- The Alchemist (ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน) วรรณกรรมเยาวชนเขียนโดย Paulo Coelho เล่าเรื่องราวของซานติเอโก เด็กหนุ่มที่เป็นคนเลี้ยงแกะชาวสเปนกับการออกเดินทางตามหาขุมทรัพย์ในความฝัน
- เรื่องเล่าทุกเรื่อง ล้วนมีนัยยะซุกซ่อนอยู่ ไม่เฉพาะแต่ในวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เท่านั้น แต่เรื่องเล่าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตำนานพื้นบ้าน นิทานปรำปรา นิยายรักโรแมนติค นิยายผจญภัยสุดขอบฟ้า หรือวรรณกรรมเยาวชน ต่างก็มีสัญญะให้เราได้ค้นหาและตีความตามความเข้าใจของแต่ละคน
- ขุมทรัพย์ – หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ชะตากรรม ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ก็คือ ความฝันและเป้าหมายในชีวิตของเรานั่นเอง ซึ่งความฝันของซานติเอโก ก็คือ การเดินทางออกค้นหาขุมทรัพย์ และเพื่อทำเช่นนั้น เขาต้องละทิ้งชีวิตเด็กเลี้ยงแกะที่เขาคุ้นเคย
*บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ
ด้วยยอดขายกว่า 65 ล้านเล่มทั่วโลก ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 80 ภาษา (ได้รับการบันทึกในสถิติของกินเนสบุ๊ค ให้เป็นหนังสือที่มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุด นับเฉพาะหนังสือที่ผู้แต่งยังมีชีวิตอยู่) และเป็นหนังสือโปรดของศิลปินดังหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นมาดอนน่า, ฟาร์เรล วิลเลียมส์ และโอปราห์ วินฟรีย์ น่าจะเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า หนังสือที่เรากำลังจะพูดถึงเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นหนังสือที่น่าอ่านในระดับหนึ่ง
แต่นั่นก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ทำไมใครต่อใครถึงหลงรักหนังสือเล่มนี้ จนกว่าคุณจะได้อ่านมันด้วยตัวเอง
The Alchemist ซึ่งเขียนโดย Paulo Coelho (เปาโล โคเอโย หรือบางคนออกเสียงว่า คูเอลญู) มักถูกมองว่า เป็นวรรณกรรมเยาวชน เพราะการเดินเรื่องที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน และมีองค์ประกอบของเทพนิยายเหนือจริงเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผมเองก็เคยคิดเช่นนั้น ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ฉบับแปลภาษาไทยในชื่อว่า ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน ซึ่งแปลโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เมื่อร่วมยี่สิบปีก่อน ซึ่งพออ่านจบผมก็จัดหนังสือเล่มนี้ให้อยู่ในหมวดหมู่วรรณกรรมเยาวชนที่แฝงแง่คิดลึกซึ้ง เช่นเดียวกับ เจ้าชายน้อย หรือวินนี่ เดอะ พูห์
หลายปีผ่านไป ผมหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านใหม่ จึงได้รับอรรถรสใหม่ๆ ตลอดจนเกิดข้อสงสัยใหม่ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหนือธรรมชาติ รวมทั้งค้นพบว่า มีหลายคนที่ตั้งข้อสังเกตว่า The Alchemist มีสไตล์การเล่าเรื่องคล้ายกับวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ magical realism ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบเน้นความสมจริง แต่ถักร้อยด้วยองค์ประกอบของเวทย์มนตร์คาถา และสิ่งเหนือธรรมชาติ
สิ่งเหนือจริงในโลกสมจริง
วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เป็นงานเขียนที่หลอมรวมเรื่องราวมหัศจรรย์เหนือจริง เข้ากับเรื่องราวที่อิงจากโลกความเป็นจริง (เช่น การอ้างอิงสถานที่จริง) โดยที่ตัวละครในเรื่องราว ไม่ได้รู้สึกแปลกแยกจากความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น ราวกับว่า เรื่องราวเหนือจริงนั้น คือ เหตุการณ์ปรกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้หนังสือประเภทนี้ แตกต่างจากงานเหนือจริงประเภทแฟนตาซี ที่เรื่องราวในหนังสือมักจะเกิดในโลกที่ถูกจินตนาการขึ้นใหม่ทั้งหมด
คำว่า magical realism ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปี 1925 โดย ฟรานซ์ โรห์ (Franz Roh) นักวิจารณ์งานศิลปะชาวเยอรมัน โดยใช้อธิบายสไตล์งานศิลปะที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนั้น ที่มักสอดแทรกสิ่งเหนือจริง รวมถึงเวทย์มนตร์คาถา เข้าไว้ในภาพเหตุการณ์ที่สะท้อนจากโลกจริง
หลังจากนั้น สไตล์งานศิลปะแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ ถูกนำไปใช้แพร่หลายในหมู่นักเขียนชาวละตินอเมริกา และเมื่อวรรณกรรมแนวนี้ได้รับความนิยมในวงกว้าง ทำให้เมื่อพูดถึงสัจนิยมมหัศจรรย์ ทุกคนจะนึกถึงงานเขียนจากละตินอเมริกาไปโดยปริยาย
หนังสือเรื่อง One Hundred Years of Solitude หรือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez) นักเขียนชาวโคลอมเบีย อาจเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ทำให้ผลงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นที่รู้จักในระดับโลก แต่ถ้าในยุคปัจจุบันแล้ว คงต้องบอกว่า ผลงานหลายๆ เล่มของฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น ถือเป็นการเบิกเนตรให้นักอ่านหนังสือรุ่นใหม่ๆ ได้รู้จักกับวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์
แต่ไม่ว่าจะเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์จากภูมิภาคใดของโลก สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ความเหนือจริงที่ซ้อนทับในโลกที่สมจริง ขณะที่ตัวละครในหนังสือ ไม่มีใครเอะใจกับความพิลึกพิลั่นเหนือธรรมชาติที่ถูกใส่เข้ามา ราวกับว่า มันเป็นเรื่องปรกติที่พบเห็นในชีวิตประจำวันของพวกเขา
หรือว่าจริงๆ แล้ว ความมหัศจรรย์เหล่านั้น เป็นสิ่งปรกติที่ถูกแปลงรูปให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า นักเขียนอาศัยความมหัศจรรย์เหล่านั้น ซุกซ่อนนัยยะนามธรรมบางอย่าง เช่น ดาบวิเศษ อาจหมายถึงความยุติธรรมหรือความกล้าหาญ หรือคนมีปีกอาจหมายถึงผู้หลุดพ้นจากพันธะผูกพัน
…แล้วความมหัศจรรย์ใน The Alchemist มีนัยยะอะไรซุกซ่อนอยู่
ถอดรหัสค้นหาขุมทรัพย์
ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องเล่าทุกเรื่อง ล้วนมีนัยยะซุกซ่อนอยู่ ไม่เฉพาะแต่ในวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เท่านั้น แต่เรื่องเล่าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตำนานพื้นบ้าน นิทานปรำปรา นิยายรักโรแมนติค นิยายผจญภัยสุดขอบฟ้า หรือวรรณกรรมเยาวชน ต่างก็มีสัญญะให้เราได้ค้นหาและตีความตามความเข้าใจของแต่ละคน
The Alchemist หรือขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน หรือขุมทรัพย์สุดปลายฝัน (ชื่อในการแปลใหม่ โดยกอบชลี และกันเกรา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์) เป็นเรื่องราวการเดินทางของซานติเอโก เด็กหนุ่มที่เป็นคนเลี้ยงแกะชาวสเปน เขาฝันถึงขุมทรัพย์ที่ซุกซ่อนอยู่ที่พิระมิดในอียิปต์หลายครั้ง จนในที่สุดซานติเอโกตัดสินใจทิ้งทุกอย่างเพื่อออกเดินทางตามหาขุมทรัพย์ในความฝัน
การเดินทางตามหาขุมทรัพย์ของซานติเอโก กลายเป็นการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเขาได้พบว่า แท้ที่จริงแล้ว ขุมทรัพย์ที่ล้ำค่าที่สุดที่เขาค้นพบ ก็คือ ชะตากรรม (หรือตำนานชีวิตของตัวเอง ในฉบับแปลใหม่) ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Personal Legends’
“มันคือสิ่งที่เจ้าอยากเป็น มนุษย์ทุกคน เมื่อพวกเขายังหนุ่มสาว จะรู้ว่าชะตากรรมของตัวเองคืออะไร
“ณ ห้วงเวลานั้น ทุกอย่างดูกระจ่างชัดและเป็นไปได้ พวกเขาไม่กลัวที่จะฝัน และแสวงหาสิ่งที่พวกเขาต้องการให้บังเกิดขึ้นในชีวิต แต่เมื่อเวลาผ่านไป พลังลึกลับบางอย่างก็เริ่มทำให้พวกเขาเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ที่ชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นไปอย่างที่เคยฝัน” (ข้อความจากหนังสือ ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน แปลโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์)
#ขุมทรัพย์ – หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ชะตากรรม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็คือความฝันและเป้าหมายในชีวิตของเรานั่นเอง ซึ่งความฝันของซานติเอโกก็คือการเดินทางออกค้นหาขุมทรัพย์ และเพื่อทำเช่นนั้น เขาต้องละทิ้งชีวิตเด็กเลี้ยงแกะที่เขาคุ้นเคย
#แกะ – แกะในเรื่องนี้ น่าจะมีความหมายถึง ความเชื่อง ว่านอนสอนง่าย อยู่ในแบบแผนของสังคม และมั่นคงปลอดภัย ซึ่งซานติเอโก จำเป็นต้องเสียสละทุกอย่างที่กล่าวมา จำเป็นต้องทำตัวผิดแผกจากคนอื่นในสังคม เพื่อแลกกับการออกค้นหาความฝันในทะเลทรายอันเวิ้งว้าง
#ทะเลทราย – ทะเลทราย คือ สภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้ง เต็มไปด้วยอุปสรรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุด ซึ่งทะเลทรายในเรื่องนี้ ก็ไม่ต่างจากชีวิตของคน ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคต่างๆ นานาให้ต้องฝ่าฟัน เพื่อไปให้ถึงความฝันที่วาดไว้
#การเล่นแร่แปรธาตุ – การเล่นแร่แปรธาตุ หรือความพยายามเปลี่ยนวัตถุโลหะ ให้กลายเป็นทองคำ ซึ่งการเล่นแร่แปรธาตุ รวมถึงนักแปรธาตุ ผู้เข้าถึงศาสตร์แห่งการแปรธาตุ นับเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง (ตามชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษว่า The Alchemist หรือ นักแปรธาตุ) แต่ความหมายที่แท้จริงของการเล่นแร่แปรธาตุ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม หรือเป็นตัวเองในภาวะที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
อย่างไรก็ดี ความพยายามถอดรหัสต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ ก็คงไม่ต่างจากความพยายามหาทางเข้าถึงศาสตร์แห่งการเล่นแร่แปรธาตุในตำรา เหมือนเช่นที่ชายชาวอังกฤษในเรื่องพยายามทำ ขณะที่ซานติเอโก เข้าถึงศาสตร์แห่งการเล่นแร่แปรธาตุ ด้วยการหลอมรวมตัวเองเข้ากับธรรมชาติ หรือ “บรมจิตแห่งพิภพ”
และนั่นอาจเป็นการบอกกับเราว่า อย่าพยายามตีกรอบจัดประเภทของ The Alchemist และไม่จำเป็นต้องหาทางถอดรหัสนัยยะในหนังสือเล่มนี้ เพียงแค่เปิดอ่าน ปล่อยตัวเองให้ลื่นไหลไปกับเรื่องราวในหนังสือ น่าจะเป็นการดื่มด่ำความดีงามของหนังสือได้ดีที่สุด
ขุมทรัพย์ที่เราหลงลืม เปาโล โคเอโย ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ก็ไม่ต่างจากซานติเอโก เขาทำสิ่งที่ถูกมองว่า “แหกขนบ” มาหลายต่อหลายครั้งในชีวิต เพื่อยืนยันเจตนารมย์การเดินตามหาความฝัน ไม่ว่าจะเป็นการออกจากโรงเรียนกฎหมาย หรือการทิ้งอาชีพนักแต่งเพลง เพื่อที่จะเป็นนักเขียนหนังสืออย่างจริงจังตามที่ฝันไว้ตั้งแต่วัยหนุ่ม นอกจากเรื่องการค้นหาความฝัน หรือชะตากรรมชีวิตแล้ว สิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องราวใน The Alchemist อยู่ในประโยคที่ชายชรากล่าวไว้กับซานติเอโก “หากเจ้าปรารถนาสิ่งใดอย่างแท้จริง จักรวาลทั้งปวงจะร่วมกันช่วยให้เจ้าบรรลุสิ่งที่เจ้าปรารถนา” (ข้อความจากหนังสือ ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน แปลโดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์) โคเอโย เคยเล่าในการให้สัมภาษณ์กับโอปราห์ วินฟรีย์ ว่า ช่วงแรกที่ The Alchemist ออกวางจำหน่าย หนังสือขายไม่ได้เลย จนผู้จัดพิมพ์ตัดสินใจหยุดการจำหน่าย และนั่นอาจเป็นจุดจบอาชีพนักเขียนของโคเอโย ทว่า โคเอโย เชื่อมั่นในความฝันของเขา และมั่นใจว่า หากเขาปรารถนาสิ่งใดอย่างแท้จริง จักรวาลทั้งปวงจะร่วมกันช่วยให้เขาบรรลุสิ่งที่ปรารถนา เขาเดินหน้าหาผู้จัดพิมพ์หนังสือรายใหม่ที่บราซิล พร้อมกับบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า เขามีหนังสือที่ตีพิมพ์แล้วและขายไม่ออก แต่เขาเชื่อมั่นว่า มันเป็นหนังสือที่ดี ซึ่งผู้จัดพิมพ์หนังสือรายนั้น รับฟังและรับปากจะเป็นผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายให้กับโคเอโย สามปีต่อมา หนังสือ The Alchemist ทำยอดขายกว่าครึ่งล้านเล่มในประเทศบราซิล ความฝันของโคเอโย กลายเป็นความจริง เขาค้นพบชะตากรรมของตนเอง เช่นเดียวกับซานติเอโก ที่ค้นพบขุมทรัพย์ที่ปลายฝันของเขา |