- บ้านแม่ลามาน้อย ห่างจากอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 75 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ร่วม 3 ชั่วโมง บนเส้นทางแสนขรุขระและยากลำบากโดยเฉพาะในหน้าฝน ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถไปเรียนนอกชุมชนได้ และเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน
- ก่อนก่อตั้งศูนย์ฯ เด็ก ผู้ปกครองและครู ช่วยกันออกแบบการเรียนรู้โดยนำแนวคิดของชาวปกาเกอะญอ ‘ต่ามาโละ ต่าโอมู – การเรียนรู้เพื่อการมีชีวิตที่ดีงาม’ มาเป็นหลักในการกำหนดทิศทางโดยมีหัวใจสำคัญคือ วิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต
- ที่ศูนย์การเรียนฯ เด็ก 1 คนจะเป็นเจ้าของอย่างน้อย 1 โครงการ (Project-based Learning) และมีโครงการใหญ่ที่ทุกคนทำร่วมกัน โดยครู (1 คนที่สอนทุกระดับชั้น) มีหน้าที่ตั้งคำถามและเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วย
ภาพ เฟซบุ๊กศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน
การเรียนเพื่ออยู่ร่วม อยู่รอด และอยู่อย่างมีความหมายเป็นสิ่งที่การศึกษาในปัจจุบันไม่ค่อยพูดถึง ซ้ำร้ายระบบการศึกษาตอนนี้ยังตอกลิ่มปัญหาความไม่เข้าใจความแตกต่างของเด็กและพื้นที่ด้วยแบบประเมินผลชุดเดียวกันทั้งประเทศ การเรียนที่มุ่งไปสู่การแข่งขันเช่นนี้ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งก้าวไปข้างหน้าได้ ในขณะที่เด็กจำนวนมากยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างไร้เป้าหมายจนกลายเป็นโจทย์ที่ภาคการศึกษาช่วยกันคิดแก้ไขมาตลอด
นิติศักดิ์ โตนิติ หรือ ครูหนุ่ม เห็นว่า คำตอบของโจทย์ข้อนี้คือการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และตัวผู้เรียน จึงตั้งใจสร้าง ‘ศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน’ เพื่อให้เด็กๆ ชาวปกาเกอะญอในชุมชนบ้านแม่ลามาน้อย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เข้าถึงการศึกษา เข้าใจตัวเอง และเข้าใจชุมชนไปพร้อมๆ กัน เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวินมาตั้งแต่เริ่มตั้งไข่จนถึงปัจจุบันที่สามารถก้าวเดินเติบโตจนเป็นยอมรับในฐานะโรงเรียนทางเลือก และปัจจุบันเขายังเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมการจัดการการศึกษาแม่ฮ่องสอนด้วย
ย้อนกลับไปในปี 2556 หลังจากที่ครูหนุ่มได้เข้าไปเป็นผู้ประเมินผลโครงการของครูอาสาในชุมชนแม่ลามาน้อยได้ไม่นาน โรงเรียน กศน. (การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) ที่เด็กๆ ในชุมชนไปเรียนเป็นประจำถูกยุบจนทำให้เด็กหลายคนต้องย้ายไปเรียนกับโรงเรียนของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่อยู่ไกลออกไป ไม่ว่าเด็กเล็กหรือโตก็จะต้องไปอยู่หอพักเป็นเดือนหรือเป็นปี ชาวบ้านในชุมชนจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า “หมู่บ้านเราตั้งโรงเรียนไม่ได้เหรอ”
ด้วยคำถามนี้เองทำให้ครูหนุ่มกลับมาค้นคว้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการศึกษาโดยองค์กรชุมชน ซึ่งพบคำตอบว่า “เป็นไปได้” แม้จะไม่ใช่คนในชุมชนหรือคนแม่ฮ่องสอน แต่การคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเด็ก เยาวชน และชาวบ้านในพื้นก็ทำให้ครูหนุ่มเข้าไปเป็นคนอำนวยความสะดวกและผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวินขึ้นมาได้สำเร็จและได้รับอนุมัติให้จัดการศึกษาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แม่ฮ่องสอน เขต 2 ในปี 2558
ปัจจุบันปีการศึกษา 2563 ศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวินมีเด็กในชุมชนเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย 2 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 3 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย 2 คน และมีครูซึ่งเป็นคนในชุมชน 1 คนสอนเด็กทุกระดับชั้น การจัดการเรียนแบบฉบับของศูนย์การเรียนฯ จะเน้นการบูรณาการความรู้ในชุมชนกับความรู้ทางวิชาการ ห้องเรียนก็มีตั้งแต่อาคารของศูนย์ฯ สนามหญ้า ผืนป่า ลำธารในชุมชน โดยมีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในชุมชนเป็นครูไปจนถึงการลงไปในเมืองเพื่อหาความรู้กับผู้รู้อื่นๆ
การศึกษาต้องเปิดให้เด็ก (และผู้ปกครอง) จัดการเรียนรู้เอง
“พ่อแม่เขามองว่า เด็กเล็กๆ ถ้าไม่ได้เรียนรู้ความรู้ในพื้นที่ที่เป็นวิชาชีวิต หรือว่าวิชาที่พ่อแม่สอนในครอบครัว โตขึ้นจะสอนไม่ได้ แล้วอย่างนี้เขาก็จะออกจากบ้านไปเรื่อยๆ ไม่ได้มองกลับมาที่บ้าน เพราะว่าเขาไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์กับบ้าน” ครูหนุ่มเล่าถึงที่มาของศูนย์การเรียนฯ ที่สอนเรื่องพืชอาหาร พืชสมุนไพร งานจักสาน สีย้อมผ้า และร่วมกับวิทยาลัยชุมชนในการสอนวิชาชีพด้านต่างๆ เช่น การเกษตรเชื่อมกับเรื่องการเรียนรู้ที่นำไปสู่การอ่านออกเขียนได้ การคิดคำนวณ การจัดการ การดูแลตัวเอง การดูแลครอบครัว ฯลฯ
จากความตั้งใจที่จะให้เป็นศูนย์การเรียนของเด็กในชุมชน ครูหนุ่มจึงชวนเด็ก ผู้ปกครอง ครู ล้อมวงหารือเพื่อตกลงร่วมกันว่าจะออกแบบการเรียนอย่างไรตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนฯ จนเกิดการนำแนวคิดของชาวปกาเกอะญอ ‘ต่ามาโละ ต่าโอมู – การเรียนรู้เพื่อการมีชีวิตที่ดีงาม’ มาเป็นหลักในการกำหนดทิศทางของการเรียนรู้ โดยเห็นตรงกันว่า ระดับชั้นประถมศึกษาจะเป็นการเรียนเพื่อให้ดูแลตัวเองได้ ระดับมัธยมศึกษาเป็นการเรียนเพื่อให้ดูแลครอบครัวได้ในด้านเศรษฐกิจ ระดับมัธยมต้นต้องรู้จักลดรายจ่าย มัธยมปลายรู้จักเพิ่มรายได้ และถ้าเรียนถึงระดับอุดมศึกษา เป้าหมายก็จะอยู่ที่การกลับมาดูแลชุมชนได้รวมไปถึงดูแลเรื่องดิน น้ำ ป่าด้วย
‘วิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต’ คือสามอย่างที่ศูนย์การเรียนฯ ยึดเป็นหลัก เช่น เมื่อเรียนเรื่องการย้อมสีฝ้าย เด็กจะได้รู้เรื่องปริมาตรน้ำกับการย้อมเส้นฝ้าย ความเข้มข้นของสีใช้ขมิ้นเท่าไร น้ำต้มกี่องศา น้ำเดือดแบบไหน สีที่ย้อมติดกับสีที่ลอกเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้เด็กจะได้บูรณาการความรู้ทั้งสามอย่าง แต่ในเทอมหนึ่งจะเรียนเรื่องอะไรบ้างนั้น เด็กๆ สามารถเลือกที่จะเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจได้
นั่นหมายความว่า เด็กแต่ละคนจะมีตารางเรียน มีวิธีการเรียนที่ตัวเองเลือกเอง และการได้เลือกเองเช่นนี้ที่ครูหนุ่มเห็นว่า จะทำให้เด็กซึมซับวิธีการที่จะช่วยให้เด็กสร้างทางเลือกของตัวเองต่อไปได้ และจะอยู่ในกรอบของการเรียนเพื่อมี “ราก” ที่ทำให้เด็กเติบโตไปอย่างมีตัวตนโดยที่เข้าใจทั้งตัวเองและชุมชน
เมื่อได้เรียนรู้เรื่องใดแล้ว ครูหนุ่มยังออกแบบให้การประเมินผลการเรียนอยู่ในอำนาจของผู้เรียน เด็กๆ ที่ศูนย์การเรียนฯ จะได้ประเมินตัวเองว่าความรู้หรือสิ่งที่พวกเขาได้มาจากอะไร แล้วต้องฝึกฝนเรื่องใดต่อ ในขณะเดียวกันเพื่อนก็ยังได้ประเมินเพื่อนด้วยกัน และครูกับผู้ปกครองก็ได้ประเมินด้วยเช่นกัน
“เราทำเป็นการประเมิน มีโครง มีหัวข้อ ถ้าทำง่ายๆ ก็ออกแบบเป็นตารางกิจกรรม แล้วประเมินเช่นว่า รังแกสัตว์มั้ย มีเด็กเขาให้คะแนนตัวเอง 2 เราถามว่าทำไมให้แค่นี้ เขาบอก ผมไปขุดไส้เดือนมาตกปลา เราบอกเขาว่า ก็ไม่ได้ผิดอะไรหนิ เขาแย้งว่า ผมเอามาดึงเล่น ผมรังแกสัตว์ พอเราถามว่าแล้วอยากได้เท่าไร เขาบอก อยากได้ 4 อยากได้ 5 คะแนน ถามต่อแล้วต้องทำยังไงบ้าง” ครูหนุ่มยกตัวอย่าง และแม้คะแนนไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเขา แต่เด็กที่จบจากศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวินจะมีใบรับรองวิชาต่างๆ ที่พวกเขาได้เรียนและสามารถเทียบวุฒิกับการศึกษาในระบบได้
อีกด้านหนึ่งของครูหนุ่มที่สวมหมวกผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมการจัดการการศึกษาแม่ฮ่องสอน ทำให้แนวคิดในการเปิดโอกาสให้เด็กได้จัดการเรียนรู้เช่นนี้ได้เดินทางต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ครูหนุ่มกำลังทำโครงการฯ กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ด้วยความตั้งใจว่า จะชวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบ เช่น เด็กที่ยากจน มีปัญหาสุขภาพ หรือเป็นแม่วัยใสให้ได้กลับมาเรียนรู้เพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน และที่สำคัญการเรียนรู้เหล่านี้ต้องต้องมีกระบวนการคิดที่จะเชื่อมโยงไปสู่การลงมือปฏิบัติที่ทำให้เด็กๆ จัดการตัวเองให้อยู่ได้ เช่น รู้จักวิเคราะห์รายได้ที่จะเกิดขึ้นหากเด็กมีครอบครัว หรือเมื่อมีคนในบ้านป่วย
“ตอนนี้อยู่ในขั้นการไปทำงานกับเขาก่อนแล้วพอเขาสนใจแล้วก็ดูความต้องการที่จะได้วุฒิ ที่จะมีโอกาสต่อในเรื่องการศึกษา เรื่องการทำงาน เรื่องในเรื่องชีวิตเขา เราสามารถเอาสิ่งที่เขาทำ มีการบันทึกผลการเรียนรู้ไปคิดต่อ เขาทำเรื่องอาชีพเป็นเรื่องนึงแต่ว่าเรามองเรื่องการเรียนรู้เป็นสำคัญว่า ตัวเขาจะออกแบบและจัดการชีวิตตัวเขายังไง ดูแลครอบครัวยังไง ซึ่งการเรียนจะเข้าไปช่วยรับเยาวชนลักษณะนี้”
Project-based Learning ทำโปรเจกต์ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
กิจกรรมในชุมชนชาวปกาเกอะญอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีกรรมไปจนถึงการจัดการผลผลิตล้วนเป็น “ภาคปฏิบัติ” ที่เด็กๆ สามารถเห็นได้เอง ดังนั้นทางครูหนุ่มและชุมชนบ้านแม่ลามาน้อยจึงเลือกที่จะจัดการเรียนรู้ภายในศูนย์การเรียนฯ โดยใช้ “โปรเจกต์” เป็นฐาน หรือ Project-based Learning เด็กๆ จะเริ่มจากการมองเรื่องใกล้ตัว พวกเขาจะระดมความเห็นออกมาว่า มองเห็นปัญหาอะไรในชุมชนบ้าง และอยากจะรู้หรือทำอะไรในเรื่องนั้น เช่น สร้างสรรค์ศิลปะจากธรรมชาติ ปลูกผักในหน้าแล้ง ทำนาข้าว ขุดบ่อเพื่อเลี้ยงปลา ฯลฯ แล้วจึงเริ่มหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ นั่นหมายถึง การจะเกิดโปรเจกต์ได้ เด็กจะต้องเรียนโดยมี “ปัญหา” เป็นฐาน หรือ Problem-based Learning ขึ้นมาก่อนด้วย
“ตัวอย่างที่ผ่านมา มีเด็กเขาตั้งชื่อว่า ศิลปะบนผืนดิน เขาทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ เขาสำรวจเมล็ดพันธุ์ในชุมชนแล้วเห็นว่า เมล็ดพันธุ์มันลดลง ชนิดพันธุ์ข้าวมันลดลง จาก 26 ชนิด มาเป็น 13 จาก 13 เหลือ 6 ทีนี้มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันลดลง มันควรจะเป็นอย่างนี้ต่อไปมั้ย ถ้ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ต้องทำอะไรบ้าง ก็จะเป็นโครงการเกิดขึ้นมา ก็คือไปเรียนรู้สถานการณ์ก่อน”
ที่ศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน เด็ก 1 คนจะเป็นเจ้าของอย่างน้อย 1 โครงการ หรือบางครั้งจะมีโครงการใหญ่ที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมกับโครงการของคนอื่นๆ และถือโอกาสเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยมีเจ้าของโครงการเป็นเจ้าภาพหลัก หรือแม้แต่ครูเองที่นอกจากจะมีหน้าที่ตั้งคำถามแล้วก็จะเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วย ครูจะต้องไปทำการบ้านมาในเรื่องโครงการนั้นๆ เพื่อที่ว่าจะได้ช่วยสานต่อการเรียนรู้ได้ เช่น คอยบอกว่าใครจะเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ในเรื่องที่เด็กอยากหาคำตอบหรืออยากลงมือทำ หรือชวนให้เด็กหาข้อมูลต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต
“เวลาแต่ละคนทำ มันต้องสร้างความร่วมมือ ชวนคนนู้นคนนี้ทำ มีบทบาทกัน เช่น เขาอยากจะขุดบ่อเลี้ยงปลา แต่ว่าทำคนเดียวไม่ได้ เพราะว่าบ่อปลามันใหญ่ก็จะต้องชวนเพื่อนว่าใครจะมาช่วยกันบ้าง แล้วมันมีเรื่องมิติทางสังคมด้วย มีบางคนไม่อยากมาเรียนก็ต้องออกแบบกันว่า เอาความสูงของคนนั้นเป็นความลึกของบ่อปลา เพราะฉะนั้นคนนี้ก็จะต้องมาเพราะต้องวัดว่าความสูงของบ่อปลาขุดได้ระดับรึยัง”
ครูหนุ่มเล่าว่า จากที่เคยทำมา ความซับซ้อนหรือความยากง่ายของโปรเจกต์จะเพิ่มระดับขึ้นตามระดับชั้น เช่น เด็กประถมจะสนใจเรื่องศิลปะ ในขณะที่เด็กโตจะมองไปถึงเรื่องการแก้ปัญหาผลผลิตของชุมชน
“เด็กโตหน่อยก็จำเป็นจะต้องรู้ว่า ชุมชนมีเหตุการณ์ มีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง เช่น เรื่องข้าวไม่พอกิน เราจะทำให้ข้าวพอกินจะต้องหาความรู้ยังไง ที่ปลูกเดิมมันเป็นยังไง แล้วถ้าเราปลูกด้วยวิธีการแบบเดิม ข้าวพันธุ์เดิม เราก็น่าจะได้คำตอบเหมือนเดิม แต่ถ้าเราต้องการคำตอบใหม่ที่ไปแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน เราควรจะทำอะไรบ้าง ก็ต้องมองตั้งแต่ว่าผู้รู้ของแต่ละเรื่องนี้อยู่ที่ไหน จะเดินทางไปหายังไง จะไปเอาพันธุ์ข้าวอะไรมาทดลองยังไง”
PBL ของเด็กที่ศูนย์การเรียนฯ เริ่มจากความสนใจในตัวปัญหา หลังจากนั้นครูหนุ่มบอกว่า วิธีการอาจกลับไปกลับมาได้ เช่น เด็กอาจคิดแล้วลงมือทำเลย หรืออาจจะไปถามผู้รู้ก่อน หรือถามแล้ว ลงมือทำแล้วไม่ดีก็กลับไปถามผู้รู้ใหม่ได้ ซึ่งครูหนุ่มได้ย้ำว่า เด็กจะทำสำเร็จหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ
“การทำโปรเจกต์ ถ้าทำไม่เสร็จ ทำแล้วไม่ได้เรื่อง ทำแล้วเสียหาย นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญครับ เราไม่ได้เน้นความสำเร็จ เน้นว่าเราทำเนี่ย เราเรียนรู้อะไร ถ้าสำเร็จได้เรียนรู้อะไร ทำไม่สำเร็จ ได้เรียนรู้อะไร สิ่งที่ได้ก็มี hard skills กับ soft skills นะ ถ้า hard skills ก็เป็นความรู้ที่เป็นวิชาการ เป็นเรื่องทักษะต่างๆ ทักษะอาชีพ การทำอะไรเป็น แต่ว่า soft skills จะเป็นคุณลักษณะภายใน เช่นว่า คุณสมบัติที่อดทนต่อเรื่องนั้นมากพอมั้ย”
การศึกษาเพื่ออยู่ร่วมและอยู่รอด
ครูหนุ่มไม่ได้ปฏิเสธการเรียนใน ‘ระบบ’ แต่การเรียนต้องปรับให้เด็กสามารถที่จะอยู่ในอนาคตได้ ส่วนตัวเขาเห็นว่า เราต้องไม่มองการศึกษาแยกจากชีวิตและสังคม เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เด็กอยู่รอดได้ การศึกษาต้องเป็นการศึกษาเพื่อการมีชีวิตและการอยู่ร่วมกัน
เมื่อได้เห็นภาพรวมการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและได้ทำงานร่วมกับหลายโรงเรียน ครูหนุ่มตั้งใจจะให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันระหว่างชุมชน เช่น เด็กที่บ้านสบเมยซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำสาละวินจะได้มีโอกาสเรียนเรื่องกาแฟที่อยู่บนดอย ขณะที่เด็กที่อยู่บนดอยที่รู้เรื่องกาแฟอยู่แล้วก็จะได้เรียนรู้เรื่องจิ้งหรีดที่แม่น้ำสาละวิน เพราะเขาเห็นว่า การแลกเปลี่ยนความรู้กันจะทำให้เด็กอยู่รอดได้
“พอเราหยิบประเด็นจากชุมชนและสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เด็กเริ่มเห็นวิธีการเรียนรู้ที่ไม่ใช่สำคัญแค่ตัวองค์ความรู้ แต่ว่ายังเป็นวิธีการที่จะสร้างความรู้ ที่จะสร้างความร่วมมือ เป็นการสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับตัวเองที่จะอยู่รอดในอนาคตได้”
เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้เกิดให้ได้ในระบบการศึกษาที่ครูหนุ่มมองเห็นคือการต่อยอดระหว่างความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีความหลายหลายทางชาติพันธุ์ สิ่งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีของคนในพื้นที่ที่ใช้ความแตกต่างทางองค์ความรู้หรือวัฒนธรรมมาช่วยเหลือกัน
“เราพูดถึงอนาคตที่เป็นเรื่องของ well-being เรียกว่าการอยู่แบบมีสุขภาวะที่ดี ถ้าเราจะทำการศึกษาที่สร้างบุคลากรไปสู่การจัดการแบบนั้นได้ ผมคิดว่ามันต้องคิดถึงเรื่องพวกนี้ว่า เราจะจัดการการกินการอยู่ยังไงให้สมดุลและช่วยเหลือกันได้ ก็เลยคิดว่าองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมในชุมชนมีความสำคัญที่จะต้องได้รับโอกาสในการต่อยอด ความรู้ใหม่หลายตัวที่ลงไปถึงระดับนาโนเทคโนโลยีอะไรแบบนี้มีโอกาสมาต่อยอดยังไงในเรื่องของอาหาร เรื่องของการดูแลสุขภาพ
ในแม่ฮ่องสอนมีโอกาสเยอะ ความรู้ที่มีอยู่เดิมเนี่ยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่แต่ละชาติติพันธุ์มี เช่น วิธีการของการผลิตว่าจะต้องกินอะไร ผลิตอะไร จะต้องมีการรวมตัวกันจัดการเรื่องทางสังคมยังไง แต่ที่ผ่านมาการจัดระเบียบความรู้การจัดระเบียบสังคมมันไม่ได้ถูกถ่ายทอดหรือว่าช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ทุกคน”
เพราะการกระจายทรัพยากรที่ยังไม่ทั่วถึง โครงสร้างในระบบที่กุมอำนาจทางการศึกษาที่ไม่ยืดหยุ่น รวมไปถึงวิธีจัดการศึกษาที่ไม่คำนึงถึงตัวเด็กและพื้นที่ ทำให้การเรียนของเด็กโดยเฉพาะเด็กชาติพันธุ์อาจจะอยู่รอดได้ยากในสายตาครูหนุ่ม ดังนั้นนอกจากจะทำงานในระดับชุมชนแล้ว เขายังมองภาพใหญ่ และพยายามปลดล็อกปัญหาเหล่านี้โดยการทำงานกับหลายๆ ภาคส่วนเพื่อให้มาเป็นภาคีร่วมในการจัดการศึกษาด้วย
“การศึกษาถ้าจะคำนึงถึงกันจริงๆ ต้องสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ หลายพื้นที่มีโรงเรียนเข้าไปก็จริงแต่มันไปริดรอนสิทธิ ทำให้เด็กหลุดจากความรู้ชุมชนแล้ววันนึงเขาโตขึ้นมา เขาไม่ได้รู้สึกว่าบ้านมีความหมายอะไรกับเขา อันนี้มันเหมือนกับน็อคน้ำเย็น เราค่อยๆ ตายไปแบบไม่รู้ตัว”
ที่จริงแล้ว ‘อยู่ร่วม เพื่ออยู่รอด และอยู่อย่างมีความหมาย’ คือหลักคิดของชุมชนปกาเกอะญอที่ครูหนุ่มเอามาปรับใช้กับเรื่องการศึกษา ครูหนุ่มเห็นว่าที่จริงแล้วก็คือหลักการอยู่ในสังคมทั่วไป แต่การศึกษาปัจจุบันพูดเรื่องนี้น้อยมาก เขาย้ำว่า สิ่งที่เขากำลังคิด กำลังทำก็คือ การชวนมองเรื่องอำนาจการเรียนรู้ด้วยสายตาใหม่
ไม่ใช่แค่ที่แม่ฮ่องสอน… แต่คือการศึกษาในทุกพื้นที่