Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: October 2023

อย่าให้โลกร้ายทำลายเรา: ‘Gratitude’ ขอบคุณเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
How to enjoy life
30 October 2023

อย่าให้โลกร้ายทำลายเรา: ‘Gratitude’ ขอบคุณเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • หลายๆ คนการมองโลกในแง่ดีอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจผ่านเรื่องราวร้ายๆ ต่างๆ จากชีวิตมามาก หรือมีธรรมชาติที่มักมองโลกในแง่ร้ายมาแต่เกิดไปแล้ว จะมีวิธีการแก้ไขพฤติกรรมแบบนี้ได้บ้างหรือไม่?
  • วิธีหนึ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็น ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก อาศัยความตั้งใจและความสม่ำเสมอในการลงมือทำ นั่นคือการสร้างสำนึกความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอในทุกวัน ช่วยลดระดับความเครียด ทำให้มีสุขภาพกายและใจดีขึ้นด้วย
  • สิ่งที่คุณควรทำอย่างต่อเนื่องเรียกว่า ‘ไดอารีคำขอบคุณ’ การบันทึกความคิดในแง่บวกวันละเพียง 5 นาที อาจสามารถเปลี่ยนอุปนิสัยและชะตาชีวิตของคุณได้ทีเดียว

เคยสังเกตคนใกล้ๆ ตัวหรือแม้แต่คนไกลตัวบ้างไหมครับว่า มีบางคนที่ไม่ว่าจะพบเจอปัญหาอะไรในชีวิต ก็กลับยังมองเห็นชีวิตเป็นสิ่งสวยงามและมีความหวังเสมอ มองโลกในแง่ดีได้ตลอดเวลาอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ขณะตกที่นั่งลำบากแสนสาหัสอยู่ ขณะที่บางคนที่เรามองว่าโชคดีมากๆ มีสารพัดสิ่งต่างๆ พรั่งพร้อมในชีวิต แต่ก็กลับหาความพออกพอใจในชีวิตแทบไม่ได้และมองโลกในแง่ลบอยู่ตลอดเวลา

เราอาจเจอคนประเภทหลังได้ทั้งในชีวิตจริงและบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะประเภทหลังที่บางทีเราก็อาจงงว่า เรื่องที่คนส่วนใหญ่มองว่าตลกหรือไร้สาระ คนกลุ่มนี้กลับมองอย่างเอาจริงจังจนน่าแปลกใจและน่าตกใจ  

เรื่องแบบนี้เป็นผลมาจากทั้งพันธุกรรมและจากการเรียนรู้ในชีวิตหรือการฝึกฝนตัวเองให้เป็นคนแบบใดตามต้องการ 

เรื่องผลจากพันธุกรรมที่ติดตัวมาแต่เกิดมีการศึกษาในอาสาสมัคร 200 คน โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียที่ตีพิมพ์ไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 2013 [1] โดยพบว่าเมื่อให้คนเหล่านี้ดูชุดคำที่แสดงนัยยะทางบวก ทางลบ และคำแบบกลางๆ ต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว

ผลคือคนจำนวนหนึ่งรับรู้และจดจำคำในแง่ลบได้ดีกว่าคนที่เหลือ เมื่อตรวจสอบสารพันธุกรรมดูก็พบว่ามียีนชื่อ ADRA2b ที่ต่างจากคนอื่นๆ ที่เหลือ 

นักวิจัยกล่าวอย่างเปรียบเทียบว่า ถ้าให้คนเหล่านี้ไปจ้องมองฝูงชน พวกเขาและเธอก็จะมองเห็นคนที่หน้าตาบูดบึ้งหรือโกรธเกรี้ยวโดดเด้งออกมาจากคนอื่นในกลุ่มเลยทีเดียว ทั้งที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มไม่ได้แสดงสีหน้าท่าทางแบบนั้นเลย เวลามองเห็นสิ่งรอบตัวคนพวกนี้ก็จะประเมินในทางลบเป็นหลัก เช่น พื้นตรงนั้นน่าจะลื่น ก้อนหินก้อนนั้นไม่มั่นคงและจะหล่นใส่เมื่อไหร่ก็ได้ หรือคนคนนี้ไม่น่าไว้ใจ จนไม่อาจมองเห็นความงดงามของภาพรวมได้เลย!

มีงานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่ชี้อีกด้วยว่า คนแต่ละเชื้อชาติมีสัดส่วนคนมองโลกในแง่ร้ายมากน้อยไม่เท่ากัน เช่น พบว่าคนกลุ่ม ‘คอเคเชียน’ หรือที่คนไทยดูปุ๊บบอกได้ปั๊บว่าพวกนี้ ‘หน้าตาฝรั่ง’ คนเหล่านี้จะมีสัดส่วนคนมองโลกในแง่ร้ายมากเกินครึ่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนเชื้อชาติอื่น เช่น การทดสอบในคนรวันดาพบว่า มีเพียง 10% ที่มียีนลักษณะพิเศษนี้ [2] อย่างไรก็ตาม การศึกษา วัฒนธรรม และอารมณ์ความรู้สึกเฉพาะตัว ก็ส่งผลกระทบกับคนนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ได้เป็นเรื่องที่ ‘บุญทำกรรมแต่ง’ มาแต่อย่างเดียว พูดอีกอย่างคือเราปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขธรรมชาติของการมองโลกในแง่ร้ายได้ดีได้ระดับหนึ่งเช่นกัน

สำหรับหลายๆ คนการมองโลกในแง่ดีและเห็นแง่งามในชีวิตอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจผ่านเรื่องราวร้ายๆ ต่างๆ จากชีวิตมามาก หรือมีธรรมชาติที่มักมองโลกในแง่ร้ายมาแต่เกิดดังกล่าวไปแล้ว จะมีวิธีการแก้ไขพฤติกรรมแบบนี้ได้บ้างหรือไม่?

น่าจะมีอยู่หลายวิธีทีเดียว แต่วิธีการหนึ่งที่ทำได้ไม่ยากเย็น ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตเลย เน้นอาศัยความตั้งใจและความสม่ำเสมอในการลงมือทำอาจจะพอช่วยได้ นั่นก็คือการสร้างสำนึกความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอในทุกวัน 

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะรู้สึกขอบคุณหรือเป็นหนี้บุญคุณต่อสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต ก็จะส่งผลดีอย่างปัจจุบันทันทีเลยทีเดียว ซ้ำยังจะไปสร้างความรู้สึกเติมเต็มและสร้างความพึงพอใจขึ้นด้วย ส่งผลให้ช่วยลดระดับความเครียด ทำให้มีสุขภาพกายและใจดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน 

ยกตัวอย่าง หลายคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจในทรวดทรงหรือบางส่วนของร่างกาย ทำให้ไม่กล้าใส่ชุดบางอย่าง เช่น ไปเดินชายหาดก็ไม่กล้าใส่ชุดว่ายน้ำ หรือออกไปวิ่งก็ไม่กล้าใส่ชุดวิ่งที่กระชับกับร่างกาย แต่หากคุณลองมองในมุมว่า การมีร่างกายที่ปกติดี เคลื่อนไหวก้มเงยได้ดังใจ เป็นเรื่องที่ควรต้องขอบคุณให้กับชีวิตนี้แล้ว เราจึงควรพึงพอใจกับร่างกายของเรา

เมื่อเริ่มมองในทางบวกมากขึ้นแล้ว ก็ง่ายขึ้นที่จะสร้างแรงจูงใจว่า เราอาจเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก โดยการออกกำลังกาย การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการมีสติและสมาธิ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายและจิตใจของเรามีสุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีอื่นๆ ตามมาด้วยอีกเป็นอันมาก 

แต่อยู่ดีๆ คนที่เคยมองโลกในแง่ลบอยู่เสมอ จะเปลี่ยนไปกลายเป็นคนมองโลกในแง่บวก อาจยากในตอนเริ่มต้นเช่นกัน และอาจไหลกลับไปอยู่โหมดมองโลกในแง่ร้ายได้อีกง่ายๆ อย่างรวดเร็ว 

มีคำแนะนำอะไรที่เป็นรูปธรรมจนนำไปปฏิบัติได้บ้างหรือไม่?

นักจิตวิทยาแนะนำว่าเรื่องแบบนี้ต้องหมั่นทำทีละน้อย แต่ทำบ่อยๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงอุปนิสัย [3] อาจเริ่มจากวิธีการ ‘นับนิ้ว’ คือ มองหาเรื่องดีในชีวิตมา 10 อย่าง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะดูเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใด 

บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะไม่ได้มีแต่คุณเพียงคนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ อันที่จริงนักจิตวิทยาถึงกับตั้งชื่อเล่นให้กับความคิดลบและความคิดบวกว่าเป็น ‘ความคิดแบบเวลโคร (Velcro thought)’ และ ‘ความคิดแบบเทฟลอน (Teflon thought)’ ตามลำดับ

‘เวลโคร’ ก็คือ ชื่อเรียกตัวตะขอจิ๋วที่เห็นตามใช้กับกระเป๋า กางเกง หรือเป้ต่างๆ ซึ่งหากเราขยายภาพขึ้นมาดู ก็จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายตะขอจิ๋วๆ ที่ใช้เกี่ยวกันเองและเกี่ยวกับอย่างอื่นได้อย่างแข็งแรงมาก ซึ่งได้แนวคิดมาจากโครงสร้างของพืชจำพวกหญ้าเจ้าชู้ที่ติดตามเสื้อผ้าเวลาเราเดินทางนั่นเอง

ส่วนคำว่า ‘เทฟลอน’ นั้นแทบไม่ต้องอธิบาย มันคือสารเคลือบกระทะให้อาหารไม่ติดก้นกระทะนั่นเอง ความหมายในที่นี้คือ สำหรับคนทั่วไปแล้วความคิดลบนั้นติดง่าย เอาออกยาก ในขณะที่ความคิดบวกยากที่จะติดแน่น 

การคิดบวกจึงต้องอาศัยการฝึกฝน โดยเฉพาะหากเกิดมาพร้อมกับแนวโน้มจะเป็นคนคิดลบมองโลกในแง่ร้ายเป็นพื้นเดิมในตัว

การที่คนมีแนวโน้มคิดลบนี่มีสาเหตุนะครับ แถมเป็นสาเหตุสำคัญเสียด้วย เพราะในทางวิวัฒนาการแล้ว ความคิดลบมีความจำเป็นมากสำหรับความอยู่รอด พวกที่มองโลกในแง่ดีมากจนเกินไป จึงน่าจะหลงเหลือสืบลูกหลานมาน้อย ไม่ต่างอะไรกับพวกที่มองโลกในแง่ร้ายมากจนเกินไป จนเครียดอยู่ตลอดไม่เป็นอันทำอะไรจริงๆ จังๆ เพราะมัวแต่กังวล

แต่การ ‘นับนิ้ว’ ยังน่าจะถือเป็นการวอร์มอัปเท่านั้น สิ่งที่คุณควรทำอย่างต่อเนื่องเรียกว่า ‘ไดอารีคำขอบคุณ’ การบันทึกความคิดในแง่บวกวันละเพียง 5 นาที อาจสามารถเปลี่ยนอุปนิสัยและชะตาชีวิตของคุณได้ทีเดียว

แต่ละวันให้คุณเลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น อาจจะเป็น 5 นาทีก่อนนอน เพื่อจดสิ่งดีๆ เรื่องดีๆ ที่คุณพบเจอในวันนั้นออกมา หรือบางคนอาจถนัดทำอีกแบบคือ เลือกเป็นสมุดจดเล่มเล็กและพกติดตัวไว้ เมื่อเกิดเรื่องดีๆ ขึ้นก็หยิบมันขึ้นมาจดเอาไว้ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ดีเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้คงแล้วแต่ความสะดวกและความถนัดว่า คุณเป็นคนแบบไหน ถนัดวิธีการใดมากกว่า

หากทำไประยะหนึ่งแล้ว คุณอาจกำหนดเป้าหลวมๆ ขึ้นมาก็ได้ เช่น มองหาเรื่องดีที่เกิดขึ้นในวันนั้นจำนวน 5 เรื่องต่อวัน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กน้อยเพียงใด เช่น คนทำงานร่วมชั้นเดียวกันที่ไม่เคยทักทายกันมาก่อน วันนี้คุณเริ่มทักทายไปก่อนแล้วเขาหรือเธอคนนั้น ก็ทักทายกลับมาและยิ้มตอบให้เป็นครั้งแรก หรือแม้แต่ท้องฟ้าที่แจ่มใสหลังจากฝนตกติดกันมานานถึง 10 วัน ก็ได้เช่นกัน  

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ จำไว้ว่านี่คือบันทึกส่วนตัวอย่างแท้จริง คุณจะเขียนขอบคุณใครหรือเหตุการณ์อะไรก็ได้ ตามแต่ที่ใจคุณคิดว่าสิ่งนั้นช่วยสร้างวันดีๆ ให้กับคุณ 

หากคุณทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ คุณจะเริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ เช่น บางคนอาจจะหลับได้สนิทอย่างยืดยาวมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น 

การระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่คนอื่นทำให้ ยังกระตุ้นให้คุณอยากกล่าวขอบคุณด้วยวาจาอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการแพร่กระจายสิ่งดีๆ ออกไปรอบตัว ทำให้เกิดบรรยากาศดีๆ ในบ้านและที่ทำงาน รวมไปถึงทุกที่ที่คุณไปปรากฏตัว

คนที่ได้รับสิ่งดีๆ จากคุณก็มีแนวโน้มจะแผ่ความรู้สึกดีๆ ต่อไปยังคนอื่นอีกด้วย

ลองมองหาและขอบคุณผู้คนและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตดู คุณอาจจะรู้สึกได้เองว่าชีวิตดีกว่าที่คุณเคยรู้สึกและอันที่จริงแล้ว คุณเองก็มีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งดีๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน  

เอกสารอ้างอิง

[1] R. M. Todd, D. J. Muller, D. H. Lee, A. Robertson, T. Eaton, N. Freeman, D. J. Palombo, B. Levine, A. K. Anderson. Genes for Emotion-Enhanced Remembering Are Linked to Enhanced Perceiving. Psychological Science, 2013; DOI: 10.1177/0956797613492423

[2] https://www.sciencedaily.com/releases/2013/10/131010105039.htm

[3] Julie Bassett (2021) Gratitude Wellbeing. Psychology Now, vol. 1. 

Tags:

สุขภาพจิตการมองโลกในแง่ดีการมองโลกในแง่ร้ายการขอบคุณ (Gratitude)ไดอารีคำขอบคุณ

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • heart&how
    Social Issues
    Heart & How สร้างพื้นที่ปลอดภัย กู้ ‘ใจ’ วัยเรียน 

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    ‘BuddyThai’ แอปคู่ใจของวัยรุ่นในวันที่ไม่มีใครยืนเคียงข้าง: พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    Emotional Projection: ในโลกวุ่นวาย ใครใจร้ายรอด?

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    ‘สุขภาพจิตที่ดี’ ต้องยืนหนึ่ง ปั้นลูกให้แกร่งและอยู่รอดในอนาคต

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • How to enjoy life
    มองโลกแบบไหนถึงเรียกว่าในแง่ร้าย

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

‘ปูม้าที่หายไป’ โจทย์การเรียนรู้บริบทชุมชนที่เด็กออกแบบเอง: โรงเรียนบ้านแหลมไทร จังหวัดตรัง
23 October 2023

‘ปูม้าที่หายไป’ โจทย์การเรียนรู้บริบทชุมชนที่เด็กออกแบบเอง: โรงเรียนบ้านแหลมไทร จังหวัดตรัง

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • เมื่อจำนวนประชากร ‘ปูม้า’ ที่เป็นของดีของชุมชนแหลมไทรลดลง ซึ่งจะมีผลกับสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวเด็กๆ โรงเรียนบ้านแหลมไทรด้วย จึงกลายมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงห้องเรียนกับชุมชนที่น่าสนใจ
  • ทำอย่างไรให้ทรัพยากรปูม้าเพิ่มมากขึ้น? คือวัตถุประสงค์หลักๆ ที่ ครูภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ตั้งต้นในการเรียนรู้นี้ โดยใช้การจัดการเรียนรู้ Active Learning ในรูปแบบของ ‘หลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (Phenomenal Based Learning: IP2)’ 6 ขั้นตอน
  • ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กอย่างเห็นได้ชัดคือ เด็กสนุกกับการเรียนรู้ มีความอยากเรียนรู้ และจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น

เพราะโลกใหญ่กว่าห้องเรียน การพาเด็กๆ ไปเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัตินอกห้องเรียน โดยเฉพาะในชุมชนที่พวกเขาเติบโตมา จึงเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ไม่เพียงเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ยังทำให้เด็กเกิดสำนึกรักในท้องถิ่น และสามารถจัดการกับปัญหาในชุมชนของตนเองได้

The Potential ชวนเปิดห้องเรียน ครูภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาชั้นป.4 โรงเรียนบ้านแหลมไทร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กับหน่วยการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมกายภาพในจังหวัด ที่ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้ของดีในชุมชน สร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ไปจนถึงปั้นนวัตกรตัวน้อยๆ ที่สร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาปากท้องในชุมชน 

ครูภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาชั้นป.4 และเด็กๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านแหลมไทร

ห้องเรียนของครูภณิดาเป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนด้วย ‘หลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (Phenomenal Based Learning: IP2)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรของโครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ครูที่เข้าอบรมสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับ ประยุกต์ และต่อยอด เพื่อใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียน จุดเริ่มต้นจึงเกิดจากการที่ได้ไปอบรมในหลักสูตรของโครงการที่ว่านี้ 

“พอนำมาใช้กับโรงเรียนจริงๆ เราก็ปรับกระบวนการให้มันเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเรา และยังคงเป็นการศึกษาภูมิศาสตร์ เพราะเราเป็นครูสังคมฯ ภูมิศาสตร์ของแหลมไทรเป็นชายฝั่งทะเล แล้วก็มีทรัพยากรทางทะเล ทีนี้พอเราลงสำรวจปัญหา พานักเรียนลงพื้นที่ ปัญหาที่พบของเราหลักๆ เลยคือปูม้าที่เป็นของดีของแหลมไทร ตอนนี้มีจำนวนลดลง ซึ่งทรัพยากรทางทะเลถ้ามันลดลงก็จะมีผลกับสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวเขา”

สำหรับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียนที่ครูภณิดาตั้งไว้นั้น เน้นไปที่การให้เด็กรู้จักสภาพแวดล้อมในชุมชน มองเห็นปัญหา และรู้จักคิดหาทางแก้ปัญหา รวมไปถึงตระหนักถึงการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อความเป็นอยู่ในอนาคต 

“เนื่องจากเป็นโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก ประสบการณ์โลกของเด็กที่นี่ก็คือ ปัญหาที่เขาพบและเลือกมาแล้วว่าอยากแก้ก็คือ ปูม้าที่ลดลง ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักๆ เลยคือ ทำยังไงให้ทรัพยากรปูม้ามีเพิ่มมากขึ้น”

6 ขั้นตอนการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชุมชน

หัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในหน่วยนี้ของแหลมไทรก็คือ ให้เด็กแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และสร้างนวัตกรรมได้ด้วยกระบวนการ Phenomenon based learning การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน และ Problem-based Learning การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน นอกจากนี้ยังผสมผสานกับ Project Approach หรือการทำโครงงานด้วย โดยครูภณิดาออกแบบการเรียนรู้ใน 6 ขั้นตอน ดังนี้ 

ขั้นแรก ‘แหลมไทรอะไรดี?’ ครูหย่อนโจทย์ให้เด็กระดมสมอง เพื่อกำหนดสถานการณ์ปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่จะนำมาใช้ในการเรียนรู้ และเป็นการประเมินระดับความคิด 

ขั้นที่สอง ‘ตามมาจะพาไปล่องทะเล’ เป็นการคิดประเด็นสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เด็กมองเห็นภาพที่ชัดขึ้น ครูจึงพาลงสำรวจพื้นที่ชุมชนบ้านแหลมไทร ทำหน้าที่เป็นโค้ช เพราะว่าการเรียนรู้จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อทำให้ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้ และอยากหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ นอกจากนี้ต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน 

“เพราะความรู้มันไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน เขาเอาปัญหาจากชุมชน แล้วบางทีการแก้ปัญหาคนที่รู้ดีมากกว่าคุณครูก็คือคนในชุมชน ดังนั้นเราต้องเป็นทั้งโค้ช ทั้งผู้อำนวยความสะดวกให้เขา แล้วก็เป็นผู้ที่จุดประกายให้เขาได้คิด บางทีต้อง เอ๊ะ! ไปเรื่อยๆ ให้เขาได้สงสัย”

“ตอนเราไปลงพื้นที่เราต้องชวนเด็กมองในสิ่งที่เขาอาจจะมองข้าม เช่น ป่าชายเลนมีต้นพังกางอกออกมา ซึ่งเขาอาจจะมองไม่เห็นหรือเขาเห็นทุกวันจนไม่ได้สังเกต เราต้องเอ๊ะ! นี่อะไรนะ แล้วตรงนี้แค่มีต้นไม้แค่ต้นเดียวมีสัตว์อะไรอยู่บ้าง เราต้องชี้ เราต้องแนะเขานิดนึงให้เขาได้เห็น ได้สังเกต ถ้าเขาได้เห็นอะไรจากพื้นที่จริงๆ ทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์มากขึ้น”

ในขั้นที่สาม ‘หนูน้อยนักอนุรักษ์ พิทักษ์พันธุ์ปูม้า’ กลับเข้ามาสู่ห้องเรียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าแต่ละคนมองเห็นอะไรที่เป็นจุดเด่นของชุมชน และอะไรที่เป็นปัญหาที่เจอ เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาตนเองร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือ FILA Map ในการจัดระบบความคิดที่กระจัดกระจายให้เป็นกลุ่มก้อน วิเคราะห์ข้อมูลที่มี และนำเสนอ ซึ่ง FILA ย่อมาจาก 

F = Fact ข้อเท็จจริง เป็นที่มาของปัญหา ในที่นี้สิ่งที่เด็กๆ วิเคราะห์กันก็คือ ทรัพยากรปูม้าลดลง

I = Innovative Ideas นวัตกรรม หรือวิธีการที่จะทำให้ปัญหาหายไป ก็คือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มจำนวนปูม้า 

L = Learning Issue ความรู้และทักษะที่ต้องใช้สร้างนวัตกรรม 

A = Action Plan การวางแผนการทำงาน 

ตัวอย่าง FILA Map ของเด็กๆ

ขั้นที่สี่ ‘คิดไม่ OUT เราทำได้’ เป็นการจัดการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ บูรณาการรายวิชาสังคมฯ วิทยาศาสตร์ และการงานอาชีพ เพื่อนำไปใช้ในการประดิษฐ์นวัตกรรม

“ทีนี้พอประเด็นปัญหาได้แล้วนักเรียนก็แบ่งกลุ่มกันทำกิจกรรมได้ 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเขาก็จะทำ ‘ชุดอนุบาลปูม้า พลังงานแสงอาทิตย์’ ซึ่งจริงๆ แล้วชุดอนุบาลปูม้า การอนุบาลปูม้าก็มีอยู่ในชุมชนนะคะ แต่กลุ่มนี้เขาคิดเพิ่มขึ้นมาเขาอยากนำพลังงานสะอาดมาใช้ ก็คือการใช้โซลาเซลล์ค่ะ กลุ่มที่สองเขาคิดแค่เขาอยากลงไปช่วยในชุมชนเป็น ‘อาสาช่วยดูแลธนาคารปูม้าในชุมชน’ กลุ่มที่สามเขาอยากสร้างชุดอนุบาลแบบของเขา โดยทำ ‘ภาชนะอนุบาลปูม้าจากระป๋อง’ ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นการ ‘ทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยอนุรักษ์ปูม้า’ รณรงค์ในการอนุบาล ก็จะเป็นรูปแบบที่ต่างกันของแต่ละกลุ่มในการที่จะช่วยอนุรักษ์ปูม้าของเขา กลุ่มไหนคิดยังไงเราก็ให้เขาได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาคิด ไม่ได้ปิดกรอบความคิดของเขานะคะ แต่ละกลุ่มความสำเร็จก็จะแตกต่างกัน”

ขั้นที่ห้า ‘ถอดบทเรียน เปลี่ยนชีวิต’ หลังจากผ่านการคิดและลงมือทำกันแล้ว ให้เรียนประเมินตนเอง โดยใช้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs 

“การพัฒนาที่ยั่งยืนมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย เป็นความรู้ที่นักเรียนจะต้องมาวิเคราะห์ตามใบงานว่าสิ่งที่นักเรียนทำอย่างกลุ่มที่สร้างนวัตกรรมอนุบาลปูม้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถตอบโจทย์ SDGs ใดได้บ้าง เช่น ตรงกับเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน ถ้ามีปูม้าเพิ่มขึ้นรายได้ของผู้ปกครองก็จะเพิ่มขึ้น, เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย ถ้ามีปูม้าเพิ่มขึ้นแหล่งอาหารในชุมชนก็จะเพิ่มขึ้น, เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดและจ่ายได้ เพราะว่าเราทำโซลาเซลล์โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดที่เราสามารถนำใช้ได้ และเป้าหมายที่ 14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร ชุมชนของเราอยู่ติดชายฝั่งทะเล อาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นอาชีพประมงก็เลยต้องอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า เพื่อให้ปูม้ามีในอนาคต”

สุดท้ายขั้นที่ 6 ‘สู่ชุมชน อุดมสุข’ คือต่อยอดองค์ความรู้ และเผยแพร่ความรู้ที่ได้กลับคืนสู่ชุมชนนั่นเอง

เด็กๆ ลงพื้นที่กับผู้นำชุมชน

ผลลัพธ์การเรียนรู้คือจิตสำนึกและสมรรถนะ

ครูภณิดาเล่าว่าการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ใช้ปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กอย่างเห็นได้ชัดคือ เด็กสนุกกับการเรียนรู้ มีความอยากเรียนรู้ และจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น

“จริงๆ วิชาสังคมฯ ถ้าเกิดว่าเราสอนปกติมันอาจจะทำให้เด็กเบื่อ จำไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยจดจ่อ ถามสภาพภูมิประเทศเป็นยังไงก็จะบอกว่าอากาศร้อน คือมันจำไม่ได้ในเนื้อหา มันเป็นการท่องจำถ้าแบบเดิมๆ แต่ถ้าเกิดเราทำแบบนี้ ไปลงพื้นที่จริงๆ เห็นชัดเจน เขาจำเนื้อหาอะไรได้แม่นกว่า”

ในด้านทักษะที่ได้นั้น ครูภณิดาเล่าต่อว่าเกิดทักษะขึ้นตามมาหลายตัว ที่ไม่ใช่แค่การได้ความรู้ในรายวิชาสังคมฯ วิทยาศาสตร์ หรือการงานอาชีพ แต่สิ่งที่เด็กได้ด้วยคือสมรรถนะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต

“การเรียนที่ตอบโจทย์คือการฝึกเขาให้เป็นคนที่มีสมรรถนะที่พร้อมในอนาคตข้างหน้า นั่นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับเขามากกว่าการเอาความรู้ที่เหมือนกับเป็นแบบแผนเดียวกันมาทั้งหมด” 

นอกจากทักษะต่างๆ แล้ว สิ่งที่ครูภณิดามองว่าจำเป็นและเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ครั้งนี้คือ จิตสำนึก 

“ตอนนี้เขาก็รักและหวงแหนในทรัพยากรและบ้านเกิดของเขา มันไม่ใช่แค่เกิดในห้องเรียน เพราะว่าพอเขาเริ่มทำ คนในโรงเรียนคนอื่นเห็น ชาวบ้านเห็น แล้วทุกคนถ้าเข้ามาช่วย มันก็จะเกิดการสะท้อนให้เห็นในภาพใหญ่ว่า เราต้องมาช่วยกันดูแลชุมชนของเราแล้ว ทำให้เห็นกว้างกว่าในห้องเรียน 

เพราะนี่คือบ้านของเขา ถ้าระยะราวทรัพยามันอยู่กับเขาก็จะเป็นผลกับครอบครัวกับลูกหลานในชุมชนของเขา ดังนั้นถ้าเราปลูกตรงนี้ได้ สร้างได้ มันก็จะเป็นผลระยะยาวกับครอบครัวของเขาเอง”

Tags:

ปูม้าโรงเรียนบ้านแหลมไทรFILA MapActive Learningหลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (Phenomenal Based Learning: IP2)

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • Creative learning
    ‘ไม่สอนสูตร ไม่บอกวิธี’ ห้องเรียนคณิตฯ Pro-Active ของ ‘ครูบอย – มานะ คำจันทร์’ ที่เน้นกระบวนการคิด ติดตั้งทักษะการแก้ปัญหา

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Book
    ครบรอบ 20 ปี หนังสือ ‘ไชลด์เซ็นเตอร์ สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย’ กับคำถามที่ว่า การศึกษายังคงเป็นเพียงเรื่องฉาบฉวย?

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Education trendSocial Issues
    ข้อสังเกตในยุคที่ ‘อะไรอะไรก็ต้องเป็น Active Learning’ เมื่อ AL อาจทำให้มุมมองการสอนของเราแคบลง

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative learningSocial Issues
    ‘อยู่รอดปลอดภัย’ วิชาที่ช่วยให้เด็กคิดได้-ทำเป็น เพราะภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    จาก ‘ขยะ’ สู่การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเอง : โครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent โรงเรียนบ้านกู้กู ภูเก็ต

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

Dead Poets Society: คงจะดีถ้าครูสอนให้เราเรียนรู้ที่จะเติบโตในแบบของตัวเอง
Movie
21 October 2023

Dead Poets Society: คงจะดีถ้าครูสอนให้เราเรียนรู้ที่จะเติบโตในแบบของตัวเอง

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dead Poets Society เป็นภาพยนตร์อเมริกันในปี 1989 บอกเล่าเรื่องราวของจอห์น คีธติ้ง ครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ของโรงเรียนชายล้วนชื่อดังที่แสนเข้มงวด ด้วยรูปแบบการสอนที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการสอนให้นักเรียนรู้จักการคิดนอกกรอบและกล้าที่จะตามหาความฝันของตัวเอง 
  • นอกจากครูคีธติ้ง อีกตัวละครที่น่าสนใจคือทอดด์ นักเรียนหน้าใหม่ที่มีพี่ชายเป็นอดีตศิษย์เก่าอันดับหนึ่งของโรงเรียน ทำให้เขาต้องเผชิญกับความกดดันภายใต้เงาของพี่ชายจนสูญเสียความเป็นตัวเอง
  •  แม้จะมีเสียงวิจารณ์อย่างมากถึงฉากจบ แต่ Dead Poets Society ก็ชนะเลิศรางวัล Academy Awards สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1990

“ถ้าผมมีครูแบบครูคีธติ้งบ้างชีวิตจะเปลี่ยนไปยังไง” 

คำถามนี้เกิดขึ้นในใจระหว่างชมภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society ภาพยนตร์อเมริกันในปี 1989 ที่บอกเล่าเรื่องราวของจอห์น คีธติ้ง ครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ของโรงเรียนชายล้วนชื่อดัง ที่มาพร้อมรูปแบบการสอนที่ไม่เหมือนใคร

ภาพยนตร์เปิดเรื่องด้วยฉากบรรยากาศในวันปฐมนิเทศนักเรียนของโรงเรียนเวลตัน โรงเรียนมัธยมชายล้วนที่มีชื่อเสียงในการผลักดันนักเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ที่บรรดาพ่อแม่ต่างทุ่มเทเพื่อให้ลูกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ต่างจากโรงเรียนมัธยมฯของผมที่ติดท็อปลิสต์ของโรงเรียนชายล้วนชื่อดังในไทย

กฎหลักของโรงเรียนที่เด็กๆ ต้องยึดถือ(โดยไม่ต้องตั้งคำถาม) คือ ประเพณี เกียรติยศ วินัย และความเป็นเลิศ มันทำให้ผมนึกถึงความเข้มงวดในเรื่องไม่เป็นเรื่องที่ผมต้องเจอตอนมัธยม ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ผมจำได้ไม่ลืม

อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่ผมถูกครูประจำชั้นดึงจอนผมอย่างแรง เพียงเพราะมันคงดูขัดตาครู ทั้งที่ความจริงจอนผมไม่ได้ยาวกว่าเพื่อนคนอื่นๆ และครูก็ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร ทิ้งไว้แต่ความเจ็บ(ใจ)ที่ผมไม่สามารถทำอะไรได้

นอกจากกฎระเบียบต่างๆ ผมมักตั้งคำถามกับวิธีการสอนของคุณครู แม้ว่าตอนนี้หลายโรงเรียนจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถ้าย้อนไปเมื่อสิบยี่สิบปีก่อน ครูที่ผมเจอส่วนมากจะเป็นครูที่ดูจะให้ความสำคัญกับการบังคับเด็กให้อยู่ในพิมพ์เดียวกัน ว่านอนสอนง่ายเหมือนๆ กัน โดยมีปลายทางคือผลการสอบหรือเกรดที่ครูและพ่อแม่ภูมิใจ

เมื่อทัศนคติของครูเป็นแบบนี้ จึงไม่แปลกที่ครูแทบทุกคนเลือกฟังแต่เสียงของเด็กเรียนเก่ง เพราะเด็กเหล่านั้นคือเด็กดีในสายตาของครู แต่แทบไม่มีครูคนไหนเลยที่สนใจสุขทุกข์ของนักเรียนในฐานะเด็กคนหนึ่งที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการเป็นตัวของตัวเองจริงๆ โดยเฉพาะกับผม 

ต่างจาก ครูคีธติ้ง อดีตศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนเวลตันที่กลับมาเป็นครูสอนวิชากวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่เขาเติบโตมา ด้วยการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากการเรียนรู้ของเด็กๆ นั่นคือ ‘วิชาชีวิต’ ที่ว่าด้วยการเห็นคุณค่าในตัวเอง

ดังนั้น แทนที่ครูคีธติ้งจะสอนหนังสือให้เด็กท่องจำแบบครูคนอื่น เขากลับใช้วิธีตั้งคำถามชวนคิดเพื่อแลกเปลี่ยนกับนักเรียนในห้องโดยไม่ใช้คำว่า ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ มาตัดสิน และชื่นชมในความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนดูมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

บทเรียนแรกที่ผมประทับใจคือการสั่งให้นักเรียนทั้งหมดฉีกหนังสือเรียนหน้าคำนำทิ้ง เพราะเนื้อหาในนั้นระบุถึงองค์ประกอบในการประเมินคุณค่าของบทกวี 

“เราไม่ได้มาวางท่อ เราพูดถึงบทกวีนิพนธ์อยู่ จะมาตีค่าบทกวีแบบนั้นได้ยังไง…เอาล่ะขอให้ทุกคนฉีกหน้านั้นออกมา เอาเลย…นี่คือศึกสงคราม เหยื่อของมันอาจเป็นจิตใจและวิญญาณของพวกเธอ กองทัพนักศึกษาจะต่อต้านการตีค่าบทกวี…

ในห้องเรียนของครู พวกเธอจะต้องเรียนรู้ที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง เธอจะเรียนรู้การลิ้มรสถ้อยคำและภาษา ไม่ว่าใครจะบอกอะไรเธอ คำพูดและความคิดความอ่านสามารถเปลี่ยนโลกได้”

สอดคล้องอีกบทเรียนที่ครูคีธติ้งชวนนักเรียนทั้งห้องออกมาเรียนที่ลานกว้าง ก่อนจะสุ่มเรียกนักเรียนสามคนออกมาเดินสวนสนามไปมาหลายรอบ เรียกเสียงโห่ร้องปนหัวเราะจากเพื่อนๆ ที่เหลือ 

“ครูไม่ได้ให้พวกเขามาเดินเพื่อให้ถูกหัวเราะเยาะ แต่ให้มาเดินเพื่อสาธิตถึงอันตรายของการทำอะไรตามกัน ความยากลำบากในการรักษาแนวคิดของตัวเองเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าคนอื่น ครูเห็นความคิดจากสีหน้าพวกเธอว่าเป็นฉันคงไม่เดินแบบนั้น ลองถามตัวเองว่าทำไมจึงปรบมือ 

เราต่างต้องการให้คนยอมรับ แต่เธอต้องเชื่อมั่นในความคิดของเธอ แม้คนอื่นจะว่ามันแปลกหรือไม่เป็นที่นิยมก็ตาม ถึงแม้ว่าทั้งกลุ่มจะบอกว่ามันห่วยแตก ครูอยากให้ทุกคนหาเส้นทางของตัวเอง เดินด้วยวิถีของตัวเองไปยังทิศทางตามใจชอบ

อะไรก็ตามที่เธอชอบ ไม่ว่าแบบทรนงหรือบ้าๆ บวมๆ จงเป็นตัวของตัวเอง ลานนี้เป็นของเธอแล้วนะ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมา แค่ทำเพื่อตัวเอง”

ผมคิดว่าการนำเข้าบทเรียนด้วยวิธีที่แหวกแนวของครูคีธติ้งเป็นการให้กำลังใจนักเรียนของเขาทางอ้อมว่าทุกคนสามารถก้าวไปสู่เส้นทางที่ฝันได้ในแบบของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องตามรอยใคร

แม้ประโยคของครูคีธติ้งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและสนับสนุนให้นักเรียนเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะคล้อยตาม โดยเฉพาะในรายของ ‘ทอดด์’ นักเรียนที่หลายคนในโรงเรียนรู้จัก เพราะพี่ชายของเขาเพิ่งเรียนจบไปไม่นานและมีดีกรีเป็นถึงนักเรียนระดับท็อปของประเทศ  

แน่นอนว่าผมเห็นตัวเองในบทของทอดด์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะการต้องอยู่ใต้เงาของพี่ชายที่เป็นศิษย์เก่าคนดังประจำโรงเรียน ทำให้พ่อแม่และครูหลายคนเกิด ‘ความคาดหวัง’ ไม่ว่ากับทอดด์หรือผม ว่าต้องกลายเป็นนักเรียนดีเด่นแบบเดียวกับพี่ชาย

ผมจำได้ว่าผมมีผลการเรียนประมาณ 3.25 แต่ผมมักถูกครูกับพ่อแม่ต่อว่าทุกครั้งที่ผลสอบออกราวกับว่าผมไม่ตั้งใจเรียน ขี้เกียจ โง่ และสารพัดคำด่า ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือแม้พ่อแม่กับครูจะไม่ได้เตี๊ยมกัน แต่แปลกมากที่พวกท่านมักปิดท้ายการตำหนิผมด้วยการ ‘เปรียบเทียบ’ กับพี่ชายเสมอ 

สำหรับผม สิ่งที่ยากลำบากที่สุดในวัยเรียนคือการแบกรับความคาดหวังและการถูกเปรียบเทียบว่าต้องเป็นเหมือนพี่ชาย เพราะถ้าวันไหนผมบังเอิญทำคะแนนได้ดี ผมก็แค่ถูกชมว่าเก่งเหมือนพี่ชาย แต่ถ้าวันไหนทำข้อสอบได้น้อย ผมก็แค่ลูกไม่เอาไหนที่ไม่หัดเอาพี่ชายเป็นแบบอย่าง และพอเป็นแบบนี้บ่อยเข้าซ้ำๆ ผมก็ไม่รู้แล้วว่าตัวตนของผมคือใครกันแน่ 

ถึงอย่างนั้นผมมองว่าทอดด์โชคดีกว่าผมตรงที่เขาได้พบกับครูคีธติ้ง เพราะครูคีธติ้งมองเห็นแววความเป็นนักกวีในตัวของทอดด์ ทั้งยังปลดล็อกสิ่งที่อยู่ในใจเขาออกมา โดยให้ทุกคนแต่งบทกวีและออกมาอ่านหน้าชั้น ซึ่งทอดด์ตั้งใจแต่งบทกวีเป็นอย่างดี แต่พอถึงเวลาเขากลับฉีกบทกวีนั้นทิ้ง เพราะคิดไปเองว่ามันไม่ดีพอ ส่งผลให้เขาไม่มีการบ้านส่งครูคีธติ้ง

“คุณแอนเดอร์สัน (ทอดด์) คิดว่าทุกสิ่งในตัวเขาช่างไร้ค่าและน่าอับอาย ใช่ไหมทอดด์ เป็นความกลัวไปเองซึ่งเธอคิดผิด ครูคิดว่าเธอมีบางอย่างในตัวที่พิเศษมากๆ”

สำหรับฉากนี้ สิ่งที่ผมชื่นชอบที่สุดในตัวครูคีธติ้ง คือการให้ความเชื่อมั่นในตัวลูกศิษย์ พร้อมกับให้โอกาสทอดด์ได้แต่งบทกวีสดๆ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่วิธีการขจัดความกลัวในใจทอดด์ ด้วยการบอกให้ทอดด์คำรามเสียงดังๆ จนทอดด์โมโห รวมถึงการจับตัวทอดด์หมุนเป็นวงกลมพร้อมกับบิลท์อารมณ์ศิลปินให้ทอดด์โพล่งบทกวีที่อยู่ในใจออกมาโดยไม่ต้องคำนึงถึงสัมผัสใดๆ ปรากฏว่าทอดด์สามารถแต่งบทกวีได้อย่างคมคายจนเพื่อนๆ ปากอ้าตาค้างไปตามๆ กัน และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทอดด์ค้นพบสิ่งที่เขาชอบ แต่ไม่เท่ากับความรู้สึกที่ทอดด์มีความมั่นใจและเริ่มเห็นคุณค่าในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงครูคีธติ้งจะพยายามพานักเรียนไปค้นพบตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง กล้าคิดท้าทายความเชื่อเดิมๆ แต่เขาก็ยืนยันและเน้นย้ำเด็กๆ ถึงความสำคัญของการรู้จักกาลเทศะ หลังจากที่นักเรียนคนหนึ่งพยายามแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการเขียนบทความโจมตีผู้อำนวยการเรื่องแนวคิดอันคร่ำครึพร้อมเสนอให้โรงเรียนชายล้วนเปิดรับนักเรียนหญิงโดยอ้างว่าเป็นสารจากพระผู้เป็นเจ้า

“แก่นแท้ชีวิตจะต้องรู้กาลเทศะ ตอนไหนควรกล้า ตอนไหนควรระวัง คนฉลาดจะเลือกใช้ถูก …การที่เธอถูกไล่ออกมันไม่ได้ทำให้ดูกล้าแต่มันดูโง่ เพราะเธอจะสูญเสียโอกาสทอง เช่นเสียโอกาสที่จะได้เรียนอยู่กับครูไงเล่า ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน”

และบทเรียนอีกบทที่มีค่ามากๆ ก็คือ การที่ครูคีธติ้งขึ้นไปยืนบนโต๊ะเพื่อชวนให้นักเรียนมองสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่กว้างและลึกไปกว่าเดิม

“โลกดูแปลกไปเมื่อเรามองจากตรงนี้ ถ้าเธอไม่เชื่อก็ขึ้นมาลองดูเองสิ มาสิ อะไรที่พวกเธอคิดว่าเธอรู้ดีแล้ว ลองมองจากอีกมุมดู แม้มันอาจดูไร้สาระแค่ไหนก็ต้องลองดู 

ทีนี้เวลาเธออ่าน อย่าไปมัวคล้อยตามความคิดของคนเขียน แต่ใช้หัวคิดของตัวเอง เธอต้องฝ่าฟันหารูปแบบของตัวเอง เพราะขืนเธอเริ่มต้นช้าเท่าไหร่ โอกาสที่จะหามันเจอก็จะยิ่งน้อยลง 

ธอโรบอกว่าคนมักใช้ชีวิตอย่างสิ้นคิด อย่าทำตามอย่างนั้น แหวกออกมา อย่าเดินตามกันต้อยๆ พากันไปลงเหว มองดูรอบๆ ด้วย กล้าออกความคิด กล้าแสดงความเห็น”

หลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ผมเชื่อเหลือเกินว่าถ้าวันนั้นผมมีครูแบบครูคีธติ้ง บาดแผลต่างๆ ในวัยเด็กของผมโดยเฉพาะเรื่องการถูกด้อยค่าจากพวกผู้ใหญ่คงถูกรักษาจนไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้จนทุกวันนี้ ผมคงเป็นเด็กที่มีความสุขสมวัยมากขึ้น มองโลกในแง่ดีมากขึ้น 

และผมก็เชื่อด้วยว่าถ้าพ่อแม่หรือครูของผมมีครูแบบครูคีธติ้ง พวกท่านคงเข้าใจได้ไม่ยากว่า เด็กทุกคนต่างมีความพิเศษในตัวเอง และปลายทางที่แท้ของการศึกษานั้นไม่ใช่เพื่อการผลิตเด็กให้ออกมาในรูปแบบเดียวกัน แต่เป็นการเจียระไนเด็กคนหนึ่งให้เปล่งประกายในแบบที่เขาเป็น

Tags:

ครูภาพยนตร์Dead Poets Society

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Movie
    Freedom Writers: ครูผู้ชวนเด็กๆ ขีดเขียนชีวิตในแบบของตัวเอง ด้วยความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิมีชีวิตที่ดี

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Time Still Turns The Pages: ขออย่าให้เด็กคนไหนต้องแหลกสลาย เพียงเพราะเขาไม่ได้อย่างใจพ่อแม่

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    OMG2: ‘เพศศึกษา’ เรื่องที่ครูไม่ได้สอน แต่กลับคอยซ้ำเติมความเชื่อผิดๆ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Social IssuesMovie
    อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง: อนาคตสีจางๆ ของเด็กไทย ในรั้วโรงเรียนที่ล้อมด้วยอำนาจและผลประโยชน์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ PHAR

  • Unique Teacher
    สื่อการเรียนมัดใจพี่ปอสอง ของ ครูน้ำนิ่ง ณัฎฐา ถมปัทม์

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

Empathy Gap: เปลี่ยนการทำร้ายกันด้วยคำพูด เป็นการเรียนรู้ผู้อื่นโดยไม่ตัดสิน
How to enjoy life
17 October 2023

Empathy Gap: เปลี่ยนการทำร้ายกันด้วยคำพูด เป็นการเรียนรู้ผู้อื่นโดยไม่ตัดสิน

เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • คำบางคำที่พูดออกไป คนหนึ่งอาจมองว่าเป็นเพียงคำธรรมดาๆ หรือแค่แซวเล่นเฉยๆ แต่กลับทำให้อีกคนรู้สึกเจ็บปวดหรือทำร้ายจิตใจอย่างมาก นั่นเป็นเพราะ ‘Empathy gap’
  • Empathy gap หมายถึงการที่ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกหรือประสบการณ์ของบุคคลอื่น เนื่องจากความแตกต่างทางด้านอารมณ์ สังคม และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน
  • การพูดแรงๆ พูดตรงๆ ไม่ได้ทำให้คนฟังจำและนำไปปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น แต่คำพูดนั้นอาจฝังอยู่ในใจคนฟังและกลายเป็นบาดแผลที่ยากจะรักษาให้หาย ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปเราจึงต้องปรับมุมมองของตัวเอง ก่อนที่คำพูดนั้นจะไปทำร้ายผู้อื่น

“แซวเล่นเฉยๆ”

“แค่พูดเล่น คิดมากไปหรือเปล่า”

เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเคยผ่านความรู้สึกเจ็บปวดจากคำพูดของคนอื่น ที่เมื่อฟังแล้วเหมือนถูกมีดแทงตรงกลางใจ หรือเหมือนโดนตบหน้าแรงๆ โดยที่ผู้พูดอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่สำหรับผู้ฟังแล้วแม้จะตบท้ายด้วยการบอกว่า “แซวเล่น” หรือ “ล้อเล่น” ก็ไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกดีขึ้น ซึ่งในทางตรงกันข้าม บางครั้งเราเองก็อาจเป็นคนที่มอบความเจ็บปวดนั้นให้กับคนอื่นด้วยคำพูดด้วยเช่นกัน

แล้วทำไมคำพูดที่คนหนึ่งมองว่าเป็นเพียงคำธรรมดาๆ หรือแค่แซวเล่นเฉยๆ กลับทำให้อีกคนรู้สึกเจ็บปวดหรือทำร้ายจิตใจอย่างมาก? 

แน่นอนว่าไม่ได้มาจากความรุนแรงของถ้อยคำที่ถูกสื่อสารออกมาอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และมุมมองของแต่ละคนที่แตกต่างกันในแต่ละเรื่อง 

เราต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตไม่เหมือนกัน  ซึ่งความแตกต่างนี้นำมาสู่ความไม่เข้าใจ หรือ ‘Empathy gap’ ที่หมายถึงการที่ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกหรือประสบการณ์ของบุคคลอื่น เนื่องจากความแตกต่างทางด้านอารมณ์ สังคม และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน

ในเวทีเสวนา ‘Fill in the blank เติมเต็มช่องว่างระหว่างใจ’ ที่จัดขึ้น ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดร.มุก – กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน นักจิตวิทยาคำปรึกษา และ CEO เพจ ME HUG ชวนปรับมุมมองและทำความเข้าใจ Empathy gap เพื่อลดการตัดสินและทำร้ายผู้อื่นผ่านคำพูด 

ดร.มุก – กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน นักจิตวิทยาคำปรึกษา และ CEO เพจ ME HUG

ทําไมคำบางคำที่พูดออกไป แต่ละคนรู้สึกไม่เหมือนกัน

‘กฎของกระจก’ (ชีวิตคือกระจกส่องสะท้อนจิตใจของเรา) สามารถอธิบายว่า ทําไมเราถึงเจ็บปวดกับคำบางคํา เพราะจริงๆ แล้ว ตัวเราเองเป็นคนที่ยิงคําพวกนี้ใส่ตัวเองโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ดังนั้นเวลาที่คนอื่นพูดมา แม้บทสนทนาจะมีสัก 100 คำ แต่เราก็จะไปโฟกัสเฉพาะคําที่แทงใจเรา หรือคําที่เรายิงใส่ตัวเองเสมอ จึงทำให้เจ็บปวดมาก เพราะสิ่งนี้ตรงกับสิ่งที่เราคิดว่าตัวเราเป็น 

“ธรรมชาติของมนุษย์ ชอบไปโฟกัสกับสิ่งที่ไม่ดี ยิ่งเราอยู่ในโลกของโซเชียล แล้วทุกอย่างมันเป็นในแง่ลบตลอดเวลาเลยทำให้เรามีจิตใจที่หมกมุ่นกับคำลบๆ และประสบการณ์ทางลบนั้น

สิ่งที่เราทํางานกับตัวเองในฐานะนักจิตวิทยาคือ ต้องกลับมาสํารวจความเป็นจริง ว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นจริง ก็จะได้กลับมาบอกตัวเองได้ว่ามันไม่ใช่ เพราะสุขภาพจิตก็เหมือนสุขภาพร่างกาย ถ้าในวันที่เราอ่อนแอ ภูมิต่ำ เราก็จะติดเชื้อโรคได้ง่าย สิ่งที่เราทําได้คือเราต้องออกกําลังใจแข็งแรง

แต่ถ้าในกรณีที่เราเผลอไปพูดทำร้ายใครโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะคนที่เรารัก ยิ่งถ้าเรารู้ว่าเขารักเรา เราก็จะกล้าทำ เพราะเราเชื่อว่าทำไปเขาก็ยังอยู่กับเราไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แต่ว่าถ้าเรารู้ตัวแล้วว่าเราทำร้ายเขา สิ่งที่เราทําได้คือ ต้องกล้าที่จะเยียวยาเขา กล้าที่จะรับผิดชอบ และต้องหยุดสังเกตสีหน้าท่าทางปฏิกิริยาเขาเสมอ” 

ดร.มุก แนะนำว่าหากเผลอพูดไปแล้ว หรือปกติเป็นคนพูดไม่คิด ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเอง โดยมีเคล็ดลับคือ หากจะพูดอะไรออกไป ให้นำคําพูดนั้นไปคิดในใจก่อนสัก 5 วินาที ว่าควรพูดออกไปหรือไม่ เพราะมองว่าสิ่งที่จะช่วยชะลอการพูดทำร้ายคนอื่นได้คือการมีสติ รู้เท่าทันตัวเอง

“เราต้องตระหนักรู้ก่อนว่า ตอนนี้เรากําลังตัดสินเขาอยู่หรือเปล่า และถ้าพูดออกไปแล้วเป็นเรื่องที่ดีก็พูดเลย แต่ถ้าพูดแล้วกลายเป็นลบ ก็ไม่ควรพูด เก็บไว้ในใจดีกว่า” 

ทุกคนสามารถเติบโตอย่างมีความสุขได้ โดยไม่จำเป็นต้องถูกเฆี่ยนตี

หลายคนอาจเข้าใจผิด และมองว่าการพูดแรงๆ หรือพูดตรงๆ นั้นจะทำให้คนฟังจำและนำไปปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน คำพูดนั้นอาจฝังอยู่ในใจของคนฟังและกลายเป็นบาดแผลที่ยากจะรักษาให้หาย ดังนั้นก่อนที่เราจะพูดอะไรออกไปเราต้องปรับมุมมองของตัวเอง ก่อนที่คำพูดนั้นจะไปทำร้ายผู้อื่น

“เรามองว่า No Pain, No Gain ไม่จริง บางคนบอกว่าต้องเจ็บปวดก่อนถึงจะเติบโต ซึ่งไม่จริงเลย นั่นเป็นความเชื่อโบราณ วิธีการที่จะเติบโตที่ดีคือ การที่สามารถเติบโตไปในทิศทางบวกได้โดยไม่จําเป็นต้องเจ็บปวดก่อน ไม่จําเป็นต้องตี ให้เจ็บแล้วถึงจะจํา

ถ้าเราอยากจะส่งต่อความสุขให้กับผู้อื่น ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนตัวเอง จาก Fighter ที่ทิ่มแทงคนอื่น เป็น Learner ที่เรียนรู้ผู้อื่น เพราะเราทุกคนอยู่บนโลกที่มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นสังคม วัฒนธรรม การเมือง จริงอยู่ที่ความแตกต่างจะมีอยู่ทั่วโลก แต่เราต้องหาจุดที่อยู่ร่วมกันได้ หาความเหมือนและจุดร่วมกับผู้อื่น แล้วเราจะเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นผ่านการสังเกต และพยายามสร้างความเข้าใจบนพื้นฐานประสบการณ์ของเขา    

การเป็น Learner คือการฝึกทําตัวเป็นนักสืบ รู้จักสังเกตก่อนตัดสินว่าที่มาที่ไป และเหตุผลของสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และต้องระลึกไว้ในใจว่า เราทุกคนเติบโตมาแตกต่างกัน แล้วเมื่อเราตระหนักสิ่งนี้ได้แล้ว เราจะหาความสุขได้”

ซึ่ง ดร.มุกมองว่าวิธีที่เราจะหยุดการส่งต่อความเจ็บปวดสู่ผู้อื่นนั้น เราต้องรู้เท่าทันตัวเองก่อนว่าเรามีทัศนคติต่อคนหรือเรื่องราวตรงหน้าอย่างไร เพื่อที่จะชะลอการตัดสิน

“การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด ถ้าเรารู้ว่าเรามีดีเรื่องอะไร หรือมีข้อเสียอะไร ก็จะทําให้เราพัฒนาได้ไกล ดังนั้นเมื่อเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเราคิดไม่ดีกับคนนี้ เราต้องรู้เท่าทันตัวเองว่าจะสามารถพลิกความคิดนั้นได้ยังไงบ้าง แล้วปรับมุมมองใหม่ เข้าใจเขาให้มากขึ้น

แต่มีวิธีหนึ่งคือ การหลอกสมองตัวเองไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าเคยเป็นคนที่ไม่ชอบวิ่งเลย ไม่ชอบออกกําลังกาย แต่ถ้าไปออกกําลังกายเรื่อยๆ สมองก็จะค่อยๆ โดนหลอกไปเรื่อยๆ เหมือนจะเป็นคอนเซ็ปต์ที่เบสิกๆ นะ แต่ว่ามันทําได้จริงๆ อยากให้ทุกคนลองทําดู พอทำไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย เช่นเดียวกับการปรับมุมมองทัศนคติและการสร้างความสุขให้กับตัวเอง ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆ ปรับได้ในที่สุด

เพราะถ้าเราสร้างความสุขให้ตัวเองไม่ได้ อย่าไปคาดหวังว่าเราจะทําให้คนอื่นได้ เพราะเรายังไม่สามารถมีประสบการณ์นั้นเลย และเราจะไปคาดหวังให้คนตรงหน้ามีความสุขได้ยังไง” 

‘การรักตัวเอง’ เกราะกำบังทุกคำพูดทิ่มแทงหัวใจ

ถ้าเราเห็นคุณค่าของตัวเอง รักตัวเอง สิ่งนี้จะกลายเป็นเครื่องมือสําคัญที่จะช่วยป้องกันสิ่งร้ายๆ ที่พุ่งเข้าหาเรา เพราะหากเรารักตัวเองมากพอ เราจะไม่อนุญาตให้อะไรมาทําร้ายเรา ไม่ว่าจะเป็นคน หรือแม้กระทั่งคําพูดก็ตาม 

“เราสามารถเริ่มต้นการรักตัวเองด้วยการพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ท่ามกลางคนที่มีความคิดทางบวก เป็น Positive Environment เพราะทัศนคติของเราเกิดจาก You are what you eat กินอะไรเป็นเช่นนั้น อะไรก็ตามที่เราเสพ ไม่ว่าจะผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันถูกซึมเข้าตัวเราทั้งหมด เราเลือกได้ว่าเราอยากจะซึมซับอะไรเข้ามา”

พร้อมกันนี้ ดร.มุก ได้ฝากโครงการหนึ่งของเพจ ME HUG คือ ‘โครงการอาสาโอบใจ’ ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นที่ปรึกษา เป็นเพื่อนคอยสำรวจจิตใจและช่วยให้คนที่เข้ามาปรึกษากลับมาโอบกอดตัวเอง รวมถึงเรียนรู้ที่จะรักตัวเองได้อีกครั้ง 

เพราะปกติแล้วเวลาที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น เรามักจะไปโฟกัสกับความเจ็บปวด แต่หากเรายังรักตัวเองมากพอ ก็ให้ลองมองว่า ของขวัญที่ได้รับจากความเจ็บปวดนี้คืออะไร เพราะจะมีของขวัญพิเศษบางอย่างที่มากับสิ่งนั้นเสมอ

“ไม่มีสิ่งใดบนโลกใบนี้ที่เกิดมาแล้วไม่มีประโยชน์ ต่อให้สัตว์ที่เป็นพิษ หรือแมลงสาบ ก็มีเหตุผลของการมีอยู่ของมันเสมอ ดังนั้นทุกๆ ความเจ็บปวด ทุกๆ ความป่วย หรือ ทุกๆ ความไม่ชอบของเรา ก็จะมอบของขวัญอะไรบางอย่างให้เราเสมอ เพียงแค่เราไม่เคยมองเห็นมันเท่านั้นเอง

บางคนที่เขาป่วยเป็นโรคต่างๆ กลับมีชีวิตยืนยาวกว่าคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงหลายคนด้วยซ้ำ ของขวัญของคนที่รู้ตัวเองว่าป่วยคือ เขาจะไม่ประมาทในการดําเนินชีวิต จะรู้ว่าชีวิตของเขามีคุณค่าและมีความสุขแค่ไหน”

ดร.มุกทิ้งท้ายสำหรับการตามหาความสุขในชีวิตว่า จริงๆ แล้วก็มีความสุขนั้นไม่ได้ยาก แต่หากเราหาความสุขในชีวิตไม่เจอก็ลองเริ่มต้นจากการทำอะไรก็ได้ให้สำเร็จ แม้สิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยมากก็ตาม

“ลองกลับบ้านไปโน้ตดูว่าตัวเองมีความสุขในการประสบความสําเร็จเรื่องอะไรบ้าง โดยที่ความสําเร็จไม่ต้องใหญ่เลยก็ได้ แค่เราทํากับข้าวกินเอง ตื่นแปดโมงเช้า แค่นี้ก็ถือว่าเราสำเร็จแล้ว แล้วค่อยๆ เรียนรู้กับความสําเร็จนี้ไปเรื่อยๆ 

ถ้าความสําเร็จเล็กๆ ทําให้เรามีความสุขได้ พอเราประสบความสําเร็จใหญ่ๆ ก็จะทำให้เรามีความสุขมากไปอีก เพราะฉะนั้นเราว่าเรียนรู้ความสำคัญของความสําเร็จเล็กๆ ให้ได้ก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปยังความสุขที่ใหญ่ขึ้น”

Tags:

การเติบโตถ้อยคำทำร้ายจิตใจการเยียวยาการตัดสินEmpathy Gapดร.มุก - กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน

Author:

illustrator

กนกพิชญ์ อุ่นคง

A girl who aspires to live like a yacht floating on the ocean, a dandelion fluttering over the heather, a champagne bursting in party.

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • How to enjoy life
    เปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ในชีวิต(ที่เรารับมือได้)ให้กลายเป็นแรงขับดัน

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Matilda The Musical: เมื่อโลกไม่เข้าข้าง เราต้องยืนหยัดเพื่อตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear ParentsMovie
    Soul: การตามหาแพชชัน ความฝัน และบอกว่าไม่มีใครอยากกลายเป็นคนที่ Lost soul

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear Parents
    “จะยังรักเหมือนเดิมไหมหากฉันไม่ใช่ลูกสาวอย่างที่ท่านคิด” ขอพื้นที่ส่วนตัวค้นหา(เพศ)ตัวเอง

    เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

  • Learning Theory
    WILLING, FEELING, THINKING คือพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่วัย 0-21 ปี

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ บัว คำดี

พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ ปล่อยวางความคาดหวังแล้วหันมา ‘ใจดีกับตัวเอง’ 
Book
11 October 2023

พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ ปล่อยวางความคาดหวังแล้วหันมา ‘ใจดีกับตัวเอง’ 

เรื่อง อัฒภาค

  • หนังสือ ใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้ เขียนโดย หมอจริง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่ทำงานในสหรัฐอเมริกา (สำนักพิมพ์ DOT) คุณหมอตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่ใจร้ายกับตัวเองได้ก้าวออกจากวังวนของการต่อว่าและโทษตัวเอง ผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงผสมผสานกับงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ

ผมไม่เห็นด้วยกับมายาคติที่ว่า ‘พ่อแม่คือพระอรหันต์ของลูก’ 

สาเหตุที่ผมไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะผมเกลียดหรือไม่เคารพพ่อแม่ แต่เป็นเพราะคำๆ นี้ เปรียบเหมือนกับ ‘มีด’ ที่สังคมหยิบยื่นให้กับคนเป็นพ่อเป็นแม่

แม้พ่อแม่ส่วนมากจะใช้มีดเพื่อประกอบอาหารให้ลูกบ้าง ปกป้องลูกบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่ลูกทุกคนจะโชคดีแบบนั้น เพราะพ่อแม่บางคนก็ใช้มีดในทางที่ผิดและมักกวัดแกว่งมีดตามจังหวะอารมณ์จนเผลอสร้างรอยแผลแก่ลูกโดยไม่รู้ตัว

เมื่อสังคมติดกระดุมเม็ดแรกผิดด้วยการกำหนดสถานะอันสูงส่งเกินไปให้กับพ่อแม่ โดยลืมคิดไปว่าพ่อแม่เองก็เป็นปุถุชนมีรักโลภโกรธหลงและไม่ใช่ว่าทุกคนที่เปลี่ยนสถานะมาเป็นพ่อแม่แล้วจะใจเย็น มีเมตตา และเข้าอกเข้าใจลูกได้ทุกคน

ขณะเดียวกันพอสังคมสร้างพ่อแม่ในอุดมคติขึ้นมา ฝั่งลูกๆ เองก็ย่อมเกิดความคาดหวังว่าพ่อแม่ต้องมีเมตตาแบบพระอรหันต์เช่นกัน

ดังนั้น หากใครมีพ่อแม่ที่ประพฤติตนดั่งพระอรหันต์ของลูก ผมขอแสดงความยินดีจากใจจริง แต่ถ้าพ่อแม่ของคุณมักใช้อารมณ์นำเหตุผล ผมในฐานะลูกผู้มีวัยเด็กที่ไม่น่าประทับใจนักอยากแชร์ข้อคิดดีๆ ที่ได้รับจากหนังสือ ‘ใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้’ ของหมอจริง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่ The Queen’s Medical Center รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะไม่ได้ช่วยให้ผมหายทุกข์จากบาดแผลในวัยเด็กได้ทั้งหมด แต่มันก็ช่วยให้ผมเข้าใจพ่อกับแม่ของผมมากขึ้นในฐานะพ่อแม่ที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

ในบางบทหมอจริงเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ บทที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษมีชื่อว่า ‘เมื่อเป็นผู้ใหญ่ เราเริ่มเรียนรู้ที่จะปล่อยความคาดหวังต่อพ่อแม่ไป’

หมอจริงชวนให้เราเปิดใจเผชิญหน้ากับความรู้สึก รวมถึงชวนให้ลองปิดสวิตช์ความเป็นตัวเองชั่วคราว เพื่อมองพ่อแม่ในมุมที่พ่อแม่เป็น

“ด้วยความที่พ่อแม่เติบโตขึ้นมาคนละยุคสมัยกับเรา ความคิด ทัศนคติ การมองโลกนั้นย่อมมีความต่างกันไม่มากก็น้อย พ่อแม่บางคนโตมาด้วยคำพูดดูถูก ก็ใช้คำพูดดูถูกเพื่อหวังให้ลูกนำมาเป็นแรงผลักดัน แต่อาจมีพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจว่าคนเรานั้นไม่เหมือนกัน คำพูดดูถูกถากถาง อาจเป็นแรงผลักดันสำหรับเขา แต่อาจเป็นคำพูดทิ่มแทง เหมือนมีดที่กรีดลงไปกลางใจของลูกก็ได้”

หลังอ่านประโยคนี้ ผมพยายามลองมองพ่อของผมในมุมที่เข้าข้างพ่อมากที่สุด ผมพบว่าพ่อของผมเองก็เคยเป็นเด็กที่ ‘น่าเห็นใจ’ ไม่ต่างอะไรกับผม

พ่อเกิดมาในครอบครัวที่ปู่เป็นดั่งเผด็จการสูงสุด ปู่มักใช้ความเด็ดขาดรุนแรงในการปกครอง ซึ่งแน่นอนว่าหากพ่อของผมฝ่าฝืนคำสั่งหรือทำให้ปู่ไม่พอใจ จุดจบของพ่อย่อมหนีไม่พ้นการถูกทำร้ายร่างกายหรือไม่ก็ถูกลากมาด่าต่อหน้าคนเยอะๆ จนอับอายขายหน้า ดังนั้นพ่อของผมจึงเรียนรู้เอาตัวรอดด้วยการปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่หือ ไม่เถียง ไม่ตั้งคำถาม และนั่นดูจะทำให้ชีวิตพ่อราบรื่นตราบจนปู่สิ้นลม

เมื่อพ่อเติบโตมาแบบนี้ ทั้งยังได้ดีจากการปฏิบัติตามคำสั่งของปู่ พ่อจึงนำโมเดลการเลี้ยงลูกของปู่มาใช้กับผม เพราะพ่อเชื่อด้วยใจจริงว่าวิธีนี้จะทำให้ผมได้ดีเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม หมอจริงบอกว่าในกรณีที่ผู้ใหญ่บางคนไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรัก เมื่อผู้ใหญ่เหล่านั้นได้มาเป็นพ่อคนแม่คนอาจไม่สามารถแสดงความรักได้อย่างที่เขาตั้งใจ เพราะไม่มีใครเคยกอดเขา ปลอบเขา อยู่กับเขายามที่มีความทุกข์ ดังนั้นหนทางที่เราจะลดความเจ็บปวดในอดีตจึงไม่ใช่การรอให้พ่อแม่มาเปิดใจขอโทษเพราะเป็นไปได้ว่าพ่อแม่อาจลืมไปแล้วหรือไม่ก็ละอายเกินกว่าจะพูดมันออกมา แต่เป็นการที่เราปล่อยวางความคาดหวังต่อพ่อแม่เพื่อความสุขของตัวเราเอง 

“ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสามารถปรับความเข้าใจได้ เพราะพ่อแม่บางคนอาจไม่ยอมรับฟัง หรืออาจอยากแก้ต่างพฤติกรรมของตัวเองในอดีต เพราะเราก็มีหน้าที่ดูแลจิตใจของเรา ส่วนพ่อแม่ก็มีหน้าที่ดูแลจิตใจของเขา เราอาจต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่ไม่จำเป็นต้องคาดหวังซึ่งกันและกัน 

และไม่ว่าสุดท้ายแล้ว เราจะได้พูดกับพ่อแม่ถึงบาดแผลที่ท่านได้ทำไว้หรือไม่ การเยียวยาก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการมองพ่อแม่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และปล่อยความคาดหวังที่เราอยากให้เขาเป็นออกไป”

Tags:

การเลี้ยงดูจิตแพทย์กตัญญูพ่อแม่หนังสือลูก

Author:

illustrator

อัฒภาค

Related Posts

  • Book
    วันนั้นฉันเจอเพนกวิน: อย่าปิดกั้นจินตนาการของเด็กด้วยคำว่า ‘เพ้อฝัน’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Dear ParentsMovie
    Survival of the thickest – แด่ผู้รอดชีวิตจาก toxic parents

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  •  The Road: ถึงโลกล่มสลาย…แสงสว่างยังอยู่ในใจเธอเสมอ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Dear ParentsMovie
    Stutz: เปิดอกสื่อสารออกไป ให้หัวใจได้บำบัด

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear ParentsBook
    โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก: โลกร้ายกาจอาจไม่ทำลายคน ความเดียวดายต่างหาก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร”
How to enjoy life
10 October 2023

Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร”

เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • หากคุณมีคำถามลอยเข้ามาในหัวว่า “ฉันเกิดมาเพื่ออะไร” “ชีวิตมีความหมายอะไร” “ถ้าฉันตายไปแล้วจะมีอะไรต่างไปหรือ” และเกิดความทุกข์หนักเพราะตอบคำถามนี้ไม่ได้ นั่นคือกำลังตกอยู่ใน ‘วิกฤตของการมีตัวตน (Existential Crisis)’ หากเรื้อรังเข้าก็อาจจบด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีเหตุผลหรือคุณค่าใดๆ ที่ควรจะให้ตนทนใช้ชีวิตต่อไป
  • ไม่ว่าจะงานหรือความสัมพันธ์อาจเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ถือเป็นคุณค่าหลักๆ ของชีวิต แต่ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องคิดว่าสิ่งเหล่านั้นคือคุณค่าของชีวิต ประเด็นสำคัญคือการหาเป้าหมายและสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ชีวิตของตนให้ได้
  • บางคนที่รู้สึกว่าชีวิตไร้ซึ่งความหมายและคุณค่า หมดศรัทธากับสิ่งที่เคยเชื่อว่ามันคือความหมายของชีวิต แนวทางของปรัชญา Existentialism ที่บอกว่าทุกคนต้องตามหาความหมายด้วยตนเอง ไม่มีความหมายใดที่ถูกหรือไม่ผิด ไม่มีคุณค่าใดที่ตายตัว อาจจะเป็นแนวทางที่ช่วยเหลือได้ดีกว่า

ใครๆ ก็คงมีคำถามที่ติดค้างคาใจตอบตัวเองไม่ได้เสียทีกันอยู่บ้าง หรือที่เรียกกันว่า ‘ปัญหาโลกแตก’ ที่คงไม่มีใครตอบได้ วันนี้ผมจะมาชวนพูดถึงปัญหาโลกแตกอีกคำถามหนึ่งที่ อาลแบร์ กามูว์ นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า

“มีคำถามทางปรัชญาหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เป็นคำถามที่จริงจังมาก และนั่นคือเรื่องการฆ่าตัวตาย การตัดสินว่าชีวิตควรค่าแก่การอยู่ต่อหรือไม่นั้นมีค่าเท่ากับการตอบคำถามปรัชญารากฐาน”

กามูว์พยายามเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของคำถามว่า “ฉันจะอยู่เพื่ออะไร” หรือ “จะมีชีวิตต่อไปทำไม” เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดแล้วของปรัชญา เพราะถ้ามนุษย์เราตอบคำถามนี้ไม่ได้ มนุษย์ก็อาจจะไม่มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลก และอาจจะตัดสินใจจบชีวิตไปก่อนที่จะได้ตั้งคำถามอื่นๆ ด้วยซ้ำ

คำถามนี้บางคนก็คิดว่าเป็นแค่คำถามที่ไม่รู้จะคิดไปทำไมให้เสียเวลา บางคนก็คิดหาคำตอบจริงจัง บางคนถึงขั้นที่หมกมุ่นกับการที่ตอบคำถามนี้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ชีวิตนี้มีค่าอะไรกัน และตามมาด้วยความเศร้า สิ้นหวัง หรือวิตกกังวลจนชีวิตถึงขั้นวิกฤต และวิกฤตนี้มีชื่อว่า ‘Existential Crisis’ ชื่อนี้อาจจะพอคุ้นๆ หูหากท่านเคยอ่านนิยาย ดูภาพยนตร์หรือซีรีส์ของตะวันตก หรืออ่านบทความเกี่ยวกับสังคมและสุขภาพจิตเป็นภาษาอังกฤษ ในสังคมไทยไม่ค่อยมีคนแปลชื่อวิกฤตนี้นัก แต่อาจจะพอเรียกได้ว่า ‘วิกฤตของการมีตัวตน’ วิกฤตนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและพบได้บ่อยมากๆ ไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมไหน และเกิดกับคนทุกวัยที่จะมีคำถามลอยเข้ามาในหัวว่า “ฉันเกิดมาเพื่ออะไร” “ชีวิตมีความหมายอะไร” “ถ้าฉันตายไปแล้วจะมีอะไรต่างไปหรือ” และเมื่อใดที่เกิดความทุกข์อย่างสาหัสเพราะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ นั่นคือกำลังตกอยู่ในวิกฤตดังกล่าว ที่วันนี้ผมมาชวนคุยเรื่อง Existential Crisis ไม่ใช่เพราะว่าคำนี้มันดูน่าสนใจเท่านั้นนะครับ แต่เพราะปัญหาการฆ่าตัวตายนั้นเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงในสังคมขึ้นทุกวัน ผมเลยขอชวนท่านผู้อ่านมาคุยกันว่าแล้วชีวิตนี้อยู่ไปเพื่ออะไรกัน

Existential Crisis เป็นคำที่เกิดมาหลังจากความแพร่หลายของปรัชญา “Existentialism (อัตถิภาวนิยม)” ในสังคมตะวันตก ปรัชญาดังกล่าวศึกษาเกี่ยวกับความหมายของการมีตัวตนของมนุษย์ว่ามีวัตถุประสงค์ใด มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร การมีชีวิตนั้นมีค่าอะไร นักปรัชญา Existentialism ให้ความสำคัญกับหัวข้อการฆ่าตัวตายเป็นพิเศษ เพราะการฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่ย้อนแย้งอย่างยิ่ง เพราะหากความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตมนุษย์ และสิ่งที่มนุษย์กลัวทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมที่ทำให้ตนต้องตายทั้งสิ้น แล้วทำไมมนุษย์บางคนถึงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อหนีความทุกข์ที่น่ากลัวน้อยกว่า และคำตอบก็คือเพราะการมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีเป้าหมาย ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร ไม่รู้ว่าชีวิตมีค่าอะไรเป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส 

มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์ที่มีความคิด และเรามักจะหาเหตุผลว่าเราทำสิ่งต่างๆ ไปเพราะอะไร การมีชีวิตอยู่ต่อไปก็เช่นกัน ทำไมเราถึงต้องมีชีวิตอยู่ต่อ แม้อาจจะฟังดูแปลกสำหรับหลายๆ คนว่าการจะมีชีวิตต่อไปต้องมีเหตุผลด้วยหรือ แต่การจะอยู่ต่อไปอีกหนึ่งวันนั้นกับบางคนแล้วเป็นเรื่องที่หนักหนาพอสมควร บางคนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อเอาตัวรอด หรือต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยทางกายหรือใจ และนั่นก็มักจะนำไปสู่การถามถึงความหมายของการมีชีวิต ว่าตัวเองจะอยู่ไปทำไม จะทนไปทำไม ชีวิตมีค่าพอกับการให้ทนทุกข์มีชีวิตอยู่ต่อหรือไม่ และถ้าหากคิดแล้วยังหาความหมายให้ชีวิตไม่ได้ ก็จะตามมาด้วยความรู้สึก ‘โหวง’ ว่างเปล่า ไร้ค่า ไม่มีทิศทางที่จะเดินต่อไป และหากวิกฤตดังกล่าวเรื้อรังเข้า ก็อาจจะจบด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีเหตุผลหรือคุณค่าใดๆ ที่ควรจะให้ตนทนใช้ชีวิตต่อไป 

Existential Crisis เกิดได้กับคนหลากหลายวัย แตกต่างจาก ‘Midlife Crisis’ ที่เป็นวิกฤตอีกประเภทที่เราได้ยินบ่อยๆ  ซึ่งมักจะเกิดกับวัยกลางคนเป็นหลัก สองอย่างนี้อาจจะฟังดูเป็นวิกฤตเกี่ยวกับคุณค่าในชีวิตคล้ายๆ กัน แต่ก็มีความแตกต่างกันตรง Midlife Crisis จะเน้นเกี่ยวกับภาวะที่ไม่พอใจหรือรู้สึกไม่เพียงพอกับสิ่งที่เป็นอยู่ เช่น ไม่พอใจกับงานที่ทำ ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ หรือความรักก็ดูแห้งแล้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะเห็นชัดเจนตอนวัยกลางคนพอดี (อ่านเพิ่มเติมในบทความ Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต) ส่วน Existential Crisis นั้นจะเน้นเกี่ยวกับการตอบตนเองไม่ได้ถึงคุณค่าของชีวิต และการมีชีวิตต่อ ซึ่งวิกฤตนี้เกิดได้กับคนหลากหลายวัย และรูปแบบของคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตจะแตกต่างกันไป

ในวัยรุ่นซึ่งเป็นเพิ่งมีอิสระครั้งแรกในชีวิต วัยนี้อาจจะคิดถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนเองจะทำในอนาคต หาเป้าหมายและทิศทางให้แก่ชีวิตของตนไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเรียนต่อ หรือสายอาชีพที่จะทำ หากตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะเรียนหรือจะทำอะไรที่ดูแล้วมีค่าในสายตาตนเอง ก็อาจจะไม่มีเป้าหมายชีวิตและเกิดวิกฤตได้ หรือบางคนที่ต้องสูญเสียคนรอบตัวไปอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะบุคคลที่จากไปก่อนวัยอันควร อาจทำให้เห็นว่าชีวิตของมนุษย์นั้นเปราะบางและสูญเสียไปง่ายเพียงใด และทำให้ต้องคิดถึงความหมายของชีวิตที่อาจจะสั้นอย่างคาดไม่ถึง

ในวัยผู้ใหญ่จะเริ่มคิดถึงว่างานหรือสิ่งต่างๆ ที่ตนทำในปัจจุบันมีค่าหรือไม่ รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่ อย่างเช่นความสัมพันธ์นั้นมีความหมายใดๆ กับชีวิต ครอบครัวหรืองานคือคำตอบให้ตนเองมีชีวิตอยู่ต่อไปจริงหรือ บางคนอาจจะต้องตัดสินใจเผชิญหน้ากับเพศวิถีของตนเองว่าตนควรจะต้องมีชีวิตในแบบเพศใด หรือมีคู่รักเป็นเพศใดที่จะทำให้ตนรู้สึกว่าตัวเองและความรักมีค่า หรือหากต้องอยู่เป็นโสดและไม่มีครอบครัวแล้วจะมีสิ่งใดที่ถือเป็นความหมายของชีวิต

ในบั้นปลายชีวิต วัยที่ต้องเริ่มเผชิญหน้ากับความตายที่ใกล้เข้ามา คนมักจะนึกถึงคุณค่าของอดีตที่ตนใช้ชีวิตผ่านมา สิ่งที่ตนเองเคยทำในชีวิตนี้มีค่าเพียงใด ได้ทำอะไรที่มีความหมายเหลือไว้ให้โลกหรือคนรุ่นหลังหรือไม่ การที่ใช้ชีวิตมาจนแก่ชรามีความหมายใดๆ แม้แต่ละวัยคำถามอาจจะมาในรูปแบบต่างกัน แต่โดยหลักๆ แล้ว Existential Crisis จะเกิดขึ้นหากตอบคำถามที่ทำให้ตัวเองมีคุณค่าไม่ได้ หรือหาเป้าหมายของชีวิตไม่ได้

จริงๆ แล้วเรื่องการหาคุณค่าของชีวิตนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมมนุษย์ครับ ปรัชญาเก่าแก่ที่ตอบคำถามเรื่องนี้ที่เราคุ้นเคยกันดีคือศาสนา ซึ่งแต่ละศาสนาก็มักจะมีคำตอบมาว่ามนุษย์นั้นเกิดมาเพื่ออะไร เช่น เกิดมาเพื่อใช้กรรม เพื่อไถ่บาป เพราะพระเจ้ากำหนดให้เกิดมา หรือชีวิตจะมีค่าได้อย่างไร เช่น ต้องทำดี ทำบุญ ทำพิธีกรรม หรือทำสิ่งหนึ่งๆ ที่กำหนดไว้ แต่ในปรัชญาเชิงวิชาการในหัวข้อดังกล่าวเริ่มมามีบทบาทสำคัญในสังคมตะวันตกจนเกิดเป็นชื่อ ‘Existentialism’ ก็คือในช่วงราวๆ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มมีวรรณกรรมและปรัชญาที่ใคร่ครวญถึงความหมายชีวิต และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความสนใจในแวดวงปรัชญา

  จนขึ้นศตวรรษที่ 20 ก็เกิดหนึ่งในเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่ส่งผลให้ Existentialism ได้รับความสำคัญก็คือ การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ความตายนั้นใกล้ตัวบุคคลมากเหลือเกิน สงครามสร้างความสูญเสีย โศกเศร้า และความหวาดกลัว นักปรัชญาจำนวนมากในยุโรปได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างชาวยิวของนาซี ซึ่งการได้ใกล้ชิดกับความตายของคนรอบตัวหรือการที่ตนเองอาจจะต้องตายในเร็ววัน ทำให้นักปรัชญาหลายๆ คนเริ่มใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิต และนั่นเป็นจุดกำเนิดของนักปรัชญาและแนวคิดทาง Existentialism ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก

ตัวอย่างของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง เช่น วิกเตอร์ แฟรงเคิล (1905-1997) จิตแพทย์ชาวยิว-ออสเตรีย ผู้เคยอยู่ในค่ายกักกันของนาซี เขาได้สังเกตสิ่งที่น่าสนใจคือที่ค่ายมีการฆ่าตัวตายสูงมาก ทั้งๆ ที่สักวันผู้ถูกกักกันก็จะถูกฆ่าอยู่ดี ดังนั้นจะชิงลงมือฆ่าตัวตายก่อนทำไม แฟรงเคิลจึงพบว่ามนุษย์เราอยู่ไม่ได้หากอยู่ในภาวะที่ตอบตนเองไม่ได้ว่าชีวิตมีความหมายอะไร ชีวิตในค่ายกักกันนั้นไม่มีจุดหมาย ไม่มีคุณค่าใดๆ เพียงแต่มีลมหายใจอย่างทรมานไปวันๆ ซึ่งนั่นเป็นภาวะที่ตายเสียยังจะดีกว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งหนึ่งอย่างของมนุษย์คือ การหาความหมายของชีวิตให้พบ

ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (1905-1980) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เสนอว่ามนุษย์นั้นมีข้อได้เปรียบตรงมีอิสระในการกำหนดชีวิตตนเองก็จริง แต่อิสระดังกล่าวก็คือภาระอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่ต้องเลือกทุกสิ่งเอง และอิสระนี้สร้างความกลัว ความวิตกกังวล และความทุกข์ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะไม่รู้ว่าควรจะทำอะไร ต้องใช้ชีวิตแบบไหน ไม่มีใครกำหนดหรือบอกไว้เลยว่าการทำสิ่งใดถึงจะมีคุณค่าและความหมาย และนั่นทำให้มนุษย์ต้องหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจในรูปแบบต่างๆ เช่น ศาสนา หรือข้อกำหนดของสังคมมาจำกัดเส้นทางของตนไว้

อาลแบร์ กามูว์ (1913-1960) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ผมยกคำพูดไว้ในต้น เสนอว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อการเดินทางตามหาความหมายของชีวิตในโลกที่จริงๆ แล้วไม่มีการกำหนดความหมายใดๆ ไว้เลย มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในการเดินทางนี้ต้องยอมรับให้ได้ว่าถึงชีวิตและโลกที่ไร้ความหมาย และมนุษย์ต้องตามหาความหมายที่ไม่มีกำหนดไว้ด้วยตนเองให้พบ 

แล้วจริงๆ แล้วชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมายอย่างไรกัน แม้ปรัชญา Existentialism จะมีแนวคิดอีกจำนวนมากจากนักปรัชญาหลากหลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็มีแนวคิดที่แตกต่างกันไปในเชิงรายละเอียด แต่ปรัชญา Existentialism กระแสหลักมักจะเห็นตรงกันว่าชีวิตไม่ได้มีค่าหรือความหมายที่เที่ยงแท้กำหนดไว้จากภายนอก ไม่ว่าจะถูกกำหนดไว้ตายตัวจากสังคมหรือแม้แต่จากศาสนาก็ตาม ชีวิตของคนเรานั้น แต่ละคนต้องให้ความหมายด้วยตนเอง ซึ่งแนวคิดนี้อาจจะไม่ถูกใจทุกคน หรืออาจเป็นแนวคิดที่ยอมรับได้ยาก เพราะการที่ไม่มีความหมายถูกกำหนดไว้แต่แรก ก็เหมือนกับชีวิตไม่มีความหมายเลย 

ปรัชญา Existentialism มีอิทธิพลอย่างมากต่อแวดวงจิตวิทยาโดยเฉพาะจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิก แนวคิดที่ว่าการแต่ละคนล้วนต้องคิดเองว่าสิ่งใดที่ทำให้ชีวิตของตนมีความหมาย ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด ได้รับการพัฒนาต่อมาเป็นแนวทางบำบัดทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาความทุกข์ของคนหรือความรู้สึกต้องการฆ่าตัวตายด้วยการให้บุคคลนั้นหาคุณค่าในชีวิตให้เจอ ตัวอย่างของงานวิจัยสมัยใหม่ๆ เช่น งานของ แมรี แอนดรูวส์ (2016) ได้เสนอถึงแนวทางช่วยเหลือบุคคลที่พบกับ Existential crisis ด้วยการหาความหมายของชีวิตใน 3 ทาง ในทางแรกคือการหาความสัมพันธ์ที่มีความหมาย หรือก็คือการให้ชีวิตรักสร้างคุณค่าแก่คนนั้น คนเรานั้นแม้จะมีคนรักก็ไม่ได้แปลว่าจะรู้สึกว่าชีวิตรักมีความหมาย บางคนอาจจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ที่มีอยู่มันช่างว่างเปล่า งานวิจัยเสนอว่าการเลือกคู่รักควรจะเลือกบุคคลที่มีความสนใจตรงกัน เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่ทั้งคู่ให้ความสนใจและทำให้ความสัมพันธ์มีความหมายขึ้นมา ทางที่สองคือการหางานที่มีความหมาย แม้ว่าการหาเงินเลี้ยงชีพจะเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน แต่คนเราอาจต้องสำรวจด้วยว่างานทำอยู่มีสิ่งใดที่ตนให้คุณค่าหรือไม่ บางคนอยากสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ บางคนอยากทำงานเพื่อสังคม บางคนอาจจะต้องการชื่อเสียง ชีวิตจะมีค่าขึ้นหากได้ทำงานที่สนองคุณค่าเหล่านั้น อย่างไรก็ตามทั้งสองทางแรกนั้นอาจจะไม่ใช่หนทางที่ปรับได้ง่ายนักและมีข้อจำกัดมากมาย จึงมีหนทางที่สามคือการยอมรับในชีวิต คือให้ค้นหาว่าตนเองในตอนนี้ทำอะไรที่มีความหมายได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเล็กใดๆ ก็ตาม

งานวิจัยด้านบนนั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่พยายามหาหนทางที่เป็นรูปธรรม แต่อย่างที่ผมเล่าไปแล้วว่าปรัชญา Existentialism ไม่ได้กำหนดคำตอบที่ตายตัว 

ไม่ว่าจะงานหรือความสัมพันธ์อาจเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ถือเป็นคุณค่าหลักๆ ของชีวิต แต่ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องคิดว่าสิ่งเหล่านั้นคือคุณค่าของชีวิต ประเด็นสำคัญคือการหาเป้าหมายและสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ชีวิตของตนให้ได้

แม้คำถามว่า “ฉันจะอยู่เพื่ออะไร” “ชีวิตมีค่าอะไร” อาจจะลอยเข้ามาในหัวได้ในวันหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเจอวิกฤตตอนนึกถึงคำถามนี้นะครับ บางคนอาจจะมีแนวคิดที่ยึดมั่นและคิดว่านั่นคือคำตอบของตนแล้ว อย่างเช่นการยึดมั่นในความหมายของชีวิตทางศาสนาก็อาจจะเป็นคำตอบสำหรับหลายๆ คน แม้ว่าปรัชญา Existentialism กระแสหลักไม่ได้มองว่าศาสนาคือคำตอบที่เที่ยงแท้ตายตัวของความหมายในชีวิต แต่ก็ไม่ได้ห้ามหากคนมีที่ใช้แนวคิดทางศาสนาเป็นตัวกำหนดคุณค่าของชีวิต หากนั่นทำให้ตนรู้สึกมีความหมายและทำให้สบายใจ นั่นก็ถือว่าเป็นทางออกหนึ่งในการหากคุณค่าให้ชีวิตของบุคคลนั้น 

บางคนที่ไม่เคยคิดถึงคุณค่าของชีวิตเลย หรือต่อให้คิดถึงคำถามนี้ ก็ปล่อยให้มันลอยผ่านไป ไม่ได้มองว่านั่นเป็นปัญหาใหญ่ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลก การที่ชีวิตมีสิ่งที่สนใจเรื่องอื่นๆ แทนจะหมกมุ่นกับคำถามที่ตอบได้ยากอย่างความหมายชีวิตนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ปกติและดีกับสุขภาพจิตมากกว่าการหมกมุ่นที่ให้คำตอบตัวเองไม่ได้จนเกิดภาวะวิกฤต ในแง่ของการปฏิบัติแล้ว ขอแค่เรายังยินดีที่จะมีชีวิตต่อไปได้ การทำแบบนั้นก็ถือว่าไม่มีข้อเสียอะไร

คำถามต่อมาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเรากำลังเกิด Existential Crisis แม้ว่าเราอาจจะคิดไม่ตกเรื่องความหมายของชีวิต แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นปัญหาหรือมันจะเป็นวิกฤตถ้าเรายังใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้าวันหนึ่งเราเริ่มเป็นทุกข์อย่างมากจากการที่เราตอบตัวเองไม่ได้ว่าชีวิตเรามีความหมายอะไร จะอยู่ต่อไปทำไม และความทุกข์นี้เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การงาน ความสัมพันธ์รอบตัวให้แย่ลง หากคำถามที่ตอบไม่ได้ดังกล่าวยังคงทำให้เราหมกมุ่น ทุกข์ใจจนเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน หรือเกิดความรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าจนอยากฆ่าตัวตาย ผมแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ก่อนที่วิกฤตจะทำให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายของเราแย่ลงไปกว่านี้ การนั่งขบคิดเรื่องนี้คนเดียวแล้วเครียด ทุกข์ หรือสิ้นหวังไปนานๆ จะเกิดผลเสียมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญอาจจะมีแนวคิดที่ช่วยให้เราคิดตก หรือมีหนทางบรรเทาความทุกข์ที่เกิดจากปัญหาดังกล่าวได้

ปรัชญา Existentialism อาจจะแย้งกับความเชื่อและความรู้สึกของหลายๆ คน มนุษย์เรามักจะได้รับการสอนหรือได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างๆ เพื่อให้เชื่อว่าชีวิตนั้นมี ‘ความหมายที่ยิ่งใหญ่’ ‘เราเกิดมาเพื่อเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่ง’ แต่ปรัชญา Existentialism ปฏิเสธว่าไม่มีความหมายเหล่านั้นกำหนดไว้แต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนยอมรับไม่ได้

อย่างไรก็ตามกับบางคนที่รู้สึกว่าชีวิตไร้ซึ่งความหมายและคุณค่า และหมดศรัทธากับสิ่งที่เขาเคยเชื่อว่ามันคือความหมายของชีวิตเขา แนวทางของปรัชญา Existentialism ที่บอกว่าทุกคนต้องตามหาความหมายด้วยตนเอง ไม่มีความหมายใดที่ถูกหรือไม่ผิด ไม่มีคุณค่าใดที่ตายตัว อาจจะเป็นแนวทางที่ช่วยเหลือเขาได้ดีกว่า 

ผมเคยเห็นคนที่อยู่ในช่วงทุกข์ใจอย่างหนักแต่ก็ได้สัตว์เลี้ยงช่วยไว้ เพราะเขารู้ความหมายของตนว่าหากตนไม่อยู่แล้วใครจะให้อาหารหมาแมวที่ตนเลี้ยงไว้ แต่นั่นก็คือความหมายอย่างหนึ่งของการมีชีวิตต่อ แม้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความหมายที่อาจจะดูเล็กน้อยในสายตาของบางคน แต่ก็เพียงพอกับการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปของคนหนึ่ง หากท่านกำลังรู้สึกว่าไม่รู้จะมีชีวิตต่อไปทำไม อยู่ต่อไปเพื่ออะไร ผมอยากให้ลองคิดว่านั่นไม่ใช่จุดจบ แต่คือเป็นการเริ่มต้นของการตามหาความหมายด้วยตัวเอง ให้เวลาให้โอกาสกับชีวิตของเราอีกสักหน่อย แล้วสักวันหนึ่งเราอาจจะพบกับความหมายที่เรานั้นพอใจก็ได้ และความหมายที่พบนั้นสำคัญที่สุดในชีวิตหรือไม่นั้น มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นคนตัดสินใจได้ครับ

เอกสารอ้างอิง

Andrews, M. (2016). The existential crisis. Behavioral Development Bulletin, 21(1), 104–109.

Appignanesi, R., & Zarate. O. (2012). Introducing Existentialism: A Graphic Guide. London, Icon Books.

Gullette, M. M. (2014). What Do the Suicides of Fifty-Year-Old Men Reveal? The Public Health Emergency Exposes an Economic and Existential Crisis. Tikkun, 29(2), 21-26.

Yang, W., Staps, T., & Hijmans, E. (2010). Existential crisis and the awareness of dying: The role of meaning and spirituality. OMEGA-Journal of death and dying, 61(1), 53-69.

https://en.wikipedia.org/wiki/Albert_Camus

https://en.wikipedia.org/wiki/Existential_crisis

https://en.wikipedia.org/wiki/Jean-Paul_Sartre

https://en.wikipedia.org/wiki/Viktor_Frankl

Tags:

การยอมรับผู้ใหญ่ความหมายของชีวิตExistential crisisวิกฤตของการมีตัวตนวัยรุ่นการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)การตั้งเป้าหมาย

Author:

illustrator

พงศ์มนัส บุศยประทีป

ตั้งแต่เรียนจบจิตวิทยา ก็ตั้งใจว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราคิดความรู้หลายๆ อย่างที่เราได้จากอาจารย์ หนังสือเรียน หรืองานวิจัย มันมีประโยชน์กับคนทั่วไปจริงๆ และต้องมีคนที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดความรู้แบบหนักๆ ให้ดูง่ายขึ้น ให้คนทั่วไปสนใจ เข้าใจ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่อยากให้มันอยู่แต่ในวงการการศึกษา เราเลยอยากทำหน้าที่นั้น แต่เพราะงานหลักก็เลยเว้นว่างจากงานเขียนไปพักใหญ่ๆ จนกระทั่ง The Potential ให้โอกาสมาทำงานเขียนในแบบที่เราอยากทำอีกครั้ง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • How to get along with teenager
    การไร้ตัวตน-ไม่ถูกมองเห็น-ไม่ถูกยอมรับ คือสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตของวัยรุ่น

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    ‘BuddyThai’ แอปคู่ใจของวัยรุ่นในวันที่ไม่มีใครยืนเคียงข้าง: พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to get along with teenagerAdolescent Brain
    รู้ใจวัยรุ่น…ผ่านตัวตน สมอง และฮอร์โมน

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Life classroom
    ‘อนุญาตให้ตัวเองผิดหวังได้แต่อย่านาน’ ไดอารี่ชีวิตสาวน้อยคิดบวก ธันย์- ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • How to get along with teenager
    ในวันที่โลกดูสิ้นหวัง และตัวฉันที่กำลังจะหมดหวังกับตัวเอง : EP.3 “I am worth enough.”

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

Gran Turismo: ล้มกี่ครั้งไม่สำคัญเท่าลุกอย่างไรให้ไปต่อได้
Movie
6 October 2023

Gran Turismo: ล้มกี่ครั้งไม่สำคัญเท่าลุกอย่างไรให้ไปต่อได้

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Gran Turismo เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของยานน์ มาร์เด็นโบโรห์ นักแข่งรถชาวเวลส์ที่เริ่มต้นความฝันด้วยการเป็นเกมเมอร์ ก่อนโชคชะตาจะนำพาเขาไปสู่เส้นทางการเป็นนักแข่งรถอาชีพ
  • ถ้าไม่นับความเร้าใจของการแข่งรถ เนื้อหาของภาพยนตร์จะมุ่งเน้นไปที่การพิสูจน์ตัวเองและเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายที่เข้ามารุมเร้ายานน์ ไล่ตั้งแต่ปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างเขากับพ่อ การฝึกฝนอย่างไม่ย่อท้อ รวมถึงสภาพจิตใจที่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุสะเทือนขวัญ

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์]

ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนย่อมมีความฝัน แต่น่าเสียดายที่หลายครั้งความฝันของเด็กมักถูกดับฝันด้วยมือของบุคคลที่เขารักที่สุดอย่างพ่อแม่

แน่นอนว่าในมุมของพ่อแม่ ถ้าความฝันของลูกตรงตามจริตของตัวเองหรือค่านิยมในสังคมโดยที่พ่อแม่พอมีทุนทรัพย์ในการสนับสนุน เชื่อว่าความฝันของลูกคงพอจะมีเค้าลางแห่งความจริง แต่ถ้าความฝันของลูกต่างออกไป ผลลัพธ์ก็จะกลับกลายเป็นการดับฝันเพื่อให้ลูกตื่นมาอยู่กับโลกแห่งความจริงในนามของความรักความหวังดี

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนของเด็กๆ หลายคนที่ถูกพ่อแม่บอยคอตความฝัน จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่กล้าเสี่ยงออกจากเซฟโซนเพื่อตามล่าหาความฝันจนสำเร็จและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก เหมือนกับ ‘ยานน์ มาร์เด็นโบโรห์’ ตัวละครหลักจากภาพยนตร์ Gran Turismo ที่สร้างจากเรื่องจริงของเกมเมอร์ผู้หลงใหลเกมรถแข่งที่โชคชะตาลิขิตให้เขากลายมาเป็นนักแข่งรถอาชีพจริงๆ

รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเด็กคนหนึ่งคือความภาคภูมิใจจากพ่อแม่

ยานน์ เป็นหนุ่มชาวเวลส์วัย 19 ปี ที่เลือกไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้ใช้เวลากับสิ่งที่เขารักที่สุด นั่นคือการเล่มเกม Gran Turismo หรือ GT เกมแข่งรถอันดับหนึ่งตลอดกาลของค่าย Play Station ซึ่งเรื่องนี้ทำให้พ่อกับแม่ของยานน์ปวดหัวกับอนาคตของลูกคนโต โดยเฉพาะพ่อที่มองไม่เห็นความสำคัญของเกม ทั้งยังกล่อมให้ยานน์เดินตามเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพเหมือนกับที่พ่อเคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับสโมสรดังอย่าง ‘คาร์ดิฟฟ์ซิตี้’ 

ประเด็นแรกที่อยากพูดถึงคือความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยนักระหว่างยานน์กับพ่อ เพราะอดีตนักฟุตบอลอย่างพ่อปรารถนาให้ลูกชายทั้งสองคนเจริญรอยตามเขา ซึ่งลูกชายคนเล็กก็เชื่อฟังและเดินตามพ่อในเส้นทางนั้นจนได้ทุนนักกีฬาฟุตบอลจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ต่างกับยานน์ที่ทั้งไม่ชอบฟุตบอล ไม่ยอมเรียนต่อมหาวิทยาลัย แถมยังใช้ชีวิตกลางวันไปกับการขายเสื้อผ้าสตรีและใช้ชีวิตกลางคืนในห้องนอนไปกับเกม GT ที่เขาหลงใหล

เมื่อลูกชายคนโตใช้ชีวิตได้ไม่ถูกใจผู้เป็นพ่อ พ่อจึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบเขากับน้องชายที่เปรียบเสมือนความภาคภูมิใจของครอบครัว

“ลูกรู้ไหมว่าในที่สุดลูกก็จะต้องออกจากห้อง ลูกสามารถเรียนรู้เรื่องการฝึกฟุตบอลจากน้องชาย แล้วลูกจะมีอนาคตที่ดี”

นอกจากการเปรียบเทียบของพ่อจะสร้างบาดแผลเล็กๆ ในใจของยานน์ การเอาความชอบของตัวเองเป็นบรรทัดฐานของพ่อยังลามไปถึงน้องชายที่มักกดดันเขาถึงเรื่องอนาคต และแม้ยานน์จะเถียงพ่อถึงเรื่องที่พ่อสอนให้เขาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่พ่อกลับบอกให้เขาทำมันภายใต้อาณาจักรแห่งความจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพ่อไม่คิดจะสนใจถามว่ายานน์ชอบอะไร รวมถึงมองว่ายานน์กำลังทำสิ่งที่เพ้อฝันไปวันๆ

ผมเข้าใจความรู้สึกของพ่อที่ต้องการให้ยานน์เลิกหมกมุ่นอยู่กับเกมทั้งวันทั้งคืน เพราะผู้ใหญ่มักคิดว่าเกมเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ที่ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นแถมยังเสียเวลาชีวิตไปวันๆ อย่างไรก็ตามพ่อน่าจะมีวิธีพูดที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะการสื่อสารเชิง ‘เปรียบเทียบ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะคนเราต่างมีความชอบที่ไม่เหมือนกัน และไม่ควรนำความคิดของตัวเองมาตัดสินชีวิตของคนอื่น

ประเด็นถัดมาคือต่อให้การเล่นเกมจะดูต่อยอดเป็นอาชีพได้ลำบาก แต่ยานน์เองค่อนข้างมีแพสชันที่ชัดเจนตั้งแต่อายุห้าขวบคือความฝันที่จะเป็นนักแข่งรถให้ได้ในวันหนึ่ง ดังนั้นสำหรับเขา GT จึงเป็นหนทางเดียวที่เขาจะได้ใกล้ชิดกับความฝันนั้น เพราะถึงจะไม่มีเงินไปเรียนแข่งรถในโลกแห่งความจริง แต่สิ่งที่เขาได้จากการเล่นเกมๆ นี้คือความรู้เรื่องรถยนต์ เขาจึงตั้งเป้าว่าอยากจะทำงานด้านการบำรุงรักษาและดูแลอะไหล่รถยนต์ 

สำหรับการเล่นเกมนั้น ในมุมของใครหลายคนอาจมองเป็นเรื่องของความสนุกสนานผ่อนคลาย ต่างกับยานน์ที่มองไปไกลกว่านั้น เพราะมันได้สอนให้เขารู้จักวิธีการปรับแต่งรถแข่งด้วยอุปกรณ์ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ แถมตอนแข่งเขายังสามารถคิดค้น ‘สูตรการวิ่ง’ เพื่อแซงเอาชนะคู่แข่งในแบบที่ใครก็คาดไม่ถึง  

เหนืออื่นใด ยานน์เป็นตัวอย่างของคนที่เปี่ยมด้วย Grit หรือพลังแห่งความหลงใหลและเพียรพยายามในสิ่งที่รักอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจุดนี้ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาพัฒนาทักษะในเกม GT จนทำคะแนนติดอันดับสูงสุด ประกอบกับช่วงเวลานั้นค่ายรถยนต์ Nissan ประกาศจับมือกับสถาบัน GT Academy ในการนำสุดยอดเกมเมอร์มาปั้นเป็นนักแข่งรถอาชีพตัวจริงเสียงจริงทำให้ยานน์กับเหล่าเกมเมอร์ที่ถูกคัดเลือกจากทั่วโลกถูกเชิญมาอบรมที่สถาบัน GT เพื่อเฟ้นหาหนึ่งเดียวที่จะได้เซ็นสัญญากับทีม Nissan ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ผมขออนุญาตเชื่อมโยงกลับไปยังประเด็นเรื่องครอบครัวเล็กน้อย เพราะหลังจากที่ยานน์ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของสถาบัน สิ่งแรกที่เขาทำคือการรีบโทรศัพท์หาพ่อแม่ เแม่จึงบอกว่าเธอรู้สึกภูมิใจในตัวยานน์มากแค่ไหน และคำตอบของยานน์ที่ว่า “นั่นมีความหมายกับผมมากจริงๆ” ก็สะท้อนและตอกย้ำว่า ที่สุดแล้วคนเป็นลูกต่างอยากได้การยอมรับจากพ่อแม่ด้วยกันทั้งนั้น 

คนที่เก่งที่สุดคือคนที่รับมือตัวเองได้ในทุกสถานการณ์

หลังจากที่ยานน์ได้เป็นนักแข่งรถอาชีพ เขายังคงฝึกฝนอย่างหนัก ทว่าสิ่งที่เขาอาจไม่เคยฝึกคือเรื่องของจิตใจ โดยเฉพาะการรับมือกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น เมื่อเขาก้าวเข้าสู่การเป็นนักแข่งรถอาชีพ  

ผมเชื่อว่าต่อให้ไม่ใช่แฟนๆ ในวงการรถแข่ง ก็น่าจะเคยได้ยินข่าวอุบัติเหตุในสนามบ่อยครั้ง เพียงแต่กรณีของยานน์ถือว่าเลวร้ายกว่านั้น เพราะอุบัติเหตุของเขาได้คร่าชีวิตผู้ชมในสนามคนหนึ่ง

ถึงจะเป็นอุบัติเหตุ แต่ยังไงการทำให้คนตายนั้นถือเป็นเรื่องที่ยากจะทำใจ ซึ่งในฐานะต้นเหตุของเรื่อง ยานน์ถึงกับซึมเศร้า หมดอาลัยตายอยาก และสูญเสียความมั่นใจในการขับรถเป็นเวลานาน แถมยังขังตัวเองไม่พบเจอใคร กระทั่ง ‘แจ็ค ซอลเทอร์’ โค้ชทีมนิสสันและอดีตนักแข่งรถอาชีพชื่อดังได้เข้ามาปลอบใจลูกศิษย์คนโปรด 

วิธีการเรียกสติของโค้ชแจ็คคือการขับรถพายานน์ไปยังสถานที่เกิดเหตุ พร้อมนำบาดแผลในอดีตจากการที่ตัวเขาเองก็เคยเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตมาก่อนมาสอนใจศิษย์รัก เพื่อไม่ให้ยานน์นำเรื่องนี้มาปิดกั้นเส้นทางแห่งความฝันของตัวเอง

“ตอนนั้นพวกเขาบอกว่าไม่ใช่ความผิดของฉัน แต่ฉันไม่เคยลุกขึ้นมาแข่งอีกเลย ฉันประสาทเสียไปแล้ว ยิ่งกว่านั้นฉันสูญเสียโอกาสที่จะค้นพบว่าฉันเก่งแค่ไหน ฉันออกจากวงการและอยู่กับสิ่งนี้มาทั้งชีวิต หากนายต้องถอนตัว คงไม่มีใครตำหนินายหรอกเพราะคนส่วนใหญ่ก็คงทำแบบนั้น แต่ฉันรู้สึกว่านายไม่ใช่คนส่วนใหญ่ ฉันหมายความว่านายสามารถเป็นนักแข่งรถที่ดีที่สุด 

นายจงกลับไปสู่เส้นทางเส้นทางของนายและทำมันเดี๋ยวนี้ เพราะถ้านายไม่ทำ นายจะไม่มีวันได้ทำมันอีก ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้บ่งชี้ถึงตัวตนของนาย แต่อยู่ที่นายจะรับมือกับมันยังไงต่างหาก”

ในมุมของผม ประโยคนี้คือประโยคทองของภาพยนตร์ที่ตอกย้ำว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ทั้งนั้น เพียงแค่อย่าปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นกักขังเราไว้กับอดีต นอกจากนี้หากเรายังไม่อาจ ‘ล้มแล้วลุก’เพราะจิตใจยังไม่พร้อมจะมูฟออน การเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใครสักคนที่พร้อมรับฟังก็น่าจะช่วยให้เราก้าวผ่านวันคืนอันโหดร้ายได้ดีกว่าที่คิด

Gran Turismo (GT) คือเกมแข่งรถอันดับหนึ่งของเครื่องเล่น Play Station ที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกด้วยยอดขายมากกว่า 90 ล้านชุด จุดเด่นของจีทีคือการจำลองบรรยากาศการแข่งรถที่สมจริงที่สุดทั้งเรื่องประสบการณ์ในการขับขี่ การเลือกรถยนต์ตามยี่ห้อโปรด การปรับแต่งตัวรถและเปลี่ยนอะไหล่ต่างๆ อย่างอิสระ และฉากสนามแข่งระดับโลกที่สมจริง ฯลฯ โดยยานน์ มาร์เด็นโบโรห์ ถือเป็นหนึ่งในนักแข่งรถที่โด่งดังที่สุดของ GT ACADEMY สถาบันที่เปลี่ยนเกมเมอร์ชั้นนำให้กลายเป็นนักแข่งรถอาชีพตัวจริง

Tags:

ครอบครัวชีวิตTraumaGran Turismoภาพยนตร์

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Movie
    The Unbreakable Boy: เพราะชีวิตคือสิ่งล้ำค่า ไม่ว่ามันจะแตกต่าง หรือแตกสลาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Time Still Turns The Pages: ขออย่าให้เด็กคนไหนต้องแหลกสลาย เพียงเพราะเขาไม่ได้อย่างใจพ่อแม่

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Thelma (2024) : คุณยายสุดเท่ปราบแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Modern love Tokyo (2022): แม่ต้องปล่อยวางหลายเรื่อง แต่วันหนึ่งลูกจะภูมิใจในเราเองแหละ

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Monster: เรื่องโกหกที่เริ่มต้นจากความกลัวเพราะไม่อยากเป็นตัวประหลาด

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

ทำให้วิถีประชาธิปไตยอยู่ในโรงเรียน
Social Issues
4 October 2023

ทำให้วิถีประชาธิปไตยอยู่ในโรงเรียน

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การเติบโตไปในทิศทางที่ดีหรือดีกว่าเดิมนั้น ต้องอาศัยปัญญาและความคิดของผู้คนที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โรงเรียนจึงเป็นสถานที่สำคัญที่จะฟูมฟักผู้คนให้มีวิถีชีวิตเช่นนี้ขึ้นมาได้
  • บทความนี้เล่าถึงแง่มุมหนึ่งในการมองเรื่องประชาธิปไตยในโรงเรียน จากหนังสือ “Democracy as a Way of Life” เขียนโดย Boyd Henry Bode นักปรัชญาการศึกษาชาวอเมริกัน สายปฏิบัตินิยม (pragmatism)
  • การศึกษาที่ควรจะเป็นในความคิดของ Bode คือการทำให้วิถีประชาธิปไตยอยู่ในวิถีชีวิต ความรู้หรืออะไรก็ตามที่ได้เรียนรู้ ต้องเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามได้ โรงเรียนจึงต้องสร้างชุมชนทางประชาธิปไตยที่อยู่บนหลักการเสรีภาพและความเท่าเทียมเสียก่อน

“…แต่สำหรับประชาธิปไตยแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นใด มันจะยืนหยัดหรือร่วงหล่นก็ด้วยศรัทธาของสามัญชน ศรัทธาซึ่งเป็นเพียงฐานที่มั่นเดียวในการลงมือก่อรูปแบบแผนแสนเศร้าของสิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้เข้าใกล้โลกที่ใจปรารถนาไปอีกก้าวหนึ่ง” 

Boyd Henry Bode

เมื่อพูดถึงประชาธิปไตยในโรงเรียน หลายคนอาจนึกถึงภาพครูสังคมศึกษากำลังสอนเรื่องรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย นักเรียนกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการใช้สิทธิใช้เสียงของตนเมื่ออายุถึงเกณฑ์เลือกตั้งได้ ขยับออกไปนอกห้องเรียนก็อาจเป็นการเลือกตั้งสภานักเรียน ประธานนักเรียน ที่นักเรียนได้ทดลองปฏิบัติจริงผ่านการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตน ร่วมกับการจัดอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว เพื่อให้นักเรียนเข้าใจความหมายของคำว่าประชาธิปไตย

เราสามารถพูดได้ไหมว่า นี่แหละคือประชาธิปไตยในโรงเรียน?

ผมไม่มีคำตอบให้สำหรับคำถามนี้โดยตรง แต่อยากเล่าถึงแง่มุมหนึ่งในการมองเรื่องประชาธิปไตยในโรงเรียน จากหนังสือ “Democracy as a Way of Life” หรือที่ผมแปลเป็นไทยว่า “ประชาธิปไตยในฐานะวิถีชีวิต” หนังสือที่มีอายุเกือบ 100 ปี เขียนโดย Boyd Henry Bode นักปรัชญาการศึกษาชาวอเมริกัน สายปฏิบัตินิยม (pragmatism) ซึ่งจัดได้ว่าเขาเป็นนักการศึกษาร่วมสมัยกับที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง John Dewey และ George Count (ผู้เขียนหนังสือ Dare the school build a new social order อ่านได้ที่ กล้าพอไหม? ที่จะสร้างระเบียบโลกใหม่จากในโรงเรียน) 

Boyd Henry Bode เริ่มต้นสอนในสาขาวิชาปรัชญา ก่อนจะเริ่มหันมาให้ความสนใจและทำงานด้านการศึกษาอย่างจริงจังราวทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่ผู้คนกำลังเผชิญกับความย่ำแย่ของสังคมและเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ถูกใช้เป็นอาวุธในสงคราม และการเกิดขึ้นของคอมมินวินิสต์และฟาสซิสต์ ด้วยบริบทเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่จะทำให้เขาเกิดคำถามถึงทิศทางที่สังคมกำลังเดินไปว่ากำลังนำไปสู่สังคมที่ดีหรือชีวิตที่ก้าวหน้าหรือไม่

ถ้าคำตอบคือ ไม่ใช่!  แล้วสังคมที่ดีหรือชีวิตที่ควรจะเป็นนั้น มันต้องมีหน้าตาอย่างไร

  เพื่อจะตอบคำถามนี้ Bode เห็นว่า เราไม่สามารถตอบได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีคนอื่นร่วมคิดกับเราด้วย เพราะเราแต่ละคนต่างมีผลประโยชน์ ความต้องการ ความมุ่งหวัง หรือความปรารถนาอะไรก็ตามที่แตกต่างกันไป

การจะบอกว่าชีวิตที่ดี สังคมที่ดีควรเป็นแบบไหน จึงต้องอาศัยการพูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างกัน ด้วยความอดทนต่อความคิดและคุณค่าที่ต่างออกไป

ดังนั้น Bode เลยเห็นว่า ประชาธิปไตยนี่แหละ ที่จะสร้างวิถีที่ผู้คนอย่างเราๆ จะบอกเล่าความคิดความรู้สึกระหว่างกันออกมาได้ สุดท้าย ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม วิถีเช่นนี้จะนำพาผู้คนให้เรียนรู้ที่จะกำหนดชีวิตหรือคุณค่าที่จะเป็นร่วมกันทั้งปัจจุบันและอนาคต

จริงอยู่ที่รูปแบบการปกครองย่อมสร้างวิถีชีวิตแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมาพร้อมกับตัวมันเองด้วยเสมอ เช่นที่การปกครองของนาซีได้สร้างวิถีที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการจัดลำดับจากเชื้อชาติและพันธุกรรม แต่ประชาธิปไตยได้สร้างวิถีที่แตกต่างออกไป คือวิถีชุมชนที่ยืดหยุ่น เปิดกว้างต่อความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ประชาธิปไตยจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบการปกครองหนึ่งที่อาศัยหลักการกติกา เช่น เสียงข้างมาก การเลือกตั้ง หรือผู้แทนเท่านั้น แต่มันคือ วิถีประชาธิปไตย ที่ตัวเราและคนอื่นๆ สามารถจะมีตัวตน มีสิทธิ มีเสียง เพื่อแสดงออกถึงสังคมที่เราอยากเห็นและชีวิตที่เราปรารถนาได้ ซึ่งต่างจากวิถีชีวิตในการปกครองรูปแบบอื่นๆ โดยเฉพาะคอมมิวนิสนิสต์และฟาสซิสต์ที่ผู้คนถูกมอบคำตอบของชีวิตให้แล้วว่าเขาควรคิดหรือให้คุณค่ากับสิ่งใดอย่างไร ประชาธิปไตยจึงสำคัญกับผู้คนอย่างเราในลักษณะแบบนี้เป็นพิเศษ

แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อสร้างและหล่อเลี้ยงวิถีประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น 

Bode เห็นว่า การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ เขาวิพากษ์การศึกษาที่เป็นอยู่ในเวลานั้นว่ามีปัญหาเพราะเป็นการศึกษาแบบตายตัวที่สร้างให้คนเดินตามแบบแผนแม่พิมพ์หรือมาตรฐานในอดีตที่สังคมคาดหวังมากเกินไป และมักจะเป็นการถ่ายโอนความรู้จากครูไปสู่นักเรียนซึ่งไม่ได้สร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนได้เรียนรู้เติบโตโดยใช้ความคิดและปัญญาแก้ปัญหาผ่านสถานการณ์ร่วมกัน

การศึกษาที่ควรจะเป็นในความคิดของ Bode คือการทำให้วิถีประชาธิปไตยอยู่ในวิถีชีวิต ความรู้หรืออะไรก็ตามที่ได้เรียนรู้ ต้องเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามได้ ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวแบบสารัตถะ ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องสร้างชุมชนทางประชาธิปไตยที่อยู่บนหลักการเสรีภาพ (liberty) และความเท่าเทียม (equality) เสียก่อน นั่นหมายถึง โรงเรียนต้องเปิดพื้นที่ให้กับคุณค่าที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม อย่างที่สอง โรงเรียนต้องไม่ผลิตสร้างนักเรียนให้เป็นผู้จงรักภักดีต่อสิ่งต่างๆ โดยปราศจากการใช้ความคิดและตั้งคำถาม และไม่จำเป็นต้องมีบทสรุปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอ ถัดมา โรงเรียนต้องสร้างพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเติบโต โดยการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์ร่วมกับผู้อื่น และเชื่อมโยงไปสู่ชีวิตจริงของพวกเขา 

Bode มองว่าทั้งหมดนี้คือวิถีการเรียนรู้แบบประชาธิปไตย ที่จะพานักเรียนเดินทางสำรวจความเชื่อที่แตกต่างจากเขา เรียนรู้ที่จะรับฟัง แลกเปลี่ยนอย่างอดทนอดกลั้น ขยายความคิด และความเห็นอกเห็นใจให้กว้างขึ้น ซึ่งมันจะค่อยๆ สร้าง และฟูมฟักให้นักเรียนเป็นคนที่ ‘รู้จักคิดอย่างอิสระ’ (independent judgment) หรือเขาเรียกมันว่า ‘การปลดปล่อยทางปัญญา’ (liberation of intelligence) แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำได้ง่ายๆ แล้วจบด้วยการวัดประเมินผลเป็นตัวเลขออกมา แต่มันคือกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลาและกระทำการอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น สังคมที่จะก้าวหน้าจึงต้องอาศัยผู้คนในการกำหนดชะตาร่วมกัน วิถีชีวิตประชาธิปไตยเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ทำแบบนั้น และแน่นอนว่า การเติบโตไปในทิศทางที่ดีหรือดีกว่าเดิมนั้น ต้องอาศัยปัญญาและความคิดของผู้คนที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โรงเรียนจึงเป็นสถานที่สำคัญที่จะฟูมฟักผู้คนให้มีวิถีชีวิตเช่นนี้ขึ้นมาได้ ทั้งหมดนี้คือใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ “Democracy as a Way of Life”

[*ข้อเขียนนี้แปลและปรับมาจากบางส่วนของงานที่ผู้เขียนรีวิวหนังสือ “Democracy as a Way of Life” ในรายวิชา Critical Study of Selected Readings in English Educational Classics]

Tags:

โรงเรียนประชาธิปไตยสิทธิและเสรีภาพการรับฟังDemocracy as a Way of Lifeความเท่าเทียม (equality)

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • IMG_0670 2
    Book
    เด็กที่สร้างปัญหาไปวันๆ อาจต้องการแค่ใครสักคนที่เข้าใจ: บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Social Issues
    เด็กชนชั้นแรงงาน วัฒนธรรมต่อต้าน โรงเรียน และทุนนิยม

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    Discipline: ‘วินัย’ ไม่อาจสร้างจากความรุนแรง แต่บ่มเพาะจากความเชื่อใจและรับฟัง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Creative learning
    สุข สนุก และได้เลือกเรียนเอง เด็กๆ บ้านควนเก จึงอยากมาโรงเรียนทุกวัน

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    SAVE เก็บไว้! นโยบายเด็กและเยาวชนของ 5 พรรคใหญ่ เข้าสภาไปจะได้ไม่ลืม

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel