- ความผูกพันต่อสัตว์เลี้ยงทำให้เด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่รู้สึกว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นดังสมาชิกในครอบครัวมากกว่าแค่เป็น ‘สัตว์ที่เราเลี้ยง’
- การมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยง ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าคนหรือสัตว์อื่นคิดและทำแตกต่างจากที่ตัวเองคิดและทำ จึงต้องเรียนรู้เรื่องการปรับตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
- การใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์เลี้ยงย่อมทำให้เด็กยอมรับได้ไม่ยากว่า พวกมันมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง และสัตว์ก็ไม่เหมือนมนุษย์ พวกมันมีชีวิตที่พิเศษและมีความคิดอ่านในแบบของมันเอง
เรื่องประโยชน์ของการให้เด็กๆ มีสัตว์เลี้ยง มีคนพูดถึงกันอยู่มาก และข้อมูลงานวิจัยก็ค่อยๆ เพิ่มเติมแง่มุมที่คาดไม่ถึงเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
ถ้าลองสังเกตดู เด็กๆ มีธรรมชาติที่ชอบสัตว์ต่างๆ อยู่ในตัว จึงมีสัตว์ปรากฏอยู่ในหนังสือและรายการโทรทัศน์ต่างๆ รวมไปถึงสารคดีสำหรับเด็กอยู่เสมอๆ แต่สัตว์เลี้ยงเป็นมากกว่านั้น ความผูกพันต่อสัตว์เลี้ยงทำให้เด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่รู้สึกว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นดังสมาชิกในครอบครัวมากกว่าแค่เป็น ‘สัตว์ที่เราเลี้ยง’ ดังที่เห็นได้งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่พบว่า คนสูงอายุหรือคนที่ไม่ได้แต่งงานมักหันมาเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยปฏิบัติกับสัตว์เหล่านั้นดังสมาชิกในครอบครัว [1]
นอกจากจะเป็นเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวแล้ว สัตว์เลี้ยงยังเป็นปัจจัยกระตุ้นการสร้างความสัมพันธ์สำหรับเด็กๆ อีกด้วย เห็นได้จากงานวิจัยชิ้นเดียวกันที่ชี้ว่า ครอบครัวอเมริกันมากถึง 63% ที่มีเด็กอ่อนอายุไม่เกิน 1 ขวบที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้าน เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในออสเตรเลียที่ชี้ว่า คนออสเตรเลียมองหาสัตว์มาเลี้ยงเพิ่มขึ้นราว 10% เมื่อเด็กๆ อายุถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน
โดยที่เด็กจากบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตนเองน้อยกว่า และเข้ากับเพื่อนๆ ได้ดีกว่าเด็กจากบ้านที่ไม่มีสัตว์เลี้ยงด้วย [2]
การทดลองในเด็กกลุ่มใหญ่มากคือ 4,000 คนที่มีอายุ 5–7 ปี ก็ได้ผลคล้ายคลึงกันคือ พบว่าเด็กๆ ที่มีสัตว์เลี้ยง เป็นกลุ่มมีปัญหากับเพื่อนๆ น้อยกว่าและมีพฤติกรรมการอยากเข้าสังคม อยากใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อนๆ มากกว่าด้วย [3]
เรื่องนี้นักจิตวิทยาอธิบายว่า เป็นเพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยง ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ว่าคนหรือสัตว์อื่นคิดและทำแตกต่างจากที่ตัวเองคิดและทำ จึงต้องเรียนรู้เรื่องการปรับตัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัวที่มีลูกเพียงคนเดียว ไม่มีพี่น้อง และไม่ได้อยู่ร่วมกันกับญาติคนอื่นๆ
อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่า เด็กอายุ 2–5 ปี ที่ครอบครัวมีสุนัข จะมีความกระตือรือร้นมากกว่า ใช้เวลากับจอน้อยกว่า และนอนหลับได้มากกว่าเด็กทั่วไปโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมากกว่าเด็กที่ไม่มีสัตว์เลี้ยงใดเลย [4]
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งก็น่าสนใจครับ [5] นักวิจัยสรุปผลการศึกษาไว้ว่า ในการทดลองทำกับเด็กออทิสติก 764 คน พบว่า หากในบ้านมีสัตว์เลี้ยงจะช่วยลดความเครียดของเด็กได้ และยังเพิ่มโอกาสที่เด็กจะพัฒนาสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่นได้มากขึ้นด้วย ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นมากสำหรับเด็กกลุ่มนี้
หากครอบครัวมีรายได้น้อย เด็กก็ยิ่งได้ประโยชน์จากการเลี้ยงสัตว์และจะมีความผูกพันกับพวกมันมากขึ้นด้วย โดยการเลี้ยงทั้งแมวและหมาให้ผลดีมากกว่าการเลี้ยงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
การทดลองเล็กๆ ที่ทำในเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียนจำนวน 12 คน ก็น่าสนใจดีครับ [6] นักวิจัยพบว่าหากให้เด็กๆ แยกรูปภาพตามหมวดหมู่ 3 หมวดที่แตกต่างกัน พวกหนูๆ ทั้งหลายจะทำผิดพลาดน้อยลง หากมีหมาพุดเดิลอยู่ด้วยขณะทดลอง
ถือได้ว่าสัตว์เลี้ยงเป็นกำลังใจได้อย่างดีในการลงมือทำอะไรสักอย่างในเด็กเล็กนะครับ
ในยามเกิดโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 มีงานวิจัยที่ชี้ว่าสัตว์เลี้ยงช่วยเรื่องสุขภาพจิตของวัยรุ่นที่เป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน โดยชนิดของสัตว์เลี้ยงไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก แต่สำหรับสุนัขแล้ว กิจกรรมที่ช่วยมากที่สุดคือ การนำสุนัขออกไปเดินข้างนอกบ้าน [7]
เรื่องหนึ่งที่นักวิจัยจำนวนมากเห็นพ้องต้องกันก็คือ การมีสัตว์เลี้ยงในบ้านเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เด็กแต่ละคนได้ประโยชน์ เพราะปัจจัยหลักจริงๆ คือ การใช้เวลาด้วยกันกับสัตว์เลี้ยงหรือความผูกพันต่อกัน
เช่น การใช้เวลาพาสุนัขออกไปเดินเล่นบริเวณรอบๆ บ้านส่งผลดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณมีพี่หรือน้องที่เลี้ยงแฮมสเตอร์อยู่ในห้องของเขาหรือเธอเท่านั้น คุณก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากสายสัมพันธ์กับแฮมสเตอร์ตัวดังกล่าว แม้ว่าจะอยู่ในบ้านเดียวกันก็ตาม
นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่าเด็กที่ไม่มีพี่หรือน้องจะผูกพันกับสัตว์เลี้ยงได้มากกว่า เสมือนใช้สัตว์เหล่านั้นเป็นตัวแทนพี่หรือน้องของตัวเอง [3]
‘อายุ’ ของเด็กกับ ‘ชนิด’ ของสัตว์เลี้ยงก็ส่งผลกระทบกับความแนบแน่นของความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน โดยพบว่าเด็กอายุ 6–10 ปีจะผูกพันกับสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่า เช่น แมวและหมา หากเทียบกับนกและปลา ในขณะที่หากโตขึ้นมาอีกหน่อยคือ 11–14 ปี กลับผูกพันในลักษณะกลับกัน เช่น ชอบเลี้ยงหนูหรือแฮมสเตอร์มากกว่าหมาหรือแมว [8]
มีการศึกษาที่พบว่าเด็กที่บ้านมีสัตว์เลี้ยงสามารถสังเกตและจดจำใบหน้าของสัตว์เหล่านั้นได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกคือ อายุแค่เพียง 10 เดือนเท่านั้น [9] และเด็กอังกฤษที่มีสัตว์เลี้ยงในบ้านมีแนวโน้มจะเชื่อว่า สัตว์มีความคิดจิตใจของตัวเองมากกว่า [10]
การใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์เลี้ยงย่อมทำให้เด็กยอมรับได้ไม่ยากว่า พวกมันมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง และสัตว์ก็ไม่เหมือนมนุษย์ พวกมันมีชีวิตที่พิเศษและมีความคิดอ่านในแบบของมันเอง
แต่สัตว์คิดอย่างไรกับเด็กกันแน่? เราพอจะมีข้อมูลอะไรบ้างหรือไม่
สุนัขได้รับการเลี้ยงดูและผสมพันธุ์จนได้คุณลักษณะต่างๆ ตามที่มนุษย์ต้องการ และการที่อาศัยร่วมกับมนุษย์มาเป็นเวลานาน จึงสร้างสายสัมพันธ์กับมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง และมีความเป็น ‘สัตว์เมือง’ มากกว่า ตรงกันข้ามกับแมวที่แม้จะเลือกมาอยู่ท่ามกลางมนุษย์ภายหลังสุนัข แต่ก็ยังคงความเป็นสัตว์ที่สันโดษและทำตามสัญชาตญาณแบบสัตว์ป่าอยู่มากกว่า
แต่แมวก็ถือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตในครอบครัวได้เช่นกัน
ดังเห็นได้จากการแสดงความดีใจด้วยการยกหางหรือเดินรอบๆ ขาและถูตัวกับขาของเรา ซึ่งเป็นพฤติกรรมเดียวกับที่พวกมันทำกับแมวด้วยกันเองที่พวกมันถือว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว
เชื่อกันว่าตัวกำหนดสายสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างสัตว์เลี้ยงสักตัวกับเด็กก็คือ ประสบการณ์ในตอนพวกมันยังเป็นลูกสัตว์นั่นเอง เช่น สำหรับลูกแมวและลูกสุนัขก็คือ ช่วงที่พวกมันอายุ 8–16 สัปดาห์ หากช่วงเวลาดังล่าว มันไม่ได้พบเจอกับเด็กสักคนเลย แต่มาเจอเมื่ออายุหลัง 6 เดือนไปแล้ว พวกมันก็อาจไม่ได้มีความผูกพันที่ดีก็เป็นได้
จากมุมมองของพวกมัน เด็กทารกก็คือผู้ใหญ่ตัวเล็กกว่ามาก ยืนไม่ได้ ส่งเสียงแตกต่างออกไป และยังมีกลิ่นที่แตกต่างออกไปอีกด้วย ขณะที่เด็กที่โตมากับสัตว์เลี้ยงอาจจัดลำดับความสำคัญพวกมันไว้สูงมาก แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงจำเป็นต้องใช้เวลาสร้างความคุ้นเคย
หากคุณมีลูกคนแรก แล้วแมวที่คุณเลี้ยงฉี่รดเปลหรือรถเข็น ก็ต้องเข้าใจมุมมองของมันว่า มันไม่ได้ต้องการล้ำเส้นคุณ พวกมันก็เพียงแต่ไม่คุ้นกับกลิ่น เสียงร้อง และท่าทางของลูกของคุณที่เป็นสิ่งใหม่สำหรับมัน มันก็เลยงงๆ ว่าจะทำตัวอย่างไร
จากทั้งหมดที่เล่ามา คงพอเห็นความสำคัญของสัตว์เลี้ยงต่อเด็กแล้ว ข้อควรระวังก็มีแค่บางครั้งต้องพยายามเข้าใจสัตว์เลี้ยงและคิดในมุมมองของพวกมันบ้าง กับต้องระมัดระวังโรคที่อาจมากับพวกมัน หากปล่อยให้พวกมันออกไปเจอกับสิ่งแวดล้อมหรือสัตว์พวกเดียวกันหรือสัตว์อื่นนอกบ้าน
หากทำแบบนี้ได้เราก็จะได้เด็กและสัตว์เลี้ยงที่ต่างก็มีความสุขมากขึ้นเมื่ออยู่ร่วมชายคากัน แถมยังช่วยเรื่องพัฒนาการของเด็กๆ ได้อีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
[1] Bures, R.M. (2021). Integrating Pets into the Family Life Cycle. In: Well-Being Over the Life Course. SpringerBriefs in Well-Being and Quality of Life Research. Springer, Cham. https://doi.org/10.1007/978-3-030-64085-9_2
[2] Paul G. Fisher (2020) Should families acquire pets to promote child development? The Journal of Pediatrics, Volume 220, Pages 1-3
[3] Hayley Christian et al. (2020) Pets Are Associated with Fewer Peer Problems and Emotional Symptoms, and Better Prosocial Behavior: Findings from the Longitudinal Study of Australian Children. J Pediatr. May; 220:200-206.e2. doi: 10.1016/j.jpeds.2020.01.012.
[4] Hayley Christian et al.(2022) Association between preschooler movement behaviours, family dog ownership, dog play and dog walking: Findings from the PLAYCE study. Preventive Medicine Reports. Volume 26. doi.org/10.1016/j.pmedr.2022.101753
[5] Gretchen K Carlisle et al. (2020) Exploring Human-Companion Animal Interaction in Families of Children with Autism. J Autism Dev Disord. Aug; 50(8): 2793-2805. doi: 10.1007/s10803-020-04390-x.
[6] Nancy R. Gee et al. (2015) Preschoolers Make Fewer Errors on an Object Categorization Task in the Presence of a Dog. Anthrozoös. Volume 23, Issue 3, Pages 223-230. doi.org/10.2752/175303710X12750451258896
[7] Megan K. et al. (2022) Companion Animals and Adolescent Stress and Adaptive Coping During the COVID-19 Pandemic. Anthrozoös. Volume 35, Issue 5, Pages 693-712. doi.org/10.1080/08927936.2022.2027093
[8] Katharina Hirschenhauser et al. (2017) Children Love Their Pets: Do Relationships between Children and Pets Co-vary with Taxonomic Order, Gender, and Age? Anthrozoös. Volume 30, Issue 3, Pages 441-456. doi.org/10.1080/08927936.2017.1357882
[9] Karinna Hurley and Lisa M. Oakes. (2018) Infants’ Daily Experience With Pets and Their Scanning of Animal Faces. Front. Vet. Sci., 10 July 2018. doi.org/10.3389/fvets.2018.00152
[10] Roxanne D. Hawkins and Joanne M. Williams (2016) Children’s Beliefs about Animal Minds (Child-BAM): Associations with Positive and Negative Child–Animal Interactions. Anthrozoös. Volume 29, Issue 3, Pages 503-519. doi.org/10.1080/08927936.2016.1189749