- ว่าด้วยการหนีออกนอกห้องเรียน เพื่อการกลับมาออกแบบและสร้างโรงเรียนเจ๋งๆ โรงเรียนแห่งวิถีชีวิตในป่าใหญ่ของ ‘ครูนิด อรพินทุ์ กุศลรุ่งรัตน์’ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน ‘โจ๊ะมาโลลือหล่า’ โรงเรียนเพื่อเด็กๆ ชนเผ่าที่ขาดโอกาสทางการศึกษา แห่งบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
- ที่นี่ ‘การเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับปฏิทินชุมชน’ แบ่งภาคการศึกษาตามกิจกรรมสำคัญของชุมชน
- ก่อนจะสร้างโรงเรียน ครูนิดใช้เวลาเกือบครึ่งปีเข้ามาอยู่กับชาวบ้าน เรียนรู้ทำความเข้าใจวิถีชุมชน จนสามารถออกแบบโรงเรียนที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในป่าได้ โดยตั้งวงคุยกันในหมู่บ้านเพื่อหาความต้องการคนในพื้นที่ เมื่อพบว่าชาวบ้านต้องการให้เด็กๆ มีการศึกษา สามารถสื่อสารกับคนภายนอกและหาเลี้ยงชีพได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ครูนิดจึงเริ่มจัดตั้งโรงเรียนและจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
เป็นความปรารถนาของชีวิตที่อยากเขียนเล่าเรื่องราวของ ‘ครูนิด อรพินทุ์ กุศลรุ่งรัตน์’ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน ‘โจ๊ะมาโลลือหล่า’ โรงเรียนเพื่อเด็กๆ ชนเผ่าที่ขาดโอกาสทางการศึกษา แห่งบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
ไม่เพียงเพราะสิ่งที่ครูนิดทำนั้นมันยิ่งใหญ่ ที่ยอมทิ้งชีวิตในเมืองไปสร้างโรงเรียนในป่าเพื่อเด็กๆ นานกว่า 10 ปี แต่ ‘ความเป็นครูนิด’ ที่เราได้รู้จักเป็นการส่วนตัวมายาวนานนั้นทำให้เราได้เห็นจริงๆ ว่าหัวใจของครูนิดนั้นยิ่งใหญ่ (มาก) จึงอยากเล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ พร้อมทั้งถอดบทเรียนการทำโรงเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนสำหรับทุกคนที่กำลังสนใจ
นี่คือเรื่องราวการหนีออกนอกห้องเรียน การกลับมาออกแบบห้องเรียน และการสร้างโรงเรียนเจ๋งๆ ในป่าใหญ่ของผู้หญิงที่มีหัวใจความเป็นครูคนหนึ่ง
หนีออกนอกห้องเรียน
เส้นทางการเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนของครูนิดนั้นเริ่มจากการลาออกจากโรงเรียนมาสร้าง ‘ห้องเรียน’ ของตัวเองตั้งแต่อายุ 16 ปี…
“เราพูดได้เต็มปากเลยว่าเราเติบโตมาจากการเรียนในระบบไม่รอด ตอนเรียนอยู่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะเรียนไปเพื่ออะไร มนุษย์เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร แต่มันไม่มีคำตอบ ไม่ใช่… เราเรียนแบบนั้นไม่ได้ เราไม่เจอการเรียนที่ตอบความหมายชีวิตเลย เราเลยหนีออกจากห้องเรียนตลอดเวลา
“พอหนีออกจากห้องเรียนบ่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าไร้แก่นสาร อยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้ เลยเริ่มวางแผนตั้งแต่ ม.3 ที่จะลาออก ทำแผนการเรียนรู้ของตัวเองว่าออกไปจะเรียนอะไร เรียนแบบไหน เรียนกับใคร แล้วเอาแผนการนี้ไปบอกพ่อแม่ ซึ่ง 35 ปีที่แล้วมันยากนะที่จะบอกพ่อแม่ว่าขอออกจากโรงเรียนมาเรียนเอง แต่สุดท้ายท่านก็เข้าใจ”
คำถามสำคัญที่ครูนิดใช้สร้างห้องเรียนของตัวเองนั่นคือ ‘เป้าหมายชีวิตของฉันคืออะไร’ แล้วก็พบว่าตัวเองอยากประกอบอาชีพสายศิลปะ จึงไปค้นหาข้อมูลเส้นทางอาชีพและวางเป้าหมายระยะสั้นคือการสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ครูนิดออกแบบการเรียนรู้ของตนเองที่จะตอบโจทย์เป้าหมาย โดยแบ่งเวลาสำหรับอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ ฝึกทำงานศิลปะหลากหลายแขนงด้วยตนเองและเรียนจากติวเตอร์ เรียนว่ายน้ำเพื่อผ่อนคลาย รวมถึงเรียนรู้ทักษะการติดต่อสื่อสารซึ่งเป็นทักษะที่เธอไม่ถนัด จากเด็กที่เคยหมดไฟในห้องเรียนกลายเป็นเด็กที่ไฟในการเรียนรู้ลุกโชน
และไฟดวงนั้นก็นำพาให้เธอสอบติดมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่อายุ 17 ปี
กลับมาฝึกฝนออกแบบห้องเรียน
หลังจากเรียนจบที่ศิลปากรครูนิดก็ได้ทำงานในสายศิลปะสมใจ ทั้งงานละครเวที ตัดต่อภาพยนตร์ ล้างฟิล์ม ปั้นเซรามิก จนโชคชะตาพามาเจอ ‘โรงเรียนรุ่งอรุณ’ โรงเรียนที่สอนวิชา ‘ออกแบบห้องเรียน’ ให้ครูนิดแบบถึงแก่น
“เราทำละครเวทีและเซรามิกมาสักพักจนท้องแก่ ตอนนั้นมันเกิดความรู้สึกอยากเลี้ยงลูกเอง อยากดูแลลูกและสร้างการศึกษาให้เขา เราเลยไปทำโฮมสคูลที่นครปฐมให้ลูกได้อยู่กับธรรมชาติ แต่ปรากฏว่าลูกเราเป็นทาร์ซานมาก เค้าไม่เอาใครเลยนอกจากมดกับแมลง เราเลยเริ่มคิดว่าถ้าเขาอยู่ในสังคมไม่ได้คงลำบาก เลยเริ่มมองหาสังคมที่เหมาะกับเขาก็นึกถึงรุ่งอรุณนี่แหละ พอพาลูกไปสมัครเรียนอาจารย์ประภาภัทร นิยม ก็รับทั้งแม่ทั้งลูก ให้ลูกไปเรียน ให้แม่มาสอน
“เราได้อะไรจากรุ่งอรุณเยอะมากจากการทำงานที่นี่ 10 ปี ที่นี่ทำให้เรามีเวลาทบทวนตัวเองว่าเราสร้างการเรียนรู้มาให้ตัวเองได้ยังไง และเราจะจัดกระบวนการเรียนรู้ยังไงให้มันสอดคล้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์
เราพบว่าจริงๆ มนุษย์เรียนรู้จากสิ่งที่มีความหมายกับชีวิต คือถ้ามนุษย์รู้ว่าสิ่งที่เรียนมีความหมาย เขาจะรู้สึกถึงคุณค่าของมัน จะสนใจมัน และเขาจะเรียนรู้มัน อันนี้คือประตูแรกของการเรียนรู้ ดังนั้นเราต้องเปิดประตูนี้ให้ได้
“เราก็พยายามเปิดด้วยกิจกรรมและวิธีการที่หลากหลายให้เข้ากับการเรียนรู้ของมนุษย์หลายๆ รูปแบบ อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้อะไรก็ตามมันต้องอยู่ในชีวิต เพราะถ้าไม่อยู่ในชีวิตมันเชื่อมตัวเองไม่ได้”
ครูนิดเล่าว่าพื้นฐานการสร้างโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่าเพื่อเด็กชนเผ่า มาจากการเป็นอาจารย์ประจำชั้นห้องเรียนเด็กพิเศษระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพราะเป็นห้องเรียนที่รวมมิตรนักเรียนผู้มีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนครูนิดต้องบูรณาการทุกวิธีการสอนและทุกองค์ความรู้เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย จนทำให้เด็กๆ เติบโตได้อย่างงดงามในแบบฉบับของตัวเขาเอง
“ตอนนั้นเราอ่านหนังสือเยอะมาก เรียกว่าทุกสำนักที่เขาว่าดีเกี่ยวกับการศึกษาเราอ่านหมด พอนักเรียนมันรวมมิตรขนาดนี้ เราเลยจัดการเรียนรู้โดยใช้ชีวิตของเด็กเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่วิชาการเป็นตัวตั้ง เราต้องเป็นผู้จัดการหรือผู้เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ต้องเข้าใจทุกคนว่าใครถนัดอะไร พิเศษยังไง ใครเรียนร่วมกับใครได้ เราบูรณาการวิชาการเข้าไปในกิจกรรมต่างๆ เช่น ทุกวันที่อยู่ด้วยกันต้องทำอาหาร เด็กๆ ก็จะได้ฝึกกระบวนการตัดสินใจ การคิด การออกแบบ คณิตศาสตร์ด้วยการจ่ายตลาด ชั่ง ตวง วัด เขาได้เรียนเข้าไปในชีวิตเขาเลย…การดูแลเด็กห้องนี้ไปนานๆ เป็นฐานความรู้ใหญ่ในการสร้างโจ๊ะมาโลลือหล่าจริงๆ”
10 ปีผ่านไป…โรงเรียนรุ่งอรุณมีกิจกรรมพิเศษคือการนิเวศภาวนาสำหรับบุคลากรในโรงเรียน เป็นพิธีกรรมที่ทุกคนจะได้อยู่คนเดียวในป่า 1 วัน 1 คืน เพื่อภาวนาและอยู่กับตนเอง พิธีกรรมนี้เองที่พาครูนิดมารู้จักชุมชนปกาเกอะญอแห่งบ้านสบลาน
พิธีกรรมนี้เองที่ทำให้ครูนิดได้ยินเสียงเรียกของชีวิตตัวเอง…
สู่โรงเรียนแห่งวิถีชีวิตในภูเขา
“เราเข้าไปอยู่ในป่าที่สบลาน 1 วัน 1 คืน ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือน เราไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ขณะหนึ่งเรานั่งอยู่บนก้อนหินริมแม่น้ำแล้วรับรู้ได้ถึงลวดลายของก้อนหิน พอลงในน้ำก็เห็นลวดลายของน้ำ พอมองท้องฟ้าก็เห็นลวดลายของฟ้า แล้วก็พบว่ามันมีลวดลายนั้นบนตัวเรา เราเลยรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ มีจังหวะหนึ่งที่รู้สึกว่ามันไม่มีตัวเราแล้ว เหมือนเราอยู่ในทุกที่ในธรรมชาติ จังหวะนั้นมันเกิดความรู้สึกอย่างแรงกล้าที่อยากดูแลปกป้องธรรมชาติ และเกิดความรับรู้ที่พิเศษที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนคือเรื่องต้นน้ำกับปลายน้ำ แม่น้ำที่สบลานมันไหลไปถึงเจ้าพระยา นี่คือแม่น้ำที่ทำให้ชีวิตเราอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ และที่มันยังอยู่ได้ก็เพราะคนต้นน้ำคือชาวบ้านช่วยกันรักษาให้เราเป็นอย่างดี ตอนนั้นมันเกิดจิตสำนึกที่ไม่ใช่การคิด แต่รู้สึกอย่างแรงกล้าที่หัวใจที่อยากทำอะไรสักอย่างเพื่อป่า
พอออกมาจากป่าเจอชาวบ้าน พูดคุยกับชาวบ้าน ก็รับรู้ปัญหาว่าเขาไม่มีโรงเรียนในพื้นที่นี้ พอเด็กถูกส่งไปเรียนข้างนอกก็ไปไม่ค่อยรอด กลับมาอยู่ชุมชนก็ไม่สามารถทำงานในพื้นที่ตัวเองได้ ช่วงปีนั้นมีข่าวเด็กชนเผ่าที่อมก๋อยฆ่าตัวตายพร้อมกัน 6 คน ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จนสืบเข้าไปพบว่ามันคือปัญหาที่เด็กชาวเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีที่ยืน มันสะเทือนใจเรามาก
“พอหัวหน้าหมู่บ้านสบลานมาขอความช่วยเหลือจากโรงเรียนรุ่งอรุณให้ช่วยทำโรงเรียนเพื่อเด็กๆ ชนเผ่า เราก็เลยอาสาไปเลยเพราะอยากใช้ชีวิตสงบๆ ไปโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีใครสนับสนุนมั้ย จนสุดท้ายก็ได้โรงเรียนรุ่งอรุณซัพพอร์ตเงินเดือนและช่วยสร้างอาคาร เราก็เลยลุยเลย สร้างโจ๊ะมาโลลือหล่าขึ้นมา”
ก่อนจะสร้างโรงเรียนนั้น ครูนิดใช้เวลาเกือบครึ่งปีในการเข้ามาอยู่กับชาวบ้านเพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจวิถีชุมชน จนสามารถออกแบบโรงเรียนที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในป่าได้ โดยเป้าหมายในการทำโรงเรียนนั้นเกิดจากการตั้งวงคุยกันในหมู่บ้านเพื่อหาความต้องการของคนในพื้นที่ เมื่อพบว่าชาวบ้านต้องการให้เด็กๆ มีการศึกษา สามารถสื่อสารกับคนภายนอกและหาเลี้ยงชีพได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ครูนิดจึงเริ่มจัดตั้งโรงเรียนและจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
หลักการสำคัญในการจัดการเรียนรู้คือ ‘การเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับปฏิทินชุมชน’ โดยโรงเรียนแบ่งภาคการศึกษาตามกิจกรรมสำคัญของชุมชน
ในเทอมแรกที่ตรงกับฤดูทำไร่ทำนา เด็กๆ จะได้เรียนรู้การทำไร่ทำนาหาเลี้ยงชีพโดยบูรณาการวิชาความรู้สอดแทรกเข้าไป ส่วนเทอมหลังที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวและช่วงพักผ่อน เด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรม ป่าและระบบนิเวศ งานศิลปะและวิชาชีพอื่นๆ รวมถึงทักษะสำคัญ เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญคือการลงมือทำ พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ และทำบันทึกสรุปความรู้ของแต่ละคน
“สิ่งที่น่าแปลกใจคือการเรียนรู้แบบบูรณาการและการลงมือทำจริงมันทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างถึงแก่นและมีระบบการคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง มีช่วงหนึ่งเด็กๆ ของเราต้องไปสอบโอเน็ต ปรากฏว่าเขาได้คะแนนค่อนข้างสูงเลย เด็กๆ จะชอบโม้ว่าข้อสอบหมูๆ เพราะเขาเรียนจากของจริงมันลึกกว่านั้น นอกจากการเรียนในชุมชนเราก็ไปเรียนข้างนอก เพราะการเรียนในชุมชนอย่างเดียวมันไม่พอ เราต้องให้เขาได้ปะทะกับโลก ต้องได้เจอสังคมและฝึกปรับตัวจริงๆ เราเองได้อยู่ในเครือข่ายการศึกษาทางเลือกเพื่อผลักดันนโยบายไปด้วยกัน เราเลยได้พาเด็กๆ ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่านิทาน ละครหุ่นเยาวชน เด็กๆ ก็ได้เดินทางไปทั่วประเทศ ได้ไปแสดงงานที่เมืองนอก เขาก็ได้สัมพันธ์กับชาวต่างชาติซึ่งทำให้เขาเปิดโลกจริงๆ
“สิ่งสำคัญที่เรานึกเสมอคือการเรียนมันต้องตอบเป้าหมายหรือมีความหมายกับ ชีวิตเด็กๆ เพราะฉะนั้นเด็กๆ ที่นี่จะต้องทำโปรเจกต์ 2 โปรเจกต์ทุกเทอม โปรเจกต์แรกคือแหล่งอาหาร เราให้เด็กๆ ทำอะไรก็ได้ที่สามารถพึ่งตัวเองได้เรื่องการกิน เช่น เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เลี้ยงไส้เดือน โปรเจกต์ต่อมาคือโปรเจกต์ตามความสนใจ เป็น passion ของเขาจริงๆ เช่น การทอผ้า การเล่นหุ้น การถ่ายภาพ โดยโปรเจกต์นี้ต้องตอบคำถามสามข้อ คือ โปรเจกต์นี้เป็นประโยชน์อะไรกับตัวเอง ประโยชน์อะไรกับคนอื่น และประโยชน์อะไรกับส่วนรวม
“เด็กๆ บางคนก็พัฒนาโปรเจกต์จนเป็นตากล้องที่เก่งๆ และใช้เป็นผลงานสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย ถึงวันนี้เราว่าความสำเร็จที่แท้จริงของโจ๊ะมาโลลือหล่าคือเด็กๆ รู้ว่าเขามีคุณค่า รู้ว่าตัวเองมีดีอะไร มีเป้าหมายอะไร และเขาเคารพคุณค่าคนอื่นด้วย การที่เด็กรู้คุณค่าตัวเองและคนอื่นนี่คือความสำเร็จที่สุดแล้ว เรื่องอื่นเป็นเรื่องรอง เช่น เขาพึ่งตัวเองได้ อยู่ในวิถีได้ อยู่กับคนเมืองก็ทำได้ หาเงินก็ทำได้ ไม่ต้องรอจบตรีและตกงาน เขาสร้างอาชีพด้วยตัวเองได้ อันนี้คือความสำเร็จรองๆ ในสายตาเรา”
ถอดบทเรียนการสร้างโรงเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
เรานั่งฟังครูนิดเล่าเรื่องโรงเรียนด้วยความอิ่มเอมใจ แล้วใจก็นึกย้อนกลับไปที่ชุมชนบ้านเกิดของตนเองในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนเรามีวัฒนธรรมสำคัญคือหนังตะลุงกับมโนราห์ แต่ค่อยๆ เลือนหายเพราะขาดคนสืบสาน จึงอยากให้ครูนิดถอดบทเรียนการสร้างโรงเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน สำหรับชุมชนทั่วประเทศที่อยากสร้างโรงเรียนในลักษณะเดียวกัน
“ก่อนจะไปที่การถอดบทเรียน เราขอพูดถึงอุปสรรคปัญหาที่ท่านจะเจอถ้าหากทำโรงเรียนสำหรับชุมชน อุปสรรคที่เราพบคือ ความไม่เข้าใจกัน เป็นเรื่องใหญ่มากและทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับคนทำงานการศึกษา และระดับเจ้าหน้าที่และหน่วยงาน ความไม่เข้าใจกันในประเด็นต่างๆ เช่น หลักการ แนวคิด หรือเป้าหมาย มันทำให้โรงเรียนขับเคลื่อนไปได้ยาก อีกเรื่องหนึ่งที่จะเจอเมื่อทำโรงเรียนคือเรื่องผลประโยชน์ มันนัวเนียซับซ้อนและแก้ยากมาก ถ้าจะให้เราคิดแบบนักอุดมคติ โรงเรียนไม่ควรมีการเมืองและผลประโยชน์ มันควรปลอดจากเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง เพราะว่าโรงเรียนควรจะเป็นสิ่งที่มุ่งเพื่อประโยชน์เดียว คือ เพื่อเด็กและเพื่อส่วนรวม
“ตอนนี้มีชุมชนที่อยากให้เราไปเป็นที่ปรึกษาในการสร้างโรงเรียนเพื่อชุมชนอยู่หลายพื้นที่ เราก็ตัดสินใจเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำด้วยการดูว่าชุมชนพร้อมมั้ย คือ หนึ่ง-ชุมชนต้องยอมรับว่าโรงเรียนต้องปลอดพ้นจากการเมืองและผลประโยชน์ สอง-ชุมชนต้องเชื่อว่าชุดความรู้ที่เขามีมันดี มันมีคุณค่าและมีความหมายมากพอที่จะจัดการศึกษาได้ สาม-ชุมชนต้องเปิดใจรับชุดความรู้ใหม่เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาให้อยู่ต่อไปได้ ถ้าชุมชนมีสามสิ่งนี้เราจะตัดสินใจลงมือไปกับเขา
พอมาทบทวนก็พบว่าการจัดการเรียนรู้ของเรา มาจากฐานคิดของปกาเกอะญอที่กล่าวว่า ‘ไม่ต้องเรียนเยอะ เรียนแค่น้ำบ่อหน้ากับน้ำบ่อหลังก็พอ’ น้ำบ่อหลังคือวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่เป็นปัญญาในอดีต น้ำบ่อหน้าคือตัวความรู้ที่จะใช้กับอนาคต เวลาคนเอาสองอย่างนี้มาใช้จะเรียนแยกส่วนกัน แต่สิ่งที่เป็นตัวเชื่อมของเราคือ ‘สถานการณ์จริง’ หรือ ‘ปัญหาจริง’ มันคือสะพานเชื่อมความรู้ทั้งสองชุด พอเจอสถานการณ์หรือปัญหาจริงเราต้องใช้ความรู้ทุกชุดมาแก้ปัญหานี้ให้ได้
การสนทนาของเรามาถึงในช่วงท้าย เราเลยถามถึงเป้าหมายในการทำงานต่อจากนี้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของครูนิด เธอตอบว่าตอนแรกคิดว่าจะทำอะไรสักอย่างให้จบและปลีกตัวออกไปวิเวกในป่าเพื่อเรียนรู้ชีวิตในช่วงสุดท้าย แต่ก็พบว่าการศึกษาสำหรับเด็กชนเผ่านั้นยังขาดแคลนและมีหลากหลายประเด็นที่ต้องขยับและพัฒนา เธอจึงอยากสร้างระบบขึ้นมาเพื่อให้ใครก็ตามสามารถมาสานต่อสิ่งนี้ได้ในวันที่ไม่มีเธอ เป็นระบบเพื่อสนับสนุนศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กชนเผ่าในหลายส่วน เช่น การพัฒนาสินค้า การประกอบการสังคม เครื่องมือในการเรียนรู้และออกแบบกระบวนการ เป็นต้น
“เราเชื่อว่างานนี้มันจะมีคนมาทำต่อ มันจะมีคนที่เห็นคุณค่ากลุ่มชนเผ่าที่เขากำลังดูแลป่าให้กับเรา คนที่รู้ว่าการอยู่รอดของเขาคือการอยู่รอดของคนทุกคน คนที่จะสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างคนเมืองกับคนในป่า เหมือนที่เราเคยรู้สึกและทำมันมาถึงตอนนี้”
เราบีบมือครูนิดเป็นกำลังใจ พร้อมปิดท้ายการคุยด้วยประโยคที่เราอยากพูดออกไปให้ผู้หญิงคนนี้ได้รับรู้
“ขอให้ครูนิดสุขภาพแข็งแรงมากๆ เพื่อจะทำทุกอย่างที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จนะคะ มันต้องเป็นครูนิดเท่านั้นแหละ เพราะป่าเรียกครูนิดมาแล้ว”
ครูนิดยิ้มอย่างอบอุ่นเหมือนเคย…