- การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) หมายถึงการพัฒนาโรงเรียนโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ การเรียนการสอน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์กับชุมชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียน
- เป้าหมายสูงสุดของ Whole School Approach คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนให้ดีขึ้น ทั้งในด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และคุณลักษณะที่ดี โดยเน้นการเรียนรู้แบบองค์รวมและการแก้ปัญหาจริง เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
- การประสบความสำเร็จของ Whole School Approach ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วนในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้อำนวยการ และชุมชน โดยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการวางแผน ปฏิบัติ และประเมินผล
เพราะโลกเปลี่ยน ผู้เรียนเปลี่ยน โรงเรียนจึงต้องเปลี่ยน นี่คือคอนเซปต์ของเวทีเสวนา ‘โรงเรียนกล้าเปลี่ยน’ ในงานมหกรรม ‘รวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน All For Education: Education For All ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน’ โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เปิดเวทีให้คุณครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทาง การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach)
‘Whole school approach’ ตามความหมายของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) หมายถึงการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการ ระบบการจัดการเรียนการสอน ระบบการประกัน คุณภาพภายใน ระบบการพัฒนาบุคลากร การดูแลนักเรียนให้ทั่วถึง ระบบสนับสนุน ฯลฯ เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะทำให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทั้งระบบ
โอกาสนี้ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงสาระสำคัญของ Whole school approach ว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง จะเกิดขึ้นและสำเร็จได้เมื่อทุกคนมีความเข้าใจ มองเป้าหมายเดียวกัน และทำงานร่วมกัน
“ถ้าเราจะพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของเด็กโดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจน ต้องมองทั้งระบบของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการโรงเรียน การเรียนการสอน สองเรื่องนี้เป็นคำใหญ่ๆ ที่มันเกิดขึ้นในระบบโรงเรียน ซึ่งจริงๆ มันมากไปกว่านั้น เพราะว่าห้องเรียนคงไม่ใช่เฉพาะในโรงเรียนอีกต่อไป บทบาทการสร้างเด็ก พัฒนาเด็ก แก้ปัญหาให้เด็ก ไม่ใช่อยู่ในมือครูแต่เพียงลำพัง”
ทุกคนร่วมมือกันเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่ All Well-Being
“ผมมองว่าระบบการศึกษาถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ แต่ว่ากระบวนการเรียนรู้ ระบบการเรียนรู้มันเกิดขึ้นด้วยธรรมชาติ ทีนี้มันประหลาดมากเลยที่เราพยายามจะละทิ้งความเป็นธรรมชาติในการเรียนรู้ มาทำระบบที่เราสร้างขึ้น
เพราะฉะนั้นคุณค่าความหมายของการศึกษาที่เป็น Whole school approach ผมมองว่ามันเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์เรียนรู้แบบองค์รวม ทั้งองค์รวมในคนๆ หนึ่ง และองค์รวมที่เชื่อมกันอยู่ในทุกภาคส่วน ผมให้นิยามเชื่อมไปทั้งสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย เพื่อจะนำไปสู่ความเป็น Well-Being แบบองค์รวม All Well-Being ที่ทุกคนจะต้องมีความสุขไปด้วย”
ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา อธิบายหลักคิดซึ่งอยู่เบื้องหลังการออกแบบการเรียนรู้ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
“มนุษย์เรียนรู้ผ่านการซึมซับกับผ่านการเรียนรู้แบบตั้งใจเรียนแบบพุ่งเป้า ผมเรียก ‘การเรียนรู้แบบซึมซับ’ และ ‘การเรียนรู้แบบพุ่งเป้า’ นี่เป็นองค์ประกอบใหญ่ที่ทำให้เกิด Whole school approach
ที่ผมพูดว่าเรียนรู้ๆ เนี่ยคือทุกคนนะครับ แม้แต่ต้นไม้หรือจุลินทรีย์ที่อยู่ในโรงเรียน ก็แปลว่าทั้งครู ทั้งเด็ก ทั้งผู้ปกครอง หรือองคาพยพเกี่ยวข้องหมด เพราะถ้าจะเป็น Whole school approach องค์ประกอบสองอย่างนี้สำคัญมาก คือทำยังไงที่จะเรียนรู้ผ่านการซึมซับที่มีความหมายเพื่อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ซึมซับเนี่ยมันเป็นนามธรรมมากเลย เขาจะเรียนอะไร พอเข้าไปโรงเรียนก็เรียนจาก Culture เรียนจากวัฒนธรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน วิธีคิดของคน ค่านิยม ความเชื่อ อะไรพวกนี้เป็นสิ่งที่นามธรรมมาก แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการทำให้คนๆ นึงเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้”
“องค์ประกอบที่สองคือ วิจารณญาณ ที่เราจะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้แบบพุ่งเป้าได้อย่างตรงจุด ถ้าให้ผมมองว่าอะไรสำคัญที่สุดในสองปัจจัยนี้ ผมก็ยังมองว่า การออกแบบแบบพุ่งเป้าสำคัญกว่า เพราะพุ่งเป้าเป็นวิธีการที่มนุษย์คนนึงจัดกระทำ ถ้าคนเข้าไปจัดกระทำอย่างไม่มีวิจารณญาณกลายเป็นการทำให้การเรียนรู้นั้นไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น”
ครูใหญ่วิเชียรเสริมในเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ว่า “วิธีการออกแบบทำให้มนุษย์เรียนรู้มันง่ายมากนะ เราไม่พูดถึงหลักสูตรด้วยซ้ำไป เพราะว่าบริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว เขาต้องเรียนเพื่อไปใช้ในบริบทใหม่
สิ่งที่เราทำได้ก็คือกระตุ้นให้เขาคิด และกระตุ้นให้เขาแก้ปัญหาอยู่บ่อยๆ จนเกิดทัศนคติที่ดีต่อปัญหา เกิดทัศนคติที่ดีต่อการคิดที่จะแก้ปัญหา จะกลายเป็นหนทางรอด โดยที่เราไม่กำหนดเลยนะว่าเขาต้องมีคุณลักษณะอย่างไร”
“การจัดการเรียนรู้แบบพุ่งเป้าง่ายที่สุดคือ เราออกแบบให้เขาเกิดการคิดและแก้ปัญหา เพราะว่าการคิดและแก้ปัญหาในที่สุดมันจะมีวงจรหนึ่งที่เขาจะไปเจอปัญหาใหม่ๆ อยู่เสมอ ในบริบทโลกที่มันเปลี่ยนแปลง วงจรนี้เขาจะกลับมาใช้ได้ตลอดเวลา”
นอกจากนี้ ครูใหญ่วิเชียรยังให้ความเห็นถึงบทบาทผู้อำนวยการในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบด้วยว่า “ในการที่จะเป็น Whole school approach ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ทุกกลุ่ม ทั้งตัวผอ. ครู ผู้ปกครอง รวมถึงโรงเรียนเครือข่าย ผมมองว่าเราดีไซน์ได้ แล้วก็ออกแบบกลไกที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ทุกกลุ่ม อย่างลำปลายมาศพัฒนาเราก็มีนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของครูเราเรียกว่า PLC (Professional Learning Community) ที่มีคุณภาพ แล้วก็ย้ำว่า PLC ที่มีคุณภาพ องค์ประกอบของมันเชื่อมร้อยกันอยู่เป็นองค์รวม”
“สำหรับผู้ปกครองเราก็มีนวัตกรรมที่เรียกว่า CoP ซึ่งมาจาก Community of Prop ที่แปลว่าการเรียนรู้ของเสาหลัก มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจในสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งเข้าใจลูกแต่ละวัย เรื่องที่สองเข้าใจเรื่องการเรียนรู้มันคืออะไร แล้วเขาจะช่วยลูกได้ยังไง แล้วก็เรื่องที่สามเขาเข้าใจวิธีการที่ลูกเขาเปลี่ยนไปในแต่ละวัยเพื่อให้รับมือได้
และในส่วนเครือข่ายเองเราก็มีนวัตกรรมที่เรียกว่า PLN – Presonal Learning Network แล้วก็กลไกในการทำงานร่วมกันตลอดเวลา เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน องคาพยพในการเรียนรู้เคลื่อนตัวไปตลอดเวลา แต่ว่ากลไกพวกนี้ก็ต้องออกแบบใหม่อยู่เรื่อยๆ ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ส่วนเด็กเราออกแบบให้เขาได้ร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PBL – Problem based learning จะเป็นกระบวนการที่มีอยู่ทุกวิชาเลย”
นอกจากนี้ ครูใหญ่วิเชียรยังชี้ให้เห็นว่า นักเรียนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน ก็ต่อเมื่อเขาเป็นสิ่งรบกวน หมายความว่าเมื่อไหร่ที่นักเรียนไม่รู้ เขายังทำไม่ได้ เขาจะกลายเป็นสิ่งรบกวนที่ทำให้ครูหันมาร่วมมือกันเรียนรู้
“ถ้าเราจะพูดถึงเป้าหมายใหญ่ของกระบวนการทางการศึกษา สิ่งรบกวนนี้ก็จะทำให้องคาพยพของโรงเรียนนั้นเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น แล้วก็ช่วยเหลือเขาได้มากขึ้น แต่มากกว่านั้นภายใต้สิ่งที่ผมพูดคือ ในการออกแบบการเรียนรู้ทุกครั้ง หน่วยการเรียนบูรณาการ PBL ของเราจะต้องเอามาจากสภาพและบริบทที่เด็กเผชิญอยู่ ทั้งหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ภาค หรือโลก แล้วเวลาเรียนรู้ ความคาดหวังของเรา เราหวังว่าเขาจะเอาสิ่งที่เรียนรู้กลับมาใช้ในชีวิต ในชุมชน แล้วก็กลับมาใช้ในโลก
มันมีประโยคหนึ่งที่อยู่หัวหน่วยการเรียนคือ What can I do, Where I am. หมายความว่าทุกครั้งที่เขาเรียนรู้อะไรลงไปเขาต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ฉันสามารถทำอะไรได้ในสิ่งที่ฉันเรียนรู้นี้, ฉันสามารถที่จะทำอะไรกลับไปได้ในสิ่งที่ชุมชนฉันต้องการ เช่น หน่วยป.3 เด็กเรียนเรื่องน้ำพริก เพราะเด็กไม่กินน้ำพริก ไม่กินผัก เรารู้สึกว่ามันคือสภาพที่เป็นปัญหาในอนาคตถ้าเด็กไม่รู้จักกินอาหารที่หลากหลายหรือกินอาหารประเภทผัก ก็มาเรียนเรื่องน้ำพริกใน 10 สัปดาห์ เขาก็จะตอบคำถามเรื่องนั้น เอากลับไปทำที่บ้าน ชวนพ่อแม่ทำน้ำพริก เขารู้จักผักพื้นบ้านหลายๆ ชนิด อันนี้ต่างหากที่ผมมองว่าหน้าที่ของเด็กที่จะกลับมาช่วย Whole school approach ไม่ใช่แค่ช่วยโรงเรียน แต่ช่วยชีวิตเขาแล้วก็ช่วยชุมชน ช่วยครอบครัว ช่วยโลกด้วยในฐานะที่เขาเป็นแค่นักเรียนนะ”
เพราะฉะนั้นคอนเซปต์ง่ายๆ ก็คือ ‘ทุกคนร่วมมือกันเรียนรู้’ ครูร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PLC ผู้ปกครองร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน CoP เด็กร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PBL แล้วก็เครือข่ายร่วมมือกันเรียนรู้ผ่าน PLN
เปลี่ยนโรงเรียนเริ่มต้นที่ผู้บริหาร สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง
เมื่อคุณค่าความหมายของ Whole school approach คือการเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ผู้ที่หยิบเครื่องมือนี้มาใช้คนแรกจึงต้องเป็น ผู้บริหาร หรือผู้อำนวยการโรงเรียน แล้วตามด้วยครู ส่งต่อไปยังนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
“ทำไมเราต้องทำ Whole school approach ผมแชร์ในมุมมองของผมว่า Whole school approach เป็นกระบวนการยกระดับ คุณค่ามันคือเพื่อใช้ยกระดับคุณภาพการศึกษาแต่ว่าเป็นคุณภาพที่มันใช่นะ มันต้องมีสัมมาทิฏฐิทางการศึกษาที่ถูกต้อง”
ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี ชี้ถึงความสำคัญของเครื่องมือนี้ และขยายความถึงองค์ประกอบสำคัญในการทำให้โรงเรียนพัฒนาทั้งระบบเกิดขึ้นได้จริง
“Whole school approach มันจะมาพร้อมกับระบบโรงเรียน ผมจะเห็นทั้งลำปลายมาศ ทั้งรุ่งอรุณที่มีระบบของตัวเอง และคิดว่าจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ของพื้นที่ตรงนั้น แล้วคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Whole school approach ก็คือพอเราทำจนติดเป็นวัฒนธรรมแล้ว มันทำให้เกิดความยั่งยืน ถ้าเราเห็นคุณค่าตรงนี้องค์ประกอบหลักๆ ที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นตัวแรกเลยคือเรื่องของการร่วมมือกัน การมีส่วนร่วมของแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ทุกภาคส่วนเลยที่พัวพันกัน จะเป็นทั้งรอบๆ โรงเรียน ตั้งแต่จากเขต จากพื้นที่ จากสพฐ. ลงมาที่โรงเรียน หรือแม้แต่ในบริบทของชุมชน เรื่องของฝ่ายบริหาร ฝ่ายจัดการเรียนรู้ รวมทั้งตัวนักเรียนและผู้ปกครองที่จะต้องเข้ามามีบทบาทร่วมกัน”
ดังนั้น หัวใจสำคัญของ Whole school approach ในสายตาของดร.ศุภโชค คือ การมีระบบหรือกลไกขับเคลื่อนเป็นของตัวเอง และการมีส่วนร่วมของแต่ละส่วนในการทำงานร่วมกัน รวมไปถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานลักษณะนี้ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่เกิดการโยกย้ายผู้อำนวยการ
“ทีนี้ในบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน จะต้องมี Collective leadership คือผู้บริหารที่สร้างผู้นำร่วม อันนี้จะนำมาซึ่งองค์ประกอบแรกที่สำเร็จคือเรื่องของการมีส่วนร่วม ผู้บริหารในยุคของการทำ Whole school approach จะลดการสั่งการ จะลดการคอมมานด์ จะลดการบังคับให้ทำ เราอาจจะต้องมีแรงเสียดทานดูบ้างสำหรับผู้บริหารโรงเรียนนะครับ เพราะเราจะถูกสั่งจากข้างบนประจำเลย ทีนี้ถ้าเราคุ้นเคยจากการสั่งข้างบนแล้วเรากดต่อ Whole school approach จะไม่เกิดจากการมีส่วนร่วมกันจริงๆ
เราจะต้องฝืนวิธีคิดบางอย่างเพื่อปลุกเร้าพลังของคนในบริบทของเราให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมให้ได้ ผู้บริหารจะต้องแชร์เยอะๆ ทำตัวเราให้เล็ก ทำตัวเขาให้โตขึ้น อันนี้เป็นบทบาทแรกของผู้บริหาร
พอเราทำแบบนี้ ความต้องการ ทิศทางการช่วยเหลือ บทบาทของครู ผู้ปกครอง นักเรียนจะเริ่มตามมา เขาอาจจะสามารถเข้ามาให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับนวัตกรรมที่เรากำลังใช้อยู่ว่ามันใช่ไหม มันโดนเขาไหม เกิดประโยชน์ต่อลูกหลานเขาไหม หรือคุณครูก็สามารถฟีดแบคข้อมูลกันได้ นี่แหละคือหัวใจสำคัญของ Whole school approach เพราะฉะนั้นถ้าเราสตาร์ทจากผู้บริหารที่แชร์ได้มาก แล้วก็สร้างการมีส่วนร่วมได้สูง บทบาทของครู ผู้ปกครอง ก็จะเกิดขึ้นตามมาสูงขึ้น”
ที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมต้องมาพร้อมกับการสร้างความเข้าใจ ดร.ศุภโชค มองว่า “บทบาทที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือการทำให้มันยังคงอยู่ร่วมกัน การรักษาไว้ การสร้างวิถีร่วมกัน ซึ่งการสร้างด้วยตัวผู้นำเองอย่างเดียวก็จะช้าหน่อย แต่ถ้าเราทำให้ครูลุกขึ้นมาสร้างการเรียนรู้ ผู้ปกครองสนับสนุน ก็จะเกิดการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง เป็นวิถีการทำงานที่เข้มแข็งต่อไป”
นอกจากนี้ นักเรียนเองก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาโรงเรียนด้วย โดยในบริบทของโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี ดร.ศุภโชค เล่าว่า “แบ็คกราวด์ของโรงเรียนผมคือมีหลายเผ่า อาข่า ลาหู่ จีน ยูนนาน ไทใหญ่ สิ่งแรกที่เราพยายามสร้างบทบาทนักเรียนก็คือการเรียนรู้และปรับตัวให้อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข แต่ละเผ่าเขาก็จะมีวัฒนธรรม วิถี ความเชื่อ ภาษาที่แตกต่างกัน เราโฟกัสไปที่การเรียนรู้และการปรับตัวในการอยู่ร่วมกัน และทำให้เขาได้มีโอกาสได้รีเฟลกซ์ตัวเอง สะท้อนความต้องการความคาดหวังกี่ยวกับโรงเรียนให้เราได้รับฟัง ซึ่งตรงนี้ถ้าเขาไม่ได้ถูกเราไปออกแบบกระบวนการบางอย่างไว้ เราก็จะไม่ได้รับข้อมูลชุดนี้ แต่พอเราทำเป็นวิถีแล้วเด็กก็มีโอกาสได้เขียนโพสอิทบ้าง ระดมสมองบ้าง พูดคุยในวงที่เราออกแบบไว้ก็จะทำให้เราได้รับการตอบสนอง ว่าเขาอยากจะได้อะไร อยากให้ครูทำยังไง อยากให้โรงเรียนทำยังไง อยากให้ผอ.ทำยังไง
และที่เห็นชัดเจนก็คือพอเขาต้องการระดับหนึ่งเราก็ตีกลับไปว่า สิ่งที่เขาต้องการมันทำในความเป็นจริงได้ไหม เช่น มีเด็กป.6 มาขอไว้ผมยาว อันนี้เหตุการณ์สัก 7-8 ปีก่อน เราก็ตีกลับไปว่า ถ้าไว้ผมยาวแล้วหนูจะดูแลเหาตัวเองได้ใช่ไหม ก็เป็นข้อตกลงร่วมกัน ในที่สุดแล้วเรื่องนี้ถูกนำเข้าไปในที่ประชุมสภานักเรียน กลายเป็นข้อตกลงที่ใช้ทั้งโรงเรียน ซึ่งมีอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องของการรับประทานอาหารแบบไหน เรื่องของการจัดการขยะในห้องเรียน เรื่องของการอยู่ร่วมกันตามกติกา เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้ถูกสั่งลงไปจากครู ไม่ได้กดดันไปเป็นระเบียบของโรงเรียน แต่เป็นข้อตกลงที่เกิดจากนักเรียนร่วมกันสร้างขึ้น
ผมว่า Whole school approach น่าจะเป็นระบบที่ช่วยให้เราได้รับข้อมูล ได้สร้างระบบการเรียนรู้และการปรับตัวให้เป็น และนำมาซึ่งข้อตกลงที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
เปลี่ยนมายด์เซ็ตครู พาเด็กเรียนรู้สู่การเผชิญโลกจริง
นอกจากการปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ตของผู้นำทัพแล้ว ครูเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน อาจารย์สืบศักดิ์ น้อยดัด อาจารย์ประจำสาขาวิชาศึกษาศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ มองว่าต้องเริ่มจากการที่ครูกล้าทะลุตัวเองออกไปจากภาพเดิมที่เรียนแค่ท่องจำ
“ผมคิดว่าในบทบาทตรงนี้ มันควรเริ่มจากการย้ายมายด์เซ็ตของตัวเองเข้าไปสู่การเผชิญโลกจริง เพราะทุกคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษารู้ดีว่ามีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก เปลี่ยนทุกวันเหมือนกัน ความรู้ใหม่เราต้องเสพเข้าเกือบทุกวัน ก็เลยคิดว่าถ้าเราเริ่มย้ายมายด์เซ็ตตรงนี้ได้ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่ง ที่เราจะเข้าไปร่วมรู้สู่ความเป็น Whole school approach”
“ผมแชร์ประสบการณ์ที่สถาบันอาศรมศิลป์มีโอกาสได้ทำงานในเชิงพื้นที่ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนการศึกษานำร่องของพื้นที่นวัตกรรม 20 จังหวัดที่เราต้องช่วยขับเคลื่อนวิกฤตในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านหลักสูตรสถานศึกษาที่มุ่งเน้นฐานสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์กับโลกปัจจุบัน อีกทางนึงเราก็กำลังขับเคลื่อนให้กับกลุ่มโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศที่เราจะเห็นโรงเรียนเอกชนลุกขึ้นมาให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับเปลี่ยนภาพมุมมองไปแบบ Whole school เพราะฉะนั้นตัว Whole school ก็จะเข้าไปมีผลสำหรับการจัดการระบบในโรงเรียนที่มีหลากหลายปัจจัย แต่ถ้าเป็นในหน่วยงานสถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ เราใช้ความเติบโตความงอกงามมาจากฐานคิดของการเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ที่ใช้หลักพุทธธรรมที่ท่านรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน ใช้หลักคิดพุทธธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็โยนิโสมนสิการ มาทำนวัตกรรมการจัดการศึกษาแบบองค์รวม ก็คือ Holistic Education”
อาจารย์สืบศักดิ์ อธิบายต่อว่า การจัดการศึกษาแบบองค์รวมนี้ ขับเคลื่อนไปกับการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบด้วย 7 change
“ผมมองว่าเป้าหมายของ Whole school มันต้องรู้ตั้งแต่เป้าหมายที่แท้ของโรงเรียนว่าทำโรงเรียนขึ้นมาเพื่อจะสร้างใคร แล้วถ้าเราโฟกัสไปที่เอาชีวิตเด็กเป็นตัวตั้งของการทำการศึกษา อาจจะเป็นโจทย์หนึ่งที่สำคัญในการใช้ลูปของ Whole school เคลื่อน
มิติของตัวผู้บริหารต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตเปลี่ยนมุมมอง ต่อไปก็ต้องเป็นครูมืออาชีพ หรือครูที่เป็นนักออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งกระบวนการสอนของครูที่จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของการใช้นวัตกรรมก็ดี ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนก็ดี
และที่สำคัญก็คือหลักสูตรสถานการศึกษาก็ต้องปรับไปด้วย จากนั้นก็ต้องเชื่อมโยงไปถึงพื้นที่ Area Based ที่เขาจะต้องเปลี่ยนทั้งในโรงเรียนแล้วก็นอกห้องเรียนที่เปิดโลกให้กับเด็ก รวมไปถึงสุดท้ายก็คือเรื่องของการวัดและประเมินผล ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเคลื่อนโรงเรียนแบบไม่แยกส่วน”
“ตัวผมเองเชื่อมั่นว่าถ้าเรามองเด็กโดยที่ตัวครูเป็นผู้ที่ศรัทธาในตัวเด็กก่อน แล้วทำยังไงให้เด็กเขารู้จักศรัทธาในตัวเอง ผมว่าการเรียนรู้ในโรงเรียน เด็กทุกคนเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ ต่อให้เขาอยู่ในบริบทในเมืองหรือว่าภูเขาสูง
เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าถ้าเรามีเป้าหมายชัดในความเป็น Whole school ที่มีเป้าที่แท้ ว่าเราจะพัฒนาเด็กคนนึงให้เขาไปเติบโตหรือบรรลุผลด้วยเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง เด็กเองเขาก็จะสามารถที่จะเรียนรู้ เพราะแน่นอนผู้ปกครองเลือกที่จะให้เด็กมาเรียนโรงเรียนนี้แล้วเขาก็มีส่วนที่จะเป็นเจ้าของโรงเรียนนี้ เพราะฉะนั้นครูเองจะต้องทำตัวให้เป็นหุ้นส่วนของการเรียนรู้ที่จะพากันเรียนรู้ไปให้ถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังหรือผลลัพธ์ที่เราต้องการ”
ปิดท้ายในเวทีเสวนา ‘โรงเรียนกล้าเปลี่ยน’ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของนักเรียนว่า “เด็กๆ เป็นตัวต่อที่สำคัญไปถึงผู้ปกครองที่จะเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการโรงเรียน ช่วยแก้ปัญหาโรงเรียน แล้วก็ช่วยพัฒนาโรงเรียน เพราะว่า Whole school ไม่ใช่เรื่องของโรงเรียนแต่เพียงหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นนักเรียนนี่แหละครับจะเป็นตัวต่อที่ดี ลูกหลานเขาอยู่ในโรงเรียน ผมคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองต้องห่วงใย ต้องเอาใจใส่ เพราะฉะนั้นอันนี้จะเป็นตัวต่อที่สำคัญไปยังตัวผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย การสื่อสารจากโรงเรียนผ่านไปยังตัวเด็ก แล้วไปถึงผู้ปกครองก็เป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบได้”