- เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในตัวของเด็กคนหนึ่ง ทั้งฮอร์โมนที่มีมากขึ้น การต้องรับมือกับภาระที่มีมากมายจนเกือบจะเท่าผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งจะผ่านวัยเด็กมา และการต้องควบคุมตัวเองในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นมากมาย
- ด้วยประสบการณ์ที่ไม่ได้มีมากพอ ภูมิคุ้มกันทางใจที่ยังไม่หนาแน่น ความทุกข์เหล่านั้นดูจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของวัยรุ่นหนักหนาสาหัสไม่ต่างจากผู้ใหญ่เลย ด้วยเหตุนี้ วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการป่วยทางใจมากที่สุดวัยหนึ่ง พ่อแม่ คุณครู และผู้ใหญ่รอบตัวของเขาควรให้ความสำคัญและช่วยกันสอดส่องดูแล
- นอกจากนี้ช่วงวัยรุ่น ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหา “อัตลักษณ์ของตัวเอง (Identity)” ผ่านการสำรวจความตัวตน ทั้งความรู้สึก ความต้องการ ความเชื่อ คุณค่าภายในตนเอง หากวัยรุ่นสามารถค้นพบตัวตนที่สอดคล้องกันระหว่างภายนอกและภายใน เขาจะสามารถเติบโตต่อไปโดยไม่รู้สึกติดค้างในช่วงวัยดังกล่าว
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป
ธรรมชาติของวัยรุ่น
‘วัยรุ่น’ เปรียบเสมือนขั้นบันไดที่อยู่ระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่
ขั้นบันไดนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามากมายภายในร่างกายและจิตใจของมนุษย์ (วัยรุ่น) ที่เด่นชัด คือ การเปลี่ยนเเปลงทางสรีระวิทยา เช่น เสียงแตกหนุ่ม ตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขนแขน ขนขา และอื่นๆ ขึ้นตามตัวในวัยรุ่นชาย การเป็นประจำเดือน หน้าอกขยายใหญ่ และอื่นๆ ในวัยรุ่นหญิง
ส่วนโครงสร้างภายนอกและการทำงานภายในของสมองของวัยรุ่นก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เช่นกัน
จิตแพทย์ชาวอเมริกัน Jay Giedd (2015) ได้กล่าวถึง สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับสมองของวัยรุ่น ไว้ดังนี้…
- การเติบโตของสมองของวัยรุ่นหญิง – ชายมีความแตกต่างกัน
โดยเฉลี่ยแล้วเด็กหญิงจะเข้าสู่วัยแรกรุ่นเมื่ออายุ 10 – 14 ปี ส่วนเด็กชายจะเข้าสู่วัยแรกรุ่นเมื่ออายุ 12 – 16 ปี สาเหตุที่เด็กหญิงเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเด็กชาย ก็เพราะว่าสรีระของเพศหญิงเติบโตเร็วกว่าเพศชายเฉลี่ยแล้ว 2 ปี นั่นหมายความว่า เด็กหญิงจะเริ่มสูง และดูเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าเด็กชาย ในที่นี้รวมไปถึงการเติบโตของสมองของเพศหญิงที่เร็วกว่าเพศชายด้วย นี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุว่า ทำไมเด็กหญิงจึงดูโตกว่าเด็กชาย
- การที่สมองเติบโตถึงขนาดที่ใหญ่ที่สุดของมัน ไม่ได้หมายความว่า สมองจะสิ้นสุดการเติบโตทางด้านวุฒิภาวะ
สำหรับวัยรุ่นชายหญิง ถึงแม้ว่าสมองเติบโตจนมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา แต่สมองของวัยรุ่นก็ยังไม่พัฒนาและเติบโตเต็มที่ จนกว่าจะถึงช่วงกลางถึงช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป
ส่วนหน้าของสมองที่เรียกว่า สมองกลีบหน้าผาก (The Prefrontal Cortex) เป็นส่วนหนึ่งของสมองส่วนสุดท้ายที่จะเจริญเติบโต สมองส่วนนี้ดูแลรับผิดชอบในการวางแผน จัดเรียงลำดับความสำคัญ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้วัยรุ่นหญิงชายพัฒนาสมองส่วนนี้ขึ้นมา ต้องเริ่มตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็ก พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรให้เด็กลงมือทำงานเพื่อพัฒนาสมองของพวกเขาเรื่อยมา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาในลำดับขั้นต่อไปในวัยรุ่น
ดังนั้น แม้จะเป็นวัยรุ่นแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กจะสามารถตัดสินใจได้อย่างดีเยี่ยม เพราะนอกจากขนาดสมองที่ใหญ่แล้ว สมองยังต้องมีทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์อีกมาก เพื่อพัฒนาไปสู่สมองที่มีวุฒิภาวะ (Maturing brain) เฉกเช่นวัยผู้ใหญ่
- สมองของวัยรุ่นมหัศจรรย์มาก เพราะสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าสมองของวัยผู้ใหญ่
สำหรับวัยรุ่น แม้ตลอดวัยเด็กที่ผ่านมาเขาจะไม่เคยมีมือถือ หรือคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองมาก่อน แต่เมื่อไรที่เขาได้เป็นเจ้าของ วัยรุ่นสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่ผู้ใหญ่อาจจะต้องใช้เวลาเป็นวันๆ
ดังนั้น หากเราไม่ได้มอบเวลาหน้าจอมากมายให้กับวัยรุ่นในวัยเด็กของเขา ก็ไม่ได้หมายความว่าวัยรุ่นคนนี้จะมีทักษะทางเทคโนโลยีที่ต่ำกว่าเพื่อนวัยรุ่นที่ได้รับโอกาสสัมผัสหน้าจอมากกว่าเขา วัยรุ่นเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่นานก็จะตามเพื่อนของเขาทันอย่างง่ายดาย
แต่ความสามารถในการควบคุมตัวเองหรือการยับยั่งชั่งใจ การเรียงลำดับความสำคัญ และความคิดยืดหยุ่น ซึ่งเป็นแกนหลักของทักษะทางสมอง EF (Excutive function) ซึ่งเป็นความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุม ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ตนต้องการสำเร็จ
ทักษะทางสมอง EF ไม่สามารถพัฒนามาได้อย่างรวดเร็ว ต้องพัฒนาตั้งแต่วัยเยาว์
- วัยรุ่นต้องการการนอนหลับมากกว่าวัยเด็กและผู้ใหญ่
แม้ว่ามันอาจดูเหมือนวัยรุ่นขี้เกียจ แต่หลักวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าระดับเมลาโทนิน (ระดับฮอร์โมนการนอนหลับ) ในเลือดของวัยรุ่นเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติในเวลากลางคืน และลากยาวมาถึงตอนเช้ามากกว่าวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ นี่อาจอธิบายได้ว่าทำไมวัยรุ่นจำนวนมากนอนดึกและมีความยากลำบากในการตื่นนอนในตอนเช้า วัยรุ่นควรนอนประมาณ 9 – 10 ชั่วโมงต่อคืน แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้นอนหลับเพียงพอ เนื่องจากตารางเวลาที่ขัดกับธรรมชาติของร่างกายวัยรุ่น
การนอนหลับไม่เพียงพอในวัยรุ่นสามารถส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า หรือการบกพร่องในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งนานวันอาจจะส่งผลต่อการเป็นโรคทางจิตได้
ดังนั้น หากลูกวัยรุ่นของเรานอนดึกมาก แล้วตื่นสาย หรือตื่นเที่ยงในวันหยุดของพวกเขา โปรดเข้าใจสมองของวัยรุ่นด้วย อย่าเข้มงวดกับพวกเขานัก แค่วันจันทร์ถึงศุกร์ที่วัยรุ่นต้องไปโรงเรียนแต่เช้า โดยเฉพาะวัยรุ่นไทยที่ต้องฝ่ารถติดไปโรงเรียน ให้เขาได้นอนเต็มอิ่มในวันหยุดเสาร์อาทิตย์บ้าง
- ความผิดปกติทางจิตหลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น
เนื่องจากเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในตัวของเด็กคนหนึ่ง ทั้งฮอร์โมนที่มีมากขึ้น การต้องรับมือกับภาระที่มีมากมายจนเกือบจะเท่าผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งจะผ่านวัยเด็กมา และการต้องควบคุมตัวเองในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นมากมาย
หากเปรียบให้เห็นภาพ
ในวัยเด็กก็เคยผ่านช่วงที่อยากทดสอบข้อจำกัดของร่างกายที่ตัวเองมี คือ ในช่วงวัย 2 ปี ที่เรามักจะเรียกช่วงวัยนี้ว่าวัยทองของเด็ก 2 ชวบ (Terrible two) เพราะเด็กเพิ่งเรียนรู้ว่าตัวฉันมีอยู่จริง พ่อแม่มีอยู่จริง ทำให้ฉันอยากรู้ว่า ฉันสามารถทำอะไรกับร่างกายของฉันได้บ้าง และสิ่งที่ฉันทำมีผลอย่างไรกับพ่อแม่ของฉันบ้าง
ส่วนวัยรุ่น ร่างกายที่พลุ่งพล่านด้วยฮอร์โมน สมองที่คิดรับมือสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาตลอดเวลา ทั้งยังห่วงเรื่องร่างกายที่เปลี่ยนแปลงกระทันหัน ยิ่งกังวลกับการไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น แต่ก่อนฉันไม่เคยต้องกังวลเรื่องกลิ่นตัว ความสูง และกลิ่นปาก เดี๋ยวนี้แค่คุยกับเพื่อนก็ต้องคอยระวัง หรือวัยรุ่นหญิงต้องคอยระวังในวันที่ประจำเดือนมา กระโปรงจะเลอะไหม สิวขึ้นเต็มหน้า กังวลเรื่องความอ้วน ฯลฯ
นอกจากนั้นแล้ว วัยรุ่นยังเป็นวัยที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ต่างๆ ที่คล้ายกับผู้ใหญ่ เข่น การขับขี่ยานพาหนะ ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก การแต่งงาน การเปิดบัญชีธนาคารด้วยตัวเอง และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นก็ยังไม่มีประสบการณ์เทียบเท่าผู้ใหญ่ พวกเขาทำผิดพลาดได้บ่อยครั้ง แต่ด้วยภาระที่เข้ามาประเดประดัง ทำให้มีเรื่องที่วัยรุ่นต้องเจ็บปวดอีกมากกับการต้องตัดสินใจที่ขาดประสบการณ์ของเขา
ความเครียดมากมายที่ก่อตัวขึ้นมาในวัยรุ่น ส่งผลให้เกิดโรคจิตเวชตามมา เช่น โรคซึมเศร้า (Depression) โรคความผิดปกติในการกิน (Eating disorders) โรควิตกกังวล (Anxiety) และโรคจิตเภท (Schizophrenia) คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง
สมองวัยรุ่นมีความยืดหยุ่นและมีการฟื้นฟูตัวเองได้รวดเร็วกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น แม้ว่าวัยรุ่นจะเป็นวัยที่สมองอาจมีความเสี่ยงเกิดโรคทางจิตเวช แต่สมองของวัยรุ่นมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น หากเราให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นตั้งแต่ระยะเเรกๆ โอกาสที่จะกลับมาเป็นปกติสุขนั้นมีมากกว่าในระยะยาว
วัยรุ่นควรไปพบจิตแพทย์ หากกังวลว่า ตนเองมีความเสี่ยงจะเป็นโรคทางจิตเวช พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดวัยรุ่นควรพาเขาไปพบจิตแพทย์ให้เร็วที่สุด อย่าทิ้งเอาไว้เนิ่นนาน
“การค้นหาตัวเอง” เป็นส่วนสำคัญของการเป็นวัยรุ่น
ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ (Psychosocial Development) ของ อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า “ในช่วงวัยรุ่นการเปลี่ยนจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่มีความสำคัญที่สุด เด็กวัยนี้จะมีความเป็นอิสระมากขึ้นและเริ่มมองไปที่อนาคตทั้งในการเลือกอาชีพ การสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคน การรับผิดชอบกับภาระหน้าที่ทางครอบครัว และอื่นๆ วัยรุ่นให้ความสำคัญกับการเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น เขาต้องการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม”
ช่วงวัยรุ่น ซึ่งตรงกับช่วงวัย 12-18 ปี เป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหา “อัตลักษณ์ของตัวเอง (Identity)” ผ่านการสำรวจความตัวตน ทั้งความรู้สึก ความต้องการ ความเชื่อ คุณค่าภายในตนเอง หากวัยรุ่นสามารถค้นพบตัวตนที่สอดคล้องกันระหว่างภายนอกและภายใน เขาจะสามารถเติบโตต่อไปโดยไม่รู้สึกติดค้างในช่วงวัยดังกล่าว
ในทางกลับกันหากวัยรุ่นไม่สามารถรับรู้ความต้องการที่มีต่อตัวเอง หรือแม้จะค้นพบความต้องการนั้น แต่ไม่สามารถทำตามที่ใจต้องการได้ อาจจะเป็นเพราะ…
สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ เช่น สังคมไม่ให้การยอมรับ ขัดกับค่านิยมของครอบครัว พ่อแม่ห้ามปรามไม่ให้เลือกในทางที่เป็นตัวเขา หรือเป็นเพราะตัวเขาเองที่ไม่สามารถเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการได้
สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลให้วัยรุ่นเกิดความกังวลและความคับข้องใจ ถ้าหากไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ปมที่ติดค้างจะนำไปสู่ “ความสับสนในบทบาทของตัวเอง (Role Confusion)” วัยรุ่นจึงพยายามสุดกำลังเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพื่อตัวเอง และคนที่เขารัก เมื่อพยายามเต็มที่แล้วทำไม่ได้ วัยรุ่นมีสองทางเลือก คือ การเปลี่ยนเส้นทาง หรือปล่อยวาง ในวัยรุ่นบางคนที่หาทางออกให้กับปัญหานี้ไม่ได้ สุขภาพจิตของเขาจะได้รับการบั่นทอนลง
“เป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด”
ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะมองว่าความทุกข์ของเด็กเป็นเรื่องเล็ก ความเปราะบางของวัยรุ่นเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ด้วยประสบการณ์ที่ยังไม่เบ่งบานเต็มที่ ภูมิคุ้มกันทางใจที่ยังไม่หนาแน่นพอ ความทุกข์เหล่านั้นดูจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเขาหนักหนาสาหัสไม่ต่างจากผู้ใหญ่เลย ด้วยเหตุนี้ วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการป่วยทางใจมากที่สุดวัยหนึ่ง พ่อแม่ คุณครู และผู้ใหญ่รอบตัวของเขาควรให้ความสำคัญและช่วยกันสอดส่องดูแล
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกกำลังป่วยใจและต้องการความช่วยเหลือ
- การนอนที่ผิดปกติ นอนไม่หลับเลยหรือนอนมากเกินไป เป็นต่อเนื่องติดต่อกันนานเกินสองสัปดาห์ขึ้นไป จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน
- เก็บตัวอยู่คนเดียว และแยกตัวจากสังคม ไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ ไม่อยากออกไปใช้ชีวิตตามปกติ
- ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง เช่น ไม่ล้างหน้า อาบน้ำ แปรงฟัน หรือแต่งตัว เกิดความรู้สึกไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต
- มีอาการเจ็บป่วยทางกายแบบหาสาเหตุไม่ได้ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หัวใจเต้นเร็วขึ้น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เป็นต้น
- การกินผิดปกติ ได้แก่ เบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไรเลยจนน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ซูบผอม หรือกินมากเกินปกติแบบต่อเนื่องจนน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว และควบคุมพฤติกรรมการกินของตนเองไม่ได้
- ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ต้องทำได้ตามปกติ ความสามารถในการคิดอ่านลดลง ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องธรรมดาๆ ที่เคยทำได้
- มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น มั่นใจในตัวเองมากเกินปกติ มีอารมณ์คึกครื้น ไม่อยากนอน มีพลังงานสูงมากเกินปกติ พูดเร็ว ทำเร็ว รวมถึงใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง
- มีอารมณ์ซึมเศร้า และคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า ร้องไห้บ่อย คิดว่าตนเองเป็นภาระ โทษตัวเองในเรื่องต่างๆ มองเห็นแต่ข้อผิดพลาดของตัวเอง รู้สึกสิ้นหวัง หรืออาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองไปจนถึงอยากตาย
เมื่อพ่อแม่และผู้ใหญ่พบสัญญาณเหล่านี้ในลูกวัยรุ่น เราควรให้ความช่วยเหลือกับวัยรุ่นทันที
แนวทางในการรับมือในวันที่ลูกป่วยใจ
ขั้นที่ 1 นั่งลงคุยกับลูก
หากที่ผ่านมาเราไม่เคยนั่งลงคุยกับเขาอย่างจริงจังมาก่อน การทำให้ตัวเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกสำคัญเป็นอย่างมาก
(1) ให้การรับฟัง ฟังอย่างตั้งใจ และฟังไม่ใช่เพื่อจับผิดหรือตัดสินลูก
สิ่งที่เขากำลังจะบอกเราสำคัญมาก หากเราแทรกเขาเพื่อสั่งสอนหรือตำหนิเขา ลูกอาจจะไม่พูดสิ่งที่ต้องการจะบอกอีกเลย โอกาสที่ลูกจะบอกเราไม่ได้มีทุกครั้ง อย่าทำลายโอกาสแรกที่เขากำลังจะเปิดใจกับเรา
(2) ให้การยอมรับในตัวเขา
ไม่ว่าวันนี้ลูกจะเป็นอะไร เราให้การยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เพื่อเคียงข้างและช่วยเขา
(3) ให้ความรักและการสนับสนุนทางใจ
ระหว่างกระบวนการเยียวยา อาจจะเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับวัยรุ่นที่ต้องเผชิญเพียงลำพัง แต่ถ้าพ่อแม่หรือคนที่เขารักอยู่เคียงข้าง และให้การสนับสนุนทางใจ ไม่ว่าจะเป็นการกอด การรับฟัง คงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาต้องการในช่วงเวลาเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ถ้าวันนี้ลูกไม่กล้าบอกอะไรเรา ไม่เป็นไร ให้ความมั่นใจกับลูกว่า “พ่อแม่พร้อมฟังเขาเสมอ”
ที่สำคัญให้คำแนะนำลูกในการไปหาคนกลางที่พร้อมจะรับฟังเขา เช่น การไปพบจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา
เพราะบางครั้ง ลูกกลัวว่าสิ่งที่เขาพูดอาจจะทำให้พ่อแม่มองเขาแปลกไป หรือ ไม่สามารถยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นได้
ขั้นที่ 2 การพาลูกไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
การที่ลูกส่งสัญญาณที่บ่งบอกว่า เขากำลังป่วยทางใจ พ่อแม่ควรยอมรับและพาเขาไปรับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอย่างเร็วที่สุด เพราะบางครั้งลูกอาจจะมีเพียงอาการที่อยู่ในขั้นต้น ยังสามารถให้การป้องกันแทรกแซงก่อนที่จะกลายเป็นโรคจิตเวชอย่างสมบูรณ์
พ่อแม่ควรให้ความมั่นใจกับวัยรุ่นว่า “การที่เราป่วยใจไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอ และการต้องไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ”
“เริ่มต้นนัดหมายจิตแพทย์อย่างไรดี”
(1) โรงพยาบาลที่มีแผนกจิตแพทย์ หรือ คลินิกจิตแพทย์ เพื่อนัดหมายกับจิตแพทย์ในเบื้องต้นก่อน
หมายเหตุ: รายชื่อโรงพยาบาลและคลินิคที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย สามารถค้นหาได้ในเพจของ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย
(2) ให้ลูกเข้ารับการประเมินทางสุขภาพจิต เพื่อให้จิตแพทย์ทำการวินิจฉัยโรคในเบื้องต้น จากนั้นทางจิตแพทย์จะพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการรักษา ได้แก่ การได้รับการจ่ายยา หรือ การบำบัดที่เหมาะสมกับคนไข้ต่อไป
(3) การนัดหมายเพื่อติดตามผล และการเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาต่อไป
ขั้นที่ 3 การเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
ในปัจจุบันมีแนวทางการบำบัดหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากความเหมาะสมของอาการและบุคลิกของคนไข้แต่ละคน
ยกตัวอย่างเช่น
Medication คือ การรักษาด้วยยา ในโรคจิตเวชหลายโรคมีสาเหตุมาจากสารเคมีในสมองที่หลั่งผิดปกติ ทำให้การกินยาจะเข้าไปช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมองดังกล่าว ทำให้ผู้ที่ได้รับยาสามารถควบคุมร่างกายและความคิดของตนเองได้ดีขึ้น ทั้งนี้ผลข้างเคียงของยาแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันไป คนไข้ควรแจ้งจิตแพทย์ เรื่องโรคประจำตัว และกิจวัตรประจำวันที่สำคัญ เพื่อให้ทางจิตแพทย์ปรับและจ่ายยาอย่างเหมาะสม ข้อสำคัญคนไข้ไม่ควรลดยาหรือหยุดกินยาด้วยตนเอง เพราะอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเฉียบพลันกับสารเคมีในสมองได้
Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ซึ่งเป็นการทำจิตบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยเน้นเรื่องการจัดการกับอารมณ์ทางลบ เช่น ความเศร้า ความวิตกกังวล ความโกรธ เป็นต้น ผ่านการปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่แสดงออกมา
Talk Therapy เป็นการบำบัดผ่านการพูดคุย การรับฟัง การถาม-ตอบ และการสะท้อนกลับ เพื่อให้ผู้รับการบำบัดมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น
Play Therapy เป็นการเล่นเพื่อเยียวยา ผู้รับการบำบัดสามารถใช้ของเล่นและอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องเล่นบำบัด ถ่ายทอดความรู้สึก อารมณ์ และสิ่งต่างๆ ภายในใจออกมาในรูปแบบการเล่น โดยมีนักเล่นบำบัดเป็นผู้เคียงข้างสะท้อน และสรุปสิ่งสำคัญจากสิ่งที่เราแสดงออกมาให้เราได้เห็นอย่างชัดเจน
Family Therapy วิธีนี้จะช่วยให้วัยรุ่นและสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ เข้าใจและสนับสนุนเขาได้ดีขึ้น
เป็นต้น
ระหว่างกระบวนการบำบัดรักษา “การสนับสนุนทางใจจากคนที่รัก” มีความสำคัญกับวัยรุ่นเป็นอย่างมาก พ่อแม่ควรให้ความเข้าใจและเคียงข้าง
วัยรุ่นกับการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
ทุกวันนี้การพาลูกไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ยังเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนเป็นกังวล เพราะการไปพาลูกไปพบจิตแพทย์ แปลว่า ลูกของเราผิดปกติทางจิต ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนที่เวลาลูกป่วยเป็นโรคทางกาย เราสามารถพาลูกไปหาหมอเพื่อรับการรักษาได้ ดังนั้นหากลูกเราป่วยใจ เราควรพาเขาไปพบคุณหมอหรือนักจิตวิทยาได้เช่นกัน
“ทุกคนป่วยได้ ความเจ็บป่วยไม่ได้เลือกอายุ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็สามารถเจ็บป่วยกันได้ทั้งนั้น ยิ่งรักษาเร็ว ความเจ็บป่วยจะไม่เรื้อรัง และโอกาสหายนั้นย่อมมีมากกว่า”
ที่สำคัญ การที่ลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นโรคจิตเวช ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาต้องกลายเป็นคนวิกลจริต
โรคทางกายมีหลายโรคหลายอาการ โรคทางใจก็มีหลายโรค และหลายอาการเช่นเดียวกัน
ในบางคนเป็นโรคจิตเวช เพราะตัวโรคนั้นติดตัวเขามาโดยกำเนิด (กรรมพันธุ์)
ในบางคนเป็นโรคจิตเวช เพราะสภาพแวดล้อมกระทำกับเขา
ในบางคนเป็นโรคจิตเวช เพราะทั้งตัวเขามีแนวโน้มจะเป็นอยู่แล้ว ผนวกกับสภาพแวดล้อมที่เข้าไปกระตุ้นพอดี
และในบางคนอาจจะยังไม่เป็นโรคจิตเวช มีเพียงแค่อาการทางใจ เพราะตัวเขาประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบใจเขา
ด้วยเหตุนี้ ได้โปรดอย่าเหมารวมทุกคนที่มีโรคหรืออาการทางใจว่าเป็นคนวิกลจริต
ที่สำคัญอย่าคิดว่าการที่ลูกต้องมาพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาแปลว่า เขาเป็นคนอ่อนแอ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า ลูกพยายามด้วยตัวเขาเองและเข้มแข็งมานานแค่ไหนแล้ว บางคนอดทนและเข้มแข็งแล้วสามารถผ่านพ้นจุดนั้นไปได้ แต่บางคนไม่สามารถ การมาพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ถือเป็นการเผชิญปัญหาที่ดี ไม่ใช่การหนีปัญหา
หากพ่อแม่เข้าใจตรงนี้ และให้การเคียงข้างและสนับสนุนทางกายใจกับลูกในวันที่ใจเขาป่วยใจและไม่พร้อมยืนหยัดด้วยตัวเขาเอง อย่างน้อยความกังวลและความเศร้าที่เกิดขึ้นกับลูกก็ได้รับการบรรเทาลงไปได้ เพราะพ่อแม่ทำให้เขารับรู้ว่า “เขายังเป็นที่รักและมีคุณค่าอยู่”
“เด็กอายุ 18 ปีสามารถไปพบจิตแพทย์ได้ด้วยตนเองได้”
เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี บางคน ประเมินตัวเองแล้วว่า มีอาการหรือสัญญาณของการป่วยเป็นโรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ และอื่นๆ แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่สามารถพาไปพบจิตแพทย์ได้ หรือไม่ให้ความช่วยเหลือในการพาเขาไปพบจิตแพทย์ได้ เขาสามารถมาพบจิตแพทย์ได้ด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะกำหนดว่าการบำบัดรักษาจะต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม แต่ในเรื่องของการให้คำปรึกษาให้คำแนะนำโดยที่ไม่ได้มีการรักษาหรือจ่ายยาก็สามารถทำได้ ซึ่งทางจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้น และให้แนวทางและเอกสารในการกลับไปพูดคุยกับพ่อแม่ว่า จะต้องพูดคุยอย่างไรเพื่อที่พวกท่านจะยอมให้เรามารับการรักษา
แต่หากเป็นกรณีที่ฉุกเฉิน เช่น มีการทำร้ายร่างกายตนเอง ทำร้ายร่างกายคนอื่น ไม่สามารถควบคุมอาการที่ทำให้เสี่ยงต่อชีวิตทั้งตัวเองและผู้อื่นได้แล้ว ตรงนี้จิตแพทย์สามารถทำการรักษาได้ และจะมีการติดตามต่อเนื่อง
ในกรณีที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ทางกรมสุขภาพจิตและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะทำหน้าที่ในการดูแลเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงทุกรูปแบบ หากมีการประเมินว่า เด็กมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ก็สามารถรับรองในการเข้าถึงการรักษาได้ แต่หากยังมีผู้ปกครอง ทางนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปพูดคุยเพื่อขอลายเซ็นในการอนุญาตในการรักษา
วัยรุ่นก็คือเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในร่างผู้ใหญ่ ร่างกายเขาเริ่มเติบโตเต็มที่แล้ว แต่จิตใจของเขาเพิ่งเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ เขาลองผิดลองถูก เขาพัฒนาตัวตน และเขาเรียนรู้ที่จะสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง
ในวันที่วัยรุ่นเจอปัญหาและเหนื่อยล้าเต็มที เขาจะกลับมาเติมพลังที่บ้านของเขา ดังนั้น พ่อแม่ผู้ใหญ่มีหน้าที่ทำบ้านให้น่าอยู่ แล้วเขาจะกลับมาพักใจกับเราเอง
คงไม่มีลูกวัยรุ่นคนไหนที่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวังและเลิกรักเขา
การป่วยใจ สำหรับวัยรุ่นบางคนเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสำหรับเขามาก
การที่มีใครสักคนที่เขารักเคียงข้าง และให้การยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น
วัยรุ่นจะสามารถกลับมาเชื่อมั่นและข้ามผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ไปได้
อ้างอิง
Giedd, J. N. (2015). The amazing teen brain. Scientific American, 312(6), 32-37.
Widick, C, Parker, C A, & Knefelkamp, L (1978) Erik Erikson and psychosocial development New directions for student services, 1978(4), 1-17