- Dead Poets Society เป็นภาพยนตร์อเมริกันในปี 1989 บอกเล่าเรื่องราวของจอห์น คีธติ้ง ครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ของโรงเรียนชายล้วนชื่อดังที่แสนเข้มงวด ด้วยรูปแบบการสอนที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการสอนให้นักเรียนรู้จักการคิดนอกกรอบและกล้าที่จะตามหาความฝันของตัวเอง
- นอกจากครูคีธติ้ง อีกตัวละครที่น่าสนใจคือทอดด์ นักเรียนหน้าใหม่ที่มีพี่ชายเป็นอดีตศิษย์เก่าอันดับหนึ่งของโรงเรียน ทำให้เขาต้องเผชิญกับความกดดันภายใต้เงาของพี่ชายจนสูญเสียความเป็นตัวเอง
- แม้จะมีเสียงวิจารณ์อย่างมากถึงฉากจบ แต่ Dead Poets Society ก็ชนะเลิศรางวัล Academy Awards สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1990
“ถ้าผมมีครูแบบครูคีธติ้งบ้างชีวิตจะเปลี่ยนไปยังไง”
คำถามนี้เกิดขึ้นในใจระหว่างชมภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society ภาพยนตร์อเมริกันในปี 1989 ที่บอกเล่าเรื่องราวของจอห์น คีธติ้ง ครูสอนภาษาอังกฤษคนใหม่ของโรงเรียนชายล้วนชื่อดัง ที่มาพร้อมรูปแบบการสอนที่ไม่เหมือนใคร
ภาพยนตร์เปิดเรื่องด้วยฉากบรรยากาศในวันปฐมนิเทศนักเรียนของโรงเรียนเวลตัน โรงเรียนมัธยมชายล้วนที่มีชื่อเสียงในการผลักดันนักเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ที่บรรดาพ่อแม่ต่างทุ่มเทเพื่อให้ลูกได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ต่างจากโรงเรียนมัธยมฯของผมที่ติดท็อปลิสต์ของโรงเรียนชายล้วนชื่อดังในไทย
กฎหลักของโรงเรียนที่เด็กๆ ต้องยึดถือ(โดยไม่ต้องตั้งคำถาม) คือ ประเพณี เกียรติยศ วินัย และความเป็นเลิศ มันทำให้ผมนึกถึงความเข้มงวดในเรื่องไม่เป็นเรื่องที่ผมต้องเจอตอนมัธยม ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ผมจำได้ไม่ลืม
อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่ผมถูกครูประจำชั้นดึงจอนผมอย่างแรง เพียงเพราะมันคงดูขัดตาครู ทั้งที่ความจริงจอนผมไม่ได้ยาวกว่าเพื่อนคนอื่นๆ และครูก็ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร ทิ้งไว้แต่ความเจ็บ(ใจ)ที่ผมไม่สามารถทำอะไรได้
นอกจากกฎระเบียบต่างๆ ผมมักตั้งคำถามกับวิธีการสอนของคุณครู แม้ว่าตอนนี้หลายโรงเรียนจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถ้าย้อนไปเมื่อสิบยี่สิบปีก่อน ครูที่ผมเจอส่วนมากจะเป็นครูที่ดูจะให้ความสำคัญกับการบังคับเด็กให้อยู่ในพิมพ์เดียวกัน ว่านอนสอนง่ายเหมือนๆ กัน โดยมีปลายทางคือผลการสอบหรือเกรดที่ครูและพ่อแม่ภูมิใจ
เมื่อทัศนคติของครูเป็นแบบนี้ จึงไม่แปลกที่ครูแทบทุกคนเลือกฟังแต่เสียงของเด็กเรียนเก่ง เพราะเด็กเหล่านั้นคือเด็กดีในสายตาของครู แต่แทบไม่มีครูคนไหนเลยที่สนใจสุขทุกข์ของนักเรียนในฐานะเด็กคนหนึ่งที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการเป็นตัวของตัวเองจริงๆ โดยเฉพาะกับผม
ต่างจาก ครูคีธติ้ง อดีตศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนเวลตันที่กลับมาเป็นครูสอนวิชากวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษในโรงเรียนที่เขาเติบโตมา ด้วยการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากการเรียนรู้ของเด็กๆ นั่นคือ ‘วิชาชีวิต’ ที่ว่าด้วยการเห็นคุณค่าในตัวเอง
ดังนั้น แทนที่ครูคีธติ้งจะสอนหนังสือให้เด็กท่องจำแบบครูคนอื่น เขากลับใช้วิธีตั้งคำถามชวนคิดเพื่อแลกเปลี่ยนกับนักเรียนในห้องโดยไม่ใช้คำว่า ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ มาตัดสิน และชื่นชมในความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนดูมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
บทเรียนแรกที่ผมประทับใจคือการสั่งให้นักเรียนทั้งหมดฉีกหนังสือเรียนหน้าคำนำทิ้ง เพราะเนื้อหาในนั้นระบุถึงองค์ประกอบในการประเมินคุณค่าของบทกวี
“เราไม่ได้มาวางท่อ เราพูดถึงบทกวีนิพนธ์อยู่ จะมาตีค่าบทกวีแบบนั้นได้ยังไง…เอาล่ะขอให้ทุกคนฉีกหน้านั้นออกมา เอาเลย…นี่คือศึกสงคราม เหยื่อของมันอาจเป็นจิตใจและวิญญาณของพวกเธอ กองทัพนักศึกษาจะต่อต้านการตีค่าบทกวี…
ในห้องเรียนของครู พวกเธอจะต้องเรียนรู้ที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง เธอจะเรียนรู้การลิ้มรสถ้อยคำและภาษา ไม่ว่าใครจะบอกอะไรเธอ คำพูดและความคิดความอ่านสามารถเปลี่ยนโลกได้”
สอดคล้องอีกบทเรียนที่ครูคีธติ้งชวนนักเรียนทั้งห้องออกมาเรียนที่ลานกว้าง ก่อนจะสุ่มเรียกนักเรียนสามคนออกมาเดินสวนสนามไปมาหลายรอบ เรียกเสียงโห่ร้องปนหัวเราะจากเพื่อนๆ ที่เหลือ
“ครูไม่ได้ให้พวกเขามาเดินเพื่อให้ถูกหัวเราะเยาะ แต่ให้มาเดินเพื่อสาธิตถึงอันตรายของการทำอะไรตามกัน ความยากลำบากในการรักษาแนวคิดของตัวเองเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าคนอื่น ครูเห็นความคิดจากสีหน้าพวกเธอว่าเป็นฉันคงไม่เดินแบบนั้น ลองถามตัวเองว่าทำไมจึงปรบมือ
เราต่างต้องการให้คนยอมรับ แต่เธอต้องเชื่อมั่นในความคิดของเธอ แม้คนอื่นจะว่ามันแปลกหรือไม่เป็นที่นิยมก็ตาม ถึงแม้ว่าทั้งกลุ่มจะบอกว่ามันห่วยแตก ครูอยากให้ทุกคนหาเส้นทางของตัวเอง เดินด้วยวิถีของตัวเองไปยังทิศทางตามใจชอบ
อะไรก็ตามที่เธอชอบ ไม่ว่าแบบทรนงหรือบ้าๆ บวมๆ จงเป็นตัวของตัวเอง ลานนี้เป็นของเธอแล้วนะ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมา แค่ทำเพื่อตัวเอง”
ผมคิดว่าการนำเข้าบทเรียนด้วยวิธีที่แหวกแนวของครูคีธติ้งเป็นการให้กำลังใจนักเรียนของเขาทางอ้อมว่าทุกคนสามารถก้าวไปสู่เส้นทางที่ฝันได้ในแบบของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องตามรอยใคร
แม้ประโยคของครูคีธติ้งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและสนับสนุนให้นักเรียนเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะคล้อยตาม โดยเฉพาะในรายของ ‘ทอดด์’ นักเรียนที่หลายคนในโรงเรียนรู้จัก เพราะพี่ชายของเขาเพิ่งเรียนจบไปไม่นานและมีดีกรีเป็นถึงนักเรียนระดับท็อปของประเทศ
แน่นอนว่าผมเห็นตัวเองในบทของทอดด์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะการต้องอยู่ใต้เงาของพี่ชายที่เป็นศิษย์เก่าคนดังประจำโรงเรียน ทำให้พ่อแม่และครูหลายคนเกิด ‘ความคาดหวัง’ ไม่ว่ากับทอดด์หรือผม ว่าต้องกลายเป็นนักเรียนดีเด่นแบบเดียวกับพี่ชาย
ผมจำได้ว่าผมมีผลการเรียนประมาณ 3.25 แต่ผมมักถูกครูกับพ่อแม่ต่อว่าทุกครั้งที่ผลสอบออกราวกับว่าผมไม่ตั้งใจเรียน ขี้เกียจ โง่ และสารพัดคำด่า ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือแม้พ่อแม่กับครูจะไม่ได้เตี๊ยมกัน แต่แปลกมากที่พวกท่านมักปิดท้ายการตำหนิผมด้วยการ ‘เปรียบเทียบ’ กับพี่ชายเสมอ
สำหรับผม สิ่งที่ยากลำบากที่สุดในวัยเรียนคือการแบกรับความคาดหวังและการถูกเปรียบเทียบว่าต้องเป็นเหมือนพี่ชาย เพราะถ้าวันไหนผมบังเอิญทำคะแนนได้ดี ผมก็แค่ถูกชมว่าเก่งเหมือนพี่ชาย แต่ถ้าวันไหนทำข้อสอบได้น้อย ผมก็แค่ลูกไม่เอาไหนที่ไม่หัดเอาพี่ชายเป็นแบบอย่าง และพอเป็นแบบนี้บ่อยเข้าซ้ำๆ ผมก็ไม่รู้แล้วว่าตัวตนของผมคือใครกันแน่
ถึงอย่างนั้นผมมองว่าทอดด์โชคดีกว่าผมตรงที่เขาได้พบกับครูคีธติ้ง เพราะครูคีธติ้งมองเห็นแววความเป็นนักกวีในตัวของทอดด์ ทั้งยังปลดล็อกสิ่งที่อยู่ในใจเขาออกมา โดยให้ทุกคนแต่งบทกวีและออกมาอ่านหน้าชั้น ซึ่งทอดด์ตั้งใจแต่งบทกวีเป็นอย่างดี แต่พอถึงเวลาเขากลับฉีกบทกวีนั้นทิ้ง เพราะคิดไปเองว่ามันไม่ดีพอ ส่งผลให้เขาไม่มีการบ้านส่งครูคีธติ้ง
“คุณแอนเดอร์สัน (ทอดด์) คิดว่าทุกสิ่งในตัวเขาช่างไร้ค่าและน่าอับอาย ใช่ไหมทอดด์ เป็นความกลัวไปเองซึ่งเธอคิดผิด ครูคิดว่าเธอมีบางอย่างในตัวที่พิเศษมากๆ”
สำหรับฉากนี้ สิ่งที่ผมชื่นชอบที่สุดในตัวครูคีธติ้ง คือการให้ความเชื่อมั่นในตัวลูกศิษย์ พร้อมกับให้โอกาสทอดด์ได้แต่งบทกวีสดๆ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่วิธีการขจัดความกลัวในใจทอดด์ ด้วยการบอกให้ทอดด์คำรามเสียงดังๆ จนทอดด์โมโห รวมถึงการจับตัวทอดด์หมุนเป็นวงกลมพร้อมกับบิลท์อารมณ์ศิลปินให้ทอดด์โพล่งบทกวีที่อยู่ในใจออกมาโดยไม่ต้องคำนึงถึงสัมผัสใดๆ ปรากฏว่าทอดด์สามารถแต่งบทกวีได้อย่างคมคายจนเพื่อนๆ ปากอ้าตาค้างไปตามๆ กัน และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทอดด์ค้นพบสิ่งที่เขาชอบ แต่ไม่เท่ากับความรู้สึกที่ทอดด์มีความมั่นใจและเริ่มเห็นคุณค่าในตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงครูคีธติ้งจะพยายามพานักเรียนไปค้นพบตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง กล้าคิดท้าทายความเชื่อเดิมๆ แต่เขาก็ยืนยันและเน้นย้ำเด็กๆ ถึงความสำคัญของการรู้จักกาลเทศะ หลังจากที่นักเรียนคนหนึ่งพยายามแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการเขียนบทความโจมตีผู้อำนวยการเรื่องแนวคิดอันคร่ำครึพร้อมเสนอให้โรงเรียนชายล้วนเปิดรับนักเรียนหญิงโดยอ้างว่าเป็นสารจากพระผู้เป็นเจ้า
“แก่นแท้ชีวิตจะต้องรู้กาลเทศะ ตอนไหนควรกล้า ตอนไหนควรระวัง คนฉลาดจะเลือกใช้ถูก …การที่เธอถูกไล่ออกมันไม่ได้ทำให้ดูกล้าแต่มันดูโง่ เพราะเธอจะสูญเสียโอกาสทอง เช่นเสียโอกาสที่จะได้เรียนอยู่กับครูไงเล่า ไตร่ตรองให้ดีเสียก่อน”
และบทเรียนอีกบทที่มีค่ามากๆ ก็คือ การที่ครูคีธติ้งขึ้นไปยืนบนโต๊ะเพื่อชวนให้นักเรียนมองสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่กว้างและลึกไปกว่าเดิม
“โลกดูแปลกไปเมื่อเรามองจากตรงนี้ ถ้าเธอไม่เชื่อก็ขึ้นมาลองดูเองสิ มาสิ อะไรที่พวกเธอคิดว่าเธอรู้ดีแล้ว ลองมองจากอีกมุมดู แม้มันอาจดูไร้สาระแค่ไหนก็ต้องลองดู
ทีนี้เวลาเธออ่าน อย่าไปมัวคล้อยตามความคิดของคนเขียน แต่ใช้หัวคิดของตัวเอง เธอต้องฝ่าฟันหารูปแบบของตัวเอง เพราะขืนเธอเริ่มต้นช้าเท่าไหร่ โอกาสที่จะหามันเจอก็จะยิ่งน้อยลง
ธอโรบอกว่าคนมักใช้ชีวิตอย่างสิ้นคิด อย่าทำตามอย่างนั้น แหวกออกมา อย่าเดินตามกันต้อยๆ พากันไปลงเหว มองดูรอบๆ ด้วย กล้าออกความคิด กล้าแสดงความเห็น”
หลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ผมเชื่อเหลือเกินว่าถ้าวันนั้นผมมีครูแบบครูคีธติ้ง บาดแผลต่างๆ ในวัยเด็กของผมโดยเฉพาะเรื่องการถูกด้อยค่าจากพวกผู้ใหญ่คงถูกรักษาจนไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้จนทุกวันนี้ ผมคงเป็นเด็กที่มีความสุขสมวัยมากขึ้น มองโลกในแง่ดีมากขึ้น
และผมก็เชื่อด้วยว่าถ้าพ่อแม่หรือครูของผมมีครูแบบครูคีธติ้ง พวกท่านคงเข้าใจได้ไม่ยากว่า เด็กทุกคนต่างมีความพิเศษในตัวเอง และปลายทางที่แท้ของการศึกษานั้นไม่ใช่เพื่อการผลิตเด็กให้ออกมาในรูปแบบเดียวกัน แต่เป็นการเจียระไนเด็กคนหนึ่งให้เปล่งประกายในแบบที่เขาเป็น