็นจริงได้ เหมือนที่เธอเคยเชื่อว่า เธอจะต้องได้รับบทนักแสดงนำในภาพยนตร์ของผู้กำกับชื่อดัง สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) และในที่สุด เธอก็ได้เป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง The Color People
จิม แครี (Jim Carrey) นักแสดงชื่อดังของฮอลลีวูด เป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อในเรื่องนี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงความเชื่ออันแรงกล้าว่า สักวันหนึ่ง ตัวเองจะกลายเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จ ถึงขั้นที่เขาเขียนเช็คมูลค่าหนึ่งหมื่นดอลลาร์ให้กับตัวเอง ทั้งที่ในบัญชีธนาคารของเขาจะมีเงินไม่พอก็ตาม
และในอีกไม่ปีต่อมา แครี ก็โด่งดังคับฟ้าจากภาพยนตร์ตลกเรื่อง Dumb And Dumber ที่ออกฉายในปี 1994 ซึ่งส่งผลให้เขากลายเป็นนักแสดงระดับหัวแถวของวงการมาจนถึงปัจจุบัน
Manifest ในความเชื่อ VS Manifest ในความจริง
ว่ากันว่า วัยรุ่นในยุคปัจจุบัน เชื่อสิ่งที่พบเจอใน Tiktok มากกว่าคำพูดของพ่อแม่ หรือครูอาจารย์ และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด
ไม่เพียงแต่ Tiktok ในสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทั้ง Facebook, Youtube, Instagram รวมถึง X ที่เป็นจุดเริ่มต้นกระแส Manifest ต่างนำเสนอคอนเทนท์ที่ชี้ชวนให้เข้าใจว่า เพียงแค่ใช้พลังความคิด ชีวิตของคุณก็สามารถดีขึ้นได้ดังใจหวัง
อินฟลูเอนเซอร์หลายคนในโลกโซเชียล เผยถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการ Manifest ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
1. เขียนรายการความฝัน หรือความปรารถนาที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ความมั่งคั่ง การได้เลื่อนขั้นตำแหน่งงาน การได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการได้พบเจอคนรักที่ใช่ ลงบนแผ่นกระดาษ บันทึกในคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตในโทรศัพท์มือถือ
2. จินตนาการถึงภาพที่จะเกิดขึ้น เมื่อความฝันของคุณกลายเป็นความจริง และพยายามทำให้ภาพนั้นดูสมจริงที่สุด ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณฝันอยากเป็นเจ้าของรถสุดหรูสักคัน ให้แวะไปดูรถคันนั้นในโชว์รูม ลองเข้าไปนั่งเพื่อสัมผัสความหรูหรา เพื่อให้คุณได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น หลังจากความฝันนั้นกลายเป็นจริง
3. ขอบคุณอย่างจริงใจกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น แม้ว่าสิ่งที่คุณปรารถนาอาจยังมาไม่ถึง แต่การที่คุณแสดงความขอบคุณต่อสิ่งดีๆ (ที่อาจจะดูเล็กน้อยมาก) ที่เกิดขึ้น จะช่วยดึงดูดสิ่งดีๆ ที่ใหญ่กว่านั้น ให้เข้ามาหาคุณได้
นอกจากนี้ ยูทูบเบอร์บางคน ยังมีทริคเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้การ manifest ของคุณ ทำได้ง่ายขึ้น เช่น ทริค 369 ซึ่งก็คือ การเขียน หรือทบทวนสิ่งที่คุณฝันไว้ให้บ่อยที่สุด ทุกวัน วันละ 3 เวลา ตอนบ่ายสามโมง หกโมงเย็น และสามทุ่ม หรือเวลาที่เข็มนาฬิกาชี้ที่เลข 3, 6 และ 9 นั่นเอง
ไม่เพียงแต่ในโลกออนไลน์เท่านั้น ในโลกออฟไลน์ หรือโลกจริงที่เราอยู่ เรื่องราวของการ Manifest ก็ปรากฎให้เห็นกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็เป็นไปตามหลักความจริงที่ว่า ทุกเรื่องราวที่มีคนสนใจ ย่อมกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้
ในปัจจุบัน ทั้งในไทยและในต่างประเทศ มีการเปิดคอร์สสอน Manifesting อย่างแพร่หลาย โดยมีค่าวิชาความรู้ ตั้งแต่หลักพันยันหลักหมื่น ซึ่งก็มีทั้งคอร์สที่ดูน่าเชื่อถือ และคอร์สที่ดูอย่างไรก็ไม่น่าเชื่อถือ
หนึ่งในเกณฑ์ที่สามารถชี้วัดความน่าเชื่อถือของเรื่องราวการ Manifest ก็คือ ข้อเท็จจริงทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะทางด้านจิตวิทยา
ดร.ชิกิ เดวิส (Tchiki Davis) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาวะ จากสถาบันสุขภาวะเบิร์กลีย์ กล่าวว่า ถึงแม้เนื้อหาในหนังสือจำพวกกฎแห่งแรงดึงดูด จะไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่มันก็ความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้น
โดยเธอได้อ้างผลงานวิจัยของ ดร.แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ระบุว่า ทัศนคติเชิงบวก หรือความมั่นใจในตัวเอง จะส่งผลอย่างยิ่งต่อโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จ เพราะถ้ามั่นใจว่าเราสามารถทำได้ เราจะยิ่งทุ่มเทในการทำงานชิ้นนั้นมากขึ้น โดยไม่ย่อท้อแม้จะพบเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่ยากลำบาก
“ในทางตรงข้าม ถ้าคุณมีทัศนคติเชิงลบ คิดว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานนี้ ก็มีแนวโน้มที่คุณจะพาตัวเองไปสู่ทิศทางที่ไม่ได้งานนี้ สมมติว่า คุณไม่สบายในคืนก่อนที่จะมีนัดสัมภาษณ์งาน คุณก็อาจตัดสินใจไม่ไปตามนัดเลย และทำให้คุณไม่ได้งานนั้นจริงๆ” ดร.ดเว็ค กล่าว
ขณะที่ ดร.เดวิส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในทางจิตวิทยาแล้ว การ Manifest ในบางแง่มุม ก็ไม่ต่างจากปรากฎการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Self-Fullfilling Prophecy หรือ ปรากฎการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง หรือ “เราคิดอย่างไร เราก็มักจะพบเจออย่างนั้น”
ตัวอย่างเช่น เวลาพบเจอเพื่อนใหม่ที่ยิ้มแย้ม เราอาจคิดสรุปไปล่วงหน้าว่า เพื่อนใหม่คนนั้นเป็นคนร่าเริงเข้ากับคนได้ง่าย ซึ่งการคิดล่วงหน้าแบบนั้น ทำให้เรารู้สึกดี พูดคุยกับเพื่อนใหม่คนนั้นได้อย่างสนิทใจ และทำให้เรายิ่งรู้สึกว่า เพื่อนคนนั้น มีนิสัยร่าเริงเข้ากับคนง่ายอย่างที่คิดจริงๆ
ในทางตรงกันข้าม หากเราพบเจอเพื่อนใหม่ที่ดูเคร่งขรึมไว้ตัว เราอาจด่วนสรุปว่า เขาเป็นคนหยิ่งและไม่ชอบสุงสิงกับใคร ซึ่งการคิดล่วงหน้าของเราส่งผลต่อพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว ทำให้เราวางตัวออกห่าง ในขณะที่เพื่อนคนนั้นก็ไม่กล้าเข้าใกล้เรา และสุดท้าย เราจึงทึกทักไปเองและสรุปว่า เพื่อนคนนั้นหยิ่งเหมือนที่คิดไว้ในตอนแรกจริงๆ
เช่นเดียวกัน ถ้าเรา Manifest เพื่อให้ได้ตำแหน่งงานในฝัน ซึ่งหมายความว่า เราเชื่อมั่นว่าจะได้ตำแหน่งงานนั้น ความเชื่อมั่นนั้นก็จะทำให้เรามีทัศนคติในเชิงบวก และพาตัวเองไปอยู่ในทิศทางที่มุ่งไปสู่การได้ตำแหน่งงานนั้น เช่น การฝึกทักษะเพิ่มเติมที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงาน หรือการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเปิดรับตำแหน่งงานนั้นอยู่เสมอๆ
ดร.บาร์บารา เฟรดริคสัน (Barbara Fredrickson) จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา เสริมว่า ทัศนคติเชิงบวก รวมถึงการมีอารมณ์ดี ยังช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ในสมอง ซึ่งส่งผลต่อการทำงานให้สำเร็จราบรื่น และนั่นทำให้คนที่มีทัศนคติเชิงบวก จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จในการทำงานมากกว่าผู้ที่มีทัศนคติเชิงลบ ซึ่งนั่นก็สอดคล้องกับแนวคิดของการ Manifest ที่อาศัยกฎแห่งแรงดึงดูด
แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่ ดร.เดวิส กล่าวย้ำก็คือ Manifest ไม่ใช่เรื่องของความเชื่อ หรือการตั้งจิตมั่นเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องอาศัยการกระทำอย่างทุ่มเทด้วย
ดร.มาร์ค ทราเวอร์ส (Mark Travers) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ระบุว่า อินฟลูเอนเซอร์ใน Tiktok, Instagram และ Youtube ทำให้การ Manifest ถูกมองเป็นเรื่องหลอกลวง ทั้งที่ในความเป็นจริง มันมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้น
“การสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงการสร้างภาพในจินตานาการว่าเราทำได้ เป็นสิ่งที่นักกีฬาใช้ในการพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกระดับ แต่ต้องควบคู่กับการซ้อมอย่างจริงจังด้วย” ดร.ทราเวอร์ส กล่าว
ท้ายสุด ดร.ทราเวอร์ส ย้ำว่า การ Manifest ไม่ใช่แค่นั่งแล้วใช้พลังจิต จินตนาการถึงสิ่งที่ฝันไว้ แล้วมันจะกลายเป็นจริงได้
“จงกำหนดเป้าหมายหรือความฝันที่เป็นรูปธรรม มีรายละเอียดชัดเจน รวมถึงขั้นตอนต่างๆ ที่คุณต้องทำ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ และนั่นคือการ Manifest ที่จะทำให้ความฝันของคุณกลายเป็นความจริง”
แม้ว่าเรื่องนี้จะมีหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับ แต่ Manifest ก็ไม่ใช่สูตรลัดไปสู่สิ่งที่มุ่งมาดปรารถนา หากเป็นเพียงแค่การเพิ่มโอกาส ความเป็นไปได้ รวมถึงสร้างกำลังใจในการลงมือปฏิบัติเพื่อไขว่คว้าความฝันนั้น
และสุดท้าย ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร สมดังใจหวัง หรือยังต้องผิดหวัง พึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการกระทำของตัวเราเอง บวกกับเงื่อนไขตัวแปรอื่นๆ อีกมากมาย ที่ไม่ใช่แค่เพราะการ Manifest ของเรา ทำได้สมบูรณ์แบบแล้ว หรือยังทำได้ไม่มากพอ
อ้างอิง
A psychologist explains the dangers of manifesting your goals: https://www.forbes.com/sites/traversmark/2022/11/12/a-psychologist-explains-the-dangers-of-manifesting-your-goals—and-offers-a-solution/
What is manifestation-Base ways to manifest: https://www.psychologytoday.com/us/blog/click-here-for-happiness/202009/what-is-manifestation-science-based-ways-to-manifest
These celebrities predicted their futures through manifesting: https://www.glamourmagazine.co.uk/article/manifesting-celebrities
Social media’s manifesting craze explained: Here’s what you need to know : https://www.indiatimes.com/lifestyle/whats-cooking/heres-everything-you-need-to-manifestation-social-media-trend-589847.html
The history and origins of the law of attraction: https://medium.com/@ManifesatonSecrets/the-history-and-origins-of-the-law-of-attraction-7449b2fd7c6a
โลกทัศน์ของเพลโต: https://www.thaicadet.org/Ethics/Plato.html