ปีที่ 4 ของบ้านเรียนทางช้างเผือก ยังสุขภาพแข็งแรงและเติบโตไปพร้อมๆ กับ ‘ช้างน้อย’ พี่ชายวัย 11 และ ‘ลิปตา’ น้องสาววัย 8 ขวบ ของพ่อโอ๊ค-คฑา กับ แม่โรส-วริสรา มหากายี ที่ย้ายมาอยู่ที่เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อทำโฮมสคูล หลักสูตรปีแรกกับปีนี้เปลี่ยนไปมากมาย ยืดหยุ่นและเติบโตตาม(ใจ)ผู้เรียน แต่สิ่งที่ยังคงไว้คือ “การเรียนรู้ที่ต้องมีความรู้สึก” ตามที่พ่อแม่ออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น ยิงธนู อบขนมปัง เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เก็บหินสี เดินจักรวาล คือตัวอย่างวิชาล่าสุดของบ้านเรียนทางช้างเผือกที่เหมือนจะไม่เรียนแต่มีความรู้ซ่อนแทรกอยู่แทบทุกบรรทัด
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
วันนี้ บ้านเรียนทางช้างเผือก ของ คุณพ่อโอ๊ค คฑา กับ คุณแม่โรส-วริสรา มหากายี ที่ทำให้ลูกชาย ‘ช้างน้อย ’ และ ลูกสาว ‘ลิปตา’ เดินทางมาถึงปีที่ 4 แล้ว
ปีแรกๆ พ่อโอ๊ค ให้คำจำกัดความไว้ว่า “เฟี้ยวฟ้าวมาก” เพราะออกแบบกันเองแบบคนร้อนวิชา ใส่วิชาอะไรลงไป แค่ไหนบ้าง แม่โรสอธิบายถึงหลักสูตรที่อัดแน่นด้วยประโยคนี้
“กลัวลูกโง่ (หัวเราะ)”
เสียงหัวเราะไล่หลังเมื่อย้อนถึงสิ่งที่ทำลงไป ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ทำไปผิดหรือถูก เพราะระหว่างทางสี่คนพ่อแม่ลูกประเมินร่วมกันตลอดว่าโอเคไหม โดยใช้หลักเกณฑ์สำคัญคือความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกนี้เองคือแกนกลางที่จะกำหนดหลักสูตรว่าบ้านเรียนทางช้างเผือกควรมีวิชาอะไรบ้าง ซึ่งมีทั้งวิชาพ่อ วิชาแม่ และวิชาของลูก
ยิงธนู อันนี้ของพ่อ, ขนมปัง มาสเตอร์คือแม่ ส่วนดูนก ไอซ์สเก็ต คือของลูก ทั้งหมดนี้พ่อ แม่ ลูก สลับกันเป็นครู/นักเรียน และสิ่งที่ทั้งสี่คนได้คือสิ่งนี้
“เราไม่จำเป็นต้องลากใครไปตรงไหนแล้วไง ก่อนหน้านี้เราพยายามที่จะลากๆๆ ก็เหนื่อย ไม่ต้องลาก ทุกคนมีภูเขาของตัวเอง เราก็แค่แชร์กันตรงกลาง เท่านั้นเอง”
ทำไมการเรียนรู้ต้องมีความรู้สึก
มนุษย์เต็มไปด้วยความรู้สึกทุกโมเมนต์ ความรู้สึกอะไรไม่ว่ากันนะ จะหนาวจะร้อน อึดอัด ทุกครั้งที่มีความรู้สึกจะตามมาด้วยความคิด
ถ้าเราเอาความรู้สึกออกจากการเรียนรู้เอย การศึกษา หรือหลักสูตรต่างๆ มันไม่ใช่การศึกษาของมนุษย์แล้ว แต่เป็นการศึกษาเพื่อสร้างอะไรบางอย่าง การศึกษาแบบไม่มีความรู้สึกมันสร้างได้นะ แต่มันไม่สร้างมนุษย์หรอก สร้างอะไรสักอย่าง ผมก็ไม่รู้นะ
เราก็ต้องมาทบทวนอีกว่า แล้วความรู้สึกแบบไหนที่เอื้อต่อการเติบโตของเขา มันไม่ใช่แค่ความรู้สึกบวกอย่างเดียว ความรู้สึกลบมันก็เอื้อ เราจะมองมันอย่างไร เราจะให้ความหมายต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกระบวนการอย่างไร ที่สำคัญเราจะใช้ประโยชน์เพื่อการเติบโตของเขายังไง ความรู้สึกล้มเหลวเนี่ยดีมาก มันเป็นครูใหญ่
เราไม่อยากพูดเรื่องเก่า แต่ปัญหาของการศึกษาคือ เราพยายามไม่ให้รู้สึกแล้วก็บอกให้คิด มันข้ามขั้นตอน ธรรมชาติของมนุษย์ รู้สึกก่อนแล้วค่อยคิด เขาเค้นหรือฝึกให้คิดได้ แต่สุดท้ายพอหมดโจทย์ให้คิด เขาก็ลืมเพราะมันไม่ใช่ส่วนสำคัญของชีวิตเลย
เช่น ตอนเรียน สอบผ่านมาแล้ว แต่ท่องจำนะ มาถึงวันนี้เราลืมหมดแล้วว่ามันเรื่องอะไร เอ๊ะ นี่มันการศึกษาเหรอ หรือมันทำให้เราเอาตัวรอดในโจทย์ของการสอบเท่านั้นเอง เราน่าจะทำการศึกษาให้มันศักดิ์สิทธิ์กว่านั้นไหม เหมือนพ่อแม่ลงทุนในสิ่งที่ฉาบฉวย มันก็งงๆ เฮ้ย ทำไมเราทำอย่างนั้นล่ะ
หลักสูตรช่วงแรกของบ้านเรียนทางช้างเผือกเป็นอย่างไร
เฟี้ยวฟ้าว (หัวเราะ) มาจากพ่อแม่ล้วนๆ ถึงแม้จะมาจากการสังเกตเขาก็เถอะ แต่พ่อแม่ต้องออกแบบให้ก่อน ว่าอะไรจำเป็น ควรเป็นทักษะอะไร
เราเขียนหลักสูตรไว้ 3 เรื่อง 3 เส้า
1. Health รู้จักตัวเอง หัวข้อย่อยๆ เช่น
สุขภาพ แบ่งเป็นใจ กาย และพลังชีวิต self awareness รู้จักตัวเอง ทำอะไรได้ ไม่ได้ อะไรคล่อง อะไรไม่ หรือเรื่องโภชนาการ ดูแลตัวเอง กินอย่างไร รู้จักใจ อิงตามท่านพรหรมคุณาภรณ์เขียนไว้ว่า การรู้จักจิต มี 3 หมวด
หนึ่ง คุณภาพจิต – จิตที่คิดเป็นคุณ จิตที่มีภาพของคุณประโยชน์ คิดสร้างประโยชน์ทั้งตนและคนอื่น โลก มันคือพื้นฐานของการคิด
สอง สมรรถภาพจิต – อดทน ไม่ย่อท้อ ไม่ง่วงหงาวหาวนอน ไม่ยอมแพ้
สาม สุขภาพจิต – แจ่มใส เบิกบาน ร่าเริง ไม่ห่อเหี่ยว
สามข้อนี้ ท่านบอกว่าทำแค่สองเรื่อง คือ สมรรถนะของจิตและคุณภาพจิต ส่วนสุขภาพจิตจะตามมาเอง
2. Life Skill ทักษะชีวิต – สื่อสารกับตนเอง รู้จักคุยกับตัวเอง ประเมินตัวเอง
แบ่งเป็นสามหมวด คือ self, social, routine
การเรียนภาษาอยู่ในหมวดนี้ (ทั้ง self และ social)
self เพราะการสื่อสารกับตัวเอง ภาษาเป็นสิ่งสำคัญ การอธิบายสิ่งที่ได้คิดหรือเจอมา
สือสารกับตัวเอง แล้วค่อยสื่อสารกับคนอื่น คือ social ขณะเดียวกัน การเข้าใจตนเองก็พาไปเข้าใจคนอื่น เราไม่ชอบแบบนั้น เขาก็น่าจะรู้สึกแบบนั้น
ทักษะทางสังคมอีกเรื่องหนึ่งคือความรับผิดชอบ เริ่มต้นจากความรับผิดชอบในหน้าที่ที่เขามี คือ routine งานบ้าน เลี้ยงไก่ ล้างจาน ถึงจะนำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม
3. Nature เป็นเรื่องโลกทั้งหมด คือวิชาวิทยาการทั้งหลายแต่เราไม่ได้แยกเป็นเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ เพราะเป็นการเรียนรู้กระบวนการของโลก มีทุกเรื่อง ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก็เชื่อมโยงกับโลก
เช่น พาไปเก็บหินในลำธารแล้วมาดูกันว่ามีสีอะไร ฝึกทักษะของการสังเกต เราให้เก็บหินที่สีต่างกัน ดูว่าลำน้ำนี้มีหินสีอะไรบ้าง เราก็ได้หลายๆ เฉดสี
พอสังเกตเสร็จ ตามมาด้วยการ grouping for order เมื่อเรามีเรื่องเดียวกันอยู่เยอะๆ เราจะเห็น order หรือ รูปแบบบางอย่างเบื้องหลัง เช่น จากสีหินที่เก็บมา เราพบว่าประเทศไทยสีโทนร้อนเยอะมากเลย แล้วสีพวกนี้มันมาจากไหน เป็นเรื่องของการสังเกตและกิจกรรมที่อยู่ในลำน้ำ และการไปค้นหาว่าสีพวกนี้มันมาจากอะไร
อันนี้เป็นวิชาธรณี เราค้นพบว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยธาตุเหล็ก ให้สีสนิม แดง เหลือง ส้ม และสีอื่นๆ อย่าง เขียว เทา เกิดขึ้นมาเพราะว่าส่วนที่ oxidation กับอากาศ มันต่างกัน ซึ่งเราก็ไม่เคยรู้มาก่อน เราเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก
หลังจากที่ดูทางกายภาพ ก็ค้นคว้าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องก็พบว่า ธาตุมีมากมายหลายร้อยชนิด มีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป จนเขามาสนใจที่ธาตุหนึ่งที่มีรูประเบิดขนาดใหญ่ในหนังสือ เด็กๆ ถามว่านั่นคืออะไร เราเลยเล่าเรื่องยูเรเนียม พลูโตเนียมและระเบิดนิวเคลียร์ ยาวไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ฟัง นิทานสุสานหิ่งห้อย และบูชิโดสปิริตของนักบินเครื่องบินซีโร่ที่เติมน้ำมันเที่ยวเดียวขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่น บินไปเพิร์ลฮาร์เบอร์ ก็เป็นเรื่องสุดท้ายที่มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่การเก็บหินตะกอนสีตามลำธาร
แต่ละวิชา ตั้งเป้าหมายไว้ไหมคะ และตั้งแบบไหน
เป้าเป็นไกด์ไลน์ มันเปลี่ยนได้เสมอ แต่ถ้าเรามีเป้าแข็งๆ เราจะเหนื่อยมากเลย
ซึ่งเมื่อก่อนผมเคยทำตอนทำค่าย เพราะทุกคนต้องไปที่เดียวกัน ต้องขึ้นไปที่ภูเขาลูกเดียวกัน
ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้อยากไปภูเขาก็ได้?
ถ้าเป็นกิจกรรมที่เรามีเป้าประสงค์ชัดเจน ก็อาจจะทำได้ แต่ถ้าเป็นเพื่อการศึกษาของเขา มันคนละเรื่องกัน บางทีเราอาจจะงงๆ หรือนัวๆ กันไปว่า กระบวนการคิดกิจกรรมมีเป้าประสงค์เพื่อรู้จักสิ่งนี้ แล้วพอเราทำ เราว่าไม่ใช่ จากที่เราเทสต์กับลูกเรา ก็ค้นพบว่า เขาเห็นไม่เหมือนเรา
ผมเคยพาเด็ก 20 คนไปดูที่ท้องฟ้าจำลอง กลับมาผมเทสต์กระบวนการนี้แบบไม่มีเป้า โดยให้เขาเขียนโพสต์อิทว่าเห็นอะไรจากการไปท้องฟ้าจำลอง แต่เราไม่ถามนะว่า รู้จักระบบสุริยะไหม ถ้าเราถามนำเขาขนาดนั้นเขาก็จะตอบแบบนั้นแหละ ตอบได้หมด เพราะข้อมูลวางอยู่ตรงนั้น แต่พอเปลี่ยนมาถามว่าเขาเห็นอะไร เขาเห็นเป็นเรื่องอื่นเลย
เด็ก 20 คนเขียนโพสต์อิทไปแปะหน้ากระดานเกือบร้อยอัน เราเอามาแยกว่าเป็นหมวดอะไร ปรากฏว่าตรงกับที่เราวางแผนไว้น้อยมาก เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันเป็นแบบนี้ไง ถ้าเขามีอิสระและไม่ได้ถูกครอบ เขาก็จะบอก แล้วมันเห็นตัวตนเขา เด็กบางคนไปดูท้องฟ้าจำลองกลับมาพูดแต่เรื่องดารา เขาไปเชื่อมโยงกันเอง คำว่าดาราศาสตร์ คือ ดารา-ศาสตร์ (หัวเราะ) อันนี้ถ้าเราเป็นครูวิทยาศาสตร์ เราจะไปยาก ถ้าเราไม่เปิดพอ แต่จริงๆ แล้วมันสามารถใช้โอกาสที่เขาสนใจมาโยงว่า ทำไมเขาถึงเรียกนักแสดงว่าเป็นดารา มันมีเรื่องราวน่าสนใจ แล้วเขาไปต่อเองได้ด้วยนะ นี่เป็นวิถีของเขา
แล้วห้องเรียนที่มีความหลากหลายขนาดนั้น ผมว่ามันทำให้ผู้เรียนไม่เป็นหัวสี่เหลี่ยม การไปดูดาราศาสตร์ไม่จำเป็นต้องไปเรียนวิทยาศาสตร์นะ เขากลับมาแล้วพูดถึงหนังสือเล่มนึง แล้วเขาก็ยกบทนั้นขึ้นมาเชื่อมกัน ซึ่งผมรู้สึกว่าห้องเรียนที่เป็นวงกลมแบบนั้นดูมีความหวังมากเลย เหมือนมันเห็นเมล็ดอะไรซักอย่าง
สุดท้ายเราก็มาสรุปว่า ห้องเรียนมันควรเรียกว่า เบสแคมป์ (Base Camp) เหมือนกับรอบๆ นี้มีภูเขาหลายลูก เราไม่รู้ว่าใครจะเลือกขึ้นลูกไหน แต่เบสแคมป์เป็นที่แชร์ แชร์อุปกรณ์ประสบการณ์ แชร์เรื่องราว ปลอบใจ ให้กำลังใจ อะไรก็ตามแต่ แต่สุดท้ายคุณก็ต้องเลือกภูเขาของตัวเอง ต้องพยายามด้วยตัวเอง คุณอยู่คนเดียวตอนที่พยายามปีนขึ้น แต่เมื่อเขาเหนื่อย หรือหมดอะไรสักอย่าง ก็ลงมาตรงนี้ เบสแคมป์นี้จะเป็นที่ให้เขาเล่าให้ฟังว่าผ่านอะไรมา ฉันอาจจะไปขึ้นภูเขาอีกลูกนึงซึ่งไม่เหมือนตรงนี้ แต่ประสบการณ์ของคนมัน inspire บางอย่าง มันทำให้เกิดอะไรบางอย่างกับคนอื่นด้วย และอันนี้ทำให้เด็กแต่ละคนเติบโตในหนทางของเขา
ระหว่างทางมีการประเมินบ่อยแค่ไหน เช่น ถามตัวเองว่าเรายังโอเคที่จะไปต่อหรือเปล่า
เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เราจะเห็นคนโน้นคนนี้ทำแบบนั้น บ้านนั้นทำแบบนี้ เราก็โอนเอนโงนเงนเป็นปกติ ถ้าเราไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเลยแสดงว่าคุณแข็งไป นั่นเท่ากับว่าคุณจะไม่ปรับเปลี่ยนอะไรกับสิ่งที่คิดมาแล้ว การอหังการว่าเราเก่งแล้วมันอันตรายมาก
ไอ้การรู้สึกโอนเอนแบบนั้นมันโอเค มันช่วยทำให้เราต้องทำอะไรบางอย่างให้ชัดขึ้น เหมือนลูกธนูที่ออกไปนอกเป้า มันสอนเรา แต่ถ้าเรายิงเข้าเป้าตลอด มันก็จะมีแต่เสียงเฮตลอด อันตรายมาก ลูกเราไม่ใช่เป้า ลูกเราไม่ใช่ลูกธนู
ตอนเกิดความรู้สึกโงนเงน ก็สับสนอยู่พักใหญ่ว่าจะยังไงดี ตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำ เอามาค้นมาดูว่ามันใช่ไหม ที่ตั้งเป้าไว้มันใช่ไหม ระหว่างทางที่ทำไปมันใช่อยู่ไหม จากการ observe ก็ค้นพบว่าเมื่อกลับมาดูที่ลูกว่าเขามีพัฒนาการยังไงบ้าง ผมว่าอันนี้แหละจำเป็น เป็นตัวที่ทำให้เราเห็นว่า เออ เริ่มเห็นละ ค่อยๆ งอกขึ้นมา ไม่ใช่ปลูกปุ๊บเก็บเกี่ยวทันที
นี่แหละที่เป็นตัวที่ทำให้เรากลับมายืนแล้วไปต่อได้
โอเค อาจจะไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์แบบที่เราฝันหรอก แต่มันมีจุดเล็กๆ เมล็ดพันธุ์เล็กๆ บางอย่างที่เราเห็น แล้วมีข้อหนึ่งที่เราต้องพึงสังวรณ์ไว้เสมอว่า เขาอยู่ในระหว่างการฝึก เขายังเป็นคนที่กำลังพัฒนา ไม่ใช่พัฒนาเสร็จแล้ว เวลาประเมินเขาก็ควรจะหาเกณฑ์ประเมินที่เหมาะกับเขาด้วย ไม่ใช่เอาเกณฑ์ประเมินที่ฉันเตรียมมาประเมินเขา อันนี้เป็นหลุมพรางที่พ่อแม่ต้องระวัง เกรดเอย ดูคนนั้นซิ ดูมาตรฐานซิ อันนั้นมันเป็นเกณฑ์มาจากไหนไม่รู้
สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้คือ เรามักจะไปเชื่อหลักสูตร แนวทาง ไกด์ไลน์ต่างๆ แต่เราไม่เคยเชื่อในเด็กเลย ถามว่าทำไมเราไม่เชื่อในเขาเลย เรามาพิจารณาชีวิตดีๆ ไม่มีชีวิตไหนอยากโง่นะ ไม่มีชีวิตไหนอยากไม่มีความสามารถ พิจารณาเขาแล้วเราค้นพบว่า เขาก็อยากจะเติบโตเหมือนกัน ไม่ว่าจะมีกระบวนการหรือไม่มีก็ตาม
การบอกตัวเองให้เชื่อในตัวเขา มันมีวิธีไหมคะ
กระบวนการที่เราจะเชื่อในเขาได้นี่มันไม่ใช่ว่าถูกกล่อมเกลาด้วยแนวทางหรือความเข้าใจที่มันควรจะเป็น แต่ว่ารู้สึกกับมันเลย จากการสังเกต โดยที่ไม่มี bias ไว้ก่อน ผมไม่เคยเห็นเด็กคนไหนอยากจะขี้เกียจ ไม่อยากคิด หรือคิดด้านที่เป็นลบ มันไม่ใช่ค่าเซ็ตติ้งของชีวิตเลย ชีวิตมันอยากจะรู้ อยากทำ อยากได้ อยากมี อยากเป็นทั้งนั้นแหละ เราต้องดูปัจจัยลบต่างหากว่าอะไรที่ทำให้พวกนั้นถดถอยไป และไอ้ความรู้สึกเชื่อในเด็กนี่แหละที่เราจะเอามาถ่วงดุลกับความหวั่นไหว เมื่อเราไปเห็นอะไรข้างนอกแล้วโงนเงน
ปัจจุบันในสังคมก็มีหลายบ้านที่อยากจะทำบ้านเรียน แต่ก็ทำไม่ได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ถามว่าถ้าจะทำบ้านเรียนที่บ้านแค่เสาร์อาทิตย์จะได้ไหม
ผมเข้าใจว่ามันไม่ใช่ว่าจะต้องมีหลักสูตรที่เหมือนกัน สำคัญที่ว่าตอนนั้นพ่อแม่มีเวลากับเขาหรือเปล่า สมมุติเรียนในโรงเรียนแบบวิชาการจ๋า แต่เวลาเลิกเรียนทำอะไร สุดท้ายก็ไปเรียนพิเศษ อะไรก็ตามที่ทำมันเอื้อกับการเติบโตของเขาหรือเปล่า มันไม่ใช่แค่สำหรับเด็กทำบ้านเรียนเท่านั้น แต่ตอนอยู่ข้างนอก โมเมนต์ที่เราอยู่กับเขา คุณภาพคืออะไร เรียนในโรงเรียนไม่ใช่ปัญหา อยู่ที่ว่าเวลาอยู่กับพ่อแม่ต่างหากมันจะเป็นเวลาที่จะปรับทิศทางของลูก ความสัมพันธ์ของลูกกับพ่อแม่ต้องดีด้วยนะ เพราะความรู้สึกเป็นพื้นฐานสำคัญ ความสัมพันธ์ที่ดีมันนำไปสู่การน้อมรับทั้งความคิดและการกระทำ มันแชร์กันในครอบครัวได้
อย่าคิดว่าเราจะโยนความรับผิดชอบให้กับโรงเรียน พอมาถึงบ้านก็เอาละ อยู่กันคนละมุม อันนี้ก็แน่นอน เขาก็คงรับเอาอะไรซักอย่างมาจากโรงเรียนแน่ ผมเห็นหลายบ้านที่ไม่ได้ทำบ้านเรียน แล้วมีเวลาให้กับลูกจริงๆ หลังเลิกเรียน ผมได้เห็นแววตาเด็ก การพูด การแสดงออก เรารู้สึกว่า โอเคเลย มันดี มันงอกงาม เติบโต น่ารักมาก มีความชัดเจน มีการตั้งคำถาม มีความกล้า ไม่หด
ปัจจัยแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน ผมว่ามันไม่ได้อยู่ที่ต้องทำบ้านเรียนเท่านั้น โรงเรียนใกล้บ้านก็สบายละ ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง แต่มาลงทุนกับการเรียนรู้ มีเวลาอยู่ด้วยกัน แล้วก็เรียนที่บ้าน ทำกิจกรรมด้วยกัน
ถ้าพ่อแม่สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่ที่บ้านไปสู่การเรียนรู้ได้ ทุกงานที่มนุษย์ทำมันนำไปสู่การเรียนรู้นะ แต่บางทีเราให้ค่ามันแบบไม่ให้ค่า ไม่เอา ลูกไม่ต้องมาทำ ซึ่งการล้างจาน ยังเรียนรู้เต๋าได้เลย นี่ก็สุดยอดวิชาแล้วนะ เป็นการจัดการที่ง่ายที่สุด เพราะฉะนั้นระหว่างทาง คุณจะทำอะไรก็ทำ
สำหรับบ้านเรียนทางช้างเผือก บทบาทของพ่อ แม่ ครู ต้องแยกกันไหม
แยกไม่ได้ (ตอบทันที)
แล้วมีความอ่อนไหวหรือจุดที่ควรระวังบ้างหรือเปล่า ในความเป็นพ่อ แม่ และครูของลูก
คือมันเหมือนกันเลย จริงๆ พ่อแม่เป็นครูโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราแค่มาสอนบางอย่างจริงๆ จังๆ คำถามอยู่ที่ว่าเขาเลือกเราเป็นครูหรือเปล่า
สิทธิในการเลือกครูเป็นของเขา ไม่ใช่เรา ถึงแม้จะอยู่โรงเรียนก็ตามแต่ แต่เขาอาจจะไม่ได้เลือกครูคนที่กำลังสอนอยู่ให้เป็นครูของเขาก็ได้ เพราะเราไปสั่งเขาไม่ได้ คุณอาจจะยัดครูคนนี้เข้ามาในห้องเรียนได้ แต่คุณไม่สามารถยัดเข้าไปข้างในเขาได้ เพราะสิทธิในการเลือกครูที่แท้เป็นของเขา
ในฐานะที่ทำบ้านเรียนก็ต้องทำตัวให้เหมาะสมกับการเป็นครูของเขาด้วย อย่างที่เราเคยเป็นคือ เป็นครูที่มีเป้าหมายชัดเจน ทำกระบวนการ แต่ค้นพบว่ามันไม่โอเค วิธีการแบบนั้นทำให้เขาเบื่อ
ยกตัวอย่าง ผมให้เขาเรียนสูตรคูณ เราก็เอ๊ะ จะให้เขามานั่งท่องสูตรคูณดีไหม เคยคุยกันเรื่องนี้บ้าง บวกลบเขาทำได้ละ เขาก็รู้แหละว่าคูณคืออะไร แต่ผมก็ไม่ได้ให้เขามานั่งท่องสูตรคูณ มีวันหนึ่ง เรามาตั้งคำถามว่า มันมีอะไรคูณกันแล้วได้ 24 บ้าง เขา (ช้างน้อย) ก็เอาไปเขียน เขียนเสร็จ ก็มาละ 3 ตัว (เช่น 2×12, 24×1, 4×6 ) ผมก็ถามว่า น่าจะมีอีกไหม เขาก็ดู ตอบว่าไม่รู้สิ ผมก็บอกน่าจะมีอีกนะ ลองหาดู เขาก็คิดเพิ่ม แล้วก็อ้อ รู้ละ มีเพิ่ม เขาเขียน 8×3 ต่อจากที่เขียน 4×6 พอเขียนได้เท่านั้น เขาก็มอง แล้วก็บอกว่า อ๋อ ป๊าดูสิ ข้างนี้มันลดลงครึ่งนึง อีกข้างมันเพิ่มขึ้นเท่านึง แล้วเขาก็เขียนใหม่ เริ่มจาก 24×1 แล้วก็ 12×2, 6×4 ลดข้างนึงลงทีละครึ่งแล้วเพิ่มอีกข้างขึ้นสองเท่า จะได้ 3×8, 1.5×16 และ 0.75×32
ถามว่า หนึ่งจุดห้า ใครจะไปท่อง ถ้าเราท่องสูตรคูณ เราจะไม่ไปถึงตรงนี้แน่ๆ เพราะแม่สูตรคูณมีแต่หนึ่งสองสามสี่ห้าหกเจ็ดแปด แต่อันนี้มันเข้าใจโครงสร้างได้โดยไม่ต้องท่องสูตรคูณ เราก็เออ พ่อก็ไม่เข้าใจวิธีนี้มาก่อนนะ แต่ตอนนั้นที่เขียน เพราะอยากให้เห็นความสัมพันธ์กันของตัวเลขแค่นี้เอง แต่เขาเห็นโดยไม่จำเป็นต้องท่องสูตรคูณ เราก็สะท้อนตัวเองว่า อ้อ ในกระบวนการเรียน สมมุติเราสอนเขา 100 เขาก็คงไปได้มากสุดที่ 100 แต่ถ้าเราต้องการ 101 ขึ้นไป เราต้องพิจารณาที่กระบวนการสอนของเรา ดูสิ เราจบแค่ 8×3, 6×4 เอง แต่สิ่งที่เขาพบมันคือวิธีการคิดไง เราก็เลยคิดว่ากระบวนการท่องสูตรคูณมันก็ดีนะ แต่มันก็ทำให้เราพร่องวิธีการคิดไปหรือเปล่า เรารีบเอาวิธีการสำเร็จรูปมาใช้เกินไปไหม
สิ่งที่เราได้คือการตอบโจทย์การเรียนรู้คณิตศาสตร์ คือตรรกะ ไม่ใช่ท่องสูตรคูณ
เด็กทั่วไปอาจจะถามว่า เรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม หลายคนไม่เข้าใจว่าเรียนไปเพื่ออะไร เขาเลยไม่อยากเรียน
มันเป็นการเทรนนิ่ง คิดแบบตรรกะ จริงๆ การเรียนคณิตศาสตร์ไม่ใช่เพื่อเป็นแม่ค้าหรืออะไร แต่เป็นการคิดแบบตรรกะในรูปแบบต่างๆ แล้วสุดท้าย ชีวิตเราก็ไม่ได้เอาตัวเลขไปใช้ แต่เอาตรรกะนั้นไปใช้ได้ในชีวิตด้วย เพราะนี่คือความเป็นสากลของความรู้ ไม่ใช่ว่าใช้เฉพาะขอบเขตที่เป็นคณิตศาสตร์นะ ความสัมพันธ์กับมนุษย์ การจัดการพื้นที่ ทั้งหมดมันเป็นเรื่องของตรรกะหมดแหละ
พอโตขึ้น ลูกๆ อยากรู้มากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงอยากรู้ในเรื่องที่เราไม่รู้ พ่อแม่ทำอย่างไร
แรกๆ เราจะทำกระบวนการปูพื้นฐาน คือสังเกต เพราะการสังเกตมันเป็นช่องทางการเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของมนุษย์ ตอนนี้คุณภาพของการสังเกตของเรามีแค่ไหน
สมมุติเราไปยืนอยู่ตรงทางเดินเข้าทุ่งนาตอนกลางคืน เราจะกล้าเดินไปหรือจะวิ่งเข้าไปหาเลย อันนี้อยู่ที่คุณภาพการมองของแต่ละคนเลยนะ ถ้าเรามองแล้วเห็นว่าเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย เราก็ถอย เต็มไปด้วยผีสางเราก็วิ่งหนี แต่ถ้าเต็มไปด้วยสิ่งที่อยากรู้เขาก็วิ่งเข้าไป เวลาเดียวกันเด็กสามสี่คนแอคชั่นไม่เหมือนกัน รีแอคชั่นที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน แล้วรีแอคชั่นแบบไหนที่ทำให้เขาเติบโต อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องมาทำในเรื่องการสังเกต มนุษย์มันต้องสังเกตมันต้องใช้เซนส์อยู่แล้ว แต่พอไม่ใช้เซนส์ที่มีคุณภาพ เซนส์ที่ไม่มีคุณภาพก็จะขึ้นมาแทนที่ นั่นคือเรื่องของอคติ น่ากลัว เช่น เปิดเข้าไปในห้องมืดๆ อะ มีผีแน่ แต่พอเปิดไฟปุ๊บ ไม่มีอะไรเลย
ความรู้สึกตอนแรกมาจากไหน ก็มาจากคุณภาพของการสังเกต เมื่อก่อนที่เราทำเรื่องเซนส์ ก็รู้สึกนะว่ามันจำเป็น แต่เรายังไม่เห็นลึกๆ ของมันเท่าปัจจุบัน จริงๆ เราทำเรื่องเซนส์มายี่สิบกว่าปี เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึกเท่านั้น มันนำไปสู่การคิด กระบวนการที่เขาตระหนักหลายอย่าง มันเชื่อมไปสู่กระบวนการเรียนรู้ได้ เราถึงพูดตลอดว่า เฮ้ย การศึกษามันต้องทำเรื่องความรู้สึกด้วย
เพราะเวลาเด็ก เป็นวัยรุ่น เขาเป็นวัยที่ใช้ความรู้สึกเยอะ เพลงเอย แอคชั่นต่างๆ เป็นเรื่องความรู้สึกหมดเลย แต่ผู้ใหญ่ก็…อย่าไปรู้สึกอะไร ให้เรียนเยอะๆ เพราะต้องสอบเข้ามหา’ลัย เหมือนกับเราไปทำงานแล้วมันขัดขวางความจริงก็ยากที่จะสำเร็จ ทำไมเราไม่มองมันดีๆ แล้วให้มันเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการการเรียนรู้นะ
ยกตัวอย่าง ตอนผมอยู่ ม.ปลาย เราเรียนเคมีไม่รู้เรื่องเลย มันมีแต่การทดลอง ต้องจำพันธะต่างๆ ทั้งที่ตอน ม.ปลาย เป็นช่วงที่เคมีทำงานกับร่างกายเรามากๆ เราไม่เคยหยิบเรื่องพวกนั้นมาพูดกับเด็ก ทำไมเราถึงมองเขา (คนที่ชอบ) แล้วหน้าแดง ทำไมเรามือสั่น ทำไมตัวเรามีกลิ่น มีขน มีความต้องการ ทุกอย่างเป็นเคมีหมดเลย แล้วเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ touch ความรู้สึกผมมาก แต่เราไม่พูดเรื่องพวกนี้ มันตัดความรู้สึกออกไปจากกระบวนการเรียนรู้หมดเลย
เราเรียนเคมีแบบไม่รู้เป็นโลกของใคร ทั้งที่เรื่องเคมีตัวเองกลับไม่พูดถึง ซึ่งมันควรพูดถึงเรื่องว่าทำไมเขาเกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมา มันมีกระบวนการเคมีในสมองยังไง มีพลังงานยังไง มันเป็นวิชาเคมีที่เป็นของเขา
เรื่องที่เราไม่รู้แต่ลูกอยากรู้ เราจำเป็นต้องรู้ก่อนไหม หรือรู้ไปพร้อมกับลูก
เตรียมการบางอย่าง ถ้าไปเรียนรู้อะไรบางอย่างแล้วมันเกิดความกระท่อนกระแท่นของการเรียนรู้ แทนที่จะเกิดประโยชน์มันอาจจะเกิดความเบื่อขึ้นมาได้ บางอย่างก็ไปพร้อมกัน บางอย่างไม่จำเป็นต้องเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือหรือสถานที่ ก็ลุยไปด้วยกันได้เลย อย่างทุกวันนี้ลูกเล่นเกมจับไดโนเสาร์ มีคนถามว่าทำไมให้ลูกเล่นเกม ก็ มันสนุกอะ เราก็มาดูว่าเล่นเกมนี้มันเทิร์นไปเป็นกระบวนการเติบโตของเขาได้ไหม
การให้เล่นเป็นเรื่องท้าทายของเรามากกว่าไม่ให้เล่น ไม่ให้เล่นนี่ง่ายมาก ทีนี้ให้เล่นแล้วไง ให้เล่นแล้วทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ อะ เล่นเกม มาดูกันว่าไดโนเสาร์ที่คุณไปจับมาเนี่ย ชื่ออะไรบ้าง แรกๆ ผมก็นำทางไป ไดโนเสาร์ชื่ออะไร เขียนแบบนี้ใช่ไหม แล้วมาดูกันว่าเขาพูดว่าอะไร ให้เขาทำสมุดบันทึก เล่นเกมเสร็จไปดูเลยว่าสามตัวที่หาได้วันนี้ ชีวิตมันเป็นยังไง ชื่อมาจากไหน นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการเล่นเกม
แล้วอะไรบ้างที่เราจะต้องเตรียมการมาก่อน
เช่น บอกว่าเดี๋ยวจะมาปั้นไดโนเสาร์กัน ผมก็ต้องไปดูก่อนละว่าปั้นยังไง อ๋อ มันมีเครื่องมือ ก็ไม่ใช่ว่าปั้นเลย สุดท้ายก็กลับมาทำด้วยกัน ส่วนมากเป็นเรื่องพื้นที่และอุปกรณ์มากกว่า แต่ถ้าเป็นเรื่องความเข้าใจก็เรียนพร้อมเขาได้เลย พ่อแม่ไม่ต้องเป็นคนเก่ง แต่ต้องเก่งกว่าลูกนิดหนึ่งว่าพวกนั้นจะมาจากไหน ลูกยังไม่รู้ว่าจะหาความรู้พวกนี้ได้จากไหน สมมุติเรารู้จักใครบางคนที่รู้เรื่องพวกนี้ที่เราไม่รู้ เราก็เออ ไปหาคนนี้ดีกว่า ซึ่งอันนี้เราอาจจะเริ่มต้นให้เขาก่อนได้ แล้วเขาจะรู้แพทเทิร์นในการหาความรู้ด้วยตัวเอง หนึ่งหาจากคน สองหาจากคอมฯ สามศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งเครื่องมือพวกนี้เราแนะนำให้เขาได้ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเขาจะได้ควบคุมกระบวนการเหล่านี้ด้วยตัวเอง
มีการเรียนรู้อันไหนไหมที่มาจากเขาเอง
มีๆ แต่ว่าจะเรียกว่าเตรียมการก็ได้นะ อย่างหนังสือพวกนี้เราก็เตรียมไว้ พอเขาสนใจเรื่องนกเขาก็ไปอ่านเอง หนังสือนกเมืองไทยอ่านจนหมดเล่มเลย ตอนที่ไปสอบที่สำนักงานเขตการศึกษา เราก็บอกให้เขา (ช้างน้อย) อ่านหนังสือที่เขาเรียน (เรื่องนก) เขาก็ยื่นหนังสือให้ศึกษานิเทศก์ บอกว่าเปิดหน้าไหนก็ได้ เขาอ่านได้ทุกหน้า
เขาอ่านโดยที่เราไม่รู้ มันเป็นเรื่องที่เขาสนใจ ก่อนหน้าเรื่องนกก็เป็นเรื่องเต่าทอง อย่างเรื่องเต่าทองยังพอนำเขาได้เพราะเคยศึกษาเรื่องแมลงมาก่อน แต่ว่านกนี่ผมไม่เคยดู ไม่รู้เรื่องเลย ตอนนี้ก็มาดูพร้อมลูก ให้ลูกสอน อ่านหนังสือนก มีไลน์กลุ่มนกด้วย ผมงง ไปหากันได้ยังไง
การเป็นบ้านเรียน พ่อแม่เป็นครูด้วย เวลาไปข้างนอกด้วยกัน เราต้องมองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้หรือเปล่า มีช่วงพักหรือเว้นบ้างไหม
ผมเข้าใจแบบนี้นะ เวลาเราออกไปไหน การเรียนหรือไม่เรียนมันเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย มันไม่ใช่ว่าอันนี้เรียน อันนี้รีแล็กซ์ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันอาจจะไม่เข้ากับรูปแบบที่เราเติบโตกัน แต่มันเป็นเรื่องเดียวกัน
ยกตัวอย่าง ขณะที่เราขับรถไปเวียงแหงเพื่อเก็บผลไม้กัน ถามว่ามันเรียนหรือรีแล็กซ์ ผมขึ้นไปเก็บลูกพลับ เก็บลูกพลับนี่ก็เหมือนไปเที่ยวนะ แต่กระบวนการที่เขาเก็บ กว่าจะได้ แบบไหนสุก กลิ่นแบบไหน มันเรียนไปโดยไม่รู้ตัว ถึงบอกว่ามนุษย์เรียนรู้ตลอดเวลา แต่เมื่อไหร่ที่เปิดห้องเรียน ไม่เรียนละ (หัวเราะ)
เราเรียนรู้ตลอดเวลาตั้งแต่ลืมตามา ถ้าเกิดเราปลูกฝังให้เขาเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดเวลาได้ ทุกที่มันก็เป็นที่เรียนรู้ได้ เรียนรู้และมีชีวิตมันแยกไม่ออกแล้ว
มีวิชาอื่นๆ อีกไหม ที่เขาไปเรียนจากคนข้างนอก
วิชาที่เป็นภาษา อย่างภาษาจีน เพราะเริ่มต้นเขาเรียนวิชาภาษาจีนมาจากโรงเรียนเก่า เราว่าก็ดี มันก็มีพื้นฐานมาประมาณนึง ส่วนภาษาญี่ปุ่นมาจากการเดินทาง แล้วแม่ (คุณโรส) ก็พยายามที่จะเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง
ภาษาอังกฤษเพราะว่ามีคนมาที่บ้านเราเยอะ เด็กอินเตอร์ แรกๆ เขาคุยไม่รู้เรื่องเลย จนเขามาบอกว่าแม่ หนูอยากเรียนภาษาอังกฤษ เริ่มจากสอนกันที่บ้าน พูดกันเองก่อน สุดท้ายก็ไม่ค่อยเวิร์ค ตอนนั้นมีครูอาสาสมัครที่มะขามป้อม เป็นคนอังกฤษ ก็มาแบบกระท่อนกระแท่นนะ แต่ก็ inspire เขา ตอนนี้เขาเลยไม่กลัวคนฝรั่งเลย
วิชาพวกนี้เป็นวิชาที่เราไม่ซีเรียส แต่เราให้เขาไปเรียนอย่างที่อยากเรียนก่อน ภาษามันคือเครื่องมือ คือทักษะอย่างหนึ่ง สุดท้ายเขาจะสนใจไปเรียนอะไร ให้เขามีเครื่องมือพอที่จะไปเข้าใจ
แล้วก็จะมีกีฬา ซึ่งเป็นเรื่องของการรู้จักร่างกาย รู้จักบาลานซ์ รู้จักอดทน แล้วก็ความพยายาม มุ่งมั่น
ส่วนชนะ แพ้ เรียนรู้เรื่องของ empathy อันนี้มาทีหลัง การเรียนรู้ รู้จักโลก รู้จักคนอื่น รู้จักตัวเอง รู้หน้าที่ มีคุณภาพ อะไรก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายก็นำไปสู่ empathy สามารถตระหนักถึงความรู้สึกของคนอื่นเข้าไปในหัวใจเขาได้ ถามว่าทำไมถึงมีเป้าหมายการศึกษาแบบนี้ เพราะว่าในกระแสหลักก็คงไม่ได้พูดถึงเรื่องแบบนี้มากเท่าไหร่ แล้วเราเห็นเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของโลกนี้ ไม่ใช่แค่การศึกษาหรือประเทศไทย
เราไม่ได้รอดด้วยตัวคนเดียวแน่ๆ ความซับซ้อนของอนาคตที่มันจะเกิดขึ้น เราคิดว่าเราไม่สามารถรอดด้วยตัวคนเดียว กลุ่มเดียว ประเทศเดียว มันจำเป็นจะต้องประสาน ไม่มีทางอื่นเลย เพราะว่าธรรมชาติจะสาหัสขึ้น และไม่ประนีประนอมไม่ว่าคุณจะทำบุญมาแค่ไหนก็ตาม
การที่ไม่สามารถจะร่วมกับคนอื่นได้จะเป็นอุปสรรคอันใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเอง สังคม คือพอเขาโตขึ้นไป สังคมจะยากกว่ายุคของเรา ไม่ใช่แค่เรื่องของอุดมคติเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องทรัพยากรที่นำมาสู่การทะเลาะกันทางอุดมคติด้วย ถ้าเกิดมันไม่มีเรื่องของการเข้าใจคนอื่น ผมว่ามันจะตายไปหมด
สอน Empathy เด็กๆ อย่างไรคะ
empathy นี่เราพูดไม่ได้ด้วย หมายถึงว่าเราไม่สอนเขา แต่เราทำเป็นกระบวนการ เช่น เรื่องการพัฒนาทักษะการสังเกต คุณไม่มี empathy เพราะคุณไม่สังเกต ไม่เห็นเท่านั้นเอง ไม่เห็นลึกลงไปในอีกชีวิตหนึ่ง เห็นอะไรเดินมาตัวเล็กๆ ก็เหยียบ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่แต่รากเหง้าก็คือไม่เห็น หนึ่งไม่เห็นกายภาพ สองไม่เห็นคุณค่าในชีวิตของเขา ของสิ่งนั้น
กระบวนการการเห็นจึงจำเป็น แล้วเราก็มีความเชื่อว่า เมื่อเห็นแล้วเขาจะเข้าใจว่าควรทำอะไร กระบวนการแบบนี้เราสอนเลยไม่ได้ แต่เราคิดวิธีให้เขาสังเกต ให้เขามอง มองแล้วเป็นไง มันเชื่อมโยง มันเห็นความงาม เห็นชีวิต แล้วเขาก็เกิด empathy
อันนี้คือเซ็ตติ้งของมนุษย์นะ เมื่อเห็นความงามของชีวิต ไม่ใช่เห็นประโยชน์ เพราะถ้าเห็นแต่ประโยชน์ก็จะเอามันมา มันต้องเห็นความงาม และก็มีความรู้สึก กระบวนการพวกนี้ต้องทำ เราทำตั้งแต่เด็ก ยกตัวอย่าง หน้าฝน หอยทากเต็มหน้าบ้าน เรายังขับรถเข้าไม่ได้เป็นสิบนาทีเพราะลูกลงไปจับหอยทากออก เคลียร์ให้พ้นทางก่อน เก็บจนเสร็จ เรารู้สึกว่าอันนี้มันคือคุณภาพจิต
ที่บอกว่าขั้นตอนการประเมินเป็นสิ่งที่สำคัญ ตัวพ่อแม่เอง คุณโอ๊คคุณโรสประเมินตัวเองยังไงบ้าง บ่อยไหม
ประเมินตัวเองให้เด็กฟังก่อนทุกครั้งที่จะให้เขาประเมินตัวเอง เพราะจริงๆ เขาไม่รู้หรอกว่าประเมินคืออะไร เราก็ต้องทำให้เขาเห็น อย่างครั้งแรกก็ไม่ได้เรียกมาประเมินนะ กินข้าวเสร็จนั่งผึ่งพุง แล้วก็พูดว่า อาทิตย์ที่ผ่านมาป๊าว่า ป๊าเป็นป๊าที่ไม่ค่อยดีเลย ใช้อารมณ์เรื่องนั้น ตัดสินใจเร็วเรื่องนี้ ถ้ามีคะแนนสิบคะแนนป๊าให้ตัวเองแค่สามพอ อะ ไหนหนูว่ามาซิว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาป๊าเป็นไงบ้าง เขาก็ไม่เข้าใจ แรกๆ เขาก็ดูเหมือนกับว่า แหม รักป๊าก็ดีนะ ให้เยอะ เหมือนกับแก้ตัวให้
พอเสร็จผมก็ลองให้เขาประเมินตัวเองดู คะแนน 1-4 พอ 10 มันเยอะไป เขาให้ตัวเองแค่ 2 เพราะอะไร เขาก็เล่า เราก็ประเมินเขา แต่แรกๆ ผมก็จะใช้วิธีประเมินเขาแบบอวยๆ หน่อย เพื่อเขาจะได้รู้สึกดีกับการประเมินว่าไม่ใช่เรื่องต้องมาซีเรียส ทำให้เขามีทัศนคติที่ดี กล้าประเมิน ไม่ใช่ว่าเราตัดสินเขาทั้งหมด ซึ่งเรารู้สึกว่าเขายังต้องเติบโตอีกเยอะ กระบวนการการประเมินมันต้องไปอีกไกล ตอนแรกเราต้องทำให้เกิดทัศนคติที่ดีก่อนว่าการประเมินไม่ใช่การตัดสิน แต่เป็นการที่จะบอกว่าตัวเองอยู่ตรงไหนแล้วเท่านั้นเอง
มันสะท้อนตัวเอง เวลาเราเรียนแล้วได้สมุดพก เรารู้สึกว่าไม่อยากให้แม่ดู เราไม่อยากให้ลูกเราเป็นแบบนั้น ทำอะไรได้แล้วจะต้องซ่อน ต้องรู้สึกแย่ๆ ลำบากที่จะต้องเห็นตัวเอง เราก็มานั่งพิจารณาคำว่าประเมิน ไม่ได้แปลว่าตัดสินนะ มันแปลว่าอยู่ตรงไหนแค่นั้นเอง บอกว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของเส้นทาง จะช้าหรือเร็วแต่ละคนมันมีสปีดไม่เท่ากันหรอก แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าอยู่ตรงไหน ผ่านอะไรมา แล้วเป็นทิศทางในสิ่งที่อยากไปหรือเปล่า
เหมือนดูเข็มทิศว่ามันยังใช่ในทางที่เราโอเคหรือเปล่า
หลังๆ มีการประเมินจริงจังมากขึ้นมาก?
มากขึ้น โห ซัดกันร้องไห้อะ คือรับไม่ได้กับการถูกประเมินจากคนในครอบครัวนะ ซึ่งมันก็ต้องมีแหละ ซึ่งถ้าเขาทำไปเรื่อยๆ มันก็ต้องเจอ มันดีตรงที่ว่าเป็นการติติงกันแบบไม่ได้ใช้อารมณ์ เป็นการบอกว่าเหตุการณ์แบบนี้มันไม่โอเค การประเมินตัวเองเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็น
ต่อมาเจอคนอื่นประเมิน เพราะต้องไปที่สำนักงานเขตการศึกษา เราก็ไปคุยกับเจ้าหน้าที่เลยว่าจริงๆ แล้วกระบวนการประเมินมันแปลว่าอะไร ถ้าประเมินตามหลักสูตรกระทรวงฯ แน่นอน เขาก็ต้องเอาไม้บรรทัดมาวัดตามเกณฑ์ แต่ตามบ้านเรียนก็ควรประเมินตามสิ่งที่เขาเรียน ประเมินความก้าวหน้าของเขา มากกว่าที่จะประเมินถึงธง อันนี้เขตก็เข้าใจ ก็รู้ เราจูนเรื่องของอารมณ์ ปีนึงเรามาเจอกันที เพื่อบอกว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เพื่อถูกตัดสิน
แล้ววางแผนหรือกำหนดตารางเรียนไว้ไกลแค่ไหนคะ
วางได้ไม่ไกล วางไกลๆ แค่พื้นฐานทักษะ self-directed learner ซึ่งอันนี้เราตั้งใจที่จะให้เขาเป็นผู้ที่เรียนรู้ด้วยตนเอง เราถึงใช้เรื่องเซนส์ เพราะพวกนี้เป็นเครื่องมือที่เขามีติดตัวตลอด จะมีเครื่องมืออื่นๆ หรือไม่มีเขาก็เรียนรู้ได้
แผนไกลๆ จะเป็นแค่ทิศทางไม่ใช่เป้าหรือปักธงว่าจะต้องเป็นอาชีพ ตำแหน่งอะไร แต่เป็นทักษะ เป็นบุคลิกที่เขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง กับการวางแผนใกล้ๆ เป็นเรื่องที่เราต้องสอบถามเขา ยังเอาอยู่ไหม จะไปต่อไหม
ล่าสุดช้างน้อยบอกว่าอยากเดินทางคนเดียว ฝึกเรื่องนั้นเรื่องนี้ อันนี้เป็นแผนใกล้ๆ แผนใกล้จะชัดหน่อย แผนไกลเป็นแค่แนวทาง อย่างทำไมมีเรื่องภาษา เพราะต่อไปเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ภาษาไทยอาจจะไม่ใช่ภาษาที่จะเข้าใจศาสตร์ทุกศาสตร์ที่เขาอยากเรียนได้ มันต้องมีภาษาอื่น กับทักษะที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองเพราะเราก็ไม่ได้อยู่สอนเขาตลอด บวกกับพื้นฐานทั้งหมดที่จะทำให้เขาเป็นผู้เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ คุณก็สร้างสตาร์ทอัพตัวเอง สร้างแชนแนลตัวเองขึ้นมาได้ เครื่องมือมันพร้อม แต่คนใช้พร้อมไหม
โลกที่หมุนเร็วมาก ทุกอย่างพร้อมเปลี่ยนตลอดเวลา หลายคนพูดถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 ทางบ้านเรียนทางช้างเผือกเอามาปรับใช้มากน้อยแค่ไหน
คิด เราอ่าน เห็นด้วยแล้วเราก็ทำ เพราะเราก็คงไม่ใช่คนที่จะคิดทุกอย่างได้หมด คนอื่นคิดมาดี สวมได้ก็สวม แต่บางอย่างที่เขาก็ไม่เขียนไว้ อย่าง empathy ก็ไม่เป็นไร บ้านเราก็ทำไป บางอันเราก็ไม่เอาด้วยนะ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องฉาบฉวย อย่างเรื่องอะไรที่เป็นเทคโนโลยีมากๆ เราคิดว่าเดี๋ยวมันก็เปลี่ยน ไม่ได้คิดว่าจะต้องทำตามที่เขาแห่กันไปทำ เราอาจจะเชยๆ หน่อย แต่เรามองอะไรที่เป็นพื้นฐานชีวิตมากกว่า เราไม่ห่วงหรอกว่าทักษะการเรียนรู้ของเขากับทักษะทางเทคโนโลยีจะช้าเกินไป ไม่มีอะไรช้าหรอกถ้าพร้อม เรื่องเทคโนโลยีมันเรียนกันไม่นาน แต่สิ่งสำคัญคือมันมีศักยภาพพอที่จะทำให้สำเร็จหรือเปล่า
การเป็นพ่อแม่อยู่บ้านเรียน ได้รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงหรือเรียนรู้อะไรจากลูก จากสิ่งที่เราสอนลูกระหว่างทางบ้างไหมคะ
หลักๆ คือเรียนรู้จากลูก สิ่งต่างๆ นี่เราเรียนรู้มาก่อนหน้านี้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีลูก แต่พอมีลูก ลูกไม่ประนีประนอมกับเราเลย อย่างเวลาเราไปจัดกิจกรรมในนามของอะไรก็แล้ว แต่คนที่มาค่าย มาทำเวิร์คช็อปเขาก็จะแบบพยักหน้า แล้วแต่จะพาไปเถอะ แต่ลูกนี่ถ้าไม่เอาคือไม่เอา ไม่เวิร์ค ต่อให้เตรียมดีแค่ไหนก็ตาม
มันทำให้เรามาคิดใหม่หมดเลยว่า กระบวนการเรียนรู้ของเด็กมันมีกลิ่นประมาณไหน เราก็รู้สึกว่าการตั้งธงให้เขาก่อนนี่ไม่เวิร์ค ซึ่งก่อนหน้านี้เราตั้งธงหมด เพราะเราถูกสอนมาว่าต้องมีวัตถุประสงค์ มีวิธีการ แล้วก็มีการประเมิน เราแข็งขนาดนั้น แต่พอมาทำกับเด็ก ไม่เวิร์ค อันนี้เขาก็สอนเรา
นำมาปรับกับการใช้ชีวิตบ้างหรือเปล่า
มันเห็นธรรมชาติการเรียนรู้ของคน เวลาเราสื่อสารกับคนก็ไม่จำเป็นต้องไปตั้งเป้าอะไร ก็ลองดู เหมือนการเล่นปิงปอง โต้ไปโต้มา ส่งไปส่งมา เมื่อก่อนเราเหมือนตีเบสบอล ลูกมาก็ตีละ ไม่สนละ ตีให้เอ็งรับไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่ว่าไม่ใช่ อันนี้เหมือนปิงปองมากกว่า มันดูเขามากกว่า ดูคนที่เราสื่อสารด้วยมากกว่า
เราก็ไม่จำเป็นต้องลากใครไปตรงไหนแล้วไง ก่อนหน้านี้เราพยายามที่จะลากๆๆ ก็เหนื่อย ไม่ต้องลาก ทุกคนมีภูเขาของตัวเองนี่หว่า เราก็แค่แชร์กันตรงกลางเท่านั้นเอง
ระยะไกลก็ยังจะเป็นบ้านเรียนอย่างนี้ต่อไปหรือเปล่า
ใช่ จนกว่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่เขาเห็น แต่เราก็มองว่า ระดับต่อไปสถาบันการศึกษาของเราต้องเปิดห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มันต้องเปิด แล้วก็มีคนทำตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเป็นมหา’ลัยชีวิตไปเลย เพราะงั้นคนเรียนจะน้อยมาก คุณจะไม่รอดทางธุรกิจเลย เพราะลูกค้าคุณน้อยมาก ทำไมน้อย ก็เพราะคุณทำไม่ได้จริงอย่างที่โฆษณา ต่อไปมหา’ลัยต้องเปิดเป็นตลาดวิชา ไม่ใช่เป็นคณะแล้ว เพราะคณะมันถูกพิจารณาจากอาชีพเมื่อวันก่อน
แต่วิชาไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงตามสังคม มันยังมีคุณค่าอยู่ แต่เขาน่าจะเป็นคนจัดเองว่าอยากรู้เรื่องนี้จริงๆ