- หนังสือวันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี (Tuesdays with Morrie) เขียนโดย มิตช์ อัลบอม แปลเป็นภาษาไทยโดย อมรรัตน์ โรเก้ (สำนักพิมพ์ฟีก้า) บอกเล่าเรื่องราวของผู้เขียนที่เดินทางไปเยี่ยมครูคนโปรดของเขาทุกวันอังคาร หลังพบว่าครูของเขาป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ระยะสุดท้าย
- แม้ร่างกายของครูมอร์รีจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ แต่ครูมอร์รีกลับตั้งหน้าตั้งตารอให้วันอังคารมาถึงโดยไว เพื่อจะได้ถ่ายทอด ‘วิชาความหมายแห่งชีวิต’ ที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละสัปดาห์ให้กับลูกศิษย์คนโปรด
- นอกจากจะเป็นหนังสือขายดีในสหรัฐอเมริกาแล้ว ‘วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี’ ยังถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศไม่น้อยกว่า 31 ภาษา และกลายเป็นหนึ่งในหนังสือทรงคุณค่าที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งนิยมใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาแก่เด็กและเยาวชน
สมัยเป็นนักศึกษาคุณเคยมีครูคนโปรดสักคนไหมครับ?
ถ้าคำตอบคือมี คำถามต่อมาคือหลังเรียนจบ…คุณได้ติดต่อครูคนโปรดท่านนั้นบ่อยแค่ไหน?
สำหรับ มิตช์ อัลบอม เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เขาได้ให้สัญญากับ ‘ครูมอร์รี’ ในวันรับปริญญาว่าจะคอยติดต่อส่งข่าวหาครูเสมอ แต่สัญญานั้นกลับเป็นแค่ลมปาก เมื่อเขาไม่เคยติดต่อหาครูมอร์รีอีกเลย และคงยาวนานกว่านั้น หากเขาไม่บังเอิญเปิดทีวีแล้วเจอรายการ Nightline ที่พิธีกรดังอย่าง เท็ด คอปเปล บุกไปสัมภาษณ์ มอร์รี ชวอตซ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแบรนไดส์ ที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
หลังทราบข่าวร้ายของครูมอร์รีพร้อมกับชาวอเมริกันทั้งประเทศ มิตช์ได้เดินทางกว่า 700 ไมล์มาหาครูมอร์รีที่บ้านทุกวันอังคาร ก่อนที่ทั้งคู่จะตกลงทำวิทยานิพนธ์เล่มสุดท้ายร่วมกัน เป็นวิทยานิพนธ์ที่ว่าด้วย ‘วิชาความหมายแห่งชีวิต’ ซึ่งถ่ายทอดจากประสบการณ์ตลอด 78 ปีของครูมอร์รี โดยไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งข้างหน้า วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว จะกลายเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีที่คนทั่วโลกนิยมมอบให้กับคนที่ตัวเองรัก
และนี่คือตัวอย่างวิชาความหมายแห่งชีวิตที่ครูมอร์รีฝากไว้กับโลกใบนี้ จากหนังสือ วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี (Tuesdays with Morrie) เขียนโดย มิตช์ อัลบอม แปลเป็นภาษาไทยโดย อมรรัตน์ โรเก้ (สำนักพิมพ์ฟีก้า)
ความชรา
ครั้งหนึ่งมิตช์ถามครูมอร์รีว่าคิดเห็นอย่างไรกับการที่มนุษย์อยากย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะวัยเด็กนั้นเป็นวัยที่มีความสุขมากที่สุด ทว่าครูมอร์รีกลับไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะยังมีเด็กอีกหลายคนที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความยากลำบากของชีวิต
“ฟังนะ ครูรู้ว่าตอนที่เราเป็นเด็กนั้นเรามีความทุกข์อะไรอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นอย่ามาบอกครูเลยว่าการเป็นเด็กมันเลิศเลอขนาดไหน เด็กๆ ที่มาหาครูแต่ละคนล้วนแบกภาระการต่อสู้ดิ้นรน ปัญหาสารพัด ความรู้สึกขัดแย้ง ความรู้สึกที่ไม่เคยได้รับอะไรอย่างเพียงพอ มองชีวิตอย่างคับแค้นใจ หดหู่จนอยากฆ่าตัวตายกันทั้งนั้น…”
ไม่เพียงแค่ความทุกข์จากสภาพสังคม ครูมอร์รียังชี้ให้เห็นว่าวัยเด็กเป็นวัยที่แทบไม่รู้จักชีวิตและมักสับสนวุ่นวายกับการลองถูกลองผิด ดังนั้นครูมอร์รีจึงหลงรักการแก่ชรา เพราะยิ่งแก่ตัวลงครูมอร์รีก็ยิ่งเข้าใจชีวิตมากขึ้น
“ง่ายนิดเดียว ยิ่งเธออายุมากขึ้น เธอจะได้เรียนรู้มากขึ้น ถ้าเธอหยุดอายุไว้ที่วัยเพียงยี่สิบสองปี เธอก็จะมีสติปัญญาเท่ากับเด็กอายุยี่สิบสองปีเรื่อยไป อายุที่มากขึ้นไม่ได้หมายถึงความร่วงโรยที่มากขึ้นอย่างเดียวนี่ รู้ไหมมันยังหมายถึงความเจริญงอกงามอีกด้วย
ความแก่ชราไม่ได้มีความหมายในด้านลบว่าเธอกำลังจะตายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความหมายในด้านบวกด้วยว่า เมื่อเธอเข้าใจดีว่าเธอกำลังจะตาย เธอก็จะใช้ชีวิตได้ดีกว่าเดิม”
นอกจากนี้ ครูมอร์รีได้สอนมิตช์ให้ยอมรับการแก่ตัวลงและมีความสุขกับแต่ละช่วงวัย เพราะหากมนุษย์พยายามยื้อยุดกับวัยที่เพิ่มขึ้น ก็รังแต่จะสร้างความทุกข์ เพราะสุดท้ายทุกคนก็หนีความแก่ไม่พ้นอยู่ดี
“อันที่จริงสิ่งที่ประกอบกันเป็นตัวครูก็คือวัยต่างๆ กัน ครูอายุสามขวบ อายุห้าขวบ อายุสามสิบเจ็ดปี อายุห้าสิบปี ครูได้ผ่านวัยเหล่านั้นมาหมดแล้วและครูก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ครูชอบเป็นเด็กตอนที่อยู่ในวัยเด็กและครูก็ชอบเป็นคนแก่ที่มีปัญญาในวัยที่ควรจะเป็นคนแก่ที่มีปัญญา คิดดูสิว่าครูสามารถเป็นอะไรก็ได้ ครูเป็นได้ทุกวัยตามอายุของครูเอง เธอเข้าใจไหม”
เงินตรา
ครูมอร์รีบอกว่ามนุษย์มักปล่อยให้เงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของชีวิต จึงไม่แปลกที่มนุษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่ามักถูกอำนาจของเงินและลัทธิพาณิชย์นิยมเข้าครอบงำจนหลายคนไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วอะไรคือสิ่งที่อยากได้ และอะไรคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต
“คนในประเทศเราเหมือนกับถูกล้างสมอง รู้ไหม…เขาล้างสมองคนกันอย่างไร เพียงแค่พูดอะไรซ้ำไปซ้ำมาว่า มีไอ้นี่สิดี มีเงินเพิ่มอีกนิดสิดี มีสมบัติเพิ่มอีกหน่อยสิดี ทำอะไรให้เป็นธุรกิจการค้ามากขึ้นก็ยิ่งดี อะไรที่เพิ่มขึ้น…เพิ่มขึ้นนั้นดีไปหมด เราพูดกันอยู่อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และได้ยินคำพูดเหล่านี้ซ้ำๆ ซากๆ จนกระทั่งไม่มีใครจะคิดอะไรเป็นอย่างอื่นได้อีก คนทั่วไปถูกความคิดเหล่านี้ครอบงำจนไม่รู้ว่าสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริงในชีวิตนั้นคืออะไรกันแน่”
พอมนุษย์ไม่เข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต หลายคนจึงมีชีวิตอยู่เพื่อดิ้นรนตะเกียกตะกายกับการไขว่คว้าวัตถุต่างๆ เพื่อนำมาอวดกัน โดยหลงลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการดำรงชีวิตคือความรัก
“รู้ไหมครูแปลความหมายในเรื่องแบบนี้ว่าอย่างไร ครูว่าคนพวกนี้กระหายความรักมากเสียจนยอมรับอะไรก็ตามแต่ที่จะมาทดแทนความรักนั้นได้
พวกเขาโอบกอดสมบัติพัสถานเหล่านั้นเอาไว้ และหวังว่าจะได้อ้อมกอดเช่นนั้นกลับคืนมาบ้าง แต่มันไม่เคยได้ผลหรอก จะให้วัตถุสิ่งของมาทดแทนความรัก ความอ่อนโยน ความนุ่มนวล หรือมิตรภาพนั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย”
มิตช์พยายามถามครูมอร์รีว่าถ้าเงินไม่สามารถทำให้มนุษย์อิ่มเอิบใจได้ แล้วความสุขใจที่แท้จริงเกิดจากอะไร โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ผมชอบคือเรื่องการอุทิศตนเพื่อสังคม
“ก็ให้สิ่งที่เธอมีกับคนอื่นสิ ครูไม่ได้หมายถึงเงินนะ ครูหมายถึงเวลา ความเอาใจใส่ การเล่าเรื่องอะไรต่อมิอะไรให้คนอื่นฟังมันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรหนักหนา มีศูนย์คนชราเปิดอยู่ใกล้ๆ กับที่นี่ มีคนแก่หลายคนไปที่ศูนย์ฯ ทุกวัน ถ้าเธอเป็นคนหนุ่มคนสาวที่มีความสามารถพิเศษอะไรสักอย่าง เขาอาจขอให้เธอไปสอนที่นั่น อย่างเธอรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เธอก็ไปที่ศูนย์ฯ เพื่อสอนคอมพิวเตอร์ เขาจะยินดีและรู้สึกขอบคุณเธอเป็นอย่างมาก การให้ในสิ่งที่เธอมีก่อนย่อมทำให้เธอได้รับความเคารพนับถือตามมา”
ความตาย
ขึ้นชื่อว่าความตาย เรามักถูกผู้ใหญ่ปลูกฝังว่าอย่าเอาความตายมาพูดล้อเล่น หรือหลายคนอาจคิดไปว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงความตายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
“เราทุกคนรู้ว่าตัวเองจะต้องตาย แต่ไม่มีใครเชื่อเรื่องอย่างนั้นเลยสักคน ถ้าเราเชื่อว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องตาย เราคงจะทำอะไรๆ ต่างไปจากที่ทำกันอยู่ เมื่อเธอรู้แล้วว่าเธอจะต้องตาย เธอก็ควรเตรียมให้พร้อมทุกขณะจิต ถ้าใช้วิธีนี้ เธอจะใส่ใจกับชีวิตมากขึ้นในขณะที่เธอยังไม่ตาย”
ครูมอร์รีบอกว่าเมื่อคนส่วนมากไม่คิดว่าตัวเองตาย พวกเขาจึงใช้ชีวิตเหมือนคนเดินละเมอที่กึ่งหลับกึ่งตื่นและทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี โดยไม่รู้แน่ชัดว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็นกับชีวิตหรือไม่
“อันที่จริงไม่มีอะไรจะเป็นรากฐานหรือพื้นฐานอันมั่นคงให้คนเรายืนหยัดอยู่ได้ในทุกวันนี้ถ้าไม่ใช่ครอบครัว ยิ่งตอนครูป่วย ครูยิ่งเห็นประเด็นนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าเธอไม่มีครอบครัวคอยช่วยเหลือเกื้อกูล ให้ความรัก ความอาทร และความเอาใจใส่เสียแล้ว เธอก็คงไม่มีอะไรเหลือมากนักหรอก ความรักเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก อย่างที่ออเดน กวีผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวเอาไว้ว่า ‘จงรักกันไว้ หรือไม่ก็ดับสูญ’ ”
ผมชอบวิธีคิดของครูมอร์รีที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของครอบครัว ครูมอร์รียอมรับว่าตัวเองคงไม่อาจต่อสู้กับโรคร้ายด้วยทัศนคติที่ดีได้ หากปราศจากแรงใจจากครอบครัว เพราะสำหรับครูมอร์รี ‘เพื่อนฝูง’ อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเยี่ยมเยียนเขา แต่นั่นก็ไม่เทียบไม่ได้เลยกับการมีใครสักคนที่คอยอยู่เคียงข้างครูมอร์รีตลอดเวลา
“ครอบครัวก็เป็นอย่างนี้ละ มันไม่ใช่มีเพียงความรัก แต่การมีครอบครัวทำให้ใครๆ รู้ว่าเรามีใครสักคนที่เฝ้าห่วงใย เอื้ออาทร และคอยระแวดระวังดูอยู่
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ครูโหยหาเหลือเกินเมื่อตอนที่แม่ของครูตาย ครูเรียกมันว่า ‘ความมั่นคงแห่งจิตวิญญาณ’ นั่นคือการที่เธอรู้ว่าเธอเองมีครอบครัวซึ่งคอยเฝ้าดูแลเธออยู่ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะมอบความรู้สึกเช่นนี้กับเธอได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือเกียรติยศชื่อเสียง”
ถึงปากจะบอกว่าครอบครัวสำคัญอย่างไรในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต หากครูมอร์รีกลับบอกให้ลูกชายที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ‘ตั้งใจทำงานต่อไป’ เพราะเขาไม่ต้องการให้โรคร้ายนี้ลามมาทำร้ายอนาคตของลูก แทนที่จะเป็นเขาคนเดียว
ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของชีวิต นอกจากการมีครอบครัวคอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจกันเสมอ ครูมอร์รียังได้นำแนวคิดของพุทธศาสนามาใช้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิฝึกลมหายใจ – เข้าออก, ‘การปล่อยวาง’ ที่ไม่ใช่การปิดรับความรู้สึก แต่เป็นการปล่อยให้จิตใจเผชิญหน้ากับความคิดลบๆ อย่างเต็มที่
ครูมอร์รียืนยันว่าการปล่อยวางนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากมนุษย์มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับความเศร้า ความกลัว และความเจ็บปวด ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ครูมอร์รีรู้สึกแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออก ครูมอร์รียอมรับว่าวินาทีนั้นตัวเองทั้งหวาดผวาและทุรนทุรายกับความทรมานทางกาย แต่พอเริ่มได้สติ ครูมอร์รีก็พยายามรู้เท่าทันอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมบอกตัวเองให้ถอยออกมาจากความกลัวนั้น
“…เธอจะรู้ว่าความเจ็บปวดเป็นอย่างไร ความรักเป็นอย่างไร ความชอกช้ำหรือความโศกาอาดูรนั้นเป็นอย่างไร เธอจะต้องรู้ซึ้งเช่นนี้เสียก่อนเท่านั้น เธอถึงจะพูดได้ว่า ‘เอาละ ฉันได้เรียนรู้ความรู้สึกนั้นแล้ว ฉันรู้จักความรู้สึกนั้นดีแล้ว ฉันต้องละวางความรู้สึกเช่นนี้เสียที’ ”
อย่างไรก็ตาม วิธีการรับมือกับความตายที่ผมชอบที่สุดคือการที่ครูมอร์รีพูดคุยกับ ‘นกน้อย’ ที่มักบินมาเกาะไหล่ของเขาเป็นประจำ
“ทำอย่างที่ชาวพุทธเขาทำกันสิ ในทุกๆ วันจะมีนกตัวน้อยๆ เกาะอยู่บนบ่าและคอยถามเธอว่า ‘ใช่วันนี้หรือเปล่า ฉันพร้อมแล้วหรือยัง ฉันทำทุกอย่างที่จำเป็นต้องทำแล้วหรือ ฉันเป็นคนอย่างที่ฉันอยากจะเป็นหรือยัง’ ”
ครูมอร์รีพยายามชี้ให้มิตช์เห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนทุกสิ่งมีเกิดก็ย่อมมีดับ แต่ความตายนั้นพรากได้แค่ชีวิต และไม่อาจพรากความสัมพันธ์ไปจากคนที่เรารัก
“ตราบใดที่เรามีความรักให้แก่กันและสามารถจดจำความรู้สึกดีๆ ในยามที่เรารักกันได้ เราจะตายจากไปโดยประหนึ่งว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ความรักที่เธอสร้างขึ้นรวมทั้งความทรงจำที่ดีเหล่านั้นจะคงอยู่ตลอดไป และเธอก็ยังอยู่ในหัวใจของคนทั้งหลายที่เธอรักและทะนุถนอมเมื่อครั้งที่เธอมีชีวิตอยู่”
หลังจากไปเยี่ยมครูมอร์รีทุกวันอังคารได้ประมาณสิบสี่ครั้ง ครูมอร์รีก็จากโลกนี้ไป ซึ่งภายหลังมิตช์ อัลบอม ได้เขียนในบทส่งท้ายเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของ Tuesdays with Morrie ว่า “สิ่งที่เอื้อมถึงก็คือสิ่งที่ครูมอร์รีพูดมาตลอด ทุกๆ วันจงถามนกที่เกาะบนบ่าว่า ‘วันนี้คือวันตายของฉันใช่ไหม’ และคำตอบที่ดีที่สุดจากเจ้านกน้อยคือ ‘ใช่’
คำตอบนั้นสื่อว่า คุณได้เติมเต็มวันเวลาในชีวิตไปกับการให้ ให้เวลา ให้หัวใจ และให้ตัวตน นี่ต่างหากคือการมีชีวิตในหนึ่งวัน หรือมีชีวิตผ่านผู้อื่นอีกหลายชั่วอายุคน”