โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทางเลือกที่จัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Learning) มีการออกแบบการเรียนรู้สำหรับเด็กอนุบาลผ่าน ‘งานสวน’ ซึ่งเป็นการบูรณาการกับกิจวัตรประจำวัน ทำให้เด็กเปิดใจเรียนรู้จากการเริ่มทำสิ่งใกล้ตัวครูกิม – ภาวิดา แซ่โฮ่ คุณครูอนุบาล ถ่ายทอดว่า จุดมุ่งหมายหลักของการออกแบบการเรียนการสอนแบบนี้คือ ต้องการพัฒนา 4 สมรรถนะหลักให้เกิดแก่เด็กระดับชั้นอนุบาล คือ การกำกับตัวเอง, การอยู่ร่วมกัน , การคิดการอ่าน และการแก้ไขปัญหาบทบาทของครูในกระบวนการเรียนรู้นี้คือเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์’ ว่าเด็กกำลังเริ่มรู้อะไร เริ่มสงสัยอะไร คอยเป็นผู้ตั้งคำถาม เพื่อให้เด็กเกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้าน
“สิ่งที่เด็กจะรู้ สิ่งที่เด็กจะทำได้ จะอยู่ภายใต้สิ่งที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้ใครสักคนนึงได้ tranformation ได้เกิดการเปลี่ยนผ่านในชีวิตเขา จากคนนึงเป็นอีกคนนึง ที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นในแบบที่เป็นรายบุคคล ฉะนั้นคนที่ผ่านกระบวนการคล้ายๆ กันจะได้ผลที่ไม่เหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่าเด็กแต่ละคนไม่มีทางทำให้เขาได้เหมือนกันค่ะ แต่เราจะออกแบบการเรียนรู้ที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น ไปในแบบของแต่ละคน”
นี่คือหลักคิดเบื้องต้นในการจัดการเรียนรู้ระดับชั้นอนุบาลของโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทางเลือกที่จัดการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Learning) พัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งกาย ใจ สติปัญญา และสังคม โดยบูรณาการการเรียนรู้สู่ชีวิต ด้วยกระบวนการเรียนรู้บนกิจวัตรประจำวัน บ่มเพาะลักษณะนิสัยที่ดีในวิถีของการรู้อยู่ รู้กิน และรู้ประมาณตนอย่างพอเหมาะ พอดี
ในระดับชั้นอนุบาลนั้นเป็นการเรียนรู้ผ่าน ‘งานบ้าน งานสวน งานครัว’ ซึ่งในบทความนี้ The Potential ขอหยิบยกตัวอย่างในการออกแบบการเรียนรู้ผ่าน ‘งานสวน’ ของ ครูกิม – ภาวิดา แซ่โฮ่ คุณครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาลของที่นี่ โดยครูกิมเกริ่นไว้อย่างน่าสนใจว่า “งานสวน เป็นการทำงานร่วมกันและเด็กๆ จะเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน”
4 สมรรถนะสำคัญของเด็กวัยอนุบาล
“ด้วยโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ เราใช้หลักพุทธธรรมในการฝึกทั้งคุณครู และนำมาใช้กับเด็กๆ ทุกอย่างเด็กจะได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็หายไป อันนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราให้เด็กๆ ได้เรียนรู้
อีกอย่างนึงก็คือในการออกแบบการเรียนรู้ เราไม่สนใจผลลัพธ์ แต่ว่าเราสร้างเหตุที่ทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ คุณครูใช้มายเซ็ตนี้เหมือนกันเลยค่ะ เราออกแบบด้วยวิธีการอะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์นั้น แต่เราจะไม่โฟกัสที่ผลลัพธ์ว่ามันจะต้องได้เหมือนกัน เด็กแต่ละคนเลยเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะไม่เหมือนกัน จะเป็นเฉพาะคนไป แต่คุณครูก็จะโฟกัสที่กระบวนการการเรียนรู้ สิ่งที่จะทำให้เขาเกิดสมรรถนะต่างๆ”
ครูกิมอธิบายถึงการตั้งเป้าหมายหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ครูผู้สอนคาดหวังจากการออกแบบการเรียนรู้ โดยนอกจากทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตเด็กคนหนึ่ง เช่น การจัดการตัวเอง เติมความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น และสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยก็คือ จิตใจ การเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ
ดังนั้น สิ่งที่เด็กวัยนี้ควรจะต้องเรียนรู้จะประกอบไปด้วย 4 สมรรถนะหลัก คือ การกำกับตัวเอง (self-regulation and well being), การอยู่ร่วมกัน (Collaborative), การคิดการอ่าน (Literacy) และการแก้ไขปัญหา (Problem Solving)
“ก่อนที่คุณครูจะออกแบบการเรียนการสอนในแต่ละเทอมเราใช้ 4 สมรรถนะหลักของเด็กวัยอนุบาลค่ะ อันแรกคือ การกำกับตัวเอง (self-regulation and well being) การกำกับตัวเองแล้วก็สุขอนามัยค่ะ การดูแลตัวเอง อันที่ 2 สิ่งที่ดีเด็กๆ จะได้ในวัยอนุบาลคือ การอยู่ร่วมกัน (Collaborative) ทักษะทางสังคม อันที่ 3 เป็น Literacy การคิดการอ่านค่ะ การคิดการอ่าน รวมถึงคณิตศาสตร์ ภาษา การคิดอย่างเป็นระบบ สุดท้ายคือ Problem Solving การแก้ไขปัญหา ซึ่งวิทยาศาสตร์จะอยู่ในนี้ ก็คือการคิดแบบมีทั้งเหตุและผล สิ่งนี้เกิดสิ่งนั้นจึงเกิด แล้วก็ฝึกแก้ปัญหาทั้งของตัวเอง แล้วก็ไปที่ข้างนอก”
ทั้งนี้ทั้งนั้น ใน 4 สมรรถนะที่เด็กจะได้นี้ แต่ละคนจะได้ในระดับที่มากน้อยต่างกัน ครูกิมยกตัวอย่างเช่นในเทอมสองเป็นการเรียนรู้ผ่านงานสวน ครูจะตั้งธงไว้ในใจว่า 2 สมรรถนะที่เด็กจะได้ คือ การอยู่ร่วมกันและการแก้ไขปัญหา เนื่องจากมองว่าเด็กๆ มีความสัมพันธ์กันมาในเทอม 1 แล้ว จึงสามารถปรับตัวได้บ้างแล้ว จึงยกระดับความสัมพันธ์ในแบบที่ทำให้พวกเขาและเธอได้มาทำงานร่วมกัน โดยงานที่ยากและท้าทายอย่างงานสวนนั่นเอง
“พอเด็กได้ทำงานยากพร้อมกัน เขาจะเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน”
‘งานสวน’ กับการทำงานร่วมกันและการยอมรับซึ่งกันและกัน
ครูกิมขยายความถึงการออกแบบการเรียนรู้ผ่าน ‘งานสวน’ โดยในแผนการเรียนรู้นั้นในหนึ่งเทอมจะแบ่ง 13 สัปดาห์ และเป็น 3 ช่วงตอน ตอนแรกคือสัปดาห์ที่ 1 ถึงประมาณสัปดาห์ที่ 3 หรืออาจจะเลยมาถึงสัปดาห์ที่ 4 โดยจะมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง เนื่องด้วยเป็นการทำงานกับเด็กเล็กๆ
“ช่วงแรกก็จะเป็น inspiration ค่ะ สร้างแรงบันดาลใจให้เขารับรู้ถึงปัจจัยที่ทำให้พืชต่างๆ เติบโต สร้างแรงบันดาลใจในการปลูกพืชผัก โดยพาเขาออกไปนอกห้องเยอะๆ ไปดูธรรมชาติค่ะ แล้วก็เริ่มให้เขาสังเกต บวกกับนิทานด้วยนะคะ นิทานเกี่ยวกับเมล็ด”
“เราพาเขาไปหาเมล็ดข้างนอก บางครั้งเมล็ดตกลงมามันจะเริ่มงอกค่ะ เขาจะเริ่มรู้ได้เองว่ามีเมล็ด มีดิน มีงอก แล้วเราก็พาเขาไปในบ่อยๆ นอกจากนี้ก็มีพาไปชิมพืชผักในสวน ให้รู้ว่าแต่ละชนิดมันแตกต่างกัน ให้เขาเห็นว่ามันมีแสงแดด มีลม มีต้นไม้ที่บางต้นสูงบางต้นต่ำ แล้วเราก็จะพูดคุยเรื่องของเมล็ด มีการแลกเปลี่ยนกัน ให้เขาเอาเมล็ดจากที่บ้านมา ลองเพาะเมล็ดเล็กๆ กัน
ซึ่งงานสวนห้องครูกิมหลังจากที่พาเขาไปสำรวจแปลง แล้วพอเขาได้ชิม แล้วก็เอาบางส่วนจากพืชผักในสวนมาทำกับข้าว ครูเองก็รู้อยู่แล้วล่ะค่ะว่ามันจะไม่พอ แต่พอเด็กๆ ได้รู้ว่าเขาปลูกได้ เราก็จะเริ่มตั้งโจทย์ที่เป็นโจทย์ใหญ่แทรกเข้าไปอยู่ในชีวิตเขา เพราะเขากำลังจะทำอาหาร เพื่อให้เพียงพอกับคนทั้งหมดในห้อง โจทย์ของเราก็คือ ผักเรามีไม่พอ เราจะทำยังไงดี ให้เรามีผักเพียงพอกินตลอด ”
จากโจทย์ข้างต้นครูกิมบอกว่านี่แหละคือแรงบันดาลใจ ซึ่งมาจากการพาเด็กๆ ออกไปสำรวจโลกนอกห้องเรียน และสิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ก็คือการระดมความคิด ซึ่งจะมีแรงขับเคลื่อนเล็กๆ ของเด็กๆ ที่อยากจะทำให้ได้ว่า “ทำยังไงเราถึงจะมีผักทานได้พอกับคนทั้งห้อง”
“ตอนแรกเราปลูกในกระถางกันก่อน มีตายบ้าง งอกบ้าง สุดท้ายก็กินไม่พอ แล้วพอไม่พอก็มีพี่เขาสังเกตว่าตรงระเบียงนั้นไม่มีแดดเลย ผักมันตาย เพราะว่ามันไม่มีแดดเลย เราต้องเอาไปปลูกในแปลง เพราะเขามีชุดความรู้ที่มันมากพอจากการที่เราพาเขาออกไปข้างนอกว่าพืชต้องการพื้นที่ ต้องการอากาศ
ในระหว่างทางนั้นคุณครูเอง จะต้องมีบทบาทของการเป็นเหมือน ‘ผู้สังเกตการณ์’ ว่าเขากำลังเริ่มรู้อะไร เริ่มสงสัยอะไร เป็นผู้ตั้งคำถาม เพื่อให้เขารู้ว่าเขากำลังรู้อะไร
อย่างเช่น วันนี้อยากให้รู้ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้พืชเติบโต อยากเช็คดูหน่อยว่าเขารู้ไหม ก็จะถามเขาค่ะว่า วันนี้เด็กๆ ออกไปข้างนอกสังเกตเห็นอะไร เขาก็จะตอบดิน ตอบต้นไม้ ตอบแมลง แล้วก็อาจจะถามได้นิดหน่อยค่ะว่า คิดว่าทำไมพืชถึงเติบโตเหรอ ก็เพราะว่ามีดิน คำของเขามันก็จะมา เด็กอ.3 ที่มีประสบการณ์มากกว่า ก็จะพูดได้มากกว่า อ.2 อ.1 พยายามฟังพอฟังบ่อยๆ ชุดความรู้นี้จะเป็นความรู้มือหนึ่งของเขาเอง พอเขาออกไปข้างนอกแล้วเขาก็สรุปความรู้บางอย่าง
จากนั้นคุณครูก็จะบอกว่าเขารู้อะไรผ่านการถ่ายภาพ ในสิ่งที่เขาสรุปได้ค่ะ เพื่อให้เขารู้ว่าเขากำลังเรียนรู้เรื่องนี้อยู่นะ แล้วสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาไปทำอะไรบ้าง ก็จะติดให้เขารู้ ทีนี้เขาก็จะมีทั้งชุดความรู้ แล้วสกิลก็จะมาหลังจากนั้น หลังจากที่เขาได้เริ่มปลูกได้เริ่มดูแล”
ครูกิมอธิบายเพิ่มเติมว่า อนุบาลที่นี่ใช้การจัดการเรียนรู้แบบคละอายุ หรือ ชั้นคละ คือในแต่ละห้องเรียนมีเด็กอนุบาล 1 อนุบาล 2 และอนุบาล 3 (อายุ 3 – 6 ขวบ) คละกันไป ในห้องเรียนจะเป็นเสมือนบ้านนี้มีทั้งพี่ใหญ่ พี่กลาง และน้องเล็ก แต่ละคนจะได้เรียนรู้บทบาทการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ได้พึ่งพิงซึ่งกันและกัน
กลับมาที่โจทย์ใหญ่ว่า “เขาต้องปลูกผักให้คนทั้งห้อง” ครูกิมเล่าว่าเด็กๆ ลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง มีทั้งเอามาปลูกในกระถาง แต่สุดท้ายแล้วไม่งอก จึงเปลี่ยนไปในปลูกในแปลง ซึ่งในการปลูกในแปลงมีขั้นตอนที่ต้องใช้ทั้งแรงกายและสมองในการคิดแก้ปัญหา
“ในช่วงที่เด็กๆ ได้ลงมือปลูก ปลูกแล้วไม่ขึ้นก็จะได้การแก้ไขปัญหาอยู่ในนั้นหมดเลยค่ะ ก็เริ่มปลูกตั้งแต่การขนดินมาเพื่อทำแปลงปลูก ซึ่งดินก็จะต้องไปเอามาจากที่ที่ไกล แต่อยู่ในโรงเรียนนี่แหละค่ะ ฉะนั้นเด็กๆ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ตรงนั้นเลย เอาอิฐมาเรียงเป็นแปลงแล้วก็ใส่ดินลงไป แล้วก็พรวนดิน เขาจะได้ทำเองทั้งหมดค่ะ
จะมีถ้าที่ครูกิมเห็นว่า เออ ความสัมพันธ์ของเขาเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ก็คือ ระหว่างที่เขาไปเอาดิน ตอนแรกตั้งต้นไปที่พี่อนุบาล 3 ก่อน เพราะเขามีประสบการณ์มาก่อน ก็ให้เขาเริ่มขึ้นแปลงก่อน เขาก็เอาอิฐมาวาง เสร็จปุ๊บต่อไปก็คือเตรียมดิน พอเขาไปเตรียม เขาก็ตักดินเอาใส่ถังมา เอามาเทเสร็จปุ๊ป เข้าใจว่าที่เอามาก็เยอะแล้วใช่ไหมคะ แต่พอเอามาวางจริงๆ มันก็คือน้อยมากเลย ทำให้เริ่มยอมรับแล้วว่างานสวนเขาทำเองไม่ได้ จากนั้นเขาก็ไปบอกน้องให้มาช่วย”
ครูกิมยกตัวอย่างพี่อนุบาล 3 คนหนึ่งที่เพิ่งย้ายมาเรียนที่นี่ได้ไม่นาน และค่อนข้างมีความมั่นใจในตัวเองสูง เขาแสดงความเห็นว่า “เราจะขอน้องทำได้ยังไงขนาดพี่ยังทำไม่ไหวเลย” พี่อนุบาล 3 อีกคนจึงเสนอว่า “ถ้างั้นก็ให้น้องเอากระบอกเล็กๆ ตักดินมาสิ” และหลังจากนั้นก็จะเป็นภาพของเด็กๆ ที่ช่วยกันลำเลียงดินมาจึงพื้นที่ที่จะปลูกผัก
“พอได้ดินมาเสร็จหญ้าขึ้นเต็มไปหมดเลย ก็ต้องถอนหญ้า แล้วก็ปลูกผักใหม่ เด็กๆ ก็จะได้ทำ คุณครูก็จะเป็นผู้อำนวยการให้เขา แล้วก็สรุปประเด็นของเขา ตอนนี้เราทำถึงไหนแล้ว เป็นจุดเชื่อมการเรียนรู้ให้เขาเห็นว่า ทำอันนี้แล้ว จะทำอะไรต่อ เป็นผู้ตั้งคำถามให้กับเด็กๆ แล้วก็สังเกตเขาว่าใครยังขาดอะไร ใครต้องการคำถามกระตุ้นแบบไหน หลังจากปลูกเสร็จ ก็เป็นดูแลรดน้ำ พอช่วงสุดท้ายก็คือเก็บเกี่ยว ก็เอามากินกัน แล้วพอกินกันพอจริงๆ แล้ว เพราะเราปลูกในปริมาณที่เยอะ แล้วมันก็งอกได้อีกเรื่อยๆ แล้วก็ปลูกช่วงเวลาไม่เท่ากัน เราก็เลยกินได้ทั้งเทอม กินเหลือก็เอาไปแจกจ่ายให้กับห้องอื่นๆ”
“ในระหว่างการทำงานสวนนั้น ก็มีสอดแทรกวิชาการเข้าไปด้วย ทั้งคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ เช่น การขนดิน ก็เป็นเรื่องการกะประมาณ ภาชนะที่จะใช้ว่าถือไหวไหม กะประมาณน้ำหนักในการขน ถ้าวันไหนจะเอาวิทยาศาสตร์ เราก็จะใช้คำถามให้เขาคิดว่าอะไรบ้างที่ทำให้พืชเติบโตอย่างนี้ค่ะ แล้วมีอะไรที่รบกวนพืชบ้าง มีแมลง มีน้ำที่มากไป”
เตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจ สู่การคิด อ่าน เขียน
นอกจากการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการ 4 ด้าน (ร่างกาย, ความคิดและสติปัญญา, อารมณ์ และสังคม) ในเด็กปฐมวัยแล้ว ในการปูพื้นฐานอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ในวัยนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน ครูกิมบอกว่านอกจากเรียนรู้ผ่านงานต่างๆ แล้ว ยังมีช่วงของการปูพื้นฐานด้านภาษาด้วย
“ในอ.3 เราจะมีช่วง คิด อ่าน เขียน ค่ะ อ.3 เนี่ยเขาจะไม่ต้องนอนตอนกลางวัน จะเป็นช่วงบ่ายโมงถึงบ่ายสองที่คุณครูจะพาคิดอ่านเขียน เป็นเหมือนการเตรียมความพร้อมสู่ป.1 ซึ่งเราจะเตรียมกันหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย การนั่งบนเก้าอี้ การรู้จักเส้น แล้วก็พยัญชนะ เขียนชื่อตัวเองค่ะ แต่เราก็จะไม่ได้มาจับมือสอนเขียนนะคะ แต่ว่าเป็นการสร้างความคุ้นเคย จำรูป จำเสียง รู้ว่าคำมันประกอบไปด้วยด้วยเส้น จนเกิดมาเป็นพยัญชนะ แล้วอาจจะมีสระ แตะๆ นิดหน่อย แล้วมันก็เกิดคำ แล้วมันมีเสียงที่มันไม่เหมือนกัน แล้วก็จะรู้จักพยัญชนะ อักษรกลาง มาเล่นกันแบบสนุกค่ะ แล้วก็จะมีหนังสือ อ่าน อาน อ๊าน ที่จะมีคำศัพท์มีภาพให้ฝึกอ่านภาพฝึกตีความ ฝึกเล่าเรื่องจากภาพ”
“จริงๆ เราเชื่อว่า เมื่อเด็กๆ เขาพร้อม เขาจะเรียนรู้ได้ สิ่งที่ทำก็คือทำยังไงให้เขาเปิดใจ เปิดการเรียนรู้ และมีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้
เราเลยเริ่มจากงานบ้าน งานครัว งานสวน ก่อน เพราะอย่างแรกเลย เด็กเขาจะใช้ร่างกายมากๆ เมื่อร่างกายเขาพร้อม เขาไม่ต้องพยายามที่จะจับดินสอ แต่เขาจะสามารถควบคุมมันได้ในวันที่ร่างกายเขาพร้อม ในด้านจิตใจเมื่อเขารู้ว่าเขาทำอะไรได้ เขาจะมีความอยากทำแล้วก็ความมุมานะของตัวเอง
แล้วเขาจะไม่ได้สำเร็จตลอดแน่นอน เพราะตั้งแต่ อ.1 2 3 มา เขามีเรื่องเฟลเต็มไปหมด วันนึงที่เขาอ่านไม่ได้ ยังเขียนไม่ได้มันจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในชีวิตเขา จนทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจ แต่เขาจะลองอีกครั้ง เหมือนปลูกต้นไม้อย่างเดียวกันค่ะ เขาจะลองอีกครั้งๆ จนกว่าจะทำได้ แล้วเขาก็จะยอมรับว่าวันนี้เขาทำไม่ได้ แล้วเขาก็จะหาทางที่เขาจะไปต่อได้ สิ่งนี้คือเราสิ่งที่เราค่อนข้างที่จะโฟกัส”
หล่อเลี้ยงคาแรกเตอร์ความช่างสงสัยใคร่รู้ในเด็กไว้ ด้วยคำถามที่ดีและการสังเกตของครู
จากการจัดการเรียนรู้ผ่านงานสวนของครูกิม จะเห็นว่า เด็กๆ มีคาแรกเตอร์ที่กล้าถาม กล้าตอบ มีความช่างสงสัยใคร่รู้ที่ชัดเจน ซึ่งครูกิมบอกว่า โจทย์สำคัญในการเติมเต็มให้เด็กๆ ได้ในส่วนนี้ก็คือ การใช้คำถามที่ดี และ การสังเกตการณ์
“เริ่มถามคำถามจากสิ่งที่เขาสนใจ เช่น ถ้าพาเขาออกไปข้างนอก เด็กชอบข้างนอกอยู่แล้ว เวลากลับมาก็ถามจากสิ่งที่เขาสนใจ จะทำให้เราไม่ต้องทำงานหนักมากในการที่จะเรียกให้ใครตอบ เพราะเรารู้ว่าเขาตอบได้อยู่แล้วและเขาสนใจอยากจะพูดสิ่งนั้นอยู่แล้วค่ะ เหมือนเราโชคดีที่เป็นชั้นคละด้วย พอพี่เขาตอบ น้องเขาก็อยากจะตอบ แล้วตอบถูกไม่ถูกไม่เป็นไรเลย แล้วคุณครูก็จะทวนในสิ่งที่เขารู้ ที่เขาเข้าใจ
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบงานสวนนะคะ เขาก็ไม่ได้สนใจทุกคน แต่เขาจะต้องเรียนรู้อยู่ในเทอมงานสวนทุกคน เราจะทำยังไง คือเขาไม่ได้ชอบทุกคน แต่เขาก็ไม่ได้ไม่ชอบทุกอย่าง บางคนไม่ชอบขนดินแต่ชอบรดน้ำ มันเป็นประเด็นที่เราคุยกันบ่อยๆ พาเขาเรียนรู้บ่อยๆ เดี๋ยวเขาจะค่อยๆ เข้าใจ แล้วค่อยๆ ซึมซาบเข้าไปในตัวเขาเอง โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ยังไงเชื่อว่างานบ้าน งานครัว งานสวน จะมีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้เขาน่าจะสนใจอยู่แล้ว”
“อีกอย่างพอเขาเห็นเพื่อนทำเขาก็ทำ เราไม่ทำก็ดูเพื่อนก่อน พอคุณครูถามเพื่อนตอบไม่ได้แต่เขาเห็นนี่ เขาอาจจะไม่ได้ทำแต่เขาตอบได้ มันก็จะสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ให้กับเขา แล้วพอท้ายเทอมเขาก็อาจจะยังไม่ชอบงานสวนเหมือนเดิม แต่ถามว่าเขารู้ไหมว่าทำยังไง เขาก็จะรู้แล้วก็พอจะทำได้ค่ะ แล้วก็มีความเข้าใจว่าพืชมันไม่ได้โตมาเฉยๆ นะ แล้วเขาทำเองไม่ได้นะ มันต้องใช้อะไรที่ทำให้เติบโต มันต้องใช้เวลา ต้องใช้การดูแล แล้วบางครั้งมันตายได้นะ อันนี้ก็จะเป็นธรรมะเล็กๆ ที่เขาต้องเรียนรู้เหมือนกัน มันงอกใช่ไหม เราดูแลสักพักแต่สุดท้ายมันตาย แต่ว่ามันตายแต่เราก็ต้องไปต่อนะ เราจะทำยังไงกับมันต่อ บางคนปลูกใหม่ บางคนย้ายที่ปลูก ก็จะเป็นการเรียนรู้”
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนจากการจัดการเรียนรู้ผ่านงานสวน
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเด็กในวัยอนุบาล ครูกิมมองว่าส่วนใหญ่เป็นการแสดงออกที่มากขึ้น แสดงออกได้ดีขึ้น เช่น จากเด็กที่เมื่อก่อนอาจจะเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด แต่พอได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ ได้ทำงานสวน ก็เริ่มที่จะพูดมากขึ้น และพูดได้ดีขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้เด็กๆ ยังมีพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจที่ดีด้วย
“จริงๆ เด็กพอมาโรงเรียนนะคะ เขาจะค่อนข้างเติบโตได้เร็ว จากเด็กที่ไม่ทานอาหาร กินยากมาก พอมาโรงเรียนพอเขาได้ทำอาหารทานเอง พอเขาได้ปลูก แล้วเขาเห็นคุณค่า เปลี่ยนไปเลยเป็นคนที่กินได้ง่าย อยู่ง่าย มาแรกๆ พาไปงานสวนนี่คือไม่เหยียบดินเลยก็มีนะคะ ไม่ชอบร้อน ไม่เหยียบดิน พอไปช่วงท้ายๆ เทอม เขาก็รู้ว่าเลอะก็ล้างได้ พอเขารู้แล้วไม่ว่าเขาจะออกไปทำอะไรเขามั่นใจมากขึ้นว่าเขาจัดการตัวเขาได้
เรื่องจากที่มันเคยใหญ่ ก็กลายเป็นเรื่องเล็กของเขาไปเลย จากนั้นเขาเริ่มมั่นใจข้างในว่าเขาทำอะไรได้ ก็การได้ลงมือทำจริงๆ ได้ลองผิดหวังจริงๆ ได้ลองเริ่มใหม่จริงๆ”
นอกจากนี้ ครูกิมเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ในหลายๆ เรื่องด้วย ครูกิมบอกว่า “จริงๆ แล้วเปลี่ยนไปมากนะคะ ตอนแรกครูกิมเป็นใครสักคนที่ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ อยู่ เพราะว่าเราดูที่ผลลัพธ์ คนนั้นทำได้แบบนี้ดีจัง เขาพาเด็กๆ เรียนรู้ได้ดีจัง จนวันนึงเราทำงานนี้ไปมากๆ เราพบว่า เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเด็กๆ จะพัฒนาได้จากการที่เราทำอะไร บางทีมันอาจจะเป็นสิ่งแค่เล็กๆ เอง เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะไปแคร็กตรงไหน แล้วเขาก็เปลี่ยนแปลง
สิ่งเดียวที่คุณครูทุกคนทำได้ก็คือ สร้างเหตุที่จะทำให้เขาเกิดการพัฒนา การที่จะทำให้เด็กสักคนมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เราไม่รู้หรอกว่าเราจะต้องทำงานบ้าน งานครัว หรืองานสวน หรือพาเดินตอไม้ หรือว่าออกกำลังกาย แต่เราก็ต้องทำทั้งหมดนั่นแหละค่ะ แล้วก็เปิดสายตาให้กว้างพอที่จะเห็น พอเห็นเด็กๆ เปลี่ยนแบบนี้บ่อยๆ มันทำให้ครูกิมไม่ไปยึดติดกับผลลัพธ์เยอะ การที่เราจะเปรียบเทียบอะไรกับใครมันก็จะน้อยลงค่ะ แต่จะดูว่าอะไรคือสิ่งที่อยากเป็น แล้วเราค่อยๆ ดูว่าเหตุอะไรล่ะ ที่จะทำให้มันไปถึงตรงนั้นได้ แล้วเราค่อยๆ ทำมัน
พอเราไม่โฟกัสที่ผล เดี๋ยวมันมาเองจริงๆ นะ ก็เลยรู้สึกว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ โฟกัสที่เหตุ ปัจจัยที่จะทำให้มันเกิดผล ฟังดูเป็นพุทธมากๆ แล้วระหว่างทางก็ดูว่าเราจะทำอะไรให้มันเกิดสิ่งนั้นขึ้นโดยที่ไม่ต้องสนใจว่าสิ่งนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไม่ได้ทำสักที ใช่ไหมคะ มันยากๆ
ที่นี่สอนให้เรารู้ว่าให้ทำงานตรงหน้า ทำมันไปก่อน แล้วเดี๋ยววันนึงเด็กก็เปลี่ยน เราเองก็เปลี่ยน”