- ความสามารถในการประสบความสำเร็จในชีวิตรัก คนที่เชื่อใน ‘ความพยายาม’ ก็คือ ตนเองมีความสามารถในการสร้างรักที่ดี ทุกอย่างมาจากความพยายามในการฝ่าฟันและการปรับตัว ส่วนคนที่เชื่อใน ‘คู่แท้’ ก็คือรักที่ดีจะเกิดก็ต่อเมื่อพบกับคนที่ใช่
- มุมมองเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนเราพัฒนามาตั้งแต่เด็กๆ ผ่านการเรียนรู้โดยเฉพาะจากการสังเกตคนในครอบครัว เช่น ใครที่มีพ่อแม่มีเรื่องกันแล้วไม่เคยปรับความเข้าใจกันได้ดีๆ เสียที รอให้หายโกรธไปเอง อาจเชื่อในคู่แท้มากกว่า ส่วนใครที่พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย แต่ปรับความเข้าใจกันลงตัวผ่านการพูดคุยได้ ก็อาจจะเชื่อในความพยายามมากกว่า
- ในภาพรวมแล้วส่วนใหญ่คนที่เชื่อในความพยายามมักจะเป็นคู่รักที่ไปรอดมากกว่า แต่ก็กลับส่งผลเสียกับบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาที่แก้ไขไม่ได้แต่ก็ดันทุรังจะยังอยู่ในชีวิตรักที่ไม่มีความสุขต่อไป
ไม่ว่าโลกจะไฮเทคขึ้นแค่ไหน แต่เรื่องของความรักนั้นยังไงเรื่องของ ‘ความเชื่อ’ ก็ยังมีอิทธิพลกับทั้งสังคมไทยและต่างประเทศไม่น้อยเลยครับ คนไทยคงจะคุ้นเคยกับเรื่องของ ‘บุพเพสันนิวาส’ หรือคำพูดที่ว่า “คู่กันแล้วย่อมไม่แคล้วกัน” ช่วงที่ผ่านมากระแสภาพยนตร์อินเดียกำลังมาแรงซึ่งในสังคมฮินดูนั้น ‘พรหมลิขิต’ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง หรือแม้แต่ในประเทศตะวันตก คำว่า ‘ชะตา’ กับคำว่าความรักก็อยู่คู่กันในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง มีคนจำนวนมากเชื่อว่า เราจะคู่กับใครนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าไม่ใช่คนที่เป็น ‘เนื้อคู่’ ต่อให้เจอกันก็ไม่รัก หรือรักแล้วก็ไปไม่รอด
อย่างไรก็ตามในสังคมสมัยใหม่ที่เน้นถึงพลังของคนแต่ละคน ‘ความพยายาม’ เป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญไม่แพ้กัน และความรักเองก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่หลายคนเชื่อว่า
รักที่ดีนั้นเกิดจากการพยายาม ไม่ว่าจะตั้งแต่การออกแสวงหาคนรัก การปรับตัวให้เขาชอบ การปรับตัวเข้าหากัน การจัดการปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคกับความรัก เหมือนดังคำพูด “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” เขาจะเกิดมาเป็นคู่กับเราไหมเราไม่อาจรู้ มันต้องพยายามถึงจะคู่กันแล้วรอด
เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่แวดวงจิตวิทยาสนใจครับ ธรรมชาติแล้วคนเรานั้นจะมีมุมมองในการมองโลกที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน มุมมองที่ว่านั้นคือมุมมองในแง่ว่าการทำสิ่งใดให้สำเร็จหรือแก้ปัญหาสิ่งใดได้นั้นมันเกิดขึ้นจาก ‘ตำแหน่งไหน โดยแบ่งเป็น เกิดขึ้นจากภายใน หรือเป็นเรื่องที่ตัวเราเองจัดการได้ สามารถเปลี่ยนแปลงตามความพยายาม หรือ เกิดขึ้นจากภายนอก หรือเป็นสิ่งที่ตัวเราทำอะไรไม่ได้ เพราะสังคม บุคคลอื่นหรือโชคชะตา ฯลฯ กำหนดไว้ มุมมองสองฝั่งแบบนี้มีอยู่ในหลากหลายด้านของชีวิต เช่น ในด้านการประสบความสำเร็จในการเรียน การงาน และความรักเองก็เช่นกัน
โดยงานวิจัยทางจิตวิทยาเรื่องมุมมองของความสามารถในการประสบความสำเร็จในชีวิตรัก หากคนเชื่อว่า ‘เกิดจากภายใน’ นักจิตวิทยาตั้งชื่อว่าเป็นคนที่เชื่อใน ‘ความพยายาม’ ก็คือ ตนเองมีความสามารถในการสร้างรักที่ดี ทุกอย่างมาจากความพยายามในการฝ่าฟันและการปรับตัว แต่หากคนเชื่อว่า ‘เกิดจากภายนอก’ นักจิตวิทยาตั้งชื่อว่าเป็นคนที่เชื่อใน ‘คู่แท้’ ก็คือรักที่ดีจะเกิดก็ต่อเมื่อพบกับคนที่ใช่ คนที่เหมาะสม ไม่ว่าจะชะตาหรืออะไรลิขิตมาให้ หรือแค่บังเอิญเกิดมามีลักษณะที่เข้ากับเราได้พอดี ไม่ว่าจะมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือทางอื่นๆ ก็แล้วแต่ ถ้าไปรักกับคนที่ไม่ใช่คู่แท้ พยายามไปก็ไร้ผล
ประเด็นที่นักจิตวิทยาศึกษาเรื่องนี้ เพราะอยากรู้ว่าแล้วมุมมองที่ต่างกันนี้ส่งผลอย่างไรกับชีวิตรัก แบบไหนจะทำให้แต่ละคนมีความสุข หรือประสบความสำเร็จในชีวิตรักมากกว่า เรามาดูผลการวิจัยกันครับ
ช่วงการหาคู่ จากการสำรวจพฤติกรรมในแอปหาคู่ พบว่าคนที่เชื่อในคู่แท้มักจะช่างเลือกมากกว่า เพราะเขาเชื่อว่าต้องมีคนที่เป็นคู่แท้อยู่ ดังนั้นคนที่ดูแล้วไม่ใช่หรือมีอะไรไม่ถูกใจแม้แต่นิดเดียวเขามักจะไม่คิดจะใส่ใจ เพราะคู่แท้น่าจะโดนใจกว่านี้ แต่คนที่เชื่อในความพยายามจะเปิดใจมากกว่า และลองพยายามสานสัมพันธ์กับคนที่อาจจะถูกใจพอสมควร แต่ไม่ได้ถูกใจในทุกเรื่อง เผื่อดูว่าอาจจะชอบคนนี้มากขึ้นในอนาคตก็ได้
ในขั้นคบหาดูใจ คนที่เชื่อในคู่แท้นั้นถ้าเกิดบังเอิญไปเจอปัญหาให้ผิดใจ หรืออุปสรรคก็มักจะถอนตัวทันที เพราะความไม่ราบรื่นเป็นสัญญาณว่าคนนี้ไม่ใช่คู่แท้ แต่คนที่เชื่อในความพยายามจะลองแก้ไขปัญหาที่เจอมากกว่า ว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นแก้ไขได้ไหม ถ้าแก้แล้วได้ผลบ้าง ก็จะพยายามต่อไป
ในขั้นที่ตัดสินใจคบหาหรือแต่งงานแล้วใหม่ๆ คนที่เชื่อในคู่แท้แรกๆ มักจะพอใจกับคนรักมากกว่า เพราะมองข้ามปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น คิดว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าถึงขั้นคบกันแล้วแปลว่าคนนี้แหละ น่าจะเป็นคู่แท้ เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะไม่ส่งผลอะไรกับชีวิตรักแน่นอน แต่คนที่เชื่อในความพยายามจะพยายามมองหาปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน พยายามดูว่ามีสิ่งที่ต้องปรับปรุง ต้องแก้ไขบ้าง เพราะเชื่อว่าการฝ่าฟันอุปสรรคเป็นเส้นทางสู่รักที่ยั่งยืน
และพอคบหรือแต่งงานกันไปนานๆ หากยังคงเจอปัญหาที่รุนแรงจนชีวิตรักนั้นแย่ คนที่เชื่อในคู่แท้จะเริ่มรู้สึกว่าคนนี้ไม่น่าจะเป็นคู่แท้ จะมองว่าตนเองในอดีตนั้นเลือกผิด มองว่าชีวิตรักที่ผ่านมาคือความผิดพลาด และตัดสินใจเลิกราได้ง่ายกว่า เพราะคนที่ไม่ใช่คู่แท้ อยู่กันไปก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น แต่คนเชื่อในความพยายาม จะพยายามแก้ไขปัญหานั้นให้ได้ แม้ว่าปัญหานั้นจะคาราคาซังพยายามแก้แล้วก็แก้ไขไม่ได้เสียที เพราะเชื่อว่าอุปสรรคต่างๆ ยังไงก็ต้องผ่านไปได้จากความพยายาม
แล้วจากความแตกต่างนี้ คนมองแบบไหนจะมีชีวิตรักที่ดีกว่า คำตอบคือมุมมองแต่ละแบบต่างก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปครับ แต่ในภาพรวมแล้วส่วนใหญ่คนที่เชื่อในความพยายามมักจะเป็นคู่รักที่ไปรอดมากกว่า มีโอกาสที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นมากกว่า เพราะชีวิตรักนั้นเป็นปกติที่ต้องเจอปัญหา เจออุปสรรค ลิ้นกับฟันกระทบกันเป็นเรื่องธรรมดา คนที่เชื่อในความพยายามจะไม่มองปัญหาในแง่ลบ แต่จะมองเป็นความท้าทาย เป็นเรื่องปกติของความรักที่ต้องฝ่าฟัน
แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเชื่อในความพยายามก็กลับส่งผลเสียกับบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาที่แก้ไขไม่ได้แต่ก็ดันทุรังจะยังอยู่ในชีวิตรักที่ไม่มีความสุขต่อไป
รวมถึงพวกที่เจอกับปัญหาที่ไม่ควรทน อย่างเช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งคนที่เชื่อในความพยายามก็มักจะพยายามหาทางทำให้ชีวิตรักกลับมาดี ทนตกเป็นเหยื่อในการถูกทำร้ายต่อไปมากกว่า ยังไงก็ต้องหาทางแก้ไขให้ได้ ที่ยังแก้ไม่ได้อาจจคิดว่าตนพยายามไม่พอ โดยไม่มองว่าปัญหาอาจจะเกินความสามารถแล้ว
ในทางตรงกันข้าม คนที่เชื่อในคู่แท้นั้นมักจะเปิดโอกาสให้ตัวเองน้อยกว่า เพราะพยายามเฟ้นหาคนที่ใช่จริงๆ ซึ่งในความเป็นจริงมักจะหาได้ยากมาก และตอนที่คบหาดูใจก็มักจะไม่ทนกับปัญหา และจะไม่พอใจเมื่อเจอปัญหามากกว่า ในแต่ช่วงคบกันใหม่ๆ คนที่เชื่อในคู่แท้จะเครียดต่อความสัมพันธ์น้อยกว่า เพราะไม่ใส่ใจกับปัญหาจุกจิกยิบย่อย เพราะเชื่อในการตัดสินในของตนเอง แต่หากยังคงมีปัญหาอยู่เรื่อยๆ โอกาสที่จะแก้ไขได้ก็มีน้อย เพราะมักจะมองข้ามปัญหาไปตั้งแต่แรก และพอรู้ตัวถึงปัญหา คนที่เชื่อในคู่แท้จะมองปัญหาในแง่ลบกว่ามาก มองเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิด และตัดสินใจใช้การเลิกราเป็นทางออก ดังนั้นคู่ที่อยู่กันยืดเลยมีน้อยกว่าคนที่เชื่อในความพยายาม อย่างไรก็ตามหากเลิกราไปแล้ว ก็มักจะไม่ได้ติดใจว่าปัญหาเป็นเพราะตนเอง และไม่ยึดติดในการเปิดโอกาสในชีวิตใหม่ๆ โดยเฉพาะถ้าเจอคนที่คิดว่าใช่อีกครั้ง
ความแตกต่างในมุมมองนั้น บางครั้งไม่ได้เห็นชัดเจน แต่เป็นรูปแบบความคิดอยู่ลึกๆ ในใจโดยที่ไม่รู้ตัว แต่มันจะส่งผลต่อการตัดสินใจและตีความสิ่งต่างๆ โดยมุมมองเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนเราพัฒนามาตั้งแต่เด็กๆ ผ่านการเรียนรู้โดยเฉพาะจากการสังเกตคนในครอบครัว เช่น ใครที่มีพ่อแม่มีเรื่องกันแล้วไม่เคยปรับความเข้าใจกันได้ดีๆ เสียที มีแต่รอให้หายโกรธไปเอง ปล่อยปัญหาไว้แบบนั้น ก็อาจจะเชื่อในคู่แท้มากกว่า ส่วนใครที่พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย แต่ก็มีปรับความเข้าใจกันลงตัวผ่านการพูดคุยได้ ก็อาจจะเชื่อในความพยายามมากกว่า นอกจากนี้ยังรวมถึงการสังเกตคู่รักคนอื่นๆ หรือแม้แต่การสั่งสอนจากคนรอบตัวและสื่อต่างๆ อีกด้วยว่าคนเรามีความสามารถในการแก้ไขชีวิตรักได้มากน้อยแค่ไหน
เนื่องจากมุมมองเหล่านี้สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก การเปลี่ยนแปลงเลยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนไม่ได้เลยนะครับ โดยเฉพาะการไปเจอประสบการณ์ที่ตรงกันข้ามกับมุมมองของตนเองอย่างรุนแรงและบ่อยครั้ง เช่น คนที่เชื่อในความพยายาม แต่ไปเจอคนสนิทที่เลิกรากับคนรักโดยที่ตนรับรู้ว่าพวกเขาพยายามแล้ว ก็อาจจะเริ่มเชื่อในคู่แท้ขึ้นบ้าง หรือคนที่เชื่อในคู่แท้ ที่เลือกเฟ้นมาอย่างดี แต่ก็ต้องเลิกรากันหลายต่อหลายครั้ง ก็อาจจะเริ่มเชื่อในเรื่องคู่แท้น้อยลง
นอกจากนี้มุมมองในแต่ละคนก็มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป บางคนอาจจะอยู่กลางๆ ไม่ได้เชื่อทั้งความพยายามหรือคู่แท้มากนัก และงานวิจัยในยุคหลังๆ พบว่ามุมมองในด้านความสามารถในการประสบความสำเร็จในชีวิตรักนั้นแตกต่างจากมุมมองความสำเร็จด้านอื่นๆ เช่น การงานหรือการเรียนที่หากไม่เชื่อในปัจจัยภายในก็ต้องเชื่อภายนอกเท่านั้น แต่ในเรื่องความรักตรงที่คนอาจจะมีมุมมองที่เชื่อทั้งภายในและภายนอกหรือ ‘ความพยายาม’ กับ ‘คู่แท้’ ทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ได้ คือเชื่อว่าต้องเจอทั้งคนที่ใช่และต้องพยายามด้วยรักถึงจะสำเร็จ
ที่ผมยกประเด็นเรื่องมุมมองนี้มา สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่ามีมุมมองแบบใดหรอกนะครับ แต่คือการนำข้อดีของมุมมองแต่ละแบบไปปรับใช้ในชีวิตรักมากกว่า เพราะถ้าเรารู้ว่ามีมุมมองที่ส่งอิทธิพลต่อการมองชีวิตรักของเราแล้ว เราก็ปรับมุมมองไปในทิศทางที่น่าจะดีต่อชีวิตรักมากกว่าได้
ความพยายามเป็นสิ่งสำคัญในแน่นอนกับชีวิตรักที่มีความสุข เริ่มตั้งแต่การหาคู่ แน่นอนครับว่าเลือกเป็นคนรักทั้งทีจะไม่ช่างเลือกเลยก็คงไม่ได้ แต่เราอาจจะต้องผ่อนปรนเกณฑ์ในอุดมคติบางข้อไปบ้าง เพราะมันยากเหลือเกินที่เราจะเจอคนที่ตรงใจไปเสียทุกอย่าง และนอกจากนี้พอคบกันแล้วอย่างไรก็ต้องอาศัยความพยายามด้วย นอกจากจะพยายามปรับตัวเข้าหากันแล้ว ในชีวิตรัก ไม่มีคู่ไหนหรอกครับที่จะไม่มีอุปสรรคใดๆ เข้ามาเลย การมองปัญหาว่าคือสิ่งท้าทายให้แก้ไขจะช่วยให้ปรับตัวกับความสัมพันธ์ได้ดีกว่าเดิม และพัฒนาให้ชีวิตรักดีขึ้น และคงดีมากๆ ที่ทั้งคุณและคู่รักมีความคิดว่ารักที่ดีนั้นเกิดจากการพยายาม และที่สำคัญคือพยายามร่วมกัน ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามอยู่ฝ่ายเดียว
คู่แท้มีจริงไหมเราอาจจะไม่มีวันรู้ แต่เมื่อคู่รักของเราอยู่กันไปนานวัน ปรับตัวแค่ไหนก็ดูไม่มีทางเข้ากันได้ มีปัญหาที่แก้ไขกันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยอกเหนื่อยใจ
คำว่า “อาจจะไม่ได้เกิดมาคู่กัน” ก็อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ฟังขึ้นหากพยายามที่สุดแล้ว เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เราแก้ปัญหาไม่ได้ทุกอย่างหรอกครับ บางอย่างมันก็สุดความสามารถจริงๆ คนอื่นมาช่วยก็ยังไม่รอด และหากบังเอิญว่าปัญหานั้นมันคือความรัก ก็อาจจะต้องทำใจจากลากันไปจะมีความสุขกว่า
และยิ่งในกรณีที่ ‘คนรักกลายเป็นคนร้าย’ ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจกันบ่อยเกินไป หากพยายามแล้วเปลี่ยนไม่ได้ อย่าทนครับ
สรุปแล้วรักที่ดีนั้น งานวิจัยก็พบว่าต้องพยายามหากจะพัฒนาให้รักนั้นแข็งแรงและยั่งยืน แต่ความพยายามก็ไม่ใช่คำตอบของทุกคู่ ซึ่งถ้าหากเป็นแบบนั้นก็ต้องก้าวต่อไป ความคิดที่ว่า “ไม่ได้เกิดมาคู่กัน” อาจจะทำให้สบายใจกว่าที่จะยึดติดกับความล้มเหลว ผมอยากฝากไว้ว่าแม้ชีวิตรักอาจจะล้มเหลว แต่ชีวิตเราไม่ได้ล้มเหลวตามไปด้วยแน่ๆ เพราะความรักนั้นสำคัญ แต่ความรักไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิต และชีวิตรักนั้นเริ่มต้นใหม่ได้เสมอไม่ว่าจะอายุเท่าไร ต่อให้คุณเลิกสนใจความรักไปแล้ว แต่ถ้าบังเอิญ หรืออาจจะเรียกว่าชะตาพาคนที่ถูกใจเรามา เราอาจจะมีรักได้ทุกเมื่อแหละครับ
เอกสารอ้างอิง
Knee, C. R. (1998). Implicit theories of relationships: Assessment and prediction of romantic relationship initiation, coping, and longevity. Journal of Personality and Social Psychology, 74(2), 360.
Knee, C. R., Patrick, H., & Lonsbary, C. (2003). Implicit theories of relationships: Orientations toward evaluation and cultivation. Personality and Social Psychology Review, 7(1), 41-55.
Mattingly, B. A., McIntyre, K. P., Knee, C. R., & Loving, T. J. (2019). Implicit theories of relationships and self-expansion: Implications for relationship functioning. Journal of Social and Personal Relationships, 36(6), 1579-1599.
Stone, H. (2008). Implicit theories of relationships: prediction of dating strategies and relationship initiation.