กลุ่มละครมะขามป้อม เชื่อว่า ศิลปะสามารถสะท้อนตัวตน ปลุกเร้าแรงบันดาลใจ และกระตุ้นความใส่ใจในมนุษย์และความยุติธรรมได้ ละครเป็นการจำลองชีวิตมนุษย์ เพราะฉะนั้นศิลปะกับชีวิตมนุษย์จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ก็ควรมาเรียนการละครเพื่อทำความรู้จักตัวเองและทำความรู้จักมนุษย์คนอื่นๆ กลุ่มละครมะขามป้อมจึงเดินทางมาถึงปีที่ 40 เพราะคนกำลังออกตามหาสิ่งที่พร่องไปจากห้องเรียน
ภาพ: ภัทรพล ประสิทธิ์
ดูเหมือนว่าเส้นทางแห่งการเรียนรู้จะดึงดูดให้มาเยือนเชียงดาวอีกครั้ง จากปลายฝนมาต้นหนาว ความเฉอะแฉะของเม็ดฝนเปลี่ยนเป็นลมหนาวที่พัดมากระทบให้รู้สึกสดชื่นไปกับบรรยากาศโดยรอบ ดอยเชียงดาวอวดโฉมให้เห็นอย่างชัดเจนในคราวนี้ ทุ่งนาที่เคยเป็นต้นข้าวสีเขียว ออกรวงสีเหลืองทองอร่าม เสียงรถเกี่ยวข้าวทำงานอย่างแข็งขัน แข่งกับแสงตะวันที่จะลับขอบฟ้า
มูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ กลุ่มละครมะขามป้อม เป็นจุดหมายปลายทางในครั้งนี้ พื้นที่ศิลปะสร้างสรรค์สังคม ที่เชื่อว่า ศิลปะสามารถสะท้อนตัวตน ปลุกเร้าแรงบันดาลใจ และกระตุ้นความใส่ใจในมนุษย์และความยุติธรรมได้
ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร เจ้าบ้านอยู่ในชุดสบายๆ เสื้อยืด กางเกงขาก๊วยเข้ากับบรรยากาศผ่อนคลาย ขัดกับหัวข้อสนทนาเข้มข้นในวันนี้ที่กำลังพูดถึงการเดินทางขององค์กรสังคมองค์กรหนึ่ง ซึ่งถือกำเนิดมาจากอาสาสมัครขนาดกะทัดรัดที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วม 40 ปี
พฤหัส พหลกุลบุตร
กว่าจะมาเป็นตัวตนคนละคร
นักเรียนชั้นประถมศึกษากับการแสดงละครหน้าชั้นเรียนในรายวิชาภาษาไทย ฟังดูแล้วเป็นเรื่องน่าขยาด แต่กลับเป็นที่ชื่นชอบของเด็กชายพฤหัส
“ที่รู้ตัวว่าชอบก็เพราะทำแล้วรู้สึกสนุก รู้เลยว่าสนใจศาสตร์ด้านการละครมาตั้งแต่ตอนนั้น พอเรียนชั้นมัธยมศึกษาได้ไปดูละครเวทีเรื่องแรกที่จัดโดยสำนักศิษย์สะดือซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ทำนิตยสารไปยาลใหญ่ ใครเกิดในยุคนั้นจะรู้จักคนกลุ่มนี้ ตอนที่ดูเรารู้สึกว่าอยากขึ้นไปอยู่บนเวทีแบบนั้นบ้าง
ต่อมาตอนชั้นมัธยมปลาย ได้ดูละครเวทีเรื่อง”สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” ซึ่งเป็นที่กล่าวขานของคนยุคนั้น รอบแสดงสดจัดขึ้นที่โรงละครแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2530 คนไปดูกันล้นทะลัก เรานั่งดูทางโทรทัศน์ก็ยังรู้สึกเหมือนตัวเองถูกดูดวิญญาณเข้าไปในละคร จากที่ไม่รู้จักละครเวทีเราก็ได้รู้ว่าละครเวทีเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง แล้วก็บอกกับตัวเองว่า…ฉันจะทำแบบนี้ เป็นความฝันที่มีมาตั้งแต่แรก”
เมื่อพูดถึงความฝัน พฤหัส บอกว่า สื่อแต่ละยุคมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมความฝันของเด็กและเยาวชน ในด้านที่เป็นแบบอย่างทางความคิด ไปจนถึงการแสดงออก แล้วนำไปสู่การเดินตามรอยหรือแม้กระทั่งการพยายามฉีกออกจากรอยเดิม การได้รับโอกาสให้ฝันอย่างเป็นอิสระ โดยปราศจากการควบคุมและกดดันจากครอบครัว โรงเรียน หรือสังคม ทำให้ความฝันได้เติบโต
“ครอบครัวเราเป็นครอบครัวคนจีนที่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ ไม่เคยบังคับหรือกดดันว่าต้องเรียนอะไร ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นสื่อ เช่นสิ่งที่เราอ่าน สิ่งที่เราดูเลยมีผลต่อการก่อฟอร์มความคิด วัยรุ่นยุคเราก่อร่างสร้างตัวมากับนิตยสารไปยาลใหญ่ รายการของกลุ่มซูโม่สำอาง แล้วก็รายการที่เอาละครเวทีมาเล่น อย่างรายการวิก 07 ซึ่งดังมาก แต่ก็ต้องบอกว่าละครเวทียังเป็นการแสดงที่ได้รับความสนใจอยู่ในกลุ่มที่เล็กมาก คนยังมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เลยเป็นศาสตร์ทางเลือกมากๆ”
นอกจากความชื่นชอบด้านการละครแล้ว พฤหัส บอกว่า การทำงานด้านการศึกษา เป็นอีกอย่างหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของเขาเช่นกัน ความสนใจทั้ง 2 ด้าน มีผลต่อการเลือกจัดวางลำดับคณะตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย…เขาได้เลือกในสิ่งที่เขาชอบ
“เราตั้งคำถามกับตัวเองและสิ่งรอบตัวอยู่ตลอด ถึงจะเป็นเด็กเรียน ทำตามระเบียบโรงเรียน แต่ลึกๆ ก็มีคำถามอยู่ในใจว่า ทำไมครูต้องให้ตัดผมเกรียน ทำไมต้องเข้าแถวเคารพธงชาติ ทำไมต้องทำแบบนั้น ทำไมไม่ให้ทำแบบนี้ ทำไมเราถึงรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ การตั้งคำถามกับตัวเอง ทำให้รู้ตัวว่าชอบอะไรมาตั้งแต่แรก เราเลยได้ทำสิ่งที่ทำอยู่นี้มาตลอดชีวิต ไม่เคยเปลี่ยน เพราะความฝันกับความจริงของเราเป็นเรื่องเดียวกัน และยังอยากทำมันต่อไปเรื่อยๆ”
จากประสบการณ์ พฤหัสเรียนรู้ว่าการทำให้เด็กและเยาวชนค้นพบความสนใจของตัวเอง ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่กำลังมีความสับสน ได้รับการชักจูงหรือทำตามกระแสได้ง่าย แม้ยังไม่รู้จักตัวเองอย่างแน่ชัด แต่อย่างน้อยๆ การทำให้พวกเขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่พวกเขาชอบและสนใจ อะไรคือสิ่งที่ทำได้ดี แทนการนิ่งเฉยหรือปล่อยให้เป็นไปการชักพาไปของครอบครัวและสังคม ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
สร้างเครื่องทุ่นแรง
‘กลุ่มละครมะขามป้อม’ เดิมเป็นฝ่ายหนึ่งในโครงการสื่อชาวบ้าน เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่นำสื่อและการละครมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เพื่อพัฒนาบุคคลและสังคมอย่างจริงจังกลุ่มแรกๆ ในประเทศไทย ประสบการณ์จริงภาคสนามทำให้พวกเขารวบรวมองค์ความรู้มาปรับประยุกต์ได้หมาะกับบริบท ความเปลี่ยนแปลงในสังคมและความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ ทั้งในโรงเรียน โรงเรียนแพทย์ สถาบันอุดมศึกษา องค์กรพัฒนาสังคม องค์กรเอกชน และ ภาคนโยบาย
การเดินทางของมะขามป้อมมาร่วม 40 ปี สิ่งที่พวกเขามีมากพอ คือ ประสบการณ์ทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่จริงทั่วประเทศ ประสบการณ์ที่เป็นเหมือนองค์ความรู้เฉพาะที่สามารถสังเคราะห์เป็นหลักสูตร แล้วนำมาถ่ายทอดเพื่อแตกยอดองค์ความรู้ให้สามารถเผยแพร่ไปได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น
การทำงานในช่วง 10 ปีหลังของมะขามป้อม จึงเข้าไปสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่จะเป็นจิ๊กซอว์เข้าไปช่วยสร้างคนได้อีกต่อหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์ นักพัฒนาสังคม นักจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นักการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
พฤหัส เล่าว่า ก่อนมะขามป้อมจะเปิดพื้นที่สำหรับงานฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อเผยแพร่กระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมละคร ในยุคแรกมะขามป้อมใช้กระบวนการ ละครเร่ และ ละครรณรงค์ เป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อเป็นสื่อกลางเล็กๆ นำเสนอเรื่องราวสะท้อนปัญหาชาวบ้านสู่สังคม โดยเน้นทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ
กระทั่งปี พ.ศ. 2543 ได้พัฒนารูปแบบการทำงานมาเป็น ละครเพื่อการพัฒนาชุมชน (Community Theatre) ใช้สื่อพื้นบ้านและศิลปะมาผสมผสานกันเพื่อนำเสนอสาระที่ร่วมสมัยมากขึ้น
“วันนั้นพี่เปลี่ยนชีวิตผม” คำพูดสั้นๆ จากเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่ง ที่เคยผ่านการทำกิจกรรมร่วมกับโครงการละคร และเป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อยขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
“สิ่งที่ได้ยินไม่ได้หมายความว่าตัวเราเก่ง แต่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการละครใช้ได้ผล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสะสมมาเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว เด็กๆ ที่เคยทำโครงการด้วยกันมา เขาเติบโตขึ้นได้ถูกทาง เราเลยเชื่อมั่นในกระบวนนี้ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ต้องยอมรับว่าการทำกิจกรรมกับเด็กใช้พลังงานมาก นานวันเข้าคนทำงานก็เริ่มล้า….จนต้องคิดหาตัวช่วย”
จุดนี้เองที่ทำให้คำถามใหม่เกิดขึ้นมาอีกครั้ง!
“แล้วถ้าเราทำงานกับคนที่เป็นตัวคูณได้ล่ะ? คนที่จะเอากระบวนการละครไปใช้ต่อกับเด็กและเยาวชนกลุ่มต่างๆ ได้ เราเลยสร้างหลักสูตร แล้วจัดเวิร์คช็อปขึ้นมา”
กระบวนการละครจะสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร?
การละครเป็นศาสตร์ที่รวมศิลปะแทบทุกแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งการสร้างฉากที่ต้องใช้ฝีมือการวาดหรือการออกแบบเพื่อสร้างความงามทางสายตา การเขียนบทที่ต้องใช้การเรียงร้อยภาษาและโครงเรื่อง การใช้การแสดงออกทางร่างกาย เช่น ท่วงท่า สายตา หรือการเต้น และการใช้ทำนองของดนตรีเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน…เป็นลมหายใจเดียวกัน
กระบวนการละครจึงใช้ทั้ง ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การคิดวิเคราะห์ (critical thinking) การสื่อสาร (communication) และการทำงานเป็นทีม (collaboration) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พฤหัส บอกว่า ละครเป็นการจำลองชีวิตมนุษย์ เพราะฉะนั้นศิลปะกับชีวิตมนุษย์จึงเป็นเรื่องเดียวกัน
“คุณไม่จำเป็นต้องอยากเป็นนักแสดงหรือศิลปิน แล้วถึงจะมาเรียนการละคร แต่คนทุกคนควรมาเรียนการละครเพื่อทำความรู้จักตัวเองและทำความรู้จักมนุษย์คนอื่นๆ ทำไมเราคิดแบบนี้ ทำไมคนนี้คิดอย่างนั้น พอเราได้สวมบทบาทเป็นคนคนนั้นเราจะเข้าใจเขามากขึ้น มันไม่ได้เป็นเรื่องสูงส่งหรือเก๋ไก๋ แต่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่เจออยู่ทั่วไปในชีวิต”
ละครกับการเรียนรู้มนุษย์เป็นสิ่งเดียวกัน เพราะ กระบวนการละคร คือ การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ พฤหัส เห็นเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของตัวเองผ่านกระบวนการละคร ที่สร้างการเรียนรู้ให้ได้มองและทำความเข้าใจตัวเอง สังคม และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น
“ตอนเรียนทฤษฎีต่างๆ ในห้องเรียนมหาวิทยาลัย เราไม่เคยเข้าใจเลย แต่พอเพื่อนชวนมาทำกิจกรรมกับกลุ่มละครมะขามป้อม เรากลับเชื่อมโยงกิจกรรมที่ทำเข้ากับทฤษฎีในห้องเรียนได้ แล้วยังเข้าใจมากขึ้นไปอีก เลยทำให้ตั้งคำถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้นการเรียนรู้ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนอย่างเดียวใช่ไหม…?
เรามองว่าการเรียนในห้องเรียนที่เอานักเรียน 50 คนไปอัดไว้ในห้องเดียวเป็นการเรียนที่ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะเด็กเล็กวัยซนซึ่งมีพลังงานล้นเหลือ พวกเขาต้องใช้พลังงานเหล่านั้น ในทางกลับกันถ้าคลาสเล็กลง มีกิจกรรมให้เด็กได้ทำ ได้วิ่ง ได้ใช้กำลังมากขึ้น อาการของเด็กในห้องเรียนจะไม่เป็นอย่างที่เห็น ไม่มีคำว่าง่วง เบื่อ หรือไม่อยากเรียน”
พฤหัส ยกตัวอย่าง กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนพิจารณาถึง 7 ระดับพลังงาน ที่แสดงภาวะทางพฤติกรรมของมนุษย์ ในกระบวนการละครผู้เรียนต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ในระดับพลังงานทั้ง 7 แล้วจำความรู้สึก การแสดงออกทางร่างกาย หรือแม้กระทั่งจังหวะการเต้นของหัวใจในแต่ละช่วงขณะไว้
ประกอบด้วย
หนึ่ง ภาวะเปลี้ย หมดแรง (super relax/ exhausted)
สอง ภาวะผ่อนคลาย (relax)
สาม ภาวะปกติหรือพร้อม (neutral)
สี่ ภาวะตื่นตัว (alert)
ห้า ภาวะระแวง (suspense)
หก ภาวะคับขัน (passionate)
และ เจ็ด ภาวะช็อก/ชะงัก (tragic)
“ถ้าคุณได้ซ้อมละครบ่อยๆ วันหนึ่งเกิดรถชนขึ้นมา คุณจะรู้ว่าควรรับมืออย่างไร แล้วจะดึงตัวเองเข้ามาอยู่ในภาวะปกติได้อย่างไร การได้เรียนรู้ว่ามนุษย์มีภาวะเหล่านี้อยู่ เราจะรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ทำให้รับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น แล้วเข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนเรียนรู้ได้
เราใช้กระบวนการตรงนี้เข้าไปเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พาพวกเขากลับไปทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ที่ผ่านมาเขาอาจพูดไม่ได้ แสดงออกไม่ได้ แต่ละครทำให้ได้พูดได้ระบาย ได้สื่อสารสิ่งที่อยู่ภายในใจออกมา คนที่ต้องสวมบทเป็นทหารได้ผ่านกระบวนการคิดว่าทำไมทหารต้องพูดแบบนี้ ทำไมต้องทำอย่างนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือการคลี่คลายความรู้สึก เป็นการเยียวยาตัวเอง ขณะเดียวกันก็ได้ทำความเข้าใจผู้อื่น”
การศึกษาแยกไม่ออกจากเรื่องการเมือง
รากฐานของมะขามป้อมเติบโตขึ้นจากการทำงานขับเคลื่อนประเด็นสังคม และให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน โดยใช้ละครเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ด้วยเหตุนี้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมในหลายๆ ครั้งจึงหนีไม่พ้นจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายส่วนกลางและอำนาจรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา
“ตอนนี้มีครูจำนวนมากเลยที่อยากเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เป็นมากกว่าแค่การท่องจำเพื่อไปสอบแข่งขัน แต่ติดเรื่องโครงสร้างอำนาจและระเบียบต่างๆ ทำให้ครูไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก แค่นี้ครูก็จะตายอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาด้านการศึกษาจึงต้องเกิดขึ้นทั้งสองทาง เราทำงานสร้างครูให้มีความคิดที่ถูกต้องเป็นเรื่องหนึ่งที่เราทำกันอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการสนับสนุนเชิงนโยบายจากส่วนกลางด้วย”
พฤหัส บอกว่า งานด้านการศึกษาของมะขามป้อมไม่หยุดแค่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ให้ครูออกไปสร้างการเรียนรู้ให้เด็กได้เท่านั้น แต่ต้องการให้การเรียนรู้นั้นกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถามต่อ คำถามที่ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบในทันที ขอเพียงแค่มีพื้นที่ให้คำถามได้ปรากฏขึ้น
‘โรงเรียนวิทยากร’ เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มะขามป้อมออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ 7 หลักสูตรขึ้นมา โดยใช้กระบวนการละครเข้ามาสร้างกระบวนการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากระดับตัวบุคคล แล้วนำไปสู่การวางแผนออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้อื่น เป้าหมายมุ่งไปที่บุคลากรในแวดวงการศึกษาและการพัฒนา แต่ก็ไม่ปิดกั้นสำหรับคนทั่วไปที่สนใจ
“ส่วนใหญ่เรามักพูดถึงการเรียนรู้เทคนิคการสอน แต่ไม่ได้มองถึงสุขภาพกายและใจของผู้ใช้เทคนิค ซึ่งทุกวันนี้ระบบการศึกษาทำให้ตัวครูเองก็ป่วย ครูจึงควรได้รับการเยียวยา ปีนี้ (พ.ศ. 2561) เราตั้งใจเปิดขึ้นมาแค่ 3 หลักสูตร เพื่อผู้เรียนตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น ได้แก่
หลักสูตร 1 นักออกแบบการเรียนรู้ที่มีหัวใจ (Transformative Learning Design) กระบวนการจะพาผู้เรียนไปทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละบุคคล ครูจะสร้างห้องเรียนที่มีชีวิตและมีความหมายต่อผู้เรียนได้อย่างไร
หลักสูตร 2 นักละครสร้างการเรียนรู้ (Drama for Educator ) กระบวนการละครทำให้ทั้งผู้แสดงและผู้ชมได้ฉุกคิด และพิจารณาชีวิตอย่างใคร่ครวญ ในมุมของคนแสดงการได้สวมบทบาทเป็นคนอื่น ทำให้เขาเข้าใจความคิดของตัวละครที่เขากำลังสวมบทบาทอยู่ ในมุมของผู้ชม กระบวนการละครมีพลังทำให้ผู้ชมได้แง่คิดจากเนื้อหาของละครที่นำเสนอออกไป
หลักสูตร 3 นักสื่อสารเพื่อการคิดวิพากษ์ (Creative Communicator for Critical Thinking) ที่จะช่วยสร้างกระบวนการคิดผลิตสื่อ เพื่อให้คนในสังคมได้นำไปถกเถียงต่อ สิ่งสำคัญอยู่ที่การนำไปวิพากษ์วิจารณ์แล้วพูดต่อนี่แหละ ไม่ใช่แค่เผยแพร่ไปเฉยๆ”
ไร้รูปแบบ แต่มีทิศทาง
เมื่อเอ่ยถึง ‘ละคร’ เชื่อว่าหลายคนยังคงนึกถึงภาพของละครในโทรทัศน์ที่ให้ความบันเทิง การที่คนคนหนึ่งสวมบทบาทเป็นคนอื่น ซึ่งไม่ผิดแต่ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด
กระบวนการเรียนรู้ผ่านการละครของมะขามป้อม ปรับเปลี่ยนได้ตามจริตหรือความชอบของผู้เรียน แต่มีเป้าหมายชัดเจนว่าแต่ละกิจกรรมจะนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องอะไร สิ่งที่เป็นแก่นซึ่งทุกคนต้องเรียนรู้ และลงมือคิดใคร่ครวญเป็นลำดับแรก คือ การทำความรู้จักตัวเอง
ในเบื้องต้นใช้ละครเข้ามาเป็นตัวกลางสื่อสารความเป็นตัวตนของแต่ละคนไปยังผู้อื่น ด้วยท่าทางและความรู้สึก ด้วยเหตุนี้การส่งสารจะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อผู้ส่งสารเข้าใจตัวเองอย่างชัดเจน ผู้ชมไม่ได้เป็นเพียงผู้รับรู้ เพราะประสบการณ์ของผู้ชมซึ่งแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน จะเข้ามามีบทบาทต่อการตีความและสร้างความเข้าใจในสิ่งที่นักแสดงถ่ายทอดออกมาด้วย
อะไรคือสิ่งที่เรากลัวที่สุด?
สิ่งที่เป็นตัวเราที่อยากเปิดเผยให้คนอื่นรู้ คืออะไร?
นั่นคือสิ่งที่ผู้เรียนต้องสื่อสารออกมา ไม่ว่าจะเป็นนิสัยด้านบวกและลบ, ความชอบ, มุมมอง, ความเชื่อ และทัศนคติ
“หลายคนไม่เคยสำรวจตัวเอง มาตรงนี้เขาถึงได้รู้ กิจกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละช่วง ตอบสนองความชอบของแต่ละคน บางคนได้รู้ว่าตัวเองชอบใช้เวลากับการเขียน บางคนชอบเต้นชอบแสดง บางคนชอบฟังแล้วแลกเปลี่ยน ถามว่าการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ว่ามานี้ต่างจากการนั่งประจำโต๊ะ ที่นักเรียนต่างคนต่างเรียนในห้องเรียนมั้ย เห็นได้เลยว่าต่างกันมาก
ในบทบาทของครูเราสังเกตความเปลี่ยนแปลงในแววตาของผู้เรียนหรือผู้เข้าร่วมได้เลยว่าเขาสนุกหรือมีอารมณ์ร่วมกับการทำกิจกรรมหรือเปล่า ซึ่งการวัดผลแบบนี้ยังคงเป็นปัญหา เป็นปัญหาของเรามาจนถึงตอนนี้ด้วย (หัวเราะ) เพราะเป็นมาตรฐานการวัดที่ส่วนกลางยอมรับไม่ได้ แต่เราเป็นครู เรารู้จักนักเรียนของเรา เพราะผู้เรียนอยู่กับเรา ถ้าเขาเปลี่ยนเรารู้ทันที ครูที่ใส่ใจสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กเป็นรายบุคคลได้ โดยไม่เป็นต้องใช้ค่ามาตรฐานอะไรมาวัด เท่าที่ทำมานี้ก็ไม่มีใครโดด ทุกคนสนใจเรียนแล้วอยากอยู่เพื่อเรียนรู้ต่อไปมากกว่าที่เราให้อีก”
พฤหัส บอกว่า กระบวนการคิดใคร่ครวญกับตัวเอง เป็นขั้นตอนที่ใช้ได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อผู้ใหญ่ได้เข้ามาเรียนรู้ ได้ทดลองทำจนเห็นผลลัพธ์ ต่อไปพวกเขาจะสามารถออกแบบกิจกรรมเพื่อนำไปใช้กับเด็กได้อย่างมีทิศทาง โดยไม่จำกัดรูปแบบ
“ครูหรือใครก็ตามที่มาเรียนไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมแบบที่เราทำ เขาเอาหลักคิดไปออกแบบกิจกรรมเองได้ไม่เฉพาะแค่ในโรงเรียน ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ค่อยมีทางเลือก เด็กถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขที่สังคมกำหนด พ่อแม่ก็ไม่ฟัง ครูก็ไม่ฟังบอกให้ทำตามอย่างเดียว ถ้าไม่เป็นไปในแนวทางนี้จะโดนตัดสินว่าไม่ถูกต้อง
เราควรสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กทุกกลุ่ม เด็กที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียน เด็กที่ไม่เรียนต่อระดับมัธยมปลายแต่ออกไปทำงาน ทำให้พวกเขามีที่ยืนในสังคมด้วย ไม่ใช่ตีตราบอกว่าเขาล้มเหลว ทั้งที่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนและรับฟัง”
ความเป็นไปได้ใหม่ของการศึกษาไทย
จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เชียงดาวกลายเป็นที่ตั้งของชุมชนแห่งการเรียนรู้ พฤหัส บอกว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ช่วยสะท้อนและตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน” ได้อย่างชัดเจน
“ศิลปิน นักกิจกรรม นักคิด นักเขียน และครูหลายๆ คน ย้ายมาอยู่แถวนี้ เปิดพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ดีๆ ตามแนวทางที่ตัวเองถนัด นอกจากหลักสูตรที่จัดขึ้น เรายังมีมหาลัย’เถื่อน ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีตลอด 5 ครั้งที่ผ่านมา แสดงว่าคนโหยหาพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้ เด็กสามารถเรียนรู้กับผู้ใหญ่ได้ ไม่ต้องมีเครื่องแบบ ไม่จำเป็นต้องมีตำราเรียน อาศัยเพียงความสนใจ
ทำไมหมอจะวาดรูปไม่ได้ ทำไมศิลปินจะเป็นนักการจัดการที่ดีไม่ได้ ที่ผ่านมาเรามีกรอบมาขวางกั้น กรอบที่ว่านี้ฆ่าความคิดสร้างสรรค์ ฆ่าบุคลากรที่มีคุณภาพไปเป็นจำนวนมาก เพียงเพราะได้คะแนนไม่ดีในห้องเรียน แต่ในอนาคตพื้นที่การเรียนรู้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะคนกำลังออกตามหาสิ่งที่พร่องไปจากห้องเรียน”
แม้ยุคสมัยจะทำให้อิทธิพลของสื่อเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่มะขามป้อมไม่เคยทิ้ง คือเป้าหมายในการทำงานร่วมกับเด็ก เยาวชน และชุมชน การทำกระบวนการละครที่เน้นให้เด็กรู้จักตนเองผ่านการคิดและจินตนาการ รวมทั้งการทำงานร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องที่จะช่วยต่อยอดการพัฒนาให้แตกดอกออกผลในหลายๆ ทิศทาง ความร่วมมือและทางเลือกที่เกิดขึ้น จะเป็นแนวทางช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ท่ามกลางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมั่นคง
“สิ่งนี้เราแลกมาด้วยชีวิตจากการทำงานที่ไม่ทำเรื่องอื่นเลยแต่โฟกัสไปที่เรื่องๆ เดียว ประสบการณ์ที่สั่งสมมามีประโยชน์ต่อผู้อื่นแน่ๆ ทั้งความรู้ กำลังคน และสถานที่ เราไม่รู้สึกท้อ เราต้องต่อสู้”
หมายเหตุ: กลุ่มละครมะขามป้อม ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยกลุ่มคนที่มีความถนัดด้านการละคร นักเขียน กวี นักดนตรี นักแสดงกลุ่มสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่ทำกิจกรรมขับเคลื่อนสังคมในช่วงหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม พ.ศ. 2519
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ Facebook Fanpage: Makhampom และ Makhampom Art Space