Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long Learning
  • Family
    Dear ParentsEarly childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily Psychology
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
Unique Teacher
1 August 2018

สื่อการเรียนมัดใจพี่ปอสอง ของ ครูน้ำนิ่ง ณัฎฐา ถมปัทม์

เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

  • ครูน้ำนิ่ง แต่นักเรียนห้ามนิ่ง เพราะการที่นักเรียนนั่งนิ่ง ไม่ได้แปลว่าเรียบร้อย หรือเข้าใจเนื้อหา แต่อาจจะเบื่อและไม่อยากมีส่วนร่วมในห้องเรียน จึงเป็นหน้าที่ของครูน้ำนิ่ง ที่จะต้องสร้างบรรยากาศในห้องเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก
  • สื่อการสอนเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ เปิดรับความรู้และสร้างสรรค์จินตนาการได้อย่างไม่สิ้นสุด
  • “Once a Teacher, Always a Teacher เมื่อได้เป็นครูสักครั้งแล้ว ก็จะเป็นครูตลอดไป” คงจะไม่ต่างกับครูน้ำนิ่ง ที่นอกจากเธอไม่สามารถละทิ้งความเป็นครูไปได้ เธอยังทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้นักเรียนมีความสุขกับการมาโรงเรียนทุกวัน
ภาพ: โกวิท โพธิสาร

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน เมื่อ ด.ญ.ณัฎฐา จบการศึกษาชั้น ป.6 จากโรงเรียนบ้านโชกเหนือ อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ จากนั้นก็ไปต่อชั้นมัธยมในจังหวัด และสามารถสอบได้ทุนโครงการเพชรในตม เข้าศึกษาต่อคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการประถมศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อกลับมาโรงเรียนบ้านโชกเหนืออีกครั้ง ในฐานะ คุณครูณัฎฐา ถมปัทม์ หรือ คุณครูน้ำนิ่ง ของเด็กๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

ชีวิตที่วนเป็นวงกลมอย่างนี้ เป็นสิ่งที่คุณครูน้ำนิ่งไม่เคยคาดคิดมาก่อน แต่พอได้ลองสวมเครื่องแบบคุณครูจริงๆ สิ่งที่ค่อยๆ เกิดขึ้นคือความรักในอาชีพ ประกอบกับเป็นโรงเรียนเก่าในบ้านเกิด เด็กๆ อ่านออกเขียนได้มีน้อยกว่าที่ควร ทั้งหมดกลายเป็นแรงฮึดให้ครูน้ำนิ่งตัดสินใจลุกขึ้นมาทำสื่อการเรียนการสอนเอง และเผยแพร่เผื่อแผ่ครูคนอื่นผ่านเพจเฟซบุ๊ค “บันทึกพี่ปอสอง ห้องครูน้ำนิ่ง”

แล้วทำไมเราต้องดั้นด้นมาถึงจังหวัดสุรินทร์เพื่อมาดูสื่อการสอนของคุณครูน้ำนิ่ง?

ก็เพราะ…สื่อการสอนของครู ทำให้เด็กๆ มีความสุข สนุก อ่านออกเขียนได้ และอยากไปโรงเรียนทุกๆ วัน

อะไรทำให้คุณครูรู้สึกว่า ต้องลุกขึ้นมาทำสื่อการเรียนการสอนเองแล้ว

ช่วงแรกๆ ก็สอนไปตามหนังสือ ตามบทเรียนไปเรื่อยๆ ก็อยากทำให้มันดีกว่านี้ แต่ไม่รู้จะทำยังไง เรารู้สึกท้อว่าทำไมเด็กต้องอิดออด ทำไมเด็กดูไม่สนุก เหมือนเราพยายามเข็นอะไรสักอย่าง พอผลักแล้วมันไม่ไป เลยรู้สึกท้อและเหนื่อยมาก แต่พอเข้าร่วมโครงการ เราได้เห็นทิศใหม่ๆ บวกกับหลักการสอนที่เติมเต็มให้เรา

สองปีแรกยังผลิตสื่อน้อยอยู่ เพราะเรียนต่อปริญญาโท เพิ่งมาทำสื่อการสอนแบบจริงจังเมื่อปีที่แล้ว ผลิตเยอะมาก รู้สึกมีความสุข พอทำแล้วมันตรงใจเรา ทำง่าย เรารู้ว่า สื่อนี้ใช้ยังไง เพราะว่าเราสร้างเอง แล้วก็ภูมิใจ

ปริญญาตรีเอกประถมศึกษาที่จบมา จะเหมือนเป็ด บินได้นิดหน่อย ว่ายน้ำได้ อาจไม่ชำนาญในด้านต่างๆ อย่างลงลึก เมื่อเข้าเรียนรู้ในโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (SCB Connext ED) ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ดูแล และเลือกเข้าโมดูลพัฒนาศักยภาพครู ยกระดับคุณภาพวิชาการ: อ่านออกเขียนได้ ได้จุดประกายเราว่าถึงเราจะเป็นเป็ด เราก็ต้องเป็นเป็ดที่ดีมีคุณภาพ เราเลยต้องเปลี่ยนตัวเองใหม่ ต้องคิดว่าเราทำได้ พอเราได้ไฟจากตรงนั้น ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองเลย

ได้ไอเดียการทำสื่อมาจากไหน

ไอเดียส่วนใหญ่จะได้มาจากกลุ่มเฟซบุ๊คกลุ่มครูที่แชร์สื่อซึ่งผลิตขึ้นมาเองเพื่อใช้ในห้องเรียนของเขา เราก็จะไปเอาจากตรงนั้นมาแบ่งปัน บางทีก็เอามาเพื่อเป็นแนวทางที่จะผลิตเอง จากนั้นก็จะกลับมาดูที่เนื้อหา เช่นถ้าเราจะสอนสักเรื่องหนึ่งแล้วอยากให้เด็กรู้คำศัพท์ เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้สนุกกับเนื้อหา เด็กๆ จะชอบเกมง่ายๆ เกมจับคู่ เกมเขียน เกมอ่าน เกมที่มีการแข่งขันเด็กจะชอบมาก เราก็เลยเอาเนื้อหาไปใส่ในเกม เด็กก็จะสนุก

การออกแบบสื่อ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงคือเนื้อหาจะต้องได้ ไม่ใช่เล่นให้สนุกอย่างเดียว ต่อให้สนุกแค่ไหน แต่เนื้อหาคุณไม่มีกรอบเลย ไม่มีคอนเซ็ปต์ มันก็ไม่เกิดประโยชน์

นอกจากสื่อแล้ว การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ในห้องเรียนจะจัดมุมนิทานไว้ให้เขา เราได้รับบริจาคจาก SCB ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูน้ำนิ่งอยากได้มาก แต่ไม่มีงบประมาณหรือเวลาที่จะไปซื้อ พอได้มาเราก็เริ่มเปลี่ยนห้อง พยายามเอาความรู้ไว้ตามชั้นตามมุมต่างๆ เด็กสามารถหยิบมาเล่นได้ แล้วก็พยายามหากิจกรรมให้เขาเรียนรู้ ไม่จำกัดความคิด ส่งเสริมจินตนาการให้เขาได้คิด

เวลาที่ต้องสอนวิชาที่น่าเบื่อ (สำหรับเด็กๆ) ครูน้ำนิ่งมีวิธีการทำสื่อ หรือว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับวิชานั้นๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างวิชาพระพุทธศาสนา เด็กจะได้ยินเรื่องพระพุทธเจ้าจากการ์ตูนเป็นส่วนใหญ่ พอต้องมาสอนเราอาจจะใช้คำพูดที่ง่ายขึ้น เช่น เรื่องประวัติพระพุทธเจ้าจะเรียกชื่อพระนางพระสิริมหามายา หรือพระนางโคตชาบดี ก็จะยากไป บางทีเราจะสร้างตัวละครขึ้นมาเป็นนิทาน หรือให้เด็กทำเป็น Mind Mapping เป็นแผนผัง ว่าพระพุทธเจ้าประสูติตรงนี้ ตรัสรู้ตรงนี้ แตกออกไปเรื่อยๆ ตามเรื่องราวที่เขาจำเป็นนิทาน เหมือนเด็กวัยนี้เขาจะจำเป็นนิทาน ในสัปดาห์หนึ่งอย่างน้อย 3 วัน ครูจะเล่าตอนที่เขานั่งสมาธิ เราจะไม่เฉลยตอนจบ แต่เราจะถามเขาว่า ถ้าหนูเป็นคนนี้จะทำอย่างนี้ไหม คืออยากรู้ว่าเขาคิดยังไง แล้วทำไมถึงคิดแบบนั้นล่ะ อย่างเช่นนิทานเรื่อง ‘มดกับตั๊กแตน’

มดจะขยัน เก็บเสบียงเป็นอาหาร ส่วนตั๊กแตนก็จะร้องเพลงเรื่อยไป ไม่รีบ เพราะอีกตั้งนานกว่าฤดูฝนจะมา สุดท้ายตอนจบของเรื่องคือ ตั๊กแตนไม่ได้อาหาร เพราะมดบอกว่า เจ้าไม่หาเอง ไม่มีความรับผิดชอบ แต่เราอยากรู้ว่า ตอนจบเด็กจะให้อาหารกับตั๊กแตนมั้ย ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ก็น่ารัก สงสาร และบอกว่าเลือกที่จะให้อาหารแก่ตั๊กแตน

ในแง่การเรียนรู้ของนักเรียน ถ้าเปรียบเทียบกับการสอนทั่วไปในตอนแรกกับตอนนี้ที่ใช้สื่อเข้ามาช่วย ต่างกันอย่างไรบ้าง

เด็กอ่านออกมากขึ้น จากเมื่อก่อนสมมุติเด็กมี 20 คน เด็กอ่านได้ฉะฉานชัดเจนได้จริงๆ จะไม่ถึงครึ่ง แต่พอมีสื่อเข้ามาช่วย มันเกินครึ่งห้อง ถ้าเปรียบเทียบภายในเทอมแรก เปลี่ยนแปลงน้อยมาก แต่พอเข้าเทอมสอง เริ่มดีขึ้นมาก สามเดือนแรกก็เห็นผลแล้วค่ะ คือไม่ใช่เด็กเราจะเก่ง เป็นเลิศ แต่เราเห็นพัฒนาการของเขา มันก้าวไปเรื่อยๆ

หนึ่ง เด็กมีความสุข สองเด็กมีความเข้าใจเนื้อหาที่เราสอนแล้วเด็กมีความสุข คือ เรื่องการอ่านออกเขียนได้นี่เป็นปัญหาระดับชาติมาก การที่เด็กอ่านออกเขียนได้ยังไงก็ส่งผลต่อวิชาอื่นแน่ๆ ขอให้เด็กได้อ่านออกเขียนได้แล้วเราก็ค่อยไปฝึกทักษะอื่นๆ ไม่ว่าทักษะการคิด หรือ อะไรของเขาก็จะตามมาด้วย

ในแง่ของการวัดผล สื่อการสอนที่ผลิตขึ้นมาส่งผลต่อการเรียนอย่างไรบ้าง

จากการวัดผลเด็กเมื่อปีที่แล้ว ถ้าวัดผลด้วยคะแนนข้อสอบเด็กส่วนใหญ่ทำข้อสอบได้ ผลการสอบของเป็นที่น่าพอใจ การเขียนของเขาดีขึ้น โดยเฉพาะการเขียนเล่าเรื่องจากจินตนาการ ส่วนใหญ่เป็นแบบแต่งประโยคหลายบรรทัด เขาเริ่มเขียนบรรยาย แม้จะไม่สละสลวย แต่เราเห็นว่าเขามีพัฒนาการ จากตอนแรกเด็กอ่านไม่รู้เรื่อง อ่านได้แค่ประโยคสั้นๆ เท่านั้น

ส่วนเด็กที่จบจากครูนิ่งไป เราจะสอบถามครูที่ประจำชั้นต่อคือครูประจำชั้น ป.3 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตรงไหนที่เด็กไม่แน่น ยังไม่ได้ ครู ป.3 จะให้ feedback กลับมาดีมาก อย่างเช่น เด็กยังไม่ได้เรื่องนี้ เด็กยังอ่อนเรื่องนี้ เราก็จะมากลับมาปรับปรุง วางแผนว่าเราจะสอนเรื่องนี้ให้แน่น ปัจจุบันเราก็ปรับปรุงให้ดีขึ้น ครูบางท่านเคยสอนเด็กคนนี้มาตั้งแต่ ป.1 แล้วมาสอน ป.2 เขาก็ชมว่า เด็กดีขึ้นนะ กล้าตอบ เมื่อก่อนไม่เคยกล้าตอบ

ในมุมมองของครู เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเด็กจากวันแรกจนถึงตอนนี้อย่างไรบ้าง

เด็กสนุก มีรอยยิ้ม ‘ครูขาวันนี้ทำอะไร ครูขาหนูอยากทำอันนี้’ เด็กจะถามตลอด วันนี้เรียนเรื่องอะไรคะ เมื่อวานแพ้ขอแก้มือ คือเขาจะสนใจในการเรียนของเราตลอด จากเดิมไม่เคยไต่ถามอะไร บรรยากาศก็จะเงียบๆ ไม่ค่อยกระตือรือร้นด้านการเรียน หรือเนื้อหา บางทีมีผู้ปกครองที่เล่นเฟซบุ๊ค เขาก็จะบอกว่า เนี่ย น้องพิ้งค์มาอ่านหนังสือให้คุณยายฟังทุกวันเลย จากที่แต่ก่อนอ่านหนังสือไม่คล่อง (ยิ้ม)

อย่าง ป.2 รุ่นนี้ชัดมากๆ มีผู้ชาย 16 คน มีผู้หญิงแค่ 5 แล้วด้วยความที่เด็กผู้ชายซนๆ 16 คน มาอยู่รวมกัน ปวดหัว เครียดมากเลย จะทำอย่างไรให้เด็กผู้ชายพร้อมที่จะเรียนรู้ เพราะว่าเขาชอบเล่นต่อสู้ ต่อยตี ซึ่งเป็นเรื่องที่จัดการยากมากสำหรับครูนิ่งเพราะไม่ใช่คนดุมาก ก็กลับมาคิดว่าเด็กชอบอะไร เลยต้องเริ่มสังเกตว่าเด็กชอบเล่นอะไร แล้วจะใช้การเสริมแรงเข้ามาช่วย เช่น ให้ดาว สติกเกอร์ที่ออกแนวผู้ชายๆ เยอะหน่อย

สื่อก็ต้องทำ งานครูก็เยอะ ต้องไปประชุม ไหนจะสัมมนาอีก คุณครูแบ่งเวลาอย่างไร

สื่อส่วนใหญ่ครูจะทำที่บ้าน สื่อบางอย่างเด็กช่วยเราได้มาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเพราะเขามีความละเอียดอ่อนมากกว่า อย่างสื่อที่เห็นเราจะใช้ลังนม ปรินท์กระดาษออกมาแล้วเอามาทาบกับกระดาษลังจากนั้นตัดตามรูป เด็กอาจจะยังตัดไม่สวย ครูก็ตัดเป็นแบบให้ เด็กช่วยทากาวแปะ พับกระดาษลังตามแบบ

เด็กมีส่วนช่วยในการผลิตสื่อ ซึ่งคุณครูไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นเด็กแค่ ป.2 แต่เขาช่วยได้ พอเอามาใช้ ‘อันนี้เขาตัดนะ อันนี้ของเขา’ เขาก็จะมีความภูมิใจในสื่อที่เขาทำ

ส่วนเวลาการทำงานก็ต้องแบ่งให้ดี ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับคุณครูหลายคน บอกว่าอยากอยู่โรงเรียน อยากอยู่กับห้อง อยากอยู่กับเด็ก แต่ประชุม สัมมนาทุกอาทิตย์ไม่มีเวลาว่างอื่นเลย เขาอยากทำนะ แต่เวลาของเขาถูกเบียดเบียนด้วยเอกสาร ถูกเบียดเบียนด้วยการประเมิน แต่พอเราสร้างสื่อแล้วแชร์ให้ครูคนอื่นๆ นำไปใช้ เขาก็บอกว่าขอบคุณ อย่างน้อยเขาก็ได้ปรินท์ไปใช้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามาก เหมือนเป็นการช่วยอีกแรง

ครูแต่ละคนก็หน้าที่เยอะแตกต่างกันไป พอเรามาช่วยตรงนี้ ทำให้เขารู้สึกว่า มีเพื่อนผู้ร่วมอาชีพที่ต้องการแบบนี้เหมือนกัน มันสะดวกขึ้น เขาก็ไม่ต้องมาคิดใหม่ เพราะเวลาเหล่านั้นถูกบั่นทอนไปด้วยงานเอกสาร และงานประเมินทั้งหลายไปหมดแล้ว

เป็นครูเหนื่อยไหม

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครูนิ่งเคยเขียนย้าย ตอนนั้นมันเหมือนกับเกิดความรู้สึกท้อ ไม่ใช่เพราะนักเรียน แต่เป็นปัญหาภายนอก เลยคิดว่า ‘ย้ายโรงเรียนดีมั้ยเหนื่อยจังเลย’ ตอนเขียนก็ไม่ได้กะจะย้ายจริงๆ หรอก เหมือนบางทีก็ประชด ขอเขียนหน่อยเหอะ พอเขียนไป ผู้ปกครองทราบเขาก็มาถามว่า “ครูจะย้ายจริงเหรอ อยู่นี่แหละ อยู่สอนนักเรียนต่อ” เหมือนเขาอยากให้เราได้อยู่สอนต่อ บางคนมีพี่น้อง เราสอนคนพี่ไปแล้ว ก็อยากให้อยู่สอนน้องต่อ เพราะเขาประทับใจที่เราสอนลูกคนโตเขา

แต่สิ่งที่สำคัญที่ทำให้ครูนิ่งไม่ไปไหน ก็คือนักเรียน เด็กเป็นทั้งหมดของครูนิ่งจริงๆ คนอาจจะมองว่า ครูนิ่งยังโสดไง ครูนิ่งยังไม่มีภาระเลยทำได้ บางคนอาจจะคิดอย่างนี้ แล้วถ้าสมมุติว่าวันหนึ่งแต่งงานมีครอบครัว มีลูก ยังจะขยันแบบนี้อยู่ไหม ก็เลยคิดว่า ไม่รู้ว่าจะภาระรับผิดชอบจะเป็นอย่างไร แต่ก็จะไม่ทิ้งสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้แน่นอน

หมายเหตุ: ติดตามเพจคุณครูน้ำนิ่งได้ที่นี่ค่ะ บันทึกพี่ปอสอง ห้องครูน้ำนิ่ง 

Tags:

เทคนิคการสอนครูน้ำนิ่ง ณัฎฐา ถมปัทม์ความบกพร่องทางการเรียนรู้(Learning Disabilities)พัฒนาการครูระบบการศึกษา

Author:

illustrator

กนกอร แซ่เบ๊

อดีตนักศึกษามานุษยวิทยา เกิดในครอบครัวคนจีนจึงพูดจีนได้คล่องราวภาษาแม่ ปัจจุบันเป็นคุณน้าที่หลงหลานสุดๆ และขยันฝึกโยคะเกือบเท่างานประจำ

Related Posts

  • Unique Teacher
    พี่ปอสอง ห้องครูน้ำนิ่ง: เมื่อเด็กอ่านไม่ออก และครูเบื่อห้องเรียน

    เรื่อง The Potential

  • Voice of New Gen
    หนังสือ ‘WIZES’ เสกการท่องจำเป็นเข้าใจด้วย INFOGRAPHIC

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Character building
    ปั้น ‘คาแรคเตอร์’ ที่ดีให้เด็ก: โรงเรียน พ่อแม่ ชุมชน ต้องร่วมมือกัน

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Unique Teacher
    ครูสอญอ: ผู้อำนวยการสร้างเยาวชนแห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • Education trend
    มหกรรมสอบในเด็ก: ความเครียดและความล้มเหลวก่อนวัยอันควร

    เรื่อง The Potential

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel