- คนที่มองโลกในแง่ร้ายมักมีแนวโน้มที่จะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเผชิญในรูปแบบที่สิ้นหวังเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนที่มองโลกในแง่ดีนั้นจะอธิบายสาเหตุในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน
- งานวิจัยพบว่า การมองโลกในแง่ดีหรือร้ายอาจถ่ายทอดได้โดยพันธุกรรม โดยรูปแบบในการอธิบายสาเหตุของแม่หรือผู้เลี้ยงดูนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบที่เด็กจะใช้อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต การมองโลกในแง่ดีหรือร้ายเป็นสิ่งที่ค่อยๆ สั่งสมไปตามเวลา สิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตขึ้นมาจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก
- หากแก้ไขไม่ได้เสียที แต่มันก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แค่มีแต่คนชอบบอกว่าเรามองโลกในแง่ร้าย ก็ไม่ต้องคิดมากก็ได้ครับ บุคลิกภาพในความหมายของจิตวิทยาคือความแตกต่าง ไม่ได้บอกว่าอะไรถูกหรือผิด อะไรดีหรือเลว การมองโลกในแง่ร้ายมันก็เป็นบุคลิกภาพแบบหนึ่ง
คนนั้นมองโลกในแง่ดี คนนี้มองโลกในแง่ร้าย รูปแบบการมองโลกนั้นเป็นหนึ่งในความแตกต่างของคนเราและเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งคนรอบตัวที่นิยมใช้กันมากทีเดียว แน่นอนว่าเวลาที่มีคนบอกเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เราก็คงรู้สึกไม่ดีเท่าไรนัก และจะยิ่งฟังไม่เข้าหูหากเราไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย คำถามที่ตามมาคือ แล้วคนแบบไหนกันที่เรียกว่าคนมองโลกในแง่ร้าย? ต้องดูเป็นคนมืดมน หน้าบึ้ง ดูเครียดๆ พูดอะไรก็มีแต่เรื่องลบๆ แบบนั้นหรือเปล่า แล้วคนที่มองโลกในแง่ดีต้องยิ้ม หน้าตาสดใส อารมณ์ดี พูดอะไรก็ดูดีมีความหวังใช่ไหม บทความนี้จะชวนมาทำความรู้จักการมองโลกในแง่ดีและในแง่ร้ายกันครับ ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่
จริงๆ แล้วคำว่า ‘มองโลกในแง่ดี’ และ ‘ในแง่ร้าย’ นั้นเป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และปรากฏอยู่ในวรรณกรรมและหนังสือปรัชญาเก่าๆ มีสำนวนของประเทศแถบตะวันตกที่เปรียบเปรยทำนองว่า คนสองคนเห็นน้ำครึ่งแก้วเหมือนกัน แต่คนมองโลกในแง่ดีจะคิดว่า “เหลือตั้งครึ่งแก้ว” แต่คนมองโลกในแง่ร้ายจะคิดว่า “หมดไปตั้งครึ่งแก้ว” ซึ่งบอกว่าสิ่งที่เหมือนกันนั้นแต่ละคนก็มองต่างกันไป บางคนมองในแง่ดี บางคนมองในแง่ร้าย แต่ในโลกความจริงการจะบอกว่า “แง่ดี” หรือ “แง่ร้าย” มันไม่เรียบง่ายแบบนั้น คนเราต่างคนต่างก็มีเกณฑ์ที่แตกต่างกันในการบอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี บางครั้งคนหนึ่งบอกว่า “แย่จัง” ซึ่งพอเราดูเราก็พบว่าสถานการณ์มันมืดมน หมดหนทางจริงๆ แบบนี้เราจะเรียกว่าเขามองโลกในแง่ร้ายหรือเปล่า หรือคนที่มองโลกในแง่ดีต่อให้เจออะไรก็ต้องรู้สึกว่ามันมีเรื่องดี มีคุณค่า มีความหวังเสมอไปไหม เพื่อหาหลักในการฟันธงว่าใครมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย เรามาดูมุมมองของทั้งสองคำนี้ในแวดวงจิตวิทยากันดีกว่าครับ
นักจิตวิทยาเองก็พยายามที่จะหาคำอธิบายถึงเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ในด้านนี้ และหากฎเกณฑ์ที่ชัดเจนมาแบ่งว่าใครมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย มาร์ติน เซลิกแมน (เกิด ค.ศ. 1942) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้พยายามศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสิ้นหวัง’ ว่าสถานการณ์และปัจจัยแบบใดที่จะทำให้คนสิ้นหวัง และเขาก็พบว่าการอธิบายสาเหตุของสถานการณ์ที่กำลังเผชิญในแต่ละคนนี่เองที่ทำให้เกิดความสิ้นหวัง ‘การอธิบายสาเหตุ’ ที่ว่านั้นเป็นทฤษฎีที่บอกว่าในสถานการณ์เดียวกัน คนเราจะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์โดยอัตโนมัติ และอธิบายออกเป็น 3 มิติ เพื่อให้เห็นภาพ ขอสมมติว่าสถานการณ์ คือ ‘โดนเจ้านายด่า’ มาดูกันว่าคนเราจะอธิบายสาเหตุสถานการณ์นั้นในแต่ละมิติอย่างไรบ้าง
มิติที่มาของสาเหตุ : มิตินี้อธิบายว่าสถานการณ์มีสาเหตุมาจากตนเอง หรือมาจากสิ่งภายนอก ถ้าสาเหตุมาจากตนเอง การที่เจ้านายด่านั้นสาเหตุเกิดขึ้นจากตัวเรา เช่น เราทำงานไม่ดี หรือเจ้านายเห็นโหงวเฮ้งเราแล้วไม่ชอบ แต่ถ้าเกิดจากภายนอกหรือสิ่งรอบๆ ตัว ก็อาจมองว่า สงสัยเจ้านายทะเลาะกับเมียมา หรือสงสัยอากาศร้อนเลยหงุดหงิดแล้วมาพาลด่าเรา
มิติความทั่วไป : มิตินี้อธิบายว่าสถานการณ์แบบดังกล่าวเกิดแค่กับเราคนเดียว หรือเกิดกับคนอื่นๆ ด้วย ถ้าเกิดแค่กับเราคนเดียว ก็คือเจ้านายก็ด่าแต่เราแหละไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แผนกทำงานไม่ดีก็จ้องจะด่าแต่เรา คนอื่นก็เคยทำผิดไม่เห็นถูกด่า แต่ถ้าเกิดกับคนอื่นด้วย คือไม่ว่าใครก็เคยถูกเจ้านายด่าทั้งนั้น ไม่ว่าหัวหน้าแผนกยันแม่บ้าน ถ้าทำผิด หรือบางทีขวางหูขวางตาเจอด่าหมดทุกคน
มิติความคงทน: มิตินี้อธิบายสถานการณ์จะอยู่คงทนตลอดไป หรือเกิดแค่ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าอยู่คงทนคือชีวิตการทำงานนี้เจ้านายคงจะด่าเราจนลาออกหรือตายกันไปข้างถึงเลิกด่า ปัญหานี้ไม่มีวันจบง่ายๆ แต่ถ้าเกิดชั่วคราวคือเดี๋ยวพอเจ้านายอารมณ์ดีหรือหายโกรธเมื่อไหร่ แกก็กลับมาพูดดีกับเราเอง
เซลิกแมนใช้ทฤษฎีนี้ในการอธิบายว่าสถานการณ์ที่สิ้นหวังนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร คนที่สิ้นหวัง คือ เมื่อเจอเรื่องไม่ดีจะอธิบายปัญหานี้ว่าเกิดจากตัวเขา เกิดกับเขาคนเดียว และจะเกิดแบบนี้ตลอดไป สรุปแล้วคือทำอะไรกับปัญหาไม่ได้เลย เพราะสาเหตุมันมาจากตัวเองจะโทษใคร แถมเรื่องร้ายๆ ก็เจาะจงเกิดแค่กับตนเอง และมันไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นด้วย เซลิกแมนก็นำทฤษฎีการอธิบายสาเหตุนี่แหละครับมาแบ่งว่าใครมองโลกในแง่ดีหรือใครมองโลกในแง่ร้าย
หากใครมีแนวโน้มที่จะอธิบายสาเหตุของสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตในรูปแบบที่สิ้นหวังเป็นส่วนใหญ่ เราจะเรียกว่าคนนั้นมองโลกในแง่ร้าย ส่วนคนที่มองโลกในแง่ดีนั้นจะอธิบายสาเหตุในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน
ผมขอสรุปเป็นตารางให้เห็นภาพแบบด้านล่าง ว่าคนที่มองโลกในแง่ร้ายอธิบายสาเหตุแตกต่างจากคนที่มองโลกในแง่ดีอย่างไร
เมื่อเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่
บุคลิกภาพ/มิติการอธิบาย | ที่มาของสาเหตุ | ความทั่วไป | ความคงทน |
คนมองโลกในแง่ดี | จากสิ่งอื่นรอบตัว | ใครๆ ก็เจอ | เดี๋ยวก็ผ่านไป |
คนมองโลกในแง่ร้าย | จากตัวเอง | มีแต่ฉันที่เจอ | จะเจออีกเรื่อยๆ |
เมื่อคนเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกดี
บุคลิกภาพ/มิติการอธิบาย | ที่มาของสาเหตุ | ความทั่วไป | ความคงทน |
คนมองโลกในแง่ดี | จากตัวเอง | มีแต่ฉันที่เจอ | จะเจออีกเรื่อยๆ |
คนมองโลกในแง่ร้าย | จากสิ่งอื่นรอบตัว | ใครๆ ก็เจอ | เดี๋ยวก็ผ่านไป |
ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ที่แย่ๆ ที่อธิบายสาเหตุแตกต่างกัน คนมองโลกในแง่ร้ายเมื่อเจอสถานการณ์ที่ดี ก็มักจะอธิบายสาเหตุในทิศทางที่สลับกับคนมองโลกในแง่ดี สมมติสถานการณ์ คือ ลูกค้าชม คนที่มองโลกในแง่ร้ายกลับไม่คิดว่านั่นเพราะตนเองบริการดีหรือทำงานเก่ง แต่จะกลับไปมองว่าเกิดจากสาเหตุภายนอก เช่น ลูกค้าอาจจะอารมณ์ดีอยู่ และยังมองว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เจอ เช่น ก็สินค้างวดนี้ทำออกมาดี ใครติดต่อเขาก็ชมทั้งนั้น นอกจากนี้สถานการณ์แบบนี้ไม่คงทน เช่น เดี๋ยวครั้งหน้าก็อาจจะไม่ได้คำชมอีกแล้ว ส่วนคนมองโลกในแง่ดีก็มองตรงกันข้ามกันหมดเลย
จิตวิทยามีคำว่า ‘บุคลิกภาพ’ คือ ความแตกต่างของคนที่จะตอบสนองหรือทำอย่างไรเมื่อเจอกับสิ่งต่างๆ บุคลิกภาพมีหลายด้านครับ เช่น บุคลิกภาพด้านอินโทรเวิร์ต (introvert) ที่อาจจะเคยได้ยินกัน หรือบุคลิกภาพด้านรูปแบบความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดีหรือร้ายก็เป็นบุคลิกภาพในด้านหนึ่ง บุคลิกภาพนั้นจะบอกถึงการตอบสนองส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งนะครับ อย่างคนที่มองโลกในแง่ร้ายหากเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีก็ไม่ได้แปลว่าจะโทษตัวเอง มองว่ามีแต่ฉันที่เจอ และจะเจอไปตลอดทุกๆ ครั้ง แต่ว่าเมื่อคนมองโลกในแง่ร้ายหากเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดี ก็มีแนวโน้มที่จะอธิบายสาเหตุแบบนั้น
สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการอธิบายสาเหตุ คือ ความชัดเจนของสถานการณ์ด้วย หากสมมติเราถูกเจ้านายด่า เพราะเราตื่นสายไปหาลูกค้าไม่ทัน ตรงนี้เราจะโทษตัวเองก็ไม่แปลก หรือถ้าเราถูกหวยแล้วมองว่ามันคงไม่ได้เกิดทุกครั้งก็ถือว่ามันชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น หากสถานการณ์มันอธิบายสาเหตุได้เด่นชัดเราจะอธิบายเหมือนแบบในตารางที่ดูเหมือนคนที่มองโลกในแง่ร้ายก็อาจจะตัดสินไม่ได้ว่าเรามองโลกในแง่ร้าย
นอกจากนี้ในการอธิบายแต่ละสถานการณ์อาจจะไม่ได้มองในแง่ร้ายในทุกมิติพร้อมๆ กันก็ได้ เช่น ถ้าถูกหวยกิน ก็อาจจะมองโทษตัวเองว่าเรามันดวงซวย แต่อาจจะไม่ได้มองว่าเกิดขึ้นแต่กับเรา ใครๆ ก็ถูกหวยกินทั้งนั้น อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้วมักจะอธิบายในทิศทางเหมือนตารางด้านบนมากกว่า สรุปแล้วการมองโลกในแง่ดีหรือร้ายเป็นภาพรวมของหลายๆ เหตุการณ์ว่าจะอธิบายอย่างไร จะใช้เหตุการณ์เดียวตัดสินไม่ได้
แล้วทำไมบางคนถึงมองโลกในแง่ดี บางคนถึงมองโลกในแง่ร้าย ตรงนี้อาจจะยังไม่มีคำตอบฟันธง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จากงานวิจัยพบว่าการมองโลกในแง่ดีหรือร้ายนั้นอาจจะถ่ายทอดได้โดยพันธุกรรม เพราะจากงานวิจัยที่ศึกษาฝาแฝดที่มียีนเหมือนกันเป๊ะ รูปแบบการอธิบายสาเหตุก็มีแนวโน้มว่าคล้ายคลึงกันมากกว่าแฝดคล้ายหรือพี่น้องที่ยีนต่างกัน อย่างไรก็ตามสิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนเติบโตขึ้นมาก็เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ
งานวิจัยพบว่า รูปแบบในการอธิบายสาเหตุของแม่หรือผู้เลี้ยงดูนั้นมีอิทธิพลต่อรูปแบบที่เด็กจะใช้อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในอนาคต นอกจากนี้เช่นเดียวกับบุคลิกภาพอื่นๆ การมองโลกในแง่ดีหรือร้ายเป็นสิ่งที่ค่อยๆ สั่งสมไปตามเวลา
วิธีที่คนรอบตัวชมหรือตำหนิก็ส่งผลให้คนมองโลกในแง่ร้ายหรือดีแตกต่างกัน เช่น ตอนที่ทำอะไรออกมาดีคนรอบตัวก็บอกว่าฟลุกล่ะสิ แต่พอเราทำไม่ดีบอกว่าไม่ตั้งใจ ประสบการณ์แบบนี้ถ้ามันเกิดบ่อยๆ ก็หล่อหลอมให้เป็นมองโลกในแง่ร้ายได้
คำถามที่หลายๆ คนอาจจะอยากรู้ตอนนี้คือ แล้วตัวฉันมองโลกในแง่ดีหรือร้ายกันแน่ วิธีวัดนั้นมีหลายวิธีครับ เวลานักจิตวิทยาจะวัดเรื่องนี้ วิธีหนึ่งที่นิยมใช้ก็คือ เขาจะให้คนฟังหรืออ่านสถานการณ์สมมติหลายๆ สถานการณ์ทั้งดีและไม่ดี และให้คนอธิบายสาเหตุของสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ในรูปแบบ 3 มิติทั้งที่มาของสาเหตุ ความทั่วไป และความคงทนของสถานการณ์ และนำคะแนนเฉลี่ยของแต่ละมิติมาดูแนวโน้มว่าอธิบายไปในทิศทางของคนที่มองโลกในแง่ร้ายหรือแง่ดีมากกว่ากัน แต่ในการวัดที่แม่นยำนั้นอาจจะต้องเก็บข้อมูลจากประชากรหรือคนจำนวนมากเกี่ยวกับการอธิบายสาเหตุของสถานการณ์ที่ใช้วัดเหล่านั้น แล้วใช้สถิติมาช่วยวิเคราะห์เพื่อดูว่าหากเทียบกับบุคคลส่วนใหญ่แล้ว คนนี้อธิบายค่อนไปทางกลุ่มที่มองโลกในแง่ดีหรือร้าย เราอาจจะไม่ค่อยได้มีโอกาสได้วัดเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะการวัดแบบจริงๆ จังๆ มักจะใช้กับงานวิจัยมากกว่า แต่ถึงแบบนั้นเราอาจจะพอสังเกตเวลาเจอเหตุการณ์ในชีวิตทั้งเหตุการณ์ที่ดีหรือร้ายแล้วดูว่าเราเองอธิบายสถานการณ์อย่างไรตามมิติดังกล่าว นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่พอจะทำให้เห็นได้ว่าตัวเรามองโลกในแง่ดีหรือร้ายอย่างไร แต่การวัดด้วยตนเองอาจจะทำให้ไม่ได้รับผลลัพธ์ที่แม่นยำนัก ดังนั้นหลักคร่าวๆ คือถ้ามันไม่กองไปในทางสิ้นหวังแทบจะทุกเหตุการณ์ ก็อาจจะไม่ต้องคิดมากก็ได้กับเรื่องนี้
คำถามต่อมาคือ แล้วจะทำอย่างไร หากเรารู้ตัวว่าเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายเกินไป ผลเสียอย่างหนึ่งของการมองโลกในแง่ร้าย คือ ความเครียด และงานวิจัยพบว่าคนมองโลกในแง่ร้ายมากก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า แต่อย่างที่บอกไว้ในด้านบนว่าการมองโลกในแง่ร้ายเป็นบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดได้จากทั้งพันธุกรรมจากพ่อแม่ จากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก และประสบการณ์ที่ค่อย ๆ สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก มันจึงเป็นสิ่งที่คงทนและเปลี่ยนแปลงยาก แต่ถึงจะเปลี่ยนยากก็ไม่ได้แปลว่าเปลี่ยนไม่ได้ เรื่องยีนเรื่องประสบการณ์วัยเด็กเราคงทำอะไรกับมันไม่ได้ แต่เรื่องการตีความถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนี้เป็นสิ่งที่พอจะปรับได้ครับ หากเรายังปล่อยให้เราตีความในรูปแบบที่สิ้นหวังในมิติ 3 แบบดังตารางข้างต้นบ่อยๆ การมองโลกในแง่ร้ายนั้นก็จะยิ่งฝังแน่นคงทน
หากสถานการณ์มันกำกวมว่า มันเกิดจากใคร มันเกิดกับใครบ้าง และจะคงอยู่ตลอดไปไหม บุคลิกภาพอาจจะทำให้เรามองว่ามันเกิดจากเรา เกิดแค่กับเรา และคงอยู่ต่อไป หากเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดี แต่ถ้าเหตุมันชัดเจน บางครั้งเราก็อาจมองในแง่ร้ายเกินจริง เช่น โทษตัวเองเกินจริง เจ้านายด่าเพราะเราตื่นสายก็จริง แต่เพราะนาฬิกาปลุกมันเสียพอดี หรือมองว่าสถานการณ์มันจะเกิดแบบนี้ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง มาสายครั้งเดียวเจ้านายคงมองเราว่าขาดความรับผิดชอบไปตลอดแน่ๆ ซึ่งก็ไม่น่าจะขนาดนั้น หากอธิบายเหตุการณ์ในแง่ดีไม่ได้จริงๆ ลองพยายามปรับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเราเป็นเกิดกับคนอื่นแทนครับ ว่าในสถานการณ์เดียวกันหากคนอื่นทำแบบนี้เราจะยังอธิบายสาเหตุในแบบเดียวกันไหม ทั้งในมิติที่มาของสาเหตุ ความทั่วไป และความคงทนของสถานการณ์ บางครั้งพอเรามองในสายตาคนนอกแล้วมุมมองจะเปลี่ยนไป หลายครั้งเรื่องที่เลวร้ายพอไม่ได้เกิดกับเรา มันก็ไม่ใช่เหตุการณ์คอขาดบาดตายขนาดนั้น ถ้าคิดแบบนี้เราจะอธิบายสาเหตุได้ตรงกับความจริงขึ้นครับ
หากแก้ไขไม่ได้เสียที แต่มันก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แค่มีแต่คนชอบบอกว่าเรามองโลกในแง่ร้าย ก็ไม่ต้องคิดมากก็ได้ครับ บุคลิกภาพในความหมายของจิตวิทยา คือ ความแตกต่าง ไม่ได้บอกว่าอะไรถูกหรือผิด อะไรดีหรือเลว การมองโลกในแง่ร้ายมันก็เป็นบุคลิกภาพแบบหนึ่ง
การมองในแง่ดีเองอาจจะทำให้ไม่เครียด มีความหวังมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ผลดี หลายๆ ครั้งที่มองในแง่ร้ายแล้วมันตรงกับความเป็นจริงมันยังดีกว่าการมองโลกในแง่ดีในแบบที่ผิดจากความเป็นจริง เช่น เรื่องของสุขภาพ ถ้ามองโลกในแง่ดีเกินจริง จะเกิดผลเสียให้ไม่เตรียมตัวจัดการ ท้องเสียเรื้อรังก็คิดว่าสงสัยเป็นเพราะอากาศร้อน หรือช่วงนี้กินของแปลกๆ บ่อยๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นเพราะร่างกายผิดปกติอะไร คิดว่าอาการแบบนี้ใคร ๆ เขาก็เป็นกัน เดี๋ยวก็หายไม่ต้องไปหาหมอ อธิบายแบบนี้ก็อันตราย เพราะไม่ทุกข์ใจในตอนนี้จริง แต่มันจะรักษาไม่ทันการเอา
แต่ถ้ามองโลกในแง่ร้ายหนักข้อเข้า แล้วรู้สึกว่าช่วงนี้เครียดเกินไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ชีวิตการทำงาน และความสัมพันธ์รอบตัว อย่ากลัว หรือลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพเช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์นะครับ ปล่อยให้มันกระทบกับชีวิตไปนานๆ ชีวิตจะยิ่งมีแต่เรื่องทุกข์ใจเพิ่มและยิ่งมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้นเปล่าๆ