- ‘May I quit being a mom?’ เป็นสารคดีสัญชาติญี่ปุ่นที่อกเล่าความยากลำบากของการเป็น ‘แม่’ ในหลายๆ ครอบครัว ซึ่งก็พูดถึงเรื่องราวเปราะบางและซับซ้อนในครอบครัวได้อย่างจริงใจ รวมถึงทำให้เห็นถึงวิธีการที่รัฐบาลพยายามเข้าไปดูแลเหล่า ‘แม่’ ที่ส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่ดูแลลูกเพียงคนเดียว
- เรื่องราวที่ชวนเสียน้ำตามากที่สุดคือเรื่องของคุณแม่ ‘โทชิเอะ’ แม่ที่ไม่สามารถกอดลูกของตัวเองได้เพราะมีปมบาดแผลในอดีต ที่เคยถูกแม่ผู้ให้กำเนิดทิ้งไปตอนเป็นวัยรุ่น ทำให้เธอไม่สามารถที่จะแสดงความรักให้ลูกได้รับรู้ได้มากเพียงพอ
- สังคมมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากในการเลี้ยงเด็กคนนึงขึ้นมา ทั้งครอบครัว จิตแพทย์ โรงเรียน รัฐบาล เมื่อทุกฝ่ายมาช่วยแบ่งเบา รับฟังปัญหา ก็จะช่วยเติมพลังให้แม่ผู้เปรียบเสมือนหัวหน้ากลุ่ม สามารถมอบความรักให้ลูกได้อย่างเต็มที่ ทำให้เห็นว่าการเลี้ยงเด็กคนนึงไม่ควรเป็นงานของแม่เพียงคนเดียว
สารคดีจากประเทศญี่ปุ่นที่บอกเล่าความยากลำบากของการเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะคนเป็น ‘แม่’ ที่สังคมมักจะกดดันว่าจะต้องเป็นคนที่ดูแลลูกเพียงคนเดียว โดยมีผู้กำกับจากสารคดีเรื่อง Kid konference (2022) เล่าถึงโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความคิดของเด็กๆ เหมือนพวกเขาเป็นผู้ใหญ่ซึ่งเราเคยเขียนถึงก่อนหน้านี้มาแล้ว
สำหรับสารคดีเรื่อง May I quit being a mom? ก็ทำให้เราเสียน้ำตามากมายเพราะพูดถึงเรื่องราวเปราะบางและซับซ้อนในครอบครัวได้อย่างจริงใจ และทำให้เห็นถึงวิธีการที่รัฐบาลพยายามเข้าไปดูแล และตัวผู้กำกับเองที่นำเรื่องนี้มาเผยแพร่เพื่อให้คนในสังคมรับรู้และทำความเข้าใจร่วมกัน
เรื่องเริ่มจากไปสัมภาษณ์คุณแม่ๆ หลายคนที่รู้สึกเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกจนเกิดความคิด ‘อยากลาออกจากการเป็นแม่’ พวกเธอรู้สึกย้อนแย้งกับตัวเอง เพราะในใจรู้สึกรักลูกแต่บางครั้งก็อยากหนีไปให้พ้นๆ
สารคดีพยายามพูดถึงภาวะซึมเศร้าและความรู้สึกโดดเดี่ยวที่คนเป็นแม่มักจะเผชิญหลังคลอดลูก เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหานี้จะได้ช่วยกันป้องกันก่อนจะสายเกินไป
พวกเขาเล่าว่ามีหลายครอบครัวที่มีปัญหาสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัวว่าต้องเข้ารับการรักษา มีครอบครัวที่ต้องเสียแม่ไปจากโรคซึมเศร้า และมีครอบครัวที่ทำร้ายเด็กเพราะต้องอยู่กับความเครียดและไม่เคยเข้าถึงการรักษาทางจิตใจ
โดยทางสารคดีก็ได้ไปติดตามชีวิตของหลายครอบครัว มีทั้งคุณแม่ที่กำลังจะต้อนรับลูกคนที่สามพร้อมกับกังวลว่าจะต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอีกครั้ง มีคุณแม่ที่เยียวยาตัวเองจากการที่แม่ของเธอฆ่าตัวตายตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กน้อย เธอเคยไม่เห็นภาพตัวเองว่าจะเป็นแม่คนได้แต่กลับกลายเป็นว่าเธอสามารถมอบความรักให้ลูกได้อย่างเต็มเปี่ยม
และก็มีคุณแม่ที่ทำให้เราเสียน้ำตามากที่สุดคือคุณแม่ ‘โทชิเอะ’ เธอคือแม่ที่ไม่สามารถกอดลูกของตัวเองได้เพราะมีปมบาดแผลในอดีตที่เคยถูกแม่ผู้ให้กำเนิดทิ้งไปตอนเป็นวัยรุ่น
โทชิเอะมีลูกสามคน ลูกสาวคนโตของเธอกำลังเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น และมีปัญหาโดดเรียนบ้าง แกล้งเพื่อนบ้าง จนครูประจำชั้นเรียกโทชิเอะไปคุยด้วยบ่อยๆ โทชิเอะเปิดเผยว่าเธอรู้ว่าลูกๆ ต้องการความรักจากเธอแต่เธอไม่สามารถแสดงออกได้ เธอมักจะดุและเข้มงวดกับลูกๆ มาก
จนวันหนึ่งลูกสาวคนโตเขียนจดหมายมาว่า “แม่รักหนูบ้างมั้ย?” และเธอไม่ได้เขียนกลับไป เธอนำเรื่องนี้มาปรึกษากับทางทีมงานว่าเธอไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่าเธอไม่รัก และรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งอย่างที่เธอเคยรู้สึกกับแม่ของตัวเอง สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจเปิดใจกับลูกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
เธอบอกกับลูกว่า “แม่อยากแน่ใจว่าลูกรู้ว่าทุกครั้งที่แม่หงุดหงิด ซึ่งแม่จะหงุดหงิดอีกแน่ๆ แต่นั่นไม่ใช่เพราะแม่ไม่รักลูก” เธอขอกอดลูกและบอกลูกว่า “เธออยากกอดลูกมานานมากๆ แต่ที่ไม่ได้ทำไม่ใช่เพราะไม่รักลูก แต่แม่แค่ทำไม่ได้” หลังจากที่เธอบอกความในใจนี้ เธอกับลูกๆ ก็กลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง เธอบอกว่า เธอน่าจะทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว และต่อมาเธอยังตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับหนึ่งให้กับลูกสาวคนโต ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ลูกๆ หลายคนอยากได้ยินมากที่สุด เลยขอยกมาใส่ไว้ในครั้งนี้
“ฟูกะลูกรัก ขอบใจนะที่เป็นพี่สาวคนโต ยังกังวลอยู่ไหมว่าแม่ไม่รักลูก ถึงลูกจะไม่ชอบวิชาเลขหรือการเลี้ยงน้อง
ต่อให้ลูกหนีเรียนหรือเกลียดแม่ในบางครั้ง แม่ก็ยังรักลูกจ้ะ มาหาสิ่งที่ลูกชอบทำกันเถอะนะ แม่ดีใจที่จะได้ร่วมเส้นทางนี้ไปกับลูก
บางครั้งอาจเหมือนลูกกำลังแตกสลาย แต่อย่าลังเลที่จะมาให้แม่ช่วยนะ พ่อกับแม่จะอยู่ข้างลูกเสมอจ้ะ
รัก จากแม่”
ในสารคดีบอกเราอีกว่าสังคมมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากในการเลี้ยงเด็กคนนึงขึ้นมา ทั้งครอบครัว จิตแพทย์ โรงเรียน รัฐบาล เมื่อทุกฝ่ายมาช่วยแบ่งเบา รับฟังปัญหา ก็จะช่วยเติมพลังให้แม่ผู้เปรียบเสมือนหัวหน้ากลุ่ม สามารถมอบความรักให้ลูกได้อย่างเต็มที่ ทำให้เห็นว่าการเลี้ยงเด็กคนนึงไม่ควรเป็นงานของแม่เพียงคนเดียวจริงๆ
เรื่องที่น่าสนใจที่เรารู้สึกว่าแทบทุกครอบครัวน่าจะเป็นคือมีปัญหาในการสื่อสารกัน ทั้งครอบครัวของโทชิเอะที่เล่าไปก่อนหน้านี้ ส่วนนึงของปัญหาก็เกิดจากการไม่ได้สื่อสารความรู้สึกกันนานหลายปี แล้วพอมีคนเข้ามาบอกวิธีที่จะแสดงความรู้สึก พวกเขาก็ผ่านมันไปได้
สารคดีพาไปให้เห็นอีกมุมหนึ่งของการไม่สื่อสารกัน คือเวลาอยู่บ้าน พ่อๆ ทั้งหลายมักจะอยู่ในท่าเล่นมือถือ หรือนอนหลับสบาย ขณะที่แม่ๆ ทำงานไม่หยุด เมื่อไปสัมภาษณ์ พ่อส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือยังไง หรือเคยถามแล้วว่าให้ช่วยอะไรมั้ยแต่แม่ก็ไม่พูดอะไร เลยปล่อยให้แม่เป็นคนจัดการ
ส่วนในมุมของแม่เองก็ยอมรับว่าไม่อยากพูด เพราะไม่อยากบังคับให้ทำ พวกเธอมักจะพูดว่าอยากให้พ่อมีจิตสำนึกช่วยเอง หรือบางครั้งพวกเธอก็ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพราะถูกกดดันว่าคนเป็นแม่ต้องทำได้สิ แต่มันกลายเป็นต่างฝ่ายต่างเข้าใจและมีความคาดหวังไปคนละแบบ ทุกคนต่างเลือกจะเก็บงำความรู้สึกของตัวเองจนมันระเบิดและกลายเป็นปัญหาใหญ่
ทีนี้สารคดีก็พาไปให้เห็นในมุมของพ่อบ้าง และชี้ให้เห็นว่าการออกไปทำงาน สามารถนับว่าเป็นการดูแลครอบครัวด้วยได้มั้ย เพื่อให้ฝั่งแม่เห็นใจว่าพวกพ่อๆ ก็พยายามทำเพื่อครอบครัวอยู่และมันไม่ได้สบายอย่างที่พวกเธอคิด
สุดท้ายการพยายามสื่อสารของทั้งสองฝั่งคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ทั้งพ่อและแม่ต้องมานั่งเปิดใจต่อกันโดยวิธีการสื่อสารที่เป็นสันติ แม่ก็ต้องฝึกพูดขอความช่วยเหลือให้เป็น พ่อก็ต้องฝึกแบ่งเบา ใส่ใจ หรือรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ ต่างฝ่ายต่างต้องมอบความเข้าอกเข้าใจ (Emphathy) ให้กัน ปัญหาถึงจะค่อยๆ คลี่คลายได้
เราคิดว่าสารคดีนี้เล่าเรื่องได้ดีเพราะเขาไม่ได้ทำมาเพื่อเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือบอกว่าฝั่งไหนเหนื่อยกว่าฝั่งไหน แต่ทำตัวเป็นสื่อกลางที่บอกเล่าความในใจของแต่ละฝ่ายออกมาเพื่อผลักดันให้แก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยน้ำเสียงที่ใจเย็น อาจจะทำให้คนเป็นพ่อแม่ไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว เพราะยังมีคนที่เข้าใจและกำลังเผชิญปัญหาเหมือนๆ กันอยู่ และยังทำให้เห็นว่าปัญหาครอบครัวส่วนใหญ่ก็ไม่สามาถแก้ไขด้วยคนเพียงคนเดียวได้ แม่ไม่ควรรับบทนางแบกจนต้องรู้สึกอยากลาออก มันเป็นหน้าที่ที่เราทุกคนในสังคมต้องตระหนักรู้และร่วมมือกันถึงจะทำให้ครอบครัวเติบโตอย่างแข็งแรง