- ผลจากการขึ้นเงินเดือนครูในระบบราชการมาร่วม 20 ปี ช่วยให้ทุกวันนี้มีเด็กเก่งจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเรียนเพื่อเป็น “ครู” มากขึ้น แต่หลักสูตรครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์และระบบที่แวดล้อมรอบตัวครูไม่อาจเอื้อให้ครูรุ่นใหม่พัฒนาการศึกษาไทยไปได้ไกลกว่านี้
- ครูยังขาดความรู้ความแม่นยำในวิชาที่สอน หรือขาด hard skills จนทำให้ห้องเรียนหลายแห่งไม่ได้คุณภาพ การอบรมทักษะต่างๆ ไม่สามารถทดแทนความรู้หลักๆ ที่ครูควรจะต้องมีตั้งแต่แรกได้
- โรงเรียนสังกัดรัฐบาลในไทยมีกว่า 30,000 แห่ง หากพิจารณาทรัพยากรกับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่จะทำให้โรงเรียนพัฒนา และสร้างครูที่กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้หรือไม่ หากวันใดสามารถทำได้เกินครึ่งหนึ่ง ไทยก็จะเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูงได้ แต่ความจริงก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยกำลังถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ
ทำไมครูไทยยังไม่เก่ง ทำไมคนเก่งไม่มาเป็นครู?
ครูไทยเข้าอบรมบ่อยแค่ไหน อบรมไปแล้วเกิดผลอะไรบ้าง?
ทำไมบางโรงเรียนยังขาดทรัพยากร?
หากถกเถียงกันเรื่องการพัฒนาการศึกษาไทย คำถามเหล่านี้จะยังคงถูกวนเวียนเอามาถามอยู่ตลอด ซึ่งเราจะตอบคำถามไม่ได้เลยถ้าไม่ได้หันกลับไปดูว่าโครงสร้างระบบการศึกษาเป็นอย่างไร
The Potential หยิบมุมมองของ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา ที่ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้ในงานเสวนาที่ต่อยอดจากหนังสือ “ปั้นครู เปลี่ยนโลก ถอดนโยบายสร้างครูแห่งศตวรรษที่ 21(Empowered Educators: How High-Performing Systems Shape Teaching Quality Around the World)” ซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์ bookscape ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อไม่นานมานี้
ในการเสวนา ดร.ภูมิศรัณย์ ได้ให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับ “ระบบการศึกษาไทย” พร้อมยกตัวอย่างกรณีต่างๆ ของประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูงไว้หลายกรณี ดังต่อไปนี้
ทำไมครูไทยยังไม่เก่ง? ทำไมคนเก่งไม่เป็นครู?
ในสนามของการทำงานทุกอาชีพต้องการทักษะมากมาย หลักๆ ทักษะเหล่านี้จะแบ่งเป็น hard skills ทักษะด้านความรู้ที่ใช้ในการทำงาน กับ soft skills ทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนหรือการเข้าสังคม
สำหรับอาชีพครู จะมี hard skills จากความรู้ในเนื้อหาสาระวิชาที่สอน และมี soft skills เป็นทักษะต่างๆ ที่นำมาใช้สอนเด็กหรือทำงานร่วมกันในโรงเรียน แต่ตอนนี้ปัญหาสำคัญของครูไทยก็คือ การที่ครูขาดความรู้ความแม่นยำในวิชาที่สอน หรือขาด hard skills จนทำให้ห้องเรียนหลายแห่งไม่ได้คุณภาพตามที่ควรจะเป็น
กรณีนี้ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. เห็นว่า แม้จะมีความพยายามในการอบรมพัฒนาต่างๆ ขณะที่เป็นครูก็อาจจะช่วยเรื่อง hard skills ไม่ได้
“สิงคโปร์ครูเขาจบวิชาพื้นฐานหลักแล้วก็มาเรียน 1 ปีที่ National Institute of Education (สถาบันการศึกษาแห่งชาติ) มีแค่ 1 ใน 3 ที่จบทางครุศาสตร์โดยตรง และในหลายประเทศก็เรียกว่าเป็นคนที่มี hard skills เป็นพื้นฐานหลักอยู่แล้ว ส่วนของเรา ถ้าครูไม่ได้เป็นคนที่มี hard skills มาแต่เดิม ผมมองว่า พื้นฐานในเรื่องของวิชาหลักเรายังไม่แน่น ตรงนี้มันจะยาก พวกทักษะต่างๆ ที่เขาพูดถึงไม่ว่าจะเป็น PLC (Professional Learning Community ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) อะไรต่างๆ ก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ว่าก็ไม่สามารถที่จะไปทดแทนความรู้หลักๆ ที่ครูควรจะต้องมีตั้งแต่ก่อนเข้ามา” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว
ทั้งนี้เขาได้ให้ความเห็นร่วมกับวงเสวนามาก่อนแล้วว่า “ครู” เป็นอาชีพที่ต้องส่งเสริมให้คนเก่งสนใจเข้ามาทำหน้าที่นี้กันให้มาก ซึ่งผลจากการขึ้นเงินเดือนครูในระบบราชการมาร่วม 20 ปี ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งแล้ว
สำหรับ ดร.ภูมิศรัณย์ คำพูดที่ว่า ครูไทยมีรายได้น้อย คนเก่งๆ เลยไม่อยากเป็นครู เป็นเพียงมายาคติเท่านั้น เพราะครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่คิดเป็นครูส่วนใหญ่ในประเทศได้รับค่าตอบแทนที่ไม่น้อยหน้าใครตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจําตําแหน่งข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547
“ถ้าเป็นครู อายุประมาณ 40 กว่า เงินเดือนก็อาจจะถึงขั้น 60,000-70,000 ครูเกษียณไป เงินเดือนก็ประมาณ 40,000 ได้ ถ้าเทียบกับข้าราชการทั่วไปไม่ได้เงินเดือนน้อย แล้วอีกอย่างหนึ่งเท่าที่ผมทราบนักเรียนที่มาเรียนกับคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ก็จะเป็นเด็กที่มีคุณภาพสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ก็เรียกว่าตอบสนองต่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตาม จริงอยู่ที่ผลจากการเพิ่มเงินให้ครูได้ช่วยให้ทุกวันนี้มีเด็กเก่งจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเรียนเพื่อเป็น “ครู” กันมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลักสูตรครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์และระบบที่แวดล้อมรอบตัวครูไม่อาจเอื้อให้ครูรุ่นใหม่พัฒนาการศึกษาไทยไปได้ไกลกว่านี้
“ครู (ในคณะครุศาสตร์) ก็ยังใช้วิธีการเดิมแม้จะได้เด็กเก่งเข้า แต่วิธีการเรียนยังเป็นแบบเดิม เมื่อเขาจบไปอยู่ในโรงเรียน กระบวนการเรียกว่า in-service training (การฝึกอบรมเพื่อพัฒนา) ของครูไทยก็ยังเป็นแบบเดิม ทุกคนก็บ่นว่ามีปัญหาอะไรต่างๆ มากมาย ต้องทำเอกสารหรืออะไรต่างๆ ที่ไม่ได้มีการพัฒนา ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ครู แม้ว่าจะเก่งแค่ไหนก็ตาม พอเข้าไปอยู่ในระบบก็ท้อแท้ แล้วความกระตือรือร้นอะไรก็อาจจะหายไป อันนี้ผมก็คิดว่ามันต้องมีการพัฒนาไปตลอดทั้งระบบที่จะสามารถทำให้คนเก่งอยากที่จะมาอยู่ในวิชาชีพนี้ได้”
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น… ดร.ภูมิศรัณย์เห็นว่า เป็นเพราะที่ผ่านมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างจริงจัง ปัญหาเรื่องการไม่มีกระบวนการคัดเลือกคนเก่งเข้ามาเป็นครูนั้นเป็นหนึ่งเรื่อง ที่จริงแล้วยังมีเหตุผลที่คนเก่งมากมายไม่เลือกที่จะเป็นครูคือพวกเขามองไม่เห็นว่า ใน “ระบบ” ที่เป็นอยู่จะทำให้พวกเขาพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไรบ้าง
“ผมคิดว่าเงินเดือนก็ไม่ได้เป็นแค่ปัจจัยเดียว แต่ยังหมายถึงกระบวนการต่างๆ ในการพัฒนาตัวครูด้วย” เขาเอ่ยโดยเปรียบเทียบว่า มีคนเก่งจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเป็นครูในโรงเรียนเอกชนหรือองค์การมหาชนที่มีช่องทางให้คนเก่งได้แสดงฝีมือและสนับสนุนให้พวกเขาได้ฝึกฝนวิชาความรู้
“ผมไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีการปรับเงินเดือนครูมากไปกว่านี้ น่าจะเอาพลังงานไปทุ่มเทกับการเรียนการสอนของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ให้มีความทันสมัย ให้เหมาะกับโลกมากขึ้น แล้วก็รวมไปถึงกระบวนการฝึกครูที่จะออกไปอยู่ในระบบ ระบบการตอบแทนเป็นยังไง ระบบการเลื่อนขั้น ทำยังไงให้ครูเขามีความมั่นใจในตัวเอง”
ดร.ภูมิศรัณย์เห็นว่า ความภูมิใจในงานที่ได้พัฒนาศักยภาพของเด็ก ความภูมิใจที่ได้เจริญก้าวหน้าในการทำงาน รวมไปถึงการได้รับความยอมรับจากคนทั่วไปจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนที่มีความสามารถอยากที่จะกระโดดเข้ามาทำงานด้านการศึกษามากขึ้น
“อย่างฟินแลนด์ก็เป็นอีกแบบ คนเก่งก็จะไปเป็นครูเยอะ แม้ว่าเงินเดือนของครูก็สูง แต่ว่าก็ไม่ได้สูงมาก ไม่ได้สูงเกินไปถ้าเทียบกับอาชีพอื่นๆ ในประเทศเขา แต่ว่าด้วยกระบวนการ ด้วยความสุขในอาชีพ ด้วยความยอมรับในสังคม ด้วยการเป็นอิสระในกระบวนการทำงาน ก็ทำให้คนที่เก่งๆ ของฟินแลนด์เขาอยากเป็นครูกันเยอะ” ดร.ภูมิศรัณย์ ยกตัวอย่าง
นอกจากนี้ ดร.ภูมิศรัณย์ยังมองอีกด้านหนึ่งด้วยว่า ความเป็นข้าราชการของครูที่รับประกันไว้แล้วว่า จะมีเงินบำนาญให้หลังเกษียณได้ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเป็นครูโดยที่ไม่ได้ชอบจึงทำให้คุณภาพการศึกษาลดลงไป
“การเป็นข้าราชการมีข้อเสียในแง่ที่ว่าบางคนก็ไม่ได้อยากที่จะเป็นครูมากนัก ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองชอบ แต่เมื่อเขาได้เป็นข้าราชการแล้วก็ทำให้เขารู้สึกว่า ก็อยู่จนได้บำเหน็จบำนาญไป ซึ่งผมก็คิดว่าตรงนี้น่าจะมีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน ครูไทยที่ไม่ได้ชอบร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะชอบนิดนึง แต่ว่าพอทำได้ ซึ่งหลายคนที่เราเห็นตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์น่าจะเป็นคนกลุ่มนี้แหละ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับนักเรียน ใช้อำนาจในห้องเรียน ไม่มีความเป็นครู อะไรต่างๆ ที่ทำให้ภาพพจน์ในส่วนของวิชาชีพอาจจะไม่ค่อยดี”
ทำไมบางโรงเรียนถึงขาดแคลนทรัพยากร?
ตอนนี้ไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษาประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี คิดเป็นเงินสูงถึง 600,000-800,000 ล้านบาท
ถ้าเป็นจริงตามนี้ ทำไมเรายังเห็นเด็กๆ ไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะยากจน หรือทำไมเรายังต้องช่วยกันบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับโรงเรียนที่อยู่นอกเมือง
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานด้านการศึกษาเห็นว่า งบประมาณการศึกษาของไทยไม่ใช่งบประมาณที่มากเกินไปถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ปัญหาก็คือ การกระจายทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป
“ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์ แคนาดา หรือแม้แต่เซี่ยงไฮ้ก็จะมีการจัดสรรงบประมาณในลักษณะการจัดสรรงบประมาณแบบเสมอภาค ในแง่ที่ว่าในจังหวัดหรือว่าในท้องถิ่น อาจจะเป็นท้องถิ่นที่ยากจนที่รัฐบาลท้องถิ่นเขาเก็บเงินได้น้อย รัฐบาลกลางเขาก็จะพยายามเสริมเงินงบประมาณเข้าไปเพื่อให้ในทุกท้องถิ่นได้เงินเท่าๆ กัน ไม่ได้มีอันไหนได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก” ดร.ภูมิศรัณย์อธิบาย
เมื่อมองมาที่ไทยซึ่งใช้หลัก “งบฯ ต่อหัว” กล่าวคือ โรงเรียนได้งบประมาณตามจำนวนนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่หรือว่าขนาดเล็ก แม้จะมีการบวกเพิ่มอัตรางบประมาณอุดหนุนรายหัวให้โรงเรียนขนาดเล็กบ้าง แต่ว่าโดยรวมการจัดการการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในชนบทจะมีความเสียเปรียบมากกว่า เนื่องจากความประหยัดต่อขนาดจะไม่เท่าโรงเรียนขนาดใหญ่ กล่าวคือ
โรงเรียนขนาดเล็กซึ่งมีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน จะได้รับงบประมาณรายหัวต่ำเนื่องจากจำนวนนักเรียนที่น้อย ทั้งที่จริงแล้วโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ต้องการงบประมาณมาจัดการการศึกษาไม่ต่างจากโรงเรียนที่มีนักเรียน 200 คน ซึ่งจากสถิติแล้วไทยมีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากถึง 51 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนทั้งหมด
ดร.ภูมิศรัณย์ได้ตั้งคำถามว่า โรงเรียนสังกัดรัฐบาลในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 30,000 แห่ง ในจำนวนนี้จะมีโรงเรียนที่สามารถจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพได้เท่าไร หากพิจารณาที่ทรัพยากรที่มีอยู่กับระบบการศึกษาที่เป็นอยู่จะทำให้โรงเรียนพัฒนา และจะทำให้โรงเรียนสร้างครูที่กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้เกินครึ่งหรือไม่
หากวันใดสามารถทำได้เกินครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมด ไทยก็จะเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูงได้ แต่ความจริงก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยกำลังถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ
จากข้อมูลของโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ประเทศไทยมีการแบ่งแยกของโรงเรียนระหว่างเด็กที่ร่ำรวยกับเด็กที่ยากจนสูงมากซึ่งอยู่ในระดับต้นๆ ใกล้เคียงกับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาอย่างบราซิล โคลอมเบีย เปรู อุรุกวัย โดย ดร.ภูมิศรัณย์มองว่า ความแตกต่างของประชากรสองกลุ่มนี้จะมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่มีนโยบายใดๆ ที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้
“การที่ให้เงินไปอุดหนุนโรงเรียนต่างๆ ณ ตอนนี้เรายังขึ้นอยู่กับรายหัวเด็กอยู่ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหา ไม่สามารถที่จะไปลดความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนที่มีคุณภาพแตกต่างกันได้เลย ยิ่งทำให้สถานการณ์ค่อนข้างที่จะแย่ลง ที่พูดถึงตั้งแต่เริ่มต้นมา เราพูดถึงเฉพาะโรงเรียนรัฐบาล พูดถึงครู พูดถึงระบบ ยังมีโรงเรียนเอกชน โรงเรียนที่มีครูเป็นครูอัตราจ้างอีกมากมาย แล้วคนกลุ่มนี้เขามีความลำบากมากกว่าครูของโรงเรียนรัฐบาล ถ้าเกิดอ่านในโซเชียลมีเดียก็จะเห็นอยู่ว่า มีการโพสต์รับสมัครงานครูเงินเดือน 4,000-5,000 อยู่”
“นอกจากนี้ แม้ว่าโรงเรียนทั่วไปเขาจะได้งบประมาณต่อหัวเด็กพอๆ กัน แต่ว่าสิ่งที่ทำให้โรงเรียนต่างกันก็คือความสามารถในการระดมทรัพยากร ซึ่งโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โรงเรียนที่มีสมาคมครูและผู้ปกครองที่มีประสิทธิภาพหรือโรงเรียนที่ผู้ปกครองมีฐานะ โรงเรียนในชุมชนที่มีเศรฐกิจดี เขาก็จะสามารถระดมทุนแล้วก็เอาเงินอันนั้นมาใช้ในการพัฒนา ถ้าโรงเรียนอยู่ในฐานะที่ยากจน ชายขอบ ตามชนบท เขาก็ไม่สามารถที่จะระดมทุนได้” ดร.ภูมิศรัณย์เสริม
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นงบประมาณที่รัฐมีไว้สำหรับเรื่องการศึกษาส่วนใหญ่ก็คือ ส่วนที่เป็นเงินเดือนของข้าราชการครู ซึ่งส่วนที่เหลือจากนั้นก็ไม่ได้แบ่งไว้มากพอสำหรับเรื่องอื่นๆ ในระบบการศึกษา
“งบประมาณสัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็คืองบค่าใช้จ่ายของครู เงินเดือนวิทยฐานะต่างๆ ที่เหลือก็เป็นการบริหารจัดการ” ดร.ภูมิศรัณย์เอ่ย และขยายความด้วยว่า ในจำนวนนี้ก็มีเหลือไว้ใช้พัฒนาเด็กน้อยมาก
ต่างกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการการศึกษา ประเทศเหล่านั้นจะมีการกระจายอำนาจที่ชัดเจนทั้งในเรื่องของงบประมาณและการตัดสินใจในเรื่องนโยบาย
“การกระจายอำนาจของเขาจะไปอยู่ที่ตรงเมือง ตรงท้องถิ่น หรือว่าในระดับโรงเรียนค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นในระดับโรงเรียนหรือว่าท้องถิ่นก็จะมีอิสระในการตัดสินใจ เรียกว่ามีบทบาทในการตัดสินใจอะไรต่างๆ ในการเรียกร้องอะไรต่างๆ ค่อนข้างสูง แต่ประเทศไทย โดยโครงสร้างการศึกษา ในภาครัฐก็ค่อนข้างที่จะเป็นราชการที่รวมศูนย์อำนาจ”
ดร.ภูมิศรัณย์มองด้วยว่า ไทยยังไม่ได้มีกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ครูมีส่วนร่วมแบบตรงไปตรงมาในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา การรวมกลุ่มครูในไทยก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อคอยเสนอนโยบาย ส่วนตัวเขามองว่า ถ้าให้ครูผู้ปฏิบัติงานโดยตรงได้สะท้อนเสียงในสิ่งที่ตัวเองคิดหรือต้องการก็จะช่วยเคลื่อนการศึกษาให้ก้าวหน้าไปได้
“เรื่องของการแต่งตั้งต่างๆ เรื่องของงบประมาณ ก็ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนจริงๆ หรือว่าเรื่องของหลักสูตร โรงเรียนก็อาจจะมีอิสระที่จะตัดสินใจได้ แต่ครูหลายๆ ส่วน หลายๆ โรงเรียนเขาก็ยังไม่ค่อยมีความต้องการที่จะปรับหลักสูตรอะไรมากนักก็มักจะใช้ระบบที่ส่วนกลางคิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นระบบที่ครูไทยอาจจะไม่ได้มีความพยายามในการเข้าไปกำหนดนโยบายมาก”
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ดร.ภูมิศรัณย์เห็นว่าต้องอาศัย “นโยบาย” จึงจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาได้จริงอย่างที่ประเทศอื่นได้ทำให้เห็นมาแล้ว
“ของฟินแลนด์ ช่วงปี 1970 คนไม่ได้นิยมการเป็นครูเท่าไร แล้วก็คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ในปี 1970 ก็ไม่ได้ถือว่ามีคุณภาพสูงมาก เขามีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายช่วงนั้นหลายอย่าง เช่น มีการยุบวิทยาลัยฝึกหัดครูที่อยู่ทั่วประเทศให้เหลือแค่ไปอยู่กับมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ แค่ 8 แห่ง แล้วก็โฟกัสไปที่ 8 แห่งนี้เพื่อให้มีคุณภาพสูง”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การทำงานกับ “นโยบาย” อาจต้องใช้เวลา แต่ก็สามารถที่จะเป็นไปได้