Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: August 2019

INITIATIVE: ริเริ่มสร้างสรรค์โดยไม่มีใครร้องขอ แก้ปัญหาไม่ต้องรอคนจ้ำจี้จ้ำไช
21st Century skills
30 August 2019

INITIATIVE: ริเริ่มสร้างสรรค์โดยไม่มีใครร้องขอ แก้ปัญหาไม่ต้องรอคนจ้ำจี้จ้ำไช

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Initiative – ความคิดริเริ่ม อีกหนึ่งคาแรคเตอร์ที่ถูกระบุในทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skill) – กลุ่มทักษะด้านคุณสมบัติ คุณลักษณะ หรือ นิสัยที่คนคนหนึ่งจะมีเพื่อแก้ปัญหาในโลกอนาคตที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
  • คนที่เปี่ยมไปด้วยความคิดริเริ่ม แก้ปัญหาได้ดี ทำงานโดยไม่รอรับคำสั่ง เรียกร้องความยืดหยุ่นแต่ก็ตัดสินใจหรือหาข้อสรุปได้ คนที่มีคาแรคเตอร์แห่งการคิดริเริ่มเป็นคนที่ตั้งต้นคิดและรู้ว่าจะพาตัวเองไปสู่เป้าหมายด้วยกระบวนการอะไร

อีกหนึ่งคาแรคเตอร์ที่ถูกระบุในทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skill) คือ Initiative – ความคิดริเริ่ม อยู่ในอันดับที่ 12 หมวด Character Qualities – กลุ่มทักษะด้านคุณสมบัติ คุณลักษณะ หรือ นิสัยที่คนคนหนึ่งจะมีเพื่อแก้ปัญหาในโลกอนาคตที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

ในบรรดาคาแรคเตอร์หลายตัว Initiative ดูจะเป็นตัวที่ได้รับการอธิบายหรือไฮไลต์ในวงการศึกษา กลุ่มโค้ช และพ่อแม่น้อยที่สุด เห็นได้จากบทความที่พูดถึงคาแรคเตอร์ในแง่การสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อให้เด็กมีความคิดริเริ่มไม่มากนัก

แต่พอเสิร์ชคำเดียวกันในโหมด ‘การทำงาน’ Initiative กลายเป็นคุณสมบัติเด่นที่ ‘ผู้สัมภาษณ์งาน’ หรือ ‘นายจ้าง’ มองหาเป็นลำดับต้นๆ – มี ‘ฮาวทู’ หลายบทความระบุวิธีสัมภาษณ์งานที่จะแสดงคาแรคเตอร์นี้ให้นายจ้างพบเห็นได้ในเวลาจำกัดเลยด้วย (เช่น บทความ ‘GIVE AN EXAMPLE OF A TIME WHEN YOU SHOWED INITIATIVE.’ TRICKY GRADUATE INTERVIEW QUESTION, 4 Essential Characteristics for a Good Wellness Initiative) กระนั้น ความสำคัญของคาแรคเตอร์อย่าง Initiative ก็สำคัญเพียงพอจะถูกระบุลงไปเป็น 1 ใน 16 ทักษะที่โลกในอนาคตต้องการ

“Initiative is doing the right thing without being told.”
– Victor Hugo นักเขียนชาวฝรั่งเศส

Initiative สำคัญอย่างไร?

อ้างอิงจาก Youth Employment UK องค์กรเครือข่ายกลางโดยคนรุ่นใหม่เพื่อคนรุ่นใหม่ ช่วยเหลือคนรุ่นใหม่เรื่องการทำงาน อธิบายความสำคัญของคาแรคเตอร์อย่าง Initiative ไว้ว่า…

คือคุณลักษณะของคนที่เปี่ยมไปด้วยความคิดริเริ่ม แก้ปัญหาได้ดี ทำงานโดยไม่รอรับคำสั่ง การเป็นคนริเริ่มหรือจัดอยู่ในหมวด Initiative เรียกร้องความยืดหยุ่นแต่ก็ต้องตัดสินใจหรือหาข้อสรุปได้ คนที่มีคาแรคเตอร์แห่งการคิดริเริ่ม

Initiative เป็นคนที่ตั้งต้นคิดและรู้ว่าจะพาตัวเองไปสู่เป้าหมายด้วยกระบวนการอะไร หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘เริ่มต้นที่ความคิด และก็เดินทางไปสู่ความสำเร็จได้’ (ผู้เขียนนึกถึงเวลา brianstorm งานที่มีไอเดียมากมายก็เลือกได้ว่าควรทำอะไร เพราะอะไร และริเริ่มลงมือทำในเรื่องที่สำคัญนำไปทดลอง) 

คาแรคเตอร์แบบคิดริเริ่ม เป็นหนึ่งในนิยามของ ‘การบริหารจัดการตัวเอง’ self-management หนึ่งในห้าทักษะสำคัญที่ Youth Employment UK ไฮไลต์และเห็นว่าจำเป็นในแง่การทำงานอย่างมืออาชีพ (ทักษะ 5 อย่างนั้นคือ ความเชื่อมั่นในตัวเอง, การสื่อสาร, การบริหารจัดการตัวเอง, ทำงานเป็นทีม และ นักแก้ปัญหา)

เวลาที่คุณเป็นคนริเริ่มสร้างสรรค์ คุณทำโดยไม่ต้องมีใครร้องขอ แก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอให้มีคนมาจ้ำจี้จ้ำไช รู้ว่าอยากจะรู้อะไร และเดินทางไปตามเส้นทางที่ควรต้องทำ ถ้ามันเรียกร้องให้ทำงานหนัก-เขาจะทำ ถ้าต้องร้องขอความช่วยเหลือ-เขาจะแสดงความต้องการ 

ที่บอกว่าคาแรคเตอร์นี้ถูกเรียกร้องในวงการทำงานเป็นระดับต้นๆ เพราะการเป็นคนที่ Initiative ยังเป็นเรื่องเดียวกับคำว่า ‘Proactive’ หรือ การทำงานเชิงรุก บรรยากาศที่หลายๆ องค์กรอยากสร้างให้เกิด อยากให้มีในคนทำงาน

มีความคิดสร้างสรรค์, มั่นใจ, เป็นนักแก้ปัญหา และเป็นผู้นำ – นี่อาจเป็นคาแรคเตอร์สนับสนุนความเป็น Initiative อีกทีหนึ่ง

Anna Ivey Consulting องค์กรให้คำปรึกษานักเรียนและนักศึกษาด้านการหางาน ให้คำแนะนำวิธีการสร้างทักษะแบบคิดริเริ่ม 7 ข้อดังนี้

  1. ให้การบ้านตัวเอง: คนที่มีนิสัยแบบ ‘คิดริเริ่ม’ ไม่เคยรอให้ตัวเองถูกสั่งแต่สั่งการตัวเองได้ การบ้านที่ว่าอาจเป็นสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น ถ้าคุณอยากหรือเป็นนักเขียน อาจท้าทายตัวเองด้วยการคิดโปรเจ็คต์ตัวเองสักชิ้น โดยกำหนดเดดไลน์ให้ตัวเองด้วย!
  2. จัดตั้งองค์กร: เวลาที่คุณอยากทำโครงการอะไรสักอย่าง ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นทีมงานในโปรเจ็คต์ที่คุณสนใจ สร้างทีมงานของตัวเองขึ้นมาเลย make it happen! และไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรใหญ่ในแง่ธุรกิจ อาจเป็นทีมเล็กๆ แต่รวมกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันก็ได้ 
  3. ทำด้วยตัวเอง Do It Yourself: คนที่เป็นคนริเริ่ม ‘ไม่ขึ้นกับคนอื่น’ ไม่ใช่คนที่ ‘ถ้าเธอไม่ทำ ฉันก็ขอไม่ทำด้วย’ ถ้าคุณอยากทำจริงๆ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากใครหรอกนะ แค่บอกเขาก็พอว่าคุณจะทำ สิ่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างริเริ่มโปรเจ็คต์ แค่การดูหนังคนเดียว เที่ยวคนเดียว ทำอะไรคนเดียว เพราะนั่นคือสิ่งที่อยากทำแต่คนอื่นไม่ได้อยากทำด้วย – แบบนี้ก็ถือเป็นการ DIY เหมือนกัน
  4. เพิ่มเติมบางอย่าง: คนที่ริเริ่มมักจะมองหาโอกาสที่จะสรรค์สร้างสิ่งที่ดีขึ้นเสมอๆ (เป็นเรื่องเดียวกับแนวคิดแบบ innovation) ต้องทำอะไรงานนี้ถึงจะดีขึ้น? ต้องเพิ่มเติมอะไรขึ้นมาดี? เช่น ถ้าคุณเป็นนักวาดการ์ตูนที่เก่งกาจ แต่หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยที่คุณอยู่ไม่มีเซคชั่นนี้ นี่คือโอกาส คนที่มีความคิดริเริ่มจะอาสาเข้าไป ‘เพิ่มเติม’ เซคชั่นการ์ตูน (ถ้าเห็นตรงกันกับบรรณาธิการ) เพื่อไปทำให้หนังสือพิมพ์มีสีสันขึ้นมาได้
  5. ร้องขอบางอย่าง: คนที่คิดริเริ่มจะ ‘เรียกร้อง’ เพื่อถามหาความเป็นไปได้ เช่น ถ้าคุณอยากฝึกงานช่วงซัมเมอร์ในหน่วยงานวิจัยสักแห่ง คุณจะไปสอบถามกับอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อถามหาความเป็นไปได้ ควรฝึกที่ไหน? ตำแหน่งอะไร? ที่จะเหมาะกับความต้องการของคุณ หรือถามหาจากคนใกล้ตัวว่าพอจะรู้จักผู้ที่ทำงานด้านนี้ไหม เป็นไปได้ไหมที่จะขอเข้าไปฝึกงานด้วย
  6. ทำสิ่งที่ต้องทำ: นี่เป็นสัจธรรมที่คนพูดกันเสมอ ‘มันมีสิ่งที่เราอยากทำ ควรทำ และต้องทำ’ เพื่อฝึกทักษะข้อนี้ ก็จำเป็นที่ต้องกลั้นใจฝึกอดทนอดกลั้น ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ต้องรีบคลี่คลายให้เสร็จ
  7. Go Above and Beyond: อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น คนที่มีทักษะเป็นคนคิดริเริ่ม พวกเขาไม่ทำแค่ ‘เพราะมันต้องทำ’ ไม่ทำแค่เสมอตัว แต่ทำเกินมาตรฐานงานที่ขีดเส้นไว้ สำคัญคือ นี่คือการขยายขอบความพยายามของเราด้วย ค่อยๆ ซึมๆ ผลักเส้นขีดจำกัดของเราออกไปทีละนิด รู้ตัวอีกที เราน่าจะก้าวข้ามเส้นเดิมมาไกลแล้วล่ะ
อ้างอิง
youthemployment

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)21st Century skillsความคิดสร้างสรรค์(Creativity)การคิดริเริ่ม(Initiative)

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Related Posts

  • 21st Century skills
    รวิศ หาญอุตสาหะ: คนรุ่นใหม่แบบไหนที่นายจ้างอยากทำงานด้วย

    เรื่อง The Potential

  • Family Psychology
    เลี้ยงลูกด้วยจุดแข็ง อย่าเสียเวลาไปกับข้อผิดพลาด นี่แหละพ่อแม่สายสตรอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • 21st Century skills
    ในห้องเรียน ‘ความคิดสร้างสรรค์’ วัดกันได้ และไม่ต้องใช้คะแนนหรือเกรดเฉลี่ย

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • 21st Century skills
    อย่าเอาความคิดผู้ใหญ่ มาทำลายความคิดสร้างสรรค์เด็ก

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • 21st Century skills
    คิดอย่างสร้างสรรค์ด้วยการทำงานของสมอง 2 ซีก

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

ใช้ร่างกายไล่ล่าปัจจุบัน หาความท้าทายใหม่เพื่อค้นพบตัวเอง: สูงวัยด้วยคุณภาพและพลังชีวิต
Life Long Learning
29 August 2019

ใช้ร่างกายไล่ล่าปัจจุบัน หาความท้าทายใหม่เพื่อค้นพบตัวเอง: สูงวัยด้วยคุณภาพและพลังชีวิต

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • ผู้ใหญ่ที่พอใจกับการใช้ชีวิต มองสิ่งต่างๆ ในแง่บวก รู้จักปล่อยวางและเพลิดเพลินกับเรื่องราวรอบตัว จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้น มากกว่าคนที่ชอบโมโห หงุดหงิดง่ายและฉุนเฉียว
  • การออกกำลังกายแบบเบาๆ ทุกวันในผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับความเสื่อมของร่างกายได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่เคยออกกำลังอย่างต่อเนื่องมาก่อน
  • คุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายเกิดขึ้นได้ด้วยการมองสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจ แล้ววางแผน ลงมือใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการตั้งแต่วันนี้ ไม่เสียเวลากับการบ่นเรื่องไม่ได้อย่างใจ แต่พอใจกับสิ่งที่มี

เชื่อว่าหลายคนไม่อยากแก่หรือกลัวความแก่ แต่ ‘ความแก่’ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันที่จริงไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำไปว่าแต่ละคนมีเวลาชีวิตเหลืออยู่เท่าไร จะมีลมหายใจอยู่ไปจนถึงวัยที่เรียกกว่า ‘แก่’ แล้วจริงๆ หรือเปล่า

สิ่งสำคัญกว่าการเฝ้านับถอยหลังนาฬิกาชีวิต ท้อแท้สิ้นหวังกับอายุที่เพิ่มขึ้น คือ เราควรหันมาเตรียมความพร้อมรับวัยชราอย่างมีคุณภาพ และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าที่สุด

ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1801-1900) อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ราว 40 ปี แต่ปัจจุบันมนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่า ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเลขที่มากขึ้นเป็นตัวบ่งชี้สภาพชีวิตที่ถดถอย แต่ควรหันมาดูแลตัวเองอย่างกระตือรือร้น

เป็น ‘ผู้อาวุโส’ ที่น่าเคารพมากกว่าน่ารำคาญ

เป็น ‘คนชรา’ ที่รู้เท่าทันมากกว่ารู้ล้าหลัง

เป็น ‘ผู้สูงอายุ’ ที่มีความสุขและมีกำลัง ไม่อมความทุกข์และซึมเศร้า

ให้วันเวลาและประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวผ่านมานั้นเป็นตัวแปรสะท้อนคุณภาพการใช้ชีวิต ที่เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลัง จนอยากรีบแก่เพื่อเดินตามรอยไอดอลของพวกเขา

คิดบวกไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ แต่เป็นยาอายุวัฒนะ

ผลการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London: UCL) พบว่า ผู้ใหญ่ที่พอใจกับการใช้ชีวิต กล่าวคือ มองสิ่งต่างๆ ในแง่บวก รู้จักปล่อยวางและเพลิดเพลินกับเรื่องราวรอบตัว จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้น มากกว่าคนที่ชอบโมโห หงุดหงิดง่ายและฉุนเฉียว

นักวิจัยสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหญิงและชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 3,199 คน ทั้งหมดอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลเป็นเวลา 8 ปี งานวิจัยโฟกัสไปที่ประสิทธิภาพการทำงานของระบบในร่างกาย และประเมินความพึงพอใจในการใช้ชีวิตของแต่ละคนตามสเกลที่กำหนด เน้นไปที่ 4 ส่วนต่อไปนี้

1. ฉันสนุกกับสิ่งต่างๆ ที่ทำ

2. ฉันเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น

3. เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันมีความสุขกับชีวิตของฉัน

4. ฉันรู้สึกว่าชีวิตฉันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง

ความรู้สึกที่สื่อสารออกมา เมื่อประมวลแล้วจะสะท้อนให้เห็นว่า แต่ละคนมีความพึงพอใจกับชีวิตขนาดไหน จากการศึกษาพบว่าคนที่ไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต มีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าถึง 3 เท่า และมีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองน้อยลง ขณะที่ผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ แต่งตัว และมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมองน้อยลงด้วย

เช่นเดียวกับ ผลการศึกษาของ เบคคา เลวี (Becca Levy) ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขและจิตวิทยา จากโรงเรียนการแพทย์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale School of Public Health) พบว่า แบบแผนการคิดเชิงลบต่อความแก่ ส่งผลให้คนมีอายุสั้นลง ผลการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่าง 660 คน จากออกซ์ฟอร์ด โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 20 ปี โดยนำมาเทียบกับข้อมูลการตายแสดงให้เห็นว่า คนที่มีทัศนคติเชิงบวกต่อความแก่ มีชีวิตอยู่ได้ยาวนานกว่าเฉลี่ย 7.5 ปี

เลวีบอกว่า ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับความแก่เกิดขึ้นจากการเติบโตทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมการต่อต้านริ้วรอยที่โปรโมทข้อเสียของความแก่ ทำให้ผู้คนหวาดกลัวโรคภัย กลัวร่างกายเหี่ยวย่น ทั้งหมดเพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจจากการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่มากขึ้น

“ทัศนคติเชิงบวกมีอิทธิพลต่อกลไกร่างกายทั้งด้านจิตวิทยา พฤติกรรมและสรีรวิทยา วิธีคิดเชิงบวกทำให้คนมีพฤติกรรมดีขึ้น จากการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต พวกเขาจะรับมือกับภาวะตึงเครียดได้ดี ซึ่งความเครียดนี้เองที่เป็นตัวการทำให้สมองเสื่อมและสมองหดตัว” เลวีกล่าว

เมื่อวิธีคิดมีผลต่อลมหายใจ The Potential เชื่อว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคในการใช้ชีวิต และไม่ว่าคุณจะอายุมากขนาดไหนก็สามารถทำให้ทุกๆ วันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและมีคุณค่าได้หากปรับวิธีคิดให้ถูกต้อง

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงนายแบบชาวจีน วัย 82 ปี ‘หวาง เต๋อซุน’ (Wang Deshun) ที่ได้รับความสนใจในวงการแฟชั่นช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

หวาง เต๋อซุน (Wang Deshun)

“เขาดูดีแม้ขณะไม่สวมใส่เสื้อบนร่างกาย ดูไม่ต่างจากนายแบบหนุ่มที่อายุน้อยกว่าเขาถึง 4 เท่า ไม่แปลกที่เขาได้รับการยอมรับทั้งในวงการแสดงและจากแฟชั่นดีไซเนอร์ในประเทศจีนและทั่วโลก…” เป็นข้อความที่นิตยสาร GQ กล่าวถึง หวาง เต๋อซุน ในบทความ ‘The Secrets of the 80-Year-Old Chinese Runway Model’ หรือ ‘ความลับของนายแบบรันเวย์ชาวจีนวัย 80’ เมื่อ 2 ปีก่อน

อะไรทำให้ผู้ชายสูงวัยคนนี้ ฝ่าฟันความแตกต่างทางความเชื่อและค่านิยมในสังคม จนกลายเป็นที่รู้จัก กลายเป็นศิลปิน นักแสดง และนายแบบแถวหน้าสุดฮอตระดับโลกได้?

ที่แน่ๆ ความสำเร็จของเขาไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน

หวาง เต๋อซุน เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1936 ที่เมืองเซินหยาง สาธารณรัฐประชาชนจีน ครอบครัวยากจน ไม่ได้เรียนหนังสือ เขาทำงานเลี้ยงตัวเองตั้งแต่เป็นแรงงานในโรงงาน เป็นคนขัดรองเท้า แล้วก้าวเข้าสู่ชีวิตนักแสดงที่อยู่กับกองทัพ จนเมื่ออายุเข้า 40 กลางๆ แพทย์วินิจฉัยว่าหวางป่วยเป็นโรคผิดปกติในระบบประสาท และถูกสั่งให้หยุดแสดงละคร

หลังจากนั้นเมื่ออายุก้าวเข้าปลาย 50 เขากลายเป็นศิลปินแสดงปฏิมากรมีชีวิตที่ได้รับความสนใจ หวางฟิตร่างกายแล้วใช้เรือนร่างของตัวเองแสดงเป็นรูปปั้นในท่วงท่าต่างๆ (living sculpture) ผสานกับละครใบ้ที่เคยแสดงมาก่อนหน้านี้

จนกระทั่งในวัย 67 ปี หวางได้ก้าวไปอีกขั้น เมื่อได้รับงานแสดงภาพยนตร์ครั้งแรก ใน ‘Warriors of Heaven and Earth’ (2003) ภาพยนตร์ย้อนยุคฟอร์มใหญ่และได้รับบทบาทการแสดงอย่างต่อเนื่อง เขาใช้ชีวิตโดยไม่ได้คำนึงถึงอายุ และรักษารูปร่างได้อย่างดีจนก้าวเข้าสู่วงการเดินแบบครั้งแรกในวัย 79

นิตยสาร GQ บอกว่าในระหว่างการสัมภาษณ์ หลายคนอาจหวังว่าจะได้รับคำแนะนำเรื่องการกิน การออกกำลังกาย และการรักษาสุขภาพจากหวาง เพราะรู้ว่าเขามีวินัยในการดูแลตัวเองอย่างมาก เขาเข้ายิมมาเป็นเวลา 30 ปีอย่างต่อเนื่อง เล่นไอซ์สเก็ต และทำกิจกรรมต่างๆ อีกหลากหลาย แต่คำตอบที่ได้ทำให้เซอร์ไพรส์ยิ่งกว่า

“การที่ผมออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ไม่ได้เป็นเรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่ผมใช้ร่างกายของผมทำงานศิลปะ ผมเลยต้องดูแลร่างกายให้ดี ผมไม่ใช่นายแบบแต่เป็นนักแสดง ร่างกายของผมเป็นเครื่องมือหนึ่งให้ผมได้ถ่ายทอดความเป็นศิลปะ ผมไล่ล่าความเป็นปัจจุบัน ความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิตทำให้ผมค้นพบตัวเองในหลายๆ ด้าน”

เรื่องเล่าชีวิตในแบบฉบับของหวาง เต๋อซุน สอดคล้องกับมาตรฐานชีวิต 4 ข้อที่นิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์ ออนไลน์ แพลตฟอร์มที่นำเสนอสาระความรู้ เรื่องราวของผู้คนและไลฟ์สไตล์จากทั่วทุกมุมโลก แนะนำไว้เป็นแนวทางใช้ชีวิตในวันที่อายุมากขึ้น ได้แก่

หนึ่ง คงความสตรอง หรืออยู่อย่างแข็งแรง (stay strong)

สอง กินดี (eat well)

สาม คงความสงสัยใคร่รู้ไว้เสมอ (stay curious)

และ สี่ ไม่ตัดขาดเพื่อนและสังคม (stay connected)

แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้น สุขภาพร่างกายก็เริ่มถดถอย หลายคนมีความเสี่ยงเป็นโรคทางพันธุกรรมที่จะส่งผลชัดขึ้นเมื่อแก่ตัวลง หวาง เต๋อซุน ป่วยเป็นโรคผิดปกติในระบบประสาท แต่เขาไม่ยอมแพ้ต่อโรค หรือจะพูดว่าเขาไม่สนใจมันเลยด้วยซ้ำ ความคลั่งไคล้และความสนใจในศิลปะและการแสดง ปูทางให้หวางต้องดูแลตัวเอง เพราะเขาใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือส่งสารไปยังผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตาม แต่การออกกำลังกายช่วยให้หวางมีกำลังและยังเดินเหินได้อย่างแข็งแรง รวมทั้งยังรักษากล้ามเนื้อในวัย 80 ปีไว้ได้อย่างน่าชื่นชม

เพราะฉะนั้น การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม…ช่วยให้อยู่อย่างแข็งแรงได้!

โดยเฉพาะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่หากยังไม่เคยเริ่ม เริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สาย เพราะกล้ามเนื้อของคนเราสามารถพัฒนาได้ในทุกช่วงวัย หวาง เต๋อซุน บอกว่า เขาหันมาออกกำลังกายอย่างจริงจังตอนอายุปาเข้าไป 50 ปีแล้ว

ผลการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) จากการสำรวจผู้สูงอายุเพศหญิงและชาย 1,600 คน พบว่า การออกกำลังกายแบบเบาๆ ทุกวันในผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับความเสื่อมของร่างกายได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่เคยออกกำลังอย่างต่อเนื่องมาก่อน

การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยยืดอายุให้กระดูก เส้นเอ็น และอวัยวะภายใน ช่วยลดความเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหวในท่วงท่าต่างๆ บรรเทาอาการปวดเรื้อรังจากโรคไขข้อ และประสาทอักเสบ ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างคล่องแคล่วและเต็มกำลังในทุกอิริยาบถ นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญในร่างกาย ป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เราควรเลือกออกกำลังให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตัวเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น

โยคะ เสริมสร้างสมาธิ ทำให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นและสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

พิลาทิส สร้างความมั่นคงแข็งแรงให้แกนกลางลำตัวและกระดูกสันหลัง

การเดิน เสริมศักยภาพการรับน้ำหนักและความหนาแน่นของมวลกระดูก

การปั่นจักรยาน สร้างความสมดุลให้กับระบบในร่างกายและความตึงตัวของกล้ามเนื้อ

แม้แต่การจูงสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น ว่ายน้ำ หรือการทำสวน ก็ถือเป็นการออกกำลังเช่นกัน แล้วจะยิ่งสนุกมากขึ้นเมื่อได้รวมกลุ่มออกกำลังกายเป็นหมู่คณะกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ

จอห์น เจ. ราทีย์ (John J. Ratey) ผู้แต่งหนังสือติดอันดับขายดี ‘Spark: The Revolutionary New Science of Exercise and the Brain’ ที่พูดถึงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับการออกกำลังกายและสมอง ดีกรีศาสตราจารย์ด้านคลินิกจิตเวช โรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลด้านประสาทวิทยา (Neuropsychiatry) กล่าวว่า การออกกำลังกายกล้ามเนื้อช่วยผลิตสิ่งที่ราทีย์ให้นิยามว่า ‘Miracle-Gro’ (สิ่งที่ทำให้สมองพัฒนาได้อย่างน่าอัศจรรย์) เนื่องจากการออกกำลังกายกระตุ้นการสร้าง BDNF (brain-derived neurotrophic factor) หรือโปรตีนซึ่งเป็นอาหารของเซลล์ประสาทสมอง ที่ช่วยสร้างสื่อประสาทและการเชื่อมต่อในสมอง นอกจากนี้ยังสร้างโดพามีน* (Dopamine) และเซโรโทนิน** (Serotonin) สารเคมีในสมองที่มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์

(ซ้าย) จอห์น เจ. ราทีย์ (John J. Ratey), (ขวา) หนังสือ Spark: The Revolutionary New Science of Exercise and the Brain

อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้แก่ตัวขึ้นได้อย่างมีความสุข คือ การเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ บางคนอาจพบพรสวรรค์หรือความสามารถที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเกิดความภาคภูมิใจจากการได้ลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยทำ โดยเฉพาะในยุคที่โลกเชื่อมถึงกันเพียงปลายนิ้วสัมผัส แทนที่จะปฏิเสธเทคโนโลยีเพราะความไม่คุ้นเคย ควรหันมาเปิดรับเทคโนโลยี เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร และเข้าถึงเแหล่งความรู้ในโลกออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนภาษาใหม่ๆ การทำอาหาร ทำขนม งานฝีมือ หรือแม้แต่การดูหนังฟังเพลงเพื่อสร้างความบันเทิงด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องนั่งเหงาๆ อยู่คนเดียว

เพราะไม่ว่าอยู่ในวัยไหนความสงสัยใคร่รู้จะช่วยเปิดโลก การเปิดรับข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ๆ ทำให้สมองตื่นตัว ยิ่งเมื่อไม่หยุดคิดไม่หยุดทดลอง ผลลัพธ์ที่ได้คือการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และความสามารถในการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและผู้อื่น นั่นเพราะความสงสัยใคร่รู้ นำมาสู่การหาคำตอบเพื่อสร้างความเข้าใจ หลายครั้งยังช่วยสร้างความสนุกสนานให้เกิดขึ้นได้ด้วย

อย่ามองว่าวัยเกษียณ คือ การใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย เพราะความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนการใช้ชีวิตที่สั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความผิดพลาด ก็เป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ เรื่องราวของ พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เส้นทางชีวิตของเขาถูกนำเสนอในสื่อหลากหลายสำนักในช่วงที่ผ่านมา ชีวิตของบุคคลวัยเกษียณที่ไม่หยุดเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เป็นบุคคลธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีและจับต้องได้

หลายคนรู้จักพงศ์กาณฑ์ อดีต รปภ.แบงก์ชาติที่ทำงานมากว่า 25 ปี ในนามของ ลุงติ๊ก สเกล เขาลุกขึ้นมาปลุกความฝันที่เคยหมดอายุในวัย 20 ต้นๆ คือ ความรักในการทำงานศิลปะ และความเป็นศิลปิน (จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพาะช่าง) ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตอนอายุ 59 (ปัจจุบันอายุ 61 ปี) ด้วยการทำโมเดลสามมิติ (Diorama) จำหน่ายเป็นรายได้หลัก และถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจ

ลุงติ๊กให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Marketeer ที่นำเสนอเรื่องราวข่าวสารการตลาดว่า เริ่มต้นเขาลังเลพอสมควรที่จะหันมาทำสิ่งที่ละทิ้งมานาน แต่ลูกเป็นคนผลักดันให้เขาลงมือทำ

“มันจะมีคนซื้อหรือ ในไทยมันจะมีคนเล่นแบบนี้สักกี่คน แล้วอีกอย่างเราก็ไม่ได้ทำงานศิลปะมาตั้งเกือบ 40 ปี แล้วเราจะทำได้ไหม จะไปต่อได้จริงๆ หรือ เอาง่ายๆ อย่างตอนกลับไปทำลุงยังไม่รู้เลยว่ามันมีวัสดุที่เรียกว่าพลาสวูดเกิดขึ้นบนโลกแล้ว ตอนนั้นความคิดลุงวนอยู่แต่แบบนี้ แต่ลูกชายบอกให้ลอง ก็ลองดู สรุปงานแรกที่กลับไปทำในรอบหลายปีนั่นก็ขายได้ 280 บาท จำได้ว่ารู้สึกดีใจมากเลย ที่มีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ”

ความสงสัยใคร่รู้จากสิ่งที่เห็นรอบตัว และประสบการณ์เรียนรู้ทำให้เกิดแบรนด์ ‘ลุงติ๊ก’ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ประกอบร่างโมเดลและฉากสามมิติต่างๆ ลุงติ๊ก เล่าว่า การเอาตัวเองเข้าไปขลุกอยู่กับการทำโมเดล ทำให้พบว่าวัสดุบางอย่างสามารถเอาสิ่งใกล้ตัวมาแทนได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อวัสดุจากต่างประเทศ จึงลองทำวัสดุที่ทดแทนได้ขึ้นมาเอง

แม้มีออร์เดอร์เข้ามามากมาย แต่เมื่อรู้ว่าตัวเองขลุกอยู่กับการทำงานมากเกินไป ลุงติ๊กก็ปฏิวัติตัวเองใหม่อีกครั้ง เขาบอกว่า แม้เคยไม่มีเงิน แต่เงินก็ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะเติมเต็มความรู้สึกของคนที่เคยขาดได้

เพราะสิ่งที่ต้องการมากกว่าเงินคือความสุข และอีกสิ่งที่จะมาเติมเต็มให้ความสุขของเขาสมบูรณ์ขึ้นได้ คือการมีเพื่อนให้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน นี่จึงเป็นที่มาให้ลุงติ๊ก เปิดสอนทำฉากและโมเดลสามมิติที่บ้าน จนมีผู้คนจากหลากหลายอาชีพสนใจสมัครมาเรียน

จากความคิดของลุงติ๊ก สะท้อนให้เห็นว่าการไม่ตัดขาดเพื่อนและสังคม (stay connected) ทำให้การใช้ชีวิตยามสูงวัยมีความตื่นเต้นและสนุกมากขึ้น การเปิดบ้านสอนทำโมเดล ทำให้ลุงติ๊กมีเพื่อนทุกเพศทุกวัยจากหลากหลายอาชีพ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ช่วยต่อยอดความคิดและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานต่อๆ ไปได้

ลืมภาพคนแก่อยู่ติดบ้าน รอลูกหลานกลับมาเยี่ยมไปได้เลย แก่แล้วไม่ได้หมายความว่าไปไหนไม่ได้ หรือทำกิจกรรมที่สนุกกับกลุ่มเพื่อนไม่ได้

ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว รวมถึงเพื่อนฝูงและเข้าสังคมมีสุขภาพดีกว่าคนที่เก็บตัวตัดขาดจากโลกภายนอก

ในช่วงราว 15 ปีที่ผ่าน มีการศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุ 55-64 ปี อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง และมีผู้สูงวัยราว 1 ล้านคนที่ไม่พบเจอใครเลยเป็นเวลาถึง 1 เดือน สิ่งนี้เป็นผลพวงจากการหย่าร้าง

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำแนะนำว่า ผู้สูงวัยควรใช้เวลาพูดคุยกับคนรอบตัวอย่างน้อยสักหนึ่งคนต่อวัน ลองสมัครร่วมทำงานอาสาให้กับชุมชนหรือในโอกาสพิเศษหรือวันพิเศษต่างๆ วิธีนี้จะทำให้เราโฟกัสเรื่องตัวเองน้อยลงและสนใจความเป็นอยู่ของคนอื่นมากขึ้น การสวมบทบาทเป็นผู้ให้จะทำให้มีความสุขในทันที และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะมองเห็นคุณค่าของตัวเองจากการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น

หากไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน ลองหันมาเขียนบันทึกประจำวัน หรือบทเรียนชีวิตถ่ายทอดประสบการณ์ส่งต่อให้คนอื่นดูก็ได้

หรือเปลี่ยนจากกิจกรรมโลดโผนในวัยหนุ่มสาวมาเป็นการนั่งจิบชาสนทนายามบ่าย หากเพื่อนเก่าล้มหายตายจากกันไป ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ และการมีเพื่อนต่างวัยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แถมยังช่วยทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้น

คุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายเกิดขึ้นได้ด้วยการมองสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจ แล้ววางแผน ลงมือใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการตั้งแต่วันนี้ ไม่เสียเวลากับการบ่นเรื่องไม่ได้อย่างใจแต่พอใจกับสิ่งที่มี ลองนึกภาพวัยชราที่ไม่ได้ใช้ชีวิตไปวันๆ แต่มีเวลาว่างได้พักผ่อนเอนกาย ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและยังคงเพลิดเพลินกับชีวิต

เหมือนอย่างที่ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักเขียนบทละคร วรรณกรรม และนักวิจารณ์ดนตรีชาวไอริช ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 1925 บอกว่า

“You don’t stop laughing when you grow old; you grow old when you stop laughing”

“คุณไม่ได้หยุดหัวเราะเมื่อคุณแก่ตัวลง แต่คุณแก่ตัวลงเมื่อคุณหยุดหัวเราะ”

Fun Fact!โดพามีน* ได้รับการขนานนามว่า สารแห่งความสุขเพราะจะถูกปล่อยออกมาเมื่อร่างกายกำลังสนุกหรือพึงพอใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการได้ทำสิ่งที่ชอบ การได้กินอาหารอร่อยถูกปาก รวมถึงขณะที่กำลังเรียนรู้หรือทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจ โดพามีนจึงมีส่วนช่วยเรื่องสมาธิ และทำให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายเซโรโทนิน** เป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมและปรับสภาวะอารมณ์ ที่ทำงานสัมพันธ์กับโดพามีน หากร่างกายมีเซโรโทนินต่ำ จะทำให้รู้สึกเศร้าหรือกังวล การออกกำลังจะช่วยปรับสมดุลให้สมองผลิตสารเคมีทั้งสองได้อย่างพอเหมาะอย่ามองข้ามการอ่าน การเขียน หรือเกมตัวต่อสำหรับเด็ก ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้แบ่งเวลา 20 นาทีในแต่ละวัน ดูวิดีโอตลกและผ่อนคลาย เพราะสิ่งนี้สามารถช่วยฟื้นฟูความจำในผู้สูงอายุผู้พันแซนเดอร์ส (Colonel Sanders) ผู้ก่อตั้งเคเอฟซี (KFC) เขาโดนปฏิเสธถึง 1,009 ครั้ง ก่อนมีคนให้โอกาสทดลองสูตรไก่ทอดที่คิดค้นขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากเขาเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี และกลายเป็นมหาเศรษฐีตอนอายุ 88 ปีเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) นักเคลื่อนไหวชาวแอฟริกา ถูกจับตัวคุมขังถึง 2 ทศวรรษ ก่อนถูกปล่อยตัวเมื่ออายุได้ 72 ปี หลังจากถูกปล่อยตัว 4 ปี ความมุ่งมั่นทางการเมืองและสังคมของแมนเดลาทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 1993
อ้างอิง
How to grow old happily
The ‘how happy are you’ quiz
5 Tips for Aging Happily
Why Is A Healthy Lifestyle So Important, Especially In Old Age?
THE WAY OF LIVING: BEING HAPPY AND HEALTHY AT AN OLD AGE
THE SECRET TO SUCCESS AT AN OLD AGE
Health benefits of physical activity: the evidence
เขาคืออดีต รปภ. ที่เกษียณมาเป็น ‘ศิลปินทำโมเดลจิ๋ว’ อาชีพในฝันที่กลายเป็นจริงในวัย 59

Tags:

แรงจูงใจในตัวเอง(Self motivation)สังคมสูงวัยการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)Growth mindset

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Life classroom
    ‘อนุญาตให้ตัวเองผิดหวังได้แต่อย่านาน’ ไดอารี่ชีวิตสาวน้อยคิดบวก ธันย์- ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • How to get along with teenager
    ในวันที่โลกดูสิ้นหวัง และตัวฉันที่กำลังจะหมดหวังกับตัวเอง : EP.3 “I am worth enough.”

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Book
    ที่ปลายขอบฟ้า มีขุมทรัพย์…และความฝัน

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Life Long Learning
    THE OLD MAN BUT YOUNG@HEART สูงวัย ใคร? ห้ามเรียนรู้

    เรื่อง The Potential

  • Growth & Fixed Mindset
    สอนให้เด็กรู้ศักยภาพของสมอง: ลบความเชื่อเรื่องโง่หรือฉลาดแต่กำเนิด เขาจะพัฒนาได้ด้วยตัวเอง

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

E-SACK ถุงเพาะชำจากกากถั่วเหลืองและผักตบชวา ทำไม? ปลูกต้นไม้ยังต้องใช้พลาสติก
Voice of New Gen
28 August 2019

E-SACK ถุงเพาะชำจากกากถั่วเหลืองและผักตบชวา ทำไม? ปลูกต้นไม้ยังต้องใช้พลาสติก

เรื่อง

  • E-SACK ถุงเพาะชำชีวภาพที่ผลิตจากกากถั่วเหลืองและผักตบชวา ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแก่พืชได้ ผลจากนวัตกรชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ที่ตั้งคำถามว่า ทำไมถุงเพาะชำใส่ต้นไม้ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก
  • E-SACK ย่อยสลายได้ใน 6 เดือน หลังทดลองใช้เพาะชำต้นกล้ามะเขือเทศพบว่าต้นกล้าที่ใช้ E-SACK เจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นกล้าที่ใช้ถุงเพาะชำพลาสติกเพราะได้รับสารอาหารจากวัตถุดิบชีวภาพ แต่แม้ E-SACK จะผ่านการทดลองมานับไม่ถ้วน ปัญหาที่ติดอยู่คือเรื่องทุนการผลิตที่ยังสูงเกินไป
  • “ผลงานนี้น่าจะต้องพัฒนาต่อครับ ตอนนี้ยังขายไม่ได้เพราะต้นทุนสูงกว่าพลาสติก สิ่งที่ต้องทำคือ ส่งมอบงานต่อให้น้องไปพัฒนา ทีมเราอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่สามารถไปถึงผู้ใช้จริงได้ เพราะสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาแล้วมีผู้ใช้ มันน่าภาคภูมิใจ”
เรื่อง: กิติคุณ คัมภิรานนท์, มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่

ขนาดภาคธุรกิจอย่างเซ็นทรัลยังเลิกบริการถุงพลาสติก เซเว่นฯ เองก็ลดการแจกถุงพลาสติก แล้วทำไมการกระทำความ ‘กรีน’ อย่างการปลูกต้นไม้ ถึงยังต้องพึ่งพาถุงพลาสติกอีกเล่า?

เราใช้ถุงพลาสติกอะไรในการปลูกต้นไม้? ก็ถุงเพาะชำสีดำๆ นั่นอย่างไร ทราบไหมว่าส่วนใหญ่ผลิตมาจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (polyethylene – PE) ที่กว่าจะย่อยสลายต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน ชนิดที่ว่าตายแล้วเกิดใหม่ เราก็อาจจะต้องกลับมาเจอกับถุงพลาสติกที่เคยใช้เมื่อชาติที่แล้วอีกครั้ง

‘กวิน’ มนัสกวิน ภู่ภิญโญกุล

‘กวิน’ มนัสกวิน ภู่ภิญโญกุล ชั้น ม.6 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ไม่โอเคกับสิ่งนี้… เราควรเลิกใช้ถุงพลาสติกมาเพาะชำต้นไม้ และในเมื่อไม่มีอะไรให้ใช้แทน เราก็สร้างถุงเพาะชำชีวภาพขึ้นมาเองซะเลยดีกว่า! ด้วย E-SACK ถุงเพาะชำชีวภาพที่สามารถย่อยสลายและเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ได้เป็นอย่างดี

ศึกครั้งนี้ถุงเพาะชำพลาสติกจะไปหรือจะอยู่? ติดตามได้ตั้งแต่ย่อหน้าถัดไป…

วางเป้าให้ใหญ่ แรงบันดาลใจจะมา!

“เราตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้ถุงพลาสติกที่ต้องใช้เยอะและเป็นปัญหาต่อโลกมันหายไป เราเห็นถุงเพาะชำที่เป็นพลาสติก แต่ยังไม่มีถุงเพาะชำที่ทำมาจากวัสดุชีวภาพ ตอนแรกจึงอยากทำเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ แต่อาจารย์แนะนำให้ลองใช้น้ำยางพาราดู และมีรุ่นพี่ทำกระถางจากกากถั่วเหลือง เราจึงลองเอากากถั่วเหลืองมาใช้ด้วย ลองหาเส้นใยผักตบชวาที่มีเยอะแถวคลองบ้านผม นำมาผสมกันแล้วปรับเปลี่ยนสูตรไปเรื่อยๆ จนได้ไปแข่ง YSC ถึงรอบระดับประเทศ” กวินเล่าถึงการพัฒนาโครงงาน E-SACK ที่ถือว่าเป็นโปรเจ็คท์ที่มีเป้าหมายใหญ่ระดับโลก นั่นคือการทำให้พลาสติกหมดไป โดยใช้วัสดุชีวภาพแทนที่

เป้าหมายที่ใหญ่นั้นแม้จะดูไกลเกินตัว แต่ในมุมหนึ่งมันก็มีพลังสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำให้นวัตกรเห็นคุณค่าความสำคัญของผลงานที่พัฒนาอยู่ นั่นคือเหตุผลที่หลังจากผ่านการประกวด YSC แล้ว กวินจึงนำผลงานเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 6 ต่อ ด้วยอยากพัฒนา E-SACK ไปให้ถึงจุดที่สามารถนำไปใช้ลดการใช้ถุงเพาะชำพลาสติกได้จริง

สมาชิกทีม E-SACK: นฤภร มุกดาพัฒนากุล (ปิ่น), นรัญญา รุจนเวชช์ (เมจิ), วินัดดา เรืองเดช (เจีย), มนัสกวิน ภู่ภิญโญกุล (กวิน), เอกรัตน์ รุ่งศรีสุทธิวงศ์ (เอ็ม) และ กรรวี บูรณกิจเจริญ (เดล)

และในช่วงการเข้าโครงการต่อกล้าฯ นี้เอง ที่กวินได้น้องๆ อีก 5 คน* มาร่วมด้วยช่วยกัน (โดยเฉพาะเมจิกับเอ็ม ซึ่งกำลังคิดจะทำโปรเจ็คท์ถุงเพาะชำที่ผลิตจากกากกาแฟและขุยมะพร้าวอยู่แล้ว) เพราะพบปัญหาแล้วว่า E-SACK ต้องมีการปรับเปลี่ยนสูตรครั้งใหญ่

“สูตรแรกตอนเข้า YSC ผมผสม 3 อย่างคือ แป้ง น้ำยาง กลีเซอรีน ผสมอยู่ 2 เดือนจนได้สูตรที่เหมาะสม จากนั้นก็ใช้เวลาอีก 5 เดือนลองผสมกับเส้นใยผักตบชวา ซึ่งตอนแรกผสมแล้วถุงหนามาก ก็ใช้เวลาพัฒนาให้บางลง” กวินเล่าด้วยรอยยิ้ม

“แต่ปัญหาก็คือ สูตรนี้มันทำให้ถุงแข็งและเหนียวมากจนเหมือนไม่ใช่ถุงเพาะชำ” เอ็มเสริมพลางหัวเราะ เพราะคุณสมบัติของถุงเพาะชำที่ดี ต้องมีความแข็งจากการขึ้นรูปในระดับที่คงตัวอยู่ได้กลางแจ้ง และในขณะเดียวกัน สิ่งที่ทีมต้องการก็คือ ถุงที่แข็งตัวนี้จะต้องย่อยสลายได้เมื่อนำลงดิน

“ตามธรรมชาติตอนเราปลูกต้นไม้ ถุงเพาะชำจะต้องถูกวางทิ้งไว้ในสภาพอากาศภายนอกก่อนนำไปลงดิน ถ้าถุงไม่แข็งแรง เมื่อมันโดนน้ำโดนฝนโดนลมจะทำให้ฉีกขาดได้ หรือเกิดการย่อยสลายในช่วงที่เราไม่ต้องการ ดังนั้นถุงที่มีความแข็งแรงและมีความหนาที่มีค่าสูงจะทำให้สามารถคงสภาพนั้นได้นาน” เมจิเล่าถึงแนวทางที่ทีมต้องพัฒนาผลงาน ก่อนที่เอ็มจะเสริมว่า

“โจทย์ของเราคือ ต้องการให้ถุงขึ้นรูปและตั้งอยู่บนพื้นดินได้ประมาณ 15 วัน แต่ก็คิดกันว่าถ้าค่าแรงดึงมากจนแข็งไป ถุงมันจะย่อยสลายยากไหม”

คำตอบที่ใช่ ต้องใช้เวลา

เพื่อให้ได้ถุงเพาะชำที่วางตั้งกลางแจ้งได้โดยไม่บุบสลาย แต่ก็พร้อมที่จะย่อยได้เมื่อนำลงดิน ทีมจึงต้องทำการทดลองและขวนขวายหาสูตรที่ลงตัวของ E-SACK ซึ่งนั่นหมายถึงการต้องปรับสูตรใหม่ถึง 4 ครั้ง และต้องทดลองในแต่ละสูตรอีกนับครั้งไม่ถ้วน

“เริ่มแรกต้องเตรียมวัสดุ ปั่นกากถั่วเหลือง ปั่นผักตบชวา จากนั้นก็มาตวงสาร ผสมสูตร ไปทำแล็บเพื่อผลิตฟิล์ม แล้วนำไปอบขึ้นรูป หลักๆ ที่เราต้องการคือหาสูตรที่เหมาะสม ที่ทำให้ขึ้นรูปได้ดีและใช้เวลาในการอบน้อย แล้วดูว่าสูตรไหนมีค่าแรงดึงสูงเพื่อดูความแข็งแรง แล้วนำไปทดสอบอัตราการย่อยสลาย” กวินเล่ากระบวนการทำงานของทีมอย่างกระตือรือร้น

แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวย่อมต้องมีข้อผิดพลาด…

“ตอนแรกเฟลบ่อยมาก ยังหาสูตรที่เหมาะสมไม่ได้” กวินหัวเราะ “ต้องทดลองซ้ำๆ ลองผิดลองถูก ล้มเหลวหลายครั้ง ทำแล้วทำอีก ต้องไปศึกษางานวิจัยอื่นๆ เช่น วิธีการทดสอบต่างๆ หรือเสิร์ชหาเรื่องแผ่นฟิล์มย่อยสลายได้ เจองานวิจัยที่บอกขั้นตอนการทำ เราก็เอามาประยุกต์ใช้ และความเหนื่อยอีกอย่างก็คือการหาวัตถุดิบ การหาวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ อย่างกากถั่วเหลืองก็จะขอให้ครูไปเอาจากร้านน้ำเต้าหู้ ได้แล้วก็ต้องรีบเอามาตาก บางทีเผลอตากทิ้งไว้จนขึ้นราก็ใช้ไม่ได้ (หัวเราะ)”

“เคยเจอกรณีที่ใส่สูตรเหมือนกันแต่ผลออกมาต่างกัน เลยตั้งสมมุติฐานว่า ขึ้นอยู่กับการทำของแต่ละคน บางคนอาจได้เป็นก้อน บางคนอาจได้เป็นฟอง เลยทำให้เราได้เรียนรู้ว่า มันต้องใช้วิธีการคนวัตถุดิบแบบเดียวกัน การเขย่าแบบเดียวกัน มันถึงจะได้แผ่นที่เหมือนกัน” เอ็มเล่าเสริมถึงความผิดพลาดที่ได้เรียนรู้

แต่ขณะเดียวกัน การทดลองซ้ำๆ ก็ทำให้พวกเขาได้ค้นพบความสำเร็จใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

“ผลพลอยได้จากการเปลี่ยนสูตร แต่ก่อนพี่เขาจะเอาแป้งไปต้มก่อน แต่ตอนหลังเราเทแป้งลงไปเลยโดยไม่ต้ม พอตกตะกอนมันจะได้ชั้นแป้งอยู่ข้างล่าง ทำให้เนื้อฟิล์มไม่ติดกัน พี่ๆ ก็แนะนำให้ร่อนแป้งด้วยมันจะกระจายตัวดีขึ้น เทตรงกลางแล้วกระจายเป็นวง คือเราก็ลองทำทุกวิธี” เอ็มยิ้มท้ายประโยค

ผ่านการทำลองซ้ำๆ ผิดพลาดมากกว่ามาก สุดท้ายทีมก็ได้สูตรที่ลงตัว แต่…

“ตอนได้สูตรที่เหมาะสมรอบแรกเราใช้น้ำปริมาณมาก ทำให้ใช้เวลาอบนานครั้งละ 20 ชั่วโมง และใช้อุณหภูมิสูงมาก ตอนเอาผลงานไปโชว์ในค่ายรอบ 2 เราก็แอบภูมิใจ เพราะถุงแบบเดิมเป็นเศษบางๆ แต่ถุงที่เราพัฒนาใหม่มีเนื้อสัมผัสที่หนาขึ้น ด้านล่างมีแป้งมันสำปะหลังตกตะกอน ดูเป็นถุงเพาะชำมากขึ้น แต่กรรมการบอกว่าการอบ 20 ชั่วโมง แถมใช้อุณหภูมิสูง ทำให้ต้นทุนสูงมากๆ ถ้าเอาไปทำมาหากินจริงๆ ก็คงไม่ทัน” เมจิเล่าถึงความภูมิใจของทีม ที่สุดท้ายผลงานกลับถูกตีตกเมื่อนำไปวิเคราะห์ถึงความเป็นจริงทางธุรกิจ

ไม่เสร็จรุ่นนี้ ต้องเสร็จรุ่นหน้า!

อย่างไรก็ตาม แม้ผลงานจะถูกตีตก แต่ทุกคนก็ยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

“เราทดลองลดปริมาณน้ำยางและน้ำให้อยู่ในระดับที่พอคนได้ และจากที่เมื่อก่อนเวลาทำแล็บเราจะทิ้งช่วงแป๊บนึงก่อนเทส่วนผสมลงแผ่น แล้วค่อยเทสารเติมแต่งตามลงไป แต่พอลดปริมาณน้ำเราทิ้งไว้นานไม่ได้เพราะมันจะจับเป็นก้อน จึงต้องค่อยๆ เทส่วนผสมและสารเติมแต่งพร้อมๆ กันทีละน้อยและคนไปด้วย เสร็จแล้วก็เทลงแผ่น แล้วรีบเอาเข้าตู้อบ มันถึงจะไม่เสียสภาพ” เมจิเล่าถึงการแก้ปัญหาของทีม

และคือมันดี! เพราะสูตรใหม่นี้ทำให้ทีมลดเวลาในการอบถุงจาก 20 ชั่วโมง เหลือแค่ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ของประสิทธิผลก็เป็นไปตามที่ทีมต้องการ นั่นคือ E-SACK สามารถย่อยสลายได้ในเวลา 6 เดือน และจากการทดลองใช้เพาะชำต้นกล้ามะเขือเทศ พบว่าต้นกล้าที่ใช้ E-SACK มีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นกล้าที่ใช้ถุงเพาะชำพลาสติก เพราะได้รับสารอาหารจากวัตถุดิบชีวภาพที่ใช้ผลิตนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะแก้ปัญหาได้และได้ถุงเพาะชำชีวภาพที่มีคุณสมบัติตามที่ทีมต้องการ แต่เมื่อมองในมุมการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ก็ยังติดปัญหาเรื่องต้นทุน ที่ยังสูงกว่าถุงเพาะชำพลาสติก

แน่นอนว่าทีมเองก็ท้อไม่น้อย (ซึ่งที่จริงสมาชิกหลายคนก็ท้อมาตั้งแต่ขั้นตอนการขวนขวายหาสูตรที่ลงตัวแล้ว)

“มันเป็นงานที่เจ๋งมาก ตอนฟังพี่กวินเล่าตอนแรกหนูรู้สึกว่า เฮ้ย! งานนี้โคตรเท่เลย คิดได้ไง! จนกระทั่งช่วงที่ต้องทดลองหาสูตร ต้องทำซ้ำๆ ทำเรื่อยๆ และมันเฟลเยอะมาก อบก็นาน และกว่าที่เราจะรู้ว่ามันเฟลก็ใช้เวลาไปนานมากแล้ว ต้องทำใหม่ และสรุปไม่ได้สักทีว่าเพราะอะไร ก็รู้สึกท้อว่าต้องมาทำอีกแล้วเหรอ” เจียเผยความรู้สึก

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงและเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนในทีมไปต่อ! ก็คือสปิริตทีมเวิร์คที่เห็นคุณค่าความสำคัญของงานเป็นที่ตั้ง ทุกคนจึงพร้อมจะสละอัตตา ไม่ยึดความคิดและความสำเร็จส่วนตัว แต่ยึดในความก้าวหน้าของงานเป็นสำคัญ ทั้งเมจิกับเอ็ม ที่ทิ้งโครงงานของตัวเองเพื่อมาช่วยพัฒนา E-SACK และทั้งเดล-เจีย-ปิ่น ที่พร้อมบริหารจัดการเวลาและหน้าที่ส่วนตัว เพื่อให้สามารถมาช่วยงานของทีมให้ลุล่วง

“เมื่อก่อนเป็นคนไม่ค่อยรับผิดชอบเท่าไหร่ (หัวเราะ) บางทีเพื่อนนัดทำงานหลังเลิกเรียนก็ไม่ไป กลับบ้านเพราะไม่อยากทำ แต่สำหรับงานนี้หนูจะทำก่อนงานของตัวเอง เพราะงานนี้เป็นงานส่วนรวม ทำงานส่วนรวมก่อนดีกว่า ถ้าไม่ได้มาช่วยเพื่อนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิก” เดลเล่าพลางยิ้ม

“เราได้เรื่องการทำงานเป็นทีม เพราะต้องเข้าใจว่าน้องๆ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องหาวิธีทำงานด้วยกัน ต้องจัดแบ่งเวลาให้เหมาะสม ใครว่างตอนไหนก็ให้มารวมตัวกันทำ 2-3 คนก่อนก็ได้ คนอื่นเสร็จธุระก็ค่อยมาสมทบ” กวินเสริม

และสปิริตแห่งทีมเวิร์คนี้ก็ไม่ใช่จะสิ้นสุดลงหลังจากจบโครงการต่อกล้าฯ ปี 6 นี้เท่านั้น หากแต่สปิริตดังกล่าวจะยังถูกส่งต่อจากกวินไปสู่น้องๆ ทั้งห้า กับภารกิจการต่อยอด E-SACK ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งในแง่ของคุณภาพและการขยายผลเชิงพาณิชย์

“ผลงานนี้น่าจะต้องพัฒนาต่อครับ ตอนนี้ยังขายไม่ได้เพราะต้นทุนสูงกว่าพลาสติก สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้ก็คือ ส่งมอบงานต่อให้น้องไปพัฒนา ทีมเราอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่สามารถไปถึงผู้ใช้จริงได้ เพราะสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาแล้วมีผู้ใช้ มันน่าภาคภูมิใจ” กวินกล่าวด้วยรอยยิ้ม

“การส่งทอดต่อให้รุ่นน้องนั้นเหมือนการส่งไม้ต่อให้เพื่อศึกษาเพิ่มเติม เพราะงานบางงานไม่สามารถทำจบได้ในเรื่องเดียว เเต่สามารถเเตกยอดเเตกหน่อไปได้อีก ผมอยากให้ถุงเพาะชำไม่จำกัดแค่สามารถใช้ได้กับต้นมะเขือเทศเท่านั้น เเต่อยากให้สามารถใช้ได้กับพืชตระกูลเดียวกันหรือมากกว่านั้น อยากพัฒนาให้ถุงย่อยสลายได้ด้วยน้ำกร่อย และย่อยสลายได้ถาวรด้วย อยากทำต่อให้ได้! ซึ่งผมเพิ่งอ่านเจอว่า มันมีสารสกัดจากเเมลงที่สามารถทำให้ตัวยางพาราย่อยสลายได้ง่ายขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทาย และเป็นเหตุผลที่อยากให้ทีมพัฒนาผลงานต่อ” เอ็มสำทับ

ก่อนที่ปิ่นจะเสริมถึงแนวคิดของทีมต่อว่า “การทำโครงงานสำหรับหนูคือการทำการทดลองเพื่อให้ได้ผลออกมา ถ้าจะเข้าใจผลเราต้องทำแต่ละงานในโครงงานนี้ให้เข้าใจถ่องแท้ ลงมือทำเองจริงๆ เพื่อจะได้โครงงานที่เราเข้าใจมันจริงๆ เมื่อก่อนคิดว่าโครงงานคืองานที่ทำให้จบ ม.3 (หัวเราะ) แต่งานนี้เป็นการพัฒนาระยะยาว ต้องพัฒนาจนมันดีพอ โครงงานแต่ละอย่างใช้เวลาไม่เท่ากัน”

“ตอนแรกท้อ แต่พอมาขนาดนี้แล้วก็ต้องไปต่อ” เอ็มทิ้งท้ายสั้นๆ ด้วยแววตามุ่งมั่น

เป้าหมายที่ใหญ่มีไว้พุ่งชน! แน่นอนว่าทีม E-SACK ได้ลองแล้ว และพุ่งชนจนอุปสรรคหลายข้อต้องล้มคว่ำหลีกทางให้ แต่ด้วยความที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก อุปสรรคมันก็ย่อมใหญ่และเยอะไปตามตัว

แม้จะเอาชนะอุปสรรคและข้อปัญหามาได้ไม่น้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอุปสรรคใหญ่อีกหลายข้อที่ทีมต้องพุ่งชนต่อไป และในเมื่อไม่สามารถพุ่งชนเพื่อเอาชนะได้ในรุ่นนี้ ก็ต้องส่งมอบภารกิจต่อให้รุ่นหน้า

นั่นคือสปิริตของความเป็นทีมเวิร์คที่พร้อมจะสานต่อการทำงาน โดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นผู้ที่ทำสำเร็จ แต่พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด

สุดท้ายแล้ว ศึกระหว่างถุงเพาะชำพลาสติกกับถุงเพาะชำชีวภาพจะจบลงตรงไหน? โปรดติดตามได้จากทีม E-SACK รุ่นต่อไป…

E-SACK ถุงเพาะชำชีวภาพ ที่ผลิตจากกากถั่วเหลืองและผักตบชวา ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแก่พืชได้สมาชิกในทีม: มนัสกวิน ภู่ภิญโญกุล (กวิน) ม.6เอกรัตน์ รุ่งศรีสุทธิวงศ์ (เอ็ม) ม.5นรัญญา รุจนเวชช์ (เมจิ) ม.5กรรวี บูรณกิจเจริญ (เดล) ม.4นางสาววินัดดา เรืองเดช (เจีย) ม.4นฤภร มุกดาพัฒนากุล (ปิ่น) ม.4โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
ที่ปรึกษาโครงการ: อาจารย์ขุนทอง คล้ายทอง

Tags:

project based learningAIโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม

Author:

Related Posts

  • Voice of New Gen
    กล้าดี D.I.Y: พาสองมือสร้างธรรมชาติ ปั้นกระถางต้นไม้รักษ์โลกด้วยตัวเอง

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์ ภาพ บัว คำดี

  • Voice of New Gen
    ALGOLAXY: แอพฯ สอนอัลกอรึทึม เปลี่ยนความงงเป็นโอกาส ฝึกคิดให้เป็นระบบ 1-2-3-4

    เรื่อง

  • Voice of New Gen
    ยิ่งเปรี้ยว ยิ่งเสีย ชะลออายุปลาส้มด้วย ‘ศิริส้ม’ ของเด็กมัธยมปลาย

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Creative learningCharacter building
    THE EXERCISE OF ELDERS: เครื่องบริหารกล้ามเนื้อผู้สูงวัยที่เกิดจากความเห็นอกเห็นใจของหลานๆ

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์ ภาพ The Potential

  • Voice of New Gen
    INSHELTER ราวตากผ้าอัจฉริยะ นวัตกรรมที่เกิดจากความขี้เกียจ

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

มีชัยพัฒนา: โรงเรียนนี้นักเรียนเป็นใหญ่
Creative learning
28 August 2019

มีชัยพัฒนา: โรงเรียนนี้นักเรียนเป็นใหญ่

เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัย

  • โรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ยึดหลักนักเรียนเป็นใหญ่ นักเรียนต้องไม่เป็นแค่นักเรียน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะบริหารงานต่างๆ ของโรงเรียน รวมถึงเป็นคนสอบสัมภาษณ์น้องใหม่และคัดเลือกครูที่อยากเข้าสอน
  • โรงเรียนมีชัยพัฒนามุ่งเน้นสร้างให้นักเรียนเป็นนักพัฒนาชุมชนที่สามารถบริหารธุรกิจในชุมชนของตัวเองโดยไม่ต้องไปทำงานในเมือง และใช้การทำธุรกิจเกษตรบนฐานคิดของผู้ประกอบการสังคม (SE) เป็นเครื่องมือ
  • บทความชิ้นนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นวิธีกระตุ้นให้นักเรียนมีนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเกิดทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ หัวใจหลักคือ ‘นักเรียนต้องได้ทำจริง’ – ทำธุรกิจจริง ลงสนามบริหารโรงเรียนจริง
  • “การได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนแห่งนี้เหมือนเป็นการสะสมทักษะ การเรียนที่นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เจออะไรก่อน ได้รู้อะไรก่อน ทำให้หนูมีมิติในความคิดมากขึ้น เราพร้อมที่ออกไปเจออะไรก่อนเพื่อนคนอื่น แทนที่จะรอ เราสะสมประสบการณ์ เราพร้อมเริ่มต้นได้แบบไม่ต้องรอเวลา”

หลายคนมักพูดว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง ถ้านับเวลาแบบเร็วๆ เริ่มต้นตั้งแต่อนุบาล ผ่านช่วงประถม มัธยม เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เราใช้เวลาไปกับการเรียนหนังสือประมาณ 20 ปี จำนวนตัวเลขที่มากเช่นนี้ สร้างประสบการณ์ต่างๆ รวมกันจนกลายเป็นบุคลิก นิสัย และความคิดอ่านบางอย่างติดตัวมา

ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมของสถานศึกษา จากบทเรียน ตัวละครต่างๆ เรื่องราวและความสัมพันธ์ ทั้งหมดทั้งมวลค่อยๆ หล่อหลอมและสร้างตัวตนของเราให้ชัดเจนขึ้น 

ฉะนั้นประโยคสุดคลาสสิก ‘โรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง’ อาจไม่สำคัญเท่าคำถามที่ว่า “แล้วบ้านหลังนั้นจะสร้างเราให้เป็นแบบไหน”

แน่นอนว่า ‘บ้านแต่ละหลัง’ มีจุดดีจุดเด่นแตกต่างกัน สำคัญกว่าคือ ‘ความต่าง’ นั้นตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้เรียนได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อโลกการศึกษาปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุค disruption โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความรู้อายุสั้นลง เกิดอาชีพใหม่ๆ รวมถึงทักษะใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในเมื่อโลกไม่เหมือนเก่า จากโทรศัพท์ตั้งโต๊ะกลายเป็นโทรศัพท์มือถือ

“โรงเรียนจึงไม่ได้มีหน้าที่แค่ให้องค์ความรู้กับเด็กนักเรียนเพียงคนเดียวอีกต่อไป แต่จะต้องขยายขอบของตัวเองให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครู หรือชุมชนด้วย” ประโยคสำคัญของ ดร.มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้ง และกลายมาเป็นเป้าหมายหลักของโรงเรียนมีชัยพัฒนา

ดร.มีชัย วีระไวทยะ

โรงเรียนมีชัยพัฒนา ตั้งอยู่ในอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อตั้งเมื่อปี 2546 โดยรูปแบบเป็นโรงเรียนประจำ เปิดสอนระดับมัธยมตั้งแต่ ม.1-6 ปัจจุบันมีนักเรียนราว 180 คน

นอกจากเป้าหมายที่ชัดเจน หัวใจหลักของโรงเรียนมีชัยพัฒนาคือการกระตุ้นให้นักเรียนมีนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเกิดทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ

“โรงเรียนต้องทำตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางพัฒนาชุมชน โรงเรียนไม่ควรแยกส่วนกับชุมชน โรงเรียนต้องเป็นประตูไปสู่ความเจริญของหมู่บ้าน” ดร.มีชัย ย้ำ

ทักษะเกิดจากการลงมือทำ

‘ทักษะอาชีพ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการแก้ปัญหา’ ส่วนหนึ่งใน soft skills ที่จำเป็น เมื่อการศึกษาเดินเข้าหาศตวรรษที่ 21 นอกจากวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรตามที่กระทรวงศึกษากำหนดอย่าง คณิตศาสต์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ฯลฯ อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา คือ การให้เด็กเรียนรู้การบริหารโรงเรียนด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสามารถและช่วยเด็กสะสมประสบการณ์ชีวิต

นุ่น-จิตตินี คำมินทร์ นักเรียน ม.7 ชั้น Pre-degree* อดีตคณะมนตรีของโรงเรียน เล่าว่า

นุ่น-จิตตินี คำมินทร์

“หนูเคยทำงานเป็นคณะมนตรี ได้ช่วยครูในการบริหารงาน เช่น การจัดซื้อของ การตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ซื้อมา หนูไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าในเดือนหนึ่งโรงเรียนใช้เงินเท่าไร ซื้ออะไรเข้ามาบ้าง แต่ที่นี่นักเรียนทุกคนมีสิทธิที่จะถาม มีสิทธิจะรู้ ว่างบประมาณก้อนนี้ใช้ไปกับอะไร ค่าน้ำค่าไฟเท่าไร เป็นความรู้ด้านบริหารจัดการภายในที่ไม่คิดว่าเด็กจะได้ทำ”

การจัดตั้ง ‘คณะมนตรี’ นักเรียนจะถูกแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ เช่น ‘คณะจัดซื้อ’ จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าแต่ละเดือนโรงเรียนจะต้องซื้ออะไรบ้าง ซื้อในจำนวนเท่าไร ‘คณะตรวจรับ’ จะทำหน้าที่ตรวจสอบคณะจัดซื้ออีกที ดูว่าสินค้ามีคุณภาพตามต้องการหรือไม่

ข้อดีของโลกจำลองการบริหารใบนี้ ทำให้นักเรียนรู้จังหวะความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโรงเรียน เช่น เดือนนี้ค่าน้ำค่าไฟพุ่งสูง, เบิกใช้กระดาษชำระไปจำนวนมาก, นำไปสู่การทำงานคณะมนตรีในฐานะผู้นำที่ต้องวางแผนนโยบายให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนช่วยกันประหยัด

ทั้งหมดทั้งมวลเด็กๆ จะได้ให้ทดลองทำงานบริหารจริง ไม่ต่างจากนักการเมืองในสภา ผ่านการทำงานร่วมกับครูและเพื่อน ได้ใช้ทักษะประสานงานและสื่อสาร พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมและเพิ่มภาวะผู้นำ

นอกจากนี้คณะมนตรียังมีอำนาจในการคัดเลือกครูผู้สอนที่สมัครเข้ามาด้วย การคัดเลือกครูทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน เพราะนักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้สอบสัมภาษณ์ และพิจารณาผ่านการทดลองสอนหน้าชั้นเรียนของครู รวมถึงร่วมสอบสัมภาษณ์นักเรียน ม.1 อีกด้วย

เกษตรเป็นจุดเริ่มต้นสร้างทักษะง่ายที่สุด

นักเรียนต้องไม่เป็นแค่นักเรียน แต่ควรเรียนที่จะเป็นนักธุรกิจ นักกิจการเพื่อสังคม นักพัฒนาชนบท ที่สามารถบริหารธุรกิจอยู่ในชุมชนของตัวเองได้โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ภารหลักกิจหลักของโรงเรียนมีชัยพัฒนาคือการรวมโรงเรียนและชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างชุมชนและโรงเรียนจะต้องเกิดการแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ นำไปสู่หลักสูตรที่ว่าด้วย Social Entrepreneur (SE) หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม

“นักเรียนต้องเรียนรู้ธุรกิจตั้งแต่มัธยม” คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้เกิดความพยายามผลักหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม (SE) ให้เข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการสอน ผ่านการทำอาชีพต่างๆ โดยเริ่มต้นที่การเกษตร

“เพราะการเกษตรเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่าย ใกล้ตัว และเห็นผลจริง ที่สำคัญการทำการเกษตรให้เป็นธุรกิจ ยังสามารถขยายผลไปให้สู่ชุมชนได้อีกด้วย”​ ดร.มีชัย อธิบายว่าทำไมต้องเป็นการเกษตร

บริเวณด้านหลังของโรงเรียนจึงเขียวไปหมดด้วยพื้นที่ของแปลงผักในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ (ผักไร้ดิน) ผักสวนครัว รวมถึงผลไม้อย่างเมล่อน ที่นี่เด็กๆ ตั้งแต่ระดับชั้น ม.1 จะได้เรียนรู้การผสมดิน อัดเห็ด เพาะเห็ดในโรงเพาะ ปลูกผักบุ้ง หรือผักชนิดอื่นๆ ทดลองตั้งแต่ต้นกระบวนการ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและเก็บเกี่ยวผลผลิต จากนั้นนักเรียนจะนำผลผลิตที่ได้ส่งต่อไปให้โรงครัวเพื่อนำมาประกอบอาหาร หรือส่งออกขายสู่ตลาด สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ

นอกจากการต่อยอดด้านธุรกิจเกษตรแล้ว บทบาทของเนื้อหาด้าน ผู้ประกอบการสังคม (SE) ยังถูกยกระดับขึ้นไปอยู่ในหลักสูตรขั้นเตรียมมหาวิทยาลัย (Pre-degree) อีกด้วย

“โรงเรียนเปิดโอกาสให้เราทำอะไรได้มากขึ้น ให้เราได้ค้นพบตัวเองว่าเราเหมาะกับอะไร และควรไปอยู่ตรงจุดไหน” นุ่นบอก

“การได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้เหมือนเป็นการสะสมทักษะ การเรียนที่นี่ทำให้รู้สึกว่าเราได้เจออะไรก่อน ได้รู้อะไรก่อน ทำให้หนูมีมิติในความคิดมากขึ้น เราพร้อมที่ออกไปเจออะไรก่อนเพื่อนคนอื่น แทนที่จะรอ เราสะสมประสบการณ์ เราพร้อมเริ่มต้นได้แบบไม่ต้องรอเวลา”

ปัจจุบันนุ่นกับเพื่อนๆ รวมตัวกันทดลองทำธุรกิจด้านเกษตรตามนโยบายของโรงเรียน เป็น ‘ธุรกิจรับซื้ออาหาร’ ดำเนินงานโดยนักเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์

“เดิมทีโรงเรียนเคยซื้อกับพ่อค้าคนกลาง แต่หนูกับเพื่อนๆ จะเป็นตัวแทนออกไปซื้ออาหารหรือวัตถุดิบกับชาวบ้านในชุมชนเองโดยตรง ซึ่งจะได้ในราคาที่ถูกกว่า ผลลัพธ์คือโรงเรียนจะได้สินค้าที่สดใหม่ ในราคาที่ถูกลง และนักเรียนได้กำไรส่วนต่าง (ยิ้ม)”​ นุ่นอธิบาย

ความฝันของนุ่นคือการกลับไปทำธุรกิจในบ้านเกิด

“หนูเกิดที่จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ถ้าหนูมีที่ดินสักผืน จะแบ่งทำรีสอร์ท มีฟาร์มเกษตร มีแหล่งเรียนรู้ชุมชนอยู่ในตัว นั่นคือความฝันที่วางไว้ แต่ตอนนี้หนูเรียนอยู่ ก็อยากจะทำธุรกิจเล็กๆ กับโรงเรียนไปก่อน ตั้งใจเก็บเงินเพื่อวันหนึ่งจะได้ทำตามความฝันของตัวเอง และจะนำทักษะที่ได้เรียนจากโรงเรียนไปทำงาน” นุ่นย้ำ

Pre-degree คือ หลักสูตรนำร่องสู่หลักสูตรขั้นเตรียมมหาวิทยาลัย โรงเรียนมีชัยพัฒนาหลักสูตรโดยร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ ตั้งแต่ปี 2557 เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความตั้งใจจะกลับไปทำธุรกิจพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองหรือมีความฝันอยากทำธุรกิจในจังหวัดบ้านเกิด เด็กที่เรียนจะต้องเรียนเนื้อหาด้านปริญญาตรีควบคู่กับวิชาพื้นฐานไปด้วย เริ่มเรียนตั้งแต่ ม.4 โดยขยายระยะเวลา 2 ปี (นับจากจบ ม.6) จึงจะสามารถสำเร็จในหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม ศิลปศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Arts Program in Social Entrepreneur)

Tags:

โรงเรียนคาแรกเตอร์(character building)เทคนิคการสอน21st Century skillsผู้ประกอบการ(entrepreneurship)มีชัย วีระไวทยะ

Author:

illustrator

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

หลงใหลถุงผ้ากับกระบอกน้ำ เริ่มต้นอาชีพด้วยการฝึกปรือและอยู่กับผู้คนในประเด็นการศึกษา สนุกจะคุยกับเด็ก ชอบฟังเรื่องเล่าในห้องเรียน ที่สนใจการเรียนรู้ก็เพราะเชื่อว่านี่เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer:

illustrator

สิทธิกร ขุนนราศัย

Related Posts

  • Creative learning
    มีชัย วีระไวทยะ: “เราสร้างการเรียนที่ไม่รู้มามากพอแล้ว”

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัย

  • Creative learning
    โรงเรียนไม้ไผ่ มีชัยพัฒนา ทุกคาบคือทักษะชีวิต

    เรื่อง The Potential

  • Character building
    ENTREPRENEURSHIP: ไม่ใช่พ่อรวยสอนลูก แต่คือหลักสูตรผู้ประกอบการที่สอนให้ทำได้ ทำเป็น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Creative learningCharacter building
    ‘แผนที่ความสุขแห่งบ้านไทลื้อ’ รื้อฟื้นและวาดใหม่ด้วยเด็กๆ ในชุมชน

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Creative learning
    โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง เปลี่ยนเด็กด้วยลานกว้างและดนตรี

    เรื่อง The Potential

การศึกษาไม่ได้ล้มเหลวแค่ล้าหลัง: PASSION และ PURPOSE หัวใจสำคัญของการศึกษาใน INNOVATION ERA
Education trend
27 August 2019

การศึกษาไม่ได้ล้มเหลวแค่ล้าหลัง: PASSION และ PURPOSE หัวใจสำคัญของการศึกษาใน INNOVATION ERA

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • “ลองคิดว่าคุณเรียนหนังสือในระบบปัจจุบันเพื่อ ‘ขี่จักรยาน’ ให้เป็นสิ” ประโยคนี้อธิบายปัญหาการศึกษาได้อย่างเห็นภาพ
  • กว่าจะขี่จักรยานได้ เราต้องเรียนทั้งประวัติศาสตร์ ชิ้นส่วน กลไกการทำงาน เพียงเพื่อจบออกมาแล้วพบว่าเรายังขี่จักรยานไม่เป็น
  • อย่าเพิ่งคิดไปไกลว่าระบบการศึกษาล้มเหลว แต่แค่ล้าหลัง เพียงเคาะสนิมและเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องสร้างให้นักเรียน คือ passion และ purpose

เรียกว่าช้าไปเสียหน่อยที่มาพูดถึง ‘Most Likely to Succeed’ ภาพยนตร์สารคดีและหนังสือในชื่อเดียวกัน โดยเจ้าพ่อนักการศึกษาอย่าง โทนี วากเนอร์ (Tony Wagner) และ เท็ด ดินเทอร์สมิธ (Ted Dintersmith) นักธุรกิจตัวฉกาจในวงการนวัตกรรม-ผู้หันมาสนใจประเด็นการศึกษาในวัยใกล้เกษียณ เพราะมีลูกสองคนที่อยู่ในวัยเรียน คล้ายผู้ปกครองทั่วไปที่มีปัญหากับการประเมินเด็กๆ โดยวัดที่ ‘ความฉลาด’ ตามเกณฑ์ข้อสอบ

ที่ต้องบอกว่าช้าไป เพราะ Most Likely to Succeed* เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ 2015 ได้รับความสนใจล้นหลามทั้งจากนักการศึกษา นักกำหนดนโยบาย ผู้ปกครอง ครู และคนทั่วไปที่ป่วยไข้จากระบบการศึกษาที่วัดและหล่อหลอมคนแค่เพื่อให้ได้ใบรับรองทางการศึกษา แต่เผาทิ้งจิตวิญญาณและความหลากหลายในตัวคน ถึงทุกวันนี้ ภาพยนตร์ชิ้นนี้ยังถูกเช่า ซื้อ ดาวน์โหลดอย่างต่อเนื่องและจากทั่วทุกมุมโลก ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงพื้นฐานสำหรับคนในวงการศึกษาและผู้กำหนดนโยบาย

ที่ต้องบอกว่าช้าไป-กล่าวย้ำ เพราะทั้งภาพยนตร์และตัวหนังสือเอง เขียนไว้ชัดเจนว่าเพื่อ ‘Preparing our Kids for the Innovation Era’ – เพื่อเตรียมพร้อมลูกหลานของเราเข้าสู่ยุคแห่งนวัตกรรม ทั้งที่เราก้าวสู่ยุค disruption กันไปนานแล้ว ความเปลี่ยนแปลงเรื่องอาชีพและข้อเรียกร้องถึงคุณสมบัติในการทำงานใหม่ๆ เกิดขึ้นไปแล้วเช่นกัน

สำหรับผู้ที่สนใจอยากรู้ว่าทักษะของคนใน ‘innovation era’ เป็นอย่างไร และ จะสร้างทักษะนั้นได้อย่างไร วากเนอร์ เขียนสรุปไว้ในหนังสืออีกเล่มคือ ‘Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก’ (อ่านได้ที่นี่) แต่สำหรับ ‘Most Likely to Succeed’ เรียก (ส่วนตัว) ว่าเป็นปฐมบทของ Creating Innovators มากกว่า เพราะขยายความและตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์การศึกษาของอเมริกา แต่รับและส่งออกวิธีการเรียนและหนึ่งในผู้ผลิตองค์ความรู้ไปทั่วโลก ที่แม้จะเคยดีและเหมาะสมในยุคสมัยหนึ่ง แต่…

หนึ่ง-ต้องยอมรับว่าวิธีการศึกษาแบบที่คิดขึ้นอย่างเป็นระบบในศตวรรษที่ 18 มันล้าสมัยไปแล้ว (ทั้งคู่ใช้คำว่า obsolete) สอง-ความกดดันและความเครียดทางสังคมที่ผลักให้เส้นชัยของการศึกษาเป็นไปเพียงเพื่อได้ใบประกอบ (credential) เกิดผลกระทบอะไรตามมา สาม-ระบบการศึกษาที่เคยใช้เป็นเครื่องยกสถานะทางสังคม (อดทนยากลำบากกับการเรียนวันนี้ สบายในวันหน้า) ทุกวันนี้ไม่เป็นความจริง มีคนเป็นหนี้เพื่อการศึกษาอยู่ทั่วโลกและในจำนวนที่มากขึ้น กลับกัน ระบบการศึกษาที่ผิดพลาดในแง่ลดความหลากหลายและทำลายความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำถ่างกว้าง

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Most Likely to Succeed (2015)

นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ ได้จากการศึกษาข้อมูลแบบลงลึกและเจาะสัมภาษณ์ผู้คนหลายร้อย ทั้งบุคคลธรรมดา นักการศึกษา และคนในแวดวงธุรกิจ แม้ตั้งต้นจากความสนใจและความกังวลส่วนตัวในฐานะที่ทั้งคู่ทำงานในแวดวงนวัตกรรมที่ ‘มันเปลี่ยนล่วงหน้าไปก่อนแล้ว’ แต่จุดประสงค์ก็เพื่อชวนกันทบทวน คิดกันใหม่ว่า การศึกษาในยุคนวัตกรรม ยุคที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘ศตวรรษที่ 21’ จุดมุ่งหมายของมันคืออะไร? พร้อมสำหรับโลกใบใหม่ (ที่มาแล้ว) อย่างโลกแห่งนวัตกรรมหรือเปล่า?

เป้าหมายการศึกษาแต่ละสมัย

1893 model21st century model
ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการของผู้เรียนค้นหาความหลงใหลและเป้าหมายของผู้เรียน
เน้นการสอนที่ครอบคลุมเนื้อหา พัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์
การคัดเลือกและคัดออกสร้างแรงบันดาลใจ

ลองคิดว่าคุณเรียนหนังสือเพื่อ ‘ขี่จักรยาน’ สิ

อันที่จริง ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัญหาการศึกษาคืออะไร แต่เพื่ออธิบายให้เห็นภาพ ผู้เขียนอธิบายเปรียบเทียบไว้ในหนังสือว่า “ลองคิดว่าคุณเรียนหนังสือในระบบปัจจุบันเพื่อ ‘ขี่จักรยาน’ ให้เป็นสิ’ ”

ในระบบการศึกษาปัจจุบัน คุณต้องพิสูจน์ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขี่จักรยานเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร แต่กว่าจะถึงขั้นนั้น ในระดับอนุบาลและประถม คุณต้องท่ององค์ประกอบทุกชิ้นของจักรยานเพื่อนำไปสอบ โซ่ควรยาวเท่าไร น็อตมีกี่ตัว เบาะควรสูงระดับไหน แฮนด์ควรโค้งเว้าเท่าไร การจะขึ้นขี่ต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง ต้องนั่งในท่าไหน ต้องใช้ร่างกายอย่างไร ซึ่ง… ทั้งหมดนี้เป็นคนละเรื่องกับการปฏิบัติจริง – อย่าลืมว่าคุณต้องอ้างอิงกับระบบการศึกษาในปัจจุบัน เราได้ปฏิบัติกันจริงเสียที่ไหน?!

ในระดับที่สูงขึ้น เราอาจต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์จักรยาน คุณต้องท่องที่มาว่าจักรยานคันแรกเกิดขึ้นเมื่อไร พ.ศ. อะไร การเปลี่ยนแปลงที่ว่าสำคัญอย่างไร และนำมาสู่จักรยานรูปแบบไหนบ้าง การเปลี่ยนแปลงของโลกส่งผลต่อจักรยานอย่างไร – คิดในแง่นี้ก็สนุกดีนะคะ แต่ทั้งหมดนี้คุณจะต้องรู้รายละเอียดเพื่อการสอบนะ ไม่นับว่าการศึกษาแบบพุ่งเป้าไปที่การได้ใบประกาศนียบัตรรับรอง ทำให้วัยรุ่นหลายล้านต้องคร่ำเคร่งเพื่อการสอบให้ได้ดีและเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้ มากน้อยแค่ไหน

ไฮไลต์ที่วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ ขีดเส้นไว้ก็คือ ยังไม่ทันได้ขึ้นขี่คุณก็ระอากับจักรยานไปเสียแล้ว ทั้งที่มันควรจะสนุกและเป็นทักษะพื้นฐานที่เกิดได้อย่างเป็นธรรมชาติ กลับกลายเป็นเสี้ยนหนามที่ทำให้หลายคนเข็ดขยาดและปฏิเสธมัน ในความเป็นจริงยังมีการสอบที่เข้มงวด การต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษอย่างหนักหน่วงเพียงเพื่อให้คุณขี่จักรยานให้เป็น

หลายคนต้องเป็นหนี้สินจากการศึกษา เพียงเพื่อออกจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้วพบว่า ทักษะการขี่จักรยานที่เรียนอย่างเข้มงวดในรั้วโรงเรียน ไม่ได้ถูกนำมาใช้เลยในการทำงานจริง พร้อมกันนั้น พวกเขายังไม่มี passion และจุดมุ่งหมายในชีวิต

ในการทำงานจริง องค์กรปัจจุบันต้องการทักษะการทรงตัว ความยืดหยุ่น ทักษะการแก้ปัญหาในสถานการณ์เฉพาะหน้า การแบกรับความเครียด และอื่นๆ – ที่เอาแค่ทักษะพื้นฐานจากการขี่จักรยานจริงๆ มอบให้ กลับไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่องค์กรต้องการในทุกวันนี้ อย่างที่พูดกันในเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 ความรู้พื้นฐาน (Foundational Literacies) กลุ่มทักษะที่ต้องนำมาใช้ใน ‘การจัดการกับปัญหา’ (Competencies) และ ทักษะความสามารถภายใน หรือ คาแรคเตอร์ (Character Qualities)

ข้อเสนอใน Most Likely to Succeed

พูดให้ถึงที่สุด มันคือข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ใช่แค่ระดับโครงการ แต่ลึกลงไปในวิธีคิดเรื่องออกแบบการเรียนรู้ ในหนังสือเสนอไว้หลากหลาย แต่ในที่นี้ขอสรุปคร่าวๆ ตามความเข้าใจของผู้เขียน (และที่โดนใจผู้เขียน) ใจกลางข้อเสนอของทั้งคู่ก็คือ การช่วยนักเรียนค้นหา passion หรือความหลงใหลในสิ่งที่สนใจ และช่วยค้น purpose หรือ จุดมุ่งหมายการเรียนของผู้เรียนแต่ละคนให้ลุกโชน ภายใต้ทักษะองค์ความรู้พื้นฐานอย่าง การอ่านออกเขียนได้ ทักษะภาษา ปรัชญา และทักษะในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ต้องเป็นไปในทิศทางใด

โรงเรียนต้อง:

  • สอนกระบวนการคิดและทักษะสังคม
  • สร้างกระบวนการให้เด็กค้นหาความชอบของตัวเอง พบ passion พบ drive หรือทำให้เขาพบเจอสิ่งที่เรียกว่า sense of purpose คือเข้าใจว่าเรียนไปเพื่ออะไร มีหมุดหมายในอนาคตชัดเจน
  • ต่อเรื่องคาแรคเตอร์ สิ่งที่ควรสร้างคือทักษะความรับผิดชอบ ผู้ให้ทางสังคม และทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (learning how to learn)
  • สร้างแรงบันดาลใจผ่านงานสร้างสรรค์ที่หลากหลายของผู้คนในชีวิตจริง
  • ต่อเรื่องทักษะความรู้พื้นฐาน โรงเรียนต้องพัฒนาทักษะการเขียน การพูดในที่สาธารณะ การบริหารจัดการงานในทีมหรืองานในแต่ละโปรเจ็คท์ และทักษะทางคณิตศาสตร์

ซึ่งในบุลเล็ตสุดท้าย ทักษะความรู้พื้นฐาน ทั้งคู่เขียนแยกเป็นบทอย่างชัดเจนในหนังสือเลยว่าการเรียนวิชาพื้นฐานอย่าง ฟัง พูด อ่าน เขียน และวิชาคณิตศาสตร์ จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบ อธิบายอย่างสั้นคือ ที่ผ่านมาวิชาภาษาอังกฤษ (ในบ้านเราคือวิชาภาษาไทย) สิ่งที่เกิดในห้องเรียนคือการสอนให้เขียนตามแพทเทิร์นอย่างเคร่งครัดแต่ไม่ได้พูดคุยเรื่องประเด็นในการสื่อสาร เช่นเดียวกับการสอนเรื่องการพูด ทั้งที่ควรสร้างทักษะการสื่อสารอย่าง การพรีเซนต์งาน การพูดในที่สาธารณะ การสื่อสารเพื่อหาข้อตกลงร่วมโดยสันติ (ไม่ทะเลาะกันตายก่อนจบงาน) รวมทั้งทักษะคณิตศาสตร์ในแง่ ‘ตรรกะความคิด’ ไม่ใช่การคิดเลขเร็ว ซึ่งทักษะนี้อาจใช้เป็นกระบวนการฝึกสมองสำหรับผู้ที่สนใจเฉพาะทางมากกว่า

ตัวอย่างความรู้ความสามารถด้านภาษาที่เปลี่ยน เปรียบเทียบระหว่างศตวรรษที่ 20 และ 21

โมเดลการเรียนวิชาภาษาที่สองให้ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 20โมเดลการเรียนวิชาภาษาที่สองให้ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21
รู้จักคำศัพท์ การออกเสียงที่ถูก และการใช้ tensesความสามารถด้านการพูด
ความสามารถในการอ่านและเขียนรู้จักและเข้าใจภาษาในแง่วัฒนธรรม รู้ว่าจะใช้มันอย่างไร
รู้จักองค์ประกอบของภาษามีความสามารถถ่ายทอดความเข้าใจหรือองค์ความรู้ข้ามกำแพงภาษา
ความสำคัญของการรู้ภาษาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณความสำคัญของการรู้ภาษาก็เพื่อการทำงานในเชิงเทคโนโลยี

แม้จะบอกว่าอ่านเล่มนี้ช้าไปนิด แต่การวิพากษ์ระบบการศึกษาไม่เคยเป็นเรื่องเก่า – เพราะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ – แต่ก็พูดไม่ได้อีกเช่นกันว่า ‘ครูไทย’ ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะอย่างที่ The Potential นำเสนอตลอดมา เราเห็นครูรุ่นใหม่ และ รุ่นเก๋าที่ไฟแรง เริ่มเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนตลอดมา แต่หนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้ยืนยันและลงรายละเอียดว่า…

ไม่ใช่ระบบการศึกษาล้มเหลว แต่แค่ล้าหลัง เพียงเคาะสนิมและเข้าใจว่าสิ่งที่ต้องสร้างคือ passion และ purpose ของนักเรียน สิ่งที่ตามมาก็คือ ระบบ หรือ โครงสร้าง อะไรบ้าง ที่จะมาช่วยสนับสนุนให้เด็กๆ ค้นเจอความต้องการภายในได้

สำหรับใครที่ยังไม่ได้เห็นหนังสือหนังสือและภาพยนตร์ ‘Most Likely to Succeed’ รวมถึงผลงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดย เข้าไปแวะชมและเลือกซื้อหาหรือเช่าได้ที่ https://teddintersmith.com

Tags:

ครูระบบการศึกษาคาแรกเตอร์(character building)Disruption21st Century skillsความเหลื่อมล้ำ

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Related Posts

  • Character building
    ฝันให้ ‘โรงเรียน’ เปลี่ยนจากโรงงานปลากระป๋อง สู่โรงสอนคิดและสร้างคาแรคเตอร์

    เรื่อง The Potential ภาพ PHAR

  • Social Issues
    ล้าหลัง เชื่องช้า แต่อย่าเฉยชา ความหวังที่ยังไม่หมดของระบบการศึกษา

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Character building
    ENTREPRENEURSHIP: ไม่ใช่พ่อรวยสอนลูก แต่คือหลักสูตรผู้ประกอบการที่สอนให้ทำได้ ทำเป็น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • 21st Century skills
    FIVE MINDS FOR THE FUTURE: ปลูกฝังจิต 5 แบบ เพื่อโลกศตวรรษที่ 21

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • 21st Century skills
    10 ทักษะมนุษย์ต้องมี และ AI ก็ทำไม่ได้ในปี 2020

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

ย่อยของยาก ซอยเป้าหมายให้ง่าย ครูช่วยได้ด้วย SCAFFOLDING
Learning Theory
26 August 2019

ย่อยของยาก ซอยเป้าหมายให้ง่าย ครูช่วยได้ด้วย SCAFFOLDING

เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

Scaffolding คือวิธีการเรียนรู้ที่ครูเปรียบเหมือน ‘นั่งร้าน’ ที่เป็น ‘ตัวช่วย’ ให้เด็กๆ ก่อร่างสร้างตึกของตัวเองระหว่างที่โครงสร้างตึกยังไม่ถูกวาง หรือ ในวันที่เขายังไม่รู้ว่าจะเรียนยังไง ไปถึงความรู้นั้นอย่างไร

ไอเดียของ Scaffolding คือการตัดย่อยเนื้อหาในภาพรวมดึงออกให้เป็นก้อนเล็กๆ นั่งร้านจึงมีหน้าที่จัดวางตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่าง ‘การเรียนรู้ที่ง่าย’ กับ ‘การเรียนรู้ที่ยาก’ เพราะพื้นที่กลางๆ แบบนี้ จะยิ่งช่วยผลักดันให้ผู้เรียนพัฒนาหรือขับเคลื่อนตัวเองไปสู่จุดหมายได้

ครู ในฐานะผู้เป็นนั่งร้าน ต้องช่วยลดความกังวล บรรเทาความท้อแท้ หรือความรู้สึกด้านลบขณะเด็กๆ ต้องเผชิญหน้ากับการเรียนรู้ที่พวกเขารู้สึกยากลำบาก มองให้ทะลุว่าเด็กๆ ต้องการตัวช่วยอะไรเพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย

Tags:

ครูเทคนิคการสอนScaffolding

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

KHAE

นักวาดลายเส้นนิสัยดี(ย้ำว่าลายเส้น)ผู้ชอบปลูกต้นไม้และหลงไหลไก่ทอดเกาหลี

Related Posts

  • Learning Theory
    Achievement mindset: เสริมสร้างทักษะ Grit ให้อยู่กับนักเรียน

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    SCAFFOLDING: ครูผู้เป็น ‘นั่งร้าน’ ช่วยเด็กๆ สร้างตึกของตัวเองให้แข็งแรง

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ บัว คำดี

  • Growth & Fixed Mindset
    ครูไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ก็สอน GROWTH MINDSET เด็กๆ ได้

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • 21st Century skills
    สังคมดี เพราะเด็กรู้คิดและคิดดี มีคุณครูเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Education trend
    สอบแบบไหนให้ได้ดี VS สอบแบบไหนยังไงก็ไม่ดี

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

3 ขั้นตอนเช็คลูก ก่อนไปหาจิตแพทย์/นักจิตวิทยา
Family Psychology
23 August 2019

3 ขั้นตอนเช็คลูก ก่อนไปหาจิตแพทย์/นักจิตวิทยา

เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

การไปหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ‘เม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ถ้าแม่(และพ่อ)ไม่ไหว หาตัวช่วยได้” แต่ถ้าบ้านไหนยังก้ำๆ กึ่งๆ คิดไม่ตกว่าจะไปหาหรือไม่ดี มี 3 วิธีที่คุณเม แนะนำให้คนในครอบครัวเช็คให้ชัวร์ก่อนมาหา 1.หาสาเหตุว่าทำไมลูกถึงไม่ฟังเรา เพราะเรา(พ่อแม่) คาดหวังเกินวัยไปหรือเปล่า 2.เช็คความสัมพันธ์ของเรากับลูกว่าช่วงนี้เป็นอย่างไร มีช่วงเวลาที่ดีมากพอไหม ถ้าไม่ ให้รีบสร้าง เพราะถ้าเด็กรู้สึกรักหรือรู้สึกดีกับใคร เขาจะฟัง 3.เช็คอาการทางกายว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ เพราะเด็กที่พัฒนาการล่าช้ามักประสบปัญหาในชีวิตประจำวัน “ถ้าเช็คสามข้อนี้แล้วยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ พามาปรึกษานักจิตวิทยา/จิตแพทย์ได้ แต่ส่วนใหญ่ถ้าแก้แค่ข้อแรกกับข้อสองได้ ก็โอเคแล้ว”

อ่านบทความ เมริษา ยอดมณฑป: ‘นักจิตวิทยา’ เพื่อนแปลกหน้า ผู้เคียงข้างและรับฟัง ฉบับเต็มได้ ที่นี่

Tags:

จิตวิทยาพ่อแม่ปฐมวัย

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

บัว คำดี

เติบโตมากับเพลงป็อปแดนซ์ยุค 2000 เริ่มเป็นติ่งวงการ k-pop ในวัยมัธยม มีเพลงการ์ตูนดิสนีย์เป็นพลังใจในทุกช่วงวัยของชีวิต

Related Posts

  • Family Psychology
    คุยกับนักศิลปะบำบัดเรื่องซึมเศร้าในเด็ก กับข้อสังเกต ทำไมเด็กพูดเสียงดังและไม่มีใครฟังใคร?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • Family Psychology
    ฟังลูกบ้าง อย่าเพิ่งแปลงร่างเป็นหมาป่า

    เรื่อง ภาพ BONALISA SMILE

  • Family PsychologyLearning Theory
    4 SENSES เข้าใจวัยรุ่น : อะไรทำให้เขาอยากใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Early childhoodLearning Theory
    EP.1: THE TWELVE SENSES ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่ระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่างบัว คำดี

  • Family Psychology
    ถ้าไม่เวิร์ค เลิกก็ได้นะลูก – ประโยคที่เด็กอยากได้ยินมากที่สุด

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

5 ขั้นตอนตั้งเป้าหมายไม่ให้พลาด: เริ่มจากเขียนลงกระดาษและค่อยๆ ทำให้เป็นจริง
Grit
23 August 2019

5 ขั้นตอนตั้งเป้าหมายไม่ให้พลาด: เริ่มจากเขียนลงกระดาษและค่อยๆ ทำให้เป็นจริง

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ antizeptic

  • ตั้งเป้าหมายทีไรไม่เคยไปถึงสักที มีอะไรมาขัดขวางบ้าง หนึ่งในนั้นคือ การเอาแต่คิดถึงเป้าหมายในภาพกว้างและความสำเร็จในระยะยาว โดยมองข้ามการตั้งเป้าจากการทำเรื่องเล็กๆ ทีละขั้นตอนที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น
  • บทความชิ้นนี้เผย สูตรการเปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ คือ การเขียนเป้าหมาย ประกาศเป้าหมายให้ผู้อื่นรับรู้ และการลงมือทำอย่างมุ่งมั่น
  • และทุกเป้าหมายควรเริ่มต้นจากการเขียนลงบนกระดาษ เก็บกระดาษนั้นติดตัวเอาไว้ แล้วหมั่นหยิบขึ้นมาอ่านทบทวน

ผ่านมาเกินครึ่งปีแล้ว อะไรเป็นเป้าหมายที่คุณอยากทำให้ได้ในปีนี้?

แล้วคุณมีแผนการที่จะทำให้มันเกิดขึ้นไหม?

บทความวิชาการโดยสถาบันเทคโนโลยีเมอร์ด็อค (Murdoch Institute of Technology: MIT) แห่งมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อค มหาวิทยาลัยเก่าแก่อันดับสองของเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวถึง 5 ขั้นตอน เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเรียน (ซึ่งสามารถนำมาใช้กับการทำงานและเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิตได้) ย้ำชัดว่า การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (strategic planning) และการตั้งเป้าหมาย (goal setting) สามารถสร้างผลลัพธ์ความสำเร็จที่แตกต่างได้อย่างมาก

วิธีคิดนี้อ้างอิงงานวิจัย ดอกเตอร์ เกล แมทธิวส์ (Gail Matthews) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโดมินิกันแห่งแคลิฟอร์เนีย (Dominican University of California)

แมทธิวส์ คัดเลือกผู้เข้าร่วมสำรวจทั้งหมด 267 คนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งในกลุ่มธุรกิจ องค์กร และเครือข่ายต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ ทั้งเบลเยียม อังกฤษ อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการ นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ศิลปิน ทนายความ พนักงานธนาคาร นักการตลาด ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ผู้จัดการ รองประธานบริษัท และพนักงานองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เป็นต้น

ผลศึกษาทำให้พบ 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้คนคนหนึ่งบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ ได้แก่
หนึ่ง การเขียนเป้าหมาย (writing goals)
สอง การกระทำที่มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย (committing to goal-directed actions)
และ สาม ความรับผิดชอบต่อการกระทำ/การทำงานเหล่านั้น (accountability for those actions)

จากกลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วม ผู้เข้าร่วมที่เขียนเป้าหมาย บอกเล่าเป้าหมายให้เพื่อนได้รับรู้ ลงมือทำตามแผน และส่งรายงานอัพเดทเพื่อรายงานความก้าวหน้าประจำสัปดาห์ให้กับเพื่อน มีอัตราความสำเร็จสูงกว่าผู้เข้าร่วมที่ไม่เขียนเป้าหมาย และเก็บเป้าหมายไว้เงียบๆ กับตัวโดยไม่บอกให้ใครรับรู้

ด้วยเหตุนี้ สูตรการเปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ของแมทธิวส์ คือ การเขียนเป้าหมาย การประกาศเป้าหมายให้ผู้อื่นรับรู้ และการลงมือทำอย่างมุ่งมั่น ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ

กระบวนการทั้งหมดจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนคนหนึ่งลงมือทำสิ่งที่ตั้งใจได้อย่างแน่วแน่ ไม่ไขว้เขว และไม่ยอมแพ้ระหว่างทาง

จากการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นทางการครั้งแรกเดือนพฤษภาคม ปี 2015 ในงานประชุมนานาชาติประจำปีครั้งที่ 9 โดยหน่วยงานวิจัยจิตวิทยาแห่งสถาบันเอเธนส์เพื่อการศึกษาและการวิจัย (Psychology Research Unit of Athens Institute for Education and Research: ATINER) ผลการศึกษาดังกล่าว ได้รับความสนใจและถูกตีแผ่ในสื่อหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น The International Business Times, Forbes, Huffington Post, The Lexington Dispatch, The Daily Herald และ The Albuquerque Journal

ต่อไปนี้เป็น 5 ขั้นตอนที่สถาบันเทคโนโลยีเมอร์ด็อค (MIT) ให้ไว้เป็นแนวทาง สามารถนำไปทดลองใช้กับการวางแผนการเรียนและการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเองได้

1. รู้ถึงความแตกต่างของเป้าหมายระยะยาว (long-term goals) และวัตถุประสงค์ระยะสั้น (short-term objectives)

เรามักนึกถึงเป้าหมายในภาพกว้างและความสำเร็จในระยะยาว โดยมองข้ามการตั้งเป้าจากการทำเรื่องเล็กๆ ทีละขั้นตอนที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น

วัตถุประสงค์ระยะสั้น คือ แผนการที่จะนำไปสู่เป้าหมายในระยะยาว ซึ่งถ้าเราไม่ทำเรื่องเล็กๆ ให้เกิดขึ้นทีละนิด ก็ไม่มีทางที่จะสร้างสรรค์ ทำให้เรื่องใหญ่ๆ หรือทำเป้าหมายให้เกิดขึ้นจริงได้

The Potential เคยพูดถึงเรื่องนี้ไปแล้วจากประสบการณ์ชีวิตของ สตีเฟน ดูนิเยร์

การวางแผนการเรียนหรือการทำงานก็ไม่ต่างกัน ตั้งต้นจากการถามคำถามกับตัวเองว่า

“อะไรที่เราจำเป็นต้องทำในทุกๆ วันหรือทุกสัปดาห์เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น?”

“ฉันอยากได้เกรดที่ดีขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ฉันจะต้องติดตามงานที่ได้รับมอบหมาย แล้วบริหารจัดสรรเวลาให้ดีขึ้นเพื่อทำงานเหล่านั้นออกมาให้ได้” จอร์ชลิน หว่อง (Joshlyn Wong) นักศึกษา MIT ชาวมาเลเซีย กล่าว

ขั้นตอนต่อไปสำหรับหว่อง คือ การตั้งเป้าระยะสั้นให้เฉพาะเจาะจงขึ้น เช่น การแบ่งเวลาเพิ่มวันละกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อลงมือทำงานที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

2. ถ้าไม่ใช่ SMART Goal นั่นก็อาจไม่ใช่เป้าหมายที่ใช่

เครื่องมือนี้เป็นเทคนิคการพิสูจน์ความล้มเหลวที่ใช้มากว่า 40 ปี แต่ยังคงมีประสิทธิภาพในการวัดผลที่เชื่อถือได้

S.M.A.R.T. ย่อมาจาก Specific, Measurable, Attainable, Relevant และ Timely

  • Specific อะไรเป็นเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่คุณอยากทำให้สำเร็จ และทำไม

ยิ่งเจาะจงได้มาก โอกาสที่จะทำให้เป็นจริงได้ก็ยิ่งมีมาก

ลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสองความคิดนี้

“ฉันอยากรวยเป็นเศรษฐี”

“ฉันต้องการมีรายได้อย่างน้อย 5 หมื่นบาทต่อเดือน ภายในเวลา 5 ปีต่อจากนี้ จากการสร้างผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์”

เมื่อเทียบแล้วความคิดแบบที่สองมีความชัดเจนและเห็นแนวทางการลงมือทำให้บรรลุเป้าหมายได้มากกว่า

ชุดคำถามสำหรับการวางเป้าหมายให้เฉพาะเจาะจง คือ

อะไรที่อยากทำให้สำเร็จ? ที่ไหน? อย่างไร? เมื่อไร? กับใคร?

อะไรเป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัด? ทำไมถึงอยากทำสิ่งนี้?

และ นอกจากแผนการหลักแล้วยังมีแผนสำรองอะไรอีกบ้างที่พอจะเป็นทางเลือกได้?

  • Measurable มีหลักเกณฑ์การประเมินหรือการวัดอย่างไรว่าคุณถึงเป้าหมายนั้นแล้ว

จะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าทำตามเป้าหมายนั้นได้สำเร็จ

อย่าลืมเรื่องการวางแผนลงมือทำงานเป็นแผนย่อย แล้วเก็บสะสมความสำเร็จระหว่างทาง เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้

ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายมีความสุขมากขึ้น เป้าหมายนี้ไม่สามารถจับต้องได้

จะพยายามไม่สูบบุหรี่ เพราะอยากรักษาสุขภาพ และเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หันมากินผักมากขึ้น 2 มื้อต่อวัน ทานไขมันให้น้อยลง

อย่างหลังเป็นหลักเกณฑ์หรือแบบแผนการวัดที่จับต้องได้ ยิ่งเมื่อทำได้ สมองของเราจะยอมรับให้เดินหน้าทำต่อไป เพราะฉะนั้นความสำเร็จในแต่ละขั้นก็อยู่ไม่ไกล

  • Attainable ความเป็นไปได้ในการทำสิ่งนั้นซึ่งคุณยอมรับได้ที่จะเสียเวลาและลงทุนกับมัน

ข้อนี้ไม่ได้ห้ามให้เราคิดทำการใหญ่ แต่นั่นต้องมาจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบแล้วว่า เรามีความสามารถ มีทรัพยากร มีเงินทุนหรือมีคนที่จะช่วยสนับสนุนในแต่ละขั้นตอน

  • Relevant สิ่งนั้นมันใช่สำหรับคุณจริงๆ ใช่ไหม

คำถามสำคัญ คือ ทำไมคุณถึงอยากทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ? และ คุณทำสิ่งนั้นเพื่ออะไร?

  • Timely กำหนดตารางเวลาเพื่อลงมือทำ

เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก!

การกำหนดเวลาจะทำให้เป้าหมายเดินหน้าต่อ จากเป้าหมายย่อยหนึ่งไปยังอีกเป้าหมายหนึ่ง เหมือนอย่างที่เรามักบอกว่า “งานจะเดินก็ต่อเมื่อไฟลนก้น!” ฟังดูเหมือนขาดความรับผิดชอบแต่นี่ก็เป็นเรื่องจริงในทางปฏิบัติ การกำหนดตารางเวลาจึงสำคัญ

กำหนดเวลาที่เป็นไปได้จริงและมีความยืดหยุ่นโดยไม่สร้างความเสียหาย เพราะอาจมีเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นได้เสมอ การเข้มงวดกับเวลามากเกินไปอาจจำกัดกรอบความคิดและสร้างความกดดัน จนทำให้ไม่สามารถคิดแก้ปัญหาหรือคิดสร้างสรรค์ได้อย่างที่ควรจะเป็น

ความยืดหยุ่นเรื่องเวลา แตกต่างจากการผัดวันประกันพรุ่ง เพราะอย่างหลังสะท้อนถึงความไม่รับผิดชอบและไม่มีวินัย แต่การเผื่อเวลาไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดคิด เป็นแผนสำรองอย่างหนึ่งและเป็นเรื่องของทักษะการบริหารจัดการเวลาที่ดี

“เป้าหมายของฉันคือคะแนนที่ดีขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ฉันจะต้องมั่นใจว่าฉันแบ่งเวลาสำหรับการทบทวนบทเรียนทุกสัปดาห์ และฉันจะไม่มาอดหลับอดนอนอ่านหนังสือแค่ตอนก่อนสอบอีก” มิเคลา วิลลาโม (Mikaela Villamo) นักศึกษา MIT ชาวฟิลิปปินส์ กล่าว

3. การตั้งเป้าหมายต้องคำนึงถึงสมดุลชีวิตระหว่างการเรียน การทำงานและสุขภาพด้วย

นักเรียนส่วนใหญ่มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตการเป็นนักเรียน คือ การสร้างสมดุลให้กับภาระและหน้าที่ที่แตกต่างกันไปตามความรับผิดชอบ

นักเรียน นักศึกษาส่วนหนึ่งนอกจากหน้าที่เรียน และภาระจากงานที่ได้รับมอบหมายในห้องเรียนแล้ว พวกเขายังต้องทำงานพาร์ทไทม์ส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือ หลายคนอาศัยอยู่ในหอพัก ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรืออาจแยกมาอยู่ดูแลตัวเอง การสร้างสมดุลในชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง

แม้ประสบการณ์ทำงานตั้งแต่วัยเรียนจะเป็นใบเบิกทางที่ดี สะท้อนความพยายามและความมุ่งมั่น แต่ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ หากทำงานหนักจนเผลอหลับในห้องเรียนอยู่บ่อยๆ

ข้อสำคัญคืออย่าตั้งเป้าหมายเกินจริง ที่จะยิ่งสร้างความเครียด ความกดดันให้กับตัวเอง ทั้งในเรื่องสุขภาพ การเงินและเวลา

“ปีหน้าฉันมีเป้าหมายว่าจะถ่ายโอนวิชาเรียนจากสัตวศาสตร์ไปเป็นสัตวแพทย์ ซึ่งมีการแข่งขันสูง แต่ฉันจะพยายามอย่างดีที่สุด ฉันจะแบ่งเวลามาทุ่มเทกับการเรียนมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลการเรียนที่ดีขึ้น จะหาประสบการณ์ทำงานจากการเป็นอาสาสมัครในฟาร์มหรือคลินิกสัตว์ต่างๆ” คี เฮง ยวง (Ki Heng Yeung) นักศึกษา MIT ชาวฮ่องกง กล่าว

4. มีความรับผิดชอบต่อเป้าหมาย

ในทางจิตวิทยาเชื่อว่าเป้าหมายจะมีพลังและมีความผูกพันกับเจ้าของเป้าหมาย ก็ต่อเมื่อเราบันทึก (เขียน) และบอกให้คนอื่นได้รับรู้ เพราะเมื่อประกาศออกไปแล้ว เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้นและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราพูด (accountability)

เพื่อนและครอบครัวมีส่วนช่วยได้ เพราะเมื่อเราบอกออกไป พวกเขาเป็นผู้รับสารที่รับรู้เป้าหมายที่วางไว้ ทำให้เรามีแรงจูงใจที่จะทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ

5. หมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่า “มาถูกทางแล้ว”

สิ่งที่สำคัญกว่าการคิด คือ คิดแล้วลงมือทำ แต่เมื่อทำแล้วสิ่งสำคัญต่อจากนั้น คือ การลงมือทำอย่างมุ่งมั่นไม่ไขว้เขว เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อตรวจสอบตัวเองกับแผนที่บันทึกไว้อย่างต่อเนื่อง

กลับไปที่ข้อที่ 1 ลองนั่งลงแล้วทบทวนตัวเองว่า…

เราได้บรรลุสิ่งที่วางแผนลงมือทำในระยะสั้น (short-term objectives) เพื่อไปสู่เป้าหมายระยะยาว (long-term goals) ตามที่กำหนดไว้หรือไม่?

เราทำตามแผนได้ดีหรือมีข้อบกพร่องตรงไหน เพราะอะไร? หากไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ อะไรเป็นเหตุผลหันเหความสนใจของเรา?

มีอะไรในแผนที่เราควรปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงไหม?

เราสามารถขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาจากใครได้บ้าง?

วิธีคิดเรื่องการวางเป้าหมายตามแนวทางนี้สอดคล้องกับที่นักสร้างแรงบันดาลใจและโค้ชระดับโลกเห็นพ้องต้องกัน ไม่ว่าจะเป็น แอนโธนี รอบบินส์ (Anthony Robbins), เลส บราวน์ (Les Brown), จิม โรห์น (Jim Rohn), บ็อบ พรอคเตอร์ (Bob Proctor), ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) และ ซิก ซิกลาร์ (Zig Ziglar)

พวกเขายืนยันว่าความสำเร็จในเป้าหมายใดๆ ก็ตาม เริ่มต้นจากการเขียนลงบนกระดาษ เก็บกระดาษนั้นติดตัวเอาไว้ แล้วหมั่นหยิบขึ้นมาอ่านทบทวน เหมือนเป็นการย้ำบอกตัวเอง และเพื่อให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันอยู่บนเส้นทางเดียวกับการเดินไปสู่เป้าหมาย

“การตั้งเป้าหมายเป็นขั้นตอนแรกของการทำสิ่งที่มองไม่เห็นให้ปรากฏขึ้นได้” แอนโธนี รอบบินส์

“จงตั้งเป้าหมายไว้ที่ดวงจันทร์ เพราะถึงแม้คุณจะไปไม่ถึง คุณก็ยังอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว” เลส บราวน์

“จดทุกไอเดียของคุณ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่” ริชาร์ด แบรนสัน

อ้างอิง
5 Steps to Develop Study Goals for Success in 2019
SMART goals
wabisabilearning
Why 3% of Harvard MBAs Make Ten Times as Much as the Other 97% Combined

Tags:

วัยรุ่นคาแรกเตอร์(character building)21st Century skillsGritแรงจูงใจในตัวเอง(Self motivation)

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Illustrator:

illustrator

antizeptic

Related Posts

  • Grit
    GRIT การอดทนเพื่อสู้สิ่งยาก ถึงยากก็อยากจะสู้!

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

  • Grit
    S.M.A.R.T GOAL ตั้งเป้าหมายให้ชัด ใกล้ ใช่ และจริง – ไม่ล้มเหลวแน่นอน

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • 21st Century skills
    รวิศ หาญอุตสาหะ: คนรุ่นใหม่แบบไหนที่นายจ้างอยากทำงานด้วย

    เรื่อง The Potential

  • GritMovie
    วิลเลียม คัมแควมบา: ความมุ่งมั่นและกัดไม่ปล่อยของเด็กชายที่ผลิตกังหันลมจากกองขยะ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • 21st Century skills
    เพราะความรู้ปัจจุบันไม่เพียงพอ ‘โรงเรียนอนาคต’ จะทำให้เด็กอยู่รอดและไปต่อในโลกที่เปลี่ยนแปลง

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

พลอยแพรว: ตกมาจากศูนย์กลางจักรวาล ลุกขึ้นมาทำงานและได้แปรงฟันทุกๆ เช้า
Life classroom
22 August 2019

พลอยแพรว: ตกมาจากศูนย์กลางจักรวาล ลุกขึ้นมาทำงานและได้แปรงฟันทุกๆ เช้า

เรื่อง ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • เป็นเรื่องราวของหญิงสาวธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ผ่านจุดเปลี่ยนเร็วและเยอะกว่าคนวัยเดียวกัน ทำให้พบศักยภาพตัวเองที่ไม่เคยคิดว่าจะมี
  • จุดเปลี่ยนของ พลอยแพรว-ณิชา พัฒนเลิศพันธ์ นอกจากจะช่วยค้นพบศักยภาพ ยังพาก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง เปลี่ยนจากเด็กสาวที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นคนที่เข้าอกเข้าใจคนอื่นและใช้การประนีประนอมเป็นหัวใจของงานปัจจุบัน
  • “สำคัญคืออย่ากดดันตัวเองว่าจะต้องดีขึ้นเดี๋ยวนั้น และต่อให้เก่งแค่ไหน มนุษย์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ทุกเรื่อง แต่เราเผชิญหน้าและค่อยๆ สะสางมันอย่างไม่จำเป็นต้องตีโพยตีพายได้” พลอยแพรว ว่าไว้อย่างนั้น
เรื่อง: นลินี มาลีญากุล

ไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นชีวิตที่ดูสามัญและเรียบง่ายที่สุด ก็ล้วนต้องผ่านจุดเปลี่ยนเล็กบ้างใหญ่บ้าง และในจำนวนครั้งที่ต่างกันไปตามประสา

และไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นชีวิตที่ดูสามัญและเรียบง่ายที่สุด บทพายุจะโหมกระหน่ำเข้ามา มันก็พร้อมจะสาดเข้ามาไม่ยั้ง รู้ตัวอีกทีเราก็อาจจะบอบช้ำ โดดเดี่ยว และร้องตะโกนแสนเงียบอยู่ในใจว่า ชีวิตจะเอาอะไรจากกูอีกวะ แถมต่อให้คุ้นเคยกับความปั่นป่วนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ก็ใช่ว่าบางคนจะรับมือกับมันได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์อะไรเลย

ไม่ต่างจาก พลอยแพรว-ณิชา พัฒนเลิศพันธ์ ที่ต่อให้พูดย้ำแล้วย้ำอีกระหว่างบทสนทนาถึงภาพจำของวันที่ไม่มีเงินกระทั่งจะจ่ายค่าแปรงสีฟันในราคา 15 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในร้านสะดวกซื้อตอนนั้น แต่เธอก็ยังยืนยันว่า ตราบใดที่ยังตื่นเช้าขึ้นมา เราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าชีวิตจะเจอเรื่องอะไรที่เป็นเรื่องที่สุดของที่สุดได้อีกบ้าง

สำคัญคืออย่ากดดันตัวเองว่าจะต้องดีขึ้นเดี๋ยวนั้น และต่อให้เก่งแค่ไหน มนุษย์ก็แก้ปัญหาไม่ได้ทุกเรื่อง

แต่เราเผชิญหน้าและค่อยๆ สะสางมันอย่างไม่จำเป็นต้องตีโพยตีพายได้

พลอยแพรว-ณิชา พัฒนเลิศพันธ์

จุดเปลี่ยนครั้งที่ 1: พ่อแม่เลิกกัน แต่มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

สำหรับคนส่วนหนึ่งที่เติบโตมากับชุดความคิดของความสมบูรณ์แบบของครอบครัว อย่างน้อยก็ต้องมีพ่อแม่ลูก จูงมือกันไปเที่ยววันหยุด ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่หน่อย อย่างน้อยเราก็จะมีมายาคติภาพทุกคนพร้อมหน้าพร้อมตากินข้าว แต่สำหรับพลอยแพรวที่พ่อกับแม่อยู่คนละบ้าน แม่คือภรรยาคนที่สาม และหลังจากแยกย้ายชีวิตคู่ไปคนละทาง พ่อเลือกให้พลอยแพรวอาศัยอยู่กับเขา ในบ้านที่มีภรรยาคนแรกและลูกๆ อีกหลายคนของพ่ออยู่ร่วมด้วย

แต่เธอก็ไม่เคยคิดว่าครอบครัวที่ต้องขยายความยาวเหยียดขนาดนี้มีปัญหาอะไร

“แต่เด็กมา เราไม่เคยรู้เลยว่าเขาเลิกกันหรือว่ายังไง เพราะว่าเราต้องไปทั้งสองบ้าน สลับไปสลับมา ศุกร์เสาร์อาทิตย์พ่อจะพาไปหาแม่ที่อยู่อีกที่หนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าคืออะไร แต่ว่าก็สนุกดีนะ มีสองที่ให้ไป เด็กแหละ มันได้ออกไปข้างนอกเนาะ ก็สนุกดีนะ”

จนเข้าสู่ชั้นอนุบาล 3 ซึ่งอายุก็น่าจะอยู่ราวๆ 5-6 ขวบ พลอยแพรวถึงเพิ่งได้รับคำชี้แจงจากพ่อว่าความรักและครอบครัวที่สร้างมานั้นจบลงไปแล้ว

“โตมาสักพักหนึ่งถึงได้รู้ว่าพ่อกับแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน จากที่ไม่เคยคิดอะไรเลยเพราะสถานการณ์ตอนนั้นก็ยังไปๆ มาๆ ทั้งสองบ้าน ไม่ได้รู้สึกอะไร เราว่ามันเริ่มรู้สึกแปลกแยกตอนเมื่อมีคนมาถามเราว่า อ้าว วันนี้ทำไมป๊าแกมาส่ง แต่อีกวันทำไมแม่แกมาส่ง เราก็ถามป๊า ป๊าก็ถามกลับว่าเราโอเคหรือเปล่า รู้สึกว่าเขาดูแลไม่ดีหรือเปล่า ถามตอนเราอยู่ในช่วงอนุบาล 3 หรือ ป.1 นี่แหละ เราก็งงๆ ก็โอเคมั้งป๊า ก็ยังมีข้าวกิน มีเพื่อนเล่น เด็กอะ มันไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น เพราะว่าภรรยาคนแรกของป๊าก็ดีกับเรามากๆ เราจึงไม่ได้ตั้งคำถามอะไร”

“แต่ก็จะมีสะกิดใจ เวลาผู้ใหญ่ชอบมาถามว่าพ่อแม่หย่ากันเหรอ เราว่าเป็นเพราะคนนอกที่ทำให้เด็กรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ เพราะว่าจริงๆ เราไม่ได้รู้สึกอะไรนะ เราโอเคกับสิ่งที่เป็น”

จุดเปลี่ยนที่ 2: ลาออกจากมหาวิทยาลัย ไม่มีเงินจ่ายค่าแปรงสีฟันราคา 15 บาท

ในวัยกำลังเป็นดอกไม้บาน ใครๆ ก็อยากหาอากาศและแสงแดดที่เหมาะสมกับการเติบโต พลอยแพรวสอบติดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เนื่องจากเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อทั้งหวงและห่วงมาแต่เด็ก สุดท้ายเธอจึงเข้าเรียน ปี 1 ด้านแฟชั่น ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งก็ยังคงเป็นศาสตร์ที่เธอสนุกกับมันอยู่ดี

เริ่มเรียนไปได้ไม่นาน พ่อที่มีงานหนักชนิดไม่ยอมพักผ่อนและความป่วยไข้เป็นเพื่อนคู่กายมาสักพักแล้วก็เริ่มมีอาการหนักขึ้น โรคประจำตัวที่เพิ่มขึ้นหมายถึงค่ารักษาพยาบาลที่มากขึ้นไปด้วยเช่นกัน ตัดเรื่องความปวดหัวต่อทรัพย์สินและมรดกที่ต้องถูกแบ่งเป็นหลายก้อนตามจำนวนภรรยาและลูกของพ่อออกไปก่อน สิ่งที่เธอพบว่าเปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงๆ ก็คือ “ทำไมวันนี้พ่อไม่ให้ค่าขนม?”

“ช่วงที่พ่อป่วยมันก็กระทบเยอะเหมือนกัน เพราะหนึ่งเราเรียนแฟชั่นที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ สองคือเราไม่เคยลำบากเลยเว้ย อยู่บ้านก็จะมีคนทำนู่นทำนี่ให้ตลอด พ่อก็เอาใจ พอพ่อไม่ใช่คนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรได้มากอีกต่อไป มันมีเรื่องทรัพย์สินที่ต้องจัดการแบ่งให้เท่าๆ กันทุกฝ่าย จากปกติที่พ่อเป็นคนจ่ายค่าขนม ค่าดูแลเรามาตลอด มันก็ค่อยๆ หายไป เขาก็ดูอ๊องๆ งงๆ ป่วยมาเยอะแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ต้องถามเขายังไงว่าค่าขนมวันนี้ไม่ได้เหรอ พอวันที่เขาไม่มีให้ เราก็แบบ ฉิบหายแล้ว ทำยังไงดีวะ ต้องไปขอใคร”

มองจากคนนอก พ่อดูจะสร้างปัญหาให้เธอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจเยอะพอสมควร แต่พลอยแพรวยืนยันว่า ไม่เคยโกรธพ่อไม่ว่าจะเรื่องอะไร เพราะว่าพ่อทำหน้าที่ของคนเป็นพ่อได้ดีที่สุดเท่าที่พ่อคนหนึ่งจะทำได้ และดูแลทุกคนในบ้านอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องภรรยาเยอะลูกมาก นั่นก็เป็นเรื่องของพ่อ ที่เธอไม่ก้าวก่ายและไม่ได้มองว่าเสียหายอะไรเลย

จนเงินเริ่มร่อยหรอ พี่น้องแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กดดันให้เธอเลือกข้างเพื่อแบ่งสมบัติ พลอยแพรวที่ตอนนั้นการเงินเริ่มไม่มั่นคงนักจึงตัดสินใจลาออกจาก ม.กรุงเทพ แล้วกำเงินเก็บที่ได้มาจากค่าขนมของพ่อไปหาหอพักอยู่ และหางาน part-time ทำเพื่อให้มีรายได้ เมื่อถามว่าเสียดายไหม เด็กสาวไม่น่าจะคิดอยากออกจากการเรียนมหาวิทยาลัยกันได้ง่ายๆ พลอยตอบเต็มเสียงว่า “เสียดายค่ะ”

“เสียดาย ไม่บอกใครด้วย ไม่บอกเพื่อน เราเป็นคนมีอีโก้คนหนึ่งอะ คิดว่าทำไมต้องมาลำบากอะไรขนาดนี้ เพราะอยากได้อะไรพ่อก็หามาให้ ช่วงนั้นเราก็เลยหายไปเลย หายไปจากสังคม หายไปจากทุกอย่าง หายจากคนรอบข้าง หายจากเพื่อนมัธยม เพราะเราไม่อยากให้ใครรู้ว่าวันหนึ่งเราต้องมานั่งทำนู่นทำนี่เอง”

ไม่ใช่แค่นั้น ตอนเลือกลาออกจากระดับอุดมศึกษา เธอยังค้างจ่ายค่าเช่าหออยู่ 2-3 งวด แม้สุดท้ายจะจัดการได้ด้วยความช่วยเหลือของคนในครอบครัว แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเห็นว่า ชีวิตจากนี้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ

“เราออกมาทำงานเพื่อให้มีเงินใช้ก่อน เพราะตอนนั้นเราจำได้ว่าเราไปเฝ้าป๊าที่โรงพยาบาล ยังไม่ได้เช็คว่าตัวเองมีเงินเก็บเท่าไหร่ยังไงบ้าง แล้วตอนนั้นลืมเอาแปรงสีฟันแพ็คไปนอนโรงพยาบาลด้วย ก็จะไปซื้อแปรง แปรงอันละ 15 บาทถูกสุดแล้วในร้าน แต่ตอนนั้นมันไม่มีเงินเลย ต้องยืมพยาบาล เลยจำตอนนั้นได้แม่น ทำให้ต้องออกมาหาเงินให้ตัวเองใช้ ให้ตัวเองมีข้าวกิน มีเงินจ่ายค่าหอ”

จุดเปลี่ยนที่ 3: เพื่อนดันมาร้านกาแฟที่ทำงานอยู่

พลอยแพรวยอมรับว่าตัวเองเคยเป็นคุณหนูนิสัยไม่ดี เอาแต่ใจ อยากได้ต้องได้ ทำอะไรเองไม่ค่อยเป็น จนวันที่พ่อมาจากเธอไปจริงๆ และพี่น้องเริ่มแบ่งฝ่าย หญิงสาวเริ่มตั้งคำถามกับความเชื่อใจและคุณค่าในมนุษย์ จนค้นพบว่าตัวเอง “โดดเดี่ยวจังเลย อยากคุยกับใครสักคนที่สนิทใจ อยากมีครอบครัวให้คุย แต่ก็ไม่รู้ว่าครอบครัวที่ดีเป็นยังไง เพราะว่ามันหายไปแล้ว”

แต่โดดเดี่ยวยังไง เศร้าขนาดไหน จะต่อว่าทุนนิยมก็ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ว่า หากไม่ทำงาน วันพรุ่งนี้อาจไม่มีข้าวกิน

“เราอายเพราะเราไม่เคยลำบากเลย ตอนต้องทำงานพาร์ทไทม์ก็ไปเลือกที่ไกลๆ เพราะไม่อยากให้ใครมาเจอ ตอนพ่อเสียแล้วเรากลับมาอยู่ที่บ้าน แล้วในระยะใกล้ๆ กันมันมีร้านกาแฟเปิดอยู่ ก็ทำไป แต่วันหนึ่งเพื่อนสมัยมัธยมเดินเข้ามาเจอ เพราะร้านมันอยู่ใกล้โรงเรียนมากๆ แล้วทุกคนกลับมาโรงเรียนกันบ่อยอยู่แล้ว ไม่ก็มาทำอะไรแถวนั้นกัน เราตกใจมาก เห็นเพื่อนก่อนแล้ว ก็คิดในใจว่าจะหลบยังไงดี ก็หันหลังไปเปิดตู้เย็นจัดของ ก็ดันเดินเข้ามาสั่งอีก แล้วทั้งร้านมีเราคนเดียว ก็ต้องหันมา หวัดดี ทุกคนก็ตกใจ ชวนเราคุยว่าทำอะไรอยู่ แล้วก็ได้รู้ว่าไม่ได้เรียนต่อเหรอ โอเคไหม ตอนนั้นก็เริ่มอยู่ไม่สุขละ ก็เริ่มเล่า ร้องไห้ไปนิดหนึ่งแหละ รู้สึกพ่ายแพ้

“เราหนีมาตลอด หลบมาได้ 4-5 เดือน แล้วมาตกม้าตาย สุดท้ายก็ต้องเจออยู่ดี แล้วเพื่อนก็มาถามในสิ่งที่กระทบใจเรา เราไม่ได้อยากเล่าให้ใครฟัง แต่ว่าจุดนั้นมันเหมือนว่าต้องเล่าออกมา ถึงจะเล่าไปสุดแต่เราก็รู้สึกพ่ายแพ้ว่ะ จากนั้นก็เฟล กดดันตลอดว่าจะเจอใครอีกไหม พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เคยไป ถ้าเจอคนรู้จักเดินเข้ามาถามจะทำยังไง ตอบว่าหายไปไหน ไปเรียนซัมเมอร์มาอย่างนี้เหรอ หรือจะโกหก จะพูดอะไรดี ไม่รู้ไปหมด ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ตัวเองโอเคที่สุด”

แต่ความมหัศจรรย์ของมนุษย์คือการเรียนรู้และสะสมภูมิต้านทาน พอเจอคนรู้จักเรื่อยๆ เข้า จากความอายก็เปลี่ยนมาเป็นการทำความเข้าใจว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะหลบหนีหรือปิดบังอะไร เพราะคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่การทำความเข้าใจกับความเป็นจริง และเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่หรือ

“ยังไงมันก็ต้องเจอคนรู้จักอยู่ดี คิดว่าหลบดีแค่ไหนก็ต้องเจออยู่ดี โอเค งั้นช่างมัน เงินสำคัญกว่า อายก็อายแต่ก็เพราะท่าทีที่คนรอบข้างแสดงออกมา มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าผิดแปลกอะไร เขาไม่ได้มองเราว่าต่างจากเขาที่ได้เรียนหนังสือ เขาเข้าใจว่าเราเหนื่อย หลังจากนั้นเลยรู้สึกว่าไม่มีอะไรต้องอายอีกแล้ว เป็นช่วงที่คุยกับตัวเอง และยอมรับตัวเองได้แล้วว่าเป็นแบบนี้”

จุดเปลี่ยนที่ 4: อยู่กับสิ่งที่มี และฝันเท่าที่อยากฝัน

พลอยแพรวบอกว่าการยอมรับตัวเองดูเป็นเรื่องที่พูดกันง่ายๆ แต่ว่าอย่างไรก็มีขั้นตอนที่ค่อยเป็นค่อยไปของมัน ส่วนวิธีนั้นแสนเรียบง่าย นั่นคือการทบทวนที่มาที่ไป มองให้เห็นสภาวะนั้น เมตตาและรู้จักขอบคุณตัวเอง

“ตอนที่ลาออกมาทำงานพาร์ทไทม์ เราเจอเพื่อนร่วมงานที่ดีมาก เจอคนที่สนับสนุนเรา เจอคนชวนไปทำงานที่นู่นที่นี่ ตอนงานศพของพ่อเรา ตอนนั้นเราทำงานพาร์ทไทม์อยู่ที่ร้าน Happening Shop ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ พี่วิป (วิภว์ บูรพาเดชะ) กับพี่หยกที่เป็นเจ้าของร้านก็มางานศพพ่อเรา แล้วเราก็เริ่มรู้สึกว่าเราเก่งเหมือนกันว่ะ เราหาเงินเองได้นะ เริ่มให้รางวัลตัวเอง ซื้อนู่นซื้อนี่ที่ไม่ได้ซื้อมานานให้ตัวเอง”

แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ พลอยแพรวบอกว่าอยู่ที่การนั่งรถเมล์เองครั้งแรก

“เริ่มแรกเลยที่รู้สึกภูมิใจมากคือนั่งรถเมล์เป็น มันดูเป็นเรื่องเล็กสำหรับคนอื่นนะ แต่เรารู้แล้วว่ามันต้องขึ้นลงป้ายไหน หรือว่าไอ้วนซ้ายวนขวานี่มันคืออะไร ที่เพื่อนชอบพูดว่าลงป้ายนี้แล้วไปต่ออีกสายหนึ่งมันจะได้ใกล้กว่าต่ออีกสายคืออะไร หรือว่าตอนที่จ่ายค่าหอเองครั้งแรก ภูมิใจมาก ดูสิจ่ายเองได้แล้ว เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย แล้วพอมันเป็นเรื่องการจัดการแบบนี้ที่ไม่มีใครมาเกี่ยวข้องเลย เป็นเรื่องการตัดสินใจที่เรารู้สึกว่าเป็นทักษะที่สำคัญมาก เพราะครั้งแรกๆ เราจะตัดสินใจเป็นวันๆ ว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ดีไหม A B C มันมีทางไหนได้บ้าง แบบนี้มันจะดีจริงหรือเปล่า เลือกทางไหนจะเป็นยังไงได้บ้าง ซึ่งสุดท้ายมันคือทักษะติดตัวที่เอามาใช้ในการทำงานตอนนี้ด้วย ที่ต้องประสานงานกับคนหลายฝ่าย หาจุดพอใจที่สมดุลกันระหว่างทุกฝ่าย…”

นั่นทำให้เป้าหมายในชีวิตของพลอยดูเรียบง่ายสำหรับคนทั่วไป เพราะหลังจากที่ผ่านประสบการณ์ไม่มีเงินซื้อแปรงสีฟันครั้งนั้นจนถึงขั้นเคยหลอนเข้ามาในความฝัน เมื่ออะไรๆ เริ่มอยู่มือ เธอจึงฝึกเมตตาตัวเองด้วยการขอบคุณในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตมากกว่าจะพุ่งเป้าไปที่อะไรที่ดูเกินตัว

แน่นอน พออะไรเริ่มเข้าที่เข้าทาง ความต้องการและความฝันในชีวิตก็เริ่มขยับขึ้นไปอีกนิด หลังจากที่ตอนนี้เรียนจนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแล้ว เธอเริ่มอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ มีงานประจำที่รักและสนุกกับมัน และเริ่มวางแผนการใช้ชีวิตที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่รอดและทำอะไรเพื่อความต้องการส่วนตัวอย่างเดียว

นอกจากนั้น ประสบการณ์ในวันมรสุมทั้งหมดที่ผ่านมา ยังเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่ทำให้พลอยแพรวนำมาประยุกต์กับการทำงานในฐานะ Creative Content Creator ในองค์กรแห่งหนึ่ง ทำให้ความรักในการอ่านซึ่งปลูกฝังจากพ่อมาตั้งแต่วัยเยาว์ รวมกับประสบการณ์ช่วงที่ทำงานพาร์ทไทม์กับร้านหนังสือและคนในแวดวงการหนังสือมาพอสมควร รวมกันเป็นผลลัพธ์ของการจัดการปัญหา ที่เธอไม่ได้พุ่งเข้าชนมันเพื่อแก้ไข แต่จะใช้วิธีทำความเข้าใจสมการในแต่ละฝ่าย ด้วยการนำตัวเองเข้าไปนั่งในใจและความต้องการของคนที่เธอต้องประสานงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ลูกค้า หรือว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย เพราะไม่มีทางที่ใครจะเหมือนกัน แต่เธอต้องพยายามคิดในมุมของบุคคลนั้นๆ ให้มากที่สุด

ซึ่งนั่นคือศาสตร์ของการประนีประนอมที่ทำให้ความต้องการของแต่ละฝ่ายมาเจอกันในจุดที่พอใจ และไม่รบราฆ่าฟันกันเอง

“เราว่าเราเป็นคนที่เข้าใจเก่ง รู้ทันตัวเอง และจัดการมันได้แบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป จำได้เลยว่าตอนป๊าตาย เสียใจนะ แต่ตอนเช้าตื่นมาต้องไปทำงานต่อว่ะ ไม่งั้นจะเอาอะไรกิน แบ่งส่วนรายละเอียดของชีวิตได้ อันนี้เศร้าแหละ แต่อันนี้ก็ต้องทำ จมไม่ได้ ต้องไปต่อ”

“แต่บางทีก็มีวันที่อยากอยู่เงียบๆ หายไปเลย ไม่อยากติดต่อใคร บางทีก็ถามตัวเองว่าทำไมมีปัญหาให้ต้องมาแก้อีกแล้ว แต่เราพยายามจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเคยกดทับมันไว้แล้ววันหนึ่งมันก็ย้อนมาบู้ม ทำร้ายเราเอง มันไม่คลี่คลาย ถ้าอะไรที่เคลียร์ไม่ได้จริงๆ ก็ pause มันไว้ก่อนได้ แต่อย่าลืมว่ามันมีอยู่ แล้วเราต้องหาวิธีดีลกับมัน ซึ่งทุกอย่างเป็นไปเพื่อตัวเราทั้งนั้น”

พลอยแพรวบอกว่าสำคัญที่สุดคือการงานปกป้องเธอจากความทุกข์ ดึงคุณค่าบางอย่างออกมาจนทำให้เธอรู้สึกดีกับตัวเอง ทำให้เธอรู้สึกว่าชีวิตมันมีความหมายของมันอยู่ แต่ถามว่าตอนนี้เวลาเจอปัญหาแล้วหนีเหมือนเดิมไหม เธอตอบอย่างมั่นใจว่าไม่แล้ว

“ไม่ ไม่พอสมันแล้ว ก็เข้าใจมัน เข้าใจมันให้มากๆ แล้วปลีกตัวจากสิ่งที่ต้องทำตอนนั้นมาอยู่กับมันก่อนแป๊บหนึ่ง ให้เวลากับมัน เข้าใจมัน ยอมรับความจริงให้เยอะๆ ถ้าเรายอมรับว่ามันมีก้อนทุกข์นี้ได้เร็วเท่าไหร่เราว่ามันยิ่งดีกับตัวเราเอง เราจะรู้ว่าเราจะต้องจัดการกับอะไร เรารู้สึกว่าเรารับมือกับหลายๆ เรื่องได้ดีมากขึ้น รู้ว่าเศร้าก็เศร้า เสียใจก็เสียใจ เข้าใจมันมากขึ้น รู้ว่าปัญหามันมาให้เจอทุกวันแหละ แต่เจอมันแล้วต้องไม่ตีโพยตีพาย”

แต่ถามว่าต้องคาดคั้นให้ทุกอย่างดีขึ้นราวกับเสกได้ไหม เธอตอบแบบเร็วจนคำถามยังไม่ทันจบเลยว่า

“ไม่จำเป็น เพราะว่าเราก็คงแก้ไม่ได้ทุกเรื่องหรอก”

แต่จะเข้าใจและรับมือกับมันอย่างไรต่างหาก

Tags:

Gritการเติบโตณิชา พัฒนเลิศพันธ์

Author:

Photographer:

illustrator

ศรุตยา ทองขะโชค

ออกเดินทางเก็บบันทึกห้วงอารมณ์ความสุขทุกข์ผ่านภาพถ่าย ร้อยเรียงความคิดในใจก่อนลั่นชัตเตอร์ ภาพทุกภาพล้วนมีเรื่องราวและมีที่มา ตัวเราเองก็เช่นกัน ในอนาคตอยากทำหลายอย่าง หนึ่งในลิสต์ที่ต้องทำแน่ๆ คือออกไปเผชิญโลกที่กว้างกว่าเดิม เพื่อบันทึกเรื่องราวที่เติมเต็มจิตใจให้พองฟูได้มากกว่าเดิม

Related Posts

  • Movie
    The Edge of Seventeen: เราต่างต้องการเป็นที่รักและมีค่าเสมอสำหรับใครบางคน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Marshmallow
    How to enjoy life
    ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ทักษะชีวิตที่ช่วยให้เด็กรู้จักยับยั้งชั่งใจ

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • MovieMyth/Life/Crisis
    แด่วันที่เศร้าและหดหู่: เพียงคนธรรมดาที่มีบาดแผลคล้ายกันได้แบ่งปันและโอบอุ้ม

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Relationship
    ท่ามกลางผู้คนมากมาย ทำไมกลับเหงาได้ขนาดนี้?

    เรื่อง ธนัชพร ภูติยานันต์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Life Long Learning
    เสรี จินตนเสรี แชมป์โลกลูกขนไก่วัย 77 ปี: ให้ผมตีแบดจนตาย ผมก็มีความสุข

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัยศรุตยา ทองขะโชค

ธิปภร ธนกุลวรภาส: เป็นโค้ชนวัตกรต้องให้คำปรึกษาไม่ใช่สั่งสอน PASSION ต้องมาก่อน PRODUCT
Everyone can be an Educator
22 August 2019

ธิปภร ธนกุลวรภาส: เป็นโค้ชนวัตกรต้องให้คำปรึกษาไม่ใช่สั่งสอน PASSION ต้องมาก่อน PRODUCT

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • การเป็นโค้ชให้นวัตกรวัยทีนในโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ดร.ธิปภร ธนกุลวรภาส ยืนยันว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่การดูที่ผลงานอย่างเดียว แต่ดู passion และ ศักยภาพที่มีแววพัฒนาได้ของเด็กๆ ในทีมด้วย 
  • การเป็นนวัตกร สิ่งที่ทุกคนมีอยู่แล้วคือความรู้ในทางของตัวเอง สิ่งที่โค้ชมองหาคือคาแรคเตอร์ข้างในอย่าง ความรับผิดชอบ น้ำใจ ทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์
  • นวัตกรไม่ใช่แค่อาชีพ แต่ถูกบอกว่าคนในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าทำอาชีพใด จำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบนวัตกร วิธีคิดจากโค้ชของนวัตกร จึงคู่ควรแก่การทำความเข้าใจในยุคสมัยนี้ 
เรื่อง: มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่

เวลาพูดถึง ‘โค้ช’ แต่ก่อนคนอาจนึกถึง ‘ไลฟ์โค้ชชิง’ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ หรือ ‘โค้ช’ ที่ให้คำปรึกษาด้านบริหารจัดการเงิน แต่เดี๋ยวนี้การเป็น ‘โค้ช’ อยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นการเติมความเป็น ‘โค้ช’ ลงในพ่อแม่ ครู เพื่อน หรือใครก็ตามที่ทำหน้าที่ ‘ให้คำปรึกษา’ จากการฟังและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเป็นปรัชญาเพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ตามไซส์คนจริงซึ่งแตกต่างกัน ไม่ใช่ ‘one size fits all’ – นี่คือหนึ่งเรื่อง

ไม่มีใครคัดค้านอีกแล้วว่าเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว ซับซ้อน และส่งผลรุนแรง อันเนื่องจากเทคโนโลยี เราเรียกสั้นๆ ว่านี่คือยุคแห่งการ disruption หลายอาชีพจะสูญหายแทนที่ด้วยการทำงานของ AI และเทคโนโลยีที่ไม่มีใครบอกได้ว่าต่อไปจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร นี่คือยุคของนวัตกรรม หรือ innovation era อย่างปฏิเสธไม่ได้ – นี่คือเรื่องที่สอง

โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปัจจุบันดำเนินมาถึงปีที่ 7 ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาต่อยอดนวัตกรวัยเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นถึงมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 ที่บอกว่าต่อยอด เพราะนี่ไม่ใช่เวทีแข่งขันทางเทคโนโลยีที่ให้นักเรียนมาประกวดแล้วจบไป แต่ต่อยอด – ขั้นแรก ดึงเอาทีมที่น่าสนใจจากการประกวดโครงการวิทยาศาสตร์ 3 เวที* NSC, YSC และ YECC แล้วนำมาเข้าค่ายเป็นเวลา 8 เดือนเพื่อพัฒนาต่อยอดโครงการ ฟันเฟืองสำคัญในโครงการต่อกล้าฯ คือ ‘โค้ช’

“เวลาคัดเลือกหรือตัดสิน เราไม่ได้เลือกที่ผลงานอย่างเดียว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ passion ของเด็ก เพราะเขาต้องอยู่กับเราจนจบโครงการให้ได้ วิธีการประเมินแบบนี้ไม่ได้สนใจ product มากเท่ากับการสร้างคน นี่เลยเป็นจุดที่ทำให้การเป็นโค้ชและการตัดสินในโครงการต่อกล้าฯ แตกต่างจากการเป็นกรรมการตัดสินโดยทั่วไป”

ดร.ธิปภร ธนกุลวรภาส อดีตนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และหนึ่งใน ‘โค้ช’ โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ รุ่นปีที่ 6 และ 7 – อธิบายการต่อยอดในขั้นที่สอง นั่นคือการต่อยอดพัฒนาคน 

การเป็น ‘โค้ช’ ที่ช่วยผู้คนค้นพบศักยภาพของตัวเองให้เจอว่ายากแล้ว แต่การเป็นโค้ชให้กับ ‘นวัตกร’ วัยทีนที่ต้องการความรู้เฉพาะศาสตร์เพื่อให้คำแนะนำ และการโค้ชนวัตกรที่ไม่ใช่แค่การสร้างอาชีพแต่เป็นการทำงานกับคุณลักษณะภายใน ทักษะภายใน ที่ถูกบอกว่าคนในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าอาชีพใดจำเป็นต้องมีวิธีคิดแบบนวัตกร – เรื่องนี้ยากยิ่งกว่า 

The Potential ชวน ดร.ธิปกร คุยว่าด้วยบทบาทการโค้ชนวัตกรซึ่งต้องการความรู้เฉพาะทาง เธอเป็นโค้ชแบบไหน อยากผลักดันเรื่องอะไร และพูดแทนโค้ชในโครงการต่อกล้าฯ ที่มีจุดประสงค์ร่วมคือ การโค้ชเพื่อค้นให้เจอศักยภาพของเด็กและพัฒนาต่อ ไม่ตัดโอกาสเพียงดูแค่ชิ้นงานหรือ product

ดร.ธิปภร ธนกุลวรภาส

เวลาบอกว่าเราทำหน้าที่ ‘โค้ช’ มันคืออะไร แตกต่างจากการเป็นครู หรือ การเป็นกรรมการตัดสินโครงการอย่างที่เคยทำก่อนหน้านี้อย่างไร

ต่างมาก หลักๆ เลยคือวิธีคัดเลือกโครงการ อย่างแรกที่เราจะดูคือ โครงการมีศักยภาพไปต่อได้ไหม จากนั้นมาดูที่ตัวเด็กว่ามีศักยภาพไหม ดูความตั้งใจ ดู passion ของเด็ก ความยากของโค้ชคือ เราจะมองแค่ตัวงานว่างานนี้เด่น งานนี้ดี งานนี้ขายได้ …ไม่ได้ ต้องมองยาวไปถึงขั้นว่าเด็กพร้อมไหม โรงเรียนพร้อมไหม อุปกรณ์พร้อมไหม และต้องคิดว่าเราเองจะซัพพอร์ตเขาได้ไหมด้วย เพราะเราต้องเป็นคนที่อยู่หรือต้องพัฒนาผลงานไปกับเขา  

โค้ชต้องตัดสินด้วยไหมว่าโครงการไหนจะได้ผ่านเข้ารอบต่อไป?

มีทั้งตัดสินและไม่ตัดสิน อธิบายรูปแบบโครงการก่อนว่า ระยะเวลาของโครงการต่อกล้าฯ เราทำโครงการกันยาวนานประมาณ 8 เดือน ระหว่าง 8 เดือนนี้ก็จะมีค่าย 3 ค่าย แต่ละค่าย เราจะได้เจอเด็ก 3 วัน เวลานี้แหละที่จะได้คุยกับเด็กถึงปัญหาและสารทุกข์สุกดิบกัน การให้คำปรึกษาแต่ละโครงการจะไม่ต่ำกว่าทีมละครึ่งชั่วโมง หลังจบค่ายก็จะมีการลงพื้นที่ไปติดตามผลงานเด็กๆ ที่โรงเรียนแต่ละทีมอีก 2 ครั้ง

ค่ายแรกจะรับเด็กเข้ามา 30 โครงการ พอเข้าสู่ค่ายสองจะเป็นช่วงที่เด็กต้องนำเสนอโครงการ ตอนนี้เราจะตัดบางโครงการออกให้เหลือแค่ 15 โครงการ พอได้ 15 โครงการแล้ว โค้ชจะไม่ตัดสินแล้วแต่ต้องช่วยผลักดันให้ทุกทีมอยู่จนจบโครงการให้ได้

เวลาคัดเลือกหรือตัดสิน เราไม่ได้เลือกที่ผลงานอย่างเดียว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ passion ของเด็ก เพราะเขาต้องอยู่กับเราจนจบโครงการให้ได้ วิธีการประเมินแบบนี้ไม่ได้สนใจ product มากเท่ากับการสร้างคน นี่เลยเป็นจุดที่ทำให้การเป็นโค้ชและการตัดสินในโครงการต่อกล้าฯ แตกต่างจากการเป็นกรรมการตัดสินโดยทั่วไป

หน่อยเองเคยเป็นกรรมการตัดสินโครงการ NSC เด็กพรีเซนต์ไม่รู้เรื่องแต่งานดีเราก็ให้ เพราะเราดูที่ product แต่ถ้าเป็นโค้ช ชัดเจนเลยว่าเราต้องดูตัวเด็กด้วย   

จะมองเห็น ‘ศักยภาพ’ ภายในของเด็กได้ โค้ชมีวิธีการ ต้องคิด หรือมีมุมมองอย่างไร

เริ่มจากการ ‘ฟัง’ เข้าไปฟังว่าโครงการของเขาเนื้อหางานเป็นยังไง ทำงานอะไรบ้าง เขามีปัญหาอะไร พยายามคุยกับเขาในรูปแบบที่ทำให้เขาวางใจและไว้ใจ ไม่พยายามทำตัวเป็นลูกศิษย์กับอาจารย์ เป็นกรรมการกับเด็ก หรือในเซนส์ของการเป็นคนที่อายุห่างกันมากๆ หลังจากคุยและทราบแล้วว่าเนื้อหางานของเขาเป็นยังไง มีปัญหาตรงไหน รู้ว่าจะเข้าไปช่วยเขาตรงไหนได้บ้าง จากนั้นจึงมาปรับจูนกันว่ามุมมองของเขากับเราเป็นยังไง

การจะทำแบบนี้ได้ ต้องใช้เวลาพอสมควร

เพราะด้วยระยะเวลาของโครงการมันยาวนาน และหลังจบค่ายยังมีการลงพื้นที่ไปติดตามผลงานเด็กๆ ที่โรงเรียนแต่ละทีมอีก 2 ครั้ง ปีที่แล้วหน่อยลงพื้นที่เยอะมาก มี 15 โครงการก็แทบจะไปทั้ง 15 โรงเรียน ข้อสังเกตที่ชัดมากๆ ของการลงพื้นที่คือเราจะได้เห็นเขาในอีกมุมมองหนึ่ง มันไม่เหมือนกับเวลาเข้าค่ายซึ่งเขาอาจรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ของเรา (ทีมโค้ชในโครงการ) เราเป็นเจ้าบ้าน เขาเป็นแขก เขาจะไม่เต็มที่ ไม่ค่อยกล้า แต่พอเราลงไปในพื้นที่ เราคือแขก เขาคือเจ้าบ้าน เขาจะพูดหรือทำหลายๆ เรื่องที่คล้ายกับว่าเปิดใจให้เรามากกว่า

ลงโรงเรียนเพื่อทำอะไรบ้าง

ไปติดตามผลงาน เพราะพอจบค่ายที่ 3 เราจะให้การบ้าน เด็กๆ จะมี commitment ว่านับจากนี้อีกหนึ่งเดือน โค้ชลงไปติดตามผลงานจะต้องเจอหรือเห็นผลงานอะไร ที่ต้องสร้าง commitment เพราะบางครั้งต้องให้เขาไปทดลองทำก่อนจึงจะรู้ว่าผลเป็นยังไง ถ้าผลออกมาไม่ดี ค่อยดูว่าเราจะแก้ปัญหาร่วมกันยังไง

โค้ชในโครงการต่อกล้าฯ ต้องการสร้างคน สร้างนวัตกรที่มีคาแรคเตอร์แบบไหน

เอาที่เราคุยกันในกลุ่มส่วนใหญ่นะ เราคิดว่าปัญหาใหญ่ของเด็กที่ไปต่อไม่ได้เกิดจากความไม่รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่โค้ชให้ความสำคัญมากคือความรับผิดชอบ รวมถึงความมีน้ำใจ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่บอกแบบนี้เพราะเราเห็นว่าแต่ละรุ่นเขามีความเก่งในตัวอยู่แล้ว แต่บางคนทำงานคนเดียวซึ่งมันก็ทำให้ได้งานในระดับหนึ่ง แต่การทำงานเป็นทีม การได้เอาความเก่งของหลายๆ คนมารวมกัน เราจะได้งานสเกลใหญ่ขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น มีอิมแพคต่อประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้คือต้องมีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ทำให้ตัวเองมีคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นกว่าคนทั่วไป

‘รับผิดชอบ มีน้ำใจ ทักษะทำงานเป็นทีม มีความคิดสร้างสรรค์’ พูดได้ไหมว่านี่คือทักษะพื้นฐานนวัตกร

หน่อยมองว่า ไม่ว่าจะทำงานส่วนไหนก็ตาม จะเป็นนวัตกร นักวิจัย อาจารย์ หรืออาชีพอะไรก็ตาม คุณสมบัติพวกนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานในการทำงาน เราเลยอยากปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เด็กๆ

คาแรคเตอร์ของเด็กๆ ที่คุณกล่าวมาตรงกับทักษะในศตวรรษที่ 21 หลายข้อเลย แม้หลายคนพูดกันว่าเราต้องสร้างเด็กที่มีคุณสมบัติแบบนี้ แต่พอบอกว่าเป็น ‘คาแรคเตอร์’ มันสร้างยากกว่าการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบที่คุ้นชินในห้องเรียนทั่วไป

มันสร้างยาก แต่เราทำด้วยการพูดคุยนี่แหละ ไม่ได้คุยแค่เรื่องงาน คุยทุกเรื่อง เรื่องทั่วไปที่เขาสนใจ อาหารการกิน

ค่อยๆ ศึกษาต่อไปว่าเด็กแต่ละคนเป็นยังไง มีความสนใจด้านไหน มีทักษะโดดเด่นด้านไหน แล้วเราก็จะส่งเสริมเขาไปในด้านนั้นโดยการให้กำลังใจบ้าง ให้ความรู้บ้าง ถ้าติดปัญหาในทางเทคนิคก็ให้ความรู้กันไป

พูดได้ไหมว่าไม่ได้ตั้งใจให้ความรู้ขนาดนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการดูแลเรื่องความสัมพันธ์?

ใช่ค่ะ เราต้องอ่านเด็กให้ออกก่อนว่าเด็กคนนั้นมีคาแรคเตอร์ยังไง บุคลิกแบบไหน เขาต้องการให้เราเสริมด้านไหน ไม่ใช่ว่าฉันมีความรู้แบบนี้ พอเจอเธอปุ๊บก็ยัดให้เธอเลย เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาเข้าจริงแล้วเด็กในโครงการต่อกล้าฯ มีความแตกต่างเรื่องอายุมาก มีตั้งแต่วัยมัธยมต้นจนถึงอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 การที่เราจะเข้าไปหาเด็กแต่ละกลุ่ม ต้องมีวิธีการในการพูดกับเขา หน่อยเองอายุก็ต่างกับเด็ก เขาก็เป็นลูกเราได้เลยนะ ซึ่งความแตกต่างขนาดนี้ทำให้เราต้องพยายาม แต่ในความเป็นโค้ช เขาดูออกว่าเด็กคนนี้มีศักยภาพด้านไหน คนนี้ด้านดีไซน์ คนนี้ด้านโปรแกรม คนนี้ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เด็กคนไหนถนัดด้านอะไร ก็จะรู้ว่าควรส่งเสริมด้านไหน รู้แล้วก็โค้ชกันไปตามแต่ละคน

เข้าใจว่าคุณไม่ได้จบครู จิตวิทยา หรือสายมานุษยวิทยาโดยตรง อยากรู้ว่าวิธีคิดในการโค้ช วิธีการเข้าถึงเข้าใจเด็กแต่ละคน ได้มาตอนไหน

เป็นความชอบส่วนตัว หน่อยไม่ได้เริ่มทำงานกับเด็กแค่สองสามปีที่ผ่านมา แต่ทำงานกับเด็กตั้งแต่เราเริ่มทำงานเลย มีโอกาสได้ไปทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ เรามองเด็กเป็นไปตามคน ดูว่าแต่ละคนมีนิสัยยังไง ไม่พยายามตัดสินเพื่อให้เขาเป็นแบบที่เราต้องการ แต่พยายามมองว่าเขาเป็นแบบนี้ แล้วเรามีความสามารถอะไรที่จะไปสนับสนุนเขาได้

ไม่รู้ว่าพูดแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่า คนรุ่นเราเคยชินกับการเรียนแบบสั่งสอน สั่งการจากในห้องเรียน แต่สมัยนี้เราไม่ได้เชื่อแบบนั้นแล้ว ครูไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดความรู้เพราะความรู้มีอยู่ทั่วไป นำมาซึ่งการพูดถึงการสอนที่ต้องปรับ สิ่งที่สงสัยคือ เวลาที่ทำงานกับเด็ก เราต้องปรับตัวมากไหม ยังเคยชินกับวิธีการสอนแบบสั่งการหรือเปล่า

ไม่เลย อาจเป็นเพราะเราเป็น Gen X ที่ใกล้ Gen Y เหมือนเป็นสองเจนเนอเรชั่นในคนเดียว แต่ก็ต้องบอกว่าเราตามเด็กรุ่นนี้ไม่ค่อยทันเหมือนกันนะ แต่… เราค่อนข้างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเลยไม่ได้ใช้วิธีการสอนแบบวิธีเดิมๆ ใช้การดูแลแบบเป็นเพื่อนกันมากกว่า

ส่วนใหญ่เด็กจะเจอเราในบทบาทกรรมการก่อนค่อยมาเป็นโค้ช ช่วงแรกเขาจะมีระยะห่างและเกร็งกับเรา แต่พอเราเป็นโค้ช เราก็จะบอกว่า “วันนี้พี่เป็นทีมงาน เรามาช่วยกัน มาคุยถึงปัญหา พี่ไม่ได้มาตัดสินนะ แต่มาเพื่อช่วยเหลือและเราคือทีม” คือทุกครั้งที่เริ่มต้น เราจะนิยามตัวเองชัดเลยว่า เราใส่หัวโขนของการเป็นโค้ชอยู่

 “เวลาเด็กคุยกับเราในฐานะกรรมการ เหมือนเขากลัวว่าถ้าบอกเราว่ามี bug เขาจะถูกหักคะแนน แต่ถ้าคุยกับเราในฐานะทีมงาน เราจะได้ข้อมูลอีกแบบ เขาบอกหมดว่ามีปัญหาแบบนั้นแบบนี้ พรั่งพรูออกมาเลย”

เด็กส่วนใหญ่บอกคล้ายกันว่าระหว่างทางทำโครงการฯ จะเจอทางตัน มันท้อ มันดาวน์ไปหมด ในขณะที่เด็กบอกเองว่าเขาหมด passion แต่โค้ชทำอย่างไรในการกระตุ้นหรือหล่อเลี้ยง passion ของเด็ก

เอาจริงๆ ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าที่ทำอยู่มันถูกทางมากน้อยแค่ไหนนะ แต่พยายามทำให้ดีที่สุด พยายามเป็นพี่ที่คุยกับน้อง ทำให้เขาวางใจ ทำยังไงก็ได้ให้เขาอยากเดินต่อกับเรา มีปัญหาแล้วคุยกับเราได้

จริงๆ แล้วต้องบอกก่อนว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ท้อกับงานนะแต่ท้อกับคน เช่น เพื่อน พ่อแม่ หรือแม้แต่ครูอาจารย์เองก็ตาม อย่างปีที่แล้ว ในกลุ่มของเด็กๆ เองไม่มีปัญหากันเองข้างในเลย แต่เขารู้สึกเหนื่อยกับปัญหาและกระบวนการที่โรงเรียนมาก ทีนี้เวลาเราลงพื้นที่ เราไม่ได้ไปแบบ “อะ ไหนขอดูงาน 1 2 3 4 ซิว่าเสร็จไหม?” แต่จะถามก่อนว่า “เป็นยังไงบ้าง มีปัญหาอะไรไหม อยากคุยอะไรกับพี่ไหม? อยากเล่าอะไรให้พี่ฟังรึเปล่า” เด็กร้องไห้ออกมาเลย ตอนนั้นงงมากเพราะไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพวกเขามีปัญหานี้ หมายความว่า อาจเป็นเพราะการได้ลงพื้นที่คล้ายการให้เวลาเขา ได้พูดคุยกันแบบเปิดอกคุย ได้ระบาย ได้พูด และเราก็ไม่ได้รับฟังอย่างเดียว แต่คนเป็นโค้ชต้องช่วยหาวิธีแก้ ยืนอยู่ข้างเขา ทำให้เขาไม่โดดเดี่ยว

นอกจากความรู้เรื่องจิตวิทยา ความเข้าใจกันในฐานะมนุษย์ การเป็นโค้ชเพื่อสร้างนวัตกรต้องมีความรู้เฉพาะตัวอะไรบ้าง

หลากหลายมากเลย จะบอกว่าส่วนตัวถนัดด้านซอฟต์แวร์ก็จริง แต่งานอดิเรกที่ทำอยู่เราทำงานสวน ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ทำนู่นทำนี่ โครงการของเด็กบางโครงการเขาทำเกี่ยวกับเกษตร เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปู เลี้ยงปลาบ้าง นี่เราก็ใช้ความรู้ความสามารถจากงานอดิเรกเราส่วนหนึ่งนะ หมายถึงว่า หลายเรื่องก็ต้องใช้ความสนใจส่วนตัวของโค้ชเอง ปีที่แล้วเราโค้ชเรื่องอาหารน้ำหมักชะลอความเปรี้ยวซึ่งเราไม่มีความรู้ด้านนี้เลย ก็ต้องไปหาข้อมูล อ่านหนังสือไม่พอ ต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อจะมาไกด์เด็กได้ ไม่ใช่ว่าเรามาโค้ชแบบไม่มีความรู้อะไรเลย

เด็กโตเราก็โต?

ใช่ หลายเรื่องที่เด็กทำโครงการเป็นเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อนก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเพราะเราเองก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง โครงการต่อกล้าฯ ท้าทายเรามาก ตอนเป็นกรรมการโครงการ NSC เราชำนาญเฉพาะด้าน เห็นปุ๊บก็รู้แล้วว่า bug อยู่ตรงไหน จะใช้คำถามอะไรเพื่อให้รู้ว่าคุณหมกเม็ด bug ตัวไหนอยู่ ขณะที่โครงการต่อกล้าฯ ไม่ใช่ ใช้ความรู้หลากหลายและแต่ละปีก็มีโครงการไม่ซ้ำกัน เพราะเราพยายามทำงานที่ยังไม่เคยมีโครงการนั้นหรือมีแล้วแต่ยังไม่มากพอ นั่นแปลว่าถ้าเด็กพัฒนา เราก็พัฒนาด้วย บางเรื่องเราก็ศึกษาไปพร้อมกับเด็ก แต่เราอาจมีพื้นฐานที่สูงกว่า ทำให้รู้ว่าจะค้นหาที่ไหน อย่างไร หรือมี connection มากพอเพื่อไปถามข้อสงสัยของเราได้มากกว่า

ถ้าโค้ชคือการต่อยอด passion ของเด็ก แล้ว passion ของโค้ชคืออะไร?

คือการสร้างเด็กนี่แหละค่ะ (หัวเราะ) อย่างปีที่แล้วมีโครงการราวตากผ้า ครั้งแรกที่เห็น ก็… “อื้ม” คือไม่รู้ว่าเขาจะไปต่อกันยังไง ไม่รู้ว่าเราจะไกด์ไปในแนวทางไหน จะไปยังไงดี อาจเพราะเด็กๆ เขาไม่ได้เรียนทางนี้มาโดยตรง ตัวราวตากผ้าเองก็รู้สึกว่าเห็นแล้วขายไม่ได้หรือขายยากเพราะหน้าตามันดูไม่น่าใช้งานเลย แต่เราก็เลือกเขาเข้ามาเพราะเด็กมี passion เอาเขาเข้ามาก่อนส่วน product ค่อยมาดูกันอีกที

โค้ชก็ยังกลุ้มใจอยู่ว่าจะช่วยไปแนวทางไหนดี ทุกคนช่วยกันเสิร์ช ช่วยกันดูว่าลักษณะงานแบบนี้ เราจะใช้มันมันยังไง ใช้ผ้าใบชนิดไหน จะให้มันม้วนเก็บยังไง มอเตอร์ควรเป็นแบบไหน ยาก… เราต้องหาข้อมูลเกือบทั้งหมด โค้ชทำการบ้าน เด็กก็ต้องทำการบ้าน แต่พอจบค่ายที่สาม การเปลี่ยนแปลง before & after ชัดมาก จุดนั้นมันสร้าง passion ให้เราเลยว่า… นี่แหละ เรารู้ว่าเราสร้างเด็กได้ เราช่วยให้เขาไปจนถึงจุดนั้นได้

สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่ายากคือ การเป็นโค้ชโครงการต่อกล้าฯ คือการปั้นต่อยอดเด็กให้ทำโครงการเหมือนนักวิจัยคนหนึ่ง แต่ในอีกทาง หลายคนเป็นเด็กมัธยม

ซึ่งมันทำให้เราใจเย็นขึ้นนะ (หัวเราะ) คือต้องบอกว่าเราทำงานวิจัย ก็จะคาดหวังว่างานมันต้องไปได้ระดับหนึ่ง แต่บางครั้งเราต้องถอยกลับมานิดนึงแล้วบอกตัวเองว่า เขาคือเด็กนะ เขายังเรียนอยู่เลย แต่เพราะด้วยสไตล์การทำงาน สิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาทดลอง มันคือการเป็นนักวิจัยเลย ต้องบอกตัวเองว่าอย่าใช้สแตนดาร์ดของเราไปประเมินเขา เรานี่แหละจะดาวน์เอง

กึ่งกลางระหว่างการท้าทายเพื่อขยายขอบความรู้ความสามารถของเด็ก กับการถอยหนึ่งก้าวเพื่อเหลือพื้นที่ให้เขาพัฒนาเติบโต คืออะไร

เวลาหน่อยมอง จะมองว่า 10 อยู่ตรงไหน แล้วค่อยๆ ป้อนให้เขาเห็นกระบวน 1 2 3 4 แล้วถามว่าเขาพอใจแค่ไหน ถ้าเขาบอก “พอใจ 3 ค่ะ” โอเคได้ เรามาคุยกัน แต่ก็ต้องเข้าใจว่าบางทีเด็กก็ประเมินเอาใจเรานะ เขาบอกว่าพอใจที่ระดับ 3 แต่เต็มที่สุดๆ แล้วอาจทำได้แค่ระดับ 2

แต่ถ้าดูแล้วว่าสิ่งที่เขาทำ ศักยภาพของเขามันได้มากกว่านี้ เราก็ต้องรุก “เฮ้ย อีกนิดเดียวน่ะ พี่ว่าถ้าทำออกมา มันจะน่าสนใจ น่าเล่น คนจะให้ความสนใจ ขายได้” แต่ถ้าเขาทำถึง 2 แล้วมันเต็มกลืนเหลือเกิน น้องเหนื่อยมาก ล้ามาก เราก็จะ “โอเค แค่นี้โอเคแล้ว” คือมันต้องมีวิธีการประเมินเขา วางว่าเราจะเข้าหากันยังไง

การเป็นโค้ช นัยหนึ่งก็คือการเป็นครู พอจะมีเคล็ดลับหรือวิธีคิดเพื่อนำบทบาทโค้ชไปอยู่ในตัวอย่างไรไหม

โค้ชคือการ consult หรือให้คำปรึกษา ไม่ใช่การสั่งสอน เหมือนเด็กเลือกเข้าไปปรึกษาเพื่อนเพราะเพื่อนไม่สั่งสอนแต่ถามว่า “แกเป็นไรวะ?” ซึ่งการสั่งสอนมันไม่ทำหน้าที่นี้ อย่างแรก อย่าคิดว่าเราต้อง push หรือยัดเยียดความรู้ให้เด็ก เราเป็นแค่คนสังเกตการณ์ว่าเด็กแต่ละคนมีศักยภาพด้านไหน ความสนใจของเขาคืออะไร แล้วค่อยเข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมศักยภาพที่เรามองเห็น หน่อยเองก็ไม่ได้มองเห็นทุกคนหรอกนะคะ แต่ถ้าเห็นแล้วรู้ว่าเราส่งเสริมเขาได้ คิดว่ามันจะทำให้เขาไปได้ไกลกว่าการพยายามยัดเยียดในสิ่งที่เราคิดว่าอยากให้เขาได้

การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) และ การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (YECC)โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ สร้างการเรียนรู้โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล 

Tags:

โคช21st Century skillsโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นักวิจัยNECTECธิปภร ธนกุลวรภาส

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Related Posts

  • Creative learning
    การพัฒนาคนคือ ‘งาน craft’ การศึกษาจึงต้องไร้พรมแดน: พิเชษฐ์ เบญจมาศ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learningCharacter building
    GO SCIF: เปลี่ยนจักรยานคันเก่าให้เป็นเกมออกกำลังกายสุดล้ำ

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Everyone can be an Educator
    ถามตอบเรื่องควอนตัม: เราย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตอย่าง AVENGERS ได้จริงไหม

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัย

  • Creative learning
    3 นักนวัตกรรมบนเวที THAILAND IT CONTEST FESTIVAL กับประสบการณ์ ‘เวที’ สร้างคนได้อย่างไร?

    เรื่อง

  • 21st Century skillsVoice of New Gen
    ‘ภูมิ’ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ผู้หยุดการศึกษาไว้ที่ ม.4 เพื่อเริ่มการเรียนรู้ตลอดชีวิต

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel