- รวม ‘ถ้อยคำทำร้ายลูก’ ในอีพีที่ 1-3 จาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์ นำมาเล่าใหม่อีกครั้งเพื่อชี้ว่า ถ้อยคำที่เหมือนจะดี และถูกใช้บ่อย ทำไมจึงไม่ดีอย่างที่คิด และอาจทำร้ายลูกอย่างไรบ้าง
อีกหนึ่งคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมล้นหลามของ The Potential ในปีที่ผ่านมา คือพอดแคสต์รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
ที่ว่า ‘ได้รับความนิยมล้นหลาม’ อาจเพราะรายการเลือกหยิบ pain point ประเด็น ‘ความสัมพันธ์’ ของคนเป็นพ่อแม่ กับ ลูก ที่หลายครั้งก็ทำเกินไป เป็นห่วงเกินไป บ้างก็รักเกินไป จนหลายครั้งทำให้ลูกอึดอัดข้องใจ หลายการกระทำทำร้ายกันขนาดเกิดแผลกินลึกในใจคนเป็นลูก
ส่วนในทวิตเตอร์ เราได้รับคอมเมนต์จากวัยรุ่น หรือ คนเป็นลูกมากมาย ที่รีทวิตไปแล้วบอกว่า ‘นี่คือตัวฉันเลย’ ‘พ่อแม่ทำแบบนี้กับฉัน ฉันจึงได้รับผลกระทบทางใจและกายแบบนี้’ มากไปกว่าการตีแผ่มูลเหตุของบาดแผล พิธีกรทั้งสองยังพาไปเข้าใจสาเหตุของปมวัยเด็ก พอเจอแล้วก็ชวนค่อยคลี่คลายมันได้… ไม่มากก็น้อย
โพสต์นี้เราขอยก ‘ถ้อยคำทำร้ายลูก’ ในอีพีที่ 1-3 มาเล่าใหม่อีกครั้งเพื่อชี้ว่า ถ้อยคำที่เหมือนจะดี และถูกใช้บ่อย ทำไมจึงไม่ดีอย่างที่คิด และอาจทำร้ายลูกอย่างไรบ้าง
“ทำไมโง่อย่างนี้”
คำจากพ่อแม่ที่อาจกลายเป็นคำสาปของคนๆ หนึ่งไปตลอดชีวิตว่า ‘ฉันคือคนที่โง่ๆๆๆ’
หลายคนคิดว่า การพูดว่า “ทำไมโง่อย่างนี้” ก็เพื่อปรับเปลี่ยนอยากให้เด็กพัฒนาตัวเองเพื่อฉลาดขึ้น แต่ครูณาชวนมองว่า การพูดเช่นนี้อาจต้องคุยกับคนที่โตแล้ว แข็งแรงแล้ว มีความคิดที่ซับซ้อนพอจะเปลี่ยนคำดูถูกต่อว่าเป็นลูกฮึด (ถ้าเชื่อเช่นนั้นว่าการต่อว่าจะกระตุ้นให้คนมีลูกฮึดได้) หรือมีพื้นฐานเข้มแข็งและรักตัวเองมากพอจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเอง
แต่กับเด็กเล็กๆ อยากให้มองว่า “เด็กคนหนึ่ง ตอนที่เขาเกิดมาใหม่ เขาเป็นชีวิตใหม่ เพิ่งเกิดมาใหม่บนโลกใบนี้ ยังไม่รู้ว่า “ฉันคือใคร” ฉันเป็นใครบนโลกใบนี้นะ ฉันมีศักยภาพยังไง ฉันเป็นคนแบบไหน แล้วคำพูดของพ่อแม่ ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไปใส่ว่า ‘ทำไมโง่อย่างนี้’ สุดท้ายสิ่งที่เขาได้มาก็เหมือนเป็นคำสาปว่า ฉันคือคนโง่ๆๆ”
อยากให้มองว่าการเริ่มต้นชีวิตของเด็กคนหนึ่ง เค้าจะค่อยๆ เติบโตขึ้นพร้อมกับเก็บคลังคำศัพท์ไว้ในหัว คำศัพท์มาพร้อมกับนิยามตัวตนของเค้า บันทึกลงใน ‘แฟ้ม’ หรือกล่องความทรงจำถึงนิยามตัวตน ลองคิดดูว่าหากเด็กคนหนึ่งเติบโตพร้อมกับ ‘คำยืนยันว่าตัวเองห่วย’ แฟ้มในชีวิตเค้าก็จะมีแต่คำๆ นี้เวลาที่เด็กไปเจอกับสถานการณ์บางอย่างในชีวิตแล้วสมองต้องประมวลเพื่อตัดสินใจ ก็อาจค้นไม่เจอเลยว่าจะใช้นิยามตัวตนที่ดีๆ ของตัวเองแบบไหนมาใช้ต่อสู้กับปัญหา แฟ้มในชีวิตเค้าเลยอาจกลายเป็น ‘แฟ้มคำสาปแช่ง’ ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาจะถือมันไปทั้งชีวิต
เมื่อต้องประมวลเลือกหยิบตัวตนมาใช้ ก็อาจเหลือแต่เสียงในหัวที่ว่า ‘ใช่แล้ว เพราะฉันมันโง่ ฉันทำได้หรอก’ ‘ฉันมันห่วย ฉันก็ทำได้แค่นี้’
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep3/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/ep1-2/
“แกไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย” / หลอกว่าเก็บมาเลี้ยง
คำพูดที่อาจทิ้งคำถามในใจเร้นลึก ‘รักฉันไหม ฉันเป็นลูกที่เธอรักไหม’
พ่อแม่หลายคนพูดด้วยความโกรธ เมื่อหายโกรธแล้วก็อาจ (ทำเป็น) ลืมมันไป แต่ลึกลงไปข้างในของลูก สิ่งที่เหลืออยู่อาจเป็นเสียงในหัวที่ว่า ‘จริงๆ แล้วพ่อแม่/ผู้ปกครอง รักเราหรือเปล่า’
“เชื่อไหม คำพูดว่า ‘ไม่น่าเป็นลูกเลย’ ‘แกไม่น่าเกิดมาเลย’ มันรุนแรงมาก ในคำพูดเป็นหมื่นเป็นแสนประโยค พูดคำนี้ไปครั้งเดียวแต่ลูกอาจจำประโยคนี้ไปทั้งชีวิต แล้วมันทำให้เขาเกิดความสงสัยเสมอเลยว่า “รักฉันไหม ฉันเป็นลูกที่เธอรักไหม” มีเด็กที่ได้ยินประโยคนี้แล้วเขาเจ็บปวดไปทั้งชีวิต”
อีกคำหนึ่งที่เชื่อว่าพูดเล่นๆ และอาจไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่พูด แต่เป็น ลุง ป้า น้า อา พี่ ที่มักหยอกด้วยมุกตลกว่า ‘เก็บมาเลี้ยง’ แต่จริงๆ แล้วมันสร้างบาดแผลเร้นลึก และมีคำถามในใจคล้ายๆ กันว่า ‘จริงๆ แล้วพ่อแม่/ผู้ปกครอง รักเราหรือเปล่า’
“พอคนในครอบครัวพูดบ่อยก็เริ่มเกิดความสงสัย เพราะเด็กก็ยังไม่รู้อะไร แล้วเราดันหน้าไม่เหมือนพี่น้อง มันเป็นความสงสัยไงพอเวลาที่ทุกข์จากเรื่องครอบครัวหรือมีเหตุการณ์ที่มันพ้องกัน เราก็จะไปดึงเหตุผลมาประกอบ เช่น ซื้อทุกอย่างให้กับคนอื่น แต่ไม่ซื้อให้เรา สงสัยว่า เอ๊ะ..หรือว่าเราไม่ใช่ลูก แล้วพอเมื่อไหร่ก็ตามที่มันถูกเชื่อมโยงเป็นวงจรว่า ‘หรือเราไม่ใช่ลูก?’ คราวนี้วงจรมันจะเริ่มแตกขยาย คิดขึ้นว่า ‘หรือว่าไม่รักเรา’ ‘หรือว่าเราไม่ใช่ลูกจริงๆ’”
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep3/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/ep1-2/
โกหก! เพราะพูดความจริงแล้วถูกลงโทษ ต่อไปจึง… ก็จะโกหกนี่แหละแต่ให้เนียนขึ้น
สำหรับเด็กเล็ก ทั้งคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ และครูณา พูดในเทปนี้คล้ายกันว่า เด็กเล็กไม่ได้อยากโกหก เพียงแต่เค้าไม่อยากถูกดุ วิธีที่ครูณาแนะนำคือ ทุกครั้งที่เด็กพูดความจริงให้กอดเค้าและบอกว่า “ขอบคุณนะที่ลูกบอกความจริงกับแม่ แม่จะได้รู้” เพื่อย้ำว่า เราชอบที่เค้าเป็นคนที่ซื่อสัตย์และพูดความจริง คล้ายๆ การสร้างแฟ้ม ‘ความซื่อสัตย์’ ให้กับเค้า
ส่วนวิธีคิดสำหรับพ่อแม่ที่ใช้ทั้งกับเด็กเล็กและโต คือ “เด็กที่พูดโกหกกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ใช้วิธีลงโทษแล้วเด็กไม่กล้าพูดความจริง เด็กถึงต้องหลีกเลี่ยงการพูดความจริงด้วยการโกหก ดังนั้นคนที่โกหกเพราะเขากลัวถูกลงโทษ พ่อแม่ต้องกลับมาที่ตัวเองว่า อะไรในตัวเราที่ทำให้เด็กไม่กล้าพูดความจริง เราต้องหยุดกระบวนการที่บอกว่า “ทำไมลูกเป็นเด็กที่โกหก” เพราะถ้าพูดแบบนี้เขาจะทำให้มันเนียนขึ้น เขาจะรู้สึกถึงความสูญเสียบางอย่างในจิตใจเขา แล้วเขาก็ไม่อยากกระทบจากคำพูดรุนแรง เขาก็จะทำให้มันเนียนขึ้น หรือหาทางที่จะทำให้จับไม่ได้”
คำแนะนำเชิงจิตวิทยาสำหรับผู้ปกครองที่รู้ว่าเด็กโต กำลัง trickly แต่ไม่อยากต่อว่าตรงๆ คือ…
“ถ้าเป็นพี่ก็จะกอดเขาแล้วก็บอกว่า ‘แม่เข้าใจนะ แม่รัก แล้วครั้งนี้แม่ก็จะเชื่อ แต่ลูกต้องเข้าใจนะว่า ความเชื่อหรือศรัทธามันหายไปได้ ถ้าไม่แน่ใจหรือว่าลูกมีอะไรที่อยากจะพูดมากกว่านี้ก็มาบอกแม่ได้นะ’ พี่ก็จะพูดกับเขาโดยที่ให้เขารู้ว่าเขามีทางเลือกนะว่า เขามาพูดความจริงกับพี่ได้ หรือการพูดโกหกเนี่ย พี่รู้นะ แต่พี่จะไม่ใช้คำพูดว่า ‘เธอเป็นคนพูดโกหก’ แต่พี่จะทำให้เขารู้ว่า เขาควรจะเป็นคนที่ทำตัวเองให้มีความวางใจ”
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep3/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/ep1-2/
ระวัง, อย่า, ไม่ : ยิ่งไม่ ก็ยิ่งทำ (เพราะสมองสั่งแบบนั้นจริงๆ)
ความน่าตกใจของคำว่า ‘ไม่’ ก็คือ ยิ่งพูดว่าไม่ สมองก็ยิ่งเห็นภาพนั้นแล้วก็ทำให้อยากทดลองโดยไม่รู้ตัว เพราะสมองเราไม่ซับซ้อน บอกไม่ให้นึกถึงอะไร มันก็เห็นเป็นภาพนั้นแหละ อย่าแหย่ปลั๊กไฟนะ… ภาพแหย่ปลั๊กไฟขึ้นมาทันที / อย่าวิ่งนะ …ภาพวิ่งขึ้นมาทันที
วิธีการที่ได้ผลคือวิธีการที่ไม่ขัดกับวงจรสมอง คือ เมื่อไม่อยากให้ลูกทำอะไร ให้บอกในสิ่งที่ ‘อยากให้เขาทำ’ แทน เช่น เปลี่ยนจากคำว่า อย่าเสียงดัง! เป็น พูดเสียงเบาลงอีกนิดลูก / อย่าเล่นบาสเสียงดัง! เป็น ไปเล่นบาสข้างนอกลูก
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่อันตรายจริงๆ อย่างการแหย่ปลั๊กไฟ ครูณาแนะว่า แค่ทำเสียง “แหนะ” หรือ “ฮึ่มมม” แค่นี้เด็กก็รับรู้พลังงานการห้ามปรามจากแม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ครูณาก็ว่า… ปล่อยให้เด็กได้ทดลองบาดเจ็บ มีบาดแผล และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผจญภัยด้วยตัวเอง
ซึ่ง ถ้าลูกพลาดมาแล้วก็ขอให้ระวังอีกคำคือ ‘แม่บอกแล้ว’ ‘ครูบอกแล้ว’ ‘ฉันบอกเธอแล้ว’ ซึ่งมันไม่ดียังไง คลิกหน้าถัดไปเลยค่ะ 🙂
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep2/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/
“เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ” สิ่งที่คิดในใจลูกก็คือ “ได้ ต่อไปฉันจะทำให้เนียนขึ้น!”
เชื่อว่าหลายคนไม่ชอบคำนี้ค่ะ “เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ” “ฉันเตือนเธอแล้วไง เคยบอกแล้วใช่มั้ย” เพราะการพูดแบบนี้ไม่ได้ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขหรือดีขึ้นมาเลย คนฟังรู้สึกถูกสั่งสอน ถูกปัด และเหมือนซ้ำเติมให้ความรู้สึกยิ่งแย่ลง
เวลาพูดคำนี้ แปลว่าเราต้องเพิ่งไปทำอะไรมาบางอย่าง เพิ่งไปเรียนรู้บางสิ่งมาแต่อาจตัดสินใจพลาด กระบวนการที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ ‘เรียนรู้ความผิดนั้น และจะไม่ทำอีก’ ซึ่ง ครูณาบอกว่า เมื่อพ่อแม่พูดคำเหล่านี้ไป กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้จะสิ้นสุดทันที กลายเป็นความโกรธ เป็นความผิดหวัง เป็นอัตตาที่ตีขึ้นมาแทน
“จริงๆ เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองได้เยอะมากนะ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสอนเขาแล้ว เราสร้างประสบการณ์ให้เขาแล้ว แต่สุดท้ายเขาทำพลาด สิ่งที่เราควรทำคือ ต้องเชื่อใจและวางใจเลยว่าเขาเรียนกับมันแล้ว แล้วก็กอดเขา บอกเขาว่า ‘รู้สึกแย่จังเลยเนอะ’ แล้วจบ เราต้องวางใจว่ามนุษย์เรียนรู้แล้ว เชื่อไหมว่าถ้าเราทำ Process นี้ได้ สงบปากสงบคำกับคำนี้ได้ หลังจากนั้นเขาจะทำมันจริงๆ เขาจะตั้งใจกับมันจริงๆ”
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep2/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/
อย่าไปทำแบบนั้น เดี๋ยวตำรวจมาจับ / ตุ๊กแกมากินตับ
การสร้างเงื่อนไขให้เด็กกลัวกับสิ่งที่ไม่มีเหตุผล
อีกหนึ่งประโยคคลาสสิคที่เรียกว่าต้องได้ยินกันแทบทุกบ้าน และหลายยุคหลายสมัยก็คือ “อย่าไปทำแบบนั้น เดี๋ยวตำรวจมาจับ / ตุ๊กแกมากินตับ” ซึ่งบางที โตมาเราก็งงว่า เรื่องแค่นี้ตำรวจก็มาจับแล้วเหรอ เราทำผิดอะไร?
การสร้างเงื่อนไขแบบนี้คือการทำให้เด็กหยุดการกระทำด้วยความกลัว แต่ไม่ได้เข้าใจ และนี่แปลว่าเรากำลังสร้างความกลัวให้กับสิ่งที่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน ไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน
วิธีที่ดีคือ เราอยากให้เค้าทำอะไร เราบอกเค้าไปตรงๆ
“‘ระมัดระวัง’ กับ ‘ขี้กลัว’ คนละแบบกันนะ เด็กที่ขี้กลัว กลัวกับเรื่องไม่เข้าเรื่อง ทำไมต้องอยากให้เด็กกลัวตำรวจล่ะ ในเมื่อตำรวจเป็นคนที่ช่วยชีวิตเรา ช่วยสิ่งที่ดี แล้วทำไมเวลาที่บอก ‘อย่าไปทำงั้นนะ เดี๋ยวตำรวจจับ’
“มันคล้ายกับว่าคุณค่าของมนุษย์ที่ตำรวจจะจับเนี่ยมันต่ำต้อยมากเลย แค่ทำแค่นี้ตำรวจก็จะมาจับแล้ว เด็กเขาไม่ได้คิดซับซ้อนแบบนั้น แต่เราเอาลำดับการคิดวิเคราะห์ของเด็กไปเทียบกับสิ่งที่…มันแค่ทำแบบนี้ตำรวจก็จับ แล้วมันทำให้เขากลัวตำรวจโดยไม่เข้าเรื่อง บางทีเราไปสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เขารู้สึกกลัวกับสิ่งที่ไม่ได้มีเหตุผลที่ดี ถ้าเราไม่อยากให้เขาทำอะไร เราก็สื่อสารให้ชัดเจนว่า ทำไมควรหรือไม่ควรทำ บอกไปเลย ‘อย่าไปทางนั้นนะลูก เดี๋ยวแม่มองไม่เห็นแล้วแม่จะเป็นห่วง’”
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep2/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/
(ลูกล้มแล้วตีพื้น) นี่แหนะ พ่อ/แม่จัดการให้แล้ว
การฝึกให้ลูกโทษอย่างอื่น ไม่โทษตัวเอง
“นี่เป็นการฝึกให้โทษอย่างอื่น ไม่โทษตัวเอง ไม่เรียนรู้ที่จะจัดการตัวเอง เพราะฉะนั้นก็จะบ่มเพาะบางอย่างว่าพอมีอะไรปุ๊บ เขาจะชี้ออกนอกตัวทันทีว่าเขาจะไปจัดการกับอะไรดี ถ้าเราอยากปลอบประโลมเขา อยากทำให้เขาหายเร็วๆ ล้มก็ดูแลจิตใจ ดูแลอารมณ์ ลูกล้มเขาเจ็บ ให้สะท้อนอารมณ์เลย ‘เจ็บใช่ไหมลูก มากอดที’ แล้วเขาก็จะเรียนรู้ของเขาเลย ไม่ต้องฝึกเขาเรื่องโทษคนอื่น”
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep2/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/
ไม่ต้องร้องลูก
เราไม่ควรถูกสอนให้ ‘ปฏิเสธ’ อารมณ์ แต่ต้อง ‘รู้จัก เท่าทัน’ อารมณ์
เข้มแข็งลูกไม่ร้อง ไม่เจ็บลูกเหมือนมดกัด อย่าอ่อนแอกับเรื่องแค่นี้ …หลายคนถูกฝึกให้เติบโตมากับความเข้มแข็ง แต่อีกด้านของเหรียญเดียวกัน นี่คือการปฏิเสธอารมณ์ เก็บกด นานวันเข้าก็ไม่รู้ว่า ที่กำลังรู้สึก มันเรียกว่าอะไร
โดยเฉพาะวัยเด็กซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการ ‘เรียนรู้อารมณ์’ (ในแง่พัฒนาการด้วย) รู้จักกับความรู้สึก ซึ่ง… ต้องคิดบนฐานว่าเด็กๆ เกิดมายังไม่ค่อยมีประสบการณ์ความเจ็บปวด ล้มลุกคลุกคลานเชิงชีวิต
เวลาที่เจ็บกาย เจ็บใจ เด็กๆ ควรได้รู้จัก รู้จักทั้งก้อนความรู้สึก และคำศัพท์ และรู้ว่าเมื่อเกิดความรู้สึกแบบนี้ มันเป็นแบบไหนกันนะ เจ็บที่ตรงไหน แบบนี้เรียกว่าเจ็บ โกรธ ไม่พอใจ งอน เสียใจ และอื่นๆ ควรรู้จักให้หมด
การรู้จักความรู้สึกไม่เท่ากับความเปราะบางหรืออ่อนแอ แต่เป็นพัฒนาการ เป็นช่วงวัย และได้รู้จักชีวิต
“พอบอกว่า ‘อย่าร้องๆ’ ‘ไม่ร้องๆ’ นั่นน่ะ… คือการปฏิเสธอารมณ์ พอปฏิเสธอารมณ์ไปเรื่อยๆ ก็มองว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ผิด จะทำให้เด็กเลือกที่จะไม่แสดงออกทางอารมณ์ เลือกที่จะไม่ทำความเข้าใจกับอารมณ์ วันหนึ่งเขาก็ไม่รู้เลยว่าเขาเป็นอะไร เหมือนผู้ใหญ่ในรุ่นพวกเรา เต็มไปหมดเลยนะ วันนี้ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คือหงุดหงิด แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร
“แล้วก็มองว่าคนที่ร้องไห้คือคนอ่อนแอ และท้ายที่สุดเขาไม่ได้อยู่กับมัน หรือบางทีเด็กไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดหมายถึงอะไร เช่น เขาล้มครั้งแรกของชีวิต เลือดไหล เกิดมาไม่เคยมีประสบการณ์นี้ แล้วแม่บอกว่า “ไม่เป็นไรๆ ไม่เจ็บ” แต่เขางงว่า แล้วไอที่เขาผิดปกติอยู่ตอนนี้เรียกว่าอะไร? เราพูดมาทุกตอนว่าสมองเหมือนเป็นกล่องเปล่าที่เราค่อยๆ ใส่ข้อมูล เขายังไม่มีพจนานุกรมของความรู้สึกเกิดขึ้นมาเลย แล้ววันหนึ่งที่เขามีความรู้สึกแปลกๆ เกิดขึ้น แล้วแม่บอกไม่เป็นไร แล้วไอที่รู้สึกอยู่เนี่ย มันต้องเป็นอะไรสักอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กก็ไม่เข้าใจ”
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep3/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/episodes-3/
เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ / เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่
แต่ความรักและเสียสละ ไม่ได้มาจากการถูกบังคับ(ให้รัก)
ในเบื้องหลังของประโยคคือนี้ ความอยากให้พี่น้องรัก เคารพ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ต้องย้ำว่า เราบังคับให้รักและเสียสละไม่ได้ สิ่งที่ได้อาจไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความไม่เข้าใจและหลายๆ ครอบครัว ลามไปถึงความเกลียดชัง
“แต่ความเสียสละหรือว่าความรักต้องถูกสร้างจากจิตใจเด็กข้างใน ถ้าเราไปบังคับให้เขาเสียสละ ให้มีน้ำใจแบ่งปัน ให้ยอมรับผิดหรือขอโทษ หากเราบังคับเขาให้ทำ… มันไม่มีประโยชน์เลยนะ เพราะมันไม่ได้เกิดคุณค่าจากข้างใน เด็กสองคนแย่งของกัน แล้วเราก็บอกว่า “แบ่งน้อง” “ให้น้อง” “เป็นพี่ต้องเสียสละ” ถามหน่อย วิธีการแบบนี้คนที่เป็นพี่จะรู้สึกว่า “ได้ครับ ผมรักน้อง” มันจะมีไหม?
“ความยุติธรรม ต้องเกิดจากที่คนสองคนดีลกันแล้วไปเจอความยุติธรรม ลองนึกภาพสิ จะมีพ่อแม่หลายคนมากที่เข้ามาจัดการว่า ‘เอามานี่ แม่แบ่ง(ของ)ให้เท่าๆ กันเอง’ (ซึ่งของสิ่งนั้น เดิมเป็นของคนพี่มาก่อน) อย่างงี้ลูกคนโตเขาจะยอมไหม เพราะมันไม่ได้เกิดจากกระบวนการข้างในของเขา เขาก็จะรู้สึกเหมือนกับว่า ‘ก็มันของผม’ แต่การที่เราให้ลูกหาทางออกของเขา ให้เขาเห็นว่าเขาคิดกับมันได้นะ แล้วทำให้เขาแสดงมันออกมาด้วยตัวเอง นี่คือความยุติธรรม นี่คือความเสียสละ”
ชวนอ่านบทความฉบับเต็ม ที่จะแชร์เคล็ดลับจากสถานการณ์จริง ว่าด้วยการเข้าไปแทรกแซงของผู้ปกครองอย่างได้ผล ไม่บังคับให้รักกัน แต่สุดท้ายเด็กๆ จะได้เรียนรู้สร้างความสัมพันธ์จากการทะเลาะเบาะแว้งกันเอง
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep3/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/episodes-3/
ต้องทำได้ดิ ง่ายนิดเดียว
ถ้าทำได้ก็ไม่ภูมิใจเพราะมันง่ายนิดเดียว แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะโทษตัวเอง เรื่องนิดเดียวทำไมฉันทำไม่ได้
“ให้พ่อแม่ลองทบทวนนะ สมมติว่าสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ตรงหน้ามันยากมากๆ สำหรับเขา เช่น ปีนหน้าผา แล้วเราพูดว่า ‘ง่ายนิดเดียว’ ถ้าเขาทำได้ เขาจะภูมิใจกับสิ่งที่ง่ายนิดเดียวไหม? แล้วเขาก็คงงงอะว่า มันง่ายตรงไหนนะ ทำไมฉันทำแล้วมันยากจัง เพราะฉะนั้นคำว่า ‘ง่ายนิดเดียว’ เด็กทำได้ก็จะไม่ค่อยภูมิใจ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่นิดเดียว คนอื่นเขาก็ทำกัน หรือไม่ก็สงสัยว่า ทำไมกูทำแทบตายแต่คนบอกว่าง่ายนิดเดียวนะ”
วิธีที่ครูณาใช้คือ ถ้าอย่างนั้น พ่อแม่ต้องทดลองทำดู ให้รู้ไปเลยว่าง่ายอย่างที่เราคิดจริงๆ เปล่า เช่น การปีนหน้าผา ครูณาจับมือลูกไปลองปีนเอง เมื่อลองและรู้ว่ามันยาก ก็พูดกับลูกว่า “มันยากจริงๆ กลับบ้านกันเถอะ” เมื่อลูกเห็นแล้วว่ามันยากสำหรับแม่เหมือนกัน ถ้าลูกได้ลองแล้วทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะว่าแม่ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าลูกลองแล้วทำได้ ความภูมิใจเกิดกับเค้าทันที
กุศโลบายก็คือ ผู้ปกครองได้เข้าใจว่ามันยาก และลูกจะได้เห็นว่า พ่อแม่ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน พ่อแม่ก็ผิดพลาดได้เหมือนกัน ได้เห็นความ ‘ไม่เก่ง’ ของการเป็นพ่อแม่ ความกดดันมันก็ลดระดับลง แล้วอาจจะพานอยากมีลูกฮึดขึ้นมาก็ได้!
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep3/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/episodes-3/
เรียนหนังสือเก่งๆ นะ / เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะ
แต่เด็กทุกคน ‘เก่ง’ ในแบบของตัวเอง และเราไม่ต้องเห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่เราควรสื่อสารแลกเปลี่ยนกันได้
หากเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาไม่มีอะไรเหมือนกัน ทุกคนเก่งและมีตัวตนในแบบของตัวเอง การให้พรด้วยความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ ก็อาจไปจำกัดความเก่ง หรือ ศักยภาพที่เค้ายังเติบโตขึ้นในทางของเค้า ให้เหลือรูปเดียวคือ ‘เรียนให้เก่ง’
“พี่พูดจริงๆ นะ ถ้าเราไม่รู้จะอวยพรอะไร กอดคืออะไรที่เราอยากจะส่งความรู้สึกดีๆ ให้กับเขา เราลูบหัวเขา แล้วบอกว่า ‘ดูแลตัวเองดีๆ นะลูก’ มันเป็นพรที่มีพลังมหาศาลเลย
“หรือคำว่า เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะ’ ไม่รู้นะ แต่สำหรับพี่กับลูก เราฝึกว่าเราจะเท่ากัน เขาไม่จำเป็นจะต้องเชื่อว่าพี่เป็นคนที่ถูกทุกอย่าง เวลาบอกว่า ‘ต้องเชื่อฟังพ่อแม่นะ’ สู้เราพูดว่า ‘ลูก มีอะไรก็คุยกับพ่อแม่นะ’ อย่างงี้ยังรู้สึกว่าเราสามารถที่จะคุยอะไรได้ แต่พอบอกว่าเชื่อฟัง มันเหมือนพ่อกับแม่มีคำตอบอยู่อีกอย่างหนึ่งที่อาจไม่ตรงกับเราแล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเชื่อฟัง การไม่เชื่อฟังพ่อแม่เป็นสิ่งที่ผิด ความจริงเราไม่ต้องเชื่อฟัง เราเห็นต่างได้ เราคุยกันได้ แต่สื่อสารกันดีๆ ในบ้าน”
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep3/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/episodes-3/
ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูกนะ
“เป็นสิ่งที่พ่อหรือแม่มักคิดเสมอแหละ แต่ประเด็นคือ เรากำลังเอาความดีของเราทั้งหมดไปให้ลูกแบก เหมือนกับว่าฉันทำมาทั้งหมดก็เพื่อเธอ เธอทำผิดพลาดไม่ได้นะ เธอหลุดจากความดีหรือความรักที่ฉันนิยามไว้ไม่ได้นะ เพราะฉันอุทิศทั้งหมดให้แก่เธอ แล้วมันทำให้เขาแบกมากเลย แล้วเวลาที่เขารู้สึกว่าเขากำลังทำบางอย่างที่ไม่ได้สอดคล้องกับความรักและความดีในนิยามของแม่เนี่ย เขารู้สึกว่าเขากำลังผิด เขากำลังทำบาป
“ฉะนั้นในความรัก พี่กลับมองว่าคนที่พูดแบบนี้เขาเห็นแก่ตัวกับลูกนะ เพราะเขาให้และทำทุกอย่างโดยที่หวังว่าลูกจะเห็นคุณค่าตรงนี้ ซึ่งสุดท้ายความรักที่เขาทำมาตั้งเยอะ มันกลายเป็นไม่มีคุณค่าหรือมันกลายเป็นไม่บริสุทธิ์ แล้วมันทำให้ลูกสงสัย พี่รู้สึกว่าคำพูดนี้มันหนักไปสำหรับคนที่เป็นเด็ก”
บทความ: https://thepotential.org/family/overprotective-parents-ep3/
Podcast: https://thepotential.org/podcasts/overprotective-parents/episodes-3/